เป็นเวลานานหลายปีแล้วตั้งแต่ BMW เริ่มทำรถขับหน้ายุคใหม่ออกขายโดยใช้แพลทฟอร์ม UKL2 เครื่องยนต์วางขวาง ใช้กับรถในเครืออย่าง MINI และรถแบรนด์ของตัวเอง ท่ามกลางข้อกังขาว่าในเมื่อ BMW มีจุดเด่นในการสร้างรถสปอร์ตซาลูนและคูเป้ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังเป็นหลัก แล้วมันจะขับดีเหรอ? ลูกค้าจะให้การยอมรับแค่ไหน?

ผู้คนมักจะตั้งคำถามในแง่ลบไว้ก่อน เมื่อมีใครสักคนคิดจะหาสิ่งใหม่ๆเข้ามาในชีวิตอย่างนี้ล่ะครับ ชวนให้นึกถึงเรื่องที่แม่ผมเคยเล่าให้ฟัง ว่าสมัยที่แม่เป็นอาจารย์ แรงยังเยอะ เตะเด็กตัวลอยได้อยู่นั้น มีเด็กนักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหากับครอบครัว

เขาไม่ใช่เด็กนิสัยแย่ ไม่ใช่อันธพาลนะครับ เป็นเด็กเรียนดีมาตลอดจนกระทั่งปี 2 ก็มีปัญหาว่าผลวิชาภาษาอังกฤษที่เขียนเรียนกับคุณแม่ผมนั้น สอบเท่าไหร่ก็ไม่ผ่าน เมื่อเด็กสอบไม่ผ่านแม่ก็จะเรียกพบเป็นรายบุคคล..แต่คนนี้มาในมาดพระเอกหนังจีนผู้เด็ดเดี่ยว

“อาจารย์จะทำยังไงก็ทำเถอะ ผมก็จะทำคะแนนให้มันห่วยๆแบบนี้แหละครับ ผมไม่อยากเรียนแล้ว”

แม่ผมก็รู้สึกแปลกใจ “ทำไมเธอถึงไม่อยากเรียนล่ะในเมื่อผลการเรียนของเธอก็ดีมาตลอด และครูก็รู้สึกได้ว่าลึกๆแล้วเธอเป็นคนดีนะ มีอะไรลองมาเล่าให้ครูฟังหน่อยสิ”

เมื่อนั่งถามและฟังคำตอบได้สักพัก ก็พบว่าการพยายามตั้งใจสอบตกนั้นเป็นวิธีการเชิงขัดขืนของเด็กคนนั้นในการเปลี่ยนคณะที่ตัวเองเรียน เนื่องจากว่าเขาโตมาในครอบครัวธุรกิจ พ่อแม่ก็อยากให้เรียนธุรกิจ แต่ในหัวใจของเขานั้นเป็นเด็กนิเทศศาสตร์เต็มตัว เมื่อนำความในใจไปเอ่ยกับพ่อและแม่ ก็ถูกต่อว่า และต่อต้านอย่างหนัก จนต้องจำใจทนเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองไม่ต้องการมาได้ถึง 2 ปี จนวันหนึ่งเมื่อความอดทนหมดลง เขาก็ประท้วงโดยการทำตัวเองให้สอบตกทุกวิชา

แม่ผมนึกอย่างไรก็ไม่ทราบ ขยับแว่นตาแล้วเอ่ยปากว่า “สิ่งที่เราทำมันไม่ได้ทำร้ายจิตใจคนอื่นหรอก…มีคนเดียวที่ถูกทำร้ายคือตัวเธอเองที่เอาเวลามาโยนทิ้งเล่นๆแบบนี้..แต่ถ้าเธออยากจะเรียนนิเทศฯมาก มาพนันกับครูสักตั้งมั้ย?”

“ครูต้องการอะไร?”

“ไม่ยาก ก็แค่เธอพยายามทำคะแนนสอบวิชาหลัก (ซึ่งเป็นวิชาที่นักศึกษาต้องเรียนไม่ว่าคุณจะอยู่คณะไหน) ให้ได้คะแนน 90% ขึ้นทุกวิชาในเทอมต่อไป ถ้าเธอทำให้ครูได้ ครูรับปากจะไปช่วยเกลี้ยกล่อมพ่อแม่ของเธอ ให้เธอสามารถเรียนคณะที่เธอต้องการ ว่าไง จะรับคำท้าจากครูมั้ย?”

ชายหนุ่มคนนั้นตกใจที่จู่ๆแม่ก็มาเล่นมุกท้าทายคล้ายนักเลงยุคเก่าใส่เขา ก็เขาก็รับ เพราะรู้ว่าไม่มีวิธีใดที่จะเปลี่ยนใจพ่อแม่ได้ นอกจากจะให้อาจารย์หญิงที่ดูมีภูมิ (จะบอกว่ามีองค์ก็จะเป็นภาควิชาไสยศาสตร์เกินไป) มีวัยวุฒิ และมีจิตวิทยาร้ายกาจคนนึงช่วยแก้ปัญหานี้ให้

นักศึกษาคนนั้น ไม่ใช่เด็กเรียนแย่ แต่ก็ไม่ใช่คนเรียนเก่ง ดังนั้น การจะทำข้อสอบให้ผิดไม่เกิน 10 ข้อในทุกวิชานั้นต้องอาศัยความอุตสาหะอย่างมาก แต่ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ

แม่ผม นัดนักศึกษาและครอบครัวเข้ามาพบ และทำตามสัญญาที่ว่าไว้ โดยอันที่จริง ตัวเด็กเองนั่นแหละคือคนที่ทำให้ทุกอย่างสำเร็จ แม่เพียงแต่พยายามชี้ให้ครอบครัวของเขาเห็นว่า “เด็กคนนี้มีความตั้งใจจริง และสามารถปรับตัวได้รวดเร็ว มีแรงมุมานะสูง คนแบบนี้ทำอะไรโอกาสเจริญก็สูง และการเรียนนิเทศศาสตร์ก็ไม่ได้แปลว่าความรู้เรื่องธุรกิจทั้งหมดจะถูกโยนทิ้งไป พ่อกับแม่อาจไม่ได้ความรู้บางวิชาจากลูก แต่ลูกจะมีทักษะกับหลายสิ่งใหม่ๆที่พ่อแม่ไม่เคยมี ซึ่งนั่นอาจเกื้อหนุนประโยชน์ต่อกิจการครอบครัวในภายหน้าได้”

เด็กคนนั้นได้เรียนนิเทศศาสตร์สมใจอยาก และจบตามที่ตนเองต้องการ สิบปีหลังจากเรียนจบไปแล้วก็ยังแต่งตัวโก้เอาของขวัญปีใหม่มาไหว้แม่ผมอยู่เสมอ ซึ่งแม่ผมก็รับไว้ด้วยน้ำใจ..เพราะทำด้วยหน้าที่ครู..แต่ใจจริงถ้าอยากให้ของขวัญแม่ชอบเงินสดทันใจมากกว่าเสมอ (แต่พูดไม่ได้)

บางทีเด็กนักศึกษาคนนั้น กับ BMW X1 (F48) อาจมีบางอย่างที่คล้ายกัน

ทั้งคู่เกิดจากครอบครัวที่ทำกิจการกับบางสิ่งบางอย่างได้ดีมาหลายชั่วโคตรจนเป็นเอกลักษณ์ประจำตระกูล…ทั้งคู่ต่างก็มีความพยายามที่จะละทิ้งบางสิ่งที่เป็นภาพลักษณ์เหล่านั้นเพื่อตามหาสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูก..ในกรณีของ X1 นั้น BMW ต้องเลือกระหว่างการพยายามรักษา DNA เครื่องวางตามยาวขับเคลื่อนล้อหลังแบบตัวถัง E84 เอาไว้ ซึ่งก็จะพบกับปัญหาการจัดพื้นที่สำหรับห้องเครื่องยนต์และห้องโดยสาร เพราะส่วนหน้าของรถก็ต้องยาว แต่รถทั้งคันต้องสั้นและเล็ก

หรือ..เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นรถเครื่องวางขวางไปเลย ซึ่งอาจจะโดนพ่อโดนแม่ด่าบ้าง แต่สิ่งดีๆที่ตามมาคือคุณสามารถออกแบบตัวรถให้สั้น กินพื้นที่ไม่มาก แต่ได้ภายในที่กว้างขวางสะดวกสบาย ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าตัวจริง (ที่ไม่ใช่ลูกค้าบนคีย์บอร์ด) ของ X1 ได้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้รถเหล่านั้นมีความสุขกับการใช้งานมากขึ้น

เมื่อ BMW คิดได้ว่าคงมีเจ้าของ X1 น้อยคนที่ซื้อรถแบบนั้นไปดริฟท์หรือทำ Time Attack ใน Nurburgring เป้าหมายของทีมออกแบบและทีมวิศวกรก็ชัดเจนขึ้นว่านี่คือสิ่งที่พวกเขากลัวหรือเปล่า..ผมตอบได้ว่าคงกลัวเรื่องมุมมองของลูกค้าพันธุ์ Hardcore มากกว่า แต่ถ้าเป็นเรื่องความสนุกในการขับ..ไม่มีอะไรต้องกลัว

หลายคนชอบพูดว่า BMW เป็นมือใหม่ในการทำรถขับเคลื่อนล้อหน้า แต่ถ้าลองนึกดีๆนะครับ วิศวกรของพวกเขาได้ศึกษาการทำรถขับเคลื่อนล้อหน้า (หรือพวกแพลทฟอร์มเครื่องวางขวาง) มาตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษแล้ว..ก็ MINI ไงครับ ห้องทดลองชั้นดีที่ BMW ได้รับประสบการณ์ และขัดเกลามาเรื่อยจนถึงจุดที่พวกเขากล้านำโครงสร้างแบบนั้นมาใช้กับรถในแบรนด์ BMW

ผมเคยขับ BMW เหล่านี้มาก่อนแล้ว กับ 218i ActiveTourer และ 218i GranTourer ซึ่งแม้ว่ารถเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะตั้งราคามาสูงจนทำให้ 320d Iconic ดูเป็นมิตรมากๆ แถมยังเหนียวอุปกรณ์ รถ 2 ล้านกลางไม่มีแอร์ออโต้ เบาะนั่งของ GranTourer ก็เล็กและแข็งจนไม่รู้สึกอยากจะทัวร์ไปไหนกับมันไกลๆเลยสักนิด แต่รถเหล่านี้มีช่วงล่างที่หนึบ แน่น เฉียบ ราวกับเอา MINI มาลดความสะเทือนลงเล็กน้อย..ซึ่งผมประทับใจ แต่ถ้าเป็น X1 ที่ตัวรถสูงโย่งขึ้นล่ะ?

