เมี้ยว..ว…ววววว หวี่…….

น่ารักเนอะ

เมื่อเราพูดถึงแมว คุณจะนึกถึงสัตว์สี่เท้าขนฟูหูตั้งอันเป็นที่รักของหลายคน ในขณะที่โลกสร้างสุนัขมาเพื่อให้เรารู้จักการเป็นนายที่ดี โลกก็สร้างบรรดาเหมียวทั้งหลายมาเพื่อให้เรารู้จักการเป็นบ่าวที่ดีเช่นเดียวกัน เจ้านายของพวกเราช่างเอาแต่ใจเป็นบ้า วันไหนอยากเล่นด้วยจู่ๆก็มาเคล้าแข้งเคล้าขา ส่งเสียงเรียกร้องความสนใจ ซึ่งส่วนมาก เจ้านายก็มักจะเลือกเอาเวลาที่คุณกำลังรีบเร่งปั่นงานสุดชีวิต ถ้าคุณยังไม่สนใจคำสั่งของนายท่าน นายท่านก็จะกระโดดแผล็วขึ้นโต๊ะ เขี่ยของให้ตกพื้นสักสองสามชิ้น ก่อนใช้ไม้ตายขั้นสุดยอดคือก้าวขึ้นนอนทับคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊คแม่งเลย

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค Social Media แมวก็กลายเป็นจุดสนใจ เป็นดาราหน้ากล้องไปเยอะ ไม่ว่าจะเป็น Grumpy Cat, น้อง Lil Bub น้อง Maru เพราะแมวมีอำนาจมหัศจรรย์ในการดึงดูดความสนใจมนุษย์ แมวอยู่ที่ไหน โฟกัสของคนเราจะไปที่นั่น คณะตำรวจประชุมออนไลน์กันอยู่ แมวกระโดดขึ้นโต๊ะ ตำรวจอีกท่านต้องไลน์ไปบอกให้ช่วยเอาแมวลงจากโต๊ะเพราะไม่เป็นอันประชุม หรือแม้แต่พวกเราสื่อมวลชนยานยนต์ กำลังอบรมออนไลน์กับบริษัทรถยนต์อยู่ แมวน้าเต้ย Autolife Thailand เดินผ่านกล้อง..ไอ้บรรดาชาวสื่อฯ จากที่กำลังถกเรื่องรถก็สมาธิแตก

พอคนเรามีความลำเอียงกับแมว มันก็เลยเป็นโอกาสสะดวก ที่ Ora จะเรียกรถรุ่นใหม่ของพวกเขาว่า Good Cat ..ลองนึกดูว่าถ้าเป็นสัตว์อื่นจะกล้าซื้อกันไหม? Good Dog ฟังดูเชื่องๆเนอะ…Good Snake…คงไม่เหมาะสำหรับชายวัยกลางคนในการนำรถไปจีบเด็ก…ถ้า Good Horse ก็อาจจะเหมาะเอาไปใช้เป็นชื่อรถบรรทุกมากกว่า..แต่พอเป็น Good Cat..ครับ สัตว์เหมือนกันแต่เกือบทุกคนไม่มีใครด่า

ORA Good Cat ..เป็นชื่อสากล ซึ่งคุณลือกจะอ่านแบบไหนก็ตามใจชอบเถอะครับ แต่การเรียกชื่อรุ่นตามภาษาประเทศผู้ผลิตนั้น จะมีชื่อเต็มๆว่า ORA ES11 (Hao Mao) ผมลองเปิดคลิปรีวิวจีนลองพยายามฟังดูว่าเขาเรียกชื่อมันว่ากระไร ก็ฟังได้ความว่า “โอ๋วล่า ห่าวเม้า” ถ้าผมฟังผิด ท้วงมาได้นะครับ

ORA นี่ จัดว่าเป็นแบรนด์ใหม่มาก คือเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 นี้เอง โดยทางบริษัทแม่อย่าง Great Wall Motors หมายมั่นปั้นมือให้แบรนด์ ORA ลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเต็มรูปแบบ ในขณะที่แบรนด์ Haval ก็จะโฟกัสไปที่ SUV เบนซิน/ไฮบริด และ Poer สร้างรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งแบรนด์ ORA ก็ไปรุ่งในบ้านเกิด ลูกค้าชาวจีนให้การต้อนรับอย่างดี ตามกระแสของรถ EV ที่เพิ่มจำนวน เพิ่มอัตราส่วนบนท้องถนนในจีนมากขึ้นทุกวัน

คำว่า ORA นั้นมีที่มาหลายเรื่องแล้วแต่ทางจีนเขาจะเล่า บ้างก็ว่าชื่อ ORA เวลาออกเสียงแบบจีน พ้องกับชื่อของนักคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ในตำนานอย่าง Leonhard Euler จากศตวรรษที่ 18 โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากการใช้วิชาความรู้อย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาชีวิตมนุษย์ นอกจากนี้ O-R-A ยังย่อมาจากคำว่า Open-Reliable-Alternative เป็นทางเลือกใหม่ที่เชื่อถือได้ สำหรับคนที่ใจเปิดรับเทคโนโลยีขับเคลื่อนยุคใหม่

และเมื่อ Great Wall Motors พร้อมที่จะลุยตลาดเมืองไทย พวกเขาก็เลือกรุ่น Good Cat มาชิงยอดก่อนเป็นรุ่นแรก ผมคาดว่าเกิดจากการวิจัย Feedback ของลูกค้าเมื่อครั้งนำรถหลายรุ่นมาโชว์เมื่อปลายปีที่แล้ว ถ้าพวกเขาเปิดตัวด้วยรถระดับไหน คนก็จะมีภาพจำเป็นรถแบบนั้น ถ้าเปิดตัวด้วยรถไซส์เล็กน้ำชามไม่งอกอย่าง Black Cat (R1) แบรนด์ ORA ในไทยก็จะมีภาพจำในสายตาคนเป็นผู้ผลิตรถ EV ขนาดเล็กไป..ดังนั้น Good Cat ..เจ้าแมวใหญ่น่าจะเป็นรถที่มีความเหมาะสมมากกว่า

แต่ไม่ว่าผมจะเดาถูกหรือเดาผิด..ผมก็ดีใจที่แมวใหญ่ถึงไทยเป็นรุ่นแรก เพราะสมรรถนะและขนาดตัว มันเหมาะสมกับการใช้งานในตลาดหมู่กว้าง รถอย่าง Black Cat นั้น ผมเข้าไปนั่งคู่กับน้องหมูก็ต้องทำสงครามแย่งชิงพื้นที่ไหล่กันแล้ว แต่สำหรับ Good Cat พื้นที่ในแนวกว้างไม่ใช่ปัญหา รถขนาดตัวประมาณนี้ คือรถแบบที่คนไทยหลายคน ขับได้คล่องในตัวเมืองรถติด และมั่นใจพอที่จะใช้เดินทางไกลได้ และ..ผมเองก็สนใจที่จะซื้อรถรุ่นนี้ แต่ยังคิดอยู่ว่าจะไปปล้นใครมาจ่ายดี และคำถามที่ควรจะถามก่อนนั้นคือ ต้องปล้นกี่บาท..

เพราะดูเหมือนว่าค่ายนี้เขาจะชอบวิธีการปล่อยข่าวทีละต๊อก แล้วผ้าชิ้นสุดท้ายที่จะถอดก็คือราคา..ซึ่งพวกคุณทั้งหลายต้องรอไปจนถึง 29 ตุลาคมถึงจะได้ทราบกัน บริษัทรถยนต์ชอบ แต่คนรีวิวทำงานโคตรลำบาก เพราะถ้าไม่รู้ราคาแล้วจะบอกได้ไงว่าความคุ้มค่ามันมากหรือน้อย ก็ต้องคาดเดากันไปตามประสบการณ์แล้วพยายามตาบอดคลำทางไปว่า รถระดับนี้มันควรจะออกมาเท่าไหร่ แต่เรื่องสมรรถนะ การใช้สอย อุปกรณ์ต่างๆนั้น เราก็พูดได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้พบ

17 ตุลาคม วันอาทิตย์ Great Wall Motors เชิญนักข่าวส่วนหนึ่งมาทดลองขับ ORA Good Cat ในแบบ One-Day-Trip โดยมีทั้งรุ่น 400 PRO (รุ่นรอง) และ 500 ULTRA (ตัวท้อป) ซึ่งผมนั้นโชคดีพอที่จะได้รถ 500 ULTRA สีเขียว Verdant Green ตัดสลับหลังคาสีขาว ซึ่งก็เป็นสีที่ผมชอบที่สุดแล้ว ในบรรดาสีที่ ORA มีให้เลือก

ORA Good Cat มีขนาดตัวไม่จัดว่าจิ๋วนัก ความยาวตัวถัง 4,235 มม. กว้างมากถึง 1,825 มม. สูง 1,596 มม. ความยาวฐานล้อ 2,650 มม. ระยะความกว้างระหว่างล้อคู่หน้า/หลัง (Front/Rear Track) เท่ากับ 1,557 และ 1,577 มม. ตามลำดับ ความสูงใต้ท้อง (Ground Clearance) 145 มม. ส่วนน้ำหนักตัว ทางไทยไม่ได้ใส่ข้อมูลมาให้ แต่ผมค้นจากในเว็บ Motor1 ได้ความว่า 1,510 กิโลกรัม

ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าขนาดตัวเล็กหรือใหญ่ยังไง ลองแบบนี้ครับ Good Cat นั้นสั้นกว่า Honda City Hatchback ประมาณ 10 เซนติเมตร กว้างกว่ากันราว 8 เซนติเมตร สูงกว่ากันราว 10 เซนติเมตร กว้างกว่า สูงกว่า แต่สั้นกว่า หรือถ้าจะเทียบกับรถ EV ที่รูปแบบสไตล์ใกล้เคียงกันมากที่สุด ก็คงต้องเป็น Nissan LEAF ล่ะนะ เจ้าเหมียว Good Cat ก็จะสั้นกว่า LEAF ราว 20 เซนติเมตร แต่กว้างกว่ากันราว 3 เซนติเมตร และสูงกว่ากันเกือบ 6 เซนติเมตร

..นี่ไงล่ะที่ผมบอกว่าดูมันสูงๆป้อมๆจิ๋วๆ แต่ของจริงอิชั้นไม่เล็กนะคะ

ดีไซน์ภายนอก ได้รับการออกแบบและกำกับแนวทางโดยคุณ Emmanuel Derta (บางคนก็เรียก Emon Delta) ซึ่งเคยทำงานกับ Porsche มาก่อน ดังนั้นจึงช่วยไม่ได้ที่ส่วนหน้าของรถจะมีความกบตาโปนคล้ายเอกลักษณ์ของ Porsche จมูกเรียบเนียนเพราะไม่ต้องเจาะช่องใหญ่ใส่กระจังหน้า นี่คือความได้เปรียบของรถ EV เขาล่ะครับ ส่วนด้านข้าง กลับจะดูขี้เล่นน้อยลงและมีความคมในเส้นสายมากขึ้น ด้านท้ายล้ำยุคด้วยก่อนออกแบบซ่อนไฟเบรกไว้ที่กระจกบานหลัง ทำให้เวลามองไกลๆเหมือนรถไม่มีไฟท้าย

ORA เรียกการออกแบบตัวถังของ Good Cat ว่าเป็นแบบ Retro Futuristic แปลเป็นภาษามนุษย์ไทยก็คือ โครงสร้างหลักดูล้ำอนาคต แต่แอบแฝงกลิ่นอายของรถคลาสสิคเอาไว้ในบางจุด อย่างเช่นไฟหน้า ทรงคลาสสิค แต่มองเข้าไปข้างในจะเห็น Day Time Running Light ล้อมรอบเป็นเส้นกลม ไฟหน้า LED ที่เปิด/ปิด และมาพร้อมไฟสูงอัตโนมัติ ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว มีดีไซน์ออกจะคล้ายล้อแต่งยอดนิยมของ Muscle Car อเมริกัน แต่ก็ปรับให้ดูเรียบสมสมัยขึ้น

คุณชอบกันไหมครับ? ผมรู้ว่าสุภาพสตรีหลายท่านกดจองบนเว็บไปแล้ว แต่ที่ประหลาดใจคือ รถหน้าตาดูเอาใจผู้หญิงแบบนี้ กลับเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชายรอบตัวผมจำนวนมาก ผมเองก็ชอบในความพอดีๆแบบขี้เล่น น่ารัก กำลังดี ไม่มีส่วนไหนที่ดูโหด แต่ก็ไม่ใช่หน้าตาแบบที่ใครเห็นก็อยากจะ Bully

อย่างไรก็ตาม สีสวยๆอย่างสีเขียวเข้มหลังคาขาว หรือสีเบจชมพูหลังคาน้ำตาล จะสงวนเอาไว้สำหรับรุ่นท้อปเท่านั้น ผมเชื่อว่าลูกค้าบางคนไม่ได้ต้องการของเล่นมากมาย แค่อยากจะได้ EV คันแรกในชีวิตที่สีสวยงามแปลกตาและจ่ายในราคาไม่แพงนัก ทางค่ายเขาคงคิดมาแล้วล่ะ แต่ถ้ามีลูกค้าเรียกร้องกันมาก ก็อาจมีโอกาสเพิ่มสีสันในอนาคตได้ ยิ่งรุ่น 400 TECH ตัวถูกสุด มีแค่สีขาวกับดำเท่านั้นเลย ดูมันจะจำกัดทางเลือกไปมั้ย?

เรื่องต่อมาคือ Good Cat ไม่มีใบปัดน้ำฝนกระจกบานหลัง ซึ่งผมคิดว่า ถ้าต้องการให้กระจกบานหลังดูเนียน ก็คงต้องหาวิธีออกแบบ อาจจะย้ายก้านปัดไปไว้ส่วนบนของกระจกแทน แต่ก็ต้องมาคิดอีกว่าจะซ่อนก้านปัดน้ำฝนยังไงให้ดูเนียนตา

ต่อมา เราคว้าสมาร์ทคีย์มาเปิดรถดูกันดีกว่า แต่เดี๋ยวก่อน..คุณผู้อ่านครับ ท่ามกลางความพรีเมียมทั้งหลายที่ผมรู้สึกได้จากรถคันนี้ ก็น่าจะมีกุญแจเนี่ยล่ะที่ไม่เข้าพวกที่สุด หลายคนอาจจะบอกว่าทรงกุญแจน่ารักดี แต่ถ้าคุณได้ลองถือของจริงแล้วกดๆดู อาจจะเปลี่ยนใจ ผมรู้สึกว่าส่วนที่เป็นพลาสติกมันดูก๊องแก๊งไปหน่อย สวย..แต่ดูเปราะๆ ในขณะที่สมาร์ทคีย์รถญี่ปุ่นหลักแสน แม้จะดีไซน์น่าเบื่อ แต่อย่างน้อยจับแล้วไม่รู้สึกว่ามันจะแยกเป็นชิ้นๆ

อย่างไรก็ตาม แค่เปิดประตูมองเบาะ คุณจะลืมเรื่องกุญแจไปเลยครับ เพราะลำพังแค่สีสันและวิธีการตัดเย็บตัวเบาะ ก็ทำให้คนว้าวได้มากไม่แพ้รถใหญ่ราคาล้านกลาง (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ) รุ่นถูกสุดจะเป็นเบาะผ้า แต่รุ่นรองและรุ่นท้อปจะได้เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง ตัวเบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง ซึ่งแม้จะเป็นหนังเทียม แต่ก็เป็นเกรดที่ให้สัมผัสไม่กระจอก ลองเอามือลูบดู ผมว่ามีความคล้ายหนัง Artico ของเบนซ์แต่ผิวออกจะอ่อนและมันกว่า

ในรุ่นท้อปอย่าง 500 ULTRA นั้น คุณจะได้ระบบเลื่อนถอยเบาะอัตโนมัติเวลาดับมอเตอร์แล้วจะลงจากรถ แถมยังมี Memory เชื่อมความจำตำแหน่งเบาะและกระจกมองข้างมา แต่ถ้าคุณมองหาปุ่ม Memory ไม่เจอ ก็เพราะมันไปซ่อนอยู่ในจอกลางครับ และคุณต้องลงทะเบียนในระบบของรถและ Login ก่อนถึงจะเปิดใช้งานได้ ตรงนี้ผมว่าดูเรื่องมากไป พึ่งพาจอกลางมากไป แค่ทำปุ่ม 3 ตำแหน่ง+ปุ่ม SET อาจจะมีต้นทุนด้านสวิตช์บ้าง แต่ลูกค้าใช้งานง่ายกว่าแน่นอน

นอกจากนี้ 500 ULTRA ยังมีเบาะนวดมาให้ที่ด้านคนขับอีกด้วย แต่สารภาพว่าไม่ได้ลองครับ เพราะมัวแต่ดูฟังก์ชั่นอื่นจนลืมไปเสียสนิท

ตัวเบาะนั่งตอนหน้า ให้ความนุ่มสบายแบบที่คุณเคยพบในรถยุโรป..ซึ่งตอนนี้พากันแข็งตัวไปหมดแล้ว เหลือแค่ Volvo ที่ยังนุ่มอยู่บ้าง ยิ่งพอพิงหลังกับหัวไปเต็มๆ คุณจะรู้สึกว่ามันเหมือนเก้าอี้นั่งหลับเลยทีเดียว โคตรชอบ! อย่างไรก็ตาม ตัวเบาะรองนั่ง ดูเหมือนออกแบบมาเอาใจไซส์สุภาพสตรีเอเชีย จึงค่อนข้างสั้น ถ้าผู้ชายตัวสูงใหญ่นั่ง ก็จะรู้สึกว่าต้นขาช่วงก่อนถึงข้อพับมันไม่ค่อยมีอะไรมารองเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบอดี้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่าลืมลองนั่งลองขับก่อนซื้อแล้วกันครับ เพราะ Good Cat นั้นปรับพวงมาลัยได้แค่ 2 ทิศ (ขึ้น/ลง) และจุดยึดเข็มขัดนิรภัยก็ปรับสูงต่ำไม่ได้ ก็ต้องมาปรับที่ความสูงตัวเบาะเอาเพื่อไม่ให้สายเข็มขัดไปพาดตรงต้นคอ ถ้าคุณลองนั่งแล้วพบว่าสบาย หมุนพวงมาลัยคล่อง เข็มขัดพาดผ่านไหล่อย่างเหมาะสมได้ ก็ไม่มีปัญหาครับ

