ความรัก สำหรับบางคน ตอนที่เราวิ่งไล่ล่าหามัน เรากลับไม่มีทางจับมันได้ เปรียบดั่งการพยายามจับเงาของตนเอง แต่เมื่อคุณหยุด แล้วเลิกพยายามตามหามัน คุณอาจพบว่า มันเข้ามาหาคุณเอง โดยที่ไม่รู้ตัว เริ่มจากการไม่คิดในสิ่งใดเลย จนกระทั่งเริ่มเมียงมอง และค่อยๆมองเห็นคุณงามความดีกันมากขึ้นเรื่อยๆ
จากคนรู้จัก กลายเป็นเพื่อน…จากเพื่อน กลายเป็นเพื่อนสนิท..จากเพื่อนสนิท กลายเป็นแฟน..จากแฟน กลายเป็นเจ้าหนี้ชีวิตที่ผ่อนชำระเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด แต่ก็ใช่ว่าคุณอยากให้มันหมดซะทีไหน กับคนที่พิเศษหนึ่งคน คุณอาจสมัครใจที่จะผ่อนหนี้ชีวิตนี้ไปจนกว่าชีวาจะหาไม่
สำหรับบางคน รักเป็นแบบนี้ คุณเคี้ยง เจ้าของกิจการคาร์แคร์ที่ผมสนิทด้วยก็เป็นเช่นนั้น เขากับภรรยาพบกันครั้งแรกในแบบเบลอๆ ต่างคน ต่างเป็นเพื่อนของเพื่อนของอีกคนที่ติดสอยห้อยตามมานัดกินข้าวกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เคี้ยงก็เริ่มสร้างสะพานข้ามแยก ขุดอุโมงค์ตรงไปบ้านคุณผู้สาวด้วยตนเอง จากการนั่งรถเมล์ไปเจอกัน ก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นการแว๊นไปส่งหน้าบ้าน ในสมัยนั้น เคี้ยงไม่ใช่มนุษย์โรแมนติก แต่เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย (ไปงานแต่ง..ลองสังเกตดูนะครับ 8/10 ของเจ้าสาวจะบอกว่าชอบแฟนตัวเองตรงที่ความเสมอต้นเสมอปลาย)
ภรรยาเคี้ยง ซึ่งต่อมาผมเลื่อนยศให้เสมือนหนึ่งน้องสาวแท้ๆ มักจะเล่าให้ฟังว่า เคี้ยงเคยบอกว่าเขาชอบเธอในจุดไหน คุณผู้สาวก็จะยิ้มแฉ่ง ก่อนถามว่า “แล้วชอบตรงไหนอีก” เคี้ยงก็สามารถตอบได้แบบเรื่อยๆ ไม่ว่าจะโดนถามกลับกี่ครั้ง มันก็คงมีแต่ความรัก ที่เติบโตจากเล็กไปใหญ่ ช้า แต่มั่นคง ที่จะทำให้ผู้ชายหนึ่งคน สามารถจำข้อดีของผู้หญิงหนึ่งนางและอธิบายได้ไม่รู้จบ
เปล่าหรอกครับ ผมไม่ได้กำลังบอกว่าผมตกหลุมรักเจ้า CX-8 คันนี้เข้าแล้วเต็มใบแต่อย่างใด อันที่จริงมันยังห่างไกลคำว่ารักอยู่มาก แต่ความรู้สึกที่ผมมีต่อมันนั้น กำลังค่อยๆเริ่มก่อตัวไปในทางที่ดีขึ้นชนิดที่ว่า หากผมอายุ 40 และมีครอบครัวแล้ว (และแน่นอน ต้องมีเงินด้วย ไม่งั้นก็ฝันแห้ง) CX-8 น่าจะเป็นตัวเลือกที่มาในอันดับต้นๆ ไม่ใช่เพราะหลงใหล แต่เพราะตัวรถเอง เริ่มสร้างความรู้สึกที่ดีในใจผมอย่างช้าๆ
ทั้งๆที่จริงแล้ว ครั้งแรกที่ผมเห็นในข่าวจากการเปิดตัวเมื่อ 14 กันยายน 2017 ผมไม่รู้สึกประทับใจมันเท่าไหร่ โดยเฉพาะรูปทรงของรถซึ่งซีกหน้าก็สวยดีอยู่ แต่ซีกหลังของรถ แลดูไม่สมส่วน อารมณ์คล้ายๆกับ Mercedes-Benz S-Class ตัวถัง 126 ซึ่งเมื่อเป็นรุ่นฐานล้อสั้น ดูปราดเปรียวกำยำ แต่พอเป็นรุ่นฐานล้อยาวกลับจะดูชะม้อยชะม้ายอุ้ยอ้ายพิลึก ยิ่งได้เห็นตัวจริงครั้งแรกในงาน Tokyo Motorshow 2017 ผมยิ่งรู้สึกว่า ผู้หญิงคนนี้คงผ่านมา แล้วก็ผ่านไปเลย คงไม่ได้ปะกันอีกหรอก ไม่รัก ไม่ปลื้ม CX-5 สวยกว่าเยอะ
แต่มันเกิดมาอย่างมีจุดประสงค์สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้าชาวญี่ปุ่น เพราะ SUV เรือธงของค่ายอย่าง CX-9 รุ่นใหม่ ก็มีขนาดใหญ่บ้านบึ้ม ยาวมากกว่าห้าเมตร กว้างเกือบสองเมตร หากนำไปขายในญี่ปุ่น จะต้องเสียภาษีแพงมาก ส่วน CX-5 นั้น เป็น SUV ควบ Crossover ซึ่งเน้นความปราดเปรียวเหนือประโยชน์ใช้สอย ทำให้มีข้อเสียเปรียบคู่แข่งอย่าง Honda CR-V และ Nissan X-Trail ซึ่งมีเวอร์ชั่น 7 ที่นั่งและสามารถบรรทุกสัมภาระได้เยอะกว่า
ทีมวิศวกร Mazda ก็เลยสร้างแพลทฟอร์ม Skyactiv Chassis ขึ้นมาใหม่สำหรับ CX-8 โดยกระทำการ “Frankenstein” ยำเอาส่วนต่างๆของรถผู้พี่ผู้น้องมารวมกัน โครงสร้างแกนกลางของรถ มาจาก CX-9 ชิ้นส่วนหน้ารถด้านข้าง คานเครื่องยนต์ ผนังห้องเครื่องยนต์ มาจาก CX-5 แต่ทั้งสองอย่างนี้จะเอามาแปะกันเฉยๆก็ไม่ได้ จึงต้องสร้างชิ้นส่วนประกอบโครงสร้าง และจุดยึด/ดามรับแรงกระทำ ทั้งหน้า และบริเวณใต้ก้นเบาะคนนั่งหลังเยื้องออกมาทางประตูขึ้นมาใหม่
คาดคะเนด้วยสายตาจากที่ได้เห็นภาพพรีเซนต์ของทีม Mazda (ไม่สามารถนำภาพมาลงได้เพราะมีคำว่า “Strictly Confidential”) ผมคิดว่าพวกเขาใช้ชิ้นส่วนจาก CX-9 ประมาณ 50% จาก CX-5 ประมาณ 20% และอีก 30% สร้างขึ้นใหม่ นี่เราพูดถึงแค่โครงสร้างนะครับไม่ได้รวมถึงผิวภายนอกรถ อย่างไฟท้ายนั่นก็เอามาจาก CX-9 กันชนหน้า ไฟหน้า เหมือน CX-5 แต่กระจังหน้าของ CX-8 จะเป็นลายซี่ตรง ซึ่งทีมออกแบบเชื่อว่าทำให้รถดูมีมาดสุขุมเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
เพียงแค่เดือนเดียวหลังจากเปิดตัว ลูกค้าชาวญี่ปุ่นแห่กันจอง CX-8 จนได้ยอดรวมกว่า 12,000 คัน ซึ่งถือว่าไม่เลวเลยทีเดียวสำหรับการเปิดตัว จากนั้น มันก็ถูกนำไปขายยังประเทศต่างๆ ที่ซึ่ง CX-9 ไม่น่าจะสร้างยอดได้เยอะเท่าเพราะความใหญ่บ้านบึ้มของมัน ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินโดนีเซีย, มาเลย์เซีย และล่าสุด หลังจากที่รอคอยกันมาเกือบสองปี ..ไทยแลนด์
เมื่อเปิดตัวในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2019 Mazda ประเทศไทย มอบทางเลือก 2 ขุมพลัง และ 2 ระบบขับเคลื่อน วางราคาเอาไว้ดังนี้
เครื่องยนต์เบนซิน
- 2.5 S 2WD 1,599,000 บาท (7 ที่นั่ง)
- 2.5 SP 2WD 1,699,000 บาท (7 ที่นั่ง)
เครื่องยนต์ดีเซล
- 2.2 XDL 2WD 1,899,000 บาท (7 ที่นั่ง)
- 2.2 XDL Exclusive 4WD 2,069,000 บาท (6 ที่นั่ง)