ก่อนที่จะไปเข้าสู่ช่วงการรีวิวรถ ..แน่นอนครับ เชิญฟังเล็คเชอร์ประวัติศาสตร์กันก่อนสักครู่

BMW X1 ปรากฎโฉมครั้งแรกในโลก ในฐานะรถยนต์ต้นแบบ BMW Concept X1 ณ งาน Paris Motor Show เมื่อ 2 ตุลาคม 2008 ก่อนที่เวอร์ชั่นขายจริงจะถูกผลิตจากโรงงานใน Leipzig และออกมาสู่อ้อมอกของลูกค้า BMW ในเดือนตุลาคมปี 2009 โดยมีตำแหน่งทางการตลาด เป็น Crossover ขนาดเล็กที่สุดของตระกูลในขณะนั้น เนื่องจาก BMW ทำตลาด X3 มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และได้มีการออกแบบ X3 รุ่นต่อไปให้มีขนาดโตขึ้นค่อนข้างมาก BMW ต้องการรถสักรุ่นที่มีขนาดไม่โตเกินไป

ฟังดูแล้วแปลก แต่รสนิยมของชนชาติยุโรปหลายประเทศ ไม่ได้ชอบรถขนาดใหญ่มากเท่าประเทศไทย เพราะรถเล็ก มลภาวะต่ำ เสียภาษีน้อยกว่า และหาที่จอดง่ายกว่าในความคิดของลูกค้า (X1 E84 และ X3 เจนเนอเรชั่นที่ 2 ตัวถัง F25 ที่ตามออกมาในปี 2010 มีความยาวตัวถังต่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร)

วิธีการสร้าง X1 รุ่นนี้ก็คือ เอาแพลทฟอร์มตัวถังของซีรีส์ 3 Touring E91 มาเป็นตัวตั้ง จากนั้นก็แปลงทรงของหลังคาเล็กน้อย ยกเครื่องยนต์กลไกจากซีรีส์ 3 มาใช้ สิ่งที่ได้ก็คือรถทรงป้อมหน้ายาว จะสูงแบบ SUV ก็ไม่ใช่ จะมีท้ายยาวแบบ SUV ก็ไม่ได้เพราะ BMW เน้นหนักเรื่องการบาลานซ์น้ำหนัก ท้ายยิ่งสูงยิ่งยาว รถก็ยิ่งขับแย่ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่รถประเภทที่ใครเห็นก็รักเพราะความสวย

แต่ต่อให้หน้าตาเหมือนหัวเป็ด X1 ก็สามารถกวาดยอดขายไปได้เกิน 300,000 คันภายในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง และตลอดอายุโมเดลสามารถสะสมยอดได้ทั้งหมดมากกว่า 730,000 คัน มันกลายเป็นรถแปลกใหม่วัยรุ่นอยากลอง และหลายคนมองว่ามันดูมีความเป็น “รถพ่อบ้าน” น้อยกว่าซีรีส์ 3 Touring ซึ่งนั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ ยิ่งในประเทศอังกฤษที่เป็นตลาดใหญ่ระดับหนึ่งนั้น 65% ของคนที่ซื้อ X1 คือคนที่ไม่เคยมี BMW ในครอบครองมาก่อน

มันกลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนที่มองหารถระดับพรีเมียมคันแรกของชีวิต กับแบรนด์ BMW การที่ใช้เครื่องยนต์กลไกทุกอย่างร่วมกับซีรีส์ 3 ก็ทำให้มั่นใจว่าได้เครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะดีเท่ากัน (และจุกจิกเท่ากัน) กับ BMW รุ่นพี่ๆทั้งหลาย X1 E84 มีทั้งขุมพลังเบนซิน 2.0 ลิตรเทอร์โบ 245 แรงม้า ไปจนถึง N55B30 3.0 ลิตรเทอร์โบ 304 แรงม้า (ซึ่งเป็นเครื่องที่ BMW M2 ตัวปัจจุบันเอามาเป็นพื้นฐานนั่นล่ะครับ) ส่วนฝั่งดีเซลก็มีตัวแสบเครื่อง N47 ใน X1 xDrive25d ที่แรงจัดถึง 218 แรงม้า

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รุ่นที่ขายดีจริงๆก็คือพวกรุ่น 4 สูบพื้นฐานเช่น sDrive18i, xDrive20d หรือ 20i เพราะมีพละกำลังพอเพียงและประหยัดเชื้อเพลิงเกินคาดเมื่อเทียบกับแรงที่ได้

สำหรับ X1 รุ่นปัจจุบัน มีรหัสรุ่น F48 ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังสำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็กขับเคลื่อนล้อหน้าที่ชื่อว่า UKL2 ซึ่งถูกนำไปใช้ร่วมกันกับทั้ง BMW 2-Series Tourer , 2-Series Grand Tourer กับรถยนต์ในแบรนด์ MINI อย่าง Clubman F54 กับ Countryman F60

รูปลักษณ์ภายนอก เป็นผลงานการออกแบบของชายหนุ่มชาวเอเชียนามว่า Calvin Luk ซึ่งความเป็นมาของเขานั้น น่าสนใจทีเดียวสำหรับเยาวชน (และ not so เยาว์-ชน) ทั้งหลายที่มีความสนใจในการออกแบบ

ตอนอายุ 16 ปี Calvin อาศัยอยู่ที่เมือง Sydney ประเทศออสเตรเลีย วันหนึ่งในงานมอเตอร์โชว์ เขาเดินดุ่มๆเข้างานแล้วมุ่งไปที่บูธ BMW/MINI ที่ซึ่งเขาได้พบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายคนหนึ่งแล้วถามแบบเด็กวัยรุ่นว่า

“พี่ฮะ ผมกับเพื่อน อยากลองไปนั่งเบาะหลัง MINI หน่อย ผมอยากรู้ว่าหุ่นพวกผมเนี่ยนั่งได้กี่คน พี่จะอนุญาตไหมครับ”

ชายคนนั้นตอบ “ได้สิครับ เชิญเลย” แต่ด้วยความช่างสังเกต Calvin รู้สึกได้ว่าสำเนียงชายคนนั้นไม่เหมือนคนออสเตรเลีย

“ขอโทษนะครับ..พี่มาจากเยอรมนีหรือเปล่า”
“ใช้แล้วน้อง..พี่มาจากสำนักงานใหญ่เลย” เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายผู้นั้นตอบ

Calvin รู้สึกตื่นเต้นมาก เขาเอ่ยปากถามต่อเลยว่า “ถ้าผมมีบางอย่างที่อยากเขียนเป็นจดหมายถามคนที่สำนักงานใหญ่
ผมฝากพี่ไปให้พวกเขาได้ไหมครับ?” เมื่อฝ่ายขายคนนั้นตอบรับ เขาก็รีบกลับบ้านไปพิมพ์จดหมายฝากส่งไปให้ Chris Bangle (ผู้บริหารสูงสุดประจำสายงานออกแบบของ BMW ในยุคนั้น) โดยมีคำถามว่า

“ทำอย่างไรผมถึงจะเป็นนักออกแบบรถยนต์ที่ดีได้?”

จากนั้น เวลาผ่านไปสักพัก ก็มีจดหมายตอบกลับจากนักออกแบบอาวุโสผู้หนึ่งของ BMW (แต่ไม่ใช่พี่ Chris) ซึ่งให้คำแนะนำต่างๆที่ดีต่อเขา ทั้งสองยังติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งวันหนึ่ง Calvin ก็ได้รับคำแนะนำให้ลาออกจากวิทยาลัยที่ Sydney แล้วไปเรียนด้านการออกแบบที่รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่ออายุ 18 ปี และได้ย้ายไปฝึกงานกับ BMW ในภายหลัง

เมื่อ Calvin อายุได้ 25 ปี เขาสร้างผลงานกราฟฟิคคอมพิวเตอร์ และรูปปั้นเคลย์โมเดล โดยมีนักออกแบบที่อาวุโสกว่าและเก่งกว่าส่งผลงานเข้าแข่งขันเป็นการภายในเช่นเดียวกัน ดีไซน์ของ Calvin ได้รับคัดเลือกจากผู้บริหารให้เป็นดีไซน์สำหรับ BMW X1 รุ่นใหม่ที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในบทความนี้นั่นเอง

หลังการทดสอบและปรับปรุงราวๆ 2 ปี BMW X1 รหัสรุ่น F48 ก็พร้อมจะอวดโฉมสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก โดยทางเว็บไซต์สื่อมวลชนของ BMW เผยแพร่ภาพและข้อมูลของ X1 อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 มิถุนายน 2015 ก่อนจะเริ่มผลิตจากโรงงาน BMW Plant Regensburg แล้วส่งขึ้นโชว์รูมในเยอรมนี และยุโรป เมื่อเดือนตุลาคม 2015

สำหรับเมืองไทย BMW Thaland สั่งนำเข้า X1 ในแบบรถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU : Complete Built Unit) มาเปิดตัวครั้งแรกในไทยก่อนด้วยรุ่น  sDrive18d xLine ในราคา 2,599,000 บาทเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2016 แต่ขายไปได้ไม่นาน พอถึงวันที่ 23 กรกฎาคมปีเดียวกัน ก็เปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นประกอบในประเทศ (แบบ SKD : Semi-Knocked Down ซึ่งเอาชิ้นส่วนจากเมืองนอกมาประกอบเป็นคันรถในไทย)

X1 ใหม่ มีขนาดตัวถังยาว 4,439 มิลลิเมตร กว้าง 1,821 มิลลิเมตร สูง 1,612 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,561/1,562 มิลลิเมตร ระยะความสูงจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้น 183 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่าตามมาตรฐาน DIN 1,470 กิโลกรัม (น้ำหนักแจ้งสรรพสามิตสำหรับรถสเป็คไทยอยู่ที่ 1,545 กิโลกรัม) ถังน้ำมันจุ 51 ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ X1 รุ่นเดิม E84 ซึ่งมีความยาว 4,454 มิลลิเมตร กว้าง 1,798 มิลลิเมตร สูง 1,545 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,760มิลลิเมตร จะพบว่าลำตัวสั้นลง 15 มิลลิมเตร ความกว้างเพิ่มขึ้น 23 มิลลิเมตร ความสูงเพิ่มขึ้น 67 มิลลิเมตร แต่ฐานล้อสั้นลง 90 มิลลิเมตร

 

รูปลักษณ์ภายนอก เป็นไปตามแนวทางการออกแบบของ Calvin Luk ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของบอสใหญ่ฝ่ายออกแบบ Adrian van Hooydonk ผู้ซึ่งเคยฝากผลงานไว้กับซีรีส์ 7 E65 ที่ประทับใจลูกค้าจนไปๆมาๆ Chris Bangle (หัวหน้าของเขาในสมัยนั้น) ต้องลาออกไป งานออกแบบในระยะหลังของ BMW รุ่นปกติทั้งหลายจึงมักมาในแนว Conservative ไม่กล้าลองเส้นสายท้าตายอีกต่อไป

แต่ทั้งนี้ ทีมออกแบบก็พยายามสร้างพื้นผิวตัวถังภายนอก โดยใช้ธีม “BMW X design language” ซึ่งมุ่งเน้นในการสร้างสัดส่วนหน้า/หลังของตัวรถที่เหมาะสม มีโป่ง มีเส้นสันให้รถดูมีความบึกบึนแม้ว่าขนาดจะเล็ก และท้ายสุดคือเมื่อลูกค้ามองรถ ต้องรู้สึกได้ว่านี่คือรถที่น่าจะขับได้คล่องแคล่ว พูดง่ายๆก็คือเอารถตระกูล X รุ่นพี่มาเป็นต้นแบบ แล้วทำให้มันดูวัยรุ่นจ๋า ลดไขมันส่วนเกินตามพุง ต้นขา และใต้ท้องแขนลงนั่นเอง

ผลจากการออกแบบทั้งหมด ทำให้ได้ทรวดทรงที่ดูทะมัดทะแมง มีลักษณะของรถ SUV จอมลุยเจืออยู่แค่บางๆ ส่วนหน้าของรถไม่ยาวจนดูแปลกแบบ X1 E84 และเมื่อนำเข้าอุโมงค์ลมทดสอบ ก็ได้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd= 0.29 (โดยใช้รถเวอร์ชั่นธรรมดาล้อ 17 นิ้ว)

ชุดไฟหน้าเป็นแบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างขณะเข้าโค้ง มีไฟตัดหมอกหน้ามาให้

 

บั้นท้ายผสานเอาดีไซน์ของ X-Series (ไม่ใช่ Isuzu) รุ่นพี่ๆเข้ารวมกับไฟท้ายแบบซีรีส์ 2 ActiveTourer/GranTourer ซึ่งเป็นไฟท้ายแบบ LED ชุดกันชนหลังของรุ่น xLine มีแผงด้านล่างสีเทาและสีเงินด้านซ้อนกัน ด้านบนของฝากระโปรงท้ายออกแบบให้มีลักษณะเป็นสปอยเลอร์เล็กๆในตัว

X1 เวอร์ชันไทยประกอบด้วยทางเลือก และราคา ณ วันเปิดตัว ดังนี้

  • X1 sDrive18i xLine ราคา 2,299,000 บาท
  • X1 sDrive18d xLine ราคา 2,499,000 บาท
  • X1 sDrive18d M Sport ราคา 2,599,000 บาท

สำหรับรถทดสอบที่เราเลือกมารีวิวกันในครั้งนี้ คือรุ่น sDrive18d xLine ซึ่งใช้กันชนแบบ xLine ตกแต่งด้วยโครเมียมและอะลูมิเนียมแบบด้าน พร้อมด้วยราวหลังคาสีเดียวกัน ล้ออัลลอยแบบ Y-Spoke ขอบ 18 นิ้ว จับคู่กับยาง Bridgestone T001 Runflat ขนาด 225/50R18

ในปัจจุบันนั้น เมื่อ BMW ปรับโครงสร้างพื้นฐานการคิดราคารถแบบใหม่ ทำให้มีราคารถรวมแพ็คเกจ BSI Standard (3 ปี/60,000 กิโลเมตร) อยู่ที่ 2,459,000 บาท หรือเพิ่มเป็น 2,529,000 บาทถ้าต้องการ BSI Ultimate แบบเต็มขั้น

เราต้องติดต่อยืมมาทั้งหมด 2 คัน คือคันสีน้ำตาล ที่ใช้เพื่อถ่ายรูปเก็บไว้ เพราะเป็นสีที่ดูสวยภูมิฐานเหมาะกับรถ กับคันสีเงิน ซึ่งใช้ทดสอบตัวเลขต่างๆและทำคลิป เพราะคันหลังนี้วิ่งมาน้อยและสภาพโดยรวมดีกว่า

ทาง BMW ไม่มีรถทดสอบที่เป็นรุ่น M Sport ในขณะนั้น ส่วนรุ่น sDrive18i xLine ก็ไม่มีรถทดสอบให้ยืมเช่นกัน แต่ผมเคยทำบทความ First Impressionโดยลองขับทั้ง 2 รุ่น 2 เครื่องยนต์นี้ไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2016 [คลิกอ่านได้ที่นี่]

กุญแจรีโมตคอนโทรล ถูกออกแบบใหม่ ให้ดูสวยงามขึ้นกว่ารุ่นเดิม แค่ยังไม่ใช่กุญแจแบบ Display Key แบบซีรีส์ 5 และ 7 แต่ก็มาพร้อมระบบ Comfort Access (Smart Keyless Entry) เพียงแค่พกกุญแจไว้ เมื่อเดินเข้าใกล้ตัวรถ ก็สามารถเอื้อมมือมาจับและดึงมือเปิดประตู เพื่อปลดล็อครถได้ทันที หรือถ้าต้องการล็อครถ ก็เพียงแค่แตะนิ้วลงบนแถบ 5 ขีดบนมือจับ เหมือนเช่น BMW รุ่นอื่นๆ และถ้าแตะนิ้วค้างที่ 5 ขีดนี้ไว้นานๆก็จะเป็นการสั่งพับกระจกส่องข้างด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ในยามค่ำคืน คุณจะเห็นไฟดวงเล็กๆ ทั้งที่มือจับประตูทั้ง 4 บาน และใต้แผงประตูทั้ง 4 บาน เพื่อเพิ่มแสงสว่างในขณะเปิดประตูขึ้นรถยามค่ำคืนอีกด้วย

ตัวกุญแจรีโมตนั้นยังสามารถสั่งล็อค/ปลดล็อคประตู และกดสั่งเปิดฝากระโปรงท้ายได้ (เพราะ X1 ใช้ฝากระโปรงท้ายแบบไฟฟ้าแล้ว)

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ทำได้ดีกว่ารุ่นเดิมแบบคนละเรื่อง ยิ่งคนตัวสูงและใหญ่จะรู้สึกได้เลย โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ. ที่ลดโอกาสการเอาหัวไปโขกกับเสากรอบหลังคาด้านบนลงได้นิดหน่อย ด้วยความสูงที่พอดีของทั้งตัวรถ และตำแหน่งประตู ทำให้คุณสามารถสไลด์ตัวเข้าไปนั่งบนเบาะหน้าได้ง่ายดายกว่าเดิม เผลอๆจะง่ายดายกว่า 5-Series ทั้งรุ่นก่อน (F10) และรุ่นล่าสุด (G30) เสียด้วยซ้ำ

แผงประตูคู่หน้า (และแดชบอร์ด) ในยามราตรี มีแถบ Ambient Light ให้เลือก 2 สีทั้งขาว (Modern) และ ส้มมาตรฐานของมาตรวัดใน BMW (Classic) สามารถเลือกปรับโทนสีได้จากเมนูในระบบควบคุม BMW i-DRIVE

ด้านบนของแผงประตู บุด้วยวัสดุบุนุ่ม ถัดลงมาบริเวณพื้นที่วางแขน หุ้มด้วยหนังและวัสดุบุนุ่ม แต่มือจับดึงปิดประตู ทำจากพลาสติกทั้งดุ้น ส่วนตำแหน่งพนักวางแขน สามารถวางข้อศอกได้พอดีและลาดเอียงไปทางด้านหน้ารถเล็กน้อย ตามสไตล์ BMW ยุคใหม่ ที่ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนจากแขนไปถึงนิ้วมือได้ดีขึ้น

ท่อนล่างของแผงประตู มีข่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้ 2 ขวด พร้อมช่องวางของจุกจิกเล็กน้อย

เบาะนั่งคู่หน้า ถูกปรับตำแหน่งการติดตั้งเบาะให้สูงขึ้นจาก X1 E84 อยู่ 36 มิลลิเมตร  ปรับตำแหน่งด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง เฉพาะเบาะคนขับ จะมีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ พร้อมกระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้ามาให้ 2 ตำแหน่ง การบันทึก ให้ปรับเบาะนั่งตามต้องการ จากนั้น กดปุ่ม SET จนไฟสีแดงที่สวิตช์ ติดสว่างขึ้นมา แล้วค่อยกดปุ่มเลือกหน่วยความจำที่ 1 หรือ 2 ค้างแช่ไว้ จนกว่าจะมีเสียง “ติ๊ด” ดังขึ้นมา แสดงว่า หน่วยความจำได้บันทึกตำแหน่งเบาะเรียบร้อยแล้ว

พนักศีรษะของเบาะคู่หน้า ปรับได้แค่ตำแหน่งขึ้น-ลง 4 ระดับ แอบดันกบาลนิดๆ แต่ไม่มากนัก และยังอยู่ในเกณฑ์รับได้

พนักพิงเบาะคู่หน้า พยายามออกแบบให้รองรับทุกส่วนของแผ่นหลัง มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้.แต่มันให้สัมผัสเหมือนการนั่งอยู่บนเก้าอี้ทำงานของพนักงานระดับล่างมากกว่าเบาะของรถชั้นดี เบาะรองนั่งสั้น แถมมีขอบเบาะทรง Clamshell ที่นูนขึ้นมาดันช่วงต้นขา และไม่ได้ดันแบบที่รู้สึกสบายเสียด้วย

ซึ่งทรวดทรงของมันก็คล้ายกับเบาะนั่งของ 2-Series GranTourer รุ่น Luxury.ราวกับถอดยกชุดมาใส่กันเลย และก็ครองแชมป์เบาะ BMW ป้ายแดงที่ผมปลื้มน้อยที่สุดในรอบ 10 ปีไปครอง แต่ถ้าคุณผอม ตัวเล็ก หรือนั่งเก้าอี้สำนักงาน (ที่ไม่ใช่เก้าอี้ของผู้บริหาร) จนเคยชิน ก็อาจจะโอเคกับมัน

พนักวางแขนตรงกลาง สามารถยกปรับระดับสูง – ต่ำได้ ตามความต้องการของผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร พอจะวางข้อศอกได้บ้าง ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ปลอดโปร่ง โล่งสบายกว่า X1 รุ่นเดิมแบบคนละเรื่อง

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดีสมตัว ช่องประตู มีขนาดกำลังดี ไม่เล็กอย่างที่คิด แต่ควรก้มหัวนิดๆ ตอนจะเคลื่อนสรีระร่างลงไปนั่งบนเบาะหลัง เพื่อลดความเสี่ยงที่ศีรษะจะไปโขกกับขอบหลังคาด้านบน

กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เป็นแบบ One Touch ทั้งขาขึ้นและขาลง ครบทั้ง 4 บาน โดยบานกระจกคู่หลัง สามารถเลื่อนเปิดลงได้จนสุดขอบแผงประตูด้านบน นอกจากนี้ เหนือช่องทางเข้า – ออก ทั้ง 4 ยังมีมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) ให้มาครบทั้ง 4 จุด อีกด้วย!

พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม วางแขนและข้อศอกได้กำลังพอดี ด้านล่างของแผงประตู เป็นช่องวางน้ำดื่มขวดละ 7 บาท ได้ขวดเดียว วัสดุการตกแต่งแผงประตูคู่หลัง เหมือนกันกับแผงประตูคู่หน้าไม่มีผิดเพี้ยน

พื้นที่โดยสารบนเบาะคู่หลัง ปลอดโปร่ง โล่งสบายยิ่งกว่ารุ่นเดิมและมีตำแหน่งการนั่งที่สบายกว่าเดิม จากการติดตั้งเบาะให้สูงกว่า X1 โฉมก่อน 64 มิลลิเมตร เพิ่มพื้นที่วางขาอีก 37 มิลลิเมตร (ในสเป็คมาตรฐานแบบเบาะหลังตายตัว) แต่ก็ยังมีช่องทางที่จะปรับปรุงให้นั่งสบายได้มากกว่านี้

เบาะนั่งแถว 2 มีพนักพิงเบาะหลัง แน่นจนค่อนข้างแข็งในระดับพอๆดับพนักพิงเบาะหลังของ X3 รุ่นที่แล้ว ให้สัมผัสโดยรวมคล้ายนั่งพิงอยู่บนแผ่นไม้กระดาน แม้จะรองรับพื้นที่ทั่วถึงและเต็มแผ่นหลังดีอยู่ แต่ก็นึกไม่ออกว่าเบาะของ X1 กับ Subaru XV ใครจะครองแชมป์เบาะกระดานมงกุฎเพชรได้ก่อนกัน

พนักศีรษะคู่หลัง ต้องยกขึ้นใช้งาน จรงจะไม่ทิ่มตำต้นคอ ฟองน้ำบุด้านใน ค่อนข้างแน่นจนเกือบแข็ง แถมมีมุมเงยรองรับต้นคอนิดนึง ให้พอรำคาญหัวนิดๆ

ตรงกลางเบาะหลัง มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมข่องวางแก้วน้ำซึ่งฝาปิดแบบบานประตูวัดไทย (คล้าย 5-Series) มาให้ มีตำแหน่งวางแขนเตี้ยไปนิดนึง

เบาะรองนั่งแถวหลัง ดูจะให้การรองรับที่แย่กว่าเบาะรองนั่งคู่หน้าเสียด้วยซ้ำ มาในสไตล์เดียวกันไม่มีผิด คือ มีมุมเงยเหมาะสมก็จริง แต่ตัวเบาะรองนั่งสั้นไป แถมขอบเบาะยังโค้งนูนขึ้นมาดันต้นขาจนน่ารำคาญ ถ้าไม่สามารถทำเบาะรองนั่งให้ยาวกว่านี้ได้ ก็ช่วยลดการดันตัวช่วงต้นขาทีเถอะ

พื้นที่เหนือศีรษะ เหลือมากถึง 1 ฝ่ามือกับอีก 2 นิ้วในแนวนอน ส่วน Legroom หลังมีพื้นที่ใช้การได้ดี J!MMY สามารถนั่งไขว่ห้างได้ โดยยังเหลือพื้นที่แบบพอดีๆ ส่วนผมไขว่ห้างไม่ได้ เลยไขว่ร้านสะดวกซื้อไปก่อน

เบาะนั่งแถว 2 นอกจากจะมีจุดยึดเบาะนิรภัยมาตรฐาน ISOFIX พร้อมเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่งแล้ว ยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง โดยอาจต้องคลำหาคันโยกซึ่งเป็นสายเชือก (แบบสะพายกระเป๋า) คล้องเป็นตัว U อยู่ที่ ฐานพนักพิงเบาะทั้ง 3 ตำแหน่ง เพื่อดึงปลดล็อค แล้วพับพนักพิงเบาะในตำแหน่งที่เราต้องการ ลงมาให้แบนราบ เป็นแนวระนาบเดียวกับพื้นห้องเก็บของด้านหลัง

บานประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เป็นระบบกลอนไฟฟ้า พร้อมระบบสั่งเปิด-ปิดอัตโนมัติ ด้วยไฟฟ้า เอาเท้าเตะใต้เปลือกกันชนหลังเพื่อสั่งเปิด – ปิดได้ เหมือน BMW รุ่นใหม่ๆ ในช่วง 3 ปีมานี้ เพียงแต่ระบบเตะนั้นจะมีตำแหน่งเซ็นเซอร์ที่ค่อนข้างแคบ ถ้าไม่อยากมีปัญหาตอนเปิดควรให้ผู้ขายสาธิตวิธีการก่อน

คุณแค่ ยื่นนนน เท้าเข้าไปตรงกลางรถบริเวณใต้กันชนสักพัก (ไม่ต้องแกว่ง ไม่ต้องเหวี่ยงเท้า) ไฟเลี้ยวก็จะกระพริบ คุณเดินถอยห่างออกมา แล้วมันก็จะเปิด หลายคนเตะเปิดได้ดูง่าย แต่ระบบเซ็นเซอร์คงแยกเท้าผมกับอุ้งตีนหมีไม่ออก เลยไม่ยอมเปิด ผมพยายามจนหงุดหงิดจะเปลี่ยนจากเตะกันชนเป็นเตะรถทั้งคันแทน แต่จะทำแบบนั้นก็กลัวพี่ไหม (PR BMW) เตะผมคืน ก็เลยไม่ทำ

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลั มีขนาด 505 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี (เพิ่มจาก X1 รุ่นที่แล้วถึง 80 ลิตร) แต่ถ้าพับเบาะแล้ว พื้นที่จะเพิ่มขึ้นเป็น  1,550 ลิตร (VDA)

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมาแล้ว อย่าหวังว่าจะได้พบยางอะไหล่ BMW เพราะจริงๆยางติดรถมันก็เป็นยาง Runflat ที่แม้ลมรั่วก็วิ่งเหยาะๆไปได้ไกลหลายสิบกิโล แต่ก็มีชุดหูลาก ชุดขันน็อตต่างๆและเครื่องมือปฐมพยาบาลมาให้

ภายในของ X1 sDrive18d xLine จะมีสีการตกแต่งเปลี่ยนไปตามสีภายนอกของรถที่เราเลือก คันของเราได้เบาะหนัง Dakota เจาะรูกับภายในสีม็อคค่า ดูแล้วเข้ากับวัฒนธรรม Starbucks ยิ่งพอมีลายไม้แบบ Oak grain matt (ลายไม้แบบด้าน) ตกแต่งมาด้วย ยิ่งมีบรรยากาศ หรู แต่ไม่ดูเหมือนรถคุณปู่ ตอนกลางคืนจะมีแสงตกแต่งจาก Ambient Light ทำให้ดูสวยขึ้น แต่คุณก็เลือกได้เพียงแค่สีส้ม/ขาว

ลักษณะของแดชบอร์ด เมื่อเทียบกับ X1 E84 รุ่นเดิม ผมคิดว่ามันไม่ได้ดูทันสมัยขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่สิ่งที่ดีคือการออกแบบตอนบนของแดชบอร์ดให้มีลักษณะราบไปทางด้านหน้า โดยมีแค่จอกลาง และชุดมาตรวัดที่โผล่นูนออกมา ทำให้สายตาเวลามองออกไปข้างหน้าก็พบทัศนวิสัยที่โปร่งกว่าเดิม

คุณภาพวัสดุในแดชบอร์ดและห้องโดยสารนั้นอยู่ในระดับ “พรีเมียมแบบเริ่มต้น”วัสดุต่างๆจะเป็นแบบนุ่ม หรือกึ่งแข็งที่กดแรงๆแล้วยังยุบได้ สวิตช์ต่างๆกดแล้วให้ความรู้สึกแน่นมือพอควร BMW ไม่ได้ลดต้นทุนโดยการใช้พลาสติกเกรดต่ำส่วนที่เป็นพลาสติกถ้าลองเอานิ้วเคาะจะยังมีความรู้สึกแน่นในหลายจุด เพียงแต่ว่าคุณอย่าเอาไปเทียบกับซีรีส์ 5 หรือ 7 ก็พอ

จากฝั่งขวา มาทางซ้าย

บนแผงประตู จะเป็นที่อยู่ของสวิตช์กระจกไฟฟ้าและปรับกระจกมองข้าง จากนั้นใต้ช่องแอร์ขวาสุด จะเป็นลูกบิดสำหรับเปิดปิดไฟหน้าพร้อมโหมด Auto (ดับไฟเมื่อลูกบิดตั้งตรง 12 นาฬิกา/บิดซ้าย 1 Step เป็นไฟหน้าอัตโนมัติ) ก้านไฟเลี้ยวอยู่ซ้ายมือตบปุ่มตรงปลายก้านซ้ายเพื่อเปลี่ยนการแสดงผลข้อมูลจอ MID กลางหน้าปัดได้ ก้านปัดน้ำฝนอยู่ทางด้านขวามือ ตบปุ่มปลายก้านเป็นการสั่งให้ปัดน้ำฝนทำงานแบบอัตโนมัติ

พวงมาลัยเป็นแบบสปอร์ตธรรมดา (ไม่ใช่ M Sport) ไม่มี Paddleshift หลังพวงมาลัยมาให้ และที่ผมไม่ค่อยปลื้มคือไม่มี Cruise Control (รถสมัยนี้ถ้าไม่ใช่รถสปอร์ตซิ่งแล้วราคาเกิน 2 ล้าน ไม่มีมาให้ผมด่าหมดล่ะครับ) มีแต่ฟังก์ชั่นจำกัดความเร็ว (Speed Limiter) ส่วนก้านทางด้านขวา ใช้คุมพวกระบบเครื่องเสียงและโทรศัพท์

แต่สิ่งที่มาชดเชยกับ Cruise Control แบบพอให้อภัยได้ ก็คือจอ Head Up Display ซึ่งจะฉายข้อมูลความเร็วขึ้นไปบนกระจกหน้า ทำให้ไม่ต้องละสายตาลงมามองหน้าปัด นอกจากนี้ หากผู้ขับเปิดใช้ระบบนำทางอยู่ ก็จะมีการขึ้นลูกศรชี้ทาง เลี้ยวซ้าย/ขวา/ตรง และข้อมูลบางส่วนขึ้นบนจอ HUD นี้ด้วย

ด้านซ้ายของพวงมาลัย บนแผงแดชบอร์ด เป็นที่อยู่ของปุ่มสตาร์ท เช่นเดียวกับ BMW สมัยใหม่หลายรุ่น ปุ่มสำหรับปิด/เปิดการทำงานของระบบ Auto Start/Stop ก็อยู่ข้างขวา ชิดกับปุ่มสตาร์ทนั่นเอง

ตรงกลางด้านบนของแดชบอร์ด จะเป็นจอ iDrive ขนาด 8.8 นิ้ว ซึ่งถ้าเป็นสเป็คมาตรฐานของเมืองนอกจะได้แค่ 6.5 นิ้ว ยังไม่มีระบบ Gesture Control แบบซีรีส์ 5 และ 7 แต่ก็มาพร้อมกับระบบนำทาง และกล้องมองหลัง

ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 2 วงกลม เรืองแสงด้วยสีส้ม มาตรฐานดั้งเดิมของ BMW พื้นดำอักษรขาวแบบที่ใช้กันมาหลายทศวรรษ
กลางคืนเปิดไฟ จะเป็นไฟเรืองแสงสีส้มจากด้านหลัง อ่านค่าได้ง่ายและชัดเจนเวลาขับแบบเร็วและต้องชำเลืองมองแบบรีบๆ มีมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองและไฟบอกตำแหน่งเกียร์ใต้มาตรวัดรอบ ซึ่งรุ่นเบนซินกับดีเซลหน้าตาจะเหมือนกัน ต่างกันแค่ตำแหน่งเรดไลน์ (เบนซิน 7,000 และดีเซล 5,400 รอบต่อนาที)

จอเล็กตรงกลางแสดงค่าได้หลากหลาย กดเลือกได้ที่ปลายก้านไฟเลี้ยวไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิเครื่อง, ระยะทางที่ยังวิ่งได้ด้วยน้ำมันที่เหลือในถัง, อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย, อัตราสิ้นเปลืองแบบ Real-time และความเร็วเฉลี่ย

แผงมาตรวัดคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของ BMW เพราะความเรียบง่าย ไม่ฉูดฉาด อาจไม่ถูกใจคนชอบเทคโนโลยีหรือแสงสีอลังการ แต่ให้ความปลอดภัยได้มากในการขับทั้งกลางวันและกลางคืน ปัจจุบัน BMW รุ่นสูงๆทะยอยเปลี่ยนไปใช้มาตรวัดแบบจอสี TFT กันมากขึ้น ซึ่งแม้จะสวยงาม แต่กลับสู้ความ “Simple” ของมาตรวัดแบบดั้งเดิมไม่ได้เวลาต้องการอ่านค่า โดยเฉพาะเวลาแดดส่องย้อนจัดๆ

จากซ้าย มาทางขวา

กล่องเก็บของ Glove Compartment บุด้วยผ้าสักกะหลาด มาให้ทั้งหมด เช่นเดียวกับ BMW รุ่นอื่นๆ มีขนาดความจุไม่โตนักตามประสารถยุคใหม่ที่ต้องซ่อนสรรพสิ่งเอาไว้หลังคอนโซล แต่ยังพอใช้สำหรับเก็บเอกสารต่างๆที่เกี่ยวกับตัวรถและของกระจุกกระจิกได้

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ อัตโนมัติ แยกฝั่งซ้าย – ขวา ให้ลมเย็นได้จริงจังเฉพาะเมื่อคุณตั้งค่าอุณหภูมิไว้ต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ลงมาเท่านั้น มีความสามารถพอที่จะสู้แดดเมืองไทยได้ดีพอสมควร ส่วนชุดเครื่องเสียง ให้คุณภาพเสียง ดีในระดับปานกลาง คือพอฟังได้ เบสพอได้ เสียงใส พอดี แต่ไม่ได้เลิศเลอมากนัก

ด้านล่างของชุดสวิตช์ปรับอากาศ ก่อนถึงคันเกียร์ ก็มีช่องวางของจุกจิกแบ่งเป็นสองชั้น ชั้นในสำหรับวางสิ่งของต่างๆ ส่วนชั้นนอกจะเป็นที่วางแก้วสำหรับสองคน มีฝาปิดให้ดูเรียบร้อยในกรณีคนขับชอบทำกาแฟหกทิ้งคราบไว้แล้วบังเอิญต้องขับรถไปรับเจ้านายหรือลูกค้า

ถัดจากคันเกียร์ไปทางขวา เป็นสวิตช์เปิด/ปิดระบบ DSC และ Traction Control หากกดครั้งแรกจะปิดแค่ Traction Control ซึ่งใช้เวลาต้องการให้ล้อหมุนฟรีได้บ้าง แต่ยังไม่ปิดระบบช่วยเหลือเรื่องการทรงตัว หากจะปิดทั้งหมด ก็ให้กดปุ่มนี้แช่ไว้นานๆจนกว่าหน้าปัดจะขึ้นไฟเตือน ด้านล่างถัดมาเป็นที่อยู่ของปุ่มปรับโหมดการขับขี่ Driving Experience Control (EcoPro, Comfort และ Sport)

ในบริเวณใกล้กัน จะมีปุ่มสำหรับ PDC-Park Distance Control ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ช่วยกะระยะถอยหลัง และระบบช่วยจอดรถกึ่งอัตโนมัติ (Parking Assistant)  แบบถอยจอดเลียบทางเท้าได้ เพียงแค่กดปุ่ม แล้วขับเลียบขอบทางไปช้าๆ รถจะเริ่มค้นหาช่องจอดที่ว่าง พอพบแล้วก็เพียงทำตามที่ระบบของรถบอก เวลาถอยเข้า คนขับไม่ต้องแตะพวงมาลัย แค่คอยเหยียบ/ปล่อยเบรกกับเปลี่ยนเกียร์ D หรือ R ตามที่ระบบบอกให้ทำแคนั้น

ถัดมาด้านหลัง ก็คือชุดสวิตช์ควบคุมระบบ iDrive แบบมี Touch Control และปุ่มสำหรับระบบเบรกมือไฟฟ้าทางขวา X1 ไม่มีระบบ Automatic Brake Hold ไว้ให้ใช้เวลารถติดแบบพวกรุ่นพี่

กล่องเก็บของที่คอนโซลกลางพร้อมฝาปิด แบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนเป็นที่สำหรับเก็บของขนาดชิ้นเล็กมากหรือใช้เป็นแท่นสำหรับวางโทรศัพท์มือถือ ส่วนชั้นล่างมีที่พอให้ใส่กล่อง CD ได้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ถือว่าขนาดโตเท่าไหร่

ทัศนวิสัย ด้านหน้ารถ ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี จากการที่ขนาดบานกระจกโต ที่นั่งสูงและเคลียร์พื้นที่ส่วนบนของแดชบอร์ดให้ดูเรียบไม่รกตาเกินไป ให้บรรยากาศที่ปลอดโปร่งกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา มีขนาดโต แต่พยายามออกแบบบิดมุมกระทำต่อสายตาให้ดูเหมือนเล็กที่สุด (คล้ายๆกับที่สาวอวบชอบบิดตัว Tilt ไปด้านข้างเยอะๆเวลาโดนเพื่อนจับถ่ายรูปหมู่เพื่อให้ดูตัวผอม) ผลที่ได้ก็ถือว่าดี ช่วยให้การขับขี่ส่วนใหญ่โล่งตา มีแค่บางจังหวะที่เลี้ยวเข้าซอยเท่านั้นที่ต้องโยกหัวไปซ้ายหรือขวานิดๆเพื่อให้เห็นทางโค้งได้ถนัด ถือว่าออกแบบมาได้ดีกว่ารถสมัยใหม่และ SUV หลายรุ่นที่ชอบออกแบบให้มีกระจกโอเปร่าทรง 3 เหลี่ยมแล้วทำเสาหนาๆ

กระจกมองข้าง มีขอบบดบังเข้ามาบ้างและขนาดกระจกก็ไม่ได้โตนัก ดูเหมือนว่าออกแบบมาเน้นความลู่ลมมากกว่าทัศนวิสัย หากไม่ได้ปรับกระจกให้บานออกส่องด้านข้างเยอะๆก็อย่าลืมเช็ครถในจุดบอดของกระจกมองข้างก่อนเปลี่ยนเลนได้จะดีมาก

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ยังมีการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะเลี้ยวกลับรถอยู่บ้าง ในบางรูปแบบของจุดกลับรถ แต่ก็นับว่าดีกว่ารถครอสโอเวอร์หลายคันเพราะ BMW พยายามออกแบบเสาไม่ให้โตจนเกินไป และไม่ได้ทำเสาให้ลาดเอียงลงมากนัก

กระจกมองข้าง ฝั่งซ้าย ให้มุมมองที่กว้างในระดับหนึ่ง แต่ขนาดของกระจกจะค่อนข้างเล็ก จึงเกิดผลกระทบเช่นเดียวกับกระจกมองข้างฝั่งคนขับ แต่ถ้าหากรู้จักการเช็คมุมจุดบอดและปรับความชินในการส่องอีกหน่อย ก็ยังพอรับได้

ทัศนวิสัยด้านหลัง ค่อนข้างปลอดโปร่งกว่า BMW หลายๆรุ่นเลยทีเดียว ด้วยทรวดทรงด้านหลังของรถที่ไม่ได้แคบมาก และกระจกด้านข้างบนหลังสุดมีขนาดโต และเอียงทำมุมกับสายตาพอเหมาะ ทำให้เวลาถอยรถแล้วหันไปเช็ค ยังสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ค่อนข้างดี (สมมติว่าไม่ใช้กล้องมองหลัง) จะมีก็แต่เสา D-pillar ที่มีขนาดค่อนข้างโต ซึ่งด้วยรูปแบบของรถและการเน้นความปลอดภัยเวลาคว่ำ ทำให้ยังต้องมีขนาดโตบ้าง

จะทำให้เล็กแบบบางเชี๊ยบก็ได้ แต่คงต้องใช้เสาคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งถ้าทำจริงต้นทุนการผลิตรถคงสูงลิบลิ่ว

********** รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ **********

ขุมพลัง ของ X1 ในตลาดโลก มีให้เลือกถึง 8 แบบ ทั้งเบนซิน ดีเซล และไฮบริดแบบเสียบปลั๊กชาร์จ โดยมีรายละเอียดคร่าวๆดังนี้

เครื่องยนต์เบนซิน

1.5 ลิตร เทอร์โบชาร์จ 3 สูบ รหัส B38A15 มีพลังสูงสุด 136 แรงม้าที่ 4,400-6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 22o นิวตัน-เมตร ตั้งแต่ 1,250-4,000 รอบต่อนาที วางในรุ่น sDrive18i

2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ 4 สูบ รหัส B48A20 กำลังสูงสุด 192 แรงม้าที่ 5,000-6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตัน-เมตร ตั้งแต่ 1,250-4,600 รอบต่อนาที วางในรุ่น sDrive20i (ขับเคลื่อนล้อหน้า) และ xDrive20i (ขับเคลื่อนสี่ล้อ)

2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ 4 สูบ รหัส B48A20 (พื้นฐานเดียวกับตัว 192 ม้า แต่จูนคนละแบบ) ให้พลัง 231 แรงม้าที่ 5,000-6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร ที่ 1,250-4,500 รอบต่อนาที วางในรุ่น xDrive25i

เครื่องยนต์ดีเซล

1.5 ลิตร เทอร์โบชาร์จ 3 สูบ รหัส B37C15 ให้พลัง 116 แรงม้าที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิด 270 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750 รอบต่อนาทีวางในรุ่น sDrive16d

2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ 4 สูบ รหัส B47C20 มีพลัง 150 แรงม้าที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 330 นิวตัน-เมตรที่ 1,750-2,750 รอบต่อนาที วางใน sDrive18d และ xDrive18d

2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ 4 สูบ รหัส B47C20 เหมือนตัวข้างบน แต่ปรับพลังเพิ่มเป็น 190 แรงม้าที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิด 400 นิวตัน-เมตรที่ 1,750-2,500 รอบต่อนาที วางในรุ่น sDrive20d และ xDrive20d

2.0 ลิตร เทอร์โบ 4 สูบ รหัส B47C20 อีกเหมือนกัน แต่จูนเรียกพลังสูงสุด เป็น 231 แรงม้าที่ 4,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงถึง 450 นิวตัน-เมตรยาวตั้งแต่ 1,500-3,000 รอบต่อนาที วางอยู่ในรุ่น xDrive 25d ซึ่งเป็นตัวท้อปของรุ่นดีเซล

ขุมพลังไฮบริด Plug-in (มีจำหน่ายในประเทศจีนเท่านั้น)

1.5 ลิตรเทอร์โบ 3 สูบ B38A15 ประกบกับมอเตอร์ไฟฟ้าพลัง 95 แรงม้า แรงบิด 165 นิวตันเมตร ได้พลังรวมทั้งสิ้น 231 แรงม้า กับแรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตร วางในรุ่น xDrive25Le

สำหรับ X1 เวอร์ชั่นไทย จะมีขุมพลังให้เลือก 2 แบบ คือเบนซิน 1.5 ลิตร และดีเซล 2.0 ลิตร

รุ่น sDrive18i จะใช้เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ รหัส B38A15A  TwinPower Turbo ขนาด 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 82.0 x 94.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.1 : 1 กำลังสูงสุด 136 แรงม้า (PS) ที่ 4,400 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตันเมตร  ที่ 1,250 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Steptronic ขับเคลื่อนล้อหน้า ปล่อยมลพิษ CO2 146 กรัมต่อกิโลเมตร รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงถึง E20

ส่วนรุ่น sDrive18d คันที่เรานำมาทดสอบกันนี้ จะใช้เครื่องยนต์แบบดีเซล 4 สูบ รหัส B47C20A TwinPower Turbo ขนาด 2.0 ลิตร 1,995 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 330 นิวตันเมตร  ที่ 1,750 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ Steptronic Sport ขับเคลื่อนล้อหน้า ปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 128 กรัมต่อกิโลเมตร

sDrive 18d ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเพียงอย่างเดียว  ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ Steptronic พร้อมโหมด บวก/ลบ ทำโดยโรงงาน Aisin AW รุ่น AWF8F ไม่มี Paddleshift ที่พวงมาลัย

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………..5.250

เกียร์ 2……………………..3.029

เกียร์ 3……………………..1.950

เกียร์ 4……………………..1.457

เกียร์ 5……………………..1.221

เกียร์ 6……………………..1.000

เกียร์ 7………………………0.809

เกียร์ 8………………………0.673

เกียร์ถอยหลังทด 4.015 อัตราทดเฟืองท้ายเท่ากับ 2.955

สมรรถนะเป็นอย่างไรนั้น J!MMY ยังคงขอรับหน้าที่ จับเวลาหาอัตราเร่งกันในเวลากลางคืนเช่นเคย โดยผู้ร่วมทดลองคือ คุณเติ้ง กันตพงษ์ สมชนะ สมาชิกของ The Coup Team เรานั่นเอง ผลลัพธ์ที่ได้ ออกมา มีดังนี้

เนื่องจากทางเราไม่ค่อยมีโอกาสได้ทดสอบรถ SUV ระดับพรีเมียมขนาดกระทัดรัด จึงมีแค่เพียง MINI Countryman R60 รุ่นเก่าที่เราได้ทดสอบตัวเลขกันอย่างละเอียดเท่านั้นที่สามารถเอามาเปรียบเทียบได้ แม้จะไม่ยุติธรรมนักเพราะถือว่าเป็นรถที่เกิดมาคนละเจนเนอเรชั่นกัน ส่วน Volvo V40 Cross Country D4 นั้น รูปแบบของรถก็แตกต่าง เพราะเป็นครอสโอเวอร์ชนิดที่เหมือนเอารถแฮทช์แบ็คมายกสูง ไม่ได้เน้นเนื้อที่บรรทุกสัมภาระแบบ X1 แต่การที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลความจุ 2.0 ลิตรเหมือนกัน และ Volvo มีน้ำหนัก 1,583 กิโลกรัมในขณะที่ BMW หนัก 1,545 กิโลกรัม ผมจึงนำมาเปรียบเทียบในเชิงวัดพลัง