ส่วนที่นั่งด้านหลังนั้นอาจจะไม่สามารถพูดได้ว่าสบายเต็มขั้นนัก

ด้วยความที่พื้นรถต้องมีการเผื่อที่เอาไว้สำหรับแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ ทำให้หลุมวางเท้านั้นตื้น หากให้คนตัวสูงไม่เกิน 160 เซนติเมตรนั่ง ก็เป็นไปได้ว่าอาจพอดี โดยรู้สึกว่าเวลานั่งจะก้นจม เข่าเชิดบ้าง แต่ยังมีพื้นที่เหลือเยอะ และถ้าเป็นไซส์ชายไทยผอม สูง 170 เซนติเมตรอย่างน้อง Cokey P ก็จะเริ่มรู้สึกว่าต้องนั่งชันเข่ามากขึ้น และมีพื้นที่เหนือศีรษะประมาณ 1 กำปั้น และถ้าเป็นชาย 5XL สูง 183 อย่างผม บอกเลยว่านั่งเบาะหน้าไปแหละดี เพราะเมื่อนั่งหลังตรงชิดเบาะ หัวผมติดหลังคา และชันเข่ามากจนแค่นั่งราว 10 นาทียังรู้สึกรำคาญ ดังนั้น เรื่องความสบายจากขนาดพื้นที่ ผมอาจจะให้คะแนนดีกว่า Suzuki Swift กับ Mazda 2 แต่ก็ไม่ชนะ Honda City Hatchback แน่นอน (รถเหล่านี้ไม่ใช่รถ EV แต่เป็นรถที่คนมีโอกาสได้นั่งบ่อย จึงนำมาเทียบ)

ดังนั้น แม้ภายนอกดูแล้วเหมือนจะสูงโปร่งใหญ่ แต่การมีแบตเตอรี่ทำให้ต้องแลกเรื่องท่านั่งไป ครั้นจะยกเบาะให้สูงขึ้นเพื่อให้สบายเข่า พื้นที่เหนือศีรษะก็ไม่พอ นี่ล่ะครับคือความยากในการจัดพื้นที่รถ EV เพราะ Nissan LEAF ก็มีปัญหาทำนองนี้ที่เบาะหลัง แค่ว่าไม่ต้องชันเขามากเท่า Good Cat

อย่างไรก็ตาม Good Cat รุ่น 400 PRO และ 500 ULTRA ยังมีที่เท้าแขนเบาะหลังมาให้พร้อมที่วางแก้ววางขวด 2 ตำแหน่ง และจุดชาร์จไฟ USB ด้านหลัง 1 ตำแหน่ง ก็ยังดีที่ไม่ตัดต้นทุนด้วยการเอาสองอย่างนี้ออก เพราะเขารู้ว่าลูกค้าสาวๆ บางทีก็ชอบไปไหนมาไหนในเมืองกัน 3-4 คน

พื้นที่ด้านท้ายของ Good Cat ก็ค่อนข้างเล็ก คือมีความจุก่อนพับเบาะแค่ 228 ลิตร เล็กกว่า Suzuki Swift (264 ลิตร) และ Honda City Hatchback (288 ลิตร) หรือถ้าพับเบาะลงหมด ก็จะได้เพิ่มเป็น 858 ลิตรเท่านั้น ขอบฝากระโปรงค่อนข้างสูง เป็นผลจากเรื่องดีไซน์ที่พยายามให้ดูสวยจากข้างนอก เป็นข้อแลกเปลี่ยนกัน ดังนั้นหากคุณเป็นคนชอบขนของเยอะแล้วยังชอบไปไหนมาไหน 4 คนโดยมีของเต็มท้าย ก็ลองเล็งพื้นที่มันดูก่อนนะครับว่าน่าจะพอไหม

ฝากระโปรงท้าย กดเปิดได้เลยจากด้านท้ายรถ ไม่มีฟังก์ชั่นเตะเปิด หรือมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งสำหรับรถคลาสนี้ ผมคิดว่ายังไม่จำเป็นขนาดนั้น

ปกติผมจะไม่ทำแบบนี้ แต่เนื่องจากหลายคนคงอยากเทียบกัน ผมเลยลองเอาภายใน 3 สีมาให้ดูครับว่าคุณชอบบรรยากาศแบบไหนมากกว่า

แต่ข่าวร้ายคือ ORA บังคับสีภายในสัมพันธ์กับสีภายนอก ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าอยากได้ภายในสีเบจอันดูหรูหราเกินตัว..คุณต้องเลือกรถที่สีภายนอกเป็นสีเบจชมพูหลังคาน้ำตาลเท่านั้น และถ้าคุณชอบภายในสีเขียวเข้ม ก็ต้องเลือกรถที่สีภายนอกเป็นสีเขียวเข้มหลังคาสีขาวเท่านั้น…ส่วนรถสีขาว รถสีแดง สีฟ้าพาสเทล สีดำ คุณจะมีทางเลือกแค่ภายในสีดำเท่านั้น ซึ่งเป็นดำตัดด้ายน้ำเงิน ไม่มีการเล่นโทน Contrast ทำให้ภายในดูธรรมดาลงไปเสียดื้อๆ แต่ได้ความสปอร์ตซีเรียสมาแทน

จุดที่ถือว่าทำได้ดีคือวิธีการเลือกวัสดุในจุดต่างๆ อย่างเช่นการเอาหนังกลับมาหุ้มแดชบอร์ด ซึ่งถึงแม้มีโอกาสที่จะเป็นรอยเลอะหรือขาดง่ายเวลาใช้งาน แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้พบในรถระดับครัวเรือน ปกติแค่เป็นวัสดุนุ่มหรือหุ้มหนังเทียมก็เก๋แล้ว ส่วนที่เป็นพลาสติกสีเงิน ก็ทำมาดูดี ดีในแบบเท่าที่รถระดับนี้จะให้ได้ ไม่ถึงขั้นพรีเมียมคาร์จ๋าขนาดนั้น วัสดุส่วนไหนที่เป็นพลาสติกป๋องแป๋ง ก็มีการกัดลายแทรกให้ดูน่าสนใจ แม้กระทั่งพลาสติกตรงบริเวณสวิตช์กระจกไฟฟ้า ก็ทำออกมาดูเป็นลายไม้ด้าน

นี่คือภายในแบบที่ผมว่าผู้ผลิตรถระดับล้านบาทบวกลบควรลองมาศึกษาดู หากไม่นับหนังกลับที่หุ้มแดชบอร์ดแล้ว วัสดุอื่นๆถามว่าเกรดรถยุโรปสามล้านเหรอ? ก็ไม่ วัสดุส่วนมากก็เป็นแบบที่เราเจอในรถราคาล้านบาทบวกลบหลายต่อหลายรุ่น แต่มันคือวิธีการออกแบบว่าจะเอาวัสดุอะไรไปใช้กับส่วนไหน รวมกับรูปดีไซน์ ทำให้เวลาดูในภาพ หรือมองแบบผ่านๆ มันดูดีอย่างเหลือเชื่อ

แต่อย่าเพิ่งคิดว่าผมจะมีแต่อวยครับ จุดที่ไม่ชอบก็มี..ค่อยๆอ่านต่อไปนะ

การจัดวางสวิตช์แผงควบคุมต่างๆ มาในแนว “Clean Dashboard” ที่เอาจอมาใส่ แล้วก็เอาเกือบทุกอย่างไปใส่ไว้บนจอ ความจอจึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่ครองพื้นที่ 25% ของมุมมองคนขับ ถ้ามองจากมุมนี้ เหมือนกับว่าจอกลางกับหน้าปัดนั้นเป็นแผงเดียวกัน มีขนาด 17.5 นิ้ว แต่จริงๆแล้ว มันคือจอกลาง 10.25 นิ้ว บวกกับจอ MID 7 นิ้วที่ขนาบข้างด้วยชุดหลอดไฟเป็นแถบๆ

ใต้ช่องแอร์ด้านขวา จะมีชุดสวิตช์เรียง 4 ปุ่ม ซึ่งเป็นปุ่มปรับ Driving Mode, ปุ่มปรับองศาการฉายของไฟหน้า, ปุ่มเปิด/ปิดระบบช่วยเหลือการทรงตัว และปุ่มสำหรับดับไฟ (เหมือนกับดับเครื่องยนต์นั่นแหละ) เจ้า Good Cat ไม่มีปุ่มสตาร์ทนะครับ เวลาคุณเข้ามาในรถ ปิดประตู แล้วเหยียบเบรก ไฟ “READY” ขึ้นบนหน้าปัด แล้วออกรถได้เลย นอกจากนี้ ยังไม่มีเกียร์ P อีกด้วย มีแต่ R-N-D ถ้าจะจอดแล้วไม่ให้รถไหล ก็ต้องขึ้นเบรกมือเอา และสิ่งหนึ่งที่แปลกสำหรับ EV คือ Good Cat นั้น สามารถจอดใส่เกียร์ว่างล็อครถได้ ซึ่งเวอร์ชั่นจีนไม่มีนะครับ แต่ทางทีมไทยสู้มาสุดฤทธิ์เพื่อให้รถสเป็คไทยสามารถทำแบบนั้นได้..เจ๋งครับ เป็นความคิดใคร คนนั้นควรได้โบนัส

บนคอนโซลกลางข้างใต้จอ มีปุ่มแค่ 5 ปุ่ม คือ ปุ่มเปิด/ปิดแอร์, ปุ่มเปิด/ปิดคอมเพรสเซอร์แอร์, ไฟฉุกเฉิน, ปุ่มปรับแอร์เป่าแบบไล่ฝ้า และปุ่มไล่ฝ้ากระจกหลัง ถัดลงมามีช่อง USB สำหรับต่อ Apple CarPlay, ช่อง USB แบบจ่ายไฟอย่างเดียว และ Power Outlet ส่วนที่วางโทรศัพท์แบบ Wireless Charge จะไปอยู่ใกล้ที่เท้าแขน

หลังคา Panoramic Roof เป็นกระจก มีแผ่นบังแดดมาให้ พื้นที่กระจกมีขนาดกว้างใช้ได้ แต่ถ้ากดปุ่มเปิดบานกระจกออก ขนาดรูบนหลังคาจะไม่ได้ใหญ่มากนัก แค่พอให้คุณสาวๆเอวบางร่างน้อยสอดตัวโผล่ขึ้นมาบนหลังคาเพื่อแหกแขนถ่ายรูปลง IG สวยได้ แต่แนะนำว่าอย่าทำตอนรถวิ่งเพราะเมืองไทยนั้นนกเยอะ ระวังโดนนกทิ้งบอมบ์เหลวจากธรรมชาติ 100% ใส่ เพื่อนผมเคยจะถ่ายช็อต “ไทแทนิค” แบบนี้ตอนพรีเวดดิ้ง โดนนกบอมบ์หน้าต้องลงมาล้างหน้า เมคอัพใหม่เกือบอดถ่ายก่อนแต่ง

อ้อ ข่าวดีอีกอย่างคือ ถ้าคุณอยากได้หลังคานี้ ไม่ต้องรุ่นท้อปก็ได้ รุ่นกลาง 400 PRO ก็มีให้ครับ

จอกลางขนาด 10.25 นิ้ว ถือได้ว่าเป็นศูนย์บัญชาการหลักของรถ ซึ่งแยกย่อยออกไปหลายเมนู คุณสามารถปรับเปลี่ยนเสียงระบบตอบรับ Voice Command ได้สองเสียง คือเสียงผู้หญิง กับเสียงผู้หญิงแก่ นอกจากนี้ยังใช้ในการปรับตั้งค่าทั้งหมดของตัวรถ ใช้สำหรับเปิดระบบเบาะนวด และที่เก๋คือคุณสามารถใช้จอกลางในการปรับเบาะไฟฟ้าฝั่งคนขับได้ ซึ่งถ้ามือคุณใหญ่มากจนล้วงปรับสวิตช์ข้างเบาะได้ยาก หรือกรณีสวิตช์สกปรกฝุ่นจับแล้วไม่ทำงาน ก็มีหน้าจอนี่ล่ะไว้เป็น Back-up

คุณสามารถปรับน้ำหนักพวงมาลัย, การหน่วงของรถขณะถอนคันเร่ง, โหมดใช้คันเร่งเดียว Single-pedal, รวมถึงเปิด/ปิดการทำงานของระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันได้ แต่ก็ทำได้ที่จอนี้เท่านั้น

ซึ่งการเคลียร์ปุ่มจากแดชบอร์ด แล้วเอาทุกสิ่งอย่างไปไว้บนจอ ก็ก่อให้เกิดความไม่ User-friendly ในการใช้งาน ตัวอย่างเช่น

  • การจะกดเลือกตำแหน่งเบาะ Memory 1, 2, 3 ต้องไปจอกลางกดเข้า Vehicle Settings> In-car> Body แล้วถึงเจอปุ่ม Memory เบาะ
  • จะใช้ Wireless Charger ก็ต้องเข้าไปที่จอกลางในเมนู In-car>Wireless Charger
  • การปรับความหน่วงของตัวรถเมื่อถอนคันเร่ง หรือเปิดใช้โหมดขับแบบ Single Pedal ไม่ได้อยู่ในหน้าจอที่เกี่ยวกับการขับขี่ แต่จากหน้าข้อมูล คุณต้องไถจอไปทางขวาทีนึง เลือกเมนูข้อมูล/การใช้พลังงาน จากนั้นคุณจะยังมองไม่เห็นปุ่มสำหรับปรับสิ่งเหล่านี้ จนกว่าคุณจะแตะด้านขวาของจอแล้วเลื่อนลงไปอีก
  • ระบบรักษารถให้อยู่ในเลน ต้องเปิด/ปิดจากจอกลางเท่านั้น

ซึ่งนี่แค่บางตัวอย่างที่เจอ และมันส่งผลให้ชีวิตเป็นเรื่องยาก ต่อให้บางท่านอาจจะบอกว่า “ใครมันจะไปปรับอะไรบ่อยๆบนจอขณะขับวะ” คุณคงไม่เชื่อหรอกว่ามนุษย์สามารถละสมาธิจากถนนได้นานขนาดไหน ในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องขนาดไหน ถ้าคุณขับบนถนนธรรมดาแล้วเข้าเขตภูเขา อยากจะเพิ่มความหน่วงตัวรถไว้ใช้ช่วงลงเขา ถามว่าทำเป็น Paddle Shift ปรับแรงหน่วงเพิ่มใช้ง่ายกว่ามั้ย หรือถ้าคุณขับแค่ในเมือง ลองพยายามปรับอุณหภูมิหรือความแรงพัดลมขณะขับดูครับ แล้วจะซึ้ง ปุ่มต่างๆก็ช่างเล็ก แตะโดนบ้างไม่โดนบ้างเวลารถวิ่งแล้วสะเทือน

บางเรื่อง คนเราต้องปรับตัวเข้าหารถ ก็เป็นเรื่องที่ถูก “ถ้า” คุณปรับตัวแล้วชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือปลอดภัยขึ้น แต่การออกแบบ Interface ที่ไม่ช่วยส่งเสริมด้านความปลอดภัย นั่นไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องปรับเข้าหารถ นั่น คือสิ่งที่บริษัทรถ ต้องปรับเพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้ปลอดภัยขึ้น

และอย่าบอกว่ารถมี Voice Command ไว้ช่วยแล้วไม่ต้องซีเรียสเรื่องปุ่ม..มันไม่ได้ทำตามสั่งได้เสมอไป

ระบบสั่งการด้วยเสียงของ ORA เวอร์ชั่นไทยยังต้องพัฒนาให้เหมาะกับการใช้งานอีกนะครับ เพราะผมก็พูดภาษาอังกฤษ ตาม Instruction บนหน้าจอ “Open Sunroof” ระบบกลับได้ยินเป็น “พระรูป” …โยมมม สภาพพพ..ตูนี่ยกมือไหว้แทบไม่ทัน หรือว่าระบบรับแค่ภาษาไทย ถ้ารับแค่ภาษาไทยแล้วจะมี Instruction คำสั่งภาษาอังกฤษโชว์บนจอให้ผมทำไม อ่ะ ไทยก็ไทย เวลาจอดนิ่งๆเงียบๆ ก็พอสั่งได้อยู่ แต่พอรถวิ่งแล้วมีเสียงแทรก ก็ทำตามได้บ้างไม่ได้บ้าง อาการดูจะคล้ายกับระบบของ Haval H6 เลย

แต่อันนี้..โอเคมาก ไม่ต้องปรับปรุงครับ กล้อง 360 องศา ที่ให้ความชัดเจนในการมอง ปรับการส่องได้โคตรหลายแบบ จะ 2 หรือ 3 มิติก็ได้ อยากดูตรงไหนก็เอานิ้วแตะแล้วรูดจอไปตำแหน่งที่ต้องการ ใช้งานได้ง่าย เวลาเปิดไฟเลี้ยว ระบบก็จะ Standby รอ เมื่อมีการหักเลี้ยวพวงมาลัยตามมา หน้าจอจะฉายกล้องมุมล้อส่องทิศทางที่เลี้ยว บวกกับกล้องรอบคัน เมื่อใช้ระบบนี้ ร่วมกับระบบไฟเตือนมีรถในจุดบอดกระจกมองข้าง จึงช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยเวลาขับในเมือง เปลี่ยนเลนได้มากขึ้น

ในหน้าจอนี้ ยังมีปุ่มสำหรับเข้าสู่ระบบช่วยจอด ORA Good Cat ก็เหมือน Haval H6 ตรงที่ มีระบบช่วยจอดอัตโนมัติที่สามารถจอดขนานขอบทางเท้าได้ ถอยเข้าซอยตรง ซองเฉียงได้ และมีการทำงานที่ถือว่าไว จอดรถเสร็จได้เร็ว ที่งงอย่างเดียวก็คือ Great Wall Motors ไทย บอกว่า ORA Good Cat ไม่มีระบบช่วยถอยหลังกลับทางเดิมแบบอัตโนมัติ 50 เมตรอย่างที่ Haval มี แต่ทำไมในเมนูจอนี่ยังมีปุ่มช่วยถอยหลังอยู่ อันนี้ก็ไม่ทราบ

แผงมาตรวัด มีจอ Multi-Information Display อยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยแถบไฟเป็นดวง ซึ่งก็คือมาตรวัดโชว์พลังไฟที่เหลือในแบตเตอรี่ และเปอร์เซ็นต์การเรียกใช้พลังและการป้อนพลังกลับสู่แบตเตอรี่

ข้อมูลต่างๆที่มี ก็สมแก่ฐานะรถ ทั้ง Trip Meter, ตัววัดการใช้พลังงานเฉลี่ย (kWh) แล้วยังมีวัดลมยาง/อุณหภูมิยางแบบ Real-time เลยด้วย ไม่ได้มีแค่แจ้งเตือน ตัวมาตรวัดที่จอกลางจะมีการปรับโทนสีจากเขียวเป็นแดงเมื่อกด Driving Mode เป็น Sport และยังสามารถปรับรูปแบบการแสดงผลได้ทั้งแบบดิจิตอลไฮเทคเน้นกราฟฟิคสวยๆแบบที่วัยรุ่นชอบ หรือจะปรับเป็นแบบวงกลม โชว์ความเร็วกับเลขความเร็วขนานขอบมาตรวัดแบบรถคลาสสิค โดยที่ยังมีการแสดงค่าอื่นๆสอดอยู่ตรงกลางวงกลมนั้น

ถ้าคิดว่านี่คือรถ EV ที่คุณไม่ต้องคอยมาสนใจเรื่องรอบเครื่องยนต์อีกต่อไป หน้าปัดของ Good Cat ถือว่าออกแบบได้ดี เอาใจคนวัยรุ่นชอบแสงสีเป็นหลัก แต่ก็มีความพยายามที่จะเผื่อคนแก่ขับเอาไว้ในระดับนึง

สิ่งที่คุณอาจจะเจอ และผมต้องบอกไว้ก่อนก็คือ ถ้าหากคุณไม่คาดเข็มขัด หรือมีคนนั่งเบาะหลัง แต่เขาไม่ได้คาดเข็มขัด จอ MID จะปรับโชว์ค่าในเมนูต่างๆไม่ได้นะครับ มันจะค้างอยู่หน้าเดียว และไม่มีคำเตือนแนะนำอะไรขึ้นบนจอ ผมนี่พยายามจะถ่ายวิดิโอสาธิตหน้าปัด กดปุ่มเปลี่ยนข้อมูลเท่าไหร่มันก็นิ่ง นึกว่ากดผิดปุ่ม หรือปุ่มเสีย แต่จู่ๆตอนขับกลับใช้ได้เฉย ผมเลยมานั่งไล่ดู พบว่ารถจะไม่ยอมให้ปรับ MID ถ้าคนในรถไม่คาดเข็มขัด เช่นเดียวกับเมื่อเวลาที่คุณเปิดใช้ Cruise Control มันก็จะค้างอยู่แต่หน้าจอนั้น กดไปจอดู Trip Meter หรือจอลมยางก็ไม่ได้

แต่อนาคต เรื่องพวกนี้แก้ไขได้ แค่ให้ ORA ว่างพอจะทำโปรแกรมใหม่แล้วส่งไปที่ Good Cat แต่ละคัน อาศัยประโยชน์จากการที่ตัวรถสามารถอัปเดตออนไลน์ Over The Air ได้..ว่าแต่จะทำได้เมื่อไหร่นี่สิ

 

*****รายละเอียดทางวิศวกรรม*****

ORA Good Cat ทุกรุ่น ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนวางที่ด้านหน้า ขับเคลื่อนล้อหน้า เหมือนกันทุกรุ่น โดยเป็นมอเตอร์แบบ Permanent Magnet Synchronous ที่ให้พลังได้ 143 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 210 นิวตันเมตร

ส่วนที่ต่างระหว่างรุ่นท้อป 500 ULTRA กับรุ่น 400 TECH และ 400 PRO ก็คือแบตเตอรี่

  • รุ่น 400 (อันหมายถึงชาร์จเต็มแล้ววิ่งได้ไกลสุด 400 กม.) จะใช้แบตเตอรี่ ลิเธียมไออ้อนฟอสเฟต (LFP) ความจุพลังไฟ 47.78 kWh
  • รุ่น 500 จะใช้แบตเตอรี่ลิเธียม Ternary (NMC) ความจุพลังไฟ 63.13 kWh

ผมเองไม่ได้มีความรู้ด้านแบตเตอรี่มากนัก ก็เลยถามทีมงาน GWM ว่าไอ้ Ternary เนี่ยมันต่างจากลิเธียมไออ้อนปกติยังไง ก็ได้ความว่า ไอ้แบตฯประเภทนี้น่ะ มันมีความหนาแน่นของพลังงานกักเก็บสูงกว่า พูดง่ายๆคือ ถ้าทำแบตเตอรี่ให้มีขนาดโตเท่ากัน ลิเธียม Ternary จะเก็บพลังไฟได้เยอะกว่า

รุ่น “400” นั้น ถ้าไปเสียบชาร์จแบบ Quick Charge 30-80% จะใช้เวลา 32 นาที ส่วนการชาร์จ AC แบบ Home Socket จะใช้เวลา 8 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งไฟของระบบชาร์จที่บ้านด้วย เช่นถ้าระบบชาร์จส่งไฟได้ 3.2 kWh มันก็ต้องใช้เวลา 10-13 ชั่วโมง หรือมากกว่า 16 ชั่วโมงถ้าชาร์จเริ่มต้นจากแบต=0%) ส่วนรุ่น “500” ที่แบตจุไฟมากกว่า ก็จะเพิ่มตัวเลขเป็น 60 และ 10 นาทีตามลำดับ

ระบบส่งกำลัง เฟืองทด Single Speed ธรรมดา ปรับความหน่วงเพื่อสร้าง Regenerative Braking Recuperation ได้ 3 ระดับ และเปิดโหมด Single-pedal ที่เมื่อยกคันเร่งออกหมด รถจะสามารถหน่วงจนหยุดได้ (เหมือน One-pedal drive ของ Nissan Kicks)

พูดถึงโครงสร้างของเจ้า Good Cat สักหน่อย ในขณะที่รถ Haval SUV นั้นได้โครงสร้าง LEMON Platfrom (Lightweight, Electrification, Multi-Purpose and Omni-protection Network) เจ้า Good Cat นี่ก็ใช้โครงสร้างแบบ LEMON-E อันเป็น Modular Platform ที่ออกแบบให้สามารถปรับเพียงบางจุด แล้วนำไปใช้กับรถได้หลากแบบหลายขนาด ส่วนที่มันจะเหมือนกันไม่ว่าจะนำไปใช้กับรถรุ่นใด ก็จะมีดังนี้

  • ห้องเครื่อง (หรือต้องเรียกว่าห้องมอเตอร์) และระบบไฟฟ้าภายในรถ
  • ระบบระบายความร้อน ออกแบบผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของการรับแรงกระแทกด้านหน้า
  • พื้นรถส่วนหน้า
  • แพหน้า แพหลัง ที่เป็นจุดยึดช่วงล่างเข้ากับบอดี้
  • พื้นรถส่วนหลังบริเวณใต้เบาะ
  • แบตเตอรี่และจุดยึดแบตเตอรี่

การทำให้มีส่วนประกอบเหมือนกันหลายจุดมากๆ แล้วไปปรับแค่บางจุดเมื่อต้องใช้กับรถรุ่นอื่น (Modular Platform) นี้ แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องการออกแบบ เช่นมิติบางส่วนของรถจะต้องเท่าเดิมตลอดไม่ว่าอยู่ในรถเล็กหรือใหญ่ แต่สิ่งที่แลกมาคือความง่ายในการผลิตชิ้นส่วน สามารถผลิตแบบเดียวแล้วเอาไปใช้กับรถหลายรุ่น แชร์พาร์ทกันได้เยอะ สั่งมากๆแล้วเจรจากับซัพพลายเออร์จนได้ราคาต่อชิ้นที่ถูกลง อีกทั้งยังง่ายในการสต็อค ส่วนฝั่งลูกค้าก็ได้ประโยชน์จากการที่เวลาซ่อมก็หาอะไหล่ง่ายขึ้นเพราะใช้กับรถได้หลายรุ่น…แต่อันนี้คือเฉพาะเรื่องของ Platform นะครับ ไม่ได้หมายถึงรถทั้งคัน

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ระบบเบรกเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ ทำงานประสานกับระบบหน่วง Energy Recuperation ของมอเตอร์ โดยสมองกลของรถจะคำนวณว่า คุณตั้งรถไว้ใน Driving Mode อะไร ปรับค่าความหน่วงไว้เท่าไหร่ เบรกหนักหรือเบา แล้วมันก็จะเลือกให้เองว่ารถจะหยุด/ชะลอโดยใช้มอเตอร์หน่วง หรือใช้ระบบเบรกดิสก์ที่มี นี่คือจุดเด่นของ EV อีกอย่าง..ถ้าคุณขับไม่เร็ว เบรกไม่หนัก มันจะประหยัดผ้าเบรกมาก ยิ่งถ้าใช้โหมดขับแบบ Single-pedal มันเป็นไปได้ที่คุณจะขับรถทั้งวันโดยไม่เกิดการสึกหรอของผ้าเบรกเลยแม้แต่นิดเดียว

ช่วงล่างด้านหน้า เป็นอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบคานบิด ทอร์ชั่นบีม แยกสปริงออกจากเบ้าโช้ค ส่วนล้อและยางนั้น รุ่น 400 TECH ตัวถูกสุดจะใช้ขนาด 205/55 ขอบ 17 และรุ่น 400 PRO กับ 500 ULTRA จะใช้ล้อลายเดียวกัน ขนาดยาง 215/50 ขอบ 18 นิ้ว

*****การทดลองขับ*****

สำหรับกลุ่มทดสอบที่ 1 ทางทีม GWM เขาให้เราขับจากเมืองทองธานีไปยังร้าน Goodview ริมน้ำที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งระยะทางไปกลับ ไม่ได้ไกลมาก แค่ประมาณ 150 กิโลเมตร สภาพทางถนนสุวินทวงศ์นั้น ให้โอกาสเราอย่างเหลือเฟือในการทดสอบช่วงล่างบนทางตรง แต่ไม่ค่อยมีจังหวะให้เล่นโค้งเท่าไหร่ ประกอบกับฝนที่เทลงมาบางๆเกือบตลอดวันก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

  • อัตราเร่ง 0-100 kmh นั้น เจ้า Good Cat ทำได้ภายในเวลาประมาณ 9.0-9.3 วินาที เมื่อใช้โหมด Sport
  • ส่วนช่วงเร่งแซง 80-120 kmh ลองทำดูหลายรอบ ก็ได้ตัวเลขป้วนเปี้ยนแถว 6.05-6.2 วินาที

ถามว่าแรงมั้ย? ถ้าเทียบกับรถเก๋งเบนซินแล้วว่ากันเฉพาะช่วงไม่เกิน 120 km/h เจ้า Good Cat นี่น่าจะวิ่งตามดูไฟท้ายของ Honda Civic Turbo ตัวใหม่ได้พักใหญ่เลยทีเดียวแหละ แล้วก็ไม่มีใครบอกเลยนี่ว่า Civic Turbo อืด แต่ถ้าไปเทียบกับรถ EV ที่มีในตลาด อัตราเร่ง 0-100 จะแพ้ MG ZS EV และ Nissan LEAF ในขณะที่ช่วงเร่งแซง 80-120 ทำเวลาได้ใกล้เคียงกัน LEAF เร็วสุด ตามมาด้วย Good Cat แล้วค่อยเป็น MG

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการปรับจูนการส่งพลังโดยตั้งใจครับ..ทาง ORA ต้องการให้มีบุคลิกสุภาพและควบคุมง่าย ดังนั้นต่อให้ใส่โหมด Sport แล้วกระแทกคันเร่งออกตัว มันก็ไม่มีอาการดึงเหวอหลังติดเบาะแบบที่เราพบใน EV คันอื่น ตรงกันข้าม กลับออกตัวเหมือน Civic Turbo เกียร์ CVT เลย ค่อยๆเพิ่มแรงตอนออกตัวแล้วไหลมาเทมาต่อเนื่องเมื่อความเร็วเกิน 60 ไป อันนี้พี่แพนเลยออกจะผิดหวังอยู่หน่อย จริงๆแล้วถ้าอยากได้ความสุภาพ ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าเจ้าของรถตั้งใจกดโหมด Sport เพื่อเรียกแรงแล้ว คุณก็ควรจะอนุญาตให้รถปลดปล่อยพลังได้มากกว่านี้

แต่ถ้าเป็นช่วงรถลอยตัว มีความเร็วอยู่ระดับนึงแล้วกดคันเร่ง 30-50% บุคลิกการตอบสนอง เป็น EV เต็มๆครับ ดึงดีชิบหาย แล้วดึงทันทีที่กดคันเร่ง ใช้ประโยชน์จากความเป็น EV ที่คุณไม่ต้องมานั่งรอเครื่องกับเกียร์คุยกัน ทำให้ขับได้คล่องมาก บนถนนรถเยอะๆแล้วบางคันเลือกจะขับโง่ๆคาเลนขวาไม่สนสภาพใดๆ Good Cat สามารถเล่นกายกรรมแมวหยอกกับควาย เร่ง หลบ เบรก มุด ได้อย่างคล่องแคล่ว จนออกจะสนุกเสียด้วยซ้ำ

ที่ชอบมากคือเบรก ..ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการเฟด (ความเร็วสูงสุดแค่ 158 บนหน้าปัด ถ้ายังจะเฟดอีกคงด่าไปแล้ว) แต่เป็นเรื่องของความเสถียรในการตอบสนองของแป้น ไม่มีอาการเบรกเดี๋ยวหน้าทิ่มเดี๋ยวไหลมาให้เห็นเลย แม้แต่นิสัยน้ำหนักแป้นก็คล้ายรถสันดาปภายในที่ส่งผลให้คุณเรียนรู้นิสัยมันครั้งเดียว ก็สามารถกำหนดแรงเบรกได้ตามใจชอบ เบรกได้นุ่มนวลแบบพ่อของแฟนไม่ด่า มีระยะฟรีให้พอประมาณ และมีน้ำหนักเบาเอาใจสุภาพสตรี การแปรผันแบ่งการทำงานระหว่างระบบหน่วงจากมอเตอร์ และเบรกไฮดรอลิก สามารถส่งต่อกันได้อย่างดีเยี่ยม

พวงมาลัยเพาเวอร์ สามารถปรับน้ำหนักได้ 3 ระดับ ในระดับเบาสุด ก็ไม่ได้เบาแบบโหวงจนเหมือนใครมาถอดลูกหมากแร็ค อยู่ในระดับที่กำลังดีแล้วสำหรับรถที่เน้นการใช้งานในเมือง และพอออกเดินทางด้วยความเร็วสูง ก็ดูเหมือนจะมีการปรับเพิ่มความหน่วงมือมากขึ้นจนพอขับได้แบบไม่เกร็งมือมากนัก แต่ถ้าคุณปรับน้ำหนักพวงมาลัยไปหนักสุด ก็จะได้ความรู้สึกหนืดมือเพิ่มเพียงเล็กน้อยเวลาขับทางตรง แต่หน่วงมือมากขึ้นเวลาขับในเมือง สำหรับผม..โหมดน้ำหนักไหนก็ขับได้ แต่ผมชอบหนักสุดมากกว่า ระยะฟรีต่างๆและความไว เซ็ตมาในระดับกลางๆ ขับในเมืองคล่อง ขับทางไกลไม่เกร็ง แต่ไม่ได้มีฟีลสปอร์ต ไม่ได้เน้นการตอบสนองไวเฉียบขาดเป็นพิเศษ ซึ่งผมคงไม่เน้นมาก เพราะนี่คือรถใช้งาน ไม่ใช่ Performance Car

ช่วงล่างล่ะ..อันนี้มีจุดที่เซอร์ไพรส์นิดหน่อย เพราะเซ็ตมาค่อนข้างแข็ง ถ้าเทียบกับรถตลาดอีโคคาร์อย่าง City Hatchback, Toyota Yaris หรือไม่ว่าจะเป็น EV อย่าง LEAF หรือ MG ZS EV เจ้าเหมียว Good Cat จะมีอาการสะเทือนให้รู้สึกได้มาก ด้านหน้าน่ะยังพอได้เพราะมันมีมอเตอร์กดอยู่ แต่ด้านหลังน่ะ เวลากระโดดคอสะพานสุวินทวงศ์บางดอก ก็ตึงตังจนบางทีก็คิดอยากขอวิศวกรว่า โอเค ตูยอมละ ยอมไม่เน้นเรื่องการสาดโค้งก็ได้ถ้ามันจะนุ่มขึ้นสัก 20-30% นะ

จริงแล้ว ถ้าแข็ง แต่ควบคุมการยวบได้กระชับมาก มันก็จะยังมีข้อดีที่ชัดเจน แต่ Good Cat นั้นมาแปลกตรงที่ แข็ง และเวลาโยนโค้งจริงๆกลับมีอาการยวบอยู่บ้าง ไม่ได้สปอร์ตขนาดนั้น แม้ว่าแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักมากจะติดตั้งในตำแหน่งที่มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ แต่ตัวรถเองก็มีความสูงมากกว่าใครในตลาด ความได้เปรียบจึงลดทอนลงมา

แต่ถ้าปกติคุณขับรถอย่าง MINI Cooper S อยู่แล้ว คุณก็จะรู้สึกว่า Good Cat ไม่สะเทือน (เพราะ MINI แข็งกว่าเยอะ) หรือถ้าหากรถคันที่แล้วของคุณเป็น Honda Jazz โฉม 2008-2013 ล้อ 16 นิ้ว มันก็ไม่ได้นุ่มกว่า Good Cat มากเท่าไหร่ และ Good Cat จะมีลักษณะแบบรถหนัก โช้คแข็ง สะเทือนปึ้กปั้ก แต่ไม่ดีดเด้งอย่างไร้การควบคุม ตัวไม่ลอยจากเบาะ ดังนั้น เนื่องจากผมไม่ทราบว่าพวกคุณแต่ละคน มีภูมิต้านทานช่วงล่างขนาดไหน ก็เลยต้องเขียนอธิบายยาวยืดแบบนี้ล่ะครับ แต่ถ้าเอาสั้นๆก็คือ มันแข็งในระดับที่วัยรุ่นน่าจะโอเค แต่คนแก่ที่นั่งแต่รถเก๋งยุค 90s มาก่อน คงมีบ่นกันบ้างแหละ

การเก็บเสียง ผมว่าด้านหน้ารถ ถ้าวิ่งไม่เกิน 110 ก็เงียบอยู่ เสียงจากขอบประตู กับเสียงจากพื้นล่าง ถูกเก็บเอาไว้ได้ดีพอประมาณ แต่เสียงรบกวนจากทางด้านหลังของรถนั้นดังเข้ามามาก จนเมื่อวิ่งสัก 120 ขึ้นไป คนนั่งหน้าก็สามารถรู้สึกได้ถึงความดัง พาลจะคิดว่ารถเก็บเสียงไม่ดี แต่ที่จริงมันคือเสียงก้องที่มาจากด้านหลังนั่นแหละครับ..อย่าลืมนะว่าเวลานั่งขับ หูของเราอยู่ในตำแหน่งกลางรถพอดี

สำหรับเรื่องการใช้ไฟฟ้า ก็ตามที่เห็นในจอพลังงานนี่แหละครับ ผมวิ่งไปกลับ กทม.-ฉะเชิงเทรา ระยะทางรวม 150 กม. ขาไปขับเร็วเพื่อทดสอบตัวรถ ขากลับจับอัตราเร่ง และขับแบบปกติหลังจากได้ข้อมูลครบ เมื่อมาถึงที่หมาย ระยะทางที่ยังวิ่งต่อได้ เหลือ 278 กม. จากแบต 92% เหลือ 56% แล้วทำระยะได้ขนาดนี้ ผมว่ามันมีโอกาสที่คุณขับดีๆ ไม่บ้าพลังแบบผม ก็อาจจะทำระยะวิ่งได้เฉียด 500 กม. ขนาดผมขับแบบบ้าพลังยังได้เกือบ 430 กม. เลยครับ ระยะทางระดับนี้ ไปกลับพัทยาในชาร์จเดียวได้สบาย หรือไปกลับแปดริ้ว ได้สองรอบแบบยังมีแบตเหลือเฟือ

*****สรุปการทดลองขับ*****

Likes: เลือกใช้วัสดุตกแต่งได้ดี รายการอุปกรณ์ยาวเป็นหางว่าว Safety Feature เยอะจนต้องขยี้ตาว่านี่ Volvo ป่ะวะแก และขับจริงวิ่งได้เกิน 400 กม.

Dislikes: ช่วงล่างไม่นุ่มเท่าไหร่ การใช้งานฟังก์ชั่นบางจุดซับซ้อนหรือค้นหายากจนเกินควร ระบบ Voice Command ยังต้องพัฒนา

ในภาพรวม ผมมีความรู้สึก Positive กับเจ้าเหมียวหัวหงอก (หลังคาขาว) คันที่ได้ขับและรู้สึกว่า ถ้าหากทำราคามาได้ดีก็อาจจะเป็นรถที่สร้างกระแส EV Boom ได้อย่างจริงจัง คำว่าดีในความคิดของผมคือ ราคาประมาณ 1.1-1.15 ล้านบาท เป็นราคาที่ผมมองว่าสมเหตุผลกับความเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหน้าตาน่ารักที่มีหลังคากระจก มีอุปกรณ์ทั้งในเชิงของเล่นอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ความปลอดภัยคับคั่ง แต่ถ้าสมมติว่า GWM Thailand เกิดบ้า ตั้งราคามาถูกกว่า 1.1 ล้านบาท ความน่าซื้อก็จะมีเพิ่มขึ้นอีก หรือถ้าตัวท้อปต่ำกว่าล้านบาท รับรองว่า Back order ข้ามปีแน่นอน

มันเป็นรถ EV ในแบบที่วัยรุ่น วัยทำงานอยากให้เป็น กล่าวคือ ไหนๆจะเล่น EV แล้ว ก็อยากให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากรถทั่วไปบนท้องถนน Good Cat มีดีไซน์ภายนอกที่ตอบโจทย์นั้น และมีภายในที่สร้างมาได้โคตรอลังจนไม่น่าเชื่อว่าใช้วัสดุที่ไม่ได้เด่นอะไร แต่แค่เย็บตรงนั้น ตะเข็บตรงนี้ เอาโครเมียม พลาสติกถูกสี ไปใช้ให้ถูกจุด มันก็จะออกมาดูมีเสน่ห์น่าเข้าไปนั่ง

ในขณะที่บริษัทรถหลายเจ้า พยายามชูเทคโนโลยีมากมายในการขับเคลื่อน แต่ลืมเรื่องดีไซน์ที่โดนใจคนหมู่มาก ORA Good Cat กลับทำสิ่งที่เบสิคที่สุด คือ “สร้างรถแบบที่คนเห็นแล้วอยากซื้อ”

สมรรถนะการขับขี่ อาจจะไม่เรียกว่าเป็นจุดเด่น เพราะถ้าเทียบกับ EV ราคา 1.1-1.5 ล้านบาท ORA ก็ไม่ได้เด่นเรื่องอัตราเร่ง ช่วงล่างก็ไม่ได้เรียกว่านุ่มสบาย บุคลิกการตอบสนองภาพรวมก็ไม่ได้สปอร์ตจ๋า แต่อย่างน้อยในการใช้งานจริง มันวิ่งไล่ตามท้ายรถ Civic FE ได้ระดับนึง นั่นก็คือพอแล้วสำหรับการขับออกต่างทางไกล ขึ้นทางชัน เร่งแซงรถบรรทุก ในขณะที่เวลาขับในเมือง การตอบสนองแบบทันอกทันใจของ EV ก็มีให้สัมผัส ควบคุมคันเร่ง เบรก และพวงมาลัยได้ง่ายแบบที่คนชินกับรถเครื่องเบนซิน ไม่ต้องปรับตัวมาก

สิ่งที่เด่นอีกอย่างคือในรุ่นเบนด้า 500 เอ้ย! 500 ULTRA ชาร์จไฟเต็มครั้งนึง วิ่งได้ไกลจนสะใจ ขนาดขับตีนหนักยังมีโอกาสแตะ 430 กม. คนตีนเบายิ่งไปได้ไกลกว่า มันเพิ่มความยืดหยุ่น และทลายข้อจำกัดที่ว่า “รถไฟฟ้าใช้ดีแค่ในเมือง” คนที่เคยกลัว EV เรื่อง Range ก็ลดความกลัวลงและเพิ่มความยืดหยุ่นในการวางแผนหาจุดชาร์จได้มากขึ้น

พื้นที่ภายใน ด้านหน้า สบายมากครับ เหลือเฟือ ยืดแข้งเหยียดขาสบาย ถ้าคุณนั่งแล้วรู้สึกว่ามันแคบ แปลว่าคุณอ้วนกว่าผม ซึ่งน่าจะมีเหลือน้อยคนแล้วในประเทศนี้ ส่วนด้านหลัง เหมาะเอาไว้รับสาวไซส์น้องมัยร่า คนตัวเล็กหน่อยหรือสูงไม่เกิน 160 ได้ยิ่งดี เพราะพื้นรถตรงจุดวางเท้านั้นตื้น ทำให้เวลาคนตัวสูงนั่งจะต้องชันเข่า ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะมีแค่พอประมาณ

สิ่งที่รู้สึกว่า ควรปรับปรุงจริงๆ ก็คือ เรื่องการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆในรถที่ ORA ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานระหว่างขับมากกว่านี้ เอาฟังก์ชั่นต่างๆไปอยู่ในจอ บางอย่างก็ต้องกดเมนูเข้าไป 2 ขั้น ต้องไถจออีกกว่าจะเจอ หรือแค่จะปรับพัดลม ปรับอุณหภูมิแอร์ ก็กดได้บ้างไม่ได้บ้าง ปุ่มต่างๆบนจอก็มีขนาดเล็ก Font ข้อความต่างๆก็เล็กเกินไป อย่าว่าแต่แก่ๆหลักสี่อย่างผมเลยครับ รุ่นน้องที่เป็นสื่อมวลชน อายุยังไม่ข้าม 30 ก็บ่นให้ได้ยินกันว่า มันใช้ยาก

ถ้าคุณบอกว่าใช้ง่าย มองก็ง่าย เห็นง่าย ผมคงต้องตั้งคำถามแล้วว่า คุณมีเวลามองจอขนาดนั้นเลยเหรอระหว่างขับรถ? อันตรายนะเธอ..

ดังนั้นหวังว่าจะมีความพยายามจาก ORA ในการปรับปรุงให้มันใช้ง่ายขึ้น ถ้าคุณเพิ่มสวิตช์ปุ่มแข็งบนคอนโซลไม่ได้ อย่างน้อย ก็ปรับหน้าตาของปุ่มทัชสกรีนให้มันโต กดใช้งานง่าย ผมเชื่อว่าไม่เกินความสามารถของทีม ORA แค่คุณต้องเข้าใจว่าสวิตช์ต่างๆมันต้องใช้งานบนรถที่ขับเคลื่อน ไอ้ฟังก์ชั่นที่เป็นลูกเล่น..ใช้ยากไม่ว่า แต่ฟังก์ชั่นที่ใช้บ่อยขณะขับ กับฟังก์ชั่นที่เกี่ยวกับการขับขี่ ต้องเข้าถึง และใช้งานได้โดยไม่เสียสมาธิในการขับ

ทำได้ดังนี้ แล้ว Good Cat ก็จะเป็นแมวเก๋ ที่เท่ น่ารัก มีความปลอดภัย ใช้งานง่าย เข้ากันได้กับคนหมู่มาก จนแม้แต่คนแก่ๆยังอาจจะอยากขโมยรถคุณลูกไปขับ

นั่นล่ะครับ ความเห็นของผมที่มีต่อ ORA Good Cat

รุ่นย่อยไหนดี??

ทีนี้ ระหว่างที่รอ/หาว/และพยายามเดา ราคาของ Good Cat บางท่านอาจจะสงสัยว่า ด้วยอุปกรณ์ที่แตกต่าง และขนาดแบตเตอรี่ที่ต่างระหว่างสามรุ่น รุ่นย่อยไหนจะเหมาะกับรสนิยมของคุณมากที่สุด ผมเลยเหลามาให้ฟังเผื่อจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่จะพูดถึงเฉพาะอุปกรณ์หลักๆนะครับ ถ้าลงทุกดีเทลรับรองอีกสองหน้าไม่จบ

ทุกรุ่นย่อย ได้ของเหล่านี้เหมือนกันหมด

  • ไฟหน้า LED มีระบบปรับไฟสูงไฟต่ำอัตโนมัติ
  • ไฟตัดหมอกหลัง
  • เบรกมือไฟฟ้าพร้อมระบบจับหยุดอัตโนมัติ Auto Hold
  • ดิสค์เบรก 4 ล้อ
  • หน้าปัดจอสี 7 นิ้ว จอกลางใหญ่ 10.25 นิ้ว
  • แอร์ออโต้ 1 Zone ไม่มีฮีทเตอร์ (ลองแล้ว ปรับร้อนสุดลมที่พ่นก็ยังแค่เท่าอุณหภูมิภายนอก)
  • กรอง PM 2.5
  • ระบบนำทาง
  • ระบบสั่งการด้วยเสียง
  • เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนได้และมี Application ตรวจสอบสถานะรถจากมือถือ เช็คล็อคประตู เช็คปริมาณไฟในแบตเตอรี่ สั่งเปิด/ปิดเครื่องปรับอากาศล่วงหน้าได้
  • ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ
  • ระบบช่วยคุมการทรงตัว และเบรก ABS
  • ระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง

รุ่น 400 TECH

  • ล้อฝาครอบ ขอบ 17 นิ้ว
  • กระจกข้างพับด้วยมือ
  • กระจกไฟฟ้า One-touch ด้านคนขับ
  • ถุงลมนิรภัย 2 ใบ
  • ไม่มีกล้องถอย แต่มีเซนเซอร์กะระยะหลัง
  • Cruise Control แบบธรรมดา
  • เบาะหลังไม่มีที่เท้าแขน (รุ่นอื่นมี)

รุ่น 400 PRO เพิ่มดังนี้

  • ล้ออัลลอย ขอบ 18 นิ้ว
  • ไฟหน้าเปิด/ปิดอัตโนมัติ
  • กระจกมองข้างพับไฟฟ้า
  • กระจกไฟฟ้า One-touch ทั้งสี่บาน
  • หลังคา Panoramic
  • แดชบอร์ดหุ้มหนังกลับ
  • เปลี่ยนเบาะผ้าเป็นหนังสังเคราะห์
  • เบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศ
  • เพิ่มช่องเสียบ USB ด้านหลัง 1 จุด
  • Adaptive Cruise Control
  • กล้อง 360 องศา
  • ระบบเตือนก่อนชนด้านหน้า
  • ระบบเตือนรถเบี่ยงออกนอกเลน และช่วยกำกับให้รถอยู่ในเลน
  • ถุงลมด้านข้างและม่านถุงลม

รุ่น 500 ULTRA บวกสิ่งเหล่านี้เพิ่มไปอีก

  • ระบบบันทึกตำแหน่งเบาะคนขับ และกระจกมองข้าง 3 ตำแหน่ง
  • ระบบนวดที่เบาะคนขับ
  • เพิ่มจำนวนลำโพงจาก 4 เป็น 6
  • ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ ถอยจอดขนานทางเท้า, เข้าซอง, ถอยเอียง
  • ระบบช่วยเตือนมีรถในจุดบอดกระจกมองข้าง
  • ระบบช่วยเตือนเวลาถอยหลังแล้วมีรถวิ่งตัด พร้อมระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน
  • เซนเซอร์กะระยะด้านหน้า 6 จุด
  • มีรถสีเขียวหลังคาขาว ภายในเขียว และรถสีเบจชมพูดหลังคาน้ำตาล ภายในเบจให้เลือก (ไม่มีในรุ่นอื่น)

โดยสรุป ผมมองว่า รุ่น 400 PRO นั้น มีภายนอกที่สวยแล้ว มีหลังคากระจก เบาะหนัง ปรับไฟฟ้า มี Adaptive Cruise Control และกล้องรอบคันแล้ว ในมิติของความเก๋ไก๋ มันก็ดีพอแล้ว และการที่ใช้แบตเตอรี่จุไฟน้อยกว่ารุ่น 500 ULTRA ก็น่าจะทำให้ตัวรถมีราคาถูกกว่าตัวท้อปเยอะเลยล่ะ และระยะวิ่งใช้งานจริง ก็น่าจะยังได้ 300-340 กิโลเมตรอยู่ พอสำหรับการวิ่งในกทม. ปริมณฑลสบาย ถ้าสมมติว่าตัวท้อปมันแพงกว่ารุ่น Pro เกิน 170,000 บาทไป ผมก็จะมองว่า Pro นี่ล่ะ คุ้มสุด แต่ถ้าต่างกันไม่เกิน 150,000 บาท ก็ไปรุ่นท้อปเถอะ ครบ จบความต้องการ

ส่วนรุ่น 400 TECH ผมว่า เหมาะไว้สำหรับคนที่ซื้อ Good Cat ด้วยความเป็น EV จริงจัง และต้องการประหยัดเงินใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น อุปกรณ์ไม่น่าเกลียด แต่สีรถมีแค่ขาวกับดำ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบ

เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็ต้องรอดูว่า 29 ตุลาคม ราคาจะออกมาเป็นอย่างไร

และที่ต้องรออีกสักพักเพื่อพิสูจน์ ก็คือ ความเสถียรของตัวรถ ความจุกจิกในการใช้งาน ความสามารถของหน่วยบริการลูกค้าในการผ่อนหนักให้เป็นเบา จบเคสให้ลูกค้าได้ไว ที่ผ่านมากับรถ SUV อย่าง Haval H6 นั้น ก็พบเคสปัญหาในกลุ่มกันอยู่เนืองๆ แต่ก็ยังดีตรงที่ว่า พอมีปัญหา มีลูกค้ามาโพสท์ในกลุ่ม ก็มีแอดมินของ GWM มารับเคส และคอยติดตาม บางเคสก็มีรถให้ใช้ระหว่างซ่อมไป ผมมีสายอยู่ในกลุ่มที่คอยดูให้อยู่ ก็คิดว่า เอาน่ะ Good Cat จะมีปัญหาไหม ไม่รู้ แต่ถ้ามี อย่างน้อย GWM Team ก็ดูจะพยายามติดตามเคสมากกว่ารถเจ้าตลาดเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่ามันจะจบได้ หรือไม่ได้ก็ตาม

ถ้า ORA สามารถจะให้ความมั่นใจต่อลูกค้าในลักษณะ Open, Reliable, Alternative อย่างที่ชื่อแบรนด์ว่าไว้ได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ก็จะดี

Open..เปิดกว้าง และโปร่งใส รถมีปัญหาก็เคลียร์กับลูกค้าตรงไปตรงมา เคสที่ลูกค้าโพสท์บนออนไลน์ ก็ไม่ต้องไปบอกให้เขาลบ แต่แค่บอกให้ช่วย Edit Post เดิมเพิ่มตรงหัวหน่อยว่า แก้ไขแล้ว ณ วันที่เท่าไหร่ นี่คือความ Open ในโลกของการแก้ไขปัญหาที่ซื่อสัตย์ ใคร Google หาข้อมูล ก็จะเจอแต่เคสที่ได้รับการแก้ไข

Reliable ..สร้างรถที่ไม่พัง ไม่ต้องใช้บริการรถลากบ่อยๆ เมื่อพบปัญหาจาก User ก็ทำเป็นแผน Proactive เพื่อที่จะสำรวจรถคันอื่นที่จำหน่ายว่ามีโอกาสพบปัญหาเดียวกันไหม แล้วใช้หลัก Openess สื่อสารกับลูกค้าโดยตรง ลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ เขาเข้าใจและคุยง่ายถ้าคุณบอกเขาตรงๆ แต่เขาจะเกลียดการปิดบัง การมีความลับ แล้วความลับแตกภายหลัง

Alternative.. ก็คือทางเลือกใหม่ที่แตกต่าง ..ซึ่งถ้าคุณสามารถที่จะสร้างรถเจ๋งๆ แล้วบริหารงานอย่าง Open และ Reliable …ORA ก็จะไม่ใช่แค่ Alternative และเป็น A MUST เป็นทางเลือกที่ทุกคนเลือกโดยไม่ต้องคิดมากอีกต่อไป

เรามาให้เวลาพิสูจน์กัน 5 ปีนับจากนี้ เหมือนจะไม่ยาว แต่ในโลกแห่งวงล้อยานยนต์..มันจะเป็นถนนที่มีอะไรคอยแบรนด์น้องใหม่อย่าง ORA อยู่อีกเยอะ

สิ่งที่กลุ้มที่สุดก็คือ เมื่อถึงเวลานั้น ผมก็อาจจะมีเงินเก็บไม่พออุดหนุนเค้าอยู่ดี

—-/////—-


 

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

บริษัท Great Wall Motors ประเทศไทย จำกัด สำหรับการเชิญทดลองขับ

Pan Paitoonpong

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นของ Great Wall Motor ประเทศไทย และผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com  20 ตุลาคม 2021 12.00 น.

Copyright (c) 2021 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 20 October 2021 at precisely noon.


แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ >> community.headlightmag.com/81082.0