“นี่ไม่ใช่แค่รถยนต์รุ่นหนึ่ง แต่นี่คือ Civic…ชื่อที่กำหนดทุกคำนิยาม”
เสียงโฆษก ในภาพยนตร์โฆษณา Honda Civic รุ่นใหม่ ดังขึ้นมาให้ได้ยินตลอด
ปลายเดือนมีนาคม ถึงปลายเดือนเมษายน ในช่วงเวลาที่ผมเปิดโทรทัศน์ ระหว่าง
กินข้าวเมื้อเที่ยง
มันทำให้ผมตระหนักได้ว่า…ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ได้มาถึงแล้ว…
ตามปกติแล้ว เรามักต้องได้ยินบรรดาถ้อยคำโฆษณาอันแสนจะน่าเบื่อ ซึ่งมักโผล่
มาให้ได้ยินอยู่ตลอดทุกครั้งในห้วงเวลาที่ค่ายรถยนต์รายใดก็ตาม กำลังเปิดตัว
รถยนต์รุ่นใหม่ของพวกเขา อย่างเช่น
“สปอร์ต” (มันแปลตรงๆว่า “กีฬา” เนี่ยนะ? รถตู้บางคัน เอาคำว่า สปอร์ต มาใช้ใน
การโฆษณา ผมนั่งดูหน้ารถคันนั้นอยู่หลายตลบ ได้แต่นึกด่าอยู่ในใจว่า มันสปอร์ต
ตรงไหนวะ? ตรงหน้าตาเหมือนโถส้วมที่ยังหล่อขึ้นรูปไม่เสร็จใชไ่หม!?)
“โฉบเฉี่ยว” (โฉบอะไร? เฉี่ยวใคร? นี่มันพฤติกรรมมอเตอร์ไซค์กระชากสร้อยชัดๆ!)
“มีระดับ”/ “เหนือระดับ” (ระดับไหน? ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน หรือในอ่างอาบน้ำที่
โพไซดอน และโคลอนเซ่?)
“หรูหรา” (ขอโทษทีเถอะ แม้แต่ ECO Car ก็ยังมีคำว่า “หรูหรา” อยู่ใน Catalog
ทั้งที่พอดูรูปเข้าจริงๆ ภายในนี่โล้นเลี่ยนเตียนโล่งใส่โอ่งได้ 1 ใบ Option แห้งแล้ง
ยิ่งกว่าทะเลทรายซาฮาร่า คนไทยเรายังเข้าใจ คำว่า หรูหรา ไปผิดความหมายมากๆ)
“เหนือใคร” (เออ! แล้ว ไอ้ “ใคร” เนี่ย ตกลงแล้วมันเป็นใครกันแน่วะ? สงสัยนานละ)
“ยนตรกรรม” (คือรู้แหละ ว่ามันเป็นการเอาคำว่า “ยนต์” มา สมาส เพื่อความไพเราะ
แต่พอใช้กันมาตลอด 30 ปีมานี้ มันก็ชวนให้คิดว่า รถยนต์พวกนี้ มันโคตรจะมีกรรม
เสียจริงๆ ที่ต้องมาเจอกับ Copy Writer ที่สมองตื้อ และคนอนุมัติให้ปล่อยแคมเปญ
โฆษณา ซึ่งมีรสนิยมเห่ยๆ เชยๆ)
“นิยาม” (เห็นแต่ละรุ่นที่ออกมา ก็กำหนดนิยาม ใหม่กันทั้งนั้นนั่นแหละ ไม่เห็นจะ
มีรุ่นไหน กำหนดนิยามเก่า กันบ้างเลย)
กี่ปีๆผ่านไป โฆษณารถยนต์ในเมืองไทย ก็ยังคงหนีไม่พ้น คำคุณศัพท์โคตรเขย
เหล่านี้ อยู่ดี
บางที ผมก็คิดเล่นๆเหมือนกันนะ ว่า บรรดา Copy Writer จะสรรหาคำบรรยาย
คุณสมบัติของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เหล่านั้น ให้มัน “Creative” กว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ได้หรือไม่? เราหมดมุกกันแล้วหรือเปล่า? หรือแต่ละเอเจนซีโฆษณา ต้องพยาม
เอาใจ “ลูกค้า” ซึ่งมักจะเป็นคนในบริษัทรถยนต์ ที่อยากจะใช้คำเหล่านี้เหลือเกิน
เพราะคิดคำใหม่ๆกันไม่ออกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า Honda จะทำการบ้านมาอย่างดี ในแคมเปญสื่อสารการ
ทำตลาดของรถยนต์รุ่นสำคัญมากที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของ Honda ในเมืองไทย นั่นจึง
ทำให้ผมยังไม่ได้ยินคำว่า “สปอร์ต” อันแสนจะอ้วก ในโฆษณาทั้ง 2 เรื่องนี้เลย!
แม้ว่าตัวรถมันจะดูสปอร์ตขึ้นมาก
มันสปอร์ต จนฉีก “นิยามของ Civic เดิมๆที่เราเคยรู้จัก” ทิ้งไปเสียสิ้น!
ฉีกดัง “แคว้กกกกก” เลยทีเดียว!
เมื่อเอ่ยชื่อ Civic ผมเชื่อแน่ว่า หลายๆคน คงจะมี ภาพในใจ ที่แตกต่างกัน บ้างก็นึก
รถยนต์ของเลขานุการสาว วัยไม่เกิน 35 ปี…(เอาน่า 35 ยังถือว่าสาวอยู่ อย่างน้อยก็
สำหรับคนที่ยังไม่ย้ายออกจาก หมู่บ้านคานทองนิเวศน์ มารอรถไฟด่วนขบวนสุดท้าย
ที่หน้าปากซอย)
บ้างก็นึกถึง รถยนต์สำหรับเด็กหนุ่มวัยมหาวิทยาลัย ที่ครอบครัวพอมีฐานะอยู่บ้าง
แม้ไม่อาจจะซื้อ Mercedes-Benz หรือ BMW ป้ายแดงมาให้ลูกขับขี่ ก็มี Civic นี่ละ
ที่ถือว่า เป็นรถเก๋งระดับ มาตรฐานของวัยอยากซิ่งอย่างซน พอให้ผู้คนรอบข้างเขา
มองลูกหลานคุณด้วยสายตาค้อนขวับได้ไม่น้อย
บางทีก็นึกถึง รถยนต์สำหรับครอบครัวคนไทย ที่เบื่อขี้หน้า Toyota Corolla เต็มทน
อยากมองหาภาพลักษณ์ให้ดูดีขึ้นกว่าเดิมนิดนึง ยอมกัดฟันจ่ายแพงไม่แพ้ Corolla
เพื่อให้ได้มาซึ่งออพชันที่ ถ้าไม่เสมอกัน ก็ด้อยกว่าเยอะ แต่ก็ช่วยให้เพื่อนร่วมงาน
ของทั้งพ่อบ้านแม่บ้าน ได้มองว่า ครอบครัวคุณ “ไฮโซ” ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง แม้จะ
ยังไม่ถึงขั้นรถยนต์ยุโรป ก็ตาม (ยอมรับความจริงเถอะครับ สมัยก่อน สัก 20 ปีที่แล้ว
ใครขับ Honda นี่ คนรอบข้างเขาจะมองเช่นนั้นกันจริงๆ)
แต่สำหรับผมแล้ว Civic คือรถยนต์รุ่่นแรก ที่เปิดประตูให้ผมรู้จักกับ โลกของ Honda
ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 3 ของ ญี่ปุ่น มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อยตาดำๆ เพิ่งเข้าเรียน
ชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในซอยประมวญ ที่
Honda ไปเช่าที่ดิน ติดกับรั้ววังประมวญ และร้านอาหารกัลปพฤกษ์ ทำโชว์รูมรถเก๋ง
Honda แห่งที่ 2 ในกรุงเทมหานคร ช่วงปี 1985 (แห่งแรก ก็คือใต้ถุนอาคารสารสิน
ถนนสุรศักดิ์ นั่นเอง ปัจจุบัน ไม่มีแล้ว กลายเป็น Lobby สำหรับขึ้นลิฟต์ของอาคาร)
สมัยนั้น Honda พยายามมุ่งเน้นสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าใหม่อย่างหนักหน่วง
โดยเฉพาะแคมเปญ CS (Customer Satisfaction) No.1 ที่กำหนดมาตรฐานใหม่
ให้วงการรถยนต์เมืองไทยต้องตะลึง ไม่ว่าจะเป็นรูปโฉมของโชว์รูมที่สะอาดสะอ้าน
และพยายาม ไม่ทำโชว์รูมในตึกแถว เหมือนค่ายอื่นๆที่ชอบทำ ในยุคก่อนหน้านั้น
การต้อนรับลูกค้าในโชว์รูมและศูนย์บริการ แนวทางใหม่ ติวเข้มไม่เว้นแม้กระทั่ง
จ้างสถาบันเสริมความงาม มาสอนแต่งหน้าให้กับพนักงานขาย (ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่)
แม้ในตอนนั้น ราคาอะไหล่ของ Honda จะแพงระเบิดระเบ้อกว่าชาวบ้านขนาดไหน
ด้วยบริการหลังการขายที่ดีเยี่ยม ทำให้มีลูกค้าพากันทะยอยมาอุดหนุนรถยนต์ของ
พวกเขายังไม่ขาดสาย หลายคนติดใจ บอกต่อเพื่อนฝูงกันยกใหญ่ แบรนด์ Honda
จึงลงหลักปักฐานในเมืองไทยได้ยาวนานนับแต่นั้นเป็นต้นมา
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ 27 ปีผ่านไปแล้ว แต่ภาพทั้งหมด ยังคงอยู่ในหัว
ของเด็กคนนั้น ซึ่งเติบโตขึ้นมา เป็นคนที่คุณกำลังนั่งอ่านบทความ
ของเขาอยู่ในตอนนี้ โลกได้เปลี่ยนไป ราคาอะไหล่ Honda ก็ลดลง
พร้อมกับพัฒนาการของรถยนต์พวกเขา ที่ดูเหมือนจะมาไกลกว่าที่เรา
เคยรู้จักเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนเข้าไปทุกที
Civic ก็เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ เปิดตัวครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1972 ถูกส่ง
มาประกอบขายในเมืองไทยครั้งแรก เมื่อปี 1985 ในยุคที่ยังต้องไปจ้าง
โรงงาน บางชันเยอเนอรัล แอสเซมบลี มาประกอบ Civic และ Accord
มาขายคนไทยกันอยู่เลย จวบจนปัจจุบัน ปาเข้าไป 31 ปีแล้ว ที่ Civic
ค่อยๆ เติบโตขึ้น ในใจของผู้บริโภคชาวไทย จนครองใจบรรดาลูกค้า
ที่คิดจะซื้อรถยนต์นั่งพิกัด C-Segment ได้อยู่หมัด
เวลาที่ผ่าน -> การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ มาวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า
Civic รุ่นที่ 10 ได้กลายเป็น รถยนต์ที่ได้รับความนิยม จนถูกนำไปพูดถึง
ในสังคมเป็นวงกว้างมากที่สุดประจำปี 2016 ไปเลย โดยไม่มีใครบังอาจ
มาทาบรัศมี แม้แต่น้อย…เพราะไม่มีใครคิดมาก่อนว่า Civic จะถูกเปลี่ยน
รูปลักษณ์ ให้ดูใหญ่โต สปอร์ตล้ำสมัย ในราคาที่ยังพอเอื้อมถึงได้ เช่นนี้
Civic เจเนอเรชันที่ 10 นี่ ถือเป็นการพลิกโฉมครั้งยิ่งใหญ่ และเกิดความ
เปลี่ยนแปลงมากมายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่คือครั้งแรกใน
รอบหลายปี ที่ Civic จะกลับมาเป็น One Global Model อีกครั้ง ไม่ถูก
แยกพัฒนารูปโฉม เพื่อให้สอดรับกับแต่ละตลาดที่แตกต่างกันอีกต่อไป
เท่ากับว่า คราวนี้ ทีม Honda R&D America จะเป็นแม่งานหลักในการ
พัฒนา Civic ใหม่รุ่นที่ 10 นี้ แทนที่จะเป็นทีม Honda R&D ที่ Tochigi
ในญี่ปุ่นเหมือนที่แล้วมา
เท่ากับว่า คราวนี้ คนทั้งโลก จะได้ใช้ Civic ที่มีหน้าตาเหมือนกันเสียที
เท่ากับว่า คราวนี้ ชาวยุโรป จะได้ใช้ตัวถัง Hatchback ซึ่งมีหน้าตาเหมือน
เวอร์ชันอเมริกาเหนือและไทย นั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น ชาวอเมริกันก็ยังจะ
ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ Civic Hatchback อีกครั้ง หลังหายหน้าไป 16 ปี
และเท่ากับว่า คราวนี้ Civic ใหม่ รุ่นปกติ ก็จะไม่มีขายในญี่ปุ่นตามเคย
จะมีแค่เวอร์ชันแรง Civic Type R Import ไปขายในแดนปลาดิบเพียง
รุ่นเดียวเท่านั้น เพื่อรักษาให้ชื่อ Civic ยังคงมีอยู่ในตลาดญี่ปุ่นต่อไป
Update : 31 กรกฎาคม 2017
ท้ายที่สุด Honda ก็ตัดสินใจ นำ Civic กลับเข้าไปทำตลาดในบ้านเกิดตนเอง
ที่ญี่ปุ่น ครบทั้งรุ่น Sedan Hatchback และ Type R โดยเปิดตัวและเริ่มทำตลาด
ปลายเดือนกรกฎาคม 2017
ผมเชื่อว่า นี่คือบทความรีวิวที่คุณผู้อ่านตั้งตารอกันมากที่สุดในปี 2016
และวันนี้ มันก็เสร็จสมบูรณ์ พร้อมตอบคำถามที่ค้างคาใจคุณ ครบแทบ
ทุกประเด็น
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดว่า ผมจะต้องเริ่มต้นบทความนี้ ด้วยการพาไป
ย้อนอดีตถึงประวัติความเป็นมาของ Civic รุ่นเก่าๆ เหมือนเช่นบทความ
ฟูลรีวิวอื่นๆ ก่อนหน้านี้ แล้วละก็…
คิดผิดนะครับ!
จุดเริ่มต้นการกำเนิดของ Civic นั้น ผมกับ คุณ Pan Paitoonpong เขียน
เล่า แปล และเรียบเรียงไว้ให้อ่านกันตั้งนานแล้ว คลิกอ่านได้ที่นี่
– Honda Civic 1st Generation ตำนานแห่งจุดเริ่มต้น บนความกล้าที่จะแตกต่าง (Click Here)
– Honda Civic EG (1991 – 1995) – ปาฏิหารย์ยุคฟองสบู่ กระแทกสู่มหาชน (Click Here)
– ย้อนตำนาน 43 ปี Honda Civic (Click Here)
แต่สำหรับใครที่ ไม่อยากอ่านประวัติศาสตร์ สนใจแต่ปัจจุบัน และมอง
ไปยังอนาคต อยากรู้แค่ว่า ขับดีไหม สมรรถนะเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
โดยเฉพาะรุ่น 1.5 Turbo RS จะเป็นอย่างไร ประหยัดน้ำมันแค่ไหน คุณ
ควรซื้อมาครอบครองเป็นเจ้าของหรือเปล่า จะต้องปีนขึ้นไปหารุ่น Turbo
หรือแค่มองรุ่น 1.8 ลิตร ก็พอ?
ทุกสิ่งที่คุณอยากรู้ รอคุณอยู่ข้างล่างนี้แล้ว…
และเชื่อแน่ว่า สมกับการรอคอย ของทุกคน!
ความเคลื่อนไหวของโครงการพัฒนา Civic Generation 10 ภายใต้รหัส 2SV Project
เริ่มปรากฎให้เห็นตามสื่อมวลชนสายรถยนต์จากต่างประเทศ ช่วงปลายปี 2014 ผ่าน
ทางภาพถ่าย Spyshot ที่มีให้เห็นบ้าง ยังไม่มากนัก
1 เมษายน 2015 American Honda Motor ปลุกกระแสการมาถึงของ Civic ใหม่ ให้
ชาวโลกได้รับรู้อย่างเป็นทางการ ผ่านการเปิดผ้าคลุม รถยนต์ต้นแบบ Honda Civic
Concept Coupe สีเหลืองอร่าม กลางแท่นหมุนในงาน New York Autoshow 2015
John Mendel รองประธานบริหาร American Honda Motor กล่าวว่า Civic ใหม่ จะ
ถือเป็น Civic ที่ปราดเปรียวที่สุด มีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุด มีความกลมกล่อม และมี
สไตล์มากที่สุดเท่าที่ Civic เคยเป็นมา! ซึ่งนั่นก็ไม่เกินเลยจากความจริงแต่อย่างใด
ดูเส้นสายของตัวรถสิครับ มันโฉบเฉี่ยวเอาใจวัยรุ่นยุคปี 2016 อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
ขนาดนี้
พอมีรูปโฉมคันต้นแบบ สีเหลือง ออกมาให้เห็นแล้ว สื่อหลายสำนักจากทั่วทุกมุมโลก
ต่างก็พากันเสาะหาภาพถ่าย Spyshot ของ Civic Sedan มานำเสนอกันอย่างต่อเนื่อง
ถี่ยิบจนถึงขั้นที่เราแทบจะเรียกว่าเป็นรายการ “Spyshot Civic รายวัน” กันเลยทีเดียว
ต่อเนื่องมาจนถึงเดือน สิงหาคม 2015
ในที่สุด หลังจากรอคอยมาหลายเดือน American Honda Motor ก็ได้ฤกษ์ จัดงาน
เปิดตัว Civic ใหม่ เวอร์ชัน อเมริกาเหนือ อย่างเป็นทางการ เมื่อ 16 กันยายน 2015
พวกเขาเลือก เผยโฉมเฉพาะตัวถัง Sedan ก่อนเป็นแบบแรก แต่ยังไม่มีการเปิดเผย
ข้อมูลตัวรถ ต้องรอถึง 18 ตุลาคม 2015 หรือราวๆ 1 เดือนให้หลัง รายละเอียดทาง
เทคนิคต่างๆ จึงถูกปล่อยออกมา
20 ตุลาคม 2015 Civic ใหม่ เวอร์ชันอเมริกา คันแรก คลอดจากสายการผลิตของ
โรงงาน Honda of Canada Mfg. (HCM) เมือง Alliston มลรัฐ Ontario ประเทศ
แคนาดา จากนั้น 27 ตุลาคม 2015 โรงงาน Honda Manufacturing of Indiana,
LLC (HMIN) ในเมือง Greensburg มลรัฐ Indiana ก็เริ่มเดินสายการผลิต Civic
รุ่นใหม่ เช่นกัน ทั้ง 2 โรงงานนี้ ถือเป็นฐานผลิตหลักของ Civic รุ่นที่ 10 เพื่อป้อน
ตลาดอเมริกาเหนือ โดยรถยนต์ล็อตแรก ส่งถึงมือลูกค้า ในเดือนพฤศจิกายน 2015
จากนั้น ตัวถัง Coupe 2 ประตู จึงถูกเผยโฉมในงาน Los Angeles Auto Show เมื่อ
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2015 แต่กว่าจะพร้อมจำหน่ายจริง American Honda Motor
ต้องรอจนถึง 10 มีนาคม 2016 ก่อน จึงจะประกาศข้อมูลตัวรถ รวมถึงกำหนดเริ่มส่ง
รุ่น Coupe’ 2 ประตู ขึ้นโชว์รูม เมื่อ 15 มีนาคม 2016 หรืออีก 5 วันถัดมา
ทันทีที่เปิดตัว Civic ใหม่ ก็คว้ารางวัล 2016 North American Car of the Year
เมื่อ 11 มกราคม 2016 ตามด้วยการจัดอันดับให้เป็น TOP SAFETY PICK+ จาก
สถาบันการ ประกันภัย เพื่อความปลอดภัยทางถนน IIHS (Insurance Institute
for Highway Safety) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อ 14 มกราคม 2016 ตามด้วยรางวัล
“Best Cars for the Money” จาก U.S. News & World Report และ KBB.com
‘Best Family Cars of 2016’ จากคู่มือการซื้อรถ Kelly Blue Book สหรัฐอเมริกา
ฯลฯ อีกมากมาย
ตัวถังรุ่น Sedan จะมีขนาดเท่ากับเวอร์ชันไทย ขณะที่ตัวถัง Coupe จะสั้นกว่ากัน
เล็กน้อยเหลือ 4,490 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,390 มิลลิเมตร ระยะ
ฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร (เท่ารุ่น Sedan) มีให้เลือกทั้งหมด 21 รุ่นย่อย (Sedan
15 รุ่น Coupe 6 รุ่น จากตัวถังละ 5 Grade การตกแต่ง)
ทั้ง 2 ตัวถัง มีขุมพลังให้เลือก 2 ขนาด ทั้งแบบพื้นฐาน K20C2 บล็อก 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 1,996 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 85.9 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.8 : 1
พ่วงระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC 158 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
138 ฟุต-ปอนด์ หรือ 186 นิวตันเมตร (18.95 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์
ธรรมดา 6 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ CVT และรหัส L15B7 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,496 ซีซี พ่วง Turbocharger 174 แรงม้า (PS) ที่ 6.000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
162 ฟุต-ปอนด์ หรือ 219 นิวตันเมตร (22.31 กก.-ม.) ที่ 1,700 – 5,500 รอบ/นาที
พ่วงเกียร์อัตโนมัติ CVT ซึ่งเป็นขุมพลังเดียวกับเวอร์ชันไทย
นอกนั้น เวอร์ชันที่น่าสนใจ ซึ่งเปิดตัวตามหลังประเทศไทยคือ เวอร์ชันจีนแผ่นดินใหญ่
Civic China Version จะเป็นประเทศแรกในโลก ที่มีการจับคู่เครื่องยนต์ L15B7 Turbo
174 แรงม้า (PS) พ่วงกับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ให้เลือกเป็นพิเศษ นอกเหนือจากเกียร์
อัตโนมัติ CVT โดยเรียกชื่อรุ่นว่า Civic 220 Turbo เปิดตัวไปเมื่อ 12 เมษายน 2016 ที่
ผ่านมา โดยจะมีรุ่นย่อยรองลงไป อย่าง ” Civic 180Turbo “ วางขุมพลัง 3 สูบ DOHC
1.0 ลิตร Turbo 129 แรงม้า (PS) แรงบิด 200 นิวตันเมตร (20.38 กก.-ม.) ตามออกมา
ในช่วงปลายปี 2016 นี้
สำหรับตัวถังถัดไป ที่จะเปิดตัวตามมา นั่นคือ Hatchback ซึ่ง Honda ได้หยั่งกระแส
ด้วยการส่งเวอร์ชันต้นแบบในชื่อ Honda Civic Hatchback Concept ไปเผยโฉมใน
งาน Geneva Auto Salon เมื่อ 1 มีนาคม 2016 จากนั้น ต้องรอกันอีกพักใหญ่ กระทั่ง
เวอร์ชันจำหน่ายจริง เผยโฉมอย่างเป็นทางการ เมื่อ 3 สิงหาคม 2016 ตามด้วยการ
เผยข้อมูลทางเทคนิค เวอร์ชันอเมริกาเหนือ เมื่อ 23 กันยายน 2016 ตามติดมาด้วย
การเผยโฉม เวอร์ชันแรงที่สุดในตระกูล Honda Civic Type-R Prototype ในงาน
Paris Auto Salon เมื่อ 29 กันยายน 2016 ก่อนจะถูกขนส่งไปอวดโฉมกันต่อในงาน
แสดงอุปกรณ์ประดับยนต์ SEMA 2016 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง มันคือ
การเอา Civic Sedan รุ่นปัจจบัน ไปหั่นบั้นท้ายให้สั้นลงนั่นเอง
หากเปรียบเทียบกับ Civic Hatchback เวอร์ชันยุโรป ที่ขายกันอยู่ในตอนนี้ จะพบว่า
รถรุ่นใหม่ จะกว้างขึ้นกว่าตัวเก่า 20 มิลลิเมตร, เตี้ยลง 20 มิลลิเมตร แต่ยาวขึ้น 130
มิลลิเมตร อัดแน่นไปด้วยสารพัดตัวช่วยความปลอดภัยมากมาย ทั้ง Honda Sensing
CMBS , Forward Collision Warning (FCW) , Lane Keeping Assist System
(LKAS), Road & Lane Departure Mitigation (RDM & LDM) และ Adaptive
Cruise Control (ACC) พร้อมห้องเก็บสัมภาระด้านหลังขนาด 478 ลิตร
เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ในรุ่น LX , EX และ EX-L Navi จะวางขุมพลัง L15B7 Turbo
174 แรงม้า (PS) ส่วนรุ่น Sport และ Sport Touring วางเครื่องยนต์เดียวกัน แต่ถูก
อัพเกรดให้แรงขึ้นเป็น 180 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.42
กก.-ม. ที่ 1,900 – 5,000 รอบ/นาที ในรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ส่วนรุ่นเกียร์ CVT
จะมีแรงม้าเท่ากัน แต่มาถึงในรอบสูงขึ้น เป็น 6,000 รอบ/นาที ขณะที่แรงบิดสูงสุด
จะลดลงเหลือ 22.35 กก.-ม. ที่ 1,700 – 5,500 รอบ/นาที
เวอร์ชันยุโรป จะวางเครื่องยนต์ ตระกูล EarthDreams Technology ใหม่ล่าสุด
ทั้งแบบ เบนซิน 1.0 ลิตร กับ 1.5 ลิตร VTEC Turbo (L15B7 เหมือนตลาดโลก) และ
Diesel 4 สูบ 1.6 ลิตร i-DTEC Turbo อย่างไรก็ตาม ทั้ง Civic Hatchback เวอร์ชัน
ยุโรป และ Civic Type-R รุ่นถัดไป ยังไม่มีรายละเอียดทางเทคนิคอย่างเป็นทางการ
ในตอนนี้ ทั้งคู่
Civic Hatchback ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือกันของ Honda R&D ยุโรป และ
ญี่ปุ่น โดย จะถูกส่งไปขึ้นสายการผลิตที่โรงงาน Honda of the UK Manufacturing
(HUM) ในเมือง Swindon ซึ่งจะเป็นฐานผลิตหลักสำหรับตัวถัง 5 ประตู และมีกำหนด
เปิดตัวออกสู่ตลาด ในช่วงต้นปี 2017
สำหรับประเทศไทยนั้น ถือเป็นประเทศที่ 2 ในโลกที่ Honda เลือกเปิดตัว Civic ใหม่
เหตุผลหนะไม่มีอะไรมากครับ เพราะนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศไทย สามารถ
ทำตัวเลขยอดขาย Civic ได้มาก เป็นอันดับ 2 หรือ 3 ของโลก นั่นเอง ตัวเลขนี้ แซง
ญี่ปุ่น บ้านเกิดเมืองนอนของ Civic มานานแล้วตั้งแต่ปี 2005
ไม่เพียงเท่านั้น Civic ใหม่ Generation ที่ 10 ยังเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ถูกย้ายสายการ
ผลิตจากโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรียุธยา ไปยัง โรงงานใหม่
ล่าสุดของ Honda ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 2 จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งยกนวัตกรรมการ
ผลิตในโรงงาน Yorii (โยริอิ) ประเทศญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ ในโรงงานใหม่นี้ มากมาย
หลายอย่าง
Honda Automobile (Thailand) จัดงานเปิดตัว Civic ใหม่ และพร้อมออกจำหน่ายจริง
ในทันที เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2016 ณ โรงแรม Centara Grand ห้างสรรพสินค้า Central
World ตามหลังการเผยโฉมตัวถัง Hatchback Concept ที่ เจนีวา เพียง 10 วัน เท่านั้น
Honda Civic ใหม่ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังของ Honda Accord G9 รุ่นปัจจุบัน ภายใต้
แนวคิดหลักๆในการพัฒนา 3 ประการ ดังนี้
– Charismatic : ความมีเสน่ห์ดึงดูดใจ จากภายนอกและภายใน
– Soulful : จิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งการขับเคลื่อน
– Comfortable : ความสะดวกสบายของทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
Civic เวอร์ชันไทย ยังคงมีตัวถัง Sedan 4 ประตู ทำตลาดหลักทั่วโลก เช่นเดียวกับรุ่น FD
(2005) และ FB (2012) มีความยาว 4,630 มิลลิเมตร กว้าง 1,798 มิลลิเมตร สูง 1,415
มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร ความกว้างช่งล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear
Thread) 1,547 – 1,563 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ 125 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,227 – 1.317 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย
เมื่อเปรียบเทียบกับ Civic FB เดิม (2012 – 2016) ซึ่งมีความยาว 4,525 มิลลิเมตร กว้าง
1,755 มิลลิเมตร สูง 1,434 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,670 มิลลิเมตร แล้ว คุณจะพบว่า
Civic ใหม่ ยาวขึ้นกว่าเดิม 105 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 50 มิลลิเมตร เตี้ยลง 20 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อยาวขึ้น 30 มิลลิเมตร
ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับ Civic FD รุ่นเดิม (2005 – 2011) ซึ่งได้ชื่อว่า เป็น Civic Sedan ที่
มีตัวถังใหญ่สุดในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งมีความยาว 4,540 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร
สูง 1,435 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ : 2,700 มิลลิเมตร แล้วเห็นได้ชัดเลยว่า Civic รุ่นใหม่
ยาวขึ้น กว้างขึ้น และเตี้ยลงกว่ารุ่น FD ชัดเจนมาก แม้จะมีระยะฐานล้อเท่ากันก็ตามแต่
ถือว่า Civic Generation ที่ 10 นี้ มีขนาดตัวถังใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนแทบจะไป
ท้าชน Honda Accord ญาติผู้พี่ร่วมสายพันธ์ เสียด้วยซ้ำ!
แล้วถ้าเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆล่ะ? โชคดีว่าน้องหมู MoO Cnoe ใน The Coup Team
ของเรา เคยทำตารางเปรียบเทียบขนาดมิติของรถยนต์ C-Segment รุ่นต่างๆในพิกัด
เดียวกันเอาไว้ให้นานมาแล้ว ผมจึงขอนำมาเสนอในบทความนี้ ซ้ำกันอีกรอบ
จากตารางนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าพูดเรื่องความใหญ่โต แน่นอนว่า MG6 จะครองตำแหน่ง
รถเก๋ง พิกัด C และ CD-Segment ที่มีขนาดตัวถังใหญ่สุด กระนั้น Civic ใหม่ ก็มีตัวถัง
ที่่ยาว เป็นอันดับ 2 แต่มีความสูงน้อยที่สุด เตี้ยที่สุดในกลุ่ม
น้ำหนักตัวถัง จากข้อมูลของ Honda มีดังนี้
– 1.8 E หนัก 1,227 กิโลกรัม
– 1.8 EL หนัก 1,242 กิโลกรัม
– 1.5 Turbo หนัก 1,298 กิโลกรัม
– 1.5 Turbo RS หนัก 1,317 กิโลกรัม
ซึ่งถือว่าถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง Mazda 3 และ Nissan Sylphy Turbo แล้ว Civic
ใหม่ ก็มีน้ำหนักตัวถังใกล้เคียงกันกับเพื่อนพ้องในกลุ่มนี้
Guy Melville-Brown ผู้รับผิดชอบงานออกแบบตัวถังภายนอกของ Civic ใหม่
จากศูนย์วิจัยและพัฒนา Honda R&D North America กล่าวว่า จุดมุ่งหมายใน
การออกแบบ Civic ใหม่ มี 3 ประการ ได้แก่ ความมีเสน่ห์, มีความเกี่ยวโยงและ
แข็งแรง สร้างการออกแบบเน้นอารมณ์และความสปอร์ต (Emotion & Sporty)
ด้วยความรู้สึกไร้กาลเวลา (Timeless) และความเรียบง่าย (Simplify)
รูปลักษณ์ภายนอก มาในสไตล์ เตี้ย แบน และกว้าง (Wide & Low Form) ซึ่ง
เป็นแนวทางการออกแบบที่มักพบได้ในรถยนต์อเมริกัน แน่ละครับ Civic รุุ่นนี้
ต้องเอาใจตลาดอเมริกาเหนือ อันเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดนี่หว่า
จุดเด่นด้านการออกแบบของ Civic ใหม่ อยู่ที่ กระจังหน้าแบบ Solid Wing Face
ซึ่งถูกออกแบบให้มีมิติ มากขึ้นกว่าเดิม ในรุ่น 1.8 ลิตร เมื่อใส่แถบโครเมียมหนาๆ
เข้าไป ช่วยทำให้ตัวรถดูแปลกตาขึ้น แต่พอเป็นรุ่น 1.5 Turbo RS กระจังหน้าจะ
ถูกเปลี่ยนมาเป็นสีดำเงา Piano Black พร้อมกับเปลือกกันชนหน้า แบบสปอร์ต
ซึ่งทำให้ความสวยงามที่เคยมี กลืนหายไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
โดยส่วนตัว ผมมองว่า เส้นสายทั้งคัน ผมยอมรับได้ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกไม่ชอบเลย
คือด้านหน้ารถทั้งหมด ในภาพถ่าย ดูไม่สวยอย่างไร คันจริง ยิ่งไม่สวยมากขึ้น
เข้าไปอีก มันเหมือนกับว่า เส้นสายทั้งคัน โฉบเฉี่ยว ดูดีมีสไตล์ แต่กลับมาพัง
ทลาย เพียงเพราะใบหน้าของรถ เท่านั้นเลยจริงๆ
ไฟหน้าของทุกรุ่น จะเป็นแบบ Projector ยกเว้น 1.5 Turbo RS ที่จะอัพเกรด
เป็นแบบ LED นอกจากนี้ ทุกรุ่นจะติดตั้งไฟส่องสว่าง Daytime running Light
แบบ LED ระบบปิดไฟหน้าอัตโนมัติเมื่อดับเครื่องยนต์ และชุดไฟท้าย LED
ส่วนระบบเปิด – ปิด ไฟหน้าอัตโนมัติ ตามแสงสว่างข้างนอกรถ กับไฟตัดหมอก
คู่หน้า นั้น มีมาให้ ทุกรุ่น ยกเว้น 1.8 E
ฝากระโปรงหน้า ถูกออกแบบให้มีแนวเส้นสัน รับกับบ่าข้างบริเวณโป่งซุ้มล้อ
คู่หน้า เส้นสันดังกล่าวถูกลากยาวต่อเนื่องขึ้นไปถึงเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar
ส่วนกระจก Opera หูช้าง ที่เคยมีในรุ่น FD (2005) และ FB (2012) นั้น บัดนี้
มันถูกปรับปรุงใหม่ ให้กลับมาเป็นแบบปกติมาตรฐานเหมือนชาวบ้านชาวช่อง
เสียที เป็นผลจาการย้ายตำแหน่งเสาหลังคาคู่หน้า ถอยร่นไปด้านหลัง
กระจกมองข้าง ถูกย้ายจากตำแหน่งติดตั้งบนแผงบานประตู กลับมาอยู่ ณ ริม
ขอบสามเหลี่ยม บริเวณหน้าต่างบานประตูคู่หน้า เพื่อลดปัญหาเสียงกระแสลม
ที่ไหลผ่าน และดังเล็ดรอดเข้ามายังห้องโดยสาร มีไฟเลี้ยวฝังมาให้เกือบทุกรุ่น
ยกเว้น 1.8 E
ส่วนด้านข้างลำตัว มาพร้อมเส้นโค้งมนเหนือโป่งซุ้มล้อคู่หน้า เสริมความ
ทะมัดทะแมงเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ขอบเปลือกกันชนหน้าติดตั้งไฟเลี้ยวด้านข้าง
แบบเดียวกับ เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ซึ่งโดยส่วนตัวผม มองว่า ไม่ได้ช่วยให้
รถคันที่แล่นตรงเข้ามา มองเห็นได้มากเท่ากับการฝังไฟเลี้ยวไว้ในไฟหน้า
และเป็นชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นต้องมีอยู่บนรถคันนี้เลย (แต่มันจำเป็นสำหรับ
ตลาดอเมริกาเหนือ เพราะกฎหมายของเขา บังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกราย
ต้องติดตั้งไฟเลี้ยวไว้ที่ตำแหน่งนี้ด้วย)
เส้นสายด้านข้าง ถูกลากขึ้นจากบริเวณเหนือโป่งซุ้มล้อคู่หน้า ยาวต่อเนื่อง
ไปโค้งมันเหนือโป่งซุ้มล้อคู่หลัง สิ้นสุดที่ชุดไฟท้าย ส่วนเส้นสายด้านล่าง
ถูกลากขึ้นไปในแนวทะแยง ได้ระนาบเดียวกับเส้นสายด้านบน คิ้วโครเมียม
ติดตั้งที่บริเวณด้านบนของหน้าต่างด้านข้างรถทั้ง 6 บาน
มือจับประตู ของรุ่น 1.8 E จะเป็นสีเดียวกับตัวถัง 1.8 EL และ 1.5 Turbo
จะเป็นแบบโครเมียม ส่วนรุ่น 1.5 Turbo RS จะเป็นโครเมียม รมดำ
ชุดไฟท้าย เป็นรูปตัว C ส่วนหัวลากยาวขึ้นไปถึงพื้นที่ด้านบนของฝาท้าย
ทุกรุ่นใช้หลอด LED พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แต่เฉพาะรุ่น 1.5 Turbo RS
เท่านั้น ที่จะเพิ่มสปอยเลอร์ด้านหลัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 ในตัว มาให้
เปลือกกันชนหลัง ถูกออกแบบในสไตล์เดียวกับเปลืกกันชนหน้า มีแผงทับทิม
สีแดงสะท้อนแสง ติดตั้งมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ในทุกรุ่นย่อย ส่วนท่อไอเสียในรุ่น
1.8 ลิตร เป็นแบบท่อเดียว ขณะที่รุ่น 1.5 Turbo และ 1.5 Turbo RS เป็นแบบ
ท่อคู่
ล้ออัลลอย ของแต่ละรุ่นย่อย จะมีลวดลายแตกต่างกันไป กระนั้น รุ่น 1.8 ลิตร
ทั้ง E และ EL จะใช้ล้ออัลลอยขนาด 16″x7″ J พร้อมยางขนาด 215/55 R16
โดยล้อรุ่น E จะใช้ลาย 10 ก้านซี่ตรง และรุ่น EL จะใช้ลาย 10 ก้าน ซี่ล้อเฉียง
ปัดเงา สลับดำ ขณะที่รุ่น 1.5 Turbo ทั้ง 2 รุ่นย่อย จะอัพเกรดเป็นล้ออัลลอย
17″x 7″ J ปัดเงาสลับดำ สวมยางขนาด 215/50 R17 โดยรุ่น Turbo ปกติ จะ
ใช้ล้อลายดอกไม้ 5 กลีบใหญ่ ส่วนรุ่น Turbo RS เปลี่ยนไปใช้ลาย 5 ก้านคู่
Civic ใหม่ ทกรุ่นย่อย ติดตั้ง ระบบล็อกประตู เป็น Remote Control พร้อม
กุญแจ Honda Smart Key System เมื่อคุณพกกุญแจ แล้วเดินเข้าใกล้รถ
เพียงแค่เอื้อมมือไปจับมือเปิดประตู ระบบจะปลดล็อก สามารถดึงมือจับเพื่อ
เปิดบานประตูได้ทันที และถ้าจะสั่งล็อก แค่เพียงปิดประตู แล้วกดสวิตช์สีดำ
บนมือจับประตู หรือจะกดสั่งการด้วยตนเองบนรีโมทก็ย่อมได้
นอกจากนี้ยังมีสวิตช์เปิดฝาท้ายจากรีโมทกุญแจ พร้อมทั้งสวิตช์กดปุ่มเพื่อ
ติดเครื่องยนต์แบบ Push Start ที่มีไฟสว่างวาบ วาบ สีแดง (โหมดกุญแจ
ACC-ON) หรือขาว (ตอนเปิดประตูรถ) ได้อีกด้วย
จุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันทุกคัน คือ ระบบติดเครื่องยนต์
พร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศ อัตโนมัติ ด้วยรีโมทกุญแจ (Engine Remote
Start)
วิธีใช้งานก็คือ เมื่อคุณเดินเข้าใกล้รถ ต่อให้รถจะล็อกอยู่ คุณก็ต้องกดปุ่ม
Lock รูปแม่กุญแจ บนรีโมทก่อน 1 ครั้ง จากนั้น กดุ่มติดเครื่องยนต์บนรีโมท
ค้างไว้ราวๆ 4-5 วินาที เครื่องยนต์และเครื่องปรับอากาศ จะติดขึ้นมาทำงาน
เองทันที เพื่อช่วยลดอุณหภูมิความร้อนในห้องโดยสาร หากจำเป็นต้องจอด
ตากแดด
อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการจะเข้าไปนั่งในตัวรถ หลังเครื่องยนต์ติดแล้ว คุณ
ต้องกดปุ่มปลดล็อก หรือ ใช้มือแตะที่มือจับประตูตามปกติก่อน เพื่อดึงเปิด
ประตู จากนั้น เมื่อลงไปนั่งแล้ว คุณยังออกรถเลยทันทีไม่ได้ หากพยายาม
เข้าเกียร์ไม่ว่าจะเดินหน้า หรือถอยหลัง เครื่องยนต์และเครื่องปรับอากาศ
อัตโนมัติจะยุติการทำงานทันที ต้องเหยียบเบรก และกดปุ่มติดเครื่องยนต์
ตามปกติเพื่อยืนยันอีกครั้งว่า คุณพร้อมจะขับรถแล้ว
ความมึนงงของระบบนี้คือ ถ้าต้องเหยียบเบรก กดปุ่ม Push Start เพื่อเตรียม
จะขับรถ เครื่องปรับอากาศจะตัดการทำงานเองทันทีที่เครื่องติด คุณต้องกด
เปิดเครื่องปรับอากาศเองอีกครั้ง อยู่ดี!!
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า จะคล้ายคลึงกับรถญี่ปุ่นในยุค 1980 – 1990 นั่นละ
กล่าวคือ รถยนต์ในยุคนั้น ค่อนข้างเตี้ย การหย่อนก้นลงนั่ง อาจต้องเล็งตำแหน่งกัน
สักหน่อย พอตอนจะลุกออกจากรถ ก็ต้องออกแรงยกตัวมากขึ้นเป็นธรรมดา แน่นอนว่า
Civic ใหม่ ก็เป็นเช่นเดียวกัน
คำแนะนำก็คือ อย่าปรับตำแหน่งเบาะนั่ง ขณะเข้า – ออกจากรถ ให้สูงเกินไป เพราะ
แม้ว่าช่องประตูจะมีความกว้างมากพอสมควร แต่ โอกาสที่ศีรษะคุณจะไปโขกกับเสา
กรอบประตูด้านบน ก็มีสูงอยู่บ้างเหมือนกัน
แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งด้วยพลาสติก พร้อมวัสดุบุนุ่ม บริเวณพื้นที่ท่อนบน เหนือ
มือจับเปิดประตูแบบพลาสติกชุบโครเมียม และ Trim ประดับ ลาย Aluminium Steel
รวมทั้งแผงด้านข้าง พนักวางแขน ซึ่งมีระดับความสูงพอดีสำหรับการวางท่อนแขน
ได้เต็มพื้นที่ ครึ่งท่อนล่าง มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาท และซอกหลืบสำหรับใส่
เอกสารต่างๆได้อีกเล็กน้อย
ชายขอบประตูด้านล่าง มีการติดตั้งวัสดุยางซับเสียง จากพื้นรถและพื้นถนน เสริม
เข้ามาอีกชั้นหนึ่ง เพิ่อช่วยลดเสียงรบกวนให้เล็ดรอดเข้ามาน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้
อย่างไรก็ตาม ระยะห่างจากเบาะนั่ง และขอบตัวถังด้านล่าง ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น
ขากางเกง อาจจะโดนกรอบช่องทางเข้าด้านล่าง เลอะโคลนได้ง่ายขึ้น นิดหน่อย
Defect ที่พบเจอใน Civic 1.5 Turbo RS คันสีขาวที่เรายืมมาทดลองขับก็คือ กระจก
หน้าต่างไฟฟ้า คู่หน้า แม้จะเป็นแบบ One-Touch ยกขึ้น หรือเลื่อนลง ได้ด้วยการ
กดสวิตช์เพียงครั้งเดียว ให้มาครบทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านซ้าย ทว่า บานประตู
ฝั่งซ้ายของรถคันนี้ น่าจะติดตั้งกระจกหน้าต่างมาไม่ดีพอ ทำให้ เมื่อยกสวิตช์เพื่อจะ
เลื่อนหน้าต่างขึ้น มันจะเลื่อนไปถึงกึ่งกลาง แล้วก็ดีดกลับลงมาเองด้วยระบบ Jam
Protection เมื่อตรวจสอบดู ก็พบว่า ยางขอบหน้าต่าง ติดตั้งมาไม่ดี และทำให้กระจก
แอบตกร่อง จึงเลื่อนขึ้นได้ยาก ทางแก้เบื้องต้นคือ ต้องค่อยๆเลื่อนกระจกขึ้นช้าๆ
ทีละสเต็ปๆ จนสุดขอบด้านบนเอง ทางแก้ในระยะยาวคือ ให้ช่างประจำศูนย์บริการ
ตรวจสอบและปรับตั้งกระจกหน้าต่างกันใหม่อีกรอบ
ปัญหานี้ ผมไม่เคยเจอในรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นใด ค่ายใดมาก่อน เพิ่งมาเจอกับตัวเอง
เป็นครั้งแรก ก็ Civic ใหม่นี่ละครับ!
หลายคนเห็น Civic ใหม่ ว่ามีหลังคาเตี้ย ตำแหน่งเบาะนั่งก็เตี้ยกว่ารถยนต์รุ่นใหม่
ทั่วๆไป ก็คงสงสัยว่า จะนั่งได้สบายจริงหรือ?
แหนะๆๆๆ อย่าลืมสิครับว่า Honda เค้ามีปรัชญาการออกแบบภายในห้องโดยสาร
ที่เรียกกันมาตั้งแต่ยุค 1970 ว่า Man Maximum , Machine Minimum หรือให้
ความสำคัญกับพื้นที่ภายในรถก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้น ประเด็นนี้ หายห่วงได้เลย
ทันทีที่ก้าวลงไปนั่งบนเบาะของ Civic ใหม่ คุณจะสัมผัสได้ว่า มันดีกว่าที่คุณคิด!
ภายในห้องโดยสารของรุ่น 1.5 Turbo ทั้งแบบธรรมดา และ RS จะตกแต่งด้วยสีดำ
ขณะที่รุ่น 1.8 ลิตร ทั้ง E และ EL นั้น ถ้าคุณเลือกสีตัวถัง น้ำเงิน ขาว และเงิน จะได้
ภายในสีดำ แต่ถ้าเลือกสีตัวถัง ดำ และเทา จะได้ภายในสีเบจ วัสดุหนังหุ้มเบาะนั้น
แม้จะยังผลิตขึ้นที่ ซัพพลายเออร์อย่าง SAB แต่ หนังที่ใช้ ก็มีพื้นผิวดีขึ้นเมื่อเทียบ
กับ Civic FB รุ่นเดิม อยู่เล็กน้อย
เบาะนั่งคนขับ ในรุ่น 1.5 Turbo ทั้งรุ่นมาตรฐาน และ RS และ 1.8 EL จะปรับตำแหน่ง
ด้วยสวิตช์ไฟฟ้าทั้งหมด 8 ทิศทาง (1.8 E ปรับด้วยคันโยก) ส่วนเบาะนั่งฝั่งซ้าย สำหรับ
ผู้โดยสารนั้น จะปรับตำแหน่งด้วยสวิตช์ไฟฟ้า 4 ทิศทางเฉพาะรุ่น 1.5 Turbo ทั้งแบบ
ธรรมดา และ RS เท่านั้น รุ่น 1.8 E กับ EL ต้องปรับด้วยคันโยก แบบอัตโนมือตามเดิม
พนักศีรษะ เสริมฟองน้ำให้แน่น แต่ยังนุ่มกว่า พนักศีรษะของเบาะหลัง ระยะแรกๆที่
ลองนั่ง ยังไม่รู้สึกถึงการดันศีรษะ แต่เมื่อลองใช้งานไปหลายวันเข้า สัมผัสได้ว่ามันก็
พอจะแอบดันศีรษะตามเทรนด์รถยนต์สมัยใหม่อยู่นิดนึง แม้ไม่ถึงกับดันมากนัก แต่
อาจก่อความรำคาญบ้างสำหรับผม ในบางวัน
พนักพิงหลัง นั่งสบายทั่วแผ่นหลัง ด้วยฟองน้ำที่นุ่มและแน่นกว่าเบาะหลัง ปีกข้าง
ที่เสริมมาให้นิดหน่อย ช่วยรั้งตัวผู้ขับขี่ไว้ขณะเข้าโค้งได้บ้างพอสมควร แถมยังมี
พื้นที่ซัพพอร์ตช่วงหัวไหล่ด้วยเล็กน้อย
เบาะรองนั่งคู่หน้า มีฟองน้ำที่นุ่มและแน่นแบบนวม มีความยาวเหมาะสม รองรับส่วน
ข้อพับและต้นขา กำลังดี และยื่นออกมารองรับส่วนล่างของน่องเพื่อช่วยลดอาการ
เมื่อยล้าจากการขับขี่ ในตำแหน่งที่ค่อนข้างเตี้ย ได้สบายๆ และมีปีกข้างที่แอบเพิ่ม
ความกระชับให้แก้มก้นนิดๆ
ไม่ว่าคุณปรับเบาะนั่งลงมาในตำแหน่งต่ำสุด หรือยกสูงขึ้นมาให้เหมาะสม พื้นที่ว่าง
เหนือศีรษะ ก็จะเยอะเหลือเชื่อ เลยทีเดียว และถ้าสังเกตดีๆ ระยะห่างจากหน้าผาก
ของคุณ กับแผงบังแดดด้านหน้า จะไกลจากกัน มากกว่า Civic รุ่นก่อนๆเสียด้วยซ้ำ
เข็มขัดนิรภัย คู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำได้ พร้อมสัญญาณเตือน
ให้คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งแบบสัญญาณไฟแดงกระพริบบนชุดมาตรวัด และการเตือน
ด้วยเสียง ผ่านชุดเครื่องเสียง ถ้าคุณเซ็ตการแสดงผลเป็นภาษาไทย มันก็จะเตือน
เป็นภาษาไทย แต่ถ้าเซ็ตหน้าจอเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะเตือนเป็นภาษาอังกฤษ
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้สะดวกสบายเอาเรื่อง เนื่องจากช่องทาง
เข้า – ออก ค่อนข้างกว้าง อย่างไรก็ตาม คุณจำเป็นต้องก้มหัวลงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้
ศีรษะไปกระแทกกับขอบหลังคาด้านบน
แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งแบบเดียวกับแผงประตูคู่หน้า กระจกหน้าต่างไฟฟ้า
คู่หลัง เลื่อนลงมาได้ ไม่สุดขอบรางกระจก ตำแหน่งวางแขนบนแผงประตคู่หลัง
มีความสูงอยู่ในระดับเหมาะสม ด้านล่างของแผงประตู มีช่องใส่ขวดน้ำ 7 บาท
มาให้ ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง
รุ่น 1.5 Turbo RS จะติดตั้ง มือจับ “ศาสดา” สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ เหนือช่องทาง
เข้า-ออกบานประตูครบทั้ง 4 บาน ขณะที่รุ่น 1.8 ลิตร ทุกรุ่น จะถอดมือจับ ศาสดา
เหนือประตู คนขับออกไป เหลือแค่ 3 ตำแหน่งเท่านั้น
แม้ว่าหลังคารถจะเตี้ยกว่าชาวบ้าน แต่กลับกลายเป็นว่า พื้นที่โดยสารด้านหลัง
ของ Civic ใหม่ ให้ความสบายได้มากเกินคาดคิด เนื่องจากการออกแบบให้กด
ตำแหน่ง Hip Point รวมทั้งจุดศูนย์ถ่วง และหลังคารถ ให้ต่ำลง รวมทั้งขยาย
ระยะฐานล้อ กลับมาอยู่ในระดับ 2,700 มิลลิเมตร เท่า Civic FD ปี 2005 จึง
ทำให้ ทีมวิศวกร สามารถติดตั้งเบาะหลัง ในตำแหน่งที่ เตี้ยลงกว่ารุ่นเดิมได้
กระนั้น พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับชายไทยตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผมนั้น
ยังมีเหลือมากพอในระดับ 4 นิ้วมือเรียงติดในแนวนอน
ตำแหน่งนั่งบนเบาะหลังของ Civic ใหม่ ค่อนข้างเตี้ย นั่งแล้วเกือบเหมือน
คุณกำลังอยู่บนเก้าอี้นอน ที่ถูกปรับตั้งขึ้นมา ไม่เอนและไม่ชันมากเกินไป
ฟองน้ำที่นิ่มย้วย ทำให้คุณรู้สึกว่านั่งสบายดุจโซฟาดีๆที่บ้าน
พนักพิงหลัง นุ่มกว่าเบาะคู่หน้าชัดเจน รองรับแผ่นหลังไปจนถึงช่วงไหล่
ได้ดีมาก นั่งสบายกว่าที่คิด พนักศีรษะ เกือบจะแข็งไปหน่อย ยังดีที่เมื่อ
ลองกดดู ยังพอจะพบความนุ่มอยู่นิดๆ มาให้บ้าง
พนักวางแขน แบบพับเก็บได้ มีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง เมื่อดึงลงมาปุ๊บ
ตัวพนักจะหล่นลงมากองอยู่กับเบาะรองนั่งทันที ทำให้ตำแหน่งวางแขน
เตี้ยไปหน่อย วางท่อนแขนได้ แต่ข้อศอกจะลอยขึ้นมาพอสมควร
เบาะรองนั่ง มีความยาวเหมาะสม รองรับช่วงท้องน่องได้เต็มที่ ออกแบบให้
มีมุมเงยขึ้นเล็กน้อย เพื่อช่วยรองรับขา ลดการนั่งแบบชันขาอันเป็นสาเหตุ
ของความเมื่อยล้าในการเดินทางไกลของผู้โดยสารด้านหลัง
ด้านในเบาะรองนั่ง เสริมด้วยฟองน้ำที่ให้สัมผัสชัดเจนว่า นิ่มมาก นิ่มกว่า
เบาะคู่หน้าเสียอีก จนน่าเป็นห่วงว่า หากใช้งานเบาะหลังบ่อยครั้ง ทุกๆวัน
ฟองน้ำอาจเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าเบาะหลังของรถยนต์ทั่วไป หรือไม่?
พื้นที่วางขา ยังมีเหลืออยู่เยอะ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความกรุณาปราณีของคนขับ
และผู้โดยสารด้านหน้า ฝั่งซ้าย กระนั้น ต่อให้เลื่อนถอยหลังเบาะลงมาจน
สุดรางเลื่อน ผมก็ยังมีพื้นที่วางขาเหลือพอให้นั่งได้สบายอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยที่หลายๆคนตำหนิติติงกันมาคือ ด้านข้างของพนักพิง
เบาะหลัง ซึ่งเชื่อมต่อเนื่องจนถึงบานประตูคู่หลัง กลับบุด้วยแผงพลาสติก
ที่ให้สัมผัสแข็งกระด้าง แทนที่จะบุนุ่มด้วยฟองน้ำหุ้มหนังมาให้สักหน่อย
ก็น่าจะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกที่ดีกว่านี้ มันส่งผลให้การวางแขนบนแผง
ประตูด้านข้าง อาจไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร สำหรับคนตัวสูง หรือเตี้ยกว่า
เกณฑ์มาตรฐานทั่วไป เพราะระยะห่างระหว่างลำตัวคนขับ กับพนักวางแขน
บนแผงประตูคู่หลัง ยังค่อนข้างห่างไปเล็กน้อย ชวนให้นึกถึงปัญหาเดียวกัน
ที่เกิดขึ้นกับ Lexus NX
เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ติดตั้งมาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับจุดยึด
เบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มีมาให้ทั้งฝั่ง ซ้าย – ขวา
แต่น่าเสียดายว่า เบาะหลังของ Civic เวอร์ชันไทย ไม่สามารถแบ่งพับเพื่อ
เปิดทะลุไปยังห้องเก็บสัมภาระด้านหลังได้เลย!
ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เปิดได้จาก 3 ช่องทาง คือ สวิตช์บน
กุญแจรีโมทคอนโทรล สวิตช์กดปุ่มไฟฟ้า ติดตั้งที่ช่องใส่ขวดน้ำบริเวณ
ด้านล่างข้างแผงประตูฝั่งคนขับ และสวิตช์ขนาดเล็ก เหนือกรอบใส่แผ่น
ป้ายทะเบียนหลัง ใช้ระบบกลอนแบบไฟฟ้า
ด้านหลังของฝาท้ายทุกรุ่นจะบุวัสดุซับเสียงมาให้ เพื่อความเรียบร้อย
แต่ รุ่น 1.8 ลิตร กลับไม่มี “พลาสติกครอบเสาค้ำฝาท้าย” มาให้เหมือน
รุ่น 1.5 Turbo เลย เป็นอีกส่วนหนึ่งของการลดต้นทุนแอบแฝงในเรื่อง
ที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ และลูกค้าไม่ได้ใส่ใจเท่าใดนัก
ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังรถ มีพื้นที่ขนาด 520 ลิตร มีขนาดใหญ่พอให้
คนร่างใหญ่อย่างผม ลงไปนอนคุดคู้ได้สบายๆ เสียดายว่า เบาะหลังนั้น
ไม่สามารถพับได้ ไม่อย่างนั้นคงจะเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังได้
มากกว่านี้อีกแน่ๆ ทุกรุ่น มีไฟส่องสว่างในห้องเก็บของ ซ่อนอยู่ใต้แผง
เหล็ก บริเวณตรงกลาง รหว่าง ลำโพงคู่หลังทั้ง 2 ชิ้น
ยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมาดู จะพบหลุมใส่ยางอะไหล่ แบบบาง มาพร้อม
เครื่องมือประจำรถ ทั้งแม่แรง ประแจ ฯลฯ ในถาดโฟม เก็บมาเรียบร้อย
แผงหน้าปัด ออกแบบใหม่ทั้งหมด คราวนี้ Honda ตัดสินใจ เลิกใช้
ชุดมาตรวัดแบบแยก 2 ชั้น ซึ่งติดตั้งมาตั้งแต่ Civic FD 2005 และ
Civic FB 2012 กลับมาวางตำแหน่งชุดมาตรวัด ไว้บริเวณด้านหลัง
พวงมาลัย เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาตามเดิมกันเสียที
ดีแล้วครับ ชุดมาตรวัดแบบเดิม ดูเหมือนจะมองความเร็วง่าย แต่ถ้า
ต้องมองมาตรวัดรอบด้วยพร้อมกัน มันดูยากนะ งานออกแบบอาจดู
ล้ำสมัย แต่ถ้าใช้งานจริงแล้ว ลูกค้าพากันบ่นอุบ นั่นก็ถึงเวลาที่ทีม
ฝ่ายออกแบบต้องทบทวนดูเสียที ยินดีที่ Honda ตัดสินใจฟังเสียง
เรียกร้องของลูกค้าในประเด็นนี้อย่างจริงจัง แม้จะต้องรอกันมานาน
ถึง 10 ปี ก็ตาม (-_-‘)
งานออกแบบ ดูเหมือนกับการเอา ช่องแอร์ของ Jazz และ City ใหม่
มาขยายขนาดให้ดูเรียวยาว และใหญ่โตขึ้น ดูจากแค็ตตาล็อก อาจ
ไม่รู้สึกว่ามันสวย แต่พอเห็นของจริง จะพบการเล่นระดับของแผง
Trim ต่างๆ จนดูสวยงามน่าใช้เอาเรื่องเลยละ
มองขึ้นไปด้านบน ทุกรุ่นให้เพดานหลังคาบุด้วยผ้าโทนสีเบจ รวมทั้ง
แผงบังแดด บุนุ่ม มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิด มาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง
แต่ไม่มีไฟแต่งหน้าแถมมาให้เลย
ไฟอ่านแผนที่ มีความแตกต่างกัน รุ่น 1.8 ลิตร ทุกคัน จะใช้ชุดสวิตช์
แบบสหกรณ์ เหมือนเช่น Honda รุ่นอื่นๆ ทั้ง City , Jazz และ Civic
FB รุ่นเดิม ขณะที่รุ่น 1.5 Turbo จะเพิ่ม รูไฟเล็กๆ สร้างบรรยากาศใน
ยามค่ำคืน หรือที่พวกเราทีมเว็บ ชอบเรียกว่า “ไฟไดหมึก” มาให้
กระจกมองหลัง ในรุ่น 1.8 ลิตร จะเป็นแบบตัดแสงด้วยก้านโยกเล็กๆ
ตามมาตรฐานทั่วไป แต่ในรุ่น 1.5 Turbo จะเพิ่มกระจกมองหลังแบบ
ตัดแสงอัตโนมัติมาให้
จากฝั่งขวา มาทางซ้าย ทุกรุ่น ติดตั้งสวิตช์กระจกมองข้างพับและปรับได้ด้วย
ไฟฟ้า รวมทั้ง กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน คู่หน้าเป็นแบบ กดลงหรือยก
สวิตช์เพื่อเลื่อนขึ้นอัตโนมัติ แบบ One-Touch
ทุกรุ่น ติดเครื่องยนต์ ด้วยสวิตช์ Push Start ติดตั้งอยู่ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ
ถัดลงไป เป็นสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว VSA กับ
Traction Control
ก้านสวิตช์บนพวงมาลัยฝั่งขวา ยังคงเป็นที่อยู่อาศัย ของสวิตช์เปิดไฟหน้า
ไฟหรี่ ไฟเลี้ยว และไฟสูง แต่รุ่น 1.8 EL กับ 1.5 Turbo และ Turbo RS จะ
เพิ่มฟังก์ชัน เปิด – ปิด แบบ อัตโนมัติ (ไฟหน้า Auto) แถมมาให้ด้วย
ก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ควบคุมการทำงานของใบปัดน้ำฝน และที่ฉีดน้ำล้างกระจก
บังลมหน้า ในรุ่น 1.5 Turbo และ Turbo RS จะเพิ่มระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ
ทำงานร่วมกับ Rain Sensor มาให้เป็นพิเศษ
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ออกแบบใหม่ โดยยังอิงกับงาน Design เดิม จาก
Civic FB เส้นผ่าศูนย์กลาง มีขนาดกำลังดี Grip บริเวณมือจับมีขนาดเหมาะสม
ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง ทั้ง สูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic)
รุ่น 1.8 E จะหุ้มด้วยยูรีเทนธรรมดา แต่ 1.8 EL และ 1.5 Turbo ทุกรุ่น จะหุ้มด้วย
หนัง มีเย็บตะเข็บเข้ารูป ก้านพวงมาลัยที่โอบอุ้มแป้นแตร ลงมาถึงด้านล่างเป็น
สีเงิน แต่ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย – ขวา จะเป็นสีดำเงา ขลิบด้วยแถบสีเงินนิดๆ
สวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง มีมาให้ครบตั้งแต่รุ่นถูกสุด 1.8 E ไว้แค่เปลี่ยนเพลง
เพิ่ม-ลดระดับเสียง เปลี่ยนโหมด จากวิทยุ เป็นไฟล์เพลง สวิตช์จึงมีหน้าตาที่
เรียบง่าย ธรรมดาๆ
ทว่า รุ่น 1.8 EL ขึ้นไป และ 1.5 Turbo ทุกรุ่นย่อย จะอัพเกรด สวิตช์ ให้แตกต่าง
จากเดิม สวิตช์เพิ่มลดระดับเสียง (Volume) แยกออกมาด้านข้างขวา สามารถ
ปรับเลือกระดับเสียงที่ต้องการ ได้ทั้งการกดแบบเดิมๆ หรือใช้นิ้วลากแล้วเลื่อน
ขึ้น – ลง ได้ทันที บางทีนิ้วผมแอบไปโดนปุ่มนี้เข้า เครื่องเสียงก็ดังขึ้นโดยเรา
ไม่ได้ตั้งใจ ก็มี
ฐานคันเกียร์ ติดตั้งในตำแหน่งสูงกว่ารถรุ่นเดิมๆเยอะ ตกแต่งล้อมทุกสวิตช์ด้วย
แผง Trim สีเงิน ทุกรุ่นติดตั้งสวิตช์ ECON หรือที่เราเรียกว่า สวิตช์ “ใบกัญชา”
เอาไว้ขับขี่ในโหมด รักษ์โลก คันเร่งจะเปิดช้าลงนิดหน่อย เครื่องปรับอากาศจะ
ลดการทำงานลงมาอยู่ในระดับเหมาะสม
ส่วนแป้นคันเร่ง และเบรกนั้น หากเป็นรุ่น 1.5 Turbo RS จะเป็นแบบอลูมิเนียม
ขณะที่รุ่นอื่น จะเป็นแบบปกติทั่วไป
อีกลูกเล่นใหม่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ ทุกรุ่นจะติดตั้ง เบรกมือแบบสวิตช์ไฟฟ้า หรือ
Electric Parking Brake พร้อม ระบบ Auto Brake Hold การทำงาน ง่ายๆครับ
เหยียบเบรกแล้วใช้นิ้วกระดิกยกสวิตช์ขึ้นมา เบรกมือที่ดุมล้อหลังก็ทำงานแล้ว
ถ้าจะปลดเบรกมือ ให้เหยียบเบรกและ กดปุ่มเบรกมือลง
แต่ในโหมด Auto Hold ถ้า คุณกำลังขับขี่อยู่บนสภาพการจราจรติดขัด คลานๆ
ลองกดปุ่มให้ระบบนี้ทำงาน ทันทีที่คุณเหยียบเบรกเพื่อชะลอหยุดรถจนจมมิด
พอถอนเท้าจากแป้นเบรก ระบบเบรกมือจะทำงานให้คุณเอง ถ้าต้องการปลด
ระบบออกมา ก็แค่ แตะคันเร่งเบาๆ เพื่อออกรถ ขับต่อไปได้เลยทันที!
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ระบบ Auto Hold จะยอมปลดเบรกจอดให้
เฉพาะเมื่อคุณคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วเท่านั้น
ชุดมาตรวัด และหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้ง
แบบเฉลี่ย และแบบ Real Time รวมทั้งระยะทางที่น้ำมันในถังจะเหลือพอ
ให้รถยนต์ยังแล่นต่อไปได้ ติดตั้งมาให้ครบทุกรุ่น แต่อาจมีรายละเอียดซึ่ง
แตกต่างกันตามแต่ละรุ่นย่อย
รุ่น 1.8 E แสดงผลด้วยชุดมาตรวัดแบบมาตรฐาน ตัวเลขตรงกลางเป็นแบบ
Digital พร้อมตัวเลขมาตรวัดความเร็ว Graphic แบบพื้นฐาน แต่ในรุ่น EL
รวมทั้ง 1.5 Turbo และ RS จะยกระดับขึ้นมาเป็น จอภาพสี TFT แสดงได้
ทั้งข้อมูลตัวรถด้านต่างๆ รวมทั้ง เชื่อมต่อกับหน้าจอชุดเครื่องเสียง แสดง
การทำงานของวิทยุ และโทรศัพท์
แต่ในรุ่น 1.5 Turbo รวมทั้ง RS จะเปลี่ยนโทนสีเรืองแสงบนมาตรวัด จาก
สีฟ้าอ่อน เป็นสีแดง และเพิ่มการแสดงข้อมูลการทำงานของมาตรวัดบูสต์
Turbocharger เพิ่มมาให้เป็นพิเศษ
การกดปุ่มติดเครื่องยนต์แต่ละครั้ง คุณจะเห็น ภาพ Graphic ที่น่าตื่นตา
มากที่สุดเท่าที่ผมเคยพบมาจากรถยนต์ประกอบในประเทศราคาไม่เกิน
3 ล้านบาท ฉวัดเฉวียนชวนเวียนหัว แต่เป็นลูกเล่นที่หลายๆคนชื่นชอบ
หน้าจอจะแบ่งออกเป็น 3 ช่อง ตรงกลาง รวมมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ซึ่ง
อ่านข้อมูลได้ยากพอประมาณ และมาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข ซึ่งยัง
ขึ้นไม่ไวพอ เมื่อทำงานแบบ Real Time เป็นแบบนี้เช่นเดียวกับ Civic
ทั้งรุ่น FD และ FB คือจะแสดงตัวเลขทีละ 3-5 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าคุณ
เหยียบคันเร่งจนสุด ในขณะที่มาตรวัดรถยุโรปยุคใหม่ๆ สามารถแสดง
ตัวเลขได้เร็วตามความจริงเป๊ะๆ ได้แล้ว
ฝั่งขวามือ เป็นสัญญาณไฟเตือน พร้อมมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง
ส่วนฝั่งซ้าย มีมาตรวัดอุณหภูมิระบบหล่อเย็น (และหม้อน้ำ) มาให้ครบ
มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ อยู่ด้านบนฝั่งซ้าย ของชุดมาตรวัดรอบฯ รวมทั้ง
ยังมี มาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถ มาตรวัดระยะทาง Odo Meter และ
Trip Meter A / B รวมทั้ง นาฬิกา ฝังมาให้ ด้านล่างของชุดมาตรวัด
จากฝั่งซ้าย เข้ามาทางขวา Trim การตกแต่งแผงหน้าปัดนั้น หากเป็นรุ่น
1.8 ลิตร จะใช้ Trim สีเงินอะลูมีเนียม แบบด้าน สวยงามร่วมสมัย แต่ในรุ่น
1.5 Turbo และ Turbo RS จะเปลี่ยนมาเป็นใช้ Trim สีเงิน Aluminium
ที่ดูแล้วน่าจะเงาและแอบสะท้อนแสงแดดมากไปหน่อยในบางกรณี
ช่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ค่อนข้างใหญ่โตกว่าเดิม เก็บคู่มือและ
เอกสารประจำรถต่างๆแล้ว ยังพอมีพื้นที่เหลือ สำหรับข้าวของอีกเล็กน้อย
แต่ยังไม่มีไฟส่องข้างในตามเดิม
สวิตช์ไฟฉุกเฉิน ยังคงติดตั้งอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างช่องแอร์กลาง
นั่นคือตำแหน่งที่เหมาะสมมากสำหรับการใช้งานในยามฉุกเฉิน กระนั้น
Honda เขาก็ติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินเปิดอัตโนมัติ ESS เมื่อคุณต้อง
เหยียบเบรกกระทันหัน มาให้แล้ว ทุกรุ่นย่อย ทุกคัน
ช่องวางของพร้อมถาดยางขนาดเล็ก ใต้แผงควบคุมกลาง เอาไว้วางของ
หรือโทรศัพท์มือถือขนาดเล็ก พร้อมช่องทะลุไปยังช่องวางของด้านล่าง
ซึ่งเราจะพูดถึงในย่อหน้าข้างล่างอีกที
เครื่องปรับอากาศของทุกรุ่น เป็นแบบอัตโนมัติ โดยรุ่น 1.5 Turbo และ
Turbo RS จะเป็นแบบ ปรับอุณหภูมิแยกฝั่งซ้าย – ขวา ได้ แสดงผลบน
จอมอนิเตอร์
ข้อเสียของการแสดงผลบนจอมอนิเตอร์ เฉพาะ Civic รุ่นนี้ก็คือ ในกรณี
ที่หน้าจอเกิดอาการรวนขึ้นมา หากเป็นรุ่น 1.8 ลิตร สวิตช์พัดลมจะอยู่
ฝั่งซ้าย สวิตช์ปรับอุณหภูมิอยู่ฝั่งขวา คุณยังสามารถเปิดพัดลมแอร์ให้
ทำงานได้ แต่ถ้าในกรณีที่หน้าจอของรุ่น 1.5 Turbo รวน สวิตช์พัดลม
ในตำแหน่งซ้าย จะถูกแทนที่ด้วยสวิตช์ปรับอุณหภูมิสำหรับผู้โดยสาร
ด้านซ้าย ทำให้การเปิดเครื่องปรับอากาศ อาจทำได้ไม่สะดวก จนกว่า
จะแก้ไขปัญหาจอมอนิเตอร์กระพริบๆ หรือเสียหายชั่วคราว
เครื่องเสียง ของทุกรุ่น เป็น วิทยุ AM/FM พร้อมช่องเสียบ USB และ
รองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ผ่าน Bluetooth
เพียงแต่ว่า รุ่น 1.8 E จะมีหน้าจอแบบบ้านๆ ขนาด 5 นิ้ว มีช่องเสียบ
USB มาให้แค่ 1 ตำแหน่ง มี 4 ลำโพง เชื่อมต่อกับสวิตช์ควบคุมเสียง
บนพวงมาลัย
แต่ในรุ่น 1.8 EL และ 1.5 Turbo กับ Turbo RS หน้าจอจะถูกอัพเกรด
เป็นจอมอนิเตอร์สี 7 นิ้ว แบบ Advanced Touch Screen ซึ่งยังแอบมี
อาการเอ๋อๆ มาให้พบอยู่ และยังทำงานไม่ถึงกับไวมากนัก แต่ก็ดีกว่า
ชุดเครื่องเสียง ใน Civic FB มาก เพิ่มระบบรองรับการสั่งการด้วย SIRI
รองรับ Apple Car Play เพิ่มช่องเสียบ USB เป็น 2 ตำแหน่ง และเพิ่ม
ช่องเสียบ HDMI รวมทั้งเพิ่มลำโพงเป็น 8 ชิ้น
หน้าจอมอนิเตอร์ ยังแสดงผลทั้งเครื่องปรับอากาศ ข้อมูลการทำงาน
ของตัวรถ ข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง การปรับตั้งค่าของระบบต่างๆ
ในตัวรถ หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ แสดงภาพจากกล้องมองหลัง ปรับ
มุมมองได้ถึง 3 ระดับ (มีทุกรุ่น ยกเว้น 1.8 E) และระบบ Honda Lane
Watch สำหรับรุ่น 1.5 Turbo RS เท่านั้น
คุณภาพเสียง ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ อาจเป็นรอง Ford Focus 1.5
EcoBoost อยู่ แต่ถ้าฟังเพลงที่ใช้เครื่องสายจำนวนน้อยชิ้น คุณภาพเสียง
ถือว่า ดีเกินคาด นอกนั้น เพลงที่อุดมไปด้วยสารพัดเครื่องดนตรี เสียงยัง
ไม่ถึงขั้นดีเด่นนัก
ข้อดีอย่างหนึ่งของหน้าจอมอนิเตอร์ชุดใหม่ ก็คือ ถ้าต้องการปรับแสงสว่าง
สามารถกด “ติ่งสวิตช์” ที่ยื่นขึ้นมา ด้านบนฝั่งขวาของจอ ได้ทันที
สิ่งที่ผมคิดว่าควรปรับปรุงใน Civic ใหม่ นั่นคือ การออกแบบแผงคอนโซลกลาง
ให้มีลักษณะ 2 ชั้น แบบเดียวกับ Honda HR-V ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ แล้ว น่าจะได้
รับแรงบันดาลใจ มาจาก Volvo รุ่นหลังปี 2010 ขึ้นมาชัดๆ
จริงอยู่ว่า การออกแบบให้แผงคันเกียร์ อยู่ในตำแหน่งใกล้มือคนขับมากที่สุด
ทำให้ต้องยกฐานคันเกียร์ขึ้นตามมาด้วย ส่งผลให้เกิดพื้นที่ว่าง ใต้คันเกียร์
(เพราะสมัยนี้ คันเกียร์ รถยนต์ทั่วไป เป็นแบบ Shift-by-wire หรือทำหน้าที่
เป็นแค่สวิตช์ไฟฟ้า สั่งไปที่สมองกลของชุดเกียร์ กันหมดแล้ว ไม่ต้องมี่กลไก
ใดๆอีกต่อไป) จนต้องออกแบบให้มีช่องวางของด้านล่าง ให้มีขนาดใหญ่พอ
สำหรับวางกล้องถ่ายรูปได้สบายๆ
แต่สิ่งที่น่าตำหนิ คือการติดตั้ง ปลั๊กไฟฟ้า 12V ช่องเสียบ HDMI และช่อง
เสียบ USB เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ ไว้ในตำแหน่งที่เห็นนี้ด้วยเนี่ยสิ!!
การใช้งาน ยากลำบากมากๆ และคุณอาจต้องจอดรถ เปิดประตูลงมา แล้ว
ต้องก้มๆ มุดๆ ลงไปเสียบเชื่อมสายสัญญาณตามต้องการ ซึ่งไม่สะดวกเลย
อย่างรุนแรง!
ยังดีที่ Honda แอบติดตั้งช่องเสียบ USB แบบจ่ายไฟ 10A มาให้ อีก 1 ตำแหน่ง
ซ่อนอยู่ใน กล่องคอนโซลด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ของทุกรุ่นย่อย ซึ่ง
ได้รับการออกแบบให้ใช้งานได้อเนกประสงค์มากขึ้นกว่า Honda หลายๆรุ่น
ฝาปิดกล่องเก็บของ สามารถเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่วางแขน
ของผู้ขับขี่ให้มากขึ้นได้ด้วย และช่วยปิดการใช้งานช่องวางแก้วไปโดยปริยาย
1 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 2 ตำแหน่ง ขนาดของกล่องเก็บของ ก็พอจะวาง กล่อง
CD ได้ 7-8 กล่อง และที่พิเศษกว่าใครก็คือ ช่องวางแก้ว ยังสามารถย้ายขึ้นมา
ซ้อนกันจนเหลือ 1 ตำแหน่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่ในกล่องเก็บของได้อีกด้วย!
ทำไมไม่เอางานออกแบบอย่างนี้ ไปใส่ ใน City กับ Jazz บ้างว้าาาาาา
การออกแบบเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ให้ลดการลาดชันลง ตั้งชันกว่าเดิม
คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกจุด ที่ทำให้ทัศนวิสัยด้านหน้า โปร่งตาขึ้นกว่า
รุ่นเดิมอย่างชัดเจน พื้นที่กระจกหน้า ถึงจะลาดชัน แต่กลับไม่รู้สึกว่า มอง
ลำบาก หรือมีเสาอะไรมาบดบังแต่อย่างใดทั้งสิ้น
การที่ Honda เลิกทำเสาคู่หน้าให้ลาดลงไปเยอะๆ แล้วเปลี่ยนมาทำ
เสาให้ตั้งชันมากขึ้น เล็กน้อย ทำให้ไม่ต้องใช้กระจกหูช้าง อย่างใน
Civic FD และ FB อีกต่อไป นั่นช่วยเพิ่มทัศนวิสัยด้านหน้าให้ดีขึ้นมาก!
ลดการบดบังยานพาหนะและสิ่งของต่างๆได้เยอะเลยทีเดียว
กระจกมองข้าง เพิ่มความกว้างออกไปจากเดิมอีกนิดนึง มองเห็นภาพ
ยานพาหนะที่แล่นตามมาได้ชัดเจนและกว้างขึ้นจากเดิม
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย บางเท่ากับฝั่งขวานั่นละครับ
(เออ นั่นสิ ถ้ามันหนาบางต่างกัน นี่สิเรื่องแปลก!) ลดการบดบัง
ขณะกำลังจะเลี้ยวกลับบนถนนที่มีเสาตอม่อ บนเกาะกลาง ได้
เยอะมากกกกกกกกก จนแทบจะลุกขึ้นยืนปรบมือให้ว่า ในที่สุด
Honda Civic ก็กลับมามองเห็นภาพจากตำแหน่งคนขับได้โล่ง
โปร่งเหมือนชาวบ้านเขาเสียที!
กระจกมองข้างฝั่งซ้าย มีขนาดใหญ่กว่ารุ่นเดิมนิดนึง แต่ก็มองเห็น
ยานพาหนะที่แล่นตามมาได้ชัดเจน ต่อให้ปรับกระจกเพื่อให้เห็น
ตัวถังรถน้อยที่สุด กรอบด้านในกรอบพลาสติก ก็ยังไม่สะท้อนเข้า
มายังขอบกระจกอย่างที่คิด
เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar มีขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมีกระจก Opera มาช่วย
เพิ่มการมองเห็นแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มากนัก ดังนั้น ขณะจะเปลี่ยนเลนไป
ทางซ้าย หรือเบี่ยงเข้าช่องทางคู่ขนานทางซ้าย รวมทั้งถอยหลังเข้าจอด
อาจต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นกว่ารถยนต์ทั่วไปสักหน่อย เพราะพื้นที่
กระจกบังลมหลัง ค่อนข้างตีบ ตามสไตล์รถยนต์หลังคาลาดเท
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
เครื่องยนต์ ของ Civic เวอร์ชันไทย จะยังคงมีให้เลือก 2 ระดับความแรง
โดยรุ่นมาตรฐาน ทั้ง 1.8 E และ 1.8 EL (รุ่นที่คาดว่าน่าจะขายดี) ยังคง
ยืนหยัดกับขุมพลัง”บล็อก”ดั้งเดิม ที่หลายคนคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ Civic
FD รุ่นปี 2005 แต่มีการปรับปรุงรายละเอียดชิ้นส่วนภายในไปตามกาล
นั่นคือเครื่องยนต์รหัส R18Z1 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี.
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 87.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.6 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC
กำลังสูงสุด 141 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.7 กก.-ม.
ที่ 4,300 รอบ/นาที ตามเดิม แต่เปลี่ยนมาพ่วงกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT แทนที่ เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
ลูกเก่า ปรับจูนให้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุดได้ถึงระดับ แก็สโซฮอลล์ E85
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 147 กรัม / กิโลเมตร
ส่วนรุ่นแรงสุดนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะ Honda เลือก
ถอดเครื่องยนต์ R20A เดิมทิ้ง แล้วแทนที่ด้วยขุมพลังใหม่ล่าสุด L15B7
ที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ขุมพลังตระกูล L15 เดิม บล็อก 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 1,496 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร กำลังอัด
10.6 : 1 พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VTEC (แบบ Dual VTC แปรผันโดยหมุน
แท่งแคมชาฟท์ ทั้งฝั่งไอดีและฝั่งไอเสีย) กับระบบอัดอากาศ Turbocharger
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Honda ในบ้านเรา ที่ยอมติดตั้งระบบ
อัดอากาศ Turbocharger มาให้กับรถยนต์ประกอบในประเทศไทย เสียที!
