การตลาดเป็นเรื่องที่พิสูจน์ขีดความสามารถในการชักจูงผู้บริโภค

มันเป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วพยายามทำให้ลูกค้าของคุณศรัทธาไปตามนั้น หลายๆครั้งที่การตลาดสามารถเข้าถึงคนได้บางกลุ่ม แต่ก็สร้างข้อกังขากับคนอีกกลุ่ม อย่าคิดว่ามีแต่คนทั่วไปอย่างพวกคุณที่ปวดหัวกับเรื่องเหล่านี้นะครับ คนในแวดวงรถยนต์อย่างผมและเพื่อนๆที่เป็นสื่อมวลชนก็มีประเด็นกับเรื่องการตลาดนี้มาตลอดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้คำว่า All-New กับรถบางรุ่นที่เห็นๆอยู่มองตาก็รู้ว่าเป็นแค่ Big Minorchange

หรืออย่างกรณีล่าสุด..คือการพยายามแยกว่าไอ้รถใต้ท้องสูงรุ่นนี้ ว่ามันควรจะเรียกว่าเป็น SUV หรือเป็น Crossover..ขอแนะนำให้ท่านรู้จักกับ Mitsubishi All-New XPANDER

ในขณะที่ต่างประเทศรวมถึงอินโดนีเซียเขาทำตลาดรถรุ่นนี้ด้วยการเป็น MPV แต่เมืองไทยนั้น ธีม Teaser ของที่มิตซูฯบ้านเราเลือกใช้คือ “นิยามใหม่ของ Crossover” ทำให้เกิดคำถามในใจว่า ตกลงเธอจะเป็นอะไรกันแน่? อารมณ์เหมือนผู้หญิงที่อยากกินอะไรก็ไม่ยอมบอก ไม่ซื้ออะไรให้กินก็โกรธ ซื้อมาให้ผิดก็โกรธ ซื้อมาให้ทั้งสองอย่างก็บ่นว่าซื้อมาทำไมเยอะแยะ

จริงๆมันอาจจะไม่เหมือนกัน แต่นำพามาซึ่งความสับสนแบบเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อสื่อสารกับคนที่ไม่ได้เป็นนักเลงรถ อย่างพี่สาวผมที่เป็นหมอ ซึ่งอาจจะมีโครงการเปลี่ยนรถคันใหม่เพื่อหลีกหนีปัญหาน้ำท่วมเรื้อรังทุกหน้าฝนแต่ดันไม่รวยพอจะเล่นพวก B-SUV คันละเก้าแสนถึงล้านกว่าบาท “นี่รถอะไรอ่ะ SUV เหรอ” // ไม่ใช่จ้ะ // “งั้นก็ MPV” // ก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ // เอาไงวะ // ต่อยกันมั้ย

ถ้ามันจะเป็นเช่นนั้นก็คงไม่แปลกหรอกครับ เพราะในบรรดารถกลุ่ม 7 ที่นั่งขนาดเล็กเช่นนี้ เส้นแบ่งระหว่างการเป็น Mini MPV กับ B-SUV นั้นบางมาก แค่หน้ายาวหน่อย แต่ท้องสูงขึ้นนิดนึง ก็กลายเป็น SUV แล้ว..คุณเคยสังเกตรถของ Honda อย่าง Mobilio กับ BR-V ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเครื่องยนต์กับเกียร์ร่วมกัน (และช่วงล่างต่างกันนิดหน่อย)หรือเปล่าว่าอันที่จริง ความสูงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) ของ BR-V นั้นมากกว่า Mobilio แค่..12 มิลลิเมตร (189 กับ 201)

แต่ถ้าเราเรื่องการตลาดเหล่านี้ออกจากหัวไปเสียอาจจะดีกว่า ผมคิดศัพท์ใหม่ให้แล้วกันว่า “ปิคนิคคาร์” ให้รู้ว่ามันคือรถที่มี 7 ที่นั่ง เหมาะกับครอบครัวขนาดใหญ่ที่มักจะไปไหนมาไหนกัน 5-7 คนเป็นประจำ เป็นรถสายรักสันติ รักครอบครัว What a wonderful world-Affordable Seven-seater คุณจะเป็นครอสโอเวอร์ ครอสไม่โอเวอร์หรือ MPV เล็กกลางใหญ่ ถ้าเข้าข่ายนี้ผมขอจับเรียกเหมารวมแบบนี้หมด

ย้อนกลับไปเมื่อราวสองปีก่อน คุณคงจำได้ว่า Mitsubishi นำรถต้นแบบชื่อ XM Concept มาโชว์ที่บ้านเราในงาน Motor Expo รถคันนั้นล่ะครับ คือแม่แบบนำร่องของรถที่กลายมาเป็น XPANDER ในปัจจุบัน คุณจะไม่แปลกใจว่าทำไมมันสร้างขอถกเถียงเรื่องการเป็นรถประเภทไหน ก็เพราะทีมออกแบบนั้น ได้รับมอบหมายมาว่า “จงทำรถ Mini MPV ให้ดูแกร่งกร้าวห้าวบึกเหมือน SUV แต่ก็ต้องมีความทันสมัย ล้ำยุค มีเอกลักษณ์ของ Mitsubishi ที่สอดคล้องกับช่วงเวลา”

ในงาน Motor Expo ครั้งนั้น ผมมีความสุขกับการยืนฟังผู้คนที่เดินผ่านมาและวิจารณ์รูปทรงของรถคันนี้ ประเด็นสำคัญคือ หลังจากที่ยืนฟังมา 3 วันกับกลุ่มคนไม่น่าจะต่ำกว่า 30-40 ปาก ไม่มีใครสักคนเลยที่มองว่า XM Concept เป็นรถแบบ Mini MPV ทุกคนต่างมองว่ามันน่าจะเป็น SUV ระดับเดียวกันกับ HR-V หรือโตกว่า แต่แค่มีสัดส่วนที่แตกต่างกัน อันนี้ก็ถือว่าทีมออกแบบ XPANDER ประสบความสำเร็จมาก

และหลายคน (ส่วนมากเป็นผู้ชาย) ชื่นชมว่ามีหน้าตาที่ล้ำยุค ส่วนผู้หญิงที่เดินมาดูส่วนมากก็มักจะเป็นวัยที่ยังไม่ได้สัมผัสคานอย่างจริงจัง ผมเดินไปถามน้องที่ยืนเฝ้ารถ เขาก็บอกว่ามีแต่คนมาถามราคารถคันนี้ พอบอกว่าเป็นรถต้นแบบ ยังไม่ขาย ผู้คนก็ทำหน้าประหนึ่งคนแก่ที่จีบเด็กไม่ติด บังเอิญปวดฉี่ แล้วก็เดินจากไป

Mitsubishi XPANDER คือรถที่ถูกพัฒนาเพื่อเอาใจลูกค้าครอบครัวขนาดใหญ่ในตลาดอาเซียน หรือพูดง่ายๆก็คือชาวอินโดนีเซียนั่นแหละเป็นลูกค้าหลัก ทีนี้ การจะเป็นรถที่มัดใจชาวอินโดนีเซียได้นั้น รถจะต้องจุผู้โดยสารได้เยอะแบบ 6-7 คน หรือถ้านั่งแค่ 5 คนก็ต้องมีที่เหลือสำหรับสัมภาระมาก ต้องมีความสมบุกสมบันเพราะถนนประเทศเขานอกเขตเมืองใหญ่ไม่ได้อยู่ในสภาพดีนัก คนอินโดนีเซียไม่ได้คลั่งไคล้เรื่องความหรูหรากับลูกเล่น แต่ต้องการรถที่ทน ถูก และนั่งสบาย

นอกจากนี้ ทีม Mitsubishi ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ก็เพิ่มจุดแข็งเสริมให้กับ Core Values (คุณค่าหลักของรถ) เหล่านั้น อันว่าปิคนิคคาร์ที่ราคาจับต้องได้ ไม่จำเป็นต้องมีดีไซน์ที่น่าเบื่อ พวกเขาจึงเอาความล้ำยุคเฉกเช่นรถต้นแบบมาใส่ให้มากที่สุดเท่าที่ต้นทุนจะอำนวย ฉีกแนวไปจากปิคนิคคาร์รุ่นอื่นในตลาดทั้งมวล

ด้วยความมีกึ๋นและเดาทางลูกค้าชาวอินโดนีเซียออก อุบัติการณ์ตลาดแตกก็เกิดขึ้น เพราะหลังจากที่เผยโฉมทางเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2017 และโชว์ตัวในงาน Gaikindo Indonesia International Auto Show (GIIAS) วันที่ 10-20 สิงหาคมปีเดียวกัน ชาวอินโดกระโดดแย่งสั่งซื้อจนยอดจองล้นทะลักเป็นประวัติศาสตร์อาณาจักรศรีวิชัย เอาอย่างนี้ก็แล้วกันครับ แค่ในงานมอเตอร์โชว์บ้านเขา งานเดียวรุ่นเดียว XPANDER ฟาดยอดจองไปเกือบ 12,000 คัน แล้วยังมียอดที่ลูกค้าทยอยสั่งเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ Mitsubishi ที่อินโดนีเซียต้องเพิ่มกำลังการผลิตจาก 5,000 เป็น 10,000 คันต่อเดือนโดยด่วน

เรื่องนี้ส่งผลต่อการส่งออกมายังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศไทย ซึ่งต้องเลื่อนเปิดตัวจากต้นปี มาเป็นกลางปี แล้วก็ปลายปี แต่ในที่สุด Mitsubishi XPANDER ก็มีกำหนดการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเรียบร้อยแล้ว เจอกันเดือน สิงหาคม นี้ ช่วงงาน Big Motor Sales 2018 : 17 – 26 สิงหาคม 2561 ที่ BITEC บางนา

โชคดีสำหรับผม ที่ทาง Mitsubishi ได้ให้เกียรติในการชวนไปร่วมทดลองขับ XPANDER พร้อมกับพี่น้องสื่อมวลชนท่านอื่น โดยวิ่งยาวกันตั้งแต่เชียงราย ลงมาจบที่สุโขทัย โดยผมได้มีโอกาสร่วมคันรถกับพี่ฉ่าง อาคม รวมสุวรรณ จาก THAIRATHONLINE และพี่ริชชี่ Richard Leu จาก Bangkokpost ซึ่งล้วนเป็นสื่อมวลชนยานยนต์รุ่นอาวุโสที่ผมให้ความเคารพรักทั้งสองท่าน

สองวัน 1 คืน กับปิคนิคคาร์หน้าโหดล้ำยุค แต่แฝงบุคลิกใจดีรักสงบที่อาจทำให้ภรรยาและลูกๆของคุณเอ็นจอยไปกับการเดินทาง จะเป็นอย่างไร ลองอ่านกันได้เลยครับ

Mitsubishi XPANDER สเป็คประเทศไทย เป็นรถที่ประกอบจากโรงงานในอินโดนีเซียแล้วนำเข้าโดยรับสิทธิในการลดภาษีตามเงื่อนไข AFTA ทำให้ราคาไม่ทะลุไปหลักล้าน

ความยาวของตัวรถ 4,475 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร ความยาวระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,520 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,510 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงจุดเตี้ยสุดใต้ท้องรถเท่ากับ 205 มิลลิเมตร (เมื่อไม่มีผู้โดยสาร) น้ำหนักตัวรถทีม Mitsubishi ให้อ้างอิงจากสเป็คอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ที่ 1,290 กิโลกรัม (น้ำหนักพิกัดในเล่มทะเบียนตีไว้ 1,200 กิโลกรัม) ถังน้ำมันมีความจุ 45 ลิตร

เมื่อเทียบกับคู่แข่งใน Segment 7 ที่นั่งราคาฉันท์มิตรด้วยกัน Mitsubishi มีมิติภายนอกที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มและมีความสูงใต้ท้องสูงที่สุด บอดี้รถเองก็สูงที่สุดด้วย

  • Mitsubishi Xpander : 4,475 x 1,750 x 1,700 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 205 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,290 กิโลกรัม
  • Honda BR-V : 4,455 x 1,735 x 1,650 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 201 มิลลิเมตร หนัก 1,241 กิโลกรัม
  • Honda Mobilio : 4,398 x 1,683 x 1,603 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 189 มิลลิเมตร หนัก 1,173 กิโลกรัม
  • Suzuki Ertiga (รุ่นที่ยังขายในไทยอยู่) 4,265 – 4,325 x 1,695 x 1,685 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 185 มิลลิเมตร หนัก 1,195 กิโลกรัม
  • Toyota Sienta : 4,235 x 1,695 x 1,695 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 170 มิลลิเมตร หนัก 1,350 กิโลกรัม

ดีไซน์ด้านหน้า Dynamic Shield ทำออกมาดูล้ำยุค หลุดโลกกว่าคันอื่นๆในบรรดารถระดับเดียวกัน แต่ออกแบบให้ปกป้องอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุชนผู้คนเดินบนทางเท้า ซุ้มโป่งล้อหนาใหญ่ในแบบรถยนต์ SUV ด้านหน้ามีไฟดวงลีบเล็กอันบนสุดเป็นไฟหรี่ (ไม่มี Daytime Running Light) ส่วนดวงเหลี่ยมถัดลงมา นั่นคือไฟหน้าของแท้ เขาออกแบบให้มันต่ำลงมาหน่อยก็เพื่อที่จะไม่ได้สูงจนแยงตาชาวบ้านเกินไป เป็นไฟหน้าแบบ Multi-reflector ใช้หลอดฮาโลเจน ลงมาข้างล่าง ที่เป็นสามเหลี่ยมคือไฟเลี้ยว และมีไฟตัดหมอกดวงกลมเล็กอยู่แถวชายล่างกันชน

การออกแบบซีกหลังและส่วนท้ายของรถ จะเห็นได้ว่ากระจกโอเปร่าบานหลังสุดนั้นมีการตวัดขึ้นในลักษณะที่พยายามจะบอกว่ารถคันนี้เป็นพี่น้องเครือเดียวกับ Pajero Sport แม้ว่าสัดส่วนของรถที่สั้นจะทำให้ไม่สามารถลากเส้นตวัดเฉียงยาวๆแบบรุ่นพี่ แต่อย่างน้อยผลก็ออกมาดูเข้าท่า และไฟท้ายขนาดใหญ่รูปตัว L นั้น ก็จัดทรงมาได้ดูดี มีดวงไฟหรี่เป็น LED Tube ส่วนไฟเบรกเป็นหลอดไส้ธรรมดา

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งสปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรกดวงที่สามแบบ LED มาให้ ส่วนดวงแดงๆที่กันชนหลังด้านล่างนั้นเป็นแผ่นสะท้อนแสงเฉยๆ เสาอากาศแบบหางหนูติดตั้งอยู่บนหลังคาด้านท้ายรถ

สำหรับการล็อคและปลดล็อครถนั้น ในรถรุ่น GT ที่เป็นตัวท้อป จะได้กุญแจ KOS (Keyless Operation System) แค่พกกุญแจไว้กับตัว เวลาจะล็อคหรือปลดล็อครถก็กดปุ่มสีดำๆที่มือจับเปิดประตู ส่วนรุ่น GLS-LTD ที่เป็นรุ่นรองลงมา จะได้กุญแจรีโมทแบบธรรมดา

การเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร สำหรับผู้โดยสารตอนหน้านั้นถือว่าค่อนข้างง่ายโดยเฉพาะสำหรับคนตัวสูงเพราะตำแหน่งของเบาะและความสูงของตัวรถอยู่ในระดับที่คนสูง 170-180 เซนติเมตรสามารถสไลด์ตัวเข้าไปได้เกือบตรงๆ สิ่งที่ต้องระวังก็คือเสา A-pillar ซึ่งมีความลาดเอียงและเตี้ยกว่าเพื่อนร่วมรุ่น ผมลองเข้าออกรถคันนี้เทียบกับ BR-V พบว่าใน Mitsubishi จะต้องก้มหัวมากกว่าอยู่นิดหน่อย สำหรับคนตัวสูงไม่เกิน 175 เซนติเมตร และตัวผอม คุณไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ระวังชายขอบสเกิร์ตล่างไว้บ้างโดยเฉพาะในหน้าฝนเพราะยื่นออกมาพอสมควรและอาจมีโคลนไปติด ถ้าก้าวไม่ระวังขาเกงเกงจะเปื้อนเอา

เบาะนั่งคู่หน้า ..อยากจะบอกว่าตอนแรกที่นั่งลงไป ผมต้องลุกออกมายืนดูอีกครั้งว่านี่มันเบาะของ Mitsubishi Triton หรือเปล่า เพราะความรู้สึกที่ได้นั้นคล้ายกันมาก เบาะรองนั่งมีขนาดปานกลาง ลักษณะแข็งใน นุ่มรอบนอก เจอน้ำหนักตัวผมกดเข้าไปแล้วไม่ยู่มากจนน่าน้อยใจ ถือว่านุ่มกำลังดี เช่นเดียวกับพนักพิงหลังซึ่งให้ความรู้สึกนุ่มรองรับแผ่นหลังสบายกว่า Honda BR-V และคู่แข่งคันอื่นๆ ส่วนพนักพิงศีรษะนั้นมีความแข็งปานกลางและออกแบบให้ดันหัวเพียงเล็กน้อย ไม่รู้สึกน่ารำคาญแต่อย่างใด ผมว่าเบาะหน้าของเขาทำมาได้ดีแล้ว จะขาดก็แค่เพียงที่เท้าแขนตรงกลาง ถ้ามีให้สักหน่อยก็จะทำให้สบายแบบสุดๆไปเลย

