.

ภาพของ BMW 2002 ti สีส้มคันหนึ่ง แล่นอยู่บนถนนเส้นหนึ่งซึ่งทอดยาว
ไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จุดหมาย เพื่อส่งไม้ต่อให้กับ BMW 2-Series Coupe’
สีแดง ที่จอดรออยู่ ได้ถอยหลังกลับอย่างรวดเร็ว ก่อนทำ J-Turn แล้ววิ่งต่อ
ราวกับกำลังทำพิธีสืบทอด สานต่อบุคลิกดั้งเดิมของ BMW ที่ทั่วโลกยกย่อง
และยังเฝ้าถวิลหา จากภาพยนตร์โฆษณา BMW 2-Series ใหม่ ในเว็บไซต์
ของ BMW AG. และทาง Youtube ปรากฎขึ้นมาในหัวผม

มันเป็นภาพที่น่าประทับใจมากครับ มันมาพร้อมความรู้สึกแอบตื่นเต้นเล็กๆ
เมื่อได้รู้ว่า 2-Series Coupe’ รุ่นเปลี่ยนโฉมของ 1-Series Coupe’ ที่เรารอกันมา
พักใหญ่ กำลังจะมาถึงเมืองไทยเสียที

มันย้อนให้ผมระลึกถึงความประทับใจในบุคลิกการขับขี่ของ 120d Coupe’
(E83) ที่ผมเคยลองขับ เมื่อ 6 – 7 ปีก่อน ต่อให้ผมมองว่า ราคาของมันแพง
เกินไป จน 3-Series E90 Sedan ประกอบในไทย ดูคุ้มค่ากว่าขึ้นมาทันที
แต่ยากจะปฏิเสธครับ ว่า สมรรถนะการขับขี่ในภาพรวมของมัน ชวนให้
ชื่นชอบ และแทบอยากจะมอบตำแหน่ง BMW คันแรกสำหรับคนที่เริ่ม
อยากลองเป็นเจ้าของ BMW สักคัน

2016_05_BMW_218i_Coupe_01

วันนี้ หลังห่างหายจากการทำรีวิว รถยนต์ BMW มานานนับตั้งแต่ปี 2013
ด้วยเหตุผลที่ว่า ทีมงานของเรายุ่งเหยิง หัวปั่น ทำงานกันไม่ทัน ระบายรีวิว
ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2012 ได้ไม่เต็มที่ จึงยังมิบังอาจขอยืม BMW รุ่นใหม่ๆ มา
ทำบทความรีวิว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับตัวผมเองโดยไม่จำเป็น

ปี 2016 นี้ ผมพร้อมแล้วครับ ที่จะกลับมาลองสัมผัสความปลี่ยนแปลงครั้งใหม่
จากบรรดายนตรกรรมค่ายใบพัดสีฟ้า จากแคว้นบาวาเรีย สหพันธรัฐเยอรมนี
ที่มีชื่อว่า BMW กันเสียที ประเดิมกันด้วย 2-Series Coupe’ นี่หละ

แม้จะเสียดายว่า ในช่วงแรกที่เปิดตัวในบ้านเรา BMW Thailand ไม้ได้ตัด
220i มาเป็นรถยนต์ Demo สำหรับสื่อมวลชน และลูกค้าได้ทดลองขับเลย
แม้แต่คันเดียว จนกระทั่งยุติการจำหน่ายไป แต่คราวนี้ พวกเขา เลือกที่จะ
ยื่นกุญแจ 218i ให้ผมลองขับ อีกครั้ง ทั้งเพื่อปรับความเคยชินให้เข้ากับ
การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ตามแบบฉบับของ BMW เพื่อเตรียมตัว
รับมือกับ BMW อีกหลายรุ่นที่เรามีแผนจะนำมาทำบทความ ในอนาคต

ผมเองก็เฝ้ารอมานานแล้วละครับที่จะได้ค้นหาคำตอบว่า 2-Series ใหม่
รหัสรุ่น F22 จะถูกยกระดับสมรรถนะและบุคลิกการขับขี่จาก 1-Series
Coupe’ รุ่นเดิม ได้มากน้อยแค่ไหน มันจะยังคงเป็น BMW คันแรกที่
เหมาะสำหรับใครก็ตาม ซึ่งอยากจะเรียนรู้จักสไตล์การขับขี่ในแบบ
ของ BMW เช่นเดิมหรือเปล่า?

ก่อนที่เราจะมองดูปัจจุบัน เราก็ควรจะย้อนกลับไปดูสักนิด พินิจย้อนไป
ยังอดีต เพื่อเรียนรู้ว่า ทำไม BMW ถึงบอกว่า รถคันนี้ตำนานที่สืบทอด
คุณลักษณะการขับขี่อันสนุกสนานและสูงส่งของ 2002 ในทุกวันนี้

2016_05_BMW_218i_Coupe_02

ย้อนเวลากลับไปยังปี 1959 BMW กำลังป่วยด้วยวิกฤติหนักจากปัญหาการ
ล้มละลาย อันเกิดจากการมุ่งทำรถยนต์ขนาดใหญ่และรถสปอร์ตเปิดประทุน
ออกขาย ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของตลาดที่เริ่มหันไปอุดหนุนรถยนต์
Volkswagen มากขึ้น แถมจักรยานยนต์เอง ก็ขายน้อยลง สวนทางกับสภาพ
เศรษฐกิจหลังสงครามโลกของเยอรมนีที่ดีขึ้น รายได้ลดลง กำไรก็หดหาย
นำพา BMW เข้าสู่ภาวะล้มละลาย จนเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นเสียงส่วนใหญ่
(ซึ่งรวมทั้ง ธนาคาร Deutch Bank ด้วย) เตรียมจะขายกิจการ BMW ให้กับ
Daimler-Benz AG. (เจ้าของแบรนด์ Mercedes-Benz ในตอนนั้น)

ทว่า Herbert และ Herald Quandt 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ และกลุ่มเสียงส่วนน้อย
กลับเห็นว่า BMW ยังมีสภาพคล่อง และน่าจะยังยืนหยัดอยู่ได้ต่อไป ด้วย
ความช่วยเหลือจาก ทนายความ Dr.Friedrich Mathern ทำให้ BMW รอด
ผ่านพ้นการถูก Takeover โดย Daimler-Benz AG. ได้สำเร็จหวุดหวิดใน
การประชุมผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่เมื่อ 9 ธันวาคม 1959

ย่างเข้าสู่ปี 1960 สิ่งที่ 2 พี่น้องตระกูล Quandt คาดการณ์ไว้เริ่มกลายเป็น
ความจริง พวกเขากำลังตื่นเต้นกับยอดขายของ BMW 700 รถเก๋ง 2 ประตู
เครื่องยนต์วางท้าย ที่ช่วยฉุดให้กิจการ BMW พ้นวิกฤติ และก้าวเดินต่อไป
อย่างสง่าผ่าเผย

กระนั้น ถ้า BMW ต้องการอยู่รอดในระยะยาว พวกเขาจำเป็นต้องทำรถยนต์
ในพิกัด 1,500 – 2,000 ซีซี ขึ้นมาขาย เพื่ออุดช่องว่างทางการตลาด และเพิ่ม
ทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ ดังนั้น ในปี 1960 BMW จึงเริ่มต้นการ
พัฒนารถยนต์ตระกูลใหม่ ที่เรียกกันว่า “New-Class” (ภาษาเยอรมันเรียก
ว่า Neue-Klasse ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงๆตัวว่า “New-Range” หรือ
“ตระกูลใหม่”)

ผลผลิตแรกสุด คือ BMW 1500 อวดโฉมครั้งแรกในงาน Frankfurt Motor
Show (IAA) ปี 1961 และออกขายจริงในปี 1962 งานออกแบบเกิดขึ้นโดย
ฝีมือของ Willhelm Hofmeister เจ้าของตำนาน Hofmeister Kick เส้นตวัด
หักมุมบริเวณเสาหลังคาคู่หลัง หรือ C-Pillar อันเป็นเอกลักษณ์ของ BMW
ทุกรุ่น จนถึงทุกวันนี้ ด้วยยอดจำหน่ายรวม จนถึงวันสุดท้ายของอายุตลาด
ในปี 1971 BMW ผลิต 1500 ออกขายทั้งสิ้น มากถึง 156,130 คัน

อย่างไรก็ตาม 1500 ก็ยังไม่ใช่รถยนต์ที่สร้างชื่อเสียงแะยอดขายให้กับค่าย
ใบพัดสีฟ้า ได้มากเท่ากับ ตระกูล “02 Series” ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ช่วยปูทางและ
วางรากฐานให้กับการถือกำเนิดของรถยนต์ รุ่นสำคัญ อย่างตระกูล 3-Series
และ 2-Series ในกาลต่อมา

การพัฒนา 02 Series เริ่มขึ้น ในปี 1963 จากแนวคิดในการทำ BMW รุ่นใหม่
ให้มีขนาดเล็กลง โดยนำเอา BMW 1500 มาหั่นตัวถังให้สั้นลง 23 เซ็นติเมตร
แต่ยังคงรักษาระยะฐานล้อ (Wheelbase) ไว้เท่าเดิม เพื่อเสริมภาพลักษณ์ความ
สำเร็จด้าน MotorSport ที่ขาดหายไปจาก BMW ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1930 ให้คืน
กลับสู่การรับรู้ของสาธารณชนเสียที

Willhelm Hofmeister ยังคงรับหน้าที่ดูแลงานออกแบบเส้นสายภายนอก พร้อม
ลูกทีมของเขา Georg Bertram และ Manfred Rennen ส่วนงานวิศวกรรม BMW
ตัดสินใจเลือกเครื่องยนต์ รหัส M10 บล็อก 4 สูบ 1,573 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว
84 แรงม้า (BHP) ที่ 5,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสด 130 นิวตันเมตร (13.2 กก.-ม.)
ที่ 3,500 รอบ/นาที มาติดตั้งและใช้ชื่อรุ่นว่า “1600-2” โดยเลข 2 หมายถึง จำนวน
บานประตูรถด้านข้าง เพื่อสร้างความแตกต่างจากรุ่น 4 ประตูเดิม

1600 – 2 เปิดตัวครั้งแรกที่ Munich Opera House เมื่อ 9 มีนาคม 1966 และถูก
ส่งขึ้นไปอวดโฉมในงาน Geneva Motor Show 17 มีนาคม 1966 รถยนต์ใหม่
รุ่นล่าสุดนี้ ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งจากความเหมาะสมกันระหว่างขนาด
ตัวรถ กับขุมพลัง รวมทั้งภาพลักษณ์อันโฉบเฉี่ยวยิ่งขึ้น และราคาที่จับต้องได้

การปรับปรุง มีขึ้นทุกปี เดือนกันยายน 1967 มีรุ่นเปิดประทุนโครงหลังคาแข็ง
หลังคาผ้าใบ Cabriolet ผลิตโดยบริษัท Baur ออกขาย (จนถึง 1971) พร้อมๆกับ
การเพิ่มเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ ZF 3HP12 มาให้เป็นทางเลือกของรุ่นอื่นๆ
ด้วยราคาสุดแสนแพงในยุคนั้น (1,350 ดอยช์มาร์คเยอรมัน) และในตอนนั้น
ขุมพลัง 2.0 ลิตร จากรุ่น 2000CS พี่ใหญ่ ก็เริ่มถูกนำมาติดตั้งให้กับ 02-Series
กลายเป็นรุ่น 2002 ในเวลาต่อมา

ในปี 1971 ทุกรุ่นในกลุ่ม 1600 ถูกเปลี่ยนมาใช้ชื่อ 1602 และ 2002 โดยมีรุ่น
เปิดประทุนโครงหลังคาแข็ง หลังคาผ้าใบ Cabriolet ผลิตโดยบริษัท Baur กับ
ตัวถัง Touring (Hatchback ท้ายตัด) ออกสู่ตลาด (แต่เลิกขายในปี 1972) ส่วน
รุ่น 2002 tii ที่ใช้หัวฉีด tii แรงขึ้นเป็น 130 แรงม้า (BHP) ออกสู่ตลาดในลำดับ
ถัดมา แต่เลิกผลิตไปในปี 1974

ตลอดอายุตลาด 02 Series โดยเฉพาะ 2002 ถือได้ว่า สร้างตำนานบทใหม่ให้
BMW เป็นที่จดจำในฐานะผู้ผลิรถยนต์สมรรถนะสูง ที่กลับข้าสู่สังเวียนการแข่ง
MotorSport ในช่วงทศรรษ 1960 ได้อีกครั้งเป็นผลสำเร็จ 2002 กวาดแชมป์
และถ้วยรางวัลจากการแข่งขันมากมายหลายรายการ

ตระกูล 02 Series ยุติการผลิตลงไปในปี 1975 เพื่อเปิดทางให้กับการมาถึงของ
3-Series รุ่นแรก รหัสตัวถัง E21

BMW_2002_1_Series_Coupe

วันเวลาผ่านไป ผู้คนจำนวนไม่น้อย รวมทั้งชาว Bimmers (ชื่อเรียกบรรดา
แฟนคลับของ BMW) เริ่มมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า BMW น่าจะ
สร้างรถยนต์ ที่มีแนวคิดและบุคลิกในการขับขี่ คล้ายคลึงกับรุ่น 2002 ใน
ยุคอดีตกลับมาขายใหม่อีกครั้ง เสียงเรียกร้องเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบรรดา
นิตยสารรถยนต์ในเยอรมัน ทั้ง Auto Motor und Sport และ Auto Bild
ต่างพากัน ร่างภาพ Sketch ของว่าที่รถยนต์ 2 ประตูคันเล็กรุ่นใหม่ ขึ้น
ไปอยู่บนหน้าปกสื่อสิ่งพิมพ์ของพวกเขากันใหญ่

นับจากวันที่ข่าวรั่วสู่ายตาสาธารณชน เราก็ต้องรอกันนานมากจนลืมไปแล้ว
กว่า BMW จะพร้อมเปิดเผยว่า รถยนต์ซึ่งหลายๆคนเรียกร้อง เสร็จสมบูรณ์
เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ชื่อ 2002 เช่นที่มีการคาดเดาก่อนหน้านั้น มันถูก
แทรกเข้าไปในตระกูล น้องเล็กสุดของค่าย อย่าง BMW 1-Series (อ่านว่า
The First Series) และถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า 1-Series Coupe (E83)

1-Series Coupe เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Frankfurt Motor Show
หรือ Internationale Automobil-Ausstellung (IAA) เดือนกันยายน 2007
และเริ่มออกขายทันที เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2007 ในฐานะรถรุ่นปี 2008
ทำตลาดลากยาวกันมาถึงปี 2015 จึงยุติการผลิตไป ด้วยยอดจำหน่ายตลอด
อายุตลาด เกินกว่า 150,000 คัน

Headlightmag เคยมีโอกาสทดลองขับ 1-Series Coupe รุ่น 120d เมื่อครั้งที่
BMW Thailand เคยสั่งนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) มาขายในบ้านเรา ซึ่ง
เปิดตัวในงาน Bangkok International Motor Show มีนาคม 2009 หากคุณ
อยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และผลการทดลองของรถคันนี้ สามารถคลิก
ได้ที่นี่ (CLICK HERE)

ถึงแม้ตัวเลขยอดขายรวม ตลอด เกือบ 10 ปี ดูเหมือนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับ
ยอดขายของพี่น้องคันอื่นๆร่วมตระกูล แต่ต้องถือว่า ยอดผลิตและจำหน่ายนั้น
มากพอให้ บอร์ดผู้บริหารของ BMW ตัดสินใจเปิดไฟเขียว ให้ทีมวิศวกรยังคง
เดินหน้าพัฒนา รุ่นเปลี่ยนโฉม เจเนอเรชันใหม่ ภายใต้ชื่อรุ่นใหม่ 2-Series
รหัสโครงการพัฒนา F22

2016_05_BMW_218i_Coupe_Design_Sketch

เหตุผลของการเปลี่ยนชื่อเรียกรุ่น เป็น 2-Series เนื่องจากนโยบายใหม่
ของ BMW ตั้งใจจะให้รถยนต์ในแนว Sedan ,Saloon และ Hatchback
ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มที่ทำยอดขายและรายได้ให้มากสุด ยังคงยืนหยัดกับ
การใช้เลข”คี่” นำหน้ารหัสรุ่น ทั้ง 1-Series, 3-Series, 5-Series, 7-Series
ส่วนรถยนต์ในกลุ่ม Coupe จะถูกแยกออกมา และเปลี่ยนมาใช้เลข”คู่”
นำหน้ารหัสรุ่น ดังนั้น 1-Series Coupe / Cabriolet เดิม ก็จะกลายเป็น
2-Series ส่วน 3-Series Coupe/Cabriolet จะกลายเป็น 4-Series ส่วน
6-Series Coupe / Convertible ก็จะยังคงใช้ชื่อรุ่นเดิม เช่นเดียวกับพวก
SUV ซึ่งจะยังใช้รหัสรุ่นนำหน้าด้วย X ตัวเลขที่ตามมาจะเป็นขนาด
ของตัวรถ เช่น X3, X4, X5, X6 ส่วนรุ่น High Performance ฝีมือของ
BMW M GmbH. บริษัทปรับแต่งสมรรถนะรถยนต์ในเครือ ก็จะยังใช้
อักษร M นำหน้าชื่อรุ่น เช่น M2 , M3, M4, M5 ,M6 โดยพวก SUV
ก็จะนำตัว M ไปไว้หลังชื่รุ่น เช่น X5 M,X6 M ส่วนรถยนต์พลังงาน
ไฟฟ้า ก็จะใช้ตัว i นำหน้าชื่อรุ่น เช่น i3 , i8

มึนงงดีไหมครับ?

เส้นสายของ 2-Series เป็นผลงานของนักออกแบบ Christopher Weil
ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของ Chief Designer คนล่าสุดของ BMW
ที่ชื่อ Adrian van Hooydonk ที่เข้ามารับช่วงต่อจาก Chris Bangle
ผู้เคยฝากผลงานไว้กับ BMW แทบทุกรุ่น นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

หากนำรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น มาจอดเปรียบเทียบกัน แม้จะดูไม่แตกต่างไปจาก
1-Series Coupe รุ่นเดิมมากนัก แต่หากสังเกตดีๆ จะพบว่า พวกเขายังคง
พายามรักษาแนวคิดพื้นฐานดั้งเดิมของ 2002 นั่นคือ ตัวถังที่สั้น กระชับ
น้ำหนักเบา เข้าโค้งสนุก แม่นยำ ไว้ใจได้ และมีพื้นที่หน้าต่างโปร่งตา
ใช้งานได้อย่างสมเหตุสมผล มากขึ้น ไปพร้อมๆกับการขยายตัวรถให้
ยาวขึ้น ช่วยเพิ่มพื้นที่ห้องโดยสารด้านหลังให้สบายขึ้นมาก อีกทั้งยัง
พยายาม ลดแรงต้านอากาศ ทำให้ 2-Series Coupe ใหม่ ลู่ลมตามหลัก
Aerodynamic ด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd 0.29

2016_05_BMW_218i_Coupe_03_EDIT

เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว 2-Series ก็พร้อมจะเปิดตัวสู่สายตาลูกค้าและ
สาธารณชนทั่วโลก กันเสียที

BMW เริ่มเผยแพร่ข้อมูลให้กับสื่อมวลชน ถึงการเตรียมเผยโฉม 2-Series
อย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลก (พร้อมกันกับ M3 Sedan และ M4 Coupe)
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2013 เป็นการเกริ่่นนำ ก่อนจะส่งรถยนต์ทั้ง 3 รุ่นนี้ ไป
ขึ้นแท่นหมุน เปิดผ้าคลุมพร้อมเผยแพร่ข้อมูลกันเต็มรูปแบบ ในงาน NAIAS
(North American International Auto Show) หรือ Detroit Auto Show
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2014 (เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุไว้ว่าลงวันที่
19 มกราคม 2014 ส่วนข้อมูลทางเทคนิค แบบละเอียด ตามออกมาในวันที่
22 มกราคม 2014) ก่อนจะเริ่มส่งขึ้นโชว์รูมในเยอรมนี และทั่วยุโรป ช่วง
เดือนมีนาคม 2014

ในช่วงแรกที่ออกสู่ตลาด มีให้เลือก 5 รุ่นย่อย ทั้ง 220i , 218d , 220d , 225d
และ M235i จากนั้น รุ่น 228i และ M235i xDrive ขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ตามมา
เมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 (ออกขายจริง กรกฎาคม 2014)

พอเข้าสู่ปี 2015 รุ่น 218i และ 220d xDrive ขับ 4 ล้อ ก็ถูกเผยแพร่ข้อมูลเมื่อ
30 มกราคม 2015 (ขายจริง เดือนมีนาคม 2015) จากนั้น 225d รุ่นปรับสเป็ก
ก็ตามมาเมื่อ 22 พฤษภาคม 2015 (ขายจริง กรกฎาคม 2015)

ล่าสุด รุ่นปรับสเป็กของ 220i และรุ่นย่อยใหม่ 230i , M240i , M240i xDrive
ขับ 4 ล้อ ก็เผยแพร่ออกมาเมื่อ 17 พฤษภาคม 2016 ก่อนออกขายจริงในเดือน
กรกฎาคม 2016

สำหรับประเทศไทย BMW Thailand สั่งนำเข้า 2-Series Coupe มาเปิดตัวใน
บ้านเราครั้งแรก ณ งาน Bangkok International Motor Show เดือนมีนาคม
2014 ประเดิมด้วยรุ่น 220i (ขุมพลัง 2.0 ลิตร Twin Power Turbo กำลังสูงสุด
184 แรงม้า (HP) แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร (27.51 กก.-ม.) ในช่วงแรกๆ
2-Series ในบ้านเรา จะแบ่งเป็น 2 รุ่นย่อย ดังนี้

220i Coupe Sport       : ราคา 2,799,000 บาท
220i Coupe M Sport  : ราคา 2,949,000 บาท

แต่หลังจากนั้น ด้วยเสียงเรียกร้องจากลูกค้าบางส่วนที่อยากได้ M2 อีกทั้ง
BMW Thailand ก็มองว่า 220i มีระดับราคา มันเข้าใกล้ 420i Coupe มาก
จนเกินไป (ห้ะ?) พวกเขาเลยตัดสินใจ สั่งนำเข้า 218i มาทำตลาดแทน
เพื่อหวังว่าลูกค้าจะตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น เปิดตัวร่วมกันกับ BMW
M2 ในงาน Bangkok International Motor Show เมื่อ 21 มีนาคม 2016
ที่ผ่านมา ด้วยค่าตัว 2,599,000 บาท

2016_05_BMW_218i_Coupe_05

2-Series Coupe มีขนาดตัวถังยาว 4,432 มิลลิเมตร กว้าง 1,774 มิลลิเมตร สูง
1,418 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,690 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง
(Front & Rear Track) อยู่ที่ 1,521 และ 1,556 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้น
ถนน (Ground Clearance) 140 มิลลิเมตร ถังน้ำมันขนาด 52 ลิตร น้ำหนัก
ตัวรถยนต์เปล่าๆ 1,360 กิโลกรัม เมื่อรวมน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดราวๆ 510
กิโลกรัม ก็จะมีน้ำหนักได้มากสุด ไม่เกิน 1,850 – 1,870 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับ 120d ที่เราเคยทดลองขับมา ซึ่งมีขนาดตัวถังยาว 4,360
มิลลิเมตร กว้าง 1,748 มิลลิเมตร (รวมกระจกมองข้าง 1,934 มิลลิเมตร) สูง
1,423 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร จะพบว่า 2-Series Coupe
แอบใหญ่ขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย คือ ยาวเพิ่มขึ้น 72 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 26
มิลลิเมตร เตี้ยลงแค่ 5 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า 30  มิลลิเมตร

218i Coupe คันนี้ ถูกติดตั้งชุดอุปกรณ์พิเศษ M Sport มาจาก BMW Thailand
ประกอบด้วย ชุดแต่ง Aerodynamic แบบ M รอบคัน มีทั้งท่อรับไอดีขนาดใหญ่
ด้านหน้า สเกิร์ตข้าง Diffuser ที่เปลือกกันชนหลัง และเส้นสายขอบหน้าต่าง
สีดำเงา

ล้ออัลลอยเป็นแบบ M ขนาด 18 นิ้ว แบบ Double-spoke สวมยางขนาดต่างกัน
ล้อคู่หน้าเป็นแบบ 7.5 J x 18 นิ้ว / ยางขนาด 225/40 R18 ส่วน ล้อหลังเป็นแบบ
8 J x 18 นิ้ว / ยางขนาด 245/35 R18 ทั้ง 4 เส้นเป็นแบบ Run Flat Tyre เหมือน
BMW ที่ขายในเมืองไทย ทุกรุ่น

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_01

ระบบกลอนประตูไฟฟ้า ควบคุมด้วย รีโมทกุญแจ Immobilizer  หน้าตาเหมือน
รีโมทกุญแจสีดำ ประดับด้วยแถบสีน้ำเงินของ 3-Series F30 แต่ น่าแปลกใจมาก
ว่าทำไม BMW Thailand กลับไม่ได้ติดตั้งระบบ Smart Entry ที่ BMW เรียกว่า
“Comfort Access” มาให้ในรถยนต์ ราคาระดับเดียวกับ 3-Series F30 อย่างนี้?

ยังดีที่ว่า ในยามค่ำคืน จะมีไฟเรืองแสงจากมือจับประตู และไฟส่องสว่างติดตั้ง
ใต้แผงประตู เพื่อช่วยให้คุณมองเห็นพื้นถนนในยามค่ำคืนได้ดีขึ้นนิดหน่อย

2-Series Coupe มีบานประตูขนาดใหญ่ แบบ Frameless Door ตามรูปแบบของ
ตัวรถ ทำให้ช่องทางเข้า – ออกจากห้องโดยสาร มีขนาดใหญ่ตามไปด้วย หากคุณ
ปรับเบาะนั่งลงต่ำสุดแล้วการหย่อนก้นลงไปนั่งบนเบาะ ย่อมไม่มีปัญหา แต่ถ้า
เบาะสูงกว่านั้น อาจต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้ศีรษะโขกกับโครงเสาหลังคา
ระหว่างหย่อนร่างลงนั่ง ส่วนการลุกออกจากรถ ก็ยังคงเหมือนรถสปอร์ต หรือ
บรรดารถยนต์ที่ออกแบบให้มีตำแหน่งเบาะนั่งเตี้ยๆ ทั่วๆไป คือ ต้องใช้แรงใน
การพยุงตัวลุกขึ้นมา พอสมควร

แผงประตูด้านข้าง บุด้วยผ้าสีเทา ลายเส้นสีฟ้า Hexagon มือจับด้านใน ประดับ
ด้วยแถบตกแต่งอะลูมิเนียมลาย Hexagon ตำแหน่งการวางแขนบนแผงประตู
ยังคงสบาย อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตามมาตรฐานของ BMW ขนาดความกว้าง
ของพื้นที่วางแขนเหมาะสม กำลังดี ด้านล่างของแผงประตูจะมีช่องใส่ขวดน้ำ
ขนาด 7 บาท และช่องใส่ข้าวของจุกจิกเล็กๆน้อย เล่นระดับ ไม่เหมาะกับการ
ใส่หนังสือหรือเอกสารใดๆเลย

มองไปตรงชายล่าง จะพบกาบข้างพร้อมสัญลักษณ์ M เป็นอุปกรณ์ประจำรุ่น
สำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อ 2-Series พร้อม Option Package M Sport

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_02_EDIT

บรรยากาศภายในห้องโดยสารนั้น โดยเฉพาะ พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับขับขี่
และ ผู้โดยสารด้านหน้า กลับให้ความปลอดโปร่งโล่งสบาย ผิดไปจาก BMW
รุ่นอื่นๆ ที่ผมเคยเจอมาในช่วง 10 ปีมานี้ ทั้งที่ขนาดตัวรถก็เล็กลงกว่าบรรดา
พี่ๆน้องๆ ร่วมตระกูล รุ่นอื่นๆเขา ด้วยซ้ำ

น่าจะเป็นเพราะความตั้งใจที่จะให้ตัวรถสืบทอดบุคลิกของ รถยนต์คันเล็ก
ในแบบ 2002 กับ 1-Series ซึ่งมีกระจกหน้าต่าง บานใหญ่รอบคัน แตกต่าง
จาก BMW รุ่นอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกันนี้

เบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบสปอร์ต หุ้มผ้าลาย Hexagon ตัดสลับด้วยหนัง Alcantara
มีตัวปรับเพิ่มความยาวเบาะรองนั่งออกไปด้วยคันโยกด้านล่างตัวเบาะ รวมทั้งยัง
สามารถปรับเอนและปรับระดับ เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับตำแหน่งของ
ปีกเบาะด้านข้าง ให้ขยาย หรือบีบกระชับช่วงกลางลำตัวได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ครบ
ทั้ง 2 ฝั่ง แต่มีระบบตั้งค่า หน่วยความจำ ตำแหน่งเบาะนั่ง (Memory Seat) เฉพาะ
เบาะคนขับเท่านั้น

เบาะของ 218i เป็นเบาะนั่งในสปอร์ต ที่ผมว่า นั่งสบายมากสุดรุ่นหนึ่งเท่าที่
เคยเจอมา นอกจากจะสามารถปรับระดับปีกข้างได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่ม
ขยายพื้นที่ให้คนอ้วนอย่างผม ได้นั่งสบายขึ้นแล้ว มันยังคงความกระชับร่าง
ล็อกตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารไว้ได้อยู่ในขณะเข้าโค้งหนักๆ ตัวพนักพิงเองก็
แน่น Firm แต่แอบนุ่มสบาย จาก Texture ของผ้า Alcantara

ความยาวของเบาะรองนั่ง สามารถปรับเพิ่มได้ ด้วยคันโยกใต้เบาะ ทำให้เสียง
บ่นว่า เบาะรองนั่งสั้น จากผม หายไปเลย นั่นทำให้ความยาวของเบาะรองนั่ง
ใน 218i มันก็พอกันกับเบาะของ BMW รุ่นอื่นๆ ที่ผมเคยลองขับมานั่นแหละ

อีกประเด็นที่ทำให้การเดินทางใน 218i สำหรับผม สบายขึ้นพอสมควร นั่นคือ
พนักศีรษะ ที่แน่นและนุ่มกำลังดี แม้จะปรับมุมองศาไม่ได้เหมือน BMW รุ่น
อื่นๆ และปรับระดับได้แค่ สูง – ต่ำ เท่านั้น ทว่า มันไม่ดันศีรษะ แบบที่ผมเจอ
ใน Mercedes-Benz ตระกูลขับล้อหน้า ทุกรุ่น ซึ่งช่วยให้ลดอาการปวดต้นคอ
ขณะขับขี่ทางไกลไปได้เยอะ

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ควรปรับปรุงก็คือ เข็มขัดนิรภัย แบบ ELR 3 จุด สำหรับ
เบาะนั่งคู่หน้า ของ 218i พร้อมระบบ Pre-tensioner ไม่สามารถปรับระดับ
สูง – ต่ำ ได้เลย ทำให้บาดคอของผมตลอดเวลาที่ขับรถ

ถุงลมนิรภัย ติดตั้งมาให้ 6 ใบ ทั้งคู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัยที่กินพื้นที่
ไปถึงศีรษะของผู้โดยสารบนเบาะนั่งด้านหลัง

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_03_EDIT

การเข้าออกจากเบาะหลัง สามารถ ดึงคันโยกที่ปีกไหล่ของเบาะคู่หน้า
ทั้ง 2 ฝั่ง แล้วค่อยกดสวิตช์ไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งใกล้ๆกัน ถ้าต้องการให้เบาะ
เลื่อนขึ้นหน้า สามารถกดปุ่มได้เพียงครั้งเดียว หรือกดแช่เพื่อเลื่อนไป
ยังตำแหน่งที่ต้องการ และถ้าโยกพนักพิงกลับมายังตำแหน่งเดิมแล้ว
ยังสามารถกดสวิตช์เลื่อนเบาะถอยหลังได้ตามความต้องการ ทั้งแบบ
เลื่อนเองอัตโนมัติ หรือค่อยๆเลื่อนที่ละตำแหน่ง

ทว่า เมื่อดึงพนักพิงให้กลับมาตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิมแล้ว ตัวเบาะนั่งจะ
ยังไม่เลื่อนถอยหลังกลับให้เอง คุณต้องกดสวิตช์เลื่อนถอยหลังกลับ
ไปในตำแหน่งที่ต้องการอีกครั้ง

เบานั่งด้านหลัง ถูกออกแบบมาให้นั่งได้ เพียง 2 คน เช่นเดียวกับตระกูล
BMW Coupe รุ่นอื่นๆ ดังนั้น พื้นที่ตรงกลางระหว่างเบาะรองนั่ง ซ้ายและ
ขวา จะถูกออกแบบเป็นช่องวางของอเนกประสงค์ชั่วคราวขนาดเล็กเป็น
การทดแทน

เบาะรองนั่ง แน่นแต่แอบนุ่มนิดๆ มีความยาวกำลังดี แถมยังเงยในมุมองศา
ที่เหมาะสม ทำให้ไม่ต้องนั่งชันขาเวลาเดินทางไกลๆ พื้นที่วางขา แอบเยอะ
กว่าที่คิด แม้ว่าผู้โดยสารข้างหน้า จะใจแคบ ถอยเบาะจนเกือบจะดันหัวเข่า
อยู่แล้วก็ตาม คุณก็จะยังมีพื้นที่วางขาเหลืออยู่แน่นอน

พนักพิงเบาหลัง ตั้งตรง เว้าหลบลงไปนิดเดียว ฟองน้ำแน่น แต่แอบนุ่มจาก
จากผิว Texture ของผ้าสังเคราะห์ Alcantara นั่งสบายกำลังดี ส่วน พนัก
ศีรษะค่อนข้างนุ่ม แต่ยุบตัวลงไปได้ในระดับกลางๆ เพียงพอกับการใช้งาน

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผม ถือว่า ชนเพดาน
พอดี ในระดับเดียวกับ เบาะหลังของ Nissan Almera คนที่ตัวเตี้ยกว่านี้ หรือ
สูงกว่านี้ แต่ช่วงลำตัวสั้น และท่อนขายาว อาจไม่เจอปัญหาศีรษะติดเพดาน
แบบผม และก็ยังนั่งได้สบายๆ

ส่วนพื้นที่่ด้านข้าง ยังสามารถวางแขนในตำแหน่งที่ถูกต้องได้ดี แต่ด้วยพื้นที่
เล็กแคบหน่อยๆ จึงไม่ถึงขั้นวางแขนได้สบายเต็มที่นัก อีกทั้งยังน่าเสียดายที่
ไม่มีพนักวางแขน แบบพับเก็บได้ ตรงกลาง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง พร้อม
ช่องวางแก้ว มาให้เลย

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน
ISOFIX ที่ด้านบนสุดของเบาะรองนั่ง ติดตั้งมาให้ 2 ฝั่ง ทั้งซ้าย – ขวา กระนั้น
น่าเสียดายที่ ไม่มีการติดตั้งมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (มือจับศาสดา) มาให้เลย
แม้แต่ตำแหน่งเดียว มีเพียงแค่เพิ่มตะขอเกี่ยวรั้งตาข่าย บริเวณด้านหลังของ
เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar เท่านั้น

นอกจากนี้ เบาะหลังยังสามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่
ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังได้ หากต้องการการพับเบาะ ให้เปิดฝากระโปรงหลัง
เพื่อดึงคันโยก ด้านบนสุดของขอบทางเข้าห้องเก็บของ ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_04_EDIT

ห้องเก็บของด้านหลัง ใช้กลอนไฟฟ้า เปิดได้ 3 วิธี ทั้งการกดสวิตช์
ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณ ใต้แผงหน้าปัด ฝั่งคนขับ ใกล้กันกับคันโยกเปิด
ฝากระโปรงหน้า ปลดล็อกสวิตช์บนรีโมทกุญแจ และใช้มือดึงกดที่
สวิตช์เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง บนฝากระโปรงท้าย ค้ำยันด้วย
ช็อกอัพไฮโดรลิคทั้ง 2 ฝั่ง บุฝาท้ายด้วยผ้าสีดำ และมีเครื่องหมาย
สามเหลี่ยมสีแดงแบบพับได้ ติดรถมาให้ ในกรณีจำเป็นต้องจอด
ข้างทางอย่างฉุกเฉินยามค่ำคืน

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีขนาดความจุ 390 ลิตร ตามมาตรฐาน
VDA เยอรมนี เห็นจากรูปนี้ เชื่อหรือไม่ว่า ผมสามารถยัดสรีระร่าง
ของ สมาชิก The Coup Team เรา (น้องเติ้ง กันตพงษ์ สมชนะ)
ลงไปในฝาท้ายได้สบายมากๆ

เปล่า! น้องมันตัวเล็ก ใส่เสื้อผ้ายังต้องซื้อไซส์สำหรับเด็กหนะครับ

ยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา ก็จะพบเจอแบ็ตเตอรี ที่ให้ไฟฟ้าสำหรับ
รถยนต์ทั้งคัน อยู่ด้านหลัง ตามปกติของ BMW อย่าหวังว่าจะเจอ
ยางอะไหล่ เพราะ BMW ที่ขายในเมืองไทยทุกรุ่น ใช้ยางรถแบบ
Run Flat Tyre ซึ่งสามารถขับบดยางต่อไปได้อีก 80 กิโลเมตร
โดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แน่นอนว่าราคาของ
ยางแต่ละเส้น จะแพงกว่าปกติ แต่ ช่วยไม่ได้ครับ นโยบายฝรั่ง
เขาคงมองกันว่า ลูกค้าชาวไทย ไม่ค่อยเปลี่ยนยางอะไหล่กันมั้ง

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_05

แผงหน้าปัด ยังคงถูกออกแบบขึ้นในสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดูปุ๊บ
ก็รู้ปั๊บว่า นี่ต้องเป็นแผงหน้าปัดของ BMW สักรุ่นแน่ๆ เพียงแต่ว่า หากลอง
สังเกตดีๆ จะพบบุคลิกของแผงหน้าปัด BMW ในรุ่นที่ต้องเอาใจคนขับมาก
เป็นพิเศษ ให้เห็นอยู่นิดหน่อย ทั้งตำแหน่งของแผงควบคุมตรงกลาง ที่เยื้อง
เข้าหาคนขับมากขึ้นนิดหน่อย ตำแหน่งนั่งขับที่ตั้งอยู่ตรงกลางพอดีเป๊ะ ทั้ง
พวงมาลัย มาตรวัดความเร็ว และเบาะนั่ง ช่วยให้การควบคุมรถ ทำได้อย่าง
แม่นยำขึ้นนิดนึง

ภาพรวมของงานออกแบบ ยังคงชวนให้นึกถึง แผงหน้าปัดจาก 1-Series ที่ผม
เคยชื่นชอบ แต่ถูกนำมา Revise ใหม่ ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ตำแหน่งของ
อุปกรณ์ และสวิตช์ต่างๆ ถูกขยับขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อให้คลำหาและใช้งานได้
ในยามขับขี่ สะดวกขึ้นนิดนึง ตำแหน่งจอมอนิเตอร์สี และ มาตรวัดความเร็ว
ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ฝั่งซ้ายของแผงหน้าปัด และมือจับแผงประตู
ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ตกแต่งด้วยแถบ Trip อะลูมิเนียมลาย Hexagon

มองขึ้นไปด้านบน หลังคาภายในตกแต่งด้วยสีดำ Anthracite มีไฟส่องสว่างให้
2 ตำแหน่ง ทั้งไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า และไฟกลางเพดานสำหรับผู้โดยสาร
ด้านหลัง แยกเปิดได้ 2 ฝั่ง ทั้ง 2 ตำแหน่ง

แผงบังแดด เป็นวัสดุโฟมแข็งบุนุ่ม สีดำ มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่าง
และฝาเลื่อนปิด ทั้ง 2 ฝั่ง ติดตั้งร่วมกับ กระจกมองหลังแบบตัดแสงอัตโนมัติ
อาจดู Look Cheap ไปหน่อย แต่รถยนต์แนว Sport นั้น ส่วนใหญ่ คนที่สนใจ
รายละเอียดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ มีไม่มากเท่าคนที่สนใจสมรรถนะของมัน

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_06

จากฝั่งขวา เข้ามาฝั่งซ้าย

แผงประตูด้านข้าง ยังคงเป็นสถานที่ติดตั้งสวิตช์กระจกมองข้างพับ และปรับได้
ด้วยไฟฟ้า (ซึ่งคุณก็อาจจะงงๆ ในการคลำหาว่า สวิตช์ไหน กดพับกระจก หรือ
สวิตช์ไหน เลือกฝั่งซ้าย – ขวาในการปรับกระจก กันแน่ เพราะมันไม่มีอะไร
บ่งบอกให้คุณรู้เลย เป็นแบบนี้เช่นเดียวกับ BMW รุ่นอื่นๆ) รวมทั้งสวิตช์เลื่อน
เปิด – ปิด กระจกหน้าต่างไฟฟ้า พร้อมระบบ One-Touch ขึ้นสุด – ลงสุดด้วย
การกดหรือยกสวิตช์ขึ้นครั้งเดียว

ถัดเข้ามา ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับด้านขวาสุด ยังคงเป็นตำแหน่งของสวิตช์เปิดและ
ปิดไฟหน้า ตามมาตรฐานของรถยุโรป ในรถคันที่เราทดลองขับ มีไฟตัดหมอก
มาให้เฉพาะด้านหลัง และมีระบบเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ (ไฟหน้า Auto)
รวมทั้งยังมีสวิตช์เลื่อนหมุนปรับความสว่างของชุดมาตรวัดความเร็วมาให้

บริเวณโคนเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งขวา สวิตช์ปลดล็อกฝากระโปรงท้ายด้วยไฟฟ้า
ติดตั้งอยู่เหนือ คันโยกปลดล็อกฝากระโปรง ใช้วิธีการเดียวกับ BMW รุ่นใหม่ๆ
คือ ต้องโยกขึ้น 2 ครั้ง จึงจะเดินไปยกฝากระโปรงหน้าขึ้นได้ทั้งยวง โดยไม่ต้อง
ไปควานหาตัวปลดล็อกที่้ด้านหน้ารถให้วุ่นวายอีก

กระนั้น ตอนปิดฝากระโปรงหน้า กรุณาดึงลงมา แล้วปิดกระแทกแรงๆไปเลย
ไม่ต้องกลัวว่ามันจะพัง เพราะถ้าคุณออมมือ ค่อยๆ บรรงปิดฝากระโปรงหน้า
ลงมาอย่างแผ่วเบาราวกับกำลังให้นมลูก ชาตินี้ อย่าหวัง ว่าฝากระโปรงหน้าจะ
ปิดได้สนิทเลย!

ย้ายมาดูที่คอพวงมาลัย ก้านสวิตช์ใบปัดน้ำฝนแบบมาตรฐาน พร้อมระบบปัด
น้ำฝนอัตโนมัติ แบบเลือกความเร็วในการปัดได้ และระบบควบคุมที่ฉีดน้ำล้าง
กระจกบังลมหน้า ติดตั้งอยู่ฝั่งขวา ตามเคย ส่วนก้านสวิตช์ไฟเลี้ยว และไฟสูง
พร้อมระบบ เปิดไฟเลี้ยวกระพริบ 3 ครั้ง ด้วยการกระดิกนี้วลงบนก้านสวิตช์
ยังคงมีมาให้ที่ฝั่งซ้ายของคอพวงมาลัย

พวงมาลัย เป็นแบบ 3 ก้าน ทรงสปอร์ต อย่างที่ผมเคยพบเจอมาแล้ว ใน 320d
Touring Estate ผมชอบพวงมาลัยแบบนี้มากครับ มันถูกหุ้มด้วยหนังแท้อย่างดี
หนานุ่ม พร้อมสัญลักษณ์ “M” ที่้ก้านพวงมาลัยด้านล่างสุด ให้ความรู้สึกที่แทบ
ไม่ต่างจากการจับท่อยางหุ้มท่อแอร์ เลยทีเดียว!

บนก้านพวงมาลัยนั้น สวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และระบบโทรศัพท์ ต่างๆ อยู่
ฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายนั้น มีเพียงสวิตช์ ควบคุมความเร็วรถขณะขับขี่ LIM สำหรับ
กรณีที่คุณกำลังขับผ่านพื้นที่จำกัดความเร็วอย่างเคร่งครัด ก็สามารถปรับตั้งให้
ระบบ สั่งล็อกไม่ให้รถของคุณแล่นไปเร็วกว่าระดับที่ตั้งไว้ ถึงเหยียบคันเร่งเพิ่ม
รถก็จะไม่เร่งขึ้นไป ยกเว้นกรณีที่คุณเหยียบจมมิดคันเร่งทันทีในฉับพลัน รถจะ
คาดเดาว่า คุณอาจต้องการเร่งแซงอย่างกะทันหัน จึงจะยอมทำงานให้เป็นกรณี
พิเศษ การใช้งาน แค่กดปุ่ม LIM แล้วใช้นิ้วโป้ง กระดิกเลื่อนแถบสวิตช์ขึ้น – ลง
เพื่อเลือกระดับความเร็วที่ต้องการจะขับไม่เกินไว้ ถ้าต้องการยกเลิกระบบ ก็กด
ปุ่ม LIM ออกซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม 218i Coupe คันนี้ ไม่ได้ติดตั้ง ระบบควบคุมความเร็วคงที่
Cruise Control มาให้แต่อย่างใด…ทั้งที่น่าจะมีมาให้ได้แล้วในราคานี้

ปุ่มติดเครื่องยนต์ และปุ่มเปิด – ปิดระบบ Auto Start/Stop ดับเครื่องยนต์โดย
อัตโนมัติ ในระหว่างเหยียบเบรกจมมิด เพื่อรอรถติดสัญญาณไฟจราจร และจะ
ติดเครื่องยนต์ขึ้นมาองอีกครั้ง เมื่อถอนเท้าจากแป้นเบรก มีมาให้บริเวณมุมล่าง
ฝั่งซ้ายของชุดมาตรวัด

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_07

ชุดมาตรวัดเป็นแบบพื้นฐาน อย่างที่ผมชื่นชอบ ไม่ต้องมีลูกเล่นหวือหวาจน
ชวนให้งุนงงตาลาย BMW ยังคงใช้หลอดไฟสีแดงส้ม สำหรับส่องสว่างใน
ยามค่ำคืนตามเคย ด้วยเหตุผลเดิมๆว่า เป็นสีที่ลดการรบกวนสายตาผู้ขับขี่
ในช่วงดึกๆ แต่ก็คอยเตือนให้ Alert อยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา

ฝั่งซ้าย เป็นมาตรวดความเร็ว ฝั่งขวาเป็นมาตรวัดรอบ รายล้อมด้วยไฟเตือน
ต่างๆ ด้านล่างสุด เป็นจอแสดงข้อมูลขนาดเล็ก Multi Information Display
แจ้งข้อมูลต่างๆ ทั้งมาตรวัดระยะทางทั้งหมดที่แล่นมา Odometer มาตรวัด
ระยะทาง Trip Meter ซึ่งมีมาให้แค่ตำแหน่งเดียว ไม่มี Trip A Trip B ส่วน
การกด Reset ทำได้จากปุ่มเล็กมุมซ้ายล่างสุดของจอมาตรวัด รวมทั้งการแจ้ง
เตือนกำหนดนำรถของคุณเข้ารับบริการ อุณหภูมิภายนอกรถ นาฬิกา และ
ระยะทางที่เหลือให้น้ำมันในถังยังพอสำหรับแล่นต่อไป การเรียงตัวเลขบน
มาตรวัด อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ส่วนด้านล่างฝั่งขวา เป็นมาตรวัดอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยแบบ Real Time แสดงเป็นเข็มวัด เหมือน BMW
รุ่นอื่นๆ ในอดีต

นี่แหละคือสิ่งที่ผมต้องการจากผู้ผลิตรถยนต์สมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องวิลิศมาหรา
หรือบ้า Graphic บ้าบอให้เยอะแยะตาแปะไก่กันโดยไม่จำเป็นเลย เสียดาย
ที่บริษัทรถยนต์สมัยนี้ มัวแต่ไปบ้าบอไร้สาระกับมาตรวัดแพรวพราวเสียจน
คนขับแทบจะสงสัยว่า ตกลงนี่ตูกำลังขับรถ หรือควบคุมเรือดำน้ำกองทัพ
สหรัฐอเมริกา กันแน่?….

มีสิ่งเดียวที่ คาดหวังว่าควรจะมีมาให้แล้วกลับไม่มี นั่นคือ มาตรวัดอุณหภูมิ
ความร้อนของระบบหล่อเย็น ซึ่งดูเหมือนว่า แม้แต่ BMW เอง ก็ตัดออก
ไปจากมาตรวัดของ 2-Series อย่างน่าเสียดาย

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_08_EDIT

จากฝั่งซ้าย เลื่อนเข้ามาตรงกลาง ลิ้นชักเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย มีขนาด
เพียงพอสำหรับบรรจุคู่มือผู้ใช้รถ และเอกสารประจำรถ เท่านั้น เว้นเสียแต่ว่า
คุณจะยอมโยกย้ายเอกสารต่างๆ ไปไว้บนเบาะหลัง จึงจะมีพื้นที่เหลือพอให้
วางปืนพกขนาดเล็กๆได้สัก 1 กระบอก และแค่นั้น!

เครื่องปรับอากาศ แบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอ Digital แบบไม่แยกฝั่งมาให้
ยังคงทำงานต่อไปตามมาตรฐานของแอร์ในรถยุโรป คือ ค่าอุณหภูมิ เกิดขึ้น
ตามความเป็นจริง ถ้าคุณหมุนไปตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส อาจเจอ
อาการเหงื่อตกกลางฤดูฝนในรถได้ หากต้องการความเย็นแบบเดียวกับที่คุณ
คุ้นเคยในรถยนต์ Toyota ที่ใช้แอร์ Denso แล้วละก็ กรุณา หมุนสวิตช์ไปยัง
แถบสีน้ำเงินซ้ายสุด เร่งน้ำยาแอร์ออกมาให้เยอะสุดสถานเดียว

ไม่ใช่แค่นั้น อีกข้อปรับปรุงประการหนึ่งของเครื่องปรับอากาศในรถคันนี้
คือ ขณะขับผ่านพื้นที่ซึ่งมีการเผาหญ้า หรือว่าจำเป็นต้องขับตามหลังรถขยะ
โอ้โห! ทุกสรรพสิ่งที่คุณคาดว่าจะเจอ แต่ไม่ต้องการเจอ จะพากันลอยละลิ่ว
ปลิวตามลม เข้ามาให้คุณได้กลิ่นกันเต็มที่ เหมือน Honda BR-V แม้ว่าจะคุณ
จะเปิดระบบอากาศหมุนเวียนในรถให้ทำงานมาตลอดทางก็ตาม

คนยุโรปมันไม่ยอมเข้าใจคนไทยบ้างเลยใช่ไหมว่า ระบบอากาศหมุนเวียน
ในรถจำเป็นกับพวกเรามาก เพราะอากาศข้างนอกรถในเมืองเรามันไม่สะอาด
เหมือนในบ้านเขาเอาเสียเลย ช่วยทำระบบปิดหมุนเวียน ไม่ให้กลิ่นภายนอก
มันเข้ามามากขนาดนี้เสียทีเถอะ!!

ถัดลงไปใต้สวิตช์เครื่องปรับอากาศ มีถาดวางของพร้อมยางกันลื่น และช่องวาง
แก้วกาแฟ 2 ตำแหน่ง ซึ่งไม่สามารถล็อกขวดน้ำขนาด 7 บาทไว้ได้เลย คุณอาจ
ต้องย้ายขวดน้ำไปไว้ที่ช่องวางขวด ณ แผงประตูด้านข้างแทน

ด้านความบันเทิง BMW Thailand สั่ง Option มาติดตั้งให้ เป็น เครื่องเสียง Hi-Fi
แบบ BMW Professional ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3
1 แผ่น เชื่อมต่อโทรศัพท์ได้ด้วย Bluetooth และมีช่องเสียบ USB มาให้ พร้อมปุ่ม
ตั้งค่าเพื่อเรียกใช้ Funtion ที่คุณชื่นชอบ 8 ตำแหน่ง ลำโพง 7 ชิ้น กำลังขับรวมถึง
205 Watt แสดงผลผ่านจอมอนิเตอร์สีขนาด 6.5 นิ้ว (เล็กกว่ารุ่นอื่นๆ) ควบคุมการ
ทำงานทั้งหมด ด้วยระบบ iDrive พร้อม Application BMW สำหรับโทรศัพท์แบบ
Smart Phone นอกจากนี้ จอมอนเตอร์ ยังแสดงผลระบบเซ็นเซอร์กะระยะขณะถอย
เข้าจอดอีกด้วย

คุณภาพเสียง ภาครับวิทยุ ถือว่าดีกว่าที่คิดไว้พอประมาณ ไม่ว่าจะเล่นเพลงผ่าน
CD หรือ ไฟล์เพลงใน USB และโทรศัพท์มือถือของคุณ ก็ให้เสียงที่กระจ่างขึ้น
ชัดเจนขึ้น ไม่อู้อี้ เบสมีมิติมากขึ้น เสียงใสทำได้ดีขึ้นกว่า BMW Low Option
รุ่นอื่นๆในอดีตที่ผมเคยเจอมา

เสียดายว่า รถคันละตั้ง 2.5 ล้านกว่าบาท กลับไม่มีระบบนำทางผ่านดาวเทียม
GPS มาให้ ทั้งที่รถยนต์ราคาถูกกว่านี้ ของค่ายอื่น เขาติดตั้งให้เป็นอุปกรณ์
มาตรฐานกันหมดตั้งนานแล้ว!

2016_05_BMW_218i_Coupe_Interior_09

มองไปยังด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า นอกเหนือจากจะพบ
สวิตช์ควบคุมระบบ iDrive แล้ว ยังจะเจอ เบรกมือแบบดั้งเดิม ติดตั้งไว้ฝั่ง
ข้างคนขับ!!! เป็นเรื่องน่ายินดีที่ BMW รุ่นนี้ ย้ายเบรกมือมาอยู่ใกล้คนขับ
กันเสียที!

พนักวางแขนพร้อมฝาปิดกล่องคอนโซลกลางในตัว สามารถเลื่อนขึ้นหน้าหรือ
ถอยหลังได้ เพื่อปรับตำแหน่งการวางแขนของผู้ขับขี่ละผู้โดยสารด้านหน้าฝั่ง
ซ้าย ให้สบายมากที่สุดเท่าที่ทำได้ หากปรับเบาะกดลงต่ำสุด สำหรับบางคนจะ
วางข้อศอกได้พอดี แต่บางคนอาจต้องปรับยกเบาะนั่งขึ้นมา เพื่อให้วางแขน
ได้สะดวกกว่านี้

เมื่อเปิดฝากล่องยกขึ้น คุณจะเห็นช่องเสียบ USB และ AUX อย่างละ 1 ตำแหน่ง
และช่องสำหรับวางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขนาดพอให้วาง iPhone 6 หรือ 6S Plus
แต่กลับไม่เหลือพื้นที่สำหรับใส่กล่อง CD หรือข้าวของจุกจิกอื่นๆ เลย ต้องทำใจ
เพราะ BMW แทบทุกรุ่น มักทำกล่องคอนโซลมาในลักษณะนี้ และไม่ค่อยจะให้
ความสำคัญกับการเก็บของในรถมากนัก

2016_05_BMW_218i_Coupe_Visibility1

ทัศนวิสัยด้านหน้า ถึงแม้ดูเหมือนจะไม่แตกต่างไปจาก BMW 1-Series นัก
แต่ด้วยการออกแบบเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ในแนวลาดเอียงที่เหมาะสม
ทำให้การมองเห็นสภาพการจราจรข้างหน้า ทำได้ดี แม้คุณจะปรับเบาะนั่ง
ไว้ในตำแหน่งเตี้ยสุดก็ตาม ยังมองเห็นฝากระโปรงหน้าชัดเจน ตำแหน่ง
ของจอมอนิเตอร์ และมาตรวัด อยู่ในตำแหน่งที่เหมือนกันกับ 3-Series รุ่น
F30 , F31 Touring Wagon ทำให้อ่านข้อมูลในขณขับขี่ได้ดีเช่นเดียวกัน

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา แอบมีการบดบัง รถที่แล่นสวนมาบนถนน
ทางโค้งขวา สวนกัน 2 เลน อยู่นิดๆ แต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานของ BMW

2016_05_BMW_218i_Coupe_Visibility2

กระจกมองข้าง เหมือนจะใช้บานกระจกด้านในร่วมกับ 3-Series F30 คือเป็น
แบบสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูน ยังมีขอบด้านใน ที่บดบังกินพื้นที่ริมขอบด้านขวา
ของบานกระจกอยู่เล็กน้อย การมองดูรถที่แล่นมาจากด้านหลังฝั่งขวา อาจต้อง
เพิ่มความระมัดระวังกันสักหน่อย เหมือนกับ 3-Series F30 และ F31 Touring
Wagon

2016_05_BMW_218i_Coupe_Visibility3

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย มีขนาดไล่เลี่ยกับ 120d รุ่นเดิม เช่นเดียวกัน
กระจกมองข้าง ก็ยังคงมีขนาดเท่ากัน แต่เมื่อมองจากฝั่งคนขับ  บานกระจกดูมี
ขนาดเล็กลง และแทบช่วยผู้ขับขี่ในการมองเห็นรถคันที่แล่นตามหลังมาจาก
เลนซ้าย ได้ไม่มากนัก ถ้าต้องการจะเปลี่ยนเลน หรือเบี่ยงเข้าช่องทางคู่ขนาน
ควรจะหันซ้าย และขวา อีกหลายๆรอบ จนกว่าจะมั่นใจ ค่อยออกรถไป

2016_05_BMW_218i_Coupe_Visibility4

ทัศนวิสัยด้านหลัง ก็ไม่ต่างจาก 1-Series มากนัก หากมองในรูป แต่พอลอง
เข้าไปนั่งบนเบาะคนับ จะพบว่า มันแอบโปร่งกว่าที่คิด อย่างไรก็ตาม ลักษณะ
ลาดเอียงของเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar แม้จะทำให้ กระจกบังลมหลัง มองได้
แคบลง แต่ก็ชดเชยด้วยขนาดของบานกระจกหน้าต่างคู่หลัง ที่ยาวขึ้น และเพิ่ม
ความรู้สึกว่า มองเห็นได้เยอะขึ้นกว่า 1-Series Coupe เดิม

2016_05_BMW_218i_Coupe_Engine_01

********** รายละเอียดทางวิศวกรรมละการทดลองขับ **********

ปัจจุบัน 2-Seriesทำตลาดทั่วโลก ด้วยทางเลือกเครื่องยนต์มากถึง 13 ขนาด!
จนยากที่จะอุทิศพื้นที่สาธยายจนหมดไหว ส่วนรุ่น Coupe ที่ถูกส่งมาขายใน
บ้านเรา มีเพียง 3 รุ่นย่อย นั่นคือ 220i (ยกเลิกการทำตลาดไปแล้ว) M2 และ
218i ที่เห็นอยู่นี้

สำหรับ 218i นั้น จะมาพร้อมกับขุมพลังใหม่ ที่ออกทำตลาดครั้งแรกเมื่อเดือน
มีนาคม 2015 เป็นเครื่องยนต์รหัส B38A15M0 บล็อก 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว
1,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94.6 x 82.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.0:1 พร้อม
เทคโนโลยี Twin Power Turbo ซึ่งประกอบด้วย ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรง
สู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection System High Precision Injection (หัวฉีด
ที่มีความแม่นยำสูง) เสริมด้วยระบบแปรผันวาล์ว VALVETRONIC และระบบ
Double VANOS (ควบคุมหัวแคมชาฟท์) พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger
อีก 1 ลูก

แฟนๆ BMW คงจะคุ้นๆ กับสเป็กของเครื่องยนต์ลูกนี้ แน่ละครับ มันก็คือ
ขุมพลัง 3 สูบ 1.5 ลิตร แบบแรก ที่ BMW พัฒนาขึ้นเอง และนำมาติดตั้งใน
MINI Cooper รุ่นใหม่ล่าสุด ที่เปิดตัวในบ้านเรามาตั้งแต่ปี 2015 แล้วนั่นเอง

กำลังสูงสุด ไม่แตกต่างไปจาก MINI Cooper มาตรฐานเลย ตัวเลขยังคงอยู่ที่
136 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 – 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.41 กก.-ม. (หรือ
220 นิวตันเมตร) ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,200 – 4,300 รอบ/นาที มากันเป็น
Flat Torque เลยทีเดียว

2016_05_BMW_218i_Coupe_Engine_02_8AT_Transmission

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ จาก ZF พร้อม
โหมด + / – Steptronic ซึ่งมีอัตราทดเกียร์ ดังนี้

เกียร์ 1……………………….5.000
เกียร์ 2……………………….3.200
เกียร์ 3……………………….2.143
เกียร์ 4……………………….1.720
เกียร์ 5……………………….1.314
เกียร์ 6……………………….1.000
เกียร์ 7……………………….0.822
เกียร์ 8……………………….0.640
เกียร์ถอยหลัง……….…..…3.456
อัตราทดเฟืองท้าย….….…3.077

2016_05_BMW_218i_Coupe_Engine_02_Program

218i มาพร้อมกับ ระบบ Auto Start/Stop เป็นอุปกรณ์มาตรฐานเหมือน BMW
ทุกรุ่นที่ขายในบ้านเราตอนนี้ เมื่อคุณขับรถ แล้วเหยียบเบรกจอดรอสัญญาณ
ไฟจราจร ให้รถจอดสนิท หากเหยียบเบรกจนจมมิด เครื่องยนต์และระบบ
คอมเพรสเซอร์แอร์ จะหยุดทำงาน จนกว่าจะถอนเท้าจากแป้นเบรกหรือเมื่อ
ถึงจุดที่ คอมเพรสเซอร์แอร์ต้องเริ่มทำงานอีกครั้ง เพื่อรักษาอุณหภูมิในห้อง
โดยสารตามที่คุณปรับตั้งไว้เครื่องยนต์จึงจะติดขึ้นมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีโหมดการขับขี่ Driving Experience Control Switch ซึ่ง
ยกมาจาก BMW 3-Series F30 ให้คุณเลือกได้ถึง 4 โหมด จากสวิตช์ไฟฟ้าข้าง
คันเกียร์ และแสดงผลทางหน้าจอขนาดเล็ก ใต้ชุดมาตรวัด กับหน้าจอมอนิเตอร์
ของระบบ iDrive ดังนี้

ECO PRO เน้นการขับขี่แบบประหยัด คันเร่ง/ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า จะเปิดให้
อากาศเข้า แบบหรี่ๆ น้อยกว่าปกติ เครื่องปรับอากาศ ทำงานเบากว่าปกติ และ
มี Tipสำหรับการขับประหยัดน้ำมันมาให้ลองทำดู พร้อมกราฟแสดงผล

Comfort เป็นการขับขี่แบบปกติ คันเร่งยังหน่วงและ Lag อยู่ชัดเจน แต่ยังไม่
Lag มากเท่าคันเร่งของ Mercedes-Benz โหมด Comfort หรือ Volvo S80 เดิม
MY 2008 ก่อน Minorchange

Sport ปรับคันเร่งให้ตอบสนองไว และลากรอบเกียร์ขึ้นไปรอไว้ในระดับเกิน
2,000 รอบ/นาที ขึ้นไป เพื่อพร้อมให้คุณเหยียบคันเร่งพุ่งทะยานได้ตลอดเวลา

Sport + เพิ่มการปิดระบบควบคุมการลื่นไถลล้อหมุนฟรี Traction Contraol ทิ้ง
ไปเลย ที่เหลือ ขึ้นอยู่กับสัญชาติญาณของคนขับ ระบบจะช่วยทำงานเพียงแค่
ส่วนหนึ่งเท่าที่จำเป็น

ตัวเลขจากทางโรงงาน ระบุว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ใน
8.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ตามมาตรฐาน EU6 โดยใช้ ล้อขนาดมาตรฐาน / 17 นิ้ว และ 18 นิ้ว มีดังนี้

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในเมือง 6.2 , 6.5 และ 6.8 ลิตร/100 กิโลเมตร ส่วน
นอกเมือง 4.4,4.6 และ 4.8 ลิตร / 100 กิโลเมตร ได้ค่าเฉลี่ย 5.1,5.3 และ 5.5
ลิตร/100 กิโลเมตร คุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงขั้นต่ำ รองรับที่ค่าออกเทนระดับ
RON 91 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ 118 , 124 และ 129 กรัม/100
กิโลเมตร ตามขนาดของล้อยางด้านบน

สมรรถนะจริงบนถนนและสภาพอากาศของเมืองไทย จะเป็นอย่างไร ลอง
มาดูตัวเลขเปรียบเทียบกันกับ รถยนต์รุ่นพี่คันเก่าอย่าง 1-Series ซึ่งเรามี
การทดลองและเก็บตัวเลขไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รวมทั้ง 120d ที่เราเคย
ลองขับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ดังต่อไปนี้

218_table1_edit sport

เห็นตัวเลขแล้ว หลายคนคงบอกว่า โอ้ย เรี่ยวแรงแค่นี้จะไปสู้ชาวบ้านเขา
ได้อย่างไรกัน? จะว่าไป ก็ไม่ผิดหรอกครับที่คิดเช่นนั้น เพราะถ้าดูกันแค่
ตัวเลขอัตราเร่ง 0 – 100 และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ออกมา หาก
มองแบบผิวเผิน แทบทุกคนคงคิดว่า เรื่องอัตราเร่งนั้น 218i ไม่ต้องไปคิด
สู้ใครเขาหรอก อืดกว่าคู่แข่งในระดับใกล้เคียงกันชัดเจน ผมเห็นด้วยครับ
ไม่เถียงเลย

แน่ละ ตัวเลขที่ออกมา ทำได้เพียงแค่ ชนะ 120i Hatchback 5 ประตู รุ่นปี
2004 – 2007 (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 10.95 วินาที ช่วง 80 – 120
กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.6 วินาที Top Speed อยู่ที่ 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง
@ 5,800 รอบ/นาที ที่เกียร์ 5) เพียงรุ่นเดียว นอกนั้น 218i ยังคงโดนเหล่า
พี่น้องร่วมค่าย ปาดแซงขึ้นหน้าทิ้งห่างหายไปพอสมควร

แทบไม่ต้องไปเทียบกับ 120d Coupe รุ่นก่อนนั่นหรอกครับ ขุมพลังแบบ
Diesel Turbo ของ BMW ก็ยังทำตัวเลขออกมาได้สวยงามกว่า 218i ชัดๆ
(0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.98 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน
6.74 วินาที Top Speed 234 กิโลเมตร/ชั่วโมง @ 4,100 รอบ/นาที เกียร์ 6)

กระนั้น ดูเหมือนว่าเราอาจลืมคิดกันไปว่า ตัวเลขที่เห็นนี้ ถูกเค้นออกมา
จากเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แค่ 3 สูบ 1.5 ลิตร พ่วง Turbo เท่านั้นเองนะ!!

ยิ่งถ้าเอาน้ำหนักตัวรถ กับการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนมาคิดเทียบ
กันด้วยแล้ว ผมมองว่า การที่ขุมพลังบล็อกนี้ ต้องทำงานกับเกียร์อัตโนมัติ
8 จังหวะ ซึ่งมีขนาดใหญ่ พอสมควร แล้วยังนำพาให้ 218i ทำตัวเลขได้
ไวขนาดนี้ ต้องถือว่า “ดีใช้การได้แล้ว”

2016_05_BMW_218i_Coupe_Engine_03_TopSpeed

จากจุดหยุดนิ่ง การไต่ความเร็วสูงสุดขึ้นไป ให้แรงดึงในระดับเดียวกันกับ
รถยนต์นั่งพิกัด C-Segment เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร แบรนด์ญี่ปุ่น (เทียบกับ
Mazda 3 Skyactiv) คือ ดูเหมือนจะแรง ในจังหวะเกียร์ 1 แต่พอเกียร์ 2 ก็
เริ่มทะยานขึ้นไปแบบ เรื่อยๆ ต่อเนื่อง เกียร์ 3 ยังพอจะลากความเร็วขึ้นไป
ได้อีกสักหน่อย

พอหลัง 130 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้ว เข็มความเร็วเริ่มไต่ขึ้นไปช้าลง
และต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะขึ้นไปแตะถึง 219 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อันเป็น Top Speed ของรถคันนี้ ยิ่งช่วงตั้งแต่ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป
ยิ่งจะเอื่อยเฉื่อยหนัก พอๆกับรถเก๋งญี่ปุ่นไม่มี Turbo เพราะเรี่ยวแรงในช่วง
รอบปลายๆ แทบไม่ค่อยจะมีโผล่นักเลย

ขอย้ำกันเหมือนเช่นเคยนะครับ เราไม่สนับสนุน ให้ใครก็ตามมาทดลองทำ
ความเร็วสูงสุด เช่นที่เราทำให้คุณผู้อ่านดูนี้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร
เราทำให้ดูกัน ด้วยเหตุผลของการให้ความรู้ เพื่อการศึกษา เนื่องจากรถยนต์
ระดับนี้ คุณผู้อ่านจำนวนไม่น้อย อยากรู้ตัวเลขสูงสุด ว่าทำได้อย่างที่ผู้ผลิต
เขาเคลมไว้หรือไม่ เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้เส้นทาง
ผู้ร่วมทดลองขับ และตัวผมเอง เป็นสำคัญ เราระมัดระวังกับเรื่องนี้อย่างมาก
เพราะ เราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิตมาทำตัวเลขแบบนี้กันเอง ดังนั้น
อย่าทำตามอย่างเป็นอันขาด หากถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงชีวิตคุณเอง
และเพื่อนร่วมทาง เราจะไม่รับผิดชอบในความปลอดภัยของคุณ ในทุกกรณี!

2016_05_BMW_218i_Coupe_Engine_05_Jimmy_Drive

ในการขับขี่จริง บุคลิกในภาพรวมของ 2-Series แตกต่างจาก 1-Series ทั้ง
รุ่นเดิม และรุ่นปัจจุบัน ไปเล็กน้อย ยังคงขับสนุก ควบคุมได้คล่องแคล่ว
ฉับไว ตามสั่ง แม่นยำพอสมควร มั่นใจได้ แต่ลดทอนความแข็งกระด้าง
ลงไปจาก 1-Series Coupe อย่างชัดเจน กลายเป็นรถยนต์ Coupe คันเล็ก
ที่เหมาะกับการขับขี่ใช้งานในชีวิตประจำวัน

ด้านอัตราเร่ง จากขุมพลัง 3 สูบ 1.5 ลิตร เมื่อหลายคนเห็นตัวเลขแล้วอาจ
กังขาว่า มันพอเพียงต่อการใช้งานหนะ ใช่อยู่ แต่จะยังคงให้ความสนุก
ในการขับขี่ตามแบบฉบับ BMW ที่หลายคนคาดหวังกันอยู่หรือเปล่า?

คำตอบนั้น มันขึ้นอยู่กับว่า คุณเป็นคนกลุ่มใด ใน 3 ประเภทนี้?

1. ถ้าคุณไม่เคยขับ BMW รุ่นใดมาก่อนเลยในชีวิต นี่อาจเป็นรถยนต์
จากค่ายใบพัดสีฟ้าคันแรกที่คุณเคยลองจับ

คุณอาจจะคิดว่ามันก็แรงใช้ได้เลยนะ เร่งแซงในเมือง หรือบนทางด่วน
ก็ทันใจดี มุดลัดเลาะก็พอได้ พวงมาลัยอาจหนืไปนิด แต่มันก็ขับสนุก
คล่องแคล่ว ไวเอาเรื่อง เหมาะอย่างยิ่งกับการเป็น BMW คันแรกในชีวิต
เพราะมันจะเป็นรถยนต์ “ครู” ที่จะเริ่มนำพาคุณให้เรียนรู้จักว่า บุคลิก
ของรถยนต์ที่ ขับสนุก สั่งได้ดังใจ แม่นยำและมั่นใจกว่ารถยนต์ทั่วไป
ในแบบฉบับ BMW ที่ผู้คนทั่วโลกหลงใหล มันเป็นอย่างนี้นี่เอง!

2. ถ้าคุณเคยขับ BMW มาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะรุ่นใด ปีไหนก็ตาม โดยเฉพาะ
อย่างยิ่ง รุ่นหลังๆในช่วง 10 ปีมานี้ จะเคยลองขับหรือเคยครอบครองก็ตาม

อัตราเร่งมันอาจไม่ทันอกทันใจคุณเลย การไต่ความเร็ว มันช่างเรียบเฉย
ราวกับเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังเคลื่อนออกจากท่าน้ำพรานนก
ถึงแม้มันจะขับสนุก มุดลัดเลาะไปบนทางด่วนด้วยความเร็ว แถวๆ 110
กิโลเมตร/ชั่วโมง ในขณะที่รถคันข้างหน้า ฝั่งขวา หรือด้านหลังคุณ ต่าง
พากันคลานอยู่แถวๆ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จังหวะนั้น คุณอาจพบเจอกับ
พละกำลังจากเครื่องยนต์ ในช่วง 2,000 – 5,000 รอบ/นาที มาให้เรียกใช้
ได้แทบทุกเมื่อ แถมเกียร์อัตโนมัติ จาก ZF ก็ยังทำงานได้ไว (ทั้งที่ยังมี
อาการกระฉึกกระฉัก ในจังหวะการเข้าเกียร์ช่วงออกตัวรถก็ตาม) แต่คุณ
ก็ยังคิดอยู่ในใจว่า อยากได้ 220i , 228i , 230i หรือไม่ก็ M2 ไปเลย น่าจะ
สาแก่ใจพระเดชพระคุณท่านมากกว่านี้อีก

3. ในความเห็นของผมล่ะ ? คิดอย่างไรกับ ประเด็นอัตราเร่งของ ขุมพลัง
บล็อกใหม่ 3 สูบ 1.5 ลิตร ตระกูล B38 นี้?

ถ้าขึ้นมาขับเฉยๆ ไม่ได้รับรู้มาก่อนว่า รถคันนี้วางเครื่องยนต์อะไร ผมคง
ขับมันต่อไป โดยอาจรู้สึกสนุก แค่ตอนเหวี่ยงโค้ง กับการเบรก สมรรถนะ
ภาพรวม อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ส่วนอัตราเร่ง ผมเฉยๆ มากๆ กว่าที่คิดไว้

แต่เมื่อได้รู้ว่า 218i วางขุมพลัง 3 สูบ DOHC 1.5 ลิตรแบบนี้ ผมกลับมองว่า
เฮ้ย มันก็มีเรี่ยวมีแรง ไม่เลวเท่าไหร่นี่หว่า พละกำลังตอนเร่งแซงนี่ถือว่า
ทำได้ดีสมตัวเลยนะ คันเร่งในโหมด ECO Pro และ Comfort อาจยังคงมี
อาการ Lag ตอบสนองช้าอย่างจงใจราวๆ 1 วินาทีจนผมรำคาญ แต่พอเข้า
โหมด Sport หรือ Sport+ การตอบสนองของคันเร่งจะไวขนึ้ชัดเจน และ
ช่วยคุณแก้สถานการณ์เร่งด่วนไม่พึงประสงค์ ที่เกิดขึ้นข้างหน้าได้่ง่าย
มากยิ่งขึ้น

เกียร์อัตโนมัติ ทำงานค่อนข้างไว เปลี่ยนเกียร์ได้เร็ว เพียงแต่ดูเหมือนว่า
ทางโรงงานเขาจะเซ็ตสมองกลเกียร์ลูกนี้ให้มีบุคลิกคล้ายกับเกียร์ธรรมดา
พอสมควร เพราะผมยังสัมผัสได้ในบางจังหวะที่ถอนคันเร่งแล้วเจออาการ
หน้ารถตื้อลงบ้าง เร่งแล้วมีการกระชากกระชั้นนิดๆหน่อยๆ บ้าง เป็นเรื่อง
ธรรมดาของรถยนต์ที่เซ็ตมาในแนวเอาใจนักขับแบบนี้

การเก็บเสียง ในห้องโดยสาร แม้ว่า 218i จะเป็นรถนต์ที่ใช้บานประตูแบบ
ไร้เสากรอบ Frameless Door แต่ก็ต้องถือว่า เก็บเสียงเงียบใช้ได้ในทุกย่าน
ความเร็ว จนกว่าจะถึงระดับ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงจะเริ่มได้ยินเสียงยาง
ดังขึ้นมาจากพื้นถนน ส่วนเสียงลมที่จะเล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสาร จะ
เกิดขึ้นที่ด้านหลัง บริเวณซุ้มล้อคู่หลัง เป็นหลักมากกว่า

2016_05_BMW_218i_Coupe_Engine_06_Suspension

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
ด้วยกลไกไฟฟ้า EPS (Electromechanical Power Steering System)
พร้อมระบบ Servotronic Speed Sensitive Power Assist ซึ่งยังคงเป็น
ชุดแร็คแบบกลไกนั่นละ แต่เพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยผ่อนแรงหมุนพวงมาลัย
โดยใช้กล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ สั่งปรับแต่งน้ำหนักของ พวงมาลัย ตาม
ความเร็วของรถ รวมทั้งยังมีวาล์วไฟฟ้าแบบไฮดรอลิก ที่ช่วยเพิ่มการหมุน
พวงให้มาลัยละเอียดแม่นยำยิ่งขึ้น อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 15.0 : 1 รัศมี
วงเลี้ยว 10.9 เมตร ต่อ 1 รอบวงกลม (หรือ 5.4 เมตร)

คราวนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนจากระบบผ่อนแรงด้วยเพาเวอร์ไฮโดรลิกเพียวๆ
ใน 1-Series Coupe มาเป็นการผ่อนแรงด้วยกลไกไฟฟ้า ซึ่งวิศวกร BMW
ก็พยายามเซ็ตให้ตอบสนองใกล้เคียงกับพวงมาลัยของรถรุ่นก่อนหน้านี้
มากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้

ขณะขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะมีน้ำหนักหน่วงมือกำลังดี เบาแต่
ไม่ถึงขั้นเบาโหวง พูดง่ายๆคือ มันเบาแต่มีแรงขืนมือ ในระดับใกล้เคียง
มากๆ กับ 3-Series F30 และ F31 นั่นแหละ แถมยังแอบไวกว่า 1-Series
อยู่กระจึ๋งนึงด้วยซ้ำ (ไม่ต่างกันมากนัก) พอมีสัมผัสได้จางๆนิดๆ ว่านี่คือ
พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า แต่เซ็ตมาให้มีระยะฟรีน้อย ค่อนข้างไว เลี้ยวได้
คม แต่ยังไม่ถึงขั้นคมกริบแบบ รถสปอร์ตรุ่นที่แพงกว่านี้

เมื่อความเร็วของรถเพิ่มขึ้น พวงมาลัยก็จะหนืดขึ้น ชัดเจนมาก และยิ่งเพิ่ม
ความมั่นใจในการควบคุมรถ แม้จะปล่อยมือจากพวงมาลัยได้สั้นๆ เพียงแค่
2-3 วินาที เพราะช่วงล่าง ถูกตั้งมาให้กินซ้ายนิดๆ อีกทั้งเจออาการดิ้นไป
ตามพื้นถนน อันมีสาเหตุมาจาก ความกว้างของหน้ายางเป็นหลัก

ตั้งข้อสังเกตว่า วงพวงมาลัย M Sport ที่ติดตั้งมากับรถคันนี้ มีขนาดของ
เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ไปนิดเมื่อเทียบกับ ขนาดและการบังคับควบคุมรถ
ผมมองว่า ขนาดที่ของพวงมาลัยที่เหมาะสมกับ 2-Series คือ พวงมาลัย
เล็กลงมานิดนึงแบบ BMW i3 แต่ยังต้องคงความหนานุ่มแบบ 2-Series
ตามเดิมไว้

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ สตรัต ทำจาก Aluminium พร้อมคอยล์
สปริงแบบ Double-joint ด้านหลังเป็นแบบ 5 จุดยึด (Five-link axle)
ทำจากเหล็ก น้ำหนักเบา

สิ่งที่เราทุกคนคาดหวังจาก BMW ได้เสมอมา คือความมั่นใจในการขับขี่จาก
การเซ็ตช่วงล่าง และวิศวกรรมโครงสร้างตัวรถของพวกเขา มาคราวนี้ หลังจาก
ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในระยะหลังๆว่า BMW ทุกรุ่นหลังปี 2010 ขึ้นมา
มีช่วงล่างที่นุ่มขึ้น จนผิดไปจากความเคยชินของกลุ่มลูกค้าผู้ฝักใฝ่แบรนด์นี้
พวกเขาก็หาจุดลงตัวระหว่างสิ่งที่กลุ่มลูกค้า Hardcore ต้องการ และสิ่งที่กลุ่ม
ลูกค้าทั่วไปคาดหวัง มาผสมผสานกัน จนได้มาซึ่งความอร่อยที่ลงตัวพอดีๆ

การดูดซับแรงสะเทือน จากหลุมบ่อ ฝาท่อ เนินลูกระนาดตามตรอกซอกซอย
ทำได้ดีเกินกว่าที่คาดคิดไว้ และให้ความนุ่มสบายมากกว่า 120d Coupe เดิม
อย่างชัดเจน ศิวิไลซ์ขึ้นมาก ลดทอนความดิบกระด้างลงไป เพิ่มความสบาย
ในการขับขี่บนถนนในตัวเมืองได้ดีขึ้นเยอะ อย่างน่าประทับใจ โดยยังคงความ
หนึบแน่นติดแข็งนิดๆไว้ที่ปลายนวม ให้ทุกคนระลึกได้ว่า นี่แหละ BMW ใน
แบบที่เราต้องการกันละ!

การทรงตัวในย่านความเร็วสูง จัดอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีมากๆ ไม่น่ากลัว
อย่างที่คิด เพียงแต่ว่า พอมีอาการดิ้นไปตามพื้นถนนที่ส่งมาจากพวงมาลัย
และยางติดรถ ให้พบเจออยู่บ้าง ในบางกรณี เช่นพื้นถนนเป็นลอนคลื่น ซึ่ง
ลักษณะดังกล่าว จะคล้ายกับ BMW ที่เซ็ตช่วงล่างมาแบบ 325i Coupe
E92 เพียงแต่ จะนุ่มนวลใกล้เคียงกับ 325i Convertible E93

บนทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ณ โค้งขวา รูปเคียว เหนือมักกะสัน ไปบรรจบกับ
ทางแยก ตัว Y เข้าโค้งซ้ายต่อเนื่อง ผ่านโรงแรม เมอเคียว ออกไปทางบางนา
ผมพา 218i Coupe เข้าโค้งได้ที่ความเร็วแถวๆ 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามลำดับ และนั่นคือ Limit เท่าที่รถจะยังสามารถอยู่ในโค้ง
ได้อย่างนิ่งพอให้ผู้ขับขี่ควบคุมได้ เพราะถ้าเกินจากนี้ Traction Control ก็คง
จะเข้ามารับหน้าที่ดูแลอากับกิริยาของรถกันต่อแล้วละ

ส่วนทางโค้งจากทางด่วนชั้นที่ 1 ช่วงราบสุขุมวิท 62 เชื่อมต่อขึ้นไปยังทาง
ยกระดับบูรพาวิถี (โค้งขวา ซ้ายยาว และขวาขึ้นเนินยกระดับ) ผมสามารถ
พา 218i สาดเข้าโค้งได้ด้วยความเร็ว 90 , 110 และ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ตามลำดับ อย่างสบายๆ แต่ อาจต้องระวังพื้นผิวทางโค้งซึ่งเป็นลอนคลื่น
อาจทำให้คุณต้องใช้สมาธิมากๆจนอาจจับอาการรถไขว้เขว และอาจเผลอ
หลุดโค้งไปชนขอบทางได้

ภาพรวมของช่วงล่าง ผมว่ามั่นใจได้ดีกว่า 3-Series F30 รุ่นช่วงล่างปกติ
ซึ่งนุ่มนิ่มไปหน่อย เสียด้วยซ้ำ และมันเป็นบุคลิกช่วงล่างในแบบที่คนรัก
การขับรถส่วนใหญ่ คาดหวังอยากเห็นจาก BMW และพวกเขาก็ได้เซ็ต
ให้ 2-Series มีระบบกันสะเทือนที่ดีจนโดนใจผมได้มากเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมและ The Coup team ของเรา ค้นพบจนตั้งข้อสังเกต
ร่วมกัน นั่นคือ รถคันสีดำที่เราทดลองขับกันนั้น เมื่อไต่ความเร็วขึ้นไปจน
ถึงระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเริ่มมีอาการแกว่งออกข้างนิดๆ อาการนี้
ดังกล่าวจะค่อยๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้นกว่านี้ อาการที่ว่า
ไม่เกี่ยวข้องกับลมยาง หรือกระแสลมปะทะด้านข้างใดๆทั้งสิ้น เพราะ
ผู้โดยสารบนเบาะหลัง จะรับรู้อาการนี้ ได้มากกว่าคนขับด้วยซ้ำ คาดว่า
อาจเป็นปัญหาเฉพาะรถคันนี้ และหวังว่า รถคันอื่น ในตระกูล 2-Series
ไม่น่าจะมีปัญหานี้

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก แบบมีรูระบายความร้อน ทั้ง 4 ล้อ ทำงานร่วมกับ
ตัวช่วยต่างๆ ทั้ง ระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC (Dynamic Stability Control)
ที่รวม ระบบป้องกันล้อล็อก ขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking
System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake
Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ทำงาน
ร่วมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ ASC (Automatic Stability Control) ระบบ
ควบคุมล้อฟรีขณะออกตัวหรือบนถนนลื่น DTC (DynamicTraction Control)
ระบบ DBC (Dynamic Brake Control) ควบคุมเรื่องการเบรกให้รถไม่เสียการ
ทรงตัวเท่าที่จะเป็นไปได้ กับระบบควบคุมการกระจายแรงเบรกขณะเข้าโค้ง
CBC (Cornering Brake Control และแถมยังมีระบบ Brake Drying function
ป้องกันอาการเบรกไม่จับตัว หรือ  Fading Compensation ระบบช่วยออกตัว
บนทางลาดชัน Start-Off Assistant และระบบ Active Differential Braking
(ADB) มาให้เพิ่มเติม

แป้นเบรกมาในสไตล์ “นุ่มกลางๆ แต่แน่นใช้ได้” ต้องการให้รถชะลอลง
มากน้อยแค่ไหน ก็เหยียบเบรกลงไปได้ตามต้องการเลย

ภาพรวมถือว่า การตอบสนองของระบบเบรก ทำได้ดีจนน่าชื่นชมอย่างมาก
ดีกว่า 3-Series F30 เสียด้วยซ้ำ!

2016_05_BMW_218i_Coupe_Fuel_Consumption_01

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

เหตุผลรองในการเลือกนำ ขุมพลัง 3 สูบ 1.5 ลิตร มาทำตลาดในรุ่น 218i แทน 220i
คือความประหยัดน้ำมัน ที่แถมพ่วงมาให้ในลักษณะ “ติดปลายนวม” ดังนั้น ผมเชื่อว่า
คุณผู้อ่าน น่าจะสงสัยเหมือนผมนั่นละ ว่าเครื่องยนต์บล็อกนี้ เมื่อจับพ่วงเข้ากับระบบ
ขับเคลื่อนล้อหลัง ตามแบบฉบับของ BMW แล้ว จะทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน
ออกมาเป็นเช่นใด?

เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการพารถไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95
Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS
อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ด้วยเหตุที่ 218i เป็นรถยนต์นั่งกลุ่ม Premium Compact แม้จะมีคนอยากรู้ถึงอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ลูกค้าในกลุ่มนี้ ไม่ได้ซีเรียสกับตัวเลขกันมากขนาดนั้น เราจึง
ตัดสินใจเติมน้ำมัน ด้วยวิธีเติมเสร็จแล้วให้หัวจ่ายตัด พอ ไม่ต้องเขย่ารถ อย่างเช่นที่
ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า 2,000 ซีซี และรถกระบะ ให้ปวดเมื่อยร่างของพวกเรา
โดยไม่จำเป็น

2016_05_BMW_218i_Coupe_Fuel_Consumption_02

เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถไป
เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ โผล่ออกปากซอย
โรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ
จนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อน
ขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ

ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน คราวนี้ เพื่อรักษาความเร็ว
ให้นิ่งยิ่งขึ้น เราเปิดระบบควบคุมความเร็ว LIM เพื่อไม่ให้ขับเกินกว่าความเร็วระดับที่
เรากำหนดกันไว้ เพราะรถคันนี้ ไม่มีระบบ Cruise Control มาให้เลย

2016_05_BMW_218i_Coupe_Fuel_Consumption_03

เราลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เลี้ยวซ้ายสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับใต้สถานี
รถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้ง
เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง แค่ปล่อย ให้หัวจ่ายตัดพอ เหมือนตอน
เริ่มต้นทดลอง

2016_05_BMW_218i_Coupe_Fuel_Consumption_04_EDIT

ผู้ช่วยทดลอง และสักขีพยานของเราคราวนี้ มีทั้ง น้องโจ๊ก V10ThLnD และ
น้องเติ้ง กันตพงษ์ สมชนะ สมาชิกใหม่ของ The Coup Team จากเว็บเรา

เอาละ มาดูตัวเลขที่ ออกมากันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 5.73 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.23 กิโลเมตร/ลิตร

218_table2_edit sport

เห็นตัวเลขความประหยัดที่ไล่เลี่ยกันกับ 320i F30 แล้ว ผมก็เกิดคำถามขึ้นมา
ว่า น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ระยะทางประมาณเท่าไหร่

จากการใช้งาน 1 สัปดาห์ และเติมน้ำมันรวม 2 ครั้ง พบว่า ถ้าคุณขับแบบปกติ
ไม่ได้ขับเร็วเกินกำหนดไปเร่งแซง หรือไล่บี้ใครเขา น้ำมัน 1 ถังจะพาคุณไป
ได้ไกลราวๆ 500 – 520 กิโลเมตร แต่ถ้าคุณเป็นคนเท้าหนัก เห็นรถคันข้างหน้า
เป็นไม่ได้ ต้องไปไล่จี้ไล่แซงเขาตลอด บอกได้เลยว่า น้ำมัน 1 ถังจะแล่นได้
เพียงแค่ 400 – 420 กิโลเมตร เท่านั้น โดยมีหมายเหตุไว้ว่า น้ำมันครึ่งถังแรก
จะหมดไป เมื่อระยะทางบน Trip meter อยู่ที่ 230 – 240 กิโลเมตร

เดี๋ยวนะ…นี่มันเป็นตัวเลขที่พอกันกับ Nissan Sylphy Turbo คันที่บ้านผม ตอน
ขับแบบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ เลยนี่หว่า!

2016_05_BMW_218i_Coupe_07

********** สรุป **********
ขอ 220i กลับมา ในราคาเดิม หรือถูกลงอีกนิดก็ยังดีเถิด!

คุณเคยไหมครับ? เวลาจะซื้อโทรศัพท์มือถือซักเครื่องหนึ่ง คุณอยากได้
คุณสมบัติต่างๆนาๆมากมาย ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป พอเดินไปดูที่
ร้านใกล้ๆบ้าน โทรศัพท์ Smartphone เครื่องที่คุณหมายปอง มันถูก
ขายเกลี้ยงจนหมดสต็อก พนักงานขายเลยจำเป็นต้องตะล่อมคุณ ให้ซื้อ
Smartphone อีกรุ่น ที่มีหน้าตาเหมือนกันเป๊ะ แต่สเป็กด้อยกว่ากันลงมา
แม้ว่าคุณจะประหยัดเงินไปได้บ้าง แต่แน่ละ มันก็ไม่ได้ทำให้คุณรู้สึก “ฟิน”
อย่างที่มันควรเป็น

นั่นละ สิ่งที่ผมคิดหลังจากได้ใช้ชีวิตกับ 218i นานยาวไปถึง 1 สัปดาห์

คุณยังจำ ชุดชั้นใน First Bra จาก Wacoal ยกทรงสำหรับเด็กสาววัย
แรกแย้ม ที่เริ่มต้องใส่บราเป็นครั้งแรกในชีวิต กันบ้างแล้วใช่ไหมครับ?

2-Series นี่ก็เช่นกัน มันเหมาะที่จะเป็น BMW คันแรก สำหรับคนที่คิด
อยากเริ่มต้นมีประสบการณ์กับยนตรกรรมของค่ายใบพัดสีฟ้า ขณะที่
ยังมีอายุ 18 – 30 ปี และยังไม่มีครอบครัว มันแตกต่างจาก 3-Series
ญาติผู้พี่ของมันอย่างชัดเจน มันเปี่ยมด้วยบุคลิกการขับขี่ ที่คล่องแคล่ว
ฉับไว บังคับควบคุมได้ดังใจ อย่างแม่นยำ ของ BMW 2002 ในแบบ
ที่นักขับรถผู้มากประสบการณ์ จดจำได้ ถวิลหา และยังอยากไขว่คว้า
มาครอบครอง

พวงมาลัยที่เซ็ทมา ไวในแบบที่รถยนต์สไตล์นี่ควรเป็น (ถึงแม้ว่า
พวงมาลัยของ BR-V จะแอบไวกว่านี้อยู่สักหน่อยก็เถอะ) ช่วงล่างที่
นุ่มกว่า 1-Series Coupé เดิมนิดนึง แต่ยังคงเข้าโค้งได้มั่นใจ เปลี่ยน
เลนกระทันหันได้สนุกสนานตามสั่ง ในแบบรถ Sport Coupé ที่เซ็ตมา
ไม่ดิบเกินไป เพื่อเอาใจคนชอบขับรถส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้คิดจะไปลงแข่ง
ในสนามที่ไหน ระบบเบรคที่เซ็ตมาได้ประเสริฐมากสำหรับรถยนต์ระดับ
ราคานี้ แป้นเบรกคุมได้ตามสั่ง นุ่ม แน่น แม่นยำ แถมบบรรยากาศในรถ
ก็ยังดูโปร่งตากว่า BMW รุ่นอื่นๆ

นอกจากนี้ จุดเด่นสำคัญของ 2-Series ที่ดีเกินความคาดหมายของผม
คือการบริหารจัดการพื้นที่ภายในห้องโดยสาร ซึ่งต้องขอกระทืบไลค์
ให้ซัก 200 ที ด้วยเหตุที่ผมและพี่แพนสามารถก้าวเท้าเข้าไปนั่งใน
เบาะหลังของ 218i ได้อย่างไม่ลำบาก แถมยังมีพื้นที่ Legroom เหลือ
มากพอให้ผมสามารถนั่งไขว่ห้างได้สบายๆ กระดิกเท้าได้อีกต่างหาก

เรื่องตลกก็คือผมไม่สามารถทำสิ่งเดียวกันนี้ได้ ถ้าต้องนั่งอยู่บนเบาะหลัง
ของ Aston Martin Rapide S ทั้งๆที่เป็นรถ 4 ประตูคันเบ้อเร่อเบ้อร่ากว่า
2 Series เป็นไหนๆ ชวนให้สงสัยว่า BMW แอบไปซื้อตัวทีมออกแบบห้อง
โดยสารจากเทพเจ้าด้านการจัดการ Packaging ของตัวรถจาก Honda
มาหรือเปล่า?

ฟังดูเหมือนคุณ J!MMY น่าจะปลื้มจิตถูกใจ 218i นี่เสียเหลือเกิน

เปล่าเลย คุณยังไม่ได้อ่านย่อหน้าข้างล่างนี้ต่างหาก!

2016_05_BMW_218i_Coupe_08

พูดกันตามตรง สิ่งที่ผมยังรู้สึกขัดใจใน 218i คือ พละกำลังจากเครื่องยนต์
3 สูบ DOHC 1.5 ลิตร ที่ยังตอบสนองได้ในระดับ “เฉยๆ” จริงอยู่ว่า ถ้าหาก
มองกันที่ขนาดเครื่องยนต์ กับแรงม้าที่สามารถเค้นออกมาได้ขนาดนี้ ก็ถือว่า
ดีถมถืดแล้วทูนหัว แค่นี้ก็ใช้งานทั่วไป เร่งแซงในเมือง ก็เพียงพอแล้ว ลองคิด
ดูสิว่า ครั้งสุดท้ายที่คุณเห็นขุมพลัง 1.5 ลิตรจากโรงงานในบ้านเรา มีเรี่ยวแรง
เกิน 110 แรงม้าหนะ มันเมื่อไหร่กัน

เฉลยให้ก็ได้ Honda City Type Z รุ่นปี 1999 115 แรงม้า (PS) ไง ซึ่งนั่นก็
ชวนให้ร้องเพลง “17 ปีแห่งความหลัง” ของสุรพล สมบัติเจริญ แล้วล่ะ แถม
มันยังเป็นแรงม้าญี่ปุ่นด้วยเถอะ

แต่ถ้ามองในมุมของคนซึ่งมีเงินพอที่คิดจะซื้อรถยนต์ Coupé แบบนี้ เชื่อว่า
ส่วนใหญ่คงคาดหวังความแรงไว้มากกว่านี้ แน่นอนว่า 220i น่าจะตอบโจทย์
ครบถ้วนในทุกด้านมากกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น รายละเอียดปลีกย่อยที่เราคาดหวังจาก BMW ที่ติดป้าย
ราคา เกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป ทั้งระบบ Comfort Access, เข็มขัดนิรภัย
ปรับระดับสูง-ต่ำได้, หรือแม้แต่ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation
System ก็ไม่มีมาให้ ทั้งที่อุตส่าห์จัดรายการอุปกรณ์มาตรฐานมาได้อย่าง
เพียงพอต่อการใช้งานแล้วด้วยซ้ำ

มันอาจฟังดูงี่เง่าที่ผมเรียกร้องให้ 218i มีอุปกรณ์ทั้ง 3 อย่างนี้มาให้ แต่ในเมื่อ
3-Series F30 ประกอบในไทย ยังให้ข้าวของเหล่านี้มาจนครบถ้วน คำถาม
ก็คือ แล้วไม่คิดจะใส่มาให้ใน 218i สักหน่อยเหรอ ทั้งที่ลูกค้าต้องจ่ายเงินใน
ระดับพอๆกันเลยเนี่ยนะ?

2016_05_BMW_218i_Coupe_09

แล้วในราคาระดับ ไม่เกิน 3 ล้านบาท หากคิดจะซื้อรถยนต์ แนว Sport หรือ
Coupe 2 ประตู ป้ายแดงจากโรงงาน ณ ปี 2016 นี้ ผู้บริโภคชาวไทยจะยังคง
เหลือทางเลือกอื่นใดกันบ้าง?

เหลียวซ้าย แลขวา ชะเง้อไปมา ก็ดูจะไม่มีใครที่เข้าข่ายเหมาะสมไปกว่า
Toyota 86 / Subaru BRZ อีกแล้ว ยิ่งตอนนี้ Toyota มีแนวโน้มว่าคงจะไม่
นำเข้า 86 มาขายต่อ หลังจากได้โควต้ามาล็อตใหญ่และจำหน่ายจนหมด
เกลี้ยงโกดังไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อราวๆ ปี 2015 ปล่อยให้ T.C.Subaru ยัง
ทำตลาด BRZ ต่อไปตามลำพัง เท่านั้น ด้วยค่าตัว 2,790,000 บาท
ซึ่งภายหลังก็ลดราคาลงมาอีก รุ่นเกียร์ธรรมดาเริ่มต้นที่ราว 2.2 ล้านบาท!

สมาชิก The Coup Team ของเราส่วนใหญ่ เลือกที่จะหันไปอุดหนุน BRZ
เพราะรูปแบบตัวรถที่ถูกสร้างมาเป็นรถ Sport จริงๆ ไม่ได้เป็นแค่ Coupé
แบบ 218i อีกทั้งยังสะดวกต่อการนำไปตกแต่งเพิ่มสมรรถนะ ต่อยอดได้อีก
แถมยังดูสะดุดทุกสายตาบนท้องถนนด้วยความแปลก ที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยๆ

กระนั้น คุณก็ต้องเข้าใจด้วยว่าบุคลิกของรถที่ขับสนุกสไตล์วัยรุ่นอย่าง BMW
กับรถที่ขับสนุกสไตล์วัยผู้ใหญ่อย่าง BRZ มันแตกต่างกัน คราวนี้ขึ้นอยู่กับว่า
คุณจะชอบแนวทางใดมากกว่ากัน การทดลองขับจะช่วยให้คุณพบคำตอบที่
เหมาะกับตัวเองได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม Hyundai Veloster Turbo คืออีกตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับ
คนชอบอัดรถทางตรง ถ้าย้านไปดูตัวเลขในตารางข้างบน จะเห็นว่าไอ้หนุ่ม
K-Pop คันนี้ มันก็เอาชนะ 218i ไปได้สบายๆเลยทีเดียว แถมค่าตัวก็ยัง
ถูกกว่ากันตั้งเกือบล้านนึงแหนะ

แต่อย่างว่า คนที่คิดจะซื้อ BMW คงไม่คิดแม้แต่ปรายตามอง Veloster Turbo
แน่ๆ… หรือใครจะเถียง?

 

2016_05_BMW_218i_Coupe_10

แล้วถ้าถามผมละ? ว่าคิดเห็นเช่นใด กับ 218i M Sport คันนี้?

ผมอยากจะตอบในทันทีทันใดว่า “ขอ 220i คืนกลับมาได้หรือเปล่า?”

เพราะเมื่อเปิดกางสเป็กเปรียบเทียบกัน รวมทั้งคำนึงถึงข้อจำกัดด้านการคิด
คำนวนภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และปัจจัยต่างๆ แล้ว 220i ยังสมควรจะ
อยู่ในโชว์รูมให้ลูกค้าเลือกต่อไป

แม้จะพอเข้าใจได้ (อย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก) ว่า BMW Thailand อยากขาย
2-Series ในราคาที่เป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น และมีช่วง Gap ห่างจาก 4-Series
ให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกเล็กน้อย แต่เหตุผลของผมก็คือ พละกำลังของ 220i นั้น
ดูจะเหมาะสมกับขนาดตัวรถ มากกว่า 218i อีกทั้งอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาให้ เมื่อ
เทียบกับค่าตัวที่ต่างกันราว 200,000 – 300,000 บาท ก็ยังถือว่าน่าเป็น
เจ้าของกว่า 218i

ปัญหาสำคัญของ 2-Series ในเมืองไทย ก็ไม่ต่างไปจาก 1-Series Coupé
และบรรดารถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันทุกรุ่น ที่เคยเข้ามาขายในบ้านเรา
นั่นละ คือต้องจ่ายภาษีให้ประเทศชาติ อย่างถูกต้องเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่ง
ทำให้การเซ็ตอุปกรณ์มาตรฐานประจำรถ ให้สอดคล้องกับความต้องการ
ของลูกค้าชาวไทย ให้สมดุลกับสัดส่วนผลกำไรต่อคัน ตามที่บริษัทแม่
กำหนด เป็นเรื่องยากมาก และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถกด
ราคาขายลงต่ำได้มากกว่าระดับที่เป็นอยู่นี้มากนัก

ครั้นจะสั่งชิ้นส่วนมาประกอบในโรงงานที่ระยอง ก็ต้องถามกลับว่า แล้ว
คุณคิดว่ารถยนต์แบบเนี้ย จะขายได้ซักกี่คันต่อเดือน? ถ้าจะให้คุ้ม ต้อง
มียอดผลิตและจำหน่ายมากกว่า Ford Focus และ Chevrolet Cruze
(ในแต่ละเดือน ทั้งสองรุ่นมียอดขายรวมกันเดือนละไม่ถึง 200 คัน)

มันเป็นเรื่องน่าเศร้าของผู้บริโภคชาวไทย ที่จะต้องทนเลือกซื้อรถยนต์
รุ่นที่ตัวเองชอบในราคาแพงเกินเหตุ ด้วยเหตุผลเพียงแค่นี้ ช่วยไม่ได้!
ตราบใดที่ภาครัฐทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา และนับจากนี้ไป ยังคงมอง
รถยนต์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และการนำรถยนต์สักรุ่นมาผลิตขายใน
บ้านเราต้องผ่านขั้นตอนสารพัด บ้าบอคอแตก เยอะแยะหยุมหยิม
กันอยู่อย่างนี้แล้วละก็

รถยนต์ดีๆรุ่นแปลกๆที่มีแววรุ่ง ก็คงไม่เหลืออนาคตในบ้านเรากันต่อไป

เหมือนเช่นตลอด 40 ปีที่ผ่านมา

——————-///——————–

2016_05_BMW_218i_Coupe_11

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

คุณพิสมัย เตียงพาณิชย์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์

และ คุณ Opas Noppornpitak
Specialist Product Management

บริษัท BMW (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

 



J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาดกราฟฟิกทั้งหมด เป็นของ BMW AG. สหพันธรัฐเยอรมนี
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน / N@ow27
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
7 มิถุนายน 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
(All Illustration is own by BMW AG.)
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 7th,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!