เครื่องยนต์ L15B7 นี้ มีความพิเศษ อยู่ที่การนำเทคโนโลยี ลดขนาดความจุ
ของกระบอกสูบ (Downsizing) มาใช้ในการพัฒนา โดยออกแบบให้ เสื้อสูบ
และฝาสูบ ทำจากอลูมิเนียม
จุดเด่นของขุมพลังบล็อกใหม่นี้คือการติดตั้ง ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสู่ห้อง
เผาไหม้ (หัวฉีด Direct Injection) เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในกระบอกสูบ
การออกแบบท่อไอดีแบบตรง ติดตั้งไว้ด้านหลังตัวเครื่อง ส่วนท่อร่วมไอเสีย
ติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าตัวเครื่อง มีการออกแบบช่องทางเดินน้ำไปหล่อเลี้ยงเพื่อ
ช่วยลดความร้อนอีกด้วย
ส่วนระบบอัดอากาศ เป็น Turbocharger แบบ Single Scroll รุ่น TD03 ของ
Mitsubihi Heavy Industry (MHI) แรงดัน Boost ของเวอร์ชันอเมริกาเหนือ
อยู่ที่ 1.15 บาร์ (16.5 psi) แต่ เวอร์ชันไทย ลดลงเหลือ 1 บาร์ เพื่อให้เหมาะสม
กับคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนช่องระบายไอเสียส่วนเกิน (Wastegate)
เป็นแบบควบคุมด้วยไฟฟ้า เพื่อนำพลังงานส่วนเกิน กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมี
ประสิมธิภาพ ลดอาการ Turbo Lag หรือ การตอบสนองหลังจากเหยียบคันเร่ง
ช้า ให้น้อยลงไปได้พอสมควร
Honda เรียกระบบเครื่องยนต์นี้ ทั้งในญี่ปุ่น และในบ้านเราว่า “VTEC TURBO”
แต่ในสหรัฐอเมริกา จะไม่มีคำว่า VTEC TURBO นี้บนฝาครอบวาล์ว นั่นอาจเป็น
เพราะว่ามีองศาเพลาลูกเบี้ยวระดับเดียวเหมือนพวกรถทั่วไป
ดังนั้น ในเมืองไทย ให้มองว่า VTEC TURBO นี้ เป็นระบบแปรผันองศาแท่งเพลา
ลูกเบี้ยว บวกกับเทอร์โบ 2 อย่างแล้วกันครับ ไม่ใช่ระบบ DOHC VTEC แบบพวก
ขุมพลัง B16A ใน Civic ตัวแรงรุ่นเก่าๆ ที่มีลูกเบี้ยวองศาสูงสำหรับรอบสูง และมัน
ก็ไม่ใช่ SOHC VTEC แบบที่มีลูกเบี้ยวองศาเตี้ย รอบต่ำวาล์วไอดีตัวนึงเปิดแบบ
หรี่ๆ อย่างเครื่องยนต์ D17A ใน Civic Dimension (ปี 2000)
กำลังสูงสุด แรงสะใจถึง 173 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
220 นิวตันเมตร (22.41 กก.-ม.) 1,700 – 5,500 รอบ/นาที แต่ปล่อยก๊าซ
คาร์บอนไดอ็อกไซด์ ต่ำลงมากเพียง 132 กรัม/กิโลเมตร ผ่านมาตรฐานไอเสีย
Euro IV กระนั้น ยังคงรองรับน้ำมันแก็สโซฮอลล์ แค่ระดับ E20
Civic ใหม่ ยังคงยืนหยัดกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า โดยเวอร์ชันไทย จะได้
ใช้เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ครบทุกรุ่นย่อย แต่น่าเสียดายว่ากลับ
ไม่มีเกียร์ธรรมดามาให้เลือก เหมือนอย่างในเวอร์ชันอเมริกาเหนือและจีน
เพียงแต่ว่า เกียร์ CVT ของ Civic ใหม่ ทั้ง 2 เครื่องยนต์ เป็นคนละลูกกัน!
ไม่เหมือนกันไปเสียทั้งหมด
รุ่น 1.8 ลิตร ทุกรุ่นย่อย ทุกคัน จะใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT ที่ Honda เรียกว่า
“Medium Car Class CVT” ซึ่งถูกนำมาใช้กับรถยนต์นั่งขนาดกลาง โดย
เข้ามารับหน้าที่แทนเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะลูกเดิม ไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์
หลังพวงมาลัย (Paddle Shift) มาให้ และไม่มีการล็อคอัตราทดเป็นจังหวะ
มีให้เลือกแค่เกียร์ P – R – N – D , D-S (Sport) และ L (Low)
อัตราทดเกียร์ D อยู่ที่ 2.526 – 0.408
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง อยู่ที่ 2.706-1.493
อัตราทดเฟืองท้าย 4.992
ส่วนรุ่น 1.5 ลิตร Turb0 จะถูกประกบด้วย เกียร์อัตโนมัติ CVT ที่วิศวกรของ
Honda เรียกว่า “Large Car Class CVT” ซึ่งถูกปรับปรุงให้สามารถทนต่อ
แรงบิดได้สูงขึ้น มีความทนทานมากขึ้น ในรุ่น RS จะติดตั้งแป้นเปลี่ยนกียร์
หลังพวงมาลัย (Paddle Shift) สามารถกดเล่นเกียร์ได้ทันที หรือเข้าเกียร์
ไว้ที่ตำแหน่ง S แล้วค่อยเล่นก็ได้ (โดยรอบเครื่องยนต์ จะลากขึ้นไปได้สุด
Red-Line แล้วแช่ไว้ให้สักแป๊บเดียว ก่อนจะตัดเปลี่ยนเกียร์ลงมาที่ระดับ
5,000 รอบ/นาที เพื่อไล่รอบเครื่องยนต์ไต่ขึ้นไปอีกครั้ง)
หรือถ้าอยากขับเร็วทันใจ แต่ไม่อยากเล่นเกียร์เอง ก็แค่เข้าเกียร์ S ไว้เฉยๆ
แต่ไม่ต้องเล่นกับแป้นเปลี่ยนเกียร์ รอบเครื่องยนต์ จะถูกดีดขึ้นมาจากปกติ
ประมาณ 1,000 รอบ/นาที เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอสร้างความสนุกให้ได้บ้าง
คันเกียร์ จะมีแค่ P – R – N – D และ S แต่ไม่มี L (Low) มาให้
อัตราทดเกียร์ D อยู่ที่ 2.645-0.405
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง อยู่ที่ 1.858-1.726
อัตราทดเฟืองท้าย 4.810
นั่นหมายความว่า Civic ใหม่ เวอร์ชันไทย จะมีเกียร์ CVT ให้เลือกใช้ 2 ลูก
แตกต่างกันตามกำลังเครื่องยนต์ นั่นเอง
สมรรถนะเป็นอย่างไรนั้น เราได้ทำการทดลองจับเวลา ช่วง กลางคืน เปิดแอร์
และ นั่ง 2 คน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บไซต์ Headlightmag
ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มีดังนี้
เห็นตัวเลขแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ ชัดเจนนะ? จะได้ไม่ต้องคุยทับบลัฟแหลก
ระหว่างคลับผู้ใช้รถยนต์แต่ละยี่ห้อ กันเสียที!
รุ่น 1.5 Turbo RS ทำตัวเลขออกมาได้ แรงเป็นอันดับ 3 ในตลาด (อันดับ 2 หาก
มองกันเฉพาะแบรนด์ยี่ห้อ) เป็นรองเพียงแค่ Nissan Sylphy Turbo กับน้องสาว
Nissan Pulsar Turbo เท่านั้น โดยตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ไล่กวด
ตามมาติดๆ ห่างกันแค่ 0.4 – 0.5 วินาที เท่านั้น ขณะที่ตัวเลขในช่วงเร่งแซงหรือ
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังห่างจาก Sylphy Turbo อยู่ 1 วินาที โดยประมาณ
ตามมาด้วย Ford Focus 1.5 ECoBoost Turbo ที่ทำตัวเลขออกมาด้อยกว่ารุ่น
2.0 GDI ก่อน Minorchange แค่ 0.04 วินาที แต่ช่วงเร่งแซงนั้น ยังไงๆ ก็ต้อง
ยอมให้กับบรรดา รถยนต์ที่ใช้เกียร์ CVT เขาไปเถิด เพราะส่วนหนึ่งที่ตัวเลขดี
ขนาดนี้ เกียร์สายพานที่หลายคนเคยคิดไปเองว่า “มันไม่แรงหรอก” หนะ ช่วย
เอาไว้เยอะ
ส่วนรุ่น 1.8 ลิตร นั้น เมื่อเปลี่ยนมาพ่วงเกียร์ CVT ก็ทำให้อัตราเร่งออกมาดีขึ้น
กว่ารุ่น FB เดิม ตามคาด อย่างไรก็ตาม แชมป์ในกลุ่ม เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร แบบ
ไร้ระบบอัดอากาศ ยังคงต้องปล่อยให้ Toyota Corlla Altis 1.8 V Navi แซง
ขึ้นนำไปยืนบนแท่นอันดับ 1 ตามความคาดหมาย แต่ถ้านับรวม ขุมพลัง 1.8 ลิตร
แบบมีระบบอัดอากาศเข้าไปด้วยแล้ว Civic 1.8 EL จะยังต้องหลีกทางให้กับ
MG 6 1.8 Turbo Minorchange ที่ทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่ากันเล็กน้อย (ซึ่ง
อันที่จริงแล้ว ควรจะไปเทียบกับ Civic 1.5 Turbo RS มากกว่า แต่ช่วยไม่ได้
เพราะยังไงๆ MG6 Minorchange ก็แพ้ให้ Civic 1.5 Turbo RS อยู่ดี นอกนั้น
Civic 1.8 ลิตร ก็แซงชาวบ้านชาวช่องคันอื่นๆเขามาได้หมดละครับ
ส่วนความเร็วสูงสุดบนมาตรวัดนั้น Lock ด้วยวิธีตัดการจ่ายน้ำมันตามปกติ ตาม
สไตล์ Honda การไต่ความเร็วขึ้นไปจนถึง Top Speed ของรุ่น 1.5 Turbo RS
ทำได้กระฉับกระเฉงกว่าที่คาด ดึงแบบไหลมาเทมา ต่อเนื่องเรื่อยๆ
ขณะที่รุ่น 1.8 EL การไต่ความเร็วขึ้นไป ก็ทำได้เรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่
ด้วยบุคลิกเครื่องยนต์ R18Z1 ที่คล้ายคลึงกับ Civic FB 1.8 ลิตร แม้พ่วงด้วย
เกียร์ CVT ซึ่งทำให้กะฉับกระเฉงขึ้นมากว่าเดิมนิดหน่อยนั้น ก็ยังคงแรงได้
ไม่เท่ากับรุ่น 1.5 Turbo RS อยู่ดี กระนั้น ถือว่า เพียงพอแล้วสำหรับคนทั่วไป
ที่ไม่ได้บ้าพลัง ไม่ได้ต้องการความแรงมากมายอะไรทั้งสิ้น
หลายคนอาจงุนงงและสงสัยว่า ทำไมตัวเลขของรุ่น 1.8 EL ถึง
ทำได้ดีกว่า 1.5 Turbo RS
คำตอบหนะมีครับ ถ้าลองพิจารณาตัวเลขค่าความเพี้ยนของมาตรวัดเมื่อเทียบ
วัดกับ GPS ดู จะพบว่า ในขณะที่ รุ่น 1.5 Turbo RS ทำความเร็วบนมาตรวัดได้
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง GPS จะได้ 96.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง (เพี้ยน 3.5 – 4 %)
แต่ในรุ่น 1.8 EL นั้น ด้วยความเร็วบนมาตรวัดเท่ากัน แต่เมื่อวัดด้วย GPS กลับ
ได้ตัวเลขที่ด้อยกว่าคือ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง (เพี้ยน 5 – 5.5 %) ค่าความเพี้ยน
ของมาตรวัดนี้ เกิดขึ้นได้จากขนาดของล้อและยางหรือปัจจัยอื่นๆ
ดังนั้น ความเร็ว Top Speed ของรุ่น 1.5 Turbo RS มันก็พอๆกันกับ รุ่น 1.8 EL
นั่นละครับ ดังนั้น เฉพาะในกรณีนี้ อย่าไปซีเรียสมากนะครับ เดี๋ยวผมร่วงเอา
แบบผมเนี่ย!
ย้ำกันเหมือนเช่นเคยนะครับ เราไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็ว
สูงสุด เช่นที่เราทำให้คุณผู้อ่านดูนี้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร เราทำ
ให้ดูกัน ด้วยเหตุผลของการให้ความรู้ เพื่อการศึกษา ไม่ได้กดแช่กันยาวหรือ
มุดกันจนเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทาง เราให้ความสำคัญ และระมัดระวังกับ
เรื่องนี้มากๆ เราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิตมาทำตัวเลขแบบนี้กันเอาเอง
ดังนั้น อย่าทำตามอย่างเป็นอันขาด เพราะถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงชีวิต
ของคุณเอง และเพื่อนร่วมทาง เราจะไม่รับผิดชอบในความปลอดภัยของคุณ
แต่อย่างใดทั้งสิ้น!
ในการขับขี่จริง อัตราเร่งของรุ่น 1.5 Turbo RS นั้น เมื่อคุณกดคันเร่งจมมิดใน
ทันทีที่ออกตัว ด้วยนิสัยของเกียร์ CVT ที่จะลากรอบเครื่องยนต์ กวาดขึ้นไป
ค้างไว้ในรอบสูงๆตลอดเวลา (แม้จะถูกโปรแกรมสั่งทดพูเลย์ ให้ตัดลงมาจาก
5,900 – 6,000 รอบ/นาที หล่นลงเหลือ 5,000 รอบ/นาที ก่อนจะไล่ลากรอบ
เครื่องยนต์ขึ้นไปใหม่อีกครั้งก็ตาม) ทำให้ช่วยลดอาการรอรอบเครื่องยนต์ จน
แทบไม่เหลือให้เห็น ในช่วงรอบต้นๆ ได้ดี แต่ยังพอมีอาการ Slip ของ Torque
Converter ให้เห็นเล็กน้อย
จังหวะแรกที่ออกตัว คุณอาจยังไม่รู้สึกว่ามันแรง จนกระทั่งเข็มความเร็วไต่ขึ้นไป
พ้นระดับ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อถึงชวงที่ Turbo จัด Boost มาให้เต็มที่ คุณ
จะเริ่มสัมผัสได้ถึงความแรงจากพละกำลัง ที่ไหลมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงรอบ
กลางๆ และช่วงรอบปลายๆ แรงดึงไม่หยุดหย่อน ไหลมาเทมา มากเกินกว่าที่คิด
เทอร์โบขนาดเล็ก ทำให้ติด Boost ค่อนข้างเร็ว เวลากดคันเร่ง ถ้ากดไม่หนักมาก
อัตราเร่งจะมาไวทันใจใช้ได้ คันเร่งไม่ค่อยหน่วง แต่บางครั้ง เวลาคิกดาวน์หนักๆ
เครื่องยนต์กับเกียร์จะยังต้องอมพลังเอาไว้นิดหน่อยก่อนที่จะปลดปล่อยออกมา
คิดว่าคงเป็นโปรแกรมการทำงานของเวสต์เกตไฟฟ้าหรือตัวเครื่องที่จะลดอาการ
กระชากในการส่งกำลังลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกียร์ในระยะยาว
ออกจะแปลกใจเล็กน้อยเหมือนกันที่ Civic 1.5 Turbo RS มีแรงม้าและแรงบิด
น้อยสุดในกลุ่ม C-Segment เครื่องยนต์ Turbo แต่กลับทำความเร็วสูงสุด กับ
อัตราเร่ง ได้ดีเกินหน้าเกินตา Ford Focus 1.5 EcoBoost ชัดเจน
แต่เมื่อเทียบกับ Sylphy Turbo แล้ว สูสี ครับ การออกตัวช่วงแรก Civic 1.5
Turbo RS ทำได้ไวกว่า Sylphy Turbo นิดนึง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง 60 ลากยาว
จนถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดูเหมือนว่า Sylphy Turbo จะตามเอาคืนด้วย
แรงม้าที่สูงกว่า แต่หลังจาก 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป Civic จะกลับมา
ตีเสมอ จนทั้งคู่สามารถทำความเร็วสู่หลัก 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้เร็วใน
ระดับไม่แพ้กัน / ใกล้เคียงกัน
ถ้าคุณไม่เคยขับรถแรงมาก่อน คุณอาจจะมองว่า Civic 1.5 Turbo RS เนี่ย
มันแรงเอาเรื่องเลย แต่ถ้าคุณมีประสบการณ์กับรถยนต์สมรถนะสูงๆ มาแล้ว
คุณอาจจะมองว่า แรงดึงของ Civic 1.5 Turbo RS ก็ไม่ถึงกับแรงอะไรนัก
ภาพรวมแล้ว เป็นรถที่ขับสนุก แต่อยู่ในระดับสนุกสุดแสนเที่ยวแดนเนรมิต
หรือสวนสยามทะเลกรุงเทพ ยังไม่ถึงขั้นสนุกแบบยกโขยงตีตั๋วเครื่องบิน
ไปเที่ยวถึง Disney Land หรือ Universal Studio กระนั้น ก็แอบทำให้เรา
ประหลาดใจเล็กๆ ได้เหมือนกันว่า แรงม้าน้อยสุดในกลุ่ม แต่กลับเร่งขึ้นมา
ไล่บี้ Sylphy Turbo ได้แบบ หายใจรดต้นคอ ชนิดที่ว่า ถ้าคนขับ Nissan
เผลอนิดเดียว Civic Turbo ก็อาจแซงขึ้นหน้าไปได้ง่ายๆ
คันเร่งไฟฟ้า ในรุ่น 1.5 Turbo RS ตอบสนองได้ไวมาก บางทีก็มากเกินไป
ขณะขับขี่ในเมือง ไปตามสภาพการจราจรติดขัด ในโหมดปกติ ถ้าคุณเติม
น้ำหนักเท้าขวาลงบนคันเร่งมาก เท่ากับที่ใช้ในรถยนต์ปกติ รถจะพุ่งแบบ
ดีดตัวออกไปข้างหน้า มากไป จนทำให้คุณอาจต้องรีบแตะเบรก เพื่อชะลอ
ทางแก้เบื้องต้นก็คือ กดปุ่ม ECON Mode (โหมดใบกัญชา) เพื่อหน่วงให้
คันเร่งทำงานช้าลง ซึ่งจะช่วยทำให้รถออกตัวได้นุ่มนวลขึ้นนิดนึง
ภาพรวมแล้ว คันเร่งไฟฟ้า ค่อนข้างไว แต่ถ้าจะเลี้ยงความเร็วให้อยู่นิ่งๆ นั้น
ค่อนข้างยากอยู่ เหยียบเพียงครึ่งเดยว รถก็พุ่งปรู๊ดใช้ได้แล้ว ไม่ต้องมานั่ง
บี้คันเร่งเต็ม 100% แต่อย่างใด
การตอบสนองของเกียร์ CVT ค่อนข้างไว ถ้าคุณตบแป้น Paddle Shift เพื่อ
สั่งเปลี่ยนเกียร์ลงมารวดเดียว 2 หรือ 3 จังหวะ เกียร์จะเปลี่ยนให้ทันที แทบ
ไม่ต้องรอเวลาเลย และถ้าเหยียบคันเร่งลงไป ทันที แต่ไม่ถึงกับสุดคันเร่ง
เกียร์จะปรับตำแหน่งพูเลย์ ลงมาเป็นเกียร์ต่ำ ให้พร้อมลากรอบเครื่องยนต์
เรียกใช้แรงบิดที่มีอยู่ ออกมาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ถ้าคุณเหยียบคันเร่ง
จนจมมิด เกียร์ ก็ยังสั่งให้ไล่รอบขึ้นไปเหมือนเกียร์อัตโนมัติปกติ เฉกเช่น
เกียร์ CVT ของ Toyota Corolla Altis และ Nissan X-Trail ได้ด้วย
ยืนยันว่า เกียร์ CVT ของ Civic Turbo ตอบสนองได้ดี และฉลาดกว่าเกียร์
CVT ของ Sylphy Turbo
ส่วนรุ่น 1.8 ลิตร เกียร์ CVT นั้น ถ้าเปรียบเทียบกับ Civic FB 1.8 ลิตร ที่ใช้
เครื่อยนต์เดียวกัน จะเห็นความแตกต่างในการตอบสนองชัดเจนเลยว่า รุ่น
FC ใหม่ จะให้อัตราเร่งที่ไวกว่า เพียงแต่บุคลิกตั้งแต่ช่วงออกตัวนั้น หาก
ไม่นับความเปลี่ยนแปลงจากการไม่ตัดเปลี่ยนเกียร์ แล้วปล่อยให้คุณได้
ลากรอบเครื่องยนต์ขึ้นไปแช่ยาวๆ แล้วนั้น แรงดึงขณะออกตัว ไปจนถึง
ช่วงความเร็วเดินทาง แรงขึ้นต่างจากรุ่น Civic FB (5AT) นิดหน่อยเอง
อีกทั้งยังมีอาการ Slip ของ Torque Converter ในขณะออกตัวเช่นกัน
การตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้าในรุ่น 1.8 ลิตร ไวทันใจกำลังดี ไม่ชวน
ให้น่าเบื่อ เหมือนรถเก๋งคันเร่งไฟฟ้ารุ่นเก่าๆ ยิ่งถ้าลากเกียร์ลงมาที่ S
คันเร่งก็ยิ่งตอบสนองได้ไวขึ้นชัดเจน
การเก็บเสียง ในรุ่น 1.5 Turbo RS ทำได้ดีมาก! จนผิดหูผิดตา ไม่นึกว่า
Honda สามารถแก้ไขปัญหาการเก็บเสียงได้ดีถึงขนาดนี้เลยหรือ? ทั้งนี้
ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นผิวถนนด้วย หากเพิ่งปูด้วย ยาง Asphalt
(ยางมะตอย) ใหม่ๆ จนเรียบสนิท คุณจะสัมผัสความนุ่มเงียบต่อเนื่องได้
ยาวนานจนถึงความเร็วระดับ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลยทีเดียว แต่ถ้าเป็น
พื้นที่ปูด้วย ปูนซีเมนต์ธรรมดา ความเงียบในห้องโดยสาร จะเกิดขึ้นจนถึง
ระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ จากเสียงของยางรถ
ที่บดกับผิวถนน และเสียงเครื่องยนต์เวลาเหยียบคันเร่งจนสุด ถึงกระนั้น
ขณะเดินทาง เสียงจากห้องเครื่องยนต์ ดังเข้าห้องโดยสาร น้อยมากๆ
อย่างไรก็ตาม พอเป็นรุ่น 1.8 EL ทุกสิ่งกลับตรงกันข้าม Honda พาเรา
ย้อนกลับไปสู่เสียงรบกวนจากพื้นถนน ดังในระดับที่เราทุกคนคุุ้นเคยกัน
ใน Civic รุ่นก่อนๆ ตามเคย!
จริงอยู่ว่า เสียงลมจากยางขอบประตูหนะ พอๆกัน คือเงียบกำลังดี ไม่ถึง
ขั้นเงียบสนิท ลมไหลเล็ดรอดเข้ามาไม่น่ารำคาญมากเท่ารุ่นก่อนๆ ทว่า
เสียงจากพื้นถนน ดังขึ้นมาชัดเจนกว่า 1.5 Turbo RS มาก แค่ลองขับที่
ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางด่วน บริเวณทางราบบ่อนไก่ ซึ่ง
เพิ่งจะปูยางมะตอยไปใหม่ๆ และเรียบมากสุด ก็ยังได้ยินเสียงยางเข้ามา
ค่อนข้างดัง ในระดับไล่เลี่ยกับ Toyota Corolla Altis ใหม่ เลยทีเดียว
และเมื่อเทียบกับพี่น้องร่วมค่าย กลับกลายเป็นว่า HR-V 1.8 ลิตร ยังจะ
มีเสียงรบกวนในความเร็วระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เบากว่า Civic 1.8
ลิตร อยู่นิดนึง เสียด้วยซ้ำ!
สังเกตได้ว่า Honda น่าจะแอบลดต้นทุนด้วยการพ่นสารซับเสียงบางอย่าง
ที่น้อยกว่าตัว Turbo RS แถวๆพื้นรถลงไปค่อนข้างเยอะ หรือ อีกปัจจัยหนึ่ง
ก็คือ ยางรถยนต์ที่ใช้ต่างกัน
( คุณรู้หรือไม่ ?! ทั้ง 4 รุ่นย่อยของ Civic นั้น ใช้ไม่เหมือนกันสักรุ่น เริ่มจาก
1.8 E – Hankook Noble : 215/55 R16
1.8 EL – Dunlop Enasave : 215/55 R16
1.5 Turbo – Yokohama Decibel : 215/50 R17
1.5 Turbo RS – Bridgestone Turanza ER33 : 215/50 R17 )
จนทำให้ร่น 1.8 ลิตร มีเสียงจากยาง บดกับพื้นถนนดังเข้ามาได้เยอะกว่า
รุ่น 1.5 Turbo RS ชัดเจน ขนาดนี้
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ Dual Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
แบบมอเตอร์ไฟฟ้า DP-EPS (Electronic Power Steering) หมุนจากซ้ายสุด
ไปถึง ขวาสุด 2.22 รอบ อัตราทดของเฟืองพวงมาลัย 10.93 : 1 รัศมีวงเลี้ยว
อยู่ที่ 5.33 เมตร ทั้งรุ่น 1.8 ลิตร และ 1.5 Turbo RS เซ็ตพวงมาลัยมาได้แทบ
ไม่แตกต่างกัน
น้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ เบา แต่หนืดใกล้เคียงกันมากเมื่อเทียบกับ
Mazda CX-3 และ Mazda 2 แน่นอนว่า มันหนืดกว่า Nissan Sylphy Turbo
กับ Toyota Corolla Altis ชัดเจน
ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยนิ่งใช้ได้ On Center feeling ดี เมื่อหักเลี้ยวแล้ว
พวงมาลัยจะคืนตัวกลับมาเล็กน้อย ไม่ล็อกค้างไว้ในตำแหน่งเดิมที่เรากำลัง
กำลังเลี้ยวอยู่ จัดว่า เซ็ตมาให้ทำงานได้อย่าง เป็นธรรมชาติ ใกล้เคียงกับชุด
พวงมาลัยเพาเวอร์ที่ใช้กลไกแบบไฮโดรลิค ดั้งเดิม หน่วงมือกำลังดี
พวงมาลัยเซ็ตมา ค่อนข้างไว กำลังดี ไม่ไวเกินไป ไม่เนือยเกินไป ทำงานได้
“ตามสั่ง” คือ สั่งให้เลี้ยวแค่ไหน มันก็เลี้ยวให้แค่นั้น ไม่เลี้ยวน้อยเกินกว่าที่สั่ง
แต่แอบเลี้ยวมากเกินกว่าที่สั่งบ้าง ในขณะจอดหยุดนิ่ง แล้วหมุนพวงมาลัยมา
ครบ 1 รอบ รถจะเลี้ยวให้เยอะมาก จนเกือบชิดขอบทาง พอๆกับ Mazda 3 เลย!
แม้ว่า พวงมาลัยของ Mazda 3 และ Ford Focus จะตอบสนองได้อย่างเป็น
ธรรมชาติกว่านิดนึงก็ตามเถอะ แต่ก็ต้องถือว่า Civic รุ่นนี้ เซ็ตพวงมาลัยมา
ได้ดีที่สุด ในบรรดารถยนต์ Honda ประกอบในประเทศไทย รุ่นใหม่ๆ ช่วง
2014-2017 เลยทีเดียว! ดังนั้น ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรอีกแล้วนะครับ
ขอแบบนี้แหละ ดีแล้ว อย่าเปลี่ยนแปลงเด็ดขาด!
ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
ส่วนด้านหลัง เปลี่ยนมาใช้แบบ Multi-Link พร้อมเหล็กกันโคลง ถูกปรับ
เปลี่ยนบุคลิก ให้เน้นมาทางแนว นุ่มนวลมากขึ้น เอาใจลูกค้าชาวอเมริกัน
และทั่วโลกยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะรุ่น 1.8 ลิตร นี่แอบถึงกับย้วยด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ทีมวิศวกร Honda ได้ปรับแต่งให้ช่วงล่างของรุ่น 1.5 Turbo
และ 1.8 ลิตร แตกต่างกันนิดหน่อย โดยรุ่น 1.5 Turbo RS จะได้ ชุดสปริงทั้ง
ด้านหน้า และหลัง แข็งกว่ารุ่น 1.8 ลิตร รวมทั้งช็อกอัพคู่หลังที่แข็งกว่าชัดเจน
กระนั้น ช็อกอัพคู่หน้า ของทั้งรุ่น 1.5 Turbo และ 1.8 ลิตร ยังคงเหมือนกัน
ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ผ่านหลุมบ่อ ฝาท่อและเนินลูกระนาด ตามถนน
และตรอกซอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพฯ ช่วงล่าง ของทั้ง 2 รุ่น ถูกปรับเซ็ตมาให้
นุ่มกว่า Civic FB อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่า 1.5 Turbo RS จะเฟิร์มกว่านิดหน่อย
การดูดซับแรงสะเทือน ทำได้ดีเกินคาดคิด จนต้องถามให้แน่ใจว่า ตกลงแล้ว
นี่ผมกำลังขับ Civic หรือ Accord กันแน่??? เพราะอาการตึงตัง มันน้อยลงกว่า
Accord G8 เสียด้วยซ้ำ มันนุ่มแบบรถยนต์ C-Segment Compact ทั่วไป แต่
ใกล้เคียงและกระเดียดไปทาง Toyota Camry หรือ Nissan Teana
ในช่วงความเร็วเดินทาง และความเร็วสูง ช่วงล่างให้ความมั่นใจได้ดีขึ้นชัดเจน
เมื่อเทียบกับ Civic FD (2005) และ Civic FB (2012) เนื่องจากความกว้างของ
ช่วงล้อเพิ่มขึ้น ตัวรถเตี้ยลง จุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ทำให้คุณสามารถใช้ความเร็วสูงๆ
ได้นิ่ง และลดความเครียดในการควบคุมรถได้พอสมควร เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม
การทรงตัวในย่านความเร็วสูง ไม่เกิน 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง นิ่งและมั่นใจได้
มากขึ้นกว่าเดิมชัดเจน ในสภาพที่ไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้าง ตัวรถยังไม่มี
อาการวูบวาบใดๆให้หวาดเสียวเล่น แต่ถ้าเกิน 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจต้อง
เพิ่มสมาธิในการควบคุมพวงมาลัยมากขึ้นเล็กน้อย เป็นธรรมดา แต่ยังคงไว้ใจ
ได้จนถึง Top Speed 207 กิโลเมตร/ชั่วโมง
การเปลี่ยนเลนกระทันหันที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง พบว่า อาการบั้นท้าย
สะบัดลดลงไปอย่างมาก ทั้งจากการออกแบบโครงสร้างตัวถังให้มีความแน่นหนา
มากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมเชื่อว่า เราต้องยกคุณงามความดี เกือบทังหมดให้กับ
การทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ VSA ที่ทำงานได้ฉับไวยิ่งขึ้นมาก
อาการของตัวรถในขณะเข้าโค้ง ดีขึ้นกว่า Civic FB ชัดเจนมากๆ หน้ารถเซ็ตมาให้
ค่อนข้างไว แต่ท้ายรถจะค่อนข้างช้า กระนั้น บุคลิกเริ่มเข้าไปใกล้เคียงกับ Mazda 3
มากขึ้น ดีกว่าคู่แข่งทั้ง Nissan Sylphy Turbo และ Toyota Corolla Altis ESport
ขึ้นไปเกาะกลุ่มกับพวก C-Segment ช่วงล่างดีๆ ทั้ง Ford Focus, Mazda 3 แต่จะ
คล่องแคล่วกว่า Mitsubishi Lancer EX และ MG6 (คู่หลังนี้มาในสไตล์รถหนักๆ)
บนทางด่วน โค้งขวารูปเคียว เหนือย่านมักกะสัน ต่อด้วยโค้งซ้าย เชื่อมเข้าทางด่วน
ขั้นที่ 1 ตรงเพลินจิต ฝั่งตรงข้าม โรงแรม Eastin ผมพา Civic 1.5 Turbo RS เข้าโค้ง
ด้วยความเร็วบนมาตรวัด ประมาณ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้ง 2 โค้ง ซึ่งก็ถึงจุด Limit
ของตัวรถและยางติดรถกันแล้ว
ขณะเดียวกัน บนทางโค้งขวา , ซ้ายยาว และโค้งขวาต่อเนื่อง ขึ้นจากทางด่วนขั้นที่ 1
เชื่อมขึ้นไปถึงทางยกระดับบูรพาวิถี ผมพา Civic 1.5 Turbo RS เข้าไปด้วยความเร็ว
100, 112 และช่วงโค้งขวาขึ้นบูรพาวิถี ทำได้ 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อย่างสบายๆ
แต่ทั้งหมดนี้ก็ถึง Limit ที่ตัวรถและยางจะรับมือไหวแล้วเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้เพิ่มความระมัดระวัง ขณะเข้าโค้ง บนพื้นถนนที่มีลักษณะ
เป็นลอนคลื่น หรือ มีผิวขรุขระกลางโค้ง ตัวรถอาจเกิดอาการ Sway (แกว่ง พริ้วไหว)
ของบั้นท้าย ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของระบบกันสะเทือน ที่ต้องรับหน้าที่หลายอย่าง
ไปพร้อมๆกัน ทั้งพยายามเกาะโค้ง ไปพร้อมกับเคลื่อนตัวขึ้นลงไปตามหลุมบ่อ จนส่ง
อาการขึ้นมายังบั้นท้าย คุณจำเป็นต้องเกร็งข้อมือ จับล็อกตำแหน่งของพวงมาลัยให้
แน่น และนิ่ง เพื่อควบคุมรถให้แล่นผ่านโค้งไปได้ด้วยดี อาการดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นเยอะ
ในรุ่น 1.8 EL แต่พอมาเป็นรุ่น 1.5 Turbo RS อาการดังกล่าวจะลดน้อยลงชัดเจน
หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดตอนนี้ ช่วงล่างของ Civic 1.5 Turbo RS ดีขึ้น
กว่ารุ่นเดิมชัดเจน นุ่มขึ้น แต่ด้วย Packaging ของตัวรถ ทำให้ การทรงตัวภาพรวม
ดีขึ้น การเซ็ตพวงมาลัยกับช่วงล่างในลักษณะนี้ ช่วยให้ตัวรถ มีบุคลิกคล่องตัวใน
แบบที่รถยนต์ตัวถังยาว แต่มีน้ำหนักเบา ควรเป็นกัน
กระนั้น ยังมีข้อด้อยหลงเหลืออยู่ ตรงที่ การควบคุมอาการของตัวรถขณะเข้าโค้ง
บนพื้นถนนแบบลอนคลื่นนั้น ทั้งรุ่น 1.8 EL (ซึ่งจะออกอาการยวบยาบอย่างเด่นชัด)
และ 1.5 Turbo RS (ที่นิ่งและแน่นกว่า 1.8 EL นิดหน่อย แต่ตัวรถจะนิ่งกว่า) ก็ยัง
เป็นรอง Mazda 3 และ Ford Focus อย่างชัดเจน
ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงล่างของรุ่น 1.5 Turbo RS อาจจะเหมาะกับการใช้งานในชีวิต
ประจำวัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ต้องการซัดขึ้นไปในย่านความเร็วสูง ช่วงล่างน่าจะถูก
ปรับปรุงให้มีช็อกอัพที่แข็งขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่
มากยิ่งขึ้น ถ้าต้องเทียบกับ คู่แข่งในกลุ่ม C-Segment Compact Class + Turbo
ด้วยกันแล้ว แม้ว่า Civic จะเอาชนะ Sylphy Turbo ได้สบายๆ แต่ยังตกเป็นรอง
Focus 1.5 Turbo EcoBoost อยู่ดี
ระบบห้ามล้อของทุกรุ่น เหมือนกันหมด เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีรูระบาย
ความร้อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 282 มิลลิเมตร จานเบรกหลังเป็นแบบธรรมดา
เส้นผ่าศูนย์กลาง 262 มิลลิเมตร เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock
Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic
Brake Force Distributor) และระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง
VSA (Vehicle Stability Assist) ที่ติดตั้งมาให้ ครบทุกรุ่นย่อย! ตั้งแต่ตัวถูกสุด
อันที่จริง ถ้าเปรียบเทียบกับ Civic FB รุ่นเดิมแล้ว จะพบว่า ระบบเบรกของ Civic
FC ใหม่ ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ การเซ็ตน้ำหนักของแป้นเบรก
และการตอบสนองของแป้นเบรก ทำได้ดีขึ้นมาก ระยะเหยียบ ยาวปานกลาง การ
ถ่ายน้ำหนักมาทางด้านหน้าของตัวรถ ดีขึ้น หน่วงความเร็วดีขึ้น แม่นยำขึ้น เบรก
ได้ตามสั่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเบรกแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือจะเบรกให้ ABS ทำงาน
ก็แค่กดลึกๆ มันเป็นแป้นที่แปรผันแรงเบรกตามความลึกในการเหยียบอย่างแท้จริง
ในช่วงความเร็วต่ำ แป้นเบรกถูกปรับเซ็ตมาให้เหมาะกับการแตะเบรกเพื่อให้รถหยุด
ได้อย่างนุ่มนวล ในสภาพการจราจรติดขัด ระดับคลานกระดึ๊บๆ กระนั้น ก็ยังแอบต้อง
เหยียบลงไปประมาณ 20% ของระยะเหยียบ ระบบเบรกจึงจะเริ่มตอบสนองชัดเจน
ในช่วงที่ต้องหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง ถึงแม้จะให้ความมั่นใจได้ดี แต่ถ้า
ระบบเบรกเกิดร้อนจัดๆ ก็ยังแอบมีอาการเบรกสั่น ให้ได้พบเห็นอยู่นิดๆ และถ้ายัง
ยำแป้นเบรกลงไปอีกครั้ง อาการ Fade จะเริ่มปรากฎให้เห็นขึ้นมานิดๆ ตามประสา
ผ้าเบรกจากโรงงานของ Honda
ถ้าถามว่าเบรกของ Civic ใหม่ดีกว่าคู่แข่งหรือไม่? ผมยืนยันความเห็นเช่นเดียวกับ
พี่แพน ว่ายังเอาชนะ Mazda 3 ไม่ได้ทั้งในเรื่องการหน่วงความเร็ว และความสามารถ
ในการต้านอาการ Fade ของผ้าเบรก แต่ยืนยันได้ว่า มันดีขึ้นกว่า Civic FB เดิมอย่าง
ชัดเจน อีกทั้งยังตอบสนองในภาพรวมได้ดีกว่า Corolla Altis 1.8 ลิตร จริงๆ!
ด้านความปลอดภัย เชิงป้องกัน (Active Safety) Hi-light สำคัญจะอยู่ที่รุ่น 1.5
Turbo RS ซึ่งจะเป็นเพียงรุ่นย่อยเดียวที่ถูกติดตั้ง ระบบแสดงภาพมุมอับสายตา
ขณะเปลี่ยนเลน Honda LaneWatch มาให้เป็นพิเศษ
ความแตกต่างจากระบบแจ้งเตือนผู้ขับขี่ ผ่านทางกระจกมองข้าง BLIS ของ Volvo
หรือของ Mercedes-Benz อยู่ที่ ทั้ง 2 ยี่ห้อ จะใช้ไฟสัญญาณเตือนกระพริบที่กระจก
มองข้าง ทำงานร่วมกับ กล้องอินฟาเรด จับระยะห่างจากรถคันที่แล่นมาขนาบข้าง
ทั้ง 2 ฝั่ง
แต่ระบบของ Honda เล่นกันตรงๆ ซื่อๆ หนักกว่านั้น คือ พี่เค้าเล่นติดตั้งกล้องวีดีโอ
ขนาดเล็ก ไว้ที่ใต้กระจกมองข้างฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย กันไปเลย เพื่อแสดงภาพของ
รถที่แล่นมาขนาบข้าง ฝั่งซ้าย ขึ้นบนจอมอนิเตอร์ ณ แผงควบคุมกลาง
ถ้าต้องการแสดงภาพจากกล้องนี้ ทำได้ 2 วิธีคือ แค่เปิดไฟเลี้ยวซ้าย หรือ กดปุ่มบน
หัวก้านสวิชต์ไฟเลี้ยว อย่างที่เห็นในรูปข้างบนนี้
ตามปกติแล้วภาพที่เราเห็นกันในกระจกมองข้างฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย จะมีมุมมอง
อยู่ที่ 18-22 องศา โดยประมาณ แต่ระบบ LaneWatch จะช่วยเพิ่มการมองเห็นมุมอับ
ขณะกำลังจะเปลี่ยนเลน มากขึ้นอีก 4 เท่าตัว หรือ ราวๆ 80 องศา ภาพที่ปรากฎบน
จอมอนิเตอร์ จะมีเส้นกะระยะห่างจากตัวรถ เพื่อความปลอดภัย 3 ขีด หากมีรถมา
อยู่ใกล้ขีดสีแดง แสดงว่า อันตรายเกินกว่าจะเปลี่ยนเลนได้อีก
และไม่ว่าคุณจะเปิดหน้าจอระบบนำทาง Navigation System หรือชุดเครื่องเสียง
ค้างเอาไว้ หากเปิดไฟเลี้ยว จอมอนิเตอร์จะตัดภาพไปยังกล้องที่กระจกมองข้าง
ของระบบ LaneWatch ทันที จนกว่าจะปิดไฟเลี้ยว หรือกดปุ่มยกเลิกระบบออก
นอกจากนี้ คุณยังสั่งปิดการทำงานของระบบนี้ได้เอง หรือจะสั่งยกเลิกเส้นเตือน
3 เส้น และปรับแสงสว่างบนหน้าจอได้ตามต้องการอีกด้วย จาก Menu ควบคุม
ในหน้าจอมอนิเตอร์
นอกจากนี้ ถ้าต้องเหยียบเบรกกระทันหันขึ้นมา ESS (Emergency Stop Signal)
จะทำงานด้วยการสั่งเปิดไฟเลี้ยวทั้ง 2 ฝั่ง ให้กระพริบขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เมื่อ
ปลอดภัยแล้ว ผู้ขับขี่ สามารถกดปิดไฟฉุกเฉินได้ ที่สวิตช์ของมันตามปกติ
ส่วนระบบตัวช่วยความปลอดภัยมากมาย ทั้ง Honda Sensing ,CMBS , Forward
Collision Warning (FCW) , Lane Keeping Assist System (LKAS), Road &
Lane Departure Mitigation (RDM & LDM) และ Adaptive Cruise Control
(ACC) ที่มีในเวอร์ชันอเมริกาเหนือและยุโรป นั้น เสียใจด้วยครับ เวอร์ชันไทยนั้น
ยังไม่มีของเล่นเหล่านี้มาให้ลูกค้าบ้านเรา ในตอนนี้ คาดว่าคงต้องรอรุ่นปรับโฉม
Minorchange กันไปเลย ใครอยากได้ของเล่นเหล่านี้ คงต้องอุดหนุน Accord
ไปพลางๆก่อนละครับ
ด้านความปลอดภัยเชิงปกป้อง (Passive Safety) Honda ยังคงออกแบบโครงสร้าง
ตัวถังภายใต้แนวทาง G-CON เช่นเดิม เพียงแต่ว่า ด้วยเทคโนโลยีการจำลองรูปแบบ
การชน ผ่านระบบ Simulation ที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ ทีมวิศวกร ลดการทดสอบชนจริง
ในห้องทดลองลงไปได้ โดยที่ยังคงเพิ่มศักยภาพในการกระจายแรงปะทะจากการชน
ได้ดีขึ้น
ทุกรุ่น ติดตั้ง เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ทุกตำแหน่งเบาะนั่ง โดยคู่หน้า เป็นแบบ
ปรับระดับสูง – ต่ำได้ เฉพาะรุ่น 1.5 Turbo RS จะมีระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยให้กับ
ผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย เพิ่มมาให้ จากปกติ ที่มีเฉพาะสัญญาณเตือนสำหรับฝั่ง
คนขับ ซึ่งมีมาให้ทุกรุ่นย่อยอยู่แล้ว เช่นเดียวกับ จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน
ISOFIX ซึ่งติดตั้งมาให้ทุกคัน
ส่วนถุงลมนิรภัย ทุกรุ่นติดตั้งมาให้ 2 ตำแหน่ง คือฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย
เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่เฉพาะรุ่น 1.5 Turbo RS จะเพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 ชุด และ
ม่านถุงลมนิรภัยบนราวหลังคา มาให้อีก 2 ชุด รวมเป็น Airbag 6 ใบ ซึ่งในความจริงแล้ว
รุ่น 1.8 EL และ 1.5 Turbo ธรรมดา ก็ควรจะมีถุงลมด้านข้าง หรือม่านลมนิรภัยเพิ่มมาให้
รุ่นละอีกสัก 2 ลูก น่าจะดึงดูดใจลูกค้ากว่านี้
**********การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืงเชื้อเพลิงเฉลี่ย**********
นอกเหนือจากตัวเลขอัตราเร่งแล้ว หลายคนคงอยากรู้ว่า Civic ใหม่ จะประหยัด
น้ำมัน มากน้อยแค่ไหน ความสนใจของผู้คนในตอนนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นคือ
1. ขุมพลัง 1.5 ลิตร Downsizing Turbo นั้น จะประหยัดน้ำมันได้เท่าไหร่?
2. เครื่องยนต์ 1.8 ลิตรลูกเดิม R18A ที่ประจำการมาตั้งแต่ Civic FD 2005 จะทำ
ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน?
เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม โดย พา Civic ทั้ง 2 คันนี้ ไปเติมน้ำมัน
Techron เบนซิน 95 ณ สถานีบริการ Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนนพหลโยธิน
สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์
ในเมื่อ Civic ใหม่ เป็นรถยนต์นั่งพิกัด ไม่เกิน 2,000 ซีซี. ประกอบในไทย และมี
ค่าตัวต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งคุณผู้อ่าน ซีเรียสกับตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
มากกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันแบบเขย่ารถ จนกระทั่งน้ำมัน
เอ่อขึ้นมาถึงปากคอถัง อย่างที่เห็น ใช้เวลาขย่มราวๆ ครึ่งชั่วโมงต่อครั้ง จนเต็ม
หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถังขนาด 47 ลิตร (ไม่รวมคอถัง อีกราวๆ 10 ลิตร)
เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศ
ที่ระดับพัดลมแอร์ เบอร์ 1 อุณหภูมิ 24 – 25 องศาเซลเซียส
เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนน
พระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยัง
ปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบ
รักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดเครื่อง
ปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน
เราพยายามรักษาความเร็วคงที่ด้วยการเปิด Cruise Control ช่วย ซึ่งนั่นทำให้
เราได้พบอาการแปลกๆ คือ แทนที่รอบเครื่องยนต์จะถูกล็อกเอาไว้นิ่งๆ พร้อมกับ
ความเร็วของรถ แต่กลับกลายเป็นว่า สมองกลพยายามรักษาตัวเลขความเร็วที่ได้
สั่งล็อกเอาไว้เป็นหลัก ซึ่งทั้งรุ่น 1.5 Turbo RS และ 1.8 ลิตร EL อาจมีปัญหาแค่
ช่วงขึ้นเนิน ซึ่งต้องพักระบบ Cruise Control ไว้ชั่วคราว เพื่อเลี้ยงคันเร่งให้รอบ
เครื่องยนต์เท่าเดิม แม้ความเร็วจะลดลงไปอยู่แถวๆ 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนที่
ผมจะเหยียบคันเร่ง ไล่ความเร็วอย่างเบาๆ กลับขึ้นมาที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึง
เปิดให้ Cruise Control ทำงานตามเดิม
แต่ในรุ่น 1.5 Turbo RS ปัญหานี้ ทำให้รอบเครื่องยนต์แกว่งขึ้นๆ-ลงๆ ตลอดเวลา
จนกว่าสมองกลของเครื่องยนต์ (ECM) จะหาจุดลงตัวในการจ่ายน้ำมันได้เจอ รอบ
เครื่องยนต์จึงจะเริ่มอยู่นิ่งๆได้
เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อ
เติมน้ำมัน Techron เบนซิ 95 ณ หัวจ่ายเดิม
และเพื่อให้เหมือนกันกับการเติมครั้งแรก เรา ก็ต้องมาช่วยกันเขย่า โขยก ขย่มรถ
กันอีกจนกระทั่ง น้ำมันเต็มล้นเอ่อแน่นขึ้นมาถึงปากคอถังเช่นนี้ ตามมาตรฐานเดิม
สักขีพยานมาช่วยทดลอง และ เขย่า ก็ยังคงเป็น น้องเติ้ง กันตพงษ์ สมชนะ กับ
น้อง Pao Dominc จาก The Coup Team ของเรา และคุณผู้อ่านแฟนประจำอย่าง
คุณ Napat Channual
มาดูตัวเลขที่รุ่น 1.5 ลิตร Turbo RS ทำออกมา กันก่อน…
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.55 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.72 กิโลเมตร/ลิตร
เครื่องยนต์ Downsizing Turbo ของ Honda ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า
ทั้งแรงและประหยัดได้ตามอุดมคติของคนส่วนใหญ่ แถมตัวเลขที่ได้
ยังประหยัดกว่าทั้ง Nissan Sylphy Turbo และ Ford Focus 1.5 ลิตร
EcoBoost อีกด้วย
ส่วนรุ่น 1.8 ลิตร ได้ตัวเลขออกมา ดีขึ้นกว่าเดิม และแอบ
น่าประหลาดใจนิดหน่อย
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 93.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.57 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.76 กิโลเมตร/ลิตร
ถ้าเปรียบเทียบกับ Civic รุ่นเดิมที่ใช้เครื่องยนต์ R18A เหมือนกัน แต่
ถูกพัฒนามาตามแต่ละเจเนอเรชัน ท้่้งรุ่น FD 2005 – 2011 (ทำตัวเลข
ได้ 15.3ุ6 กิโลเมตร/ลิตร ในรุ่น 1.8 ลิตร และ 14.74 กิโลเมตร/ลิตร ใน
รุ่น 2.0 ลิตร) กับรุ่น FB 2012 – 2016 (16.00 กิโลเมตร/ลิตร ในรุ่น 1.8
ลิตร และ 15.70 กิโลเมตร/ลิตร ในรุ่น 2.0 ลิตร) ก็ถือว่า ทำตัวเลขดีขึ้น
ทั้งที่ตัวรถใหญ่ขึ้น จนเข้ามาอยู่ในระดับมาตรฐานของรถยนต์นั่งกลุ่ม
C-Segment 1,500 – 2,000 ซีซี (ค่าเฉลี่ย 15 – 17 กิโลเมตร/ลิตร)
แต่เมื่อต้องมาเทียบกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร Turbo ในรุ่น RS แล้ว กลับ
พบว่า กินน้ำมันเฉลี่ย ในการเดินทางไกล เท่าๆกันเลยแหะ!!
แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นไปได้ไกลแค่ไหน?
จากที่จับตัวเลขจากการใช้งานจริง บน Trip Meter A ของรุ่น 1.8 ลิตร
น้ำมัน 1 ถัง สามารถแล่นไปได้ 504.2 กิโลเมตร ไฟเตือนน้ำมันหมดจึง
สว่างขึ้น และนั่นหมายความว่า น้ำมันที่เหลือในถังยังสามารถแล่นต่อ
ได้อีก 50 กิโลเมตร โดยประมาณ รวมแล้ว น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ราวๆ
500 – 550 กิโลเมตร ส่วนรุ่น 1.5 Turbo RS ก็จะทำได้ใกล้เคียงกัน คือ
ประมาณ 500 กิโลเมตร / น้ำมัน 1 ถัง แต่ถ้าแล่นใช้งานในเมืองเป็นหลัก
และเจอรถติดโหดๆหนักๆ ตัวเลขอาจจะต่ำกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
********** ปัญหาประจำรุ่น **********
เพียงแค่ไม่กี่วัน หลังออกสู่ตลาดเมืองไทย ผู้บริโภคบางส่วนที่เพิ่งจะรับรถ
จากโชว์รูม ก็เริ่มประสบกับปัญหา Defect ตามจุดต่างๆของตัวรถกันบ้างแล้ว
น้องหมู Moo Cnoe สมาชิกของ The Coup Team เรา ได้รวบรวมปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นกับตัวรถ ไว้ให้เป็นข้อมูลเบื้องต้น เพราะเกือบทุกปัญหา ยังสามารถ
ซ่อมแซมและแก้ไขได้ ดังนี้
1. มอเตอร์พัดลมหม้อน้ำ เสีย ลูกค้าบ้างราย จะประสบอาการ Overheat หรือ
“รถตัวร้อน” กันตั้งแต่ยังไม่ทันจะผ่านพ้นสัปดาห์แรกหลังจากรับรถมาใช้งาน
สาเหตุก็คือ มอเตอร์พัดลมหม้อน้ำ เกิดอาการรวน หรือเสียหายไปดื้อๆ โดย
ไม่มีอาการบอกล่วงหน้ามากไปกว่า มาตรวัดอุณหภูมิความร้อนของหม้อน้ำ
ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงขีดแดง และมีไฟสัญญาณสีแดงรูปหม้อน้ำ
เตือนขึ้นมา จนต้องรีบนำรถเข้าจอดพักข้างทาง ก่อนส่งขึ้น รถยก Slide-on
ไปยังศูนย์บริการ
ทางแก้ไขที่ได้รับแจ้งจากทาง Honda คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ได้สั่งเปลี่ยนอะไหล่
ชิ้นนี้ให้ลูกค้าที่มีปัญหาเรียบร้อยแล้ว เราได้แต่หวังว่า มันจะไม่พังกันง่ายๆอีก
2. หน้าจอชุดมาตรวัด TFT ดับลงเอง โดยไม่ทราบสาเหตุ
ถ้าเจอปัญหานี้ ไม่ต้องตกใจครับ ส่งให้ศูนย์บริการ Honda ใกล้บ้านคุณ เข้า
ทำเรื่องเคลมเปลี่ยนชุดมาตรวัดใหม่ให้ Honda จะส่งไปเคลมต่ออีกทอดกับ
ทาง ซัพพลายเออร์ อีกที
3. หน้าจอ มอนิเตอร์ของ ชุดเครื่องเสียง กระพริบๆ ทุกๆ 3 วินาที และไม่สามารถ
ควบคุมการทำงานของเครื่องเสียงกับเครื่องปรับอากาศได้เลย อาการนี้ ทางแก้
ก็คือ ปล่อยมันทิ้งไว้ ประเดี๋ยว อาการจะหายไปเองในอีกหลายวันต่อมา แต่ถ้า
ไม่อยากจะทนอีกต่อไป ก็ส่งเข้าศูนย์บริการ ทำเรื่องเคลมเปลี่ยนหน้าจอใหม่
ไปเลย ก็สิ้นเรื่อง
4. แตะคันเร่งช่วงเดินเบา แล้วมีเสียงดังเหมือนปืนกลเด็กเล่น มีการวินิจฉัยว่า
อาจมาจาก Module หรือ Relay ของระบบ ABS ตัวอย่างอาการคลิกฟังได้ที่นี่
http://community.headlightmag.com/index.php?topic=51635.0
5. อาการปกติ ที่มักพบได้ใน Honda ประกอบเมืองไทยแทบทุกรุ่น ได้แก่ปัญหา
เล็กๆน้อยน่ารำคาญใจ และมักเกี่ยวข้องกับเรื่องเสียงรบกวนจากชิ้นส่วนในตัวรถ
เสียดสีกันจนเกิดเสียงรบกวน เช่น พลาสติกบุเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ดัง หรือ
มีเสียงดังมาจากด้านหลังของแผงหน้าปัด เป็นต้น ช่องว่าง ระหว่างชิ้นส่วนตัวถัง
ไม่ค่อยเท่ากัน (ไม่ได้ตามค่า Tolerance ที่กำหนด : ปัญหาประจำค่าย ผมเจอมา
ตั้งแต่สมัย Honda จ้างโรงงานบางชันเยเนอรัลแอสเซมบลี ประกอบรถในบ้านเรา
มาตั้งแต่ ปี 1986 แล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่หาย!)
6. เสียงจากการทำงานของระบบกันสะเทือน หรือเสียงแปลกๆจากใต้ท้องรถ มีทั้ง
เสียงจากช็อกอัพด้านหน้า หรือด้านหลัง เสียงดังป๊อกแป๊ก ฯลฯ ลองนำรถยนต์ไป
เข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการ ของ Honda “ที่ไว้ใจได้ และวินิจฉัยปัญหาเป็น” เพื่อ
ลองหาสาเหตุ และทำเรื่องเคลมเปลี่ยนชิ้นส่วนเจ้าปัญหานั่นทิ้งไปเสีย
7.RS สีไฟหน้าซ้ายขวาไม่เท่ากัน (Accord ใหม่ก็เป็น!) เข้าศูนย์บริการแล้วทำเรื่อง
เปลี่ยนเคลมได้ อีกเช่นเดียวกัน
8. ปัญหาจิปาถะ ที่อาจจะพบเจอได้ในบางคัน (ไม่เจอในคนส่วนใหญ่) จากทั้งการ
ประกอบของทางโรงงาน หรือจากทางซัพพลายเออร์ เช่น ไฟหน้ามีไอน้ำเข้าทั้งที่
เพิ่งรับรถจากโชว์รูมได้ไม่กี่วัน (เป็นปัญหาแทบทุกยี่ห้อ ทุกค่าย อาจมีหลุดมาบ้าง)
เคลมเปลี่ยนชุดไฟหน้าไปได้เลย
9. ปัญหาการสตาร์ทเครื่องมีเสียงครูด มีเสียงดังยาวประมาณ 0.5-1 วินาที อาการ
เกิดหลังจากจอดรถทิ้งไว้ประมาณ 1-3 ชม. (ไม่สามารถกำหนดต้นเหตุได้ชัดเจน
และไม่การันตีว่าจะเกิดเสียงทุกครั้ง) ปัญหานี้ Honda รับทราบเรื่องแล้ว และกำลัง
อยู่ในระหว่างการประสานงานกับทางญี่ปุ่น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ (มีเฉพาะ 1.5 Turbo
ทั้ง 2 รุ่นย่อย)
********** สรุป **********
C-Segment Sedan แนว Sport ที่คุ้มสุด แต่ก็แอบชวนหวั่นใจในระยะยาว
เมื่อครั้งที่ผมทำบทความ Full Review : Honda Civic FB ในปี 2012 เราให้
นิยามรถยนต์รุ่นนั้นไว้ว่า ดุจการเปลี่ยนแปลงจาก iPhone 4 เป็น iPhone 4S
ซึ่งต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนโฉมแบบพลิกความคาดหมายของ Civic FD ใน
ปี 2005 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับรถยนต์นั่งกลุ่ม C-Segment จนกระทั่ง
Civic FB รุ่นที่คลอดตามมาในปี 2012 เอง ก็ยังไม่อาจสร้างความฮือฮาได้
มากเท่าเดิม
ดังนั้น เมื่อ Honda ตัดสินใจเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ให้กับ Civic รุ่นที่ 10 คราวนี้
พวกเขาจึงเลือกจะปฏิวัติแนวคิดดั้งเดิมครั้งมโหฬาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ
ยุติบทบาทของพื้นตัวถัง (Platform) ดั้งเดิม เพื่อเปลี่ยนไปสร้างรถรุ่นใหม่ บน
พื้นตัวถังของรุ่นพี่อย่าง Accord แทน ซึ่ง ถือเป็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดด
อย่างแท้จริง อีกครั้งหนึ่ง ในรอบ 10 ปี ของ Civic หลังจากรุ่น FD
ข้อดีที่เราพบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คือ Civic ใหม่ มีขนาดใหญ่โตขึ้น
ในทุกสัดส่วน แต่กลับเตี้ยและแบนกว้างลง เพื่อเอาใจตลาดอเมริกาเหนือ อัน
เป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวคิดในการพัฒนารถยนต์ดั้งเดิม
Man Maximum , Machine Minimum ที่ Honda ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มสร้าง
Civic รุ่นแรก (ออกสู่ตลาดปี 1972) ทำให้พื้นที่ภายในห้องโดยสารยิ่งใหญโต
โอ่โถงกว่ารุ่นเดิมในทุกสัดส่วน ทั้งที่ตัวรถ ก็เตี้ยลงกว่าเดิมมากๆ แถมยังมี
เบาะนั่งที่ให้ความสบายในการเดินทาง พื้นที่วางขาของผู้โดยสารด้านหลัง
เยอะมากขนาดนั่งไขว่ห้างกระดิกตีนได้สบายๆ
ไม่เพียงเท่านั้น Honda ยังเอาใจใส่กับสมรรถนะการขับขี่จนดีขึ้นผิดหูผิดตา
ทั้งการตอบสนองของพวงมาลัย ระบบเบรก ส่วนช่วงล่าง แม้จะเซ็ตมาให้นุ่ม
และออกจะนิ่มไปหน่อยเสียด้วยซ้ำ แต่นั่นก็เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าชาวอเมริกัน
และชาวไทย ที่ชอบช่วงล่างแบบขับก็สบายได้ นั่งก็สบายดี
ที่สำคัญสุดคือ การตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เดิม แล้วนำขุมพลัง
ใหม่ล่าสุด 1.5 ลิตร VTEC TURBO ซึ่งให้กำลังเท่าเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร ใน
Accord แต่ประหยัดน้ำมัน พอๆกับ Honda City / Jazz กลายเป็นจุดขาย
สำคัญที่ดึงลูกค้าให้เข้าโชว์รูม ก่อนที่ลูกค้ากลุ่มใหญ่ๆ จะเปลี่ยนใจหันไป
เล่นแค่รุ่น 1.8 ลิตร (ที่ยกขุมพลังเดิม มาปรับปรุงต่อเนื่อง แล้วก็เปลี่ยนมา
ใช้เกียร์ CVT) ก็พอ
ดูจากสเป็คแล้ว Civic ใหม่ มันช่างคุ้มกับค่าตัวที่ต้องจ่ายออกไปอยู่ไม่เบา
อย่างไรก็ตาม ข้อที่ควรปรับปรุงของ Civic รุ่นนี้ นอกเหนือจากทาง Honda
จำเป็นต้องไล่ตามล้างตามเช็ดปัญหาประจำรุ่น ที่ผมและน้อง Moo Cnoe
แห่ง The Coup Team ของพวกเรา ไปรวบรวมมาจากบรรดา Website ของ
Fanclub Civic FC รุ่นนี้ หลายๆแห่งแล้ว
ยังอาจต้องปรับปรุงทั้งเรื่อง อุปกรณ์ความปลอดภัยประจำรุ่น ที่ควรใส่มาให้
สมราคามากกว่านี้ การปรับปรุงงานออกแบบด้านหน้าของรถ ให้ดูมีโหงวเฮ้ง
ราศีจับมากกว่าทุกวันนี้
ไม่เพียงเท่านั้น คุณภาพของการประกอบ ไปจนถึง ความใส่ใจของ โชว์รูม
และศูนย์บริการ (ดีลเลอร์) ในการเป็นหน้าด่านสำคัญ ที่จะต้องเตรียมพร้อม
รับมือลูกค้าผู้หวาดวิตก ให้คลายความกังวลใจ และกลับมามั่นใจในคุณภาพ
ของตัวรถอีกครั้งให้ได้อย่างมืออาชีพ ไม่ใช่แค่เพียงปัดสวะให้พ้นตัวไปวันๆ
เหมือนที่หลายๆศูนย์ฯ ทำกันอยู่
ประเด็นเรื่องบริการหลังการขายของ Honda นั้น ผมส่งสัญญาณเตือนมานาน
พักใหญ่แล้ว แม้จะพอเข้าใจได้ว่า ยิ่งมีรถขายออกไปได้เยอะขึ้น โอกาสที่จะ
เกิดปัญหาเข้ามาให้เราได้รับรู้ มันก็เยอะขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วง
มากกว่าหนะ อยู่ที่ “เมื่อเกิดปัญหาแล้ว จะทำให้ลูกค้ากลับมาพึงพอใจได้
อย่างไร?” ต่างหาก!
ยิ่งกล้ายอมรับกับลูกค้า และเร่งหาทางแก้ปัญหาให้ชัดเจน มีแนวทางให้
ลูกค้าได้รับรู้ชัดเจน ถึงแม้นานเพียงไหน แต่ถ้าลูกค้ายังได้รับการอัพเดท
ว่า Honda กำลังประสานงานแก้ปัญหาให้ลูกค้าอยู่ แค่นี้ ลูกค้ายอมรอนะ!
ไม่ใช่เงียบเป็นเป่าสาก หรือปัดความรับผิดชอบไปให้ดีลเลอร์กันดื้อๆ แบบ
ที่มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆในโลกออนไลน์ช่วงหลายปีมานี้
นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ Honda จำเป็นต้องแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน ก่อนที่ทุกอย่าง
จะสายเกินไป ในภายภาคหน้า…หาไม่แล้ว ชื่อเสียงด้านบริการหลังการขาย ที่
Honda เคยสั่งสมมา มันจะพังถล่มลงมาได้แน่ๆ สักวันหนึ่ง!
คู่แข่งในตลาด C-Segment ตอนนี้ ?
ถ้าคุณคิดจะซื้อรถเก๋ง Sedan ในกลุ่ม C-Segment 1.5 – 2.0 ลิตร ในตอนนี้
ถือว่าค่อนข้างโชคดี เพราะผู้ผลิตรายใหญ่แทบทุกค่าย ในบ้านเรา ต่างก็มี
รถยนต์พิกัดนี้ ออกมาให้คุณได้เลือกกันจนละลานตาไปหมด
ถ้ายังนึกไม่ออกว่า นอกเหนือจาก Civic แล้ว คุณควรจะเก็บรถยนต์รุ่นไหน
เอาไว้ในใจเพิ่มเติม การสรุปภาพรวมสั้นๆ ใน 1 ย่อหน้า ของรถยนต์แต่ละรุ่น
ข้างล่างนี้ น่าจะช่วยเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้คุณผู้อ่านได้ง่ายขึ้น
Chevrolet Cruze
จอดอยู่หัวเดียวกระเทียบลีบในบรรดาสายพันธ์ุรถเก๋งค่ายโบว์ไทในบ้านเรา
(เพราะเหลือผลิตอยู่แค่รุ่นเดียวแล้วในตอนนี้ และกำลังจะยุติการทำตลาด
ในไทยเร็ววันนี้) แม้ว่าจุดเด่นที่เคยมีอย่างเรื่องช่วงล่าง และการขับขี่ จะยัง
พอฟัดเหวี่ยงกับชาวบ้านเขาไหว แต่ปัญหาแสนกวนใจ กลับอยู่ที่ความ
ไม่เชื่อมั่นของลูกค้า ต่อคุณภาพของตัวรถ โดยเฉพาะเรื่องของเกียร์อัตโนมัติ
ที่แม้จะแก้ไขกันเรียบร้อยแล้วก็ตาม ด้านศูนย์บริการตอนนี้ ก็ยังพอเห็น
ความพยายามในการปรับปรุงอยู่ แม้จะเห็นความตั้งใจกว่าคู่แข่งร่วมสัญชาติ
อย่าง Ford แต่ยังไม่ดีนักเมื่อเทียบกับค่ายญี่ปุ่นอื่นๆ เขาเน้นจับเปลี่ยน
เป็นหลัก มากกว่าจะซ่อม นั่นทำให้เรามักพบ Cruze ใหม่ จอดอยู่ในโชว์รูม
และตามงานออกบูธตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อยู่จนถึงทุกวันนี้มากกว่า
จะเห็นวิ่งอยู่บนถนน
Ford Focus
เพิ่งออกรุ่นเครื่องยนต์ 1.5 EcoBoost Turbo มาหมาดๆ ตัวรถหนะ ขับขี่ดีที่สุด
ในกลุ่ม เกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch Power Shift (หาย) ถูกถอดยกทิ้งไปแล้ว
เปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แบบปกติแทนเสียที ช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ได้
นุ่มนวลและต่อเนื่อง ขึ้นอีกพะเรอเกวียน แต่คุณงามความดีของตัวรถที่มีทั้งหมด
ต้องมาบั่นทอนให้กับความน่าหวั่นใจในการซ่อมบำรุงของศูนย์บริการ Ford ซึ่ง
ขึ้นชื่อเสีย (ง) จนเลื่องระบือลือชาในสารพัดด้าน (ลบ)
Hyundai Elantra
แม้จะตกรุ่นในเมืองนอกไปแล้ว แต่เมืองไทยยังคงสั่งนำเข้ามาขายกันอยู่ต่อไป
จุดเด่นอยู่ที่พวงมาลัยปรับระดับน้ำหนักได้ถึง 3 ความหนืด การออกแบบภายนอก
ภายใน อัตราเร่ง และช่วงล่างที่ทำได้ดี ไม่แพ้รถญี่ปุ่นหลายรุ่น แต่คงเพราะความ
กังวลเรื่องศูนย์บริการ มีน้อย ทำให้หลายคน ตัดตัวเลือกนี้ออกไปตั้งแต่แรก
Mazda 3 Skyactiv
ครองใจหนุ่มสาวอินดี้ วัยทำงาน เด่นที่การบังคับควบคุมคล่องแคล่วและมั่นใจดี
เป็นอันดับต้นๆในกลุ่ม ประหยัดน้ำมันขึ้นกว่ารุ่นเก่าๆ แต่แรงกว่ากันเห็นๆ กระนั้น
เครื่องยนต์ยังไวต่อความสะอาดของน้ำมันเชื้อเพลิง แถมยังมีปัญหา ไฟ Check
engine ขึ้น เมื่อเติม E85 ด้วย ด้านศูนย์บริการ ถึงจะเยอะขึ้นมาก เป็นร้อยๆแห่ง
ทั่วประเทศแล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนาคุณภาพการบริการ และ การซ่อมบำรุงกันอีก
สักหน่อย ถ้าไม่รีบ รอดูรุ่น Minorchange พร้อมระบบ Torque Vectoring ซึ่ง
จะเปิดตัวในบ้านเรา ช่วง Motor Expo ปลายปีนี้ ก็ยังไม่เสียหาย
MG 6
ร่างใหญ่สุดในกลุ่ม เทคโนโลยีล้าหลังเขาไปไม่กี่ปี ทำให้อุ้ยอ้ายและแดกน้ำมัน
มากที่สุดในกลุ่ม แต่ช่วงล่างก็เริ่ดเป็นอันดับต้นๆในกลุ่ม (ถ้าไม่นับว่า เข้าโค้งแล้ว
หน้าดื้อไปหน่อย แถมตัวรถยังหนักอึ้งจนขาดความคล่องแคล่วไปหน่อย) ต่อให้
อัดสารพัดตัวช่วยการทรงตัวมาให้แน่นเอียด แต่เกียร์อัตโนมัติ คลัตช์คู่ 6 จังหวะ
ที่ถูกปรับปรุงใหม่ ยังทำงานไม่ดีพอเมื่อเทียบกับชาวบ้านเขา ด้านศูนย์บริการ ยัง
ไม่แพร่หลาย และพอมี Feedback ด้านลบให้ได้ยินมาบ้าง แม้จะยังไม่เยอะนัก
Nissan Sylphy
รุ่น 1.6 และ 1.8 ลิตร มาในแนวเรียบหรู ตามกำลังทรัพย์ คุ้มราคา แต่รุ่นที่น่าจะ
ถูกจับเปรียบเทียบกับ Civic 1.5 Turbo RS ที่สุด คือ Slyphy 1.6 DIG Turbo
ซึ่งทำอัตราเร่งช่วงอกตัวและช่วงกลาง แรงกว่า Civic เห็นๆ อีกจุดเด่นนั้นอยู่ที่
ห้องโดยสาร กว้าง ยาว นั่งสบายตัว แต่ยังไม่สบายหัวกบาล เพราะพนักศีรษะ
ดันกบาลเหลือเกิน ทว่า ค่าตัว 999,000 บาท ก็ชวนให้บรรดาพ่อบ้านเท้าหนัก
แอบหวั่นไหวจาก Civic บ้างเหมือนกัน แต่ต้องทำใจว่า แม้รุ่น 1.6 กับ 1.8 ลิตร
จะเด่นเด้งในเรื่องประหยัดน้ำมันเมื่อขับทางไกล แต่ร่น Turbo นั้น เอาน้ำมันมา
ประเคนเท่าไหร่ ก็คงไม่พอ แดกเอาเรื่อง! ยังไงๆ Civic ทุกรุ่นย่อย ก็ประหยัด
น้ำมันมากกว่าอยู่ดี ส่วนศูนย์บริการอยู่ในระดับปานกลาง เจอศูนย์ฯดี ก็โชคดีไป
เจอศูนย์ฯจัญไร ก็ทำใจ ร้องเรียนแล้วเปลี่ยนไปเข้าศูนย์ฯอื่นเอาแล้วกัน แต่ถ้า
รถของคุณมีปัญหาหนักๆ โอกาสจะเปลี่ยนรถคันใหม่ให้เลย มีสูงกว่าเจ้าอื่น
Toyota Corolla Altis
เจ้าตลาดอันดับ 1 ซึ่งยังคงยืนหยัดต่อสู้ฟัดเหวี่ยงกับคู่รักคู่แค้นอย่าง Civic มาได้
หลายสิบปี แม้จะไม่มีรุ่น Turbo มาให้เลือก และมีอุปกรณ์มาตรฐานให้มาด้อยกว่า
ชาวบ้านเขา แต่อัตราเร่ง และการขับขี่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมในภาพรวม ยังช่วยให้ Altis
ไม่หลุดไปจากความนิยมของลูกค้าชาวไทย ล่าสุดฝ่ายการตลาดเขาเริ่มออกหมัด
ตั้งการ์ดสู้กับ Honda บ้างแล้ว ด้วยการประเคนถุงลมนิรภัยคู่หน้า และระบบ VSC
+ TRC มาให้ครบตั้งแต่รุ่นถูกสุด กระนั้น งานออกแบบแผงหน้าปัด และการเซ็ตอัพ
ระบบเบรกก็ยังต้องปรับปรุงอยู่ดี อีกจุดแข็งสำคัญที่ยากเกินใครจะมาโค่นลงได้
นั่นคือ ปริมาณศูนย์บริการที่มีอยู่ 300 กว่าแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งมาตรฐานในการ
บริการหลังการขาย ที่ยังอยู่ในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรมรถยนต์บ้านเรา
แล้วถ้ายังรักและปักใจกับ Civic อย่างเหนียวแน่น รุ่นย่อยไหนถึงจะคุ้มสุด?
จากทางเลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อยของ Civic Generation 10 ข้างล่างนี้
1.8 E CVT…………………869,000 บาท
1.8 EL CVT……………….959,000 บาท
1.5 Turbo CVT………..1,099,000 บาท
1.5 Turbo RS CVT……1,199,000 บาท
เมื่อมานั่งกางตารางอุปกรณ์มาตรฐานประจำรถแล้ว หากคุณเป็นคนที่อยากได้ Civic
แต่งบประมาณไม่มากพอ การเริ่มต้นกับรุ่น 1.8 E (869,000 บาท) ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย
เพราะบรรดา อุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ก็ถูกติดตั้งมาให้จนครบครัน อาจแตกต่างกันบ้าง แค่
เพียงสิ่งของจุกจิก เช่นมือจับประตูจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ จอมอนิเตอร์ จะเหลือแค่ 5 นิ้ว
USB เหลือ 1 ช่อง และต้องทำใจกับวิทยุติดรถ ที่ให้คุณภาพเสียงแบบง๊องแง๊งๆพอฟัง
ข่าวต้นชั่วโมงจากกรมประชาสัมพันธ์ได้
ส่วนอุปกรณ์ที่ถูกตัดออกไปนั้น มีทั้งไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง ช่องเสียบ HDMI แป้น
Paddle Shift ระบบ Cruise Control เบาะนั่งปรับด้วยไฟฟ้า กระจกมองหลังปรับลด
แสงอัตโนมัติ สปอยเลอร์ ไฟตัดหมอกคู่หน้า พวงมาลัยหุ้มหนัง ถุงลมนิรภัยด้านข้าง
และม่านลมนิรภัย 4 ตำแหน่ง
โอ้ ตัดไปเยอะเหมือนกันแหะ…
รุ่นที่ผมมองว่า คุ้มค่ามากสุดคือ 1.8 EL (959,000 บาท) เหมาะกับทุกๆคน ที่ไม่ถึงขั้น
ต้องการความแรงในระดับ 1.5 ลิตร Turbo อุปกรณ์ที่ให้มา ก็เท่ารุ่น 1.5 Turbo ธรรมดา
(1,099,000 บาท)
แต่ถ้าคิดว่า รุ่น 1.8 EL ยังไม่แรงสะใจพอ คงต้องกระโดดขึ้นไปหารุ่น 1.5 Turbo RS
(1,199,000 บาท) ถึงจะแพงสุด แตะ 1.2 ล้านบาท แต่ข้าวของที่มีมาให้ น่าจะคุ้มค่า
สำหรับคุณในระยะยาวมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคิดคำนึงถึงวันที่คุณจะขายต่อ
รถคันนี้ในตลาดรถมือสอง ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะยอมรับได้ไหมว่า อุปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามา
ซึี่งทำให้คุณต้องจ่ายเงินเพิ่มจากรุ่น 1.5 Turbo ปกติ อีก 1 แสนบาท นั้น มันมีอยู่แค่
กระจังหน้าสีดำ และกันชนหน้าลายเฉพาะรุ่น สปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรก LED
แป้น Paddle Shift ฯลฯ อีกนิดหน่อย
ดูสเป็คทั้ง 4 รุ่นย่อยของ Civic อย่างละเอียด ที่น้องหมูได้ทำไว้ให้ช่วงเปิดตัว
ได้ที่ http://community.headlightmag.com/index.php?topic=49401.0
ในฐานะคนที่เติบโตมาทันเห็นพัฒนาการของ Civic มาตลอดตั้งแต่เด็ก ผมคง
ต้องขอบอกว่า นี่คือ Civic ที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด เท่าที่ Honda เคยทำมา
ตั้งแต่ ปี 1972
อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกเสียดาย ที่จะต้องเสริมด้วยประโยคที่ดู “ย้อนแย้ง” ว่า
“นี่คือ Civic ที่ยกระดับให้ดีขึ้น จนมันไม่ใช่ Civic แบบเดิมๆที่เราคุ้นเคยกันอีกต่อไป”
Civic แบบเดิม เป็นอย่างไรหนะหรือ?
Civic ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นรถคันแรกที่ผ่านกฎหมายมลพิษของ
สหรัฐอเมริกาอันเข้มงวดในปี 1973 ด้วยเครื่องยนต์ CVCC
Civic ที่เคยถูกคนอเมริกัน เรียกอย่างเอ็นดูว่า “ข้าวปั้น”
Civic ที่เคยเป็น รถเก๋งคันแรกของครอบครัวหลายๆคน ทั่วโลก รวมทั้งในไทย
Civic ที่่เคยเป็น รถเก๋งคันแรกของวัยรุ่น ปี 1 หัดแต่งรถซิ่งกับผองเพื่อนพี่น้อง
Civic ที่เคยเป็น รถหัดแข่งคันแรก ของคนที่หลงไหลในกลิ่นยางและน้ำมันเครื่อง
Civic ที่เคยเป็น รถเก๋งคันแรก หรือคันใหม่ ของสาวออฟฟิศสุดเปรี้ยว
Civic ที่เคยเป็น รถเก๋งคันแรก ที่ชายวัยทำงาน เก็บหอมรอมริบด้วยน้ำพักน้ำแรง
Civic ที่เคยเป็น รถเก๋งแบบเข้าใจง่าย บำรุงรักษาง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน
Civic ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ ทำยอดสั่งจอง 10,000 คัน ใน 3 วันที่เปิดตัว
Civic ที่เคยมีขนาดตัวถัง เล็ก กระทัดรัด สะดวกสำหรับการขับขี่ในเมืองใหญ่
Civic ที่เคยได้รับการออกแบบ โดยคิดถึง “ทุกๆคนบนโลก”
มาวันนี้ Civic ใหม่ ได้ลบภาพความทรงจำต่างๆ ที่เราทุกคนเคยมี ทิ้งไปเสียสิ้น
เสน่ห์และบุคลิกแบบเดิมๆ ที่น่าประทับใจ ได้เลือนหายไปหมดแล้ว มันกลายเป็น
รถคันใหม่ซึ่งอุดมไปด้วยความศิวิไลซ์ แบบที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ดันต้องมา
สวมป้ายชื่อ Civic เพื่อรับช่วงสานต่อความสำเร็จของ Civic ทั้ง 9 รุ่นก่อนหน้า
มันชักจะไม่สมควรที่รถคันนี้จะถูกแปะชื่อรุ่นว่า Civic บนฝาท้ายอีกต่อไป มันควร
จะมีชื่อรุ่นใหม่ เป็นของมันเอง เพราะถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เก่าๆที่ผ่านมา
Honda เคยทำรถยนต์หน้าตาคล้ายๆกันกับ Civic รุ่นนี้ ออกมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี
1992 มันมีชื่อว่า Honda Ascot Innova ซึ่งถูกส่งไปประกอบขายที่ยุโรป ในฐานะ
Honda Accord Euro Version รุ่นแรก หน้าตาและบุคลิกของรถคันนั้น มันช่าง
คล้ายคลึงกับ Civic ใหม่ในวันนี้อยู่มิใช่น้อย
สารภาพว่า แม้จะยินดีกับพัฒนาการก้าวกระโดดของ Civic ใหม่ แต่ผมก็รู้สึก
แอบเศร้าใจอยู่บ้าง ที่จำเป็นจะต้องยอมรับความจริง ว่า โลกได้หมุนผ่านไป
อย่างรวดเร็ว และไม่เหลือที่ว่างให้เราได้พักทบทวนภาพอดีตอันฝังใจ โลก
ในทุกวันนี้มันดำเนินไปอย่างรีบเร่ง เต็มไปด้วยการแข่งขัน แก่งแย่งชิงดี จน
ต้องลดต้นทุนกับทุกสิ่งทุกอย่าง คิดแต่เอาชนะในกาลปัจจุบัน เสียจนกระทั่ง
หลายๆคน ลืมเลือนความทรงจำอันดีงามในวัยเยาว์ของพวกตนไปเกือบหมด
ลืมแม้กระทั่ง รากเหง้าที่แท้จริง ซึ่งส่งผลให้ตนเติบโตมาถึงวันนี้
สำหรับชาวเอเชียเราแล้ว มันมีความเชื่อประการหนึ่งที่ว่า “เราไม่ควรหลงลืม
รากเหง้าชาติกำเนิด ที่ทำให้เราเกิดมา ใครที่หลงลืม จะด้วยความจงใจหรือ
เหตุอื่นใดก็ตาม ความสุข ความเจริญที่เห็น มันจะไม่จีรังยั่งยืน เพราะชีวิต
ของเราทุกคน ต่างโตมาได้ เพราะรากเหง้าของตนนั่นแล แม้รากเหง้านั้น
มันจะดีหรือแย่เพียงใดก็ตาม”
ผมได้แต่หวังว่า Honda จะไม่ลืมว่า ทุกวันนี้ ที่ตนเอง ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1
สลับกับเบอร์ 2 ในตลาดรถยนต์นั่งของเมืองไทยได้ทุกวันนี้ มันเป็นเพราะ
ใคร? สิ่งใด? อย่างไร? ทุกคนมีคำตอบอยู่แก่ใจ
งั้น มัวรออะไรกันอยู่ละ! มาช่วยกันทำให้ลูกค้า Honda กลับมามีความสุข
เหมือนเช่นที่เคยเป็น เมื่อยุค 1980 – 1990 กันเถอะ!
————————///————————-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในต่างประเทศ ทั้งหมด เป็นของ American Honda Motor.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
1 พฤศจิกายน 2016
Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 1st,2016
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!