รถยังไม่ได้เปิดตัว เอามาขับได้อย่างไร ?
งานเปิดตัว 20 กรกฎาคม นี้ ทำไมถึงมีรถให้ทดลองขับตามโชว์รูมแล้ว ?
เห็นว่ามีลูกค้าบางราย ได้รับรถกันไปแล้ว ?!!!!
คำถามต่างๆเหล่านี้ ถูกถามเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนต่างสงสัยว่าคราวนี้ทำไมถึงดูแปลกกว่าครั้งอื่นๆ เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ต่างๆของ Ford ประเทศไทย ฝั่งโรงงานมักจะเอาออกมาวิ่งทดสอบ วิ่งโชว์กันบนท้องถนนก่อนหลายเดือน หลังจากนั้นจะเป็นการเปิดตัวต่อสื่อมวลชน และ สาธารณชน ที่เอารถคันจริงมาจัดแสดงในงานเปิดตัว โดยจะยังไม่มีการส่งไปตามโชว์รูมต่างๆ ผ่านไปอีก 2 – 3 เดือนให้หลัง ถึงจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าได้จริงๆ
แต่คราวนี้ทำไม ถึงมีรถส่งไปตามโชว์รูม – ดีลเลอร์ มีรถทดลองขับ รวมไปถึงมีรถส่งมอบให้ลูกค้าที่จองไว้ ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเสียอีก ! ทำไมนะ ทำไมกัน ?
เหตุผลหลักๆ ที่ Ford ประเทศไทย ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองทำแบบนี้ เพราะเมื่อพิจารณาจากยอดขายปี 2017 – 2018 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความหวังด้านยอดขายของค่าย ถูกฝากชีวิตเอาไว้ที่รถกระบะ Ranger เป็นหลัก
ในปี 2017 (2560) ที่ผ่านมา Ford ประเทศไทยทำยอดขายรวมทุกรุ่นได้ 56,156 คัน เมื่อมาดูในแต่ละรุ่น ยอดขายหลักอันดับ 1 ของค่ายก็คือ Ranger นั่นเอง ทำยอดไปได้ถึง 44,533 คัน หรือคิดเป็นเกือบ 80%
โหหห 80% ! ใช่ครับ ตัวเลขมันสูงขนาดนี้ ทำให้ Ford ประเทศไทย ไม่นิ่งนอนใจ ปล่อยให้การส่งมอบรถให้ลูกค้าต้องขาดช่วงไม่ได้ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น รวมไปถึงการเติบโตของ Ranger เมื่อเทียบกับคู่แข่ง จากเมื่อก่อนเปิดโมเดล Ranger T6 นี้ ใหม่ๆในปี 2011 – 2012 ยอดขายก็ไม่ได้ถือว่าสูงมากนัก อยู่ในอันดับ 4 – 5 เมื่อเวลาผ่านไปคุณงามความดีของตัวรถที่ค่อยๆสะสมมา ก็เริ่มดึงดูดลูกค้าได้ทีละนิด ท่ามกลางกระแสขาลงของรถเก๋งในค่ายตัวเอง
จนเมื่อ เปิดตัวรุ่น Minorchange ใน ปี 2015 จัดการปรับเปลี่ยนหน้าตาภายนอกด้านหน้า และ ยกแดชบอร์ดภายในห้องโดยสารดีไซน์ใหม่ มีการเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ระบบช่วยเหลือการขับขี่ และ กระจายอุปกรณ์ต่างๆสู่รุ่นกลาง และ รุ่นเริ่มต้นมากขึ้น ทำให้สามารถนำพายอดขายของ Ranger นั้นขึ้นมาสู่หัวตาราง ติดอันดับ 3 หรือ Top 3 ได้สำเร็จ
จาก One Digit Market Share หรือ ส่วนแบ่งตลาดเลขหลักเดียว ก้าวสู่ Two Digit ส่วนแบ่งตลาดกลุ่มรถกระบะ 2 หลัก ที่ผ่านมา Ford ประเทศไทย สามารถทำส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มกระบะได้เพียง 6 – 8% เท่านั้นในก้อนเค้กยอดขายรวมรถกระบะทุกแบรนด์ราวๆ 300,000 คันต่อปี แต่พอเปิดตัวรุ่น Minorchange ในปี 2015 ก็ค่อยๆขยับขึ้นมา
จนล่าสุดเมื่อปี 2017 ครองยอดขายอันดับ 3 ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 12.2 % และ ก้าวต่อมาปี 2018 ใน 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ก็มียอดสะสมแล้ว 23,018 คัน ส่วนแบ่งตลาด 13.2 %
การเติบโตแบบต่อเนื่อง และ ความสนใจของลูกค้าที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่มีอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ทันทีที่รู้ข่าวว่าในเย็นวันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม มีรถทดลองขับ ทยอยลงที่ดีลเลอร์แล้ว เช็คข่าวกับพี่อ๊อก ศิริศักดิ์ คุณผู้อ่านของ Headlightmag ที่เป็นลูกค้าของฟอร์ด ว่ามีรถให้ทดลองขับได้
นั่นทำให้ผมรีบกดจองตั๋วเครื่องบินทันทีในเย็นวันนั้น ตัดสินใจบินด่วนไฟล์ทแรกเช้าวันรุ่งขึ้น มายังจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน เพื่อมาขอทดลองขับ Ford Ranger Minorchange Double Cab 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T (ชื่อยาวจริง !) นั่นเอง ” ในฐานะลูกค้า “
ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของ Ranger Minorchange จะมีอะไรบ้าง เลื่อนลงไปข้างล่างกันเลยครับ !
Ford Ranger Minorchange รอบที่ 2 เน้นการเปลี่ยนเครื่องยนต์ และ ระบบส่งกำลังใหม่ ส่วนงานดีไซน์ภายนอกนั้น เปลี่ยนไม่เยอะ หากไม่ใช่แฟนคลับรถกระบะ Ford Ranger ก็อาจจะสงสัยว่าเปลี่ยนตรงไหนบ้าง ผมจึงสรุปรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงเป็นหัวข้อ ให้เข้าใจง่ายๆได้ดังนี้
- เปลี่ยน รายละเอียดไฟหน้าดีไซน์ใหม่ (เหมือนกับ Everest)
- เพิ่ม ไฟ Daytime Running Lights แบบ LED
- เปลี่ยน กระจังหน้า ดีไซน์ใหม่ (เป็นเส้นแถบกลาง 2 เส้นคู่)
- เปลี่ยน กันชนหน้า ดีไซน์ใหม่ (ตัดแถบสีเทาเข้มออก ให้เหลือแต่ส่วนที่เชื่อมต่อกับกระจัง)
- เปลี่ยน เบ้าไฟตัดหมอก ดีไซน์ใหม่
- เปลี่ยน ไฟตัดหมอกคู่หน้า เป็นแบบ LED
- เปลี่ยน สติ๊กเกอร์ 4×4 ข้างกระบะ ดีไซน์ใหม่
- เปลี่ยน สติ๊กเกอร์ R A N G E R ฝากระบะท้าย ดีไซน์ใหม่
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะมีก็แต่ สีตัวถังภายนอก สีส้ม Pride Orange ที่เปลี่ยนโทนให้อ่อนลงกว่าเดิม (นับว่าสีส้มนี้ มีการปรับโทนให้อ่อนลงเรื่อยๆทุกครั้งที่มีการปรับ Minorchange นั่นเอง….)
สำหรับมิติตังถังภายนอก ก็ยังคงเดิมอาจจะมีการขยับตัวเลขเล็กน้อยจากการเปลี่ยนกันชนด้านหน้า (รอตัวเลขอย่างเป็นทางการอีกครั้ง) เดิมตัวรถยาว 5,361 มิลลิเมตร / กว้าง 1,860 มิลลิเมตร / สูง 1,815 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ Wheelbase ยาว 3,220 มิลลิเมตร
ระยะห่างระหว่างล้อคู่หน้า 1,560 มิลลิเมตร / ระยะห่างระหว่างล้อคู่หลังเท่ากันที่ 1,560 มิลลิเมตร ส่วนระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance อยู่ที่ 230 มิลลิเมตร
ล้อ และ ยางติดรถประจำรุ่น Wildtrak ก็ยังคงเป็นลายเดิม ขนาดเดิม เป็นล้ออัลลอย 18 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone Dueler H/T 684 II ขนาด 265/60 R18
ฝากระบะท้ายมีการเพิ่มกลไล ระบบผ่อนแรง ฝาท้ายกระบะ Easy Lift Tailgate มาให้ ทำให้เวลายกฝากระบะท้ายเพื่อปิดขึ้น น้ำหนักเบาลง ใช้แรงปิดน้อยลงอย่างรู้สึกได้ชัดเจน รวมถึงเพิ่ม กุญแจล็อคฝาท้ายมาให้แล้ว
มาที่ภายในห้องโดยสารกันบ้าง แม้จะดูเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่าจุดที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีเหมือนกัน เริ่มต้นที่แผงประตูทั้ง 4 บาน จากเดิมจะเป็นสีเทาเข้มๆตัดกับส่วนที่วางแขนที่เป็นสีดำ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นสีดำล้วนทั้งแผง รวมถึงคอนโซลกลางครึ่งล่าง ก็มีการเปลี่ยนจากสีเทาเข้ม เป็นสีดำทั้งหมดเช่นกัน
เอกลักษณ์ของรุ่น Wildtrak ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม ด้วยการเดินตะเข็บด้ายสีส้มทั่วทั้งคัน ไม่ว่าจะเป็นแผงประตู พวงมาลัย แดชบอร์ดส่วนบน ถุงหุ้มคันเกียร์ และ ที่เบาะนั่งด้านหน้า – ด้านหลัง
หัวเกียร์มีการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ เพื่อรองรับกับ Manual Mode ของเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะลูกใหม่นั่นเอง นอกนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ต่างจากเดิมเท่าไรนัก ตอนกลางคืนก็มีไฟตกแต่งภายในห้องโดยสาร Ambient Light ที่ปรับเปลี่ยนได้ 7 โทนสี อยู่เช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นที่มือเปิดประตูด้านใน ไฟส่องเท้า และ ตามช่องวางของต่างๆ
ชุดมาตรวัดยังคงเป็นแบบจอสี TFT แสดงผลจอคู่ Dual Screen ซ้าย – ขวา ที่สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งระดับความร้อนน้ำหล่อเย็น, ระดับน้ำมัน, ความเร็วแบบดิจิตอล, อัตราสิ้นเปลือง, Trip 1, Trip 2 และ มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ที่เล็กมากกกก ดูได้แบบคร่าวๆเท่านั้น ไม่ได้แยกหน้าจอแบบใหม่เหมือนใน Ranger RAPTOR
หน้าจอกลางระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 8 นิ้ว เครื่องเสียง วิทยุ AM/FM สามารถเล่นแผ่น CD / MP3 ได้ 1 แผ่น รองรับ Apple Car Play / Android Auto ความเปลี่ยนแปลงของชุดเครื่องเสียงใน Ranger Minorchange ครั้งนี้ คือ เพิ่มระบบตัดเสียงรบกวนภายนอก Active Noise Cancellation ที่อยู่ใน Everest มาให้
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มความสามารถให้กับ ระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC3 ที่สามารถสั่งงานเป็นภาษาไทยได้ รวมถึงการแสดงผลบนหน้าจอ ก็เป็นภาษาไทยได้แล้ว ปรับอุณหภูมิ เพิ่มเสียง เปลี่ยนคลื่นวิทยุ ฯลฯ สามารถดูคลิปการสั่งงานด้วยเสียงเป็นภาษาไทย ได้ข้างล่างนี้เลยครับ
ระบบปรับอากาศของ Ranger Minorchange รุ่น Wildtrak เป็นแบบอัตโนมัติ แยกอิสระซ้าย – ขวา Dual Zone สามารถกดได้ทั้งปุ่มบนคอนโซลกลาง หรือ ควบคุมจากหน้าจอกลางก็ได้เช่นกัน
ถัดลงมาจากสวิตซ์ระบบปรับอากาศ จะเป็นที่อยู่ของช่องเชื่อมต่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น USB 2 ตำแหน่ง มีไฟเรืองแสงให้เผื่อตอนกลางคืน หรือ ช่องชาร์จไฟ 12V แบบมีฝาปิดเรียบร้อยสวยงาม โดยสิ่งที่น่าเสียดายคือ ช่องเชื่อมต่อ AUX-in ที่ได้ตัดออกไปแล้วก่อนหน้านี้
วัสดุหุ้มเบาะนั่งของ Ranger Wildtrak ในรุ่นที่แล้ว ผมค่อนข้างอยากให้ปรับปรุงมาก ถึงมากที่สุด เดิมที่เป็นผ้าสากๆสีส้ม กินพื้นที่เกือบทั้งตัวเบาะ แม้จะเข้าใจว่า ออกแบบมาเพื่อต้องการให้ร่างกายโอบกระชับกับตัวเบาะ แต่กลับกันผิวสัมผัสของมัน ก็ทำให้รู้สึกไม่สบายในเวลาเดียวกัน แถมยังเลอะ เป็นคราบง่าย และ ในที่สุดวันนี้รุ่น Minorchange รอบที่ 2 ก็ได้ปรับปรุงแล้วในจุดนี้ กลายเป็น หุ้มด้วยหนังสีดำเกือบทั้งตัว มีผ้าตาข่ายสีดำ ผิวสัมผัสดี แซมในส่วนต่างๆแทน นี่แหละครับ คือ สิ่งที่ผม และ เชื่อว่าใครหลายๆคนต้องการเช่นกัน
ตัวพนักพิงเบาะ ปั๊มสัญลักษณ์ Wildtrak เช่นเคย เดินตะเข็บด้ายสีส้มรอบตัว เบาะนั่งคนขับ เป็นแบบปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง ส่วนเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้า เป็นแบบปรับด้วยมือ 4 ทิศทาง เบาะนั่งด้านหลัง สามารถพับยกขึ้น และ พับลงได้ แบบชิ้นเดียว สำหรับวางสัมภาระในรูปแบบต่างๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าหลายคนเรียกร้อง ก็เพิ่มมาให้แล้ว นั่นก็คือ ระบบกุญแจ Smart Keyless Entry และ ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push Start Button จะได้แก้จุดอ่อนเมื่อเทียบกับคู่แข่งค่ายญี่ปุ่นได้เสียที การปลดล็อคตัวรถจากภายนอก ก็เพียงแค่สอดมือที่เบ้ามือจับ ในขณะที่กุญแจอยู่กับตัว ขึ้นรถมาก็เหยียบเบรก และ กดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ได้เลย หน้าตากุญแจก็เป็นแบบใหม่ ตามที่เห็นด้านล่างนี่เลยครับ
*** เครื่องยนต์ และ รายละเอียดทางวิศวกรรม ***
สิ่งสำคัญของ Ford Ranger Minorchange ในรอบนี้ ไม่ใช่การแต่งหน้าทาปาก ปรับดีไซน์ภายนอก – ภายในห้องโดยสารเล็กๆน้อยๆตามที่อธิบายไปข้างต้น เหมือนครั้งอื่น แต่เป็นการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ และ ระบบส่งกำลังใหม่ทั้งหมด ตามเทรนด์ Downsizing ทั่วโลก จากเดิมที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล บล็อค PUMA 5 สูบ ขนาด 3.2 ลิตร VG-Turbo 200 แรงม้า 500 นิวตันเมตร ก็ถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ECOBLUE 4 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่แทน
Diesel 2.0 EcoBlue ” Bi-Turbo ” ทำตลาดแทนเครื่องยนต์ 3.2 ลิตรเดิม
เครื่องยนต์ดีเซล EcoBlue TDCi 4 สูบแถวเรียง ขนาด 2.0 ลิตร 1,996 ซีซี. พ่วงเทอร์โบคู่ (ทำงานร่วมกันระหว่าง High-Pressure (HP Turbo) เทอร์โบแรงดันสูง และ Low-Pressure (LP Turbo) เทอร์โบแรงดันต่ำ ควบคุมด้วยวาล์ว Bypass) กำลังสูงสุด 213 แรงม้า (PS) ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,750 รอบ/นาที
- สายพานไทม์มิ่งแบบจุ่มในน้ำมันเครื่อง Belt-in-oil Primary Drive
- ฝาครอบเครื่องยนต์ พร้อมโฟมดูดซับเสียง เพื่อลด NVH : Noise Vibration Hashness
- ฝาครอบ Compressor ระบายความร้อนด้วยน้ำ
- ลูกสูบอะลูมิเนียม มีการหล่อซ้ำที่ขอบแอ่งหัวลูกสูบ Bowl Edge Re-Melt
เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เดิมในรุ่นเดียวกัน อย่าง Ranger Wildtrak 4×4 อัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ก็ลดลงอย่างชัดเจน
- เครื่องยนต์ดีเซล 3.2 ลิตร VG-Turbo ปล่อย CO2 ที่ 239 g./km.
- เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร Bi-Turbo ปล่อย CO2 ที่ 200 g./km.
เครื่องยนต์ใหม่ ก็ต้องส่งกำลัง จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ลูกใหม่ ผลิตจากวัสดุเหล็กกล้า อะลูมิเนียมอัลลอย และ คอมโพสิท พร้อมปุ่มเปลี่ยนเกียร์ Manual Mode + – ที่หัวเกียร์ ไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัยอย่างที่ Ranger RAPTOR มีให้
- ระบบกรองน้ำมันเกียร์ Sump Filtration and ULV
- ปั๊มน้ำมันเกียร์ชนิดใบพัดแปรผันแบบเยื้องศูนย์ Off-Axis Variable-Displacement Vane Pump
- คลัตซ์แบบ Rollover One-way Clutch (OWC)
เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ (10R80)
- เกียร์ 1 4.696
- เกียร์ 2 2.985
- เกียร์ 3 2.146
- เกียร์ 4 1.769
- เกียร์ 5 1.520
- เกียร์ 6 1.275
- เกียร์ 7 1.000
- เกียร์ 8 0.854
- เกียร์ 9 0.689
- เกียร์ 10 0.636
- เกียร์ถอยหลัง 4.866
- อัตราทดเฟืองท้าย 3.740
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ของ Ranger Wildtrak 4×4 Minorchange ยังคงเป็นแบบ Part-time 4WD เหมือนเดิม พร้อมเฟืองท้าย Locking Rear Differential
การเปลี่ยนเกียร์ใน Manual Mode ที่เปลี่ยนจากการโยกคันเกียร์ไปด้านหน้า – ด้านหลัง มาเป็นแบบกดปุ่ม + – ที่หัวเกียร์แทน คลิก คลิก คลิก ทำให้อรรถรส ความสนุก อารมณ์ความรู้สึก เหี่ยว หด หาย เป็นอย่างมาก ! คุณผู้อ่านลองนึกภาพตามดู ก็น่าจะรู้สึกได้เช่นเดียวกัน
อันที่จริงถ้าเป็นปุ่มกดที่หัวเกียร์ ควรจะใส่แป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Paddle Shift มาให้ด้วย เหมือนอย่าง Ranger RAPTOR แต่ก็นั่นแหละครับ อีกสักพักน่าจะมีคนสั่งของ มาแปลงกันได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องเสียเงินเพิ่มอีกตามเคย
- อัตราเร่งดีขึ้นขนาดไหน ? เกียร์ทำงานราบรื่นหรือไม่ ?
มาถึงส่วนที่หลายคนสงสัย และ อยากรู้กันมากที่สุด คือ อัตราเร่ง แน่นอนครับ การเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ Downsizing ลดขนาดความจุลง เพิ่มเทอร์โบเป็น 2 ลูก ทำให้พละกำลังแรงขึ้นจากเดิม 13 แรงม้า ระบบส่งกำลังใหม่ จากเดิม เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เป็น 10 จังหวะ จะผลงานได้ดีขนาดไหน ?
ผลการจับเวลาอัตราเร่ง 0-100 km/h ใน Ranger 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T จะเป็นตัวเลข ” เบื้องต้น ” อย่างไม่เป็นทางการ (เนื่องจากจังหวะเวลาไม่เอื้ออำนวย ไม่สามารถทดสอบตามมาตรฐานปกติของ Headlightmag ได้ นั่ง 2 คน น้ำหนักรวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม เปิดแอร์ กลางคืน อุณหภูมิ 25 – 27 องศาเซลเซียส)
แต่ผลการจับเวลาในครั้งนี้ เป็นการนั่ง 1 คน น้ำหนักประมาณ 105 กิโลกรัม เปิดแอร์ กลางวัน อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส
ถือว่าน้ำหนักบรรทุกน้อยกว่าการทดสอบปกติ แต่อุณหภูมิก็สูงกว่ามากเช่นกัน
อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- #1 10.45
- #2 10.42
- #3 10.47
- #4 10.48
อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้เฉลี่ย 10.45 วินาที
อัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- #1 7.34
- #2 7.35
- #3 7.31
- #4 7.31
อัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้เฉลี่ย 7.32 วินาที
เมื่อเทียบกับ Ranger Wildtrak 3.2 4×4 6A/T รุ่นเดิม ก่อน Minorchange (0-100 : 11.19 วินาที // 80-120 : 8.79 วินาที) พบว่าอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง หรือ 0-100 ทำเวลาได้ดีขึ้นกว่าเดิมราวๆ 0.74 วินาที ส่วนอัตราเร่งแซง 80-120 ดีขึ้น 1.47 วินาที
คาดว่าเป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างเทอร์โบแรงดันสูง (HP) ที่เชื่อมต่อกับเทอร์โบแรงดันต่ำ (LP) ที่มีขนาดใหญ่กว่า ควบคุมด้วยวาล์วบายพาสที่ควบคุมลำดับการทำงานของเทอร์โบทั้ง 2 ลูก เมื่อรอบเครื่องยนต์ต่ำ เทอร์โบทั้ง 2 ตัว จะทำงานตามลำดับเพื่อช่วยเพิ่มแรงบิด และ การตอบสนอง เมื่อช่วงรอบเครื่องยนต์สูง อากาศจะไม่ไหลผ่านเทอร์โบแรงดันสูง ทำให้เทอร์โบแรงดันต่ำที่ใหญ่กว่า ช่วยเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น
ลักษณะคาแรคเตอร์ในช่วงออกตัวตอนต้นของเครื่องยนต์ใหม่ 2.0 Bi-Turbo ค่อนข้างใกล้เคียงกับ 3.2 VG-Turbo เดิม คือ พุ่งออกตัวไปแบบนุ่มๆ แล้วพละกำลังมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เหมือนกับ Colorado 2.8 Duramax II 200 แรงม้า ที่พุ่งออกไปแบบกระชากหลังติดเบาะ
นอกจากนี้ยังมีเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะลูกใหม่ที่ทำงานได้ไหลลื่นต่อเนื่อง ในการทำงานของเกียร์จะขึ้นอยู่กับแรงกดคันเร่ง บางครั้งดูจากหน้าจอแสดงตำแหน่งเกียร์พบว่า เกียร์เปลี่ยนจากตำแหน่ง 1 ไป 3 ไป 5 เนื่องจากอัตราทดที่ชิดมาก ก็เลยมีการข้ามเกียร์กันไปเลย
รวมไปถึงน้ำหนักตัวรถที่ลดลงจากเดิมอีกราวๆ 64 กิโลกรัม
- Ranger DBL 3.2 VG-Turbo Wildtrak 4×4 6A/T น้ำหนัก 2,220 กิโลกรัม
- Ranger DBL 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T น้ำหนัก 2,156 กิโลกรัม
- รอบเครื่องยนต์ แต่ละย่านความเร็ว ต่ำแค่ไหน แล้วในรอบต่ำจะมีแรงหรือไม่ ?
รอบเครื่องยนต์ ณ ย่านความเร็วต่างๆ ค่อนข้างจะต่ำมาก เป็นผลมาจากการใช้เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ นั่นเอง ที่สามารถซอยย่อยอัตราทดเกียร์ได้มาก จึงช่วยเรื่องของรอบเครื่องยนต์ และ ความประหยัดน้ำมันได้ดีขึ้น
ความเร็ว (กิโลเมตร/ชั่วโมง) @ รอบเครื่องยนต์ (ณ เกียร์สูงสุด : ไม่สามารถตัดขึ้นเป็นเกียร์ที่สูงกว่านี้ได้)
- 80 km/h @ 1,600 rpm (เกียร์ 8)
- 100 km/h @ 1,600 rpm (เกียร์ 9)
- 110 km/h @ 1,600 rpm (เกียร์ 10)
- 120 km/h @ 1,750 rpm (เกียร์ 10)
แต่ถ้าหากใช้ความเร็วที่สูงกว่า ทำให้ตัดขึ้นที่เกียร์ 10 ได้ แล้วค่อยๆลดความเร็วลงมา บางครั้งก็สามารถใช้ความเร็วย่านต่างๆ ในตำแหน่งเกียร์ที่สูงขึ้นได้ ดังนี้
- 80 km/h @ 1,350 rpm (เกียร์ 9)
- 100 km/h @ 1,450 rpm (เกียร์ 10)
หากใครที่สงสัยว่าที่รอบเครื่องต่ำๆ รถจะมีพละกำลังหรือไม่ จากการทดลองดู พบว่าพละกำลังของเครื่องมาเต็มๆตั้งแต่ราวๆ 1,700 รอบ/นาที ดังนั้นจะไม่ได้มีอาการรอรอบมากนัก สร้างแรงได้เร็วกว่าคู่แข่งเครื่อง Downsize อย่าง Mitsubishi Triton 2.4 และ Isuzu D-max 1.9 ที่เรี่ยวแรงจะมาที่ราวๆ 2,000 รอบ/นาที ขึ้นไป
- รอบเครื่องต่ำแบบนี้ อัตราสิ้นเปลืองจะเป็นอย่างไร ?
เนื่องจากที่แจ้งไปข้างต้นนะครับ ว่าตามมาตรฐาน ” โดยปกติ ” อย่างที่ทำในบทความ Preview อัตราเร่ง/อัตราสิ้นเปลือง Headlightmag จะต้องนั่ง 2 คน น้ำหนักรวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม เปิดแอร์ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วงกลางคืน อุณหภูมิ 25 – 27 องศาเซลเซียส แต่จังหวะเวลาไม่เอื้ออำนวย ผมจึงพยายามจำลองสภาวะแวดล้อมเดียวกัน โดยนั่ง 1 คน น้ำหนักประมาณ 105 กิโลกรัม เปิดแอร์ วิ่งกลางวัน อุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส (เพื่อให้ชดเชยกับสภาวะการทดสอบปกติ ได้ผลออกมาพอจะอ้างอิงกับมาตรฐานปกติได้)
โดยเริ่มจากการเติมน้ำมันดีเซล ที่ปั๊ม ESSO ในตัวเมือง จังหวัด แบบหัวจ่ายตัด เซ็ต Trip ให้เป็น 0.0 km. วิ่งจากตัวเมือง มีจุดหมายไปยังสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ แล้ววิ่งกลับมาเส้นทางเดิม มาเติมน้ำมันกลับ แบบหัวจ่ายตัด ที่ปั๊มเดิม หัวจ่ายเดิม
เส้นทางที่วิ่งก็จะมีทั้งเลน 2 ช่องสวนกัน ตามปกติของต่างจังหวัด และ ถนนใหญ่ 4 – 6 เลน พยายามรักษาความเร็วเอาไว้ให้อยู่ที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะมีต้องเร่งแซงบ้างบางจังหวะ แต่ก็กดคันเร่งแบบค่อยๆไป เพื่อให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานการทดสอบปกติให้ได้มากที่สุด ผลการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เบื้องต้น มีดังนี้
Fuel Consumption อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
- ระยะทางบน Trip 1 : 105.8 กิโลเมตร
- เติมน้ำมันดีเซล แบบไม่เขย่ารถ 7.77 litre
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทำได้เฉลี่ย 13.61 km/l
เดิมใน Ranger 3.2 Wildtrak 4×4 A/T ก่อน Minorchange ทำตัวเลขเอาไว้ได้ที่ 11.48 km/l จะเห็นได้ว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ใหม่ Ranger Minorchange 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีขึ้นมากกว่าเดิม ถึง 2.13 km/l (ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ)
- ช่วงล่างได้ข่าวมาว่ามีการปรับปรุง จริงหรือไม่ ?!
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบ อิสระ Double Wishbone with Coil Spring ส่วนช่วงล่างด้านหลัง แหนบซ้อน Leaf Spring มีการเช็ตช่วงล่างใหม่ เพื่อรองรับกับเครื่องยนต์ที่น้ำหนักเบาลง รวมถึงความตั้งใจที่จะเช็ตมาเอาใจคนส่วนใหญ่มากขึ้นด้วย
ผลที่ออกมาคือ ช่วงล่างนุ่มสบายขึ้นมาก !!! จนพูดได้ว่าตอนนี้ผมเลิกบ่น ถึงความแข็ง ความสะเทือนของช่วงล่าง ใน Ranger ได้แล้ว การซับแรงสะเทือน หลุม บ่อ รอยต่อถนนต่างๆ ทำได้อย่างนุ่มนวล ในภาพรวมการซับแรงสะเทือนทำได้ดีกว่าใน Colorado Minorchange แล้วด้วยซ้ำ ความมั่นใจ ความหนักแน่นที่ความเร็วสูงก็ยังคงทำได้ดี แม้เทียบกับตัวเดิม ความมั่นใจจะลดลงไปบ้างจากความนุ่มนวลที่เพิ่มมานี้ แต่ก็ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง
แม้จะมั่นใจน้อยลงไปบ้างในช่วงความเร็วสูงเวลาเจอถนนไม่เรียบ หรือ การโยนโค้งบางจังหวะ แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว Ranger Minorchange ก็ยังทำผลงานได้ดีที่สุดในกลุ่มเช่นเคย การเปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูง ก็ทำได้อย่างมั่นคง ไม่มีอาการโยนตัวจนมากเกินงาม
โดยส่วนตัวถือว่าเป็นการเซ็ตช่วงล่างที่บาลานซ์ความพอดี ระหว่างความนุ่มนวลในการนั่งโดยสาร และ ความมั่นใจในการขับขี่ได้เป็นอย่างดี แต่คนที่ใช้รุ่นเดิมอยู่อาจจะบอกว่า ตัวเดิมมั่นใจกว่าในความเร็วสูง
พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPAS คาดว่าน่าจะมีการปรับน้ำหนักหน่วงมือในช่วงความเร็วต่ำได้หนักแน่นขึ้น จากเดิมที่ค่อนข้างจะเบามาก ส่วนน้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วสูง ทำได้ดีเหมาะสมอยู่แล้ว
ระบบเบรกคู่หน้า ดิสก์เบรก แบบมีครีบระบายความร้อน – คู่หลัง ดรัมเบรก แป้นเบรกมาในแนวแป้นลึก ต้องกดเยอะเช่นเดิม แต่รู้สึกได้ว่ามีการหน่วงความเร็วได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนเล็กน้อย สำหรับบางท่านอาจต้องใช้ความคุ้นชินมากขึ้นหน่อย หากเคยขับแต่รถบางรุ่นที่เซ็ตเบรกมาแบบแป้นตื้น
ส่วนทางด้านระบบความปลอดภัย และ ช่วยเหลือการขับขี่ มีการเพิ่มมาให้จากเดิม 2 ระบบ
- เพิ่ม ระบบช่วยจอดรถแบบอัตโนมัติ Active Parking Assist
- เพิ่ม ระบบเบรกอัตโนมัติ ตรวจจับรถ และ คนเดินถนน AEB : Autonomous Emergency Braking
- โดยระบบเบรกอัตโนมัติ AEB จะใช้เรดาร์ และ กล้องด้านหน้ารถในการตรวจจับวัตถุด้านหน้า ทำงานเมื่อความเร็วมากกว่า 3.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ปกติระบบเดิม เตือนการชนด้านหน้า Forward Collision Warning System จะทำการส่งสัญญาณไฟ และ สัญญาณเสียงเตือนเท่านั้น ไม่ได้ช่วยออกแรงเบรกให้โดยอัตโนมัติ)
โดยรายละเอียด Option ทั้งหมดของ Ranger Minorchange Double Cab 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T สามารถอ่านได้ที่นี่ >> http://www.headlightmag.com/photo-ford-ranger-minorchange-bi-turbo-wildtrak-4×4-10at/
***** สรุปเบื้องต้น Ford Ranger Minorchange 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T *****
การปรับปรุงรุ่น Minorchange ในครั้งนี้ หลักใหญ่ใจความอยู่ที่เครื่องยนต์ดีเซลใหม่ ตามเทรนด์การลดขนาดความจุ และเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ที่ทำผลงานเบื้องต้นออกมาได้ดี แต่อาจจะผิดหวังสำหรับบางคนที่ตั้งความหวังกับเครื่องยนต์ 2.0 Bi-Turbo ได้ เพราะอันที่จริง พละกำลังที่เพิ่มขึ้นเพียง 13 แรงม้า กับ แรงบิดที่เท่าเดิม ไม่อาจจะทำให้รถพุ่งแบบหลังกระชากติดเบาะได้ ทั้งที่ด้วยมิติตัวถังที่ใหญ่โต และ น้ำหนักตัวรถที่มากกว่าคู่แข่งในตลาด (Ranger หนัก 2,156 กิโลกรัม / Hilux Revo 2,070 กิโลกรัม / D-max 1,990 กิโลกรัม / Triton Athlete 1,870 กิโลกรัม / Navara 2,035 กิโลกรัม / Colorado 2,062 กิโลกรัม) ทำให้ตัวเลขที่ออกมาอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใครหลายคนหวัง
แต่ถ้าหากพิจารณาเทียบกับเครื่องยนต์เดิม ที่มี 5 สูบ ความจุถึง 3.2 ลิตร เครื่องยนต์ใหม่ที่เหลือ 4 สูบ ลดขนาดความจุลงเหลือแค่ 2.0 ลิตร กลับทำตัวเลขได้ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งในย่านออกตัว และ เร่งแซง แสดงให้เห็นว่า Ford เค้นพลังจากเครื่องตัวนี้ออกมามาก (จนบางทีแอบคิดว่าถ้าเจอเจ้าของเท้าหนัก ซัดไม่เลี้ยง ใช้ระยะยาว ระหว่างเครื่องโตเค้นกำลังน้อย กับเครื่องเล็กม้าเยอะ อย่างหลังอาจจะโทรมเร็วกว่า?)
นอกจากนี้ในด้านความประหยัด ถือว่าค่อนข้างโดดเด่นจากเดิมพอสมควร ประหยัดขึ้นกว่า 2 กิโลเมตร/ลิตร ทั้งนี้ถ้าทดสอบด้วยมาตรฐานเดิมคาดว่าน่าจะทำตัวเลขความประหยัดได้ดีกว่านี้ การมีเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะมาช่วย ทำให้รอบเครื่องยนต์ในขณะความเร็วเดินทางต่ำ
แต่อย่างไรก็ตาม Ranger Double Cab 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T ก็ ” มีแนวโน้ม ” ว่าจะเป็น ” กระบะ 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ทำตัวเลขอัตราเร่ง และ อัตราสิ้นเปลืองได้ดีที่สุดของตาราง “
ผมใช้คำว่ามีแนวโน้ม…นะครับ
รวมไปถึงช่วงล่างที่มีการปรับให้นุ่มนวล เอาใจผู้โดยสารมากขึ้น ทำให้ตอนนี้ Ranger ดูจะตอบโจทย์ความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้มากขึ้น ทีนี้ก็จะเหลือแต่เรื่องที่ทุกคนเป็นกังวล นั่นก็คือ…สิ่งที่ผมอยากจะฝากเอาไว้
ก็ต้องขอพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การรับมือต่อปัญหา และ การบริการหลังการขายของฟอร์ดยังไม่ดีนัก เมื่อเทียบกันกับหลายๆค่าย แม้จะมีการพัฒนาขึ้นแล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนากันต่อไปอีกมาก ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการต้อนรับของศูนย์บริการนะครับ หลายๆคนอาจจะเข้าใจผิด บอกเห้ยห้องรับรองเค้าก็ดีนะ มีขนม มีน้ำให้กิน แอร์เย็น พนักงานสุภาพ นั่นมันก็เป็นส่วนหนึ่งครับ ซึ่งจากการที่ผมไปสำรวจด้วยตัวเอง ถือว่าทำได้ดีแล้วในด้านนี้ กับหลายๆศูนย์บริการที่เจอมา
แต่ที่เป็นส่วนสำคัญหลักๆคือ การรับมือ การแก้ปัญหา เมื่อรถลูกค้ามีปัญหา ยังทำได้ไม่ดี หลายๆครั้งกว่าจะบอกลูกค้าได้ว่า ปัญหานี้เกิดจากอะไร แล้วจะทำอย่างไรต่อไป แก้อย่างไร ยังใช้เวลาในการให้คำตอบกับลูกค้านานไป รวมถึงการเคลมคุณภาพชิ้นส่วนต่างๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นนโยบายจากทางไหน ว่าจะต้องให้เกิดปัญหาขึ้นก่อน ถึงจะเคลมให้ ทั้งๆที่รู้ว่าชิ้นส่วนนั้นมีปัญหา ลูกค้ามาเคลมกันเยอะ ก็ควรจะเปลี่ยนให้ก่อนเลย โดยไม่ต้องเกิดความเสียหายก่อน ถึงจะทำเรื่องเคลมให้ได้ นั่นแสดงว่าต้องให้รถลูกค้าเสียกลางทางก่อน ถึงจะเคลมให้ ?!?! (ท่ออินเตอร์ปริ แตก รั่ว หลายคนคงทราบกันดี)
เหลือแค่ตรงจุดนี้แหละครับ ที่ฟอร์ดยังต้องทำการบ้านอีกพอสมควร ถ้าจะอยากได้ส่วนแบ่งตลาดมากกว่านี้ สำหรับลูกค้าคนไทยอาจจะไม่เหมือนกับที่อื่น ไม่ใช่ซื้อรถไปแล้วจบ รถดี ขับดี บริการหลังการขายก็ต้องพัฒนาดีตามขึ้นไปด้วย สำหรับ Ranger นั้นตัวรถเองมีความเจ๋ง ความดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว อาจจะเสริมการตลาดเข้าไปนิดหน่อยเพื่อช่วยส่งเสริมกัน เอาใจช่วยครับ เพราะเห็นถึงความตั้งใจในการทำผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างดีที่สุด แต่ก็ต้องตั้งใจพัฒนาในด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย
เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถที่จะทำ ถ้าคิดจะทำกันอย่างจริงจัง และ จริงใจ
คำพูดสวยหรู ว่า ปรับปรุงแล้ว แก้ไขแล้ว หรือจะทำอย่างนั้นอย่างนี้…ไม่สู้การพิสูจน์ให้เห็นด้วยการกระทำที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างชัดเจน
หรือคุณว่าไม่จริง?!?
MoO Teerapat Archawametheekun
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 16 กรกฎาคม 2018
Copyright (c) 2018 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 16 July 2018
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE !
ชมภาพภายนอก – ภายในห้องโดยสาร Ford Ranger Minorchange 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T : 1,265,000 บาท >> http://www.headlightmag.com/photo-ford-ranger-minorchange-bi-turbo-wildtrak-4×4-10at/
พาไปชมรถคันจริง Ford Ranger Minorchange 2.0 Bi-Turbo Wildtrak 4×4 10A/T : 1,265,000 บาท