การตัดสินใจ มีผลสำคัญต่ออนาคตแค่ไหน?
ในชีวิตของคุณ คงมีหลายครั้งที่จะต้องเลือกระหว่าง A, B และ C ซึ่งเมื่อตกลงใจกับทางเลือกใดแล้ว จะไม่มีโอกาสกลับไปแก้ไขอีก คุณจะมีทางเลือกเพียงแค่รุ่ง หรือร่วง ถ้ารุ่ง ก็โชคดีไป ถ้าร่วง คุณจะมีสภาพเหมือนทหารคอมมานโดที่อยู่ในสงคราม เหลือสมาชิกร่วมชะตาอยู่ไม่กี่คนแล้ว คุณเหลืออาวุธไม่กี่อย่าง กระสุนไม่กี่นัด เพื่อให้มีชีิวิตรอดกลับไปหาเมียและลูก
สถานการณ์ของ Nissan ในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมีความคล้ายกลุ่มคอมมานโดหลงป่ากลางแดนข้าศึก ระหว่างที่กองบัญชาการยังทะเลาะกัน ทางนี้ก็รบไปตายเอาดาบหน้า เอาโคลนพรางตัว อาวุธมีจำกัด เปิดศึกจบสงครามไม่ได้ ต้องอาศัยน้ำค้างใบหญ้า ล่าสัตว์ประทังชีพ ตั้งกับดักขวาก เหลาหอกไม้ สอยศัตรูด้วยยุทธวิธีซุ่มโจมตีได้บ้าง และนี่ไม่ใช่ทหารผู้เก่งกาจแบบที่หนังของ Chuck Norris หรือ Steven Seagal มักทำให้คุณคิดว่า ทหารกล้า 1 นาย ตีฐานข้าศึกแตกได้ด้วยไม้พลอง ธนูและดินระเบิดไม่กี่หยิบมือ หรือมีดทำครัว
นานๆที กองบัญชาการก็จะส่งเครื่องมือมาให้โดยแอบเอา C-130 มาทิ้งร่มให้กลางดึก เป็นของที่เห็นแล้วเหล่าทหารใจชื้นขึ้น ถึงยังไม่ได้กลับบ้าน แต่ก็สู้ศึกต่อไปได้ Nissan Almera เจนเนอเรชั่นที่แล้วคือ อาวุธที่ว่านั่นแหละครับ
…หลายคนอาจจะงงว่ารถธรรมดาคันหนึ่งมีบทบาทยังไง Almera เจนเนอเรชั่นก่อน นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Nissan ยังสามารถหายใจอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ในวันที่มันเปิดตัว ลูกค้าชาวไทยจำนวนมากชื่นชอบจากการที่ Nissan สามารถจับจริตคนซื้อรถเก๋งขนาดเล็กได้ ด้วยราคาที่ถูก เครื่องยนต์ที่ดูน่าจะประหยัดน้ำมัน ขนาดตัวรถที่ไม่ได้เล็กตามราคา สามารถให้ครอบครัวไทยเดินทางด้วยกัน 4 คนได้สบาย รูปร่างหน้าตา ดูแล้วรู้สึกว่ามีการคิดออกแบบมาเป็นสากล ไม่ได้ดูแล้วเป็นรถราคาถูกที่ตั้งใจลดต้นทุนแบบเห็นได้ชัด
แต่การศึกในโลกของรถยนต์ ก็มีความคล้ายสงครามป่า อาวุธที่มาได้จังหวะ จะใช้ตลอดไปก็คงไม่ได้ ซ้ำร้ายคือพาร์ทของอาวุธบางชิ้นก็มีการขัดข้อง ทำให้ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ในขณะเดียวกัน เวลาที่เนิ่นนานของสงครามที่ดูจะไม่มีวันจบสิ้น ก็ทำให้ข้าศึกพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ทัน ส่วนทหารของเรานั้น 7 ปีหลังจากมีแต่อาวุธแบบเดิม พวกเขาก็สู้ไม่ไหว เนินเขาลูกแล้วลูกเล่าที่เคยปักธงอาณาเขตได้ ก็ต้องถอยร่น โดนข้าศึกยึดไปเรื่อยๆ กลับไปใช้วิธีซุ่มโจมตีแบบเดิม
จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายน 2019 ข่าวคราวของอาวุธใหม่ ดูจะทำให้เหล่าทหาร Nissanได้เฮกันอีกครั้ง!
ผมยังจำวันนั้นได้ครับ..เมื่อได้เห็น Twitter จาก Nissan USA เผยว่า Nissan VERSA ใหม่จะเผยโฉมที่งาน Music Festival ในรัฐ Florida สหรัฐอเมริกา ก็แทบไม่ได้หลับนอน คอย Refresh จอเผื่อจะมีรูปให้เห็นก่อนเผยร่างอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งมีรูปหลุดออกมาก่อนกำหนดงานเปิดตัววันที่ 12 เมษายน (ตามเวลา Florida) ขนาดนั่งกินข้าวอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แค่ได้เห็นรูปทรงก็รถ หัวปลาทูในปากก็บินลงจาน ช้อนส้อมถูกวาง แล้วโต๊ะกินข้าวก็กลายเป็นโต๊ะทำงานในชั่วพริบตา นี่ล่ะคืออาวุธที่ทหารของ Nissan ต้องการมานาน เป็น Nissan คันแรกที่ผมรู้สึกตื่นเต้นไปกับมันด้วย
Nissan ตัดสินใจ ปรับภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์รถยนต์นั่งขนาดเล็กนี้ใหม่ จากเดิม รถอย่าง Almera (หรือที่อเมริกาเรียกว่า Versa) เป็นรถที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานเป็นหลัก จับลูกค้ากลุ่มกว้าง คิดหลายสิ่งอย่างไว้เผื่อลูกค้าตั้งแต่วัยรุ่นยันผู้เฒ่าคนแก่ การโฟกัสกว้างแบบนี้ก็ดีในด้านโอกาสกวาดยอดขาย แต่มันก็ลดทอนโอกาสที่จะมีจุดเด่นอย่างจริงจังของรถได้เช่นกัน
มาคราวนี้ Nissan เดินเกมพลิกการออกแบบและลักษณะโดยรวมของผลิตภัณฑ์ใหม่หมด มุ่งหาแนวทางที่ดูเปรียว สวยขึ้น ทันสมัยแนววัยรุ่นนิยมมากขึ้น อย่างที่ Giovanny Arroba ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบจาก Nissan Global Design Center เคยให้สัมภาษณ์เมื่อตอนเปิดตัวที่อเมริกาว่า “สัดส่วนที่ดูดี เป็นสิ่งที่สำคัญ ผมอยากให้คนมองรถของเราแล้วรู้สึกว่า ว้าว! นั่น Versa ใหม่นี่หว่า”
ในความเห็นของเขา รถรุ่นเก่า (N17) มีเรือนร่างภายนอกที่ดูกระย่องกระแย่ง อ่อนช้อยก็จริง แต่ดูไม่มีความดุดันมากพอ นั่นคือสาเหตุที่ตัวรถบอดี้ใหม่ (N18) มีกระจังหน้าและไฟหน้าที่ขยายออกในแนวนอนมากขึ้น ล้อทั้งสี่ข้างถูกขยับไปให้ชิดกันชนมากกว่าเดิม ตัวรถดูกว้าง ยาว ลิ่ม เปรียว และเตี้ยลงกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ รวมกับแนวทางการออกแบบ “Emotional Geometry” ที่ใช้ไปแล้ว กับรถอย่าง Micra (รุ่นที่ชาวเน็ตไทยเรียกร้อง แต่ไม่เอามาขาย), Altima, Maxima และ LEAF (ซึ่งเอามาขาย..แต่..)
สำหรับประเทศไทย เปิดตัวในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2019 ซึ่งกว่าจะกลายมาเป็นความจริงได้นั้น ทีม Nissan ของไทยต้องสู้รบกับเมืองนอกเพื่อเจรจาเรื่องสเป็คอุปกรณ์ ร่วมถึงเรื่องของราคารถ เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆที่ใส่ลงไปจะทำให้ต้นทุนจริงของรถสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์
มันคือการตัดสินใจที่ยากทีเดียว ลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็น CEO ของ Nissan ในไทย หากต้องตัดสินใจเลือก คุณจะเลือกแบบไหน?
ถ้าเอาเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร DIG-T มาขาย คุณได้พลัง 117 แรงม้าแน่ๆ และสามารถปรับจูนให้ผ่านค่ามลพิษตามมาตรฐานของ Eco car PHASE 2 ได้ง่ายด้วย แต่ต้นทุนค่าเครื่องยนต์ก็สูงกว่า หากนำเครื่องยนต์นี้มาใช้ คุณจะเหลือทางเลือกสองทางคือ ยอมปลดอุปกรณ์มาตรฐานบางชิ้นออก เพื่อคุมราคาให้ถูกตามที่หวัง หรือไม่ก็ต้องยอมเพิ่มราคารถไปหลายหมื่นบาท..เพราะต้นทุนเครื่องยนต์มันต้องถูกนำไปคิดรวมกับราคาขายปลีก แล้วโดนถมทับด้วยสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และ VAT อีกนะครับ Almera ก็อาจมีราคาเขยิบใกล้ Honda City มากกว่านี้
หรือ..อีกทางนึง..เอาเครื่อง 1.0 ลิตรเทอร์โบ เวอร์ชั่นหัวฉีดปกติ ที่เมืองนอกมีขาย มีพลัง 100 แรงม้า แต่ต้องมาปรับจูนต่ออีกเพื่อให้สามารถผ่านมาตรฐานมลพิษได้ (รถ Micra 1.0T เมืองนอก ค่า CO2 สูงกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร) วิธีนี้ จะทำให้สามารถคุมราคารถได้ แต่แน่นอนครับว่าเสียเปรียบเรื่องแรง และอาจจะมีผลอย่างอื่นที่ต้องสู้ต้องแก้กันต่อไป
Nissan ไทยเลือกทางไหน คุณก็คงทราบกันอยู่แล้ว ในขณะที่ Honda ดูเหมือนจะเลือกเทต้นทุนให้กับเครื่องยนต์มากกว่า มันคือการตัดสินใจระหว่าง A กับ B ที่อาจส่งผลต่อการรุ่งหรือร่วงได้ในอนาคต
อนาคตที่ว่า..ยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก บอกตอนนี้เลยว่ารุ่ง หรือร่วง..คงทำไม่ได้ ผมไม่เซียนขนาดนั้น แต่การที่จะบอกว่า Nissan Almera มีข้อดีจุดไหน มีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง มีคุณลักษณะการโดยสารและการขับขี่เป็นอย่างไร..ไม่ต้องรอครับ เพราะผมขับมาเรียบร้อย และจะเล่าให้คุณฟังตรงนี้
เริ่มกันด้วยขนาดมิติตัวถัง Nissan Almera ใหม่ (N18) มีความยาว 4,495 มิลลิเมตร กว้าง 1,740 มิลลิเมตร สูง 1,460 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,620 มิลลิเมตร ความกว้างระยะฐานล้อคู่หน้าและหลังอยู่ที่ 1,525 และ 1,535 มิลลิเมตรตามลำดับ ความสูงจากใต้ท้องรถถึงพื้น 135 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวถัง รุ่นย่อยอุปกรณ์น้อยสุดอย่าง S อยู่ที่ 1,065 กิโลกรัม และรุ่น VL ที่เราจะมาลองขับกันในวันนี้ อยู่ที่ 1,076 กิโลกรัม ถังน้ำมัน ลดขนาดจากเดิม 41 ลิตร เป็น 35 ลิตร
เมื่อเทียบกับ Almera รุ่นเก่า (N17) พบว่าตัวถังมีขนาดโตขึ้นในทุกมิติ ยกเว้นความสูง โดยรุ่นใหม่นั้น ยาวกว่าเดิม 70 มิลลิเมตร กว้างกว่าเดิม 45 มิลลิเมตร ฐานล้อยาวขึ้น 20 มิลลิเมตร แต่ความสูงลดลง 40 มิลลิเมตร
เมื่อเทียบกับรถพิกัดเดียวกัน มีข้อมูลดังนี้
- Honda City ยาว x กว้าง x สูง : 4,553 x 1,748 x 1,467 มิลลิเมตร
- Mazda 2 Sedan ยาว x กว้าง x สูง : 4,340 x 1,695 x 1,470 มิลลิเมตร
- Toyota Yaris ATIV ยาว x กว้าง x สูง : 4,425 x 1,730 x 1,475 มิลลิเมตร
- Suzuki Ciaz ยาว x กว้าง x สูง : 4,505 x 1,730 x 1,475 มิลลิเมตร
ในภาพรวม Nissan Almera ใหม่ คันเล็กกว่า City และ Suzuki Ciaz แต่ใหญ่กว่า Yaris ATIV และใหญ่กว่า Mazda 2
ดีไซน์ภายนอก มีการนำเอกลักษณ์จากรถรุ่นอื่นมาใช้อย่างเห็นได้ชัด กระจังหน้า V-Motion และไฟหน้า มีลักษณะที่เห็นแล้วนึกถึง Nissan LEAF หลังคาลาดเตี้ยลงกว่ารุ่นเดิม มีการเสริมแถบสีดำๆไปที่เสาหลังคาตอนหลังสุด เป็นดีไซน์ที่เรียกว่า Floating Roof หรือหลังคาที่ถูกออกแบบให้เหมือนยกลอยอยู่ ถ้ามองจากด้านหลัง ไฟท้ายแบบบูมเมอแรง ที่ใช้กันมาตั้งแต่ Sylphy แต่ปรับโทนสีและดวงไฟให้ดูทันสมัยขึ้น ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว ประกบยางมหึมาขนาด 195/65R15 เส้นรอบวงโตที่สุดในบรรดาอีโคคาร์ทั้งมวล มีล้อ 16 นิ้วกับยาง 205/50 ให้เลือกเป็นออพชั่นเพิ่ม และไม่มีล้อ 17 แบบของ Versa ที่อเมริกา ใครจะ Import มาขาย เช็คขนาดดีๆก่อนนะครับ
ไฟหน้าของรุ่น V และ VL จะเป็น LED พร้อม Signature Light มี Daytime Running Light แต่ถูกปิดไว้ไม่ให้ทำงาน..เอ้า งงดิ งง..ผมเองก็นึกว่ามันไม่มีครับ ในโบรชัวร์ไม่บอกว่ามี และไอ้ของจริงเวลาวิ่งมันก็ติดเป็นไฟหรี่ แต่ทราบจากบางท่านที่เจอระหว่างทริปทดสอบนี่แหละว่า คุณสามารถเสียบคอมที่ศูนย์ Nissan แล้วสั่งเปิด DRL ให้มันทำงานได้เลย! อ้าวแล้วพี่จะปิดมันทำราเม็งอะไรอ่ะครับ!? คำตอบก็คือ เพื่อให้ผ่านมลภาวะ CO2 ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร อันนี้ยิ่งงงหนัก ถ้าพี่ห่วงเรื่อง CO2 แล้วทำไมไม่เลือกล้อกับยางที่มันเล็กและเบาลงล่ะครับ มาเล่นเอากับไฟ LED 2 แถบเนี่ยนะ!?!
..เป็นการตัดสินใจระหว่าง A กับ B แบบที่ผมต้องนั่งคิดอยู่นานมากว่าอะไรดลใจให้เกิดสิ่งนี้ มันก็มีได้แค่สองอย่าง มองในแง่ร้าย คือในองค์กรไม่คุยกัน หรือแผนกจูนช่วงล่างยืนยันว่าต้องเอาไซส์นี้เท่านั้นเลยต้องไปไล่เบี้ยเอากับจุดอื่น ส่วนถ้ามองในแง่ดี ก็คือ Nissan อาจจะคิดแล้วว่ายางหน้ากว้าง 195 ทำให้รถบังคับควบคุม เกาะถนน และเบรกดีกว่า ส่งผลต่อความปลอดภัยมากกว่า DRL ..ระหว่างให้ลูกค้าไปเปลี่ยนยาง กับให้ช่างตวัดนิ้วเปิด DRL ให้ลูกค้า อย่างหลังทำได้ง่ายกว่า อันนี้แล้วแต่จะเชื่อเถอะครับ ผมเดาได้แค่นี้
รูปทรงของ Almera ใหม่ ในความเห็นของผม ซีกหน้า ผมว่ามันต้องอย่างนี้แหละ สวยคม ดู Low and Wide ไม่กระย่องกระแย่งเหมือน City แต่กลับกันพอมาซีกหลัง ผมกลับมองว่า City บริหารเส้นสายได้ลงตัวกว่า ในขณะที่ Nissan นั้นดูแล้วจะสวยก็ไม่ใช่ ที่เรามองมันเพราะเส้นสายมันดูกวนโอ๊ยมากกว่า ยกเว้นว่าถ้ามองจากข้างหลังในแนวตรง ตำแหน่งและทรงของไฟท้ายจะช่วยให้รถดูแบนแต่บึกบึน ลงตัวได้เหมือนกัน (ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่เห็นความรกของเส้นสายแถวเสาหลังคาด้วย)
หยิบกุญแจสมาร์ทคีย์ทรงไข่ที่คุ้นตาเหมือน Nissan รุ่นอื่นๆมาใส่กระเป๋าไว้ จะเข้ารถก็ปลดล็อคด้วยการกดปุ่มดำๆที่มือจับเปิดประตูก่อน ส่วนเบาะนั่งนั้น หุ้มด้วยผ้าล้วนๆ มีการเล่นแถบสีขาวแซมด้านข้างของเบาะเพื่อไม่ให้ภายในดูจืดตาเกินไป เบาะด้านคนขับสามารถปรับสูงต่ำได้ด้วยก้านโยกด้านข้าง เวลาปรับระดับความสูงจะเป็นแบบยกหรือกดทั้งตัว ไม่มีการแยกปรับความลาดเทของส่วนรองน่อง
ตัวเบาะ ให้ความสบายพอสมควร ด้วยหมอนรองนั่งที่มีความแข็งพอประมาณ ปีกไม่สูงมากนัก ความสากของเนื้อผ้าก็ดูจะเป็นไปตามปกติของรถระดับนี้ แต่ก็มีส่วนดีตรงที่มันฝืดรั้งยั้งตัวไม่ให้ไถลมาข้างหน้าได้ดี พนักพิงหลังมีปีกกางและดันออกมาข้างหน้ามากกว่าเบาะของ Honda City แต่โชคดีว่ามันไม่ได้แข็งอะไรมาก เวลานั่งจึงไม่รู้สึกว่าน่ารำคาญ ส่วนบนของเบาะถูกเกลาให้ Slim เช่นเดียวกับ Honda ความสบายต่างกันไม่มาก พนักพิงศีรษะจัดตำแหน่งยื่นออกมาข้างหน้ามากกว่า และหมอนรองมีความสูงกว่า Honda เวลานั่งแล้ว ส่วนตัวผมรู้สึกชอบพนักพิงศีรษะของ Honda มากกว่า ในขณะที่ Almera จะดันหัวออกมามากกว่า
เรื่องความสบายของเบาะนั่ง ผมทำได้แค่ให้ความเห็นจากไซส์ 5XL ของตัวเอง หลายท่านที่ตัวเล็กเรียวกว่า หรือเวลานั่งแล้วไม่ได้ชอบตั้งเบาะตรง ไม่ได้เอาหัวพิงเบาะแบบผม อาจจะได้รับความสบายต่างกัน ต้องลองนั่งดูเองด้วยครับ
พวงมาลัยของ Almera รุ่นใหม่ ปรับได้ 4 ทิศแล้ว (ไชโย!) แต่เข็มขัดนิรภัยก็ยังปรับระดับสูง/ต่ำไม่ได้อยู่ดี นี่คือจุดที่อยากให้เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ได้ความปลอดภัยเวลาเหนี่ยวรั้งยามเกิดอุบัติเหตุไงครับ ตำแหน่งการขับ ก็มาในแนวของรถใหม่คือนั่งแบบตั้งและวางเบาะสูงเพื่อให้ขึ้นลงง่าย และท่อนขาทิ้งแนวเฉียงลงไปหาคันเร่งอย่างเป็นธรรมชาติ มันไม่สูงเดิดแบบสมัย Nissan Tiida และไม่เตี้ยสปอร์ตแบบ Honda Civic แต่ใกล้เคียงกันกับ City
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมรำคาญมากที่สุดก็คือไอ้แผ่นบั้งๆสูงเอียงที่คอนโซลบริเวณคันเกียร์ ซึ่งเข้าใจว่าทำมาเพื่อให้ห้องโดยสารดูสปอร์ต แต่เอาเข้าจริง มันสูงจนเบียดเนื้อที่เข่าซ้ายของคนขับมากไป ในขณะที่แผงกระจกไฟฟ้าก็ยาวและหนา เบียดเข่าขวาเข้ามาอีก กลายเป็นรถ รถน่ะกว้างขึ้นทั้ง 45 มิลลิเมตร แต่เมื่อลงไปนั่งขับ กลับรู้สึกคับแคบยิ่งกว่ารุ่นเดิม อย่าบอกนะครับว่าเพราะผมมันตัวใหญ่เอง เพราะแอดมินโค้ก แห่ง Autostation ขับคันเดียวกับผม ก็รู้สึกว่าพอขับนานๆแล้วเมื่อย เพราะมันไม่มีที่ให้ขยับขาออกด้านข้าง
City ก็เลยชนะ เรื่องความสบายของตำแหน่งผู้ขับตรงนี้ ..เว้นเสียแต่ว่าคุณรู้สึกชอบให้คอนโซลบีบๆล็อคตัวไว้ เวลาทิ้งโค้งจะได้ไม่ตัวไถลไปไถลมา นั่นก็อีกเรื่อง
มาดูเบาะนั่งด้านหลังกันบ้าง Nissan เคลมว่า พวกเขาขยายความกว้างของ Bench (ชิ้นเบาะรองนั่ง) เพิ่มจาก 1,318 มิลลิเมตร เป็น 1,360 มิลลิเมตร เพื่อให้นั่งสบายขึ้น มีพื้นที่ไหล่ห่างกันมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังได้พื้นที่เหนือศีรษะเพิ่มจากรุ่นเดิมอีก 8 มิลลิเมตร อันเป็นผลมาจากการกดเบาะลงต่ำและเอนมากขึ้น ทำให้แม้หลังคาจะเตี้ยลงแต่ก็ยังมีพื้นที่เหนือศีรษะมากกว่าเดิม
เมื่อลองนั่งจริงๆ ผมใช้วิธีเดียวกับตอนวัด City คือ ไปเบาะคนขับ ปรับในตำแหน่งตัวเองนั่งขับถนัด จากนั้นย้ายมานั่งเบาะหลัง เมื่อใช้วิธีนี้ เห็นได้ชัดว่าใน Almera เข่าผมจะเฉี่ยวเบาะหน้าแบบเหลือที่ 2-3 เซนติเมตร ในขณะที่ของ City นั้นเอากำปั้นตวัดผ่านเข่าได้สบายๆ ส่วนตัวเบาะนั้นความสบายไม่ต่างกันมาก โดยพนักพิงศีรษะของ Almera เป็นแบบ โด่ ทิ่มคอ แต่นุ่ม ในขณะที่ City แข็งกว่า แต่ตั้งองศารับคอแบบพร้อมให้นอน พื้นที่เหนือศีรษะที่บอกว่าเยอะขึ้น พอนั่งจริงๆแล้วกลับไม่รู้สึกสบายเท่ารุ่นเก่า เพราะผมต้องไถลตรูดรูดตัวไปข้างหน้าเยอะกว่าเพื่อเอาหัวหลบแนวหลังคา
นอกจากนี้ Almera ใหม่ ไม่ว่ารุ่นไหน ก็ไม่มีพนักเท้าแขนตรงกลางให้ ในขณะที่ City ยังมีมาให้ (แม้จะเป็นในรุ่น RS ที่ราคา 739,000 รุ่นเดียวก็ตาม) ท้ายที่สุด ให้มองความสบายบนเบาะหลังในภาพรวมของรถระดับนี้ เฉพาะบอดี้ 4 ประตู ผมให้ City ที่ 1 จากนั้นตามมาด้วย Ciaz (ซึ่งเจ๋งเรื่องพื้นที่ แต่พนักรองศีรษะแหลมๆดันหัว), Almera, ATIV แล้วก็ Mazda 2
ฝากระโปรงท้าย สามารถเปิดได้ด้วยการกดปุ่มบน Smart Key คาไว้ 2 วินาที หรือใช้คันโยกจากในรถ หรือจะเปิดจากสวิตช์ที่ฝาท้ายเลยก็ได้ การเก็บงานพื้นที่ท้ายรถ เกือบจะดีแล้ว แต่มองไปบนฝากระโปรงหลังด้านใน วัสดุปิดท้ายรถด้านในให้มาแค่ครึ่งเดียว ไม่ได้ปิดเต็มชิ้น
เรื่องความจุนั้น Nissan ไม่ได้บอกตัวเลขมา แต่เคลมว่ามีพื้นที่จุมากเท่า Almera โฉมที่แล้ว ซึ่งคุณสามารถใส่ถุงกอล์ฟขนาดมาตรฐานในแนวเอียง หรือใส่กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ 3 ใบได้สบาย ห้องเก็บของมีความลึกพอสมควร ผมสามารถยืดแขนแล้วยังเอาลำตัวช่วงบนมุดเข้าไปได้ แต่ทั้งนี้ ไม่มีกลไกสำหรับปรับพับเบาะ ก็น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับ Honda City ที่ออกแบบเบาะให้ไม่ต้องเผื่อการพับ เพราะทำให้สามารถสร้างลักษณะพนักพิงให้เอื้ออำนวยต่อความสบายในการนั่งได้มากกว่า กันเสียงรบกวนได้ดีกว่า ลูกค้าส่วนมากไม่ค่อยได้ใช้เรื่องการพับเบาะเท่าไหร่ด้วย
Nissan Almera ในรุ่น V และ VL จะใช้ชุดซ่อมยางฉุกเฉิน แต่รุ่น S, E และ EL จะให้ยางอะไหล่ขนาด Compact ซึ่งไม่แน่ใจว่าที่ต้องเอายางอะไหล่ออก เพื่อควบคุมน้ำหนักรถ หรือเพราะมองเหมือน Suzuki ..ซึ่งใช้ชุดซ่อมยางใน Swift รุ่นสูงๆ เพราะมองว่าถ้าเป็นผู้หญิงขับแล้วยางรั่ว การใช้ชุดซ่อมปะยาง ทำเองได้เร็วและง่ายกว่า ส่วนตัวผมเองชอบยางอะไหล่มากกว่า เพราะในบางกรณี เมื่อยางรั่ว แล้วจำเป็นต้องขับบดยางไปยังจุดที่ปลอดภัย โครงแก้มยางน่าจะเสียหายจนชุดซ่อมยางก็ช่วยไม่ได้แล้ว
ภายในห้องโดยสาร เปลี่ยนอารมณ์จากรุ่นเดิมแบบคนละเรื่อง ในรถรุ่นที่แล้วบรรยากาศภายในจะดูปนเประหว่างความขี้เล่นและความอนุรักษ์นิยม แต่สำหรับรถรุ่นใหม่ มันดูทันสมัย สปอร์ต มีความเป็นวัยรุ่นชัดเจน พวงมาลัยทรง D-shape ท้ายตัด อาจจะไม่ใช่ของแปลก เพราะใช้ใน Nissan Note มาแล้ว แต่ก็ช่วยให้มีฟีลรถซิ่งเกิดขึ้นบางๆ ปุ่มควบคุม จอต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานง่ายเกือบหมด แผงบังแดดทั้งสองฟาก มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิด แค่ยังไม่มีไฟส่องให้ ส่วนไฟในเก๋งรถ ก็มีทั้งตอนหน้า และตอนกลางรถ
ผมว่า Nissan คิดถูกที่เอาวัสดุนุ่มสีขาวอมครีมมาแซมเป็นแผงยาวซ้ายจรดขวา รองรับพื้นที่ติดตั้งจอกลางได้อย่างเหมาะเจาะ ช่วยให้ดูไม่น่าเบื่อ เรื่องพลาสติกภายใน คงเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วถ้าคิดจะคุมต้นทุน ผมว่า Honda ก็ไม่ได้มีพลาสติกที่ดีไปกว่านี้ และทั้ง Nissan และ Honda ก็ไม่ได้มีดีไซน์และวัสดุที่ดีเท่า Mazda อย่างไรก็ตาม จุดที่ผมรู้สึกไม่ชอบคือวัสดุหนังที่ใช้หุ้มพวงมาลัยใน Almera นั้น..มันเป็นหนังแบบที่ไม่มีความพรีเมียมเลย แข็ง สากมือ ยิ่งบริเวณที่กำพวงมาลัยแถวนิ้วโป้ง พอขับนานๆรู้สึกระคายง่ามนิ้ว คือถ้าจะให้หนังแบบนี้ เอาพวงมาลัยยูรีเธนมาเถอะ
เมื่อมองจากตำแหน่งคนขับ สวิตช์เปิด/ปิดระบบ Auto Start/Stop จะอยู่ที่ชุดสวิตช์ใต้ช่องแอร์ขวา ไม่ต้องมองหาปุ่มเปิด/ปิดระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวนะครับ เพราะต้องไปปิดจากจอ MID บนหน้าปัดในหมวด Settings เท่านั้น (จริงๆมีเบ้าสวิตช์ปล่อยว่างตั้งเยอะ น่าจะทำเป็นสวิตช์แยกออกมามากกว่า) ก้านพวงมาลัยด้านขวาดูโล่งๆเพราะขาด Cruise Control ไป ส่วนก้านด้านซ้าย เอาไว้ควบคุมเครื่องเสียง และจอ MID บนหน้าปัด
ปุ่มสตาร์ท ย้ายจากบนแดชบอร์ด มาอยู่บริเวณคันเกียร์ มีปุ่มสำหรับปลด Shift Lock ให้สามารถจอดรถใส่เกียร์ว่างแล้วล็อครถได้ เผื่อต้องจอดขวางคันอื่นในห้าง ที่ไม่เข้าใจคือ สวิตช์สำหรับโหมด SPORT นั้นจากเดิมที่อยู่ข้างขวาคันเกียร์ก็ดีอยู่แล้ว กลับย้ายมาข้างหลังคันเกียร์ ซึ่งตอนแรกผมมองไม่เห็นด้วยซ้ำ และเวลากดใช้จริงก็กดไม่ง่ายเหมือนของรุ่นเก่า
บริเวณเหนือคันเกียร์ มีช่องสำหรับ Power Outlet 1 ช่อง และช่อง USB ที่จ่ายไฟ และรับ/ส่งข้อมูลได้ 1 ช่อง สำหรับไว้เสียบกับ iPhone เพื่อต่อเข้าระบบ Nissan CONNECT ได้ ส่วนบริเวณที่เท้าแขน เมื่อเปิดออก จะมีช่อง USB อีกหนึ่งช่อง ซึ่งจ่ายไฟเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรับส่งข้อมูลได้ ดังนั้นถ้าจะเล่นเพลงจาก USB Drive ให้เสียบที่ช่องข้างหน้าเท่านั้นครับ
ในภาพรวม ถ้ามองความสวย มันเป็นห้องพลขับที่สวยกว่า City แต่สังเกตว่า City จะออกแบบไว้เผื่อการใช้งาน มีช่องวางแก้ว ช่องวางมือถือ มี USB ให้สองช่องที่ด้านหน้าเลย ทำให้รู้สึกว่าแม้จะโบราณในหน้าตา แต่ก็ User-friendly กว่า
ชุดเครื่องเสียง เป็นจอทัชสกรีนขนาด 8 นิ้ว หน้าตาดูไฮโซกว่าของ Honda แต่ความสามารถจริงไม่ได้ต่างกันมากเท่าไหร่ มี Nissan CONNECT ให้ต่อใช้ เปิด Google Map เอามาเป็นระบบนำทางได้ แต่ Honda จะชนะตรงที่มีการติดตั้งระบบสื่อสารเข้าไปในตัวรถ แล้วสามารถสั่งการผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ (Honda CONNECT) ทำให้ดูสถานะของรถได้ สั่งสตาร์ทรถเปิดแอร์รอได้ ซึ่งของ Nissan ยังไม่สามารถทำได้
ส่วนเครื่องเสียงนั้น ของ Almera รุ่น VL นี้ จะมี 6 ลำโพงพร้อมทวีตเตอร์ที่มุมประตู ในขณะที่ Honda City RS จะมี 8 ลำโพง +ทวีตเตอร์ที่ประตู ดูแล้วเหมือน Honda จะได้เปรียบ แต่พอลองเปิดฟังจริงๆ กลับได้คุณภาพเสียงไม่ต่างกันมากอย่างที่คิด คืออยู่ในระดับที่คนทั่วไปฟังเพลง That’s what I like แล้วเปิดดังระดับหนึ่งเอามันส์ได้ คุณจะรู้สึกว่าเบสจะมาแนวบวมหน่อย แต่เทียบกับเครื่องเสียงใน Tiida ของผม ใน Note หรือ Almera รุ่นที่แล้ว ผมว่ามันได้มิติเสียง และมีความใสเพิ่มขึ้นเยอะ เสียงส่วนมากจะเป็นผลงานของลำโพงหน้า ชนิดที่ต่อให้ปรับเสียงออกด้านหน้า 80% ก็ไม่ต่างจาก 50% ส่วน Honda นั้น เสียงจากลำโพงหลังและรอบคันจะมีบทบาทเท่าเทียมกันมากกว่า
สิ่งที่ Nissan ชนะ Honda ก็คงจะเป็นระบบกล้องรอบคัน 360 องศา ซึ่งนอกจากจะทำงานตอนถอยหลังแล้ว เวลาวิ่งในซอยแคบๆ ความเร็วต่ำ คุณจะกดปุ่ม CAMERA เพื่อช่วยเล็งให้รถเลี้ยวพ้นจุดต่างๆก็ได้ นี่เป็นจุดหนึ่งที่ Nissan ปรับปรุงมาจากของ Note เพราะใน Note นั้นจะเอาฟังก์ชั่นนี้ไปอยู่บนกระจกมองหลัง ทำให้จอมันเล็กจนดูยาก ใน Almera นี้ ทางวิศวกรจึงเลือกแสดงผล ผ่านทางจอกลางแทน ส่วนระบบปรับอากาศเป็นแบบ AUTO แต่ไม่มีฮีทเตอร์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของรถระดับนี้
ส่วนที่ชอบมากคือหน้าปัด ถึงแม้จะดูครึ่งๆกลางๆ จะเป็นจอสีทั้งจอเลยก็ไม่ทำ แต่พอใช้งานจริงๆ มันอ่านค่าได้ง่ายไม่แพ้หน้าปัดของ City เลย การขยับตัวของเข็มความเร็วหรือวัดรอบ สังเกตได้ง่ายแม้ชำเลืองด้วยหางตา หรือจะมองล่างแบบกิ๊กสุวัจนีก็คงยังเห็น ในความง่ายนี้ ก็ยังผสานลูกเล่นเอาไว้ล่อใจวัยรุ่นด้วยการที่สามารถปรับการแสดงผลของฝั่งจอ MID 7 นิ้วได้ ภาพข้างบนนี้ ผมไม่ได้เอามาให้ดูหมดทุกจอนะครับ
ถ้าจะให้เสนอปรับอะไรเพิ่ม ..ก็คงเป็นเรื่องการใช้พื้นที่ให้คุ้ม อาจจะต้องไปปรับตัวโปรแกรมคุมจอ เช่น คุณสามารถดูวัดรอบได้ คุณสามารถดูอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นได้ แต่มันควรจะมีวิธีที่สามารถดูสองอย่างนี้พร้อมกันได้ หรือถ้าอยากดูความเร็วแบบดิจิตอล และให้โชว์มาตรวัดรอบด้วย ก็ควรจะทำได้ ไม่ส่งผลเรื่องต้นทุน เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ รถมันมีข้อมูลอยู่แล้ว แค่หาวิธีดีไซน์หน้าจอให้สามารถแสดงผลร่วมกันได้ก็พอ
****รายละเอียดทางวิศวกรรม****
Nissan Almera/Versa ในตลาดโลก จะมีเครื่องยนต์หลัก 3 พิกัด อย่างในอเมริกา บอดี้ Versa จะใช้เครื่องยนต์ HR16DE 1.6 ลิตร 122 แรงม้า ซึ่งเครื่องยนต์รุ่นนี้ก็มีให้เลือกในยุโรป ถัดมาคือเครื่องยนต์ HR15DE 1.5 ลิตร ไม่ทราบจำนวนแรงม้า แต่มีขายเฉพาะในบางประเทศเช่นกัน ส่วนเครื่องยนต์ขนาด 1.0 ลิตร ก็มีทั้งบล็อค HR10 เทอร์โบ แบบหัวฉีดตรง Direct Injection และหัวฉีดธรรมดา Port Injection แรงม้าอยู่ระหว่าง 100-117 แรงม้า
สำหรับเครื่องยนต์ของรถเวอร์ชั่นไทยนั้น เป็นเครื่องยนต์ HRA0 (เอ็ช-อาร์-เอ-ศูนย์) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ HR10DET ที่ถูกนำมาปรับแต่ง ECU และระบบการทำงานของเครื่องยนต์เพื่อให้สามารถลดมลภาวะ รับสิทธิ์ Eco Car PHASE 2 บ้านเราได้
ตัวเครื่องยนต์ เป็นแบบเบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 999 ซี.ซี. ขนาดปากกระบอกสูบ x ช่วงชัก เท่ากับ 72.2 x 81.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 (ในโบรชัวร์มีการระบุกำลังอัดในลักษณะ +/- 0.2 ด้วย) หัวฉีดธรรมดา (Port Injection) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VTC เฉพาะฝั่งไอดี พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ของ Borg-Warner
HRA0 มีกำลังสูงสุด 100 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 152 นิวตันเมตร (15.5 กก.ม.) ที่ 2,400 – 4,000 รอบ/นาที รองรับเชื้อเพลิง E20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 100 กรัม/กิโลเมตร ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 5 กำหนดให้ใช้น้ำมันเครื่อง 0W-20 และระยะเปลี่ยนถ่ายตามกำหนดอยู่ที่ทุก 7,000 กิโลเมตร (Almera 1.2 เดิม อยู่ที่ 10,000 กิโลเมตร)
ตัวเครื่องยนต์นั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่มีเทคโนโลยีอะไรต้องพูดถึง มันคือเครื่องยนต์เทอร์โบธรรมดาเครื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าเทียบกับเครื่องยนต์ P10A6 ของ Honda City แล้ว แม้จะเป็นเครื่องยนต์ 3 สูบ เทอร์โบ มัลติวาล์ว มีเวสต์เกตเทอร์โบที่ควบคุมด้วยไฟฟ้าเหมือนกัน แต่มันมีจุดอื่นที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น
- Honda เลือกใช้ หัวฉีด Direct Injection ที่ต้นทุนสูงกว่า แต่เผาไหม้หมดจดและควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงสัมพันธ์กับภารกรรมองเครื่องยนต์ได้แม่นยำกว่า
- Honda มีระบบแปรผันองศาแท่งเพลาลูกเบี้ยวทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย อีกทั้งยังมีระบบแปรผันระยะยกวาล์วฝั่งไอดี ส่วน Nissan มีแค่ระบบแปรผันองศาเพลาลูกเบี้ยว และมีเฉพาะที่ฝั่งไอดี
- แม้แต่อินเตอร์คูลเลอร์ก็ต่าง ของ Honda ใช้อินเตอร์คูลเลอร์ระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งซับซ้อนกว่า มีจุดต้องดูแลเยอะขึ้น เช่นท่อส่งน้ำ ปั๊มน้ำ หม้อน้ำอินเตอร์ฯ รวมถึงท่อส่งอากาศ แต่ Honda เชื่อว่าระบายความร้อนได้ดีกว่า ถ้าเจอรถติด
- ส่วน Nissan ใช้อินเตอร์คูลเลอร์ระบายความร้อนด้วยลมตีหน้ารถ เหมือนรถเทอร์โบทั่วไป ซึ่งในแง่การบำรุงรักษา มีจุดที่ต้องดูแล และค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
เห็นได้ชัดว่า Nissan ตัดสินใจเลือกที่จะใช้เครื่องยนต์แบบพื้นๆที่สุด เพื่อคุมต้นทุนการผลิต ในขณะที่ Honda ขายเทคโนโลยีขับเคลื่อนเป็นจุดเด่น เป็นที่มาของการทำให้ Nissan สามารถตั้งราคารถได้ต่ำกว่า Honda มากทั้งที่พื้นฐานส่วนต่างๆของตัวรถมีความสูสีกัน เป็นการสร้างจุดขายบนความแตกต่าง อาจจะเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าคนที่ซื้อ Almera ไม่ใช่คนหิวม้า และวัยรุ่นที่ชอบม้า ก็มักจะมอง Honda มากกว่า Nissan อยู่แล้ว
ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ XTRONIC CVT ไม่มี Paddleshift มาให้ และไม่มีฟังก์ชั่นเกียร์ +/- (Manual shifting) มาให้ มีแค่ปุ่มกดเข้าโหมด SPORT ที่ด้านหลังหัวเกียร์ และมีเกียร์ L เอาไว้สำหรับขับบนเส้นทางภูเขาชัน เท่านั้น
- อัตราทดพูลเลย์ ตั้งเอาไว้ที่ 4.0062-0.4580
- อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 3.7708
- เฟืองท้าย อัตราทด 3.9247
รหัส RE0F11B ซึ่งเป็นเกียร์ลูกเดิมบางส่วน (ของเดิมใน NOTE เป็นรหัส RE0F11A) สร้างโดย JATCO เจ้าเก่า แต่ถูกเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่หลายส่วนภายใน รวมถึงพูลเลย์ ถ้วย ชุดสายพาน เพื่อให้รับกับพลังที่เพิ่มขึ้นของเครื่องยนต์ ใช้น้ำมันเกียร์ NS-3 เหมือนรุ่นเดิมก่อนปลดระวาง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งโปรแกรมเกียร์ ให้มีการไล่รอบคล้ายรถเกียร์อัตโนมัติปกติ (D-Step) เมื่อกดคันเร่งหนัก เช่นเดียวกับใน Nissan NOTE
ช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สัน สตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบคานบิด ทอร์ชั่นบีม พร้อมเหล็กกันโคลง ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนียน พร้อมระบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS
Nissan พยายามปรับจูนช่วงล่างและการตอบสนองเท่าที่จะสามารถทำได้บนโครงสร้างพื้นฐานตัวถัง ที่ยังเป็น V-Platform อยู่ ก็นับว่ามาแนวเดียวกับ Honda ที่เซฟต้นทุนด้านการวิจัยโครงสร้างตัวถังโดยการนำของเดิมมาพัฒนาต่อ ซึ่งที่ผ่านมา V-Platform นี่ก็ไม่ได้จัดว่าแย่ เพียงแค่จะต้องการทำรถให้ถูกใจใคร อย่าง Almera ตัวเก่า เอาใจผู้ใหญ่ จึงมีความย้วยนุ่มเหลืออยู่ แต่ Note จะเน้นช่วงล่างแข็ง พวงมาลัยไว เอาใจวัยรุ่น จึงทำให้การขับขี่ต่างกันมากทั้งที่โครงสร้างทางวิศวกรรมส่วนใหญ่เหมือนกัน
ระบบเบรก ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก มีร่องระบายความร้อนขอบจาน ส่วนด้านหลัง เป็นดรัมเบรกเหมือนรุ่นที่แล้ว ซึ่งก็ไม่แปลกไปจากเพื่อนร่วมรุ่น ส่วนมากก็ยังใช้ดรัมเบรกหลัง บางเจ้าเคยมีดิสก์หลัง แล้วก็เลิก หันกลับมาใช้ดรัมเบรกเหมือนเดิม
ระบบความปลอดภัย Intelligent Safety
แม้จะไม่มีอะไรเด่นในเชิงวิศวกรรมการขับเคลื่อน แต่ก็ชดเชยด้วยฟังก์ชั่นความปลอดภัยเชิงป้องกัน ถือเป็นจุดเด่นของ Almera ซึ่งบางอย่างก็เป็นการปรับไปตามกฎของ Eco Car PHASE 2
- มีระบบเบรก ABS, EBD, ระบบควบคุมการทรงตัว VDC และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน “ทุกรุ่นย่อย”
- ถุงลมนิรภัย มีเฉพาะคู่หน้า เกือบทุกรุ่น ยกเว้นรุ่น VL ตัวท้อป มี 6 ใบ
- ระบบเตือนก่อนชนด้านหน้า Intelligent Forward Collision Warning และระบบเบรกฉุกเฉิน Intelligent Emergency Braking มีในรุ่น EL, V และ VL (ทำงานที่ความเร็ว 5 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป)
- ระบบกล้อง 360 องศา Intelligent Around View Monitor และระบบตรวจวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน มีในรุ่น V และ VL
- ระบบเตือนรถในจุดอับกระจกมองข้าง Blind Spot Warning System และระบบตรวจจับวัตถุด้านหลังรถ Rear Cross Traffic Alert มีเฉพาะใน VL รุ่นท้อป
ซึ่งบรรดาระบบเตือนและระบบเบรกอัตโนมัติต่างๆนั้น Honda และ Toyota ดูเหมือนจะไม่ค่อยเน้น มีแต่รถอินดี้อย่าง Mazda 2 ที่มีกล้องรอบคัน ระบบเตือนรถในจุดบอดมาให้ แต่ก็มีเฉพาะในรุ่น 1.3 SP ที่ราคา 690,000 บาท ส่วนรถที่ถูกกว่า Almera และอุปกรณ์ Advance Safety มีมาให้ไม่น่าเกลียดคือ Mitsubishi Attrage GLS-LTD ซึ่งอย่างน้อยก็มีระบบเตือนชนรถคันหน้าและระบบชะลอความเร็วมาให้ในราคา 624,000 บาท
****การทดลองขับ****
ในทริปนี้ ทาง Nissan ให้เราขับจากโรงแรม Pullman หาดในทอน ไปถึงเขาหลัก จังหวัดพังงา ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 250 กิโลเมตร สภาพเส้นทาง ถือว่าค่อนข้างเหมาะกับการทดสอบรถ คล้ายกับการวิ่งที่เชียงราย คือมีทั้งสภาพรถติดในตัวเมือง เลี้ยวตามตรอกทางซอยแคบ การวิ่งบนถนนที่สภาพยังไม่ค่อยดี รวมถึงทางหลวงข้ามจังหวัด และทางโค้ง แต่สิ่งที่ต่างจากเส้นทางเชียงราย ที่เราใช้ในการลองขับ Honda City คือ ไม่มีทางตรงยาวให้ยิง Top Speed มากเท่า และช่วงเส้นทางที่เป็นถนนภูเขา ไม่ชันโหดเท่าภาคเหนือ แต่ถ้าเป็นเรื่องโค้ง ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ครั้งนี้ ผมขับรถสีขาว 1.0 TURBO VL หมายเลข 7 คู่กับน้องโค้ก พีรพัฒน์ สื่อสายรถยนต์หนุ่มไฟแรงที่บังเอิญคุยกับผมรู้เรื่อง เพราะดันเป็นโอตาคุยานยนต์สายลุยงานจับมือ BNK48 เหมือนกัน (เกี่ยวกับงานตรงไหนวะ.แต่ช่างเถอะ) น้องโค้กตัวสั้นกว่าพี่ริชาร์ด ลอย แต่ล่ำกว่า น้ำหนักตัวใกล้เคียงกัน ซึ่งดีแล้ว เพราะผมพยายามคุมน้ำหนักบรรทุกของรถให้ใกล้เคียงกับตอนขับ City มากที่สุด
หลายคนคงอยากทราบเรื่องอัตราเร่งก่อน เพราะ Nissan Almera รุ่นที่แล้วสร้างชื่อเอาไว้ว่าอัตราเร่งชวนให้คิกดาวน์แล้วกินเครปป้าเฉื่อย แล้วยังไม่พอ บางคนก็ชอบเอาไปขับเลนขวาชมนกชมไม้ พวกนี้น่าจับไปตีก้นโทษฐานทำให้คนอื่นที่เขาขับ Almera แบบนิสัยดีอีก 95% ต้องถูกมองในแง่ลบไปด้วย แต่สำหรับคนที่ชีวิตต้องเลือกรถระดับอีโคคาร์ แล้วรู้สึกจำเป็นต้องใช้อัตราเร่งแซงเพื่อเดินทางต่างจังหวัด อันเป็นสิ่งที่อีโคคาร์ของ Nissan ไม่เคยตอบโจทย์ วันนี้คุณคงรู้สึกมีทางเลือกมากขึ้น
ตัวเลขอัตราเร่ง (ทำภายใต้น้ำหนักบรรทุกสูงกว่า และอุณหภูมิสูงกว่ามาตรฐานปกติของ Headlightmag)
0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เกียร์ D – 13.5-13.7 วินาที
เกียร์ D + SPORT – 12.7-12.8 วินาที
80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เกียร์ D – 9.3-9.5 วินาที
เกียร์ D + SPORT – 8.6-8.9 วินาที
ผมให้ค่าเป็นตัวเลข Range เนื่องจากเส้นทาง มีส่วนที่เรียบราบและส่วนที่เป็นเขา จึงต้องทำซ้ำหลายที่หลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่า ถ้าตัวเลขดีไม่ใช่ผลจากความลาดชัน ความเร็วสูงสุดที่ลองทำได้ขณะขับในทริปนี้คือ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ทางหมดก่อน อย่างไรก็ตามหลังกลับมากรุงเทพ ผมได้มีโอกาสนำ Almera ที่คนรู้จักเพิ่งรับรถมาไปลองขับอีกรอบ ก็ได้อัตราเร่งใกล้เคียงกับที่ทดสอบในทริป และได้ความเร็วสูงสุด 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง
พูดง่ายๆคือ ถ้าไปเทียบกับ City 1.0 TURBO โดนเขากินรวบแน่นอนครับ ไม่ต้องสืบ..City น่ะต่อให้ใส่เกียร์ D ธรรมดาๆแล้ว Almera กดโหมด SPORT แล้วก็เหอะ Honda ยินยอมที่จะถ่ายพลังดีดออกตัวเร็วกว่าในขณะที่ Almera เหมือนยังรูดซิปไม่ขึ้น ความลื่นไหลของพละกำลังก็คนละเรื่อง ใน City ผมรู้สึกว่า 170 กิโลเมตร/ชั่วโมงนี่มาง่าย เมื่อไหร่ก็ได้ แต่สำหรับ Almera ต้องใช้เวลานานกว่าชัดเจน
แต่อย่าเพิ่งมองว่า Almera แย่นะครับ ถ้าคุณเพิ่งลงจาก Almera รุ่นเก่าหรือ Note แล้วมากระทืบคันเร่งเจ้ารุ่นใหม่ คุณจะหัวเราะเป็นไอ้บ้าแน่นอน เพราะถ้าไม่นับช่วงออกตัวที่ดูอมๆอายๆแล้ว อัตราเร่งช่วงอื่น เทียบได้กับรถเครื่อง 1.5 ลิตรไม่มีเทอร์โบ ซึ่งไอ้รถพวกนี้น่ะ พวกเราก็ขับกันไปรอบประเทศ วิ่งเที่ยวปายเที่ยวแม่ฮ่องสอนกันไม่มีใครกลัวว่ากำลังจะไม่พอ ผมเคยลองจับอัตราเร่ง Honda City โฉมก่อนที่เป็นรุ่น 1.5 CVT และ 1.5 เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ภายใต้เงื่อนไขน้ำหนักบรรทุกใกล้เคียงกัน วิ่งกลางวันเหมือนกัน 0-100 ก็เกิน 13 วิทั้งนั้นครับ
ดังนั้น วันนี้ Almera ใหม่กับขุมพลัง 1.0 ลิตรเทอร์โบ จึงพร้อมให้คุณเรียกพลังได้ ไม่เหงื่อตกกีบอีกต่อไป คุณเคยขับ Vios 1.5, City 1.5 ได้ คุณก็มั่นใจใน Almera ใหม่ได้ อีโคคาร์ 4 ประตูคันอื่น ไม่มีอะไรเร็วเท่า Almera ยกเว้น City ซึ่งแรงประหนึ่งเอาเครื่อง 1.8 ลิตรมาวาง
ส่วนในการขับแบบวิสัยคนปกติที่ไม่เน้นขยี้ พละกำลังจากเครื่องยนต์ ก็ถือว่าพอเพียงครับ ที่แปลกคือตอนออกตัว จมคันเร่งออก กับออกตัวแบบปกติดูจะไม่ต่างกันมากเท่าไหร่ ผมขับลัดเลาะไปตามตัวเมือง แตะคันเร่งไม่ต้องเยอะรถก็พุ่งอย่างมีแรง ออกจะเอาเรื่องด้วยซ้ำ แต่ดูอาการก็รู้ล่ะว่าเป็นที่การเซ็ตคันเร่ง การทำงานของเกียร์ ไม่มีอะไรที่ต้องให้ด่า ถ้าคุณคุ้นเคยกับรถ CVT โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CVT จากตระกูล JATCO
ช่วงขึ้นเนินเขา ถ้าไม่ใช้โหมด SPORT ล่ะก็ เกียร์จะมีอาการพยายามคารอบต่ำ น่ารำคาญคล้ายกันกับ City ซึ่งคุณจะกดโหมด SPORT เพื่อช่วยเด้งรอบจากแถวๆ 1800 ขึ้นมาอยู่แถว 3000 ก็ได้ มันจะขับขึ้นเขาได้คล่องมาก เจอทางชัน เหยียบคันเร่งครึ่งเดียวรถยังทำความเร็วขึ้นเนินได้ แต่ไม่ถึงกับ “บิน” ไต่เขาอย่างรุนแรงเอาเรื่องแบบ Honda City
การไม่มี Paddle Shift หรือโหมด +/- ใดๆให้เล่น ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ขับบนเขาไม่สนุก แต่ถ้าคุณมองในแง่ความปลอดภัย ก็ไม่ต้องห่วงครับ เพราะตอนวิ่งขาขึ้น คุณใช้เกียร์ D+SPORT ก็เหลือเฟือแล้ว ส่วนขาลงทางชัน ผมลองดึงเกียร์ลงมา L และประหลาดใจมากกับแรงหน่วง (Engine Brake) ขาลง เรียกว่าปล่อยคันเร่งหมดแล้วกะว่าจะให้มันไหลลงไปเรื่อยๆ ปรากฏว่ามันหน่วงจนความเร็วลด จากโคนเนินทางลง วิ่งอยู่ 63 พอปลายเนินลงมาเหลือ 55 ผมถือว่าเพียงพอให้คุณคุมความเร็วขณะขับบนเขาได้อย่างปลอดภัย Honda City น่ะ ถ้าไม่ใช่รุ่น RS ที่มี Paddle Shift ล่ะก็ ขับบนเขามีเสียวนะครับ เพราะไม่มีเกียร์ L มีแต่ S แล้วลำพังแค่ดึง S แรงหน่วงขาลงก็อ่อนมาก
ดังนั้นเวลามีการขับเคลื่อน เครื่อง HRA0 กับเกียร์ XTRONIC ทำงานได้ดีครับ แต่ยังมีจุดที่ไม่เนี๊ยบ ก็คือเวลาที่หยุดกับที่ กับช่วงที่ใกล้จะหยุด
คือการเซ็ตคันเร่งน่ะ ผมว่ามันออกจะเหมือนรถ CVT ยุคเก่าอยู่บ้าง บางทีกดไปก็เอื่อย กดลงอีกนิดเดียวคราวนี้พุ่งเลยป้าย มีความคันเร่งหัวร้อนของ Vios ปี 2007 ปนอยู่ ไม่ได้นิสัยว่าง่าย ไปตามคันเร่งตามสั่งแบบ Honda รวมถึงอาการยึกยักเวลาวิ่งที่ความเร็วประมาณคนเดินเร็วๆ ก็ยังมีให้เห็นมากกว่า Honda
แต่ที่ไม่ชอบเลยคือรอบเดินเบาเวลาใส่เกียร์ D แล้วเหยียบเบรกรอตอนรถติด…ทำไมมันสั่นขนาดนั้น สั่นเหมือน Suzuki Swift ECO ตัวแรกก่อนอัปเฟิร์มแวร์รอบเดินเบา สั่นในแบบที่โอเคนะถ้าเป็น Sunny B14 เก่าๆ แต่นี่รถใหม่ป้ายแดงปี 2019-2020 นะครับ รอบเดินเบาก็ตั้งไว้แถวๆ 750-800 แต่ดันสั่นเหมือน Swift ที่ 600 รอบ ผมว่าถ้าแก้ได้ควรแก้ มันไม่เรียบร้อยครับ เรื่องความสั่นนี่ผมยังไม่ให้ผ่าน มันแย่ลงกว่า Nissan NOTE เสียอีกครับ
ส่วนเรื่องช่วงล่างและการบังคับควบคุม ผลของการที่ Nissan กำหนดสเป็คลมยางมาตรฐานมา 38 PSI ทำให้แม้จะใส่ยาง 195/65 แก้มหนาแล้ว แต่ก็ยังมีความสะเทือนให้รู้สึก และไม่ใช่แค่ยางที่แข็งขึ้นนะครับ ดูเหมือนว่าโช้คอัพและสปริงก็ปรับให้มีบุคลิกสปอร์ตขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อเจอถนนขรุขระ รอยต่อของถนน ถนนที่สภาพปุปะผุพัง หรือแถบปลุกหมาตื่นที่ทาไว้ตามถนนเป็นเส้นต่อๆกันนั้น ความสะเทือนจะเข้ามาถึงห้องโดยสารมากกว่ารถรุ่นเก่าชัดเจน
แต่ถ้าใช้ความเร็วสูงขึ้น สัก 80-90 ขึ้นไป ดูเหมือนจะเป็นระยะโปรดของช่วงล่าง อารมณ์ที่เคยตึงตังก็จะเริ่มลดลง เจอคอสะพานดุๆ ก็ยังรักษาแนวการวิ่งของตัวรถได้ดี ยิ่งถ้าเป็นช่วงกำลังขับหาปั๊มเวลาปวดขี้แล้วต้องอัดแบบไม่ยั้ง Almera ใหม่ตอบสนองคนละเรื่องกับรุ่นเก่าเลยครับ ผมสามารถเปลี่ยนเลนอย่างรุนแรงที่ความเร็ว 140 แล้วยังมีชีวิตรอดมาเขียนบทความนี้ ผมลองอัดโค้งแคบและกว้างขนาดต่างๆกันจนยางร้องหาบุพการี ลองขับทั้งวิ่งตามไลน์ และลองหักเลี้ยวกระทันหันแบบแปลกๆหลายท่า (ที่คนมีสติเขาไม่ทำ) ผมรู้สึกว่า Almera สามารถดูดถนนจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตได้ดีกว่า City RS อาจจะเพราะยางที่กว้างกว่า และระยะแทร็คล้อที่กว้างกว่า และโช้คที่เซ็ตมาแข็งกว่า
นิสัยช่วงล่างต่างกัน.. City จะเริ่มจากนุ่มก่อนแล้วค่อยทวีความแข็งขณะที่ขับแบบจัดยัดหนัก ส่วน Almera เหมือนเกิดมาก็แข็งเตรียมรอไว้หน่อยๆแล้ว อย่างไรก็ตามถ้าคุณเล่นท่า Acrobatic จนยางหมดการยึดเกาะ รถทั้งสองคันก็ไถลหน้าดื้อ ไปจบท่าเดียวกัน ดังนั้น ก็อย่าซัดจนมันหลุดลิมิทแล้วกัน
พวงมาลัย หลายคนบอกว่าเบาโหวง แต่ผมขับแล้วกลับรู้สึกไม่ได้แย่ ที่ความเร็วต่ำมันอาจจะเบา แต่แค่ 60-70 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันจะปรับน้ำหนักกลับมาหนืด ก็คล่องตัวดีในเมือง และวิ่งทางไกลตรงๆ 130-140 ก็ไม่มีปัญหา น้ำหนักต้านมือโดยรวมจะเบากว่า City บ้าง แต่ไม่ถึงกับเกร็ง อย่างไรก็ตาม จุดที่ City ชนะคือตอนสลาลอมหรือหมุนกลับไปมาเวลาเจอโค้งต่อเนื่อง เมื่อหมุนพวงมาลัยออกจากจุดศูนย์กลาง City จะปรับน้ำหนักตามมืออย่างเป็นธรรมชาติ ในขณะที่ Almera เหมือนจะหนืด แต่พอหมุนแล้วจู่ๆก็จะกลายเป็นเบาไปเลย อย่างไรก็ตาม มันยังดีกว่าพวงมาลัยของรุ่นเก่ามาก แต่แรงดีดคืนเวลาปล่อยพวงมาลัยจะไม่เท่า NOTE ครับ
ส่วนแป้นเบรก มีระยะเหยียบสั้นลงกว่ารุ่นเก่า มีน้ำหนักต้านเท้ามากขึ้นนิดหน่อย แต่ควบคุมแรงเบรกได้ง่าย เวลาตกใจแล้วเอาปลายเท้าเหยียบแรงๆ เบรกของ Almera จะชะงักแบบหน้าทิ่มในขณะที่ของ City จะต้องเหยียบรุนแรงจริงจังมากกว่า อันนี้แล้วแต่ชอบครับ เพราะบางท่านชอบเบรกจึ้กๆ ส่วนผมชอบเบรกแบบที่คุมแรงหน่วงได้ง่ายมากกว่า ประสิทธิภาพการเบรก อยู่ในระดับจ่ายกับข้าวทั้งคู่ คือถ้าคิดจะซิ่ง กรุณาอัปเกรดผ้าเบรก บางคนอาจจะรู้สึกว่า Nissan เบรกดีกว่า Honda ผมว่าที่จริงมันมีประสิทธิภาพผ้าเบรกพอกัน แต่เพราะ City มันสามารถไปวิ่งเล่น 170-180 ได้ง่ายกว่า มันเลยมีแนวโน้มอันตรายกว่า ถ้าขับแบบคึกคะนอง
สำหรับการเก็บเสียงของ Almera ใหม่ ผมรู้สึกว่าช่วงพื้นรถ กับห้องเครื่อง ทำได้แน่นหนาดี แม้ว่าตอนคิกดาวน์เสียงเครื่องและความสั่นสะเทือนจะเข้ามามากกว่า Honda ก็ตาม เสียงรบกวนที่มากที่สุด มาจากบริเวณหูช้างกระจกมองข้าง ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง เพราะทำส่วนอื่นมาเงียบ แต่เสียงจากจุดนี้ล่ะ จะเริ่มดังตั้งแต่ 90 และดังมากที่ 130 ซึ่งความซวยอยู่ตรงที่ระนาบของต้นเสียงมันก็ใกล้กับหูคนขับส่วนใหญ่เสียด้วย ดังนั้น เรื่องการเก็บเสียงในภาพรวม ผมจึงยังไม่ประทับใจ คงมีแต่คนที่ขับในเมืองนั่นล่ะถึงจะคิดว่ามันเงียบ
ส่วนเรื่องอัตราสิ้นเปลืองนั้น ตามสไตล์ของ First Impression แบบออกทริปต่างจังหวัด มันไม่มีโอกาสที่เราจะขับไปเติมน้ำมันแล้ววัดค่าอัตราสิ้นเปลืองอยู่แล้ว ต้องอาศัยการสังเกตตัวเลขบนหน้าปัดเอา ซึ่งในช่วงแรกของการขับที่ขาไปที่น้องโค้กเป็นคนซัด เรายังไม่เจอภูเขามากนัก และมีช่วงให้ทดสอบอัตราเร่งแบบพอสมควร โค้กขับ เขาทำได้ 16.5 กิโลเมตร/ลิตร ส่วนผมลองขับขากลับ ช่วงที่เจอเนินเขาแล้วกดคันเร่งแซงรัวๆ มีลงไปแตะ 10 กิโลเมตร/ลิตร แต่พอวิ่งทางราบเข้าหน่อย ตัวเลขก็ดีขึ้น ถ้าขับแบบ 120 คงที่เรื่อยๆ ก็ดีดกลับไปอยู่ 17.5 กิโลเมตรต่อลิตร
แต่อย่าเพิ่งเอาไปเทียบกับ City ที่ผมรีวิวไปสัปดาห์ก่อนเลยครับ เพราะสภาพเส้นทางและความโหดในการกดคันเร่ง ต่างกันมากเกินไป เดี๋ยวคุณจะเข้าใจผิดคิดว่า Almera ประหยัดกว่า อันนี้ ต้องรอการทดสอบตัวเลขจากเจ้าของเว็บดีกว่าครับ
****สรุปการทดลองขับ****
****แรงแบบ 1.5 ในราคาแบบ 1.2 สิ่งที่ได้คุ้มสิ่งที่จ่าย แต่รู้สึกล่ะว่าลดต้นทุนตรงไหน****
Nissan Almera 1.0 TURBO VL ใหม่ ไม่ใช่แค่การเอารถคันเดิมมาปรับเปลี่ยนรูปร่างแล้วยัดเครื่องยนต์ที่มีพลังมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม มันเหมือนกับรถที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ บนกระดาษใบใหม่ แม้โครงสร้างหลักและรูปแบบช่วงล่างจะไม่ได้เปลี่ยนไปมาก แต่การปรับเซ็ตวิธีการตอบสนอง การออกแบบภายนอก/ภายใน และเครื่องยนต์ใหม่ มีส่วนทำให้มันฉีกสิ่งที่เราเคยรู้สึกกับ Almera รุ่นเดิมกระจุยกระจาย
ถ้าสมมติว่าผมกับเพื่อนจะหาเรื่องไปขับรถเล่น จากกรุงเทพไปบ่อเกลือ จังหวัดน่าน แล้วใครสักคนยื่นกุญแจ Almera รุ่นเก่าให้ ผมคงกระโดดถีบเท้าคู่ ไม่ใช่ว่ารถมันไม่ดีนะครับ แต่มันเป็นรถที่สร้างมาสำหรับการขับแบบ Day to Day แอร์เย็น ประหยัดน้ำมัน ไว้ใจได้ และไม่มีอะไรอย่างอื่นให้สนุก แต่ในทางตรงกันข้าม หากใครยื่นกุญแจ Almera รุ่นใหม่มาให้ ผมจะบอกเลยว่า “กูขับเองนะ มึงนอนไปยาวๆเลย”
มันเป็นรถที่มีเรี่ยวแรงตอบสนองเท้าดีพอๆกับรถ 1.5 ลิตรไม่มีเทอร์โบจากสมัยก่อน มีพวงมาลัยที่ไวคล่องมือขึ้น ช่วงล่างอาจยังไม่ถึงกับพร้อมซิ่งเท่า Mazda 2 Sedan แต่ก็มีความแข็งหนึบ ท้ายรถโยนตัวน้อยกว่า Honda ยางและแทร็คล้อที่กว้างช่วยให้เสถียรภาพในโค้งดีพอเอามันส์ได้ มันไม่ใช่รถแบบที่เราจะต้องขับแบบช้าๆเนิบๆแก่ๆอีกต่อไป นี่คือ Almera ที่คุณฉีกออกเลนขวา เร่งแซงได้มั่นๆ และใช้ขับทางไกล ทำทุกธุระยังทุกที่หมายในประเทศได้ตราบใดที่ไม่ใช่ออฟโรด
ที่สำคัญ ในราคา 639,000 บาท อุปกรณ์ที่ให้มานั้น ถือว่าอยู่ระดับแนวหน้าของคลาสในเรื่องความปลอดภัย จำนวนถุงลมอาจจะไม่มากเท่า Yaris ATIV แต่ก็ชดเชยด้วยสารพัดระบบป้องกัน เป็นอีโคคาร์รุ่นเดียวที่มีทั้งระบบเบรกอัตโนมัติ ระบบ Blind Spot และกล้อง 360 องศา รวมอยู่ในคันเดียวในราคาที่โคตรถูกเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ Mazda 2 1.3SP มีระบบความปลอดภัยที่เกือบเท่ากัน แต่ราคา 690,000 และเรี่ยวแรงยังห่างชั้นกับ Almera มาก
รูปทรงสวย ดูไม่น่าเบื่อ เรี่ยวแรงไหว้วานได้จริง ไม่ต้องมโนช่วย ช่วงล่างไว้ใจได้ วิ่ง 140 ทางไกลๆไม่ฉี่เหนียว ราคาดี เปิด Price list ให้เมียดูแล้วเมียยิ้ม..คุณต้องการอะไรมากกว่านี้อีกมั้ยครับ?
การตัดสินใจของ Nissan ที่จะกดราคา Almera จนต่างจากรุ่นเดิมแค่หลักพัน ดูเหมือนจะถูกต้องแล้ว เพราะค่าตัวเทียบกับสิ่งที่ได้ กลายเป็นจุดเด่นของ Almera อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตาม หลักฐานของการพยายามลดต้นทุน ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่ทั่วไป แค่เปิดห้องเครื่องยนต์มา เห็นวิธีการเก็บงานที่ดูเหมือนออดพักมื้อกลางวันจะดังที่โรงงานระหว่างการทำสี แล้วจู่ๆทุกคนก็คิดว่า “ไปแดรกข้าวกันเถอะ” ทิ้งการเก็บรายละเอียดทั้งขอบคาน การลงสี และสายไฟเอาไว้แบบลวกๆ หรือแค่ลองปิดประตูหน้ากับหลังแล้วสัมผัสความกลวงที่แตกต่างกันคนละขั้ว คุณก็จะเริ่มเข้าใจ
นอกจากนี้ แม้ขุมพลังขับเคลื่อนจะ RE-POSITION ตัวรถจากรถประสงค์สันติ เป็นตัวจี๊ดอันดับสองของกลุ่ม แต่ REFINEMENT หรืออุปนิสัยความเรียบร้อยของเครื่องยนต์นั้น ยังต้องปรับปรุง รอบเดินเบาสั่น ยิ่งใส่เกียร์ D เหยียบเบรก สั่นเหมือน Swift ECO ล็อตแรก สั่นเหมือนรถเก่า สะท้านไปทั้งคัน เรื่องนี้ผมอยากให้แก้ และมันสำคัญต่อความประทับใจในการขับ สำคัญกว่าเรื่องการเก็บงานสายไฟงานสีในห้องเครื่องเสียอีก
ส่วนเรื่องอื่นล่ะ? คอนโซลกลางที่ยกตัวขึ้นมาเบียดเข่าซ้ายของคนขับ ควรไปแก้ตอนไมเนอร์เชนจ์ เพราะแม้จะดูแล้วสปอร์ตดี แต่มันขโมยที่แหกแข้งขาไป 1-2 นิ้ว ซึ่งแผงกระจกไฟฟ้าทางขวาก็เบียดเกินความจำเป็นเช่นกัน กลายเป็นว่า รถทำมาซะกว้างแต่นั่งแล้วกลับไม่สบายเท่ารุ่นเก่า พอขับนานๆเข้าผมเริ่มคิดละว่า ถ้าจะโดนบีบอัดขนาดนี้ ให้ไปขับ Mazda 2 ก็คงไม่ต่าง
เบาะนั่งตอนหลัง ถ้าบอกว่าสบายกว่ารุ่นเก่า ผมคงไม่เชื่อ เพราะนั่งเบาะหลังรุ่นเก่ามาบ่อยมาก เวลานั่งหลังตรง ผมรู้สึกว่ารุ่นใหม่ต้องเอียงคอหลบหลังคามากกว่า เนื้อที่วางขา ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่คิด อย่างดีก็แค่นิ้วเดียว แต่ในภาพรวม ก็ถือว่ายังอยู่ระดับกลางค่อนบนของคลาส ถ้าให้เลือกนั่งเบาะหลังทางไกลๆ Almera สำหรับผมก็ยังดีกว่า Mazda 2 และ Yaris ATIV แต่อาจจะไม่ดีเท่า Suzki Ciaz และ Honda City
ดังนั้น ภาพรวมของตลาดรถ Eco car ซีดาน (ซึ่งผมจะรวม City เข้าไปด้วย เพราะมันก็เห็นๆอยู่ว่า City รับเรตสรรพสามิตอีโคคาร์ คนอื่นจะไม่รวม..ผมแล้วแต่ครับ) ในขณะนี้ หากต้องสรุปบุคลิก จุดเด่นจุดด้อยของรถแต่ละคันเป็นบรรทัดสั้นๆ ก็สามารถทำได้ดังนี้
NISSAN ALMERA VL TURBO – แรงใช้ได้ไม่เหนื่อยจิต ของเล่นติดรถมีให้เยอะพอ ช่วงล่างสะเทือนหน่อยแต่ก็แลกกับความมั่นใจ ภายในมีพื้นที่ระดับกลางๆของกลุ่ม ซึ่งจะดีกว่านี้ถ้าแก้ไขเพียงเล็กน้อย แต่เดินเบาสั่น การเก็บงานไม่เรียบร้อย เหมาะกับคนที่ซื้อรถมาเพื่อใช้ ไม่ใช่คนที่ชอบจับผิดรถ หรือเหมาะกับสุภาพสตรีที่ชอบรถทรงสวย ดูไม่แก่ และมีระบบความปลอดภัยดี ได้ข้อแลกเปลี่ยนเป็นความคุ้มค่าเรื่องราคาที่ดูเหมือนจ่ายน้อย แต่ได้กลับมาเยอะ
HONDA CITY TURBO RS – เทพที่สุดในเรื่องความแรง ขับแบบปกติก็เรียบร้อย มีความนุ่มนวลเหลือให้สัมผัส จะซัดบ้างก็พอได้ ภายในกว้างและมีพื้นที่ให้เอ็นจอยเยอะที่สุด พวงมาลัยหนักแบบที่ผู้ชายชอบ คาแร็คเตอร์ของรถ เหมือนมันจะคอยพูดว่า “โมฯกูสิ แต่งกูสิ” อุปกรณ์ประเภทลูกเล่นความเท่มีให้ แต่อุปกรณ์ขั้น Advance เรื่องความปลอดภัยยังต้องเพิ่มอีกหน่อย ดังนั้น จึงเหมาะกับวัยรุ่น วัยแรง ชอบแต่งรถ หรือคนทั่วไปที่อยากได้รถนั่งสบาย
MAZDA 2 – เจ๋งกว่าใครเรื่องช่วงล่าง เดิมๆก็ลงสนามได้สนุกประมาณหนึ่ง แล้วยังไม่สะเทือนกรวดมากเท่า Almera รถเบา เบรกดี ภายในดีไซน์สวย วัสดุภายในหลายจุด ดีกว่าคู่แข่ง แต่เป็นรถเอาใจคนผอม ไม่ปราณีเรื่องพื้นที่ภายใน อยากบอกโลกว่าคุณผอม จงเลือก Mazda รุ่นดีเซล การตอบสนองไม่คม แต่พอมาแล้วเรี่ยวแรงดี แรงบิดเยอะ ไต่เขาชันสบาย รุ่นเบนซิน ตอบสนองคม แต่แรงเหมือนขาดสารอาหาร และเรื่องปัญหาต่างๆที่มีตลอดตั้งแต่จำหน่ายมา ก็พาให้เสียวอยู่ถ้าคิดจะซื้อ
TOYOTA YARIS ATIV – คือถ้าไม่นับว่าพรีเซนเตอร์น่ารักที่สุดในโลก เรื่องอื่นๆมันจะไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจน ช่วงล่างไม่แย่ ไม่สะเทือนแบบ Almera แต่ไม่ได้จูนมาเน้นขับสนุก เรี่ยวแรงตอนออกตัวเหมือนปลุกคนแก่มากินยา แต่พอออกตัวไปแล้ว ที่เหลือก็พอๆกับ Mazda เนื้อที่ภายในไม่เยอะแบบ Honda แต่อย่างน้อยวัสดุการประกอบก็ดูไม่ลดต้นทุนแบบสุดๆ จำนวนรถที่มีปัญหาถือว่าน้อย เป็นรถทนมือทนเท้า เหมาะกับคนที่ไม่เน้นแรง แต่เน้นใช้งานยาวแบบขี้เกียจลุ้น
SUZUKI CIAZ RS – หน้าตาหล่อพันปี ช่วงล่างบาลานซ์มาดีระหว่างความนุ่มกับความเกาะ พวงมาลัยไม่น่ารักเหมือน Suzuki รุ่นอื่น เฉื่อยกว่า และ ต้องคอยคัดซ้ายคัดขวาช่วยแก้ เนื้อที่ภายในเยอะ และน่าจะโตที่สุดแล้วในคลาส เบาะหน้าสบายสุดในคลาส แต่เบาะหลังต้องลองดูตรงพนักพิงหัวหน่อย อุปกรณ์ความปลอดภัยเริ่มเสียเปรียบคนอื่นแล้ว และความแรงก็ถือว่าธรรมดาไปแล้ว ที่สำคัญ มีนาคมนี้ ตัวไมเนอร์เชนจ์จะมาแล้ว
MITSUBISHI ATTRAGE GLS LTD – ไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจน นอกจากการพยายามอัดอุปกรณ์มาให้มากที่สุด ในราคาที่ถูกกว่า Almera (ถูกกว่าแค่ 15,000 เอามั้ยล่ะ) ขนาดตัวเล็ก ช่วงล่างไม่เด่น แต่เบา Simple และเท่าที่ผ่านมาก็ไม่ใช่รถแบบมีปัญหาเรื้อรัง พอไว้ใจได้ แต่ไม่ถึงกับลุยทางไกลมั่นๆได้แบบพวก 1.0 เทอร์โบใหม่ๆ เป็นทางเลือกสำหรับคนต้องการสวนกระแสโดยการเลือกสิ่งที่คนอื่นไม่เลือก จะคุ้มก็ต่อเมื่อเจอโปรฯส่วนลดแรงจัดๆ เท่านั้น
ท้ายสุด ก็คงต้องขอแสดงความยินดีกับคนของ Nissan ว่า ในที่สุด คุณก็มี Product แบบนี้มาขายเสียที ผมรู้สึกได้แล้วว่า Nissan เริ่มออกจากโลกส่วนตัว คิดเองเออเอง และพยายามจะเข้าใจจริตของคนไทยในการซื้อรถอย่างจริงจัง ก็ตอนที่เห็น Almera ใหม่นี้ แม้ว่าคนเล่นรถจะพูดอย่างนึง สื่อมวลชนรถยนต์จะพูดอย่างนึง แต่ท้ายสุด รถที่คนไทยส่วนมากซื้อ ก็คือรถที่ดูแล้วสวย ขับแล้วรู้สึกดี มีราคาที่เอื้อมถึงได้ง่าย ส่วนอื่นๆ ล้วนเป็นเรื่องรอง หรือเป็นสิ่งที่มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นจะสนใจ ผมอาจต้องดูละเอียด และติชม แรงบ้างในทุกด้าน แต่ก็แค่ทำตามหน้าที่การเป็นเพื่อนที่บอกความรู้สึกจริง ตรงไปยังผู้อ่าน
ถึง Almera ใหม่ จะมาช้าไปนิด แต่ก็เข้าใจว่าทุกฝ่ายก็พยายามเร่งทำกันสุดฝีมือแล้ว มันน่าจะเป็นอาวุธชิ้นดี ที่ช่วยให้ทั้งคนในองค์กร ผู้แทนจำหน่าย มีกำลังใจสู้ต่อ ท่ามกลางกระแสการเมือง ความผันผวนขององค์กร สิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายใน Nissan จะต้องทำต่อจากนี้ ก็คือใช้อาวุธที่มีอย่างชาญฉลาด ช่วยกันรักษาให้มันสามารถทำหน้าที่ของมันให้ดีที่สุด เสีย ก็รีบซ่อม มีเคส ก็รีบแก้ ในยุคที่ผู้คนร้องหาความซื่อสัตย์จากคนอื่นในสังคม พวกเขาก็ต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจจากรถที่ใช้ จากองค์กรผู้ผลิตรถที่เขาใช้
คุณมี Product ประเภทที่ดึงลูกค้าเข้าโชว์รูมได้แล้วในวันนี้ ต่อไป ก็ยังเหลือภารกิจพัฒนาด้าน Service ให้ลูกค้ากลับมาเข้าศูนย์บริการเรื่อยๆ ..มาเพราะประทับใจนะ ไม่ใช่มาเพราะแก้เคสเดิมไม่จบ ถ้าทำได้ โอกาสที่ Nissan จะกลับมาผงาดอีกครั้งในแวดวงยานยนต์ไทย ก็ไม่ยาก แต่ก็อย่างที่บอก ว่าเมื่อเรายังเป็นค่ายรอง ต้องรบแบบสงครามกองโจร คิดจะพิชิตศึก ไม่ได้พูดปุ๊บแล้วทำได้ง่ายเสมอไป แต่ความมานะ เอาจริง ต้องใช้ทัศนคติของนักล่า ที่ความอยู่รอด เอาชนะทุกความกลัว
เมื่อคุณกล้าออกจากโลกส่วนตัว กล้าที่จะตัดสินใจทำให้มันถูก แม้จะมีอุปสรรค แต่ความกล้านั้นก็จะตอบแทนคุณสักวันหนึ่ง
—/////—
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
Communications Department, NISSAN MOTOR (THAILAND) CO., LTD.
บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม Full Review Nissan Almera 1.0 Turbo By J!MMY Click Here
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นของ Nissan Motor และผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 30 มกราคม 2020
Copyright (c) 2020 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 30 JAN 2020
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE !