ผมไม่แน่ใจว่าอะไรดลใจ J!MMY อยู่เวลาที่เขียนรีวิวอะไรก็ตามเกี่ยวกับรถ
จากค่าย Subaru สังเกตได้ว่าถ้ามันไม่ใช่รถที่เน้นขับสนุกอย่าง WRX หรือ STi
ทั้งหลาย หรือเป็นครอสโอเวอร์มาดเก๋ๆอย่าง XV จะเห็นได้ว่ารถรุ่นอื่นจะถูก
จั่วหัวรีวิวให้มีความเกี่ยวข้องกับคุณป้าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นป้าย้วยอย่าง Legacy
หรือป้าเล่นโยคะสุขภาพฟิตพร้อมเตะอย่าง Outback หรือแม้กระทั่งรถอย่าง
Forester ซึ่งเราได้นำมาทดลองขับพร้อมทำ Full Review ไปในปี 2013 ก็ถูก
นำไปผูกกับป้าร้านข้าวแกงได้แบบที่ผมงงว่าชาตินี้คุณ J!MMY กะจะผูกแบรนด์
Subaru ไปกับคำว่าป้าจนกว่าฟ้าดินสลายใช่มั้ย
แต่ก็เป็นเรื่องที่มีความจริงอยู่บ้าง เพราะไม่ว่าจะเป็นคุณป้าใจดีเรียบร้อยอย่าง
Forester รุ่น 2.0iL ที่มั่น นุ่ม ไม่เน้นเรื่องแรง พูดจาเบาๆหวานๆ หรือเป็นคุณป้าอดีต
นักฆ่าที่หันหน้าเข้าวัดหัดฟังธรรมะพระมหาสมปองอย่าง Forester XT ปัญหาของป้า
ทั้งสองคือเรื่องหน้าตา ซึ่งมันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ปี 1997 เกือบ 20 ปีแล้วที่
ป้ายังยืนยันในแนวทางของตัวเองกับทรงกล่องๆเหลี่ยมๆดูง่ายๆ เชยๆ แม้ว่าจะมี
อยู่บางปีที่ป้าแกเอาเสื้อผ้าตรา STi มาใส่แล้วทำให้ดูมีราศีจับรอบตัวมากขึ้น
มีเสน่ห์ขึ้น แต่ความที่ป้าแกมักจะไปออกงานคู่กับหลานสาวหน้าตาดีอย่าง XV
ลูกค้ากลุ่มที่เป็นคนทั่วไปจึงมองข้ามแกไปซะหมด…จะมีก็แต่กลุ่มคนที่ติดตาม
ป้ามาอย่างใกล้ชิดตลอดถึงจะรู้จักและยำเกรงในความไม่ธรรมดาที่ป้าซ่อนไว้
อย่างเช่นผม..
ในชีวิตวัยกำลังหาเรื่องซิ่งช่วงหนึ่งของผม เคยพยายามเอารถตัวเองไล่กวด
Forester เทอร์โบ ซึ่งอยู่ในมือคนขับที่รู้จักรถของตัวเองเป็นอย่างดี และได้เห็น
มันแสดงอิทฤทธิ์ในโค้งมาแล้ว หรือจะเป็นสมัยก่อนตอนผมและ J!MMY ยัง
ไม่ขยายขนาดตัวจนฟูเท่าปัจจุบัน เราก็เคยลองขับ Forester เครื่อง 2.5 ลิตร
เทอร์โบ และพบว่ามันสามารถทำอัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้เร็ว
พอๆกับ Range Rover Sport เครื่อง V8 ซูเปอร์ชาร์จ นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของ
Forester ในใจเรากระเดียดไปทางรถ Performance Car ที่ห่อหุ้มมาด้วยร่าง
SUV ธรรมดา มากกว่าที่จะเป็น SUV ธรรมดาที่มีดีแค่เครื่องแรง และแน่นอนว่าเรื่อง
การบังคับควบคุม ไม่ต้องพูดถึงให้เมื่อย เรารู้กันว่า Forester อยู่แถวหน้าของ
รถระดับเดียวกันมาแต่ไหนแต่ไร
แต่พอถอดเทอร์โบออก..หรือเอาเครื่องยนต์แบบธรรมดาๆใส่ลงไปแล้วเอา
ความเป็นสปอร์ตออกไปล่ะ? มันก็ทำให้เราต้องฉุกคิดเหมือนกันว่าตกลงเรา
รักรถคันนี้เพราะอะไร? จริงอยู่ว่า Forester 2.0iL ที่เราขับไปในปี 2013 นั้น
เป็นรถที่แม้จะไม่ได้แรงมากไปกว่าคู่แข่ง แต่ก็มีช่วงล่างที่นุ่มนวล ขับสบาย
และยังให้ความมั่นใจได้ในหลากสภาพถนน หลายสภาพอากาศ มีความหรูหรา
มาให้สัมผัสมากพอควร และให้ความประหยัดเวลาขับทางไกลๆความเร็วนิ่งๆ
ได้ดีกว่าที่เราคาดหวังไว้จาก Subaru ขับสี่..ปัญหาอย่างเดียวคือราคาครับ
เพราะในยุคที่เรามี SUV ค่ายญี่ปุ่นให้เลือกมากมายในราคา 1.3-1.7 ล้านบาท
การจ่ายเงิน 1,890,000 บาทเพื่อซื้อรถที่มีจุดขายเรื่องระบบขับเคลื่อนเป็นหลัก
..มันต้องเป็นคนที่รักในแบรนด์ Subaru อย่างแท้จริง แต่ลูกค้าขาจร และลูกค้า
ผู้หญิง (ที่ไม่ได้มีแฟนขับ WRX) ก็มักเลือกรถที่ทรงสวยกว่า และราคาถูกกว่า
แม้ว่าภายหลังจะมีการโหมโปรโมชั่นในปี 2015 ลดราคารุ่น 2.0iL ลงเหลือ
1,690,000 บาท แต่ก็คงไม่ทันลูกค้าไทยหลายคนซึ่งหันไปหารถของค่ายอื่น
กันหมด
ในโลกของคนที่เล่นรถยนต์ เราทราบกันดีว่า Forester 2.0iL แพงเพราะภาษี
นำเข้า (จากญี่ปุ่น) แต่ในโลกของคนทั่วไป แพง ก็คือแพง ไม่สำคัญว่ามันจะมา
จากญี่ปุ่น จากประเทศอื่นในอาเซียน หรือจากประเทศไทย เมื่อบวกเรื่องนี้กับ
เรื่องรูปลักษณ์ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ยอดขายของ Forester ในแต่ละเดือนนั้นแทบ
จะเอานิ้วทั้งหมดบนร่างกายนับได้เลยด้วยซ้ำ..ในขณะที่หลานสาวอย่าง XV
ขายได้เดือนละ 80 กว่าคันไปจนถึง 3-4 ร้อยคัน Forester นั้นขายได้ราว 20 คัน
เสียส่วนใหญ่ ยิ่งในปี 2014 เมื่อ Mazda นำ CX-5 เข้ามาขาย และในช่วงปลายปี
Nissan ก็ประกอบ X-Trail ขาย รถทั้ง 2 รุ่นมีรูปลักษณ์ที่ถูกใจรสนิยมคนไทย
และต่อให้คุณเลือกรุ่นที่แพงที่สุดมาจากรถ 2 รุ่นนี้ ราคาของมันก็ยังถูกกว่า
Forester อยู่มาก ยอดขายของ Forester ช่วงปี 2015 ลดลงเหลือแค่เดือนละ
7 คันหรือไม่ก็เป็นเลขหลักเดียว ในทางการตลาด สัญญาณนี้บ่งบอกว่าทาง
Subaru ต้องทำอะไรสักอย่าง และไม่ใช่แค่อัพเดทรถ เพิ่มอุปกรณ์ แต่ต้องหาวิธี
ทำราคาให้ลงมาอยู่ในระดับที่คนทั่วไปจะเริ่มยอมรับได้
ดังนั้นปฏิบัติการแห่งความป๋าจึงต้องบังเกิด เราเคยได้ยินมานานแล้วว่า
Subaru จะนำ Forester มาประกอบในมาเลเซีย และผู้บริหารบางท่านก็บอกผม
ว่าคอยดูราคา ถูกกว่าเดิมแน่นอน เพราะได้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการนำเข้า
ระหว่ากลุ่มประเทศอาเซียนเช่นเดียวกับที่ XV ได้ แต่ครั้นจะมาเฉยๆก็คงไม่บูมพอ
Subaru จึงตัดสินใจรอให้ถึงเวลาไมเนอร์เชนจ์ก่อนแล้วค่อยจัดมาทีเดียว
โดยเฉพาะในเมื่อรถบอดี้นี้อยู่มาตั้งแต่ปลายปี 2012 และขายในไทยมา 3 ปีแล้ว
รถในภาพคันสีดำ คือรถทดสอบ 2.0iL ปี 2013 ส่วนทางขวา สีน้ำตาลคือรถ 2.0iP
ตัวใหม่ล่าสุด จะเห็นได้ว่าคุณป้าของเราไปเรียนแต่งตัวเพิ่มความ Bling มา
กระจังหน้าเป็นลายใหม่ กันชนทรงธรรมดาถูกถอดออก เปลี่ยนเป็นทรงเดียว
กับรุ่น XT และเพิ่มไฟ LED ที่มุมด้านซ้ายและขวาข้างละ 4 เม็ด ไฟหน้าเปลี่ยน
จากฮาโลเจนเป็นแบบโปรเจคเตอร์ ซึ่งในรุ่น 2.0iP จะมี Daytime Running Light
อยู่ในไฟหน้า และยังมีระบบ “ลูกกะตาดุ๊กดิ๊ก” ส่องไฟไปทางซ้าย/ขวาเวลา
เข้าโค้งได้ (ทำงานที่ความเร็ว 10 กม./ชม. ขึ้นไป) นอกจากนี้ยังได้ล้ออัลลอย
ลายใหม่ 6 ก้านปัดเงา มือจับเปิดประตูพ่นสีเงิน และไฟท้ายใหม่
นี่ยังไม่นับเรื่องการตกแต่งภายในที่เปลี่ยนไปจากเดิมอีกนะครับ ส่วนราคานั้น
ก็ถูกลงจริงๆ ลงมาอยู่ที่ 1,498,000 บาท นี่ล่ะครับผลบุญจาก AEC ที่กินไม่ได้
แต่ขับได้
นี่คือเหตุผลที่ผมตั้งชื่อรีวิวว่า “เมื่อป้าจะป๋าขึ้น” เพราะถ้าคุณนึกถึงคนที่เป็นป๋า
ก็ย่อมนึกถึงบุรุษวัยกลางคนถึงวัยแก่ (แล้วแต่จะเลือกว่าจะนึกภาพคนวัยไหนละกัน)
แต่มีเอกลักษณ์คือแต่งตัวเก๋ ภูมิฐาน มีสร้อยใหญ่คล้อง มีทองบลิ๊งๆ มีเงินตุงกระเป๋า
มีมาด ปากกล้า ใจถึง อ่อนน้อมเป็นอ่อนน้อม ลุยเป็นลุย คุณก็ลองนึกดูละกันว่า
คุณป้าสายห้องครัวอย่าง Forester รุ่นไม่มีเทอร์โบจะกลายเป็นรถที่ “ป๋า” ขึ้น
มันเป็นอย่างไร
Forester ใหม่ มีตัวถังยาว 4,595 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,735 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) 1,545 มิลลิเมตร
ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง (Rear Track) 1,550 มิลลิเมตร ความสูงของใต้ท้องรถ 220
มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า 1,528 กิโลกรัม (อ้างอิงจากสเป็ค 2.0i ของออสเตรเลีย
เนื่องจากของบ้านเราไม่แจ้งน้ำหนักรถมา)
หากเทียบกับรถในเซกเมนต์เดียวกัน Forester นั้นลำตัวยาวกว่า CR-V และ CX-5
อยู่เล็กน้อย แต่สั้นกว่า X-Trail อยู่ 45 มิลลิเมตร (รูปทรงของ Nissan ดูหลอกตา
ให้รู้สึกว่าคันใหญ่มากกว่านั้น) ความกว้างตัวถังออกจะน้อยกว่าใครๆ เพราะรถของ
คู่แข่งล้วนแล้วแต่ตัวกว้าง 1,820-1,840 มิลลิเมตรกันทั้งนั้น ความสูงของรถมากกว่า
คู่แข่งเพียงเล็กน้อย และฐานล้อ ยาวกว่า CR-V แต่สั้นกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ
และแม้ว่าหน้าตาทรง SUV ของ Forester อาจจะดูหลอกตาว่าใต้ท้องสูง แต่ที่จริง
Ground Clearance มันก็ 220 มิลลิเมตรเท่ากับ XV นั่นล่ะครับ ส่วนความยาวกับ
ความกว้างตัวถัง เท่ากับ WRX แบบเป๊ะๆ
เส้นสายรูปร่างหน้าตา มันก็ยังเป็นรถคันเดิมซึ่งหลังจากที่ขายกันมา 3-4 ปี
แม้จะปรับไฟหน้าและไฟท้ายแบบใหม่มาแล้ว แต่ก็ยังช่วยให้รถทั้งคันเซ็กซี่มากขึ้น
..ใครดูไดอารี่ของช่าตอนป้าเพ็ญ 100 แรงม้าบ้างครับ? การไมเนอร์เชนจ์ของ
Forester ก็เหมือนกับการที่ป้าเพ็ญ (รับบทโดยพี่ตุ๊ก ญาณี) เปลี่ยนจากเสื้อผ้า
แบบคุณป้า 100% ไม่ใส่น้ำตาลแล้วแถมสารกันบูด เปลี่ยนมาเป็นป้าเพ็ญเวอร์ชั่นที่
คุยกับเด็กๆและกลายเป็นเพื่อนกับกลุ่มกอล์ฟ, กัส และคิมในตอนท้ายๆ แต่งตัว
ดูวัยรุ่น เฮ้วขึ้น แต่บางอย่างที่มันมากับวัยก็คงเลี่ยงไม่ได้ เมื่อจอดอยู่ท่ามกลาง
CX-5, X-Trail หรือ XV มันก็ยังเป็นรถที่ดูเชยที่สุดในกลุ่มเหมือนเดิม
แต่ถ้าจะให้ชมแบบให้กำลังใจ..ก็เอาน่า ณ จุดนี้มันคือ Forester ที่สวยที่สุด
เท่าที่ผมเคยพบเคยเจอมานับตั้งแต่เจนเนอเรชั่นแรกแล้วกัน
การเข้า – ออกจากรถ ใช้กุญแจ Remote Control แบบ Keyless Smart Entry
หน้าตาดูหรูขึ้นกว่าเดิมมาก มีสวิตช์ ปลดล็อกฝาประตูห้องเก็บของด้านหลังมาให้
รวมทั้งระบบล็อกกันขโมยแบบ Immobilizer ที่ติดตั้งมาให้จากโรงงาน พกกุญแจนี้
ไว้กับกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง แล้วเดินเข้าใกล้รถ สามารถดึงมือจับเปิดประตูรถ
ออกมาได้ (ถ้าเป็น Nissan คุณจะต้องกดปุ่มเล็กๆที่มือจับเปิดประตูก่อน)
และถ้าต้องการจะล็อกรถ ก็ลงจากรถ ปิดประตู เอานิ้วมือแตะตรงที่เป็นขีดๆบน
มือจับเปิดประตู รถก็จะล็อคให้
การเข้า/ออกจากรถที่บานประตูคู่หน้า บอกได้เลยว่าคนอ้วนไซส์
Oh Hell No! อย่างผมสามารถกระโจนเข้านั่งและลงจากรถได้ลื่นไหลยิ่งกว่า
เทเวลลอยลงบนกระทะเทฟล่อนเสียอีก แผงประตูเป็นคนละแบบกันกับ XV
โดยมีราวมือจับยาวต่อจากที่เปิดประตู เชื่อมลงมาถึงบริเวณที่เท้าแขน
ซึ่งเป็นดีไซน์เดียวกับรถรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ แต่มีการเปลี่ยนวัสดุในบางจุด
ให้ดูทันสมัยขึ้น
เบาะนั่งยังเป็นทรงเดิม หุ้มหนังสีดำ ในรุ่น 2.0iP นั้นจะมีเบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้า
พร้อมระบบความจำ 2 ตำแหน่ง (เพิ่มจากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์) ส่วนด้านคนนั่ง
จะเป็นแบบปรับด้วยไฟฟ้า ซึ่งเบาะคู่หน้าทั้ง 2 ตัวจะสามารถปรับได้ 8 ทิศทาง
และสามารถปรับตัวที่นั่งให้เทหน้า/เทหลัง พร้อมทั้งยกระดับสูง/ต่ำได้ พนักพิง
ศีรษะ ก็สามารถปรับเอนหน้า/หลังได้ว่าคุณต้องการให้มันดันหัวมากหรือน้อย
ขนาดไหน (ถ้าปรับเอนมาหน้าสุด จะดันหัวยิ่งกว่า CLA250AMG แต่ถ้าปรับเอน
ไปหลังสุด อารมณ์จะประมาณพนักพิงศีรษะของ Isuzu D-Max ซึ่งไม่ดันหัวเลย
แม้แต่น้อย แถมถ้าต้องการพิง หัวคุณอาจจะออกเงยๆด้วยซ้ำ)
ตัวเบาะนั่ง มีความสบายใกล้เคียงกับคู่แข่งในเซกเมนต์ แม้ว่าตัวเบาะจะไม่รู้สึก
หนาหนุ่มอู้ฟู่มากเท่า Nissan X-Trail และไม่ค่อยโอบรัดตัวเท่าไหร่นัก แต่ด้วย
การที่สามารถปรับท่านั่งได้หลากหลายนั่นล่ะที่ทำให้คนขับสามารถปรับจนได้
ท่านั่งที่สบายตัวที่สุด เหลืออีกเพียงอย่างเดียวคือความแข็งของเบาะช่วงที่รอง
แผ่นหลังซึ่งถ้าเป็นคนตัวหนักๆอย่างผมนั่งก็สบายดี แต่เวลาคนตัวผอมๆเบาๆนั่ง
เขาจะพูดเหมือนๆกันว่าแข็งไปนิดเดียว พูดง่ายๆคือเหมือนกับเบาะของ XV นั่นเอง
แต่ไม่แน่ใจว่าส่วนรองนั่งของ Forester อาจจะเล็กกว่า (ผมอาจจะรู้สึกไปเองก็ได้)
การเข้าออกจากประตูบานหลัง แม้ว่าจะดีขึ้นกว่า Forester เจนเนอเรชั่นก่อนๆ
และคนตัวผอมสามารถเข้านั่งและลงจากรถได้อย่างสบาย แต่สำหรับผม มีความคิด
ว่าประตูหลังของ X-Trail นั้นขึ้นลงได้สะดวกกว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ส่วนบนของ
ประตูครับ แต่อยู่ที่ส่วนล่างซึ่งเวลาเข้าไปนั่งแล้วผมต้องพยายามยกขาและตวัด
หลบเสากลางของรถมากกว่า X-Trail อยู่บ้างก็เท่านั้น
เบาะนั่งหลังนั้น ส่วนเบาะรองก้นนั้นจะเหมือนรถรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งเป็นคน
ละแบบกันกับ XV ให้ความสบายได้ดีพอสมควร และแน่นอนว่าทั้งตัวเบาะกับ
พื้นที่วางขาดีกว่า XV แต่ตัวเบาะรองนั่งนั้นจะติดตั้งไว้ค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่ง
ทำให้เวลานั่งรู้สึกจมลงไป และหัวเข่าชันขึ้นมากกว่า X-Trail หรือ CX-5
พนักพิงหลังสามารถปรับเอนได้ 1 จังหวะ โดยดึงเชือกที่อยู่ตรงข้อพับเบาะ
ด้านที่ชิดกับประตูรถ และยังสามารถแยกพับลงแบบ 60:40 ได้เพื่อความ
อเนกประสงค์ ตัวพนักพิงหลังนี้ถ้าพิจารณาภายนอก จะเห็นว่าส่วนบนของ
พนักพิงมีการเย็บลายเบาะต่างจากรุ่นปี 2013 แต่เมื่อลองนั่งแล้วก็รู้สึกไม่ต่าง
กันมากนักหรอกครับ พนักพิงศีรษะรูปตัว L คว่ำ ยังค่อนข้างแข็งไปบ้างแต่
ถ้าปรับให้สูงรองหัวพอดี ก็พอจะให้ความสบายได้อยู่ เวลานั่งเดินทางไกล
ผมลองเอนเบาะลงสุดแล้วนั่ง พบว่าไม่ได้สบายมากอย่างที่คิด เพราะเวลา
พยายามจะพิงหัวลงไปเพื่อหลับให้สบาย พนักพิงศีรษะก็อยู่ต่ำไปนิดทำให้
ต้องนอนแบบเงยหัว กลายเป็นเวลาพอตั้งพนักพิงให้ชันขึ้นมาตามปกติ
จุดนั้นล่ะคือจุดที่สบายสุด ไม่ใช่แค่ผมที่คิดแบบนั้น แต่น้าหมู Moo Cnoe
และน้องแตงโม (ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนชื่อให้เป็น MoMo) เด็กวัยรุ่น สุขภาพหลังดี
กว่าคนแก่อ้วนๆแบบผม แถมตัวผอมพริ้วก็รู้สึกแบบเดียวกันนั่นล่ะ
เรื่องความสบายบนเบาะหลังนี้ ผมรู้สึกว่าเบาะของ Forester เป็นที่ที่น่านั่งกว่า
เบาะของ CX-5 รุ่นไมเนอร์เชนจ์..ซึ่งมีเบาะรองนั่งขนาดโตกว่ารุ่นปี 2014
รองรับก้นได้เต็มๆกว่า และตัวเบาะรองนั่งสูงกว่า Forester แต่พนักพิงหลังยัง
เอนไม่ได้และชันกว่า Forester นิดๆ ส่วนเบาะของ CR-V นั้นยิ่งไม่ต้องสืบ
แต่ถ้าให้เทียบกับ X-Trail แล้วล่ะก็ ผมยังรู้สึกว่าด้วยขนาด กับความนุ่มของเบาะ
และพนักพิงศีรษะ เมื่อมองรวมทั้งหมด X-Trail (ที่ไม่ใช่รุ่น Hybrid) จะทำคะแนนนำ
เหนือกว่า
ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลังค้ำยันด้วยโช้คอัพ 2 ต้น ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา
กระจกบังลม มีไล่ฝ้า พร้อมใบปัดน้ำฝนหลังและที่ฉีดน้ำล้างกระจก
มาให้ การใช้งาน ในรุ่น 2.0iP ที่เราได้มาทดสอบนั้นจะมีระบบ เปิด – ปิด ประตูท้าย
แบบไฟฟ้าพร้อมหน่วยความจำ พร้อมระบบ Anti-Jam Protection ซึ่งทำงานเวลา
มีสิ่งกีดขวางประตูอยู่ บานประตูจะขืนแรงอยู่สักพักก่อนเด้งกลับไปอยู่ที่เดิมโดย
อัตโนมัติ
คุณสามารถตั้งความจำ ให้บานประตูยกขึ้น ในระดับความสูง เพียงเท่าที่คุณ
ต้องการ เพื่อเลี่ยงปัญหาการเปิดยกขึ้นมากเกินไปในกรณีซึ่งที่จอดมาขนาดจำกัด
วิธีการก็คือกดเปิดท้ายรถก่อน จากนั้นตั้งตำแหน่งประตูด้วยการจัดมุมเปิดประตูท้าย
ตามที่ต้องการด้วยมือ แล้วก็ เดินไปกดปุ่มล็อกตำแหน่ง หน่วยความจำ ซึ่งอยู่ใกล้
กับปุ่มสตาร์ทและสวิตช์ปรับความสว่างแผนหน้าปัด เขียนว่า Memory Height
(ส่วน SRH Off นั่นเอาไว้สำหรับปิดการทำงานของระบบไฟหน้าส่องตามการ
หักของพวงมาลัยหรือไอ้ลูกกะตาดุ๊กดิ๊กนั่นล่ะครับ)
นอกจากนี้ ยังมีม่านผ้าใบ เลื่อนมาปิดบังสัมภาระได้ ลดโอกาสการทุบกระจก
ขโมยของลงไปได้บ้าง ตำแหน่งขอบกันชน ถูกออกแบบให้เตี้ยที่สุดเท่าที่เป็น
ไปได้ เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้ายข้าวของ
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความจุ 488 ลิตร VDA กว้างสุด 1,583 มิลลิเมตร
กว้างจากซุ้มล้อซ้าย – ขวา 1,073 มิลลิเมตรความกว้างช่วงเสาหลังคาแถว ประตู
คู่หลัง C-Pillar 1,166 มิลลิเมตร และสูง 884มิลลิเมตร
ผนังด้านข้างฝั่งขวา มีไฟส่องสว่าง ดวงเล็กๆมาให้ พอสว่างแบบเทียนไขในยาม
ค่ำคืน มีปลั๊กไฟ 12V สำหรับเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อยกพื้นห้องเก็บของ
ขึ้นมา จะพบถาดโฟม แบบ Recycle มีร่อง สำหรับใส่ของสดได้ โดยกลิ่นไม่คลุ้ง
ขึ้นมาในห้องโดยสาร มีสวิตช์สำหรับพับเบาะ กดทีเดียวเบาะจะพับตู้ม!
ไปข้างหน้าทันที (กรุณาเช็คก่อนว่าไม่ได้วางถุงใส่ปลาร้าหรือแกงไตปลา
เอาไว้บนเบาะก่อนจะกดปุ่ม ไม่งั้นมันจะกลายเป็นปุ่มประหารชีวิตตัวคุณเอง)
พวกยางอะไหล่ อุปกรณ์ประจำรถ และแม่งแรง ยังอยู่ท้ายรถเหมือนรถ
รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ถ้าอยากดูว่าหน้าตาเป็นยังไงคลิกดู Full Review เวอร์ชั่น
2013 ได้ครับ
แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก Subaru XV ตัวไมเนอร์เชนจ์ชนิดที่เหมือนกัน 88%
ซึ่งแดชบอร์ดทรงนี้ มันก็คือทรงสหกรณ์ที่ใช้ตั้งแต่ Impreza, XV, WRX จนมา
ถึง Forester โดยจะต่างกันก็แค่รายละเอียดปลีกย่อย เช่นในกรณีของ Forester
นี้ ช่องวางของ ใต้แผงควบคุมกลาง ต่อเนื่องมาจนถึงฐานคันเกียร์ จะดูหรูหรา
มีคลาสกว่าของ XV
มองจากมุมนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปจากรุ่น 2.0iL ประกอบจากญี่ปุ่น ก็คือช่องแอร์แต่งขอบ
ด้วยสีเงินคันเกียร์เปลี่ยนเป็นแบบหุ้มหนังเหมือนของรุ่น XT แผงคาดบนแดชบอร์ด
ฝั่งคนนั่งเปลี่ยนจากพลาสติกสีเงินเป็น Piano Black เช่นเดียวกับคอนโซลกลางตั้งแต่
กรอบเครื่องเสียงลงมาถึงชุดควบคุมระบบปรับอากาศ สวิตช์ไฟฉุกเฉินขนาดเล็กลง
เพราะต้องหลบที่ให้กับปุ่มควบคุม Multi Information Display ตรงกลางด้านบน
แผงบังแดด เพิ่มไฟแต่งหน้ามาให้แล้ว
ไล่จากขวา ไปซ้าย
กระจกหน้าต่าง มีมาให้ครบ 4 บาน ฝั่งคนขับ เป็น One-Touch ทั้งขาขึ้น
และขาลง ส่วนสวิตช์ปรับกระจกมองข้างไฟฟ้า เป็นแบบลูกบิด มือหมุน อยากปรับ
กระจกมองข้างฝั่งไหนก็หมุนสวิตช์ไปฝั่งนั้นแล้วโยกปรับตามต้องการ มีสวิตช์พับ
กระจกมองข้างมาให้ และในมุมไกลๆนั่นก็คือปุ่มระบบความจำตำแหน่งเบาะนั่ง
คนขับ (ถือว่าเด่น เพราะเพื่อนร่วมเซกเมนต์เขาไม่มีให้)
ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีสวิตช์ปรับความสว่างของแผงมาตรวัด สวิชต์ ปรับระดับ
ความสว่างของไฟหน้าปัด สวิตช์เปิด/ปิดการทำงานของไฟหน้า SRH
และระบบตั้งความจำความสูงของฝากระโปรงท้ายส่วนด้านล่างเป็นสวิตช์เปิด
ฝาท้ายและสวิตช์ควบคุมการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว
กดสั้นๆทีเดียว ปิด Traction กดยาวค้าง ปิดทั้ง Tractionและระบบควบคุม
การทรงตัว ถัดลงไป เป็นช่องเปิดสำหรับเปลี่ยนฟิวส์
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ทรงใหม่ หุ้มหนัง ประดับด้วยแถบสีเงิน คล้ายของ XV
ไมเนอร์เชนจ์ โดยปุ่ม Multi-function บนก้านซ้ายคุมพวก Media และเครื่องเสียง
ส่วนที่ซ่อนอยู่ข้างหลังล่างๆนั่นเป็นปุ่มสำหรับปรับจอ MID ตรงกลางหน้าปัดและ
ปุ่มบนก้านขวาจะควบคุมระบบ Cruise Control และมี Paddle Shift ไว้ให้เล่น
ตอนเล่นเกียร์ในโหมด Manual
สิ่งที่ต่างจากพวงมาลัยของ XV ก็คือปุ่มบนก้านขวาสำหรับควบคุมระบบ SI-Drive
ซึ่งคุณสามารถกดเลือกได้ระหว่าง [I] -Intelligence เน้นคันเร่งตอบสนองนุ่มๆ
เน้นประหยัด ส่วน [S] – Sport จะทำให้คันเร่งตอบสนองดุและไวขึ้นรวมถึงเกียร์
จะเลี้ยงรอบไว้สูงกว่าโหมด [I] ด้วย
ใน Forester รุ่นนี้ ก้านไฟเลี้ยว อยู่ซ้ายมือแบบรถยุโรปนะครับ
ถุงลมนิรภัย มีมาให้เหนือกว่ารุ่น XV เพราะมีทั้งคู่หน้า สำหรับ คนขับและผู้โดยสาร
ถุงลมนิรภัยด้านข้าง ผู้โดยสารคู่หน้า ทั้งฝั่งซ้าย และขวา ม่านลมนิรภัยทั้งฝั่งซ้าย/ขวา
แถมด้วย ถุงลมนิรภัย หัวเข่า สำหรับคนขับ ติดตั้งอยู่ ที่บริเวณใต้คอพวงมาลัย
นับรวมได้ทั้งหมด 7 ใบ! และมีมาให้ตั้งแต่รุ่น 2.0i ตัวล่างสุดราคา 1,398,000 เลย
แผงมาตรวัด เปลี่ยนใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น เปลี่ยนจอ MID ตรงกลางเป็นแบบที่เหมือน
กับของ XV ไมเนอร์เชนจ์ (ลายสีข้างในจะต่างจาก WRX) ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิ
น้ำหล่อเย็นมาให้ (ต้องไปดูที่จอคอนโซลกลางโดยปรับให้โชว์มาตรวัดอุณหภูมิ
น้ำมันเครื่องเอา..ไม่เหมือนกัน แต่พออ้างอิงกันได้) พื้นหลังมาตรวัดมีวงสีน้ำเงิน
เล็กๆเหมือน XV แต่พื้นหลังของ Forester จะเป็นสีดำล้วน และมาตรวัดของ
Forester จะไม่มีเข็มวัดแรงดูด Vaccuum ที่ด้านล่างของมาตรวัดรอบแบบ XV
ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ เพิ่มการปรับอุณหภูมิแบบ Dual-Zone มาให้
(XV จะเป็นแบบโซนเดียว) หน้าตาสวิตช์แบบใหม่ที่ดูดีขึ้นกว่ารุ่นปี 2013 นิดหน่อย
ส่วนประสิทธิภาพในการทำงานนั้น บอกตรงๆว่ายังไม่ค่อยเย็นถึงใจนัก อาจจะเพราะ
รถทดสอบคันนี้ไม่ได้ติดฟิล์มด้วย ทำให้ต้องปรับอุณหภูมิไว้ที่แถวๆ 22 องศา เพื่อให้
ได้ความเย็นเท่ากับรถญี่ปุ่นอื่นๆที่ปรับไว้ 24 องศา (ไม่ติดฟิล์มเหมือนกัน)
นอกจากนี้ระบบหมุนเวียนอากาศภายในบางครั้งก็ยกเลิกการทำงาน และดูด
อากาศไอเสียเหม็นๆภายนอกเข้ามา ตรงนี้เป็นข้อเสียซะมากกว่า แถมยังจับ
Logic การทำงานของมันไม่ได้ด้วย เพราะในการขับบางครั้งมันก็ไม่เปิดเอาอากาศ
ข้างนอกเข้ามา แต่บางทีจู่ๆจะเอาเข้าก็ทำตามใจมันเองเลย
Forester ยังมีข้อเสียเปรียบคู่แข่งอย่าง X-Trail อีกอย่างคือไม่มีช่องแอร์
สำหรับคนนั่งเบาะหลังนะครับ ถ้าเป็นตอนกลางวันแดดจัดๆ คนนั่งหลังก็จะ
ต้องขอแย่งแอร์จากคนนั่งหน้าหน่อย
เหนือแผงควบคุมกลาง จะมีหน้าจอ Multi Function Display
ย้ายสวิตช์สับเปลี่ยนหน้าจอจากที่พวงมาลัย ไปอยู่ตรงด้านล่างของสวิตช์
ไฟฉุกเฉินแทน จอฝั่งซ้าย แสดงการทำงานของเครื่องปรับอากาศ Digital
ส่วนหน้าจอฝั่งขวา สามารถแสดงค่าได้หลายอย่าง เป็นทั้งนาฬิกาเรือนโต
เป็นจอสำหรับดูอัตราสิ้นเปลืองในแบบต่างๆ ซึ่งดูไปคนตีนหนักแบบผมก็
แอบงงอยู่ดี นอกจากนั้นก็จะมีจอแสดงระบบขับเคลื่อนเป็นภาพกราฟฟิค เวลา
ล้อหน้าเลี้ยว รถในภาพก็จะเลี้ยวตาม เวลาระบบเสถียรภาพการทรงตัวทำงาน
หรือเวลาเปิดใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ X-Mode ก็จะโชว์บนหน้าจอนี้
ส่วนหน้าจอที่ผมชอบที่สุด เรียกว่า Triple Meter ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ว่า
จะโชว์ค่าอะไรบ้าง (ไปที่หน้าจอ Settings แล้วกดปุ่ม Enter ค้างไว้ จากนั้น
เลือก Meter Settings>Triple Meter) ส่วนตัวผมชอบให้มันโชว์ค่าอุณหภูมิ
น้ำมันเครื่อง ค่าอัตราสิ้นเปลือง และการกดคันเร่ง (วัดจากคันเร่งที่เท้า ไม่ได้
วัดจากการเปิดจริงของลิ้นคันเร่ง)
ชุดเครื่องเสียง ของรุ่นเดิมเป็น Front Unit แบบธรรมดา แต่ของรุ่นไมเนอร์เชนจ์
จะเปลี่ยนเป็นแบบมีจอ ของ Kenwood เจ้าเก่า และเป็น Front Unit คนละแบบกัน
กับของที่อยู่ใน XV (ปุ่มควบคุมพวก HOME, NAV หรือ MENU จะอยู่ด้านขวา
แต่ของ XV อยู่ด้านซ้าย) มีฟังก์ชั่นรองรับระบบ Siri EyesFree ได้ แต่ต้องใช้กับ
อุปกรณ์สื่อสารของ Apple สามารถเล่นเพลงจากแผ่น DISC หรือเสียบ USB ได้
ผ่านช่องเสียบที่ซ่อนอยู่ในกล่องเก็บของใต้ที่เท้าแขนตรงกลาง คุณภาพเสียงที่
ขับกล่อมผ่านลำโพง 6 ชิ้น ถือว่าพอสร้างความบันเทิงได้ สามารถเข้าโหมดปรับ
เสียงได้ค่อนข้างละเอียด มีขึ้นเป็น Equalizer ย่านความถี่ต่างๆ ปรับ Loudness
และ Bass Boost ได้ ที่สำคัญคือต้องเลือกเสียงเป็น Through Mode ไม่งั้น
เสียงแบนแห้งสนิทครับ
ผมลองเล่นเพลง Rie Y Llora ของ Celia Cruz และ Perfect Island Night
ของ Bobby Caldwell ดู ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปเจอเพลงที่เบสมาหนักอย่าง
Oh Baby ของ Tom Misch เสียงเบสที่ออกมาจะบวมไปนิด และเสียงที่
อยู่ตรงกลางระหว่างเบสกับเสียงกลางจะถูกกลืนหายไป..ซึ่งนั่นก็เหมือนกับ
เครื่องเสียงติดรถยนต์ส่วนใหญ่แหละครับ เทียบกับเครื่องเสียงติดรถของ
Nissan X-Trail ก็รู้สึกว่าของ Nissan นั้นปรับได้แค่เสียง Bass กับ Treble
แต่สามารถเก็บรายละเอียดเสียงเครื่องดนตรีประเภทเขย่าได้ดีกว่า
นอกจากนี้ หน้าจอที่เห็นก็ยังสามารถเป็นระบบนำทางได้ ถ้ากดที่ตัวเลข
ความเร็ว ก็จะแสดงรายละเอียดการเดินทางเป็นตัวเลขชุดคล้ายระบบนำทาง
ของ Garmin แถมตัวเลขความเร็วที่แสดงยังทำตัวเหมือนฝ่าย Audit ของ
พวกองค์กรใหญ่ด้วยการบอกความเร็วตามจริงในขณะที่หน้าปัดจะเพี้ยนไป
ถึง 6% ก็เรื่องของมัน
กล้องมองถอยหลัง ตั้งมาค่อนข้างต่ำไปเหมือนกล้องของ MG6 และสัญญาณ
เซ็นเซอร์ก็เพี้ยน บางทีดังตลอด บางทีก็ดังเป็นจังหวะ ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะ
เป็นเพราะการที่รถคันนี้เป็นรถ Pre-production สำหรับเมืองไทย ซึ่งต้อง
รีบประกอบและนำมาโชว์ให้ทันช่วงงานมอเตอร์โชว์ ในรถคันที่ขายจริงคงจะ
ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น เอาน่า อย่างน้อยรถคันสีน้ำตาลนี่ลองไปล้างอัดฉีด
มา 2 รอบแล้วไม่เจอน้ำรั่วเข้ารถแล้วกันครับ
ข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า มีช่องวางแก้วน้ำแบบไม่มีฝาปิด มีช่อง
ใส่ของจุกจิกมาให้ ส่วนกล่องเก็บของซึ่งเป็นที่เท้าแขนตรงกลางในภาพนั้นฝาเปิด
จะไม่มีกลไกล็อคใดๆ เปิดปิดง่ายๆหลวมๆ ข้างในมีถาดใส่ของและเหรียญปิดด้านบน
ยกออกได้ ส่วนลึกลงไป มีช่องเสียบ USB สำหรับเชื่อมต่อกับเครื่องเสียง และอีกช่อง
ไว้สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือผ่านสาย USB ได้
สิ่งที่หายไปจากรุ่นเดิมก็คือที่เท้าแขนแบบเลื่อนเข้า-ออกได้ ซึ่งช่วยให้เท้าแขน
ได้ถนัดขึ้น แต่พอเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ทั้ง XV และ Forester กลายเป็นฝาปิด
แบบ Fix ตัว เลื่อนไม่ได้ (ลองดูแล้ว มันไม่มีกลไกใดๆสำหรับการเลื่อนแน่นอน)
ซึ่งก็น่าเสียดายอยู่ เพราะถ้าเลื่อนมาข้างหน้าได้สักแค่ 2 นิ้ว จะทำให้วางข้อศอก
เวลารถติดๆได้สบายกว่านี้
เรื่องทัศนวิสัยรอบคัน ลองไปอ่านดูในบทความ Full Review รถโมเดลปี 2013
ที่ J!MMY เขียนไว้ดูแล้วกันนะครับ เพราะทัศนวิสัยรอบคันก็เหมือนเดิม
******* รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ *******
Forester Minorchange ปี 2016 ยังมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบเช่นเคย
รุ่น 2.0 XT Turbo เครื่องยนต์เบนซิน รหัส FA20 บล็อก 4 สูบนอน BOXER
DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี พ่วงเทอร์โบ กำลังสูงสุด 240 แรงม้า (PS)
ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 2,400 – 3,600 รอบ/นาที
จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Lineartronic CVT ขับเคลื่อน 4 ล้อ All-Wheel Drive
ส่วนรุ่น 2.0i ธรรมดาและรุ่น 2.0iP ที่เราได้มาลองขับ ใช้เครื่องยนต์รหัส FB20
แบบ 4 สูบนอน BOXER DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90
มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-Point Sequential
Injection พร้อมระบบแปรผันองศาการเปิดปิดของวาล์ว AVCS
(Active Valve Control System) ซึ่งก็เหมือนกับเครื่องยนต์ FB20 ของ XV
เพียงแต่ Forester จะมี AVCS ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย และ Forester จะไม่มี
ชุดปั๊มไฮดรอลิกของพวงมาลัยเพาเวอร์ เนื่องจากใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าแทน
กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
198 นิวตันเมตร หรือ 20.2 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที ปล่อยก๊าซ CO2
เฉลี่ย 182 กรัม / กิโลเมตร
ทาง Subaru แจ้งว่าในรุ่นที่เรานำมาขับนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด
ใดๆกับตัวเครื่องยนต์ มันก็คือเครื่องแบบเดิมที่ใช้กับรถโฉมปี 2013 นั่นล่ะครับ
รถรุ่น 2.0i และ 2.0iP ถ่ายทอดกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน
Lineartronic CVT เชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Subaru ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์
รายแรกในโลก ที่ติดตั้งเกียร์ CVT ในลักษณะวางตามยาวและขับเคลื่อน 4 ล้อแบบนี้
อัตราทดเกียร์ D อยู่ที่ตั้งแต่ 3.581 – 0.570 : 1 เกียร์ถอยหลัง 3.667 : 1 และ
อัตราทดเฟืองท้ายอยู่ที่ 3.900 : 1 (ขณะที่ XV ทดเฟืองท้ายไว้ที่ 3.700 : 1)
Forester 2.0iP มีแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift มาให้ เพื่อ
อำนวยความสะดวกให้ผู้ขับขี่ เปลี่ยนเกียร์เล่นได้เอง อย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ ใน
เวลาเพียงเสี้ยววินาที ถ้าจะเล่นเกียร์เอง ก็ผลักคันเกียร์จาก D ไป M หรือไม่ก็กดแป้น
เล่นเกียร์ได้เลยแม้คันเกียร์จะอยู่ในตำแหน่ง D แต่เวลาจะกลับมาโหมดปกติก็ต้องกด
แป้น Paddle อันขวามือค้างไว้สักพัก
เกียร์ของรุ่น 2.0iP เป็น CVT นิสัยดั้งเดิม คือเมื่อกดเต็ม 100% รอบจะขึ้นไปคาอยู่สูง
แล้วความเร็วจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีปุ่ม SI Drive ให้เลือกโหมดการตอบสนองของ
คันเร่งและเกียร์อยู่บนก้านพวงมาลัยด้านขวา (มีเฉพาะ Forester 2.0iP เท่านั้น รุ่น
2.0i ธรรมดากับ XV จะไม่มี) คุณเลือกได้ว่าจะเอาโหมด [I] Intelligent หรือ
[S] Sport ซึ่งในโหมดหลัง เกียร์จะพยายามเลี้ยงรอบไว้สูงกว่าปกติ และคันเร่ง
จะตอบสนองไวขึ้น เวลาขับในที่ที่รถช้าๆเยอะและต้องการให้รถตอบสนองไวๆ
ก็เลือก [S] ไว้ดีกว่า
ส่วนรุ่น XT Turbo นั้นจะเจ๋งไปอีกระดับ เพราะมีโหมด [S#] มาให้เลือก และพอ
ใช้โหมดนี้ เกียร์จะทำตัวเหมือนเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะด้วย
Forester ทุกรุ่น จะมีสวิตช์ X-Mode มาให้ที่คันเกียร์ ซึ่งจะเปิดระบบช่วยเบรก
รถตอนลงเนิน และปรับระบบขับเคลื่อนให้ทำงานได้ดีในสภาพถนนลื่นมากๆ
เช่นแอ่งโคลนหรือหิมะ ซึ่งโดยปกติแม้ว่า Forester จะมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เวลาเจอแอ่งลื่นมากจริงๆ ล้อบางข้างจะยังมีอาการหมุนฟรี
อยู่บ้าง X-Mode จะช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ ทำให้ล้อแต่ละข้างส่งกำลังลงพื้นได้
ดีขึ้น ลดอาการหมุนฟรีและผ่านอุปสรรคไปได้ง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องอัตราเร่งนั้น เนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคทั้งเครื่องยนต์
และระบบส่งกำลัง ผมจึงขอใช้อัตราเร่งชุดเดิมจากที่ J!MMY เคยทำไว้เมื่อปี 2013
มาแสดงผลให้ดูแล้วกันนะครับ
อัตราเร่งของ Forester อยู่ในระดับกลางของกลุ่ม 2.0 ลิตร จะแพ้ก็แค่รถ
SUV 2.0 ลิตรที่เกิดตามมาทีหลัง มีระบบเครื่องยนต์และเกียร์ที่ทันสมัยกว่าอย่าง
CX-5 2.0 กับ X-Trail 2.0 เท่านั้น แต่ก็เร็วกว่า CR-V 2.0 Gen 4 เกียร์อัตโนมัติ
5 จังหวะที่เราเคยทดสอบไว้ และไวกว่า Hyundai Tucson 2.0 ลิตรที่ใช้
เกียร์ 6 จังหวะด้วยเช่นกัน
ผมลองจับอัตราเร่งช่วงต่างๆโดยนั่งขับคนเดียว (น้ำหนักบรรทุกใกล้เคียงกับ
เวลา J!MMY ทดสอบนั่นล่ะ) จับเวลาคร่าวๆ 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ทำได้
ตั้งแต่ 11.6-11.9 วินาที ส่วนอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงก็ได้แถวๆ 9.13
ไปจนถึง 9.2 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดที่ J!MMY เคยทำไว้ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมสามารถไสช้างศึกเค้นหยาดพลังเพิ่มมาได้อีกหน่อยเป็น 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ซึ่งมันได้แค่นั้นล่ะครับ เจอทางชันนิดเดียวความเร็วก็ไหลลงแล้ว และถึงจะกด
ต่อไปได้อีก ผมก็ต้องถอนเพราะ Oil Temp ขึ้นมา 128 เซลเซียส ไม่ถอนมีเฮครับ
เครื่อง Subaru อาจจะทนความร้อนได้มากกว่านี้ แต่พอดีรถทดสอบเราใหม่มาก
ไม่มีคู่มือการใช้รถมาให้ เลยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม แต่เพื่อสวัสดิภาพของ
เครื่องยนต์ เลยต้องถอนไว้ก่อน
ในการขับใช้งานทั่วไป เรี่ยวแรงของ Forester 2.0iP ที่ไร้เทอร์โบก็อยู่ในระดับ
ที่พึ่งพาได้ คุณอาจจะแปลกใจด้วยซ้ำที่อัตราเร่งของมันไม่ได้แพ้หลานตัวเล็ก
ที่เบากว่าอย่าง XV มากอย่างที่คุณคิด (รถทดสอบของเราทั้ง XV Minorchange
และ Forester Minorchange สภาพสดสมบูรณ์ทั้งคู่) เวลาใช้ในเมือง คุณอาจ
รู้สึกว่ามันออกห้าวๆมุทะลุด้วยซ้ำ เพราะคันเร่งตอบสนองค่อนข้างไว แม้จะเลือก
SI Drive เป็นโหมด [I] ก็ตาม กดคันเร่งนิดเดียวรถพุ่งตัวดี แต่ถ้ากดเต็มที่จาก
จังหวะออกตัว เกียร์จะอมรอบอยู่แถวๆ 2,500-3,000 รอบนาน นิสัยเหมือน XV
เด๊ะๆ แถมเวลาใช้ความเร็วต่ำกว่า 40 กิโลเมตร/ชั่วโมงหรือต่ำกว่านั้น เวลาถอน
และแตะคันเร่งก็จะมีอาการกระยึกเบาๆ ไม่ถึงกับทำให้รำคาญ แต่มันก็ไม่ลื่นเนี๊ยบ
แบบรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติแบบปกตินัก
ส่วนการเร่งแซง เกียร์จะเลือกอัตราทดพูลเลย์ให้ตามความลึกของคันเร่งที่กด
การคา SI Drive ไว้ที่โหมด [I] ไม่ได้ทำให้การตอบสนองอืดอาดน่ารำคาญ
เพียงแต่โหมด [S] จะให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่ากว่า การทำความเร็วเพื่อแซง
บนถนน 1 เลนไป 1 เลนกลับนั้น ขอให้กดคันเร่งมิดไปเลยจะดีที่สุด เหมือนรถ
เกียร์ CVT ส่วนใหญ่ แล้วพอแซงใกล้พ้นค่อยถอนคันเร่งกลับคืนทีละนิด ที่ใช้วิธีนี้
เพราะถ้าค่อยๆกดๆไล่ไปทีละนิดเกียร์จะตัดสินใจไม่ถูกว่าเราอยากจะไปช้าหรือเร็ว
กันแน่ รถ CVT ส่วนมาก ถ้าต้องการความไว ก็ต้องใช้วิธีนี้ทั้งนั้นล่ะครับ ไม่มีใคร
อยากเอาตัวรถไปอยู่ผิดฟากถนนนานเกินจำเป็นหรอก
หลังจากที่ได้ลองอัตราเร่งในทุกช่วง ทุกความลึกการกดคันเร่ง ผมคิดว่า
Forester 2.0iP ก็ไม่ใช่รถที่น่าอึดอัด ต่อให้เป็นคนเท้าหนักแบบผมก็ตาม แต่
มันเทียบไม่ได้กับบุคลิกที่สนุกสนานของ CX-5 2.0 ซึ่งเร่งได้เร็วกว่าตั้งแต่
ออกตัว (เข็มความเร็วของ Mazda เที่ยงตรงกว่าด้วยนะอย่าลืม) และถ้าเทียบ
กับ X-Trail 2.0 แล้ว Nissan ก็ยังตอบสนองได้ดีกว่าในหลายช่วง รวมถึงเกียร์
ที่มีลักษณะการส่งกำลังเรียบร้อยกว่าที่ความเร็วต่ำและทำงานรวดเร็วกว่าเวลา
ตอกคันเร่งเค้นพลังแบบเต็มๆ วิธีที่จะทำให้ Forester ไปได้เร็วขึ้นก็คงมีแค่
การใส่เกียร์ M ตั้งแต่ออกตัวแล้วผลักเข้า D ตอนเลย 70 กิโลเมตร/ชั่วโมงไป
หรือตอนเร่งแซงก็ใช้เทคนิคคล้ายๆกันบวกกับ SI Drive เซ็ตเป็นโหมด [S]
ส่วนเรื่องอัตราการสิ้นเปลืองนั้น ตัวเลขที่ J!MMY เคยทำเอาไว้อยู่ที่
14.77 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งอย่าแปลกใจที่ประหยัดกว่า XV เพราะตัวเครื่อง
ไม่ได้เหมือนกันแบบ 100% และ XV ยังต้องใช้กำลังเครื่องไปหมุนปั๊มเพาเวอร์
ของพวงมาลัยด้วย (เสียกำลังไม่เยอะ แต่ก็สู้ระบบพวงมาลัยไฟฟ้าไม่ได้)
ส่วนการใช้งานในชีวิตจริงนั้น ผมได้ลองนำรถไปใช้งานในรูปแบบต่างๆเพิ่มเติม
น้ำมันถังแรก ผมขับออกจากสำนักงานใหญ่ที่เสรีไทย ต้องการจะกลับบ้านที่
งามวงศ์วาน แต่นึกสนุก วิ่งขึ้นวงแหวนรอบนอก ไปทางพระราม 9 และขึ้น
ทางด่วนแทนที่จะวิ่งไปตามทางที่ใช้ประจำ..ผลเหรอครับ เจอรถติดหนึบ
โดยติดอยู่ที่ด่านพระราม 9 ขาเข้า กว่าจะพ้นด่านมาได้ ไปแล้วครับ 1 ชั่วโมงกว่า
แล้วยังมารถติดก่อนลงอนุเสาวรีย์อีก สรุปกว่าจะถึงบ้านปาเข้าไป 2 ชั่วโมง
แล้วในวันรุ่งขึ้น ก็วิ่งไปวิ่งมาอยู่ในตัวเมือง พระราม 3 แบบที่รถไม่ติดหนักนัก
จากนั้นวันต่อมา ผมก็ขับรถคันนี้จากบ้าน ไปวังน้ำเขียว แต่ไปแวะเติมน้ำมัน
โซฮอล 95 ที่ปั๊มเชลล์หลังผ่านเส้นบายพาสเลี่ยงเมืองสระบุรี ระยะทาง
บนมาตรวัด 353.7 กิโลเมตร เติมน้ำมันกลับเข้าไป 36.19 ลิตร คิดได้ 9.77
กิโลเมตร/ลิตร
น้ำมันถังต่อมา ผมขับจากหลังบายพาสสระบุรี วิ่งไปทางวังน้ำเขียว เพื่อไป
หาโลเคชั่นถ่ายรูปรถ (แต่ไปไม่ถึงวังน้ำเขียวหรอกครับ ไปทะเลาะกับหมาหมู่
อยู่แถวๆอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง..หมาจริงๆไม่ใช่คน เลยหมดอารมณ์) เจอ
ทุ่งหญ้าข้างทางที่สวย เลยเก็บภาพ แล้วขับกลับกทม. คืนนั้น แวะกินร้านโปรด
Vano Steak และแวะบ้านเพื่อนที่โรงโม่หินขุมเงินขุมทอง แล้วก็ขับกลับกรุงเทพ
จากนั้นวันต่อมาผมวิ่งไปเติมน้ำมันที่อำเภอบางทราย ชลบุรี ถังนี้ 464.8 กิโลเมตร
เติมน้ำมันกลับไป 42.06 ลิตร คิดเป็น 11.05 กิโลเมตร/ลิตร
ถังสุดท้าย ใช้วิ่งจากอำเภอบางทราย ไปหาที่ถ่ายรูปบริเวณถนนเลียบชายทะเล
จากนั้นขับกลับกรุงเทพตอนเย็น เจอรถติดบางๆ แล้วก็ไปวิ่งทำ TheClip 1 รอบ
ก่อนจะขับมาเติมที่ปั๊มใกล้เสรีไทยในวันคืนรถ ถังนี้ 213.5 กิโลเมตร ใช้น้ำมันไป
20.78 ลิตร คิดเป็น 10.27 กิโลเมตร/ลิตร
ทั้งหมดที่ผมจับตัวเลขมา ใช้น้ำมัน Gasohol 95 ซึ่งตรงกับการใช้งานจริงในชีวิต
ของคนส่วนใหญ่มากกว่า เนื่องจากตัวเลขที่ J!MMY ทำไว้ด้วยเบนซิน 95
มันมีอยู่แล้ว ผมจึงอยากลองน้ำมันแบบที่คนทั่วไปใช้ดูบ้าง และเวลาขับก็ขับแบบ
ปกติ ตรงไหนอยากเร่ง ก็เร่งไป ตรงไหนเร่งไม่ได้ ก็ขับเรื่อยๆ ไม่ได้ถนอมคันเร่ง
แข่งประหยัดน้ำมันรอบประเทศ
ตัวเลขของมันที่ออกมา อาจจะดูไม่สวยนัก แต่ก็กินกว่า X-Trail 2.0 Hybrid
ที่ผมเพิ่งขับไปบางแสนแล้วกลับกรุงเทพตอนต้นเดือนเมษายนไม่มากอย่างที่คิด
และใกล้เคียงกับตัวเลขการขับขี่ในชีวิตจริงของ CR-V Gen 3 2.4 FWD ของพ่อ
ที่ผมขับเป็นประจำมาก จะกินหรือไม่กิน แล้วแต่คุณพิจารณาครับ
ส่วนเรื่องการเก็บเสียงนั้น..รู้สึกได้ว่าดีกว่ารถคันเดิม แม้ว่าเสียงลมกรีดผ่าน
กระจกมองข้างกับหูช้างที่ประตูหน้าจะยังดังเข้ามาอยู่ แต่เสียงจากกระจก
รอบคัน เบาลง ทาง Subaru แจ้งว่ารถรุ่นไมเนอร์เชนจ์จะใช้กระจกหนาขึ้น
หากเทียบกับ CX-5 คงไม่ต้องสืบว่า CX-5 โฉมก่อนไมเนอร์เชนจ์นั้นจะมี
เสียงลมเข้าตามขอบประตูมากกว่า ส่วนถ้าเทียบกับ X-Trail แล้ว เสียงรบกวน
ของ X-Trail จะมาในลักษณะเสียงลมและเสียงยางจากด้านหลัง ดังเข้ามา
จากรอบทิศแต่ไม่ดังมาก ส่วน Forester จะเงียบกว่าเกือบทั้งคัน แต่มีเสียง
ลมกรีดตรงหูช้างที่ดังชนะเสียงอื่นในรถครับ
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า ซึ่งต่างจากของ XV ที่เป็น
แบบไฮดรอลิก น้ำหนักพวงมาลัยของ Forester จะเบากว่า XV แบบพอรู้สึกได้
ถ้าเป็นคนขับประเภทใช้ในเมือง ถอยรถ กลับรถบ่อยจะชอบความเบาสบายของ
Forester ถ้าเป็นผู้หญิงขับ และคุณผู้หญิงเคยขับรถญี่ปุ่นที่เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์
แบบไฮดรอลิกในรถยุค 1999-2008 มาก่อนรับรองว่าสาวพวงมาลัยของ Forester
ได้อย่างสบายแน่นอน แต่ถ้าเป็นคนขับบุคลิกแมนๆ ชอบพวงมาลัยหน่วงๆ ก็อาจ
ชอบพวงมาลัยไฮดรอลิกแบบดั้งเดิมของ XV ซึ่งหน่วงมือที่ความเร็วสูงได้ดีกว่า
ส่วนความไวในการตอบสนองนั้นพอๆกัน
และที่จริงในยามเดินทาง พวงมาลัยของ Forester ก็มีน้ำหนักหน่วงมือที่ดีพอ
ทำให้เวลาขับไม่ต้องเกร็งมือมาก แถมเวลาขับรถเข้าโค้งแล้วค่อยๆเพิ่มความเร็ว
น้ำหนักของพวงมาลัยจะค่อยๆขืนมือมากขึ้นทีละนิดอย่างเป็นธรรมชาติ ผมคิดว่า
พวงมาลัยของมันตอบสนองคล้ายพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิกมากกว่า CX-5
หรือ X-Trail เสียอีก
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นแบบปีกนกคู่
มีการปรับแต่งเพิ่มเติมจากรุ่นปี 2013 ได้แก่
1. ปรับแต่งช่วงล่างหน้าให้นุ่มนวลขึ้น (ไม่ได้บอกว่าปรับที่โช้คอัพ หรือสปริง)
2. ปรับแคมเบอร์ล้อหลังใหม่ให้เป็นลบ (ล้อแบะ) ขึ้น
แต่ในการทดลองขับหลายต่อหลายวัน ผมคิดว่าค่อนข้างจับความรู้สึกต่างจาก
ตัวเก่าได้ยาก ลักษณะของช่วงล่างนั้นก็ยังคงนุ่มนวลกว่า XV ดูดซับแรงสะเทือน
บนถนนขรุขระได้ดีกว่า วิ่งผ่านลูกระนาดแล้วสะเทือนน้อยกว่า จนกระทั่งผมได้
ไปลองวิ่งบนถนนลูกรังที่ซอยร่มเกล้า 25 ซึ่งเป็นทางเข้าสู่อู่ Gettuned ของตาจอร์จ
นั่นล่ะครับ ถึงได้รู้สึกว่ามันต่างจากรุ่นเดิมยังไง ในรุ่นปี 2013 เวลาวิ่งบนถนนลูกรัง
ที่มีหลุม จะยังมีจังหวะที่หน้ารถดีดเด้งคล้ายช่วงล่างของ Nissan X-Trail อยู่บ้าง
แต่กับรถปี 2016 นี่ ผมห้อตะบึงผ่านลูกรังและหลุมได้โดยที่คนตัวผอมที่นั่งข้างๆ
ตัวไม่ลอยจากเบาะเลยแม้แต่น้อย มันไม่ใช่พรมวิเศษหรอกครับ แต่การที่แรงสะเทือน
เข้ามามันไม่เยอะมากทำให้ควบคุมรถได้ดี ไม่เฉออกนอกทางเลยเวลาเจอหลุม
คุณลองทำแบบเดียวกันนี้ในรถของคู่แข่ง ก็จะไม่ได้ความรู้สึกมั่นใจแบบเดียวกัน
ส่วนการทรงตัวในช่วงความเร็วเดินทางจนถึงความเร็วสูงนั้น ถ้าถือพวงมาลัยตรง
มันก็ยังคงนิ่งและแน่น..ผมว่า Forester ในวันนี้มีบุคลิกช่วงล่างที่คล้ายกับ Outback
มากขึ้น แต่แค่ว่าตัวรถ Forester แคบและสูงกว่าเท่านั้น เวลาขับเร็วเกิน 120 ขึ้นไป
แล้วโยกเปลี่ยนเลนแรงๆ จะรู้สึกได้ว่าโช้คอัพจะยวบตามแรงเหวี่ยงไปก่อน ซึ่งบางคน
จะรู้สึกตกใจ แต่ถ้าโช้คอัพยวบไปจนถึงระดับหนึ่งมันก็จะมีความหนืดสู้กลับมา และ
ตัวรถจะไม่ยวบลงไปจนทำให้รถเสียการทรงตัว
ถ้าคุณขับ X-Trail หรือ CX-5 แล้วลองหมุนพวงมาลัยไปมาเล่นในจังหวะที่วิ่งเร็วๆ
คุณอาจจะรู้สึกว่า X-Trail กับ CX-5 ช่วงล่างนิ่งกว่า ซึ่งก็ไม่แปลกครับเพราะโช้คอัพ
และสปริงของ 2 หน่อนั้นเขาเซ็ตมาแข็งกว่า Forester
ส่วนการขับลัดเลาะไปตามโค้ง ตั้งแต่โค้งแคบความเร็ว 50-60 ไปจนถึงโค้งกว้าง
ความเร็ว 80-90 Forester ก็ให้ความมั่นใจได้เหมือนเคย แม้โช้คจะยวบนำก่อนใน
จังหวะแรก แต่ถ้าคุณให้ความมั่นใจในตัวรถ เพียงชั่วขณะมันจะเปลี่ยนจากการยวบ
เป็นการเกาะ หน้านำ ท้ายส่งตามแบบรถขับสี่ AWD ที่บาลานซ์ตัวรถมาดี ลองขับ
แบบมั่วซั่ว เบรกตอนเข้าโค้ง หรือหักพวงมาลัยแรงๆแบบคนตกใจ ตัวรถยังสามารถ
วิ่งผ่านโค้งไปได้ดีและแทบไม่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือของระบบอิเล็กทรอนิกส์เลย
มีเรื่องระทึกอยู่นิดนึง คือในวันที่ผมขับรถไปทางวังน้ำเขียวบนถนนแบบ 1 เลนไป
1 เลนกลับนั้น ผมกำลังขับรถเข้าโค้งซ้ายที่มีพุ่มไม้และทุ่งหญ้าสูงบังโค้งอยู่
ตอนกำลังเข้าโค้งนั่นล่ะครับ จู่ๆภาพที่ปรากฎตรงหน้าคือ..รถครับ รถกระบะคันนึง
กำลังเปิดไฟฉุกเฉินใส่เกียร์ถอยสวนโค้งเข้ามาหาผม (โคตรบ้า ถอยรถบนถนนแคบ
และถอยตรงโค้งที่มีมุมอับ! คาดว่าวิ่งไปแล้วเลยที่หมาย แต่ทำไมไม่เลยไป
กลับรถเอาบนทางตรงข้างหน้าก็ไม่รู้ ผมคิดว่า IQ คนขับไม่ก็ EQ นั่นแหละบกพร่อง)
ระยะเบรกเหรอครับ หุ..ที่ตรงนั้นเหลือแค่ 25 เมตร หรือประมาณ 5 ช่วงคัน
เพราะพี่แกเล่นถอยออกมาจากมุมอับและถอยแบบไม่มีชะลอเลยครับ ถอยมา
แบบรีบๆด้วย ปฏิกิริยาแรกของผมคือจัดพวงมาลัยให้ใกล้เคียงตำแหน่งตรง
เท่าที่สามารถทำได้และกระทืบเบรกเต็มแรง โชคดีที่ฝั่งตรงข้ามไม่ใช่เนิน
จึงเห็นได้ในนาทีท้ายๆว่าไม่มีรถสวนมา ผมถอนเท้าจากเบรกคืนมานิดหน่อย
แล้วหักขวาหลบ แล้วหักซ้ายกลับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาแค่ 2-3 วินาที
และผ่านมาได้โดยปลอดภัยไร้รอยทั้งคนและรถ ผมทำอะไรไม่ถูก จะจอดลง
ไปด่าก็จะกลายเป็นตัวเองนั่นแหละทำให้ถนนเสียช่องทางจราจร เลยขับ
ต่อไปแล้วภาวนาให้รถคันที่ตามผมมาเป็นสิบล้อเมายาบ้าแล้วกัน
บางที..เพราะประเทศเรามีคนขับรถบ้าบอเอาเท้าคิดแทนหัวแบบนี้แหละ
ที่ทำให้มีคนกลัว และยอมลงทุนซื้อรถขับสี่แบบ Subaru มาเพื่อเตรียมรับ
สถานการณ์ไม่คาดฝัน
ระบบห้ามล้อ ของทั้ง 2 รุ่น เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ เสริมการทำงานด้วย
ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัส ABS (Anti-Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force
Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist พร้อมกับระบบ
ควบคุมเสถียรภาพ VDC (VehicleDynamic Control System) ระบบช่วย
ออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) และ ระบบช่วยขับลงเนิน HDC
(Hill Descent Control)
แป้นเบรกไม่มีระยะฟรีมากนัก และระยะบนสุดถึงจุดเหยียบล่างสุดค่อนข้างสั้น
เป็นลักษณะเดียวกับ Subaru รุ่นอื่นๆ ให้ความรู้สึกที่กระชับ เหยียบน้อยได้น้อย
เหยียบมากได้หัวทิ่ม สามารถบริหารแรงเบรกของรถได้ง่าย ใช้ในเมืองก็ไม่เบรก
หัวทิ่มหัวตำ เวลาออกต่างจังหวัด ถ้าต้องการลดความเร็วอย่างฉับพลัน อาจจะ
ต้องกดลึกหน่อยแต่ผ้าเบรกเกรดดีพอสมควรสำหรับการลดความเร็วเพื่อเลี่ยง
การปะทะ แต่ถ้าคิดจะวิ่งทำความเร็วสูงแล้วเบรก แล้วทำซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ
ผ้าเบรกจะเริ่มออกอาการเฟดทีละหน่อย ทางที่ดีพ่อเจ้าประคุณเท้าหนักทั้งหลาย
เปลี่ยนผ้าเบรกหน่อยก็จะดีต่อสุขภาพ ส่วนคนที่ขับแค่ 120-140 เร็วบ้างช้าบ้าง
ไม่บ้าระห่ำ เบรกชุดเดิมนี่ล่ะเอาอยู่เลย
********** สรุป **********
รถนุ่มเกาะเหมาะขับทางไกล มาดป๋าขึ้น ไม่แรงแต่มั่นใจ ในราคาที่ถูกลง
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า ไฟ Daytime Running Light
กันชนหน้า (รุ่น 2.0iL เทียบกับ 2.0iP) รวมถึงไฟท้าย และลายล้อ ตลอดจนภายใน
ซึ่งใช้วัสดุสีดำเงาเข้ามาตกแต่งได้อย่างมีรสนิยม เปลี่ยนหน้าปัดใหม่ พวงมาลัยใหม่
และเพิ่มระบบความจำเบาะคนขับ เมื่อนำสิ่งเหล่านี้มารวมกับราคาค่าตัวที่ถูกลง
192,000 บาทเมื่อเทียบกับราคา 2.0iL ตัวนำเข้าจากญี่ปุ่นแล้วทำให้ดูมีความคุ้มค่า
สูงขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าหลังคา Panoramic จะถูกตัดออกก็ตาม
เสียดายสิ่งเล็กๆน้อยๆอย่างที่เท้าแขนตรงกลางระหว่างเบาะนั่งคู่หน้าที่หายไป
แม้จะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญถึงชีวิต แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้การขับเวลารถติดๆมีที่พักพิง
ข้อศอกให้หายเมื่อยได้บ้าง
เครื่องยนต์และเกียร์ยังเป็นของเดิม ดังนั้นจึงมีนิสัยเดิมเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
อาการอมรอบเวลากระแทกออกตัวเพื่อเซฟเกียร์ (ลดทอนอาการได้โดยการเข้าเกียร์
M แล้วเล่นเกียร์เองเฉพาะช่วง 0-60) หรืออาการงึดๆที่ความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ลงมาซึ่งมีให้รู้สึกบ้างแต่ถ้าไม่ใช่คนขยันจับผิดอาจจะพอยอมรับได้ อัตราเร่งอยู่ใน
ระดับกลางๆของกลุ่ม ไม่ดีดออกตัวเร็วอย่าง Mazda CX-5 2.0 และเกียร์ CVT ยัง
ไม่ทำงานเร็วและมีจังหวะไล่รอบเวลากดคันเร่งเต็มอย่างที่ X-Trail มี แต่ก็ยังทำ
อัตราเร่งได้เร็วกว่า CR-V 2.0 เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พูดง่ายๆคือไม่เหมาะกับคน
ที่มุ่งหวังเรียกหาความสนุกจากการกดคันเร่งบนทางตรงนั่นเอง
ช่วงล่างถูกปรับให้นุ่มนวลขึ้นในด้านหน้า และเกาะโค้งขึ้นในด้านหลัง ผลที่ออกมา
คือรถมีอาการยวบเวลาเปลี่ยนทิศทางกะทันหันอยู่บ้าง แต่ยวบแค่จังหวะสั้นๆจากนั้น
ก็จะหยุดยวบไว้แค่นั้น ต่อให้คุณสลาลอมจนของในรถบินไปมาลอยจากที่เดิม
รถก็จะยังเกาะถนนอยู่แบบนั้นและแทบไม่ได้ยินเสียงยางทั้งๆที่ยาง Continental
MC5 มันก็ไม่ใช่ยางระดับประเสิรฐอะไรขนาดนั้น ยิ่งถ้าวิ่งบนถนนขรุขระแล้วล่ะก็
Forester สามารถคุมตัวถังไว้ได้ดีมากเมื่อเทียบกับรถระดับเดียวกัน ในวินาทีนี้พูดได้
เลยว่าถ้าคุณต้องการทั้งนุ่มและเกาะ Forester ทำคะแนนได้ดีทั้งสองอย่าง นุ่มกว่า
X-Trail และทิ้งโค้งได้เร็วกว่า CX-5 นิดๆด้วยซ้ำ
พวงมาลัยเป็นเพาเวอร์ไฟฟ้า น้ำหนักเบาขับสบาย ผู้หญิงขับได้ แต่ผู้ชายขับอาจจะ
ชอบพวงมาลัยไฮดรอลิกของ XV มากกว่า ความเร็วสูงนิ่งดี แต่ถ้าหักไปๆมาๆจะ
รู้สึกว่าแอบไวกว่า XV นิดๆ เบรกเชื่อถือได้ ระยะการเหยียบสั้นและคุมแรงเบรกง่าย
ภายในรู้สึกแคบกว่า X-Trail อยู่บ้างตามขนาดตัวรถ เบาะนั่งไม่อู้ฟู่หนาสบายแบบ
X-Trail แต่การที่เบาะหน้าปรับได้หลากหลายตำแหน่งหลายทิศทาง และปรับได้
เหมือนกันทั้งเบาะคนขับและคนนั่ง บวกกับพนักพิงศีรษะที่ปรับความเอนได้ ทำให้
มีแนวโน้มจะรองรับคนได้หลายไซส์ หลังยาว หลังสั้น ขายาว ขาสั้น หัวทุย หัวหลิม
ได้มากกว่ารถของคู่แข่ง ส่วนเบาะนั่งหลังมีเบาะรองนั่งค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่ง ชันเข่า
นิดๆ พนักพิงหลังเอนลงได้ 1 จังหวะ โดยรวมแล้วถือว่าสบายกว่า CX-5 แต่ยังแพ้
X-Trail อยู่ และไม่มีช่องเป่าลมแอร์ให้ผู้โดยสารด้านหลัง
เนื้อที่เก็บสัมภาระด้านท้าย ดูเหมือนเล็กแต่ที่จริงใหญ่ เพราะหลังคาและฝาท้าย
ไม่ได้ลาดเพื่อทำให้รถดูปราดเปรียว แม้ว่าจะใส่ถุงกอล์ฟได้มากพอๆกับคู่แข่งแต่
ขนตู้ขนเตียงได้ไม่แพ้รถที่ใหญ่กว่า สาวก IKEA น่าจะชอบ
อุปกรณ์ความปลอดภัย กันลื่น กันไถล เบรก ABS มีให้ ถุงลมนิรภัยมี 7 ใบ คู่หน้า
ด้านข้าง ม่านข้าง และถุงลมนิรภัยเข่าสำหรับผู้ขับขี่
ดังนั้น เมื่อนำคุณสมบัติทุกอย่างมารวมกัน Forester 2.0iP กับราคาที่แพงกว่า
ชาวบ้านพิกัดเดียวกันอยู่ 48,000-150,000 บาทนั้น ก็มีจุดที่น่าจะยอมให้ลูกค้า
จ่ายเงินซื้อได้ หากลูกค้าคนนั้น เป็นคนที่นิยมชมชอบรถที่การขับขี่ ช่วงล่าง
การตอบสนอง และเป็นพวกชอบเดินทางไกล ชอบวิ่งไปตามถนนที่ไม่รู้จัก
ซึ่งบางทีก็เป็นไร่ข้าวโพด (ซึ่งน่าจะดราม่าน้อยกว่าไร่ส้ม ณ เวลานี้) หรือทางที่
รถธรรมดาหรือ SUV ขับเคลื่อน 2 ล้อไม่น่าจะเข้าถึง ในบรรดารถระดับเดียวกัน
แม้พื้นที่ใต้ท้องของ Forester จะไม่ได้สูงกว่าคนอื่นแบบเด่นชัดมากนัก แต่การ
เป็นรถแค่ยี่ห้อเดียวที่มาพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาที่สามารถใช้ได้จริง
พร้อมกับระบบ X-Mode ทำให้มันสามารถวิ่งไปได้ในสภาพอากาศ สภาพถนน
ที่หลากหลาย และยังให้ความนุ่มนวลแบบแม่ยายนั่งแล้วชม ในขณะที่วิ่งเร็วๆก็มั่นใจ
เปลี่ยนเลนเร็วๆแล้วไม่ลงข้างทาง
แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณไม่เข้าข่ายนี้ คุณอาจจะสนตัวเลือกอื่นๆในระดับราคาใกล้เคียงกัน
เช่น..
ถ้าคุณไม่ได้ซีเรียสเรื่องพื้นที่สำหรับการบรรทุก หรือคุณอยากได้รถที่ขนาดเล็ก
คล่องตัวแต่มีการขับขี่มั่นใจแบบรถใหญ่ ไม่ต้องมองอื่นไกลเลยครับ XV 2.oiP
ไมเนอร์เชนจ์นั่นล่ะ ราคา 1,298,000 บาท คุณได้รถหน้าตาหล่อเหลาขึ้นด้วย
แต่นิสัยอย่างอื่นเหมือนหรือคล้ายกับ Forester มาก ช่วงล่างแข็งกว่า ตำแหน่ง
การนั่งขับเตี้ยกว่า ถุงลมนิรภัยน้อยกว่า และการตกแต่งภายในจะดูไม่หรูเท่า
ส่วนใครก็ตามที่รักรถแรง ขับสนุก บุคลิกคล้ายรถเก๋ง แต่มีความจำเป็นต้องใช้
SUV เพราะมีครอบครัว หรือประกอบอาชีพที่ต้องบรรทุกของชิ้นใหญ่นานๆครั้ง
คุณสามารถเซฟเงินเป็นแสนแล้วไปคบกับ CX-5 2.0S 1,330,000 บาทก็ได้
เกียร์ 6 จังหวะขับมันส์ ช่วงล่างแน่นปึ้กแต่จะไม่นุ่มแบบ Forester เบาะหลัง
เอนไม่ได้ แต่ส่วนรองนั่งในรุ่นใหม่ก็ปรับปรุงจนยาวและนั่งสบายขึ้น ออพชั่น
น้อยกว่า Forester นิดหน่อย เช่นเบาะคนนั่งปรับมือ ไม่มีฝากระโปรงท้ายไฟฟ้า
และไม่มีระบบนำทางมาให้
แต่..ถ้าคุณต้องวิ่งผ่านพื้นที่ทุรกันดาร มีหล่มมีโคลนบ้าง แล้วคุณอยากให้มี
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อไว้บ้าง แต่คุณก็ยังต้องการความสบายเวลาโดยสารและ
ต้องการรถที่ดูมีขนาดใหญ่ แต่ขับคล่อง (อาจจะไม่ถึงขั้นขับไปหัวเราะไปแบบ
CX-5) ก็ยังมี Nissan X-Trail 2.0V 4WD ราคา 1,392,000 บาท ซึ่งถ้าไม่นับ
เรื่องที่มีถุงลมนิรภัยน้อยกว่าชาวบ้าน ออพชั่นอื่นๆถือว่าค่อนข้างโอเค ทั้งเรื่อง
ความสบายและระบบมัลติมีเดีย เบาะนั่งสบายอุราทั้งหน้าและหลัง แถมเอนได้
เรี่ยวแรงดีกว่า Forester และวิ่งทางไกลก็มั่นคงพอกัน เพียงแต่อย่าไปเล่นโค้ง
โหดเกินจุดประสงค์รถก็แล้วกัน
และถ้าคุณรู้สึกว่ารถ SUV เครื่อง 2.0 ลิตร ไม่แรงพอ แต่ก็ไม่อยากจ่ายเงิน
มากกว่า 1.5 ล้านบาท (ภรรยาธิปไตยให้อำนาจการเงินคุณไว้แค่นั้น) ก็ยังมี
X-Trail Hybrid 2.0V 4WD ราคา 1,450,000 บาท พูดง่ายๆคือคุณได้
X-Trail ที่มีภายนอกเกือบเหมือนตัว 2.0 ธรรมดา แต่มีถุงลมนิรภัยด้านข้าง
เพิ่มมาให้ มีมอเตอร์ไฟฟ้าที่ช่วยส่งพลังให้อัตราเร่งไล่ฟัดกับ CX-5 2.2D ได้
แต่อัตราสิ้นเปลืองไม่น่าจะประหยัดกว่า 2.0V มากอย่างที่คาด ถ้าสนใจตัวนี้
ก็อย่าลืมไปลองขับและลองเบรกมันก่อนว่าคุณโอเคกับการทำงานของแป้นเบรก
ไฟฟ้าที่จะให้ความรู้สึกหลอนๆผิดวิสัยจากเบรกไฮดรอลิกแบบปกติอยู่บ้าง
ส่วน Honda CR-V นั้น ออพชั่นสู้ชาวบ้านชาวช่องระดับเดียวกันได้ ในรุ่น 2.0E
4WD ราคา 1,380,000 บาท มีพื้นที่ภายในค่อนข้างกว้างขวาง ใช้งานได้
อเนกประสงค์ ขับในเมืองเบาสบาย แต่ช่วงล่างก็จะเป็นสไตล์ Honda คือ
สะเทือนกรวด สะเทือนลูกระนาด แต่ความเร็วสูงก็จะย้วย ช่วงล่างยังสู้คู่แข่ง
จาก 3 ยี่ห้อข้างบนไม่ได้ แต่ได้เปรียบที่เครื่องยนต์ R20 กับเกียร์ 5 จังหวะ
ซึ่งอยู่กันมานานจนรู้นิสัยหมด หาช่างซ่อมนอกศูนย์ได้เวลาคิดจะใช้ยาวๆ 9-10 ปี
ทั้งหมดนี้ จะเลือกอะไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับเลือกรถที่มีข้อดีตรงกับการใช้งานจริง
ของคุณ และถ้ามันมีข้อเสีย ก็ขอให้เป็นข้อเสียประเภทที่คุณสามารถยอมรับ
หรือจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ง่าย
เลือกด้วยความคิด พินิจตามข้อมูล ถ้ามีเมีย คุยกับเมียก่อนจองจะได้ไม่ถูก
ส่งไปนอนนอกห้อง แต่..ท้ายสุด อย่าลืมลองสัมผัสด้วยตัวคุณเอง..เพราะรถ
ไม่ใช่เสื้อผ้าหรือมือถือ เปลี่ยนมือทีเงินหายไปเยอะ ดราม่ากับภรรเมียยังเคลียร์ได้
ดราม่าเพราะซื้อรถไม่โดนใจนี่ ทุกข์ไปอีกหลายปีจนกว่าจะผ่อนหมดครับ
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
– คุณตวัน คำฤทธิ์ และคุณเบียร์
บริษัท T.C. Subaru จำกัด
สำหรับรถทดลองขับและการประสานงานดูแลอย่างดีทั้งหมด
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
7 เมษายน 2016
Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 7th 2016
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!