Hello it’s me ! Mazda CX-5 คันเดิม ที่เพิ่มเติมคือภายในห้องโดยสาร
ที่ประณีต ละเมียดละไม น่าใช้ขึ้น
นี่คือคำนิยาม ที่ผมจะกล่าวถึงตัวรถก่อนได้ลองขับ หากมีใครมาถามว่า
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับ CX-5 minorchange ที่พึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ในบ้านเราไปเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ช่วงเดือนcกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่เพิ่งผ่านไปเป็นช่วงเวลาที่นรกแตกสำหรับผม
มากๆ เนื่องจากเหล่าบรรดาค่ายรถยนต์โหมกระหน่ำเปิดตัวติดๆกัน ไม่ว่าจะเป็น
Audi TTS, Honda BR-V, BMW X1, Honda Accord, Mercedes-Benz
C-class coupe’ ซึ่งเปิดตัวในวันที่ 23 ถัดมาในวันรุ่งขึ้นก็เป็นคิวเปิดตัว
ของ Mazda CX-5 minorchange ในช่วงเช้าทันที !
ด้วยความสงสัย เนื่องจากในงานเปิดตัว มีการนำเสนอถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
ในหลายๆด้านจากรุ่นที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเสียงเอย เบาะนั่งเอย แถมยังบอก
อีกว่าช่วงล่างมีการปรับให้นุ่มขึ้น เลยกระตุกต่อมอยากรู้ อยาเห็นของผม ว่า เอาล่ะ !
ต้องหารถเทสต์มาลองให้ได้ ว่าที่เค้าว่ามาน่ะ จริงไหม? สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น
สิบตาเห็น ไม่เท่าได้ลองสัมผัสเอง ก็เลยตัดสินใจยืมมาลองขับให้รู้กันไปเลย
ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้สัก 6 เดือน ผมมีโอกาสได้ไปเห็นรถคันจริงมาแล้วที่ญี่ปุ่น
ในงาน Tokyo Motor Show 2015 ช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พอเห็นแล้ว
ไปลองนั่งมา ก็รู้สึกว่า เฮ้ย ภายในห้องโดยสารนี่มันน่าใช้ขึ้นเยอะเลยนะ ถึงภายนอก
จะเปลี่ยนไปไม่มาก แต่ก็ดูดีขึ้นเป็นกอง โดยไม่รู้สึกว่าส่วนของรุ่นเดิมที่ถูกปรับปรุง
เปลี่ยนแปลงในรุ่น minorchange นี้ มีตรงไหนไม่เข้าท่า เพราะทุกอย่างที่ถูกปรับ
มันดูดีขี้นกว่ารุ่นเดิมจริงๆ
Mazda CX-5 เป็นรถยนต์รุ่นใหม่รุ่นแรกของ Mazda ในเมืองไทย ที่ใช้เทคโนโลยี
SKYACTIV ทั้งคัน เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 จากวันที่เปิดตัวจวบจน
ถึงปัจจุบัน CX-5 ทำยอดขายสะสมในไทย ไปแล้วดังนี้
ปี 2013 (พฤศจิกายน-ธันวาคม) : 991 คัน
ปี 2014 (มกราคม-ธันวาคม) : 5,634 คัน
ปี 2015 (มกราคม-ธันวาคม) : 3,832 คัน
ปี 2016 (มกราคม-มีนาคม) : 722 คัน
บนท้องถนนในบ้านเราตอนนี้ จะมีสมาชิก Mazda CX-5 วิ่งอยู่รวมทั้งสิ้นกว่า
11,179 คัน โดยรุ่นย่อยที่ขายดี (Best Seller) อันดับต้นๆก็คือรุ่นเบนซิน 2.0S
ขับเคลื่อนล้อหน้า และรุ่นดีเซล 2.2 XDL ขับเคลื่อน 4 ล้อ
จากรุ่นเดิม Mazda CX-5 จะมีด้วยกัน 4 รุ่นย่อย 3 เครื่องยนต์ดังต่อไปนี้
เบนซิน
– 2.0 C ขับเคลื่อน 2 ล้อ 1,200,000 บาท
– 2.0 S ขับเคลื่อน 2 ล้อ 1,300,000 บาท
– 2.5 S ขับเคลื่อน 2 ล้อ 1,440,000 บาท
ดีเซล
– 2.2 XDL ขับเคลื่อน 4 ล้อ 1,670,000 บาท
รุ่น Minorchange นี้จะถูกปรับรุ่นย่อยใหม่ ยังคงมี 4 รุ่นย่อยเหมือนเช่นเคย แต่มีการ
ปรับรายละเอียดในแต่ละรุ่นเล็กน้อย รวมถึงถอดเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อ
ออกไป ด้วยเหตุผลทางด้านอัตราสรรพสามิตใหม่ ที่อิงค่าการปล่อยก๊าซ CO2 ทำให้ Mazda
Sales Thailand ไม่สามารถทำราคาที่เหมาะสมได้ จึงเหลือเพียง 2 เครื่องยนต์ ดังนี้
เบนซิน
– 2.0 C ขับเคลื่อน 2 ล้อ 1,220,000 บาท
– 2.0 S ขับเคลื่อน 2 ล้อ 1,330,000 บาท
ดีเซล
– 2.2 XD ขับเคลื่อน 2 ล้อ 1,530,000 บาท
– 2.2 XDL ขับเคลื่อน 4 ล้อ 1,690,000 บาท
รุ่นที่เพิ่มเข้ามาใหม่คือ 2.2 ดีเซล ขับเคลื่อน 2 ล้อ อันเป็นรุ่นที่เราจะนำมาทดสอบ
อัตราเร่ง และ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในครั้งนี้ (คันสีเทา) เพื่อดูกันว่า หากตัดชุด
เพลาขับด้านหลังออกไป ขุมพลังดีเซลบล๊อกนี้จะสามารถเค้นประสิทธิภาพที่แท้จริง
ออกมาได้แค่ไหน เพราะรุ่นเดิมนั้นเครื่องยนต์ดีเซลจะถูกจับคู่เฉพาะระบบขับเคลื่อน
4 ล้อเท่านั้น
ส่วนรุ่น 2.2 ดีเซล ขับเคลื่อน 4 ล้อ (คันสีขาว) นั้น เราเอามาขับเปรียบเทียบ รวมถึง
ลองเล่นระบบช่วยเหลือการขับขี่ขั้นสูงต่างๆที่ถูกเพิ่มเข้ามา เพราะระบบเหล่านี้จะ
ติดตั้งมาให้เฉพาะในรุ่นท๊อปเท่านั้น
CX-5 minorchange มีมิติตัวรถ ยาว 4,540 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร
สูง 1,670 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า
(Front Track) 1,585 มิลลิเมตร ส่วน ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track)
1,590 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ หรือ Ground Clearance 210 มิลลิเมตร
เท่ากับรุ่นเดิมเป๊ะ
น้ำหนักรถเปล่าเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมเล็กน้อย คือ รุ่น 2.2 XDL AWD จากเดิมหนัก
1,650 กิโลกรัม รุ่น minorchange เพิ่มขึ้น 23 กิโลกรัม เป็น 1,673 กิโลกรัม
ส่วนรุ่น 2.2 XD 2WD จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 1,605 กิโลกรัม ต่างกับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ
อยู่ 68 กิโลกรัม
เทียบกับรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร ที่พึ่งถูกถอดออกไปซึ่งมีน้ำหนักตัว 1,521 กิโลกรัม
จะพบกว่ารุ่นย่อยใหม่ 2.2 ดีเซล ขับเคลื่อน 2 ล้อ ที่จะมาทดแทนนั้น หนักกว่ากันอยู่ 84
กิโลกรัม เลยทีเดียว
ดีไซน์ภายนอกจุดที่เด่นชัดที่สุดในการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิมคือ ชุดไฟหน้าดีไซน์ใหม่
ที่มาสด้าเรียกว่า ดวงตาของนักล่า (Predator’s Eye) ประกอบด้วย Projector Lens
หลอดแบบ LED จากเดิมนั้นไฟ Daytime Running Lights เป็นแบบหลอดไส้
แสงสีเหลือง เสมือนว่าลืมปิดไฟหน้าตลอดเวลา ในรุ่น minorchange นี้ ถูกเปลี่ยนเป็น
แบบ LED ลากยาวเหมือนดวงตานกเหยี่ยว อยู่ภายในตัวโคมเดียวกัน ดูสวยงามขึ้นมาก
กระจังหน้าแบบใหม่เปลี่ยนจากแบบรังผึ้ง เป็นแถบแนวนอนสีเทาเมทัลลิค ทำให้ลุคโดยรวม
ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ดูเผินๆจะคล้ายๆกับรุ่นน้องอย่าง CX-3 อยู่เหมือนกัน ช่องดักลมด้านล่าง
ของกันชนหน้ายังเหมือนเดิม แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชุดไฟตัดหมอก จากเดิมที่เป็นหลอด
ธรรมดา เปลี่ยนเป็นหลอดแบบ LED และดวงโคมจะมีขนาดเล็กลง พร้อมเพิ่มแถบตกแต่ง
แนวนอนรับกับเส้นของกระจังหน้า
ผ่านพ้นบริเวณด้านหน้าตัวรถไปแล้ว แทบจะหาจุดแตกต่างอื่นๆจากรุ่นเดิมได้น้อยมาก
จะมีอีก 2 ส่วนที่ต่างจากรุ่นเดิม ส่วนแรกคือ ไฟเลี้ยวบนกระจกมองข้างถูกเปลี่ยนดีไซน์ใหม่
ย้ายมาแทรกอยู่บนตัวโคมเลย ด้านล่างล้ออัลลอยเป็นลวดลายเดิม ขนาด 19 นิ้ว
รัดด้วยยาง TOYO PROXES R36 225/55 R19 made in Malaysia
ค่า Treadwear อยู่ที่ 300 (ค่า Treadwear บ่งบอกถึงความแข็งของเนื้อยาง
ยิ่งมากยิ่งแข็ง แต่ในทางกลับกันก็จะได้อายุการใช้งานที่มากกว่ายาง Treadwear น้อย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน สภาพถนน อุณหภูมิของการใช้งานประกอบด้วย)
ในเวอร์ชั่นที่ขายบ้านเราจะได้ล้อลายเดิมกับรุ่นก่อน แต่สำหรับตลาดอื่นๆ จะได้ล้อ 19 นิ้ว
ลายใหม่ปัดเงาทำสีไฮไลท์ เหมือนลายดอกไม้ใน Mazda 2 ซึ่งตรงนี้บางคนก็บอกว่าสวย
บางคนก็ชอบลายเดิมมากกว่า ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล (แต่ลายใหม่ ผมก็
ชอบเป็นการส่วนตัวนะ ฮ่าๆๆ เห็นแล้วมันทำให้แยกความแตกต่างจากรุ่นเดิมได้ง่ายขึ้น)
อีกส่วนที่เปลี่ยนไปคือ ชุดไฟท้ายใหม่ แบบ LED พร้อมไฟหรี่แบบ LED Tube เส้นไฟ
คล้ายกับ DRL ของโคมไฟหน้า มองไปมองมาก็คล้ายๆ Angry Bird อยู่ไม่น้อย
มองจากด้านหลังก็รู้สึกถึงความดุดันได้ดีเลยทีเดียว ชุดไฟเลี้ยวและไฟถอยหลัง เปลี่ยน
ตำแหน่งการจัดวางใหม่ นอกเหนือจากนั้นเหมือนรุ่นเดิมทุกอย่าง มีค่าสัมประสิทธิ์
แรงเสียดทานอากาศ หรือ Cd = 0.33 เท่าเดิม
ถ้าหากคุณขับตาม CX-5 บนท้องถนนอาจจะต้องเร่งเครื่องเข้ามาใกล้อีกนิด
เพื่อดูว่าเป็นไฟท้ายแบบเดิม หรือแบบใหม่ ถ้าหากโชคร้ายเป็นตอนกลางวัน แล้วคุณ
ดันจำรายละเอียดความต่างของไฟท้ายแบบเดิมกับแบบใหม่ไม่ได้ ล้อก็ดันเหมือนกันอีก
คงต้องขยับขึ้นมาแซง แล้วดูข้างหน้ารถนั่นแหละครับถึงจะชัวร์ !
อ้อ ! อีกอย่างนึงที่หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตคือ ถ้าหากเป็นรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล
emblem plate บนฝากระโปรงท้ายรถด้านขวา ที่เดิมเป็นคำว่า Skyactiv
Technology จะถูกแปะป้ายใหม่ เป็น Skyactiv D Technology
ตัว D จะเป็นตัวใหญ่สีแดงให้เห็นเด่นชัด เพื่อบอกให้โลกรู้ เฮ้ย ! ฉันเนี่ยดีเซลตัวแรง
ของ Line-up นะเว้ยเฮ้ย !!
สีตัวถังภายนอกในรุ่นเดิมจะมีให้เลือกเพียงแค่ 4 สีเท่านั้น คือ
– สีขาว Arctic White
– สีเงิน Aluminum Metallic
– สีเทาเข้ม Meteor Grey
– สีฟ้า Skyblue Mica
ในรุ่น minorchange นี้จะมีสีให้เลือกด้วยกัน 5 สี โดยตัดเอาสีฟ้า
Skyblue Mica อันเป็นสีโปรโมทของรุ่นเดิมออกไป แล้วเพิ่มสีใหม่
ให้เลือกอีก 2 สี คือ
– สีฟ้า Blue Reflex (ใหม่)
– สีดำ Jet Black (ใหม่)
ส่วน 3 สีที่เหลือยังคงมีอยู่เหมือนเดิม
– สีขาว Arctic White
– สีเงิน Aluminum Metallic
– สีเทาเข้ม Meteor Grey
โดยรถคันที่เรามาทดสอบ เป็น รุ่น 2.2 XD 2WD จะเป็น สีเงิน Aluminum
Metallic ส่วนอีกคันคือรุ่น 2.2 XDL AWD สีขาว Arctic White อันเป็นสีที่
Mazda Thailand ใช้ในการสื่อสารการตลาด และเป็นสีโปรโมทในครั้งนี้แทน
น่าเสียดายที่บ้านเราไม่มีสีแดง Soul Red อันเป็นสีที่ใช้โปรโมทสำหรับรถยนต์
มาสด้าแทบทุกรุ่นทั่วโลก ทั้งนี้เนื่องจาก CX-5 ของบ้านเรานำเข้าจากโรงงาน
ที่มาเลเซีย Mazda Sales Thailand พิจารณาแล้วว่า คุณภาพ การทำสีขั้นสูง
ของโรงงานที่นู่นนั้น ไม่ผ่านมาตรฐานของโรงงานบ้านเรา จึงตัดสินใจไม่นำเข้า
สีแดงมาขาย ไม่ใช่ว่าโรงงานผลิตไม่ได้ แต่เพราะจริงๆแล้วมันไม่ผ่านคุณภาพ
บ้านเรา จะสังเกตได้ว่าสีตัวถังของ CX-5 ที่ไม่มีในบ้านเราจะเป็นสีที่ต้องพ่น
เป็นพิเศษหลายชั้น เช่น สีแดง Soul Red หรือแม้กระทั่งสีขาว Ceramic White
การปลดล็อก – ล็อกประตูทั้ง 4 บาน รวมถึงฝากระโปรงท้าย จะใช้รีโมทกุญแจแบบ
Smart Keyless Entry แค่พกรีโมทไว้กับตัว เดินเข้าไปใกล้บานประตูคู่หน้า
ฝั่งคนขับ หรือฝั่งผู้โดยสาร คุณก็สามารถกดปุ่มสีดำ บนมือจับประตู แล้วเปิด หรือ
สั่งล็อกประตูได้ทันที โดยในรุ่น minorchange จะสามารถตั้งค่าการล็อกประตูได้
จากหน้าจอ MZD Connect ได้ ซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบายว่ามีแบบไหนบ้างในส่วนต่อไป
การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้าเหมือนกันกับรุ่นเดิมทุกอย่าง ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่ง
สามารถเข้าไปอ่านได้ใน Full review รุ่นเดิมได้ที่นี่ แต่ผมยังยกให้ Nissan X-Trail
เป็นรถในกลุ่ม Compact SUV ที่ขายในบ้านเรา มีการเข้าออกสะดวกที่สุดอยู่ดี
ทั้งประตูคู่หน้า และประตูคู่หลัง ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับ Subaru Forester ด้วยเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบในการเข้าออกของ CX-5 คือ การออกแบบให้ชายขอบประตู
คลุมปิดทับพื้นที่กรอบประตูด้านล่างทั้งหมด ข้อดีก็คือ เวลาไปลุยโคลนมา แล้วคุณจะต้อง
เข้าไปนั่ง หรือ ลุกออกจากรถ ขากางเกงก็จะไม่ต้องเปื้อนเศษโคลนที่ติดอยู่บริเวณชายล่าง
ของตัวรถเลย ซึ่ง Nissan X-Trail ไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงจุดนี้เท่าใดนัก
ภายในห้องโดยสารของทุกรุ่นย่อยจะใช้โทนสีดำล้วน ส่วนเพดานหลังคาจะใช้โทนสีเบจสว่างๆ
เบาะนั่งคู่หน้า เป็นแบบกึ่ง Sport Bucket Seat หุ้มด้วยหนังสีดำ เดินตะเข็บด้ายคู่
สีแดง โดยในทุกรุ่นจะติดตั้งสวิตช์ปรับตำแหน่งเบาะด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง โดยสามารถ
เลื่อนเบาะได้ยาวถึง 260 มิลลิเมตร ปรับเอนได้มากสุด 98 องศา ปรับเอียงได้ 30 มิลลเมตร
และปรับระดับความสูง – ต่ำ ได้ถึง 50 มิลลิเมตร และมีสวิตช์ปรับดันหลัง lumbar Support
มาให้ด้วย แต่ในรุ่นท๊อปสุด ดีเซล 2.2 ลิตร ขับเคลื่อน 4 ล้อ จะเพิ่มฟังก์ชั่น Memory Seat
บันทึกความจำมาให้ 2 ตำแหน่ง วิธีใช้คือ ปรับตำแหน่งเบาะนั่งของคุณให้เรียบร้อย (ขณะรถหยุดนิ่ง)
แล้วกดปุ่ม SET จากนั้น กดตำแหน่งที่คุณต้องการจะบันทึก 1 หรือ 2 เท่านี้ก็บันทึกค่าได้
การเรียกใช้งานก็เพียงกดตัวเลขตำแหน่งที่บันทึกไว้ขณะจอดรถ เท่านี้ก็ได้ตำแหน่งเบาะที่นั่งเดิม
เบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้า ในรุ่ 2.0 C, 2.0S และ 2.2 XD จะเป็นแบบปรับด้วยมือ 4 ทิศทาง
ส่วนถ้าเป็นรุ่น 2.2 AWD จะเพิ่มปรับด้วยไฟฟ้ามาให้ด้วย ซึ่งตรงนี้ผมว่าควรกระจาย option
นี้ให้รุ่นย่อยอื่นๆด้วย เพราะคู่แข่งอย่าง Nissan X-Trail, Subaru Forester
ได้ option นี้ในราคาที่ถูกกว่า ส่วนตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูคู่หน้านั้น ตำแหน่งการวาง
อยู่ในระดับที่เหมาะสมดีแล้ว
ด้วยการที่เบาะนั่งนั้นเป็นทรงกึ่ง Bucket Seat คนที่เคยนั่งเบาะแบบปกติมาก่อนอาจจะรู้สึก
อึดอัด แต่คนที่ชอบขับรถจะค่อนข้างชอบมัน เนื่องจากปีกเบาะทั้่งส่วนรองนั่ง และส่วนด้านข้าง
ของพนักพิงหลังจะช่วยล็อกคุณให้อยู่ในตำแหน่ง ไม่เหวี่ยงหรือลื่นไปมาขณะเค้าโค้ง ทำให้รู้สึก
กระชับกำลังพอดีตัว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคัน โดยส่วนตัวผมแอบโปรดปราน
เบาะของ X-Trail มากกว่านิดๆ แต่ก็ต้องแลกกับพนักพิงศีรษะที่ดันและทิ่มหัวมากไป ส่วนใน
CX-5 พนักพิงศีรษะนั้นดันน้อยกว่า และนุ่มรองรับศีรษะได้ดีกว่า
เบาะรองนั่ง มีความยาวตามมาตรฐานของรถญี่ปุ่นทั่วไป ไม่สั้นไป แต่ก็ไม่ได้ยาวขนาดที่ว่า
รองรับต้นขาได้หมด ตัวเบาะรองก้น (Seat Cushion) มีการปรับความนุ่มจากรุ่นเดิมเล็กน้อย
ทำให้นุ่มสบายขึ้นนิดหน่อย คุณภาพของหนังที่ใช้หุ้มเบาะอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ส่วนรูปทรง
ยังเหมือนกับรุ่นเดิม ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไร
ตำแหน่งวางแขน บนฝากล่องคอนโซลกลางนั้นมีการปรับดีไซน์ใหม่ ให้มีติ่งจงอย ออกมารองรับ
ด้านขวาของที่วาง ทำให้เมื่อคนขับวางแขนลงไปจะมีพื้นที่การรองรับมากกว่าเดิม คนขับ
เท้าข้อศอกซ้ายได้ถนัดขึ้น ถือว่าปรับปรุงตรงนี้ได้ค่อนข้างดี
แผงประตูก็ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น ครึ่งบนนั้นเหมือนเดิม มีเพียงวัสดุที่ตกแต่งที่เปลี่ยนไป จากเดิม
แผงควบคุมกระจกหน้าต่างจะเป็นพลาสติกลูกฟูก จะถูกเปลี่ยนเป็นวัสดุสีเทาลายขนแมวผิวมัน
ซึ่งดูดีขึ้นมากกกก รวมถึงแถบสีเงินกึ่งมันกึ่งด้าน ทำให้ดูหรูกว่าเดิมผิดหูผิดตา แผงประตูครึ่งล่าง
นั้นมีการดีไซน์ใหม่ ให้ช่องเก็บของขยายขนาดใหญ่ขึ้น แต่เดิมใส่สมุดจดเล่มเล็กๆก็แน่นแล้ว
ค่อนข้างแคบและบาง รุ่นใหม่นั้นสามารถใส่ขวดน้ำได้ วางแก้วน้ำ ใส่อะไรต่อมิอะไรได้มากขึ้น
กว่าเดิมพอสมควร
ช่องทางเข้า -ออก จากบานประตูคู่หลัง ค่อนข้างจะเล็ก มีความกว้างน้อยกว่า Subaru XV
และ CR-V รวมถึง X-Trail ที่เป็นผู้นำในหัวข้อนี้อย่างชัดเจน แต่ถึงแม้จะไม่กว้างนัก
แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการเข้าออกสำหรับผมมากนัก ยังสามารถพาตัวเองเข้าไปนั่งบน
เบาะหลังได้อย่างสบายๆ ไม่มีปัญหาหัวโชกกับขอบหลังคาด้านบนแต่อย่างใด เพียงแต่คันอื่น
อาจจะทำได้ดีกว่าตรงจุดนี้
กระจกหน้าต่าง ของบานประตูคู่หลัง สามารถเปิดเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบแผงประตู โดยที่
ตำแหน่งการวางแขนถือว่าเหมาะสม ตรงกลางพนักพิงเบาะหลังสามารถดึงออกมาเป็นที่วางแขน
ได้ พร้อมกับหลุมวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง แต่ถ้าหากคุณวางแก้วน้ำลงไป การวางแขนของคุณ
ก็อาจจะไม่ได้เต็มพื้นที่นัก
แล้วเบาะนั่งด้านหลังนั้นนั่งสบายขึ้นมั้ย ? จากรุ่นเดิมที่มันชันและค่อนข้างแข็ง
จุดเปลี่ยนที่สังเกตได้ชัดเจนในรุ่น minorchange เบาะตอนหลัง ส่วนรองนั่ง มีการเพิ่ม
ความยาวออกมาอีก 30 มิลลิเมตร (3 เซนติเมตร) เพื่อการรองรับต้นขาที่ดีขึ้น คนตัวเล็กๆ
อาจจะรู้สึกว่ามันดีขึ้นนิดหน่อย ส่วนคนตัวใหญ่ๆนั้นอาจจะไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ ตัวเบาะมีการ
ปรับให้นุ่มขึ้นเล็กน้อยเหมือนกับคู่หน้า ทำให้นั่งสบายกว่าเดิม แต่ก็เพียงเล็กน้อย
พนักพิงหลังองศายังเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถือว่ายังค่อนข้างชันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ดีที่ยังได้พนักพิงหลังที่นุ่มขึ้นนิดหน่อยช่วงกลางหลัง ภาพรวมเขยิบมาใกล้กับ X-Trail
Hybrid มากขึ้น แต่ยังห่างไกลกับ X-Trail รุ่นปกติอยู่พอสมควร (ใช่ครับ 2 รุ่นนี้มีเบาะหลัง
ที่แตกต่างกัน และตัว Hybrid ไม่สามารถเอนเบาะได้ด้วย) รวมถึงพื้นที่วางขา
ก็ยังค่อนข้างน้อยกว่าเพื่อน แต่สำหรับผมเองนั่งแล้วไม่มีปัญหาอะไร เข่าไม่ติดเบาะคู่หน้า
พื้นที่ก็ยังพอเหลือ เพียงแต่ไม่กว้างขวางเท่าเพื่อนๆ รวมๆแล้วมาสด้าก็ยังคงเป็นรถที่ทำเบาะนั่ง
เอาใจคนขับมากกว่าคนนั่งโดยสารเหมือนอย่างเคย
พนักศีรษะด้านหลัง เป็นรูปตัว L คว่ำที่หลายคนไม่ถูกใจมันนัก เพราะบางครั้งจะดันต้นคอ
ให้เกิดความรำคาญอยู่บ้าง แต่สำหรับผมกลับไม่เป็นปัญหาอย่างที่คิด ความนุ่มนั้นมากกว่า