ส่วนตารางยาวๆที่แปะเพิ่มมานั้น ก็เพื่อให้คุณลองดูความสามารถของรถเทียบกับรถพรีเมียมและแฮทช์แบ็คทั้งหลายที่เคยลองมา เอาไว้กะว่า X1 แรงประมาณไหน แต่ไม่ได้ตั้งใจจะเอามาเทียบตรงๆหรอกนะครับ

ตัวเลขที่ได้ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ในสายตาของผม เพราะเวลาขับแล้วกระแทกคันเร่งลงไป ก็รู้สึกได้ถึงแรงดึงที่คล้าย MINI Countryman Cooper SD แต่ BMW จะให้แรงดึงมากกว่าและรอบเครื่องหลัง 3,000 กวาดลื่นกว่า แต่กระนั้นมันก็ยังเปรียบไม่ได้กับแรงดึงอันดุเดือดสะใจของ V40 Cross Country D4 แม้เกียร์แรกจะดูเหมือนไม่ต่างกัน แต่ยิ่งขึ้นเกียร์สูง ความต่างของพละกำลังจะยิ่งชัดเจนขึ้น

ถ้าให้พูดตามตรง แม้ว่าแรงบิดช่วงต้นและกลางจะมาดี แต่ความไหลลื่นของรอบเครื่องกลับสู้ X1 รุ่นเก่าเครื่อง 2.0 ลิตรดีเซลไม่ได้ ในรถคันนั้นเข็มวัดรอบตวัดผ่านเลข 4 ไปอย่างว่องไวเหมือนไม่ใช่เครื่องดีเซล แต่สำหรับ X1 sDrive18d นั้น พอเข็มกวาดเกิน 3,500 รอบไปก็เริ่มฝืด คุณจะลาก 4,500 ก็ได้แต่ถ้านี่เป็นรถเกียร์ธรรมดาผมจะสับทิ้งตั้งแต่ 3,800-4,000 แล้วด้วยซ้ำ

ก็ไม่แปลก เพราะชื่อรุ่นก็บอกอยู่ sDrive18d เป็นรุ่นที่ยังค่อนข้างเน้นความประหยัดและลดมลภาวะ นี่ถ้าเราได้รุ่น sDrive20d 190 แรงม้า ผมเชื่อว่าความสนุกสนานในการลากรอบแบบวันเก่าๆจะกลับมา และ V40D4 จะมีคู่แข่งที่น่ากลัวมากขึ้น

ส่วนการไต่ความเร็วขึ้นไปสู่ปลายทางที่ 214 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแบบปิ้งขนมปังกิน แม้ X1 sDrive18d จะทำความเร็วระดับ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้โดยไม่ต้องลุ้นมากนัก และทำความเร็วที่ 1.7 กิโลเมตรได้ 189  แต่ที่ความเร็วระดับนั้นรอบเครื่องจะสูงจนเริ่มพ้น Powerband แล้วพอลงเกียร์ 7 ก็จะไต่ต่อไปเรื่อยๆจนถึงความเร็วสูงสุดตามที่เห็น มันไม่ใช่ SUV สปอร์ตจ๋าหรอก แต่ถ้าเทียบกับ MINI Countryman เจนเนอเรชั่นเก่าที่ในสเป็คระบุว่าแรงน้อยกว่า X1 แค่ 7 แรงม้า คุณอาจจะอุทานว่า 7 ม้าอะไรวะทำไมปลายมันไหลดีต่างกันอย่างนี้

ตามธรรมเนียมของเรา ก็คงต้องขอเตือนกันเอาไว้ เหมือนเช่นเคยว่าเราจะไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็วสูงสุด เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร เราทำให้ดูกัน ด้วยเหตุผลของการให้ความรู้เพื่อการศึกษา สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์ เราไม่ทำในสิ่งที่เสี่ยงอันตรายต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง เราระมัดระวังกับเรื่องนี้มากๆ และเราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิต เพื่อลองทำตัวเลขแบบนี้เอง

ส่วนในการขับขี่ในชีวิตประจำวันจริงๆนั้น ผมบอกเลยว่า X1 เป็นรถที่ขับในเมืองเวลารีบๆได้ “แซ่บมาก” โดยเฉพาะเวลาที่มีทั้งจังหวะกดคันเร่งสลับถอน แม้ไม่ใช่เครื่องรอบจัด แต่ในช่วงออกตัวถึง 3,500 รอบนั้นดึงดีโดยไม่ต้องกดคันเร่งมิด..แค่กดครึ่งเดียวก็ทะยานดี เทอร์โบเริ่มติดบูสท์และส่งแรงดึงตั้งแต่ 1,700 รอบต่อนาที และคันเร่งก็เซ็ตมาไม่ไวหรือช้าเกิน สามารถสั่งได้ว่าจะให้ไปเร็วหรือช้าตามต้องการ

การตอบสนองของเกียร์ 8 จังหวะจาก Aisin AW (ไม่ใช่ ZF แบบพวก BMW ขับหลัง) ก็เซ็ตมาได้ค่อนข้างดี ความไวในการเปลี่ยนเกียร์เวลาคิกดาวน์อาจไม่เท่าเกียร์ ZF 8 จังหวะของพวกรุ่น BMW ขับหลัง แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานที่ดีเมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติส่วนใหญ่ เวลาขับแบบปกติก็เปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล ส่วนอาการยึกยักที่ความเร็วต่ำจะมีก็ต่อเมื่อคุณกดคันเร่งบ้างถอนบ้างแบบเอาแน่ไม่ได้

การเก็บเสียง หลายคนคิดว่ายางขอบประตูฝั่งบานประตู (ประตูหน้า)หายไปแล้วมันจะเก็บเสียงดีหรือเปล่า? เท่าที่ลองดู เสียงลมก็ไม่ได้เข้าเยอะครับ เสียงรบกวนจากถนนก็ไม่ดังมาก จะดังขึ้นบ้างก็ต้องวิ่งระดับ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งก็เป็นความเงียบระดับเดียวกับครอสโอเวอร์ราคาสองล้านยี่ห้ออื่น

พวงมาลัยของ X1 เป็นแบบเพาเวอร์ไฟฟ้า (EPS) Servotronic อัตราทดเฟืองพวงมาลัยอยู่ที่ 15.7 : 1 มีน้ำหนักค่อนข้างเบาเมื่อหมุนตอนถอยจอดรถและที่ความเร็วต่ำ แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้น น้ำหนักหน่วงกลางช่วงถือพวงมาลัยตรงจะหนักและหนืดขึ้น ทำให้ไม่ต้องเกร็งข้อมือประคองพวงมาลัยมากนัก ความไวของพวงมาลัยเวลาเลี้ยวก็อยู่ในระดับที่พอเหมาะ แต่เวลาวิ่งเร็วๆอย่าเผลอหักพวงมาลัยเยอะ เพราะเมื่อหมุนออกจาก Center เกิน 3 นิ้ว มันจะแอบไวขึ้นมาทันที

น้ำหนักพวงมาลัยในโหมด Comfort กับ Sport แทบไม่ต่างกัน ต้องพยายามจับความรู้สึกอย่างมาก (คือ J!MMY รู้สึก แต่ผมแทบไม่รู้สึก) แต่โดยรวมแล้วมันยังเป็นพวงมาลัยที่เรียกตัวเองว่าพวงมาลัย BMW ได้ สาวขับก็สบายชายขับก็สนุก

ช่วงล่างของ X1 นั้น ด้านหน้าเป็นแบบอิสระ Single-joint spring strut ปีกนกทำจากอะลูมิเนียม ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Multi-arm axle (มัลติลิงค์) แยกสปริงออกเป็นคนละเบ้ากับโช้คอัพ ซึ่งเป็นโช้คอัพแบบธรรมดา ไม่มีระบบปรับความแข็งอ่อน

อุปนิสัยของช่วงล่างนั้น เป็นประเภทแข็ง เฟิร์ม หนึบ เอาใจวัยรุ่น ซึ่งมาแนวทางเดียวกับ MINI Countryman รุ่นใหม่ เพียงแต่ปรับลดความกระด้างลงเพื่อให้รองรับเจ้าของรถที่เป็นผู้ใหญ่วัย 45-55 ได้บ้าง เมื่อหักเลี้ยวหลบแบบกระทันหัน ช่วงล่างสามารถควบคุมอาการยวบตัวได้อย่างดีเยี่ยม บาลานซ์ของตัวรถเวลาเข้าโค้งก็ทำได้ดีกว่าที่คาด เพราะบนโค้งแบบพื้นแห้ง เมื่อสาดเข้าไปแรงๆ นึกว่าจะเกิดอาการหน้าดื้อ แต่กลับได้อาการท้ายปัดแบบนิดๆกำลังสวยมาแทน

ผมไม่คิดเหมือนกันว่ารถรูปทรงแบบนี้จะสามารถตอบสนองได้ในลักษณะนั้น ขนาด Mazda CX-5 ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งเรื่องความแซ่บในบรรดา SUV จากฝั่งญี่ปุ่นยังไม่สามารถเซ็ตท้ายให้ออกแบบกำลังดี ตั้งหน้ารถออกโค้งได้ง่ายและเร็วแบบนี้ นี่ล่ะครับคือฝีมือวิศวกร BMW

ที่ความเร็วสูงระดับใกล้ความเร็วสูงสุด X1 ยังสามารถทรงตัวได้นิ่ง แม้จะเจอคอสะพานชันๆโหดๆแบบมอเตอร์เวย์ ช่วงล่างก็กำราบความย้วยได้อยู่หมัด ดูเหมือนว่ารถคันนี้จะ “ชอบ” การวิ่งข้ามจังหวัดด้วยความเร็วดึงดูดใบสั่งอย่างนี้ด้วยซ้ำ..ขนาด 320d F30 โฉมก่อน LCI ยังไม่สามารถกำกับตัวถังได้นิ่งขนาดนี้

ระบบเบรก เป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ มีครีบระบายความร้อนที่ขอบจานเบรก และใช้คาลิเปอร์แบบ Floating 1 Pot ทั้งหน้าและหลัง เพียงแต่ขนาดคาลิเปอร์และจานเบรกจะต่างกัน ให้ประสิทธิภาพที่เพียงพอต่อการหน่วงตัวรถจากความเร็วสูงระดับ 180 ลงมาได้อย่างมั่นใจ และอาจต้องทำซ้ำ 2 รอบแบบติดๆกันจึงจะเห็นอาการเฟดชัดเจน ส่วนการตอบสนองและน้ำหนักของแป้นเบรกนั้น ผมนึกว่าจะเหมือนกับ Countryman โฉมใหม่ แต่กลับกลายเป็นว่าน้ำหนักต้านเท้าของ BMW หนักกว่านิดๆ

จุดที่ยังไม่ค่อยประทับใจคือเวลาเหยียบเบรกจะต้องกดแป้นลงไปลึก ซึ่งไอ้ความลึกน่ะยังไม่เท่าไหร่ แต่พอกดไปถึงจุดหนึ่งคาลิเปอร์จะหนีบจานแบบทันที หน้าทิ่ม แม้จะเป็นเรื่องที่ปรับเท้าปรับความชินกันได้ แต่ก็ควรปรับให้มีลักษณะ “เหยียบน้อยหน่วงน้อยเหยียบมากหน่วงมาก” แบบที่ BMW รุ่นอื่นๆเขาทำกันได้ (หมายเหตุ: ครั้งแรกที่ลองขับ X1 ในปี 2016 แป้นจะยังไม่ลึกเท่านี้ แต่นิสัยอย่างอื่นเหมือนกัน)

อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยสำหรับ X1 sDrive18d xLine ที่ให้มา ประกอบไปด้วย

  • ถุงลมนิรภัยสำหรับคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า
  • ถุงลมนิรภัยด้านข้างสำหรับผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้า
  • ถุงลมนิรภัยระดับศีรษะสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า/หลัง
  • ระบบควบคุมเสถียรภาพการขับขี่ (DSC) และระบบควบคุมการยึดเกาะถนน (DTC)
  • ระบบป้องกันล้อล็อค ABS และระบบปรับแรงดันน้ำมันเบรกแบบแปรผัน

X1 ผ่านการทดสอบการชนของ EURO NCAP ในปี 2015 ด้วยคะแนน 5 ดาว คะแนน และได้คะแนนสำหรับหมวดความสามารถในการปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่ 90% คะแนนปกป้องผู้โดยสารวัยเด็ก 87% และคะแนนการปกป้องคนเดินถนน 74%

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

J!MMY กับเติ้ง ยังคงรับหน้าที่หาความประหยัดน้ำมันของ X1 กันต่อเนื่องจากช่วงทดลองหาอัตราเร่ง พวกเขาทั้ง 2 คน ยังคงใช้วิธีการดั้งเดิม เหมือนที่เว็บไซต์ของเรา ใช้มาตลอด นั่นคือไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

เนื่องจาก BMW X1 คันนี้ ที่มีค่าตัวแพงกว่า 1.5 ล้านบาท และ ผู้ที่ซื้อรถยนต์รุ่นนี้ ให้ความสำคัญกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ไม่มากถึงกับคอขาดบาดตาย เราจึงใช้วิธีการ เติมน้ำมันแค่หัวจ่ายตัดก็พอ ไม่เขย่ารถ

หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถัง เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ โดยเปิดเครื่องปรับอากาศ อุณหภูมิปานกลางพัดลมเบอร์ 2 อุณหภูมิ 22 องศาเซลเศียส (รถยุโรป เปิด 25 องศาไม่ได้ครับ เพราะอากาศภายนอกรถ กับภายในรถจะใกล้เคียงกันเกินไป จนไม่รู้สึกว่าเครื่องปรับอากาศทำงานเลย ไม่เหมือนรถญี่ปุ่น ที่เย็นแบบหลอกๆเปิด 25 องศา แต่ความจริง อยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส)

เราออกจากปั๊ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยังปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบรักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เนื่องจาก X1 ไม่มีระบบ Cruise Control เราจึงต้องทดสอบโดยใช้วิธีเลี้ยงความเร็วให้ได้ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงแบบปกติ

จากนั้น เราย้อนกลับมาลงทางด่วนที่อนุเาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธินอีกครั้ง ไปเลี้ยวกลับที่หน้าโชว์รูม เบน์ราชครู ตรงสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายกลับเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ไปที่ตู้เดิมเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ที่หัวจ่ายเดิม แค่หัวจ่ายตัดพอเช่นเดิม

ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

ระยะทาง มาตรวัด Trip Meter : 93.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมัน Diesel Techron Power D เติมกลับ 5.26 ลิตร
คำนวนได้ อัตราสิ้นปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.68 กิโลเมตร/ลิตร!!

ดูจากตัวเลขแล้ว เห็นได้ว่า X1 sDrive18d ประหยัด จน ECO Car 1.2 ลิตร หลายๆคันถึงขั้นค้อนขวับเข้าให้เลยทีเดียว! อย่าลืมว่านี่คือรถ SUV หนัก 1.5 ตันนะครับ แต่จะว่าไปก็มี Volvo V40 D4 ที่ตัวหนักใกล้เคียงกัน แต่ยังทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองได้ประหยัดกว่า X1 อยู่เล็กน้อย

แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?

J!MMY เขาลองขับใช้งานในชีวิตประจำวัน ตามแบบของเขา คือ วิ่งในเมือง บนทางด่วน นอกเมือง วิ่งทางไกล เร่งแซง เร่งหนี ไล่บี้รถช้าวิ่งเลนขวา (บ้าง) สรุปแล้ว น้ำมัน 1 ถัง น่าจะพาคุณแล่นได้ไกลประมาณ 600 – 650 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะการขับของคุณ ยิ่งลดการกระแทกคันเร่ง ยิ่งมีโอกาสวิ่งทางไกล ก็อาจมีโอกาสไปได้ไกลถึง 800 กิโลเมตรเลยก็ได้

********** สรุป **********
ขับดีกว่าที่คิด แต่ขอเบาะนั่งที่สบายกว่านี้ และราคาที่เป็นมิตรกว่านี้

สำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ BMW แล้วคุณกำลังสงสัยว่าแพลทฟอร์มเครื่องวางขวางจาก MINI จะทำให้เสียรสชาติในการขับไปหรือเปล่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการขับของแต่ละคน หากคุณเป็นพวกที่ชอบเข้าโค้งแรงๆแล้วกดคันเร่งให้ท้ายกวาด ชอบปิด Traction Control แล้วดริฟท์ X1 ใหม่ก็คงไม่ใช่รถสำหรับคุณเพราะ..มันไม่ใช่รถขับหลังนี่ครับ!

แต่ถ้าคุณชอบรถที่ช่วงล่างแข็งๆมั่นๆ สั่งให้เลี้ยวไปทางไหนก็เลี้ยว วิ่งเร็วๆกระโดดคอสะพานแล้วไม่เสียอาการ ชอบรถที่ “เกาะ” มากกว่ารถที่ “กวาด” ถ้าอย่างนั้น X1 จะตอบโจทย์คุณได้สบายมากและการเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าของ BMW จะไม่ใช่เรื่องแย่อย่างที่คุณคิด อย่าลืมว่าแม้มันจะเป็นรถขับหน้ารุ่นแรกๆของ BMW แต่อันที่จริงวิศวกรของพวกเขาได้ซ้อมฝีมือการสร้างรถแบบนี้มากับรถ MINI ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษแล้ว

ความยืดหยุ่นของพละกำลังเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร 150 แรงม้า บวกกับการทำงานของเกียร์ 8 จังหวะ ให้ผลออกมาดีสำหรับการขับขี่ทั้งแบบทั่วไปและแบบกำลังรีบ กดคันเร่งแค่ 50% ก็พุ่งทะยานในแบบที่คุณคาดหวังจากบรรดาดีเซลเทพของรถ BMW ควบคุมพลังผ่านคันเร่งได้ง่าย การตอบสนองของลิ้นคันเร่ง และการเลือกใช้เกียร์ให้เหมาะกับสถานการณ์ต่างๆคือจุดเด่นที่ X1 รักษาเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม เพียงแต่อัตราเร่งช่วงรอบปลายๆจะไม่หวานเหมือนพวก 320d และการตอบสนองของเกียร์เวลาคิกดาวน์จะช้ากว่าแค่เสี้ยววินาที

นอกจากนี้มันยังเป็นรถที่ประหยัดน้ำมันใช้ได้ คิดดูเอาว่ารถหนักพอๆกับ Honda Accord คันโตๆ แต่กินน้ำมันชนิด Brio ยังค้อน และการขับแบบรีบกว่าปกติบ้าง ไม่ค่อยส่งผลต่ออัตราการสิ้นเปลืองแบบชัดเจนนัก ดังนั้นจึงเป็นรถที่คุณสบายใจที่จะขับเร็วบ้าง ช้าบ้างโดยไม่ต้องเกร็งตัวเหมือนขับแข่งประหยัดน้ำมันรอบโลก

ที่สำคัญ…การเปลี่ยนมาใช้แพลทฟอร์ม UKL2 เครื่องยนต์วางขวาง ทำให้ BMW สามารถจัดพื้นที่รถ แบ่งความสำคัญระหว่างห้องเครื่อง, ห้องโดยสาร และห้องเก็บสัมภาระได้ดีชนิดที่ลืม X1 E84 รุ่นเดิมไปได้เลย! มันเปลี่ยนจากรถที่เข้าก็ยาก ออกก็ยาก นั่งก็ไม่สบาย ภายในก็คับแคบ ขนของก็ไม่ได้เยอะ จนเกิดคำถามว่าจะเป็นรถอเนกประสงค์จริงๆเหรอ (วะ) กลายเป็นรถ SUV ขนาดเล็ก มิติกำลังดี มีพื้นที่ปลอดโปร่งขึ้นทั้งเท้าและหัว มีห้องเก็บสัมภาระกับความจุที่ใช้ได้จริงมากขึ้น

ผมรู้สึกว่าการตัดสินใจ “Drop Out” จากการเป็นครอสโอเวอร์ขับหลังเครื่องวางตามยาว มาเป็นรถเครื่องวางข้างขับหน้าเหมือนรถส่วนใหญ่ในตลาด คือการตัดสินใจที่ถูก และเหมาะสมแล้วกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของ BMW

แต่ต่อให้เว็บเราจะถูกมองว่าเป็นเว็บที่ Pro BMW (สังเกตจากการที่จัด BestDrive ทีไร ถ้าปีนั้นมี BMW ก็จะได้ติดอันดับ Top 5 เสมอ) ผมก็ต้องขอบอกก่อนว่า X1 ไม่ใช่รถที่ดีเลิศโดยปราศจากข้อเสีย และคุณสามารถเห็นจุดอ่อนเหล่านั้นได้โดยที่ไม่ต้องใช้บอดี้อ้วนๆแบบผม แค่ใช้ตรรกศาสตร์และความคิดเชิงเศรษฐศาสตร์บ้างเท่านั้น

อย่างแรกที่ผมมองว่าควรถอดแล้วนำไปปาใส่หัวไดโนเสาร์เลยก็คือเบาะนั่งแบบ Clamshell ใน X1 รุ่น xLine ทั้งหลาย รู้สึกได้ว่าเมื่อพิจารณาปรัชญา Ultimate Driving Enjoyment ของรถทั้งคันแล้ว เบาะนั่งอันแข็ง มีขอบบั้งตั้งๆในลักษณะที่ไม่ได้ช่วยดุนหรือดันให้เกิดความกระชับหรือสบายใดๆ ไม่ว่ากับคนผอมหรืออ้วน นั่นมัน Ultimate pain in the ass..ต้องขออภัยที่พูดตรงเกิน แต่ถ้าคุณได้นั่งเบาะของ BMW รุ่นอื่นๆมาครบ คุณจะเข้าใจว่าทำไมผมถึงผิดหวัง

โอเค คุณอาจจะมองว่าก็ไอ้คนขับมันอ้วนผิดปกติ เบาะรถที่ไหนก็นั่งไม่สบาย (อันที่จริงผมนั่งซีรีส์ 3 และ 5 สเป็คมาตรฐานแล้วสบายนะครับ) ถ้างั้นลองพิจารณาเรื่องอุปกรณ์ติดรถดู สำหรับ SUV พรีเมียม การมีระบบนำทาง มีจอ Head Up Display มีเบาะไฟฟ้าพร้อม Memory เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว แต่การไม่มี Cruise Control ให้..ในรถที่สร้างมาเพื่อสันทนาการและการขับขี่ ผมมองว่า BMW มาพยายามเซฟเงินกับสิ่งที่มันไม่ได้แพงอะไรมาก

นอกจากนี้ แม้ว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานจะครบ แต่อุปกรณ์ขั้นสูงขึ้นอย่างระบบเตือนรถในจุดบอดกระจกมองข้าง ระบบเบรกอัตโนมัติ แบบนี้ควรเริ่มพิจารณาติดตั้งได้แล้ว เพราะเมื่อ 5 ปีก่อน ของพวกนี้อาจจะดูเกินเอื้อมสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ใน พ.ศ.นี้ รถที่ราคาถูกกว่า X1 เท่าตัว เขาก็ติดตั้งมาให้กัน แล้วแบรนด์ระดับใกล้เคียงกันอย่าง Volvo เขาสามารถประเคนอุปกรณ์ความปลอดภัยมากมายใส่ V40 ได้แล้วทำราคาให้ถูกกว่า X1 เกือบครึ่งล้านได้อย่างไร…เรื่องนี้ต้องฝากพิจารณา เพราะข้อจำกัดที่เป็นความลับของบริษัทรถ บางทีสื่อมวลชนอย่างพวกเราก็ไม่ทราบหรอกครับ

การตอบสนองของแป้นเบรก..น่าจะลองปรับใหม่ให้มีความต่อเนื่อง กดน้อยจับน้อย กดมากจับมาก ไม่ใช่กดช่วงแรกฟรี เบา แล้วพอกดลึกอีกนิดๆก็จับแบบหน้าทิ่ม ผมคิดว่าที่ผ่านมา BMW ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเซ็ตน้ำหนักและลักษณะการจับคาลิเปอร์มานานแล้ว การแก้ไขเรื่องนี้ไม่ยาก ก็แค่ทำให้มันเหมือนกับ BMW ขับหลังรุ่นหลักที่ทางค่ายขายอยู่นั่นล่ะครับ

ท้ายสุดทั้งหมดนี้ มาอยู่ในราคาประมาณ 2.4-2.5 ล้านบาทที่คุณต้องจ่ายเพื่อแลกกับ X1 มันทำให้คุณต้องตีโจทย์ตัวเองให้แตกว่าคุณต้องการรถ SUV ขนาดเล็กที่มีโลโก้ BMW หรือไม่ คุณเห็นรถคันนี้แล้วตกหลุมรักเลยหรือไม่..หรือว่าคุณเป็นคนที่ต้องถูกสถานการณ์ทางด้านการงานบังคับให้ต้องขับรถที่เป็นแบรนด์ระดับสูง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วลูกค้าจะไม่ให้เครดิตกับคุณ..หรือทุกข้อรวมกัน

เพราะถ้าหากคุณไม่จำเป็นต้องใช้รถ SUV แต่แค่ต้องการรถที่มีภาพลักษณ์ทางสังคมดีและต้องเป็น BMW กรุณาเช็คราคา BMW 330e Iconic หรือ Luxury แล้วลองบอกผมอีกทีว่าคุณอยากได้ X1 คันนี้อยู่หรือไม่

 

ถ้าสมมติว่าคุณตัดสินใจว่ารถเก๋งธรรมดาไม่ใช่คำตอบ แล้ว X1 หรือรถรุ่นไหนบ้างที่น่าสนใจในงบประมาณระดับเดียวกัน?

X1 มีทั้งรุ่น sDrive18i xLine, sDrive18d xLine และ sDrive18d M Sport ซึ่งรุ่นแรกนั้นใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 3 สูบ 136 แรงม้า ที่มีเรี่ยวแรงในระดับพอให้ป้องกันตัวกับให้ใช้ขับสัญจรไปมาในเมือง หรือออกต่างจังหวัดแบบไม่รีบมาก แต่การทำงานของเกียร์ยังไม่ดีเท่ารุ่นดีเซล โดยเฉพาะเวลาใช้โหมด Sport ..นอกจากนั้นไปเหมือนกันหมดทุกอย่าง

ส่วนรุ่น M Sport จะมีราคาสูงขึ้น แต่คุณได้ล้ออัลลอยและกันชนแบบ M Sport และที่สำคัญคือคุณได้เบาะหน้าแบบสปอร์ตที่แม้จะไม่สบายขนาดนั้นเวลานั่ง แต่ตัวเบาะสามารถปรับช่วงรองต้นขาได้ ให้อารมณ์แบบเบาะกึ่งสปอร์ตที่กระชับ และไปๆมาๆก็นั่งสบายกว่าเบาะของรุ่น xLine เสียด้วยซ้ำ

และคุณอยากลองเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ ก็พอจะมีตัวเลือกดังนี้

MINI Cooper Countryman 1.5 – มันคือรถที่ใช้โครงกระดูกและเครื่องยนต์เดียวกับ X1 เครื่องเบนซิน ช่วงล่างแข็งสะเทือนกว่าแต่เกาะถนนไม่ต่างกัน มีดีไซน์ที่โดดเด่น ขับแล้วทำให้เจ้าของดูเป็นวัยรุ่นมากกว่า X1 แต่อุปกรณ์ติดรถก็มีไม่เยอะนัก และค่าตัวก็ไม่ได้ต่างจาก X1 มาก ถ้าคุณไม่ได้รัก MINI มากขนาดนั้น บางที X1 อาจจะให้สิ่งต่างๆที่ดูคุ้มค่ากว่า

Audi Q3 35TFSI Quattro 2.0 – แพงกว่า X1 ไม่มาก แต่คุณได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Quattro และเครื่องยนต์เทอร์โบ 2.0 ลิตร 180 แรงม้า ช่วงล่างนุ่มนวลกว่า X1 แต่ยังมีความหนึบแบบรถเยอรมันเหลืออยู่ ปัญหาก็คือ Q3 เป็นรถที่ขายมานานมาก และกำลังรอการผลัดเปลี่ยนเข้าสู่เจนเนอเรชั่นใหม่ ถ้าคุณจะจ่ายเงินสองล้านกลางๆ ก็คงไม่อยากได้รถที่ตกรุ่นเร็วนัก แม้ประสิทธิภาพโดยรวมและการขับขี่จะไม่เลวเลยก็ตาม

Audi Q2 35TFSI 1.4 – ราคา 2,299,000 บาท ขนาดตัวเล็ก เตี้ย แต่ช่วงล่างหนึบ เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 160 แรงม้า ให้อัตราเร่งใกล้เคียงรถญี่ปุ่น C-segment เครื่อง 2.0 ลิตร สำหรับคนที่ชอบเล่นรถเครื่องเบนซินมากกว่าดีเซล Q2 เป็นรถที่ให้รสชาติในการขับดีกว่า X1 รุ่นเบนซิน ส่วนหนึ่งเพราะเครื่องยนต์และเกียร์ที่สนองใจวัยรุ่นได้ดีกว่า แต่คุณรับได้ไหมถ้าจ่ายเงินเท่านี้แต่วัสดุภายในเป็นพลาสติกแข็งหลายจุด กุญแจแบบเสียบบิดสตาร์ท ไม่มีแอร์ออโต้หรือระบบนำทาง

Mercedes-Benz GLA200/250-  เลือกตามความแรงและตามกำลังทรัพย์ที่ต้องการ ในรุ่น GLA250 โดดเด่นด้วยพละกำลังและอัตราเร่งที่รุนแรง ช่วงล่างแข็งหนึบ ขับมันส์ แต่อย่าถามหาความสบายไม่ว่าเบาะหน้าหรือหลัง เหมาะสำหรับคนร่างผอมที่ไม่เป็นโรคปวดหลังปวดคอ แต่ถ้าดูอุปกรณ์กับเครื่องยนต์ตามโบรชัวร์ ดูเหมือนจะให้สิ่งต่างๆมากกว่า X1 แลกกับพื้นที่ใช้สอยภายในรถที่แคบตามสไตล์ครอสโอเวอร์ท้ายสั้น

Volvo V40 Cross Country D4-เครื่องยนต์แรงสูง เร่งได้รวดเร็วแต่ประหยัดเชื้อเพลิง ภายในดูดีมีลูกเล่นแม้จะเปิดตัวมาหลายปีแล้วก็ตาม ราคาถูกสุดในกลุ่มแค่ 2,099,000 บาท แต่อุปกรณ์ความปลอดภัยขั้น Advance ครบครันที่สุดในกลุ่ม แต่การที่ใช้บอดี้เดียวกับรถแฮทช์แบ็คทำให้แนวหลังคาเตี้ย ไม่มีเนื้อที่ให้ยืดแข้งยืดขามากนัก พื้นที่เก็บสัมภาระน้อย และประสิทธิภาพของช่วงล่างยังไม่ดีเท่า BMW กับ Audi

ท้ายสุด ไม่ว่าคุณจะเลือกรถคันไหนมาคู่ใจ ในมุมมองของคนลองรถ (ไม่อยากจะเรียกว่านักทดสอบเพราะไม่รู้สึกว่าตัวเองมืออาชีพขนาดนั้น) ผมก็ยังมีความเห็นในภาพรวมกับรถรุ่นนี้ค่อนข้างดี แม้ว่าจะไม่ทำให้ WOW! เหมือนกับการขับ BMW แรงๆรุ่นอื่น

การที่ผมให้คำนิยามกับ X1 ว่าเป็น “MINI ของผู้ใหญ่ และ BMW ของวัยรุ่น” ก็หมายถึงลักษณะของตัวรถที่ออกแบบมาดี รองรับคนได้หลายวัย หากคุณเคยขับ MINI Countryman มาก่อน แต่วันเวลากับหน้าที่การงานพาให้คุณต้องใช้รถที่ดูมีมาดภูมิฐานขึ้น คุณอยากได้รถที่ให้ความรู้สึกเป็นวัยรุ่นเมื่อได้ขับ แต่ดูเป็นคนจริงจังกับชีวิตมากขึ้น X1 จะตอบโจทย์นั้น

และถ้าคุณเป็นเด็กสาวเรียนมหาวิทยาลัยที่ทางบ้านมีฐานะ ติดภาพในหัวว่ารถยุโรปปลอดภัยกว่ารถญี่ปุ่นเสมอ และคุณไม่อยากขับซีรีส์ 3 เพราะมันซ้ำกับรถของพี่ชายคุณ หรือไม่อยากเอาซีรีส์ 5 เพราะเปลืองเงินพ่อแม่มากเกินไป X1 ก็เป็นรถที่ตอบโจทย์คุณได้ ขับแล้วก็ดูมีความเหมาะสม ไม่โอเวอร์ และไม่จืดชืดเกิน

แต่ในเชิงวิศวกรรรม ผมปรบมือให้กับทั้ง Calvin Luk คนสะบัดปากกาออกแบบภายนอก และทีมงานที่เป็นผู้พัฒนาแพลทฟอร์มกับจูนช่วงล่าง พวกเขากล้า..ที่จะทำรถที่แตกต่าง แหกประเพณีครอบครัวตัวเองและพัฒนาให้มันถึงจุดที่คนชอบขับรถแบบผมยอมรับ และรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดอีกต่อไปถ้าคุณจะซื้อ BMW ขับเคลื่อนล้อหน้าแล้วถามหาประสิทธิภาพในการขับขี่ แล้วคุณยังได้ความอเนกประสงค์ พื้นที่ใช้สอย อย่างที่รถประเภทนี้ควรมี

ไม่ว่า X1 จะเป็นรถที่ดีหรือร้ายในสายตาคุณ แต่การพยายามผสานระหว่างแนวคิดใหม่กับส่วนที่ดีงามจากวิถีดั้งเดิมเข้าด้วยกัน กลั่นออกมาเป็นสิ่งที่ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผมมีความรู้สึกดี เวลาเห็นใครสักคนทำในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง ก็คล้ายๆกับการที่แม่ผมพยายามผลักดันให้เด็กนักศึกษาสักคนมีชีวิตที่ดำเนินไปถูกทาง ลงตัวกับอนาคต ลงรอยกับคนในครอบครัว แม่ไม่ได้อะไร แต่ทุกครั้งที่แม่เล่าเรื่องเด็กคนนั้น ก็จะยิ้มอย่างมีความสุขเสมอ

มันคือความสุขที่มาเอง ไม่มีค่าตอบแทน ไม่ต้องพ่วงกระแส PR สื่อโฆษณา หรือ Social ใดๆทั้งสิ้น

 

—————————–///—————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
คุณพิศมัย เตียงพาณิชย์
BMW Thailand Co.,ltd
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
First Impression : BMW X1 By: Pan Paitoonpong

Pan Paitoonpong (Feat. J!MMY)
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของ J!MMY
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
21 พฤศิจกายน 2017

Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without
permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
21 November 2017

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!