จากตำแหน่งของราคาที่วางเอาไว้ ถือว่าคิดมาค่อนข้างดีในรุ่นเบนซิน เพราะสามารถแหย่แยงเข้าไปกวนประสาทรถคู่แข่งแบบข้าม Segment ได้ ไม่ว่าจะเป็น SUV พื้นฐานรถเก๋งอย่าง CR-V และ X-Trail หรือ SUV ที่มีพื้นฐานจากรถกระบะอย่าง Toyota Fortuner, Ford Everest และ Mitsubishi Pajero Sport โดยอาศัยโอกาสจากการที่บางครอบครัว ต้องการรถ 7 ที่นั่ง ที่ไม่ใช่ที่นั่งแถวสามแบบแมวดิ้นตายแบบ Nissan X-Trail หรือ ปกติอาจจะใช้ 5 ที่นั่งแต่ต้องการที่สำหรับบรรทุกสัมภาระอย่างจริงจัง หลายคนแม้จะรักและชอบ CX-5 แต่ก็ต้องยอมเลิกคบเพราะติดเรื่องพื้นที่
นอกจากนี้ เทรนด์ผู้หญิงขับ SUV ก็เพิ่มขึ้นทุกวี่ทุกวัน ในขณะที่สุภาพสตรีส่วนหนึ่งไม่มีปัญหากับการขับรถที่ดูบึกบึนอย่าง Everest แต่บางส่วนแล้ว ลึกๆในใจ ก็อยากได้รถที่นุ่ม ขับง่ายเหมือนรถเก๋ง เสียงเครื่องยนต์เงียบกว่ารถกระบะ หน้าตามีความชดช้อยแบบสตรีอยู่บ้าง
ไม่นานหลังจากงานเปิดตัว ทาง Mazda Thailand ก็เชิญสื่อมวลชนไปทดลองขับ Mazda CX-8 ..ไม่ถึงสัปดาห์หลังเปิดตัว นับว่ามาแปลก เพราะปกติไม่มีผู้ใดเปิดตัวรถแล้วตามมาด้วยทริปลองขับแบบทันทีเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ปริมาณสื่อมวลชนมากถึง 40 ท่าน และมีรถแค่ 10 คัน ทำให้การทดสอบทุกอย่าง มีการบรรทุกน้ำหนักผู้โดยสาร 4 ท่าน (คันของผมควรจะนับเป็น 5 ท่าน โดยผมกินโควต้าไปสอง) มีสัมภาระประจำตัวของแต่ละคน และแต่ละทีมจะถูกล็อคไว้กับรถแค่คันเดียว รุ่นเดียว ตลอดทั้งการทดสอบ
ผมภาวนานะโม 30 จบ ขอให้เป็นรุ่น 2.5 SP
เหตุผล? อาจจะเป็นความชอบส่วนตัวด้วย แต่ผมมองว่ารุ่น 2.5 SP นี้ ถึงแม้จะไม่มีอุปกรณ์ไฮโซอย่างในรุ่น 2.2 XDL Exclusive ไม่มีเครื่องเสียง BOSE 10 ลำโพง,ไฟหน้า Adaptive LED, ม่านประตูหลัง และใช้เบาะแถวสองแบบม้ายาว ไม่ได้เป็นเบาะแยกแบบรุ่นท้อป รวมถึงขาดระบบ Active Safety ไป 2-3 อย่าง แต่ด้วยความที่รุ่นท้อปราคากระโดดข้ามพรมแดน 2 ล้านบาท และ 2.5 SP ก็มีภายนอกและภายในที่ดูเกือบจะเหมือนกัน แต่ราคาน่ารักกว่า คนที่มอง CR-V หรือ Fortuner อยู่สามารถเอื้อมถึงได้เลยโดยไม่ต้องทำเรื่องเบิกงบประมาณจากภรรยาเพิ่มเติม..พูดง่ายๆ ถ้ามันเป็นเงินของผม ครอบครัวผม ผมจะซื้อรุ่นย่อยนี้
และคำอธิษฐานของผมก็เป็นจริง เราได้รุ่น 2.5 SP มาขับสมใจอยาก
Mazda CX-8 มีความยาว 4,900 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,730 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,930 มิลลิเมตร ระยะความกว้างฐานล้อคู่หน้า 1,595 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,600 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากตัวรถถึงพื้น 200 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวถังสำหรับรถเครื่องยนต์ 2.5 เบนซิน อยู่ที่ 1,781 กิโลกรัม ส่วนรุ่นดีเซลขับหน้า 1,854 กิโลกรัม และดีเซลขับเคลื่อนสี่ล้อ 1,924 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน รุ่นเบนซินและดีเซลที่ขับเคลื่อนล้อหน้า เท่ากับ 72 ลิตร และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ จะเพิ่มเป็น 74 ลิตร
เมื่อเทียบกับน้องตัวเล็กกว่าแต่แชร์พื้นฐานร่วมกันอย่าง CX-5 ซึ่งมีมิติตัวถัง 4,550 x 1,840 x 1,680 จะเห็นได้ว่า CX-8 ยาวกว่ากันมากเหมือนเอาไส้กรอกค็อกเทลเทียบกับแฟรงก์เฟิร์ตเตอร์ กล่าวคือ ต่างกันถึง 350 มิลลิเมตร และสูงกว่ากันถึง 50 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อนั้น CX-8 ก็ยาวกว่าถึง 200 มิลลิเมตรเต็มๆ แต่ความใหญ่นี้ก็ทำให้ต้องแบกน้ำหนักเพิ่มจาก CX-5 มาก (CX-5 2.0 เบนซิน หนัก 1,569 กิโลกรัม และ CX-5 2.2 XDL 4WD หนัก 1,726 กิโลกรัม)
แล้วถ้าหากเอาไปเทียบกับรถ SUV พื้นฐานจากรถกระบะล่ะ? ผมเชื่อว่าหลายท่านมองรูปทรง CX-8 แล้วก็คงคิดว่า “มันก็แค่ CX-5 ต่อตูดละว้า” ท่านอาจจะแปลกใจ
ลองเอา Toyota Fortuner ซึ่งเป็น SUV/PPV ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมาเทียบ รถรุ่นนี้มีขนาดมิติตัวถัง 4,795 x 1,855 x 1,835 มิลลิเมตร และฐานล้อยาว 2,750 มิลลิเมตร คุณจะเห็นได้ว่า CX-8 ใหญ่พอจะข่มขวัญ Fortuner ได้เลย Mazda ยาวกว่า กว้างเกือบเท่ากัน ฐานล้อก็ยาวกว่าถึง 150 มิลลิเมตร มีแต่ความสูงที่ Fortuner ชนะแบบขาดลอย แม้กระทั่งความสูงใต้ท้องรถ Fortuner ก็สูงแค่ 193 มิลลิเมตร ไม่ได้สูง 215-217 มิลลิเมตรแบบรถกระบะอย่าง Hilux Revo
ดังนั้น ใครที่คิดว่า SUV/PPV ยังไงก็บึกกว่า ใหญ่กว่า จะเชื่อตา หรือเชื่อตัวเลข แล้วแต่จะพิจารณา
เส้นสายในการออกแบบของ CX-8 ใหม่ ยังยึดถือแนวทางการออกแบบ KODO หรือ “จิตวิญญาณแห่งการเคลื่อนไหวอันงดงาม” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสง่างามในการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งในโลก การกระโจนของสัตว์นักล่า แววตาของเหยี่ยว การขยับตัวทุกฝีก้าวของผู้หญิงที่คุณแอบตกหลุมรัก นอกจากนี้ ยังผสานแนวทางการออกแบบโดยมองรถยนต์เหมือนชิ้นงานศิลปะ ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดแบบญี่ปุ่น เรียบง่าย ไม่รุงรัง เก็บรายละเอียดแม้กระทั่งว่าจะทำให้เงาสะท้อนตกบนตัวรถเวลาวิ่งออกมาเป็นแบบไหนแล้วถึงจะดูดี
โคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์ LED ของรุ่น 2.5 SP ไม่มีระบบไฟสูงอัตโนมัติและปรับการส่องอัตโนมัติแบบรุ่นท้อป จึงเหลือแค่ไฟหน้าเปิด/ปิดอัตโนมัติ ไฟ Daytime Running Light และไฟท้ายเป็นหลอด LED ล้ออัลลอยขนาด 19×7 นิ้ว ยาง 225/55R19 เหมือนกันในทุกรุ่น ถ้าคุณต้องการจะจำแนก CX-8 จากระยะไกล มีอย่างเดียวที่สังเกตได้คือ รุ่นท้อป XDL Exclusive จะเป็นรุ่นเดียวที่มีราวหลังคา ส่วนรุ่นอื่นนั้น คุณต้องสังเกตจากป้ายท้ายรถอย่างเดียว
ในความเห็นของผม CX-8 มีส่วนหน้าที่สวย โดยเฉพาะการเลือกกระจังหน้าเป็นซี่แนวนอนตรงนั้น ผมชอบมากกว่ากระจังตาข่ายแบบ CX-5 เสียด้วยซ้ำ หรู และทำให้หน้ารถดูแผ่กว้างกำยำ แต่ซีกหลังนั้น ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่บอกว่าสวย อาจจะมีผมกับอีกไม่กี่ท่านที่มองว่าคงมีแต่แม่มันเท่านั้นล่ะที่รักได้ จริงๆ ไฟท้าย และด้านท้ายนั้น สวยลงตัว แต่ลักษณะของกระจกบานสามที่ดูยาวๆขัดตา หลังค่อมยาวราวพระปีย์ ทำให้ตัวรถดูอุ้ยอ้าย ผมกลับมองว่าถ้าจะเล่นทรงนี้ สู้เดินเส้นกระจกบานสามและเสาหลังแนวตรงๆง่ายๆ อย่างใน CX-9 กลับจะทำให้ดูสง่างามกว่า แต่ก็นั่นล่ะ มันแค่ความเห็นของผม
กุญแจของ Mazda CX-8 มาทรงเดียวกับ Mazda CX-5 เป็นสมาร์ทคีย์ มีปุ่มสำหรับกดเปิดฝาท้ายรถมาให้เช่นเดียวกัน เวลาจะเข้ารถ ก็กดปุ่มสีดำที่ประตูแล้วปลดล็อค ถ้าผมจำไม่ผิด กุญแจของ CX-8 จะยังเป็นแบบเก่า ไม่ใช่ทรงสี่เหลี่ยมสั้นแบบของ Mazda 3 ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ที่คุณแค่เอามือไปเสียบตรงที่มือจับเปิดประตู รถก็ปลดล็อคให้เลย
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือ คุณสามารถตั้งให้รถล็อคเองเมื่อคุณเดินออกห่างรถ เหมือนระบบ Walk Away Auto-lock ของ Honda ได้ด้วยนะครับ อันที่จริง Mazda ที่เป็น SKYACTIV และมี Smart Key จะตั้งได้หมด ผมไม่รู้มาก่อนจนน้องทีม Mazda เล่าให้ฟังเนี่ยแหละ
ประตูบานหน้า เหมือนกับ CX-5 ทางเข้าออกด้านหน้าดูเหมือนเล็กเพราะเสา A-pillar ที่ลาดเอียง แต่อันที่จริงหากปรับตำแหน่งเบาะนั่งไว้ค่อนไปทางเตี้ย จะขึ้นลงได้ง่ายกว่าที่คิดโดยไม่ต้องก้มหัวหลบมาก ถ้าเทียบกับ CR-V รุ่นใหม่ ก็จะเป็นรองอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก
เบาะนั่งตอนหน้า ฝั่งคนขับปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง ปรับองศาการเทของเบาะรองนั่งได้ และมีระบบความจำตำแหน่งเบาะมาให้ 2 ตำแหน่ง มีปุ่มอยู่ด้านข้างของตัวเบาะ ส่วนเบาะนั่งฝั่งคนขับ ก็ปรับด้วยไฟฟ้าเช่นกัน แต่ได้ 6 ทิศทาง เป็นแบบนี้ตั้งแต่รุ่นถูกสุดไปจนถึงรุ่นท้อป
เบาะนั่งหน้า ถือว่าสอบผ่านในเรื่องความสบายและกระชับ Mazda มักจะทำเบาะให้แข็งปานกลาง ไม่ได้ความรู้สึกนั่งแล้วยวบแบบโซฟา หรือแข็งแบบเบาะรถยุโรป สบายดีเวลาต้องขับรถไกลๆ พนักพิงหลังมีขนาดใหญ่รองรับแผ่นหลังได้เต็ม เกือบจะให้คะแนนดีกว่าเบาะของ CR-V แล้วถ้าไม่ใช่ว่าพนักพิงศีรษะติดตั้งมาในลักษณะเยื้องข้างหน้า เวลาขับทางไกลแล้วเหนื่อยๆอยากจะพิงหัว จะรู้สึกไม่สบาย 100% ในขณะที่หมอนรองฯของ CR-V จะนุ่มเหมือนนุ่นตักเมียและรองรับต้นคอ พิงหัวขับได้อย่างสบายอารมณ์
แน่นอนครับ ถ้าคุณเป็นคนขับรถแบบไม่เอาหัวอิงหมอน ก็จะไม่เจอปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม คอนโซลกลางที่สูงอาจจะเบียดเข่าอยู่บ้าง ดังนั้นเรื่องพื้นที่สำหรับคนนั่งแถวหน้า ผมยังรู้สึกว่า CR-V สบายกว่า
เบาะนั่งแถวสอง…นี่สิคือจุดที่คุณโยนภาพของ CX-5 ทิ้งเอาไว้หลังบ้านในทันที ในที่สุด Mazda ก็ทำรถที่มีเบาะแถวสองสบายสุดตูดสุดส้นได้แล้ว ตัวเบาะรองนั่งและพนักพิง มาสไตล์เดียวกับเบาะหน้า ข้างในแข็งเฟิร์ม ข้างนอกนุ่มกำลังดี ไม่มีความรู้สึกทรมานแบบนั่งบนกระดานอย่างที่มักพบใน SUV พื้นฐานกระบะ ฐานล้อที่ยาวถึง 2.9 เมตร ทำให้มีเนื้อที่แกว่งขาเล่นมากมายชนิดไม่รู้จะขออะไรเพิ่มอีกแล้ว หมอนรองศีรษะยังแอบแข็งอยู่นิดๆ และเวลาเอนนอน บางทีก็พบว่าพนักพิงศีรษะค้ำหัวอยู่บ้าง ตั้งเบาะขึ้นมาในตำแหน่งนั่งแล้วกลับจะหลับสบายยิ่งกว่า แต่ยังขอชมว่าทรงของหมอนที่มนกว่า CX-5 มีส่วนทำให้ชีวิตดีขึ้นเยอะ ไม่นั่งแล้วรู้สึกหมอนทิ่มตำหัวเหมือนก่อน
มันเป็นความสบายแบบที่ X-Trail 2.5 ที่ว่าเจ๋งสุดแล้ว ยังต้องยกธงขาว ไม่ใช่แค่เรื่องพื้นที่หรือตัวเบาะ แต่ตำแหน่งเบาะที่วางเอาไว้สูง ทำให้เห็นทิวทัศน์ข้างหน้าชัดเจน สร้างบรรยากาศที่โปร่งสบาย
ความง่ายในการขึ้นลงก็เหนือกว่าคู่แข่ง ผมลองวัดความยาวประตูหลังเทียบกับ CX-5 เล่นๆ พบว่า CX-8 นั้นยาวกว่าถึง 12.3 เซนติเมตร ส่วนนี้เขาทำมาไว้เผื่อการขึ้นลงของคนนั่งแถวสาม และส่งผลให้เกิดความง่ายในการเข้าออก เว้นเสียแต่ว่าคุณต้องจอดที่แคบแล้วเปิดประตูไม่ได้สุดบาน ความบรรลัยจะเกิดเมื่อนั้นเพราะความยาวของประตูเนี่ยล่ะ
รู้สึกทึ่ง..ค่ายที่ได้ชื่อว่าเอาใจคนนั่งหน้าเหมือนนาย และเอาใจคนนั่งหลังเท่าแมวใต้ถุนบ้าน พอเขาจะทำให้มันสบายจริงๆ ก็ทำได้ดีมาก
นอกจากตัวเบาะ และพื้นที่จะชนะใจกรรมการแล้ว ยังมีช่องเสียบชาร์จ USB ซ่อนอยู่ในพนักเท้าแขนตรงกลาง 2 ช่อง สมเป็นรถครอบครัว แต่อย่างไรก็ตาม ความแปลกมาอยู่ที่ชุดปรับอากาศหลัง คุณสามารถปรับอุณหภูมิ ปรับแรงลมได้ และมีฮีทเตอร์อุ่นเบาะมาให้
ฟังดูดี..แต่ในชีวิตจริง ช่องลมเจ้ากรรมนี่มันพ่นลมเย็นไปถึงแค่เข่า ไข่กับส่วนล่างของพุงเท่านั้น พอต้องมาทดสอบรถคันที่ไม่ติดฟิล์ม ตอนกลางวันแดดแรงๆ เลยรู้สึกอยากจะไข้จับ ร่างกายท่อนบนเหมือนอยู่หาดไมอามี่ ส่วนเข่ากับไข่เหมือนอยู่อลาสก้า ไม่รู้จะถ่ายเทความร้อนกันยังไง
ส่วนเบาะแถวสามนั้น มีการเข้าออกที่ไม่จัดว่าง่ายเท่าไหร่ เพราะเบาะแถวสอง เวลาคุณกดเลื่อนเบาะ มันจะแค่เลื่อนและโน้มมาข้างหน้า ไม่ได้ล้มทั้งตัวได้แบบพวกรถ SUV/PPV หรือถ้าเลือกใช้วิธีเอนเฉพาะพนักรองหลัง มันก็ล้มระนาบ 90 องศาเหมือนคุณพับเบาะ แต่ฐานล่างไม่ได้เลื่อนไปข้างหน้าด้วย ยังไม่ User friendly เท่าที่ควร
ผมให้คุณก้อง วรัญญู จาก Autospinn และน้องโค้ก จาก Autostation ซึ่งสูง 172 เซนติเมตรช่วยปีนไปทดสอบความสบาย แล้วถามพวกเขาว่ารู้สึกยังไงถ้าให้เทียบกับเบาะแถวสาม PPV ใหญ่อย่าง Fortuner ก็ได้คำตอบทำนองเดียวกันว่า คนสูง 172 สามารถนั่งได้ หลังคาเฉี่ยวหัวพอดี ความสบายที่มากกว่า Fortuner นั้น ได้มาจากการที่ผู้นั่งสามารถสอดเท้าเข้าไปใต้เบาะแถวสองได้ ขอแค่คนนั่งแถวสองใจดีเลื่อนเบาะไปอยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง แค่นั้นก็พอ และมันจะเป็นที่ที่สบายยิ่งกว่าเบาะแถวสามของใคร ยกเว้น Chevrolet Captiva 1.5 ซึ่งแม้จะนั่งชันขามากกว่า พื้นที่เหยียดขาน้อยกว่า แต่พื้นที่ส่วนหัวโปร่งกว่า
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เห็นแล้วอยากยกขาหลังเกาหูหลายๆยกก็คือ…ไม่มีช่องแอร์ให้คนนั่งแถวสาม!
คืออันที่จริงจะนับว่ามีก็ได้ แต่มันเป็นช่องเป่าลมซึ่งอยู่ตรงพื้นรถครับ ซ่อนอยู่ใต้เบาะแถวสองนั่นล่ะ ในสภาวะอากาศร้อนแบบบ้านเรา ถ้าลุยน้ำท่วมรองเท้าแตะมา มาขึ้นนั่งเบาะแถวสามแล้วเปิดแอร์เต็ม กลิ่นมาดามหอมชื่นใจแน่นอนและไม่สบายตัวด้วยเพราะไม่มีช่องลมใดๆที่เป่าระนาบลำตัวและใบหน้าเลย จะไปหวังพึ่งใบบุญช่องแอร์เป่าไข่ของแถวสองเหรอ? หวังให้ประเทศไทยมีเอาโต้บาห์นยังง่ายซะกว่า
ผมไม่โอเคกับจุดนี้ ขำทั้งน้ำตาที่ Mazda ให้เบาะแถวสองมี HEATER แต่คนแถวสามไม่มีช่องแอร์ดีๆ รู้ครับรู้ ว่ามันติดที่เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆนานา แต่ไหนๆลงทุนขึ้นไลน์ประกอบที่โรงงาน INOKOM-Malaysia แล้ว และนี่ก็รอหลังเปิดตัวมาจะสองปี บางอย่างมันควรได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับเมืองร้อนหรือเปล่า?
เบาะแถว 2 และ 3 สามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40 และ 50 : 50 ตามลำดับ การพับเบาะ มีคันโยกช่วยพับติดอยู่กับตัวเบาะ ซึ่งคุณควรเปิดฝาท้ายขึ้นก่อน แล้วค่อยดึงคันโยกพับหมอนรองศีรษะแถวสามลง แล้วก็กดเบาะลงไป
ฝาท้าย เปิด/ปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า Power Lift Gate พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังรถ มีขนาด 239 ลิตร ซึ่งเพียงพอกับการใส่ถุงกอล์ฟขนาดมาตรฐานถึง 2 ใบ หรือใส่กระเป๋าเดินทางของผมสำหรับ 2 คืนแล้วจะเหลือที่อย่างที่เห็นในภาพนั่นล่ะครับ แต่เมื่อพับเบาะแถว 3 ลง จะเพิ่มขนาดพื้นที่เป็น 572 ลิตร ซึ่งก็โตกว่าพื้นที่ของ CR-V ใหม่ ราว 50 ลิตร
ยังไม่มีระบบเตะใต้กันชนเปิดฝาท้ายมาให้นะครับ อย่าหน้าแตกแบบผม ไปเตะอยู่นานโข จนน้องเดินมาบอกว่า มันไม่มีนะคะพี่
ภายในห้องโดยสารออกแบบมาแนวเดียวกับ CX-5 แต่ใช้ความต่างของวัสดุบางจุด เช่น เปลี่ยนหนังที่หุ้มภายในห้องโดยสารเป็น Nappa สีน้ำตาลแดง Deep Red และเปลี่ยนวัสดุตกแต่งที่เป็นพลาสติกทำสีคล้ายลายไม้ผิวแบบกึ่งด้าน เป็นลายไม้แบบ Real wood ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ห้องโดยสารของ CX-8 ดูมีบรรยากาศพรีเมียมกว่า CX-5 ขึ้นไปอีกขั้น การใช้วัสดุสีดำเงา และตัดขอบด้วยเส้นสีเงิน ก็เป็นจุดเด่นที่ทำให้ภายในดูล้ำสมัย สปอร์ตจนไม่รู้สึกเลยว่ากำลังขับรถครอบครัว 7 ที่นั่ง
จอกลางขนาด 7 นิ้ว แบบทัชสกรีน จากเดิมที่ฝังอยู่บนแดชบอร์ดหน้า ก็ถูกแยกออกมาเป็นเหมือน Tablet แปะเอาไว้ ตามเทรนด์ของภายใน Mazda ยุคใหม่ๆ แต่มีขนาดจอที่กว้างกว่า ทำให้ดูกลมกลืนไปกับชุดคอนโซล ไม่ดูขัดตามากอย่างที่คิด ทั้งหมดนี้ ทำให้บรรยากาศโดยรวมออกหรูแบบสปอร์ต เหมือนการทำค็อกเทลโดยเอา DNA ของ Mazda บวกกับ BMW แล้วเบิกช่องแอร์กลางของ Lamborghini Huracan มาใส่ จากนั้นเขย่าหรือคนจนได้ที่แล้วเสิร์ฟตอนยังเย็น
สวิตช์แผงควบคุมกระจกไฟฟ้าอยู่บนประตู คราวนี้ทั้ง CX-8 และ CX-5 2019 ได้กระจก One Touch กดทีเดียวขึ้น/ลงหมด มาทั้ง 4 บานแล้วครับ จากนั้นด้านบนจะเป็นสวิตช์ล็อคประตูและปุ่มล็อคกันการเปิดหน้าต่างจากประตูบานอื่น สวิตช์ปรับกระจกมองข้างเป็นแบบหมุนซ้าย/ขวาเพื่อเลือกปรับกระจกบานซ้าย/ขวา หรือหมุนกลับลำมาด้านหลังเพื่อสั่งพับกระจก
บริเวณใต้ช่องแอร์ด้านขวาเป็นชุดสวิตช์เปิดปิดการทำงานของระบบ Idle Stop, Traction Control, เซ็นเซอร์ถอยจอด, ปุ่มกดเปิดท้ายรถ และปุ่มกดดูกล้อง 360 องศามาให้ ส่วน 2.2 XDL Exclusive จะมีสวิตช์สำหรับปิดการทำงานของระบบเตือนรถเบี่ยงออกนอกเลนมาเพิ่ม
พวงมาลัยทรงสปอร์ตแบบ 3 ก้านหุ้มหนัง ไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle shift มาให้แม้แต่รุ่นท้อป ก้านพวงมาลัยด้านซ้ายควบคุมชุดเครื่องเสียง โทรศัพท์ และมีปุ่ม Info (ซึ่งต้องกดลงไปตรงๆ ไม่ใช่ซ้าย ไม่ใช่ขวา) ที่ใช้เพื่อเปลี่ยนข้อมูลบนชุดจอ MID ของหน้าปัด ส่วนก้านด้านขวาเป็นชุดคุมระบบ Cruise Control ซึ่งจะใช้ปรับระยะห่างจากรถคันหน้าในโหมดการทำงานของ MRCC – Mazda Radar Cruise Control ด้วย
ชุดควบคุมระบบปรับอากาศก็ยกมาจาก CX-5 โฉม 2019 ซึ่งมีหน้าตาดูเรียบหรูขึ้นกว่าโฉม 2017 ปรับอุณหภูมิอิสระแยกซ้าย/ขวา ตรงกลางเป็นหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล ชุดเครื่องเสียงควบคุมผ่านจอกลาง และ Center Commander ส่วนฐานเกียร์ และ คันเกียร์ถูกปรับให้มีตำแหน่งสูง ฐานเกียร์ตกแต่งด้วยวัสดุสีดำเงา Piano Black เสี่ยงต่อการเกิดรอยขนแมวสูง แต่ก็แลกมาด้วยความสวยงาม (ถ้ามันยังดูใหม่) ตัดขอบด้วยวัสดุอะลูมิเนียมสีเงิน และ เดินตะเข็บด้ายคู่ (Double Stitching)
เบรกมือไฟฟ้า มีระบบ Auto Brake Hold มาให้ หลักการทำงานของระบบ Auto Brake Hold คือ เมื่อกดปุ่มให้ระบบทำงาน เมื่อจอดรถนิ่งสนิทที่ตำแหน่งเกียร์ D เกิน 3 วินาทีขึ้นไป สามารถยกเท้าออกจากแป้นเบรกได้ โดยที่รถยังไม่เคลื่อนที่ เมื่อต้องการไปข้างหน้า ก็เพียงแค่เติมคันเร่ง ออกตัวตามปกติ ซึ่งมีประโยชน์เวลารถติด ทำให้ไม่ต้องใส่เกียร์ N>D D>N สลับไปมา หรือเหยียบเท้าค้างบนแป้นเบรกจนเมื่อยล้า
จอกลางขนาด 7 นิ้ว เหมือนของ CX-5 ไม่มีระบบนำทางมาให้ ตัวจอเป็นแบบทัชสกรีน (เป็นเวอร์ชั่นที่เก่ากว่าของ Mazda 3) มีความสวยงามคมชัดน้องๆจอของ BMW มีฟังก์ชั่นกล้อง 360 องศามาให้ ซึ่งเหมาะมากกับรถที่มีขนาดยาวเกือบ 5 เมตร และใช้โดยครอบครัวอย่าง CX-8 การปรับตั้งค่าต่างๆของระบบความปลอดภัย Active Safety ก็สามารถทำได้จากในจอนี้
ระบบเครื่องเสียงของทุกรุ่นยกเว้น XDL Exclusive ตัวท้อป จะเป็นแบบมาตรฐาน 6 ลำโพง รองรับ Apple CarPlay ไม่มีช่องสำหรับใส่ CD/DVD ซึ่งเท่าที่ลองฟังเสียงโดยเลือกเล่นจาก USB และใช้เพลงซึ่งผมเลือกมาไว้ลองกับรถทดสอบทุกคัน พบว่า มันก็ยังพอใช้ได้อยู่ เรื่องมิติเสียง ความหนักของเบส ความใสของเสียง สู้ BOSE ใน Mazda 3 ไม่ได้แน่นอน แต่ก็ยังมีความแน่นแบบกลางๆ รายละเอียดเสียงความถี่กลางค่อนสูงอาจจะหายไปบ้าง เสียงรูดสายกีตาร์อาจจะหายไปบ้าง แต่ยังพอรับได้ และไม่แพ้เครื่องเสียงของ CR-V หรือ Fortuner นัก
ชุดมาตรวัดมองผ่านๆจะคล้ายของ CX-5 เอามาตรวัดรอบไว้ซ้ายสุด มาตรวัดความเร็วไว้ตรงกลางและจอ MID อยู่ด้านขวา ซึ่งที่จอนี้ คุณสามารถกดปุ่ม Info บนก้านพวงมาลัยเพียงปุ่มเดียว กดไปเรื่อยๆ จอก็จะเปลี่ยนการแสดงค่าไป
เกจ์วัดอุณหภูมิภายนอก, ระยะทางรวมตั้งแต่วันออกรถเข็มน้ำมัน และระยะทางที่เหลือวิ่งได้ด้วยน้ำมันในถัง จะคงอยู่แบบนั้นเสมอ แต่จอท่อนบนจะเปลี่ยนได้ เช่น Trip A+อัตราการบริโภคเฉลี่ย, Trip B+อัตราการบริโภคเฉลี่ย, จอ Maintenance Monitor, จอแสดงการทำงานของระบบ i-ACTIVESENSE และจอแสดงข้อความเตือนต่างๆ
ถ้าคุณอยากดูอุณหภูมิน้ำ (Water temp) CX-5 ก็มีให้ครับ เพียงแต่คุณต้องกดเข้าไปจอ Maintenance Monitor หรือ Range เท่านั้นมันถึงจะโผล่ออกมา ตรงนี้ผมว่าไม่ Make sense เท่าไหร่ และน่าจะมีวิธีจัดการกับการตั้งค่าจอ MID ได้ดีกว่านี้
ถ้าใครไม่ถนัดจ้องมองเข็ม CX-8 รุ่นใหม่ก็มีจอ Active Driving Display ซึ่งฉายข้อมูลความเร็ว และข้อมูลระบบนำทางขึ้นบนหน้ากระจกในระดับห่างจากแนวสายตาไม่มาก ช่วยให้สามารถขับแบบใช้ความเร็วได้โดยไม่ต้องละสายตาจากถนน
***รายละเอียดทางวิศวกรรม***
Mazda Thailand นำ CX-8 มาจำหน่าย โดยมีทางเลือกกับสองขุมพลัง
เครื่องยนต์แบบแรก เป็นเครื่อง 2.5 ลิตร เบนซิน รหัสเครื่องยนต์ PY แบบ 4 สูบ ขนาด 2.5 ลิตร 2,488 ซีซี. พร้อมระบบวาล์วแปรผันคู่ Dual S-VT ขนาดกระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 89.0 x 100.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 ให้กำลังสูงสุด 194 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 258 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที CO2 178 กรัม/กิโลเมตร กินภาษีสรรพสามิต ได้อัตราเท่ากับ 30%
เครื่องยนต์แบบที่สอง เป็นเครื่อง 2.2 ลิตร ดีเซล รหัสเครื่องยนต์ SH แบบ 4 สูบ ขนาด 2.2 ลิตร 2,191 ซีซี. เทอร์โบแปรผัน 2 ขั้น ขนาดกระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 86.0 x 94.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 14.4 : 1 ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที ในรุ่นขับสี่ ปล่อย CO2 179 กรัม/กิโลเมตร ได้อัตราสรรพสามิต 30%
รุ่นดีเซลนี้ จะเป็นเวอร์ชั่นอัปเดต แบบเดียวกับ CX-5 2019 ซึ่งมีการปรับปรุงการทำงานของระบบบำบัดมลพิษ จากเดิมที่เซ็ตเอาไว้เกินมาตรฐาน Euro 4 ก็เปลี่ยนถอยกลับมาเป็น Euro 4 ซึ่งตรงกับมาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ในประเทศ (แต่ความเห็นส่วนตัวผม น่าจะมีอะไรสักอย่างนี่แหละเกี่ยวกับการทำงานของระบบ DPF ด้วย อาจจะทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำดันส่วนหนึ่ง – นี่คือผมเดาเอง ไม่ใช่คน Mazda บอก)
ส่วนรถทดสอบของเราในทริปนี้ จะเป็นรุ่น 2.5 SP ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินรหัส PY
Mazda CX-8 มีระบบส่งกำลังให้เลือกแบบเดียวคือ Skyactiv-Drive ซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีฟังก์ชั่นเล่นเกียร์เอง +/- ได้ แต่ต้องโยกเอาที่คันเกียร์ ไม่มี Paddle shift มาให้ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่ารถที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ความสนุกในการขับหนักหนาถึงตัดออพชั่นนี้ออกไปได้ ส่วนอัตราทดเกียร์ รุ่นเบนซิน และดีเซลจะต่างกันเกือบทุกเกียร์
รุ่น 2.5 ลิตรเบนซิน มีอัตราทดดังนี้
- เกียร์ 1 = 3.552
- เกียร์ 2 = 2.022
- เกียร์ 3 = 1.452
- เกียร์ 4 = 1.000
- เกียร์ 5 = 0.708
- เกียร์ 6 = 0.599
- เกียร์ถอยหลัง = 3.893 อัตราทดเฟืองท้าย = 4.325
รุ่น 2.2 ลิตรดีเซล มีอัตราทดดังนี้ (ทั้งรุ่นขับหน้า และขับสี่)
- เกียร์ 1 = 3.487
- เกียร์ 2 = 1.992
- เกียร์ 3 = 1.449
- เกียร์ 4 = 1.000
- เกียร์ 5 = 0.707
- เกียร์ 6 = 0.600
- เกียร์ถอยหลัง = 3.990 อัตราทดเฟืองท้าย = 4.090
อีกสิ่งหนึ่งที่มีความต่างกันระหว่างสองขุมพลังนี้ก็คือ รุ่นเบนซิน จะมีสวิตช์ปรับโหมดการทำงาน Normal/Sport บริเวณคันเกียร์ ซึ่งนอกจากจะปรับนิสัยการทำงานของเกียร์แล้ว ยังรวมไปถึงการตอบสนองของคันเร่ง ซึ่งในโหมด Sport กดคันเร่งเท่าเดิม แต่รถจะพุ่งแรงกว่า ไวกว่า เมื่อกดมาเต็มๆแล้วถอนคันเร่ง โหมด Sport จะมีการคารอบสูงไว้เพื่อรอให้ลงแส้ซ้ำได้อีกรอบ
ช่วงล่างด้านหน้าของ CX-8 เป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบอิสระมัลติลิงค์ พร้อมด้วยเหล็กกันโคลงเช่นกัน มีการปรับสปริงและโช้คอัพ ให้รับกับน้ำหนักรถที่เพิ่มขึ้น แต่ยังพยายามที่จะรักษาบุคลิกช่วงล่างของ Mazda เอาไว้ โดยมีความนุ่มนวลมากขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะกลุ่มลูกค้าของ CX-8 จะมีอายุเฉลี่ยสูงกว่า CX-5 อยู่บ้าง
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า EPS ระบบห้ามล้อ เป็นแบบดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ เฉพาะจานเบรกคู่หน้า มีรูระบายความร้อน เสริมความปลอดภัยด้วยตัวช่วยมาตรฐาน ทั้งระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักการบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบช่วยเพิ่มแรงเบรคในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist) ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัว DSC (Dynamic Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และลื่นไถล TCS (Traction Control System) มีระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA (Hill-Start Assist) ช่วยคาแรงดันน้ำมันเบรกไว้ 3 วินาที หลังปล่อยแป้นเบรก เพื่อให้เหยียบคันเร่ง นำรถพุ่งขึ้นทางลาดชันได้ง่ายดาย
***การทดลองขับ***
Mazda พาเราไปขับบนเส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปสู่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีบางช่วงที่เราเบี่ยงจากเส้นทางหลักไปวิ่งเลียบภูเขา ทดลองขึ้นและลงเนิน มีสภาพโค้งครบทุกแบบไม่ว่าจะเป็นความเร็วสูงหรือความเร็วต่ำ ตลอดการทดสอบ จะมีผู้โดยสารบนรถ 4 คน พร้อมสัมภาระ และเปิดแอร์ตลอดการวิ่ง
เรื่องอัตราเร่ง ผมไม่มีโอกาสได้ลองจับหลายๆรอบเพื่อให้ได้ตัวเลขที่นิ่ง แต่เท่าที่พอจะบอกได้คร่าวๆคือ แม้จะบรรทุกเต็มลำอย่างนี้ CX-8 2.5 SP ยังสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลาประมาณ 11 วินาทีต้นๆ และเร่งแซงจาก 80-120 จบภายใน 8.08 วินาที ถ้าใครนึกภาพไม่ออก เอางี้ครับ CX-8 2.5 ลิตรที่บรรทุก 4 คน และวิ่งตอนกลางวัน ทำตัวเลขได้เร็วใกล้เคียงกับ CX-5 2.0 ลิตร ที่นั่งแค่ 2 คน ไม่มีสัมภาระ และวิ่งทดสอบช่วงกลางดึก ซึ่งถ้ามันเป็นอย่างนี้ ผมก็โอเคแล้ว ไม่ได้ดีหรือแย่กว่าที่คาดหมายไว้
เมื่อกดคันเร่งออกตัว รถจะพุ่งไปในทันที บางครั้งรู้สึกว่าความกระปรี้กระเปร่าของมันนั้นเทียบได้กับ Mazda 3 ตัวเบาๆคันเล็กๆเลยด้วยซ้ำ นิสัยคล้ายกันมาก ทั้งความคมในการตอบสนองต่อคันเร่ง กดเมื่อไหร่ ให้ตามที่สั่ง และมาในทันทีแบบไม่มีรีรอ นี่ถ้าให้วิ่งตัวเบาๆอากาศเย็น ผมว่าอาจจะมีลุ้น 0-100 ใน 9.xx วินาทีเสียด้วยซ้ำ มันเป็นความไวในระดับที่เพียงพอแล้วสำหรับคนเท้าหนักอย่างผม และแน่นอนว่า พอไว้ให้คุณป้องกันตัวจาก PPV บ้าพลัง หรือ CR-V 2.4 แม่บ้านโหมดโมโหไล่ล่าได้แน่นอน แต่อาจยังต้องระวังพวก X-Trail Hybrid ที่ตีนต้นดีดออกตัวไว
ในการขับแบบปกติ เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรเบนซิน เคยทำตัวอย่างไรใน CX-5 เจนเนอเรชั่นแรก ก็ยังมีนิสัยแบบนั้น คม สั่งได้ แม้จะไม่ดึงพรืดแบบไฮบริดหรือเทอร์โบก็ตาม แรงบิดดีในช่วง 3,000-5,000 รอบต่อนาที เร่ง ทิ่ม จิ้ม โดด ในตัวเมืองเชียงใหม่ได้สบายอารมณ์ แต่ในช่วงขับขึ้นเขานั้น มันจะเสียเปรียบพวกรถเครื่องดีเซลอยู่บ้าง ในขณะที่สิงห์ดีเซลจะใช้ข้อได้เปรียบจากแรงบิด ทำให้สามารถใช้รอบแค่ 1,800-2,500 ก็ถลาขึ้นเนินได้อย่างสบาย CX-8 2.5 ลิตร นี่ต้องใช้รอบเครื่องเข้าช่วย คือเล่นเกียร์ Manual Mode แล้วคารอบไว้ราว 3,500 ขึ้นไป ถึงจุดนั้น พลังแรงบิดจาก 2.5 ลิตรไร้หอย ก็พาคุณขึ้นเนินไปได้
ผมจำภาพตอนขับ CX-5 2.0 SP บนถนนภาคเหนือเมื่อปี 2017 ได้ รู้สึกเลยครับว่าถ้าต้องบรรทุกคนเท่ากัน สัมภาระเท่ากัน CX-8 2.5 ถลาขึ้นเขาไปอย่างว่าง่าย เร่งแซงตอนขาขึ้นก็มั่นใจกว่า CX-5 2.0 อย่างชัดเจน
ช่วงล่างของ CX-8 นับเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง เพราะดูเหมือนความสะเทือนแนวรถสปอร์ต จะถูกลดทอนลงประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับ CX-5 แต่ที่น่าแปลกคือ ถ้าไม่ใช่ว่าคุณซัดโค้งจนยางร้องดังลั่น CX-8 จะมีความคล่องแคล่วมั่นใจแทบไม่ต่างจาก CX-5 ทั้งๆที่แบกน้ำหนักต่างกันราว 200 กิโลกรัม ส่วนผสมที่ออกมา ทำให้คุณได้รถใหญ่ยาว 4.9 เมตร 7 ที่นั่ง ที่แล่นฉิวเข้าออกโค้ง ราวกับมันนึกว่ามันเป็น SUV รุ่นเล็ก เกาะถนนมั่นใจ หักเปลี่ยนเลนเร็วๆแล้วช่วงล่างสามารถคุมอาการได้อยู่หมัด
ถ้าพูดเรื่องความนุ่มนวลล่ะ? ผมคิดว่า CR-V หรือ Forester ก็ยังให้ความนุ่มนวลสบายบนถนนขรุขระที่ความเร็วต่ำๆได้ดีกว่า CX-8 เพราะ Mazda นั้น ให้ตายยังไงก็ไม่ยอมทำช่วงล่างแบบสำลีๆ อยู่แล้ว แต่พอเริ่มใช้ความเร็วสัก 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดูเหมือนช่วงล่างจะดีลกับความสะเทือนต่างๆได้ดีขึ้น กลายเป็นความกระชับแบบแน่นๆ ไปในแนวรถเยอรมันช่วงล่างสปอร์ต มันอาจจะไม่ใช่ช่วงล่างที่นุ่มสุดในตลาด แต่มันสบายกว่า PPV เกือบทุกตัวอย่างแน่นอน และหักเลี้ยวได้คล่องชนิดคนละเรื่อง
พวงมาลัย มีน้ำหนักใกล้เคียง CX-5 ที่ความเร็วต่ำ เบา แต่ไม่ได้เบาโหวงแบบ X-Trail ไมเนอร์เชนจ์ มันอยู่ในระดับที่ผู้หญิงขับได้สบาย ต่อให้ผู้หญิงแก่ก็หมุนได้ และเพิ่มน้ำหนักหน่วงมือเมื่อความเร็วสูงขึ้นได้อย่างพอดี ความไวในการหักเลี้ยวซ้าย/ขวา ไวอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีระยะฟรีที่ลดทอนความแม่นในการหมุน มันเกือบจะไว คม และแม่นได้ 90% ของ Mazda 3 รุ่นใหม่เลยด้วยซ้ำ
แป้นเบรก เป็นแบบที่มีระยะเหยียบค่อนข้างสั้น แต่สามารถควบคุมแรงในการเบรกได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่พุ่งเข้าหาสี่แยกไฟแดงแล้วต้องเบรก พบว่าในช่วงวินาทีท้ายก่อนจะหยุด ผมต้องกดเบรกลงไปจากระยะปกติเพิ่มประมาณ 1-2 เซนติเมตร เพราะรถมีอาการไหลต่อไปข้างหน้ามากกว่า CX-5 ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มมานั่นเอง
เรื่องอัตราสิ้นเปลืองนั้น ตลอดทริปที่ขับ ไม่มีช่วงไหนที่ได้ขับกันแบบเบาเท้า ผมพยายามสังเกตการขึ้นลงของมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองอยู่โดยตลอด และพบว่า ถ้าขยันคิกดาวน์บ่อยๆ หรือขับขึ้นเขา ตัวเลขจะลงไปอยู่แถวๆ 8 กิโลเมตรต่อลิตร อย่าเพิ่งตกใจครับ X-trail 2.5 หรือ CR-V 2.4 เวลาซัดจัดหนัก ก็ได้เลขประมาณนี้แหละ แต่บางช่วงที่เราขับแช่ 100-110 ได้ยาวๆ ตัวเลขก็จะไต่ขึ้น มาตรวัดแบบ Real-time บางช่วงจะโชว์ค่าประมาณ 13.7 กิโลเมตรต่อลิตร คุณอาจจะอ้างอิงจากตัวเลขของ CX-5 2.5 ลิตรเวอร์ชั่น 2014 ดูก็ได้ แต่ความใหญ่ของรถและล้อ อาจจะต้องทำใจหน่อยว่าไม่ประหยัดแบบรถเล็กๆเบาๆแน่นอน
อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากคือการเก็บเสียง เหมือน Mazda เขาเก็บกดจาก Skyactiv รุ่นแรกๆที่โดนด่าขรมว่าเก็บเสียงห่วยจนอีโคคาร์ยังหัวเราะลั่นป่า เขาก็ทยอยปรับปรุงให้ดีขึ้น CX-5 ปี 2017 ก็เก็บเสียงเครื่องและถนนได้ดีในระดับที่รับได้แล้ว CX-8 โฉมใหม่นี้ มาแนวเดียวกับ Mazda 3 ใหม่ คือ เงียบจริง และฟังดูแน่น เสียงลมเล็ดรอดตามขอบกระจกที่ความเร็วสูงนั้น เงียบกว่า Mercedes-Benz GLC220d เสียอีก สิ่งที่ยังดังอยู่ ก็คือเสียงจากยางหลัง ซึ่งดังเข้ามาอยู่ แต่ภาพรวมทั้งคัน ผมถือว่าการเก็บเสียง ดีกว่า CR-V, X-Trail และดีกว่า PPV ทั้งตลาด
****สรุป****
***ถ้าต้องซื้อรถ 7 ที่นั่ง ผมขอคันนี้! แต่ภาวนาที อย่าเจอ Surprise***
จากการที่ได้ลองสัมผัสตัวจริงของ CX-8 ในครั้งนี้ ทำให้ผมค่อยๆเปลี่ยนจากเกลียดมัน เป็นชอบ เปลี่ยนจากชอบ เป็นความรู้สึกอยากได้…ไม่ถึงขนาดยอมขายแม่ขายบ้านซื้อ แต่ก็มากในระดับที่ว่า หากผมมีเงิน 2 ล้านในมือ และมีครอบครัว CX-8 2.5 SP จะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆของผม..โดยที่ผมก็ยังจะไม่ชอบลำตัวส่วนหลังของมันอยู่อย่างนี้แหละ
เหตุผลที่ผมชอบ ก็เพราะ..ในที่สุด หลังจากทำแต่รถที่เอาใจคนตัวผอมมานานแสนนาน Mazda ก็ทำรถที่คนขับก็นั่งสบาย และคนนั่งหลังก็สบายได้ในที่สุด มันเป็นรถแบบที่ผมไม่เคยพบจากค่ายนี้มาก่อน…เมื่อผมต้องนั่งหลัง ผมก็รู้สึกสบายตัว แกว่งขาเล่นอย่างอิสระไปบนเบาะเนื้อแน่น เอ็นจอยกับวิวข้างหน้าหรืออยากจะหลับไปเลยก็ได้ การเก็บเสียงซีกหลังก็ถือว่าดี และช่วงล่างหลังก็ไม่ดีดดิ้นแบบ Fortuner และไม่นุ่มจนย้วยชวนเมาเหมือน CR-V Generation ที่แล้ว
เมื่อผมย้ายมานั่งในตำแหน่งคนขับ มันก็ยังทำตัวเป็น Mazda แบบที่ผมคาดหวังให้มันเป็น ไม่แรงระเบิดระเบ้อ แต่สั่งแล้วทำ และทำอย่างเต็มความสามารถ กระแทกคันเร่งแล้วรอบดีดขึ้นทันที เข็มกวาดต่อเนื่องสมกับที่มี 194 แรงม้า เกียร์ทำงานไวตามสั่ง ผมสามารถเอ็นจอยกับการขับมันบนภูเขาได้มากเท่ากับ CX-5 โดยที่ไม่รู้สึกเลยว่ากำลังขับรถที่ยาวเกือบห้าเมตร
ทั้งหมดนี้ มาพร้อมกับห้องโดยสาร ที่ออกแบบมาได้โดดเด่นเหนือใครในบรรดารถที่มี 7 ที่นั่งราคาไม่เกินสองล้าน อุปกรณ์มาตรฐานอาจจะไม่ได้คับคั่ง ลูกเล่นด้านอิเล็กทรอนิกส์อาจจะแพ้ Pajero Sport ซึ่งราคาถูกกว่า แต่บรรยากาศโดยรวม และอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ อยู่ในระดับที่พูดได้ว่า “ฟีลดี และของเล่นมีแบบไม่น่าเกลียด” การเก็บเสียง ก็ทำได้ดีชนิดที่ลืม CX-5 Gen 1 ไปไกลๆเลย
ตราบใดก็ตามที่มีถนน มีพื้นที่พอจะให้รถคันนี้วิ่งได้ CX-8 2.5 SP คือรถที่ผมจะเอ็นจอยในการนั่ง ไม่ว่าจะข้างหน้า หรือข้างหลัง และคนในครอบครัวของผมก็จะรู้สึกชื่นชอบมันเช่นเดียวกัน ไม่เคยมีรถแบบไหนที่สามารถบริหารคุณสมบัติรอบด้านได้ดีขนาดนี้ในราคาขนาดนี้มาก่อน และมันทำให้ผมตั้งคำถามว่าทำไมผมจึงจะต้องซื้อรถอย่าง Camry หรือ Accord อีก…ทั้งๆที่ทั้งโลกก็รู้ว่าผมนั้นชอบรถเก๋งและเกลียด SUV
แต่ขอทีเถอะ…นั่งขับได้ นั่งแถวสอง ได้..ชอบด้วย แต่ถ้าให้นั่งแถวสามนี่ คงต่อยกันตาแตก Mazda ยังต้องปรับปรุงวิธีการทำรถสำหรับเมืองร้อนให้ดีกว่านี้ ช่องแอร์สำหรับคนแถวสาม ย้ายจากตรงพื้นรถมาเป่าในระนาบหลังคาก็ได้ หรือจะเอามันไว้อย่างนั้น แล้วเพิ่มช่องแอร์ที่เป่าระดับลำตัวให้เย็นสบายหน่อยก็จะดี ถ้าไม่ทำอะไรเพิ่มเติม มันก็น่าเศร้าที่ว่าเบาะแถวสาม ซึ่งมีความสบายยิ่งกว่า Fortuner ..ท้ายสุดก็ไม่มีใครอยากนั่ง เพราะมันร้อน ไม่มีแอร์เป่า
นอกจากนี้ หากสามารถเพิ่มช่องแอร์หลังคา หรือที่เสา B-pillar ให้ผู้โดยสารแถวสองได้ล่ะก็ จะดีงามกว่านี้มาก เพราะชุดแอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมันส่องได้แต่ลำตัวส่วนล่าง เวลาวิ่งกลางแดดจะร้อนไหล่แต่ไข่เย็นเจี๊ยบ เดี๋ยวจะพาลไม่สบายเอา
แอร์นี่เหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่เอาเข้าจริง เป็นปัจจัยตัดสินในการซื้อรถสำหรับคนไทยได้ง่ายมากนะครับ
นอกจากเรื่องแอร์ไป ก็จะเหลืออีกไม่กี่ด้านที่ CX-8 ดูจะมีข้อเสียเปรียบอย่างจริงจัง ..ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณคิดว่าต้องการใช้รถ 7 ที่นั่ง ที่สามารถลุยทางออฟโรดได้ด้วย แบบนี้ตัดมันออกไปเถอะครับ เพราะต่อให้เป็น CX-8 รุ่น 4WD มันก็ไม่ใช่ระบบที่เอาไว้ลุยโคลนเล่น แต่เป็นระบบประเภทที่ช่วยเอาตัวรอดเมื่อเข้าตาจนในยามจำเป็นเสียมากกว่า หรือบางคน รู้ตัวดีว่าขับรถบนเส้นทางภูเขาเป็นประจำ วิ่งในถิ่นที่ทุรกันดารออกบ่อย รถ PPV อย่าง Fortuner หรือ Pajero Sport ซึ่งใช้ตัวถังแบบ Chassis on frame และมีชิ้นส่วนช่วงล่างใหญ่โตบิ๊กบึ้ม และใช้ช่วงล่างหลังคานแข็ง น่าจะช่วยอำนวยการลุยได้ดีกว่า เครื่องยนต์ดีเซล ก็ให้แรงบิดสูงในรอบต่ำ ทำให้เร่งตอนขาขึ้นทางชันได้ง่ายกว่า
หรือถ้าหากว่าคุณไม่ได้มีการโดยสารแบบเต็มโควต้า 7 คนบ่อยๆนัก และไม่ใช่คนขับรถเร็ว (คือเร็วแบบอาจจะแช่ 130-140 แต่ไม่ใช่พวกบ้าโค้ง) บางที ผมว่าคุณซื้อรถ 5 ที่นั่งแบบ CR-V 2.4 ตัวถูกสุดใช้ก็ได้ความนุ่มที่มากกว่า CX-8 และตอบโจทย์การใช้งานได้ครอบคลุมมากพอ เครื่องยนต์เทคโนโลยีเก่าเป็นบ้า แต่ก็ใช้กันมานานจนแก้ปัญหาเครื่องกับเกียร์ไปหมดแล้ว สำหรับคนที่ไม่ชอบลุ้นเครื่องพังเกียร์เดี้ยง CR-V กับขุมพลังเก่าแก่ของมันนี่ล่ะ กลายเป็นตัวที่น่าไว้ใจสุด
ข้อนี้..นำมาสู่ประเด็นท้ายสุด ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับตัวรถนัก แต่เป็นเรื่องที่สำคัญ
วกกลับมาถึงย่อหน้าต้นๆที่ผมพูดเรื่องชีวิตรักของคน ความเสมอต้น เสมอปลาย จะเป็นสิ่งที่ครองใจคนได้ในระยะยาว
การที่รถคันนึงจะครองใจคนได้ยาวๆ ก็ไม่ใช่แค่คุณสมบัติของตัวรถที่ต้องตอบการใช้งานของลูกค้าเพียงอย่างเดียว ความน่าไว้ใจของรถ ความทนทาน การบริการหลังการขาย ตลอดจนการรับมือในกรณีที่รถเกิดปัญหา นี่ล่ะครับคือสิ่งที่ทำให้ผู้คนอยากกลับไปซื้อรถจากบริษัทคุณอีกคัน
ที่ผ่านมา Mazda เนี่ย ชี้ไปที่รุ่นไหน ก็มีปัญหาประจำตัวทั้งนั้น และอย่าบอกว่าซื้อรถค่ายไหนก็มีปัญหาเหมือนกันทั้งนั้น มันเป็นคำพูดของคนที่สักแต่พูด ไม่เคยดูข้อมูลว่าทุกค่ายมีปัญหา แต่มีกี่คัน จากจำนวนรถที่จำหน่ายไปกี่คัน คุณดูจำนวนเคสปัญหาที่มีบนโลกโซเชียลแล้วไปเปิดบทความสรุปยอดขายของเว็บเราดูก็ได้ แล้วจะเห็นว่าอัตราการเกิดปัญที่ผ่านมา มันไม่ใช่ระดับที่เราควรนิ่งนอนใจ
ผมไม่ได้บอกว่า CX-8 จะเป็นรถที่มีปัญหา ..ถ้าบอกได้คงบ้า เพราะเพิ่งได้ขับมาไม่กี่ร้อยโล..แต่คุณดูสิ่งที่เกิดกับเจ้า 2, 3 รุ่นเก่า และ CX-5 ทั้งสองเจนเนอเรชั่น ..ถามว่าผมสบายใจไหมถ้าจะบอกให้เพื่อนๆซื้อ Mazda ได้ไม่ต้องห่วง? คำตอบคือไม่! และเรื่องนี้ มันก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขได้ภายในไม่กี่เดือน ..ต้องใช้เวลาและความตั้งใจจริง เริ่มตั้งแต่คนออกแบบชิ้นส่วน ผู้ผลิตส่วนประกอบต่างๆ นโยบายการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและสื่อสารกับลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา การบอกวิธีแก้ ใช้แค่สองบรรทัด แต่การแก้ความรู้สึกของคนจริงๆ อาจต้องรอกันเป็นปี แต่ผมก็ยินดีรอ ถ้ามันมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น
ผมหารถแบบที่ผมต้องการเจอแล้ว และเชื่อว่าหลายคนก็เจอใน CX-8 เช่นเดียวกัน ก็นับว่าพบรักแท้เข้าแล้ว ที่เหลือ..ก็แค่ความดีแบบเสมอต้นเสมอปลาย ที่จะบอกว่าชีวิตสมรสกับรถคันนี้ จะ Happy Ending หรือไม่ คนที่รัก Mazda เคยบอกกับผมว่า เขาไม่เคยกลัวเลยว่ารถคู่แข่งจะเป็นอย่างไร เขากลัวแค่ว่า Mazda ของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตมากกว่า
ถ้าแก้ไขความกลัวข้อนี้จากใจลูกค้าได้ อีกสิบปี ตำแหน่งหัวแถวในตลาดจะหนีไปไหนครับ?
—-/////—-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท Mazda Sales (Thailand) จำกัด สำหรับการเชิญร่วมทดลองขับ
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ตัวบทความเป็นผลงานของผู้เขียน ภาพถ่ายโดยช่างภาพของ Mazda Thailand และผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
27 พฤศจิกายน 2019
Copyright (c) 2019 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com 27 November 2019
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!