พนักพิงศีรษะเบาะคู่หน้าเล็กน้อยด้วยซ้ำไป
พื้นที่เหนือศีรษะ หรือ headroom สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง ก็ไม่เป็นปัญหา แม้ว่าคุณ
จะตัวสูงแค่ไหนก็ตาม หลังคาของ CX-5 ก็สูงโปร่ง พอที่จะไม่ให้หัวของคุณชนเพดาน
ที่สำคัญ มีมือจับมาให้ครบทั้ง 4 ตำแหน่งแบบพับเก็บ มีขอเกี่ยวไม้แขวนเสื้อ เพิ่มมาให้
ที่มือจับคู่หลังซ้าย-ขวา
พนักพิงเบาะหลัง มีรูปแบบการพับเบาะหลังที่ Mazda เรียกว่า Karakuri Seat
สามารถดึงคันโยก ที่ผนังที่เก็บสัมภาระทั้งซ้าย-ขวา เพื่อแบ่งพับพนักพิงเบาะหลังในอัตราส่วน
40 : 20 : 40 วิธีพับเบาะนั้น ทำได้ทั้งการดึงคันโยกแบบเชือกบนตัวพนักพิงทั้ง 3 ชิ้น
หรือ เปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ได้จาก สวิตช์กลอนไฟฟ้า บริเวณเหนือช่องใส่ป้าย
ทะเบียนหลัง ขึ้นจนสุดด้วยมือ (ยังไม่มีระบบเปิดปิดฝาท้ายด้วยไฟฟ้า) คุณจะมองเห็นคันโยก
แบบมือจับ ที่ผนังห้องเก็บสัมภาระทั้ง 2 ฝั่ง สามารถดึงพับเบาะจากจุดดังกล่าวได้ทันที
โดยคันโยกฝั่งซ้าย ดึงเกี่ยวได้ทั้งพนักพิงฝั่งซ้ายสุด กับตรงกลาง ส่วนฝั่งขวา ไว้พับพนักพิง
ฝั่งขวาอย่างเดียว
มีแผ่นม่านปิดบังสัมภาระ ออกแบบให้สามารถ เลื่อนปิดในแบบปกติ คือดึงมาเกี่ยวล็อกไว้ที่
ผนังห้องเก็บของ ใกล้กับชุดไฟท้ายทั้ง 2 ฝั่ง หรือจะเลื่อนขึ้นไปเกี่ยวไว้กับแผงประตูด้านบน
เพื่อช่วยให้ เปิดประตูหลังขึ้นมา พร้อมแผงบังสัมภาระได้เลยอย่างที่เห็นในภาพ พื้นที่ห้องเก็บ
สัมภาระด้านหลัง ติดตั้งอุปกรณ์มาเหมือนกันหมด ทุกรุ่นมีขนาดความจุ 490 ลิตร
ตามมาตรฐาน VDA (สมาพันธ์ผู้ผลิตรถยนต์แห่งสหพันธรัฐเยอรมนี)
แผงแดชบอร์ดถูกออกแบบใหม่ ในส่วนครึ่งท่อนล่าง โดยที่ครึ่งท่อนบนนั้นมีการบุนุ่ม มี
การเปลี่ยนแปลงในส่วนของกรอบชุดหน้าจอกลาง เปลี่ยนจอใหม่พร้อมระบบ MZD Connect
มีการปั๊มลายตะเข็บ (ตะเข็บปลอม) ลากเข้ามุมด้านล่างของจอ ออกจะดูแปลกๆตา แต่ก็ยัง
ยอมรับได้ไม่น่าเกลียด
เพดานหลังคาด้านบน เป็นกระดาษอัด Recycle ที่พิมพ์ลายมาสวยพอประมาณ
แต่ค่อนข้างบาง และเลอะนิ้วมือ ง่ายเหมือนเช่นเคย รถทดสอบคันนี้วิ่งมาประมาณ 5พันกว่าโล
รอยนิ้วมือเพียบครับ เช็ดออกค่อนข้างยากด้วย ต้องระวังกันนิดนึงตรงจุดนี้
มองขึ้นไปด้านบน ทุกรุ่น ให้แผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าและไฟส่องสว่าง มาครบ
ทั้งฝั่งคนขับ กับผู้โดยสาร มีกระจกมองหลังแบบตัดแสดงอัตโนมัติ เมื่อกดปุ่มเปิดการทำงาน
และมีกล่องเก็บแว่นตาบุด้วยผ้าสักกะหลาดสีดำมาให้ ติดตั้งใกล้กับ ไฟอ่านแผนที่แบบแยก
กดเปิด – ปิด ซ้าย – ขวา ซึ่งมีมาให้ทั้งบริเวณเหนือผู้โดยสารด้านหน้าและกลางเพดานหลังคา
ไล่เรียงจากฝั่งขวา ถึง ฝั่งซ้าย
กระจกมองข้างปรับย้ายตำแหน่งไฟเลี้ยวบนกระจกใหม่ ที่ปลายพื้นที่กระจกจะมีไฟเตือนสำหรับ
ระบบ ABSM (ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในมุมอับด้านข้าง) เป็นรูปรถ 2 คันเหลื่อมกันสีส้ม
กระจกมองข้างปรับและพับได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ถ้าจะพับเก็บ ต้องหมุนสวิตช์ ไปยังตำแหน่ง
สุดเพื่อพับเก็บ แต่ถ้าจะกางออกมา ต้องหมุนสวิตช์ กลับไปยังตำแหน่ง ปรับกระจกตามปกติ
การใช้วัสดุตกแต่งบริเวณชุดสวิตช์สวยงามขึ้นตามที่บอกไปข้างต้น
ช่องแอร์มีการล้อมด้วยวัสดุสีเงินคล้ายลายของสแตนเลสขนแมว (hairline Stainless)
ส่วนใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ทุกรุ่น จะมีสวิตช์ พื้นฐานมาให้เหมือนกัน คือ
– ระบบป้องกันการลื่นไถล Traction Control (TCS)
– ระบบเตือนแรงดันลมยาง Tire Pressure Monitoring System (TPS)
– ระบบดับเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อรถหยุดนิ่ง i-stop
– ระบบเตือนเมื่อมีรถในมุมอับ Advanced Blind Spot Monitoring (ABSM)
ในรุ่น 2.2 XDL AWD จะมีเพิ่มมาอีก 1 ปุ่มสำหรับระบบช่วยรักษารถให้อยู่ในช่องจราจร
Lane Keeping Assist System (LKS)
พวงมาลัยสามารถปรับระดับได้ 4 ทิศทาง เป็นแบบ 3 ก้าน ทรงสปอร์ต หุ้มหนังคุณภาพ
ดีกว่ารุ่นเดิม ให้สัมผัสเรียบเนียนและน่าสัมผัสขี้นมาก และประดับด้วยวัสดุสีเงิน Satin
Chrome มีสวิตช์ควบคุมของระบบล็อก ความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control
บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา สวิตช์ ควบคุมเครื่องเสียง และโทรศัพท์ ผ่าน Bluetooth
ในฝั่งซ้าย และสวิตซ์สำหรับระบบสั่งงานด้วยเสียง Voice command
การติดเครื่องยนต์ ทำได้ด้วยการกดปุ่ม Push Start ติดตั้งทางฝั่งซ้าย ล่าง ของ
ชุดมาตรวัด เหยียบเบรก จากไฟสีส้มจะกลายเป็นสีเขียว จากนั้นก็กดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ได้
ชุดมาตรวัดในภาพรวมแม้จะคล้ายของเดิม เป็นแบบ 3 วง ล้อมกรอบด้วยวัสดุโครเมียม
แต่ถ้าหากสังเกตดีๆ จะพบว่ามีการขยับชุดตัวเลขให้เข้าไปใกล้ขีดแบ่งมากขึ้น เพื่อขยาย
พื้นที่ว่างตรงกลางให้มากขึ้นจากเดิม
ส่วนฝั่งขวาจะเป็นหน้าจอ Multi Information Display แสดงข้อมูลต่างๆ
ของตัวรถ ทั้ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบเฉลี่ย และแบบ Real Time
ระยะทางที่แล่นไปทั้ง Odo meter , Trip Meter A และ B ระยะทางที่
น้ำมันในถังยังเหลือพอให้แล่นต่อไปได้ และมาตรวัดอุณหภูมิภายนอก มาให้
ให้ครบถ้วน
จุดที่คิดว่าควรปรับปรุงคือ โดยส่วนตัวมองว่า Font และการจัดวางชุดตัวเลข
ออกจะแน่นไปเสียหน่อย ทุกอย่างกระจุกอยู่ในวงเดียว และบรรทัดติดกันเป็นพรืดหมด
ถ้าหากย้ายชุด ODO ระยะทาง รวมถึง Trip A Trip B มาไว้ชุดวงตรงกลาง
ได้ก็คงจะดีขึ้น เหมือนในรุ่น 2.2 XDL AWD
ในรุ่น 2.2 XDL AWD นั้นชุดมาตรวัดและจอ MID จะมีความต่างจากรุ่นอื่นๆ
เนื่องจากในจอ MID ต้องมีการแสดงผลของระบบ i-activsense จึงต้อง
ย้ายชุดตัวเลข ODO ระยะทาง รวมถึง Trip A Trip B มาไว้วงตรงกลาง
อย่างที่ผมต้องการเป๊ะๆเลย ฮ่าๆ นอกจากนี้การแสดงผลในส่วนของเข็มน้ำมัน
ยังต่างกัน โดยในรุ่นอื่นจะแสดงเป็นบาร์ ส่วนรุ่น AWD จะแสดงผลเป็นแบบเข็มกราฟฟิค
แดชบอร์ดส่วนครึ่งล่างมีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิมขนานใหญ่ เริ่มกันตั้งแต่วัสดุที่ใช้
คาดกลางจากสีดำ Gloss เป็นวัสดุผิวคล้ายสแตนเลสขนแมว (hairline Stainless)
ดูดีมีชาติตระกูล ตำแหน่งของช่องแอร์กลางยังเหมือนเดิม ถัดลงมาเป็นชุดควบคุม
ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกส่วนอิสระซ้าย-ขวา Dual Zone จากเดิม
เป็นวงกลมสามวงเรียงกัน มีหน้าจอสีส้มอยู่ด้านบน ถูกเปลี่ยนเป็น ลูกบิดที่ไว้ใช้
ปรับอุณหภูมิ 2 ลูกอยู่ริมซ้าย-ขวา แทรกด้วยหน้าจอแสดงผลตรงกลาง พื้นดำ ตัวหนังสือสีขาว
ใต้ชุดควบคุมระบบปรับอากาศก็จะมีสวิตซ์เปิด-ปิด เซนเซอร์กะระยะด้านหน้า-หลังไว้ให้ด้วย
คันเกียร์ถูกเปลี่ยนใหม่ พร้อมถุงหุ้มเดินตะเข็บจริง จับกระชับมือ ฐานเกียร์ก็เปลี่ยนใหม่
ไม่โยกสั่นคลอนเหมือนรุ่นเดิมแล้ว ด้านหน้าคันเกียร์จะเป็นที่วางของ พร้อมช่อง AUX
USB และ Slot SD Card สำหรับรองรับแผนที่นำทาง Navigation System
ขนาบข้างด้วยแผงแนวตั้งกั้นด้านข้าง หุ้มด้วยหนัง
เนื่องจากเบรกมือของ CX-5 Minorchange ถูกเปลี่ยนไปใช้แบบไฟฟ้า ทำให้ชุดคอนโซล
หลังคันเกียร์ต้องมีการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เริ่มด้วยชุดปุ่มควบคุมหน้าจอกลาง MZD connect
จอมอนิเตอร์ระบบสัมผัส Touch Screen Color Center Display ขนาด 7 นิ้ว พร้อมแผงสวิตช์
ควบคุม Center Commander ประกอบด้วย สวิตช์หมุนเร่งระดับเสียงขนาดเล็ก ถ้ากดลงไป
ก็จะปิดเสียง กดอีกครั้ง เสียงจะกลับมาดังต่อ และสวิตช์มือหมุนแบบกดได้และเลื่อนขึ้น – ลง
ซ้าย – ขวา ได้ พร้อมปุ่ม Home ที่เมื่อไหร่นึกไม่ออกว่าจะกดอะไรดี รวมถึงปุ่ม back ลูกศรวกกลับ
หากจะเข้าระบบ Entertainment หรือเครื่องเสียงก็กดปุ่มรูปโน๊ตดนตรี มีปุ่มรูปดาว
เป็นเมนู Favourite สำหรับบันทึกรายการที่ชอบ ให้เรียกขึ้นมาใช้ได้ง่าย
จอมอนิเตอร์สี ขนาด 7 นิ้ว ยังรองรับการแสดงผล ทั้งการตั้งค่าระบบและอุปกรณ์ต่างๆภายในรถ
แสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แสดงภาพจากกล้องขนาดเล็กด้านท้ายรถ สำหรับช่วยถอยหลัง
ขณะเข้าจอด ฯลฯ ในรุ่น 2.2 AWD จะสามารถรองรับการเล่นแผ่น DVD ได้
ด้านขวาของแผงสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง จะเป็นที่อยู่ของปุ่มเบรกมือไฟฟ้า หากเบรกมือ
นั้นทำงานอยู่จะขึ้นไฟสีส้ม ทั้งนี้ผมได้ลองดูแล้วว่า ถ้าหากไม่เหยียบเบรกจนรถหยุดนิ่ง
เบรกมือไฟฟ้าจะไม่ทำงานเพราะมีคนอ่านบางท่านถามเข้ามาว่า เกิดรถวิ่งอยู่ลูกเด็กเล็กแดง
เกิดมาเล่นกดปุ่ม จะเกิดอันตรายรึเปล่า รถจะหยุดกระทันหันมั้ย ผมก็เลยจัดให้ซะนี่ !
เช่นเดียวกับการปลดเบรกมือ ก็ต้องเหยียบเบรกทุกครั้งด้วยเช่นกัน หากไม่เหยียบเบรก
ที่ชุดมาตรวัดจะมีไฟสัญลักษณ์สีเขียว เป็นรูปเท้าเหยียบเบรกขึ้นมาโชว์อยู่
หน้าจอกลาง ระบบ MZD Connect สามารถตั้งค่าหรือใช้งานอะไรได้บ้าง ?
ด้านความบันเทิง ทุกรุ่นติดตั้ง วิทยุ FM/AM พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3 1 แผ่น
พร้อมช่องเสียบ USB / AUX และสวิตช์ควบคุมบนพวงมาลัยมาให้ มีช่องสำหรับ
รองรับ SD card ใช้ในระบบนำทาง Navigation System ในรุ่น 2.2 XDL AWD นั้น
แถมมาให้ ส่วนรุ่นอื่นถ้าอยากได้ ก็สามารถซื้อเพิ่มเติมได้จากศูนย์บริการ ราคาราวๆ
อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท (ที่มันแพง เพราะข้อมูลข้างในและค่าลิขสิทธิ์การใช้งาน)
หน้าจอของระบบนั้น รองรับการแสดงผล ทั้งการตั้งค่าระบบ และอุปกรณ์ต่างๆภายในรถ
แสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แสดงภาพจากกล้องขนาดเล็กด้านท้ายรถ สำหรับช่วย
ถอยหลังขณะเข้าจอด
การตั้งค่าต่างๆของตัวรถ สามารถตั้งได้จากจอนี้ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของระบบ
ช่วยเหลือการขับขี่ i-activsense การล็อครถ ฟังก์ชั่นเสริมเช่น walk away auto lock
คือเมื่อเดินห่างจากตัวรถพร้อมกุญแจ ในระยะ 40 เซนติเมตร ระบบจะล็อครถให้อัตโนมัติ
ระบบไฟต่างๆ เปิด-ปิดทิ้งระยะห่างนานกี่วินาที ก็สามารถตั้งค่าได้ทั้งหมด
รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ทุกรุ่นจะได้ลำโพงมา 6 ตำแหน่ง ซึ่งให้คุณภาพเสียงที่ดีใช้ได้
เสียงใส อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เสียงเบส บวมนิดๆ อยู่ในขั้นยอมรับได้โดยไม่ต้อง
เปลี่ยนเครื่องเสียง
แต่ใน รุ่น 2.2 XDL ขับเคลื่อน 4 ล้อ จะเปลี่ยนมาเป็น ลำโพง 9 ชิ้น จาก BOSE
พร้อมระบบ Centerpoint Surround Sound รวมทั้งมี Ampliphyer รุ่น
AudioPilot 2 น้ำหนักเบาเพียงแค่ 0.7 กิโลกรัม ภาพรวมแล้วให้คุณภาพเสียง
ดีขึ้นนิดหน่อยไม่ถึงกับเยอะเท่าที่หลายคนคาดหวัง รวมๆแล้วดีขึ้นกว่าลำโพง
ในรุ่นปกติเพียงนิดหน่อย หากใครอยากได้ BOSE แต่ไม่อยากได้รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ
ก็อาจจะต้องแอบขอแสดงความยินดีแบบเบาๆ ว่า ไม่ต้องเสียดายหรือเสียใจไป
เพราะมันไม่ต่างมากขนาดนั้นใน CX-5 ในทางกลับกัน เครื่องเสียง BOSE ใน
Nissan Teana นั้น สร้างความประทับใจและให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่านี้อยู่ประมาณนึง
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
CX-5 ถือเป็นรถยนต์ ” Skyactiv” รุ่นแรกในไทย ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ไม่ได้เป็นแค่
ชื่อเรียกเครื่องยนต์ที่ถูกพัฒนาใหม่ ทั้งแบบ เบนซิน (SKYACTIV-G) กับ ดีเซล
(SKYACTIV-D) เท่านั้น แต่ยังรวมถึง ระบบส่งกำลังแบบใหม่ ระบบบังคับเลี้ยว
ระบบกันสะเทือน ไปจนถึงโครงสร้างตัวถัง
SKYACTIV มีแนวคิดเริ่มต้นจากมุมมองของ Mazda ในช่วงปี 2005 ว่า ในอีก
10 ปีข้างหน้า หรือปี 2015 Mazda ควรจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป และมีปัญหา
อะไรบ้างที่พวกเขาควรแก้ไขโดยเร่งด่วน
เริ่มกันที่เครื่องยนต์เป็นอันดับแรก Mazda CX-5 Minorchange เวอร์ชันไทย
จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกเหลือเพียง 2 ขนาด 2 รูปแบบเท่านั้น แบ่งเป็น เครื่องยนต์
เบนซิน SKYACTIV-G จากเดิมมีทั้ง 2.0 ลิตร และ 2.5 ลิตร แต่ในรุ่น Minorchange
จะเหลือเพียงแค่เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรเท่านั้น ส่วนอีก 1 เครื่อง คือ Diesel Common-Rail
พ่วง Turbocharger หรือ SKYACTIV-D ขนาด 2.2 ลิตร
มากันที่เครื่องยนต์เบนซินก่อน รหัส PE-VPS บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,997 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83.5 x 91.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 14.0 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้ DISI (Direct Injection
Spark Ignition) พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟท์ ทั้งฝั่งไอดีและ
ไอเสีย Dual S-VT (Dual Sequential Valve Timing)
กำลังสูงสุด 165 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 210 นิวตันเมตร
(21.39 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที มีการปรับจูนจากเดิมรองรับน้ำมันสูงสุด E20
เป็น รองรับน้ำมันสูงสุด E85 เหมือนอย่าง Mazda3 / CX-3
ส่วนรุ่นที่เรานำมาทดสอบใหม่นั้นจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D รหัส SH-VPTS
บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,191 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 94.3 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 14.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงแบบฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้ Direct Injection
พร้อม ระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟท์ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย VVL
กำลังสูงสุด 175 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตร
(42.80 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที
ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ SKYACTIV-DRIVE พร้อม Lock-up
Torque Converter รองรับแรงบิดสูงสุดได้ 450 นิวตันเมตร อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1…………………………..3.478
เกียร์ 2…………………………..1.992
เกียร์ 3…………………………..1.449
เกียร์ 4…………………………..1.000
เกียร์ 5…………………………..0.707
เกียร์ 6…………………………..0.600
เกียร์ถอยหลัง……………………3.990
อัตราทดเฟืองท้าย…………….4.090
อัตราทดเกียร์นั้นเหมือนกับรุ่นเดิมไม่ผิดเพี้ยน แต่ทั้งนี้คาดว่าน่าจะมีการปรับปรุงอัพเดต Software
ของเกียร์ใหม่ ทำไมถึงคิดแบบนั้น เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังกันต่อไปครับ
นอกเหนือจาก เครื่องยนต์ เกียร์ ที่อยู่ในเทคโนโลยี Skyactiv แล้ว ยังประกอบกันอีก
หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น
– Skyactiv-Engine เครื่องยนต์
– Skyactiv-Drive ระบบส่งกำลัง
– Skyactiv-Body ตัวถัง
– Skyactiv-Chassis ช่วงล่าง
ซึ่งสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน Full Review ทดลองขับ Mazda CX-5
สิ่งที่ทุกคนเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ ว่าการที่ชุดระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Real Time
All-Wheel-Drive ชุดเพลาท้าย ที่น้ำหนักเกือบๆ 70 กิโลกรัมที่หายไป จะทำให้
CX-5 2.2D ขับเคลื่อนล้อหน้านี้ เร็วขึ้นกว่ารุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ และประหยัดน้ำมันกว่า
หรือไม่
การทดสอบของเราก็เหมือนเช่นเคยครับ โดยเราเลือกใช้ช่วงเวลากลางดึกปลอดภัย ให้มีปริมาณรถ
ที่วิ่ง และ ผู้คนน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ และยังคงยึดมาตรฐานดั้งเดิม คือ เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า
นั่ง 2 คน ผู้ช่วยในรีวิวนี้ ยังคงเป็นพี่โจ๊ก V10ThLnD แห่ง The Coup Team โดยคนขับ
คือผมเอง แต่ยังคงมาตรฐานเดิมเหมือนพี่ J!MMY ทุกประการ น้ำหนักของทั้งผู้จับเวลา และผู้ขับขี่
2 คนรวมกัน จะไม่เกินราวๆ 170 กิโลกรัม และใช้วิธีการออกรถด้วยเกียร์ D ล้วนๆ เพียงอย่างเดียว
ใช้โหมดปกติ (เพราะโหมด M รอบจะไม่ตัดเปลี่ยนเกียร์ให้)
ไปดูกันเลยครับ !
โอ้ววว ! การที่น้ำหนักเกือบ 70 กิโลกรัม หายไปจากรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ รวมถึงภาระ
ในระบบการส่งกำลังต่างๆ จะทำให้ตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดีขึ้น
จากรุ่น AWD เกือบ 0.4 วิ ตามระยะประชิดกับ Forester XT Turbo AWD ชนิดที่
หายใจรดต้นคอ เฉือนชนะ X-Trail Hybrid 4WD ไปได้นิดหน่อย แต่ตัวเลขของ
X-Trail Hybrid แม้จะดูเหมือนแรง แต่มันมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับปริมาณแบตที่มี
ณ ขณะนั้น ถ้าหากแบต เหลือไม่ถึง 4-5 ขีด มันก็แทบจะเหมือนรุ่น เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร
ธรรมดาเท่านั้น
แต่…เหนือสิ่งอื่นใด ความแรงยังคงต้องยกให้กับ 2.5 S ขับเคลื่อน 2 ล้อเดิมอันเป็นจ่าฝูง
สำหรับกลุ่ม Compact SUV ถึงแม้ว่ารุ่น 2.2 2WD ตัวเลขของ 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อาจจะไม่ได้ไวกว่า แต่ถ้าดูถัดมาอีกหนึ่งช่องในตาราง เห็นตัวเลขอัตราเร่งแซง 80-120
กิโลเมตร/ชั่วโมงมั้ยครับ ? นั่นล่ะฮะ มันเท่าๆกันกับรุ่น 2.5 เลย ตรงนี้แหละ เป็นอัตราเร่ง
ที่ถือว่าใช้งานบ่อยในช่วงการเดินทาง หลังจากขับมาแล้วบอกได้เลยว่า การมาของรุ่น
ดีเซล 2.2 ขับเคลื่อน 2 ล้อ นั้นเกือบจะทดแทนรุ่นเบนซิน 2.5 ลิตร ขับสอง ได้เกือบสมบูรณ์
ตัวเลขอาจจะไม่ได้สวยเหมือนรุ่นเบนซิน 2.5 ลิตร แต่การใช้งานจริง เรียกได้ว่าไม่ต่าง
ทั้งนี้เพราะ แรงบิดจากเอกลักษณ์ของเครื่องยนต์ดีเซลที่รอบต่ำ ทำให้เกิดแรงดึงที่พาให้
คุณพุ่งพรวดไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วเผลอๆ อารมณ์เมื่อเหยียบคันเร่งลงไปแล้ว จะทำให้
คุณรู้สึกว่ามันแรงกว่าเบนซิน 2.5 ลิตรด้วยซ้ำไป ถ้าเทียบกับรุ่นดีเซลขับเคลื่อน 4 ล้อ นั้น
รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อจะรู้สึกกระฉับกระเฉงกว่ากันพอสมควร
แรงบิดจะมาเต็มๆตั้งแต่ช่วง 2,000 รอบ/นาทีขึ้นไป แต่ในความเป็นจริง ความเร็วเดินทางปกติ
รอบเครื่องยนต์ ที่ประมาณ 1,500 รอบ/นาที หากคุณกดคันเร่งลงไปเล็กน้อย รอบเครื่องไปแตะ
ที่ประมาณ 1,700 รอบ/นาทีเพียงเท่านี้ พละกำลังก็ถูกเรียกมาใช้ได้อย่างไม่ต้องรออะไร
โดยปกติผมจะเป็นคนที่อยู่กับเครื่องยนต์ดีเซลในรถกระบะอยู่บ่อยครั้ง การก้าวขึ้นมาขับคันนี้
มันทำให้ผมมีชีวิตชีวาอย่างบอกไม่ถูก คุณจะลืมบุคลิกอัตราเร่งเดิมๆของรถกระบะไปเลยในทันที
แน่ล่ะตัวรถที่หนักมากกว่ารวมถึง แนวคิดในการพัฒนาให้ใช้งานก็ต่างกัน แต่สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสาร
คือ หากคุณคิดว่าเครื่องยนต์ ดีเซล 2.2 ลิตร ใน CX-5 จะมีบุคลิกคล้ายๆกับรถกระบะ ขอให้
โยนความคิดนั้นทิ้งไป เดี๋ยวนี้ !!!
โอ้ยยย มันแซ่บ เผ็ด มันส์ ! ติดใจในแรงดึงมากกกก ! อยู่ในระดับที่รถประเภท Compact SUV
ราคาไม่เกิน 1.6 ล้านบาท ไม่มีใครให้ได้มากกว่านี้ในด้านสมรรถนะของเครื่องยนต์ แตะคันเร่ง
นิดหน่อยก็พุ่งพรวดไปข้างหน้าแล้ว พร้อมทั้งแรงดึงที่ไหลมาเทมา แต่การออกตัวจะไม่ได้รุนแรง
เท่าเบนซิน 2.5 ลิตร เพราะน้ำหนักตัวของรุ่นดีเซลมากกว่า รวมถึงการทำงานของเกียร์ที่ต้อง
เซฟตัวเองจากแรงบิดของเครื่องดีเซลที่มามากกว่าเครื่องเบนซิน ทำให้รุ่นเบนซิน 2.5 ลิตร
ออกตัวแล้วพุ่งกว่า รวมถึงอาการล้อฟรีช่วงออกตัวจากหยุดนิ่งจะไม่ค่อยมีให้เห็น แต่ถ้าเป็นช่วง
ความเร็วลอยตัว กระแทกคันเร่งเข้าไปแค่ 70-80% เท่านั้น อาการล้อฟรีก็มีให้เห็น สร้างความ
กระชุ่มกระชวยอยู่บ้าง
อัตราเร่งช่วงต้นอยู่ในระดับดีมาก แตะคันเร่งนิดๆก็มา ช่วงกลางค่อนปลายแม้จะไม่ได้รุนแรง
เท่าช่วงต้น แต่ถือว่าเหลือใช้ จนกระทั่งเริ่มแผ่วไปบ้างที่หลัง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามธรรมชาติ
ของเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ การไต่ไปหาเลข 200 นั้นไม่ได้ไวเท่ารุ่นเบนซิน 2.5 ลิตร
แต่พอเบนซินจบเกียร์ 4 ตัดเข้าเกียร์ 5 แรงบิดของเครื่องยนต์ก็สู้อัตราทดเกียร์ยาวๆไม่ไหว
ในขณะที่ตัวดีเซล 2.2 ลิตรขับหน้า มีแรงบิดที่มากกว่า สามารถส่งต่อให้ไหลต่อไปจนจบ
ความเร็วที่ 215 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,800 รอบ/นาที ที่เกียร์ 6!
หึหึ แปลกใจมั้ยล่ะครับ รุ่นดีเซล 2.2 ขับเคลื่อน 2 ล้อ ทำ top speed ได้สูงที่สุดในบรรดา
Line-up ที่มีอยู่ทั้งหมดของ CX-5 แถมยังเกือบสูงที่สุดในบรรดา Compact SUV
ในตลาดเสียด้วย (แพ้ให้กับ Forester XT Turbo AWD คันนึง) บอกแล้วว่าไม่ธรรมดา
ทีนี้จะมีจุดต่างอยู่เล็กน้อยถ้าเทียบกับรุ่นดีเซล 2.2 ขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ตรงที่รุ่นเดิม การไต่ไปถึง
ความเร็วสูงสุดจะสุดอยู่ที่เกียร์ 5 ถอนคันเร่งเล็กน้อยจึงตัดไปเกียร์ 6 แต่สำหรับรุ่น minorchange
อาจมีการปรับซอฟแวร์เกียร์บางอย่าง ทำให้ช่วงความเร็วใกล้ๆ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะทดไปที่
เกียร์ 6 รอบต่ำลง แต่ความเร็วยังไหลต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดที่ 215 กิโลเมตร/ชั่วโมง
มาตรวัดเพี้ยนมากรึเปล่า ?
ความเร็วมาตรวัด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็ว GPS 96 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ความเร็วมาตรวัด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็ว GPS 106 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ก็ถือว่าอยู่ในระดับปกติของรถทั่วไปครับ
คันเร่ง และลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ทำงานค่อนข้างไว อาจจะมีจังหวะ lag อยู่บ้างเล็กน้อย บวกกับ
การรอบูสต์ของเทอร์โบ ทำให้บางจังหวะต้องรออยู่เสี้ยววินาทีนึง ถ้าหากอยากได้อัตราเร่ง
รวดเร็วทันใจ ใต้คันเร่งจะมีปุ่มที่ติดตั้งอยู่บนพื้นรถ หรือที่หลายคนอาจเรียกกันว่า “ปุ่มคิกดาวน์”
(ปุ่มนี้จะมีในรถ Mazda ทุกรุ่นที่เป็น Skyactiv) มันจะสั่งให้สมองกลของเครื่องยนต์และ
เกียร์ทำงานสุดความสามารถ เต็มประสิทธิภาพของมัน แต่ใช้พร่ำเพรื่อเกียร์พังก็ตัวใครตัวมัน
การเปลี่ยนเกียร์ในโหมดปกติเร็วใช้ได้ ต่อเนื่อง และ ไม่มีอาการกระตุก ถ้าคุณเล่นเปลี่ยนเกียร์เอง
ในโหมด M (Manual Mode) หรือโหมด + – หากคุณเหยียบคันเร่ง ลากรอบเครื่องยนต์
ขึ้นไปจนสุด Red Line เกียร์จะไม่ตัดเปลี่ยนขึ้นสู่เกียร์ถัดไปให้คุณ และคุณต้องผลักคันเกียร์
ขึ้นเอง! แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานหลายวินาที แล้วคุณยังไม่ยอมเปลี่ยนเกียร์ขึ้น เกียร์จะตัดเปลี่ยน
ขึ้นให้เอง (ก็เข้าท่าดีถ้ามองในมุมคนขับซิ่ง) เกียร์ตอบสนองได้ไว แต่ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน
เกียร์จะทำงานตอบรับได้ไวกว่ารุ่นเครื่องยนต์ดีเซลเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากต้องเซฟเกียร์ ให้รองรับ
กับแรงบิดที่มากกว่า
เสียงรบกวนในห้องโดยสารดีขึ้นหรือยัง ? เก็บเสียงดีขึ้นมั้ย ?
ทีนี้มาเรื่องของประเด็นที่หลายคนอยากรู้ ไฮไลท์เด็ด คือ การเก็บเสียงดีขึ้นจริงมั้ย? มาสด้าแจ้ง
เอาไว้ในงานเปิดตัวว่าห้องโดยสารนั้นเงียบขึ้น 10% จากรุ่นเดิมที่หลายคนด่าเอาไว้ว่า
เสียงรบกวนในห้องโดยสารมีมากเกินกว่ารถรุ่นอื่นๆในกลุ่มอย่างชัดเจน ทั้งเสียงลมจาก
ขอบประตูหน้าต่าง และ เสียงจากยางบดถนน
ในรุ่น minorchange ผมขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนครึ่งบนของรถ นั้นมีการ
ปรับปรุงจริง เสียงลมตามขอบประตูหน้าต่าง ทั้งบานหน้าบานหลัง เก็บเสียงได้ดีขึ้น ช่วงความเร็ว
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงลมลอดมาน้อยลงชัดเจน ไต่ความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงประมาณ
160 กิโลเมตร ถึงจะเริ่มดังเท่ารุ่นเดิม ซึ่งถือว่ามีพัฒนาการที่ดี
แต่….ครึ่งคันล่าง เสียงจากยางบดถนนยังดังเหมือนรุ่นเดิมไม่ผิดเพี้ยน ในภาพรวม
เสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร ระหว่างการเดินทางดีกว่ารุ่นเดิมแบบรู้สึกได้ แต่ถึงกระนั้น
เสียงจากครึ่งคันล่างนั้นก็ยังแอบสร้างความรำคาญให้หงุดหงิดใจอยู่บ้าง ภาพรวม
การเก็บเสียงทั้งคันยังถือว่าทำได้ไม่ดีเท่า X-Trail กับ Forester แต่ก็ใกล้เคียงกันกับ XV
พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPAS (Electronics
Power Assist Steering) ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมแต่อย่างใด
ซึ่งนั่นก็เหมาะแล้ว เพราะการตอบสนองนั้นจัดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักเบา
กำลังดี แต่ไม่มีอาการโหวง การขับมุดไปมาในเมืองเป็นอะไรที่ประเสริฐมาก ง่าย คล่อง
พวงมาลัยคม ฉับไว ขณะเดียวกัน ในช่วงความเร็วสูง น้ำหนักพวงมาลัยจะเริ่มมีน้ำหนัก
และหนืดขึ้น หนืดมากกว่าทั้ง Mazda3 และ CX-3 ถ้าเทียบกับ X-Trail นั้น
CX-5 จะหนืดกว่าเล็กน้อย แต่ถือว่าในภาพรวมดีพอๆกันทั้งคู่
ถ้าเทียบกับ Subaru XV ล่ะ เป็นยังไงบ้าง พวงมาลัยของ XV หนักและหนืดมากกว่า
ต้องออกแรงในการหมุน ทั้งในช่วงความเร็วต่ำและสูงมากกว่า แต่นั่นทำให้มีความมั่นใจ
ในความเร็วสูง ได้ดีกว่า CX-5 อยู่ในบางช่่วง บางจังหวะ ใน Forester เอง
ที่ถึงแม้จะเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า ไม่เหมือนกับพวงมาลัยไฮดรอลิกที่อยู่ใน XV
แต่มันก็ให้อารมณ์คล้ายๆกับ XV เพียงแต่ความเร็วต่ำจะเบาสบายมากกว่า
ทั้งนี้ในช่วงความเร็วสูงก็ยังคงให้ความหนืดที่มากกว่า CX-5 อยู่เล็กน้อยเช่นกัน
ทีนี้จะมีความต่างอยู่เล็กน้อยในส่วนของการบังคับควบคุมพวงมาลัย ระหว่างรุ่น 2.2 XD
ขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 2.2 XDL ขับเคลื่อน 4 ล้อ กล่าวคือ รุ่นท๊อปนั้นจะมีระบบช่วยควบคุมรถ
ให้อยู่ในช่องจราจร หรือ Lane-Keep Assist System และ ระบบเตือนเมื่อรถ
ออกนอกช่องจราจร หรือ Lane Departure Warning ถ้าหากคุณเปิดระบบนี้ไว้
เมื่อมันทำงาน จะมีอาการขืนพวงมาลัยเล็กๆ หากระบบจับได้ว่ารถมีอาการเบี่ยงไปจากเดิม
จะดึงพวงมาลัยของรถให้กลับมาขนานอยู่ในช่องจราจร บางครั้งเลยรู้สึกได้ว่าพวงมาลัย
จะมีอาการต้านมืออยู่ เช่นเวลาเข้าโค้งต่างๆ หากเราเบี่ยงไปชิดเส้นจราจรมากไป
พวงมาลัยจะขืนมือและช่วงดึงกลับในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งถ้าหากรำคาญก็ปิดมันได้
ช่วงล่างนุ่มขึ้นจริงมั้ย? ต่างกับรุ่นเดิมอย่างไร ? นุ่มแล้ว เกาะถนนเหมือนเดิมรึเปล่า ?
ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลัง เป็น แบบ Multi-Link
พร้อมเหล็กกันโคลงทั้งหน้าและหลัง ภาพรวมช่วงล่างนั้นคล้ายรุ่นเดิม แต่มาสด้าแจ้งว่ามีการ
ปรับจูนเล็กน้อยให้นุ่มขึ้นกว่าเดิม เมื่อลองขับรุ่นใหม่แล้วพบว่า ช่วงล่างก็ยังคล้ายรุ่นเดิมอยู่ดี
เพียงแต่หากจับผิดหรือสังเกต ก็จะพบว่า ในช่วงความเร็วต่ำ การซับแรงสะเทือนจะนุ่มขึ้น
เพียงเล็กน้อย รวมถึงการเจอหลุมบ่อหรือลูกระนาดจะรู้สึกว่ามันนุ่มขึ้นนิดหน่อย ช่วงล่าง
ยังคงเซ็ตมาเอาใจคนชอบขับรถเป็นพิเศษในแบบฉบับของมาสด้า คือ ออกแนวตึงตัง
แข็งๆหน่อย สะเทือนขึ้นมาให้รับรู้ ผ่านทางช่วงล่าง จนถึงเบาะรองนั่ง อยู่นิดๆหน่อยๆ
สิ่งที่แลกมาคือ ในช่วงความเร็วเดินทาง หรือความเร็วสูง ช่วงล่างนิ่ง แน่น และเฟิร์มมาก
ตัวรถนั้นถึงแม้จะนิ่ง แน่น แต่กลับคล่องตัว การเปลี่ยนเลนในช่วงความเร็วสูงทำได้สบาย
ด้วยความที่ตัวรถนั้นสั้นกระชับ ทำให้ไม่ออกอาการท้ายย้วยแต่อย่างใด จากเดิมในรุ่น
2.2 XDL ที่พี่ J!MMY เคยบอกเอาไว้ว่า อาการของช่วงล่างจะต่างจากรุ่นขับ 2
อยู่บ้าง ในการเข้าโค้งหรือเปลี่ยนเลน รุ่นขับ 4 มีอาการท้ายออกมากกกว่า พอมาเป็น
รุ่นย่อยใหม่ ดีเซลขับ 2 ทำให้อาการที่ว่านั้นไม่พบเจอในคันนี้ กลายเป็นว่า ทั้งน้ำหนัก
ชุดเพลาขับหลัง และ การมีแรงขับเคลื่อนจากล้อหลัง ที่ส่งผลให้เกิดอาการ Oversteer
หรือท้ายออกนั้นหายไป สรุปว่าการมาของรุ่นดีเซลขับ 2 นี้ ทำให้เราได้รถ SUV
เครื่องดีเซลที่ช่วงล่างดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างประหลาดใจคือ ความคล่องตัวของรถ แม้น้ำหนักจะมากกว่า
Mazda3 อยู่ถึง 300 กว่ากิโลกรัม แต่ความคล่องตัวไม่ได้ลดลงไปเลย มันคล่องมาก
มันเบา บาลานซ์ตัวรถดีมาก มันไม่ได้ทำให้คุณคิดว่ากำลังขับ SUV อยู่เลย เสมือน
คุณกำลังขับรถซีดานคันนึงที่มีช่วงล่างดีๆ เฟิร์มๆ ผมลองหักเปลี่ยนเลนกระทันหัน
ด้วยน้ำหนักมือที่เท่ากัน พบว่าใน CX-5 อาการของตัวรถที่แสดงออกมา เหมือนไม่ได้
เกิดอะไรขึ้น ตัวรถยังคงนิ่ง มวลรถเคลื่อนไปเหมือนเป็นก้อนแข็งๆ ด้านหน้าด้านท้าย
เกาะตามกันไป ไม่ออกอาการท้ายย้วย หรือเกิดความน่าหวาดเสียว ในหลายๆโค้งบนทางด่วน
ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความเร็วบางระดับที่คุณทำกับ CX-5 เดิมๆ คุณจะไม่มีวันทำแบบนั้น
กับ CR-V ได้ เว้นเสียแต่ว่าคุณต้องจับเปลี่ยนโช้คระดับแนวหน้าสักชุด สปริงดีๆ
ถึงจะพอเพิ่มความเร็วในโค้งให้พอทัดเทียมได้บ้าง (การทำให้ CR-V ช่วงล่างดีกว่า
CX-5 นั้นทำได้ครับ ขึ้นอยู่กับเงิน แต่มันจะไม่ใช่แค่โช้ค-สปริง 4 ต้นแล้วจบ)
แต่ในทางกลับกัน CR-V ก็เป็นรถที่นุ่มสบายในการโดยสารมากกว่า ส่วน X-Trail นั้น
มีการเซ็ตช่วงล่างมาอยู่ตรงกลางค่อนไปทาง CX-5 คือ แข็งนิดๆ เฟิร์มหน่อยๆ แต่ยัง
เหลือความสบายสำหรับการเดินทางมากกว่า CX-5 ในขณะที่ Forester นั้นกลายเป็น
รถที่ช่วงล่างนุ่มนวลที่สุดของกลุ่มไปแล้วในขณะนี้
การซับแรงสะเทือน รอยต่อถนน การจัมพ์เนิน หรือคอสะพาน ต่างๆบนถนน ในช่วง
ความเร็วต่างๆยังคงรู้สึกสะเทือนเข้ามาถึงเบาะนั่ง สำหรับคนที่รักในการขับรถ อาจจะ
ไม่รู้สึกอะไรมากนัก บางที อาจจะชอบด้วยซ้ำ สำหรับคนที่นั่งโดยสารแล้วมันก่อความ
รำคาญให้ได้อยู่พอสมควร หากคุณชื่นชอบในการขับขี่ของ CX-5 แต่รถคันนี้จะต้อง
มีผู้หลักผู้ใหญ่ หรือมีคนนั่งโดยสารด้วยบ่อยๆแล้ว อาจจะต้องพาไปทดลองนั่งกันก่อน
ว่ารับได้มั้ย ถ้ารับได้ คุณก็ไม่ต้องรออะไรจัดไปเลย
ในช่วงความเร็วสูง การทรงตัวทำได้ดีมาก คุณจะไม่รู้สึกเลยว่ามันเร็ว เพราะตัวรถนิ่งมาก
คุณจะรู้สึกว่ามันเร็วก็ต่อเมื่อมองลงไปบนมาตรวัดเข็มความเร็วนั่นแหละครับ แต่ ประเด็นนี้
Subaru XV จะนิ่งกว่าอยู่นิดหน่อย ด้วยความที่มันถูกออกแบบมาให้เป็นฟีลลิ่งรถหนัก
และความสูงของตัวรถที่เตี้ยกว่า
ระบบเบรก เป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ คู่หน้ามีรูระบายความร้อน เส้นผ่าศูนย์กลาง
297 มิลลิเมตร ส่วนคู่หลัง เป็นแบบ จานเบรก Solid Disc ธรรมดา ขนาดเส้นผ่า
ศูนย์กลาง 303 มิลลิเมตร เหมือนรุ่นเดิม มันยังคงทำงานได้ดี มีแรงต้านเท้าที่ดี แม่นยำ
และตอบสนองเป็นธรรมชาติ (กว่า X-Trail Hybrid มาก) ภาพรวมต้องถือว่า
ระบบเบรกของ CX-5 ทำได้ดีมากๆอยู่ในอันดับต้นๆของกลุ่ม
ในช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงย่านความเร็วสูง ต่อให้คุณจะใช้ความเร็วสูง แล้วจำเป็น
ต้องเหยียบเบรกเพื่อ ชะลอรถกลับลงมาสู่ความเร็วปกติ หรือจะต้องหน่วงลงไปอีก
เพื่อหยุดรถ อย่างกระทันหัน อาการของรถขณะถูกหน่วงความเร็วลงมา ทำได้ดีเยี่ยม
หนักแน่น หน้ารถไม่ทิ่ม มากจนเกินกว่าควรเป็น
นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับ ระบบป้องกันล้อล็อก ABS, ระบบกระจายแรงเบรก EBD
ระบบเสริมแรงเบรก EBA เป็นมาตรฐานทุกรุ่นเช่นเคย ทำงานร่วมกับระบบควบคุม
เสถียรภาพและการทรงตัว DSC, ระบบป้องกันล้อลื่นไถลขณะออกตัว TCS,
ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน HLA และรวมไปถึง ไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ
เมื่อเบรกกระทันหัน ESS ก็มีมาให้ครบทุกรุ่นย่อยตั้งแต่รุ่นเบนซิน 2.0 ลิตรตัวเริ่มต้น
ยังมีอีก 2 ระบบที่ Mazda ใส่ให้มาทุกรุ่นย่อยของ CX-5 ในรุ่น minorchange
เพิ่มเติมมาจากรุ่นเดิม ซึ่งผมมองว่ามันค่อนข้าง เป็นประโยชน์มาก ใช้งานได้จริง เป็น
เทคโนโลยีที่ Mazda เรียกว่า i-activsense นั่นก็คือ
– ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM (Advanced Blind
Spot Monitoring) จะมีไฟสีส้มเหลืองอยู่ที่ปลายพื้นที่กระจกมองข้าง ทั้ง 2 ด้าน
ซ้าย-ขวา ระบบจะใช้เรดาร์ด้านหลังรถ เพื่อตรวจจับรถที่อยู่ด้านหลัง ทำงานเมื่อมีรถ
อยู่ในพื้นที่จุดอับสายตา ระบบจะส่งสัญญาณไฟเตือนเมื่อมีรถอยู่ในระยะ หากคุณเปิดไฟเลี้ยว
ระบบจะส่งเสียงเตือน รวมถึงไฟเตือนที่กระจกมองข้างจะกระพริบเป็นระยะ
ระยะการตรวจจับของเรดาร์ด้านหลังรถจะครอบคลุมตั้งแต่ส่วนหลังของประตูคู่หน้ารถ
ไปจนถึงด้านหลังรถ รวมระยะประมาณ 50 เมตร ทั้งนี้ระบบจะทำงาน ทำการเตือนก็ต่อเมื่อ
รถวิ่งด้วยความเร็วตั้งแต่ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป
– ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic
Alert) ระบบนี้คุณอาจจะได้เห็นไปบ้างแล้วในรุ่นน้องอย่าง CX-3 หรือ Toyota Camry
Ford Everest มันจะทำงานด้วยเรดาร์ด้านหลังรถ เมื่อคุณเข้าเกียร์ถอยหลัง (R) และ
มีรถวิ่งผ่านด้านหลัง ระบบจะจับสัญญาณจากทั้ง 2 ข้างซ้าย-ขวา หากมีรถวิ่งเข้ามา จะส่งสัญญาณ
เตือนที่หน้าจอกลางรวมกับภาพจากกล้องด้านหลัง แสดงเป็นเป็นรูปสามเหลี่ยมเครื่องหมายตกใจ
ส่งเสียงเตือน และรวมถึงไฟกระพริบสีส้ม (อันเดียวกับที่เตือนในระบบ ABSM) ที่กระจกมองข้าง
ทั้ง 2 ด้าน
อีก 1 ระบบที่คุณจะได้พบเจอในรุ่น 2.0 S ขึ้นไป
– ระบบปรับมุมลำแสงไฟหน้าอัตโนมัติตามการเลี้ยวของรถ AFS (Adaptive Front-
lighting System) เมื่อคุณขับรถในทางโค้งและหักเลี้ยวพวงมาลัย
ระบบจะประมวลผล ปรับองศามุมของไฟหน้าสูงสุด 15 องศา ตามทางโค้ง
ทำงานเมื่อรถเคลื่อนที่ เคลื่อนที่เพียงช้าๆมันก็เริ่มทำงานแล้ว หากคุณหมุนพวงมาลัย
ในความเร็วต่ำ จะเห็นได้ชัดหน่อย ลองสังเกตดูได้ว่าไฟหน้าจะขยับไปมาในส่วนของ
ลูกแก้ว Projector Lens ดุ๊กดิ๊ก แต่ถ้าหมุนพวงมาลัยในขณะรถหยุดนิ่ง
มันก็จะไม่ทำงานนะครับ
เรามีโอกาสได้นำรุ่นดีเซล 2.2 XDL AWD มาลองใช้งานระบบช่วยเหลือการขับขี่
และระบบช่วยเหลือก่อนการชน หรือ Active Safety มาลองใช้งานดู
ซึ่งน่าเสียดายที่มีเฉพาะรุ่น top สุดอย่างเดียวเท่านั้น (ความจริงน่าจะกระจาย
ไปรุ่นย่อยอื่นๆบ้างก็น่าจะดี) ระบบเหล่านี้จะมีข้อกำหนดของการทำงานที่ต่างกัน
ไปในแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราจะค่อยๆมาไล่เรียงกันทีละอัน
– ระบบไฟหน้า LED อัจฉริยะ ALH (Adaptive LED Headlamps)
ระบบไฟหน้าจะประกอบด้วยหลอด LED เรียงเป็นแถว โดยแต่ละดวงจะส่องสว่าง
ไปตามแต่ละพื้นที่ของถนน
การเปิดระบบให้ทำงานได้ ต้องปรับก้านไฟหน้าไปที่ตำแหน่ง Auto และผลักก้าน
ไปด้านหลังในตำแหน่งไฟสูง เมื่อไฟหน้าเปิดอัตโนมัติ จะมีสัญลักษณ์ไฟสูงพร้อมตัว A
สีเขียว ขึ้นบนมาตรวัด ระบบจะทำงานจากกล้องเซนเซอร์บนกระจกบังลมด้านหน้ารถ
ตรวจจับสภาพถนน เมื่อมีรถอยู่ด้านหน้าระบบจะตรวจจับตำแหน่งและระยะห่าง
โดยระบบจะเลือกดับไฟ LED บางดวงลงที่ส่องตรงไปยังรถคันหน้า เพื่อไม่ให้แยงตา
ส่วนไฟสูงอัตโนมัติระบบจะทำงานให้ก็ต่อเมื่อ ใช้ความเร็วเกิน 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อยู่ในสภาวะที่แสงน้อย และหากมีรถสวนมา ระบบจะปิดหลอด LED ดวงที่ส่อง
ไปรบกวน โดยอัตโนมัติ ป้องกันไม่ให้แยงตารถคันอื่น
ในช่วงความเร็วต่ำ ใช้ความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือต่ำกว่า จะมีหลอด LED
ที่ทำหน้าที่เป็น ไฟต่ำ cornering light หรือไฟมุมซ้าย-ขวา ช่วยเพิ่ม
ความสว่างด้านข้างของด้านหน้ารถเพิ่มทัศนะวิสัยขณะขับขี่ในเมือง
– ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน LDWS (Lane Departure Warning
System) ระบบจะทำงานเมื่อรถมีความเร็วสูงกว่า 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง กล้องเรดาร์
บนกระจกบังลมหน้ารถ จะตรวจจับเส้นแบ่งเลนบนถนน หากทำงานแล้วบนหน้าจอ MID
จะมีเส้นแบ่งถนนเป็นสีขาว 2 ข้างขนาบตัวรถ เมื่อรถเริ่มเบี่ยงออกนอกเลน บนหน้าจอจะ
มีสัญลักษณ์รถหันหัวข้ามเส้นแบ่ง พร้อมทั้งส่งเสียงเตือน สั่นเตือน หรือเสียงหวูดเตือน
