ผมขอเดาว่า หลังจากที่บทความนี้เผยแพร่ออกไปบน Facebook ของ Headlightmag สักพัก น่าจะมี Comment เกี่ยวกับเรื่องราคาเยอะอันดับต้นๆ
ไม่ใช่ว่าแพง..หรือว่าถูก แต่เพราะเราต่างคนต่างลุ้นกันอยู่ว่าค่าตัวของเจ้า H6 HEV นั้นจะเปิดออกมาเท่าไหร่..ลุ้นกันยิ่งกว่าลุ้นให้เพื่อนที่กำลังตกหลุมรักใครสักคนไปบอกชอบเขาต่อหน้าตรงๆ..แบบนั้นแหละ ลุ้นแทนมัน แล้วมันก็ไม่ยอมบอกสาวเจ้าเขาสักที พอจะเปิดปากก็กลับเฉไปเฉมา แทนที่จะบอกรัก ก็ไปพูดเรื่องการ์ตูนออกใหม่บ้าง เรื่องการบ้านบ้าง เหมือนรถเมล์ที่วิ่งเท่าไหร่ก็ไม่ถึงป้าย จนคนที่ช่วยลุ้นอยู่ จะเริ่มมีอารมณ์ “เพื่อน…บอกเขาเถอะ…บอกนะ ว่าเอ็งรักเขา..ไม่บอกวันนี้แล้วจะวันไหนวะเพื่อน”
วันนึงทุกคนที่ลุ้นแทน ก็เริ่มเบื่อ..ขนาดผมว่าผมเข้าใจกลไกเรื่องการทำตลาดของรถยนต์พอสมควร ผมยังแอบเซ็งเลย แต่ไม่อยากวิจารณ์มาก เพราะเมื่อประกาศราคาในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ จะออกมาดี หรือร้าย ผลมันก็จะไปลงที่แบรนด์ Haval ล้วนๆอยู่แล้ว ก็ขอให้มิตรแฟนแบรนด์นี้ทุกท่านอดทนเอาหน่อยนะครับ อีกสิบวันก็จะได้ทราบกันแล้วล่ะ
แต่สิ่งที่คุณจะได้ทราบก่อนวันนี้ ก็คือความรู้สึกหลังจากได้ลองสัมผัส Haval H6 HEV ซึ่งผมได้รับหมายเชิญทดสอบแบบเซอร์ไพรส์ เพราะไม่คิดว่าจะมีค่ายรถยนต์ค่ายไหนกล้าจัดงานในช่วงเวลาแบบนี้ แต่เขาก็ไม่ได้จัดเหมือนสมัยก่อนมี COVID เพราะมาตรการต่างๆถูกนำมาใช้ แยกรถสื่อฯละคัน (สื่อไหนมาสองคนก็ต้องไว้ใจกันพอสมควร) นั่งแยกโต๊ะกันเวลาทานข้าวหรือฟังบรรยาย และกิจกรรมทั้งหมดถูกทอนเวลาลงไปเหลือแค่ครึ่งวันเศษ มันไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับคนทำงานสื่อมวลชนรถยนต์หรอกครับ แต่ถ้าไม่มาร่วม ผมก็จะเสียดายจนนอนไม่หลับเอา..
เพราะนี่คือการรับน้องใหม่ประจำปีการศึกษา 2564 ..ซึ่งนักเรียนชายปีแก่ๆอย่างผมไม่พลาดอยู่แล้วจะต้องมาเหล่น้องๆ Freshmen บ้าง
เรากำลังจะได้ทดสอบ รถยนต์จากแบรนด์หน้าใหม่โคตรสดแห่งตลาดในประเทศไทย ที่ไม่มีใครเคยตอบได้ว่านิสัยใจคอเป็นอย่างไรในการขับขี่ แต่เรื่องการออกแบบกับเทคโนโลยีนั้นทราบมาบ้างแล้วจากการที่พวกเขานำรถมาให้ยลโฉมในงานมอเตอร์โชว์ และเปิดโอกาสให้สื่อฯรีวิวตัวรถ (แต่ยังไม่ให้ขับ) ในคราวนี้จะเน้นให้ขับ แต่อาจจะไม่มีเวลาพอได้เล่นฟังก์ชั่นที่รถมีครบทุกอย่างเพราะข้อจำกัดของเวลา
เอาวะ…ของมันต้องลอง ก็ลองเท่าที่ได้แล้วกัน
ชื่อชั้นของแบรนด์ Haval นั้น บางคนที่ชีวิตติดแต่แบรนด์หลักอาจจะยังไม่รู้จัก แต่พวกเขาก็อยู่บนโลกมาสักพักหนึ่งแล้ว บริษัทแม่อย่าง Great Wall Motor (GWM) นั้นก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 โดยเริ่มสร้างรถในแบบที่ราคาหยิบซื้อง่าย ไม่ค่อยมีความซับซ้อน รูปแบบของรถ ก็ดูแล้วเหมือน Jeep เก่าๆ เน้นเป็นรถใช้งาน จนกระทั่งท่านประธานคนปัจจุบัน คุณ Wei Jianjun มานั่งคุมแบรนด์ในปี 1990 (ตอนนั้นเขาเพิ่งอายุ 26 ปี!) ก็เริ่มพยายามพัฒนารูปทรงรถ โดยมีวิธีการคล้ายกับรถยนต์จากญี่ปุ่นในยุค 50s-60s คือเอาสไตล์ของรถจากค่ายอื่นมา (เช่น Toyota Crown หรือ Nissan Cedric) แต่ภายในช่วงต่อของศตวรรษ ก็หันกลับไปสนใจรถกระบะและรถอเนกประสงค์ นี่คือจุดกำเนิดของชื่อ Haval ในฐานะแบรนด์ย่อย ภายในค่ายหลักอีกที
ในสมัยนั้น เวลาเรียกชื่อรถ ก็จะเรียกชื่อยาวๆเช่น Great Wall Haval H5 จนกระทั่งเมื่อทีมผู้บริหาร GWM เริ่มมองการณ์ไกล พยายามจำแนกรถในเครือออกเป็นยี่ห้อใครยี่ห้อมัน ปี 2013 Haval จึงถูกแยกออกมาเป็นแบรนด์ที่มีตัวตนชัดเจน มีเป้าหมายในการเป็นบริษัทที่มุ่งทำแต่รถประเภท SUV เท่านั้น ในขณะที่ ORA ก็จะเป็นแบรนด์ที่เน้นทำแต่รถ EV เท่านั้น ส่วนแบรนด์ WEY ก็จะมีภาพลักษณ์พรีเมียมขึ้นอีกระดับ
นอกจากการปรับทัพค่ายในเครือให้มีความชัดเจนไม่ทับซ้อน และให้แต่ละค่ายลุยทำแต่สิ่งที่ตนเองถนัด พัฒนาการด้านผลิตภัณฑ์ของรถในเครือ GWM ก็รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว คุณนึกถึงความเป็นอยู่ของคนในสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคเติ้งเสี่ยวผิงว่าเป็นอย่างไร แล้วจีนในยุคทุนนิยมผสมคอมมิวนิสต์ของสี่จิ้นผิงว่าเจริญหูเจริญตาขึ้นขนาดไหน…รถจีนของค่ายนี้ก็ต่างกันฟ้ากับเหวเช่นเดียวกัน คุณผู้อ่านที่เกิดในยุค 1980s และอ่านหนังสือรถตั้งแต่เด็กจะจำภาพรถ Great Wall/Haval ว่าหน้าตาเหมือน Toyota กับ Isuzu ยำอะไหล่ดูพิกลตา แต่ทุกวันนี้ดีไซน์ และเทคโนโลยีของรถในบ้างด้านก็ฆ่าแบรนด์ญี่ปุ่นได้แล้ว
Haval เป็นแบรนด์ SUV ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในจีนนับตั้งแต่ช่วงแรกที่เปิดค่าย ผันตัวมาเป็นผู้เล่นระดับโลกที่มีเครือข่ายจำหน่ายใน 60 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันหากวัดชื่อชั้นในแบรนด์ที่เก่ง SUV ด้วยกัน Haval จะตามหลังก็แค่กลุ่ม Jeep ของอเมริกา และ Land Rover ของอังกฤษเท่านั้น ไม่เลวสำหรับน้องใหม่ที่เพิ่งเป็นแบรนด์อิสระจริงจังมาไม่ถึง 10 ปี
สำหรับ Haval H6 รุ่นที่คุณเห็นอยู่นี้ นับเป็นเจนเนอเรชั่นที่สาม เปิดตัวที่ประเทศจีนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2020 และนำเข้ามาโชว์ตัวในไทยในต้นปี 2021 โดยประเทศไทยจะได้ฤกษ์เปิดตัวเวอร์ชั่น HEV (ไฮบริดไม่เสียบปลั๊ก) เป็นแห่งแรกในโลก โดยเป็นรถที่ประกอบจากโรงงานเก่าของ GM ที่จังหวัดระยอง และทราบมาว่าการมาของ GWM ก็ทำให้อดีตพนักงานไลน์ประกอบของ GM บางคน ได้มีงานทำต่อในช่วงที่ COVID กำลังระบาดอยู่เช่นนี้ สองอย่างนี้ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เลว
ดีไซน์ของ H6 นี้ ผู้สื่อข่าวยานยนต์บางท่านบอกว่าเห็นแล้วนึกถึงรถของค่าย Land Rover ซึ่งตอนแรกผมก็มองไม่ออก จนกระทั่งมองจากด้านข้างรถ ถึงเริ่มเห็นความคล้ายในสัดส่วน หน้ายาว ฝากระโปรงเกือบขนานพื้น เหมือนจะเป็นรถขับหลังแต่ไม่ใช่ หลังคาลาดเทไปหาท้ายรถเล็กน้อย และส่วนท้ายของรถที่ดูทะมัดทะแมง ทำให้สัดส่วนของรถดูคล้าย Range Rover Velar
มันอาจจะมีเค้าส่วนหนึ่ง เพราะเจ้านายใหญ่ที่คุมฝ่ายออกแบบของ Haval ตั้งแต่ปี 2018 คือ Phil Simmons ซึ่งเป็นนักออกแบบที่เคยดูแลหน้าตาให้กับ Land Rover ทั้ง Discovery, Discovery Sport และบรรดา Range Rover ทั้งหลายนั่นเอง แต่พอจบงานกับค่ายอังกฤษ ชายวัย 52 (ในขณะนั้น) ก็เก็บข้าวของบินมาอยู่ที่เมือง Baoding มณฑลเหอเป่ย เพื่อมาสตาร์ทชีวิตใหม่กับ Haval ที่ซึ่ง Phil บอกว่า “ทำงานแล้วเหมือนได้มีอิสระทางความคิดมากขึ้น เพราะค่ายนี้อายุไม่เยอะ และไม่มีประเพณีหรือแนวทางในการออกแบบที่บังคับว่ารถทุกรุ่นต้องมีเอกลักษณ์สืบต่อจากรถรุ่นเก่าๆ”
ดังนั้น แนวคิดในการออกแบบ “Oriental Futurism” จึงถูกนำมาใช้ Oriental คือคำที่สื่อถึงวัฒนธรรมจีน/เอเชีย ส่วน Futurism ก็คือ Future หรืออนาคต ความล้ำสมัยนั่นเอง สิ่งที่ Phil ทำเหมือนกับสมัยก่อนก็คือ เวลาออกแบบรถ เขาจะเริ่มออกแบบจากด้านข้างก่อนเสมอ “เพราะรถจะสวย ต้องเริ่มที่รูปทรงด้านข้างแบบที่ทุกคนชอบก่อน มันมีความสำคัญในแง่สัดส่วนของตัวรถ หลังจากนั้น เราก็ค่อยออกแบบด้านหน้า และด้านท้ายให้มันรับกับด้านข้างรถลงตัวที่สุด”
ความแยบยลในการออกแบบ อยู่ที่เมื่อคุณเห็นเจ้า H6 คุณจะนึกว่ามันดูเหมือนรถบางรุ่น แต่พอเอารูปมาเทียบกันแล้วกลับจะรู้สึกว่า..ไม่เห็นเหมือนนี่หว่า..สัดส่วนเหมือน Velar แต่เอารูปมาเทียบกันแล้วคนละเรื่อง ด้านหน้ามีกลิ่นอายไฟหน้าและเส้นกรอบกระจังหน้าแบบ Audi แต่ตำแหน่งการติดตั้งอยู่สูงกว่าทั้งสองอย่าง ไฟท้ายเหมือน SUV ของ Porsche แต่ก็ทำลวดลายจนมีความต่าง ปรับรายละเอียด ขยับตำแหน่ง จนทำให้ได้ทรงที่พอจะเคลมได้ว่าเป็นของเขาเอง
ผมมองว่าถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมชาติอย่าง MG คุณจะเห็นว่าเส้นสายมันเป็นเอเชียสุดๆ แต่ในเว็บหรือโบรชัวร์ คุณจะเห็นคำว่า “BRIT” หรือ “อังกฤษ” หลายแห่ง (ซึ่งก็ด่าไม่ได้ เพราะแบรนด์เขาก็เกิดที่อังกฤษจริงๆแหละ) แต่ Haval นั้นหน้าตาของตัวรถเกือบจะเป็นยุโรปไปแล้ว บอสฝ่ายออกแบบก็เป็นคนอังกฤษ แต่กลับพยายามกลบความเป็นยุโรปแล้วชูความเป็นจีน และวิธีที่ทำให้รถมีความเป็นจีนชัดเจนที่สุด ก็อยู่ที่กระจังหน้านี่ล่ะครับ เพราะนอกจากโครเมียมแล้ว คนจีนก็ยังตกหลุมรักกระจังหน้าที่มีขนาดใหญ่ ดีเทลเยอะอีกด้วย
ขนาดว่าถ้าคุณค้นในเว็บของ Haval Global ก็จะเห็นว่า เขาเรียกกระจังหน้าลายตาข่ายพิศดารของ H6 เป็นชื่อจีนว่า “Fangsheng-pattern grill” ซึ่งผมไม่ได้มีแฟนเป็นคนจีน ก็อ่านออกเสียงไม่ถูกว่าคืออะไร ไปเปิด Google ดู Fangsheng ก็พบความหมายสองอย่าง อย่างแรกคือ “สุดเสียง” หรือ “ด้วยเสียงอันดัง” ส่วนอย่างที่สองคือ “ประเพณีปล่อยนกปล่อยปลาตามวิถีของชาวพุทธ” ซึ่งเรียนตามตรงว่าหลังนั่งเพ่งตาข่ายกระจังหน้าอยู่พักหนึ่ง ก็นึกไม่ออกว่าสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกับกระจังหน้าลายนี้ยังไง แต่ถ้าคุณสังเกต เขาจะเพิ่มความแปลกด้วยการทำรูตาข่ายแถวบนให้เล็ก แล้วแถวล่างๆมาก็ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มองแล้วเหมือนกระจังเดินลึกเข้าไปในห้องเครื่อง ถ้ามองจากด้านหน้าตรง
คุณคิดว่าอย่างไรกับรูปทรงโดยรวมครับ? สำหรับผม ผมให้ 8/10 และส่วนที่ชอบก็คือรูปทรงของไฟหน้า LED และไฟท้ายที่ยาวซ้ายจรดขวา ส่วนบอดี้นั้นไม่เด่น แต่ก็ไม่น่าเกลียดหรือล้าสมัย ด้านข้างออกจะดูคลีนเรียบ ไม่เน้นโป่งออกเยอะๆแบบรถสปอร์ต หน้าตาดูเป็นมิตรแบบครอบครัวมากกว่าที่จะดุดันหรือเซ็กซี่
Haval H6 มีขนาดตัวถังยาว 4,653 มิลลิเมตร กว้าง 1,886 มิลลิเมตร สูง 1,724 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,738 มิลลิเมตร ระยะความกว้างแทร็คล้อหน้า/หลังอยู่ที่ 1,631/1,640 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ 175 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 61 ลิตร สำหรับน้ำหนักตัว อยู่ที่ 1,690 กิโลกรัมในรุ่น Pro และ 1,720 กิโลกรัมสำหรับรุ่น Ultra ซึ่งเป็นตัวท้อป พอจะประมาณได้ว่าเมื่อเทียบกับรุ่นสเป็คจีนเครื่อง 1.5 ลิตรที่ไม่ใช่ไฮบริด น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นมาประมาณ 140-170 กิโลกรัม
แล้วที่เขาว่า H6 ตัวถังใหญ่..ใหญ่จริงไหม ลองเทียบกับรถในตลาด SUV ไซส์กลางราคาล้านต้นถึงล้านกลางๆดูครับ (ตัวเลข ยาว x กว้าง x สูง เป็นมิลลิเมตร)
Honda CR-V = 4,610 x 1,855 x 1,689
Mazda CX-8 = 4,900 x 1,840 x 1,740
Mazda CX-5 = 4,550 x 1,840 x 1,680
MG HS = 4,574 x 1,876 x 1,664
Mitsubishi Outlander = 4,695 x 1,800 x 1,710
Subaru Forester = 4,625 x 1,815 x 1,720
จากตัวเลขข้างบนจะเห็นได้ว่า มี CX-8 ซึ่งเกิดมาเป็น SUV เบาะสามแถวตัวยาวอย่างจริงจังนั่นล่ะ ที่ตัวโตกว่า H6 อย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะความยาวตัวถัง แต่นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว H6 จะใหญ่กว่าใครอื่น แม้ว่าตัวถังของ H6 จะสั้นกว่า Outlander อยู่ แต่ความกว้างและความสูง เอาตัวเลขมาบวกดิบๆ H6 ก็มีภาพรวมที่ใหญ่กว่าอยู่ดี
ที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์คือ แม้ว่าตัวรถจะโต แต่น้ำหนักตัวถังไม่ได้มากอย่างที่คิด แม้จะเป็นไฮบริด แต่ตัวกลับเบากว่า CR-V 1.6 ดีเซลขับสี่ และเบากว่า MG HS รุ่น PHEV อยู่ประมาณ 50 กิโลกรัม ส่วน Outlander นั้นหนักกว่ากันอยู่ถึง 190 กิโลกรัมเพราะแบกทั้งแบตขนาดโตสไตล์รถ Plug-in และยังต้องมีระบบขับสี่ ในขณะที่ H6 เป็นไฮบริดไม่มีปลั๊กเสียบ แบตเตอรี่ไฮบริดมีขนาดเล็กกว่า และเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า
รถทดสอบของเราทั้งหมดในทริปนี้ เป็นรุ่น Ultra ตัวท้อป ซึ่งแม้เราจะยังไม่ได้ยลโฉมรุ่นย่อย Pro ที่เป็นตัวรอง แต่ทาง GWM ก็ให้ข้อมูลอุปกรณ์มาเพื่อการเปรียบเทียบ ตัวท้อปอย่าง Ultra นี้ สิ่งที่มองเห็นจากภายนอกว่าต่างจากรุ่น Pro ก็มีดังนี้
- กระจังหน้า รุ่น Pro จะเป็นสีดำ รุ่น Ultra เป็นโครเมียม
- รุ่น Ultra มีไฟตัดหมอก LED
- ล้ออัลลอย ของรุ่น Pro เป็นล้อขอบ 18 ลาย Astrolabe ส่วนรุ่น Ultra เป็นขอบ 19 ลาย Vortex
- หลังคา Panoramic มีเฉพาะรุ่น Ultra
เปิดประตูเข้ามาดูภายใน กุญแจของ H6 เป็นสมาร์ทคีย์ในทุกรุ่นย่อย การเข้าออกจากรถนั้น ถ้าคุณตัวสูงเกิน 180 ซ.ม. อาจต้องมีก้มหัวหลบแนวหลังคา ไม่ใช่เพราะหลังคามันเตี้ยนะครับ แต่เพราะตำแหน่งเบาะติดตั้งไว้ค่อนข้างสูง และเมื่อปรับให้เตี้ยสุด ก็ยังสูงนิดๆอยู่ดี แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อเทียบกับรถระดับเดียวกัน ก็ไม่ได้ถือว่าเข้าออกยากกว่าคนอื่น บางรุ่นอย่างเช่น Mazda มักกดเบาะได้เตี้ย แต่หลังคาลาดมาก ส่วน CR-V นั้นก็ผมก็ต้องก้มหัวหลบเล็กน้อยเช่นกัน จะมีก็แค่รถที่หลังคาเหมือนทัปเปอร์แวร์อย่าง Subaru Forester ที่เข้าออกง่ายโคตร เพราะนอกจากกดเบาะได้เตี้ยแล้ว เสาหลังคาที่ตั้งทำให้พื้นที่เข้าออกส่วนหัวเยอะมาก แต่นี่คือวัดโดยเทียบจากร่างกายผม และพูดเพื่อเทียบความง่ายในการเข้า/ออกเท่านั้น สำหรับคนทั่วไปคุณไม่น่ามีปัญหาหรอกครับ
วัสดุที่หุ้มเบาะจะเป็นหนังสังเคราะห์ (หนังเทียม) ทั้งตัว แต่เป็นหนังเทียมแบบที่ให้ผิวสัมผัสนวลมือไม่หยาบกระด้าง เบาะฝั่งคนขับปรับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศ เวลาปรับขึ้นลงจะเป็นแบบยกทั้งตัว ไม่สามารถแยกปรับยกเฉพาะช่วงรองน่องได้ ไม่มีระบบความจำใดๆมาให้ แต่ยังสามารถปรับการดันหลังได้ ส่วนฝั่งคนนั่งจะปรับได้แค่เลื่อนหน้า/หลังและปรับเอนเท่านั้น ซึ่งในเซกเมนต์นี้ หากเราไม่พูดถึงราคารถ เบาะของคู่แข่งส่วนใหญ่จะปรับได้มากกว่า เช่น Outlander กับ Forester ถึงไม่มี Memory เบาะ แต่ปรับได้หลายจุดมากกว่า ส่วน CR-V กับพวก CX-Series ของ Mazda ตอนนี้มีระบบความจำมาให้และปรับได้หลายท่า ที่ใกล้เคียงกับ H6 ก็เห็นจะมี MG HS ที่ปรับได้ 6 Way/4 Way เหมือนกันและไม่มีระบบความจำ
แต่ MG มีเข็มขัดนิรภัยปรับระดับได้ ในขณะที่ H6 ไม่มี ตรงนี้ทำให้การปรับเบาะให้เข็มขัดคาดผ่านหัวไหล่พอดี อาจไม่ใช่ตำแหน่งที่นั่งสบายหรือขับถนัดเสมอไป
ลูกเล่นของเบาะฝั่งคนนั่งก็คือสวิตช์ปรับเบาะที่คนนั่งหลัง หรือคนขับสามารถเอามือมาปรับได้ง่าย เผื่อพวกพ่อบ้านลูกอ่อน ที่เวลาเดินทาง ภรรยามักต้องนั่งหลังคอยดูแลลูก เวลาอยากเลื่อนเบาะให้ภรรยายืดขายาวๆเพื่อผ่อนคลายก็ทำได้ง่าย แบบนี้ผมชอบครับ เพิ่มต้นทุนแค่สวิตช์กับสายไฟ แต่มันทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ผมขับรถอยู่ก็ยังเอามือคลำปรับเลื่อนเบาะได้โดยไม่ต้องละสายตาจากถนน
ตำแหน่งการขับ ก็ไม่ค่อยผิดคาดนักจากที่ได้ลองนั่งรถเวอร์ชั่นพวงมาลัยซ้ายมาก่อน เรื่องพื้นที่ไม่ได้มีปัญหาครับสบายเหลือเฟือ แต่พวงมาลัยนั้น ถึงแม้จะปรับได้ 4 ทิศ แต่ลองพยายามปรับเข้าหาตัวมากที่สุดแล้ว ก็ยังรู้สึกว่า ขาเขอเหยียบแป้นได้โอเค แต่พวงมาลัยก็ยังอยู่ไกลไป ครั้นปรับฐานเบาะเข้าใกล้ให้มือถึงพวงมาลัย ก็เมื่อยเข่า ถ้าจะไม่เมื่อยเข่า และจับพวงมาลัยถึง ก็ต้องปรับเบาะให้ตั้งจนแอร์โฮสเตสเห็นแล้วอาจจะทักว่าพี่คะ ตั้งตรงไปมั้ย เรายังไม่ได้จะ Landing นะคะ พอขับไปนานๆ ก็ปวดหลังอีก พอทนไม่ไหวก็ต้องยอมเอนตัวแล้วยืดแขนสุด คนนอกรถมองมาเห็นผมนึกว่าเป็นอุรังอุตังอ้วนแก่ๆโหนพวงมาลัยเล่นอยู่ในรถ
ขอแค่สามารถปรับพวงมาลัยเข้าหาคนขับได้มากกว่านี้สัก 3-4 นิ้ว ก็จะสบายสำหรับคนตัวสูงแล้ว เบาะรองนั่งอาจจะสั้นและไม่สบายก้นเท่าคู่แข่งฝั่งญี่ปุ่น แต่ผมชอบพนักพิงหลังและศีรษะครับ มันให้ความรู้สึกผ่อนคลายดี หมอนรองหัวไม่ดันกบาลเกินไป มีความนุ่มให้พอเพียง ถ้าเราปรับจนได้องศาที่พอดี แต่เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความต่างกัน คุณผู้อ่านที่สนใจก็ลองไปนั่งปรับดูดีกว่าครับ เพราะสำหรับคนอายุน้อยหุ่นดีอาจไม่มีปัญหาเท่าผม
ย้ายมาเบาะนั่งหลังดูบ้าง ทางเข้าออกใหญ่ แหวกกระจกช่วงบนกว้างจนเข้ารถได้ง่าย เบาะนั่งปรับเอนไม่ได้ และเลื่อนไปมาไม่ได้ อาจจะเสียเปรียบคู่แข่งเจ้าอื่นที่เขาเอนเบาะได้ แต่เรื่องพื้นที่วางขานี่หายห่วงครับ ฐานล้อยาวจนเป็นรองแค่ CX-8 เท่านั้น พื้นที่เหยียดขาเหลือเฟือ คนเจ้าเนื้อนิดๆยังสามารถนั่งไขว่สยามพาราก้อนได้ ตัวเบาะมีความนุ่มนอกแข็งในกำลังดี พนักพิงศีรษะที่แลดูไม่น่าจะสบาย แต่พอปรับให้รับหัวดีๆ กลับสบายกว่าที่คิด ดูๆไปแล้วนี่อาจจะเป็นหนึ่งในรถที่ผมเอ็นจอยที่จะเป็นภรรยานั่งหลังกับลูกเล็กมากกว่าที่จะเป็นคนนั่งขับ สบายกว่า CX-5, HS, Forester ชัดเจน และสบายทัดเทียม CR-V, Outlander ได้ ถ้าคุณจะเอาพื้นที่มากกว่านี้คงต้อง CX-8 แล้วล่ะครับ
ช่องแอร์ด้านหลัง อยู่ในระนาบเป่าเข่า ไม่สามารถปรับแรงเป่าของลมได้ แต่ยังดีว่ามีช่องเสียบ USB Type A มาให้ใช้ชาร์จมือถือได้ 2 ตำแหน่ง พนักเท้าแขน เมื่อกางลงมาแล้วไม่หงิกแบนไปยันกับตัวเบาะ อยู่ในตำแหน่งที่ออกจะเตี้ยนิดๆสำหรับคนตัวสูง มีที่วางแก้วมาให้ เข็มขัดนิรภัยคนนั่งหลังตรงกลาง ก็เป็นแบบ 3 จุด
จุดเด่นจุดขายของรถแดนมังกรตัวท้อปๆ ขาดไม่ได้เลยก็คือหลังคาแบบ Panoramic กว้างกินบริเวณยาวมาถึงด้านหลัง สามารถสไลด์เปิดตอนหน้าได้ มีม่านบังแดดเปิด/ปิดได้มาให้เป็นโทนสีเดียวกับหลังคา สามารถเปิดได้ด้วยสวิตช์ที่ใกล้กระจกมองหลัง หรือสั่งการทำงานผ่านเสียงก็ได้..เหมือน MG นั่นล่ะครับ
ฝากระโปรงท้าย เปิดด้วยไฟฟ้า แต่ยังต้องใช้มือกดปุ่มเปิดอยู่นะครับ เมื่อเปิดออกมาจะเจอพื้นที่เก็บสัมภาระพร้อมแผ่นปิดบังสัมภาระด้านท้าย ในรุ่นปกติที่ไม่ใช่ไฮบริด H6 จะมีความจุด้านท้ายมากถึง 600 ลิตร แต่รุ่นไฮบริดนั้นยังไม่มีข้อมูลตัวเลขว่าเท่าไหร่ เพราะขายที่ไทยเป็นประเทศแรกและทางไทยก็ยังไม่ตีพิมพ์ข้อมูลออกมา แต่จากการกะด้วยสายตา พื้นที่เหลือเฟือ ขนของได้เยอะแน่นอน ถุงกอล์ฟเรอะ..สบายบรื๋อว่าขวางไปเลยก็ได้
เบาะหลัง สามารถแยกพับได้แบบ 60:40 เมื่อพับลงไปแล้ว พื้นห้องเก็บสัมภาระจะต่อเนื่องกัน แต่ส่วนที่เป็นเบาะ จะมีความลาดเอียงอยู่บ้างตามในภาพ
มาถึงบรรยากาศภายในกันบ้าง นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีกลิ่นอาย Land Rover/Range Rover ปนอยู่ แต่ก็พยายามที่จะปรับดีไซน์ให้มีความเป็น Oriental Futurism ซึ่ง Phil Simmons บอสฝ่ายออกแบบบอกว่า นอกจากจะพยายามทำให้ดูล้ำอนาคตแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทีมออกแบบต้องการคือแดชบอร์ดที่คลีนสุดๆ เรียบง่าย ไม่มีปุ่มมากมายเป็นห้องนักบิน สิ่งนี้ ทำให้เกิดทั้งความสวยงามจนน่าจะเป็นรถไฮบริดรุ่นหนึ่งที่ดูแล้วจะนึกว่าเป็นรถสปอร์ตพลังไฟฟ้าเลย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็นำมาซึ่งปัญหาในการใช้งาน ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายอีกที
ห้องโดยสารจะมาในโทนสีแบบเดียวในแต่ละรุ่นย่อย รุ่น Pro จะได้ภายในสีดำล้วนตัดสลับวัสดุสีเงิน ส่วนรุ่น Ultra จะมีสีดำ คาดสลับกับสีเทาออกครีมๆ และตัดแก้เลี่ยนด้วยพลาสติกตกแต่งสี Rose Gold และยังมีการฝัง Ambient Light สีแดงซ่อนไว้ตรงแผงประตูได้อย่างสวยงาม ยอมรับเลยครับว่าเห็นภายในของรุ่น Ultra แล้วรู้สึกชอบมาก วัสดุบนแดชบอร์ดอาจจะไม่ได้นุ่มต่อการสัมผัสมากเท่าเพื่อนร่วมชาติอย่าง HS แต่ก็ไม่จัดว่าแย่ ดูแล้วไม่รู้สึกว่ามีการลดต้นทุนเพื่อทำราคา จะข้ามขั้นไปไล่กับรถระดับพรีเมียมก็เกือบได้
บนแดชบอร์ดทางขวา จะมีปุ่มสำหรับเปิดฝาท้าย, สวิตช์ลูกบิดสำหรับปรับองศาการส่องของไฟหน้า, สวิตช์ปิดระบบควบคุมการลื่นไถล และสวิตช์สำหรับระบบช่วยชะลอความเร็วเมื่อลงเนินชัน ช่องเป่าแอร์บนแดชบอร์ดเป็นแบบไม่มีลูกบิดปรับขนาดช่องเพื่อเพิ่ม/ลดแรงลม สวิตช์สตาร์ทอยู่ที่เหนือเข่าซ้ายผู้ขับ ส่วนบนคอนโซลกลาง ใต้ช่องแอร์ มีสวิตช์เปิดแอร์, สวิตช์ A/C, สวิตช์เป่าไล่ฝ้า, สวิตช์ไฟฉุกเฉิน, สวิตช์ไล่ฝ้ากระจกหลัง, สวิตช์สำหรับระบบช่วยจอดต่างๆ และสวิตช์เปิด/ปิดจอกลาง
ด้านการออกแบบ ไม่ตำหนิครับ ดูล้ำสมัยเอาใจวัยรุ่น แต่ไม่เลอะเทอะเกินไป คอนโซลกลางระหว่างคนนั่งตอนหน้ายกตัวขึ้น ทำให้มีที่วางของได้ด้านล่าง ที่วางแก้วตรงกลางมีแผ่นคั่นกลางที่สามารถกดพับลงไป เปลี่ยนช่องวางแก้วให้เป็นพื้นที่สามารถใส่ของขนาดใหญ่ขึ้นได้ ในรุ่น Ultra จะมีแท่นวางชาร์จโทรศัพท์ Wireless Charger มาให้ด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้ชาร์จโทรศัพท์บ่อยๆคุณสามารถปิดการทำงานของมันได้ผ่านจอกลาง คันเกียร์ เป็นแบบลูกบิดไฟฟ้า กดปุ่มเพื่อเข้า P และบิดซ้ายขวาเพื่อเข้า R, N, D และแค่นั้น ไม่มีเกียร์ B มาให้
ที่แดชบอร์ดตอนล่าง คุณลองก้มดู จะมีช่อง USB มาให้ ทางซ้าย 1 ฝั่งคนขับ 1 และที่ฝั่งคนขับจะมีช่องเสียบ Power Outlet แบบรถทั่วไปมาให้อีก 1 ซึ่งต้องบอกว่า ถ้าคุณต้องการจะเสียบ USB ดูหนังฟังเพลงหรือต่อ CarPlay คุณจะต้องไปเสียบ USB Type A ที่อยู่ฝั่งคนนั่งเท่านั้นนะครับ ฝั่งคนขับจะเป็นช่องสำหรับจ่ายไฟเท่านั้น ดังนั้นถ้าคุณขับรถไปไหนมาไหนคนเดียว อยากจะเสียบอะไร ต้องทำให้เรียบร้อยตั้งแต่ตอนจอดรถนะครับแม้แต่จะเสียบชาร์จมือถือก็เถอะเพราะอยู่ห่างระดับสายตามาก นี่คือจุดที่การคลีนแดชบอร์ด นำมาซึ่งความยุ่งยากในการใช้งานจริง ในขณะที่รถรุ่นเก่าๆมี USB โผล่หน้ามาตรงคอนโซลจะเสียบได้ง่ายกว่า
เหมือนรถ EV สมัยใหม่..จอกลางของ H6 นั้น เป็นศูนย์บัญชาการที่มีความสำคัญชนิดว่าถ้าหากชำรุดใช้การไม่ได้ คุณจะทำอะไรไม่ได้หลายต่อหลายอย่าง จอนี้เป็นทัชสกรีน รุ่น Pro จะใช้จอขนาด 10 นิ้ว ส่วนรุ่น Ultra อย่างในภาพ จะมีขนาด 12 นิ้ว มี SIM Card ติดตั้งมาด้วยสำหรับการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่น GWM ซึ่งสามารถตรวจสอบสถานะของรถ เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟสัญญาณต่างๆ สามารถเปิด/ปิดแอร์ผ่านแอพพลิเคชั่นได้ รวมถึงสามารถค้นหาตำแหน่งของรถ และสร้างขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์ที่เมื่อรถวิ่งเข้าหรือออกจากบริเวณที่คุณกำหนด จะมีการเตือนมายังแอพพลิเคชั่น ตรงนี้ไม่ได้ว้าวเท่าไหร่ เพราะ MG ทำมานานหลายปีแล้ว ค่ายญี่ปุ่นก็เริ่มทำแล้วเช่นกัน
ระบบปรับอากาศ เป็นแบบ Dual Zone พร้อม Filter CN95 ในทุกรุ่นย่อย รุ่น Ultra จะได้ระบบ Ioniser เพิ่มมาอีกอย่างหนึ่ง สามารถทำความเย็นได้เร็ว แม้ในช่วงกลางวัน และยังใจดีให้ระบบเป่าลมระบายความร้อนที่ตัวเบาะหน้ามาอีกต่างหาก แต่ฟังก์ชั่นเกือบทั้งหมดต้องทำผ่านจอกลาง นั่นหมายความว่าถ้าจอชำรุด คุณจะทำได้แค่เปิด/ปิดแอร์ กับ A/C แค่นั้น
เครื่องเสียง เป็นแบบ 8 ลำโพง ซึ่งพอฟังแล้วรู้สึกว้าวมาก ว่าทำไมห่วยอย่างนี้ หรือเดินสายลำโพงไม่ครบหรือเปล่า เพราะในบรรดา SUV ทั้งหมดที่ผมเคยลองมา H6 คือรถคันเดียวที่เมื่อผมเปิดเพลงเทสต์แล้ว หาความอวบอิ่มของเบสแทบไม่ได้ เสียงออกมาแบบแห้งๆจนจากจะเทยาแก้ไอน้ำดำ LP ตราเสือดาวป้อนให้ลำโพงเสียเลย ถ้ามีโอกาส ผมจะลองไปหารถทดสอบคันอื่นแล้วเทสต์เสียงอีกครั้ง เพราะคันนี้ ลองปรับ EQ หลายจุดแล้วก็ยังได้คุณภาพเสียงที่ไม่โดนใจ
ที่จอกลางนี้ ยังเป็นศูนย์รวมการปรับแต่งตัวรถที่สำคัญอีกหลายอย่างที่ไม่มีสวิตช์ในจุดอื่น เช่น
- ปรับโหมดการขับขี่ (มาตรฐาน/ประหยัด/สปอร์ต/วิ่งบนถนนลื่น)
- ปรับน้ำหนักพวงมาลัย 3 ระดับ
- ปรับการหน่วงของระบบ Energy Recuperation ของระบบไฮบริด 3 ระดับ
- เปิด/ปิดการทำงานของระบบความปลอดภัยต่างๆ
- ปรับความสว่างของหน้าปัด
ซึ่งเวลาปรับค่าต่างๆ หลายครั้งจะมีเสียงให้รู้ว่าระบบรับทราบ เป็น Effect ว๊อง แว๊ง วิ้ว วู้ว เสียงเหมือนมาจากหนัง Sci-fi หรือเวลาปรับโหมด Sport ก็จะมีเสียง Formula One วิ่งผ่าน ตรงนี้ผมเฉยๆ แต่วัยรุ่นคงชอบ
นอกจากนี้ ระบบสั่งการด้วยเสียง ก็มีมาให้ คุณสามารถพูดคีย์เวิร์ดให้รถได้ยิน (ของเดิมตั้งค่าเป็น “สวัสดี Haval”) แล้วออกคำสั่งง่ายๆ เช่น เปิดซันรูฟ เปิดหน้าต่าง ลดเสียง ควบคุมแอร์ได้ หรือไม่ต้องพูดคีย์เวิร์ดแล้วกดปุ่มรูปคล้ายผู้หญิงเรอบนก้านพวงมาลัยด้านขวาแล้วพูดออกมาก็ได้ ถ้าคุณพบว่า “สวัสดี Haval” มันฟังดูน่าเบื่อ คุณสามารถเข้าไปตั้งค่าคีย์เวิร์ดได้ คันของผม ผมแอบไปตั้งเป็นชื่อว่าคุณตุ๊ก (PR ของทาง Haval) แล้วสั่งเล่นกันสนุกสนาน
ข่าวดีคือตอนคืนรถ ผมลืมปรับค่ากลับ ผมหวังว่าพี่ตุ๊กแกจะไม่รู้ว่าผมไปซนอะไรไว้
จุดเด่นอีกอย่างของ H6 ก็คือ มีกล้อง 360 องศาทุกรุ่นย่อย เมื่อเปิดไฟเลี้ยว..หรือไม่ได้เปิด แต่หักพวงมาลัยเยอะหน่อย กล้องจะทำงานโดยอัตโนมัติ ให้เห็นถนนจุดที่คุณกำลังจะเลี้ยวไป และยังปรับมุมมอง 2D/3D ได้ มองภาพ Virtual ได้รอบคันแม้กราฟฟิกที่ออกมาจะมีอัตราส่วนรถเรากับสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่ดูตลกอยู่บ้าง แต่เรื่องความชัดเจนของภาพ ผมพอใจแล้วกับระดับนี้
ในรุ่น Ultra สิ่งที่คุณจะได้เพิ่มมาอีกก็คือระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ Integration Auto Parking-IAP ซึ่งสามารถจอดได้ทั้งแบบเลียบทางเท้า แบบถอยเข้าซองตรงๆ และถอยเข้าซองในแนวเฉียง ถือว่าเป็นรถรุ่นแรกในคลาสนี้จากฝั่งเอเชียที่มีอุปกรณ์นี้ให้ลูกค้า การใช้งานก็ไม่ยากครับ พอเราเข้าใกล้จุดที่ต้องการให้ระบบเริ่มค้นหาที่จอด ก็กดปุ่ม P ที่สวิตช์คอนโซลกลาง กดปุ่มจอดอัตโนมัติบนจอ ให้ระบบเริ่มเปิดสแกนเนอร์ คุณขับรถไปข้างหน้าช้าๆ เลยจุดที่คุณคิดว่าจะจอดไปหน่อย ระบบจะแสดงสี่เหลี่ยมสีเขียวมีตัว P บนจอ จอดตรงไหนได้บ้าง ก็จะแสดงจำนวนเท่านั้น คุณก็เอานิ้วจิ้มตำแหน่งที่ต้องการจอดได้เลย จากนั้น ปล่อยมือจากพวงมาลัย ปล่อยเท้าจากแป้นต่างๆ (แต่เอาเตรียมรอไว้แถวแป้นเบรกก็ดีเพื่อความชัวร์) รถจะจัดการเองโดยที่คุณไม่ต้องคุมเบรก ไม่ต้องคอยเปลี่ยนเกียร์เดินหน้าถอยหลัง
และความเร็วในการจัดการจอด ก็เร็วไม่แพ้ระบบของ BMW เลยครับ ถูกล่ะ ถ้าเจอมนุษย์เก่งๆ มือกับเท้าคนน่าจะจัดการได้ไวกว่า แต่ถ้าคนขับไม่เก่ง หรือว่าพื้นที่ตรงนั้นมันแคบ หรือมืด ตาคนมองไม่ถนัด แบบนั้นระบบก็ช่วยจอดให้คุณได้ ชนิดที่ว่า เหลือพื้นที่หน้าหลังเพียงน้อยนิดก็ยังจอดขนานทางเท้าได้เนียนๆ
ของเล่นอีกอย่างในรุ่น Ultra คือระบบ ARA-Auto Reversing Assistance ซึ่งช่วยถอยรถให้คุณโดยไม่ต้องแตะอะไรเลย เพียงแต่ว่าระยะ 50 เมตรสุดท้ายที่คุณขับเข้ามานั้น ต้องไม่มีการล้อฟรี และความเร็วต้องไม่เกิน 30 kmh วิธีกดใช้งานก็แค่กดปุ่ม P เหมือนตอนจะใช้ระบบจอดอัตโนมัติ แต่กดเลือกระบบถอยรถอัตโนมัติบนจอกลางแทน จากนั้นรถจะถอยให้ แม้จะช้าแต่ก็แม่น และมีตัวเลข Countdown ให้ดูด้วยว่ามันจะถอยให้คุณได้อีกกี่เมตร
แผงมาตรวัด ของจริงจะดูเล็กกว่าที่เห็นในโบรชัวร์ มีขนาด 10 นิ้ว ตรงกลางจอกับฝั่งซ้ายจะไม่สามารถปรับอะไรได้ แต่ฝั่งขวาจะเป็นจอ Information Display ที่สามารถใช้ปุ่มบนพวงมาลัยปรับเลือกได้ ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซ็นการใช้พลังในการขับเคลื่อน/วัดรอบ, ข้อมูลการเดินทาง, อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และยังสามารถดูลมยางล้อแต่ละข้างได้ด้วยว่าแรงดันเท่าไหร่ อุณหภูมิยางเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้ SUV ญี่ปุ่นมักจะไม่มีมาให้
ฝั่งซ้ายของมาตรวัด บอกความเร็วเป็นตัวเลข ที่จริง มันมีอนิเมชั่นเป็นเข็มกวาดด้วย แต่พอไม่มีตัวเลขความเร็วบนวงมาตรวัดมากำกับ เลยเหมือนเอาไว้ดูเพลินๆเสียมากกว่า ส่วนตรงกลาง จะเป็นจอสำหรับระบบช่วยเหลือทางด้านการขับขี่ ซึ่งเมื่อระบบตรวจเจอรถรอบข้าง มันก็จะขึ้นเป็นรูปรถให้บนจอด้วย เวลาวิ่ง เส้นบนถนนในจอก็จะเพิ่มความเร็วตามสปีดของรถด้วย ก่อนจะเปิดใช้โหมดอะไรก็ตาม คุณสามารถเช็คจากหน้าจอนี้ได้ว่ากล้องหน้าของรถ H6 ตรวจจับเส้นแบ่งเลนเจอหรือไม่
สำหรับความเห็นที่มีต่อภายในของ H6 มีทั้งดีและไม่ดี
ผมคิดว่าเรื่องสวย…ได้เลย ได้ใจ แต่พอมาใช้งานจริง ผมมีความรู้สึกเหมือนกับว่า มันสวยอลังการเฉพาะตอนรถจอดนิ่งๆ แต่พอเราขับรถออกไปแล้ว และโดยเฉพาะถ้าเราขับคนเดียวโดยไม่มีนักบินผู้ช่วย การใช้งานบางสิ่งนั้นยากเกินไป เหมือนว่าระบบต่างๆถูกออกแบบโดยคนที่เก่งเรื่อง IT มากกว่าที่จะเป็นคนที่เข้าใจเรื่องสรีระศาสตร์การขับขี่รถ การพยายามปรับค่าอะไรสักอย่างโดยทิ่มนิ้วให้โดนปุ่มที่มีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ยากมากครับเวลาขับรถอยู่ ยิ่งถ้าถนนไม่เรียบ ก็จะกดผิดกดถูกเอา
หรือบางอย่างที่ควรแสดงค่าให้มีขนาดใหญ่อ่านง่าย กลับทำมาเล็กเกินไป มาตรวัดรอบโชว์เป็นตัวเลขขนาดใหญ่กว่าแมงเม่านิดหน่อย หาประโยชน์ไม่ค่อยได้ แต่อันนี้พออภัยได้เพราะรถเองก็ไม่มีฟังก์ชั่นให้เล่นเกียร์อะไรอยู่แล้ว รถไฮบริดหลายรุ่นก็ไม่สนวัดรอบด้วยซ้ำ หน้าจอแสดงการถ่ายพลังงานของระบบไฮบริด ก็มีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ไม่คุ้ม จอมาตรวัด เป็นจอสีเต็ม แต่กลับปรับเลือกสีสันรูปแบบอะไรไม่ได้มาก และอ่านค่าได้ยาก สะท้อนเงาอีก ยังดีว่ามีจอ Head Up Display มาช่วยไว้ได้
สำหรับคนที่ไม่ได้คาดหวังอะไรมากกว่าความสวยงาม และใช้งานแค่ตามปกติ คุณอาจจะมองว่าผมเรื่องมาก แต่ผมคิดว่า Haval ควรคำนึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานระหว่างขับควบคู่ไปกับเรื่องความสวยงามมากกว่านี้ เพราะบางอย่าง มันควรจะออกแบบให้ปรับระหว่างขับไปด้วยได้โดยไม่ต้องละสายตาหรือสมาธิจากถนนด้านหน้า
สำหรับระบบความปลอดภัย Haval H6 ทุกรุ่นย่อย มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า/ด้านข้าง/ม่านถุงลม ระบบเบรก ABS ระบบควบคุมเสถียรภาพรถและการลื่นไถล นอกจากนี้ ยังมีระบบเบรกอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ ระบบช่วยรักษารถให้วิ่งอยู่ในเลน ระบบเตือนรถในจุดบอดกระจกมองข้าง ที่เด่นก็คือ มีเรดาร์กะระยะหน้า/หลัง และมี Adaptive Cruise Control พร้อมฟังก์ชั่นลดความเร็วจนเหลือศูนย์ และออกตัวตามรถคันหน้าต่อได้ด้วยการสะกิดคันเร่งเบาๆ นี่สิยกนิ้วโป้งให้เลย ที่จัดมาให้เต็มทุกรุ่นย่อย ถ้าสมมติราคาออกมาสวยในรุ่น Pro ก็จะเป็นตัวเลือกที่ให้อุปกรณ์ความปลอดภัยคุ้มค่าอันดับต้นของคลาสในทันที
แล้วรุ่น Ultra ล่ะ? คุณก็จะได้ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ ระบบช่วยถอยอัตโนมัติ ระบบเตือนรถวิ่งตัดเวลาถอยออกจากซองพร้อมระบบเบรกอัตโนมัติ ระบบเตือนเวลามีมอเตอร์ไซค์วิ่งมาด้านข้างก่อนคุณเปิดประตูออกไป แล้วก็ระบบ WDS ซึ่งเวลาวิ่งเข้าใกล้รถบรรทุกใหญ่ๆ พวงมาลัยจะเบี่ยงหลบเพื่อเอารถเราออกห่างจากรถใหญ่ แต่จะยังรักษาตัวรถไม่ให้ไปกินเส้นเลน เพียงแค่นี้ ภาพรวมเรื่องระบบ Active Safety ก็ไปอยู่ระดับหัวแถวของกลุ่มได้สบายแล้วครับ
****รายละเอียดทางวิศวกรรม****
ในต่างประเทศ H6 จะมีเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเทอร์โบ และ 2.0 ลิตรเทอร์โบให้เลือก แต่สำหรับประเทศไทยขณะนี้ มีตัวเลือกแบบเดียวคือเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเทอร์โบ+มอเตอร์ไฮบริด
ตัวเครื่องยนต์สันดาปภายใน มีรหัสว่า GWM4B15D (หรือเรียกสั้นๆว่า 4B15D) ความจุ 1,499 ซีซี. จากขนาดปากกระบอกสูบ x ช่วงชักเท่ากับ 75.0 x 84.9 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดตรง Direct Injection เพิ่มการอัดอากาศด้วยเทอร์โบชาร์จ ให้แรงม้าสูงสุด 150 PS ที่ 5,500-6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 230 นิวตันเมตร ที่ 1,500-4,000 รอบต่อนาที สามารถเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซิน E20 ได้
ส่วนยูนิตไฟฟ้า ประกอบด้วยชุดมอเตอร์/เกียร์ DHT130 ซึ่งน่าจะมีซัพพลายเออร์เป็น BorgWarner ยักษ์ใหญ่มืออาชีพด้าน Automotive Solution ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน DHT ย่อมาจาก Dedicated Hybrid Transmission และ 130 ก็คือพลัง 130kW นั่นเอง ถ้าแปลงเป็นม้า ก็จะได้ 177 แรงม้า ส่วนแรงบิดจากมอเตอร์ อยู่ที่ 300 นิวตันเมตร รับพลังจากแบตเตอรี่ลิเธียมไออ้อนที่อยู่ท้ายรถ ตรงระหว่างซุ้มล้อสองข้าง ซึ่งแบตเตอรี่ก็จะมีความจุไฟ 1.6 kWh ซึ่งน้อยกว่ารถ Plug-in อย่าง MG HS PHEV ประมาณสิบเท่า แต่ถ้าเทียบกับรถไฮบริดไม่มีปลั๊กด้วยกัน ก็ใหญ่กว่าของ Toyota และจุไฟมากกว่าของ Nissan Kicks เล็กน้อย
เมื่อดูจากระดับพลัง จะเห็นได้ว่า มอเตอร์นั้นแรงกว่าเครื่องเสียอีก แต่เมื่อนำพลังทั้งสองมาทำงานร่วมกัน Haval เคลมว่า H6 HEV จะมีพลังสูงสุดเท่ากับ 243 แรงม้า และแรงบิด 530 นิวตันเมตร
ระบบส่งกำลัง ไม่ใช่ CVT หรือคลัตช์คู่ แต่ Haval เรียกว่า Hybrid Transmission ซึ่งทางฝั่งมอเตอร์ไฟฟ้า จะมีเกียร์แบบ Single Speed ส่วนทางฝั่งเครื่องยนต์ จะมีเฟือง 2 อัตราทด ต่ำ/สูง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอนในเรื่องสเป็คอัตราทดตรงนี้ ไม่มีแพดเดิ้ลชิฟท์ให้เลือกจังหวะเกียร์ เพราะจะเอามาทำไมอ่ะมีแค่ 2-3 เกียร์ และไม่มีเกียร์ B เอาไว้เพิ่มแรงหน่วงเวลาลงเนิน
ผมสอบถามไปยังทีมวิศวกรของ Haval จากจีน และแปลมาเป็นไทย ได้ความว่า เมื่อขับรถลงเนิน รถจะเพิ่มความหน่วงของระบบให้เอง ซึ่งน่าเสียดายว่าเราจะยังไม่ได้ลองทดสอบการทำงานของมัน เพราะเส้นทางที่วิ่งมันไม่มีทางลงเขาให้ลอง
LOGIC ในการทำงานของระบบไฮบริด
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า นี่คือรถไฮบริดนะครับ ไม่ใช่รถปลั๊กอินไฮบริด ดังนั้นไม่ต้องคุยกันเรื่องเสียบชาร์จไฟ คุณใช้มันเหมือนกับ Corolla Cross Hybrid นั่นล่ะครับ แต่เรื่องการทำงานระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมพยายามรวบรวมข้อมูลมาให้มากที่สุด แต่ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่ บางจุดที่ได้ข้อมูลมาก็ไม่ค่อยจะดูสมเหตุผลเท่าไหร่ ดังนั้น ผมจะพยายามสรุปให้ได้ใกล้เคียงที่สุด (ถ้าผิด ก็ขออภัยล่วงหน้านะครับ)
ที่ความเร็วต่ำกว่า 60kmh
มอเตอร์ทำงานเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน เครื่องยนต์จะทำงานเมื่อ 1. ปั่นไฟเข้าแบต หรือ 2. เมื่อต้องการอัตราเร่งเฉียบพลัน
ที่ความเร็ว 61-129 kmh
เครื่องยนต์เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนมากขึ้น แต่ ECU จะสั่งการให้เครื่องเป็นตัวขับ หรือมอเตอร์เป็นตัวขับ สลับกันได้ ขึ้นอยู่กับมีปริมาณไฟในแบตเตอรี่มากแค่ไหน เมื่อแบตเตอรี่มีไฟพอ และมีการถอนคันเร่ง หรือเลี้ยงไว้บางๆ ระบบจะสั่งดับเครื่องยนต์แล้วให้มอเตอร์พารถร่อนไปได้
ที่ความเร็ว 130 kmh ขึ้นไป
เครื่องยนต์จะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อน มอเตอร์ไฟฟ้ายังเข้ามาช่วยในจังหวะเพิ่มความเร็วอยู่ และเมื่อถอนคันเร่ง เครื่องก็ยังดับแล้วใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนได้อยู่ แต่อัตราส่วนการรับงานของมอเตอร์จะน้อยกว่าตอนขับ 61-129
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณกดคันเร่ง 100% ระบบของ Haval จะทำงานเหมือน Toyota คือใช้ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ในการขับดันรถ ต่างจากระบบของ Honda ที่มอเตอร์จะเป็นตัวส่งกำลัง ส่วนเครื่องยนต์จะปั่นไฟจี๋
แต่ทั้งนี้ เงื่อนไขต่างๆจะขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ องศาคันเร่งที่กด ทำให้ไม่สามารถชี้ชัดจุดตัดจุดส่งการทำงานระหว่างเครื่องกับมอเตอร์ได้ชัดเจน คุณก้องจาก Autospinn ทดสอบดู พบว่ามีช่วงที่รถสามารถใช้ไฟฟ้าอย่างเดียววิ่งได้จนถึง 70 kmh และเวลาวิ่ง 140 บางครั้ง เครื่องก็ดับ แล้วรถก็ยังสามารถคงความเร็วอยู่ได้ แบตเตอรี่มีความจุมากพอให้วิ่งประมาณ 2 กิโลเมตรได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์เมื่อชาร์จเต็มและใช้ความเร็วไม่เกิน 60 แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่มีปุ่มให้ล็อคการทำงานเป็น EV Mode Only แบบ Toyota และไม่มีปุ่มบังคับให้ชาร์จไฟ แต่ดันมี “โหมดลุยน้ำ” บนจอกลางใน Drive Settings ที่จะปิดการทำงานของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าทั้งหมด เหลือไว้เพียงเครื่องยนต์
ถ้าคุณอ่านแล้วงงว่าพี่แพนเอ็งเขียนอะไรของเอ็ง..อย่าเพิ่งด่าผม..เพราะผมก็งง ผมใช้เวลา 2 วันในการหาข้อมูล และพยายามคอนเฟิร์มการทำงานของระบบไฮบริด Haval ซึ่งนี่คือสุดความพยายามผมแล้วครับ
โครงสร้างตัวถังของ Haval H6 มีชื่อชวนเปรี้ยวปากว่า LEMON ซึ่งย่อมาจาก Lightweight, Electrification, Multi-purpose and Omni Protection Network (เก่งอ่ะคิดได้ไง) คือในขณะที่วิศวกรบริษัทรถทั้งโลก พยายามคิดค้นโครงสร้างตัวถังที่สามารถนำไปปรับใช้กับรถได้หลายรุ่นหลายแบบ แล้วก็ทำให้เบาลง แต่แข็งแกร่งขึ้น วิศวกรจีน เขาก็พยายามมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันนี่ล่ะครับ
การสร้างความแข็งแกร่ง ก็คิดวิธีการประกอบเชื่อมแต่ละจุดของโครงสร้างรถใหม่ อย่างชิ้นบริเวณเสา A เสา B และกรอบประตูหน้านั้น จากเดิมจะเป็นคนละชิ้น เอามาเชื่อมเข้าด้วยกัน คราวนี้จะปั๊มขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกัน และทำมาจากเหล็ก Thermo-forming Steel 2,000MPa ซึ่งเหนียวกว่าเหล็กที่ใช้สร้างเรือดำน้ำจีนเสียอีก และเหล็กที่ใช้ทำโครงรถนั้น 70% จะมีความเหนียว 200MPa หรือมากกว่า ทั้งการเลือกใช้วัสดุ และวิธีการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆใหม่ ทำให้โครงสร้าง LEMON นี้ มีน้ำหนักเบากว่าแพลทฟอร์มรุ่นเก่าเกือบ 100 กิโลกรัม และยังสามารถนำไปใช้สร้างได้ทั้งรถสันดาปภายใน รถไฮบริด และ EV
ช่วงล่างด้านหน้า เป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์พร้อมเหล็กกันโคลง ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า เบรกเป็นดิสก์ 4 ล้อ เบรกหน้ามีการทำร่องระบายความร้อนตรงจาน พร้อมระบบเบรกมือไฟฟ้า และ Auto Brake Hold
ยางที่ให้มาในรุ่น Ultra นั้น จะเป็น Goodyear EfficientGrip Performance SUV ขนาด 225/55 วงล้อใหญ่โต 19 นิ้ว ส่วนรุ่น Pro นั้นจะลดขนาดลงเป็น 225/60R18 ยังไม่ทราบรุ่นของยาง
****การทดลองขับ****
GWM จัดให้เราทดสอบโดยขับจากสุขุมวิท ไปสนามบินหนองค้อ โดยใช้ทางยกระดับบูรพาวิถี ลงที่ตัวเมืองชลบุรี วิ่งเลียบชายทะเลไปที่อ่างศิลา แล้วค่อยวกหัวไปทางสนามบิน
อัตราเร่ง ผมทดสอบโดยมีตัวเองเป็นผู้ขับ และผู้โดยสาร 1 ท่าน เป็นช่วงกลางวันแสกๆแดดอย่างฮาแทบบ้า เปิดแอร์ไว้ที่ 23 องศา ใช้โหมดการทำสอบแบบ Sport เพียงอย่างเดียว เหตุผล..ผมโง่เองครับ ตอนที่นึกได้ว่ายังไม่ได้ลองอัตราเร่งในโหมดปกติ มันเป็นตอนที่เราเข้าเขตเมืองซึ่งไม่สามารถทดลองได้แล้ว
อัตราเร่ง 0-100 kmh จบใน 8.3 วินาที
อัตราเร่ง 80-120 kmh จบใน 6 วินาทีถ้วน
ความเร็วสูงสุด ล็อคที่ 182 kmh แต่เมื่อแบตเตอรี่ไฟอ่อนลง จะย้ายไปล็อคที่ความเร็วต่ำลงมา อย่างที่เราลองทำท้อปสปีดสามครั้ง ตัวเลขลดจาก 182 เหลือ 179 และครั้งหลังสุดเหลือ 169
จริงอยู่ว่าความเร็วสูงสุดจะน้อยตามประสารถไฮบริด แต่สิ่งที่แลกกันมาคืออัตราเร่งตีนต้นและการแซงที่รวดเร็ว ในตลาด SUV ที่ราคาไม่เกินล้านแปด ไม่มีใครคว่ำ H6 HEV ได้เลยครับ แม้แต่ MG HS PHEV 291 แรงม้า ซึ่งผมจับเวลาแบบนั่งคนเดียว เปิดโหมด SuperSport ก็ยังไม่ได้ตัวเลขดีเท่า ไม่ต้องไปนับ CR-V, Outlander หรือรุ่นอื่นๆ ซึ่งมักจะมีตัวเลข 0-100 อยู่ในระดับ 9 วิปลายหรือช้ากว่านั้น ถ้าคุณจะเอา SUV สักรุ่นที่ยังมีขายอยู่ในไทย ณ ปัจจุบันมาโค่นมัน ก็ต้องยอมจ่ายเพิ่ม แล้วจัด CX-5 2.5 เบนซินเทอร์โบ 231 แรงม้า เท่านั้น หรือไม่ก็ต้องไปดูพวกรถระดับพรีเมียมไปเลย
ความแรงแบบหลอนๆ จากพลังสองระบบ มันจะมาเหมือนน้ำตกใหญ่ๆไหลมาเรื่อยๆ ไม่ได้กระชากทันทีแบบรถ EV 100% แต่ค่อยๆเพิ่มขึ้นในตอนออกตัว แล้วจากนั้นค่อยส่งแรงดึงมาแบบไม่หยุดหย่อน อาการรอคำสั่งคันเร่ง ยังมีมาให้เห็นบ้าง แต่ไม่ได้นานจนน่าเกลียดหรือทำให้กะจังหวะผิดเวลาขับบนถนนแล้วต้องเร่งในทันที เรื่องการสำแดงเดชพลังของ H6 นี้ ผมหมดข้อกังขา..นี่คือ SUV จากจีนที่สามารถออกตัวและวิ่งมองหน้าไปกับ Subaru Forester Turbo XT 2014 ได้จนถึงประมาณ 140 kmh สำหรับผม นั่นคือ “พอ”
ที่ชอบมากคือ ความประพฤติของรถในการขับแบบปกติที่ความเร็วต่ำก็เรียบร้อยน่ารัก คุณคิดว่าคุณขับ CR-V ดีเซลหรือเบนซินแล้วเป็นยังไง Haval H6 ก็เรียบร้อยกว่านั้นเสียอีก เพราะการที่ใช้เกียร์ไฮบริด ที่ไม่ได้ซอยจังหวะถี่แบบรถทั่วไป ไม่ใช่ CVT หรือคลัตช์คู่ ทำให้อาการของมัน คาดเดาได้ง่าย กดเท่าไหร่ก็พุ่งตามความต้องการ กาแฟไม่หก แม่ยายไม่ด่า ผมขับมันไปตามถนนความเร็วต่ำ รวมถึงพอวิ่งทางไกลเสร็จ ก็ขึ้นทางด่วนมาลองขับแบบคลานๆแถวสุขุมวิท รู้สึกสบายเท้าไม่มีปัญหาอะไร โหมดธรรมดาก็เลี้ยงง่าย โหมด Sport ก็ไม่ได้ไวจนแรดตื่นตระหนก แต่ผมชอบโหมด Sport มากกว่า เพราะมันช่วยให้ Haval H6 สามารถมุดและเร่งไปมาหลบรถช้าได้อย่างคล่องเอาเรื่อง คล่องกว่า SUV คู่แข่งเกือบทุกตัว ที่ความเร็วต่ำในเมือง
การที่ H6 มีพลังรุนแรง …อย่าได้คิดว่ามันจะทำตัวเป็น Sporty SUV นะครับ มันคือรถสำหรับครอบครัวที่บังเอิญมีแรงม้าแรงบิดเยอะซะมากกว่า สังเกตได้จากการเซ็ตช่วงล่าง โยนโค้งแรงๆสามที ก็รู้เลยว่า นี่ไม่ใช่รถที่ยิงโค้งสนุก หักพวงมาลัยแรงๆ รถจะยวบนำไปก่อนทันทีแบบไร้แรงต้านจากโช้คหรือสปริง ถ้าพูดเรื่องความมั่นใจเวลาบู๊ มันจะชวนให้นึกถึง CR-V Gen 4 หรือ Outlander PHEV ซึ่งไม่ใช่รถที่รักโค้งสักรุ่น เพียงแต่ว่า Outlander มันมีระบบขับสี่ที่ทำให้ถึงแม้ยวบ แต่ล้อก็เกาะเป็นตุ๊กแกเอากาวทาตีน ส่วน H6 ซึ่งเป็นรถขับหน้า กับยางหน้ากว้าง 225 มม. ซึ่งก็ไม่ได้เรียกว่ากว้างอะไรมากนัก ตัวรถค่อนข้างสูงอีกต่างหาก ความมั่นใจในแง่การยึดเกาะโค้ง และการคุมอาการยวบของตัวถัง จึงถือว่าตามหลังเจ้าอื่นเขาอยู่แบบชัดเจน
แต่สิ่งที่ได้มาตอบแทน ก็คือความนุ่มนวลของช่วงล่าง ซึ่ง H6 ก็นุ่มสบายเป็นอันดับต้นของคลาสเช่นกัน บนถนนที่ขรุขระ มีสันเหลี่ยมคอสะพานบางจุด H6 ร่อนผ่านไปสบายก้นกว่า MG HS PHEV อย่างชัดเจน การทรงตัว เวลาวิ่งไปตรงๆที่ความเร็วระดับ 140-150 kmh ก็ยังถือว่านิ่ง คุณจะไม่พบความน่ากลัวจนกว่าจะตั้งใจหักเปลี่ยนเลนเร็วๆ และถ้าเทียบกับ Outlander เจ้านั้นจะนุ่มเกือบเหมือนกัน แต่จะแพ้ถนนที่เป็นหลุมลึกหรือสันคม อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงบาลานซ์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความสบาย และการบังคับควบคุมที่ดี Forester คือรถที่เอาใจคนทุกแบบได้ครบที่สุด เพราะเก็บแรงสะเทือนที่ไม่จำเป็นออกได้เยอะ คุมตัวรถที่ความเร็วสูงก็นิ่ง ทิ้งโค้งก็เฉียบ
ดังนั้น หากคุณคือคนที่ขับรถ SUV ในแบบที่ควรขับกับรถ SUV และไม่บ้าโค้ง ถามว่าคันไหนที่คุณเอาไปรับแม่ยายแล้วท่านจะสบายสุด.. H6 ครับ แต่ถ้าหากแม่ยายคุณคือมิแชล มูตง กรุณาไปทาง CR-V Gen 5, Forester หรือบรรดา Mazda จะดีกว่า ส่วน MG HS PHEV นั้น เวลาโยกเล่น มั่นคงกว่า H6 นิดเดียว แต่สะเทือนชวนเมากว่าเยอะเวลาถนนไม่เรียบ
ระบบเบรก มีการตอบสนองของแป้น ตามสไตล์รถไฮบริด 100% ครับ…ฟองน้ำๆ หุ่นยนต์ๆ ไม่ค่อยมีแรงขืนที่เป็นธรรมชาติแบบพวกรถไร้มอเตอร์ ระยะการเหยียบค่อนข้างยาวกว่าจะรู้สึกว่าผ้าเบรกหนีบจานจริงจัง ถ้าคุณขับ SUV รุ่นอื่นๆแล้วมาขับคันนี้ คุณจะรู้สึกว่าทำไมมันไหลๆวะ ผมลองเปิดระบบสร้างแรงหน่วงให้หน่วงมากที่สุด มันก็จะยังไหลมากกว่ารถทั่วไปอยู่ดี วิธีแก้แบบไม่เสียเงินก็คือ เหยียบลงไปอีกครับ แล้วมันจะอยู่เท้าเอง ถ้าเป็นรถสปอร์ตซีดาน นิสัยแป้นเบรกแบบนี้ผมคงด่า แต่นี่เป็น SUV ที่เน้นความเป็นครอบครัว เน้นการหยุดรถให้ไม่หัวทิ่มมากกว่า เลยพอให้อภัยกันได้ และส่วนที่ดีคือ เวลาเหยียบแล้วมันไหลยังไง ขับไปนานๆ มันก็จะยังไหลเท่าเดิม ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวหน่วงหัวทิ่ม เดี๋ยวไหลเกินป้ายทั้งๆที่กดเบรกเท่าเดิม อย่างที่ผมเคยเจอใน Nissan X-Trail Hybrid สมัยเปิดตัวใหม่ๆ
ไม่คม..แต่มีความเสถียร ซึ่งในลักษณะนี้ คนขับส่วนมากจะยังสามารถเรียนรู้ปรับตัวตามได้ ยิ่งถ้าคุณชอบรถเบรกลึกๆยาวๆ คุณจะชอบเบรกของ H6 เลยล่ะ..แต่ส่วนตัวผมชอบเบรกแบบนี้ไหม? บอกเลยว่าไม่
การเก็บเสียง? เงียบดีครับ ถ้าความเร็วไม่เกิน 110 แต่หลังจากนั้นไป เสียงจากลมกรีดผ่านก้านกระจกมองข้างจะดังเข้ามาบ้าง แต่ยังไม่ถึงกับน่ารำคาญ ผมมองว่าการเก็บเสียงในภาพรวม ดีกว่า Forester ซึ่งกระจกหน้าที่ตั้งทำให้ต้านลมเสียงดังตามความเร็วที่ใช้ ส่วนถ้าเป็นความเร็วต่ำ ตัวรถให้ความรู้สึกแน่น การซีลขอบประตู และเสียงจากยางบดพื้นถนน กันเอาไว้ได้ค่อนข้างดี ผมไม่คิดว่าจะต้องไปหาเรื่องบุหรือเสริมอะไรเพิ่มอีกแล้วในรถคันนี้
สิ่งที่เป็นปัญหาที่เราพบในระหว่างขับ มีเรื่องเดียวที่ผมจะต้องเขียนถึง และเป็นสิ่งที่แนะนำให้ทีมวิศวกรรีบแก้ไขอย่างด่วน
นั่นก็คือ การทำงานของระบบรักษารถให้อยู่ในเลนอัตโนมัติ เพราะในหลายครั้ง ที่เราวิ่งอยู่บนถนน ซึ่งมีเส้นแบ่งเลนชัดเจนแน่นอน รถที่ดูเหมือนปกติ จู่ๆจะเริ่มเบนไปทางซ้าย/ขวา..เบนเองโดยที่เราไม่ได้สั่ง เริ่มจากอาการค่อยๆก่อนใน 2-3 Turn แรก แล้วหลังจากนั้น ก็จะมีอาการเฉซ้ายเฉขวาไปมาตลอด เหมือนมีใครมาเจิร์คพวงมาลัยเล่น เป็นการเด้งไปมาอยู่ภายในเลน ที่แรงมากพอจะทำให้คุณรู้สึกถึงความไม่ปกติ จนต้องออกแรงขืนมือสู้ ซึ่งมันก็จะนิ่งไปสักพัก แต่ก็เหมือนยุง..มันจะกลับมาเมื่อไหร่ คุณจะรู้เมื่อมันมาเท่านั้น ไม่มีการคาดคะเนใดๆเดาได้
บางคนอาจจะบอกว่า ลมตีรถหรือเปล่า…เอ่อ จะบูรพาวิถีหรือวิ่ง 60 บนถนนอ่างศิลา เราก็เจออาการนี้ครับ และเราลองวิ่งแบบเดี่ยวๆ เลนกลาง ให้แน่ใจว่าไม่ได้มีรถอยู่รอบๆ อาการนี้จู่ๆจะมาก็มาเอง และไม่น่าจะใช่ Defect เฉพาะคัน เพราะผมถามนักข่าวอย่างน้อยอีก 5 ท่าน ซึ่งขับรถคนละคันกัน ก็พบอาการนี้ทั้งนั้น มันคือสิ่งที่ ไม่ควรปล่อยให้เกิดในรถที่ผลิตขายจริงโดยเด็ดขาด มันอาจจะไม่ทำให้ใครตาย แต่มันจะทำให้เจ้าของรถคิดหนักครับ ว่าคุณปล่อยให้รถที่มีอาการอย่างนี้ออกมาขายคนทั่วไปได้อย่างไร
ผมทนไม่ไหวจนถึงขนาดต้องปิดระบบ Lane Keeping Assist ทิ้ง แล้วยังไม่พอ ปิดระบบ ELK ไปด้วย เหลือแต่พวงมาลัยปกติที่ผมควบคุมเอง..ได้ผลครับ ชีวิตอันปกติสุขกลับคืนมา น้ำหนักพวงมาลัยที่ความเร็วสูง จะออกเบาโหวงเกินไป ผมก็แค่ปรับน้ำหนักพวงมาลัยให้เป็น SPORT แล้วมันก็จะหน่วงมือขึ้น อยู่ในระดับที่ไม่ต้องเกร็งมือมาก ..เหมือนเบรกอ่ะ..คือ ไม่คม แต่ก็ไม่เครียด ขับเดินทางแล้วสบายดี
ส่วนเรื่องอัตราการสิ้นเปลือง ก็เช่นเคย ตามปกติของการขับแบบออกทริป ซึ่งจะไม่มีโอกาสให้แวะเติมน้ำมันเต็มถัง เราก็ต้องพึ่งพามาตรวัดบนหน้าปัดรถ ซึ่งผมจะบอกข้อมูล ส่วนคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แล้วแต่ครับ
การขับช่วงแรก ผมจับระยะจากหนองค้อ วิ่งมาครึ่งทาง อัตราการสิ้นเปลืองเฉลี่ยตกอยู่ที่ 16.8 กิโลเมตรต่อลิตร (ระบบของรถจะแจ้งเป็นลิตร/100 กม. ผมเอามาแปลงให้คุณเข้่าใจง่ายขึ้น) ซึ่งไม่เลวเลย เพราะผมมีการเร่งปกติ มีการแซงบ้าง มีการลองทำอัตราเร่งบ้าง แต่ไม่ใช่ตะบี้ตะบันซิ่ง ผมขับแบบเดียวกันนี้ใน Nissan Kicks ตัวเลขยังออกมา 15 กิโลเมตร/ลิตรเลย ดังนั้น แม้ผมไม่มีตัวเลขแบบชี้ชัด แต่ถ้าให้คาดการณ์ ผมคิดว่าในการขับแบบต่างจังหวัด อัตราสิ้นเปลืองของ H6 น่าจะประหยัดกว่า Kicks แต่ใกล้เคียง Corolla Cross ซึ่งเมื่อเทียบกับ SUV ในคลาสเดียวกัน H6 ชนะทุกคัน ยกเว้นรถมีปลั๊กอย่าง HS PHEV กับ Outlander ซึ่งมีโมเมนต์ที่คุณสามารถวิ่งระยะใกล้ๆโดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง แต่ถ้าทริปของคุณเกิน 150 กิโลเมตร ก็เป็นไปได้ที่ H6 จะทำแต้มสวนคืนมาได้
ในช่วงท้ายของทริป น้องหมู ทีมงานของเราแจ้งว่าต้องเก็บภาพภายในของรถเพิ่ม ผมจึงรีบทำความเร็วขับเข้าเมือง คราวนี้ขับโหดกว่าปกติ เร่งได้คือเร่ง ตัวเลขก็แค่เปลี่ยนจาก 16.8 เหลือ 14 กิโลเมตรต่อลิตร ถ้าเรามองว่าความแรงมันขนาดนั้น แต่กินน้ำมันขนาดนี้ ผมไม่รู้จะบ่นหาพระแสงไลท์เซเบอร์อะไรจริงๆครับ
***สรุปการทดลองขับ***
Like: แรงตามใจ ไปตามเท้า ช่วงล่างนุ่มสบาย ภายในกว้างและออกแบบได้น่ามอง ของเล่นมีให้ชนิดที่ว่าถ้าขอมากกว่านี้ กรุณาไปผลิตรถขายเองเถอะ
Dislike: แก้ระบบ Lane Keeping อย่างด่วน! ช่วงล่างยังไม่เหมาะกับสายบู๊ การใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆไม่เป็นมิตรกับคนสูงอายุ ที่สำคัญ ไม่รู้ราคา เลยบอกไม่ได้ว่าตกลงคุ้มไม่คุ้ม
ถ้าเรามองที่ตัวรถกันล้วนๆ Haval H6 HEV คือรถ SUV คันนึงที่ใช้ขับได้ทุกวันอย่างสบายกายสบายใจ นุ่มนวลในแบบที่คนโดยสารจะชอบ มีการเก็บเสียงที่สู้เจ้าตลาดได้สบาย ตัวรถให้ความรู้สึกแน่นหนา พินิจด้วยตา ไม่มีอะไรที่จะทำให้คุณนึกถึงรถจากประเทศจีนเมื่อ 20 ปีก่อนเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม ดีไซน์ และอุปกรณ์ที่ Haval ประเคนให้มานั้น สมควรอย่างยิ่งที่ค่ายญี่ปุ่นควรจะพิจารณาปรับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อไม่ให้โดนแซงหน้า ลองคิดดูว่า ขนาดไหนรุ่นเริ่มต้น ยังมี Adaptive Cruise Control และ Auto Brake Hold มาให้ มีระบบเบรกอัตโนมัติ มีระบบความปลอดภัยขั้น Advance แบบที่รถฝั่งญี่ปุ่นมักจะสงวนไว้เฉพาะตัวท้อปที่มีราคาสูงเท่านั้น
นอกจากดีไซน์ได้ ของเล่นเพียบพร้อม จุดเด่นอีกประการคือขุมพลังขับเคลื่อน ซึ่งแรงตามใจสั่ง สั่งเท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น ไม่มีดราม่า ไม่ทำตัวเหมือนคนเข้าใจยาก จะมีเพียงแค่จังหวะดีเลย์เวลาลงแส้ ซึ่งมันก็จะทำนิสัยแบบเดิมทุกครั้งที่คุณกด ถึงไม่คม ไม่กระชากแรงสะใจแบบรถ EV แต่มีพลังเหลือพอถ้าคุณแค่รอสักนิดให้มันประเคนให้ สุดท้าย นาฬิกาไม่เคยหลอกใคร อัตราเร่ง 0-100 และ 80-120 ถ้าเทียบกับรถเอเชีย SUV ราคาไม่เกินสองล้านที่ขายอยู่ ณ วันนี้ เป็นรองแค่ CX-5 2.5 TURBO แค่นั้นก็เหลือพอแล้ว
แต่สิ่งที่ยังเหลือให้ปรับปรุง ก็ยังมีอยู่ เช่นวิธีการออกแบบภายในที่เป็นเสน่ห์ของรถ แต่ก็เอาการควบคุมหลายอย่างไปขึ้นอยู่กับจอกลางมากเกินไป ทำไมผมต้องคลิกสองสามครั้งเพื่อที่จะเข้าไปปรับโหมดการขับขี่ ทำไมคนนั่งข้างผมต้องสไลด์นิ้วเปิดเมนูเครื่องเสียงแล้วเลื่อน Toggle Bar เพื่อปรับเพิ่มหรือลดเสียงวิทยุ ทั้งๆที่การเพิ่มแผง Control Panel เนียนๆแบบรถยุโรปแค่แผงเดียว จบปัญหาได้ทุกอย่างโดยที่ไม่ได้ทำให้ภายในดูเลอะเทอะขึ้นขนาดนั้น ขนาด MG HS ที่ดูจะเป็นภายในสาย IT เทคโนโลยีจ๋าเหมือนกัน ยังมีการแยกปุ่มโหมดการขับมาไว้ที่พวงมาลัยให้อย่างนึง
บางคนอาจจะบอกว่าอะไรวะ ใครมันจะไปปรับโหมดการขับตลอดเวลา..ที่ผมพูดน่ะ มันแค่ตัวอย่างอย่างนึงครับ ลองไปขับดูนะ แล้วลองพยายามปรับสิ่งอื่นๆโดยผ่านจอกลาง ลองใช้ระบบสั่งการของเสียงช่วยก็ได้ แต่ทำตอนที่คุณขับนะครับ แล้วคุณจะรู้ว่าบางครั้ง เทคโนโลยีก็ยังเป็นสิ่งที่ควรมาเพื่อ “เสริม” ไม่ใช่มาเพื่อ “ทดแทน” หลักการออกแบบในการควบคุมสั่งการรถในส่วนที่มันดีอยู่แล้ว
แต่ H6 มีโปรแกรมที่สามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์แบบออนไลน์ได้ ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ถึงคุณไม่คิดจะเพิ่มแผงสวิตช์ปุ่มกด อย่างน้อยก็ช่วย Re-design ปุ่มบนจอให้มันทิ่มนิ้วง่ายๆหน่อย ไม่ใช่เล็กปิ๊ดปิ๋วจนใช้งานระหว่างขับยาก เช่นเดียวกับหน้าปัด ซึ่งผมคิดว่ามันสมองของทีม Haval สามารถสร้างหน้าตาหน้าปัดที่ดูดีกว่านี้ ล้ำยุคกว่านี้ และอ่านค่าได้ง่ายกว่านี้
รถคันนี้ มี Sense ของความเป็นรถครอบครัว…มี Sense ของความคลั่งไคล้ในเทคโนโลยี และความต้องการที่จะเป็นที่หนึ่ง สิ่งที่มันต้องเพิ่มก็คือ Sense ของการเป็นรถเพื่อการขับและการใช้งาน ซึ่งเจ้าของรถอาจจะไม่ได้หนุ่มแน่น สายตาคม นิ้วเล็กเสมอไป
แต่ถ้าไม่คิดว่าจะแก้อะไรเลยไปอีก 3-5 ปี ก็เอาวะ..อย่างน้อย ขออย่างเดียว คุณต้องแก้อาการดีดซ้ายดีดขวาบ้าๆบอๆของระบบรักษารถให้อยู่ในเลน ให้หายขาดครับ แล้วในเมื่อคุณจะเปิดราคาขายวันที่ 28 มิถุนายนนี้ ผมว่าเวลาที่เหลือก็น้อยเต็มทน แต่ก็ต้องทำ ถ้าเป็นคนที่รู้เรื่องรถบ้าง ก็จะนึกได้ว่าควรลองปิดระบบต่างๆดู อย่างที่ผมทำ ปิดระบบทิ้ง แล้วรถก็ขับปกติ แถมสบายมือด้วยซ้ำ แต่กับลูกค้าส่วนใหญ่ที่ไม่ได้บ้ารถ เขาจะไม่ทราบ ก็จะไปโพสท์ลง Facebook แล้วมันก็จะกลายเป็นเรื่องที่คุณคุมไม่อยู่ อย่ากลัวผมพูดคนเดียวเลยครับ กลัวคนอีกนับพันคนพูดเรื่องนี้จะดีกว่า
ท้ายสุดก็คือราคา เพราะพอตอบไม่ได้ว่าราคาเท่าไหร่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะคิดในแง่บวกหรือลบกับรถคันนี้อย่างไร ถ้าสมมติว่าให้ผมประเมินคุณค่าของรถจากสิ่งที่ผมได้รับ ได้ลองขับและรู้สึก ผมคิดว่าสำหรับ H6 Ultra ตัวท้อป กับสิ่งต่างๆที่มันให้ และสมมติว่า GWM ไม่แก้อาการพวงมาลัยส่ายนั่นด้วย ราคา 1,3xx,000 คือราคาที่ผมมองว่าคุ้มกับสิ่งที่ผมได้ เอามาใช้ แล้วก็ปิด Lane Assist ทิ้ง กับราคานี้แล้วผมก็ยังแฮปปี้ได้กับส่วนดีๆอีกหลายอย่างของรถ
แต่บอกไว้ก่อนว่า ผมไม่ใช้วิธีคิดว่า เป็นรถจากจีนแล้วต้องราคาถูก ชาติพันธุ์ไม่ใช่เรื่องสำคัญถ้างานของคุณดี ผลิตภัณฑ์ของคุณดี เหมือนที่เคยมีนักการเมืองชาวจีนท่านหนึ่งพูดไว้ หนูตัวหนึ่งจะเล็กจะใหญ่ไม่สำคัญ ถ้าจับแมวได้ ก็มีค่าเท่ากัน (เอ๊ะ ผมจำสลับหรือเปล่า)
นอกจากนี้ ก็จะเป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจระยะยาวแล้วครับ ที่จะบอกอนาคตของแบรนด์นี้ ว่าจะไปได้รุ่งแค่ไหน รถจะจุกจิกหรือไม่ ต้องเรียกรถยกบ่อยจนโดนล้อใน Social Media หรือไม่ นั่นก็เรื่องนึง การบริการหลังการขายก็อีกเรื่องนึง เรื่องนี้ ถ้าใช้ความซื่อสัตย์ในการแก้ไขปัญหา คนไทยส่วนมากจะยอมยกโทษให้ คุณดูสิว่ารถมีปัญหากี่รุ่นที่ยังขายในไทยอยู่ บางคนก็ซื้อรถทั้งๆที่รู้ว่าคนอื่นเจอปัญหาอะไรกันบ้าง แต่ความโกรธ ไม่ได้เกิดจากตอนที่รถพัง มันคือตอนที่แก้แล้วไม่จบไม่สิ้นต่างหาก การแก้ไขก็ต้องแสดงให้ชัดเจนว่าบริสุทธิ์ใจ บางครั้ง แม้ตัวผลิตภัณฑ์จะมีปัญหา แต่การแก้ไขที่เปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่มีลับลมคมใน สามารถเรียกศรัทธาคืนมาได้เสมอ
แต่ทิศทางนั้นจะเป็นอย่างไร สำหรับมังกรที่กำลังผงาดในฐานะน้องใหม่อย่าง GWM คงต้องให้เวลาเขาพิสูจน์ตัวเองสักระยะ
ถ้าเกิดว่าค่ายนี้ ทำรถในสไตล์ที่พวกเขาทำอยู่ได้ และยังทนทานไว้ใจได้ ในราคาที่น่าซื้อ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเจ้าตลาดที่กำลังประมาทกับคุณภาพการสร้างของตัวเอง หรือกั๊กอุปกรณ์ Active Safety ดีๆไว้แค่รุ่นท้อป ก็จะตกที่นั่งลำบากอย่างแน่นอน แต่ถ้าทำไมได้ สิ่งต่างๆก็คงเป็นอย่างที่มันเป็นต่อไป แต่เราได้ผู้เล่นที่ตอบความต้องการคนบางกลุ่ม ทำให้ตลาดมีตัวเลือกที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอยู่ดี จะพลิกตลาด..หรือไม่พลิก ต้องรอดูต่อไป
ไม่มีอะไรจีรังในโลกนี้..อุตสาหกรรมรถยนต์ก็เช่นกัน
—–/////——
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
บริษัท Great Wall Motor ประเทศไทย จำกัด สำหรับการเชิญทดลองขับ Haval H6 HEV
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นของ Great Wall Motor ประเทศไทย และผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 18 มิถุนายน 2021 18.00 น.
Copyright (c) 2021 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 18th June 2021 at precisely 6PM