บางสิ่งที่คนได้ยินจนติดหู มันจะลามไปติดหัว จนบางครั้งสมองเราเกิดปฏิกิริยาโดยอัตโนมัติ
ยกตัวอย่างเช่น เจ้า CLS 53 คันที่คุณเห็นอยู่นี้…ถ้าคุณมองแล้วเห็นรถคันสีดำคันนึงยิ้มกว้างโชว์เหล็กดัดฟันแล้วมีดาวติดอยู่ตรงปาก คุณน่าจะเป็นคนทั่วไปที่คุมความสามารถในการคิดตนเองเอาไว้ได้ดี แต่สำหรับผม เมื่อได้เห็นรถคันนี้ เสียงเพลงประจำชาติของสาวกอาจารย์แดงกีตาร์มันจะดังในหัวโดยอัตโนมัติ เสียงเพลง Back in Black ของวง AC/DC ดังขึ้น…ธรรมะ กระตุกจิต กระชากใจ ท่านผู้เจริญซึ่งเปี่ยมด้วยปัญญา
คุณคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก..ขอบอกว่าไม่ใช่ มนุษย์ผู้มีโรคจินตนาการเกินควบคุมอย่างผม ได้ยินเสียงเพลงนี้ในหู ทุกครั้งที่เห็น CLS 53 สีดำ..ต้อง 53 และต้องดำด้วย ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง เพลงในหัวผมจะไม่ดัง ..คงมีแต่คนที่เป็นโรคจิตแบบเดียวกันแหละที่จะเข้าใจ
ไหนๆพูดถึงเพลงเขาแล้ว ขอแปะลิงค์ไว้ให้ฟังระหว่างอ่านรีวิวแล้วกัน เผื่อบางท่านไม่ทราบจริงๆว่าเพลงนี้มันร้องยังไง แต่อย่าพยายามร้องตามถ้าที่บ้านไม่มียาแก้ไอ
มีหลายคนมีปัญหาเรื่อง….
รถ..
เพราะแม้ว่าสมัยนี้จะมีรถแรงๆให้เลือกเยอะแยะ แต่บางครั้ง ถ้าคุณเป็นคนที่รวยระดับนึงแต่ยังไม่ถึงขั้นมีคฤหาสถ์หลายหลัง… พอคุณจะซื้อรถสปอร์ตเพื่อสนองตัณหาตัวเอง ก็อาจมีการยั้งคิดเพราะความสะดวกในการใช้งานที่จำกัด แล้วบังเอิญว่าคุณไม่ใช่คนประเภทที่หลงใหล Sleeper Car ที่เป็นรถพลังโหดๆ ซ่อนในรูปซีดานหรือแวก้อน คุณต้องการรถประเภทที่ทรวดทรงไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน อยากได้หลังคาเตี้ยแบบประชดรถสปอร์ต แต่ดันอยากให้มี 4 ประตูให้เปิดหยิบของง่าย หรือพาลูกตัวเล็กนั่งคาร์ซีทไปด้วยได้ นั่นคือที่มาของรถประเภท 4-Door Coupe ซึ่ง CLS คือผู้เล่นสำคัญมาโดยตลอด และเมื่อมีเวอร์ชั่น AMG ออกมา ก็กลายเป็นรถที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเล็กๆนี้ได้อย่างพอดี
BMW เลิกขายซีรีส์ 6 Gran Coupe ไปนานแล้ว ส่วน Audi มี A7 ที่เป็นรถสี่ประตูหลังคาเตี้ย ทว่าไม่มีเวอร์ชั่นที่แรงม้าสูงทะลุ 400 ตัวจำหน่าย ดังนั้นจึงเหลือแต่แบรนด์ระดับ Upper Premium อย่าง Porsche ซึ่งก็มีแต่ Panamera ที่เป็นรถประเภท 4-Door Coupe แต่ก็ถือว่าขนาดตัวค่อนไปทาง S-Class แล้ว
CLS 53 เข้ามาอาละวาดในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2018 เวอร์ชั่นก่อนไมเนอร์เชนจ์นี้ จุดสังเกตที่เห็นง่ายแต่ไกลเลยก็คือล้ออัลลอยจะเป็นลาย 5 ก้านคู่ โดยล็อตแรกๆจะเป็นรถนำเข้าทั้งคัน ทำให้ราคาสูงมากถึง 7,090,000 บาท ราคานี้เพื่อนบ้านชตุทการ์ทอีกรายนึงเห็นแล้วขำ กระซิบบอกลูกค้าว่า “พี่ๆ เพิ่มอีกไม่กี่ล้าน..Hello Porsche ได้สบายแล้วนะครับ” แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ก็เปิดตัวเวอร์ชั่นประกอบในประเทศที่ทำไปทำมาราคาลดลงเหลือ 5,350,000 บาท สร้างความช็อควงการด้วยนโยบาย “เราทำม้าโหดเยอรมันให้คุณจับต้องได้ง่ายขึ้น” คล้ายกับเจ้า C 43 Coupe ที่ประกอบในนั่นเอง
แล้วคุณลองคิดนะว่า ในปี 2004 หรือ 15 ปีก่อนหน้า CLS 53 CKD จะมาน่ะ..รถ E 55 Kompressor W211 476 แรงม้า มันมีค่าตัว 10.9 ล้านบาท การที่รถตราดาววันนี้พกม้ามา 435 ตัว..เกือบเท่า V8 ตัวโหดในอดีต แต่มาในราคาแบบช่วยกันคนละครึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ CLS 53 จะเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ทรงมันได้ แรงดี ราคาคุยง่ายเพราะห้าล้านต้นกับม้าขนาดนี้ไม่มีคู่แข่งตรงรุ่น คุณขับรถบนทางด่วนตอนดึกๆต้องเคยเจอพวก 53 สีดำวาร์ปผ่านอย่างเร็วกันบ้าง บางคืนผมขับกลับบ้าน เจอวาร์ปผ่านสองสามครั้ง ในเวลาใกล้ๆกันจนอดคิดไม่ได้ว่า 1. มันขายดีขนาดนี้เลยเหรอถึงมีคนถอยเยอะ หรือ 2. มันก็คันเดิมเนี่ยแหละแต่อาจจะแวะขี้เมื่อสักครู่นี้ เลยโผล่มาอีกรอบ
เสน่ห์ของ CLS 53 อีกอย่างคือ มันเป็นรถที่ไม่เลือกวัยเจ้าของ ตั้งแต่เด็กมหาลัย ไปจนถึงคนวัยหลังเกษียณ (แต่ยังตีนหนักอยู่) คุณยืนข้างรถคันนี้ มันจะไม่สนว่าคุณเด็กหรือแก่ มันจะทำให้คนภายนอกลืมเรื่องอายุของคุณแล้วก็ไปเพ่งเรื่องรสนิยมโหดของคุณแทน คุณจะนุ่งขาสั้นคีบแตะใส่เสื้อยืด หรือใส่สูท คุณไปยืนข้างรถ CLS 53 ก็จะดูเข้ากันได้กับคุณอย่างประหลาด
ทำตลาดมาใกล้ๆจะสามปี พอเดือนพฤศจิกายน 2021 รถ CLS ในไทยก็ปรับโฉมเป็นไมเนอร์เชนจ์ตามตลาดโลก โดย CLS 53 โชว์ตัวครั้งแรกในงาน Motor Expo นั่นล่ะ รถไมเนอร์เชนจ์นี้ เวลาจอดอยู่ในงานก็ดูเหมือนแค่เอารุ่นเดิมมาเปลี่ยนกระจังหน้า และล้ออัลลอยลายใหม่ แต่อันที่จริง มันเปลี่ยนไปในหลายจุด โดยเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์ ซึ่งเมื่อบวกกับราคาที่ปรับเพิ่มเป็น 5,570,000 บาทแล้ว ผมพูดเลยว่าพวกคุณบางคนอาจจะอยากวิ่งหารถรุ่นเก่าที่คาสต็อค..ถ้ามันมีเหลือนะ
แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างหรอกที่แย่ลง ส่วนอะไรเปลี่ยนตรงไหนบ้าง คุณไล่อ่านบทความนี้ไปก็จะพบส่วนสรุปที่ผมทำแยกไว้ให้ ภายนอก/ภายใน แต่เพื่อให้คุณยังมีกำลังใจ ผมจะบอกว่า ถ้าคุณชอบเครื่องยนต์กลไกและการตอบสนองแบบรถรุ่นเดิม…Good News เพราะนั่นคือส่วนดีไม่ได้ถูกแตะต้องแม้ปลายขนอวัยวะ
ว่ากันเรื่องขนาดตัวถัง CLS 53 โฉมนี้ มีความยาว 5,012 มม. กว้าง 1,896 และสูง 1,422 มม. โดยความยาวที่เพิ่มมาก็เป็นเพราะส่วนหน้าของรถที่เปลี่ยนไป ส่วนฐานล้อยังคงเดิม 2,939 มม. ระยะแทร็คล้อหน้า/หลัง 1,646/1,628 มม. เท่าเดิม น้ำหนักตัวอยู่ที่ 1,970 กก. ถังน้ำมันเป็นสเป็ค 66 ลิตร
สิ่งที่เปลี่ยนภายนอก
- เปลี่ยน กระจังหน้าแบบเฉพาะของ AMG เปลี่ยนจากซี่นอนเป็นแนวตั้ง ขยายขนาดโลโก้ดาวสามแฉกให้โตขึ้น
- เปลี่ยน กันชนหน้าทรงใหม่
- เพิ่ม ชุดแต่ง AMG Night Package รมดำของแต่งมันทุกชิ้นไม่เว้นกระทั่งปลายท่อไอเสีย
- เปลี่ยน ล้ออัลลอย ขนาด 20 นิ้วเท่าเดิมแต่เปลี่ยนจากลายห้าก้านคู่ 5-twin-spoke เป็นลายใหม่หลายก้าน multi-spoke/เพิ่มจุดที่พ่นสีดำเงา (เป็นส่วนหนึ่งที่มากับ Night Package
- เปลี่ยน ตูดเป็น Duck-tail ทรงคล้ายเดิมแต่ขนาดโตขึ้น
คุณคิดอย่างไรบ้างกับความเปลี่ยนแปลงภายนอกครับ?
ผมคิดว่าเสน่ห์ในด้าน “ทันสมัยเข้ากันได้กับเจ้าของทุกวัย” มันถูกลดทอนลง กระจังหน้าซี่ตั้ง ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์ประจำรถ AMG นับจากนี้เป็นต้นไป นั่นก็น่าจะเป็นสาเหตุนึง คุณไม่ต้องแปลกใจหรอกในเมื่อมันคือดีไซน์ส่วนหน้ารถที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถแข่งของเบนซ์ก่อนสงครามโลกอย่าง W154 ที่ออกแบบโดยรูดอล์ฟ อั๊วะเล่นเฮ้าท์ จนถึง W194 ปี 1952 ..เมื่อคุณเอาองค์ประกอบบางอย่างจากยุคคุณปู่ยังไม่เกิดมาใส่ จะทำให้ล้ำสมัยมันคงดูยากแหละ ยิ่งเมื่อรวมกับล้ออัลลอยลายแบบที่น่าจะไปอยู่ใน S-Class หรือ Maybach มากกว่า มันก็ทำให้รถดูแก่ลง เริ่มดูเหมาะกับคนอายุ 45-65 มากกว่าเด็กมหาวิทยาลัย
แต่ผมก็อาจจะพูดไม่ถูก..ถ้ามันดูแก่จริง ทำไมชาว AMG ในไทยจึงมีจำนวนไม่น้อยเลย ที่ใช้รถรุ่นกระจังแนวนอน แล้วไปควานหาของแต่งกระจังซี่ตั้งมาใส่..แสดงว่าถึงจะแก่แต่ก็เข้าตาพ่อล่ะวะ ที่แน่ๆ ผมว่าคุณแค่หาเปลี่ยนล้อใหม่ให้ลายมันวัยรุ่นสักหน่อย แล้วเอากระจังหน้าเหล็กดัดฟันยิ้มกว้างไว้นี่แหละครับ ผมว่ามันมีเสน่ห์แบบน่ากลัวดี ไอ้รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ กระจังหน้าสไตล์เรียบเฉียบของมันทำให้เหมือนนักฆ่าใส่สูทที่ไม่พูดไม่จา ยิงอย่างเดียว แต่กับรุ่นไมเนอร์เชนจ์..มันคือโจ๊กเกอร์ในเรื่องแบทแมน แค่เปลี่ยนสูทจากสีม่วงเป็นสีดำ..ดูเนี๊ยบแต่มีความโหดในยิ้มของเขาที่น่าขนพองสยองเกล้ากว่าเดิม
แต่ความเปลี่ยนแปลงภายนอก ผมดูทรงแล้ว คุณสามารถแก้ไขให้มันดูดีตามใจคุณได้ไม่ยากหรอก แค่เปลี่ยนล้อ ฟีลก็เปลี่ยนแล้ว แค่คันๆตรงที่รู้สึกว่ารุ่นเก่าแบบของอาจารย์แดง ดูสวยจบไม่ต้องใส่เครื่องปรุง เท่านั้นแหละ แต่มันก็แค่ความเห็นส่วนตัวของผม ผู้ซึ่งผ่านรถทดสอบมาหลายร้อยคัน แต่ชีวิตจริงไม่ได้มี CLS ขับ
เปิดประตูดูข้างในดีกว่า..CLS นี่ ความเก๋ของเขาจุดนึงก็คือการที่เป็นรถไร้กรอบประตู (Frameless Door) ทำให้เวลาลดกระจกลงทุกบานแล้วเปิดประตูออก มันจะดูโล่งตาผิดกับรถซาลูนทั่วไป แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักสิบปียางขอบกรอบและแห้งเสียงลมมันจะเข้าง่ายกว่าประตูมีกรอบ..แต่หลายคนชอบประตูแบบนี้ครับ ไม่ใช่แค่เรื่องความเฟี้ยว แต่เวลาไปจอดตามห้าง แล้วเจอพวกจอดรถหมาๆจอดชิดชุ่ยๆแบบไม่เผื่อที่ให้คุณเปิดประตูมากพอ คุณแค่เข้าประตูอีกฝั่ง กดกระจกฝั่งคนขับลง คุณจะสามารถหาท่าที่ไม่ทรมานในการคลานขึ้นรถได้ง่ายกว่าพวกประตูมีกรอบ เชื่อผม..ผมโดนบ่อย
ส่วนฟังก์ชั่น Soft-close (ประตูดูด) ไม่ต้องสืบนะครับ ไม่มีมาให้ ถ้าจำไม่ผิดรถเลข 53 นี่จะไม่มีดูดสักตัวแม้แต่ AMG GT 53 คันละเกือบสิบล้าน น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่เบนซ์สงวนไว้สำหรับรถประเภท “คนจ่ายเงินนั่งเบาะหลัง” มากกว่า
เบาะนั่งของ CLS 53 ยังคงเป็นแบบสปอร์ตหุ้มหนังชั้นดี AMG Seat with Nappa Leather ซึ่งมีการตัดแซมด้วยผ้า Dinamica microfibre เข้าไปในจุดที่เบาะต้องรับแรงเหวี่ยงและร่างกายในขณะเข้าโค้ง เรื่องเบาะนี่เหมือนรุ่นเดิม ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ระบบความจำ 3 ตำแหน่งสองฟากยังอยู่ และสามารถปรับดันหลัง ปรับความยาวเบาะรองนั่งได้ สิ่งที่หายไปก็มีแค่ระบบปรับเลื่อนเบาะฝั่งคนนั่งจากสวิตช์ที่ฝั่งคนขับ ซึ่งถ้านี่เป็นรถประเภทที่ลูกค้านั่งเบาะหลัง..ผมคงด่าแหละ แต่ CLS ไม่ใช่รถแบบนั้น เลยพอจะยอมความกันได้
ส่วนเบาะหลังนั้น ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆก็คือ “E-Class ที่เฮดรูมโคตรเตี้ย” ตัวเบาะก็มาในแนวแอบแข็ง นั่งหย่อนก้นชันเข่าพอกัน ที่ยืดแข้งขาไม่ใช่ปัญหาเพราะว่าฐานล้อมันยาวมาก อีก 15 เซนติเมตรก็เท่ารถกระบะพาณิชย์แล้ว มันก็ยืดได้มากเท่าๆกับ E 300 e นั่นแหละ แต่พอเจอแนวหลังคาแบบคูเป้เข้าไป คุณเอ๋ย เชื่อผม เก็บไว้ให้คนตัวเล็ก หรือคนตัวสูงไม่เกิน 160 นั่งนะครับ มันจะสบายเพราะตัวขนาดผมสูง 183 เซนติเมตร แค่ปีนเข้าไปถ่ายรูปแล้วพยายามตะกายออกมา ยังหน้างอคอหักเป็นปลาทูแม่กลอง
ระบบปรับอากาศของ CLS 53 นั้น สังเกตได้ว่าด้านหลังนี่จะไม่มีสวิตช์ปรับแรงลมหรืออุณหภูมิใดๆเลย เพราะเบนซ์ไทยให้เครื่องปรับอากาศแบบ 2 Zone มาเท่านั้น ซึ่งก็เป็นแบบนี้ตั้งแต่รุ่นที่แล้ว และพอเข้าใจได้ว่ารถที่ไม่ได้เน้นคนนั่งหลัง จะใส่ 3-Zone มาให้เปลืองค่ารถทำไม ส่วนมูนรูฟไฟฟ้า เป็นขนาดปกติ เปิดโล่งสำหรับคนนั่งหน้า ไม่ใช่ Panoramic Glass ซึ่งก็เหมือนกับรุ่นเดิมนั่นล่ะ
เนื้อที่เก็บสัมภาระด้านท้าย CLS 53 หรือพวก CLS ใดๆที่เป็นเครื่องเบนซิน ตามสเป็คของเมืองนอกจะระบุว่ามีความจุ 490 ลิตร ส่วนพวกรถดีเซลจะโตกว่านิดๆ คือ 520 ลิตร ซึ่งก็ถือว่าเป็นความจุค่อนข้างปกติสำหรับรถพรีเมียมตัวถังยาว 4.7-5.0 เมตร มีพื้นที่ให้คุณใส่ถุงกอล์ฟไปตีกับแฟนได้แน่นอน และถ้าถุงกอล์ฟคุณโตมากจนยัดไม่เข้า เบาะหลังก็สามารถแยกพับสามส่วนได้
ฝากระโปรงรถสามารถกดเปิดได้จากสวิตช์ภายใน จากกุญแจ และยังมีระบบเตะเปิดอยู่เหมือนรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ไม่ได้ถูกตัดออก แต่ถ้าใครอยากออกแรงเปิดเอง ก็เอานิ้วกดไปที่โลโก้เบนซ์ท้ายรถครับ มันจะเด้งเปิด เวลาปิดก็กดปุ่มปิดด้วยระบบไฟฟ้าได้
อุปกรณ์/สิ่งที่เปลี่ยนแปลง ภายในรถ
- เปลี่ยน พวงมาลัยสปอร์ต AMG ทรงใหม่ ก้านคู่ เพิ่มส่วนที่เป็นผ้า Dinamica microfibre บริเวณมือจับเพื่อความถนัด
- เพิ่ม สวิตช์แบบปุ่มหมุนพร้อมจอสี สำหรับปรับช่วงล่างและโหมดการขับที่พวงมาลัย
- เปลี่ยน วัสดุตกแต่งแดชบอร์ดยาวไปถึงแผงประตูจากสีเงินอะลูมิเนียม เป็นลาย Metal-weave trim (คล้ายคาร์บอนเงา แต่ผมว่าสวยกว่า)
- เปลี่ยน วัสดุตกแต่งแดชบอร์ดตอนล่าง จากลายคาร์บอน เป็นวัสดุสีดำเงา
- เปลี่ยน ชุดควบคุมจอกลาง จากเดิมมีทั้ง Pad และลูกบิด เปลี่ยนเป็น Touchpad ทรงใหม่แบนราบ
- เปลี่ยน ระบบปฏิบัติการของรถ เป็นเวอร์ชั่นใหม่ MBUX 6.0 (มาพร้อมธีมสีจอใหม่ การแสดงผลจอกลาง/หน้าปัด/ดีไซน์มาตรวัดเปลี่ยนไป)
- ย้าย ชุดสวิตช์ใต้ช่องแอร์ขวา (HUD, ม่านหลัง, Parking Sensor, สั่งยกช่วงล่าง และระบบกำกับรถให้อยู่ในเลน) เอาไปผนวกอยู่บนจอกลางแทน
- ตัด ระบบรักษาระยะห่างรถคันหน้าอัตโนมัติ Active Distance Assist DISTRONIC เหลือเพียง Cruise Control ธรรมดา
- ตัด นาฬิกาควอร์ตซ ที่แดชบอร์ดตอนล่าง
- ตัด ระบบปรับที่นั่งฝั่งซ้่ายจากสวิตช์ฝั่งคนขับ
เรื่องของภายในรถ เป็นไปตามแนว Mercedes ที่คุณคุ้นเคย ยิ่งตอนกลางคืน แสงจากไฟตกแต่งภายในห้องโดยสารยังคงเป็นจุดเด่นที่สร้างความรู้สึกน่าพึงพอใจในยามขับ จอกลาง กับแผงหน้าปัดยังเป็น Wide Screen Cockpit ที่หน้าตาเหมือนเดิม แต่เมื่อเปิดใช้งานคุณจะเห็นได้ว่าสีสัน รูปภาพของสิ่งต่างๆที่แสดงมันถูกอัปเกรดไปพร้อมกับระบบปฏิบัติการ MBUX 6.0 เวอร์ชั่นใหม่นั่นเอง
ในความเปลี่ยนแปลงของเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ มีทั้งจุดที่ดีและไม่ดี สิ่งที่ผมมองว่าดีมากที่สุด ก็คือปุ่มวงกลมจอสี 2 ปุ่มที่พวงมาลัย ซึ่งคุณสามารถหมุนหรือกดเพื่อปรับค่าต่างๆเกี่ยวกับการตอบสนองได้สะดวกมาก จริงๆแล้วคุณจะทำเป็นปุ่มเฉยๆไม่ต้องมีจอก็ได้ แค่ว่าพอปรับตั้งค่าก็ไปโชว์แค่ที่จอกลาง จะเซฟต้นทุนได้เยอะ แต่นี่คือจุดที่ผู้ออกแบบและฝ่ายบัญชีตกลงใจร่วมกันว่าจะยอมให้ต้นทุนมันเพิ่มเพื่อสีสันในห้องโดยสารบ้าง ผมชอบมากครับ เพราะแต่เดิมการปรับโหมดต้องเอื้อมมือข้าม Touchpad ไปปรับที่คอนโซลกลาง สวิตช์คันโยกอันโคตรเล็ก ใช้งานไม่สะดวก ปุ่มจอสีสองอันนี้จึงนับเป็นการแก้ปัญหาอย่างมีลูกเล่น
อย่างต่อมาที่ต้องชมก็คือพวงมาลัยที่เปลี่ยนบริเวณมือกำ จากหนังธรรมดาเป็นผ้า Microfibre ซึ่งดูดฝ่ามือดีแท้ ไม่ต้องกำแรงมาก เจอหลุมบ่อบนถนนพวงมาลัยก็ไม่ดิ้นหลุดจากมือง่ายๆ นอกจากนี้ วัสดุตกแต่งคอนโซลก็เอาลาย Metal Weave ดูคล้ายคาร์บอนแต่มีมิติสวยงามมาติดตั้งที่กลางแดชบอร์ด โอบล้อมยาวไปถึงประตู ซึ่งในรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ตรงนี้จะเป็นพลาสติกคล้ายโลหะสีเงินธรรมดา ไอ้ Metal Weave เนี่ย..คำว่า Weave ก็คือการทอเหมือนทอผ้า แล้วเขาก็เอาลวดเส้นเล็กๆที่มีความเงาสูง มาทอเป็นลายแบบเดียวกับคาร์บอนไฟเบอร์ ชิ้นงานตรงนี้สวยเกินราคารถครับ น่าจะไปอยู่ในรถแปดเก้าล้านเสียด้วยซ้ำ
แต่แน่นอนเพื่อคุมต้นทุน วัสดุตกแต่งบริเวณคอนโซลตอนล่างจากเดิมที่เคยเป็นลายคาร์บอน คราวนี้กลับถูกเปลี่ยนไปเป็นวัสดุสีดำเงาธรรมดา แต่พอเรามองว่ามีการใช้วัสดุที่แพงขึ้นในบริเวณที่มีพื้นที่ครอบคลุมภายในเยอะกว่า ตรงนี้ต้องถือว่าเบนซ์เขาให้มาดีจริงๆ
ทีนี้ บางอย่างที่ตัดออก..ก็เข้าใจและทำใจยอมรับได้ เช่นนาฬิกาตอนล่างคอนโซล ซึ่งเหมือนไม้ประดับ สวย แต่ปกติตอนขับเราก็ไม่ได้มองมันอยู่แล้ว หรือระบบปรับที่นั่งฝั่งซ้ายจากสวิตช์ด้านคนขับ ซึ่ง CLS ไม่ใช่รถประเภทเจ้าของนั่งหลัง มันจึงไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก
แต่การตัดเอาชุดสวิตช์ควบคุมระบบต่างๆที่เคยอยู่ใต้ช่องแอร์ขวาแล้วเอาปุ่มเหล่านั้นย้ายไปอยู่บนจอกลาง ผมกลับมองว่าไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ และไม่ได้ช่วยให้แดชบอร์ดดู Clean ขึ้นขนาดนั้น มันอาจจะดีขึ้นในแง่ที่ถ้าคุณมีแฟน หรือมีนักบินผู้ช่วยด้านข้างแล้วจะให้มันช่วยปรับระบบต่างๆให้ แต่ถ้าคุณขับคนเดียว ผมว่าปุ่ม Hard switch แบบเดิม ยังไงก็ใช้ง่ายและเร็วกว่า เพราะคุณไม่ต้องเข้าเมนูปรับตั้งค่ารถ แม้ว่าจริงๆมันจะกดแค่ไม่กี่ Step ก็ตาม และที่ปวดหัวที่สุดก็คือระบบ Cruise Control แบบแปรผันความเร็วอัตโนมัติ Active Distance Assist DISTRONIC เนี่ยล่ะ จะตัดออกทำไม ..
ตอนที่ E-Class ไมเนอร์เชนจ์ E 300 e คันที่ผมขับก็ไม่มีอุปกรณ์นี้เหมือนกัน ในขณะนั้น เหตุผลที่ตัดออกน่ากุมขมับมากครับ คือฝรั่งทำขาด ออกแบบแผ่นรองป้ายทะเบียนมาใช้กับรถสเป็คไทย เม็กซิโก และออสเตรเลียแล้วดันไปบังทางเรดาร์ ทำให้ระบบใช้การได้ไม่เต็มร้อย คราวนี้ผมว่ายิ่งมาเจอกับวิกฤติ Chip ราคาแพง เขายิ่งมีเหตุผลที่จะไม่ใส่มา ไม่น่าจะใช่เหตุผลเดียวกับตอน E-Class หรอก เพราะคุณดูสิขนาด GLC 43 ที่เคยมีระบบนี้ ตอนนี้ก็ตัดออก แล้วไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องดีไซน์หน้ารถ ส่วนไอ้ที่ถอดไปนั้น ลูกค้าตัวจริงเดือดร้อนมั้ย? ต้องไปดู Feedback ในคลับเอา ส่วนตัวผมมองว่า มันทำให้สูญเสียความสบายเวลารถติดๆเขยิบขยึกขยักไป ซึ่งถ้าเป็นรถสามล้าน ตัดออก ผมยังพอทำใจได้ รถห้าล้าน ตัดชิ้นนี้ทิ้ง ผมไม่เห็นด้วย แต่ถ้ามันเกิดจากการที่ Chip สำหรับคุมเรดาร์ครูสมันไม่มีจริงๆ ไอ้แบบนั้นก็ต้องตบไหล่แล้วบอก “ทำใจว่ะมึง”
จอกลาง เปลี่ยนระบบปฏิบัติการใหม่ เรียกว่า MBUX 6.0 ซึ่งนอกจากจะมีกราฟฟิกหน้าจอต่างๆที่ดูทันสมัยขึ้นแล้ว ยังมีโปรแกรมจดจำ User Profile ที่ละเอียดกว่าเดิม ซึ่งระบบจะจดจำจากสมาร์ทโฟนของผู้ขับแต่ละคน หรือถ้าใช้ไม่ได้ก็เลือก User จากหน้าจอ รถจะจำแม้กระทั่งสถานีวิทยุโปรด วิธีการเซ็ต Equaliser ของเครื่องเสียง โทนสีของ Ambient Light นอกจากนี้ ระบบจะพยายาม “จำ” พฤติกรรมของคุณ เช่น ชอบฟังเพลงแบบไหน ขับรถแบบไหน (แต่ต้องตั้งให้ฟังก์ชั่น Allow Suggestion ทำงานนะครับ) ยิ่งคุณอยู่กับรถนานไป มันก็จะพยายามคาดเดาและนำเสนอสิ่งต่างๆให้กับคุณ
สีสันหน้าตาไอค่อนและเมนูต่างๆดูสดใสวัยรุ่นขึ้น แม้ว่าบางหน้าจอจะยังดูเหมือนออกแบบโดยเน้นความอลังการมากกว่าความง่ายในการมอง..อารมณ์คล้ายเดิมแต่มาในรูปลักษณ์ใหม่ มีลูกเล่นเอาใจวัยรุ่น เช่นพวกมาตรวัดอุณหภูมิน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ G-Meter และโชว์การขยับการเลี้ยวของล้อตามการขับจริงได้ มีระบบนำทางมาในตัว เชื่อมต่อแอพพลิเคชั่น Mercedes ME Connect และรองรับ Apple CarPlay/Android Auto
กล้อง 360 องศายังมีอยู่ ไม่ได้โดนตัดออกไป และยังมีระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ Parking Pilot ซึ่งสามารถเข้าจอดได้โดยที่เมื่อสแกนหาพื้นที่จุดต้องการจอดได้แล้วกดสั่งการ จากนั้น คุณนั่งดูเฉยๆเลยครับ รถจะคุมพวงมาลัย เบรก และเปลี่ยนเกียร์เดินหน้า/ถอยหลังของมันเอง แต่เพื่อความไม่ประมาทก็เอาเท้าซ้ายจ่อที่เบรกไว้หน่อยก็ดีครับ
ส่วนระบบเครื่องเสียงที่ให้มา เป็น Burmester Premium Sound System ซึ่งแม้จะไม่ให้มิติเสียงอลังการแบบ Bower & Wilkins ใน Volvo S80 ที่ผมเคยฟังมา ก็ยังถือว่ามีความใสของเสียงแหลมดี แต่เสียงช่วงกลางจะมาแปลกๆ ผมใช้เพลงเดียวกับที่ทดสอบรถคันอื่นๆ พบว่าเสียงเครื่องดนตรีแบบเขย่าบางอย่างเบา ไม่ค่อยชัด แต่เสียงบางอย่างที่ไม่เคยได้ยินในรถคันอื่นๆ กลับได้ยินชัดใน CLS ..คือมันก็เหมือนกับ E 300 e นั่นล่ะครับ แต่ผมรู้สึกว่าเสียงเบสจากลำโพงหลัง CLS แน่นกว่า E-Class นิดๆ ผมอาจจะคิดไปเองก็ได้
หน้าปัด 12.3 นิ้ว ขนาดน่ะเท่าเดิม แต่ผลพลอยได้จากการอัปเกรดระบบมีเดียในรถเป็น MBUX 6.0 ก็ทำให้รูปแบบของหน้าปัดเปลี่ยนไปเล็กน้อย เช่นในธีม CLASSIC จากเดิมตัวเลขขาว พื้นดำ เข็มแดง ก็มีการเปลี่ยนฟอนท์ตัวเลขให้ดูบางลง สเกลวัดรอบเปลี่ยน ค่าความเร็วสูงสุดเปลี่ยนจาก 280 เป็น 300kmh และมีแสงสีน้ำเงินเรื่อๆบางๆให้ดูหรูหราขึ้น ในธีม SPORT ก็ใช้สีกรอบมาตรวัดกับตัวเลขสีส้มเช่นเดิม แต่ปรับแบ็คกราวนด์ให้ดูเรียบตัดกับเข็มมากขึ้น ส่วนธีม PROGRESSIVE ของเดิม ก็ถูกแทนที่ด้วยธีม SUPERSPORT ซึ่งหน้าตาจะฉีกออกไปจากเดิม วัดรอบและความเร็วขึ้นเป็นแถบ ซึ่งอ่านค่าแบบละเอียดได้ยาก แต่ในการขับแบบในสนาม ที่คุณต้องมองแบบชำเลืองหางตา กลับจะสังเกตได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ก็ยังมี Head Up Display ซึ่งสามารถแสดงความเร็ว วัดรอบ การนำทางได้ และสามารถ Config ได้ว่าจะให้โชว์ค่าอะไรบ้าง อยากโชว์แค่ความเร็วอย่างเดียวก็ได้ ซึ่งรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ก็มี แต่แค่ย้ายการปรับตั้งค่าจากบนแผงหน้าปัดไปไว้ที่เมนูจอกลางเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น
****รายละเอียดทางวิศวกรรม****
CLS 53 ใช้เครื่องยนต์รหัส M256.930 ซึ่ง Mercedes นำมาใช้ครั้งแรกในปี 2017 เพื่อทดแทนเครื่อง V6 บล็อค M276 ซึ่งปัจจุบันยังลุงเค้ายังดิ้นอยู่ใต้ฝากระโปรงของ C 43 นั่นล่ะครับ Mercedes เป็นผู้ชำนาญการสร้างเครื่อง 6 สูบเรียงมานานตั้งแต่ปู่ยังไม่เกิด จนกระทั่งเมื่อปี 1997 พวกเขาก็เลิกทำเครื่อง 6 สูบเรียง ไปคบกับเลย์เอาท์แบบ V แทน เพราะตอนนั้นเบนซ์มองว่าการทำเป็นบล็อค V เพราะต้องการให้เครื่อง V6 กับ V8 ของค่ายตัวเองใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ใช้ดีไซน์ร่วมกันให้ได้มากที่สุด ก็เลยทำให้ M112 เป็นเครื่อง V6 ที่ดันกาง 90 องศาเหมือนเครื่อง M113 V8 และใช้แคมชาฟท์เดี่ยวต่อฟากฝาสูบ มี 3 วาล์วต่อสูบ และ 2 หัวเทียนเหมือนกันด้วย M272 และ M276 ที่ตามมาในภายหลังก็เป็น V6 90 องศาเหมือนกัน แต่ใช้แคมชาฟท์คู่ต่อฟากฝาสูบและ 4 วาล์วต่อสูบแทน
การกลับไปใช้รูปแบบ 6 สูบเรียง ไม่ได้ทำเพื่อนักเลงรถที่ชอบเครื่อง JZ หรือเพื่อสุ้มเสียงเอกลักษณ์เฉพาะแบบ 6 สูบเรียงหรอกครับ แต่เพราะโลกยานยนต์ในสมัยใหม่ที่เครื่อง 8 สูบ 12 สูบมันกำลังจะตาย เบนซ์ก็เลยต้องพยายามทำให้เครื่องยนต์ 4 สูบเรียงกับ 6 สูบเรียงแชร์ของกันใช้ให้ได้มากที่สุด แม้แต่ความจุกระบอกสูบก็ 500 ซี.ซี. เท่ากัน แต่สิ่งที่เบนซ์คิดพัฒนาต่อยอดจาก 6 สูบเรียงรุ่นปู่ก็คือการนำระบบไฟฟ้า 48V เข้ามาใช้ ซึ่งกำลังไฟนี้จำเป็นต่อซูเปอร์ชาร์จไฟฟ้าของ Borg Warner ซึ่งหมุนได้ 70,000 รอบต่อนาที มันสามารถสร้างพลังบูสท์ 7 psi ได้ภายใน 0.3 วินาที ส่วนเทอร์โบของจริงที่เป็นแบบ Twin-scroll นั้นจะสร้างบูสท์ได้ 29 psi
นอกจากนี้ยังมีการนำมอเตอร์แบบ Mild-hybrid มาติดตั้ง ซึ่งทำหน้าที่ในการสตาร์ทเครื่อง เดินเบา สร้างกำลังไฟให้ซูเปอร์ชาร์จไฟฟ้า และช่วยเสริมแรงขับได้ในช่วงสั้นๆ (เท่าที่กำลัง 22 แรงม้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไออ้อนลูกกะปิ๋ว 1 kWh จะให้ได้) ตลอดจนช่วยให้สามารถดับเครื่องในช่วยปล่อยไหล แต่ติดเครื่องได้ไวแบบไร้รอยต่อเพื่อผลในด้านการลดมลภาวะ แต่ตัวมันเองไม่มีแรงพอที่จะขับเคลื่อนรถหรอกครับ แน่นอนว่าไม่มี EV Mode แบบรถไฮบริดตัวจริง เขาถึงเรียกว่า Mild-Hybrid ไง ส่วนทางเบนซ์เอง เขาเรียกระบบนี้ว่า ISG-Integrated Starter/Generator
แล้วข้อดีอีกอย่างของ ISG คือ ไม่ต้องมีไดสตาร์ท (ลองสังเกตดูครับ เสียงเวลาสตาร์ท CLS 53 จะติดพรึ่บขึ้นเหมือนรถไฮบริดเดินเครื่อง) ไม่ต้องมีไดชาร์จเพราะมอเตอร์สร้างไฟเองอยู่แล้ว และในเมื่อพวงมาลัยเป็นแร็คไฟฟ้า ก็ไม่ต้องมีปั๊มเพาเวอร์ คอมเพรสเซอร์แอร์ก็เป็นแบบไฟฟ้า วิศวกรของเบนซ์เลยออกแบบให้เครื่อง M256 ไม่ต้องมีชุดสายพานหน้าเครื่อง ทำให้ตัวเครื่องสั้นลงกว่า 6 สูบเรียงยุคก่อน
เครื่องยนต์ M256.930 มีความจุ 3.0 ลิตร 2,999 ซีซี. เทอร์โบ กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 83.0 x 92.4 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 พละกำลัง 435 แรงม้า ที่ 6,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 520 นิวตันเมตร ที่ 1,800 – 5,800 รอบ/นาที ส่วนระบบมอเตอร์ไฟฟ้า EQ Boost นั้น สร้างกำลังเพิ่มอีก 22 แรงม้า และ แรงบิดอีก 250 นิวตันเมตรแต่จะมาช่วยเป็นบางช่วงของการกดคันเร่งสั้นๆ ทำให้ค่าแรงม้าและแรงบิดหลัก ไม่มีการแจกแจงแยกกันระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์เหมือนพวกรถ Plug-in Hybrid
CLS 53 ใช้ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ AMG Speedshift TCT 9G 9 จังหวะ ซึ่งส่งกำลังผ่านทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ตัวเกียร์นั้นก็คือการนำเอาเกียร์ 9G-Tronic ปกติในรถทั่วไปของ Mercedes มาปรับแต่งให้เหมาะกับรถสมรรถนะสูง และจูนกล่องและวาล์วบอดี้ให้มีการเปลี่ยนเกียร์ได้คมขึ้น ไวขึ้นเมื่อใช้โหมด SPORT หรือ SPORT+
อัตราทดเกียร์ มีข้อมูลดังนี้
- เกียร์ 1 5.354
- เกียร์ 2 3.243
- เกียร์ 3 2.252
- เกียร์ 4 1.636
- เกียร์ 5 1.211
- เกียร์ 6 1.000
- เกียร์ 7 0.865
- เกียร์ 8 0.717
- เกียร์ 9 0.601
- เกียร์ถอยหลัง 4.798
- อัตราทดเฟืองท้าย 3.060
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC+ ของ CLS 53 เป็นแบบที่จูนมาสำหรับรถ Mercedes-AMG ซึ่งจะมีความไว และห้าวในการถ่ายทอดกำลังมากขึ้นในพวกโหมดสปอร์ตทั้งหลาย การทำงานของระบบจะต่างจาก 4MATIC ธรรมดาของ C43 ซึ่งใน C43 นั้น จะมีการกระจายกำลังหน้า/หลัง 31/69 และปรับแปรผันเป็น 50/50 ได้แต่ไม่ว่าจะเป็นในสภาพใด จะมีการส่งแรงขับไปที่ล้อคู่หน้าตลอดเวลา มากหรือน้อยอีกเรื่องนึง
ส่วน 4MATIC+ ของ CLS 53 นั้น จะปรับอัตราการส่งกำลังไปด้านหน้า แปรผันตามการขับขี่มากกว่า และถ้าหากว่าคุณขับรถที่ความเร็วคงที่ ไม่มีการกดคันเร่งเพิ่ม ระบบจะส่งกำลังไปล้อหลัง 100% เพื่อลดการสูญแรงขับเคลื่อน หรือเวลาห้อทำท้อปสปีด เมื่อความเร็วสูง เกียร์สูง และ ECU คำนวณแล้วว่า ไม่น่าจำเป็นต้องใช้ขับสี่ มันก็จะพยายามส่งกำลังไปที่ล้อหลังเช่นกัน
ช่วงล่างของ CLS 53 เป็นแบบ AMG Ride-Control PLUS Suspension ซึ่งไอ้ PLUS ที่เพิ่มมานั้นหมายถึงการมีระบบรองรับน้ำหนักเป็นถุงลม (AIRMATIC) แทนสปริงเหล็กอย่างใน C 43 นั่นเอง รูปแบบของช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบอิสระมัลติลิงค์ (Four-link) พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบอิสระมัลติลิงค์ (Five-link) พร้อมเหล็กกันโคลงเช่นกัน สามารถปรับความแข็งได้ 2 ระดับคือ Comfort กับ Sport แต่ไม่ใช่ว่ามันจะมีความหนืดอยู่แค่ 2 ระดับนะครับ ความหนืดมันแปรผันไปตามสไตล์การขับของเรา พูดง่ายๆก็คือ Comfort = แปรผันแบบเน้นไปทางนุ่ม ส่วน Sport=แปรผันแบบเน้นไปทางหนึบแน่น
ประโยชน์ของการเป็น AIRMATIC คือ ช่วงล่างสามารถปรับความสูงได้ 3 ระดับ ซึ่งรถจะปรับความสูงไปตามความเร็วและโหมดการขับขี่ที่คุณเลือกโดยอัตโนมัติ และในกรณีที่ต้องการขึ้น/ลงทางชัน คุณก็สามารถกดสั่งจากจอกลาง เพื่อยกระดับความสูงของช่วงล่างได้ คล้ายๆกับระบบยกหน้ารถในพวกซูเปอร์คาร์นั่นล่ะครับ นี่คือความอู้ฟู่ที่คุณได้จากการซื้อ CLS 53 แล้วค่อยไปงีดรับประทานอีกทีตอนถุงลมรั่วแล้วกัน
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นแบบแร็คแอนด์พิเนียน ผ่อนแรงด้วยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า ปรับจูนน้ำหนักและการตอบสนองโดยวิศวกร AMG ส่วนระบบเบรกนั้น เป็นแบบดิสก์ 4 ล้อ ชุดเบรกหน้า ใช้คาลิเปอร์แบบ 4 พอท คู่กับจานเบรกมีครีบเจาะรูขนาด 370 มม. ส่วนด้านหลัง เป็นคาลิเปอร์ 1 พอท คู่กับจานเบรกมีครีบระบายความร้อนแต่ไม่เจาะรู ขนาด 360 มม.
ยางคู่หน้า 245/35 R20 ส่วนยางคู่หลังเป็นขนาด 275/30 R20 สนับสนุนโดย Michelin Pilot Sport 4S สร้างสรรค์ผลงานดีมีคุณภาพอีกแล้วครับท่าน
*****การทดลองขับ******
ผมขับ CLS 53 รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์มาแล้วทั้งบนไฮเวย์ มอเตอร์เวย์ และสนามแข่งที่บุรีรัมย์ พอจำการตอบสนองของรถได้ ในครั้งนี้ เมื่อทางเบนซ์บอกว่าเครื่องยนต์ เกียร์ และช่วงล่างไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ผมจึงแค่ Recheck ว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิมจริงๆ และสิ่งที่ได้เพิ่มมาอีกอย่างคือการลองขับไปตามโค้งบนถนน B-road ที่เปียกชื้น ความเร็วไม่สูง แต่สาดแรงๆ เผื่อจะได้เจออะไรใหม่ๆ เรียนรู้อุปนิสัยตัวรถมากขึ้น
อย่างแรก เราลองเช็คอัตราเร่งกันหน่อยดีกว่า
0-100 kmh
Comfort Mode – 5.4 วินาที / Sport + Mode – 5.3 วินาที
80-120 kmh
Comfort Mode – 4.05 วินาที / Sport + Mode 3.55 วินาที
คนที่จำตัวเลขเก่ง อาจจะพอนึกได้ว่า มันก็เร็วกว่า C 43 นิดเดียวเองนี่หว่า แต่คุณเอ๋ย นี่คือรถที่หนักกว่า C 43 ราว 200 กิโลกรัมนะครับ ดังนั้นถึงแม้แรงบิดสูงสุดจะเท่ากันที่ 520 นิวตันเมตร แต่แรงม้าที่ต่างกัน 45 ตัว มันก็พยายามทำงานของมันอย่างเต็มที่ ในโหมด Sport + ผมเอ็นจอยสุดๆกับทั้งอัตราเร่ง และเสียงเครื่องยนต์ที่คำรามห้าว ดุดัน แต่กลับคล้ายเครื่อง V6 ใน C 43 มากกว่าที่เราคิด ในรถแบบนี้ เจ้าของตัวจริงมักจะไม่สนอัตราเร่งในย่านที่ผมบอกข้างต้นหรอกครับ เขาว่ากันยาวกว่านั้น รถอย่าง CLS 53 คือรถที่พอวิ่งอยู่ 100 kmh คุณกดคันเร่งประมาณ 5 วินาทีก็บินอยู่ที่ 160 แล้ว และถ้ามีทางยาวให้คุณแช่ต่ออีกสัก 5-6 วินาที 200 kmh ก็มาอย่างง่ายดาย ความเร็วสูงสุด ก็น่าจะเท่าเดิมคือล็อคที่ 257
ถึงแม้ทุกวันนี้ เราจะมาถึงช่วงเตรียมสั่งลารถสันดาปภายใน และรถ EV ใหม่ๆก็สามารถสร้างอัตราเร่งที่น่าตื่นตระหนกได้ในราคาที่ถูกกว่านี้ แต่อรรถรสจากเสียงเครื่องยนต์ การเปลี่ยนเกียร์ที่มีความรู้สึกว่ามันมีกลไกอะไรสักอย่างทำงานก๊อกแก๊กของมันเพื่อถีบรถไปข้างหน้า เป็นสิ่งที่พวกเราวัยกลางคนคงอดคิดถึงไม่ได้ เหมือนกันกับนาฬิกา ซึ่งสมัยนี้สมาร์ทวอทช์ บอกเวลาตรงอย่างสุดตีน มีลูกเล่นมากมาย ทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ทำไมบางคนยังสวมใส่นาฬิกาไขลานหรือออโต้เมติกแพงๆ เพราะสำหรับบางคน มันคืออารมณ์ความรู้สึก มากกว่าการเถียงกันว่าใครแพ้ชนะเรื่องไหน
เข้าสู่ช่วงถนนโค้ง..ซึ่งไม่ใช่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ในภาพข้างบนนี่เราขับเพื่อถ่ายรูปเฉยๆ) ในอุทยานไม่ใช่ที่อัดรถเล่นครับ เรามีที่ข้างนอกมากมายที่เราจะทดสอบรถได้โดยไม่โดนช้างป่าไล่กระทืบ อีกอย่างนึงคือเสียง CLS 53 เดิมๆเวลาเปิด Sport + แล้วอัดเต็มตีนนี่น่าจะทำฝูงลิงตื่นตระหนกได้ ไปที่อื่นเถอะ
การตอบสนองของรถ พูดง่ายๆว่า คอนเฟิร์มครับ เหมือนเดิมทุกประการ พวงมาลัยมีน้ำหนักต้านมือกว่า Mercedes ประเภทคนจ่ายเงินนั่งเบาะหลังแบบรู้สึกได้ และน่าจะมีการตั้งศูนย์พวงมาลัยที่ต่างกัน เหมือนกับรถของ AMG นี่ พวงมาลัยจะมีนิสัยพร้อมเลี้ยวอยู่ตลอดเวลา อัตราทดเฟืองตั้งมาค่อนข้างไว หมุนจากศูนย์กลางไปขวาสุดแค่ 1 รอบนิดๆก็หมดแล้ว ขับบนเส้นทางโค้งถนนสายรอง โคตรสนุก! น้ำหนักพวงมาลัยที่ต่างจากเบนซ์สเป็คแท็กซี่โรงแรม อีกส่วนก็น่าจะมาจากยางหน้ากว้าง และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ทำให้พวงมาลัยมีแรงตึงพยายามดึงตรงชัดเจน แต่ไม่ได้ถือว่าน่ารำคาญในความคิดผม
ช่วงล่าง AMG Ride Control PLUS ในโหมด Comfort สามารถซับแรงกระแทกจากหลุมบ่อเล็กๆได้ดีสำหรับรถใหญ่ยางบางเฉียบ แต่คุณคงไม่คาดหวังให้มันซับแรงดีเท่า E 220 ดีเซลหรอก เพราะยังไงก็ต้องมีอารมณ์สปอร์ตเหลือไว้บ้าง และถ้าปรับเป็น SPORT หรือ SPORT+ ก็จะแข็งสะเทือนขึ้นแบบรู้สึกได้ แต่ก็ควบคุมอาการยวบของตัวถังได้ดี อย่างที่ผมเคยทดสอบในสนามบุรีรัมย์มาแล้ว CLS 53 เดิมๆ อาจจะไม่เพียงพอต่อ Lewis Hamilton ในการขับแบบแข่งทำเวลา แต่สำหรับคนทั่วไปที่ชื่นชอบ Performance Car มันสามารถรับงานสนามแบบนั้นได้ดีพอ
สิ่งเล็กๆที่ดูเหมือนไม่สำคัญอย่างการเพิ่มปุ่มปรับโหมดที่พวงมาลัย ทำให้ใช้งานระหว่างขับได้ง่ายขึ้นมาก รุ่นเดิมที่มีแต่สวิตช์เล็กๆนั้นกว่าจะควานหาเจอสวิตช์ ปรับโหมดเสร็จ ข้าศึกแม่งไปถึงโค้งไหนต่อไหนแล้วไม่รู้ สำหรับการขับบนถนนสายรองเพื่อความสนุกและปลอดภัย ผมรู้สึกว่าคุณปรับไว้แค่โหมด SPORT ธรรมดา การตอบสนองของรถโดยรวมดูจะบาลานซ์ดีระหว่างความสนุกกับความปลอดภัย เวลาเติมคันเร่งกลางโค้ง จะรู้สึกได้ว่าล้อหน้ามีบทบาทช่วยในการดึงรถออกจากโค้งและตัวรถพยายามรักษาไลน์ให้ได้มากที่สุด
ปรับไปโหมด SPORT+ ก็ได้นะ ถ้าคุณมีประสบการณ์ขับรถระดับนี้ (คือ..หมายถึง มี ที่แปลว่ามีจริงๆ ไม่ใช่ทึกทักไปเองว่ามึงอ่ะมี) รถจะตอบสนองในแบบพร้อมหาเรื่องตลอดเวลา แล้วยังลดการ์ดการทำงานของระบบควบคุมการทรงตัวและกันลื่นไถล ซึ่งถ้าเป็นในสนามแข่ง แทร็คร้อน ยางเกาะดี มันจะสนุก แต่บนถนนสายรองที่บางจุดผิวถนนชื้น ระวังไว้ด้วยนะครับ ระหว่างเข้าโค้งอยู่ ผมลองแต๊บคันเร่งลงไปดู ท้ายรถสะบัดจนหน้ารถหันไปหาข้างทาง ตอนออกนี่เหมือนรถขับหลัง แต่ตอนแก้คืน ไม่ต้องหักพวงมาลัยสวนทางเยอะครับ ขวางลำกันมาเยอะแล้วกับนิสัย 4MATIC+ นี่ เอาคันเร่งไว้เท่าเดิมแหละ แค่คืนพวงมาลัยให้ตรงแล้วบิดสวนทางเติมอีกนิดหน่อย แค่ประมาณไม่เกินคืบนึงจากตำแหน่งถือตรง เดี๋ยวมันก็กลับมาอยู่บนทางของมันเอง
แป้นเบรก ให้ความรู้สึกหนักปานกลางถ้าคุณขับใช้งานในเมือง ทำให้ไม่รู้สึกเมื่อยเท้าจนเกินไป อาการเบรกตอบสนองเหมือนรถเบนซินธรรมดา ไม่ใช่เดี๋ยวไหลเดี๋ยวหน้าทิ่มแบบรถไฮบริดเสียบปลั๊กอย่าง S 580 e นั่นก็เพราะ CLS 53 เป็น Mild Hybrid นั่นเอง
แต่ในการขับแบบสนามแข่ง ยิ่งคุณกด เบรกจะยิ่งต้านเท้าขึ้นเรื่อยๆ ในจุดที่ผมกดเบรกแรงขนาดนี้รถญี่ปุ่นทั่วไป ABS จะทำงานแล้ว จอกลางของ CLS บอกว่าไอ้แพนมึงอ่ะเพิ่งจะใช้แรงเบรกแค่ 60% เอง ส่วนความสามารถในการยับยั้งความเร็ว ถ้าหากขับแบบในสนามที่ไม่ค่อยมีสปีดเกิน 200 ระบบเบรกเดิมเอาอยู่ครับ (แต่ถ้าวิ่งหลายๆรอบติดก็จะมีอาการบ้าง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสเป็คผ้าเบรกก็เหมือนตัวก่อนไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งถ้าหากคุณเป็นพวกที่นิยมความเร็วเกิน 200 แล้วเบรกบ่อยๆ ยังไง ผ้าเบรกสเป็คซิ่งต้องมา หรืออัปเกรดเบรกหน้า/หลังแบบโหดไปเลยก็มั่นใจกว่า
ให้คิดไว้ก่อนครับว่า มันไม่ใช่รถสปอร์ตตัวเบา 1.4-1.5 ตัน มันคือรถห้าเมตรหนักสองตันที่พยายามจะสปอร์ต มันเร็ว แรง และไปได้ไวมากบนไฮเวย์ทางเรียบ และทำสปีดได้ดีในขุนเขาแบบวิ่งตามไลน์ แต่ถ้าไอเดียในความสนุกของคุณก็การดริฟท์ยาวๆ กวาดท้ายเล่นในขุนเขา CLS 53 ไม่น่าจะสร้างมาเพื่องานแบบนั้น รบกวนไปซื้อ MX-5 หรือ BRZ มาเล่นเถอะครับ
*****บทสรุปการทดสอบ*****
Likes: หล่อกระตุกจิต แรงกระชากใจ ภายในบรรยากาศเลานจ์ เอาไว้ขับทุกวันก็ไม่เหนื่อย สนุกแบบมั่น หรือแบบขนลุก แล้วแต่เท้าคุณ
Dislikes: ซื้อ CLS ห้ามบ่นเรื่องพื้นที่ภายใน เวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ตัด Adaptive Cruise Control ออก แม้จะชดเชยด้วย Night Package แต่ราคาก็แพงขึ้น
Mercedes Group AG ประกาศมานานแล้วว่าหลังจากปี 2030 เป็นต้นไป รถของพวกเขาในตลาดหลักจะเป็น EV ทั้งหมด ประกอบกับข่าวที่ว่าในไม่นานนี้ CLS-Class ก็จะเลิกผลิต เช่นเดียวกับ E-Class Coupe และ C-Class Coupe ซึ่งผมคิดว่า เนื่องจากตลาดกลุ่มนี้สร้างยอดขายจริงได้น้อย พวกเขาก็อาจนำรุ่นต่างๆเหล่านี้ไปรวมเป็น “CLE” แล้วทำบอดี้คูเป้สองกับสี่ประตูไปเลย (อันนี้เดา)
นั่นก็แปลว่า CLS 53 ที่คุณเห็นอยู่นี้ จะเป็น CLS รุ่นสุดท้าย และอาจเป็นรถยนต์สันดาปภายใน (คือมีมอเตอร์แหละแต่เป็นมอเตอร์กะปิ๋ว ทำงานแบบ Mild-Hybrid) รุ่นท้ายๆของเบนซ์ เครื่องยนต์ M256 นี่ก็อาจจะเป็นวิวัฒนาการสุดท้ายแล้วเช่นกันก่อนจะเข้าสู่ยุค EV
ดังนั้น CLS 53 นี่ก็เป็นทั้ง A Sweet Good-Bye และ Good Buy ไปในตัว เพราะในงบประมาณหกล้าน ถ้าคุณยังอยากได้ยินเสียงเครื่องยนต์และท่อไอเสีย มันคือรถที่มีมาดอลังการที่สุด รูปทรงโดดเด่นสะกดตา ดีไซน์ภายในเล่นแสงสีซะดูแพงตามสไตล์เบนซ์ และเป็นรถที่ไปได้เร็วทั้งทางตรง และทางโค้ง หรือแม้กระทั่งตอนรถติดอยู่สาธรหลังอาทิตย์ตกดิน มันก็เป็นรถที่ขับง่ายเข้าใจง่ายมากเท่าเบนซ์สเป็คธรรมดานั่นแหละ ต่างกันแค่ช่วงล่างจะสะเทือนกว่าหน่อย เรื่องการโดยสาร ผมคิดว่าคนที่มอง CLS นั้น รู้อยู่แล้วว่าเขาจะได้รับอะไรจากหลังคาที่เตี้ยปานรถสปอร์ตแบบนั้น ถ้าคุณไปลองนั่ง แล้วคุณรับได้ ก็โอเคแหละ
สิ่งที่ออกจะน่าเสียดายหน่อยก็คือ การจากไปของระบบ Active Distance Assist DISTRONIC ซึ่งโคตรกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติไม่มีวิกฤติชิพแล้วเบนซ์ตัดออกนี่ผมจะบอกเลยว่าไม่เห็นด้วย 100% แต่ในเมื่อมันไม่ได้ตัดออกแค่รุ่นนี้รุ่นเดียว รถที่เคยมี อย่าง GLC 43 ก็ตัดออก รถที่มาใหม่อย่าง GLE 53 ก็ไม่มี คู่แข่งอย่าง Audi ทั้งหลาย ก็ไม่มีระบบเรดาร์ครูสแบบนี้ ก็น่าจะเกิดจากวิกฤติชิพขาดแคลนจริงๆ ก็คงได้แต่แสดงความเห็นว่าน่าเสียดายอุปกรณ์นี้ เพราะมันจะช่วยให้การขับทางไกล หรือขับในเมืองแต่รถติดหนาแน่นแบบจะไปก็ไม่ไป จะหยุดก็ไม่ยอมหยุด สบายขึ้นนะ
แต่เราก็เห็นความพยายามในการให้สิ่งทดแทนส่วนที่เสียไป เช่นการให้ชุดแต่ง Night Package ภายมา การอัปเกรดวัสดุบางจุดภายในไปใช้ตัวเลือกที่แพงขึ้น การปรับเปลี่ยนพวงมาลัยพร้อม Mode Switches แบบจอสี พูดง่ายๆว่า เออ ยอมให้ก็ได้วะ เพราะสิ่งที่ให้มาเพิ่มก็ไม่เลว ส่วนเรื่องรูปลักษณ์กระจังหน้า กับล้อ แล้วแต่คุณผู้อ่านคิดกันเลยครับ ส่วนตัวผมชอบของรุ่นเดิมมากกว่า เราคิดต่างกันได้แหละ ไม่ต้องด่ากันหรอก
ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่ปกติไม่เคยแตะเรดาร์ครูสอยู่แล้ว หรืออาจจะเกิดมาแทบไม่เคยใช้ครูสคอนโทรลเลยด้วยซ้ำ จุดที่จะวัดว่า CLS 53 ใหม่คุ้มกว่ารุ่นเดิมแค่ไหน อยู่ที่ราคา ซึ่งเมื่อมันเพิ่มมาจากรุ่นเดิม 220,000 บาท ทำให้ผมรู้สึกว่าความคุ้มค่าต่อเม็ดเงินมันหายไปนิดหน่อยเมื่อเทียบกับรุ่นที่แล้ว หากมันแพงขึ้นราวแสนบาท DISTRONIC หายไป แต่ได้สิ่งต่างๆภายในกับ Night Package มาแทน ผมมองว่าแบบนั้นถึงจะพอรับได้
ที่สำคัญที่สุดคือ คุณเลือก CLS 53 เพราะมีส่วนประกอบทั้งในเรื่องแรง และเรื่องดีไซน์ที่คุณต้องการรถรูปทรงไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่อง แต่ยังไม่มีอารมณ์จะซื้อรถสปอร์ตสองประตู นี่คือสิ่งที่แรงสุด หรูสุด ที่คุณจะหาได้จากเงินหกล้าน เพราะถ้าคุณยึดติดกับแบรนด์ และไม่ยึดติดกับคุณสมบัติรถ ราคานี้คุณเอื้อมแตะ Porsche ได้แล้ว แต่มันจะไม่ใช่ Porsche ทรงเตี้ย ระดับ 400 ม้า และไม่ได้ออพชั่นระดับเท่า CLS 53 แน่นอน ส่วนคนที่มอง Taycan ตัวเริ่มต้นหกล้านกว่าบาท ผมว่าเรากำลังพูดถึงลูกค้าที่มีรสนิยมต่างกันไป ถ้าใจคุณไป EV แล้ว ก็ไป EV เลยดีกว่า หรือรอดูผลิตภัณฑ์กลุ่ม Mercedes-EQ มาเทียบก็ได้
ถ้าไม่ใช่ CLS 53 ตัวเลือกในกลุ่มรถพันธุ์สมรรถนะ ที่มีประตู 4 บานเป็นอย่างต่ำ ก็น่าจะเหลือ BMW M340i ซึ่ง ราคาถูกกว่ากันราวล้านห้า อัตราเร่งช่วง 0-200 พอไล่กันได้ด้วย ถ้าวัดกันที่ความเร็วและราคาเพียงแค่สองหัวข้อ มันคุ้มกว่า CLS 53 แบบชัดเจน หรือถ้ามองไปที่ฝั่งค่ายสี่ห่วง ก็มี RS 4 Avant ซึ่งด้วยตัวรถที่เล็กและเบากว่า สวนทางกับพลังม้าที่เหนือกว่า ไม่ต้องสืบว่า RS 4 เร็วกว่าเห็นๆ แต่ก็มากับค่าตัว 5,999,000 ซึ่งแพงกว่า CLS ไปอีก ที่สำคัญคือ ทั้ง RS 4 และ M340i ต่างก็เป็นรถในสไตล์ Sleeper ที่แรงไม่ธรรมดา แต่ตัวถังธรรมดา ในขณะที่บางคนชอบรถแบบนี้มาก (เช่นผม) ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าที่อยากได้รถทรงต่างจากซาลูนหรือแวก้อนธรรมดาเช่นกัน
และนั่นก็คงเป็นจุดที่ทำให้ CLS 53 ไมเนอร์เชนจ์ ยังคงมีจุดเด่นในตัวของมัน แม้ว่าราคาปัจจุบันจะสูงขึ้น เพราะแม้แต่ในหมู่คนที่รักความเร็ว..ความเร็วก็ไม่ใช่แค่ปัจจัยเดียวในการจ่ายเงินหลายล้านเพื่อซื้อรถเสมอไป
แต่ไม่ว่าคุณจะไปจบกับตัวแรงคันไหนภายในตัวเลือกที่ผมกล่าว รถทั้งหมดก็เปรียบได้กับคำกล่าวอำลาเสียงคำรามแบบที่คุณคุ้นเคยจากเครื่องสันดาปภายในชั้นเลิศ บอกลาสิ่งที่คุณคุ้นเคยมาตลอดชีวิตด้วยอารมณ์ที่ปรารถณาดีอย่างสุดซึ้ง เช่นเดียวกับจุมพิตสุดท้ายและกอดร่ำลาแฟนของคุณที่จบมหาลัยแล้วต้องเลิกกันเพราะจะไปอยู่กันคนละประเทศ คุณรู้ว่าการจากลาเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด
แต่มันจะเป็นนาทีที่คุณอยากดึงเอาไว้ในใจคุณ ให้นานที่สุดแม้รู้อยู่ว่าทำไม่ได้ก็ตาม
+++++++++++++++++++++++++++++++
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท Mercedes-Benz (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในประเทศ เป็นของ Mercedes-Benz Germany/Thailand และผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com 18 กุมภาพันธ์ 2022
–
Pan Paitoonpong//Copyright (c) 2022
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com 20 FEB 2022