บางครั้ง ผมก็มักใช้เวลาคิดย้อนไปในอดีตว่าที่ผ่านมา ความคิดของตัวเองนั้นถูกต้องเพียงใด ในหลายโอกาสผมค้นพบว่าสิ่งที่เชื่อมาตลอด แท้จริงแล้วอาจหาเป็นเช่นนั้นไม่
ในสมัยวัยรุ่น ผมมีความคิดว่า คนที่อยากได้ SUV และซื้อ SUV ก็เพราะมันส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ดูรวยขึ้น..ซึ่งอาจจะจริงในยุคที่ท้องถนนยังไม่รู้จัก Toyota Fortuner หรือ Isuzu MU-7 สมัยก่อนบางท่านคงยังจำได้ว่า Mitsubishi Pajero (รุ่นดั้งเดิม ไม่ใช่รุ่น Sport ที่วิ่งกันเกลื่อนตอนนี้), Toyota Land Cruiser VX80, Isuzu Trooper และ Jeep Grand Cherokee มีวิ่งอยู่ทั่วเมือง รถตรวจการณ์อเนกประสงค์เหล่านี้กลายเป็นยานพาหนะที่หลายคนเลือกใช้แทนรถซาลูนยุโรปในบ้าน เพราะมันดูใหญ่ ดูน่าเกรงขาม แถมยังดูรวยอีกด้วย
แต่เวลาผ่านไป สิ่งที่เราเลือกเพื่อความหรู กลายเป็นสิ่งที่ต้องเลือก เพราะความจำเป็น..
ถ้าเป็นสมัยนี้ มุมมองของผมก็คือ..มันไม่ใช่ว่าจู่ๆคนเราจะลุกขึ้นมาบ้ารถ SUV/Crossover หรอกครับ…ใครมันจะอยากเสียเงินเยอะกว่าโดยไม่มีเหตุผล?
แต่บางครั้งสภาพแวดล้อมที่เราต้องถูกบังคับให้เจอ เป็นตัวกำหนดทางเลือกรถของเรา เหมือนพี่สาวผม ที่เป็นอาจารย์แพทย์ ต้องนั่งเฝ้าระวังภัย COVID-19 ตลอดช่วงวิกฤติที่ผ่านมา สัปดาห์นึงได้กลับบ้านวันเดียวเพื่อเอาเสื้อผ้ามาซักและพักผ่อน แล้วไอ้วันเดียวนั้น มันก็ดันกลับบ้านไม่ได้เพราะฝนตกหนักจนเขาไม่กล้าขับรถเก๋งใต้ท้องเตี้ยฝ่าน้ำนั้นกลับบ้าน..คุณลองคิดดู ขนาดว่าปกติผมไม่ใยดีอะไรกับพี่สาวผม แต่ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ผมสงสารเขามาก ไอ้คุณหมอเขาบอกว่าวิธีแก้เครียดมีได้วิธีเดียวคือไปเข้าห้องน้ำแล้วเอามือถือกดสั่งของจาก Lazada ..
ซึ่งน่าจะแปลว่า มันเครียดมาก เพราะแม่กับผมแท็กทีมวิ่งรับของจากไปรษณีย์กันเกือบทุกวัน
ความเป็นจริงที่เราเจออยู่ในทุกวันนี้มันเจ็บปวดเหลือเกินที่ ถนนประเทศไทยหลายแห่งโดยเฉพาะในเมืองหลวงและเขตปริมณฑล ที่ควรเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญด้านการคมนาคม แต่มีสภาพถนนแบบที่ทีมทดสอบของ Land Rover มาเจอก็จะพูดว่า “OK, mate. Let’s bring our test team over here. มาที่นี่กันเถอะ คุณจะได้ทุกอย่าง น้ำท่วมในที่ที่ไม่ควรท่วม มีหลุมในที่ที่ไม่ควรมี มีอุปสรรคอย่างที่ไม่ควรเจอ มีถนนที่เหมือนถูกสร้างโดยคนไม่รู้เรื่องถนน และป้ายกับระบบจราจรที่วางแผนและตำแหน่งโดยคนที่อาจจะไม่เคยขับรถเลยในชีวิต”
สภาพแบบนี้..เราต้องทำใจและอยู่กับมันไปจนกว่าผมจะผอมไม่ก็ตายไปเสียก่อน
ดังนั้น อย่าแปลกใจเลยครับที่รถเก๋งใต้ท้องเตี้ย ยางแก้มบางเฉียบ จะกลายเป็นของเล่นสำหรับคนที่บ้านมีรถได้หลายคัน สำหรับครอบครัวที่มีรถได้เพียงคันเดียว สมัยนี้หันไปหารถที่ใต้ท้องสูงกันหมด นับตั้งแต่กระแสฮิต SUV ในบ้านเราช่วงยุค 90s ทำให้เกิดรถอีกสองแนวตามมา แนวแรกก็คือรถ SUV ที่ดัดแปลงหรือใช้พื้นฐานร่วมกับรถกระบะ (Sport Rider หรือ G-Wagon) ส่วนแนวที่สองก็คือ SUV ที่มีพื้นฐานจากรถเก๋ง และมีขนาดเล็กขับง่ายใช้สะดวก (เช่น Honda CR-V) รถเหล่านี้เข้ามาตอบโจทย์ชีวิตแม่ค้าคนสวย ที่อยากได้รถใต้ท้องสูง แต่รู้สึกตะขิดตะขวงเวลาจะยืม Hilux SR5 หรือ Land Rover Defender ของผัวไปเที่ยวกับเพื่อน
เวลาผ่านไปเกือบสองทศวรรษ ไอ้รถ SUV พื้นฐานเก๋งคันเล็กๆเหล่านี้ ขยายใหญ่ราวพุงและเอวของคุณสามี หลังจากแต่งงานไปได้ 5 ปี คุณเอา CR-V Gen 1 มาจอดข้าง Gen 5 จะเห็นภาพได้ชัดเจน และราคาจากที่เคยต่ำกว่าล้าน บัดนี้เริ่มต้นที่ล้านกว่าเข้าไปแล้ว มันจึงมีช่องว่างให้เป็นที่เกิดในไทย สำหรับรถที่ขนาดเล็กกว่า และราคาเป็นมิตรกว่า
MG ZS ก็เป็นหนึ่งในรถที่กระโดดเข้าเล่นเทรนด์รถ SUV/Crossover ขนาดเล็ก ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มที่ราคาป้วนเปี้ยนแถวล้านบาท และพวกที่ราคารุ่นท้อปยังอยู่หลักแสน พวกหลังนี่ล่ะครับ คือสิ่งที่คนไทยอยากได้มานาน และเมื่อ ZS เปิดตัวรุ่นแรกในไทย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2017 ทางผู้บริหารของ MG ได้ให้คำสรุปสั้นๆว่า “เราพยายามเอาความเป็นรถ SUV มาสู่ลูกค้า ในราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ง่าย โดยยังมีอุปกรณ์มาตรฐานติดรถในระดับที่ลูกค้าเห็นแล้วพึงพอใจ” พร้อมกับตั้งราคาตัวท้อปจบที่ 789,000 บาท
นั่นคือจุดที่โกโก้ครันช์ระเบิดหลังบ้าน MG
แม้ว่าจะโดนล้อเลียนกันมากเรื่อง 0-100 17-18 วิ แต่ในความเป็นจริง คนที่ไม่ได้เล่นรถส่วนมาก ก็ไม่สนเรื่องนี้มากเท่า Defect ต่างๆที่โผล่มาให้เห็นแม้กระทั่งในงานทดสอบของสื่อมวลชน แต่ในเมื่อสายตาของลูกค้า “คนที่ซื้อจริง” คิดไม่เหมือนกับคนบ้ารถทั่วไป ผลลัพธ์จึงเกินความคาดหมาย สำหรับพวกบ้าความเร็ว (อย่างผม) ผมไม่มีวันซื้อ ZS ใช้เองแน่นอน แต่สำหรับหลายคนที่ต้องการรถไว้ใช้งาน ZS เหมือนคำตอบที่ลงตัว..เหมือนได้รถระดับ HR-V ในราคา Honda City โดยแลกกับการตัดออกไปในสิ่งที่พวกเขามองว่า “ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น” หรือ “แลกกับราคาที่ถูกก็ยอมบริหารความเสี่ยงกันได้”
ZS ได้รับความสนใจมาก จนเพียง 1 เดือนหลังเปิดตัว ยอดขายรถทั้งหมดของ MG นั้น มี ZS เป็นส่วนประกอบถึง 50% นี่ล่ะครับคือผลของการนำเสนอ Right Product+Right Price+Right Time!
เพื่อสานต่อความฮิตในยอดขาย และทำผักในตู้ให้สดใหม่เสมอ ทาง MG ก็เข็นของสู้อย่างโหดเหมือนโกรธ COVID ในวันที่ 24 มีนาคม 2020 พวกเขาจัดแถลงข่าวเปิดตัว MG ZS Minorchange โดยไม่มีการจัดงานเปิดตัวเชิญสื่อมวลชน เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดโรค เปลี่ยนเป็นวิธีการ LIVE บน Facebook แทน ผม..ซึ่งติดตามข่าวมาสักพัก ก็มองว่า ราคาไม่น่าจะแจ่ม เพราะรถเวอร์ชั่นจีนที่เปิดตัวไปก่อนหน้า เปลี่ยนแปลงไปมาก อุปกรณ์เพิ่มขึ้นมากจนทำให้ผมคาดเดาไปว่า เวอร์ชั่นไทยน่ะ คงออกมาได้สองทาง คือ 1. อุปกรณ์เท่าเดิม ราคาเพิ่มไม่มาก หรือ 2. เพิ่มอุปกรณ์มาก แต่ราคาทะลุ 8 แสนแน่ๆ ผมเดาไว้ว่า 839,000 บาท
แต่ราคาอย่างเป็นทางการ กลับออกมาแบบนี้….
- 1.5 C+ CVT 689,000 บาท
- 1.5 D+ CVT 739,000 บาท
- 1.5 X+ Sunroof CVT 799,000 บาท
เห้ย..เดี๋ยว..เดี๋ยวสิ..เพิ่มขึ้น 10,000 บาทเองเรอะ!
และหลังจากวันเปิดตัวได้ไม่นาน MG ก็จัดแจงให้นักข่าวสายยานยนต์ได้พบกับตัวจริงของ ZS Minorchange (สตาร์ทเครื่องเล่น ดูรถได้ แต่ยังไม่ให้ขับ) พวกเขาพยายามบริหารจัดการความเสี่ยงเลี่ยง COVID ด้วยการจัดงานออกเป็นละรอบ แต่ละรอบเชิญสื่อฯแค่ไม่กี่คน ผมก็ได้ไปร่วมในวันนั้นด้วย เมื่อได้เห็นตัวจริง ผมนี่ขนลุกเลยครับ…ไม่ใช่ว่า MG เสก ZS ให้กลายร่างเป็น BMW หรอก ไอ้นั่นก็โอเวอร์ไป..แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามา กับราคาที่เพิ่มขึ้นแค่นิดเดียว ทำให้ผมขนลุกกับความจริงที่ว่า ถ้าวันนี้ MG สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆมากขนาดนี้แล้วเพิ่มเงินแค่หมื่นบาท..คุณคิดว่าพวกเขาจะทำอะไรต่อไปได้อีกในอนาคต
แต่อนาคต..เราไว้ว่ากันเมื่อถึงเวลา วันนี้ ผมเห็นทีต้องรีบพาคุณผู้อ่านไปลองสัมผัสเจ้า MG ZS Minorchange สักหน่อย เพราะคาดว่าหลายท่านคงอยากทราบว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
MG ZS Minorchange มีความยาวตัวถัง 4,323 มิลลิเมตร กว้าง 1,809 มิลลิเมตร สูง 1,653 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,585 มิลลิเมตร ระยะแทร็คล้อคู่หน้า 1,526 มิลลิเมตร หลัง 1,539 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดของรถถึงพื้น (ground clearance) 170 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถโดยประมาณ 1,290 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน 48 ลิตร
โครงสร้างหลักของมันก็เหมือนรุ่นเก่านั่นล่ะครับ แต่การเปลี่ยนกันชน และยางที่เปลี่ยนจากขนาด 215/50R17 เป็น 215/55R17 ทำให้มิติตัวถังเปลี่ยนไปนิดหน่อย โดยยาวขึ้น 9 มิลลิเมตร สูงขึ้น 29 มิลลิเมตร และเพิ่มความสูงใต้ท้องรถ 5 มิลลิเมตร ..ทำไมความสูงใต้ท้องเพิ่มขึ้นน้อยกว่าความสูงรถ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ส่วนมิติด้านอื่นๆเท่าเดิม น้ำหนักตัวรถเพิ่มมา 32 กิโลกรัม
เมื่อเทียบกับรถ SUV/Crossover คลาสเดียวกันละใกล้เคียง กะประมาณได้ว่า ZS มีขนาดตัวไล่เลี่ยกับ Honda HR-V แต่ใต้ท้องเตี้ยกว่าอยู่ 15 มิลลิเมตร และโตกว่า Mazda CX-3 มาก แต่เมื่อเทียบกับบรรดาขุนพล 7 ที่นั่งอย่าง Honda BR-V และ Mitsubishi Xpander แล้ว MG ZS จะสั้นกว่า เตี้ยกว่า ใต้ท้องรถเตี้ยกว่ากันราว 30-35 มิลลิเมตร แต่ตัวถังกว้างกว่า
ความเปลี่ยนแปลงภายนอกของ MG ZS Minorchange เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม
- เปลี่ยน ล้อขนาด 17 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ในรุ่นท้อป (1.5 X+)
- เปลี่ยน ยางจากขนาด 215/50 R17 เป็นขนาด 215/55 R17 ในรุ่นท้อป (1.5 X+)
- เปลี่ยน กระจังหน้า ดีไซน์ใหม่ ไม่มีโครเมียมเชื่อมไฟหน้ากับกระจัง
- เปลี่ยน ไฟหน้า Projector Lens แบบ LED ดีไซน์ใหม่
- เปลี่ยน ไฟท้าย LED ดีไซน์ใหม่
- เปลี่ยน กันชนหน้า/หลังใหม่
ความเห็นของผมที่มีต่อรูปทรงภายนอกโดยรวมคือ มันดูทันสมัยขึ้น ด้านหน้าคือจุดที่ผมชอบ เพราะดีไซน์ของเดิมจะดูคล้ายกับ Mazda มากไปนิด ส่วนรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้ ไม่เหมือน Mazda แล้ว แต่กระจังหน้าชวนให้นึกถึง Jaguar บางรุ่น และไฟหน้าก็มีความคล้าย Mercedes-Benz โดยเฉพาะในส่วนของ Daytime Running Light แต่ก็คล้ายเฉยๆนะครับ ไม่ได้เหมือนกันราวกับกด CTRL+C มา CTRL+V
ส่วนด้านท้ายนั้น ถ้าให้พูดตามตรง แม้ดวงไฟท้ายจะดูอลังการขึ้น แต่ผมกลับชอบไฟท้ายของรุ่นเก่า ที่มีอารมณ์ยุโรปคมๆแบบงานดีไซน์ของ Peter Schreyer อดีตทีมออกแบบ VW Group ปนอยู่ สำหรับรุ่นใหม่นี้ผมกลับรู้สึกมันดูรกตาไปหน่อย เมื่อรวมกับล้ออัลลอยลายใหม่ และสัดส่วนตัวรถที่สูงโย่งขึ้น ทำให้ยากจะหาข้อสรุปโดยรวม..รุ่นเก่าก็สวยและดูสปอร์ต เพียงแต่ด้านหน้ามันกลับไปทางหรู..ส่วนรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี่ ด้านหน้าดูสปอร์ต แต่ส่วนอื่นของรถกลับจะดูไปทาง SUV บ้านๆที่เน้นหรูเท่าที่งบจะอำนวย
ยังไม่ทันจะเข้านั่งในรถ เจอความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อมาทันที ซึ่งก็คือกุญแจ จากเดิมที่เป็นกุญแจรีโมตทรงสี่เหลี่ยม มีปุ่มล็อค/ปลดล็อค/เปิดฝาท้าย มาคราวนี้ MG จัดให้เป็นกุญแจใหม่ ถ้าจำไม่ผิดคือทรงเดียวกับกุญแจของ HS รุ่นพี่ ที่สำคัญคือ เป็นกุญแจแบบ Smart Key แล้ว และมีมาให้ครบในทุกรุ่นย่อย
ทางเข้าออกของห้องโดยสารด้านหน้า มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แม้แต่คนสูง 183 เซนติเมตรอย่างผม เข้าออกจากรถได้โดยไม่มีปัญหา เคลียร์ทางตลอดตั้งแต่หัวถึงเท้า ตำแหน่งความสูงของเบาะนั่ง ก็อยู่ในจุดที่พอดีสำหรับคนส่วนใหญ่สไลด์ตัวเข้าออกได้โดยไม่ต้องใช้แรงขาหรือแรงพยุงมากนัก นี่คือข้อดีสำหรับบางบ้านที่มีผู้เฒ่าผู้แก่สูงอายุ ซึ่งบางครั้ง รถที่ใต้ท้องสูงกลับเป็นอุปสรรคในการขึ้นลงของพวกเขาเหล่านั้น
เบาะหน้าหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ สีสันและทรวดทรวงเหมือนเบาะของรุ่นเดิม แต่เจ้าหน้าที่ Product ของ MG ให้ข้อมูลเสริมว่า ตัวเบาะของรถรุ่นไมเนอร์เชนจ์นั่น มีการเปลี่ยนวัสดุรองรับน้ำหนักที่ส่วนกลางของเบาะ ซึ่งส่งผลให้เวลานั่งแล้วรู้สึกนุ่มก้นขึ้น น่าแปลกที่ผมไม่รู้สึก..อาจจะเพราะน้ำหนักของผมมันมากจนบี้วัสดุเหล่านั้นไปจนมันแข็งแล้วก็ได้ครับ
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผมจะแคร์ เพราะถึงมีตัวเบาะรองนั่งจะมีขนาดปานกลาง แต่ส่วนที่ยื่นออกมารับน่องนั้นก็ยาวใช้ได้ พนักพิงหลังก็มีขนาดค่อนข้างใหญ่ พนักพิงศีรษะจะดันไปด้านหน้าเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีความนุ่ม เวลาขับเอาหัวพิงหมอนแล้วขับไกลๆจึงรู้สึกสบาย ซึ่งหลังจากทดลองขับเป็นเวลานานก็รู้สึกไม่เมื่อยตัวเมื่อยหลัง เป็นเบาะในรถราคาหลักแสนที่สบายอันดับต้นๆรุ่นหนึ่ง ยิ่งรวมกับพนักเท้าแขนที่มีการเพิ่มมาให้ในรถรุ่นใหม่ ยิ่งทำให้ขับทางไกลสบายขึ้น
นอกจากนี้ ที่เซอร์ไพรส์มากคือ MG จัดเบาะคนขับแบบปรับด้วยไฟฟ้ามาให้ด้วย การปรับเบาะสูง/ต่ำ เป็นแบบยกขึ้น/กดลงทั้งตัว ยังไม่สามารถแยกปรับกระดกเฉพาะส่วนรองน่องได้ ส่วนเข็มขัดนิรภัย ก็ยังปรับระดับสูง/ต่ำไม่ได้เหมือนเดิม ซึ่งในความรู้สึกผม ผมยอมไม่เอาเบาะปรับไฟฟ้า แต่ขอเข็มขัดแบบปรับระดับได้ดีกว่าครับ เสียดายที่คนไทยไม่สนหรอกว่าเข็มขัดจะยังไง แค่รู้ว่าได้เบาะไฟฟ้าตาก็ลุกวาวแล้ว..ส่วนพวงมาลัย ก็ปรับได้แค่สูง/ต่ำเหมือนเดิม ยังไม่สามารถปรับระยะเข้า/ออกได้
ทางเข้าออกประตูหลังถือว่าใหญ่พอสำหรับคนทั่วไป หากเป็นคนตัวสูงอาจจะต้องพยายามหาวิธีตวัดขาหลบเสากลางหน่อย แต่เมื่อความสูงของรถอยู่ในระดับที่พอดีต่อการขึ้นลง ก็เลยไม่ต้องเล่นกายกรรมมาก ประตูหลังตอนบนจะไม่ลาดลงมากนัก ทำให้ไม่ต้องก้มหัวหลบ
เบาะหลัง มีความนุ่มนวลคล้ายกับเบาะหน้า ทั้งเบาะรองนั่งและพนักพิงหลัง หมอนรองศีรษะทรง L คว่ำที่ดูเหมือนไม่น่าจะสบาย แต่แท้จริงแล้วกลับโอเค เพราะหมอนรองไม่แข็งเกินไป และตั้งองศารับส่วนหลังของศีรษะได้ค่อนข้างพอดี หากเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มเบนซิน 1.5 ลิตรด้วยกัน Honda BR-V นั้น ได้เปรียบเรื่องพื้นที่และการปรับเบาะเลื่อนหน้าถอยหลัง เอนเบาะได้เยอะ แต่ตัวเบาะนั่งไม่สบายเท่า ส่วน Xpander ได้เปรียบเรื่องพื้นที่จากการเป็นรถ 7 ที่นั่ง สไลด์เบาะแถวสองได้เช่นกัน ทำให้ได้ที่วางขาเยอะ เอนเบาะได้น้อยกว่า BR-V
หากเปรียบเทียบกับรถที่มาจากระดับราคาแพงกว่า แต่มี 5 ที่นั่งเหมือนกัน CX-3 นี่เราคงไม่ต้องพูดถึง ความสบายไม่ใช่จุดที่เขาสนใจอยู่แล้ว CX-30 รุ่นพี่..ตัวเบาะดี แต่ชันไปนิด และมีพื้นที่โดยรวมน้อยกว่า ZS ส่วน Honda HR-V น่าจะมีความสบายโดยรวมใกล้เคียงกันที่สุด
เบาะหลังของ ZS สามารถแบ่งพับได้ 60:40 เพื่อเพิ่มความอเนกประสงค์ในการใช้งาน แต่ยังไม่มีพนักเท้าแขนสำหรับคนนั่งหลังมาให้ รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ก็ไม่มีเช่นกัน
ส่วนซันรูฟแบบ Panoramic ยังมีให้เหมือนเดิมตามที่เห็นในรูป มีขนาดโตมาก กินเนื้อที่ถึง 90% ของหลังคา และยังเปิดได้ 8 ระดับ แง้มหรือยกเอียงก็ได้ ถ้าวันไหนแดดร้อนก็มีแผ่นม่านกึ่งทึบแสงบัง ช่วยลดความร้อนไปได้ระดับหนึ่ง วิธีการใช้งาน ก็ให้มองหาสวิตช์ที่อยู่ใกล้กับกระจกมองหลัง เป็นปุ่มหมุนกลมๆ ตรงกลางมีปุ่ม 2 ปุ่ม ถ้ากดบริเวณนั้น ก็จะเป็นการเปิด/ปิดแผ่นม่าน ส่วนการเปิดซันรูฟให้บิดสวิตช์ บิด 1 คลิกคือเปิด 1 Step ถ้าหมุนยาวเลยก็เป็นการเปิดหมดบาน
สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดขายให้กับตัวรถ ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง รถราคาไม่ถึงแปดแสนแล้วได้หลังคา Panoramic ขนาดใหญ่แบบนี้ อย่างไรก็ตาม ม่านบังแสงที่ให้มา มันเป็นวัสดุแบบโปร่งแสงนะครับ มองเห็นเงาไม้ผ่านม่านได้ และเมื่อต้องจอดกลางแดด ก็รู้สึกว่ามันร้อนพอสมควรเลย ถ้าให้เป็นผ้าทึบกันความร้อนเลยน่าจะดีกว่านี้
ฝากระโปรงท้ายเปิดด้วยกลไกธรรมดา สามารถเปิดท้ายด้วยการกดตรงโลโก้ MG หรือกดเปิดจากรีโมต ถ้าหากคุณอยากได้ฝาท้ายแบบไฟฟ้า ทาง MG ก็มีออพชั่นเสริมให้เลือกติดตั้งได้ แต่ผมจำไม่ได้ว่าราคาเท่าไหร่ น่าจะประมาณ 18,000-20,000 บาทครับ
พื้นที่ท้ายรถของ ZS มีความจุมากถึง 448 ลิตร ถ้าพับเบาะหลัง (ซึ่งแบ่งพับได้แบบ 60:40) ลง ก็จะได้ความจุเพิ่มเป็น 1,375 ลิตร ซึ่งถือว่าโอเคแล้วสำหรับรถเซกเมนต์นี้ แพ้ HR-V ซึ่งเป็นเงาะซ่อนรูป ดูท้ายสั้นๆแต่ลึกและจุถึง 565 ลิตร ข้างใต้แผ่นรองห้องเก็บสัมภาระ จะไม่มียางอะไหล่ แต่ให้ชุดปะยางมาแทน
มาถึงส่วนสำคัญที่เปลี่ยนไปเยอะมาก นั่นก็คือภายใน เพราะนอกจากจะเปลี่ยนดีไซน์แล้ว ยังเพิ่มอุปกรณ์ไปแบบกะเอาคู่แข่งยับ
แดชบอร์ดท่อนบน เปลี่ยนจากสีน้ำตาล เป็นสีดำ ด้วยเหตุผลว่าสีน้ำตาลในรุ่นเดิมนั้นเวลาแดดส่อง เงาของแดชบอร์ดจะสะท้อนกับกระจกรบกวนสายตา ผมนึกว่าทีมออกแบบภายในของบริษัทรถใหญ่ๆน่าจะรู้เรื่องนี้กันตั้งนานแล้วนะ ส่วนท่อนล่างลงมา ก็เปลี่ยนจากสีดำเป็นสีน้ำตาลแทน ผมว่าแบบนี้เข้าท่ากว่า ดูดีขึ้นเยอะ นอกจากนี้แดชบอร์ดตอนล่างลงมา เปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าของเดิม นอกจากจะหุ้มวัสดุนุ่ม มีลายตะเข็บจริง พื้นที่บริเวณรอบจอกลางก็เปลี่ยนใหม่ สวิตช์ควบคุมต่างๆก็เปลี่ยน ยาวลงมาถึงคันเกียร์
เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อให้สมกับเป็น SUV/Crossover คนเมือง ยังมีการเพิ่มจุดเสียบ USB Standard มาให้ รวมทั้งหมดเป็น 5 จุด ด้านหน้าบริเวณคอนโซลตอนล่าง 2 จุด บริเวณกระจกมองหลัง 1 จุด (เอาไว้เสียบพวกกล้องหน้ารถ) และด้านหลังตอนกลางก็มีให้อีก 2 จุด คราวนี้ก็ไม่ต้องเรียกหา Powerbank ของเพื่อนมายืม เกือบทุกคนในรถมีที่ชาร์จโทรศัพท์ของตัวเอง
มุมมองจากที่นั่งคนขับ จากขวาไปซ้าย สวิตช์กระจกไฟฟ้าอยู่ที่แผงประตู เป็นระบบ One-touch กดครั้งเดียวขึ้นหรือลงหมดที่บานคนขับ สวิตช์กดล็อค/ปลดล็อคประตูอยู่บริเวณคันดึงเปิดประตู ส่วนข้างใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีสวิตช์สำหรับปรับองศาจานฉายแสงของไฟหน้า สวิตช์กระจกมองข้างก็จะอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน บิด L หรือ R เพื่อปรับกระจกซ้าย/ขวา หรือบิดไปที่ O แล้วดันสวิตช์ลงล่างเพื่อพับ/กาง กระจกมองข้างได้ ส่วนคันโยกเปิดฝากระโปรงกับสวิตช์เปิดฝาถังน้ำมันอยู่ส่วนล่างสุดของซีกขวา
พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่น 3 ก้านหุ้มหนัง (ปรับได้แค่ขึ้น/ลง) ก้านด้านซ้ายมีปุ่มกดรับสายโทรศัพท์ ปุ่มปรับเสียงและเลือก Source ของระบบเครื่องเสียง ส่วนก้านด้านขวาจะใช้เพื่อคุมระบบจอ MID ของหน้าปัด มีปุ่มสำหรับสั่ง Voice Command ใช้กดแล้วสั่งการรถได้ในกรณีที่ประโยคเด็ด “ฮัลโหล MG” พูดแล้วรถไม่ตอบสนองไวพอ ส่วนปุ่มดอกจันหกแฉกนั่นไม่ได้เกี่ยวกับแอร์ แต่เป็นปุ่มที่กดเพื่อโทรเข้า Call Center ของ MG
รุ่น 1.5 D+ และ X+ มี Cruise control มาให้ด้วย เป็นก้านเล็กๆอยู่ด้านซ้ายของพวงมาลัย วิธีจะใช้ก็แค่ดันก้านเข้าหาตัว เพื่อเปิด และกดปุ่มปลายก้านเพื่อสั่ง SET ความเร็วที่ต้องการจะใช้ จากนั้นก็ขยับก้านขึ้นหรือลงเพื่อเพิ่มหรือลดความเร็ว มีระบบ Active Speed Limit มาให้ใช้ด้วยเช่นกัน
ก้านเบรกมือยาวๆ หายไป เปลี่ยนเป็นเบรกมือแบบไฟฟ้า พร้อมระบบ AVH-Auto Vehicle Hold ซึ่งในยามรถติดคุณกดปุ่มนี้ไว้ แล้วจะสามารถปล่อยเท้าออกจากเบรกได้โดยที่เบรกหลังจะหยุดรถไว้ เมื่อไฟเขียว ก็แค่กดคันเร่ง เบรกจะปลดและออกรถได้ทันที เป็นระบบที่พบได้ในรถระดับ Honda HR-V แต่ไม่มีในคู่แข่งเครื่อง 1.5 ลิตรเบนซินอย่าง Xpander หรือ BR-V (แต่ ZS ใหม่ มีให้ในทุกรุ่นย่อย)
จอกลาง ขนาดโต 10 นิ้ว (รุ่นเดิมจะมีขนาด 8 นิ้ว) มีชุดเครื่องเสียง 6 ลำโพง ที่คุณภาพพอฟังได้ สมเหตุผลกับราคารถ มีระบบอินเทอร์เน็ตในตัว ระบบนำทาง ระบบเล่นเพลง Online ผ่าน TRUE Music ดูข่าว ดูพยากรณ์อากาศได้ รวมเป็นหนึ่งในชุด “SMART Connect” ของ MG รองรับ Apple CarPlay และสามารถเชื่อมต่อมัลติมีเดียกับโทรศัพท์ Android ได้ (เขาไม่ใช้คำว่า Android Auto นะครับในโบรชัวร์)
ระบบปรับอากาศเป็นจอดิจิตอล ..แต่ไม่ใช่แอร์อัตโนมัตินะครับ เวลาเราปรับความเย็น มันไม่ได้มีจอให้ดูอุณหภูมิ แต่เป็นการปรับจังหวะการตัดต่อของคอมเพรสเซอร์แอร์เพื่อสร้างความเย็นมากน้อย..แบบรถทั่วไปที่ไม่มีแอร์ออโต้นั่นแหละครับ จุดที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ ในกรณีที่จอกลางเสีย คุณอาจจะปรับบางฟังก์ชั่นของระบบปรับอากาศไม่ได้ แต่อย่างน้อย เขาก็ทำสวิตช์แบบปุ่มดันขึ้น/ลง แยกไว้ให้ด้านล่างของจอ คุณสามารถเปิด/ปิดแอร์ ปรับความเย็น ปรับไล่ฝ้า กดปุ่ม HOME และปรับความดังของเครื่องเสียงได้ในปุ่มแผงที่อยู่ด้านล่างของจอนี้
ส่วนปุ่มสำหรับกล้อง 360 องศา ปุ่มสำหรับระบบควบคุมการไหลลงเนิน ปุ่มปิดระบบการทรงตัวและปุ่ม SETTINGS ค่าของตัวรถ จะมาหลบอยู่ตรงส่วนหน้าของคันเกียร์ครับ
สิ่งที่ล้ำมากเมื่อเทียบกับรถ SUV/Crossover ระดับราคาเดียวกันอีกอย่างก็คือการมีกล้อง 360 องศา (บางคนอาจจะบอกว่าไม่มีอะไร..Almera ก็ให้มานี่) ซึ่งคุณสามารถกดดูจอได้เลย หรือตั้งให้มันทำงานขณะที่เลี้ยวเข้าที่แคบโดยอัตโนมัติ หรือไม่ก็ตอนเข้าเกียร์ถอยหลัง โดยปกติมันจะโชว์มุมกล้องในแบบ 2D ซึ่งก็คือภาพที่กล้องฉายออกจากตัวรถ บวกกับภาพมุมมองจากด้านบน แต่ถ้าคุณกดปุ่ม 3D มันจะเปลี่ยนเป็นภาพในมุมเหมือนเรายืนมองรถจากข้างนอกครับ และถ้าคุณอยากดูภาพจากกล้องตัวไหน ก็เอานิ้วไปแตะเส้นขาวๆที่ตัวรถบนจอซีกขวา ในโหมด 2D จะเป็นการฉายภาพจากกล้องตัวนั้นให้ดู ในโหมด 3D จะเป็นการ Rotate ภาพเพื่อเผยให้เห็นมุมดังกล่าวของรถ นอกจากนี้ เส้นกะระยะที่ให้มา คุณสามารถตั้งให้เป็นเส้นตรง ตั้งให้บิดตามพวงมาลัย ตั้งให้โชว์ทั้งสองแบบ หรือปิดไปเลยก็ได้
ถ้า MG มีจุดไหนที่เด่น ก็คือพลังในการยัดอุปกรณ์ทางด้าน IT นี่ล่ะครับ ให้มาแบบรถใหญ่กว่าแพงกว่าหลายคันยังไม่มีให้
อย่างไรก็ตาม ในโลกยานยนต์ไม่มีคำว่าการกุศลหรอกครับ แม้จะได้ชื่อว่ามีกล้องอัจฉริยะ แต่ความละเอียดของภาพที่ได้ มันก็หยาบน้องๆคลิปวิดิโอไฟล์ .3gp ของมือถือจาก 12 ปีก่อนนั่นล่ะครับ นอกจากนี้ การตอบสนองยังช้าในบางฟังก์ชั่น เหมือนสั่งการคอมพิวเตอร์ RAM น้อยๆ บางครั้งเอ๋อไปเลยก็มี เช่นตอนผมกดเข้าฟังก์ชั่นปรับน้ำหนักพวงมาลัย บางทีกดไปแล้วมันไม่ตอบสนอง ปุ่มไม่ขึ้นสีขาวให้เห็นว่าเราเลือกน้ำหนักพวงมาลัยแบบไหนไป และค้างอย่างนั้นนานกว่านาที แล้วจู่ๆก็ใช้ได้ อาการนี้ ผมพบในรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์เช่นกัน
แผงมาตรวัด ปฏิวัติจากของเดิมจนไม่เหลือเค้า จากเดิมที่เป็นมาตรวัดเข็ม ซ้ายและขวา กับจอ MID สไตล์ยุค 2010 ที่อ่านค่าง่ายเวลาขับเร็ว…มาคราวนี้ เล่นสีสันสุดขั้ว ใช้จอดิจิตอลวงซ้ายและขวา มีจอ Multi-Information Display แบบ TFT สีสวยขนาด 7 นิ้วอยู่ตรงกลางแทน
จุดดีของมาตรวัดชุดนี้ ก็คือเรื่องความสวยงามแบบคุณหนูไฮโซ พยายามจะคล้ายหน้าปัดของรถยุโรปพรีเมียมในเรื่องสีสัน ซึ่งน่าจะถูกใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนักแล เท่านั้นยังไม่พอ MG เพิ่มมาตรวัดอุณหภูมิน้ำของเครื่องยนต์กลับมาให้ จอ MID ตรงกลาง นอกจากจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการขับขี่ และอัตราสิ้นเปลืองได้ ยังสามารถโชว์ Volt ของแบตเตอรี่ได้ ที่เจ๋งสุดๆคือ รถราคาระดับแปดแสนทอนพัน มีฟังก์ชั่นแสดงแรงดันกับอุณหภูมิลมยางมาให้ทั้ง 4 ล้อ เหมือนรุ่นเดิม ไม่แอบถอดออก แถมแสดงผลสวยขึ้นด้วย
จุดที่ไม่ค่อยดี ก็คือมาตรวัดรอบมันขึ้นเป็นตัวเลขครับ อย่าง 0.8 ก็คือ 800 รอบต่อนาที ส่วนแถบครึ่งวงกลมที่ไล่สว่างขึ้นตามรอบนั้น ไม่มีหน้าที่อะไรนอกจากเป็นลูกเล่นทางแสงสี ถ้าเอาสก็อตช์เทปปิดตรงตัวเลขไว้ คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าเร่งรอบอยู่เท่าไหร่ และเวลาขับจริงตอนเล่นเกียร์ Manual Mode มันมองยากมากว่ารอบอยู่เท่าไหร่ ส่วนมาตรวัดความเร็วก็เหมือนกันครับ แถบครึ่งวงกลมเอาไว้เป็นไม้ประดับ ส่วนค่าความเร็ว อ่านได้จากตัวเลขดิจิตอลเท่านั้น
คือ..ไหนๆจะทำจอให้สวยถ้าคุณเปลี่ยนจากแถบไฟลายกงจักรนั่น เป็นแถบ Light bar แบบรถหน้าปัดดิจิตอลทั่วไปเขาทำกัน แล้วก็มีตัวเลขกำกับให้สักหน่อยว่า 1 2 3 หรือ 4 เรดไลน์อยู่ตรงไหน ความเร็วเท่าไหร่ มันจะดูสวย และมันจะใช้งานได้จริงจังกว่านี้
แต่ผมพอเข้าใจครับ..ว่าลูกค้าเป้าหมายของ ZS ไม่ได้สนเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรถเกียร์ออโต้ พอรอบมันสุด มันเปลี่ยนเกียร์ให้เอง แต่สำหรับผม วัดรอบสำคัญและต้องเห็นได้ง่ายครับ
สำหรับฟังก์ชั่น SMART ต่างๆ ก็ยังคงอยู่ การใช้สมาร์ทโฟนในการเช็คสถานะรถ หรือตั้ง ELECTRONIC FENCE เอาไว้ส่องเวลาผัวแอบขับ ZS ออกจากบริเวณใกล้บ้านตามที่คุณกำหนดก็ยังมีอยู่ (ตั้งได้ตั้งแต่ 500 เมตร ถึง 10 กิโลเมตรโดยกำหนดเป็นรัศมีจากจุดกึ่งกลาง) เมื่อรถถูกขับออกจากเส้นเขตอธิปไตยดังกล่าวก็จะมีการส่งข้อความเด้งไปยังมือถือเครื่องที่คุณตั้งเอาไว้
และถ้าให้เด็ดกว่านั้น ใช้ระบบตรวจสอบตำแหน่งของรถ หาโลเคชั่นเลยก็ได้ครับ ว่ารถ ZS ถูกขับไปจอดที่ไหน ถ้าจอดยังที่มิบังควร ก็แล้วแต่คุณภรรยาจะพิจารณา
ทั้งหมดนี้ จะเหมือนกับระบบ i-SMART ในรถรุ่นเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมมาในรถรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้คือระบบ Emergency Call ซึ่งคุณจะต้องไปลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น i-SMART จากนั้นก็ไปตั้งค่าหมายเลขโทรศัพท์กรณีฉุกเฉิน ซึ่งคุณสามารถตั้งได้ 2 หมายเลข เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุและถุงลมนิรภัยทำงาน ระบบจะโทรไปยังหมายเลขโทรศัพท์ตามที่คุณกำหนดไว้ ชนเมื่อไหร่ เมียรุ้ ถ้าโทรหาเมียแล้วไม่ติด ระบบก็จะติดต่อไปหมายเลขที่ 2
อีกครั้งที่เมื่อเป็นงานระบบ IT รถของ MG ดูจะใช้ทรัพยากรที่มีทำอุปกรณ์ออกมาให้เหนือกว่าคู่แข่ง..อย่างไรก็ตาม พวกระบบ THAI VOICE COMMAND ที่ให้เราพูด “เฮลโหล เอ็มจี” แล้วตามด้วยคำสั่งนั่น ยังห่วยเหมือนเดิม ผมใช้คำสั่งตามชุดที่ MG ให้ไว้เมื่อตอนทดสอบรถรุ่นแรก เอาคำสั่งง่ายๆยอดฮิตอย่าง “เฮลโหลว เอ็มจี เปิดซันรูฟ” บางทีก็ทำได้ บางทีก็ทำไม่ได้ พูดคำว่าเปิดซันรูฟออกชัดถ้อยชัดคำ ก็ยังไม่หือไม่อือ บางครั้งแทนที่จะเปิดซันรูฟ กลับไปเปิดเพลงให้เสียอย่างนั้น ทั้งๆที่บริเวณรอบรถก็ไม่ได้มีใครส่งเสียงแย่งกับผมสักหน่อย
มันเป็นระบบอำนวยความสะดวก เมื่อมันทำงานได้ แต่ถ้ามันทำงานไม่ได้ เชื่อถือไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ปัญหานี้เจอตั้งแต่รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ และในรถรุ่นใหม่ ผมว่ามันก็เหมือนเดิม..ใช้นิ้ว…ใช้นิ้วกดปุ่มเอาล่ะ ง่ายสุด
***รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ***
MG ZS รุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้ ยังใช้เครื่องยนต์เหมือนเดิม คือรหัส 15S4C VTi-TECH เบนซิน 4 สูบ แถวเรียง 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,498 cc. DOHC ขนาดปากกระบอกสูบ x ระยะช่วงชักเท่ากับ 75.0 x 84.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.5 : 1 กำลังสูงสุด 114 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที
นอกจากการปรับจูนเพื่อให้ทำงานร่วมกับระบบส่งกำลังใหม่แล้ว MG ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มอีก และยังสามารถรองรับน้ำมันเชื้อเพลิง E85 ได้อยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาใช้กับเกียร์ลูกใหม่ และล้อยางที่มีขนาดเส้นรอบวงเพิ่มขึ้น ตัวเลข CO2 จึงขยับจาก 144 เป็น 148 กรัม/กิโลเมตร
ระบบส่งกำลังที่ว่าเปลี่ยนใหม่ ก็คือเจ้านี่ครับ..MG โยนเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะลูกเดิมทิ้ง แล้วหันมาคบกับเกียร์ CVT ซึ่งมาพร้อมโหมด +/- สามารถล็อคพูลเลย์สร้างอัตราทดเสมือนได้ 8 จังหวะ แต่ไม่มี Paddle Shift บนพวงมาลัยมาให้
อัตราทดเกียร์อยู่ที่ 2.453-0.396 เกียร์ถอยหลังทดไว้ที่ 2.580 ส่วนอัตราทดเฟืองท้ายอยู่ที่ 5.730
เหตุของการเปลี่ยนเกียร์ น่าจะมาจากเรื่องอัตราเร่งที่คนในโลกออนไลน์ชอบล้อเลียนกันในรุ่นเก่านี่ล่ะครับ ในเมื่อ MG มองว่าหากแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเปลี่ยนเครื่องยนต์เทอร์โบมาใส่ ราคาของ ZS ไมเนอร์เชนจ์จะทะลุ 8 แสนบาทไปไกล และจะกระทบกับความอยากซื้อของกลุ่มเป้าหมายหลักได้ วิธีที่รอมชอมที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องเพิ่มราคารถมากนัก ก็อยู่ที่เกียร์ CVT ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า แม้หลายคนจะเกลียด แต่พูดถึงเรื่องความต่อเนื่องในอัตราเร่งช่วงแซง ไอ้เกียร์หนังสติ๊กแบบนี้ล่ะครับ คือพระเอกตัวจริง
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า (EPS) มีลูกเล่นตรงที่สามารถปรับน้ำหนักความหน่วงของพวงมาลัยได้ที่จอกลาง โดยเข้าไปที่เมนูตั้งค่ารถ คุณจะสามารถปรับได้ (เบา/มาตรฐาน/มั่นคง..เขาใช้คำว่ามั่นคงแทนคำว่าหนัก)
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นคานบิดแบบทอร์ชั่นบีม ระบบเบรกด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดิสก์เบรกแบบธรรมดา มีระบบป้องกันล้อล็อค ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD สำหรับช่วงล่างและระบบเบรกนี้ ทาง MG แจ้งว่าไม่ได้ไปเปลี่ยนหรือปรับค่าความหนืดใหม่แต่อย่างใด
โครงสร้างตัวรถ เป็นแบบ Full Space Frame (FSF) เทคนิคเดียวกับที่ใช้กับ MG หลากรุ่นเพื่อให้ได้ตัวถังที่เหนียวแข็งเวลาสะเทือน จัมพ์สะพานหรือทิ้งโค้ง และให้ความปลอดภัยในกรณีอุบัติเหตุอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมทางด้านความปลอดภัยมาให้ชนิดที่ไม่ให้เสียชื่อ MG
ZS ทุกรุ่นย่อย จะมีถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมการทรงตัว SCS, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและคุมการลื่นไถล TCS ระบบควบคุมเบรกขณะเข้าโค้ง CBC, ระบบช่วยออกตัวจากทางลาดชัด HAS, ระบบ HDC ช่วยชะลอรถขณะลงเนินชัน และยังมีระบบไฟฉุกเฉินที่กระพริบโดยอัตโนมัติเมื่อมีการเบรกกระทันหัน ESS
ถุงลมนิรภัยคู่หน้า มีทุกรุ่นย่อย รุ่น 1.5 D+ จะเพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้าง และรุ่นท้อป 1.5 X+ เพิ่มม่านถุงลมให้อีกรวมเป็น 6 ใบ (แต่เดิมสองรุ่นล่างจะมีแค่คู่หน้า)
เรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัย ถ้าเทียบกับรถที่ราคาใกล้เคียงกัน ถือว่าจัดให้เยอะ จัดเต็ม ถ้าต้องการมากกว่านี้ ก็คงมีแค่พวกระบบเบรกอัตโนมัติ หรือระบบครูสคอนโทรลแบบมีเรดาร์ ระบบเตือนรถในจุดบอด ซึ่งถ้าติดตั้งมาให้ก็คงไม่สามารถทำราคาต่ำกว่าแปดแสนได้ เรื่องนี้พอเข้าใจกันได้ เพราะคู่แข่งระดับ 1.5 ลิตรเบนซินก็ไม่มีใครให้อุปกรณ์ระดับนี้ ถ้าอยากได้ ต้องจ่ายแพงไปเล่นพวกระดับราคาล้านบาทขึ้นไป
****การทดลองขับ****
ในครั้งนี้ ทาง MG นัดให้สื่อมวลชนพบกันที่ Driving Center บนถนนศรีนครินทร์ในช่วงเช้า จากนั้นจะให้สื่อมวลชนขับ คันของใครของมันไปเลย ยกเว้นรายที่มากับช่างภาพหรือตกลงปลงใจขอนั่งเป็นคู่กับสื่อฯที่คุ้นเคยและไว้ใจกัน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดโรค COVID ส่วนถ้าสื่อฯจะติดใจกันเองเดี๋ยวค่อยไปแลก LINE กันหลังงานจบ
เส้นทางการขับ ไม่ยาวเท่าไหร่นัก เรามุ่งหน้าจากศรีนครินทร์ มาทางบางนา ขึ้นทางด่วนตรงบางพลี วิ่งทดสอบประสิทธิภาพช่วงล่างกับกระแสลม จากนั้นวนไปเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ร้าน Rest & Roll ในปั้ม ESSO เมืองแปดริ้ว จากนั้นก็ขับตามมอเตอร์เวย์ กลับมาที่ถนนศรีนครินทร์อีกครั้ง ถึงแม้ระยะทางจะสั้นไปนิด แต่แลกกับการได้ขับคนเดียว ก็ถือว่าคุ้ม
อัตราเร่ง
0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง = ประมาณ 16.1-16.5 วินาที
ทดลองทำ 4 ครั้ง ได้ตัวเลขหนีจากนี้ไม่มาก ไม่มีเกิน 16.6 และไม่มีลงไปแตะ 15 ปลาย
80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง = 10.25-10.5 วินาที
ทดลองใส่เกียร์ Manual Mode คาที่เกียร์ 4 แล้วตั๊มคันเร่ง เวลาที่ได้ก็ไม่เร็วกว่าการใส่เกียร์ D แล้วเหยียบไปตามปกติ
อย่าเพิ่งรีบไปเปิดตัวเลข PREVIEW อัตราเร่งของพี่ J!MMY ดูครับ เพราะเงื่อนไขการทดสอบต่างกันมาก น้ำหนักบรรทุกก็ต่าง และผมจับเวลาอัตราเร่งครั้งนี้ช่วงกลางวันซึ่งอุณหภูมิสูงถึง 38 เซลเซียส
อย่างไรก็ตาม ผมเคยทดสอบแบบขับคนเดียวตอนกลางวันเอาไว้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2017 สำหรับตัวเก่าเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ซึ่งทำอัตราเร่ง 0-100 ได้ใน 17.9-18 วินาที และอัตราเร่งแซง 80-120 อยู่ที่ 13 วินาทีโดยประมาณ
สรุปว่า รุ่นใหม่ “ไวขึ้น” กว่าตัวเก่าอย่างมีนัยสำคัญนะครับ ใครไม่เชื่อผม ไปลองเองได้ แต่ขอแค่อย่าเอาความรู้สึกจับ เพราะถ้าใช้ความรู้สึกวัด เกียร์ CVT มันจะกลืนแรงดึงช่วงที่คุณเคยรู้สึกไปหมด การออกตัว จะช้าเนิบตามสไตล์ CVT แต่ก็โชคดีตรงที่ไอ้รุ่นเก่ามันก็ไม่ได้ดึงออกไวอะไรนัก แต่สิ่งที่ต่างคือเมื่อความเร็วเกิน 55 เป็นต้นไป รถรุ่นไมเนอร์เชนจ์จะไหลไปต่อเนื่อง ไม่มีอาการชะงักความเร็วในช่วงเกียร์ 1 หมดต่อเกียร์ 2 แบบรุ่นเดิม
ฟังดูเหมือนดี แต่พูดตามความจริง ต้องบอกว่า อัตราเร่ง 0-100 ของ ZS ใหม่ แม้จะไวขึ้น แต่ก็ยังตามหลังคู่แข่งคันอื่นๆอยู่ท้ายตารางเหมือนเดิม แต่อัตราเร่งแซง ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเราต้องใช้กันเยอะนั้น กลับมีตัวเลขที่ใกล้เคียง Xpander แล้วในวันนี้และยิ่งถ้าเป็น Xpander Cross ที่อืดลงกว่ารุ่นปกติ คราวนี้จะกลายเป็น MG ZS ที่ชนะเสียด้วยซ้ำ
คุณกำลังคิดว่า MG ปรับไมล์ให้โชว์ค่าเวอร์ๆหรือเปล่า? ผมลองใช้ GPS จับดู มันก็เพี้ยน 3% แทบไม่ต่างกันกับรุ่นเก่าเลยครับ
สำหรับการขับใช้งานปกติวิสัยมนุษย์โลก นิสัยของคันเร่งจะคล้ายๆเดิมคือ กดแบบครึ่งๆกลางๆแล้วทะยานเหมือนรถมีแรงดี ซึ่งเป็นเพราะการเซ็ตการตอบสนองคันเร่งครับ ไม่ใช่เพราะเครื่องมันแรง สิ่งที่ผมว่าดีกว่าที่คาดก็คือนิสัยของเกียร์ CVT ซึ่งผมคิดไว้ล่วงหน้าว่าคงแย่ คงเย่อ ยึกยัก พอได้ลองขับจริง กลับไม่แย่ไปกว่า CVT ของ Honda เท่าไหร่ และยังมีนิสัยนุ่มนวลน่าคบกว่าเกียร์คลัตช์คู่ในรถรุ่นพี่เสียด้วยซ้ำ ..เซอร์ไพรสยิ่งกว่าแมวออกลูกเป็นนกเขาอีก เพราะปกติ MG มักจะขับในเมืองแล้วปวดกบาลกับความยึกๆยักๆของมัน
ความประพฤติของช่วงล่าง ก็เหมือนกับรุ่นเดิม ตอนแรกคิดว่าแก้มยางหนาขึ้นแถมได้ยาง Yokohama BlueEarth แล้วจะนุ่มคนละเรื่องกับเดิม แต่เมื่อลองขับจริง มันก็ยังคล้ายเดิมแบบ 90% ถ้าคุณไม่ตั้งใจจับผิดจะแทบไม่รู้สึกว่ามันนุ่มขึ้น การเซ็ตช่วงล่าง ยังให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลแบบผู้ใหญ่นั่งได้ มีความแข็งตึงตังแบบ MG Style อยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็น MG รุ่นที่ช่วงล่างนุ่มที่สุดในรถที่พวกเขามีขายในขณะนี้ คือถ้าใครนั่งแล้วบอกว่าแข็งกระด้าง ผมแนะนำนะครับ ไปซื้อ Toyota Crown Majesta ช่วงล่างถุงลมขับเถอะ
อย่างไรก็ตาม ความสูงของรถที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อการขับขี่ในโค้งและการหักหลบอย่างรุนแรงพอสมควรถ้าคุณอัดมันเป็นโมโห100% แต่ผมดูนิสัยช่วงล่างมันแล้ว ก็พอเดาได้ว่ามันไม่ใช่ช่วงล่างสปอร์ตที่รักโค้งตั้งแต่รุ่นก่อนแล้วครับ แต่เป็นช่วงล่างที่เน้นความหนักแน่นมั่นใจเวลาวิ่งทางตรงแบบนั้นซะมากกว่า ยิ่งตอนกระโดดสะพานมอเตอร์เวย์นี่ยังไว้ใจได้อยู่ เทียบกับรถพิกัด 1.5 ลิตรราคาหลักแสนด้วยกัน ช่วงล่าง ZS ชนะ BR-V ขาดลอยครับ และดีกว่า Xpander อยู่นิดๆด้วยซ้ำ (Xpander เห็นเป็นรถญี่ปุ่นตัวโย่งๆ ช่วงล่างไม่กระจอกนะครับ หนึบดีทีเดียว) หรือถ้าข้ามไปเทียบกับ Crossover ที่แพงกว่าอย่าง HR-V เจ้า ZS ก็ชนะทั้งความนุ่มที่กระชับกำลังดี และมีเสถียรภาพของรถที่ความเร็วสูงดีกว่า
คงจะมีแต่ C-HR หรือ Mazda CX-30 ที่ดีกว่า ZS ทั้งทางตรงและทางโค้ง..แต่ราคามันก็ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้ดีไปหมดทุกเรื่อง พวงมาลัยก็เรื่องหนึ่ง..หากคุณเป็นคนขับรถแบบปกติ คุณน่าจะชอบการที่ ZS สามารถปรับน้ำหนักได้ 3 ระดับ ถ้าคุณเลือกโหมดเบาสุด มันจะเบาจนเอานิ้วควงได้สบาย..เบาเหมือนจะประชด Almera ส่วนโหมดมาตรฐาน จะเหมือนน้ำหนักพวงมาลัยของรถขนาดเล็กทั่วไปที่ขับในเมืองก็สบายมือ ขับเร็วๆก็ยังพอได้ ส่วนโหมด “มั่นคง” นั้นจะหนักหนืดสู้มืออย่างชัดเจนเวลาวิ่งบนทางตรงแล้วลองเปลี่ยนเลน หนักกว่าพวงมาลัยของ MG5 หรือ Honda City ใหม่ที่มีช่วงพวงมาลัยถือตรงที่หนักมากเสียอีก
แต่ถ้าคุณทำอะไรมากกว่านั้น หรือคาดหวังมากกว่านั้น ขอบอกเลยว่ายังไม่ใช่ เวลาเข้าโค้งหรือหักพวงมาลัยมากๆ น้ำหนักของพวงมาลัยเหมือนจะเปลี่ยนไปมา หนักบ้างเบาบ้าง ซึ่งในรุ่นใหม่นี้ผมพบอาการอย่างนั้นเวลาเลี้ยวทางแยกแบบมุมฉาก ตั้งน้ำหนักเอาไว้ให้หนักสุด แต่พอหมุนพวงมาลัยเกิน 90 องศาปุ๊บ อ้าว ทำไมมันเบาวะ รุ่นเก่ายังไม่มีอาการชัดขนาดนี้
แป้นเบรกก็เช่นกัน MG เซ็ตแป้นมาในแนวเดิม ไม่ค่อยมีแรงต้านเท้า และต้องกดลึกถึงจะเริ่มมีการจับของผ้าเบรกกับจาน เรื่องนี้ MG บอกว่าตั้งใจทำมาแบบนี้เลย เพราะไม่อยากให้ลูกค้าผู้หญิงขับเกิดกรณีตกใจแล้วกดเบรกแรงเกินจนโดนคันหลังชนท้าย ผู้ชายเท้าหนักขับแล้วอาจจะบอกว่ามันเบาและลึกไปนิด มันเป็นเบรกที่พอไว้ใจได้ตามรูปแบบของรถ แต่ผมรู้สึกว่าการเซ็ตแป้นแบบของรถคู่แข่ง ทำได้เป็นธรรมชาติกว่า มันควรจะเป็นแบบนั้น เบรกแล้วหน้าทิ่ม ยังดีกว่าเบรกน้อยเกินไปแล้วหยุดรถไม่ทัน ถ้าจะบอกว่ากลัวผู้หญิงขับ เบรกแรงๆแล้วเสียหลัก ผมว่าผู้หญิงสมัยนี้ไม่ได้ขับรถแย่เหมือนก่อนครับ และถึงแย่จริง ระบบช่วยเหลือต่างๆมันก็ควรจะช่วยเรื่องการทรงตัวของรถได้
สำหรับเรื่องอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น อย่าเพิ่งเอาตัวเลขต่อไปนี้เป็นหลัก เพราะเป็นการดูตัวเลขจากมาตรวัดบนหน้าปัด ไม่ใช่วิธีการวิ่งแล้วไปเติมน้ำมันเต็มกลับแบบของพี่ J!MMY
ในรถรุ่นเดิม เวลาซัดตึงๆ จะเห็นตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองลงไปอยู่ 9.6 กิโลเมตรต่อลิตร..ในรถรุ่นใหม่ ช่วงที่ผมทดสอบอัตราเร่งถี่ๆ มีอยู่ช่วงหนึ่งลงไปเหลือ 8.6 กิโลเมตรต่อลิตร…แต่เมื่อลองเซ็ตค่าใหม่ แล้วเปลี่ยนเป็นการขับแบบ 110 นิ่งๆ ยาวๆ มีเร่งแซงบ้างเมื่อจำเป็น ในรถรุ่นเก่า ผมเคยได้ 12.6-12.8 กิโลเมตรต่อลิตร รถรุ่นใหม่นี้ เห็น 13.6 กิโลเมตรต่อลิตร..อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะไม่ได้มีมาตรฐานการทดสอบที่เหมือนกันแบบเป๊ะ แต่เนื่องจากมีโอกาสทำได้แค่เท่านี้ตามเวลาขับที่ MG อนุญาต ก็เลยเอาตัวเลขมาบอกกันไว้ก่อน
เป็นไปได้ว่า CVT อาจช่วยให้อัตราการสิ้นเปลืองเวลาขับแบบโลกสวยน่าอยู่ ดีขึ้นกว่าเก่า แต่คงไม่ต่างแบบฟ้ากับเหว
ส่วนเรื่องการเก็บเสียงนั้นยังเหมือนเดิม แต่การเปลี่ยนยางใหม่ จากเดิมที่ใช้ Yokohama Advan DB ที่ผมทดสอบในรถรุ่นเก่า มาเป็น Yokohama รุ่น BlueEarth ทำให้ตอนนี้ เสียงรบกวนดูเหมือนจะดังในระดับเดียวกันทั้งคัน เสียงลม เสียงจากห้องเครื่อง เสียงจากพื้นรถ และเสียงยาง ดังแบบเท่าๆกัน ไม่น่ารำคาญ แต่ไม่ได้เงียบแบบชัดเจน ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง Xpander เจ้านั้นก็ใช้ระบบเก็บเสียงดีจริงเหมือนกัน แต่เสียงลมเข้าตามกระจก ดังกว่า MG ZS
***สรุปเบื้องต้น***
***เร็วกว่าเดิม อุปกรณ์ครบกว่าเดิม จ่ายเพิ่มหมื่นเดียว แต่ไม่เหมาะกับคนใจร้อน***
MG ZS Minorchange ยังไม่ใช่รถสำหรับคนที่ชอบดูตัวเลขอัตราเร่ง เพราะแม้จะใช้อาวุธใหม่อย่างเกียร์ CVT มาช่วย ช่วงออกตัวและความเร็วสปีดในเมืองก็ยังถือว่าช้ากว่าคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม ยังดีที่อัตราเร่งช่วงแซงไวขึ้นกว่าเดิมจากเกียร์ที่มีความต่อเนื่องมากขึ้น ทำให้การเดินทางต่างจังหวัดเวลารีบๆ เป็นเรื่องที่น่ากลัวน้อยลง อย่างที่เรียนให้ทราบว่าเมื่อเอานาฬิกาจับเวลาจริงๆ ตอนนี้ ZS ใหม่ ไม่ได้ต่างจาก Xpander มากเหมือนเมื่อก่อนแล้วเวลาเร่งแซง
และ MG ก็คงไม่สามารถทำอะไรให้รถคันนี้แรงไปกว่านี้ได้ เพราะการจับเอาเครื่องยนต์ดีๆแรงๆมาใส่ ย่อมส่งผลทางด้านต้นทุน ทำให้ราคารถเขยิบเข้าไปใกล้รถระดับ CX-30, HR-V และ C-HR มากขึ้น ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นก็อาจจะมีความเสี่ยงในการเสียลูกค้าไป MG ทำการบ้าน ศึกษาลูกค้าที่ซื้อรถแบบนี้มาใช้ และเชื่อว่าทางเลือกที่ถูกคือ ต้องทำราคาให้คนเห็นแล้วซื้อได้ ต้องใส่อุปกรณ์ให้คนเห็นแล้วรู้สึกว่ามันคุ้มค่า โดดเด่นกว่าเจ้าตลาด อย่างชัดเจน การที่ยึดสองข้อนี้เป็นหลัก ก็ต้องยอมเสียคุณสมบัติบางข้อไป เช่นเรื่องสมรรถนะนี้เป็นต้น ผมถึงมักบอกให้คุณผู้อ่าน ค้นหาตัวเองว่าคุณต้องการอะไรจากรถหนึ่งคัน ถ้าคุณมีแนวทางที่แน่นอนในตัวเอง คุณอาจเซฟเงินในส่วนที่ไม่จำเป็นได้เยอะ
MG คิดถูกหรือเปล่า..ดูยอดขายเอาก็คงรู้..ทางเลือกของพวกเขาไม่ถูกใจผม แต่ถูกในแง่ของคนทำธุรกิจแล้วกัน ตัวเลขมันก็เห็นๆกันอยู่
อย่างไรก็ตาม มองในมุมกลับกัน ถ้ามองหัวข้ออื่นๆนอกจากสมรรถนะ จะพบว่า MG ZS ก็ทำคะแนนได้ดี บางข้อก็ดีโคตรๆ เช่นเรื่องอุปกรณ์ลูกเล่นติดรถที่ทำให้ผมสงสัยเหลือเกินว่าพวกเขาทำได้อย่างไร ใส่เบาะไฟฟ้าข้างคนขับ ใส่กล้อง 360 องศา ใส่วัสดุนุ่มแทบจะในทุกจุดที่ใส่ได้ เปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่ เปลี่ยนหน้าปัดและแดชบอร์ดใหม่ เพิ่มเบรกมือไฟฟ้าและ Auto Vehicle Hold ทั้งหมดนี้ ในราคาที่เพิ่มจากรุ่นเดิมแค่หมื่นเดียวอ่ะนะ?
ของหลายอย่างที่มีใน ZS คุณจะพบได้ในรถราคาป้วนเปี้ยนแถวล้าน และรถอะไรก็ตามที่ราคาเท่ากันหรือถูกกว่า ก็ทำได้ไม่ดีเท่า คุณนั่งมองภายในของ ZS แล้วลองเทียบกับ BR-V หรือ Xpander จะเห็นได้ว่าทั้งความทันสมัย อุปกรณ์ที่มีให้ คุณภาพพลาสติกกับวัสดุในส่วนที่มือแตะถึง มันไม่ได้ชวนให้คิดเลยว่าเป็นรถราคาระดับเดียวกัน..แต่พูดก็พูดเถอะ ถ้ามองแบบลงลึกก็ยังเห็นอยู่ว่า จำนวนของที่เยอะ กับคุณภาพของสิ่งที่มันทำได้ ก็ต้องถูกควบคุมด้วยต้นทุนเหมือนกัน พวกลูกเล่นจอ ที่ยังมีอาการช้าหน่วงๆ หรือระบบสั่งการด้วยเสียงที่ดูเหมือนมีไว้โชว์ แต่ใช้งานจริงได้บ้างไม่ได้บ้าง พวกนี้ยังต้องพัฒนากันต่อไป
ในท้ายสุด ถ้าคุณเป็นคนใจเย็น ไม่เน้นความเร็ว ชอบรถที่ให้ความรู้สึกเวลาโดยสารเหมือนรถใหญ่ อุปกรณ์เหมือนรถที่แพงกว่า แต่อยากจ่ายในราคาที่ถูก ZS เป็นคำตอบที่เหมาะสมตั้งแต่รุ่นที่แล้วละครับ แล้วพอมาเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้ สิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปยิ่งส่งผลดีมากกว่าเดิม และช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น เป็นการสร้างคาแร็คเตอร์ให้รถอย่างชัดเจน ผมในฐานะคนช่วยผู้อ่านเลือกรถอธิบายได้ง่ายขึ้น
ชอบรถของเล่นเยอะ ใช้ในเมืองเป็นหลัก ไป MG ZS
ชอบรถที่นั่งได้ 7 คน แต่เรี่ยวแรงดี กระทืบแล้วพุ่ง ไป Honda BR-V
ชอบรถที่นั่งได้ 7 คน แต่ช่วงล่างใกล้เคียง MG เน้นใต้ท้องสูงไว้ลุยน้ำท่วมจริงจัง ไป Mitsubishi Xpander
ชอบรถที่ไม่ใช่สามคันนี้..ไปทำงานเก็บเงินเพิ่มครับ แล้วไปมองพวกราคา 900,000-1,200,000 บาทแทน
แต่ทั้งหมดนี้ เงื่อนไขข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่จะตกลงใจเลือก ZS ก็คือ คุณต้องลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ MG ดู และต้องรับได้กับสิ่งที่คุณจะได้แถมเป็นโบนัสที่ไม่พึงประสงค์ (คือไม่ได้เจอโบนัสนี้ทุกคน แต่ก็หวังว่าคุณเองจะไม่ต้องเจอ)
เรื่องตัวรถ เช่น Reliability (ความน่าเชื่อถือ) และ Quality Control (การควบคุมคุณภาพ)..นี่ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมกลัวเวลาจะแนะนำใครให้ซื้อ MG ดังที่คุณจะเห็นได้จากจำนวนเคสในโลก Social หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถแต่ละรุ่นไงครับ ผมล่ะรำคาญเวลาใครชอบพิมพ์ว่ารถทุกค่ายมีปัญหาทั้งนั้น คุณอย่าลืมเอาจำนวนเคสเทียบกับจำนวนรถที่ขายด้วยนะ แล้วปัญหาของ MG มาจากอะไร ระบบส่งกำลัง ระบบไฟฟ้า ปัญหาการประกอบ บางอย่างก็ไม่ควรจะเกิดกับรถใหม่ เพราะคนซื้อรถใหม่เพื่อหนีปัญหาการซ่อมบำรุง หรือว่าไม่ใช่? ในแง่ของความน่าไว้เนื้อเชื่อใจ ซื้อของมาแล้วไม่ควรมีปัญหา หรือถ้ามีปัญหาแล้วแก้จบ ง่าย รวดเร็ว นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ คุณคิดว่าทำไมรถตลาดบางเจ้าอุปกรณ์น้อย ราคาไม่น้อย แต่ยังขายได้ดี คนซื้อรถเหล่านี้เขามองความน่าเชื่อถือของรถสำคัญกว่าอุปกรณ์ไงครับ
ขอชมว่า MG นั้น ทำมาได้ดีแล้วในแง่การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ การศึกษาลูกค้าที่กำเงินพร้อมซื้อรถจริง การตั้งใจประเคนของเล่น และอุปกรณ์ความปลอดภัยแล้วทำราคารถให้ต่ำจนคนจำนวนมากรู้สึกได้ว่า ในงบเท่านี้ คุณสามารถมีของเหล่านี้ได้ …แต่จะปลื้มใจที่สุด ก็ต่อเมื่อพวกเขาพิสูจน์ได้ว่าเราสามารถมีอุปกรณ์เยอะแยะได้ ในราคาที่ถูกมาก และทนไม้ทนมือมากจนเทียบเท่ารถญี่ปุ่นแบรนด์ที่มีปัญหาน้อยสุด
มันยาก..แต่ถ้าทำได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นล่ะครับ ฝันร้ายของจริงสำหรับแบรนด์ญี่ปุ่นจะมาถึง
—/////—
ขอขอบคุณ / Special Thanks to : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท MG Sales (Thailand) จำกัด เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
Pan Paitoonpong สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียนลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของ Pan Paitoonpong, Moo Cnoe และ MG Sales Thailand – ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 14 พฤษภาคม 2020
Copyright (c) 2020 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com 14 MAY 2020
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!