ตามที่เราได้ตั้งค่าเอาไว้ ซึ่งสามารถตั้งค่าการเตือนได้จากหน้าจอกลาง MZD Connect
ทำงานร่วมกับระบบ LAS มีการขืนพวงมาลัย และช่วงดึงรถกลับในทิศทางตรงกันข้าม
แต่ถ้าหากเปิดไฟเลี้ยวเมื่อจะเปลี่ยนเลน ระบบจะพักการทำงานชั่วคราว โดยมีสัญลักษณ์
Pause ที่จอ MID และพร้อมจะกลับมาทำงานอีกครั้งหากตรงตามข้อกำหนดของระบบ
– ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LAS (Lane-Keep Assist System)
ระบบ LAS จะทำงานร่วมกับระบบ LDWS ที่พึ่งกล่าวไปข้างต้น ทำงานโดยใช้กล้องเรดาร์
และเซนเซอร์ที่อยู่บนกระจกบังลมด้านหน้ารถ ทำงานเมื่อรถมีความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไป กล้องเรดาร์จะตรวจจับทั้งเส้นแบ่งเลนบนถนนและความโค้งของถนน ส่วนเซนเซอร์อื่นๆ
จะตรวจจับความเร็ว การโยนตัวของรถ และพวงมาลัย หากตรวจจับได้ว่ารถเริ่มเบี่ยงออก
พวงมาลัยจะขืนเล็กน้อย และช่วยดึงตัวรถกลับมาให้อยู่ตรงกลางช่องจราจร พร้อมทั้ง
ส่งสัญญาณเตือน สั่นเตือนที่พวงมาลัย หรือเสียงหวูด ซึ่งสามารถตั้งได้ว่าจะให้เตือนแบบใด
หากเปิดไฟเลี้ยวเมื่อจะเปลี่ยนเลน ระบบจะพักการทำงานชั่วคราว โดยมีสัญลักษณ์
Pause ที่จอ MID นอกจากจะช่วยให้ควบคุมรถอยู่ในช่องจราจรแล้ว ระบบยังสามารถ
ตรวจจับได้ว่าคุณปล่อยมือจากพวงมาลัยจากเซนเซอร์ จากนั้นจะขึ้นข้อความเตือนสีแดง
บนจอ MID ว่า ” Lane-Keep Assist System on, Hold the Steering Wheel ”
พร้อมส่งเสียงเตือนพร้อมกัน
– ระบบช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ DAA (Driver Attention Alert)
ระบบจะทำงานเมื่อขับรถด้วยความเร็วมากกว่า 65 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เป็นเวลานานเกิน
20 นาที ระบบจะเรียนรู้จากพฤติกรรมการขับขี่ โดยกล้องเรดาร์บนกระจกบังลมด้านหน้า
จะประมวลผลข้อมูล ทั้งมุมหักเลี้ยวของพวงมาลัย ความเร็ว และระยะเวลาในการขับขี่ หากพบ
ความผิดปกติ ก็จะมีข้อความขึ้นเตือนบนหน้าจอ MID เป็นข้อความ ” Driver
Attention Alert, Time to take a break “พร้อมสัญลักษณ์
รูปแก้วกาแฟ
– ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ SCBS และ ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง SCBS-R
(Smart City Brake Support / Reverse)
ระบบจะทำงานภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วระหว่าง 4 ถึง 30
กิโลเมตร/ชั่วโมง เซนเซอร์ที่ติดตั้งอยู่บนกระจกบังลมด้านหน้า จะสามารถตรวจจับรถยนต์
ที่อยู่ข้างหน้าได้ในระยะ 6 เมตร เมื่อเซนเซอร์ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการชน
ผู้ขับขี่ ไม่มีการชะลอหรือแตะเบรกใดๆ ระบบจะเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรก รวมถึงคาลิเปอร์
เบรกจะทำงานจับกับจานเบรกอย่างเต็มแรง ดังครืดดด แป้นเบรกจมลึกเหมือนกับผู้ขับ
กดลงไปเอง เพื่อช่วยหยุดรถ พร้อมกับส่งเสียงเตือนดังสนั่น รวมถึงเซนเซอร์กะระยะช่วยจอด
จะทำงาน ส่งเสียงดังลากยาว ทิ้งระยะประมาณ 3-5 วินาที หน้าจอ MID ขึ้นข้อความสีแดง
ว่า ” SCBS Automatic Brake ” เมื่อผู้ขับกดเท้าลงไปบนแป้นเบรกระบบจึง
คลายตัวให้ (แต่ขอบอกว่าไม่กล้าลองให้นะครับ ว่าถ้าระบบเบรกให้อัตโนมัติแล้วเรา
ไม่เหยียบแป้นเบรกตามลงไปจะเป็นอย่างไร เพราะหากเกิดชนขึ้นมา เดี๋ยวจะซวย ฮ่าๆๆ)
จากที่ทดลองดูเมื่อระบบทำงานเบรกอัตโนมัติให้ ระยะห่างด้านหน้าระหว่างรถเรากับรถ
คันข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 40 เซนติเมตร
เช่นเดียวกับ SCBS-R หรือ Smart City Brake Support-Reverse
ก็จะทำงานคล้ายๆกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากด้านหน้าเป็นด้านหลัง ความเร็วในการถอยหลัง
ที่ระบบจะทำงานให้คือระหว่าง 2 ถึง 8 กิโลเมตร/ชั่วโมง เซนเซอร์ที่กันชนด้านหลังจะตรวจจับ
วัตถุที่อยู่ด้านหลังรถ เมื่อเซนเซอร์ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการชน ผู้ขับขี่ ไม่มีการ
ชะลอหรือแตะเบรกใดๆ ระบบจะเบรกให้อัตโนมัติเช่นเดียวกับด้านหน้า พร้อมขึ้นข้อความ
ที่จอ MID และส่งเสียงเตือน จากการทดลองจริงระยะห่างด้านหน้าระหว่างรถเรากับรถ
วัตถุหรือรถที่อยู่ด้านหลัง จะอยู่ที่ประมาณ 35 เซนติเมตร
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม มาตรฐานเดิมทุกประการ
คือการพารถไปเติมน้ำมัน น้ำมัน Diesel Techron D ที่สถานีบริการน้ำมัน
Caltex บนถนน พหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน
CX-5 เป็นรถยนต์นั่งกลุ่ม Crossover SUV เราจึงเติมน้ำมัน ด้วยวิธีเติมเสร็จ
แล้วให้หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว ไม่ต้องเขย่ารถ แบบที่ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า
2,000 ซีซี และรถกระบะ
เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราคาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถไปเลี้ยวกลับ
บนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน
ขับไปเรื่อยๆ จนถึงสุดปลาย ทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนจะ
เลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ
ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน น้ำหนักรวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม
เพื่อรักษาความเร็วให้ต่อเนื่อง ผมเปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control
การใช้งานระบบ Cruise Control ของ CX-5 ก็ไม่ต่างจากรถยนต์รุ่นอื่นๆ คือ
กดปุ่มเปิดใช้งาน (อยู่ติดกับแป้นแตร) เหยียบคันเร่งจนกว่าจะได้ความเร็ว ที่ต้องการ
แล้วเลื่อนไปกดปุ่ม Set + หรือ – ณ สวิตช์ฝั่งขวา อยู่ติดกัน ถ้าจะเพิ่มความเร็ว
กดปุ่ม Set + ถ้าจะลดความเร็วลงมา กดปุ่ม Set – ความเร็วจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ครั้งละ 1 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าหากต้องการยกเลิกความเร็วที่ตั้งไว้ กระทันหัน ทำได้ทั้ง
แตะแป้นเบรก หรือ กดปุ่ม Cancel แต่ถ้าต้องการกลับขึ้นไปใช้ความเร็วล่าสุดที่ตั้งไว้ กดปุ่ม
RES (Resume) และถ้าจะปิดระบบ ก็กดปุ่ม เปิด – ปิด ด้านล่าง อีกครั้ง
เนื่องจากชุดมาตรวัดในรุ่น 2.2 XDL AWD จะต่างจากรุ่นอื่นๆที่บอกไปข้างต้น
ทำให้เมื่อเวลาใช้ ด้วยความที่หน้าจอ MID ด้านขวาสุดสามารถแสดงค่าได้หลากหลาย
ทำให้มีการแสดงตัวเลขความเร็วแบบดิจิตอล เมื่อเปิดระบบ Cruise Control ด้วย
กลับกันในรุ่นย่อยอื่นที่เป็นชุดมาตรวัดแบบเดิม จะมีเพียงไฟสีเขียวสัญลักษณ์เล็กๆ
เมื่อระบบทำงานอยู่ และไฟสีส้มสัญลักษณ์เดียวกันติด หากมันเตรียมพร้อมจะทำงาน
โดยไม่มีความเร็วดิจิตอลบนหน้าจอ MID แสดงให้
พอถึง ทางลง ของทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex
พหลโยธิน กันอีกครั้งเพื่อเติมน้ำมันดีเซล Diesel Techron D ให้เต็มถัง เอาแค่
หัวจ่ายตัดพอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง ณ ตู้หัวจ่ายเดียวกัน ทั้งหมด
นายแบบประจำปั๊ม ผู้เติมน้ำมันให้เราก็ยังเป็นคนเดิม มาดูผลกันดีกว่า
Mazda CX-5 2.2 XD 2WD 6AT
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.9 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 5.88 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.79 กิโลเมตร/ลิตร
การที่น้ำหนักจากชุดเพลาขับหลัง ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อหายไปเกือบ 70 กิโลกรัม นั้นทำให้
ประหยัดได้มากกว่ารุ่น 2.2 XDL AWD ถึง 1 กิโลเมตร/ลิตร เลยทีเดียว !!!!!
ยิ่งถ้าเทียบกันกับพี่น้องใน Line-up ของตัวเองอย่าง รุ่นครื่องยนต์ 2.0 ลิตรนั้น จะพบว่า
รุ่นดีเซล 2.2 ขับเคลื่อน 2 ล้อ มีน้ำหนักมากกว่าอยู่ประมาณ 120 กิโลกรัม แต่กลับทำตัวเลข
อัตราสิ้นเปลืองได้ดีกว่าด้วยเช่นกัน โอ้ยยยย จะเหลือเหตุผลอะไรให้เรามองข้ามเจ้าเครื่องยนต์
ดีเซลนี้ไปได้กัน ?!?!
เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม Segment Compact SUV ด้วยกันแล้ว จากเดิม
ในรุ่นดีเซล 2.2 ขับเคลื่อน 4 ล้อที่เคยทำไว้อยู่ในระดับไล่เลี่ย ประหยัดกว่ารุ่นอื่นๆ เพียงแค่
เล็กน้อย ไม่มากอย่างที่คาดคิด แถมยังทำตัวเลขออกมาได้ พอๆกันกับพี่น้องท้องเดียวกัน
ในวันนี้ตัวเลขกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ตัวเลข 15.97 กิโลเมตร/ลิตร หรือจริงๆอีกนิดก็จะ
ขึ้นเลข 16 แล้ว สถานการณ์ดีขึ้นทันตาเห็น ประหยัดขึ้นอัตราเร่งดีขึ้น เกือบเข้าไปทัดเทียม
กับรุ่นเบนซิน 2.5 ลิตรในตำนาน แถมยังประหยัดกว่ากันราวๆ 1 กิโลเมตร/ลิตร
จากตารางจะเห็นว่า CX-5 2.2 XD ขับเคลื่อน 2 ล้อ จะเป็นรองแค่เพียง Nissan
X-Trail Hybrid 4WD แค่คันเดียวเท่านั้น แต่ด้วยความที่น้ำมันดีเซลในไทยนั้น
ราคาถูกกว่าเบนซิน เป็นน้ำมันการเมือง ที่การันตีแน่ๆ ว่ามันจะไม่มีทางแพงไปกว่าเบนซินได้
ตัวเลขความต่าง 1 กิโลเมตร/ลิตร ก็ทำให้พอจะชดเชยตรงจุดนี้ได้
ด้วยความเห็นส่วนตัวผมมองว่า การที่ Mazda เพิ่มรุ่นย่อยขับเคลื่อน 2 ล้อให้กับ
เครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตรนั้น เป็นการทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปได้เกือบจะสมบูรณ์
เพราะอย่างไรก็ตามรุ่นเบนซิน 2.5 ลิตรก็สร้างความประทับใจให้อยู่มากกว่าเล็กๆ
แต่มันก็ถูกชดเชยด้วยแรงดึง และ แรงบิดที่มากกว่าของเอกลักษณ์เครื่องยนต์ดีเซล
ทำให้บางครั้งอาจจะรู้สึกว่า ดีเซล 2.2 ลิตร นั้นแรงกว่าด้วยซ้ำไป
ในการใช้งานจริง ปกติทั่วไป น้ำมัน 1 ถัง ใช้ได้ประมาณกี่กิโลเมตรกัน ?
ส่วนคำถามที่ว่า น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้กี่กิโลเมตรนั้น จากการขับแบบโหดบ้าง
สลับผู้ดีบ้าง ในเมือง และนอกเมือง มีทุกแบบ รับประกันว่าไม่ได้วิ่งแบบหวานเย็น
จากการเติมน้ำมันเต็ม วิ่งไปแล้ว 524 กิโลเมตร ยังเหลืออีกประมาณ 1 ใน 3
นั่นก็ประมาณได้ว่า 1 ถัง 58 ลิตร น่าจะวิ่งได้ประมาณ 600 ปลายๆ ถึง 700 ต้นๆ
กิโลเมตร อย่างไม่ยากเย็นนัก
ผลมาจากพละกำลัง แรงบิด แรงดึงที่มาตั้งแต่รอบต่ำ รวมถึงการเรียกออกมาใช้
ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เวลาขับไม่ต้องกดคันเร่งมากนัก รถก็ไต่ความเร็วขึ้นไป
หรือพุ่งขึ้นไปข้างหน้าได้ตามใจคิด ไม่ต้องเค้น ตรงจุดนี้เองมีผลต่อความประหยัด
ค่อนข้างมากทีเดียว
********** สรุป **********
เนียนกว่าเก่า น่าใช้กว่าเดิม เร้าใจไม่เปลี่ยน แต่เอาใจคนขับมากกว่าคนนั่งเหมือนเคย
ส่วนใครที่พลาดโอกาสในการซื้อรุ่นเบนซิน 2.5 ลิตรเดิมไป คันนี้นี่แหละทดแทนกันได้ !
ใครจะไปเชื่อละครับว่า การถอดระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ออกไป นอกจากจะช่วยให้ตัวรถ
เบากว่าเดิมถึง 70 กิโลกรัมแล้ว ยังช่วยให้อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ Diesel Turbo
Skyactiv-D ถูกปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริง ออกมาจนทำตัวเลขได้แรงเท่าๆ
กับรุ่น 2.5 ลิตร เบนซิน ที่หลายๆคนยังเคยชื่นชอบ แต่เพิ่มความประหยัดน้ำมัน ขณะ
เดินทางไกลได้อีกมากถึง 1.5 กิโลเมตร/ลิตร ยิ่งขับในเมืองก็น่าจะแสดงศักยภาพ
ความประหยัดออกมาให้ห่างจากรุ่นเบนซิน 2.5 ลิตรออกไปอีก
นอกนั้น บุคลิกการขับสนุก ยังคงอยู่ครบที่เดิม หากคุณเป็นคนขับ คุณจะมีความสุข
กับรถคันนี้มาก ทั้งคล่อง ทั้งแม่นยำ เสมือนคุณขับรถซีดานเตี้ยๆ ช่วงล่างดีๆสักคัน
ก็ดูจะไม่ห่างจากความเป็นจริงแต่อย่างใด ช่วงล่างแบบนี้ เซ็ตมาแบบนี้ประเสริฐมากแล้ว
การซับแรงสะเทือนอาจจะแข็งไปบ้างในบางจังหวะ แต่ผมมองว่าของแบบนี้มันก็ต้องแลกกัน
ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ไม่มีรถคันไหนสมบูรณ์พร้อมไปเสียทุกด้านหรอกครับ
ดังนั้น แม้มีข้อดี ก็ต้องมีข้อที่ควรต้องปรับปรุงในรถทุกๆคัน
เริ่มจากการเก็บเสียงจากพื้นใต้ท้องรถ ที่ยังคงดังกระหึ่มเข้ามาในห้องโดยสาร
พอสมควร ผมเห็นความพยายามในการปรับปรุงการเก็บเสียงลมครึ่งคันบน
ตามขอบประตูหน้าต่างแล้วล่ะ ดีขึ้น แต่ขอครึ่งคันล่างด้วย ให้มันเบากว่านี้
จะทำให้การนั่งโดยสารจะสุนทรีย์ มีความสุขกว่านี้ ทั้งคนขับและคนนั่ง
ความสบายของเบาะนั่งแถวหลังอันนี้เป็นประเด็นที่หลายๆคนบ่นและพูดถึงมาก
ว่ามันไม่สบายเอาเสียเลย ความนุ่มของเบาะปรับดีขึ้นแล้ว แต่องศาความชัน
ของพนักพิงหลังนั้นยังตั้งชันเหมือนเดิม วิธีง่ายๆก็แค่ทำให้เบาะมันปรับเอนได้
เท่านั้นแหละครับ ทุกอย่างจะดีขึ้นมากๆ เพราะความยาวเบาะบางทีมันขึ้นอยู่
กับการออกแบบในองค์รวมที่ต้องบาลานซ์ทุกอย่างให้พอเหมาะพอดี แก้ยาก
ภายใต้ข้อจำกัดของแนวทางการออกแบบที่ต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ แต่…
ทำให้พนักพิงหลังมันปรับเอนได้ ไม่ยากเลย !!!!
เพราะอะไรทำไมผมถึงว่ามันไม่ยาก ก็เพราะผมรู้มาว่า Thai Mazda CX-5 Club
ทำการโมดิฟายกันเอง จนปรับเอนได้แล้วนั่นน่ะสิ ! แค่นี้ปัญหาความไม่สบาย
อันเป็นจุดหลักๆของเบาะด้านหลังจะหายไปเยอะทีเดียว
เพราะตอนนี้เรียกได้ว่าเกือบจะทุกรุ่นของ Mazda ก็ยังคงเป็นรถที่เอาใจคนขับ
มากกว่าคนนั่งอยู่ดี ไม่ว่าจะเรื่องเบาะนั่ง หรือช่วงล่าง หากคุณเป็นคนชอบขับรถ
ขับรถเร็ว คุณจะชอบรักมันในทันที แต่กลับกันหากลองเป็นผู้โดยสาร อาจจะ
ไม่ปลื้มมันเท่าไรนัก
สุดท้ายที่อยากจะฝากถึง Mazda คือ ความแม่นยำในการวิเคราะห์ปัญหา
ของศูนย์บริการที่มีอยู่ทั่วประเทศ และการดูแลรถของลูกค้า จากเมื่อก่อนจนถึงวันนี้
ผมมองว่าก็มีการปรับปรุงกันบ้างแล้วล่ะ จากที่เข้าไปสิงสถิตย์ตามคลับต่างๆ
ของ Mazda เห็นว่ามีการสำรวจความพึงพอใจ สอบถามเป็นรายบุคคลอย่างจริงจัง
มากขึ้นแต่มันต้องดีกว่านี้ ตอนนี้ผมมองว่ามันก็อยู่ในระดับที่พอๆกับ Nissan และ
Mitsubishi ซึ่งก็กลางๆ ไม่ได้ดีมาก ซึ่งการเติบโตของ Mazda ทั้งยอดขาย
มันมากกว่าการเติบโตของคุณภาพของศูนย์บริการ ทั้งหมดนี้มันควรโตไปพร้อมๆกัน
อย่าเน้นแต่การขายอย่างเดียว เพราะบริการหลังการขายก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้า
เกิดความสบายใจในการจะซื้อรถสักคัน รวมถึงระยะยาวความเชื่อมั่นก็ยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย
รถรุ่นอื่นๆใน Segment เดียวกันนี้ ภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง ?
Honda CR-V
เป็นรถที่เน้นความนุ่มสบายเป็นหลัก ห้องโดยสารโปร่งโล่งสบายสไตล์ฮอนด้า
อัตราเร่งของรุ่น 2.4 ลิตร ถือว่ากลางๆ ใกล้เคียงกันกับ X-Trail 2.5 ลิตร แต่ยัง
ช้ากว่า ดีเซล 2.2 ของ Mazda ความประหยัดก็อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป
ของรถกลุ่มนี้ คือ ประมาณ 14 กิโลเมตร/ลิตร หากคุณเป็นคนที่ขับรถไม่เร็ว
ไปกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วงล่างก็รับมือได้ เกินกว่านั้นมีลุ้น ศูนย์บริการ
ในองค์รวมดูจะทำให้คุณค่อนข้างสบายใจได้มากที่สุดในกลุ่ม
Nissan X-Trail
อยากนุ่มสบาย แต่ก็อยากได้ช่วงล่างที่มั่นใจด้วย X-Trail คือทางสายกลาง
ระหว่าง CR-V และ CX-5 โดยความมั่นใจในการขับขี่ค่อนไปทาง CX-5 หน่อยๆ
เบาะแถว 2 ที่สบายที่สุดในกลุ่ม รุ่นเครื่องยนต์ปกติเบาะแถวที่ 2 จะมีความต่าง
ทั้งเบาะรองนั่ง และ พนักพิงหลัง รุ่นไฮบริดนั้นจะนั่งสบายน้อยกว่ารุ่นเครื่องยนต์ปกติ
ส่วนเบาะแถว 3 เอาไว้วางของแล้วกัน อาจจะต้องทำใจเล็กๆกับเรื่องความประหยัด
น้ำมันในรุ่น 2.5 ลิตร เพราะกินเอาเรื่องใช้ได้ อยากได้ความแรงและความประหยัด
ขึ้นนิดหน่อย ให้ไปหารุ่นไฮบริด แต่ต้องลองดูเรื่องระบบเบรกว่าคุณรับได้มั้ย ถ้า
ไม่โอเคกับมัน รุ่นเครื่องยนต์ปกติก็ดูจะเหมาะกว่า
Chevrolet Captiva
ถ้าอยากได้รถ SUV 7 ที่นั่ง แต่ไม่อยากได้รถที่มีพื้นฐานจากกระบะ (PPV)
โดยที่เบาะแถว 3 นั่งได้จริง อาจจะต้องลองมาเสี่ยงกันดูสักหน่อย กับโมเดลนี้
ที่มีอายุอานามมากกว่า 9 ปี และยังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าของรุ่นใหม่
ช่วงล่างเฟิร์มไว้ใจได้ ระบบความปลอดภัยอัดแน่นเต็มคัน นอกนั้นก็ไม่ได้
มีความโดดเด่นมากนัก เครื่องและเกียร์ออกจะตอบสนองช้าไป และที่สำคัญ
คุณอาจจะต้องออกแรงไปรบราฆ่าฟันกับศูนย์บริการเยอะหน่อย หากรถคุณ
มีปัญหาผิดปกติขึ้นมา
Subaru Forester
เป็นอีกคันที่ไม่น่าเชื่อว่าจะนุ่มสบายที่สุดในกลุ่ม แต่ยังได้ช่วงล่างที่ไว้ใจได้
เข้าโค้งอาจจะมีอาการท้ายออกหน่อยๆ ส่วนทางตรงนิ่งแน่น เกาะหนึบ
ความแรงคงต้องทำใจ เน้นไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก อาจจะมีอาการหลังหักได้
เมื่อซื้อมาใช้งาน เพราะราคารถผันผวนเหมือนกับหุ้น (ตอนนี้ลดราคาลงมา
เยอะมาก ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย) ศูนย์บริการที่เมื่อก่อนเป็นอย่างไร
เดี๋ยวนี้ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ค่อยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเท่าไหร่
Subaru XV
เสมือนเป็นรถเวอร์ชั่นวัยรุ่นของ Forester ตัวเล็กกว่า กระชับกว่า ความนุ่มนวล
ก็น้อยกว่าเช่นเดียวกัน เป็นรถที่ให้ความรู้สึกหนักแน่น มั่นคง การเข้าโค้งนั้น
ให้ความรู้สึกมั่นใจ เพราะมันหนึบ เกาะ แต่ขาดความกระฉับกระเฉงจากเครื่อง
และเกียร์ไปหน่อย
MG GS
ต้องขออภัย ยังไม่ได้ลองขับครับ
ท้ายสุดนี้ เห็นไหมล่ะครับ ว่าไม่มีรถคันไหนที่จะสมบูรณ์แบบไปเสียหมด อยู่ที่ว่า
คุณชอบข้อดี จุดเด่นของมันรึเปล่า หรือว่า รับได้กับข้อเสีย หรือจุดด้อยของมัน
ได้หรือไม่ อยู่ที่ความพึงพอใจของคุณล้วนๆ รถที่ดีที่สุด ไม่ได้หมายความว่า
มันจะเหมาะกับคุณที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว จงไปทดลองขับด้วยตนเองก่อนซื้อครับ
อย่าอ่านอย่างเดียว หรือ ฟังแค่เค้าว่ามา เพราะรถคันนึง ราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ และ
เราจะต้องอยู่กับมันไปอีกนาน
แต่ถ้าชอบความสนุกในการขับขี่ เป็นที่ตั้ง
นาทีคงต้องยกให้ Mazda เขาไปละครับ
——————-///——————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
คุณอุทัย เรืองศักดิ์
Mazda Sales (Thailand) Co.,ltd
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
บทความที่คุณควรอ่านเพิ่มเติม
ทดลองขับ Mazda CX-5 MY 2014 – 2015
เบนซิน 2.0 กับ 2.5 ลิตร และ Diesel Turbo 2.2 ลิตร AWD
“SHOCK from Hiroshima”
Moo Cnoe
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย
เป็นผลงานของ ผู้เขียน และ J!MMY
ภาพวาด / ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค Illustration
เป็นลิขสิทธิ์ของ Mazda Motor Corporation
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
14 พฤษภาคม 2016
Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 14th,2016
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!