บางอย่าง ถึงจะไม่พร้อม แต่ก็ต้องเริ่ม..บางสิ่ง ไม่รู้ ไม่ชำนาญ 100% แต่ก็ต้องทำ จะดีร้ายก็ต้องคอยดูผลวันหน้า
คุณทราบหรือไม่ว่า นาฬิกาชนิดที่ใช้สวมใส่ข้อมือนั้น เกิดมาบนโลกก่อนรถยนต์เสียอีก หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนมีอยู่ว่าในปี 1868 นั้น Patek Philippe สร้างนาฬิกาข้อมือให้ท่าน Countess Koscowicz แห่งฮังการี แม้ว่ามันจะดูเหมือนเครื่องประดับมากกว่านาฬิกาใช้งานจริงจังแต่มันคือจุดเปลี่ยนของโลกแห่งเวลา ที่นาฬิกาพกพาแบบใส่กระเป๋าหรือห้อยคอ ค่อยๆย้ายที่อยู่ของมันไปอยู่บนข้อมือมนุษย์
สวิตเซอร์แลนด์ และอเมริกา ใช้เวลานับจากวันนั้น ประดิษฐ์เทคโนโลยีนาฬิกาข้อมือใหม่ๆออกมามากมาย แต่ในประเทศจีนอันยิ่งใหญ่ อาณาเขตไพศาล ในยุค 1950s นั้น ยังไม่มีนาฬิกาที่ก่อตั้งและผลิตเป็นของตัวเอง จนโลกในสมัยนั้นจดจำว่าจีนนั้น ซื้อได้ ขายได้ แต่ทำนาฬิกาใช้เองไม่เป็น ในยุคที่ท่านประธานเหมาแห่งพรรคคอมมิวนิสต์กำลังผงาด ประกาศนโยบายเศรษฐศาสตร์ชาติ “Great Leap Forward” (ก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่) คำสั่งให้พัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารก็ถูกสอดแทรกเข้ามา
มังกรกำลังทะยานขึ้นฟ้า ดุจหมัดมังกรผงาดโรซันของชิริว ก็มีอันสะดุดเล็กๆ เมื่อฝรั่งผมทองชี้ที่ข้อมือของมังกรแล้วบอกว่า “นาฬิกาสักเรือนก็ดีนะพ่อคุณ”
เรื่องราวจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อกองทัพอากาศของจีนในสมัยนั้นต้องการนาฬิกาที่ว่าให้กับนักบินในสังกัดของตัวเอง และมีเวลาที่แสนจำกัด คณะกรรมการที่ถูกมอบหมายภารกิจนี้ จึงคิดได้ว่า วิธีที่จะใช้เวลาน้อยที่สุดแล้วให้ได้คุณภาพดีที่สุด ก็คือการซื้อเทคโนโลยีจากต่างชาติ แล้วชาติไหนล่ะที่เป็นหนึ่งในด้านนาฬิกา ก็ต้องสวิตเซอร์แลนด์นี่ล่ะ ว่าแล้ว พวกเขาก็บินไปเจรจากับผู้ผลิตกลไกนาฬิกาสวิสที่กำลังมีฐานะทางการเงินง่อนแง่น จากนั้นก็ซื้อเครื่องจักรในการผลิต ส่งกลับไปที่จีน
นั่นคือจุดกำเนิดของโรงผลิตนาฬิกา Tianjin ในปี 1961 และได้รับคำสั่งจากกลาโหมจีนให้รีบสร้างนาฬิกาประเภท Chronograph สำหรับทหารอากาศโดยเร็ว ทาง Tianjin ก็ใช้เครื่องจักรและกลไกที่ซื้อมาจากสวิส สร้างออกมาเป็นเรือนต้นแบบ ส่งให้ผู้นำเหล่าทัพวิจารณ์และปรับแก้ จนในที่สุดก็กลายเป็น Seagull Chinese Air Force watch สแตมป์ภาษาจีน และพิมพ์ Made in China อย่างภาคภูมิใจ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็มีการนำนาฬิกากองทัพอากาศรุ่นนี้กลับมาผลิตใหม่ในชื่อ Seagull 1963 Chronograph ซึ่งคงรายละเอียดเรือนไว้เกือบจะเหมือนเดิมเป๊ะ และเป็นที่นิยมกล่าวขานกันในหมู่นักเลงนาฬิกาทั้งที่ราคาของมันไม่ได้ถูกนัก (329 US Dollar) ด้วยงบระดับเดียวกัน คุณสามารถซื้อ Chronograph ญี่ปุ่นดีๆอย่าง Seiko Flightmaster, Citizen Ecodrive หรือแม้กระทั่ง Junkers หรือ Graf Zeppelin ซึ่งเป็นแบรนด์เยอรมันได้..แล้วมีเงินทอน
ความพิเศษมันอยู่ที่ไอ้กลไกข้างในนั่นล่ะครับ เจ้าอื่นใช้ Quartz แต่ Seagull 1963 เป็นกลไกคลาสสิคที่พัฒนามาจากครั้งที่พวกเขายกเครื่องจักรมาจากสวิตเซอร์แลนด์ และไอ้กลไกไขลานนี่ เป็นของ Venus รุ่น 175 ซึ่งอยู่ในนาฬิการะดับแพงอย่าง Minerva หรือ Maurice Lacroix เป็นต้น พอบริษัท Venus ล้มและถูกผนวกเข้าไปเป็นหน่วยเล็กๆในกลุ่ม Swatch ทางเดียวที่คุณจะเป็นเจ้าของนาฬิกากลไก 175 ได้และไม่ถังแตก ก็คือ Seagull 1963 นั่นล่ะ คุณลอง Google รูปแล้วดูหลังเรือน..ความงามของกลไกที่มีพื้นฐานจาก Venus 175 นั่นทำให้นิ้วกับบัญชีสั่นได้ไม่เบาเลย
นี่ก็คือเรื่องราวของชาวจีนกับการเริ่มต้นทำนาฬิกาเรือนแรกของตัวเอง คุณจะเห็นได้ว่าบางอย่างที่ต้องทำแบบยังไม่มีจุดหมาย รู้แต่ว่าต้องเริ่ม ไม่มีคำว่ารอ บางครั้งผลของมันก็ออกมาดีได้ ถ้าสิ่งที่คุณทำ มันมีประโยชน์ มีเอกลักษณ์ที่เด่น หาจากใครอื่นมิได้ ..วงเล็บว่าในราคาที่เท่าๆกันนะ
แต่สำหรับ MG Extender ใหม่ ซึ่งเป็นก้าวแรกของการเข้าสู่วงการรถกระบะของทางค่ายล่ะ? จะมีอนาคตในแนวทางเดียวกันหรือเปล่า?
ในความคิดของผม ที่ยกเคสของ Seagull 1963 มาเปิดเรื่อง เพราะมองเห็นความคล้ายคลึงกันที่มาเกิดในตัว Extender ซึ่ง MG เองนั้นทุกคนก็ทราบกันอยู่แล้วว่าปัจจุบันมี SAIC แห่งประเทศจีนเป็นเจ้าของ แต่เขาก็ได้ซื้อ Know-how และเทคโนโลยีหลายด้านมาจากเมืองฝรั่ง บางอย่างที่นำมา เช่นเรื่องการเซ็ตช่วงล่าง ก็กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของ MG ชนิดที่พูดได้ว่าตั้งแต่เปิดตัวมา ผมยังไม่เคยเจอ MG ที่ช่วงล่างห่วยสักคัน มีแต่ชอบ กับ ชอบมาก
ความคล้ายกันในอีกประการหนึ่งคือ สถานการณ์ที่บังคับให้ต้อง “เริ่ม” ทำอะไรสักอย่าง ทั้งที่ไม่ชัวร์ว่าจะมีความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ MG ประเทศไทยก็ทราบและทำการวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่ง รวมถึงประเมินค่าการผลิตมาล่วงหน้าแล้วว่า Extender ต้องเจอศึกหนักอุปสรรคใหญ่กว่าสิ่งที่ MG รุ่นอื่นๆเคยพบมา ทั้งความเชื่อของผู้บริโภค ขนาดของตลาด และความได้เปรียบของคู่แข่ง ผมมีความคิดส่วนตัวว่าการที่ Extender ต้องมาอยู่ตรงนี้ น่าจะเป็นภาคบังคับจากเมืองนอก ซึ่งมองว่า MG ควรเริ่มทำอะไรสักอย่างกับตลาดรถกระบะ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดโตที่สุดของประเทศ..แต่ผมอาจจะมองผิดก็ได้นะ
ถ้ามัวรอสร้างผลิตภัณฑ์ให้เด่นกว่าคู่แข่งในทุกด้าน รอเจนเนอเรชั่นใหม่ถอดด้าม MG ก็อาจจะเริ่มก้าวช้าไป สู้ส่งอะไรก็ตามที่มีอยู่มาขายชิมลางก่อน เก็บข้อมูลการตอบรับจากผู้บริโภคไปเยอะๆ มันก็อาจจะทำให้รถรุ่นถัดไปออกมาโดนใจผู้บริโภคมากขึ้น ลองดู MG GS เทียบกับ HS สิครับว่าต่างกันขนาดไหน
สำหรับราคาอย่างเป็นทางการ เมื่อเปิดตัวในวันที่ 7 สิงหาคม 2019 ที่เขาใหญ่ สำหรับรุ่น Double Cab (DC) สี่ประตู มีดังนี้ครับ
GRAND ขับ 2 ยกสูง
- 2.0 GRAND D 6MT 759,000 บาท
- 2.0 GRAND D 6AT 819,000 บาท
- 2.0 GRAND X 6AT 879,000 บาท
GRAND 4WD ขับเคลื่อน 4 ล้อ
- 2.0 GRAND X 4WD 6AT 1,029,000 บาท
รับประกันคุณภาพตัวรถ 4 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร แต่ละรุ่น เสียภาษีสรรพสามิตในอัตรา 10-13%
รถทดสอบของเราในวันนี้ คือรุ่น 2.0 DC Grand X 6AT ซึ่งเป็นตัวท้อปของ Extender ที่แพงที่สุดและมีอุปกรณ์ครบครันที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกล้องรอบคัน, ระบบ i-SMART, จอกลางขนาด 10 นิ้ว, เบาะนั่งปรับไฟฟ้าคู่หน้า, ไฟหน้าแบบกระดิกซ้ายขวาได้ และยังมีระบบ Diff-lock แบบกลไกมาให้ด้วย
เมื่อมองไปในตลาดรถกระบะ จะหาตัวเทียบที่เป็นเครื่องยนต์ระดับพลังพอๆกันและขับเคลื่อน 4 ล้อเหมือนกันได้ยาก เครื่องยนต์ของ MG Extender จัดอยู่ในกลุ่ม Lower power ดังนั้นถ้าจะเอาไปเทียบกับกลุ่มพลังแรงตัวท้อปๆก็จะดูไม่เป็นการยุติธรรมนัก ยกเว้นถ้าคุณมองจากเรื่องราคาแล้วเปิดกว้างเรื่องออพชั่นกับเครื่องยนต์
Ford มี Ranger รุ่น Limited 4×4 เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะในราคา 1,039,000 บาท มีจุดเด่นที่ช่วงล่าง ความแรง แต่อุปกรณ์ติดรถนั้นจะไม่เยอะเท่า MG เพราะเขาสงวนของไว้สำหรับรุ่น Wildtrak Bi-turbo ที่มีราคา 1,265,000 บาท ส่วน Isuzu D-max ที่เพิ่งเปิดตัวไปนั้น รุ่น 1.9 ลิตรจะไม่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ต้องข้ามไปเล่นรุ่น 3.0M 6AT 4×4 ซึ่งมีราคา 1,157,000 บาท หรือถ้าอยากได้เครื่องเล็กจริงๆ รุ่น 1.9 ก็ต้องเล่นตัวขับหลังอย่าง Z-Prestige 6AT ราคา 990,000 บาท
Mitsubishi Triton และ Chevrolet ต่างก็ไม่มีตัวเลือกขับสี่กับเครื่องยนต์พลังต่ำกว่า ดังนั้นจึงมีแต่ตัวท้อปที่แรงสุด อย่าง Triton ก็จะมีรุ่น GT Premium 4WD ในราคา 1,099,000 บาท (รุ่นขับสอง 983,000 บาท) และ Colorado High Country 1,068,000 บาท (รุ่นขับสอง ราคา 998,000 บาท)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าราคาของ MG Extender รุ่นขับหลังนั้น มีความเด่นอยู่เพราะถูกกว่าผองเพื่อน แต่พอมาเป็นรุ่นขับสี่ กลับมีราคาเขยิบไปใกล้รถระดับ Higher power ของคู่แข่งที่มีแรงม้า 180 ตัวเป็นขั้นต่ำ แล้วงานนี้ จะเหลืออะไรให้ MG แข่งกับชาวบ้านชาวช่องเขาได้บ้างล่ะเนี่ย?
MG Extender รุ่น 4 ประตู Double Cab มีขนาดมิติตัวถังดังนี้
- ความยาว 5,365 มิลลิเมตร
- ความกว้าง 1,900 มิลลิเมตร
- ความสูง รุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง 1,820 มิลลิเมตร รุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ 1,850 มิลลิเมตร
- ความยาวฐานล้อ 3,155 มิลลิเมตร
- Front Track/Rear Track เท่ากับ 1,580/1,580 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก รุ่น Grand D ขับหลังเกียร์ธรรมดา 1,850 กิโลกรัม รุ่น Grand X 4WD เกียร์อัตโนมัติ 2,050 กิโลกรัม
ทาง MG พยายามโฆษณาเรื่องความ “ใหญ่” ของตัวรถ ทางคุณหมูแห่งหน่วยวิจัยข้อมูลทีม Headlightmag ก็เลยสรุปมาให้ดูดังนี้ว่า..เออ..มันใหญ่ครับ ใหญ่จริง มีแค่ความยาวฐานล้อเท่านั้นที่ Ford/Mazda ยาวกว่าคันอื่นๆเขา
- Toyota Hilux Revo : 5,330 x 1,855 x 1,815 มม. / ฐานล้อ 3,085 มม.
- Isuzu D-max (2019) : 5,265 x 1,870 x 1,810 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 3,125 มม.
- Ford Ranger : 5,362 x 1,860 x 1,815 มม. / ฐานล้อ 3,220 มม.
- Mitsubishi Triton : 5,300 x 1,815 x 1,795 มม. / ฐานล้อ 3,000 มม.
- Nissan Navara : 5,255 x 1,850 x 1,820 มม. / ฐานล้อ 3,150 มม.
- Chevrolet Colorado : 5,360 x 1,882 x 1,798 มม. / ฐานล้อ 3,095 มม.
- Mazda BT-50 Pro : 5,365 x 1,850 x 1,821 มม. / ฐานล้อ 3,220 มม.
- MG Extender : 5,365 x 1,900 x 1,850 มม. / ฐานล้อ 3,155 มม.
รูปทรงของ MG Extender นั้น ก็มีความสวยงามพอประมาณ ด้านหน้ารถอาจจะดูแปลกๆ ไม่รู้ว่าใครจะมองเหมือนผมบ้างหรือเปล่า แต่รูปทรงมันเหมือนไม่ได้เกิดมาเป็น MG ไม่มีหน้าเส้นสายที่ทำให้นึกถึง MG รุ่นอื่นใดเลย ยกเว้นเพียงแค่กระจังหน้าแปดเหลี่ยมลายตาข่ายนั่น ไฟหน้ามี Daytime Running Light และในรุ่น Grand X ขับสี่จะมีไฟหน้า LED Projector เปิด/ปิดอัตโนมัติพร้อมระบบเลี้ยวตามองศาพวงมาลัย
ส่วนด้านข้างนั้น น่าสนใจที่การออกแบบส่วนล่างของประตูให้ยุบลงเป็นเหลี่ยมสัน เวลาสะท้อนเงาก็ดูปึกแผ่นเป็นแก่นสารดี ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ไม่ได้ดูใหญ่หรือเล็กเกินไป สวยสมส่วนกับตัวรถ อย่างไรก็ตาม ผมว่ามุมสวยของ Extender คือมุมถ่ายแบบเฉียงจากด้านท้าย แม้มันจะดูเก่าเหมือนเป็นดีไซน์จาก 5-6 ปีก่อน แต่ก็เลือกส่วนที่สวยที่สุดมารวมกันได้พอดี รูปทรงของประตูหลังผมว่าทำมาลงตัวกว่า D-Max ใหม่โดยเฉพาะบานกระจกที่เดินเส้นยักขอบหลังชี้ขึ้นกำลังสวย ไฟท้ายดูธรรมดา แต่ก็มีทรงรับเข้ากันกับฝาท้ายกระบะได้ดี
อดคิดไม่ได้ว่าถ้าวันหน้า MG ไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนหน้ารถให้ดูล้ำยุค คมคายกว่านี้สักหน่อย ก็คงหล่อได้ไม่ยาก
ห้องโดยสารตอนหน้า เข้าออกง่ายไม่ต่างจากรถกระบะทั่วไปเท่าไหร่นัก แค่ว่าเวลาจะลงจากรถ ให้ระวังบันไดข้างสักนิด ตัวบันไดที่ยื่นออกมามาก ทำให้เหยียบก้าวขึ้นรถได้สะดวกมาก ผมชอบ แต่ถ้าไปลุยโคลนมาหนักๆแล้วจะลงจากรถ อย่าเผลอสไลด์ตัวลงโดยไม่เหยียบบันได เพราะกางเกงคุณจะกวาดโคลนที่ติดอยู่ตรงบันไดมาด้วยแน่นอน อันนี้แค่เตือน แต่ไม่ใช่ข้อเสีย รถของคู่แข่งรายอื่นๆก็เป็น
เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังแท้บางส่วนและวัสดุหนังสังเคราะห์บางส่วน เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทาง การปรับเบาะสูงต่ำจะเป็นแบบยก/กดทั้งตัว ไม่สามารถแยกปรับยกส่วนรองน่องให้เทหน้า/หลังได้ ตัวเบาะนั้น เกือบจะให้คะแนนเรื่องความสบายเต็มไปแล้วเพราะมีความนุ่มแน่นกำลังสวย โอบข้างกำลังดี แต่เสียอย่างเดียวคือหมอนรองศีรษะมันเอียงในลักษณะที่ทิ่มหัวมากกว่าจะรองรับแบบสบาย ทำให้พวกคนที่ขับรถแล้วชอบเอาหัวพิงหมอนอย่างผมรู้สึกทรมานคอ เช่นเดียวกับ Toyota บอดี้ TNGA ใหม่ๆ ทำให้ต้องเอนเบาะไปข้างหลังมากกว่าปกติเพื่อพยายามให้พนักพิงหัวตั้งตรงรองรับคอมากขึ้น ยังดีที่หมอนรองศีรษะของ Extender มีความนุ่มมาก ทำให้ยังพอยอมรับได้
พวงมาลัย ปรับได้แค่ 2 ทิศ ไม่สามารถปรับเข้า/ออกได้ นี่คือสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่า Extender ยังมีพื้นฐานจากกระบะยุคเก่าเหลืออยู่ ในตลาดบ้านเราตอนนี้ Toyota, Isuzu และ Mitsubishi สามารถปรับได้ 4 ทิศแล้ว ส่วน Ford, Mazda, Chevrolet, Nissan และ MG ยังได้แค่เลื่อนขึ้น/ลง ซึ่งมันคงไม่ใช่ปัญหาหรอก ถ้าไม่ใช่ว่าผมต้องเอนเบาะมากกว่าปกติเพราะพนักพิงศีรษะนั่น เมื่อเอนเบาะ ตัวก็ถอยไปข้างหลัง การจะเอื้อมจับพวงมาลัยก็ไม่ถนัดนัก ถ้าพวงมาลัยปรับเข้า/ออกได้ หรือพนักพิงศีรษะปรับถอยได้มากกว่านี้ เรื่องจะจบ และ Extender จะเป็นกระบะที่นั่งขับสบายที่สุดในสายตาผม
ส่วนเบาะหลังนั้น ขอบอกว่าปลื้มมาก สำหรับคนตัวสูง 183 เซนติเมตรอย่างผม ตัวเบาะรองนั่งออกจะกดต่ำไปนิด ทำให้เวลานั่งแล้วรู้สึกว่าหัวเข่าต้องชันขึ้นมากกว่า Mitsubishi Triton อยู่เล็กน้อย แต่ในเรื่องอื่น Extender กินเรียบ! ไม่ว่าจะเป็นพนักพิงหลังที่ดุนแบบกำลังน่านั่งหลับ นุ่ม ดันหลังตอนล่างและกลางแบบกำลังดี พนักพิงศีรษะก็ไม่ดันมาข้างหน้ามากเกินไป และที่ชอบมากคือพนักเท้าแขน ทั้งตรงกลางและที่ประตู ทำมาเอาใจคนตัวสูง เวลานั่งแบบกึ่งๆจะหลับ ข้อศอกจะวางลงเท้าแขนได้อย่างพอดิบพอดีทั้งสองข้าง และตบท้ายด้วยพื้นที่ยืดแข้งเหยียดขาที่ผมคิดว่าน่าจะยาวสุดในบรรดากระบะทั้งหมดที่เคยนั่งมา กับพื้นที่เหนือศีรษะที่เวลาผมนั่ง ยังเอามือกำหมัดตั้งแล้วรูดผ่านกบาลกับเพดานไปมาได้อย่างสะดวกโยธิน
หลายคนจำได้..ผมเคยชมว่า Mitsubishi Triton คือรถกระบะรุ่นเดียวที่ผมยอมนั่งหลังโดยสารเป็นระยะทาง 5-600 กิโลเมตร ..แล้วกับ MG Extender ล่ะ? ผมรู้สึกแค่เบาะรองนั่งมันต่ำกว่า Triton นิดหน่อย นอกนั้นในจุดอื่น Extender ชนะหมด และถ้าต้องเลือกให้คันใดคันหนึ่งเป็นผู้ชนะ ผมคงต้องชูแขนให้ Extender กลายเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์เบาะหลังนั่งสบายที่สุดไปแล้วในวันนี้
ไม่ต้องพูดถึงคู่แข่งรายอื่นนะครับ Ranger, Revo, Colorado หรือใครอื่นก็ไม่สบายเท่านี้ สำหรับ Extender นี่คือผมสามารถนั่งหลับอย่างสบายอารมณ์ได้จริง ขนาดว่าแค่ได้มานั่งครั้งเดียวก็ไม่อยากกลับไปขับหรือแม้แต่นั่งเบาะคู่หน้าอีกเลย
บรรยากาศภายในห้องโดยสาร เป็นสิ่งที่อธิบายยากอยู่สักหน่อย ผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยจะดูพรีเมียมเท่าที่คาดเวลานั่งมองของจริง แต่พอลองเอานิ้วกดแดชบอร์ดและไล่เคาะพลาสติกตามจุดต่างๆ เอ๊ะมันก็ไม่ได้แย่เลยนี่หว่า ดังนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องของการเลือกตำแหน่งติดตั้งวัสดุซะมากกว่า ลองเปิดรีวิว Ford Ranger Limited เทียบก็ได้ครับ จะเข้าใจ Ford ในรุ่นที่ไม่ใช่ Wildtrak นั้น วัสดุภายในธรรมดามาก แต่ความที่ดีไซน์มันดูพรีเมียม และเลือกใช้โครเมียมได้ถูกจุด ภายในของ Ford จึงดูเหมือนแพงกว่า ทั้งที่ความจริงไม่ได้ต่างกันมาก
ด้านบนของแดชบอร์ด มีที่วางของมาให้เหมือน Nissan Navara และมีขนาดใหญ่กว่าของ Ranger เป็นประโยชน์สำหรับชมรมวัตถุบูชาที่ต้องมีของวางไว้ แม้ว่ามันจะไม่ถูกตามหลักความปลอดภัยเท่าไหร่ แต่ในเมื่อลูกค้ารถกระบะตัวจริง กี่ค่ายๆวิจัยมาก็ได้ผลเหมือนกันว่ายิ่งช่องวางของเหนือแดชบอร์ดยิ่งโต ยิ่งวางได้เยอะ คนยิ่งชอบ
Extender ยังมีจุดแอบน่ารักอีกอย่างคือ ให้กระจกแต่งหน้าในแผงบังแดดมาทั้งสองด้าน แม้จะไม่มีไฟส่องให้แบบ Ford Ranger แต่ก็ยังดีกว่า Triton ซึ่งต่อให้เป็นตัวท้อปราคาล้านขึ้น ก็ให้กระจกมาแค่ด้านคนนั่ง เขาคงเดาว่าผู้ชายสมัยนี้ไม่แต่งหน้ากระมัง หรือตอนทำแบบสอบถาม ผู้ชายคนไหนมันจะกล้าตอบว่าตัวเองแต่งหน้าบนรถวะ แต่บางทีเราก็ต้องอาศัยกระจกเช็คความเรียบร้อย จมูก หนวด ฟัน ก่อนลงไปรับสาวกินข้าวบ้างหรือเปล่า
มุมมองจากที่นั่งคนขับ ผมรู้สึกดีใจอย่างหนึ่งว่า Extender เป็น MG ประเภทที่มีการจัดวางสวิตช์หลายอย่างแบบรถญี่ปุ่น คุณจะไม่ต้องเจอตำแหน่งการวางสวิตช์แปลกๆ ตรรกะงงๆแบบสมัย MG 3, 5 และ 6 อีกต่อไป บนแผงประตู ก็มีชุดควบคุมกระจกไฟฟ้าและเปิด/ปิดล็อคประตูและปุ่ม Window lock ด้านคนขับเป็นกระจกแบบ One-touch ทั้งขาขึ้นและขาลง (ในโบรชัวร์เขียนว่า “One Touch Down” บางท่านอาจจะเข้าใจผิดคิดว่ากดทีเดียวปล่อยได้แค่ขาลง) สวิตช์ปรับกระจกมองข้าง อยู่ใกล้มือเปิดประตู มองเห็นง่ายมาก ส่วนสวิตช์เปิดฝาถังน้ำมันก็อยู่ที่ตอนล่างบริเวณช่องเก็บของ
ใต้ช่องแอร์ด้านขวา มีสวิตช์ปรับความสว่างของหน้าปัด และปุ่มสตาร์ท ซึ่งเอาไว้ด้านขวา ก้านไฟเลี้ยว อยู่ด้านขวา มีระบบไฟหน้าอัตโนมัติ ส่วนด้านซ้ายที่เป็นก้านสำหรับระบบปัดน้ำฝน ก็มีระบบปัดอัตโนมัติมาให้เช่นกัน โดยเมื่อเปิดจังหวะที่หนึ่ง บนหน้าปัดจะขึ้นคำบ่งบอกว่า Rain sensor เปิดทำงานแล้ว ส่วนบนพวงมาลัย ก้านซ้ายเป็นชุดควบคุม Cruise Control และด้านขวาควบคุมเครื่องเสียง
อย่างไรก็ตาม จุดที่ยังออกแบบมาใช้ไม่สะดวก ก็ยังเหลืออยู่จุดหนึ่ง คือสวิตช์บริเวณขอบคอนโซลกลางสีเงินๆ ซึ่งสวิตช์โหมดการทำงาน Power, Eco และเปิดปิดระบบเตือนรถเฉออกนอกเลน จะอยู่ฝั่งผู้โดยสารและยังหันไปหาผู้โดยสารอีกด้วย นอกนั้น ผมถือว่าทำมาได้ดีแล้ว
จอกลางขนาด 10 นิ้ว เป็นจุดขายอย่างหนึ่งของ MG Extender ด้วยขนาดที่โตเหนือใคร และยังเป็นจอทัชสกรีนที่มีความคมของภาพใช้ได้เลย สไลด์ภาพไปมาก็ไม่ค่อยมีอาการหน่วงให้รำคาญใจ อีกทั้งยังมีฟังก์ชั่นต่างๆในรูปของไอค่อนที่ทำให้เหมือนนั่งเล่น iPad อยู่กับบ้านมากกว่า บางฟังก์ชั่นอาจต้องคลำต้องหากันบ้าง แต่ผมก็ยังสามารถเข้าไปปรับค่าต่างๆของรถเช่นพวกการล็อคประตูได้โดยไม่ต้องเปิดคู่มือ และยังดีที่ให้ปุ่มสำคัญบางปุ่มมาเป็นแบบ Hard switch เช่น CAR/CAMERA/HOME/VOLUME เพราะเมื่อวันไหนที่จอมันเสีย คุณก็ยังเข้าใช้บางฟังก์ชั่นที่จำเป็นได้อยู่
เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง หรือกดปุ่ม CAMERAจะเป็นการเปิดฟังก์ชั่นกล้อง 360 องศา ซึ่งสามารถแสดงภาพรอบคันได้ตั้งแต่ตอนหยุดนิ่งและวิ่งความเร็วต่ำแบบคลานซอย ปุ่มกดเลือกมุมมองกล้องมีขนาดใหญ่ เขียนเป็นคำชัดเจนว่าจะเลือกดูกล้องตัวไหนเป็นพิเศษ เป็นลูกเล่นที่มีประโยชน์จริงโดยเฉพาะเมื่อคุณต้องขับรถคันยาวเกือบ 5.4 เมตร กว้าง 1.9 เมตร เข้าไปตามถนนในซอยแคบๆ หรือถอยออกจากบ้านแล้วต้องเช็คว่าไม่มีเด็กเล็กคลานอยู่หลังรถ
ระบบนำทางที่ให้มา ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบบ i-SMART ซึ่งมีระบบรายงานสภาพการจราจรแบบ Real-time การแสดงผลไม่ได้ดูฟู่ฟ่ามากนัก แต่การป้อนข้อมูลและเป้าหมายไม่ยาก เพียงแต่ข้อจำกัดเดียวก็คือมันไม่มีระบบเดาจากสิ่งที่เราพิมพ์ เช่น จะไปร้านอาหาร เรือนแพสามช่อง บางทีคุณพิมพ์ไปแล้วจะไม่เจอ ต้องหาจากคำว่าสามช่องแล้วไล่ๆดูเอา หรือใช้ระบบค้นหาจากโทรศัพท์มือถือ เชื่อมต่อ i-SMART แล้วส่งไปที่รถแบบนี้จะยิ่งง่ายกว่า
นอกจากนี้ฟังก์ชั่นพื้นฐานของระบบ i-SMART ยังรวมไปถึง
- การล็อค/ปลดล็อคประตูผ่านโทรศัพท์มือถือ
- ค้นหาตำแหน่งของรถยนต์พร้อมบอกทางไป หรือส่งเสียงแตรเปิดไฟหน้าให้รู้ก็ได้
- มีระบบตรวจสอบความผิดปกติของรถ
- ระบบรั้วอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งคุณสามารถสร้างอาณาเขตรัศมีวงกลมได้ตั้งแต่ 500 เมตร ถึง 10 กิโลเมตร โดยเมื่อรถวิ่งเข้าหรือออกจากแนวรัศมีนี้จะมีการส่งข้อความแจ้งมายังโทรศัพท์ (เรียกว่าระบบกันผัวหนีเที่ยวก็ได้)
- Remote A/C On/Off
สำหรับคนชอบฟังเพลงใหม่ๆ ยิ่งน่าจะได้ใจเพราะมีระบบ Online music (TRUE ID music) ซึ่งคุณสามารถค้นจากชื่อเพลง ชื่อนักร้อง ชื่ออัลบั้ม แล้วกดฟังได้เลย (ผมก็อุดหนุน Bruno Mars ไปสามสี่เพลง)
อย่างไรก็ตาม คุณภาพของเครื่องเสียง 6 ลำโพงที่ให้มานั้น จัดอยู่ในระดับธรรมดามาก ต่อให้พยายามปรับเสียงหน้า/หลังและปรับรายละเอียด Equalizer แล้ว คุณจะไม่ค่อยได้ยินรายละเอียดเสียงมากเท่าที่ควร ต้องเปิดแบบดังๆมาก ถึงจะได้ความละเอียดเสียงย่านต่ำค่อนกลาง หรือกลางค่อนสูง ซึ่งแม้ไม่ใช่ส่วนสำคัญแต่ก็ทำให้เพลงหลายเพลงมีความไพเราะมากขึ้น
ชุดมาตรวัด เป็นแบบอนาล็อก 4 เข็ม + จอ MID ตรงกลาง ซึ่งไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเปล่า โทนสี ขาว เทา แดงที่ใช้นั้นคล้ายกับ Mitsubishi Triton มาก แต่ของ Triton จะมีลักษณะมาตรวัดเข็มที่แม้จะไม่สวยเท่า แต่ก็อ่านค่าความเร็วและรอบเครื่องได้ง่ายกว่า ส่วนจอ MID ตรงกลางนั้น สามารถโชว์ค่าได้หลากหลาย
- ความเร็วขณะวิ่ง ในรูปแบบดิจิตอล
- ความเร็วเฉลี่ย
- อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
- อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real-time (แต่เป็นหน่วยลิตร/ชั่วโมง)
- แสดงค่าลมยาง 4 ล้อ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โลกรถกระบะก้าวไปสู่จอ MID แบบสีสันสดสวยกันหมด ของ MG ยังเป็นจอสีขาวดำ ซึ่งถึงแม้จะอ่านค่าไม่ยาก แต่ก็ดูเหมือนใช้พื้นที่จอไม่ค่อยคุ้ม โชว์ค่าบางค่าได้แค่ทีละอย่างทั้งที่จริงๆแล้วจะแสดงร่วมกัน หรือขยายขนาดตัวเลขขึ้นบ้างก็ได้ จุดนี้ ผมว่าแค่สวยแบบพอรับได้ แต่โดยรวมแล้วยังไม่เด่น
แหม่! อุตส่าห์ให้จอกลางบนคอนโซล 10 นิ้วที่สวยล้ำหน้าชาวบ้าน มาตายตรงหน้าปัดนี่แหละ ที่ดูจะเหมือนหน้าปัดจาก Triton 2014 ในยุคจอสียังไม่บูม แต่ถ้าใครไม่เน้นเรื่องลูกเล่น คุณจะพบว่ามันใช้ชีวิตอยู่ด้วยได้ง่าย อย่างน้อยเวลาต้องการดูรอบกับความเร็วเท่ากัน ก็ง่ายกว่าหน้าปัดสีที่อ่านค่าไม่ได้เรื่องอย่างใน Ford Ranger Limited แล้วกัน
***รายละเอียดทางวิศวกรรม***
ในตลาดเมืองจีน รถ MG Extender ที่ขายในชื่อ Maxus T-70 นั้น มีเครื่องยนต์ 3 แบบ ได้แก่เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร 163 แรงม้า/375 นิวตันเมตร, เครื่องยนต์ดีเซลแบบเทอร์โบคู่ 2.0 ลิตร 218 แรงม้า/480 นิวตันเมตร และเครื่องยนต์เบนซิน TGI เทอร์โบ 2.0 ลิตร 213 แรงม้า/350 นิวตันเมตร
อย่างไรก็ตาม MG Extender ในประเทศไทย จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว คือ 2.0 ลิตรดีเซล เทอร์โบชาร์จเดี่ยว โดยมีรหัสเครื่องยนต์ว่า “20D4N” เป็นเครื่องแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,996 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.9 : 1 กำลังสูงสุด 161 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 375 นิวตันเมตร ที่ 1,500 – 2,400 รอบ/นาที
MG ทางประเทศไทยเลือกเครื่องยนต์รุ่นนี้เพราะต้องการเน้นความประหยัด จากการสำรวจพบว่าแม้จะมีเครื่องยนต์ Higher power ให้เลือกในหลายรุ่น แต่รถส่วนใหญ่ที่ลูกค้าซื้อกันจริง ก็จะเป็นพวก Lower power 1.9, 2.0, 2.2 หรือ 2.4 ลิตรซะมากกว่า
ตัวเครื่องยนต์ 20D4N นั้น จะมีท่อไอดีแบบแปรผันด้วยการเปิด/หรี่ขนาดรูทางเข้าของอากาศที่ชุดท่อไอดี และยังมีระบบหล่อเย็นแยกออกจากกันระหว่างเสื้อสูบกับฝาสูบเพื่อความทุนทาน ส่วนคำถามที่ว่าเครื่องยนต์บล็อคนี้ รองรับการเติมน้ำมัน B20 หรือไม่ ทางผู้บริหารบอกว่ายังไม่ได้มีการประกาศว่ารองรับ ซึ่งก็เป็นคำตอบสไตล์องค์กรนั่นล่ะ สำหรับผมก็คือยังไม่รู้หรือไม่สามารถสรุปได้ เพราะช่วงที่กำลังพัฒนา Extender นั้น B20 ยังไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากเท่าวันนี้ อาจต้องให้เวลาในการทดสอบกับเขาอีกหน่อย
ระบบส่งกำลัง ในรุ่น DC Double cab 4 ประตู จะมีสองแบบ ได้แก่
อัตราทดเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ อัตราทดเกียร์ดังนี้
- เกียร์ 1 4.657
- เกียร์ 2 2.509
- เกียร์ 3 1.566
- เกียร์ 4 1.190
- เกียร์ 5 1.000
- เกียร์ 6 0.806
- เกียร์ถอยหลัง 4.252 และ อัตราทดเฟืองท้าย 3.636
อัตราทดเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมด +/- แต่ไม่มี Paddle Shift ที่พวงมาลัย มีอัตราทดเกียร์ดังนี้
- เกียร์ 1 4.065
- เกียร์ 2 2.371
- เกียร์ 3 1.551
- เกียร์ 4 1.157
- เกียร์ 5 0.853
- เกียร์ 6 0.674
- เกียร์ถอยหลัง 3.200 และอัตราทดเฟืองท้าย 3.636
ในรุ่น Grand X 4×4 ขับเคลื่อนสี่ล้อ จะมีแต่เกียร์อัตโนมัติเท่านั้น ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นแบบ Part-time สั่งการด้วยสวิตช์บิด
- 2H Mode – ส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อหลัง ใช้สำหรับวิ่งถนนดำ หรือขับขี่ปกตก
- 4H Mode – ขับเคลื่อนสี่ล้อ ไม่มีเฟืองทดความต่างการหมุนของล้อหน้า/หลัง ดังนั้นควรไว้ใช้เมื่อจำเป็นบนถนนที่แรงเสียดทานต่ำกว่าปกติ เช่นลูกรัง ทางฝุ่น สามารถสลับจาก 2H เป็น 4H ได้ที่ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- 4L Mode – ขับเคลื่อนสี่ล้อเกียร์ Low ใช้สำหรับลุยทางหนัก พื้นผิวลื่นจริงๆ แล่นได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีระบบล็อคเฟืองท้าย Rear Differential Lock แบบกลไกมาให้ใช้เมื่อยามติดหล่มและเหลือล้อที่ส่งแรงได้แค่ข้างเดียว
ระบบบังคับเลี้ยว ยังเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบผ่อนแรงด้วยไฮดรอลิก ช่วงล่างด้านหน้า เป็นแบบอิสระปีกนกคู่ ส่วนด้านหลังเป็นคานแข็งรองรับน้ำหนักด้วยแหนบแผ่น รุ่นยกสูงทั้งหลาย จะได้แหนบวางเหนือเพลา ในขณะที่ Extender รุ่นตัวเตี้ยจะเป็นแหนบแบบวางใต้เพลา ระบบเบรกที่ให้มาในรุ่น 4 ประตูยกสูงจะเป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อทุกรุ่นย่อย
สำหรับระบบความปลอดภัยที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถคันนี้ ก็ประกอบไปด้วย
- ระบบควบคุมการทรงตัว SCS
- ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล TCS
- ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน HAS
- ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง TPMS
- ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา BSD
- ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า-ด้านข้าง-ม่านนิรภัย)
- กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา
- เซนเซอร์กะระยะช่วยจอดด้านหลัง
- ระบบกุญแจ Immobilizer
***การทดลองขับ***
ในทริปนี้ ทาง MG Thailand ให้เรานั่งเครื่องบินไปลงที่ภูเก็ตตั้งแต่เช้า แล้วเริ่มต้นกันที่ดีลเลอร์ของ MG ในจังหวัดภูเก็ต ขับไปผ่านทางพังงา และขึ้นไปจบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระหว่างทาง ก็มีทั้งทางตรง โค้ง มีทั้งช่วงที่เปิดให้วิ่งทดสอบความเร็วกันเต็มๆบนทางราบ และช่วงที่ให้ขับแข่งกันประหยัดน้ำมัน ในรถของผม มีผู้ร่วมทางอีกสองท่านพร้อมสัมภาระอีกประมาณ 20 กิโลกรัม
อัตราเร่ง
เนื่องจากผมต้องขับรถไปส่งสมาชิกในรถท่านอื่นก่อนที่โรงแรม เพื่อทำน้ำหนักบนรถให้ใกล้เคียงกับเวลาทดสอบปกติ ส่งผลให้กว่าจะออกกลับมาอีกรอบได้ก็เป็นช่วงเย็นที่รถพลุกพล่านแล้วในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อให้พยายามออกมาวิ่งเส้นหลักนอกเมืองมุ่งหน้านครศรีธรรมราช และมีเวลาจำกัดเพียง 45 นาที จึงได้ทดสอบแต่ในโหมดปกติ แต่พยายามวิ่งไปกลับบนเส้นเดิมหลายๆรอบเพื่อตัดความเบี่ยงเบนที่เกิดจากความลาดชัดของเส้นทาง (ซึ่งเป็นปัญหาหลัก เวลาขับรถทดสอบทางใต้)
0-100 กิโลเมตร/ ชั่วโมง 13.55 วินาที
80-120 กิโลเมตร/ ชั่วโมง 10.40 วินาที
ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น ผมลองทำตั้งแต่ตอนที่วิ่งมาจากพังงา พยายามทำอยู่สามรอบก็ไม่สำเร็จเพราะมีรถตัดออกมาขวางอยู่เนืองๆ ผมพา MG Extender ไปได้เร็วสุด 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเชื่อว่าถ้าไม่โดนขวางเสียก่อนก็น่าจะยังไหลต่อได้ เพียงแต่มันขึ้นช้ามากแล้วที่หลัง 155 เป็นต้นไปและต้องอาศัยทางวิ่งที่ยาวและปลอดรถผมจึงจะกล้าแช่
ตัวเลขสมรรถนะที่ออกมานั้น ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ สวนทางกับความรู้สึกของผมในช่วงก่อนดึงนาฬิกาออกมาจับเวลา ตอนแรกขับ รู้สึกว่าเห้ย มันติดเท้า พุ่งดีกว่า Isuzu D-Max 1.9 โฉมที่แล้วชัดเจน แต่พอขับจับเวลาจริง ทำไมมันกลับช้ากว่า..ถ้าให้พูดตามตรง คุณไปดูตัวเลขที่เราเคยบันทึกไว้ก็ได้ MU-X 1.9 ขับหลัง ยังทำอัตราเร่งได้เร็วกว่าเลยด้วยซ้ำ ถูกล่ะ การทดสอบตามมาตรฐานของผมเองเวลาออกทริป มันไม่เหมือนกับเวลา J!MMY จับเวลาเอง ทั้งน้ำหนักบรรทุก และเวลาที่วิ่ง แต่ผมไม่คิดว่าการเอา Extender ให้ J!MMY จับเวลาจะทำให้รถคันนี้ได้ตัวเลขสวยจนชนะคู่แข่งเขาได้ นี่เรานับเฉพาะพวกรถเครื่อง Lower power นะครับ
Ranger Limited ขับสี่เทอร์โบเดี่ยว ทำอัตราเร่งโดยบรรทุกน้ำหนักเท่ากัน จับเวลาโดยผมเอง ได้ 11.5-11.7 วิ สำหรับ 0-100 และ 8.4-8.6 วินาทีสำหรับ 80-120 นี่คือตัวเทียบแบบ Lower power เหมือนกัน ขับสี่เหมือนกัน น้ำหนักตัวใกล้เคียงกันที่สุดเท่าที่จะเอามาเทียบได้แล้ว
บางทีอาจจะเป็นเพราะว่า เมื่อกดคันเร่งเต็ม เกียร์จะเปลี่ยนที่รอบสูงมาก และที่รอบเครื่องหลัง 3,000 รอบ Extender ก็ไปแบบแห้งๆไม่มีแรง ไม่เหมือนสเป็คในโบรชัวร์ที่บอกว่าม้ามาเต็มที่ 4,000 รอบสักเท่าไหร่ และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งเลยก็คือ Extender เป็นรถที่ใหญ่ และมีน้ำหนักมาก 2,050 กิโลกรัม หนักกว่า Triton ขับสี่ 90 กิโลกรัม และเบากว่า Ranger Limited 4×4 34 กิโลกรัม แต่ตัวเลขพละกำลังจะน้อยกว่าใครเขา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราโยนนาฬิกาทิ้งแล้วขับแบบปกติ เครื่องยนต์ของ Extender กลับให้ความรู้สึกในการตอบสนองที่รอบต่ำและกลางดี ดีคนละเรื่องกับ D-Max 1.9 รุ่นที่แล้ว ซึ่งต้องรอถึง 2,000 รอบกว่าจะมีพลัง แต่ใน MG ผมลองเกียร์ 3 และ 4 กดคันเร่ง 60% ที่แค่ 1,700 รอบก็มีแรงดึงให้สัมผัสได้แล้ว และส่งต่อไปถึง 3,000 รอบได้แบบเนียนๆ ขับแล้วรู้สึกคล่องตัวในเมือง การทำงานของเกียร์ 6 จังหวะ ก็ไม่ได้มีอะไรให้ต้องด่า มันก็เหมือนกับเกียร์ของรถกระบะรุ่นอื่นๆ อาจจะไม่ฉลาดเท่าเกียร์ของ Ford แต่ไม่แพ้เกียร์ 6 จังหวะของ Isuzu จะมีจังหวะงงเกียร์บ้างหากคุณไม่แน่ไม่นอนกับคันเร่ง ซึ่งตรงนั้น อาการนั้น Ford ก็เป็น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงความเร็วต่ำ เกียร์จะลากและคารอบไว้ 2,000 รอบ ไม่รีบเปลี่ยนขึ้นเกียร์สูง อันนี้บางท่านไม่ชอบ แต่ผมโอเคเพราะมันทำให้ขับในเมืองได้คล่อง จากการที่เลี้ยงรอบไว้ใกล้ย่านพลังของเครื่องยนต์เสมอ อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้น เช่นเกียร์ 4 ขึ้นเนิน เมื่อผมพยายามกดคันเร่งเพิ่มช้าๆเพื่อไม่ให้ความเร็วร่วงหล่น เกียร์ควรจะคา 4 ไว้ แต่กลับรีบเปลี่ยนขึ้น 5 ทำให้รถไม่มีแรงขึ้นเนิน เวลาเจอถนนที่เป็นทางชันขึ้นยาวๆแบบนี้ จะมีอาการแบบนี้บ่อย ทำให้ต้องคิกดาวน์หรือ Manual Mode เล่นเกียร์เอง
ดังนั้น ผู้ใหญ่สูงวัย หรือคนที่ขับรถแบบกดเนิบๆ ไม่ชอบตะบี้ตะบันคันเร่งเพื่อเรียกพลัง จะยังคงใช้ชีวิตกับ Extender ได้ ในขณะที่วัยรุ่นสร้างตัว หรือคนวัยกลางที่สร้างตัวไม่เสร็จแต่ตีนหนัก จะรู้สึกว่ามันไม่ได้ดังใจเอาเสียเลย
การตอบสนองของพวงมาลัย ก็อยู่ในระดับกลางๆ มันไม่ได้ทดยาวยานจนขับบนเขาแล้วหมุนพวงมาลัยกันเหนื่อยแบบ Navara แต่ในขณะเดียวกัน ความคมในการตอบสนองก็สู้พวงมาลัยของ Hilux Revo หรือ Isuzu D-Max ตัวเก่ายังไม่ได้ มันเป็นพวงมาลัยนิสัยไฮดรอลิกแท้ หนักที่ความเร็วต่ำ แต่เมื่อใช้ความเร็ว 80-110 กลับจะรู้สึกเบาพิลึก แม้จะไม่เบาเท่า Triton แต่ความต่างคือ Triton จะมีช่วงหนืดกลางที่คุณสัมผัสได้เมื่อพวงมาลัยตรง แต่ Extender จะไม่มีความรู้สึกนั้นอยู่เลย อย่างไรก็ตาม อัตราทดพวงมาลัยที่ไม่ไว ทำให้ยังเหลือความผ่อนคลายในการขับขี่ที่ยังไม่ต้องเกร็งมือมากนัก ไม่ต้องเทียบกับพวงมาลัยไฟฟ้าของ Ford ซึ่งดีที่สุดในกลุ่ม เบาที่ความเร็วต่ำ หนักที่ความเร็วสูง หมุนง่าย คม ไว ถ้า Ford ได้ 10/10 คะแนน Extender คงได้ 5.5-6 แค่นั้น
แต่เมื่อมาลองสัมผัสกับช่วงล่าง Euro-tuned ของ MG Extender ผมกลับรู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยแม้พวงมาลัยจะไม่ได้เรื่อง MG ก็ยังไม่ลืมการรักษาจุดเด่นของค่ายเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ที่ความเร็วต่ำ Extender จะส่งแรงสะเทือนเข้ามาในห้องโดยสารมากกว่า Triton แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่นุ่มนวลเมื่อเทียบกับรถกระบะของเจ้าอื่นทั้งหมด ส่วนที่ความเร็วสูง เมื่อลองโยกเปลี่ยนเลนซ้าย/ขวา Extender สามารถคุมการยวบของตัวถังได้ดีกว่ารถรุ่นอื่นทั้งหมดยกเว้น Ranger Limited เพียงตัวเดียว กลายเป็นช่วงล่างแบบที่ผมรู้สึกว่า ถ้ามีรถกระบะของตัวเองสักคันแบบเดิมๆจากโรงงาน ช่วงล่างของ MG คือแบบที่ผมพอใจ เพราะมันให้ความนุ่มนวลสมเหตุผล ไม่ดีดเด้งบ้าบอแบบ Toyota แต่พอต้องหักหลบสิ่งกีดขวาง มันก็ให้ความมั่นใจได้น้องๆ Ranger ส่วนการวิ่งที่ความเร็วสูง 150-160 ตัวรถก็ยังนิ่งกว่ารถของทุกค่าย ยกเว้น Ranger เช่นกัน
แม้ในภาพรวม Ranger จะชนะ แต่ Extender ก็ตามหลังอยู่ไม่มาก บางคนที่ลองขับอาจจะไม่รู้สึกว่ามันต่างกันเลยด้วยซ้ำ
สำหรับเรื่องการเก็บเสียงรบกวน สิ่งแรกที่ชอบก็คือ เสียงเครื่องยนต์ไม่ดังโวยวายน่ารำคาญมากไป อยู่ในระดับกลางของกลุ่ม ค่อนไปทางดี เงียบกว่า Isuzu และ Nissan แต่ยังไม่เงียบขนาดเครื่องยนต์ 2.0 ดีเซลของ Ford ความสั่นสะเทือนเวลาเหยียบคันเร่ง ก็ถูกดูดซับเอาไว้ได้ค่อนข้างดี
การเก็บเสียงในการวิ่งที่ความเร็วต่ำ ทำได้ดีเช่นกัน พื้นรถกักเสียงเอาไว้ได้มากจนรู้สึกว่าน่าจะใช้วัสดุซับเสียงดีพอสมควร ส่วนการวิ่งที่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ก็จะมีเสียงลมตามขอบประตูและกระจกส่องข้างดังเข้ามาบ้าง นี่ก็เป็นอีกจุดที่ทำได้ค่อนข้างดี แต่ยังไม่ถึงกับชนะ Hilux Revo แบบขาดลอย
จุดอ่อนในด้านการเก็บเสียง น่าจะมีเพียงจุดเดียวคือบริเวณเสา C-pillar ซึ่งคนนั่งหลังจะได้ยินเสียงลม เสียงยางชัดเจน ไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหาการประกอบเฉพาะคันหรือไม่ แต่คู่แข่งรายอื่นที่ผมเคยลองนั่งมา มันจะไม่ดังขนาดนี้
ท้ายสุด กับเรื่องอัตราสิ้นเปลือง ทางทีม MG จัดให้เราได้มีการแข่งทดสอบอัตราสิ้นเปลืองชิงรางวัลกัน
แต่ในรถของเรานั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรางวัลมากขนาดนั้น เราอยากจะลองวิ่งในแบบที่ปลอดภัย ไม่ช้า และไม่ได้ต้องการตัวเลขสวยหรูอะไร จึงตกลงกันว่าเราจะเปิดแอร์ตลอดการขับ และขับเหมือนคนปกติ แค่พยายามรักษาความเร็วให้อยู่ในระดับ 90-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จริงๆผมอยากให้วิ่ง 110 เลยด้วยซ้ำ แต่ระหว่างทางก่อนเข้าสุราษฎร์ เราเจอพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก จนไปได้ไม่เกิน 100 และบางช่วงที่ถนนเจิ่งน้ำมากๆ ก็ต้องยอมลดเหลือ 80
ในสภาวะการณ์แบบนี้ MG Extender วิ่งเป็นระยะทาง 104.6 กิโลเมตร เติมน้ำมันกลับแบบเขย่ารถด้วย 7.69 ลิตร ผลที่ได้ออกมาคือ 13.6 กิโลเมตรต่อลิตร
อาจจะดูเหมือนประหยัดมาก แต่ผมว่าไม่ เพราะขนาด Navara Double Cab ขับสี่เมื่อต้องวิ่งด้วยความเร็วลักษณะเดียวกัน ผมเคยทำตัวเลขได้เท่าๆกันระดับนี้ หรือ D-Max 1.9 ลิตรเกียร์อัตโนมัติ ผมเคยขับไปโคราชด้วยความเร็ว 110-120 ตลอดก็ยังได้ 14.2 กิโลเมตรต่อลิตร ผมคาดการณ์ว่าถ้าจับ Extender มาทดสอบที่ความเร็ว 110 ค่าที่ได้ก็คงไม่ต่างไปจาก Colorado (12.42 กิโลเมตรต่อลิตร) เท่าไหร่นัก หรืออาจจะแย่กว่า
ส่วนการขับแบบผสมผสานตลอดทั้งทริปตั้งแต่ภูเก็ตจนถึงที่หมาย มีทั้งเบา ทั้งอัด และเจอรถติดในเมืองช่วงสั้นๆ ผมทำได้ 11.7 กิโลเมตร/ลิตร โดย Convert จากหน่วย 8.5 ลิตร/100 กิโลเมตรบนหน้าปัด
***สรุปการทดสอบ***
***ทำใจเรื่องพลังแต่นั่งแล้วแสนสบาย จำนวนเงินที่จ่ายทำให้ต้องคิดหลายตลบ***
MG Extender DC Grand X นับเป็น MG คันหนึ่งที่คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมันได้โดยไม่มีอะไรต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากรถญี่ปุ่นที่คุณใช้มาก่อน เกียร์อัตโนมัติและการตอบสนองของเครื่องยนต์ มีความคล่องตัวเทียบได้กับรถกระบะรุ่นอื่น ไม่มีอาการเย่อหรือหน่วงผิดปกติมากไปกว่ารถรุ่นอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณคิดจะเค้นความแรงจากมัน 100% คุณอาจจะไม่ถูกใจนัก เพราะตัวรถใหญ่ หนัก พละกำลังของเครื่องยนต์น้อยไปหน่อยเมื่อเทียบกับชาวบ้านในพิกัดเดียวกัน เรียกได้ว่าพลังเครื่องมากกว่า D-Max 1.9 นิดเดียวแต่ตัวรถหนักเท่าๆ Ranger ผลมันก็ออกมาอย่างนี้แหละครับ
อย่างไรก็ตามเมื่อคุณเลิกตะบี้ตะบันกับมัน ก็จะเริ่มพบความสุขีมากขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงล่างที่จูนมาได้ลงตัวระหว่างความปลอดภัย ความมั่นใจ และความนุ่มนวล เท่าที่รถกระบะช่วงล่างหลังแหนบจะให้คุณได้ เบาะนั่งตอนหน้า สำหรับคนที่ชอบนั่งแบบหัวไม่พิงหมอนรองศีรษะ คุณน่าจะชอบความโตและสบายของตัวเบาะ แต่คนที่พิงล่ะ? มันก็ยังพอได้ แต่ไม่สบายแบบสุดๆเหมือน Triton
ลงจากตำแหน่งเบาะคนขับแล้วไปนั่งเบาะหลัง คุณจะพบว่า ที่ผ่านมา ชั้นไม่น่าเป็นคนขับเลยว่ะ คนนั่งหลังนี่แหละสบายสุด เพราะตัวเบาะ ตำแหน่งที่เท้าแขน พื้นที่ไม่ว่าจะสำหรับขาหรือหัวหรือพุง ล้วนแล้วแต่ทำมาเผื่อคนตัวใหญ่ไซส์ 5XL นั่งได้สบายมาก มากจนกระทั่งแม้ว่าจะมีเสียงลมจากเสาหลังดังไปบ้าง ก็ช่างมัน มันคือรถกระบะที่คุณจะสามารถหลับสบายบนเบาะหลังได้ตลอดทางอย่างแท้จริง ดังนั้น ลูกค้ากลุ่มที่ไม่สนเรื่อง Performance แต่อยากได้ความสบายให้คนในครอบครัว ก็มีความสุขไปกับ Extender ได้เช่นกัน
เป็นที่มาของคำโปรยหัวรีวิว ว่า “คนนั่งอยากหลับ คนขับอยากนั่ง” นั่นแหละครับ
ว่ากันที่เรื่องของอุปกรณ์ติดรถและความหรูหราภายใน MG มีรายการออพชั่นที่ไม่น่าเกลียดเลย คุณได้กล้องรอบคัน ได้ไฟหน้า/ปัดน้ำฝนอัตโนมัติแล้ว ระบบความปลอดภัยต่างๆก็พร้อม และที่สำคัญคือ MG ยังเป็นค่ายที่ใช้ระบบเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนทำงานเข้าคู่กับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนามาหลายปีแล้ว และดูเหมือนว่ายิ่งทำก็จะยิ่งแก้ปัญหาต่างๆได้ดีขึ้น ระบบมีความเสถียรมากขึ้น
ตลอดทางที่เราลองขับ ฝ่าฝน ลุยน้ำ ลูกรัง หลายรูปแบบ ลองใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเกือบทุกอย่าง นี่น่าจะเป็น MG คันแรกที่เราทดสอบแล้วไม่เจออะไรผิดปกติแม้แต่อย่างเดียว รวมถึงหน้าจอ i-SMART ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ดีไซน์บางส่วนของรถ อุปกรณ์บางอย่างภายใน ดูแล้วยังขาดความทันสมัย เพราะที่จริงมันก็เป็นรถที่เปิดตัวมานานแล้วในเมืองนอก และมีการอัปเดตมาโดยตลอด แต่เมื่อมันต้องมาเจอกับคู่แข่งเจ้าตลาดที่เพิ่งเปิดตัวบอดี้ใหม่สดอย่าง D-Max หรือรถเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ที่โถมอุปกรณ์ราวกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้อย่าง Triton นั่นทำให้ MG Extender กลายเป็นตัวเลือกที่ไม่มีความเด่นอย่างชัดเจนจริงจังสักด้าน ..ยกเว้นเบาะหลัง..ซึ่งน้อยคนจะแคร์
ผมคิดว่า MG Extender ก็เหมือนนาฬิกา Seagull 1963 ที่ผมเล่าไว้ต้นเรื่องนั่นล่ะครับ มันมีจุดเด่นที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่ซื้อคนอื่นมา แต่มีหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งคู่เกิดขึ้นมาด้วยสถานการณ์บังคับว่า “ของมันต้องมี”
อย่างไรก็ตาม คนจำนวนน้อยมากที่จะยอมจ่ายเป็นหมื่นบาทเพื่อ Seagull 1963..ไม่ใช่เพราะมันผลิตโดยจีนแดงหรอก แต่เพราะในราคานี้คุณสามารถหานาฬิกามากมายหลายรุ่นที่ทำงานได้หลายฟังก์ชั่นกว่า เดินเที่ยงตรงกว่า หรือเป็นที่รู้จักของคนมากกว่า อีกอย่างคือ ใน Seagull คุณมีกลไกสวิสที่คนอยากครอบครอง แต่ใน Extender มันไม่มีอะไรที่เด่นจนทำให้คนยอมแลกเงินล้านได้ขนาดนั้น
ด้วยความที่ราคารุ่นท้อปถูกกว่า Mitsubishi Triton 2.4 GT Premium 4WD แค่ 70,000 บาท ต่อให้คุณตัดเรื่องความเชื่อมั่นในแบรนด์ออก ตัดอคติออกทั้งหมด ว่ากันที่ตัวรถเพียวๆ คู่แข่งอย่าง Triton ก็ชนะอยู่ดีเมื่อมองในภาพรวม ความแรง การขับขี่ อุปกรณ์ และราคา หรือถ้าเป็นสายหล่อชอบความแตกต่าง ไม่อยากขับรถญี่ปุ่น เขาก็ยังมีรถอย่าง Ford Ranger Limited ก็แพงกว่า MG อยู่หมื่นเดียว อุปกรณ์น้อยกว่าเยอะ แต่ทุกคนยอมรับเรื่องความหล่อ และที่สำคัญคือ แรงกว่าเห็นๆ ช่วงล่างก็ดีกว่าอยู่ พวงมาลัยก็ดีกว่าชัดเจน
มันไม่ใช่ว่า Extender ไม่ดี แต่มันเป็นความจำเป็นที่จะต้องมาในลักษณะนี้ เพื่อปูทางให้กับกระบะของ MG ในเจนเนอเรชั่นต่อไป ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ซึ่งในฐานะของคนที่ต้องทำงานสื่อมวลชน ก็เข้าใจดีว่า MG พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ในฐานะของคนที่ต้องเล่าเรื่องทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา ให้คนที่เขากำลังจะเสียเงินล้านซื้อรถ ความเห็นของผมก็จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างยอดขายของพวกคุณอย่างเลี่ยงมิได้
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งหยุด เพราะใน Extender เจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ผมคิดว่ามันจะมีจุดเด่นที่ชัดเจนขึ้น และน่าจะมาพร้อมราคาที่คนเห็นแล้วร้องว้าวมากกว่าที่เป็นอยู่ในรุ่นปัจจุบัน
ทำสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นใน HS ให้เกิดใน Extender รุ่นต่อไปสิครับ ผมว่าเมื่อถึงตอนนั้น วงการกระบะจะได้มีตัวเลือกที่น่ากลัวเพิ่มเข้ามาจริงๆซะที
—////—-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท MG Sales (Thailand) จำกัด
————————————————–
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียนและช่างภาพจาก MG ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 17 ตุลาคม 2019
Copyright (c) 2019 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com 17 October 2019
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!