“โมบิลิโอ…โอะ โอ้…” เฮ้ย ! นั่นมันเป็นเพลงที่ติดหูเป็นอย่างมาก ร้องออกมาปุ๊ป
ทุกคนน่าจะจำกันได้แน่นอนในช่วงปี 2014 กับการเปิดตัวรถยนต์ Mini MPV
ของ Honda อย่าง Mobilio ในบ้านเรา

ในปี 2016 นี้เอง บรรยากาศในงานเปิดตัวของ BR-V กลับเปลี่ยนออกไป
บทเพลงหนึ่งที่ยังคงตราตรึงอยู่ในใจผมมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าเพลงนี้
จะถูกปล่อยออกมาก่อนผมเกิดเสียอีก แต่ผมร้องได้ และ เชื่อว่าใครหลายๆคน
ที่กำลังอ่านบทความนี้ ก็น่าจะร้องตามได้ด้วยเช่นกัน

” เก็บตะวันที่เคยส่องฟ้า เก็บเอามาเก็บไว้ในใจ…… “

บทเพลง ” เก็บตะวัน ” ของ อิทธิ พลางกูร ในอัลบั้ม ” ให้มันแล้วไป ” ที่ออก
จำหน่ายในเดือน กันยายน ปี 2531 กับบริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น ยอดขายกว่า
700,00 ตลับ ในยุคนั้นยังเป็นเทปอยู่น่ะครับ วันเวลาผ่านไป เพลงนี้ก็ถูกนำมา
re-arrange ใหม่ในปี 2016 ให้เป็นเพลงประกอบผลิตภัณฑ์ Honda BR-V
ขับร้องโดยคุณคิงส์ เดอะวอยซ์ ซีซั่น 3 เหมือนอย่างที่ ฮอนด้า ประเทศไทย
เคยทำมาก่อนหน้าทั้ง Honda Accord ในปี 2013 กับบทเพลง All my desire
ขับร้องโดยคุณ Paul Ewing และคุณ กบ เสาวนิตย์ นวพันธ์ ต่อมาในปี 2014
ก็แนะนำ Honda City พร้อมกับโฆษณาผ่านมิวสิควีดีโอ ใช้เพลง มีเพียงเรา
จากวงพอส มาเรียบเรียง และ ขับร้องใหม่ โดยคุณบี พีระพัฒน์ หลายท่าน
อาจจะจำได้กับ บทบาทของ กัปตันมาวิน ในมิวสิควีดีโอ ชุดดังกล่าว

ที่ผมอ้างอิงถึงเพลงที่ใช้โปรโมทคู่กับรถทั้ง 2 คัน ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะ
ภาพรวมมันช่วยส่งเสริม ภาพลักษณ์ หรือ มีความเข้ากัน กับตัวรถได้เป็นอย่างดี
แต่ในคราวนี้ผมมองว่า เพลง เก็บตะวันที่นำมา re-arrange ใหม่ในครั้งนี้ มันช่าง
ขัดกับตัวตนของ BR-V เสียเหลือเกิน มันดูแข็งกร้าว ไปเสียหน่อย ต่างจาก
เวอร์ชั่น Original ที่ผมชื่นชอบ แม้ว่าการที่เอามาเรียบเรียงใหม่นี้มันก็เพราะอยู่นะ
แต่มันขัดกับตัวตนของรถไปนิด ไม่เชื่อก็ลองชม จากมิวสิควีดีโอ ด้านล่างนี้ดูสิครับ

ผ่านพ้นเรื่องเพลงไป ที่แม้ว่าทุกคนคงจะมีความผูกพัน กับเรื่องเพลงกันอยู่บ้าง
ไม่มากก็น้อย แต่อย่างไรก็ตาม มันมีสิ่งหนึ่งที่ถ้าเปรียบเทียบออกมาแล้ว
น่าจะเข้าใจกันโดยทั่วกันได้ง่ายกว่า แถมยังเป็นอะไรที่ผมออกจะชื่นชอบ
จนทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐานมามากขนาดนี้ !! จะเป็นอะไรไปได้ นอกเสียจาก
” อาหาร ”

เปิดหัวข้อชวนหิวมาแบบนี้ ” ยำรวมมิตร รสชาติไม่โดดเด่น แต่ก็กลมกล่อมใช้ได้ ”
มันหมายถึงอะไรกัน เกี่ยวข้องอะไรกับเจ้ารถคันนี้ พร้อมแล้วก็ค่อยๆเลื่อนลง
ไปหาคำตอบพร้อมๆกัน กับผมเลยครับ

BR-V เป็นผลงานล่าสุดอันเกิดจากความร่วมกันของทั้งทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่น กับ
ชาวไทย ในศูนย์วิจัยและพัฒนา Honda R&D Asia Pacific Co.,ltd. และ ทีม
ออกแบบกับวิศวกรจาก P.T.Honda Prospect Motors ประเทศ Indonesia

เหตุผลในการพัฒนา BR-V นั้น ไม่ยากครับ ก็เพราะว่าแนวโน้มความต้องการ
รถยนต์ประเภท B-Segment (Small) Crossover SUV จากลูกค้าทั่วโลก เพิ่ม
สูงขึ้นในหลายๆประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดกลุ่ม Southeast Asia หรือ
ASEAN นั้น เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่อุดหนุนรถยนต์อเนกประสงค์มากที่สุด คือ
ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งมักชอบเดินทางไปไหนมาไหนด้วยกันทั้งบ้าน จึงมักเรียกร้อง
ให้ผู้ผลิตทำรถยนต์แบบ 7 ที่นั่ง ออกมาขาย อีกทั้ง ด้วยสภาพภูมิประเทศ ซึ่ง
ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากลมมรสุมต่างๆอยู่บ่อยๆ ความต้องการรถยนต์ 7 ที่นั่ง
ยกสูง ขนาดเล็ก ในราคาที่คนทั่วไปซื้อหามาเป็นเจ้าของได้ง่าย จึงเพิ่มมากขึ้น
อย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

2016_05_Honda_BR_V_01

แม้ Honda จะมี Mobilio เปิดตัวออกสู่ตลาด ASEAN ออกขายตั้งแต่ปี 2014
อยู่แล้ว แต่ถ้าจะขยายฐานลูกค้า เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถที่อยากได้
SUV 7 ที่นั่งแบบ ยกสูง พร้อมๆกับการสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ โดยใช้ต้นทุนในการ
พัฒนาให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทางเลือกเดียวที่เหมาะสม คือการนำ Mobilio
จับมายกสูงขึ้นอีกนิด แล้วดัดแปลงตกแต่งรูปลักษณ์ภายนอกให้แตกต่างกัน
ออกไป นี่ละคือที่มาของ BR-V

Mr.Atsushi Arisaka Large Project Leader (LPL) หรือหัวหน้าวิศวกร
โครงการพัฒนา BR-V ผู้ซึ่งเคยดูแลโครงการพัฒนาทั้ง Brio , Brio Amaze
และ Mobilio เล่าว่าชื่อรุ่น BR-V นั้น ย่อมาจาก Bold Runabout Vehicle
ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้า หลักๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Out of Frame
(คิดนอกกรอบ) กลุ่ม Adventure (ผู้รักการผจญภัย) และกลุ่ม Family
(ครอบครัว) ทั้ง 3 กลุ่ม ต้องการรถยนต์ที่มีบุคลิกแตกต่าง (Outstanding)
มีความกระฉับกระเฉง (Active) เหมาะกับทุกรูปแบบการใช้ชีวิต โดยเฉพาะ
อย่างยิ่ง ด้านความอเนกประสงค์ (Utility)

2016_05_Honda_BR_V_02

Honda เปิดตัว BR-V ครั้งแรกในโลก ณ งานแสดงรถยนต์ Gaikindo Indonesian
International Auto Show (GIIAS) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2015 ที่ผ่านมา
พวกเขา ตั้งเป้ายอดสั่งจอง Pre-order Booking เอาไว้ 1,000 คัน แต่เพียง
ระยะเวลา 1 เดือนผ่านไป ปรากฎว่า ลูกค้าชาวอินโดนีเซีย ให้การตอบรับกับ BR-V
อย่างดีใช้ได้ ด้วยยอดจองกว่า 2,500 คัน (ตลอด เดือนกันยายน 2015)

สำหรับตลาดเมืองไทย Honda Automobile (Thailand) เริ่มเผยโฉม BR-V
ครั้งแรกโดยนำสื่อมวลชนจากเมืองไทย ไปทดลองขับ ณ สนาม Twin Ring
Motegi ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2015 ก่อนจะนำมาเปิดผ้าคลุม
ต่อหน้าสาธารณชนชาวไทย เป็นครั้งแรก ณ งาน Motor Expo ระหว่างวันที่
1 – 13 ธันวาคม 2015 วางตำแหน่งทางการตลาดให้เป็น Active Sport Crossover
โดยเล่นคำในการตลาด How BRaVe are we ? BR-V ให้ความกล้า พาชีวิตไปให้สุด
กับ ฮอนด้า บีอาร์-วี

2016_05_Honda_BR_V_Design_Sketch

จากนั้น พวกเขาก็นำ BR-V จำนวน 2 คัน ออกจากกรุงเทพมหานคร เพื่อไปจัด
แสดงในรูปแบบ Road Show ตามเมืองสำคัญๆต่าง ทั่วประเทศไทย ในช่วงเดือน
ธันวาคม 2015  ถึง มกราคม 2016 ก่อนจะนำกลับมาเปิดตัวออกสู่ตลาดอย่าง
เป็นทางการเมื่อ วันที่ 28 มกราคม 2016 ณ Bangkok Convention Centre
Central Plaza ลาดพร้าว ตั้งแต่โชว์ตัวในงาน Motor Show จนถึงวันเปิดตัวนั้น
มียอดจองสะสมไปกว่า 3,000 คัน ถือว่าไม่มาก ไม่น้อย กับภาวะเศรษฐกิจแบบ
ในปัจจุบัน

BR-V มีขนาดตัวถังยาว 4,453 มิลลิเมตร (รุ่น 5 ที่นั่ง) และ 4,456 มิลลิเมตร
(7 ที่นั่ง) กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร
ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า /หลัง (Front & Rear Track) อยู่ที่ 1,500 และ 1,500
มิลลิเมตร ระยะห่างจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้นถนน (Ground Clearance)
อยู่ที่ 201 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Mobilio ซึ่งมีความยาว Mobilio 4,386 – 4,398 มิลลิเมตร
กว้าง 1,683 มิลลิเมตร สูง 1,603 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,652 มิลลิเมตร ความ
กว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,472 และ 1,475
มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นรถ Ground Clearance 189 มิลลิเมตร
แล้ว จะพบว่า BR-V ยาวเพิ่มขึ้น 57 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 52 มิลลิเมตร สูงขึ้น
50 มิลลิเมตร ส่วนระยะฐานล้อนั้น ยาวขึ้น 8 มิลลิเมตร และใต้ท้อง BR-V สูงกว่า
Mobilio อยู่แค่ 12 มิลลิเมตรเท่านั้นล่ะครับ

รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด Active Solid Motion โดย
ใช้วิธีการนำ Honda Mobilio เวอร์ชันสำหรับตลาดเอเซีย มาปรับปรุง เปลี่ยน
ชิ้นส่วนตัวถังใหม่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้ดูทะมัดทะแมงขึ้นในสไตล์
ที่แตกต่างจากเดิม

2016_05_Honda_BR_V_032016_05_Honda_BR_V_04

ด้านหน้าใช้ธีมการออกแบบ ” Solid Wing Face ” ฝากระโปรงหน้า และ
แก้มข้างฝั่งซ้าย – ขวา กระจังหน้ารถ รวมทั้งไฟหน้า ถูกปรับปรุงให้เพิ่มความตั้งชัน
และลดความลาดเท จาก Mobilio เดิมอย่างชัดเจน กระจังหน้าชุบโครเมียมขนาด
ใหญ่ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ชิ้นบนชิ้นใหญ่ เสริมด้วยชิ้นเล็กด้านล่าง พร้อมโลโก้ H
ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง

ไฟหน้าแบบ Projector Lens หลอดฮาโลเจน พร้อมไฟหรี่ รูปทรงตัว L แบบ LED ยัง
ไม่ใช่ Daytime Running Lights เหมือนรุ่นพี่อย่าง Civic กันชนด้านล่าง พร้อม
ช่องดักลมประกบข้างด้วยไฟตัดหมอกทั้ง 2 ข้าง ด้านล่างมีการ์ดกันชนสีเงิน
เมทัลลิคอยู่ด้านล่าง พร้อมขอบคิ้วด้านล่างสีดำด้าน ที่ลากยาวตลอดทั้งคัน รวมถึง
ซุ้มล้อหน้า-หลัง ไปจรดที่กันชนด้านท้าย

BR-V จะมีแร็คหลังคา (Roof Rack)ติดตั้งมาให้ เพื่อรองรับการขนสัมภาระ หรือ
จักรยาน บนหลังคารถได้อย่างสะดวกสบายขึ้น ล้ออัลลอย ของรุ่นท็อปจากโรงงาน
เหมือนกันทั้ง 2 รุ่นย่อย เป็นขนาด 16 นิ้ว สวมด้วยยาง Dunlop Enasave EC300+
ขนาด 195/60 R16 อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าซุ้มล้อทั้งหน้า – หลัง จะได้รับการติดตั้งคิ้ว
กันกระแทกมาให้ด้วย เพื่อเสริมให้ตัวรถดูเป็นลุคแบบลุยๆหน่อย

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่บริเวณเสา C เป็นต้นไป จะถูกดีไซน์ให้ต่างจาก Mobilio ทั้ง
เส้นสาย และ บานกระจกระหว่างเสา C กับ D ของ Mobilio จะเป็นสี่เหลี่ยมถูก
ป้านมุมด้านบน ในขณะที่ BR-V จะเป็นสี่เหลี่ยมป้านมุมด้านบน และ ล่าง เท่าๆกัน
ออกมาเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่ามุมมน บั้นท้ายของตัวรถถูกออกแบบขึ้นใหม่เกือบ
ทั้งหมด ชุดไฟท้ายถูกเปลี่ยนให้มีแนวยาวต่อเนื่องกัน โดยยังคงรูปแบบของกระจก
บังลมหลังเอาไว้ตามเดิม

2016_05_Honda_BR_V_052016_05_Honda_BR_V_06

ไฟท้ายแบ่งออกเป็น 2 ก้อน ส่วนด้านนอกจะเป็นที่อยู่ของชุดไฟเบรกรูปทรงตัว C
แทรกไฟเลี้ยว ไว้ตรงกลาง ส่วนก้อนด้านในจะเป็นไฟถอยหลัง ล้อมรอบด้วยแผง
ทับทิมสีแดง ส่วนบนจะถูกลากยาว เชื่อมกันระหว่างชุดไฟท้าย ซ้าย และ ขวา
ในคลับ BR-V มีการแปลงเพื่อใส่หลอด LED ให้เป็นแนวยาวเรียบร้อยแล้ว ดู
สวยงาม โดดเด่นบนท้องถนนยามค่ำคืนอยู่ไม่น้อย

ฝาท้ายเป็นบานขนาดใหญ่ มีไฟเบรกดวงที่ 3 อยู่ด้านบน ตัวฝากินพื้นที่ยาวไปถึง
คิ้วกันกระแทกด้านล่างสีดำ แทรกด้วยแถบทับทิมสะท้อนแสงสีแดงเล็กๆ พร้อม
การ์ดกันชนตรงกลางสีเงินเมทัลลิค ตรงกลางฝาท้ายส่วนล่าง เป็นที่อยู่ของชุด
กรอบป้ายทะเบียน ตกแต่งด้วยคิ้วโครเมียมขนาดใหญ่ตรงกลาง กันชนหลังมีการ
เซาะร่องแนวตั้งเอาไว้ ทำให้มุมมองด้านหลังบึกบึนขึ้น

BRV_key

ระบบล็อกประตูของ BR-V จะแตกต่างจาก Mobilio ชัดเจน เพราะ Honda
ติดตั้งระบบกุญแจรีโมทคอโทรล Honda Smart Key System เชื่อมการทำงาน
กับระบบกันขโมย Immobilizer โดยคุณสามารถติดเครื่องยนต์ ด้วยการกดปุ่ม
Push Start (One Push Ignition System) ตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม คุณ
ยังต้องกดปุ่มสีดำบนมือจับประตู เพื่อสั่งล็อกหรือปลดล็อกประตู กันเสียก่อน
ตามเดิม

2016_05_Honda_BR_V_Interior_02

โครงสร้างรอบกรอบช่องทางเข้าบานประตูคู่หน้า ยังคงเหมือนและคล้ายคลึงกัน
กับ Mobilio อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ท่อนล่างของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฐาน
ธรณีประตู ครึ่งท่อนล่างของเสาหลังคา คู่กลาง B-Pillar บานประตู และแผง
ประตูข้าง

กระนั้น การยกพื้นรถให้สูงขึ้นจาก Mobilio เดิมราวๆ 1 เซนติเมตร ส่งผลให้
ตอนนี้ตำแหน่งเบาะนั่ง ของ BR-V แอบสูงขึ้นนิดนึง ทำให้การเข้า – ออก
จากบานประตูคู่หน้า มีสะดวกสบายยิ่งขึ้นกว่า รถยนต์ในตระกูล Brio/Mobilio
เล็กน้อย

แผงประตูคู่หน้า ยกชุดจาก Mobilio มีการปิดทึบบริเวณเดิม ที่เคยมองเห็นสี
ตัวถัง จาก Brio Hatchback โฉมแรก มีพื้นที่วางแขน ที่วางท่อนแขนได้สบาย
พอดีๆ และ มีช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท รวมทั้ง ช่องใส่ของจุกจิก ที่สามารถ
ใส่สมุดบันทึกได้สบายๆ เหลือเฟือ

กระนั้น ต้องทำใจว่า ชายล่างขอบประตู ไม่ได้ออกแบบซ่อนรูป เหมือนเช่น SUV
รุ่นใหม่ๆ ดังนั้น การขึ้น – ลงจากรถ อาจยังคงประสบปัญหา ชายกระโปรง หรือ
ขากางเกง เปรอะเปื้อนฝุ่นโคลน ที่ติดอยู่บริเวณชายล่างของตัวรถได้ตามเดิม

ภายในห้องโดยสารของ BR-V ในรุ่น SV 7 ที่นั่ง จะตกแต่งด้วยโทนสีดำทั้งหมด
รวมถึงวัสดุบุหลังคาก็จะใช้สีดำด้วย ในขณะที่ รุ่น V (5 ที่นั่ง) จะใช้วัสดุสีเทา
เหมือนกันกับ Mobilio

2016_05_Honda_BR_V_Interior_03

เบาะรองนั่งมีขนาดกำลังดี แต่ถ้ายาวกว่านี้อีกนิดจะดีมาก เพราะมันจะสั้นไปสำหรับ
คนที่ ส่วนตัวด้านล่าง ต้นขายาว หรือ สูงเกินกว่า 175 เซนติเมตร ส่วนพนักพิงหลัง
ที่หนานุ่มกว่า Mobilio รวมถึงพนักพิงศีรษะที่ปรับระดับได้ ทำให้การนั่งโดยสาร
แอบสบายกว่ากันอยู่เล็กน้อยโดยเฉพาะส่วนศีรษะ

ตำแหน่งนั่งขับ ไม่แตกต่างจาก Mobilio เท่าไรนัก สูงขึ้นเพียงนิดเดียว ตัวเบาะ
สามารถปรับได้ 4 ทิศทาง เลื่อนหน้า-ถอยหลัง ปรับเอนได้ แต่จะไม่มีก้านโยก
ปรับระดับ สูง – ต่ำ ของเบาะคนขับมาให้ สิ่งที่ผมอยากให้ Honda นำไปปรับปรุง
เพิ่มเติม ก็ไม่ต่างจาก Brio, Brio AMAZE และ Mobilio เลยนั่นคือ อยากให้มี
คันโยกปรับระดับสูง – ต่ำ สำหรับเบาะนั่งฝั่งคนขับ มาให้กันเสียที เช่นเดียวกันกับ
เข็มขัดนิรภัย แบบ ELR 3 จุด ทั้ง 2 ฝั่ง ควรปรับระดับ สูง – ต่ำได้แล้ว ในรถระดับ
ราคา 800,000 กว่าบาทแบบนี้

ตำแหน่งนั่งขับ ลงตัวดีมากๆ ติดตั้งมาในความสูงที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่เตี้ย ไม่สูง
จนเกินไป หากคุณมีสรีระสูงประมาณ 170 เซนติเมตร จะเหลือพื้นที่ด้านบน ราวๆ
1 ฝ่ามือ กับอีก 2 นิ้วมือ ในแนวนอน พื้นที่ Headroom เหลือเฟือมากๆ แผงประตู
ด้านข้าง มีตำแหน่งการวางแขน ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว มีการปรับปรุงจาก Mobilio
คือ บุฟองน้ำบางๆเพิ่มให้บริเวณ ที่วางข้อศอกให้ แม้จะได้รู้สึกนุ่มอะไร แต่ก็ดีกว่า
สัมผัสแต่ผิวพลาสติกสากๆ

2016_05_Honda_BR_V_Interior_04

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง บอกเลยว่า ทำได้สบายมาก.ก.ก ตามคาดหมาย
บานประตูกว้าง ใหญ่ และยาวพอให้ก้าวเข้า – ออกจากเบาะหลังได้ สะดวกสบาย
ช่องทางเข้า – ออก ก็ใหญ่โต พอกันกับ Avanza (ประเด็นเรื่องความกว้างของช่อง
ทางเข้า – ออก บานประตูคู่หลังนี้ Ertiga ยังคงเป็นที่ 1 ในกลุ่ม ตามด้วย Mobilio/
BR-V และ Avanza นี่ละ)

ตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง วางได้พอดีเป๊ะ แต่กระจกหน้าต่างไฟฟ้า
ไม่สามารถเลื่อนลงมาจนสุดขอบรางได้ เช่นเดียวกับ แผงประตูคู่หน้า มีการบุ
ฟองน้ำบางๆ เพิ่มมาให้บริเวณที่วางข้อศอกด้วยเช่นกัน บริเวณด้านล่างของ
แผงประตู มีช่องใส่ขวดน้ำ และ กระป๋องน้ำอัดลม แยกช่องมาให้ ฝั่งละ 2 ตำแหน่ง
รวมทั้งหมด 4 ตำแหน่ง

เบาะแถว 2 มีพนักพิงที่ค่อนข้างบาง แต่ได้ถูกปรับปรุงจาก Mobilio คือเพิ่มส่วน
นูนเว้า มาให้บริเวณพนักพิงหลัง ฟองน้ำจะนุ่มแอบนิ่มนิดๆพอจะสร้างความสบาย
ให้ผู้โดยสารได้อยู่ แม้จะนั่งในระยะทางไกลๆ ก็ตาม ส่วนเบาะรองนั่ง ถึงจะสั้น แต่
ยังอยู่ในระดับมาตรฐานของรถยนต์นั่งจากญี่ปุ่น ทั่วไป ไม่สั้นมาก แต่ก็ไม่ยาวมาก
เบาะรองนั่ง นุ่มและแอบแน่นนิดๆ กำลังดี มีแถบ ตกแต่งคาดมาให้ตรงกลาง
คล้ายเบาะคู่หน้า

2016_05_Honda_BR_V_Interior_05

ตัวเบาะนั่ง แยกฝั่งซ้าย – ขวา ในอัตราส่วน 60 : 40 ชัดเจน สามารถแยกปรับ
เอนพนักพิงได้ตามที่เห็นในภาพนี้ และ ตัวเบาะ ก็มีรางเลื่อน สามารถเลื่อนขึ้น
ไปข้างหน้า – ถอยหลังได้อีกด้วย กลไกนั้นก็ไม่ต่างจาก Mobilio พับทบมาเก็บ
ด้านหน้า แบบ One-touch โยกก้านปรับเพียงครั้งเดียวบริเวณด้านข้าง เพื่อการ
เข้า-ออก สำหรับการเข้าไปนั่งโดยสาร เบาะแถวที่ 3

พนักศีรษะเป็นแบบมาตรฐานทั่วไป ผมชื่นชอบมากที่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้
เป็นรูปตัว L ความนุ่มสบาย และการรองรับศีรษะทำได้ค่อนข้างดี มีการเพิ่มพนัก
ศีรษะสำหรับผู้โดยสารคนกลางมาให้ด้วยที่ถึงแม้จะเป็นรูปทรงตัว L ดันต้นคอ
นิดๆ แต่ก็ดีกว่า Mobilio ที่ไม่ให้มา ไม่มีที่วางแขนดึงออกมาตรงกลาง ส่วนพื้นที่
เหนือศีรษะสำหรับผู้โดยสารแถวกลาง หากคุณตัวสูง 170 เซนติเมตร จะเหลือ
พื้นที่ด้านบนมากถึง 1 ฝ่ามือ กับอีก 3 นิ้วมือ ในแนวนอน สบายหายห่วง ทั้งการ
วางขาและ พื้นที่เหนือศีรษะ

ถ้ามองขึ้นไปบนหลังคา จะพบ พัดลมแอร์ Blower ที่เลือกปรับระดับความแรง
ได้ถึง 3 ระดับ เพื่อกระจายความเย็น ไปให้ทั่วถึงพื้นที่โดยสารแถว 2 และ 3 ตัว
หน้ากาก เป็นสีดำเหมือนวัสดุบุฝ้าเพดาน พัดลมนั้นมีลมออกมาค่อนข้างแรง
แต่ความเย็นนั้นไม่ถึงกับฉ่ำ หากปรับอุณหภูมิด้านหน้าที่ 25 องศาเซลเซียส
เหมือนรถทั่วไป จะไม่ค่อยเย็น ต้องลดลงมา ประมาณ 22 องศาเซลเซียส
ถึงจะโอเค

เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาแถว 2 มีทั้งแบบ ELR 3 จุด ฝั่งซ้าย – ขวา ทั้ง 3 ตำแหน่ง
ของผู้โดยสารตรงกลาง เข็มขัดจะเก็บไว้ที่เพดาน ตรงนี้ถูกเพิ่มมาให้ใน BR-V
เพราะใน Mobilio จะเป็น 2 จุด LR คาดเอวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีจุดยึดเบาะ
นิรภัยของเด็ก ISOFIX มาให้ด้วย

2016_05_Honda_BR_V_Interior_06

การเข้า – ออกจากเบาะแถว 3 นั้น ใช้วิธีการดึงคันโยกด้านข้างเบาะแถว 2
(บริเวณใกล้ๆสะโพก) ชุดเบาะนั่ง จะพับพนักพิงให้แบนราบ และจะปลดล็อก
ขายึดเบาะกับพื้นรถ เพื่อให้ตัวเบาะดีดตัวโน้มขึ้นมาข้างหน้าอย่างรวดเร็วแบบ
One Motion เหมือนกับ B-Segment Minivan ทุกรุ่น (ยกเว้น Ertiga) การก้าว
ขึ้น – ลงจากเบาะแถว 3 แม้ว่าคุณจะตัวใหญ่ระดับเดียวกับผม แต่ก็ยังสามารถ
มุดตัวเข้าไปนั่ง และ ลุกออกมาจากเบาะแถว 3 ได้สบายๆ

เบาะนั่งแถว 3 ก็ยังยกมาจาก Mobilio กันทั้งดุ้น แบบไม่ต้องคิดมาก ยังคง
สามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 50 : 50 เพื่อเพิ่มพื้นที่ วางสัมภาระด้านหลังได้
(แบ่ง 50:50 ได้เฉพาะส่วนพนักพิงหลัง) ปรับเอนได้ 2 ระดับ มีการรองรับส่วน
นูนเว้าที่เพิ่มมากขึ้น จาก Mobilio เช่นเดียวกับเบาะแถว 1 และ 2

2016_05_Honda_BR_V_Interior_07

อย่างไรก็ตาม พนักศีรษะรูปตัว L ยังคงตามมาหลอกหลอนผมอยู่บ้าง
เนื่องจากรูปแบบของการใช้งานเบาะหลัง ทำให้ทีมออกแบบ จำเป็นต้องยอม
เลือกใช้พนักศีรษะแบบนี้ ซึ่งถ้าคุณไม่ยกมันขึ้นมาใช้งาน มันก็จะทิ่มตำต้นคอคุณ
จนน่ารำคาญ แต่ถ้ายกขึ้นมา ก็มีตัวเกี่ยวยึดล็อกมาให้แค่ 1 ตำแหน่ง ด้านบนเกือบ
สุดก้านเหล็ก ด้านบน ตัวพนักศีรษะ มีฟองน้ำที่แน่น กว่าพนักศีรษะของเบาะ
ในตำแหน่งอื่นๆ

ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง ก็ยาวไม่มากนัก แต่การนั่งโดยสารสำหรับคนตัวไม่ใหญ่
มาก ก็ถือว่าสบายในระดับหนึ่ง นั่งได้ดีกว่ารถไซส์ใหญ่กว่าอย่าง PPV หลายรุ่น
ที่แน่ๆมันนั่งสบายกว่าเบาะแถว 3 ของ Nissan X-Trail ทุกมิติ ด้วยเบาะแถว 2
ที่สามารถเลื่อนหน้า-ถอยหลังได้ ทำให้ สามารถจัดสรรปันส่วนพื้นที่วางขาได้

กระนั้นปัญหาจะเกิดขึ้นเล็กน้อย สำหรับพื้นที่เหนือศีรษะ บริเวณด้านข้าง เพราะ
หลังคาภายในมีการทำ slope ลู่เข้ามาด้านใน ทำให้พื้นที่ด้านข้าง ถูกบีบเข้ามา
บางคนอาจรู้สึกรำคาญได้ เพราะจะติดศีรษะ

BRV_trunk_00

แผงผนังด้านข้างสำหรับผู้โดยสารแถว 3 สามารถวางแขนได้พอดี มีช่องใส่กระป๋อง
น้ำอัดลม ฝั่งละ 1 จุด รวมทั้ง ช่องวางโทรศัพท์มือถือมาให้ ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง (ฝั่งซ้าย
จะตื้นกว่าฝั่งขวานิดหน่อย) รวม ทั้งหมด 4 จุด ส่วนเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสาร
บนเบาะแถว 3 เป็นแบบ ELR 3 จุด ติดตั้งมาให้ ครบทั้ง 2 ตำแหน่ง

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ยังคงมาในสไตล์ Honda Minivan ทุกรุ่น คือ
บานใหญ่ ช่องทางเข้า มีขอบด้านล่างต่ำ สะดวกต่อการขนข้าวของสัมภาระที่มี
น้ำหนักมาก ขึ้น-ลง จากด้านหลังรถได้ง่ายดาย มีช็อกอัพไฮโดรลิกค้ำยัน 2 ต้น
ใช้กลอนไฟฟ้า ช่วยล็อกเอาไว้ การปลดล็อก สามารถกดปุ่มเปิดที่เป็นกลอนไฟฟ้า
ด้านหลังบริเวณคิ้วโครเมียมเหนือกรอบป้ายทะเบียน ที่กระจกบังลมหลังมีระบบ
ไล่ฝ้า และ ใบปัดน้ำฝันหลัง พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก

BRV_trunk_01

พื้นที่ห้องเก็บของนั้น ดูเหมือนว่า ถ้าต้องการขนของอย่างเป็นกิจลักษณะ คงต้อง
ขอแนะนำให้ไปซื้อรุ่น V 5 ที่นั่ง ซึ่งถอดเบาะแถว 3 ออกไป แล้วเพิ่มถาดวางของ
อเนกประสงค์ได้แทน (เหมือนไลน์เนอร์ของรถกระบะ) พื้นที่ด้านหลังจะกว้างใหญ่ ขนาด
ที่ว่าให้ คนนั่งหันหน้าเข้าหากันได้อีก 4 คน สบายๆ และขนข้าวของได้อย่างไม่จำกัด
สำหรับพื้นที่เก็บของด้านหลังของรุ่น SV 7 ที่นั่งก็พอวางกระเป๋าเดินทางขนาด
20-24 นิ้ว วางในแนวนอนหันข้าง ได้สัก 2 ใบ กับสัมภาระอื่นๆอีกนิดๆหน่อยๆ

พนักพิงของเบาะแถวที่ 3 สามารถพับได้ แยกส่วน 50 : 50 โดยดึงคันโยกบริเวณ
ด้านข้างของแต่ละฝั่ง (บริเวณสะโพกด้านล่าง) แต่ส่วนเบาะรองนั่งไม่สามารถแยก
พับได้ หากต้องการพื้นที่ในการวางของเพิ่มแค่ครึ่งเดียว คงต้องวางบนเบาะที่พับ
ลงไปแทนเบาะแถวที่ 3 นานๆใช้ที ก็สามารถพับตลบไปแขวนยึดกับเบาะแถวที่ 3
ได้ โดยต้องพับพนักพิงลงไปทั้ง 2 ฝั่งก่อน จากนั้นดึงสายเชือกที่อยู่ข้างใต้เบาะ
ที่สามารถปรับสั้น-ยาวเพื่อไปเกี่ยวกับ ขาของพนักพิงศีรษะ แถวที่ 2 ได้ไม่ให้
ตัวเบาะที่พับอยู่นั้น ล้มลงมา

BRV_trunk_02

การพับเบาะแถวที่ 3 นั้น ดูเหมือน Ertiga จะทำได้ดีที่สุดในกลุ่ม เพราะสามารถ
พับราบลงไปได้เลย ต่อเนื่องกันทั้งเบาะแถว 2 – 3 สามารถปูผ้าหรือปูที่นอน
เหยียดยาว แต่ตัวเบาะจะไม่สามารถแยกพับได้ เรียกว่าแต่ละคันก็มีดีต่างกัน

สำหรับยางอะไหล่ของ BR-V นั้นจะอยู่ใต้พื้นรถ มีตัวไขจากในรถ โดยมีฝา
พลาสติกปิดเอาไว้อยู่ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น แม่แรงจะอยู่ในช่องเก็บของด้านขวา

2016_05_Honda_BR_V_Interior_09

ภายในห้องโดยสาร ดูแปลกตาไปจาก Mobilio ส่วนหนึ่งมาจากเสียงเรียกร้อง
ของลูกค้า ว่าอยากเห็นแผงแดชบอร์ดชุดใหม่ ที่ดูไม่ Look Cheap และดูร่วมสมัย
มากกว่าแผงเดิม จาก Brio และ Mobilio

งานนี้ Honda จึงออกแบบแผงหน้าปัดให้กับ BR-V ขึ้นมาใหม่ทั้งยวง (ซึ่งจะ
ถูกนำไปติดตั้งให้กับ รถยนต์ในตระกูลพี่ร้องร่วมกัน ทั้ง Brio , Brio Amaze และ
Mobilio ในลำดับต่อไปด้วย) ซึ่ง Brio/Brio Amaze ก็ทำการปรับมาใช้แผง
แดชบอร์ดเดียวกันนี้แล้วเมื่อช่วง เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แผงหน้าปัดแบบใหม่นี้ มีตำแหน่งช่องแอร์ แผงสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง กับ
สวิตช์เครื่องปรับอากาศ คล้ายกับ แผงหน้าปัดของ Jazz และ City ใหม่ แต่
ถูกอัพเดทให้มีเส้นสายเพิ่มเติมบริเวณ ฝั่งซ้าย ทั้งหมด เพื่อให้ดูสอดคล้อง
กับแนวเส้นภายนอกรถจนลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ตกแต่งด้วยแผงวัสดุ
ลวดลายคล้ายคาร์บอนไฟเบอร์เหนือเก๊ะช่องเก็บของฝั่งคนนั่ง

2016_05_Honda_BR_V_Interior_10

พวงมาลัย คราวนี้มาแปลก Honda เลือกนำอะไหล่จากรถยนต์รุ่นเก่าๆ ของตน
มาทำขายกันอีกครั้งหนึ่ง ขึ้นอยู่กับ รุ่นย่อย หากเป็นรุ่น 7 ที่นั่ง จะได้พวงมาลัย
แบบ 3 ก้าน พร้อมชุดสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ซึ่งจะ
ยกชุดมาจาก Honda City/Jazz รุ่นปี 2008 – 2014 หุ้มด้วยหนัง เป็นที่น่า
เสียดาย และ ขัดใจเล็กๆว่าที่สวิตซ์ ควบคุมเครื่องเสียงนั้น ไม่มีไฟส่องสว่าง
มาให้ด้วยในตอนกลางคืน

ทว่า รุ่น 5 ที่นั่ง พวงมาลัยจะยังคงเป็นแบบ 3 ก้าน มี สวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง
ที่ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ซึ่งเคยประจำการมาก่อนแล้ว ใน Brio , Brio AMAZE
และ Mobilio นั่นเอง! พวงมาลัยของทุกรุ่น ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ไม่สามารถ
ปรับระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic)ได้

มองขึ้นไปด้านบน แผงบังแดด 2 ชิ้น มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาพับมาให้ ครบ
ทั้งฝั่งผู้ขับขี่ และ ผู้โดยสาร ติดตั้งอยู่บนเพดานหลังคา ที่ออกแบบให้มีหลุมเว้า
เพื่อรองรับกับ แผงบังแดดทั้ง 2 ตำแหน่งไว้แล้ว ส่วนกระจกมองหลังนั้น หน้าตา
บ้านๆ ธรรมดา เรียบๆ เหมือนกันกับ Brio

BRV_pushstart

มองจากขวา เข้ามาทางซ้าย ทุกรุ่น ติดตั้ง กระจกมองข้างปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า
พร้อมระบบพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้ามาให้ กระจกหน้าต่าง ของทุกรุ่น เลื่อน
ขึ้น – ลงได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เฉพาะฝั่งคนขับ มีระบบเลื่อนลงด้วย การกดปุ่มจน
สุดเพียงครั้งเดียว แบบ One Touch ทั้งขาขึ้น และขาลง

ถัดมาที่แผงแดชบอร์ดฝั่งคนขับ จะเป็นที่อยู่ของปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push
Start Button วงกลมสีแดง การสตาร์ทเครื่องยนต์ก็เพียงเหยียบแป้นเบรก
และ กดปุ่ม ถัดมาจะเป็นปุ่มเปิด-ปิดระบบควบคุมการทรงตัว VSA / ระบบ
ป้องกันการลื่นไถล TCS ด้านบนจะเป็นช่องเว้นว่างไว้ สำหรับใส่บัตรจอดรถ
ต่างๆได้

2016_05_Honda_BR_V_Interior_11BRV_meter_MID

มาตรวัดแบบใหม่ 3 วง คล้ายกับ Honda City รุ่นล่าสุด ดูดีขึ้นกว่าชุดมาตรวัดที่
อยู่ใน Mobilio มีการล้อมกรอบด้วยเส้นโครเมียม ไฟเรืองแสงสีขาว วงซ้ายสุดจะ
เป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ พร้อมจอดิจิตอลเล็กๆบอกตำแหน่งเกียร์ ส่วนวงกลาง
อันเป็นวงที่ใหญ่สุด จะเป็นมาตรวัดความเร็วที่ตัวเลขสุดอยู่ที่ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
(ใน City จะสุดที่ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง) สุดท้ายวงขวาสุดจะเป็นที่อยู่ของจอ MID
แสดงข้อมูลการขับขี่

จอ MID แสดงข้อมูลอะไรเราบ้าง ไล่ตั้งแต่ระยะทางที่รถวิ่งไปแล้ว ODO, Trip A,
Trip B, อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยในแต่ละ Trip พร้อมแถบแสดงอัตราสิ้นเปลืองปัจจุบัน
ขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่ในตำแหน่งบนสุด มีนาฬิกา และ ตัวเลขแสดงอุณหภูมินอกรถ
ด้านล่างจะเป็นแถบบอกปริมาณน้ำมัน ที่เหลืออยู่ในถัง แต่สิ่งที่หายไปคือ แถบบอก
อุณหภูมิเครื่องยนต์ไม่มีมาให้ มีเพียงไฟเตือนเมื่อร้อนผิดปกติ

2016_05_Honda_BR_V_Interior_12

ถัดมาตรงกลางของแผงแดชบอร์ด บนสุดจะเป็นที่อยู่ของช่องแอร์ ถัดลงมาจะเป็น
หน้าจอเครื่องเสียง ขนาด 6.1 นิ้วที่กำลังจะเป็นชุดหน้าจอสหกรณ์ในรถ Honda
นับจากนี้หลายๆรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Brio Amaze หรือแม้กระทั่ง Honda HR-V MY2016
คุณภาพความละเอียดของ หน้าจอไม่ได้ดีนัก แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานก็มีมาให้อย่าง
พอเพียง รองรับวิทยุ AM/FM มีช่องเชื่อมต่อ AUX/USB/HDMI มาให้ มีระบบ
เชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อ Smartphone ได้ ทั้ง
iOS/Andriod ส่งเสียงผ่านลำโพง 4 จุด คุณภาพเสียงก็อย่าได้คาดหวังมากนัก
ถ้าคุณเป็นคนที่ฟังเพลงเรื่อยๆ แค่มีเสียงคลอระหว่าง ขับรถไปด้วย คุณก็ไม่จำเป็น
ต้องเปลี่ยนมัน แต่หากคุณเป็นคนที่ค่อนข้างใส่ใจกับมิติของเสียง เตรียมหาชุด
เครื่องเสียง พร้อมลำโพงใหม่ได้เลย

BRV_media

ระบบปรับอากาศแบบปรับแรงลมอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอแสดงผลดิจิตอล หน้าตา
ดูดีมีชาติตระกูลกว่าสวิตซ์ลูกบิดแบบธรรมดา หน้าตาดูสะสวยขนาดนี้ แต่ฟังก์ชั่น
ที่สามารถปรับได้กลับให้มาน้อยกว่ามาตรฐานไปเสียหน่อย โหมดการเป่าลมแอร์
ออกมา มีให้เลือกแค่ 2 แบบเท่านั้น คือ เป่าด้านบน / เป่าด้านบน + ที่วางเท้า
เท่านั้น ไม่มีช่องลมออก ตรงแผงแดชบอร์ดหน้าสำหรับ เป่าเพื่อไล่ฝ้ากระจก
บังลมหน้าด้วย

ปุ่มกดไล่จากซ้ายไปขวา เริ่มจาก ปุ่มปรับความแรงพัดลม ที่ผมอยากให้มันสลับ
ตำแหน่ง กับปุ่มปรับอุณหภูมิที่อยู่ด้านขวาสุด เพราะส่วนมากเราจะปรับความแรง
พัดลมบ่อยกว่า การที่เอามาไว้ใกล้มือคนขับ น่าจะสะดวกขึ้น แถบปุ่มเล็กๆ
ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยปุ่ม ON-OFF เปิดปิดระบบปรับอากาศ, ปุ่มไล่ฝ้ากระจกบังลม
หลัง, ปุ่มปรับโหมดที่มีให้เลือกแค่ 2 รูปแบบ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ถัดมาเป็นปุ่ม
MAX COOL หลายท่านอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร เมื่อกดปุ่มนี้ ความแรงพัดลม
จะปรับไปที่ระดับแรงสุด (ทั้งหมดมี 7 ระดับ) ช่วยสำหรับเมื่อคุณจอดรถกลางแดด
ในวันที่อากาศร้อนจัด เข้ามาปุ๊ปกดปุ่มนี้ปุ่มเดียวแล้วกระโจนหนีออกนอกตัวรถ
รอสักพักจนกว่าอุณหภูมิจะเย็นลงก็ย่อมได้ 2 ปุ่มสุดท้ายจะใช้สำหรับเปิดน้ำยาแอร์
และ เปิดโหมด Auto สำหรับการปรับแรงพัดลมอัตโนมัติ

BRV_aircon_new

ด้านล่างจะเป็นช่องสำหรับวางของ หรือ วางโทรศัพท์ได้ สุดท้ายก่อน
คันเกียร์จะเป็นช่อง สำหรับวางของเช่นกัน แต่จะมี ช่องชาร์จไฟ 12V มาให้
พร้อมฝาปิดเรียบร้อย

ด้านข้างลำตัว ไม่ต้องไปมองหากล่องเก็บของใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีมาให้
ทั้งที่ควรจะมีกล่องคอนโซลกลาง ได้แล้ว กระนั้น บริเวณเบรกมือ มีกรอบ
พลาสติกรีไซเคิล ครอบทับเพื่อความสวยงาม มีร่องติดตั้งเบรกมือ กับช่อง
วางแก้ว สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง 1 ตำแหน่ง และช่องวางแก้ว สำหรับ
ผู้ขับขี่กับผู้โดยสารด้านหน้า อีก 2 ตำแหน่ง ยกมาจาก Mobilio เหมือนกัน
ไม่มีผิดเพี้ยน คันเกียร์ และ ฐานเกียร์ก็เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกัน
มาตั้งแต่สมัย Honda Jazz Gen2 (GE) ต่อเนื่องมาถึงตระกูล Brio/Amaze
Mobilio รวมถึง BR-V นี้ด้วย แน่นอนว่าตรงฐานคันเกียร์แม้จะมีตัวอักษรบอก
ตำแหน่ง แต่ในยามกลางคืนจะไม่มีไฟเรืองแสงมาให้ ก็ใช้วิธีมองตำแหน่งเกียร์
จากหน้าปัดเอาแล้วกันครับ

BRV_console

ทัศนวิสัยด้านหน้า เหมือนกันกับ Mobilio อย่างไม่ต้องสงสัย เสาหลังคาคู่หน้า
A-Pillar ฝั่งขวา ยังคงพอจะมีการบดบังรถที่แล่นสวนทาง มาจากโค้งขวา
บนถนนสวนกันแบบสองเลนอยู่บ้าง แต่ยังถือว่า ยอมรับได้อยู่

กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่กำลังดี แม้จะ มีขอบมุมฝั่งขวา อาจโดนขอบ
มุมพลาสติกสะท้อนเข้ามาบ้าง แต่ก็แค่นิดเดียว แทบไม่มีผลอะไรเลย

BRV_VIEW01BRV_VIEW02

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ไม่มีการบดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะกำลัง
เลี้ยวกลับรถแต่อย่างใด

ส่วนกระจกมองข้างฝั่งซ้าย ก็ยังคงทำหน้าที่ของมันได้ดี เหมือนกับ Mobilio
ทุกประการ เพียงแต่ว่า ตำแหน่งนั่งอาจสูงขึ้นนิดหน่อย แค่นั้น

BRV_VIEW03BRV_VIEW04

กระจกหน้าต่างด้านข้างโปร่งตาพอที่จะชดเชยการมองเห็นจากบริเวณ กระจก
หน้าต่างบานหลังสุดได้ ไม่เพียงเท่านั้น กระจกบังลมด้านหลัง ก็ยังมีขนาดใหญ่
เพียงพอ ถ้าไม่ได้ยกพนักศีรษะขึ้นใช้งาน จะพบว่า ภาพรวมแล้ว ทัศนวิสัยด้าน
หลังค่อนข้างโปร่งตา เพียงแต่ว่า เมื่อยังมีพนักศีรษะเบาะแถวกลางคั่นอยู่ การ
มองเห็นเสาหลังคาคู่หลัง D-Pillar อาจมิดบอดไปบ้าง ถ้าต้องการมองเห็น
ให้ชัดขึ้น ต้องปรับพนักพิงเบาะแถวกลาง ให้เอนลงไปอีกสักหน่อย

2016_05_Honda_BR_V_Engine_01

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขณะที่ BR-V ในตลาดหลักอย่าง Indonesia จะติดตั้งเครื้่องยนต์ รหัส L15A1
บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4
มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ PGM-FI พร้อมระบบ
แปรผันวาล์ว i-VTEC กำลังสูงสุด 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที
แรงบิด 145 นิวตันเมตร (14.8 กก.-ม.) ที่ 4,800 รอบ/นาที ซึ่งเป็นเครื่องยนต์
บล็อกดั้งเดิมที่ วางอยู่ใน Honda Jazz และ City รุ่นปี 2008 – 2014

ทว่า เวอร์ชันไทยของ BR-V จะวางเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ที่แตกต่าง
ออกไป โดยขุมพลังของรุ่นที่จำหน่ายในบ้านเรา จะยกชุดมาจาก Jazz กับ
City 2014 – 2015 อันเป็นรุ่นปัจจุบัน ซึงหลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตาคุ้นเคยกันดี

นั่นคือขุมพลังใหม่รหัส L15Z1 บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอก
สูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์
PGM-FI ใช้ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive-By-Wire (DBW) พร้อมระบบแปรผัน
วาล์ว i-VTEC

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสมรรถนะอาจแตกต่างจาก Jazz และ City เล็กน้อย แม้ว่า
จะให้ กำลังสูงสุด 117 แรงม้า (PS) เท่ากัน แต่มาถึงในรอบเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่า
กันนิดนึง คือ 6,000 รอบ/นาที ส่วนแรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 145 นิวตันเมตร
เป็น 146 นิวตันเมตร (จาก 14.8 เป็น 14.9 กก.-ม.) ที่รอบต่ำลงเล็กน้อย จาก
4,800 เหลือ 4,700 รอบ/นาที โดยถูกปรับจูน ให้สามารถรองรับกับน้ำมัน
เชื้อเพลิงแก็สโซฮอลล์ E85 เรียบร้อยแล้ว !

2016_05_Honda_BR_V_Engine_02_CVT

ใน Mobilio MY2016 ก็ใช้เครื่องยนต์เดียวกันนี้ เพียงแต่รุ่นก่อนหน้าที่เราเอามา
เทสต์กันตัวเลขสเป็คแรงม้าจะอยู่ที่ 120 แรงม้า แรงบิด 145 นิวตันเมตร รองรับ
น้ำมัน E20 เมื่อปรับมาจูนใหม่ ให้รองรับน้ำมัน E85 ก็จะมีตัวเลขแรงม้า แรงบิด
เท่ากับ BR-V

BR-V ใช้ระบบขับเคลือนล้อหน้า เหมือนกับพี่น้อง Mobilio และ คู่แข่ง Ertiga
(ยกเว้น Avanza ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง) ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตรา
ทดแปรผัน CVT แบบมีระบบ Lock-Up Torque Converter ที่ถูกพัฒนาภายใต้
แนวทาง Earth Dream Technologies โดยยกชุดมาจาก Jazz รุ่น 3 และ City
รุ่นปี 2014 กับ Mobilio กระนั้น คันเกียร์ กับฐานรองเกียร์ ยังคงยกมาจากยกมา
จากพี่น้องร่วมค่ายทั้ง Jazz GE รุ่นที่ 2 , Brio , Brio AMAZE และ Mobilio
แทบทั้งดุ้น ตามเคย

อัตราทดเกียร์ขับเคลื่อนอยู่ที่ 3.484 – 0.562
อัตราทดเกียร์ถอยหลังอยู่ที่ 3.733 – 1.906
อัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 3.941

เหมือนกันเป๊ะกับ Mobilio นั่นแหละครับ ทีนี้เรามาดูกันว่า เมื่อทั้งเครื่องยนต์
และ เกียร์ชุดนี้มาอยู่ใน BR-V สมรรถนะจะเป็นอย่างไรบ้าง ดรอปลงไปมาก
น้อยขนาดไหน เราได้ทำการทดลอง จับเวลาหาอัตราเร่ง กันในเวลากลางดึก
ภายใต้มาตรฐานเดิมเหมือนเช่นเคย นั่นคือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน (ผู้ขับขี่ และ
ผู้โดยสาร น้ำหนักรวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม) เปิดไฟหน้า และผลลัพธ์ที่ได้
มีดังนี้

BRV_table1 BRV_table3

จากที่เห็นตัวเลขทั้งหมด ถ้าไม่นับ Mobilio แล้ว ถือว่าเครื่องยนต์กับเกียร์ชุดนี้
ก็ยังคงทำผลงานได้ออกมาค่อนข้างดี ทำอัตราเร่งในทุกย่านได้เป็นอันดับต้นๆ
ของกลุ่ม ในขณะที่อัตรา 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง คู่แข่งทำตัวเลขได้ระดับ
12 วินาทีกลางๆลงไปแทบทั้งสิ้น โดยที่ BR-V นั้นจะทำเวลาได้ช้ากว่า Mobilio
อยู่ราวๆ 0.4 วินาที จะยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น เมื่อดูตัวเลขส่วนของอัตราเร่งแซง
80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะในกลุ่มนั้น รถที่ทำตัวเลขแตะระดับ 8.XX วินาที
ได้นั้น มีแค่ Mobilio/BR-V เท่านั้น ส่วนคันอื่นที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ ไหลลงไปอยู่
10 วินาทีปลายๆ จนถึง 13 วินาทีเลยก็มี จะมีหลุดมา 9 วินาที กลางๆก็เห็นจะมีแค่
Suzuki Ertiga ที่เป็นรุ่นเกียร์ธรรมดาเท่านั้น

อัตราเร่งระดับนี้อยู่ในระดับไหน ? มันก็อยู่ในระดับพอๆกันกับรถเก๋ง เครื่องยนต์
1,500 – 1,600 ซีซี. นั่นล่ะครับไม่หนีกันมาก สบายหายห่วง เครื่องยนต์กับเกียร์
อัตโนมัติ CVT ลูกนี้ช่วยกันพาตัวรถทะยานไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ไต่ความเร็ว
ขึ้นไปได้ไว สมตัว

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น ทีมวิศวกรของ Honda เขา Lock ความเร็วของรถ ด้วย
วิธีการเขียนโปรแกรมให้สมองกล สั่งหรี่ลิ้นคันเร่ง เอาไว้ที่ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ในการกดคันเร่งเต็ม ครั้งแรกอาจจะลากไปได้ถึง 175 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ราวๆ
2-3 วินาที จากนั้น ECU จะสั่งให้หรี่ลิ้นคันเร่งล็อคความเร็ว (ความเร็วบนมาตรวัด
ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง GPS ขึ้นที่ 96 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

ถึงแม้ว่า ความเร็วสูงสุด จะถูกล็อก และอยู่ในระดับที่ใครๆ ก็สามารถไต่ขึ้นไป
ถึงได้ แต่ด้วยมาตรฐานของ Headlightmag เราจึงยังคง มีจุดยืนเดิมที่จะไม่
สนับสนุนให้ใครก็ตาม ที่อ่านบทความนี้จบแล้ว ไปทดลองหาความเร็วสูงสุด
กันเอาเอง เพราะมันอันตรายต่อชีวิตตนเอง และเพื่อนร่วมทาง ซึ่งก็ถือเป็น
ความผิดทางกฎหมายจราจรอีกด้วย จุดประสงค์ของการทำตัวเลขออกมาให้ดู
เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริง และ เป็นประโยชน์ในแง่ของการศึกษา ด้าน
วิศวกรรมยานยนต์ ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น ต้องเน้นย้ำกันมาเหมือนเช่นเคย

BRV_topspeed

ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่มีมาให้ถือว่าพอเพียงต่อการใช้งาน แรงดึงจากจุดหยุดนิ่ง
หรือ ในจังหวะเร่งแซง การตอบสนอง จะมาในรูปแบบเหมือนๆกัน หรือสไตล์เดียวกัน
คือ ลากรอบเครื่องสูงๆค้างเอาไว้ จากนั้นความเร็วก็จะไหลขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นรูปแบบ
การทำงานของเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT เทียบกันในกลุ่มแล้ว อัตราเร่งของ BR-V
ถือว่าพุ่งใช้ได้ ดีกว่าที่ผมคาดไว้เล็กน้อย ที่ตอนแรกแอบปรามาสไว้ว่ามันคงจะ
อืดน่าดู กับรถสไตล์นี้ แล้วให้เครื่องยนต์มาแค่ 1,500 ซีซี. เพราะส่วนตัวเองผม
เคยขับ Honda Freed มาค่อนข้างจะผิดหวัง แต่พอเป็น BR-V ที่ลู่ลมกว่า บวกกับ
เกียร์อัตโนมัติ แบบ CVT ทำงานได้ไหลลื่นกว่า มันเปลี่ยนบุคลิกตัวรถไปได้ดี
พอสมควร กระฉับกระเฉงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าต้องการทำเวลา หรือ อยากได้การตอบสนองที่ทันใจมากขึ้นในบางจังหวะ
เปลี่ยนการขับขี่ จากปกติ มาเป็นโหมด “มุด” ก็ให้ขยับคันเกียร์ มาที่ โหมด S
รอบจะตีขึ้นไป รอมากกว่าโหมด D ปกติ ประมาณ 1,000 – 1,500 รอบ/นาที
เพื่อให้เรียกกำลังมาใช้งานได้ไวขึ้นคันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองดีมาก ไว ตามสั่ง
แทบไม่ค่อยจะ Lag ด้วยซ้ำ อยากเรียกใช้แรงบิดเมื่อไหร่ และแค่ไหนก็ทำงาน
ได้กระชับฉับไว

เมื่อเทียบกับ Mobilio อัตราเร่งทั้ง 0-100 / 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน
BR-V นั้น จะด้อยกว่ากันอยู่ 0.4 วินาที ทั้ง 2 ช่วง หากไม่ได้ยกนาฬิกาขึ้นมา
จับเวลา คุณอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันอืดกว่ากันหรอกครับ พอๆกันนั่นแหละ
เวลาที่ช้ากว่า เหตุผลก็มาจาก หลายสิ่งประกอบกัน ทั้งน้ำหนักตัวที่มากกว่ากัน
20 กิโลกรัม ตัวรถที่ยกสูงกว่ากัน 12 มิลลิเมตร ขนาดล้ออัลลอยที่เพิ่มจาก
15 นิ้วเป็น 16 นิ้ว และ ที่น่าจะจุดสำคัญคือ Aero Dynamics หรือ อากาศ
พลศาสตร์ช่วงด้านหน้ารถ ที่ BR-V นั้นจะดีไซน์ให้ตั้งชัน ต้านลมมากกว่า
นั่นเอง

หากรถจอดหยุดนิ่ง เข้าเกียร์ P กดคันเร่งสุด จะลากรอบได้ถึง 4,000 รอบ/นาที
ระบบสั่งตัดการจ่ายน้ำมันเป็นระยะๆ ไม่สามารถลากถึง Redline ได้ ก็อย่าตกใจ
เป็นปกติของ Honda เกียร์อัตโนมัติทุกรุ่น ที่มีลักษณะนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2001 แล้ว

การเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
การเก็บเสียงก็ถือว่าทำได้อยู่ในระดับมาตรฐานทั่วไป แต่เมื่อไหร่ที่เกินกว่านั้น
คุณอาจต้องเพิ่มเสียงพูดหรือเร่ง Volume ของเครื่องเสียงให้ดังขึ้นอีกเล็กน้อย
เพราะเสียงจากครึ่งคันรถด้านล่าง จะเริ่มดังเข้ามามากขึ้น ประกอบกับตามขอบ
ประตู-หน้าต่าง เสียงลมจะเริ่มเข้ามารบกวนบ้าง ในภาพรวมของการเก็บเสียง
ถือว่าอยู่ในระดับพอใช้ได้ ไม่ถึงกับเงียบ แต่ก็ไม่ได้ดังกระหึ่มเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
ในกลุ่ม ในด้านนี้ Mobilio จะทำได้ดีกว่า BR-V อยู่นิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหา 1 จุดที่เราพบใน BR-V แต่ไม่เคยเจอใน Honda รุ่นอื่น
เราจึงอยากจะขอเขียนถึงสักหน่อย มันคือเรื่องกลิ่นจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในห้อง
โดยสาร มากกว่าปกติ เป็นปัญหาประจำรุ่นนี้ จอดเหนือท่อระบายน้ำ จอดข้าง
ร้านหมูปิ้ง ขับตามหลังรถกระบะ รถบรรทุก มีกลิ่นควันไอเสียเข้ามาแรง ฮอนด้า
เหมือนจะทราบปัญหานี้แล้ว ที่ศูนย์บริการ มีการแก้ปัญหาเบื้องต้นเฉพาะหน้า
โดยให้ช่างปรับสายสลิงแผ่นเปิดปิดรับอากาศภายนอกให้สายตึงขึ้น แต่นั่น
ช่วยได้เพียงเล็กน้อย ปัญหาที่แท้จริงเกิดจาก การออกแบบช่องเปิด-ปิด
กันอากาศจากภายนอกเข้ามาได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีปัญหาทั้งเวอร์ชั่นไทยและ
เวอร์ชั่นอินโดนีเซีย

การที่กลิ่นเข้ามาบ้างถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น มีเผาหญ้าข้างทาง
แล้วรถเราวิ่งผ่าน ก็จะมีกลิ่นเข้ามาบ้างก็ไม่แปลก เพราะระบบหมุนเวียนอากาศ
ในรถ ต้องมีช่องเข้า-ออกจากอากาศภายนอกบ้าง เพื่อรักษาอากาศในรถไม่ให้
อึดอัดจนเกินไป แต่กับ BR-V ไม่ต้องถึงขั้นนั้นหรอกครับ จอดเฉยๆกลิ่นก็เข้ามา
รบกวนมากกว่าปกติแล้ว เรื่องนี้ Honda ต้องรีบแก้ไข เพราะทั้ง Brio/ Brio
Amaze และ Mobilio ที่ใช้ Platform เดียวกันนี้ กลับไม่พบเจอปัญหาแต่อย่างใด

BRV_VSA

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้าผ่อนแรง EPS
(Electronics Power Steering) อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 16.9 : 1 หมุนจาก
ซ้ายสุดไปขวาสุด 3.42 รอบ รัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร หนืดขึ้นกว่า Mobilio อยู่
เล็กน้อย ( Mobilio 16.77) รวมถึงรัศมีวงเลี้ยวจะกว้างกว่านิดหน่อย จากระยะ
ฐานล้อที่มากกว่าบวกกับขนาดล้อที่ใหญ่กว่า (Mobilio 4.6 เมตร)

ในช่วงความเร็วต่ำ ถูกปรับตั้งอัตราทดเฟืองพวงมาลัยมาให้ มีน้ำหนักกำลังดีมากๆ
เบากำลังดี ไม่โหวง ช่วยให้การเลี้ยวในช่วงเข้าจอดรถ สะดวก คล่องแคล่ว และ
สามารถขับขี่ไปตามตรอกซอกซอย ได้กำลังดีมากๆ ทำให้คุณมุดลัดเลาะไปตาม
สภาพการจราจรติดขัด ได้อย่างคล่องแคล่ว และว่องไวระยะฟรีไม่มาก

ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยออกจะเบาไปสักเล็กน้อย แนะนำว่าอย่าหักพวงมาลัย
เยอะเกินไป รวมถึง การหักหลบสิ่งของหรือ รถต่างๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะได้การ
ตอบสนองที่มากเกินกว่าที่คิด ภาพรวมใกล้เคียงกับ Ertiga เหมือนยกเอาพวงมาลัย
ของรถเล็กเช่น Brio/City/Jazz มาลงใน BR-V เลย ส่วนตัวมองว่าถ้าอยู่ในรถเล็ก
อย่างนั้นมันลงตัว โอเคมากๆ แต่ในทางกลับกันเมื่ออยู่ใน BR-V  ซึ่งเป็นรถที่ใหญ่กว่า
ยาวกว่า ควรมีระยะฟรีที่มากกว่านี้อีกหน่อย ทดเฟืองพวงมาลัยให้หนืดกว่านี้อีกนิด
หน่วงมืออีกหน่อย ในช่วงความเร็วสูง ก็จะลงตัวกับรถประเภทนี้มากกว่า เพราะ
พวงมาลัยของ BR-V จะถูกเซ็ตมาเอาใจการขับขี่ ลัดเลาะไปในเมือง เหมาะกับ
ความเร็วต่ำ-ปานกลางมากกว่า

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต และด้านหลัง แบบทอร์ชันบีม
H-Shape ช่วงล่างยังคงมาในสไตล์ Honda คือ ในช่วงความเร็วต่ำยังมีอาการ
สะเทือน ตึงตัง อยู่บ้างเล็กน้อย แม้การวิ่งทางตรง ถนนเรียบๆ จะมีความนุ่มอยู่
การขับขี่ บนถนนในเมือง เป็นไปอย่างนุ่มนวลกำลังดี ไม่นุ่มนิ่มย้วยย้อยห้อยเหี่ยว
เกินไป แต่หากเจอลูกระนาด หรือช่วงรอยต่อถนนก็มีอาการแสดงให้เห็น

การใช้ความเร็วที่มากขึ้นขณะวิ่งทางตรง ถือว่าค่อนข้างนิ่งใช้ได้ ไม่รู้สึกน่ากลัว
ไม่มีอาการย้วยยวบ หรือสั่นไหว ส่ายโคลง แต่เมื่อไหร่ที่เจอกับลมประทะด้านข้าง
เช่น วิ่งบนบูรพาวิถี หรือ เส้นคู่ขนานลอยฟ้า ทางด่วนบางช่วง จะรู้สึกได้ถึงอาการ
แกว่งข้างที่มีมาให้พบเจอกันอยู่ค่อนข้างชัด ซึ่งเป็นปกติของรถประเภทฐานล้อแคบ
ทรงกล่องสูงแบบนี้อยู่แล้ว ประกอบกับพวงมาลัยในช่วงความเร็ว 100-120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ที่ออกจะมีความไวไปหน่อย เลยทำให้เมื่อลมมาประทะต้องเพิ่มสมาธิในการ
ควบคุมพวงมาลัย เพราะไม่เช่นนั้นหากรถมีอาการแกว่งข้าง พวงมาลัยที่ไวแบบนี้
จะช่วยเติมอาการเข้าไปอีก

เทียบกับคู่แข่งอย่าง Ertiga ภาพรวมช่วงล่าง และการบังคับควบคุมยังแอบเหนือกว่า
BR-V อยู่ แต่คุณก็ต้องแลกกับ อัตราเร่ง ที่ออกจะอืดอาดกว่ากันพอสมควรในการ
ใช้งานจริง

ขณะเดียวกัน BR-V ก็ให้ความมั่นใจบนทางโค้งได้ดี เกาะถนนพอใช้ได้อยู่ในระดับ
กลางๆ ถ้าเทียบกับ Mobilio แล้ว BR-V จะมีอาการเท หรือ แถออกมากกว่าอยู่นิดๆ
เมื่อเข้าโค้ง ด้วยความเร็ว จากตัวรถที่บาลานซ์ต่างกัน การยกสูงขึ้นมาอีกนิดหน่อย
รวมถึงการเอียงของรถ ทำให้ความมั่นใจลดลงไปบ้าง ก็คงต้องทำใจ เพื่อแลกกับ
จุดประสงค์ และ สไตล์ของตัวรถที่ทำออกมาต่างกัน

กระนั้น ผมยังไม่ขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนเลนกระทันหัน ในระหว่างขับรถคันนี้ คุณ
ควรมองทางไกลๆ แม้ว่าจะมีระบบควบคุมการทรงตัว VSA (Vehicle Stability
Assist) มาให้ในทุกรุ่นย่อยก็ตาม ให้ตัดสินใจแต่เนิ่นๆ จะดีกว่า เพื่อหลีกเลียง
ความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ อันมีสาเหตุจากอาการท้ายออกจนรถเสีย
การทรงตัว ซึ่งเป็นอาการที่รถยนต์ทรงสูง Minivan ,SUV และพวกรถยนต์ที่มี
ระยะฐานล้อยาว มักจะเป็นกัน ตามธรรมชาติของมัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระบบห้ามล้อ หรือระบบเบรก ของทุกรุ่น เป็นแบบดิสก์เบรกคู่หน้า ดรัมเบรกคู่หลัง
นอกจากนี้ ยังติดตั้ง ตัวช่วยพื้นฐาน (ของรถยนต์สมัยนี้) มาให้เพียง 2 รายการ นั่นคือ
ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) และ ระบบกระจาย
แรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution)

แป้นเบรก ถูกเซ็ตมาให้ตอบสนองอย่างนุ่มนวล มีน้ำหนักเหมาะสม ยืดหยุ่นกำลังดี
ในขณะขับขี่ไปตามถนนหนทางในเมือง ช่วงที่ใช้ความเร็วต่ำ ถ้าต้องการเบรกชะลอ
รถให้ นุ่มนวล ไม่มีอาการสะดุดกระชาก ระยะฟรีของแป้นเบรกไม่ได้มาก และก็ไม่ได้
ไวเกินไป แต่จะตอบสนองได้ดีต้องเพิ่มแรงกดเข้าไปมากหน่อย ถ้ากดได้ระยะมันแล้ว
ก็หน่วงความเร็วได้ดี หากใช้ความเร็วมาสูง เหยียบกดลงไป เพื่อหน่วงความเร็วอย่าง
ต่อเนื่อง ก็จะมีอาการแป้นเบรกสั่นหน่อยๆ เป็นปกติของรถยนต์ Honda แทบจะทุกรุ่น
ทางแก้คือ เปลี่ยนผ้าเบรกที่มีเกรดสูงกว่านี้ก็จะช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้น ภาพรวม
ของระบบเบรกไม่เลวร้าย หากคิดว่ามันเป็นหน้าดิสก์ หลังดรัม แต่ก็ไม่ได้ถือว่าน่า
ประทับใจมากนัก ถ้าเทียบกับรถของคู่แข่งในระดับราคานี้

2016_05_Honda_BR_V_Safety BRV_asean

ด้านความปลอดภัย BR-V ยังคงใช้แนวทางการพัฒนาโครงสร้างตัวถังแบบ
G-CON กระจายแรงปะทะไปทั่วทั้งคัน นอกจากนี้อุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐาน
ยังติดตั้งถังลมนิรภัยคู่หน้า 2 ตำแหน่ง ระบบควบคุมการทรงตัว VSA, ระบบช่วย
ออกตัวบนทางลาดชัน HSA, ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ABS, ระบบกระจายแรง
เบรก EBD มาให้ครบทั้ง 2 รุ่นย่อย

อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบการชนจากหน่วยงาน ASEAN NCAP ก็มีออกมา
เรียบร้อยแล้ว BR-V ทำผลงานได้อยู่ในระดับ 5 ดาว ได้ 14.79 จากคะแนนเต็ม
16.00 ในการปกป้องผู้ขับขี่ และ ผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ ส่วนการปกป้องผู้โดยสาร
ที่เป็นเด็กอยู่ในระดับ 4 ดาว คิดเป็นร้อยละ 72

BRV_Fuel_Full

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

แม้ว่า BR-V จะใช้เครื่องยนต์เหมือนๆกันกับ Mobilio รหัส L15Z1 ก็ตามที
จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ แบบอัตราทดแปรผัน CVT แต่ด้วยความสูงของตัวรถ
ที่มากกว่า เล็กน้อย รวมถึงราวหลังคาขนาดย่อม น้ำหนักตัวรถที่มากกว่า และ
ด้านหน้ารถส่งผลถึง Aero Dynamics ที่ต่างกัน ดังนั้นแล้วตัวเลขความ
ประหยัดน้ำมันล่ะ มันจะแตกต่างมากน้อยแค่ไหน ?

เพื่อหาคำตอบนี้ เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิม ด้วยการ
พา BR-V ไปเติม น้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex
ริมถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่มีเครืองยนต์ ไม่เกิน 2,000 ซีซี ราคาไม่เกิน 1.5 ล้าน
บาท และ ยังเป็นรถยนต์ที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ซึ่งซีเรียส
กับตัวเลข ความประหยัดน้ำมัน มากกว่าลูกค้ารถยนต์ประเภทอื่นๆ เราจึงเติม
น้ำมันด้วยวิธีการ เขย่ารถ เพื่ออัดกรอกน้ำมันลงไปให้เต็มถังมากที่สุด ให้น้ำมัน
ไหลเข้าไปแทนที่อากาศในถัง ลดปริมาณฟองอากาศในถังให้น้อยที่สุด เพื่อ
ลดความเพี้ยนในการทดลองให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้ร่วมทดลอง และ สักขีพยาน ยังคงเป็นพี่โจ๊ก V10ThLnD สมาชิก กลุ่ม
The Coup Team เหมือนเช่นเคย

BRV_Fuel_back

เมื่อเติมน้ำมัน เต็มความจุถังขนาด 48.5 ลิตร (ไม่รวมคอถังอีกนิดหน่อย) ตรงนี้
ขนาดของถังน้ำมันจะใหญ่กว่า Mobilio ที่มีความจุ 42 ลิตร เราก็เริ่มติดเครื่องยนต์
คาดเข็มขัดนิรภัย เปิดแอร์ พัดลมระดับ 2 ปรับอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์
แล้วไปเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนน
พระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยัง
ปลายทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน อีกรอบ รักษาความเร็ว
ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดเครื่องปรับอากาศ
เปิดไฟหน้า และนั่ง 2 คน

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยว
กลับรถ ที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex
อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มอีกรอบ ด้วยวิธีการเขย่ารถ
เหมือนครั้งแรก

BRV_Fuel_back2

มาดูตัวเลขของ BR-V 1.5 SV เกียร์อัตโนมัติ CVT กันเลย!

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 94.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.50 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 14.46 กิโลเมตร/ลิตร

BRV_table2 BRV_table4

เอาล่ะครับ เมื่อเทียบกับ Mobilio ซึ่งมีตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 15.12
กิโลเมตร/ลิตร จะพบว่า BR-V ที่มีด้านหน้ารถที่ต้านลมมากกว่า ตัวรถที่สูง
กว่ากันเล็กน้อย ตัวหนักกว่าอยู่ 20 กิโลกรัม ทั้งหมดนี้เองที่ส่งผลทำให้อัตรา
กินน้ำมันกว่า Mobilio อยู่ประมาณ 0.7 กิโลเมตร/ลิตร

กระนั้นหากเทียบกับรถในกลุ่ม Segment MiniMPV เกียร์อัตโนมัติทั้งหมด
BR-V ยังถือว่าประหยัดอยู่ลำดับต้นๆของกลุ่มเป็นรองแค่พี่น้องรวมเชื้อไขอย่าง
Mobilio เท่านั้น ประหยัดน้ำมัน ในระดับเทียบเคียงกันได้กับ Honda Freed
และ Suzuki Ertiga (เกียร์อัตโนมัติ) อีกทั้งยังประหยัดหนี Toyota Avanza
รุ่นเครื่องยนต์เดิมไปถึง 2 กิโลเมตร/ลิตร เลยทีเดียว

BRV_tank_km

มาถึงตรงนี้ ดูตัวเลขแล้วยังสงสัยว่า แล้วน้ำมัน 1 ถังของ BR-V ที่มีความจุ 48.5 ลิตร
นั้น จะพาคุณแล่นไปได้ไกลขนาดไหน คำตอบคือ เส้นทางส่วนใหญ่ก็จะเจอกับรถติด
เป็นปกติ เส้นราชพฤกษ์เดี๋ยวนี้ ติดทั้งเช้าทั้งเย็น แต่ไปแบบเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ มีช่วง
ว่างก็กดคันเร่ง เพื่อทำความเร็วบ้าง วิ่งบนทางด่วนไปบางนา เพื่อรับพี่จิมมี่ไปถ่ายรูป
ที่สะพานปลา โดยใช้เส้นบูรพาวิถี ทำความเร็วประมาณ 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เร็วกว่านี้ไม่ได้มาก เพราะ กระแสลมค่อนข้างแรง บวกกับช่วงนี้เป็นหน้าฝน ถนนค่อน
ข้างลื่น นอกจากนั้นจะเป็นการใช้เส้นทางด่วน วิ่งไปกลับ บางใหญ่ – บางนา เสียมากกว่า
เจอรถติดเสียเยอะ

ลักษณะการจราจรส่วนใหญ่ก็จะเจอกับรถติด มีช่วงว่างก็เหยียบเรียกอัตราเร่ง เพื่อทำ
ความเร็วอย่างต่อเนื่องก็มี น้ำมันในถังเหลือค้างไว้ 2 ขีดอย่างที่เห็นในภาพ บนมาตรวัด
แสดงตัวเลข 457 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าหากคุณไม่ได้บ้าระห่ำ กดคันเร่งแบบ
หนักหน่วง ก็น่าจะได้ตัวเลขที่ 550 – 600 กิโลเมตร ต่อ 1 ถังอย่างไม่ยากเย็นนั้น

2016_05_Honda_BR_V_07

********** สรุป **********
BR-V มันคือ Mobilio ที่ถูกจับแต่งตัวให้ดูเป็นลุค Crossover ยกสูงขึ้น
นิดหน่อย
ปรับหน้าตาให้หล่อเหลา ดูบึกบึนกว่าเดิม โดยต้องยอมแลก
กับอัตราเร่งที่อืดลงเพียงนิดเดียว และ อัตราสิ้นเปลือง
ที่สูงกว่าเดิม

Honda วางตำแหน่งของ BR-V ให้เป็น SUV/Crossover น้องเล็กสุดท้องต่อจาก
HR-V และ CR-V ดังนั้น หลากหลายข้อจำกัด และข้อควรต้องปรับปรุง ต่างๆ ถูก
เติมเต็มเข้าไป ทำให้ Minivan คันนึง กลายร่างเป็น Crossover 7 ที่นั่งขนาดเล็ก
ไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังคงไว้ซึ่งอรรถประโยชน์ใช้สอย ตามใจกลุ่ม
ลูกค้าประเภทครอบครัวยุคใหม่ต้องการ

การที่พื้นฐานของตัวรถที่ถูกพัฒนามาจาก Mobilio พอมาเป็น BR-V ก็ถูกยกพื้น
ตัวถังให้สูงขึ้นเล็กน้อย ทำให้ความมั่นใจในช่วงเข้าโค้งลดลงไปบ้าง แต่สำหรับ
ทางตรงนั้นทำได้ค่อนข้างดี ภายในห้องโดยสารที่ถูกปรับแก้ไขดีไซน์ให้ดูดีขึ้นจาก
แผงแดชบอร์ดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมาตรวัด สวิตซ์ควบคุมระบบปรับอากาศ ทำให้
ภาพรวมดูดีมีราคามากขึ้น

ส่วนต่างตัวท๊อประหว่าง Mobilio กับ BR-V อยู่ที่ 90,000 บาท นอกเหนือจาก
งานดีไซน์ที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลแล้ว เราจะได้อะไรเพิ่มมาบ้าง
เริ่มที่ภายนอกกันก่อน ก็มีล้ออัลลอยที่เพิ่มขนาดจาก 15 นิ้ว เป็น 16 นิ้ว, ราวหลังคา,
คิ้วกรุซุ้มล้อ ส่วนภายในห้องโดยสาร นอกจากดีไซน์ของแผงแดชบอร์ดที่ต่างกันแล้ว
BR-V ก็จะได้มาตรวัดใหม่ ที่พกพาเอาจอแสดง ข้อมูล MID ที่ใหญ่ขึ้นมาด้วย
พวงมาลัยทรงใหม่ แต่ฟังก์ชั่นใช้งานนั้นยังเหมือนเดิม หน้าจอเครื่องเสียงใหม่
6.1 นิ้ว พ่วงกล้องมองภาพขณะถอยจอดเพิ่มมาให้ สิ่งที่แพรวพราวสวยงามขึ้น
จากเดิมก็จะเป็นชุดสวิตซ์ควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ รวมถึงเบาะนั่ง
หุ้มด้วยหนัง และฝ้าเพดานที่ใช้โทนสีดำ และนั่นคือทั้งหมดที่ได้เพิ่มขึ้นมา เรา
คงจะไม่บอกว่าคุ้มหรือไม่ คุณเจ้าของเงินจะเป็นผู้ตัดสินเอง เพราะแต่ละคนให้
ความสำคัญของสิ่งของไม่เท่ากัน

2016_05_Honda_BR_V_08

ภาพรวมของ BR-V ก็ยังคงเป็นรถที่มีอรรถะประโยชน์ใช้สอยที่สูง พื้นที่กว้างขวาง
มองจาก ภายนอกดูไม่น่าจะใหญ่ แต่ภายในกลับตรงกันข้าม Honda จัดสรรพื้นที่
ได้ค่อนข้างดี เหมาะกับครอบครัวที่กำลังจะเริ่มขยาย เพิ่มจำนวนสมาชิก หรือ
คนที่กำลังจะสร้างธุรกิจเป็นของตนเองได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ใน list option ต่างๆ
จาก Specsheet จะค่อนข้างดูเต็มดูแน่น ดูคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา แต่ในรถคันจริง
ก็มีบางอย่างหายไป ที่ต้องแลกกันบ้าง เช่น เข็มขัดปรับระดับ สูงต่ำไม่ได้ หรือ
เบาะนั่งที่ปรับได้แค่ 4 ทิศทางเป็นต้น ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง

อัตราเร่งถือว่าใช้ได้ ไม่อืดอย่างที่คิด สามารถพาตัวรถลัดเลาะไปในเมืองได้ดี
จะวิ่งทางไกลก็อุ่นใจ อยู่ในระดับหัวแถวของกลุ่ม การนั่งเต็มคันรถก็อาจต้องทำใจบ้าง
แต่ก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร เมื่อเทียบกับความจุของเครื่องยนต์ระดับนี้ ทำได้ดีสมตัว
เลยทีเดียว อัตราสิ้นเปลืองถือว่า อยู่ในระดับค่อนข้างโอเค ต้นๆของกลุ่มเช่นเดียวกัน
ทุกอย่างอยู่ในระดับกลางๆ ไม่โดดเด่น แต่ก็ไม่แย่ ซึ่งตรงนี้ BR-V ตอบโจทย์ความ
ต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี

หากเปรียบเป็นอาหาร ก็คงนึกถึง ยำรวมมิตรสักจาน ที่รสชาติไม่ได้จัดจ้าน หรือ
โดดเด่นมากนัก ไม่อร่อยเลิศ แต่ก็ไม่แย่ อาหารจานนี้ทุกคนก็กินได้ ถูกปาก
ภาพรวมของ BR-V ก็เป็นเช่นนั้น เป็นรถที่ ถูกยำเอาชิ้นส่วนต่างๆของรถราคา
ไม่เกิน 1,000,000 บาท ของรถ Honda รุ่นต่างๆ มาโขลกรวมกัน มันสามารถ
รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการรถกลุ่มนี้ได้ดี หาก
อยากได้รถที่ทั้งใช้งานในเมืองก็ได้ เดินทางไกลแบบทั้งครอบครัวก็ดี งบประมาณ
ของคุณไม่ได้มีมากนัก ณ วันนี้ BR-V มันก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอันดับต้นๆ
อีกคันหนึ่งของกลุ่มเลยทีเดียว

2016_05_Honda_BR_V_09

ถ้าจะเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดทั้งหมดเวลานี้ ควรเลือกซื้อคันไหน ?

ถึงแม้ว่าฮอนด้าเอง จะวางตลาดให้ BR-V เป็น Crossover / SUV ในระดับ
B-Segment ก็ตาม แต่เมื่อดูตามอรรถะประโยชน์พื้นที่ใช้สอยแล้ว คงค่อยมี
ใครไปเปรียบเทียบกับ Mazda CX-3 หรือ Nissan Juke เป็นแน่แท้ คงต้อง
หันกลับมามองที่กลุ่ม MiniMPV เสียมากกว่า แต่กับ BR-V ดูเหมือนจะเป็น
ทางเลือกแนวใหม่ ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ที่อยากได้อรรถะประโยชน์ใช้สอย ความคุ้มค่า
พื้นที่ห้องโดยสารที่เยอะ แต่ในทางกลับกัน ก็ยังอยากได้รถที่ลุคออกดูจะลุยๆ
หน่อยเหมือนกลุ่ม B-SUV นี่เลยเป็นที่มาของ BR-V ทางสายกลางระหว่าง
รถทั้ง 2 แบบ 2 Segment ที่เอามายำรวมกันให้ออกมาเป็นรถคันเดียว

ดังนั้นผมเลยขอเปรียบเทียบ กับกลุ่ม MiniMPV ซึ่งดูจะเหมาะสมกับ
ตัวเลือกของคุณผู้อ่านมากกว่า ว่าไปทีละคันกันเลยดีกว่า

Honda Mobilio พี่น้องร่วมสายเลือด รุ่น MY2016 มีการเพิ่มระบบ
ควบคุมการทรงตัว VSA รวมถึงปรับจูนเครื่องยนต์ให้รองรับน้ำมัน E85
ได้แล้ว เหมือนกับ BR-V คุณจ่ายถูกกว่า ช่วงล่างเฟิร์มกว่านิดหน่อย เร่งดีกว่า
ประหยัดกว่า นอกนั้นก็แทบจะไม่ต่างจาก BR-V เลย หากคุณไม่ได้ติดใจ
ในเรื่องงานออกแบบ แผงแดชบอร์ดภายในห้องโดยสารที่เหมือนกับ Brio
รุ่นก่อน Minorchange แล้วล่ะก็ เจ้านี่ล่ะ ดูจะลงตัวเกือบจะทุกๆด้าน ต่างกัน
ที่สไตล์ล้วนๆ ว่าคุณถูกใจกับ แบบไหนมากกว่ากัน ดูลุยๆบึกบึน หรือ แนว
เรียบๆสไตล์รถ MPV ทั่วไป ถ้าเมื่อไหร่ที่ Mobilio ปรับไปใช้แผงแดชบอร์ด
เหมือน BR-V แล้วล่ะก็ ศึกสายเลือดคงเกิดขึ้น เป็นแน่แท้ ซึ่งคาดว่าน่าจะ
ไม่นานเกินรอนัก

Toyota Avanza ในฐานะเจ้าตลาดที่กำลังจะยกเลิกทำตลาดแล้วในไม่ช้า
ในวันนี้ รุ่นล่าสุด ก็ถูกปรับปรุงเครื่องยนต์ใหม่ บล๊อกเดียวกับ Vios MY2016
จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อมกับระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ฟังดูเหมือนจะดี
ในสายตานักขับรถ แต่สมรรถนะของช่วงล่างกลับไม่ได้โดดเด่นสักเท่าไหร่
รวมถึง ระบบความปลอดภัยช่วยเหลือการขับขี่ ควบคุมการทรงตัวที่ยังไม่มี
การใส่มาให้ ที่แน่ๆ เบาะแถวกลางยังคงเป็นขวัญใจ อากง อาม่า ในทุกครา
ที่ถึงเวลาพาไปหาหมอ ที่โรงพยาบาลในเขตเมืองใหญ่ เอาล่ะ หากใครเป็น
แฟนคลับตัวยง ที่ยังไงก็มองโตโยต้า เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ขอให้รอดู
Sienta ที่จะมาทำตลาดแทนในช่วงปลายปีนี้ดีกว่า

Suzuki Ertiga โดดเด่นด้วยภายห้องโดยสาร ที่ดูดี หรูหรา เบาะหนานุ่ม
นั่งสบาย มากที่สุดในกลุ่มนี้ทั้ง 3 แถว อัตราเร่ง ควรทำใจ รุ่นเกียร์อัตโนมัติ
หนะอืดอาด เพราะ เครื่องยนต์ 1,400 ซีซี เค้นกำลังในช่วงรอบต่ำ ออกมา
ได้แค่ที่เห็นเว้นเสียแต่ว่า จะเรียกกำลังในช่วงรอบกลางๆ ไปแล้ว ยิ่งช่วงปลาย
จะไหลลื่น น่าเสียดายที่รุ่น Minorchange มีการปรับหน้าตาให้ดูแปลกตา
กว่ารุ่นเดิมที่ออกแนวเรียบร้อย ที่สำคัญดันให้ออพชัน มาแบบพอเพียง
ไปหน่อย เหมาะกับราคาค่าตัวที่ก็ไม่ได้สูงมากนัก แต่หากใครต้องการ
ออพชั่นที่แพรวพราวอาจต้องมองคันอื่นแทน

Chevrolet Spin และ Honda Freed ยกเลิกการนำเข้า และจำหน่าย
ไปเรียบร้อยแล้ว ขออนุญาตข้ามไปเลยก็แล้วกันครับ

2016_05_Honda_BR_V_10

แล้วถ้าตัดสินใจได้ว่า จะซื้อ BR-V รุ่นย่อยไหน จึงจะเหมาะกับคุณ?

1.5 V CVT (5Seats) – 750,000 บาท
1.5 SV CVT (7Seats) – 820,000 บาท

มีทางเลือกให้แค่ 2 ตัวเลือก แบบแตกต่างกันไปเลย คือ 5 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่ง
ตัวเริ่มต้นอย่างรุ่น 5 ที่นั่ง กับ ตัวท๊อป 7 ที่นั่ง มีอะไรต่างกันบ้าง ? กับส่วนต่าง
ที่ห่างกัน 70,000 บาท ไปดูรายละเอียดได้ที่ link ด้านล่างนี้เลยครับ

เจาะสเป็ค-Option-รุ่นย่อย-ราคา Honda BR-V ทั้งแบบ 5 ที่นั่งและ 7 ที่นั่ง
http://community.headlightmag.com/index.php?topic=48541.0

จากรายการ Option ที่เป็นส่วนต่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รุ่น V 5 ที่นั่งจะ
ตอบโจทย์ลูกค้า กลุ่ม SME พ่อค้า แม่ขาย หรือ คนที่ทำธุรกิจที่อยากได้ร
ถอเนกประสงค์ มีพื้นที่ขนของได้เยอะ แต่ไม่อยากได้รถคันใหญ่แบบกระบะ
เอามาเป็นรถใช้งานประจำวัน รถคันเดียวของบ้านก็ยังได้

ส่วนรุ่น 7 ที่นั่ง ฮอนด้าจะเน้นจัดออฟชั่นตอบสนองการนั่งโดยสารเสียมากกว่า
อันที่จริง จากที่ผมได้ลองสอบถาม หรือ สำรวจดูความต้องการของคนที่กำลัง
จะดูรถประเภทนี้อยู่ พบว่าหลายคนอยากได้ออฟชั่นแบบรุ่น SV 7 ที่นั่ง แต่
ไม่ต้องการเบาะแถว 3 ก็เป็นทางเลือกที่ดี เหมือนกันนะครับ ถ้าหากมีรุ่นย่อย
SV 5 ที่นั่งเพิ่มเข้ามา ลดราคาส่วนต่างที่เอาเบาะแถวที่ 3 ออกไปลงมาอีกหน่อย
ขายอยู่ราวๆ 790,000 บาท ดูจะตอบโจทย์ใครหลายๆคนได้เป็นอย่างดี ไม่รู้ว่า
ในอนาคตจะมีหรือไม่

แต่ตอนนี้ก็มีลูกค้า BR-V ที่ซื้อรุ่น 7 ที่นั่งมา ลอง DIY เองแล้ว โดยการถอดเบาะ
แถวที่ 3 ออก ง่ายๆเลยครับ มีสกรูยึดไว้แค่ 4 ตัว ไขออก ก็เป็นอันเรียบร้อย เอา
เป็นว่าตัวเลือกที่ Honda จัดรุ่นย่อยมาให้ตัดสินใจกันง่ายๆ ก็อยู่ที่ว่าสิ่งที่เพิ่ม
มานั้น คุณมองว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็เอารุ่น 5 ที่นั่งก็ได้ เพราะระบบ
ความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆ ของ 2 รุ่น มีมาให้เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบเบรก
ABS/EBD/BA ระบบควบคุมการทรงตัว VSA, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน
HSA และ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ตำแหน่ง

BRV_side

สุดท้ายอยากฝากถึง Honda Automobile Thailand ว่าจุดที่ควรปรับปรุง
แก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องกลิ่นจากภายนอกที่เข้ามารบกวนในห้องโดยสาร
ที่มากกว่าปกติ รีบปรับ ชิ้นส่วน PART ที่เกี่ยวข้องกับช่องเปิดรับอากาศจาก
ภายนอกเข้ามา นอกนั้นก็ถือว่าไม่มีปัญหา อะไรที่พบเจอให้กวนใจมากเท่าไหร่
สำหรับ BR-V รายละเอียดสิ่งเล็กๆน้อยที่ถูกตัดออกไป หากมองว่าตัวรถนั้น
ราคา 820,000 บาท เข็มขัดปรับระดับสูงต่ำได้ เบาะนั่งคนขับปรับระดับสูงต่ำ
ได้ ก็ควรจะมีมาให้ด้วย

Brio ต่อตูด ? จาก Mobilio ก้าวสู่ BR-V ถือว่าฮอนด้าค่อนข้างประสบความ
สำเร็จ ในการลบภาพลักษณ์เดิมๆว่า เจ้ารถคันนี้มันเป็นแค่ Brio 7 ที่นั่ง เพราะ
สิ่งต่างๆที่พี่จิมมี่ ได้เคยพูดไว้ในช่วงท้ายของ Full Review Honda Mobilio
ว่าทำอย่างไรก็ได้ ให้มันดูแล้วไม่เหมือน Brio อย่างที่ Mobilio เป็นอยู่ สิ่งเหล่า
นั้นได้ถูกแก้ไข ปรับออกมาเป็นเจ้า BR-V คันนี้ ที่ฉีกจากความเป็น Brio ได้เป็น
ที่สำเร็จ เรียกได้ว่าขยับนิดชีวิตเปลี่ยนสังเกตจากยอดขายรถยนต์ รายเดือนที่
เรานำเสนอได้ เพราะในเดือนที่ BR-V ถูกเปิดตัวนั้นยอดขายของ Mobilio
ก็ร่วงลงทันที เพราะ ดีไซน์ก็ถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจ
ซื้อรถของลูกค้าชาวไทยอยู่ไม่น้อย

อีกสิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ คุณภาพงานประกอบรถยนต์ ใส่ใจกับ
รายละเอียด เล็กๆน้อยๆ ก็ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ สร้างความเชื่อมั่น
ในผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อความภักดีในตัวแบรนด์ ให้เป็นแบรนด์ในดวงใจ กลับมา
ซื้อต่อเรื่อยๆไม่หนีไปไหน หากฮอนด้าสามารถพัฒนาตรงจุดนี้ได้ดีขึ้นกว่าที่
เป็นอยู่ ก็จะทำให้การรักษาตำแหน่งแชมป์ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
(Passenger Cars) เป็นไปได้อย่างสบายๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว นอกจากลูกค้า
จะไม่กลับมาแล้ว ยังสาปแช่งส่งท้ายเสียด้วยซ้ำ

เพียงเท่านี้ลูกค้าก็แทบจะวิ่งเข้าหาอยู่แล้ว เพราะ ฮอนด้าเองก็เก่งในเรื่อง
การตอบโจทย์ลูกค้า ทำรถออกมาแต่ละรุ่น รู้ว่าลูกค้าชอบอะไร ต้องการอะไร
ส่วนที่ดีก็ขอให้รักษาตรงนี้เอาไว้ ส่วนที่ควรปรับปรุงแก้ไข ก็ขอให้พัฒนาให้
ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะ นอกเหนือจากงานขาย ก็ต้อง ควบคู่ไปกับงานบริการหลัง
การขาย ที่สำคัญ คุณภาพชิ้นส่วน และงานประกอบต่างๆต้องดีด้วย

เห็นด้วยไหมครับ…?

2016_05_Honda_BR_V_11

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ


บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
ทดลองขับ Honda MOBILIO 1.5 CVT RS FWD 


 

Teerapat Achawametheekul (Moo Cnoe)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด
เป็นผลงานของผู้เขียน และ J!MMY
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
28 มิถุนายน 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures 
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 28th,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ ที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE !