กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว เมื่อครั้งที่โลกยังมี Windows 3.1 กับ MS-DOS ใช้แพร่หลายและโทรศัพท์มือถือยังมีขนาดใหญ่ หนัก และแพงหลายหมื่นบาท มีบริษัทเกมแห่งหนึ่งชื่อ MicroProse ทำเกมแนว Strategy ออกมา ชื่อ UFO: Enemy Unknown
เนื้อเรื่องหลักของเกมก็คือมนุษย์ต่างดาวบุกโลกครับ ไม่ใช่พล็อตที่แปลกสำหรับหูและตาของเด็กมัธยมตัวอ้วนบ้าเกมคนนึงในสมัยนั้น แต่ความยากในการเล่นอยู่ที่คุณต้องสวมบทบาทเป็นบอสใหญ่ของหน่วยปราบมนุษย์ต่างดาวที่ชื่อ XCOM ซึ่งในแต่ละปีคุณจะได้รับงบประมาณจากประเทศต่างๆ ซึ่งต้องเอาไปบริหารอย่างถูกต้องว่าจะสร้างฐานทัพที่ไหน จะมีห้องแล็บหรือคลังอาวุธเท่าไหร่ จะวิจัยลงทุนกับปืน จรวด และอุปกรณ์ต่างๆอย่างไรให้เกิดประสิทธิผลที่สุด
บริหารดี…ตั้งฐานทัพถูกที่ ประเทศนั้นๆจะเทงบให้กับคุณอย่างมหาศาล วางแผนป้องกันดี..แล้วจะไม่เสียฐานทัพเมื่อถูกเอเลี่ยนรุกราน แต่ถ้าทุกอย่างพลาด หรือคะแนนความพอใจได้เกรด Terrible (แย่สุดขีด) ติดต่อกันเกิน 3 เดือน คุณก็จะถูกปรับแพ้
ส่วนที่สนุกก็คือ เมื่อคุณยิงจานบินตก หรือเอเลี่ยนยกพลบุกที่ไหน คุณก็จะต้องจับทหารใส่ยานลำเลียง แล้ววางแผนออกรบ จับอาวุธยัดมือทหารด้วยตัวคุณอง คุณสามารถตั้งชื่อทหารได้ด้วย (ผมตั้งชื่อตามอาจารย์ไปหลายคนเหมือนกัน) เมื่อยานลงจอด คุณจะต้องคลิกที่ตัวทหารแต่ละคน แล้วสั่งเดินซ้ายขวาหน้าหลัง ทหารแต่ละคนจะมีขีดจำกัดเวลา (Time Unit) เมื่อคุณสั่งให้เขาเดิน ย่อ ยืน หรือยิงอาวุธ Time Unit ก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าเหลือ 0 เหมือนไหร่ ทหารรายนั้นจะขยับตัวไม่ได้อีก จนกว่าคุณจะกดปุ่ม Turn ตา ให้พวกเอเลี่ยนมันเดินตัวละครของมันบ้าง
สำหรับเด็กมัธยมที่ไม่ได้คิดอะไรมาก..มันก็เป็นแค่เกมที่แข่งเพื่อเอาชนะแต่ละด่านให้ได้เท่านั้น แต่เมื่อผมแก่ตัวลงแล้วมองย้อนกลับไป สิ่งที่เกม Strategy ลักษณะนี้สอนเรา มันช่างคล้ายกับชีวิตจริงขององค์กรธุรกิจหลายแห่ง ซึ่งการตัดสินใจจะใช้เงินเพื่อทำอะไร การจะสั่งให้ใครปฎิบัติหน้าที่ไหน หรือจะใช้งบประมาณกับทรัพยากรที่มีอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย อันที่จริง SIM CITY ภาคแรกก็สอนเราในแบบคล้ายๆกัน แต่มันไม่ให้เราสวมบทบาทภาคปฏิบัติการ
บริษัทรถยนต์ ก็มีภารกิจต่างๆในแนวที่คล้ายกันกับเกม UFO นี้ การตัดสินใจทุกอย่างตั้งแต่นโยบายประจำปี การกำหนดเป้า การปรับเงินเดือนพนักงาน ล้วนเป็นทางเลือกที่ส่งผลบวกหรือลบได้ทั้งสิ้น
เอาแค่เรื่องการกำหนดงบประมาณสำหรับ “ทุกส่วน” ของตัวรถก็ยากแล้ว เรื่องนี้ถ้าคุณไม่เมากลิ่นดอกลาเวนเดอร์มากเกินไปจะพบว่าการเอาชนะทั้งใจของลูกค้า และปากกาของฝ่ายการเงินมันยากราวเข็นภูเขาขึ้นครก คุณจะเอาเงินไปลงกับอะไรล่ะ น็อต ยาง โลหะ การวิจัยเครื่องยนต์ เกียร์ ช่วงล่าง วัสดุภายนอก ภายใน ซันรูฟ มูนรูฟ สุริยคราสรูฟ แม้กระทั่งพลาสติกปิดรูอะไรสักอย่าง ทุกอย่างล้วนเป็นองค์ประกอบของขี้ก้อนใหญ่ที่เรียกว่า “ต้นทุนการผลิต” ซึ่งคนสร้างรถต้องเลือก 2 อย่างสละ 1 อย่างเสมอกว่าจะมาเป็นรถ 1 คัน
MG ก็เหมือนกับบริษัทรถยนต์ทุกค่าย ที่ต้องเผชิญภาวะกดดันจากการเลือกกำหนดแนวทางให้กับองค์ประกอบต่างๆของรถแต่ละรุ่น และในครั้งแรกที่ผมแอบรู้ราคาของรุ่นท้อปก่อนหน้าที่ MG จะนำ SUV/Crossover รุ่นเล็กหน้าใหม่อย่าง ZS มาประกอบขาย..ผมกรี๊ดกับราคา แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่า Nothing comes for free in business world (ในโลกธุรกิจ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆหรอก)
มันอยู่ที่ว่าการตัดสินใจของทีม MG จะโดนใจผู้บริโภคหรือเปล่า…กับทางเลือกต่างๆที่พวกเขาบรรจงด้วยใจบรรจุลงใน ZS
สำหรับความเป็นมาของรถรุ่นนี้นั้น เกิดจากการที่ทาง SAIC บริษัทแม่ เล็งเห็นแนวโน้มการเจริญเติบโตของยอดขายรถ SUV/Crossover ขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป หรือเอเชีย GS ที่ขายอยู่ก็ยังจัดเป็นรถขนาดกลาง และมีข้อจำกัดทางด้านต้นทุนที่ทำให้ไม่สามารถทำราคาถูกพอจะยั่วใจกลุ่มวัยรุ่น หรือคนทำงานที่ต้องการ SUV คันแรกของชีวิต
นอกจากนั้นแล้ว ZS ยังเป็นรถ MG รุ่นแรกที่ได้ใช้แนวทางการออกแบบ “Emotional Dynamism” ซึ่งมาแทนเส้นสายแนวหกเหลี่ยมอย่างที่เราพบใน MG รุ่นอื่นๆที่ขายในไทย ทีมออกแบบของ MG ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำแบบสำรวจกับกลุ่มตัวอย่าง 300 คน จาก 16 เมืองใน 8 ประเทศเพื่อให้ทราบว่า “SUV ของคนรุ่นใหม่ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ส่วนชื่อรุ่น ZS นั้น แม้ว่าเดิมจะเป็นชื่อของรถเก๋ง MG ที่เอาพื้นฐานมาจาก Rover 45 (ซึ่งก็คือ Rover 400 ไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งแชร์โครงสร้างและวิศวกรรมกับ Honda Civic ยุโรป) แต่พอมาเป็นรุ่นใหม่ทาง SAIC ให้คำจำกัดความชื่อรุ่น ZS ว่า Z ย่อมาจากคนรุ่นใหม่ Generation Z ซึ่งก็คือคนยุคโซเชียลมีเดียที่สนใจในสิ่งรอบตัว และมีความกระตือรือร้นที่จะลองอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ และยังย่อมาจากคำว่า “Zest” ที่แปลว่า พลังกายและแรงใจที่ยิ่งใหญ่ (great enthusiasm and energy)
เมื่อพัฒนารถเสร็จ ทาง SAIC เผยรายละเอียดของ ZS ครั้งแรกในวันที่ 9 พฤศจิกายน แล้วก็นำไปโชว์ตัวในงานกวางเจามอเตอร์โชว์ในวันที่ 18 ของเดือนเดียวกัน พร้อมกับขนานนามว่ารถรุ่นนี้คือ “Compact Internet SUV” (อะโห..) เพราะมีการพัฒนาซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชั่นต่างๆมาใช้กับรถอย่างตั้งใจ สามารถเชื่อมต่อกับมือถือ เช็ครถ สั่งสตาร์ทรถจากสมาร์ทโฟนได้ ยิ่งถ้าเป็นในตลาดจีน รถ ZS มีการติดตั้งระบบ Online Payment ของ Alipay มาให้ในรถเลยทีเดียว
สำหรับตลาดประเทศไทยนั้น MG Sales ประเทศไทย ได้ทำพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2017 ที่ GMM Live House CentralWorld ราชประสงค์ นำพาความปลื้มปิติอย่างยิ่งยวดมาสู่ทีมงาน Headlightmag ไม่ใช่เพราะรถเจ๋งมาก แต่เพราะว่าต่อไปนี้เราจะไม่ต้องมาคอยตอบคำถามแล้วว่าไอ้รถทรง SUV ที่คาดสติกเกอร์ม้าลายพรางตัววิ่งอยู่แถวๆสีลมกับระยองมันคือรถอะไร ฮ่วย! ถามกันเข้ามาเหลือเกิน ตอบมันทุกวัน ขนาดทำบทความเอารถคันที่พรางตัวมาอธิบายไม่รู้กี่รอบ
ตำแหน่งทางการตลาดของ ZS ในประเทศไทย ก็มีความคล้ายคลึงกับที่เมืองจีนและอังกฤษ กล่าวคือ เป็นรถ B-Segment SUV/Crossover ที่เน้นความคุ้มค่าจากราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งระดับเดียวกัน เหมือนที่ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ว่า “เราพยายามเอาความเป็นรถ SUV มาสู่ลูกค้า ในราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ง่าย โดยยังมีอุปกรณ์มาตรฐานติดรถในระดับที่ลูกค้าเห็นแล้วพึงพอใจ”
ซึ่งก็น่าจะจริงอยู่ เพราะแม้ว่าตลาด B-SUV/Crossover จะมีคู่แข่งมากรุ่นหลายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น Ford Ecosport, Toyota Avanza, Honda BR-V, Honda HR-V, Mazda CX-3 และ Nissan Juke แต่จุดเด่นทางด้านราคาของ ZS ก็คือราคาเริ่มต้นที่ต่ำแค่ 679,000 บาท ซึ่งเรียกได้ว่าต่ำกว่าคู่แข่งตัวหลักเกือบทุกรุ่น แม้กระทั่งราคาของรุ่นท้อป 1.5X ก็ยังถูกกว่า BR-V ตัวท้อปหลายหมื่นและอยู่ในเพดานต่ำกว่า HR-V และ CX-3 มากจนทำให้คนยอมรับข้อเสียเปรียบในด้านอื่นๆได้
MG ประเทศไทยมีความมั่นใจใน ZS มาก พวกเขาตั้งใจว่ามันจะกวาดยอดขายได้ 12,000 คันต่อปี (เดือนละ 1,000 คัน)
อย่าเพิ่งคิดว่าพวกเขามั่นใจเกินเหตุนะครับ..ล่าสุดหลังจากจบงาน Motor Expo คุณหมู ธีรพัฒน์ นักข่าวสายสว่านเจาะกระแทกของเราได้สอบถามตัวเลขที่ได้จากในงานมา ปีนี้ MG ฟันยอดจอง (Booking) ไปได้ 2,366 คัน และ ZS รุ่นเดียวถือครองยอด 1,201 คัน! คิดเป็น 50.76% ของยอดทั้งหมด นี่คือยอดจากในงานล้วนๆ ยังไม่รวมยอดที่เก็บจากรอบประเทศมาก่อนหน้านี้อีกหลายร้อยคัน
มาว่ากันที่ตัวรถต่อดีกว่าครับ
MG ZS มีความยาวตัวถัง 4,314 มิลลิเมตร กว้าง 1,809 มิลลิเมตร สูง 1,624 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,585 มิลลิเมตร ระยะแทร็คล้อคู่หน้า 1,526 มิลลิเมตร หลัง 1,534 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดของรถถึงพื้น (ground clearance) 165 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถโดยประมาณ 1,258 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน 48 ลิตร
จะเห็นได้ว่าขนาดตัวของ ZS ไม่ได้เล็กเลย เพราะมีแค่ BR-V ซึ่งเป็นรถที่ตั้งใจออกแบบมารองรับการโดยสาร 7 ที่นั่งเท่านั้นที่มีลำตัวยาวกว่า แต่ในภาพรวม ZS ใหญ่กว่าคันอื่นๆเกือบทั้งหมด ใหญ่กว่า ยาวกว่า และสูงกว่า HR-V, CX-3 และ Ecosport อย่างชัดเจน ส่วนความสูงใต้ท้องรถนั้นจะใกล้เคียงกับ CX-3 ซึ่งบ่งบอกได้ว่าไม่ได้ทำมาเน้นลุยน้ำท่วม แต่ก็ให้ความสูงมากกว่ารถเก๋งปกติราว 3 เซนติเมตร และยังอยู่ในระดับที่ผู้เฒ่าคนแก่ของบ้านยังสามารถขึ้นลงได้ง่าย
น้ำหนักตัวถังก็ไม่ได้มากอย่างที่คิด โดยปกติรถของ MG มักจะหนักกว่าคู่แข่งเป็นร้อยกิโลกรัมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องขนาดตัวหรือโครงสร้าง แต่ ZS มีน้ำหนักไล่เลี่ยกับคู่แข่ง และหนักกว่า MG3 แค่ประมาณ 38 กิโลกรัมเท่านั้น แม้ว่าจะยังมีข้อสงสัยอยู่บ้างว่ารุ่นล่างสุดกับตัวท้อปที่เราทดสอบนั้นมีอุปกรณ์หลายอย่างที่ต่างกัน แต่น้ำหนักที่แจ้งกรมสรรพสามิตกลับเท่ากันหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะบางค่ายก็แจ้งตัวเลขมาในลักษณะนี้
ไฟหน้าของทุกรุ่นเป็นแบบ Projector ใช้หลอดไฟฮาโลเจน รุ่น D และ X จะมี Daytime Running Light และไฟตัดหมอกมาให้ กระจังหน้าลายตาข่าย ดูเป็นวัยรุ่น เหมาะกับรูปแบบของตัวรถ ด้านหน้าของตัวถัง ออกแบบใหม่หมดจนไม่เหลือเค้าดีไซน์ MG เดิม มีเอกลักษณ์แบบผสมผสานระหว่างรถเอเชียหลายรุ่น แต่ไม่ได้เหมือนกันเป๊ะ
มุมมองจากด้านหลัง มีไฟท้ายแบบ LED Tube ที่ออกแบบมาได้ดูสวยงาม มีกลิ่นอายของรถยุโรปจาก Volkswagen Group อยู่พอสมควร (บางทีก็นึกถึง KIA ซึ่งบอสฝ่ายออกแบบ ก็เป็นเด็กเก่า VW Group) และไม่ได้สืบทอดดีไซน์เส้นสายจาก MG รุ่นก่อนหน้านี้เลยแม้แต่น้อย นับว่าเป็นการออกแบบที่เริ่มต้นจากกระดาษขาว มีความแปลกใหม่ ส่วนใครจะชอบหรือไม่นั้นก็แล้วแต่รสนิยม
ถ้าคุณมองหาคันดึงเปิดฝาท้ายไม่เจอ ไม่ใช่เพราะพวกเขาตัดมันออกหรอกครับ นักออกแบบของ MG เขาซ่อนคันดึงเปิดไว้ที่โลโก้บนฝาท้ายนั่นแหละ เพียงแค่คุณกดผิวตอนบนของโลโก้ ด้านล่างของมันก็จะง้างออกให้คุณดึงเปิดได้ เป็นวิธีซึ่งคนที่ชินกับรถญี่ปุ่นจะงง แต่คนที่ใช้รถยุโรปเก่าๆมาก่อนจะไม่แปลกใจเพราะหลายค่ายก็ชอบซ่อนเนียนในลักษณะนี้
กุญแจของ MG ZS ทุกรุ่นย่อย เป็นกุญแจรีโมต ซึ่งเวลาจะเข้ารถก็ต้องกดปุ่มปลดล็อคกันเอาเอง ไม่ได้มีระบบ Smart Entry มาให้ (ถ้าเป็นรถของคู่แข่ง จะมีในรุ่นที่ราคาสูงเป็นส่วนมาก) แต่มีสวิตช์สั่งเปิดฝาท้ายมาให้ เพราะเขารู้ว่าบางคนอาจจะไม่มีวันหาที่กดเปิดฝาท้ายจากข้างนอกเจอ เลยทำไว้ให้บนรีโมตแบบนี้ซึ่งก็สะดวกดีไปอีกแบบ
ทางเข้าออกของห้องโดยสารด้านหน้า มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แม้เสา A-pillar จะมีความลาดเอียงมากแต่ความที่หลังคาของรถพองสูงขึ้นพอสมควรทำให้แม้แต่คนสูง 183 เซนติเมตรอย่างผม เข้าออกจากรถได้โดยไม่มีปัญหา เคลียร์ทางตลอดตั้งแต่หัวถึงเท้า ตำแหน่งความสูงของเบาะนั่ง ก็อยู่ในจุดที่พอดีสำหรับคนส่วนใหญ่สไลด์ตัวเข้าออกได้โดยไม่ต้องใช้แรงขาหรือแรงพยุงมากนัก
แผงประตู ตกแต่งด้วยหนังเทียม วัสดุนุ่มตัดสลับบางจุด และวัสดุพลาสติกสีเงิน ซึ่งทำมาได้สวยลงตัวเมื่อเทียบกับราคาของรถ ถ้าใครอยากได้ประตูหุ้มนุ่มทั้งบาน ผมว่าคุณคงคาดหวังมากเกินไปกับรถ SUV ราคาไม่เกิน 800,000 บาท เพราะถ้าไปลองดูแผงประตูของรถประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เอาเฉพาะที่ราคาใกล้ๆกันกับ ZS ผมก็ไม่เห็นมีใครทำประตูออกมาให้ดูหรูกว่านี้ได้
เบาะหน้าหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ แต่ผิวสัมผัสก็ไม่ถึงกับแย่ เมื่อรวมกับโทนสีที่ใช้และวิธีการตัดเย็บเผลอๆจะดูน่านั่งกว่าเบาะของ MG GS 1.5 เสียด้วยซ้ำ เบาะรองนั่งอาจจะมีขนาดปานกลาง แต่ส่วนที่ยื่นออกมารองรับใต้น่องนั้นยาวใช้ได้ และไม่ทำให้ผมรู้สึกปวดอวัยวะเบื้องล่างเลยแม้ว่าต้องนั่งขับต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง
พนักพิงหลัง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และบุด้วยฟองน้ำที่นุ่มในระดับพอเหมาะ โอบรับแผ่นหลังได้ดีขาดแค่การดุนบริเวณช่วงท้ายทอยลงมาเพียงนิดเดียว ส่วนพนักพักพิงศีรษะจะดันไปข้างหน้าเล็กน้อยแต่โชคดีที่มันนุ่มสบายหัวคล้ายหมอนรองหัวของ Volvo ถือว่า MG เลือกใช้วัสดุได้ดี นับเฉพาะจุดนี้ ผมว่าหมอนรองหัวสบายกว่าของ Subaru XV (ตัวใหม่) และ Mazda CX-5 2017 ที่เป็นรถใหญ่กว่าและแพงกว่ามากด้วยซ้ำ
เบาะฝั่งคนนั่ง ปรับได้ 4 ทิศทาง ส่วนเบาะฝั่งคนขับจะเพิ่มคันโยกสำหรับปรับเบาะสูง/ต่ำมาให้ และเป็นการปรับเบาะแบบยกขึ้นหรือกดลงไปทั้งตัว ไม่ใช่ปรับองศาความเทโดยไม่ปรับความสูงที่แท้จริงของเบาะอย่าง MG5 ทำให้คนขับมีโอกาสเลือกตำแหน่งเบาะที่ขับถนัดได้มากกว่า เข็มขัดนิรภัยยังปรับสูง/ต่ำไม่ได้ น่าเสียดายตรงจุดนี้ กับพวงมาลัยที่ปรับได้แค่สูง/ต่ำ ไม่สามารถปรับระยะเข้า/ออกได้
ทางเข้าออกประตูหลังถือว่าใหญ่พอสำหรับคนทั่วไป หากเป็นคนตัวสูงอาจจะต้องพยายามหาวิธีตวัดขาหลบเสากลางหน่อย แต่เมื่อความสูงของรถอยู่ในระดับที่พอดีต่อการขึ้นลง ก็เลยไม่ต้องเล่นกายกรรมมาก ประตูหลังตอนบนจะไม่ลาดลงมากนัก ทำให้ไม่ต้องก้มหัวหลบ จุดนี้เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ขนาดตัวเท่ากัน ถือว่าทำได้ดี
เบาะหลัง มีความนุ่มนวลคล้ายกับเบาะหน้า ทั้งเบาะรองนั่งและพนักพิงหลัง หมอนรองศีรษะทรง L คว่ำที่ดูเหมือนไม่น่าจะสบาย แต่แท้จริงแล้วกลับโอเค เพราะหมอนรองไม่แข็งเกินไป และตั้งองศารับส่วนหลังของศีรษะได้ค่อนข้างพอดี และที่น่าแปลกใจก็คือ เมื่อผมลองวัดพื้นที่วางขาเทียบกับรุ่นพี่อย่าง GS โดยปรับตำแหน่งเบาะหน้าไปยังตำแหน่งการขับปกติของผม แล้วก็ย้ายมานั่งเบาะหลัง..พบว่ามีพื้นที่วางขาใกล้เคียงกันมาก และพื้นที่บริเวณเข่าเหลือเกือบเท่ากัน
หากเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม CX-3 คงไม่ต้องนับ เพราะเขาสงวนเบาะหลังไว้ให้มนุษย์ผอมนั่งเท่านั้น บรรยากาศก็ทึบน่าอึดอัด ส่วน BR-V นั้น ได้เปรียบเรื่องพื้นที่และการปรับเบาะเลื่อนหน้าถอยหลัง แต่ตัวเบาะสู้ไม่ได้ ถ้าจะมีใครสบายใกล้เคียงกันมากที่สุดก็คงเป็น HR-V แต่เวลานั่ง ZS ก็ได้ความรู้สึกโปร่งจากบานกระจกขนาดใหญ่กว่าอยู่ดี
เบาะหลังของ ZS สามารถแบ่งพับได้ 60:40 เพื่อเพิ่มความอเนกประสงค์ในการใช้งาน แต่จะดีกว่านี้ถ้ายอมให้ที่เท้าแขนตรงกลางเบาะมาสักนิด ไม่ต้องเลือกแบบอลังการมีมีที่วางแก้วมีฝาปิดหรอก เอาแค่ที่เท้าแขนสี่เหลี่ยมธรรมดาหน้าตาดูฉลาดๆสักอันก็พอ แต่ในเมื่อไม่มีให้มา แนะนำว่าเวลาเดินทางให้เอาหมอนเหลี่ยมติดรถไปด้วย ใช้ได้เหมือนกัน ถ้าหาหมอนเหลี่ยมไม่ได้ อนุญาตให้ใช้แมวเปอร์เซียแทน น่ารักกว่าด้วย
ฝากระโปรงท้ายเปิดด้วยกลไกธรรมดา ผมว่าคงไม่มีใครบ้าเรียกหาฝาท้ายไฟฟ้าจากรถราคา 7-8 แสน..แต่ถ้าคุณบ้าพอ MG ก็มีทางออกให้ครับ เพราะคุณสามารถสั่งติดตั้งฝาท้ายเปิด/ปิดไฟฟ้าตอนที่จองรถได้ เพิ่มเงินไป 18,900 บาทเท่านั้น แถมเป็นอะไหล่ตกแต่งสังกัด MG เอง มีระบบ Jam Protection ด้วย (ลองมาให้แล้วว่าดีดคืนจริงๆ)
พื้นที่ท้ายรถของ ZS มีความจุมากถึง 448 ลิตร ถ้าพับเบาะหลัง (ซึ่งแบ่งพับได้แบบ 60:40) ลง ก็จะได้ความจุเพิ่มเป็น 1,375 ลิตร ซึ่งถือว่าโอเคแล้วสำหรับรถเซกเมนต์นี้ เพราะ CX-3 จุเพียง 264 ลิตร แต่จะแพ้ HR-V ซึ่งเป็นเงาะซ่อนรูป ดูท้ายสั้นๆแต่ลึกและจุถึง 565 ลิตร ลักษณะของพื้นที่เก็บของจะกว้างปกติ ยาวพอสมควร แต่มีมิติความลึก ซึ่งคุณสามารถถอดเอาแผ่นรองพื้นท้ายรถ (ตามรูปข้างบน) แล้วจับมันยัดร่องข้างล่าง ก็จะได้พื้นที่เก็บของทรงสูงเพิ่มขึ้นอีก 10 เซนติเมตร ขนของทรงเหลี่ยมเช่นตู้ได้สบาย หรือถ้าอยากพับเบาะแล้วให้พื้นเรียบหน้าถึงหลัง ก็แค่ถึงแผ่นนี้ออกแล้วสล็อตเข้าไปที่ช่องด้านบน เป็นความอเนกประสงค์ง่ายๆที่ต้องชมคนคิด
ภายในของรถ ถ้าเป็นรุ่น 1.5 C ตัวล่างจะเป็นสีดำ ส่วนรุ่น D และ X จะเป็นสีดำสลับน้ำตาล แดชบอร์ดตอนบนทำจากวัสดุกึ่งนุ่ม ให้สัมผัสที่ดีพอประมาณ ส่วนตอนล่างจะเป็นวัสดุแข็งตามปกติ มีการเพิ่มลูกเล่นด้วยวัสดุสีดำลายคล้ายคาร์บอน รวมถึงโครเมียมทั้งแบบเงากระจก และแบบสีเงินด้านตามจุดต่างๆ ทำให้บรรยากาศในห้องโดยสารไม่น่าเบื่อ
ดีไซน์ภายในโดยเฉพาะช่องแอร์กลางนั้นดูแล้วนึกถึงรถจากตระกูล Honda มากกว่า MG เอง ยังดีที่ลักษณะสวิตช์ต่างๆมีเอกลักษณ์ของ MG เหลืออยู่บ้าง ช่องแอร์ด้านข้างจะเป็นแบบ Jet-Turbine หรือพูดประสาชาวบ้านก็ช่องแอร์กลมนี่ล่ะ แต่ใช้งานง่าย ปรับทิศทางลมส่องตัวได้ดี แผงบังแดดมีกระจกแต่งหน้ามาให้ทั้งสองข้าง ไม่มีไฟส่องที่แผงมาให้ก็ใช้วิธีเปิดไฟเก๋งเอาแทน
เท่าที่พิจารณาจากการออกแบบภายใน ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี เอกลักษณ์ 6 เหลี่ยมตามจุดต่างๆหายไป แต่ก็ดูทันสมัยขึ้น มีปุ่มต่างๆเท่าที่จำเป็น และวางสวิตช์ต่างๆเอาไว้ในจุดที่ใช้งานง่าย เข้าใจได้ง่ายขึ้นกว่า MG รุ่นที่ผ่านๆมา ไฟฉุกเฉินก็อยู่ในตำแหน่งระหว่างช่องแอร์กลาง ที่เห็นได้ชัดและใช้งานได้ง่าย นี่คือจุดที่ต้องชมเชยว่าทีม MG เรียนรู้และยอมปรับเพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเขาใช้งานรถได้ง่ายขึ้น
มุมมองจากที่นั่งคนขับ จากขวาไปซ้าย สวิตช์กระจกไฟฟ้าอยู่ที่แผงประตู เป็นระบบ One-touch กดครั้งเดียวขึ้นหรือลงหมดที่บานคนขับ สวิตช์กดล็อค/ปลดล็อคประตูอยู่บริเวณคันดึงเปิดประตู ส่วนข้างใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีสวิตช์สำหรับปรับองศาจานฉายแสงของไฟหน้า สวิตช์กระจกมองข้างก็จะอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน บิด L หรือ R เพื่อปรับกระจกซ้าย/ขวา หรือบิดไปที่ O แล้วดันสวิตช์ลงล่างเพื่อพับ/กาง กระจกมองข้างได้
พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่น 3 ก้านหุ้มหนัง ก้านด้านซ้ายมีปุ่มกดรับสายโทรศัพท์ ปุ่มปรับเสียงและเลือก Source ของระบบเครื่องเสียง ส่วนก้านด้านขวาจะใช้เพื่อคุมระบบจอ MID ของหน้าปัด มีปุ่มสำหรับสั่ง Voice Command ใช้กดแล้วสั่งการรถได้ในกรณีที่ประโยคเด็ด “ฮัลโหล MG” พูดแล้วรถไม่ตอบสนองไวพอ ส่วนปุ่มดอกจันหกแฉกนั่นไม่ได้เกี่ยวกับแอร์ แต่เป็นปุ่มที่กดเพื่อโทรเข้า Call Center ของ MG
รุ่น 1.5 X มี Cruise control มาให้ด้วย เป็นก้านเล็กๆอยู่ด้านซ้ายของพวงมาลัย วิธีจะใช้ก็แค่ดันก้านเข้าหาตัว เพื่อเปิด และกดปุ่มปลายก้านเพื่อสั่ง SET ความเร็วที่ต้องการจะใช้ จากนั้นก็ขยับก้านขึ้นหรือลงเพื่อเพิ่มหรือลดความเร็ว
จอกลางขนาดใหญ่ 8 นิ้ว เป็นทัชสกรีนหน้าจอแข็ง (กดแล้วไม่หยุ่นๆมือเหมือนรุ่นก่อนๆ) รองรับ Apple CarPlay/Android Auto ได้แล้ว เล่นไฟล์เสียง MP3 จาก USB ผ่านลำโพง 6 ตัว แล้วยังทำหน้าที่เป็นระบบนำทาง (ปุ่มเลือกฟังก์ชั่นนำทางจะอยู่ในเมนู T-Box) และกล้องมองหลังเวลาถอยอีกด้วย ซึงระบบนำทางของ MG นั้น ผมก็ยังมองเวลาเป็นระบบที่ใช้ง่ายเพราะกดเลือกตัวอักษรบนจอได้เลย และสามารถค้นหาสถานที่เจอได้หลายแห่ง เวลานำทางก็โชว์ภาพทางแยกและป้ายต่างๆได้ชัดเจน
ระบบปรับอากาศเป็นแบบธรรมดา ในโบรชัวร์จะเขียนว่าระบบปรับอากาศแบบดิจิตอล แต่เขาหมายถึงโชว์ค่าการปรับบนจอ 8 นิ้ว แต่โชว์แค่ท่อนล่างนิดเดียว และไม่ได้แสดงข้อมูลอะไรมาก ผมคิดว่าเหมือนทำมาเป็นลูกเล่นเฉยๆ อันที่จริงแค่ทำสวิตช์แอร์ให้ดูดีก็พอ แต่เดาว่า MG เขาคิดว่าลูกค้าอยากได้ลูกเล่นจอวูบไปวาบมาบ้าง
หน้าปัดเป็นแบบธรรมดา เข็มแดง อักษรสีขาว เรืองแสงทั้งกลางวันและกลางคืน แม้จะไม่เริดอลังการแบบหน้าปัดสารพัดสีของคู่แข่ง แต่ได้เปรียบในเรื่องความง่ายในการมองเวลาขับ แม้แดดจะแยงตาก็ยังมองเห็น เหลือบผ่านๆก็มองเห็นค่าได้งาน ยิ่งลูกค้าคนไหนมีสามีขับ Mitsubishi Triton ยิ่งน่าจะชินเพราะดูเผินๆคล้ายกันเหลือเกิน จอ MID ตรงกลางเป็นแบบดิจิตอลสองสี ขาว/ดำธรรมดา ไม่หวือหวา แต่อ่านค่าง่ายเช่นกัน
ช่วงแรกๆ รถของ MG มักมีหน้าปัดฟอนท์เอียงประหลาดๆ หรือมีสัดส่วนแปลกๆ อักษรเล็ก คนแก่อ่านแล้วเพ่งยาก แต่กับ ZS นั้น แม้มันจะดูเรียบๆ แต่ก็ไม่ทรมานสายตา ตัวเลขตัวอักษรต่างๆอ่านค่าได้ง่าย ซึ่งเรื่องแบบนี้ผมให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่คุณต้องใช้จริง และน่าเอาตามมากกว่าการไปเล่นสีสันดูอลังการแต่ทำตัวอักษรมาเล็ก หรือตั้งองศาจอมาชนิดเจอแดดแล้วมองอะไรไม่เห็น
นอกจากอุปกรณ์ต่างๆที่ได้อธิบายไปแล้วนั้น MG ZS รุ่น 1.5 D และ X ยังมีฟังก์ชั่น i-SMART ซึ่งเป็นระบบสั่งการด้วยเสียง ใช้ภาษาไทยเท่านั้น (ปรับให้สั่งด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้) วิธีใช้มีได้ 2 แบบคือ
1. ทักรถ เรียกมันด้วยคำว่า ฮัลโหลเอ็มจี จากนั้นตามด้วยชุดคำสั่ง
2. กดปุ่มสัญลักษณ์คล้ายคนเรอ ตรงก้านพวงมาลัยด้านขวา จากนั้นตามด้วยชุดคำสั่งได้เลย ไม่ต้องมาฮัลโหลสวัสดีบิดามารดาอีก
ชุดคำสั่งที่ MG ทำไว้สำหรับเวอร์ชั่นไทย ผมยกตัวอย่างให้โดยลอกมาจากใบข้อมูลของ MG เด๊ะๆดังนี้ครับ
เปิดซันรูฟ, ปิดซันรูฟ, เอียง/ยก/แง้มซันรูฟ – เปิดหน้าต่างคนขับ, ปิดหน้าต่างคนขับ – เปิดแอร์, ปิดแอร์, เป่าตัว, เป่าเท้า, เร่งพัดลม, ลดพัดลม – โทรหา Call Center – เล่นเพลง, เล่นเพลงถัดไป (สองอันหลังถ้าจะใช้ต้องเสียบ USB เพลงไว้นะครับ ไม่มีช่องใส่ CD)
ผมไม่ได้มีโอกาสลองใช้ทุกฟังก์ชั่น แต่ก็ได้ลองเปิดซันรูฟ เล่นเพลง และเปิดหน้าต่าง เปิดแอร์ดู พบว่าเมื่อใช้วิธีการทักรถแบบฮัลโหลเอ็มจี มันจะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับเสียงรบกวน ถ้ามีเสียงอะไรแทรก รถก็จะรับคำสั่งไม่ได้ หรือถ้าวิ่งด้วยความเร็วสูง มีเสียงลมเข้าก็ไม่ได้ผลเช่นกัน
วิธีที่สะดวกที่สุดโดยไม่ต้องฮัลโหลอะไรมาก ก็คือกดปุ่มบนพวงมาลัยบนก้านขวา แล้วสั่ง แบบนี้งานจบเร็วกว่า เรื่องการใช้งานระบบนี้นั้นเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคบอกว่าในตัวรถมีอินเทอร์เน็ตที่จะเก็บข้อมูลการใช้งาน แม้กระทั่งวิธีการออกเสียงของเรา เขาเก็บไปเพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานของระบบให้มีเวอร์ชั่นใหม่ สามารถฟังแยกสำเนียงคนแต่ละภาคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้บริหาร MG บอกว่าอนาคตอาจจะทำเวอร์ชั่นภาษาท้องถิ่น (อีสาน, เหนือ, ใต้) ออกมาด้วย ผมว่าก็เป็นลูกเล่นที่น่ารักดี และถ้าพัฒนาให้ใช้งานได้ดี ก็จะไม่ต้องละมือจากพวงมาลัยเพื่อสั่งการรถ
ในแง่ของการใช้งาน ใช่ครับ..มันยังไม่ work 100% แต่มันมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อให้สมบูรณ์ได้ถ้าคิดจะทำ
ส่วนฟังก์ชั่น i-Smart App. นั้นก็คือการติดตั้งโปรแกรมลงบนสมาร์ทโฟน จะเป็นของเจ้าของรถ หรือภรรยาเจ้าของรถก็แล้วแต่ดีกรีความเมตตาภายในครัวเรือน เมื่อติดตั้งและทำการผูกข้อมูลเข้ากับรถ คุณจะสามารถใช้สมาร์ทโฟนในการสั่งสตาร์ทรถเปิดแอร์รอได้ คล้ายๆกับ Remote Engine Start ของ Honda และ Chevrolet โดยที่คุณแค่ต้องคาเกียร์ไว้ตำแหน่ง P และรถต้องล็อคอยู่ จากนั้นเมื่อกดปุ่มเปิดแอร์ ระบบจะให้คุณใส่รหัส PIN 6 หลัก (ซึ่งคุณเซ็ตไว้เอง) จากนั้นก็จะสตาร์ทพร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศไว้ (นานสุดได้ 10 นาทีจากนั้นเครื่องจะดับ) เมื่อขึ้นรถ คุณก็เหยียบเบรกแล้วกดปุ่มสตาร์ทอีกครั้งก่อนออกรถ
นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นอีกหลายอย่างที่เหมือนยกมรดกมาจาก InkaNet เดิมที่มีใน MG5, GS และ MG6 คุณสามารถใช้มือถือค้นหาร้านอาหารหรือสถานที่ภายในรัศมี 30-40 กิโลเมตรได้ (ถ้าไกลกว่านั้นต้องไปค้นจากหน้าจอของรถ) จากนั้นสั่งให้ส่งตำแหน่งพิกัดไปที่หน้าจอหลักของรถให้ระบบนำทางพาไปยังจุดหมายได้ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นส่งข้อความเมื่อรถมีการสตาร์ท หรือเมื่อมีข้อขัดข้องต่างๆเกิดขึ้น
ฟังก์ชั่น Electronic Fence ก็ยังมีอยู่ คุณสามารถเซ็ตขอบเขตรัศมีจำลองขึ้นมาบนจอมือถือ จากนั้น ถ้ารถวิ่งเข้าในรัศมีดังกล่าว ก็จะส่งข้อความบอก หรือถ้าวิ่งออกจากบริเวณดังกล่าวก็ส่งเตือนได้เช่นกัน วิธีนี้คุณภรรยาน่าจะชอบ ผูกแอพพลิเคชั่นนี้ไว้กับโทรศัพท์ของตัวเอง เวลาออกต่างจังหวัด ก็เซ็ตขอบเขตรัศมีไว้รอบบ้าน สามีออกจากบ้านและกลับเข้าบ้านกี่โมง รู้หมด
..หรือ…ถ้านั่นยังไม่ดีพอ ถ้าโทรศัพท์ของคุณและตัวรถมันอยู่ในที่ซึ่งสัญญาณ GPS ส่งถึง คุณก็สามารถตาม Track ได้เลยว่าขณะนี้รถของคุณจอดอยู่ส่วนไหนของโลก หรือถ้าคุณลืมว่าจอดรถไว้ส่วนไหนของห้าง จะสั่งให้รถบีบแตร กระพริบไฟให้คุณหามันเจอได้ง่ายๆก็ได้ นอกจากนี้ยังเช็คปริมาณน้ำมันในถังและระยะทางที่ยังคงเหลือให้วิ่งได้ ทั้งหมดนี้มันก็คล้ายกับ InkaNet เดิม แค่หน้าจอมันทันสมัยขึ้น
เอ๊ะนี่ผมชี้ช่องทางซวยให้กับบรรดาสามีอยู่หรือเปล่าครับ???
มันอาจจะเป็นลูกเล่นที่บางคนบอกว่าไม่ใช่สาระ แต่ผมชอบตรงที่มีการใช้เทคโนโลยี IT ในยุคปัจจุบันอย่างคุ้มค่า ไม่ต้องถือกุญแจจอสีอะไรเพิ่ม ใช้สิ่งที่ลูกค้าเกือบทุกคนมีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์
ส่วนทีเด็ดของเจ้า MG ZS ที่เรียกเสียงกรี๊ดจากลูกค้า (โดยเฉพาะสาวๆ) ได้มากที่สุด น่าจะเป็นหลังคา Panoramic roof ชุดนี้ ซึ่งมีขนาดโตมาก กินเนื้อที่ถึง 90% ของหลังคา และยังเปิดได้ 8 ระดับ แง้มหรือยกเอียงก็ได้ ถ้าวันไหนแดดร้อนก็มีแผ่นม่านกึ่งทึบแสงบัง ช่วยลดความร้อนไปได้ระดับหนึ่ง วิธีการใช้งาน ก็ให้มองหาสวิตช์ที่อยู่ใกล้กับกระจกมองหลัง เป็นปุ่มหมุนกลมๆ ตรงกลางมีปุ่ม 2 ปุ่ม ถ้ากดบริเวณนั้น ก็จะเป็นการเปิด/ปิดแผ่นม่าน ส่วนการเปิดซันรูฟให้บิดสวิตช์ บิด 1 คลิกคือเปิด 1 Step ถ้าหมุนยาวเลยก็เป็นการเปิดหมดบาน
สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดขายให้กับตัวรถ ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง รถราคาไม่ถึงแปดแสนแล้วได้หลังคา Panoramic ขนาดใหญ่แบบนี้ หาจากค่ายอื่นไม่ได้ในงบเท่ากัน แต่ถ้าคุณไม่แคร์หลังคากระจก รุ่นหลังคาแข็งเขาก็มีให้เลือก ราคารถยิ่งถูกลงอีก
หมดเรื่องอุปกรณ์แล้วมาเข้าเรื่องทางเทคนิคกันต่อครับ
***รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ***
MG ZS ในตลาดจีน และอังกฤษ จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบในปัจจุบัน
เครื่องยนต์บล็อคแรกเป็นแบบ VTi-TECH NSE 1.5L Plus+ ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลัง 120 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร ส่วนเครื่องที่สอง เป็นแบบ 1.0TGI Super พัฒนาร่วมกันโดย GM กับ SAIC ขนาด 1.0 ลิตร จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Direct Injection พร้อมเทอร์โบชาร์จเจอร์ ให้พลังสูงสุด 125 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 170 นิวตันเมตร รุ่น 1.5 ลิตร จะมีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะและอัตโนมัติ 4 จังหวะ ส่วนรุ่น 1.0 เทอร์โบจะมีแต่เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
สำหรับรถสเป็คไทยนั้น จะมีให้เลือกเพียงแบบเดียวคือ VTi-TECH รหัส 15S4C เบนซิน 4 สูบ แถวเรียง 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,498 cc. DOHC ขนาดปากกระบอกสูบ x ระยะช่วงชักเท่ากับ 75.0 x 84.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.5 : 1 กำลังสูงสุด 114 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที รองรับน้ำมันสูงสุด E85 ปล่อย CO2 144 กรัม/กิโลเมตร (ตัวเลขจาก Eco Sticker)
ทาง MG บอกว่า แม้พื้นฐานของเครื่องยนต์จะเหมือนกับ MG3 และ MG5 แต่ก็ได้มีการปรับจูนกล่อง ECU ใหม่ ส่วนภายในเครื่องยนต์นั้นก็มีการเปลี่ยนชิ้นส่วนบางชิ้นให้มีน้ำหนักเบาลงและมีแรงเสียดทานจากการทำงานของเครื่องยนต์ต่ำลงเช่นกัน เรื่องนี้ก็น่าจะจริง เพราะแรงม้ากับแรงบิดเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ค่า CO2 ออกมาน้อยกว่า MG3 (150 กรัม/กิโลเมตร) และ MG5 รุ่นไม่มีเทอร์โบ (147 กรัม/กิโลเมตร)
ระบบส่งกำลังของ MG ZS สเป็คไทย มีเพียงแบบเดียวคือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อม Manual Mode โดยวิธีโยกคันเกียร์ ไม่มี Paddleshift ที่พวงมาลัย ขับเคลื่อนล้อหน้า อัตราทดต่างๆมีข้อมูลดังนี้
เกียร์ 1 ………………….2.875
เกียร์ 2 ………………….1.568
เกียร์ 3 ………………….1.000
เกียร์ 4 ………………….0.697
เกียร์ถอยหลัง 2.300 อัตราทดเฟืองท้าย 4.375
เหตุผลที่ MG เลือกใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เราก็คงทราบกันอยู่ว่าเพราะต้องการกดราคารถไม่ให้ข้ามเพดาน 8 แสนในตัวท้อป ซึ่งถ้าใช้เกียร์คลัตช์คู่ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิน อย่าลืมว่าการ Finalize ราคาจริงๆ จะมาหลังจากการเซ็ตสเป็ครถ และคนที่เลือกไม่ใช่คนไทย มันเป็นสิ่งติดพันที่มากับเครื่อง 15S4C ซึ่งมีแค่เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะให้เลือกเพียงแบบเดียว (ไม่นับเกียร์ธรรมดา) ส่วนเกียร์ Selematic แบบที่ใช้ใน MG3 บ้านเรานั้น ที่จีนเขาก็เลิกใช้ใน MG3 ไมเนอร์เชนจ์ไปแล้ว
แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่โบราณไปแล้วสำหรับ พ.ศ. 2560 แต่ MG ประเทศไทยก็คงไม่มีอำนาจพอจะสั่งให้จีนนำเกียร์ 6 จังหวะจาก MG5 Turbo มาใช้เป็นกรณีพิเศษหรอกครับ และข้อดีที่ยังพอเอามาช่วยย้อมใจได้บ้างก็คือ คุณสามารถขับมันเหมือนรถเกียร์ออโต้คันอื่นในตลาด เปลี่ยนเกียร์นุ่มใช้ได้ ค่าบำรุงรักษาก็ต่ำที่สุดในบรรดาเกียร์ที่ MG มีทั้งหมด
ดังนั้นมันจึงน่าจะโอเคกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้เดินทางไกลบ่อยมากนัก แต่ในระยะยาวผมว่าการนำเกียร์ 6 จังหวะของ MG5 Turbo มาใช้น่าจะเป็นทางออกที่บาลานซ์ดีที่สุดทั้งในเรื่องสมรรถนะ การใช้งาน และการซ่อมบำรุง ถ้ามันจะไม่ทำให้ต้นทุนสูงมากจนรถขายไม่ได้นะครับ
การทดลองขับ
ผมกับพี่วิทิต สุนทรสุข จาก Auto-Thailand ได้รถหมายเลข 6 คันสีดำโดยเส้นทางการขับ เริ่มต้นจากโรงแรม So Sofitel ที่หัวมุมถนนสาธร ขึ้นทางด่วนไปบางนา ตัดเข้ามอเตอร์เวย์ วิ่งยาวผ่านสนามพีระเซอร์กิต ไปเลี้ยวขวาเข้าเมืองระยอง จากนั้นจึงขับจากศูนย์ MG ที่จังหวะระยอง ไปโรงแรม Centara Q ใกล้แหลมแม่พิมพ์
อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เราลองจับกันแบบคร่าวๆ โดยต่างจากมาตรฐานปกติของ Headlightmag ซึ่งในการรีวิวปกติเราจะทำอัตราเร่งในช่วงกลางคืนดึกๆ บรรทุกน้ำหนักบนรถ 160 กิโลกรัมโดยประมาณ เปิดแอร์ ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ส่วนครั้งนี้ ด้วยเงื่อนไขที่จำกัด จึงต้องจับอัตราเร่งในช่วงกลางวัน น้ำหนักบรรทุกเพิ่มเป็น 220 กิโลกรัม ใช้น้ำมัน Gasohol 95 E10
ผมลองจับตัวเลขประมาณ 4 ครั้ง เร็วที่สุดที่ได้คือ 17.96 วินาที แต่ส่วนมากจะอยู่แถว 18-18.3 วินาที ส่วนการเร่งแซง 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้จับ 2 ครั้ง ได้ตัวเลข 13-13.25 วินาทีตามลำดับ
ก่อนหน้านี้ มีรุ่นน้องที่มาจาก GM CAR มาร่วมทริปในรอบก่อนผม ได้ลองจับเวลาเอาไว้เหมือนกัน ก็ได้ตัวเลขดีที่สุดคือ 16.5 วินาทีเศษ แต่น้ำหนักบรรทุกน่าจะเบากว่ารถพวกผมพอสมควร (100 กิโลกรัมเห็นจะได้)
เนื่องจากข้องใจกับอัตราเร่ง ผมก็เลยขออนุญาตนำรถทดสอบสีแดงหมายเลข 7 (คันที่ใช้ถ่ายภาพ) มาวิ่งแล้วลองถ่ายคลิปดูอีกคันโดยไม่มีพี่วิทิตนั่งไปด้วย ผลที่ได้ก็อย่างที่เห็น ลองจับเวลาดูกันเอาเองนะครับ (ตอนที่ผมบอกว่า 100 นั่นแท้จริงเข็มมันจะเลยร้อยไปแล้วนิดๆ บอกช้าต้องขออภัย)
กลายเป็นว่ารถคันสีแดงหมายเลข 7 เราลดน้ำหนักคนนั่งลงไปแล้ว กลับได้ตัวรถที่ดูเหมือนไม่ต่างจากเดิม ผมเลยงงว่าเกิดอะไรขึ้น บอกไม่ถูกเหมือนกันครับ อาจจะเป็นเพราะ Firmware ในกล่อง ECU เป็นคนละตัว เพราะก่อนหน้านี้ก็ทราบว่ามีการลอง setting กล่องกันหลายแบบ บังเอิญคันสีแดงอาจจะไม่ใช่เวอร์ชั่นใหม่สุด..แต่ไม่รู้นะ เอามาให้สื่อมวลชนทดสอบแล้ว ถือว่าต้องมั่นใจแล้วว่ารถมัน 100% ผลที่ได้ก็เอาตามนั้นครับ
เมื่อกระทืบจม รถจะออกตัวแบบเหมือนจะแรง แต่ที่จริงไปแบบเหนื่อยๆเหมือนเด็กมัธยมที่พ่อแม่ปลุกให้บ้านแตกก็ไม่ค่อยอยากลุกจากเตียง พอช่วง 4,500 รอบต่อนาที ก็ดูเหมือนจะกวาดลื่นขึ้น พอเปลี่ยนลงเกียร์ 2 รอบหล่นลงและมีอาการบื่อแบบทื่อๆอยู่พักหนึ่งเหมือนไม่อยากจะเร่งต่อ เวลาเร่งแซงก็ไม่ค่อยอยากจะขึ้น ยิ่งเวลาเจอเนินขาขึ้นแล้วต้องพยายามแซง ขอใช้คำอธิบายว่า “ลุ้นกันจนเยี่ยวเหนียว” ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น เรายังไม่มีโอกาสกดกันจนสุด แต่เห็นตัวเลข 165 โผล่มาครั้งนึง ยังไปต่อได้ แต่ทางหมดก่อน
บางคนขับแล้ว ก็อาจจะบอกว่าก็เร็วนี่ ไม่มีปัญหานี่ ก็ไม่แปลกครับ เพราะการเซ็ตคันเร่งในช่วงออกตัว คล้าย Vios 2008 ที่กดน้อยแต่ลิ้นคันเร่งน่าจะเปิดมาก ทำให้มีลักษณะเหมือนว่าแตะๆแล้วพุ่งดี คนก็นึกว่าแรง ใครจะบอกว่าไม่พอหรือไม่เป็นไรก็แล้วแต่ครับ แต่เรามีมาตรฐานที่ลองทดสอบกับรถระดับนี้มาหลายคัน เกือบทุกคันที่ยังมีขายอยู่วันนี้ล้วนเร็วกว่าอย่างชัดเจน จะให้พูดแต่ข้อดีก็คงไม่ถูกมั้งครับ เหมือนคุณเป็นอาจารย์ แล้วมีเด็กเรียนเก่ง 10 วิชา แต่สอบตก 1 วิชาแล้วคุณปล่อยผ่านแทนที่จะมองว่ามันคือสิ่งที่ต้องแก้
แต่ถ้าสมมติ คุณเป็นคนที่ขับรถแบบไม่เคยกระทืบคันเร่งมิด หรือว่าในชีวิตปกติก็เคยชินกับแรงระดับอีโคคาร์อยู่แล้ว คุณก็จะใช้ชีวิตอยู่กับมันได้สบายล่ะ อัตราเร่งแบบครึ่งคันเร่งเวลาใช้งานในตัวเมือง ให้ความคล่องตัวพอสมควร ไม่มีอาการยืดๆยานๆแบบรถที่ใช้เกียร์ CVT เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ก็สั่งการได้ง่าย ขับคลานความเร็วต่ำก็ไม่กระยึกกระยักน่ารำคาญ คิกดาวน์ไป เกียร์ก็ลงให้ตามความลึกของการกด ส่วนโหมด Manual นั้น ลองใช้เกียร์ 4 แล้วตบ 2 ทีรวด ก็ลงเกียร์ 2 ให้ นิสัยดี คาดเดาง่าย ทำงานดีเหมือนเกียร์ 6 จังหวะของ MG5
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า (EPS) มีลูกเล่นตรงที่สามารถปรับน้ำหนักความหน่วงของพวงมาลัยได้ที่จอกลาง โดยเข้าไปที่เมนูตั้งค่ารถ แล้วเลือก “การบำรุงรักษา” (ทำไมไปอยู่ในนั้นฟระ?) คุณก็จะสามารถปรับได้ 3 ระดับ คือ Comfort, Normal และ Sport
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นคานบิดแบบทอร์ชั่นบีม ระบบเบรกด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดิสก์เบรกแบบธรรมดา มีระบบป้องกันล้อล็อค ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD
เมื่อลองจับอาการของช่วงล่างดู ก็รู้สึกว่า MG เซ็ตมาได้เหมาะสมกับรถ ZS จะมีความแข็งตึงตังแบบ MG Style อยู่บ้าง แต่ก็มีความนุ่มนวลมากกว่า MG GS 1.5 อย่างชัดเจน มันน่าจะเป็น MG รุ่นที่ช่วงล่างนุ่มที่สุดที่พวกเขามีขายในขณะนี้ ความนุ่มแบบที่ว่าก็ไม่ใช่นุ่มเป็นปุยฝ้ายแล้วยวบจนขาดความมั่นใจ แต่มันจะเป็นความแข็งตึงตังนิดๆบวกกับช่วงล่างที่ยุบเพื่อซับแรงกระแทกได้ระดับหนึ่ง กลายเป็นความพอดีสำหรับคนส่วนใหญ่ มีความหนึบแบบช่วงล่างรถยุโรปที่คุณชื่นชอบจากในอดีตผสมอยู่ เวลาหักเลี้ยวซ้ายขวาก็จะยวบนิดๆก่อนจิกเกาะ หรือแม้กระทั่งตอนวิ่ง 140-150 ก็ยังนิ่ง โดดสะพานมอเตอร์เวย์เล่นสนุกสนาน ต้องวิ่งกัน 155 ขึ้นไปถึงจะมีอาการวูบวาบขึ้นมาบ้าง
ถ้านับเรื่องความมั่นใจเวลาขับ ZS ก็คงแพ้แค่ Mazda CX-3 ซึ่งขานั้นเขาตั้งใจทำมาเน้นซิ่งอยู่แล้ว ส่วนเรื่องความนุ่มนวล ก็ยังไม่นุ่มเท่า HR-V แต่ ZS อยูตรงกลางระหว่างรถสองค่ายนี้ในจุดที่พอดีจนผมอยากบอกทีมวิศวกรว่า “อย่าไปทำอะไรมันอีกนะครับ แบบที่มันเป็นอยู่เนี่ยแหละเหมาะแล้ว”
พวงมาลัยที่ปรับความหน่วงมือได้ 3 ระดับนั้น ลองปรับแล้ว “ต่างกันจริง” ถ้าคุณเลือกแบบ Comfort และขับในเมืองความเร็วต่ำๆ มันจะเบามาก เบาจนคุณยายวัย 100 ขวบของผมก็น่าจะหมุนได้สบาย แต่มันอาจจะเบาไปสำหรับแรงผู้ชายส่วนใหญ่ ในขณะที่ถ้าเลือกแบบ Sport มันจะหน่วงหนืดคล้ายรถพวงมาลัยไฮดรอลิก แต่ถ้าคุณใช้ความเร็วสูงขึ้น ไม่ว่า Setting ไหน รถมันก็จะเพิ่มน้ำหนักให้ตามความเร็ว และเอกลักษณ์การหน่วงแบบ MG ก็ยังมีอยู่ ทำให้ขับทางไกลเร็วๆแล้วไม่เกร็ง สบายมือเป็นอย่างมาก
แป้นเบรก เซ็ตมาในลักษณะเบา ไม่ค่อยมีแรงต้านเท้า และต้องกดลึกถึงจะเริ่มมีการจับของผ้าเบรกกับจาน เรื่องนี้ MG บอกว่าตั้งใจทำมาแบบนี้เลย เพราะไม่อยากให้ลูกค้าผู้หญิงขับเกิดกรณีตกใจแล้วกดเบรกแรงเกินจนโดนคันหลังชนท้าย ผู้ชายเท้าหนักขับแล้วอาจจะบอกว่ามันเบาและลึกไปนิด ส่วนการยับยั้งตัวรถจากความเร็วสูงนั้น ไว้ใจได้ครับ เบรกเป็นอยู่ ผมลองเบรกจาก 150-160 สองสามครั้งก็ยังไม่ออกอาการเฟด ไม่มีอาการแป้นสะท้าน
สำหรับอัตราสิ้นเปลือง เราไม่ได้ลองกันตามมาตรฐานปกติ แต่อาศัยดูจากหน้าจอ MID เอา ช่วงที่ซัดโหดจากกรุงเทพมาระยองนั้น อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยลงไปอยู่ระดับ 9.6 กิโลเมตรต่อลิตร (ไม่ต้องแปลกใจครับ กดคันเร่งมิดบ่อยมาก) แต่ช่วงที่ขับจาก MG ระยองไปแถวแหลมแม่พิมพ์ ทาง MG เขามีจัดให้แข่งประหยัดน้ำมันกัน ผมเลือกที่จะยึดความเร็ว 110 ให้ได้มากที่สุดโดยไม่ได้สนเรื่องชนะอะไรมาก เปิดแอร์ขับแบบพอให้ห้องโดยสารเย็นๆ ไม่คิกดาวน์โดยไม่จำเป็น ก็ทำได้ 12.6 กิโลเมตรต่อลิตร
น้องๆสื่อมวลชนท่านอื่นที่ใช้ความเร็วเดินทาง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีบางท่านทำได้ 14 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนท่านอื่นที่ออกจากต้นทางพร้อมผม มาถึงพร้อมกัน ใช้ความเร็วเดินทางเท่าๆกัน ได้ 12.4-12.8 กิโลเมตรต่อลิตรใกล้เคียงกันครับ
สำหรับเรื่องการเก็บเสียงนั้น อยู่ในระดับกลาง ไม่เด่น แต่ไม่มีอะไรให้ตำหนิ เสียงลมเข้ารถจะเริ่มดังชัดหลัง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงยางหมุนเวลาวิ่งก็ดังเข้ามาค่อนข้างมาก แม้จะใช้ยาง Yokohama Advan dB ที่เก็บเสียงดีระดับหนึ่งแล้วก็ตาม มันไม่ได้เงียบเท่า CX-3 และ HR-V โดยเฉพาะเรื่องการเก็บเสียงที่ขอบประตู แต่ถ้าเทียบกับ Ecosport หรือ BR-V ก็พอได้ ไม่ถือว่าแย่เกินไป
โครงสร้างตัวรถ เป็นแบบ Full Space Frame (FSF) เทคนิคเดียวกับที่ใช้กับ MG หลากรุ่นเพื่อให้ได้ตัวถังที่เหนียวแข็งเวลาสะเทือน จัมพ์สะพานหรือทิ้งโค้ง และให้ความปลอดภัยในกรณีอุบัติเหตุอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมทางด้านความปลอดภัยมาให้ชนิดที่ไม่ให้เสียชื่อ MG
ZS ทุกรุ่นย่อย จะมีถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมการทรงตัว SCS, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและคุมการลื่นไถล TCS ระบบควบคุมเบรกขณะเข้าโค้ง CBC, ระบบช่วยออกตัวจากทางลาดชัด HAS และยังมีระบบไฟฉุกเฉินที่กระพริบโดยอัตโนมัติเมื่อมีการเบรกกระทันหัน ESS
ในรุ่น 1.5 X จะเพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านถุงลม รวมเป็น 6 ใบ และยังมีระบบ TPMS ตรวจสอบแรงดันลมยาง ซึ่งสามารถกดดูค่าลมยางได้จากเมนูในจอ MID บนหน้าปัด ระบบจะตรวจแรงดันลมยางแยกข้าง สามารถกดดูแรงดันลมในล้อได้ทีละข้าง เมื่อแรงดันลมยางข้างใดข้างหนึ่งลดลงต่ำกว่า 1.9 บาร์ (27.5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) ก็จะมีการเตือน แรงดันลมยางมาตรฐานอยู่ที่ 31 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
เรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัย ถ้าเทียบกับรถที่ราคาใกล้เคียงกัน ถือว่าจัดให้เยอะ จัดเต็ม ถ้าต้องการมากกว่านี้ ก็คงมีแค่พวกระบบเบรกอัตโนมัติ หรือระบบครูสคอนโทรลแบบมีเรดาร์ ซึ่ง CX-3 มีให้ แต่ต้องซื้อรุ่นท้อปที่ราคาทะลุล้านเท่านั้น พวกรุ่นที่ราคา 8-9 แสนจะไม่มีให้ ส่วน Honda BR-V และ HR-V นั้นจะใกล้เคียงกัน แต่ไม่มีระบบตรวจแรงดันลมยางมาให้
–
ปัญหาที่พบในกลุ่มรถทดสอบ
จากที่มีการจัดทริปให้สื่อมวลชนทดสอบตลอดเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมานั้น ผมก็ได้พูดคุยกับสื่อมวลชนท่านอื่น ซึ่งก็จะพบปัญหาต่างๆจากรถทดสอบ และก็มีบางเคสที่เจอเองเลย จึงนำมารวบรวมไว้ ใครจะบอกว่าขี้ประจานก็ได้ แต่ถ้าคุณซื้อ ZS ไปแล้วเจออาการดังกล่าว อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้คุณไม่ตื่นตระหนกเกินเหตุนะครับ
ข้อแรก – จอกลางดับ
เจอในรถ 3 คันในกลุ่มทดสอบของผม และอีกหลายท่านในรอบก่อนๆก็เจอ จอดับเองไปดื้อๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่บางท่านบอกว่าจออาจจะติด Sleep Mode แต่พี่สื่อมวลชนจากไทยรัฐบอกว่ามันดับ แต่พอจะติด ก็ติดขึ้นมาเอง แบบนี้ไม่น่าใช้ Sleep Mode หรอกมั้ง?!? วิธีแก้ไขเบื้องต้นก็คือกดปุ่มเปิดจอกลางค้างไว้ 3 วินาทีเพื่อปิดหรือเปิด แต่อย่ากดค้างไว้นานกว่านั้นเพราะจะกลายเป็นการ System Reset ส่วนการแก้ไขระยะยาวนั้นทาง MG ได้เตรียม Software ตัวใหม่ที่เสถียรขึ้นและแก้ปัญหาจอดับไว้ ซึ่งจะอัปเดตลงในรถลูกค้าก่อนส่งมอบ แต่สำหรับรถทดสอบฝูงนี้ออกมาก่อน จึงไม่ได้รับ Software Update เวอร์ชั่นดังกล่าว
ข้อที่ 2 – ระบบ i-SMART ไม่มีเสียงตอบรับ
โดยปกติ เมื่อเราทักรถฮัลโหล MG หรือจะสั่งงานอะไรก็ตามแต่ จะมีเสียงตอบรับเป็นเสียงคนเสมอ แต่ในรถทดสอบหมายเลข 6 ของผม กับรถทดสอบอีก 2-3 คันในกลุ่ม ไม่มีเสียงตอบรับเลย ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่าเป็นปัญหา Bug ในโปรแกรมทำให้บางครั้งเสียงตอบรับที่ออกมาเบามาก ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขเพื่อให้มีเสียงตอบรับออกเสมอ
ข้อที่ 3 – สวิตช์ล็อคกระจก
โดยปกติเมื่อเรากดสวิตช์ล็อคกระจกแล้ว กระจกทุกบานจะไม่สามารถใช้งานได้ยกเว้นจะกดจากฝั่งคนขับเท่านั้น ในกรณีของ ZS พบว่ารถทดสอบคันสีน้ำเงิน แม้จะกดล็อคแล้วแต่กระจกประตูทุกบานยังใช้งานได้ (น้องจาก GM CAR ลองมาเล่าให้ฟัง) ผมจึงลองกับรถคันสีดำของตัวเองและคันสีแดงอีกคัน พบว่ากดล็อคแล้ว จะล็อคเฉพาะสวิตช์ของกระจกบานหลัง แต่ประตูฝั่งผู้โดยสารยังเปิดได้ตามปกติ เมื่อถามเจ้าหน้าที่ เขาก็บอกว่าที่จริงมันต้องล็อคหมดทั้ง 3 บาน ใช้ได้เฉพาะสวิตช์กระจกตรงบานประตูคนขับ
เลยปวดหัว ว่าตกลงความตั้งใจของทางโรงงานเขาต้องการให้มันเป็นอย่างไรกันแน่ จะได้เขียนถูก ใครซื้อรถมาแล้วช่วยลอง แล้วเล่าให้ผมฟังผ่านทาง Inbox ของเพจ Headlightmag บ้างก็ได้นะครับ
ข้อที่ 4 – ปรับน้ำหนักพวงมาลัยไม่ได้
อาการคือ เมื่อเรากดเข้าเมนูบำรุงรักษา แล้วสั่งปรับน้ำหนักพวงมาลัย หน้าจอจะค้าง แล้วสักพักจะขึ้นข้อความว่า “Set Failed” (หมายถึงปรับน้ำหนักพวงมาลัยไม่สำเร็จ) บางคนบอกว่าอย่าไปปรับโดดข้าม 2 Step เช่นจาก Comfort ข้ามไป Sport หรือ Sport กลับมา Comfort ให้ไล่ไปทีละระดับ Comfort>Normal แล้วค่อยไป Sport ลองแล้วครับ เจอ Set Failed เหมือนกัน และไม่ใช่รถผมแค่คันเดียว มีอีกหลายคันที่เจออาการเดียวกัน
ข้อที่ 5 – เข็มความเร็วไม่ขึ้น ไฟหน้าปัดหลายดวงสว่างขึ้น
ระหว่างที่เรากำลังขับออกจากต้นทางที่สาธร (พี่วิทิตเป็นผู้ขับ) มาถึงแค่ช่วงขึ้นทางด่วนตรงพระราม 4 ผมสังเกตได้ว่าไฟหน้าปัดหลายดวงติด และเข็มความเร็วไม่ขึ้น (ตามในคลิป) ลักษณะดังกล่าวนั้น ผมสันนิษฐานในตอนแรกว่ามันคล้ายกับอาการที่ค่าความเร็วของรถไม่เข้ากล่อง เซนเซอร์อาจหลวมหรือชำรุด ทำให้ฟังก์ชั่นที่ต้องอาศัยค่าความเร็วขณะวิ่งไม่ทำงาน (เช่นระบบควบคุมการทรงตัว) แต่เมื่อเรามาจอดตรงจุกพักรถตรงมอเตอร์เวย์และให้เจ้าหน้าที่จัดการสักพัก เขาก็กลับมาบอกว่าอาการหายแล้ว ไม่ได้ทำอะไร แค่สตาร์ทรถ แล้วก็ดับแล้วสตาร์ทใหม่
ประเด็นที่ผมไม่ได้บอกพวกเขาคือ ผมกับพี่วิทิตลองดับและสตาร์ทใหม่ 2 รอบแล้วก็ไม่หาย ทำไมจู่ๆหาย? หรือว่าต้องลงจากรถแล้วล็อค แล้วปลดล็อค แล้วเข้าไปสตาร์ทใหม่อีกครั้ง? อันนี้ก็ไม่ทราบ แต่พูดตามจริงก็คือหลังจากนั้นมาตลอดการทดสอบหลายร้อยกิโลเมตรของเรา อาการดังกล่าวไม่ปรากฏให้เห็นอีก และรถหมายเลข 6 สีดำของเรา เป็นเคสแรกที่พวกเขาเจอ และเป็นคันเดียวในกลุ่มทดสอบที่มีอาการนี้
ผมถึงต้องถ่ายคลิปมาให้ดู เดี๋ยวจะมีคนหาว่าใส่ความกัน
ปัญหาเหล่านี้ อาจไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ถ้ามันไปเกิดขึ้นกับรถลูกค้า โดยเฉพาะอย่างกรณีหลังสุด ซึ่งรถส่งข้อความรัวๆผ่าน i-SMART app ว่ารถมีปัญหากับระบบเบรก ผมว่าลูกค้าเป้าหมายของ ZS นั่นแหละน่าจะประสาทกินที่สุด ปัญหาบางกรณีที่พบ ดูแล้วก็สงสัยว่าตอนที่วิ่งทดสอบรถกันมาตั้งนานแสนนานนี่ ไม่ได้มีการทดสอบความเสถียรของระบบมัลติมีเดียกันหรอกหรือ
และโดยปกติในทริปทดสอบของสื่อมวลชน รู้กันอยู่ว่ารถที่จัดมานั้นสภาพต้องฟิต พร้อม ไม่ควรมีข้อบกพร่องใดๆ ดังนั้นบางปัญหาที่พบจึงไม่สมควรเกิด และบางเรื่องก็เกิดกับรถมากกว่า 1 คัน ไม่ใช่เรื่องดี เราก็แค่หวังว่าอะไรที่แก้ไขไปแล้ว ก็รีบ implement กับรถลูกค้า อย่าให้มันไปเกิดอะไรกับพวกเขา เพราะไม่งั้นสุดท้าย MG นั่นแหละ..ศูนย์บริการนั่นแหละ ต้องรับภาระไปเต็มๆ
***สรุปเบื้องต้น***
***อุปกรณ์ล้ำหน้า ราคาได้ใจ Slowlife กับอัตราเร่ง***
MG ZS เป็นก้าวใหม่ของค่ายในการรุกเข้าสู่ตลาด B-SUV/Crossover ด้วยกลยุทธ์แบบเดิม แต่มาแบบถูกที่ถูกเวลา
สิ่งที่นับว่าเป็นจุดเด่น คือการจัดอุปกรณ์ติดรถมาให้ชนิดที่ดูคุ้มเกินตัว ลำพังรุ่นกลาง 1.5 D ราคา 729,000 บาท ก็หรูใช้ได้แล้วด้วยภายในที่เกือบเหมือนกับ 1.5 X ตัวท้อป แค่ไม่มีซันรูฟมาให้ เบาะนั่งแม้จะเป็นหนังสังเคราะห์แต่ก็ให้สัมผัสที่ไม่แย่สำหรับรถราคาระดับนี้ จอกลาง 8 นิ้วพร้อมระบบนำทางที่ใช้ง่ายและในรุ่น D กับ X ยังมีระบบ i-SMART ที่แม้จะยังทำงานติดๆขัดๆบ้าง แต่ก็ต้องชมในแง่ของการนำเทคโนโลยี IT กับสมาร์ทโฟนมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกเจ้าของรถได้ดี ส่วนในรุ่น X นั้น มีทั้ง Cruise Control, ซันรูฟ และถุงลม 6 ใบ ถือว่า 789,000 บาทได้ขนาดนี้ ผมนึกไม่ออกละว่ามีใครที่ให้มากเท่านี้แล้วราคาถูกกว่า
นอกจากนี้ ในแง่ของการขับขี่ ZS ก็มีจุดเด่นเป็น DNA ของ MG คือช่วงล่างที่ไว้ใจได้ ไม่หวิว ไม่โยน เมื่อเทียบกับคู่แข่งส่วนใหญ่ถือว่าดี และยังสามารถซับแรงกระแทกได้ดีกว่า ZS โดยเสียความมั่นใจเวลาโยกหรือเข้าโค้งไปไม่มาก นับว่าปรับช่วงล่างมาได้เหมาะสม ให้ความรู้สึกหนักแน่นเวลาเดินทางไกลเหมือนขับรถคันที่ใหญ่กว่าและหนักกว่าที่มันเป็น
เบาะนั่งหน้าและหลัง ออกแบบมาได้ดี ไม่ได้เน้นความเป็นรถอเนกประสงค์มากจนละเลยความสบาย ตัวเบาะนุ่มกว่า GS รุ่นพี่นิดๆเสียด้วยซ้ำ และพื้นที่ภายในไม่ได้ต่างกันมากอย่างที่คิด ดังนั้นถ้าจะพูดไป ZS มีจุดขายที่ Strike ตรงจุดของตลาดได้อย่างเหมาะสม อุปกรณ์ดี หน้าตาดี ราคาดี และเวลาขับไปไหนก็ให้ความรู้สึกดีในแบบที่คนไทยชื่นชอบ
แต่อย่างที่ผมเรียนให้ทราบไว้ การขายรถไม่ใช่มหกรรมการกุศล การที่คุณได้อะไรดีๆหลายอย่างในราคาที่ถูก มันไม่ใช่การทำบุญ แต่เป็นการหั่นส่วนนั้น โปะส่วนนี้ หรือตัดบางจุดออก แลกกับบางอย่างที่ได้มา
สิ่งที่ถูกหั่นเพื่อแลกกับความดีข้างต้น คืออัตราเร่ง เพื่อที่จะเซฟต้นทุนทำราคา MG จึงต้องใช้เครื่องสหกรณ์คู่บุญภาคอัปเดต เปลี่ยนนู่นนี่นิดหน่อย จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ซึ่งสำหรับคนที่ใช้งานในเมืองน่ะพอได้ ขับแล้วเหมือนจะแรงกว่า Eco car เกียร์ CVT เยอะ แต่พอออกต่างจังหวัดแล้วจะเร่งแซงรถช้าเลนขวาทีนึงต้องบี้คันเร่งแบบห้ามปราณี และมันแย่ตรงที่คู่แข่งในระดับเดียวกันเขาทำได้ดีกว่า ZS หมด ต่อให้เรานับแค่พวก 1.5-1.6 ลิตรเท่านั้นก็ตาม BR-V นั่งสี่ยังเร่งดีกว่า ZS นั่งสองด้วยซ้ำแม้ว่าม้าบนโบรชัวร์จะต่างกันแค่ 3 ตัวก็เถอะ ไม่เชื่อก็ไปลองดูเองได้
ถ้าเราขอให้ MG นำเครื่องยนต์จาก MG5 Turbo มาใส่ และมันเป็นไปได้จริง ผมคิดว่า ZS จะกลายเป็นรุ่นที่เด่นจนฆ่ารุ่นอื่นในอนุกรมไปหมด คุณคิดว่าไงถ้า MG ZS จะมีเวอร์ชั่นเทอร์โบในตัวท้อปและขายในราคา 849,000 บาท? ถ้าเป็นราคานี้คุณจะซื้อตัวธรรมดาหรือเทอร์โบ? นี่ผมคิดบวกเพิ่มโดยดูจากส่วนต่างทางราคาของ MG5 เวอร์ชั่นธรรมดากับเทอร์โบแล้วเอามาบวกดื้อๆ แต่มันคงพอให้คุณเห็นว่า ถ้าคุณต้องการสเป็คในฝันแบบนี้ แล้วต้องจ่ายเท่านี้ คุณยอมกันมั้ย ถ้ายอม ก็แนะนำหรือแสดงความเห็นไปทาง MG ได้ครับ จะเป็นประโยชน์กว่ามาบอกผม
จุดอ่อนอย่างที่สอง คือความเสถียรของระบบไฟฟ้าในตัวรถ ระบบสั่งการด้วยเสียงยังต้องพัฒนากันอีกยาวเพื่อให้ใช้งานจริงได้สะดวก กรองเสียงคนออกจากเสียงลมเสียงตดได้ดีกว่านี้ รวมถึงอาการจอดับ หรือเสียงตอบรับหาย ซึ่งถ้า MG แก้ไขได้จบหมด ผู้บริโภคก็จะสบายใจขึ้น เราหวังว่ารถเวอร์ชั่นที่ส่งมอบลูกค้าจะไม่มีปัญหาแบบเดียวกับที่เราพบในทริปสื่อมวลชน เพราะมันจะเป็นการสะท้อนถึงการทดสอบคุณภาพและความเสถียรของ Software ซึ่งมีผลกระทบต่อทัศนคติที่ผู้คนมีต่อคุณภาพการประกอบของรถ MG
และนั่นล่ะครับ คือจุดที่ผมเห็นว่าควรปรับปรุง ถ้าแก้ไขสองอย่างนี้ได้ ต่อให้ขาย 850,000 ผมว่าก็ยังเป็นรถที่มีจุดเด่น หรือถ้าแก้ไขข้อสองให้จบ ทำตัวรถให้คุณภาพดี เอาให้จากวันนี้จนสิ้นปี 2018 ไม่มีเคสร้องเรียนด้านคุณภาพออกมาเลย ZS ก็จะเป็นรถที่น่าสนใจมากพอ แต่ผมคงไม่นำเสนอรถรุ่นนี้ให้คนเท้าหนัก หรือพวกที่สนใจเรื่องการขับขี่รุนแรงสะใจมากกว่าเรื่องออพชั่น เพราะสำหรับท่านที่มีความต้องการแบบนั้น ผมจะแนะให้ท่านยอมจ่ายเพิ่มอีกแสนบาทแล้วซื้อ GS 1.5 Turbo ตัวล่างที่ช่วงล่างหนึบ แรงต้นดี แรงปลายลื่น เกียร์ 7 จังหวะ มันอาจจะดูไม่ทันสมัยเซ็กซี่ไฮโซแบบ ZS แต่ถ้าซิ่งเมื่อไหร่ GS ฉีกยิ้มบนปากคุณได้กว้างกว่าแน่
เปรียบเทียบคู่แข่ง
สำหรับท่านที่มองว่า GS จะคันโตเกินความต้องการไปหน่อย และอยากได้รถขนาด B-SUV/Crossover จริงๆ คุณอาจจะเริ่มมองจาก ZS ก่อนก็ได้ เพราะอย่างที่บอก ถ้าไม่นับเรื่องแรง หลายอย่างมันทำได้ดีหรือดีมาก ส่วนการจะเลือกรุ่นย่อยไหนนั้น รายละเอียดอุปกรณ์ของ MG ZS ทุกรุ่น ทางคุณหมูแกทำไว้ให้แล้วในแบบที่อ่านง่าย คลิกที่นี่เพื่อดู หรือถ้าอยากเห็นรูปความต่างของแต่ละรุ่นจากรถคันจริง ก็มีเก็บภาพไว้ให้ที่นี่ครับ
ถ้าคุณยังอยากคบกับค่ายญี่ปุ่น ก็ยังมีตัวเลือกเพิ่มเติม Honda BR-V ก็มีรุ่นที่ค่าตัวใกล้เคียงกับ ZS คุณได้รถ 5 ที่นั่งที่มีพื้นที่ท้ายรถโต (รุ่น V) หรือไม่ก็รถ 7 ที่นั่งไปเลย (รุ่น SV) อัตราเร่งรวดเร็วทันใจสำหรับรถ 1.5 ลิตร อุปกรณ์ติดรถไม่ถึงกับน่าเกลียด อันที่จริงก็เยอะใช้ได้ในรุ่นท้อป แต่ช่วงล่างจะมาในสไตล์ Honda คือแข็งสะเทือนบนถนนขรุขระและไม่ได้เกาะถนนมากขนาดนั้นที่ความเร็วสูง
ส่วน Honda HR-V ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะกับคนที่ต้องการพลังเสริมจากเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ที่ให้อัตราเร่งว่องไว มีความนุ่มนวลสำหรับการใช้งานในเมือง ประหยัดน้ำมันใช้ได้ ภายในหรู อะไหล่มือสองจากนอกมีให้เลือก แต่ช่วงล่างยังหวิวที่ความเร็วสูง และเป็นรถที่มีปัญหาคุณภาพการผลิตเยอะสำหรับการเป็น Honda ช่วงล่างกระแทกตึง เบรกดัง ปลายแร็คหลวม เร่งแล้วมีจังหวะดึงกึก และทั้งหมดนี้ คุณต้องจ่ายราคาเริ่มต้น 933,000 บาท
สำหรับคนที่ชอบรถทรงนี้..แต่รู้ตัวว่าเท้าหนักมาก แนะนำว่าไปดู Mazda CX-3 เพราะถึงบรรยากาศเบาะหลังจะคับแคบไม่น่านั่ง แต่ รุ่น 2.0 เบนซิน แรงดึงสะใจสุดในกลุ่ม เกียร์ฉลาดและใจถึงเหมือนเกียร์ BMW ช่วงล่างหนึบที่สุด เกาะถนนที่สุด พวงมาลัยและเบรกคมที่สุด เตรียมยาแดงกับพลาสเตอร์แปะมือกับเท้าไว้เยอะๆแล้วกัน แต่รุ่นถูกสุดราคาก็เริ่มต้น 835,000 บาท และมันไม่มีออพชั่นอะไรมาก ส่วนรุ่นดีเซลนั้นราคา 1,193,000 บาท แพงจนรู้สึกว่าเอาส่วนต่างมาเติมน้ำมันดีกว่ามั้ย? ประหยัดก็ไม่เท่า Mazda 2 อัตราเร่งไม่ดีเท่ารุ่นเบนซิน แล้วยังต้องใจตุ้มๆต่อมๆว่าใช้ไปแล้วจะเจอปัญหาเครื่องสั่นเป็นเจ้าเข้า ควันขาว หรือระดับน้ำมันเครื่องเพิ่มเองเพราะมีดีเซลลงไปปน แนวทางการแก้ไขที่เปิดกว้างและชัดเจนสำหรับเครื่องยนต์ 1.5 ดีเซล ณ วันนี้ (12/12/2017) ก็ยังไม่มีท่าทีแน่นอน
ถ้าคุณไม่เอา MG ไม่เอา Honda แล้วก็ไม่เอา Mazda อีกด้วย..งั้นก็มีทางเลือกเหลือ คือ Ford Ecosport ซึ่งมีราคา 716,000-847,000 บาท แต่อาจจะมีโปรโมชั่นเด็ดๆที่คุณต้องไปถามเซลส์เอา รถรุ่นนี้ขายมานานแล้ว จุดที่เหนือกว่า ZS ก็คืออัตราเร่ง แต่นอกนั้นแล้วธรรมดา เบาะนั่งก็ไม่สบายเท่าและลูกเล่นเชิงมัลติมีเดียก็ยังพัฒนามาได้ไม่หลากหลายฟังก์ชั่นเท่า MG ส่วน Nissan ก็มี Juke 1.6 ราคา 837,000-932,000 บาท ซึ่งรายนี้ก็ต้องคอยค้นข้อมูลเผื่อมีโปรโมชั่นดีเช่นกัน รถช่วงล่างดี ขับหนึบ สนุก อัตราเร่งดีกว่า ZS แต่อุปกรณ์ความปลอดภัยน้อยไม่เด่น ราคาตามป้ายไม่ได้ถูก และเบาะหลังคับแคบไม่เหมาะกับการใช้เป็นรถคันเดียวสำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีคุณพ่อคุณแม่วัยชรา
C-HR ของ Toyota ล่ะ? ก็น่าสนถ้าคุณเป็นคนชอบรถทรงแปลก ช่วงล่างก็น่าจะดี เพราะเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเท่าที่ผมลองขับมา ก็ด้อยกว่า ZS นิดหน่อย แต่เวอร์ชั่นไทยเขาบอกว่าช่วงล่างจะหนึบขึ้น ภายในยังบริหารจัดการพื้นที่ได้ดีกว่า CX-3 เบาะหลังดูคับแคบเพราะช่องหน้าต่างเล็กเกินไป แต่ตัวเบาะไม่ได้แย่ เป็นทางสายกลางระหว่าง HR-V กับ CX-3 แต่ราคาเริ่มต้น 9 แสนกว่า (ไม่รู้ว่ากว่าเท่าไหร่) และสงวนของเล่นดีๆสีสันเก๋ๆไว้ให้กับรุ่นไฮบริดเท่านั้นแทนที่จะแบ่งมาให้รุ่น 1.8 เบนซินบ้าง แต่ขับดีจริงหรือไม่ กว่าเราจะได้รู้ก็น่าจะต้นปี 2018 นู่นล่ะครับ
ท้ายสุด จะเห็นได้ว่า ถ้าคุณมองจากราคาของรถอย่างเป็นกลาง MG ZS ไม่ใช่รถที่แย่ มันมีดีให้สัมผัสเยอะมาก แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการคุมต้นทุนแล้วยังพยายามให้ได้อุปกรณ์เยอะ ทำให้มันได้เครื่องยนต์ที่ไม่ดีพอสำหรับความสามารถของแชสซีส์และช่วงล่าง นั่นคือข้อสรุปของตัวรถ แต่เรื่องบริการ กับอนาคตของแบรนด์นั้น แม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแต่ก็จะมีเรื่องให้ทั้งชม และติ
ที่ผ่านมา แน่นอนว่า MG ก็มีทั้งลูกค้าที่พอใจใน Aftersales Service เช่นพนักงานพูดจาดี มีบริการเซอร์วิสถึงบ้าน มีรถให้ใช้ระหว่างซ่อม เป็นต้น
แล้วก็มีบ้าง..ที่ไม่พอใจจากความช้าในการรออะไหล่ และความผิดปกติของรถอันเนื่องมาจากคุณภาพการประกอบ ปัญหาเหล่านี้ต้องมีวิธีแก้ไขที่สื่อสารอย่างเปิดกว้าง ตรงไปตรงมา เพราะค่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรืออเมริกา เขาทำให้เห็นแล้วว่ายิ่งเล่นวิธีปิดปากเงียบ หรือปล่อยให้มีการโยนความรับผิดชอบไปมา ความโกรธของลูกค้าจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นสิ่งที่ไม่ยอมบิดงอ มีแต่ตรงกับหัก แบรนด์ต้องมีการวัดความเสี่ยงว่าการยึดนโยบายของตัวเองกับการยับยั้งวิกฤติทางชื่อเสียง อะไรสำคัญกว่ากัน
ในขณะเดียวกัน ตัวอย่างที่ดีก็มีให้เห็น ผมไม่เอ่ยชื่อแบรนด์ แต่ยอดขายเดือนนึงไม่ใช่น้อยๆ เจอปัญหาอะไหล่ Defect แค่ “บางชิ้น” ในล็อตการผลิตนั้นๆ เขาออกจดหมายแจ้งลูกค้าก่อน อธิบายหมดว่าปัญหาเกิดจากอะไร แนวทางแก้ไขคืออะไร ให้ลูกค้าทำอย่างไร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว แล้วแถมยังมีมอบ Voucher 500 บาทเป็นค่าเสียเวลาให้ลูกค้าอีก รถของพวกเขาไม่ได้เลิศไปเสียทุกด้าน แต่การปฏิบัติขององค์กรมันซื้อใจลูกค้าได้ และสำหรับคนไทย..”ใจ” สำคัญมาก
ลูกค้าที่ยอมอุดหนุนรถ MG นับว่ามีความกล้าได้กล้าเสี่ยง ยอมผละจากแบรนด์อื่นที่มีประวัติในไทยยาวนาน 30-50 ปีมาคบกับรถที่แม้โลโก้จะเก่า แต่เพิ่งทำตลาดจริงจังในไทยมาได้ 3-4 ปี คุณคิดว่ามันต้องใช้ใจขนาดไหน? ผมคิดว่า MG เองก็ควรจะมอบรถที่ไว้ใจได้ และบริการที่เหนือกว่า เป็นการมอบใจตนเองคืนให้ในระดับเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมา อะไรที่ยังไม่เข้าที่ ก็ต้องดัดให้เข้าทางเสีย ทำตอนที่บริษัทยังมีอายุไม่มาก จะเป็นช่วงที่มีอิสระในการปรับทิศทางมากที่สุด
ไม้อ่อนดัดง่าย แต่องค์กรเนี่ย พอแก่แล้วดัดยากกว่าเพชรนะครับ ใช้ความใหม่ให้เป็นประโยชน์ ตั้งรางให้ถูกทิศตั้งแต่เริ่มต้น แล้วผลลัพธ์ระยะยาวจะออกมาสวยเองครับ
—–////—–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท MG Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
บทความที่เกี่ยวกับ MG ZS ที่คุณอาจต้องการอ่านเพิ่มเติม
เจาะสเป็ค ออพชั่น และข้อมูลของ MG ZS ทุกรุ่นย่อย คลิกที่นี่
พาไปชมรถคันจริง by Moo Cnoe ครบทุกรุ่นย่อย คลิกที่นี่
ทดลองขับ MG GS 1.5 Turbo: รีวิวโดย J!MMY คลิกที่นี่
————————————————–
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียนและช่างภาพจาก MG ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 12 ธันวาคม 2017
Copyright (c) 2017 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com 12 December 2017
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!