เบาะนั่งฝั่งคนขับ สามารถปรับสูง/ต่ำได้ ทว่าเวลาเราปรับ มันจะขยับขึ้นลงเฉพาะส่วนเบาะรองนั่ง ตัวเบาะทั้งตัวไม่ได้ขยับตาม ทำให้ระยะที่ปรับได้นั้นค่อนข้างจำกัด ผมและพี่ Richard Leu (ซึ่งตัวผอม หุ่นนายแบบ) มองว่าแม้จะปรับลงต่ำสุดแล้ว ตำแหน่งเบาะนั่งก็ยังสูงเกินไปสำหรับมนุษย์ 6 ฟุตอย่างพวกเรา หากเลื่อนลงต่ำกว่านี้ได้อีกสักนิ้วเดียวก็น่าจะได้ตำแหน่งที่ขับถนัด

พวงมาลัยของ XPANDER สามารถปรับได้ 4 ทิศทาง (ขึ้น/ลง/เข้า/ออก) ทำให้สามารถจัดระยะห่างพวงมาลัยได้ถนัดกว่า Honda BR-V/Mobilio ซึ่งปรับเข้าออกไม่ได้ แต่เรื่องการปรับหาตำแหน่งการขับทั้งหมดนี้ ผมยังยกให้ Suzuki Ertiga เป็นรถที่ถูกใจผมที่สุดเพราะปรับความสูงของเบาะ และมีเข็มขัดนิรภัยคู่หน้าซึ่งปรับสูงต่ำให้สายเข็มขัดพาดผ่านไหล่ได้พอดี (เข็มขัดของ XPANDER ปรับไม่ได้ครับ) แค่ไม่สามารถปรับพวงมาลัย 4 ทิศแบบ Mitsubishi เท่านั้น

การเข้า/ออกจากเบาะหลัง ก็ทำได้ง่ายเช่นกัน ขอบธรณีประตูเมื่อเทียบกับพื้นรถแล้วเตี้ยกว่า BR-V ทำให้ตวัดขาเข้าในแนวดิ่งได้ง่าย แต่พื้นที่ช่องทางเข้าออกโดยรวมจะสั้นกว่า BR-V อยู่นิดหน่อย ถ้าไม่สังเกตจริงๆอาจจะไม่รู้สึก

เบาะนั่งแถวที่สองนั้น แยกปรับแบบ 60:40 สามารถเลื่อนหน้าถอยหลังได้ ปรับเอนได้ แต่ไม่เยอะ อย่างที่เห็นในภาพคือตำแหน่งที่เอนหลังสุดแล้ว  ดังนั้นถ้าคิดจะปรับเบาะคล้ายแนวเอนนอน ประเด็นนี้ BR-V จะชนะเพราะเอนเบาะได้มากกว่ากันอย่างชัดเจน แต่ XPANDER จะตีแต้มคืนด้วยความนุ่มกำลังดีของเบาะรองนั่งและพนักพิงหลังที่ดีงามไม่แพ้เบาะหน้า รวมถึงเมื่อถอยเบาะไปตำแหน่งหลังสุด คุณจะได้เนื้อที่ยาวสำหรับการเหยียดขามากกว่า BR-V อยู่พอสมควร ซึ่งไม่ใช่เพราะพื้นที่รถยาวกว่า แต่เป็นเพราะเบาะของ XPANDER สามารถเลื่อนไปข้างหลังได้ไกลกว่า

นอกจากนี้ เวลานั่งแค่สองคน คุณสามารถดึงเชือกบ่วงที่กลางเบาะแล้วดันส่วนกลางของเบาะลงมาเป็นที่เท้าแขนได้ (ของ BR-V นั้นเท่าที่จำได้ จะไม่มีที่เท้าแขนตรงกลาง แต่ Ertiga มี ส่วน Sienta หนักกว่าคือไม่มีทั้งตรงกลางและที่ประตู) เข็มขัดนิรภัยที่ให้มาก็เป็นแบบ 3 จุด 3 ตำแหน่ง คุณอาจจะมองไม่เห็นสายเข็มขัดของคนนั่งกลางในภาพ เพราะมันห้อยมาจากตรงหลังคาครับ

จุดนี้คือส่วนที่ชอบมาก ไอเดียดีๆจากร้านขายประดับยนต์แท้ๆ คือแทนที่จะทำให้มีช่องใส่หนังสือและของกระจุกกระจิกแค่ช่องเดียว ของ Mitsubishi เขาก็ให้มาเป็นสามช่องแบบนี้เลย ไม่ต้องไปหาแผ่นคาดพร้อมช่องเก็บของสารพัดประโยชน์จากคลองถมติดแอร์มาใส่อีกต่อไป แต่มันจะมีมาให้แค่หลังเบาะคนนั่งนะครับ ส่วนอีกฝั่งก็เป็นช่องเดียวแบบปกติ

บนหลังคา มีช่องเป่าลมของเครื่องปรับอากาศมาให้ อยู่ในคลาสนี้ เห็นทีจะไม่มีก็คงไม่ได้ละครับ เพราะทั้ง Mobilio, BR-V, Ertiga และ Sienta เขามีมาให้กันหมด ปรับแรงลมได้ แต่ปรับอุณหภูมิไม่ได้ รถทั้งคันมีสวิตช์ปรับความเย็นอันเดียวก็คือตรงคอนโซลกลางนั่นล่ะครับ

เบาะแถวที่สอง – เทียบระหว่างตำแหน่งเอนปานกลางกำลังสบาย กับเอนสุด สังเกตได้ว่าจะต่างกันไม่มากเท่าไหร่ การปรับเอนก็ดึงคันโยกที่อยู่ตรงโคนเบาะ ส่วนถ้าหากจะเปิดให้ใครเข้าไปยังเบาะแถวสาม ก็ใช้คันโยกอันเดียวกันนี้ โยกทีเดียวแล้วปล่อยให้ตัวเบาะล้มจนโล้มาข้างหน้า เปิดทีเดียวได้เหมือน Honda BR-V ส่วนขนาดของช่องสำหรับการเข้าไปยังเบาะแถวสาม ก็มีขนาดใกล้เคียงกันกับ BR-V โดยที่ XPANDER อาจจะสั้นกว่ากันแค่ราว 1 นิ้ว

ซึ่งเพียงแค่นี้ก็พอแล้วล่ะครับที่จะทำให้ผมสามารถปีนเข้าไปนั่งบนเบาะแถวสามได้โดยไม่ลำบากเลย

เบาะนั่งแถวสาม..ผมยังยืนยันครับว่า มันไม่ใช่ที่สำหรับผู้ใหญ่ตัวโตในการนั่งโดยสารไกลๆ แต่ถ้าเป็นทางใกล้ๆสัก 1 ชั่วโมง นั่นก็เต็มที่แล้ว มากกว่านี่จะต้องเดินไปตบตีแย่งชิงที่นั่งเบาะอื่นเป็นแน่แท้ เบาะรองนั่งของ Mitsubishi นั้นจะยาวกว่า Honda BR-V แต่ส่วนของพนักพิงหลังนั้นกลับสั้นและเตี้ย เอาคนตัวสูงมานั่งแล้วเหมือนนั่งเก้าอี้รอรับยาจากเภสัชกร เนื้อที่เหนือศีรษะก็เหลือไม่เยอะมาก ตัวเบาะนั่งติดอยู่ค่อนข้างต่ำ ต้องมีการนั่งชันเข่าบ้าง ส่วนเนื้อที่วางขานั้นก็แล้วแต่ความกรุณาของคนนั่งแถวที่สอง ถ้าสมมติคนแถวสองถอยเบาะมาสุด คนอย่างผมจะนั่งไม่ได้เลย แต่คนผอมๆสูงไม่เกิน 170 เซนติเมตรจะยังพอนั่งได้อยู่ แต่ถ้าเลื่อนเบาะแถวสองไปในตำแหน่งที่ทำให้เหลือพื้นที่วางขาเอาแค่ประมาณรถ B-Segment สี่ประตู..คราวนี้คนแถวสามจะสบายขึ้น

เรื่องเบาะแถวสามนั้น ถ้าเทียบกับ BR-V ดูเหมือนว่าการจัดพื้นที่ของ Honda นั้นจะเผื่อไว้ให้กับมนุษย์แถวสามมากกว่า ในขณะที่ Mitsubishi ดูเหมือนจะพยายามเน้นคนแถวสองให้สบายที่สุด ส่วนคนแถวสามมีความสำคัญรองลงมา ถ้าคุณเป็นเด็กหรือคนที่ตัวเท่าเด็ก คุณจะไม่มีปัญหากับทั้งสองรุ่น แต่ถ้าคุณตัวเท่าผม แน่นอนว่า BR-V สบายกว่า

ตัวเบาะแถวสาม แบ่งแยกข้างแบบ 50:50 และสามารถเอนได้นิดหน่อย

ท้ายรถมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดถ้าหากปรับเบาะทุกตัวตั้งขึ้นใช้งาน คุณจะมีที่สำหรับวางกระเป๋าเดินทางใบแข็งขนาด ขนาด 24 นิ้วสี่ใบไม่หนามาก ที่เหลือจะต้องเป็นกระเป๋าผ้าหรือผ้าใบที่วางซ้อนทับกันได้ ดังนั้นถ้าต้องเดินทางไกล 3-4 วันกับผู้โดยสาร 7 ท่าน ผมว่าจะไม่รอดเอา แต่ถ้ามีผู้โดยสาร 6 ท่าน ก็ต้องพับเบาะแถวสามลงสักซีกนึง แล้วจะมีพื้นที่ใส่ของได้อีกเยอะพอสมควร

ในกรณีที่เดินทาง 5 ท่านและสัมภาระเยอะ เบาะแถวสามสามารถพับเก็บแบบราบเป็นแนวเดียวไปกับพื้นง่ายๆ ในขณะที่ของ BR-V จะต้องพับโล้มาข้างหน้าแล้วค้างไว้ท่านั้น และ Sienta พับได้แค่ตอนบน ตัวเบาะคาอยู่กับที่ ถ้าจะพับแถวสามหลบหมดคุณต้องโล้เบาะแถวสองขึ้นมาข้างหน้าด้วย

สำหรับการบรรทุกของแบบเต็มอัตรา คุณสามารถพับเบาะสองแถวหลังให้ราบ ได้เป็นพื้นที่บรรทุกเรียบๆขนถ่ายของขนาดใหญ่ได้ง่ายได้ ถ้ามีของกระจุกกระจิกยังสามารถเอาเก็บไว้ข้างใต้ฝาปิดด้านท้ายได้ หรือจะเอาไว้ที่ลิ้นชักเล็กที่ซ่อนอยู่ใต้เบาะหน้าก็ได้เช่นกัน

ด้วยความที่ต้องเน้นการบริหารจัดการพื้นที่ภายในและเบาะมาก ทำให้ยางอะไหล่ต้องลงไปห้อยอยู่ใต้ท้องรถแทน (ใจเย็นๆครับ BR-V ก็แขวนใต้ท้อง) แต่คุณต้องเปิดแผงพลาสติกข้างในรถแล้วคลายน็อตยึด 1 ตัวจากข้างในรถก่อน แล้วจึงไปถอดสลักล็อคปลดเอายางอะไหล่ลงมาได้ อย่าขันรวดเดียวหมดนะครับเดี๋ยวร่วงทับเท้า

มาดูที่ภายในของรถกันบ้างดีกว่าครับ Mitsubishi XPANDER เวอร์ชั่นไทยนั้น ถ้าเป็นรุ่น GT ตัวท้อป จะได้เบาะหนัง แต่รุ่น GLS-LTD จะได้เบาะผ้า นี่ถือว่าโชคดีของคนไทยนะครับเพราะถ้าเป็นที่อินโดนีเซีย ต่อให้ตัวท้อปจะเอาเบาะหนังก็ต้องสั่งเพิ่มเอาเอง ส่วนสีสันภายใน ของอินโดนั้นจะมีให้เลือกทั้งโทนเบจ/ลายไม้ แต่ของไทยคงกลัวโดนวัยรุ่นด่าออกสื่อ จึงเลือกมาแค่ภายในสีดำ ตัดกับวัสดุสี Gloss Black และพลาสติกลายอะลูมิเนียมบนแดชบอร์ดและแผงประตู ซึ่งของจริงพอไปลูบๆดูก็เก๋ไม่น้อย ส่วนพลาสติกหุ้มเสาและผ้าบุหลังคา จะเป็นสีเบจตัดกัน เพื่อสร้างความรู้สึกโปร่งหัวเวลาโดยสาร

แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้ามาให้ทั้งสองฝั่ง แต่ไม่มีไฟส่องมาให้ ส่วนกระจกมองหลังนั้นเป็นแบบธรรมดา มีคันโยกสำหรับตัดแสงมาให้เหมือนรถปกติราคาระดับนี้

บรรยากาศภายในโดยรวม ไม่มีอะไรเกินคาด สำหรับรถปิคนิคคาร์ 7 ที่นั่งราคาเลขหกหลัก สำหรับเรื่องดีไซน์ของแดชบอร์ด ความเห็นของผมคือช่องแอร์ตรงกลางดูโบราณไปนิดขัดกับภาพรวมของทั้งแดชบอร์ดที่วางเส้นสายมาดีแล้ว พวกวัยรุ่นรักแสงสีและความ chic น่าจะชื่นชอบแดชบอร์ดของ Toyota Sienta ที่เห็นแล้วนึกถึงวงแหวนดาวเสาร์ ส่วนคนที่ชอบสไตล์ Conservative เรียบร้อยแต่ดูแล้วไม่เบื่อน่าจะชอบ Ertiga ส่วน XPANDER นั้นเหมือนคนพยายาม chic แต่ลงรถเมล์ก่อนถึงจุดหมายไปป้ายนึง แต่ในความ “ไม่สุด” นี้ ก็ยังถือว่าดูดีและ เรียบง่าย 50% หวือหวา 50% แต่ทุกอย่างวางไว้ถูกที่ ง่ายต่อการใช้งาน

จากขวาไปซ้าย บนแผงประตู เป็นชุดคุมสวิตช์กระจกไฟฟ้า พร้อมระบบ One-touch แตะทีเดียวขึ้นและลงหมดบานที่ด้านคนขับ มีปุ่มล็อคหน้าต่างและสวิตช์ล็อคประตูมาให้ ไล่มาบนแดชบอร์ดใต้ช่องแอร์ขวา มีสวิตช์สำหรับกระจกมองข้างพร้อมปุ่มกดพับกระจก กับปุ่มสตาร์ท และถัดลงมาเป็นสวิตช์สำหรับปิดระบบแทร็คชั่นคอนโทรล ส่วนช่องเล็กๆที่มาฝาปิดนั้นสามารถดึงเปิดออกมาไว้ของขนาดเล็กๆและเหรียญได้ แต่มันอาจจะดังกราวหน่อยเพราะไม่มีการบุสักหลาดไว้ช่วยเก็บเสียง ส่วนปุ่ม INFO ที่อยู่ทางขวาของหน้าปัดนั้น เอาไว้สำหรับกดเปลี่ยนการแสดงข้อมูลบนจอ MID หน้าปัด หรือกดค้าง 3 วินาทีเพื่อ Reset ค่าต่างๆ

ก้านไฟเลี้ยวอยู่ฝั่งขวามือ ไม่มีระบบไฟหน้าอัตโนมัติ (ถือว่าไม่แปลกสำหรับ Segment นี้) แต่มีสวิตช์ไฟตัดหมอกอยู่บนก้านเดียวกัน ก้านปัดน้ำฝนอยู่ด้านซ้ายมือ สามารถปรับจังหวะปัด-หยุด-ปัดได้ว่าจะเว้นช่วงการปัดนานมากหรือน้อย พร้อมสวิตช์สำหรับปัดน้ำฝนหลังที่ปลายสุดของก้าน

พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น 3 ก้าน ก้านด้านซ้ายมือเอาไว้ควบคุมระบบโทรศัพท์และเครื่องเสียง ส่วนก้านขวามือมีปุ่มสำหรับ Cruise Control ซึ่งกลายเป็นจุดเด่นสำหรับ XPANDER ไปเพราะคู่แข่งส่วนมากจะไม่มีมาให้ แต่ต้องเป็น XPANDER GT เท่านั้นนะครับที่มีอุปกรณ์นี้

XPANDER มีช่องวางแก้ว 2 ช่องข้างเบรกมือ และช่องเก็บของใกล้ศอกคนขับที่มีฝาเปิดปิดได้ มีจุดจ่ายไฟ 12V อยู่ที่ช่องเก็บของใกล้เบรกมือ และอีกจุดที่ส่วนล่างของคอนโซลกลาง

สิ่งที่ผมยังรู้สึกไม่ค่อยชอบ คือรถคันนี้ไม่มีจุดสำหรับเสียบชาร์จ USB เลยนอกจากที่หน้าชุดเครื่องเสียง และที่แปลกคือในคู่มือบอกว่ามีจุดเสียบ USB ให้นะ..ที่ข้างๆปลั๊ก 12V ตรงส่วนล่างของคอนโซลกลางนั่นแหละ แต่ผมลองไปมองไปแงะดู ก็พบว่าเป็นฝาพลาสติกเปล่าๆปิดไว้เฉยๆ เพื่อ?!? ส่วนช่องแอร์ทั้ง 4 ช่องนั้น คุณไม่สามารถปิดทางออกของลมแอร์ได้เลย ซึ่งก็เหมือน Sienta ในขณะที่ Ertiga กับ BR-V สามารถปิดช่องซ้ายสุดและขวาสุดได้ มีแต่ช่องกลางที่ปิดไม่ได้

ฟังดูเหมือนผมเรื่องมาก แต่คุณเคยเจอไหมครับ คนนั่งข้างประเภทขี้หนาวเป็นพิเศษ ถ้าช่องแอร์ซ้ายสุดมันปิดได้ก็จบ แต่พอปิดไม่ได้ ไอ้คนนั่งข้างมันก็จะหันช่องแอร์เป่าไปซ้ายสุด ขับไปสักพักฝ้าก็ขึ้น มองกระจกส่องข้างไม่เห็น

ส่วนชุดปรับอากาศ..นี่เลย ความภูมิใจสากลตำบลโลก เป็นเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดาไม่ออโต้ ไม่มีการมาบอกว่าเป็นดิจิต้งดิจิตอลอะไรเพราะไม่มีการแสดงผลขึ้นจอ ภูมิใจในความ Manual ของตัวเองมากทั้งที่ตอนนี้ BR-V, Mobilio และ Sienta เขาเป็นเครื่องปรับอากาศดิจิตอล อัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติกันไปหมดแล้ว เหลือแต่ Ertiga นี่แหละที่ร่วมหมู่บ้านลูกบิด Manual ด้วยกัน แต่จุดดีข้อหนึ่งของ XPANDER คือเครื่องปรับอากาศมีฮีทเตอร์ครับ บิดลูกบิดอันขวาสุดไปเข้าตรงสีแดงๆ ลมที่ออกมาจะร้อนเลย

สำหรับความสามารถในการทำความเย็น..อันนี้ต้องสังเกตดูหน่อยครับ เพราะรถทดสอบหมายเลข 1 ของเรานั้น ขนาดมีฟิล์มกรองแสงที่ดำมืดระดับนึงแล้ว ก็ดูเหมือนเครื่องปรับอากาศจะเย็นไม่ฉ่ำเท่าไหร่เวลาวิ่งตอนกลางวัน ต้องบิดให้มันเย็นสุดไปเลย..กระนั้นความเย็นที่ได้ก็แค่พอกันกับแอร์ Toyota ที่บิดเอาพลังเย็นราว 75%

ชุดเครื่องเสียง รุ่น GT จะเป็นจอกลางขนาด 6.2 นิ้ว รองรับ CD/DVD/USB/MP3 และมี 6 ลำโพง ส่วนรุ่น GLS-LTD เป็นเครื่องเสียงธรรมดา 4 ลำโพง

ประสิทธิภาพของเครื่องเสียงชุดนี้ไม่มีอะไรโดดเด่นให้น่าจดจำ คิดเสียว่าเป็นเครื่องเสียงติดรถจากโรงงานธรรมดาที่พอฟังได้ แต่ไม่รู้ว่าทำไมต้องทำให้เชื่อม Bluetooth ได้กับผลิตภัณฑ์เด็กผลไม้ (แอปเปิ้ล) เท่านั้น ผมฝืนลิขิตสวรรค์ลองเอา Android 3 เครื่อง ASUS/LG/Huawei พ่วงดู ไม่ต้องสืบ..โทรศัพท์ไม่สามารถผสมพันธุ์กับเครื่องเสียงได้แน่นอน..นอกจากนี้ต่อให้ผมรำคาญจิตจนเล่น CD เพลงแทนแล้ว พอจะปรับบาลานซ์เสียงซ้ายขวาหน้าหลัง ก็ต้องกดมาจอ Home ซึ่งพอทำเช่นนั้น เพลงก็หยุดเล่น พูดง่ายๆคือคุณจะปรับเสียงเฟดหน้าหลังไปพร้อมๆกับการฟังเพลงไม่ได้ แต่พอจะปรับ Equalizer กลับปรับได้ขณะฟังเพลงเลย แม่งใครเป็นคนคิด Interface เครื่องเสียงชุดนี้วะให้ตายดิ

กล้องมองหลัง มีมาให้ แต่ไม่ละเอียดเอาเสียเลย และส่องแบบมองเห็นชัดแค่แมวที่เดินผ่านท้ายรถ มีปุ่มแยกบนจอที่คุณสามารถกดดูภาพจากกล้องถอยหลังได้แม้ว่ารถจะวิ่งอยู่ 60 หรือ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฟังก์ชั่นน่ารัก ชอบ แต่ด้วยความที่กล้องไม่ชัด เลยใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้จริงจัง

หน้าปัดเป็นแบบเข็ม ดีไซน์สอดคล้องกับรุ่นพี่อย่าง Triton และ Pajero Sport ซึ่งพอเป็นรุ่น GT จะมีจอ Multi Information Display แบบสีมาให้ ทำให้ดูสมกับราคาของรถ (ที่คาดว่าน่าจะแปดแสนกลางๆ) มากขึ้น ดูดีตามฐานะและมองแบบเหลือบผ่านก็สามารถอ่านค่าวัดรอบและความเร็วได้ง่าย

จอกลางนั้น โชว์น้ำมันที่เหลือในถัง และมีเข็มวัดความร้อนเครื่องยนต์มาให้ ไม่ตัดออกเหมือนคู่แข่งบางค่าย ด้านบนของจอจะสามารถเปลี่ยนการแสดงผลได้ด้วยการกดปุ่ม INFO ที่ด้านขวาของหน้าปัด เช่น Trip A, Trip B, ค่าอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย, ระยะทางที่สามารถวิ่งได้ด้วยน้ำมันที่มีเหลือ, ค่าความเร็วเฉลี่ย และระยะทางที่เหลือก่อนถึงกำหนดเข้ารับบริการ

เมื่อคุณเปิดใช้ Cruise Control ส่วนบนของจอจะมีสัญลักษณ์ Cruise สีเขียวสว่างขึ้น กระนั้นเวลาคุณปรับตั้งความเร็วสำหรับโหมด Cruise ก็จะไม่มีการโชว์ค่าเลขความเร็วที่คุณเลือกมาให้ ต้องอาศัยกดๆแล้วลองดูว่าจะได้ความเร็วเท่าไหร่กันเอาเอง

 

****รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ****


เครื่องยนต์ของ XPANDER ไทย มีเพียงแบบเดียว คือเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง รหัส 4A91 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว วาล์วแปรผัน MIVEC ขนาด 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก เท่ากับ  75.0 x 84.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) หรือ 77kW ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบ/นาที  รองรับน้ำมันสูงสุด E20

พละกำลังของเครื่องยนต์เท่าที่ดูจากสเป็ค จะเหนือว่าเครื่องยนต์ 1.4 ลิตรของ Suzuki Ertiga สูสีกับ Toyota Sienta และแพ้ Honda BR-V/Mobilio แต่ของจริงจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวก็รู้

สำหรับระบบส่งกำลังนั้น XPANDER ขับเคลื่อนล้อหน้า ในประเทศไทยมีแต่เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะเพียงแบบเดียว ไม่มีโหมด +/- ไม่มี Paddle shift อัตราทดเกียร์ มีตัวเลขดังนี้

  • เกียร์ 1 …………………2.875
  • เกียร์ 2 …………………1.568
  • เกียร์ 3 …………………1.000
  • เกียร์ 4 …………………0.697
  • เกียร์ถอยหลัง 2.300 อัตราทดเฟืองท้าย 4.375

ตามในคู่มือติดรถ บ่งบอกว่าเกียร์ลูกนี้ ต้องเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ที่ทุก 100,000 กิโลเมตร ฟังดูแล้วผมรู้สึกขนลุกหน่อยๆ ถ้าเป็นรถของผมเงินของผมจริงคงไม่กล้าใช้ยาวขนาดนั้นหรอกครับ ยอมควักเงินเปลี่ยนตั้งแต่ 4-50,000 กิโลเมตรแล้ว ต่อให้ Mitsubishi จะมั่นใจในความทนทานของเกียร์ลูกนี้แค่ไหนก็ตาม

เกียร์ 4 จังหวะ อาจจะเป็นเรื่องที่สุดแสนจะ 90s ไปแล้วสำหรับรถยุคนี้ ซึ่งล้วนแต่ใช้เกียร์ CVT หรือถ้าเป็นทอร์คคอนเวอร์เตอร์กับเกียร์ปกติอย่างน้อยก็ต้องมี 5-6 จังหวะ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเลือกอัตราทดเกียร์ชิดในช่วงเกียร์ต้นเพื่อเอาอัตราเร่งและยืดอัตราทดเกียร์ปลายเพื่อให้ใช้รอบต่ำเวลาเดินทางไกล ประหยัดน้ำมันได้มากขึ้น

ในการวิ่งทางไกล XPANDER ใช้รอบเครื่องประมาณ 2500 รอบที่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพิ่มเป็น 2750 รอบที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าปกติสำหรับการทดเกียร์แบบสี่จังหวะในรถเครื่องขนาดนี้

ผมทราบดีแบบโคตรจะทราบแล้วทราบอีกว่า รถประเภทนี้มันไม่มีใครเอามาซัดทำความเร็วกันหรอก เป็นสิ่งที่ชอบมีคนบางพวกเข้ามาพูดเวลาผมเผยแพร่ข้อมูลเรื่องอัตราเร่งรถ ผมก็คงบอกได้เพียงแค่ว่าถ้าไม่ใช้เท้ากับนาฬิกาแล้วจะเอาอะไรวัดเหรอครับว่ารถคันนั้นสามารถให้พละกำลังในเวลาฉุกเฉินที่คุณต้องการได้มากหรือน้อยขนาดไหน สำหรับ XPANDER นั้น เมื่อพิจารณาจากพละกำลัง ระบบส่งกำลัง และน้ำหนักของตัวรถ 1,290 กิโลกรัม ผมคาดหวังเอาไว้ว่าอย่างน้อยมันก็น่าจะไล่บี้ Toyota Sienta กับ Suzuki Ertiga ได้บ้าง

แต่ความเป็นจริง ตัวเลข  0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ 15.67 วินาที และช่วงอัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ 12.46 วินาทีนั้น ส่ง XPANDER ไปอยู่ท้ายตารางของกลุ่มอย่างไม่ต้องสงสัย ผมเคยลองขับทั้ง Ertiga ในเงื่อนไขเดียวกัน วิ่งกลางวัน ผมขับคนเดียว 148 กิโลกรัม มันก็ยังได้ตัวเลข 14 วิต้นสำหรับ 0-100 และ 11 วิต้นสำหรับ 80-120 ดังนั้นเมื่อนำไปเทียบกับข้อมูลการทดสอบอื่นๆของเรา บอกได้ว่าถ้าชนะ Ertiga ยังไม่ได้ ไม่ต้องไปเทียบกับ Sienta หรือ BR-V เลย โดยเฉพาะในเกมการทำความเร็ว ไม่ว่าจะทางเรียบหรือขึ้นเขา BR-V ดึงแรงกว่า ดีกว่าแบบคนละเรื่อง ช่วงเร่งแซง 80-120 นี่ BR-V มีแถวๆ 9 วินาทีด้วยซ้ำ

ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน คนที่เขาบอก XPANDER ไม่อืด หรือบอกว่าถ้า XPANDER อืด BR-V ก็อืด ไม่ทราบว่าเอาอะไรจับเวลาครับ นาฬิกาทรายเหรอ? แล้วถ้าเรายอมรับกับสมรรถนะแบบนี้ บริษัทอื่นที่เขาสร้างรถที่ทำอัตราเร่งดีๆได้ เขาจะพัฒนาเครื่องกับเกียร์กันไปทำไม?

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการแสดงแสงยานุภาพ แต่เมื่อเป็นการขับใช้งานแบบปกติ XPANDER เป็นรถที่เข้าใจง่าย และควบคุมได้ง่าย เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะเปลี่ยนเกียร์ได้นุ่มนวล ต่อให้กดคันเร่ง 100% ช่วงต่อเกียร์ยังไปแบบนุ่มไร้อาการกระชากใดๆ ที่ความเร็วต่ำก็มีแรงหน่วงกับการปล่อยไหลที่พอเหมาะ ไม่มีอาการกระเย่อให้รำคาญจิต คันเร่งตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ว่ากดนิดเดียวแกล้งเปิดลิ้นคันเร่งซะกว้าง

ส่วนเรื่องการเก็บเสียงนั้น Mitsubishi ใช้แผ่นวัสดุซับเสียงเพิ่มเติมหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณพื้นรถ อีกทั้งยังใช้กระจกหน้าแบบเก็บกรองเสียงจากภายนอกอีกด้วย

ผลของความพยายามของวิศวกร ทำให้ XPANDER ไม่มีความรู้สึกกระป๋องกระแป๋งเลยเมื่อวิ่งในความเร็วต่ำ ตัวรถเหมือนถูกซีลมาอย่างแน่นราวกับกลองหนังชั้นดี เวลาเร่งเครื่อง เสียงเครื่องยนต์ก็เล็ดรอดเข้ามาน้อยกว่าที่คาด เสียงยางบดถนนที่ดังเข้ามาก็น้อยกว่าที่คิดเอาไว้ ถ้าคุณขับ Honda BR-V มาก่อนแล้วย้ายมาขับ XPANDER จะรู้สึกได้เลยว่าความแน่นความเงียบของตัวรถนั้นแตกต่างกันคนละเรื่อง ผมถามความเห็นสื่อมวลชนท่านอื่นกี่รายทุกคนล้วนชื่นชมกับการเก็บเสียงของรถคันนี้

เสียงเดียวใน XPANDER ที่ดัง ก็คงจะเหลือแต่เสียงลม ซึ่งเมื่อใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป จะมีเสียงลมตีฟู่ฟ่าเข้ามาที่กระจกของบานประตูคู่หน้า และจะดังขึ้นมากเมื่อเพิ่มความเร็วอีกจากจุดนี้ไป แต่พอย้ายไปนั่งเบาะหลังแล้ว กลับได้ยินเสียงลมน้อยกว่า แถมเสียงยางบดกับเสียงจากท้ายรถก็เงียบดีอีกต่างหาก คนนั่งหลังเลยสบายไป เรื่องเสียงลมนี่ต้องรอดูรถเวอร์ชั่นประกอบขายจริงล็อตหลังๆอีกที เพราะอาจเป็นเรื่องการตั้งประตูให้ปิดง่ายทำให้เสียงลมเข้าได้เยอะ ที่แน่ๆ ไม่ใช่รถผมคันเดียวที่ดัง

ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า (EPS) ซึ่งปรับเซ็ตมาได้ดีพอสมควร แม้เวลาเลี้ยวพวงมาลัยสัก 30 องศาแล้วปล่อยมือมันจะไม่มีแรงดีดกลับเลย (ซึ่งก็อาการเดียวกับพวกเพาเวอร์ไฟฟ้าอย่างใน Nissan Tiida ของผม) แต่น้ำหนักหน่วงมือที่ความเร็วทำ ทำมาดี ไม่ได้เบาโหวงจนนึกว่าลูกหมากปลายแร็คโดนหมาแทะเสื่อมไปแล้ว สำหรับคุณผู้หญิงที่ชินกับพวงมาลัยไฟฟ้าในอีโคคาร์ส่วนมาก จะรู้สึกหนักๆมือนิด แต่สำหรับคุณผู้ชายทั้งหลาย ผมเชื่อว่าคุณจะชอบ

การเซ็ตอัตราทดพวงมาลัยสำหรับการใช้งานในเมือง จะไม่ไวเท่า Suzuki Ertiga แต่ก็เพียงพอที่จะให้เลี้ยว 4 แยกใหญ่ด้วยการสาวพวงมาลัยไม่เยอะ เปลี่ยนเลน และกลับรถได้ในวงเลี้ยวที่แคบ มีความคล่องตัวสูง ส่วนในการเดินทางไกลใช้ความเร็ว 120-130 นั้นพวงมาลัยนั้นเมื่อถือตรงๆและหักซ้ายขวานิดๆจะรู้สึกแน่นมากๆ ระยะฟรีก็กำลังเหมาะ ความไวก็กำลังดี ไม่เกร็ง ไม่เครียด แต่เปลี่ยนเลนไปมาได้คล่องมือ เป็นพวงมาลัยสำหรับการขับทางไกลแบบที่ผมอยากได้พอดีเป๊ะ

ช่วงล่างด้านหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังทอร์ชั่นบีม H-Shape ไม่มีอะไรในกอไผ่แม้ในเอกสารแจกสื่อจะบอกว่าวาล์วน้ำมันในโช้คเป็นตัวเดียวกับของ Evo X แต่นั่นก็คือแค่วาล์วครับไม่ใช่โช้คอัพทั้งกระบอก

การซับแรงกระแทกที่ความเร็วต่ำ บอกได้เลยว่าประทับใจ มันอาจจะไม่ได้นุ่มเหมือนช่วงล่างถุงลมของรถใหญ่พันธุ์หรู แต่ถ้ามองว่านี่คือรถราคาหลักแสน และนำไปเทียบกับผองเพื่อนร่วมรุ่น XPANDER ให้ความรู้สึกสบายเวลาโดยสารมากที่สุด ด้วยความรู้สึกรับแรงกระแทกแบบตึบๆหนึบๆ ไม่โยนตัวดีดเด้งชม้อยชม้ายชายตาหน้าขาวน่ารำคาญ ทีม Mitsubishi พาเราไปลองวิ่งลุยบนลูกรังและถนนเลียบชายป่าด้วย แม้ว่าจะต้องมีแรงสะเทือนบ้างตามสภาพถนน แต่ก็เป็นแรงสะเทือนที่ได้รับการควบคุมมาอย่างดี

และเมื่อใช้ความเร็วสูง ก็ยังเหลือความมั่นใจ พอให้ผมสามารถขับแบบ 130-140 กิโลเมตร/ชั่วโมงยาวๆได้โดยไม่เครียด ตัวรถอาจจะมีอาการวูบวาบตามลมบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจ การโยกเปลี่ยนเลนที่ความเร็ว 110 แบบเร็วๆ ตัวรถเคลื่อนและยวบไปทิศทางเดียวแล้วคืนกลับอย่างรวดเร็ว ความสูงของรถอาจทำให้คุณคิดว่ามันจะส่ายร่อนโคลงเหมือน Toyota Avanza สมัยก่อน แต่ผมจะบอกเลยว่า XPANDER ห่างไกลจากความรู้สึกเหล่านั้นมาก ในการขับที่ความเร็วสูงก็เห็นจะมีแต่ Ertiga ที่เซ็ตช่วงล่างเอาใจคนชอบขับเร็วเท่านั้นแหละที่จะมีประสิทธิภาพเหนือกว่า แต่ถ้ามองแบบสมดุลระหว่างความเร็วต่ำ ความสะเทือน และความเร็วสูงทั้งหมด XPANDER ทำได้ดีที่สุดในกลุ่ม

ระบบเบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม มีระบบ ABS/EBD ให้ตามประสารถใหม่ควรมี การตอบสนองเวลาเหยียบแป้นเบรก พบว่าระยะเหยียบปานกลางถึงค่อนข้างไปทางสั้น น้ำหนักแป้นอยู่ในระดับกลาง ระยะฟรีไม่เยอะ ควบคุมแรงในการเบรกด้วยเท้าได้ง่าย ส่วนประสิทธิภาพการเบรกนั้น สามารถหน่วงความเร็วได้น่าไว้ใจ รวมถึงการขับบนเขาก็ไม่เฟดง่าย สิ่งที่ผมยังไม่มีโอกาสได้ลองคือการเบรกแบบ 160-80 ทำซ้ำๆหลายๆครั้งแบบที่ลองกับรถเก๋งทั่วไปว่าผ้าเบรกจะทนได้กี่น้ำ ส่วนหนึ่งเพราะกว่าจะไปถึง 160 ได้มันกินเวลามาก และผมได้มีโอกาสขับคนเดียวแค่ราว 20 นาที นอกนั้นจะมีผู้โดยสารอีก 2 ท่านไปด้วยตลอด

ส่วนระบบความปลอดภัยนั้น มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ASC ระบบป้องกันการลื่นไถล TCL ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA และระบบกระพริบไฟฉุกเฉินเมื่อเบรกอย่างรุนแรง ESS ทั้งหมดนี้ มีทั้งในรุ่น GLS-LTD และ GT ตัวท้อป

สำหรับอัตราการสิ้นเปลืองเท่าที่วัดได้นั้น อาจจะไม่ถือว่าประหยัดสักเท่าไหร่ โดยเมื่อพยายามประคองความเร็วช่วง 110-120 ตัวเลขบนจอ MID บ่งชี้ว่าได้อัตราสิ้นเปลือง 12.9-13 กิโลเมตรต่อลิตร

เพิ่มความเร็วเป็น 140 แล้วตัวเลขจะทยอยลดลงมาเหลือ 11.5 กิโลเมตรต่อลิตร และถ้ายิ่งคิกดาวน์บ่อยๆแถมเจอรถติดในเมืองแบบต่างจังหวัดบ้าง ก็จะลงไปเหลือ 10.9 ลิตร ผมคาดเดาจากที่เคยสังเกตมาเวลาขับ Honda BR-V น่าจะประหยัดกว่า XPANDER ราว 10% ในการขับแบบใช้งานผสมทุกรูปแบบ ส่วนถ้าขับแบบนิ่งๆ 110 ผมคิดว่า Honda คงได้อานิสงส์จาก CVT มาช่วยให้สร้างตัวเลขได้งามกว่าอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม คงต้องรอเอามาทดสอบตามมาตรฐานเว็บอีกครั้งครับ ถึงจะได้ตัวเลขที่เปรียบเทียบกันได้อย่างจริงจัง แต่บางท่านใจร้อน อยากรู้เร็ว ผมก็ตอบให้เท่าที่สามารถทำได้ ณ ปัจจุบัน

 

****สรุปเบื้องต้น*****

***หน้าโหดแต่ใจดี ไม่แรง แต่มั่นใจและสบายไปพร้อมๆกัน****

Mitsubishi XPANDER เป็นรถ 7 ที่นั่งแบบที่น่าจะเหมาะกับครอบครัวของเยอะ ชอบเดินทางเป็นหมู่คณะ รวมถึงคนที่อาจจะไม่ได้ต้องการบรรทุกผู้โดยสารเยอะ แค่อยากได้รถสักคันที่ใต้ท้องสูง ลุยน้ำท่วมสบายใจกว่ารถเก๋งเตี้ยๆหน่อย อยากได้รถที่ขับคล่องเหมือนรถเก๋งทั่วไป ช่วงล่างไม่ดีดเด้งแบบรถกระบะ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเป็นล้านไปซื้อ SUV หรือ PPV คันใหญ่

ยิ่งถ้าหากเป็นครอบครัวที่สามีใช้ Pajero Sport แล้วคุณภรรยาอยากได้รถใหม่สักคัน XPANDER ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมบนเงื่อนไขที่ว่าครอบครัวนั้นต้องชินกับศูนย์บริการและการใช้งานรถ Mitsubishi อยู่แล้ว แบบนี้ก็จะสามารถเติมเต็มฟังก์ชั่นของรถในบ้านได้ คุณมี Pajero Sport ไว้เดินทางไกล ขึ้นเขา ลงห้วย ส่วนในเมืองหรือเดินทางระยะใกล้ๆ XPANDER ก็ตอบโจทย์ได้

พูดถึงข้อดีของตัวรถ สิ่งที่ผมชื่นชมก่อนเลยคือ “ความรู้สึกที่ได้ในภาพรวมเวลาขับ/โดยสาร” ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกเซ็ตช่วงล่างที่มีความเหมาะสมกับรูปแบบรถ ให้ความนุ่มนวลและกระชับแบบกำลังดี และเผื่อที่เอาไว้สำหรับการเดินทางแบบเร่งรีบ กับการหักหลบอันตรายเวลาฉุกเฉิน ไม่ก่อให้เกิดความเครียดเวลาขับ เบาะนั่งตอนที่ 1 และ 2 มีความสบายเป็นอันดับต้นๆของคลาส พวงมาลัยที่เซ็ตมาลงตัว หักเลี้ยวคล่องที่ความเร็วต่ำ หนืดที่ความเร็วสูง คันเร่งตอบสนองเป็นธรรมชาติ เกียร์นิสัยเข้าใจง่าย

ทั้งหมดนี้ ทำให้ XPANDER เป็นรถที่ผมจะเลือก ถ้าต้องขับเป็นระยะทางไกลมากโดยมีแฟน เมีย หรือแม่ (บางทีก็นับเป็นฟังก์ชั่นเดียวกันหมดแหละ) คอยกำกับไม่ให้ขับเร็ว ไม่ให้กระแทกคันเร่ง ก็ไหนๆจะช้าแล้ว ผมก็ขอช้าและนิ่งในรถที่มันนั่งสบาย ขับสบายดีกว่า ยิ่งมี Cruise Control ช่วยแล้ว บางทีผมก็แค่ปล่อยให้รถวิ่งไป 110-120 แล้วก็ผ่านร้อยกิโลเมตรไปโดยไม่รู้สึกล้าลงสักนิด

ความง่ายในการพับเบาะ การจัดการบริหารเบาะแถวสองและสามให้สามารถพับได้ง่ายและเก็บได้เรียบ ยิ่งช่วยเพิ่มความอเนกประสงค์มากขึ้น..ผมบอกแล้วครับหน้าโหด แต่ที่จริง XPANDER เป็นรถสายชิล รักสงบ ใจกว้าง พูดง่าย ใครว่าไงก็ว่าตามกัน

ส่วนข้อเสียที่ยังต้องพูดถึง อันที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องอัตราเร่ง ซึ่งช้ากว่า Suzuki Ertiga 1.4 นิดหน่อย และช้ากว่า Honda BR-V กับ Toyota Sienta มาก ยิ่งเป็นเวลาขับขึ้นเขา รู้สึกได้ว่าถ้าจะขึ้นไหว ต้องใช้เกียร์ 1 กับ 2 ช่วยอยู่ตลอด ด้วยความที่อัตราทดเกียร์ 3 นั้นยาวเกินกว่าจะใช้สร้างแรงเพื่อขึ้นเนินได้ บนถนนภูเขาที่ชันคล้ายกัน Honda BR-V กับเกียร์ CVT วิ่งไต่เนินไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้สึกต้องทรมานเครื่องมากเท่า ไม่ต้องพูดถึงการเร่งแซงบนถนนสวนเลนที่ XPANDER ต้องลุ้นพอสมควรเวลาเจอขบวนรถบรรทุกขับติดๆกัน 3 คัน

ดังนั้น แน่นอนครับ ถ้าผมต้องเลือกรถ 7 ที่นั่งขับไปไกลๆ แล้วไม่มีใครมาค่อยจำกัดความเร็ว..ผมอาจจะไม่เลือก XPANDER

สิ่งอื่นที่ยังมีให้ปรับปรุงได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โตหรือเสียหายมากนัก กล้องหลัง (ที่ไม่ค่อยชัด) เครื่องเสียง เราไปทำเองต่อยอดได้ไม่แพงมากนัก ส่วนตำแหน่งเบาะที่ค่อนข้างสูงสำหรับคนขับ เอาเข้าจริงก็สามารถปรับความคุ้นชินแบบที่เรารับได้

ตอนนี้ ก็เหลือแค่ รอดูราคา ว่าจะมาทรงไหน ตามดีลเลอร์เริ่มปักป้ายโชว์แล้วว่า รุ่นเริ่มต้น ราคา 7xx,000 บาท..คือสำหรับคนหาเช้ากินค่ำไม่ได้ทำนาบนหลังคนอื่นแล้วกินหัวคิวฟรีอย่างพวกเรานี่ 710,000 กับ 790,000 มันคนละเรื่องเลยนะ..ภาวนาให้เป็น 7 แสนต้นละกันครับ ส่วนรุ่นท้อปได้ข่าวมาว่าอยู่แถวแปดแสนกลาง บางคนบอก 840,000 บางคนบอก 869,000 บาท ที่แน่ๆ เดือนหน้า ได้รู้กันแน่นอน

ดังนั้น ท้ายสุด XPANDER ก็เหมือนรถคันอื่นๆอีกหลายร้อยคันที่ผมทดสอบมา คือมันมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งแทนที่จะเอาเวลามานั่งทำตัวเป็นติ่งแก้ตัวแทนรถ ผมว่ามันดีกว่าถ้าเราจะศึกษารถอย่างจริงจัง หรือไปลองพิสูจน์ด้วยตัวเองโดยมีเป้าหมายที่การหารถที่มันเหมาะกับคุณ อย่าถามผมเลยครับว่า ถ้าเป็นพี่แพน พี่แพนจะเลือกรถอะไร เนื่องจากพี่แพนไม่ใช่เมียคุณ พี่แพนไม่รู้นิสัยการขับ ไม่รู้ความชอบ รสนิยมของคุณ อ่านบทความของเรา แล้วคิดต่อยอดไปเถอะครับว่ารถคันนั้นๆมีแนวโน้มที่จะตอบโจทย์คุณได้หรือไม่

อย่างสมมติว่า ถ้าคุณมองตัวเลือกเสริมนอกเหนือไปจาก XPANDER ก็จะมี Honda Mobilio ซึ่งตอบโจทย์ 7 ที่นั่งได้เหมือนกัน ใต้ท้องรถเตี้ยกว่ากันแค่ 16 มิลลิเมตร อุปกรณ์ความปลอดภัยครบ เร่งแรงแซงไวแถมมีรุ่นเริ่มต้นที่ราคา 659,000 บาท ซึ่งน่าจะถูกกว่า XPANDER รุ่นเริ่มต้นเป็นแสน แต่คุณโอเคมั้ยกับการประกอบรถสไตล์ Honda ซึ่งดูจะเบาๆและไม่ได้ให้ความรู้สึกแน่นหนาเท่าไหร่

ส่วน BR-V นั้น คุณได้ภายนอกที่ดูมีความเก๋ไก๋จากหน้าตาที่คล้าย SUV และได้ความสูงใต้ท้องรถเพิ่มจาก Mobilio 12 มิลลิเมตร แต่คุณสมบัติด้านอื่นนั้นคล้ายกัน ช่วงล่างสะเทือนกว่านิดๆ แต่โยนโค้งไม่ต่างกันมาก เพื่อความเก๋แบบ SUV คุณจะต้องเพิ่มเงินเป็น 755,000-820,000 บาท อุปกรณ์ต่างๆไม่ครบครันเท่า XPANDER พวงมาลัยปรับเข้าออกไม่ได้ เบาะปรับสูงต่ำไม่ได้ แต่เบาะแถวสามนั่งสบายสุด และมีพละกำลังเร่งแซงทางไกลที่เชื่อใจได้

Suzuki Ertiga ราคา 655,000-735,000 บาท ดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับคนชอบรถที่ขับคล่องตัวในเมือง ด้วยบุคลิกรถที่เซ็ตพวงมาลัยมาตอบสนองไว ช่วงล่างดีกว่าที่คาด ใช้ความเร็วสูงแล้วไม่เหนื่อย เบาะนั่งและพวงมาลัยปรับรองรับสรีระร่างคนได้หลายไซส์ แต่จะบอกให้ว่ารุ่นโมเดลเชนจ์เปิดตัวที่เมืองนอกแล้ว คุณอาจจะอยากรอรถรุ่นนั้น ซึ่งมีโครงสร้างแพลทฟอร์มใหม่จาก All-new Swift ที่อาจจะทำให้รถขับดียิ่งขึ้นไปอีก

และอีกคัน..Toyota Sienta มาวินที่การได้ประตูสไลด์ไฟฟ้าในราคา 750,000-825,000 บาท คุณได้ช่วงล่างที่ดี พลังเครื่องที่แรงใช้ได้แต่มากับคันเร่งที่ไวๆห้าวๆแบบประหลาดหน่อย เบาะแถวสองและสามยังนั่งไม่สบายเท่า XPANDER เพราะขาดที่เท้าแขนตรงประตูไป รูปร่างหน้าตามาแนว chic ถูกใจวัยรุ่น

จะเห็นได้ว่าในSegment 7 ที่นั่งพิกัดเล็กเหล่านี้ รถแต่ละคันก็ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน ซึ่งคุณนั่นล่ะครับจะต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีความต้องการคุณสมบัติด้านใดมากที่สุด เลือกมาสัก 2-3 ข้อก่อนเพื่อให้มีโฟกัสที่ชัดเจน จากนั้นเลือกรถที่มีลักษณะใกล้เคียงกับความต้องการเหล่านั้น แล้วก็ไปลองสัมผัสตัวจริง

ด้วยวิธีนี้ล่ะครับ คุณจะได้เป็นเจ้าของปิคนิคคาร์แห่งความสุข ที่จะนำความพึงพอใจมาให้คุณและครอบครัวได้ไปอีกยาวนาน 5-8 ปีหรือจนกว่าจะผ่อนชำระหมด

ชีวิตของเรา รถของเรา เราคิด เราเลือก

แต่คิดให้นานก่อนเลือกครับ

 

———————————///———————————-


ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

ฝ่ายประชาสัมพันธ์   บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานในด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง

Pan Paitoonpong

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นของ Mitsubishi Motors ประเทศไทย และผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com  11 กรกฎาคม 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 11 July 2018

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE!