ย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนเมษายน 2017 ผมเคยทำบทความพาไปชมรถคันจริงของ McLaren 720S เอาไว้ โดยหลังจากที่โปะรูปลงไปเสร็จก็เขียนอธิบายคร่าวๆ แล้วมีการทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “อย่าถามว่าคันนี้มีรีวิวหรือคลิปมั้ย เพราะคงไม่มีวาสนาได้ขับครับ”

แล้วทายสิครับว่าปีกว่าๆผ่านไป เกิดอะไรขึ้น..ใครจะไปคิดว่าจู่ๆคุณน้อง PR สาวสวยจาก Niche Cars จะโทรมาหาผมพร้อมกับบอกว่ามีงานของบรรดาลูกค้า McLaren ที่สนามพีระเซอร์กิตพัทยา ซึ่งจะมีการนำรถ 720S คันจริงไปให้ทดลองขับด้วย ถามว่าสนหรือไม่คะ? โถ ใครจะปฏิเสธได้คะลูก? ผมกดมือถือจดวันนัดลงไปอย่างรีบร้อนเพราะกลัวลืม

บางคนได้รู้เช่นนี้แล้วอาจจะหัวเราะว่าผมจะตื่นเต้นอะไรกันนักหนา อายุก็มากแล้วยังทำอะไรเป็นเด็กๆไปได้ ผมไม่ทราบจะตอบอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าโอกาสในการขับซูเปอร์คาร์ที่มีค่าตัวทะลุ 20 ล้านมันไม่ได้มากันง่ายๆ ครั้งล่าสุดที่มีบุญได้ขับรถแพงๆอย่างนั้นในสนามแข่ง มันก็คือเทศกาลวิ่งวัว ที่บริษัทเดียวกันนี้เคยพาผมไปลองขับ Lamborghini Huracan ที่บุรีรัมย์ จะว่าไปนั่นก็ 2 ปีมาแล้ว

บอกตรงๆว่าเวลาขับซูเปอร์คาร์ ไม่ว่าจะของบริษัทรถ ของเพื่อน หรือของใครก็ตามแต่ ผมมักกลัวเสมอ ไม่ใช่แค่เรื่องชิ้นส่วนแต่ละส่วนของรถที่แพงระยับ (720S คันที่โดนกระบะชนท้ายเป็นข่าวบน Facebook อยู่ระยะหนึ่งนั้น Confirm ว่า 7 หลัก) แต่ยังรวมถึงพละกำลังอันมหาศาล ความพยศของรถ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Ergonomics ที่ดีไซน์มาเผื่อทุกคน..ยกเว้นคนอ้วน

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงไม่กล้าแตะรถแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้พอแก่ตัวลง ผมเริ่มรู้สึกอยากสยบความกลัวด้วยการพยายามลอง “คุย” กับรถให้ได้มากที่สุด

แล้วแปดโมงเช้าวันที่ 21 กันยายน ผมก็มายืนอยู่เบื้องหน้าของ McLaren 720S สีขาวคันนี้

ในขณะที่ซูเปอร์คาร์จากฝั่งอิตาลีส่วนมาก มักมีรูปลักษณ์ที่ชวนให้นึกถึงนวนิยายปิศาจ ที่ซึ่งบรรดาพลพรรคมารร้ายยืนล้อมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ร่ายมนตราคาถาเปิดประตูมิตินำเอาอสูรร้ายจากนรกมาสู่โลกมนุษย์… 720S เหมือนเป็นอสูรแบบที่เกิดมาจากห้องแล็บของนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ เริ่มต้นด้วยสัตว์ที่มีจิตวิญญาณของนักล่าตัวนึง จับมาขึงบนเตียง จากนั้นอาวุธต่างๆถูกทยอยติดตั้งลงไป มันสมองถูกแทนที่ด้วยชิพคอมพิวเตอร์ เซ็นเซอร์ต่างๆถูกติดตั้งเข้าไปเพื่อให้มันเป็นนักล่าที่ร้ายกาจที่สุด

มันไม่มีตัวเปรียบเทียบที่ทำให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจน Storm Shadow ตัวร้ายจาก G.I. Joe ก็ยังดูมีอารมณ์ขัน มีคำพูดยียวนกวนประสาท ส่วนไอ้ตัว Predator จากภาพยนตร์ชุดมหากาพย์ตั้งแต่ปี 1987 มาจนถึงปัจจุบันนั้น แม้จะคล้ายมากในความเป็นนักล่าที่ห่อหุ้มด้วยเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิสก์เพื่อการสังหาร แต่เห็นได้ชัดว่า Predator ไม่เคยเข้าคอร์สบุคลิกภาพ John Robert Powers และไม่น่าจะได้อาบน้ำบ่อยกว่าเดือนละครั้ง ในขณะที่ 720S เป็นอสูรร้ายที่ดูเรียบ สะอาด แต่มีรายละเอียดลึกลับซับซ้อนยิ่งนัก

ยกตัวอย่างรายละเอียดแบบที่ว่า..คุณสังเกตหรือไม่ครับ 720S ไม่มีช่องรับอากาศขนาดโตที่ด้านข้างของรถแบบที่ซูเปอร์คาร์เขามีกัน แต่ถ้ามองรถจากมุมบน คุณจะเห็นว่าอันที่จริงประตูรถนั้นมีลักษณะเหมือนแซนด์วิชที่ตรงกลางนั้นว่าง เมื่อรถวิ่ง กระแสอากาศจะไหลเข้ามาตรงพื้นที่ระหว่างชั้นประตู แล้วก็ถูกส่งขึ้นไปตามสันบ่าของรถ เข้าสู่ห้องเครื่องยนต์ไประบายความร้อนให้หม้อน้ำชุดหลัก ซึ่งอยู่ใกล้ล้อหลัง ก่อนไหลออกที่ด้านหลังของรถบริเวณเสา C-pillar

ด้านหน้าของรถ ส่วนที่เป็นไฟหน้า ก็ถูกลดขนาดจากรุ่นก่อนเหลือเพียงดวงไฟเล็กๆที่ติดตั้งอยู่ลึกลงไปในเบ้าของช่องรับอากาศซ้าย/ขวา ซึ่งจะรับลมไประบายความร้อนแผงคูลเลอร์ (Low-temp Radiator) ก่อนที่จะออกมาตรงช่องก่อนถึงซุ้มล้อ ในขณะที่ลมบางส่วนที่เข้าหน้ารถจะถูกจัดไปเป่าระบายความร้อนให้ระบบเบรก และไหลออกที่ช่องหลังซุ้มล้อ รายละเอียดด้านอากาศพลศาสตร์แบบนี้คุณอาจจะบอกว่าไม่แปลก Ferrari ก็ทำ แต่ถ้าคุณดูภายนอกรถรอบคันจากระยะไกลๆจะพบว่า 720S พยายามซ่อนองค์ประกอบเหล่านี้มากกว่า Ferrari  ซึ่งตรงตามเจตนารมย์ของผู้บริหารและหัวหน้าทีมออกแบบ Robert Melville “เราต้องการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกโดยการทำให้เส้นสายมันดู Clean ขึ้น”

แอโร่ไดนามิกส์ของ 720S นั้นจะสร้างการรับรู้ได้ชัดเจนที่สุดคือคุณต้องไปยืนเกาะขอบสนาม แล้วฟังเสียง 720S ห้อเต็มเหยียดผ่านไป ก่อนที่รถจะมาถึงจุดที่คุณยืนอยู่ มันแทบจะไม่มีเสียงอะไรเลย แต่พอรถวิ่งผ่านคุณ กระแสลมที่มาจากท้ายรถจะตีเข้าหน้าคุณราวกับเสียงฟ้าผ่า ซึ่งเมื่อฟังเทียบกับ 650S รุ่นเก่า ซึ่งเสียงแหวกลมดังกว่าเมื่อวิ่งมาจากระยะไกล แต่เสียงตอนวิ่งผ่านตัวคุณกลับเบากว่า ผมยืนฟังแค่รอบเดียว รอบต่อไปให้หลับตาฟังแล้วเอา 650S, 540C กับ 720S วิ่งปะปนกันมา ผมก็สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่ที่ 720S วิ่งผ่าน มันต่างขนาดนั้นเลยจริงๆ

ตรรกะในการทำรถของ McLaren ยังรวมไปถึงโรคบ้ารายละเอียด เช่นประตูแบบ Dihedral doors ที่เปิดเฉียงขึ้นเหมือนแมลงปีกแข็ง ซึ่งทำให้เข้าออกรถได้ง่าย แต่เต็มไปด้วยกลไกที่มีน้ำหนักมาก McLaren ก็ไปกู้ส่วนต่างของน้ำหนักคืนด้วยการออกแบบรถให้อากาศไหลผ่านประตูเข้าหม้อน้ำได้ดีขึ้น ทำให้สามารถใช้หม้อน้ำที่เล็กและเบาลง กล่องกรองอากาศก็ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ยึดกันชนหลังทำให้ลดโครงสร้างส่วนที่ไม่จำเป็นออก ทำให้เบาลง 1.4 กิโลกรัมเมื่อเทียบกับ 650S..แค่ 1.4 กิโลยังจะเอา!

หรือแม้กระทั่งการปรับเซ็ตระบบควบคุมการทรงตัว ซึ่งจูนมาโดยทดสอบกับยาง Pirelli หลายรุ่น แล้วเวลาเปลี่ยนยาง เจ้าของรถต้องป้อนค่าด้วยว่าตอนนี้ใส่ยาง P-Zero, Corsa หรือ Trofeo R แล้วรถจะปรับนิสัยของมันให้เข้ากับยางนั้นได้ดีที่สุด

สิ่งที่ทำให้บรรดาวิศวกรบ้าได้ขนาดนั้น นอกจากนิสัยส่วนตัวของบุคลากรในค่ายที่ผูกพันกับวงการ Formula 1 แล้ว ยังรวมไปถึงการตั้งเป้าเพิ่มยอดขาย McLaren โดยชูจุดขายที่ประสิทธิภาพของตัวรถ ค่ายนี้ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ด้านรถยนต์นั่งเวอร์ชั่นถนนยาวเหยียดเหมือนซูเปอร์คาร์อิตาลี (แม้ว่าจะผ่านสมรภูมิมอเตอร์สปอร์ตและเคยสร้างรถถนนในตำนานมา 1 รุ่น) พวกเขารู้ดีว่าการเป็นเด็กนักเลงจากดงอื่น ย้ายมาอยู่ในซอยใหม่ จะสร้างชื่อเสียงได้ ก็ต้องไปหาหัวโจกตัวโตที่สุดแล้วคว่ำมันซะ และหมัดเด็ดของ McLaren ก็คือเทคโนโลยีและความเร็ว

ซึ่ง 720S ไม่ใช่รถรุ่นแรกที่มีหมัดเด็ดนี้ ถ้าคุณมองย้อนหลังไปในอดีตก็จะทราบว่า McLaren เคยเล่นงานหัวโจกประจำซอยจนเข็ดหลาบไปหลายปีมาแล้วด้วยรถรุ่นนี้….

นี่คือ McLaren F1 รถที่อายุมากกว่าคนอ่านหลายคนในที่นี้ แต่เกิดขึ้นมาได้เพราะแรงปราถณาของ Gordon Murray ซึ่งเป็นหัวกะทิด้านเทคนิคและการออกแบบรถแข่ง เขาย้ายมาทำงานกับ Ron Dennis ในทีม McLaren และมีส่วนช่วยในการพัฒนารถแข่ง MP4/4 ซึ่งพา Ayrton Senna ไปคว้าแชมป์โลกถ้วยแรก

เป้าหมายของ Gordon Murray คือการสร้าง “รถวิ่งถนนที่แรงและเร็ว” ไม่ใช่รถแข่งมอเตอร์สปอร์ต และยิ่งถ้าเป็นเรื่องการสร้างสถิติความเร็วของโลก นั่นไม่ได้อยู่ในหัวเขาเลย ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง เขาเล่าว่า “ผมตามทีมงานกับ Senna ไปที่ Tochigi ซึ่งจะมีการทดสอบ Honda NSX แล้วผมก็ได้ไปลองขับ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ผมลบภาพ Benchmark รถรุ่นอื่นๆที่เคยมี Ferrari, Lamborghini, Porsche ..ลบทิ้งไปหมด ผมต้องการทำรถให้ขับสบาย ขับง่ายและควบคุมได้ดีแบบ NSX แต่ต้องแรงและเร็วกว่ามาก”

เนื่องจากสมัยนั้น McLaren กับ Honda จูบปากกันอยู่ Gordon เลยขอให้ Honda สร้างเครื่องยนต์ V10 หรือ V12 ความจุ 4.5 ลิตร 550 แรงม้าให้หน่อย แล้วก็ห้ามหนักเกิน 250 กิโลกรัม แต่ Honda ปฏิเสธ ก็เลยต้องประกาศหาเจ้าอื่น ในช่วงเวลานั้น Isuzu (พิมพ์ไม่ผิดครับ) กำลังสนใจจะเข้าแข่ง F1 และกำลังพัฒนาเครื่อง V12 3.5 ลิตรวิ่งเล่นใน Lotus พวกเขาเสนอเครื่องยนต์นี้แก่ Gordon ผู้ซึ่งปฏิเสธ เพราะเขาต้องการคนสร้างเครื่องที่มีประสบการณ์สูง รู้งาน ไม่ใช่คนที่เพิ่งทำเครื่อง F1 เครื่องแรกแล้วยังไม่เคยลงแข่ง

ท้ายสุด Gordon ไปหา BMW ซึ่งสนใจและตกลงพัฒนาเครื่องยนต์โดยให้ Paul Rosche วิศวกรเครื่องที่มีผลงานกับรถแข่งหลายรุ่นมาช่วยดูให้ Paul ใช้พื้นฐานบางส่วนจากเครื่องยนต์ S70B56 ซึ่ง BMW เตรียมทำไว้ใช้กับ 850CSi และ M8 แต่ปรับรายละเอียดในหลายจุด เช่นฝาสูบก็ไปเอาแม่แบบของเครื่องยนต์ M3 E36 มา ในที่สุดก็ได้เป็นเครื่องยนต์ S70/2 ความจุ 6.1 ลิตร 12 สูบ 627 แรงม้า เรดไลน์ 7,500 รอบต่อนาที มี VANOS แปรผันแท่งแคมชาฟท์ใช้ก่อนรถในสายการผลิตของ BMW เองเสียอีก

McLaren F1 ยังเป็นรถที่มีความย้อนแย้งในตัวเองอย่างประหลาด กล่าวคือแม้อยากให้ขับง่ายแบบ NSX แต่กลับออกแบบที่นั่งเป็น 3 แถว โดยคนขับนั่งอยู่ตรงกลาง เบาะคนนั่งขนาบข้างและเยื้องไปด้านหลัง เข้าออกลำบาก ไม่มีพวงมาลัยเพาเวอร์ ไม่มีหม้อลมเบรก ไม่มีเบรก ABS และไม่มีระบบควบคุมการทรงตัวแบบรถสมัยใหม่ อีกทั้งยังเป็นรถ Production Car สำหรับวิ่งถนนรุ่นแรกของโลกที่ใช้แชสซีส์แบบชิ้นเดียว สร้างจากคาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) ซึ่งทำให้ตัวถังเบาเพียง 1.1 ตัน

Gordon บอกว่าไม่ได้คิดทำรถคันนี้มาเพื่อสร้างสถิติโลก แต่แค่ในการทดสอบช่วงปี 1993 มันสามารถทำความเร็วได้ถึง 370 กิโลเมตร/ชั่วโมง และตันที่จุดนั้นเพราะรอบตัดที่เกียร์ 6 ล้มแชมป์เก่าอย่าง Jaguar XJ220 (347 กิโลเมตร/ชั่วโมง) อย่างขาวสะอาด แม้ว่า Ferrari กับ Lamborghini จะออกมากี่รุ่นก็สู้ไม่ไหว ปี 1998 มีการนำ McLaren F1 ไปปลดรอบแล้วทดสอบที่สนามของ Volkswagen Group เจ้า F1 สามารถลากต่อไปได้ถึง 391 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันยืนแป้นครองสถิติรถที่สร้างสำหรับวิ่งบนถนนเร็วที่สุดตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปี 2007 เมื่อ Bugatti Veyron มาล้ม

อย่างไรก็ตาม รถทุกรุ่นที่สร้างสถิติความเร็วชนะ F1 ได้ ล้วนใช้เครื่องยนต์เทอร์โบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงนับได้ว่าสถิติ Production Road Car ที่เร็วที่สุดที่ใช้เครื่องยนต์ไร้ระบบอัดอากาศ ก็ยังคงเป็นของมันมา 25 ปีแล้ว McLaren F1 ถูกสร้างขึ้นมาเพียง 106 คันเท่านั้นระหว่างปี 1992-1998 ในจำนวนนี้ 64 คันคือเวอร์ชั่นปกติแบบที่คุณเห็นในภาพบน ส่วนที่เหลือเป็นรถทดสอบและรถเวอร์ชั่น LM/GTR ที่เป็นรถแข่งสนาม

หลังจาก F1 หยุดผลิตมาได้ 9 ปี McLaren เริ่มมองเห็นอนาคตว่าการมุ่งหวังแต่ผลจากการแข่ง Formula 1 นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทอยู่ต่อไปได้ พวกเขาจึงตั้งบริษัท McLaren Automotive ซึ่งหันมาเอาดีทางด้านการผลิตและขาย Production Road Car อย่างแท้จริง และ MP4-12C คือรถรุ่นแรกที่กำเนิดขึ้นพร้อมชีวิตและเป้าหมายใหม่ของทางบริษัท ทีมวิศวกรเริ่มวิจัยตั้งแต่ปี 2007 โดยนำเอาซูเปอร์คาร์ของค่ายอื่นมาแอบใส่เทคโนโลยีของตัวเองแล้ววิ่งทดสอบ (เป็นการพรางตัวที่แยบยลมาก) ส่วนดีไซน์ตัวถังโดย Frank Stephenson นั้นเสร็จตั้งแต่ปี 2009

ในขณะที่คู่แข่งยังใช้ตัวถังหลักเป็นเหล็กกับอะลูมิเนียม ทีมวิศวกรของ McLaren คิดค้นโครงสร้าง Carbon MonoCell ซึ่งเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ทรงอ่าง ซึ่งเป็นส่วนล่างของห้องโดยสาร การผลิตเป็นทรงอ่างนี้ทำให้สามารถปั๊มโครงคาร์บอนออกมาได้ง่าย และใช้เวลากับต้นทุนในการผลิตน้อย ในโครงสร้างคาร์บอนของ Mercedes SLR McLaren (ที่ McLaren สร้างให้ Mercedes) นั้นจะใช้เวลา 500 ชั่วโมง สำหรับ MP4-12C นั้น ใช้เวลาแค่เพียง 4 ชั่วโมงก็ทำเสร็จ

แม้ว่าชื่อรถอาจจะฟังดูเหมือนไฟล์วิดิโอในมือถือ แต่พูดถึงสมรรถนะการขับขี่แล้วไม่ธรรมดา MP4-12C ใช้เครื่องยนต์ M838T ขนาดความจุ 3.8 ลิตร ซึ่งน้อยกว่า F1 มาก แต่ด้วยเทอร์โบคู่ ทำให้สามารถสร้างพลังได้ถึง 600 แรงม้า น้ำหนักตัวถังบวกกับของเหลวเบาแค่ 1.45 ตัน ทำให้ 12C สามารถเร่งผ่านหลักควอเตอร์ไมล์ได้ภายในเวลา 10.5 วินาที และแม้ว่า McLaren จะบอกว่ามันวิ่งได้ 333 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่การทดลองจริงจากสื่อฯเมืองนอกพบว่ามันสามารถไหลไปได้ถึง 352 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ MP4-12C ยังใช้ระบบ Brake Steer แยกจับเบรก ซึ่งเมื่อรถวิ่งเข้าโค้งแล้วกำลังจะมีอาการหน้าดื้อ สมองกลจะสั่งเบรกของล้อหน้าวงในโค้งให้ทำงาน ดึงหน้ารถให้เลี้ยวไปตามโค้งได้ นี่คือระบบที่ประยุกต์มาจากรถ Formula 1 ซึ่ง McLaren เคยซน ทำแป้นเบรกมา 3 แป้น โดยมีแป้นสำหรับระบบเบรกหลัก และอีก 2 แป้นเพื่อให้นักแข่งสามารถกดสั่งเบรกเฉพาะล้อซ้ายหรือล้อขวาได้ และช่วยให้รถวิ่งผ่านโค้งได้ไวขึ้น ช่วงล่างของ 12C ยังเป็นแบบไฮดรอลิก ProActive Chassis Control ซึ่งไม่มีสปริง ไม่มีเหล็กกันโคลง อาศัยโช้คอัพไฮดรอลิกที่มีช่องทางเดินน้ำมันต่อถึงกัน 4 กระบอก แล้วจัดสรรปันส่วน บริหารแรงดันน้ำมันตามสภาพการขับขี่ ทำให้ได้รถที่นุ่มนวลกว่าที่คาด แต่มั่นใจเวลาสาดเต็มพิกัด

MP4-12C ยังเป็นหนึ่งในรถไม่กี่รุ่นที่ทางบริษัทนำเอาไปทดสอบ จับเวลา และปรับปรุงรถโดยใช้สนามทดสอบของ Top Gear ในยุคนั้น ทำให้เป็นรถที่สร้างสถิติด้านความเร็วได้น่าพอใจ แต่เมื่อสื่อมวลชนได้ทดลองขับจริงหลังจากเปิดตัวในปี 2011 มันกลับถูกมองว่าเร็วแต่ขาดอารมณ์ร่วม ขาดความสนุก เป็นเสมือนเครื่องมือที่ใช้ทำงานมากกว่าของเล่นเพื่อความบันเทิง และหลายเจ้าชูแขนให้ 458 Italia ชนะไปในภาพรวม

แน่นอนว่า McLaren ย่อมไม่อยู่นิ่งเฉย เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น ในงานมอเตอร์โชว์ที่ Geneva 2014 พวกเขาก็เผยโฉม 650S ซึ่งก็คือเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ของ MP4-12C แต่มีการปรับปรุงหลายอย่าง เริ่มจากไฟหน้าและส่วนหน้าของรถที่ได้ Frank Stephenson คนเดิม (ผู้ออกแบบ 12C) มาร่วมงานกับ Robert Melville (คนออกแบบ 720S) ทำให้ได้ลักษณะการออกแบบที่จะนำไปใช้กับรถหลายรุ่น ว่ากันว่า 650S นั้นมีชิ้นส่วนที่ต่างจาก MP4-12C ประมาณ 25% แต่อันที่จริงดูเหมือนจะมากกว่านั้น

เครื่องยนต์ยังเป็น M838T เหมือนเดิม แต่ได้ลูกสูบใหม่และปรับจูนพลังเพิ่มจาก 600 เป็น 650 แรงม้า (12C เวอร์ชั่นหลังๆจะเพิ่มเป็น 625 แรงม้า) เปลี่ยนเบ้ายึดช่วงล่างด้านหน้าใหม่ ปรับความแข็งของช่วงล่างด้านหน้าเพิ่ม 22% และด้านหลังเพิ่ม 37% ปรับแต่งการตอบสนองของพวงมาลัยเพื่อให้สื่ออาการจากพื้นถนนถึงมือคนขับได้มากขึ้นกว่าเดิม ผลที่ได้คือรถที่ขับสนุกกว่าเดิม และออกอาการพยศมากกว่าเดิม แม้สื่อมวลชนจะยังถือหางข้าง 458 Italia อยู่ แต่ 650S ก็ปิดจุดอ่อนที่มันเคยมีได้สำเร็จ

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2015 มีการนำเสนอรถรุ่นพิเศษอย่าง 675LT ซึ่ง LT ย่อมาจาก Long Tail ซึ่งหมายถึงส่วนหางของรถแข่ง McLaren F1 ปี 1997 ซึ่งมีการต่อส่วนท้ายออกมาให้ยาวกว่ารถปกติ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่พิเศษ และ McLaren ก็นำมาใช้บ่งบอกถึงการเป็นรถที่พร้อมสำหรับการนำไปวิ่งสนามแข่ง 675LT ใช้เครื่องยนต์ M838T ที่มาพร้อมกับก้านสูบ, แคมชาฟท์ และชุดท่อไอเสียใหม่ที่ทำให้มีพลังเพิ่มเป็น 675 แรงม้า

แต่แรงม้าไม่ใช่แค่ปัจจัยหลัก เพราะน้ำหนักก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ชิ้นส่วนด้านหน้าและท้ายรถที่เคยเป็นโลหะก็ถูกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ พรมเก็บเสียงและบุห้องโดยสารถูกถอดโยนทิ้งหมด เบาะนั่งถูกเปลี่ยนเป็นแบบ Race Spec ที่เซฟน้ำหนักไปอีก 26 กิโลกรัม กระจกหน้าต่างรอบคันเป็นแบบน้ำหนักเบาที่บางลง 1 มิลลิเมตร โดยรวมแล้ว 675LT มีน้ำหนักรวมทั้งคันเบากว่า 650S เกือบ 100 กิโลกรัม สิ่งเหล่านี้ รวมกับช่วงล่างที่ปรับเซ็ตมาให้เหมาะกับการวิ่งในสนาม และเบรกคาร์บอนเซรามิกขนาดใหญ่ ทำให้มันเป็นอาวุธสังหารในแทร็คที่ร้ายกาจยิ่งกว่า McLaren F1 ในอดีต (เว้นแต่เรื่องความเร็วสูงสุด)

ณ จุดที่ McLaren 650S เปิดตัวนั้น McLaren ได้วางตำแหน่งการตลาดรถของตัวเองออกเป็น 3 กลุ่ม

  • Sports Series – คือกลุ่มรถที่พยายามทำระดับและราคาลงมาแย่งลูกค้าจากพวก 911 มีรุ่น 540C/570S/570GT
  • Super Series – คือซูเปอร์คาร์ มีระดับเทียบเท่า 488GTB หรือ Huracan นี่คือตำแหน่งของ 650S และ 720S ในปัจจุบัน
  • Ultimate Series – คือไฮเปอร์คาร์ที่ผลิตจำนวนจำกัด ราคาแพง สำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น P1

สิ่งที่ผู้บริหาร McLaren ตั้งเป้าไว้สำหรับ 720S นั้น ก็คือการทำรถให้มีสองบุคลิก เวลาขับแบบปกติ ก็ต้องง่ายและสบายเหมือนพวก 570S แต่เวลาซัดตึง ก็ต้องได้เท่ากับรถแทร็คอย่าง 675LT หรือเขยิบไปใกล้เคียง P1

สำหรับประเทศไทย นำมาโชว์โฉมครั้งแรกในงาน Bangkok International Motor Show ปี 2017 และตั้งราคาขายในงาน 29 ล้านบาท หลังจากนั้นผู้แทนจำหน่าย Niche Cars มีประเด็นกับทาง DSI ซึ่งในภายหลังเคลียร์กันจบ และกลับมาเปิดตัว Re-launch อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2018 และปรับราคาเริ่มต้นลงเหลือ 26,500,000 บาท แต่นั่นคือราคากับอุปกรณ์ขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ลูกค้าสามารถสั่งของใส่รถจนราคาทะลุไป 32 ล้านก็ทำได้ และลูกค้าชาวไทยส่วนมากก็จะทำแบบนั้น


McLaren 720S มีขนาดตัวถังยาว 4,543 มิลลิเมตร กว้าง 1,930 มิลลิเมตร เตี้ยเรี่ยดินเพียง 1,196 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,670 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงจุดเตี้ยสุดของใต้ท้องรถอยู่ที่ 107 มิลลิเมตร แต่ 720S มีฟังก์ชั่น Nose Lift ที่กดปุ่มตรงปลายก้าน Cruise Control ที่ความเร็วต่ำ ก็จะเลื่อนเชิดส่วนหน้ารถขึ้น ทำให้เพิ่มความสูงใต้ท้องเป็น 134 มิลลิเมตร ตัวถังมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd=0.36 ถังน้ำมันมีขนาด 72 ลิตร

น้ำหนักตัวถังของ 720S เมื่อชั่งแบบไม่มีของเหลวจะได้ 1,283 กิโลกรัม และเมื่อเติมของเหลวเข้าไปให้ได้ตามมาตรฐาน DIN จะได้น้ำหนัก 1,419 กิโลกรัม ซึ่งอาจจะดูเหมือนว่าตัวรถไม่เบา แต่นิตยสาร Autocar ที่อังกฤษเคยลองเอาไปวัดน้ำหนักเทียบกับ Ferrari 488GTB ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ปรากฏว่า McLaren เบากว่า Ferrari ถึง 135 กิโลกรัม

ที่เก็บสัมภาระ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือด้านหน้า 150 ลิตร และด้านหลังเบาะนั่ง จะมีที่ให้วางกระเป๋าและของได้พอประมาณ จุ 210 ลิตร ดังนั้นถ้าคิดจะขับรถคันนี้เดินทางไกล กรุณาคำนวณขนาดกระเป๋าเดินทางและสัมภาระให้ดีก่อนนะครับ

ประตูของ McLaren 720S เป็นแบบ Double-hinged Dihedral Door ซึ่งบางคนชอบเรียกว่าประตูแบบ Butterfly Wing แต่ผมมองจุดยึดแล้วเหมือนพวกปีกแข็งของด้วงกว่าง สิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์ของ McLaren มานานตั้งแต่รุ่น F1 แล้ว แต่ใน 720S ทีมวิศวกรพยายามขยายขนาดของประตู ลดความกว้างของบริเวณขอบประตูบนตัวถังที่คั่นระหว่างเบาะนั่งกับโลกภายนอก เพราะต้องการให้เข้า/ออกจากรถได้ง่ายขึ้น

McLaren มาพร้อมกับกุญแจแบบ Smart Key ดังนั้นจึงเดินเข้าไปที่ข้างๆรถ แล้วเปิดประตูได้เลย ช่วงแรกๆจะมองหาที่เปิดประตูยากหน่อยเพราะมันจะเป็นปุ่มแบบ Contact button ขนาดเล็ก ซ่อนอยู่ที่ร่องทางระบายลมค่อนไปทางเสา B-pillar เมื่อกดแล้วประตูจะแง้มออกด้านข้างนิดๆ ให้ใช้แรงช่วยส่งนิดหน่อย จากนั้นมันก็จะเปิดขึ้นกว้างโดยอัตโนมัติ McLaren พยายามออกแบบให้ประตูกินเนื้อที่ด้านข้างน้อยลงเวลาเปิด ดังนั้นมันจึงต้องการเนื้อที่สำหรับเหวี่ยงประตูเปิดเพียงแค่ราว 14 นิ้วจากปลายกระจกมองข้าง และความสูงของพื้นที่ประมาณ 2 เมตรแค่นั้น

คุณอาจจะไม่เชื่อ ถ้าผมบอกว่า ไม่เคยเจอซูเปอร์คาร์ 2 ที่นั่งคันไหนที่ชายร่าง 5XL 150 กิโลกรัมสามารถเข้าออกได้ง่ายเป็นเล่นอย่างนี้มาก่อน แต่เชื่อเถอะครับ เพราะการที่ประตูเปิดโดยกินเนื้อที่ส่วนหลังคาไปด้วยทำให้ไม่ต้องก้มหัวหลบแนวหลังคา ในขณะที่ขอบตัวถังที่หนาไม่มาก ทำให้ไม่ต้องเอาตัวนั่งบนขอบประตูก่อนแล้วค่อยไถตูดเข้า พูดง่ายๆคือถ้าจะมีรถที่เข้า/ออกง่ายกว่านี้ มันต้องเป็นรถอย่าง GT-R R35 ที่คันโตและสูงกว่าเท่านั้น 720S นี่ลุกเข้ากับเด้งออกง่ายกว่า Huracan, Gallardo และไม่ต้องพูดถึง Aventador หรือรถประตูแปลกรุ่นอื่นให้เสียเวลา แม้แต่ AMG GT-S ก็ต้องก้มหัวและเข้าออกยากกว่านี้

เบาะนั่งเป็นแบบบัคเก็ตซีทที่สามารถปรับเอนได้ ยังไม่ใช่เบาะ Race Seat แบบหลังแข็ง ในเมืองนอกจะมีเบาะแบบธรรมดาใช้คันโยกเอนเบาะและคันดึงเลื่อนเบาะสำหรับคนที่ต้องการความ Minimalism แต่ในรถคันที่เราได้ขับ จะเป็นเบาะปรับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทางพร้อมระบบความจำ 2 ตำแหน่ง มีปุ่มปรับดันหลังให้ดันมาก/น้อยและดันในตำแหน่งสูง/ต่ำ

การวางตำแหน่งเบาะของ 720S จะคล้ายกับ MP4-12C คือคอนโซลกลางจะลีบ เรียวเล็ก เพื่อให้เบาะซ้ายกับขวาอยู่ชิดกันมากที่สุด วิธีนี้ทำให้คนขับนั่งอยู่ในตำแหน่งใกล้ศูนย์กลางของรถตามแนวยาว ซึ่งให้ผลดีในเรื่องทัศนะวิสัย การรับรู้กะระยะระหว่างหน้ารถกับโค้ง และการจับความรู้สึกแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นกับรถ

จากที่คุณเห็นได้จากภาพนี้ คงพอเดาออก..มันไม่ใช่เบาะที่สบายอะไรขนาดนั้น แต่อย่างน้อยความแข็งของฟองน้ำ ก็เหมาะสมแล้วสำหรับซูเปอร์คาร์ 720 แรงม้า เบาะรองนั่งมีปีกรองซัพพอร์ทด้านข้างขนาดใหญ่ แต่แผ่ออกมากพอให้ผมนั่งแล้วจุดศูนย์กลางทวารหนักสามารถลงไปพักผ่อนบนเบาะรองนั่งได้เต็มๆ (ในขณะที่ Race Seat บางรุ่นปีกจะแข็งและบีบ ค้ำยันจนตูดผมแตะไม่ถึงกลางเบาะ) ผมคงไม่สามารถตำหนิอะไรได้สำหรับการออกแบบเบาะเมื่อคำนึงถึงรูปแบบรถ

..อย่างเดียวที่สงสัยเป็นที่สุดคือ..ทำไมต้องเอาสวิตช์ปรับเบาะไปไว้ในตำแหน่งที่โคตรพิลึก เช่นสำหรับเบาะคนขับ ถ้าจะปรับ ต้องเอามือซ้าย ล้วงลงไปข้างซ้ายค่อนหน้าของเบาะในมุมอับที่ติดอุโมงค์กลางของห้องโดยสาร ถ้าคุณไม่ได้ผอมและตัวอ่อนลื่นเป็นเด็ก วิธีเดียวที่คุณจะเห็นหน้าตาของสวิตช์ได้คือเอากระจกเงามาส่องหรือมองจากเบาะของคนข้างๆ และแทนที่จะทำสวิตช์ปรับให้เป็นรูปคล้ายกับเบาะให้เอามือจับและปรับง่ายๆเหมือนชาวบ้าน เขากลับทำเป็นปุ่ม และขนาดเล็กมาก ที่เห็นพี่จ้ำ กรัณฑ์ ศุภพงษ์ล้วงๆอะไรอยู่นั่น แกพยายามช่วยผมปรับเบาะครับ กว่าจะได้ตำแหน่งที่ต้องการเล่นเอาเกือบเลิกอยากขับ คงมีแต่เจ้าของรถตัวจริงที่จะจำได้และใช้ได้ถนัด

ส่วนพวงมาลัยนั้น สามารถปรับขึ้น/ลง และเข้า/ออกได้ ส่วนจะปรับด้วยวิธีการใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของรถสั่งเลือกอุปกรณ์แบบไหน รถทดสอบของเราใช้คันโยกปลดล็อคเพื่อปรับพวงมาลัยแบบรถทั่วไป แต่คุณสามารถสั่งออพชั่นพวงมาลัยปรับไฟฟ้าได้ และระยะการปรับก็ค่อนข้างกว้างจนขนาดตัวอย่างผมยังจับพวงมาลัยได้ถนัด เช่นเดียวกับพี่ฉ่าง และพี่ก้องที่เป็นสื่อมวลชนขนาดตัว L ปกติที่มาทดสอบด้วยกัน


สำหรับการวางตำแหน่งปุ่มควบคุมต่างๆนั้น บนบานประตู จะมีสวิตช์กระจกไฟฟ้าแบบ One-touch เรียงคู่อยู่ใกล้กับคันดึงเปิดประตู บริเวณด้านล่างของประตูเป็นช่องเก็บของที่ทำเป็นฝาปิดซ่อนตัวไว้อย่างแนบเนียน ถัดมาบนแดชบอร์ดด้านขวาข้างใต้ช่องแอร์มีสวิตช์เรียง 3 ปุ่มสำหรับพับ/กางหน้าปัด, ล็อค/ปลดล็อคประตู และสวิตช์เปิดฝากระโปรงหน้า ถัดลงไปจะเป็นปุ่มหมุนสำหรับเปิด/ปิดไฟหน้าแบบ Adaptive (ซึ่ง McLaren เคลมว่าเป็นไฟหน้ากระดิกที่มีน้ำหนักเบาและทำงานไวที่สุดในโลก) และสวิตช์สำหรับเบรกมือ

เบรกมือของ 720S นั้นเป็นแบบไฟฟ้า ดึงคันโยกเข้าหาตัวเพื่อขึ้นเบรกมือ และกดเข้าเพื่อปลด 720S เป็นรถที่ไม่มีเกียร์ P (Park) แต่เมื่อจอดรถ ดับเครื่อง แล้วรถจะขึ้นเบรกมือไฟฟ้าให้เองโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่ถ้าคุณไม่ต้องการให้รถขึ้นเบรกมือตอนจอด ก็แค่เอามือซ้ายดึงสวิตช์เบรกมือไฟฟ้าในตำแหน่งปลดค้างไว้ในขณะเดียวกันก็เอามือขวาเปิดประตู (ด้านคนขับ) รถก็จะจอดโดยไม่ขึ้นเบรกมือ ทั้งนี้ผมยังไม่มีโอกาสลองทำจริงๆว่าสามารถจอด+ล็อครถแล้วทำให้มันเข็นไปมาได้หรือไม่ ถ้าได้ก็เจ๋งเลย

พวงมาลัยของ 720S นั้น จะประหลาดหลุดยุคกว่าใครเพื่อนตรงที่ไม่มีปุ่มอะไรแม้แต่ปุ่มเดียวบนพวงมาลัย ซึ่ง McLaren บอกว่าพวงมาลัยรถซิ่งไม่ควรมีปุ่ม เพราะเดี๋ยวจะไปโดนตอบขับ เคยมีฝรั่งถามว่าแล้วทีทำไมรถแข่ง Formula 1 มีปุ่มบนพวงมาลัยเยอะแยะ เจ้าหน้าที่เทคนิคบอกว่าก็รถ Formula มันไม่มีแดชบอร์ด จะให้เอาปุ่มไปไว้ตรงไหนได้อีกวะ

ก้านเล็กๆทางด้านขวาของพวงมาลัย คือระบบ Cruise Control และ Speed Limiter ตรงปลายก้านเป็นปุ่มกดเพื่อยกหน้ารถเวลาวิ่งผ่านเนิน ส่วนก้านทางซ้ายคือก้านไฟเลี้ยวและแต๊บไฟสูง ส่วนก้านเล็กๆที่อยู่ในระนาบเดียวกับก้าน Cruise Control มีไว้สำหรับเลือกหน้าจอที่จะแสดงผลบนหน้าปัด วิธีการใช้คงไม่ขออธิบาย ไม่อย่างรีวิวจะยาวกว่านี้อีกเยอะ

มาที่บนแดชบอร์ดกันบ้าง บริเวณใกล้มือซ้ายของคุณคือกลุ่มสวิตช์ 4 อันที่เรียกว่า Active Dynamics Control Panel ซึ่งมีปุ่ม Aero (เปิดปิดการทำงานของ Airbrake หางหลัง) ปุ่ม H (Handling) กับ Active และ P (Powertrain) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองของรถ ต้องจำไว้เลยว่าการจะเปิดโหมดควบคุมเหล่านี้ให้ทำงานได้ คุณต้องกด Active ให้ไฟติดก่อนนะครับ มันถึงจะทำงาน ถ้าไม่กด หน้าปัดจะมีคำว่า H – Non Active กับ P – Non Active ขึ้น ทำไมต้องทำเป็นขั้นแบบนั้นไม่รู้ครับ แค่ให้หมุน Comfort/Sport/Track แยกกันระหว่างเครื่องกับช่วงล่าง แค่นั้นก็พอแล้วมั้ง

สวิตช์กระจกมองข้างและ Parking sensor จะหายากหน่อย..มันย้ายมาอยู่ตรงใกล้เข่าซ้าย ถัดใกล้ๆกับชุด Active Dynamics Control นั่นแหละครับ ในรถคันไหนที่มีการสั่งติดกล้องถอยหลัง เวลาเข้าเกียร์ปุ๊บ ภาพจากกล้องจะไปโชว์บนหน้าปัดแบบเต็มจอด้วย

ส่วนจอกลางขนาดใหญ่เหมือนของ Volvo นั้น เป็นศูนย์บัญชาการความสบายและความบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ระบบนำทาง เครื่องเสียง รวมถึงการเซ็ตฟังก์ชั่นต่างๆของตัวรถ ระบบปฏิบัติการ McLaren Infotainment แบบใหม่ใช้คล่องและง่ายขึ้นกว่า IRIS เวอร์ชั่นที่อยู่ใน MP4-12C และ 650S เยอะ คุณสามารถตั้งค่าโปรดได้ว่าจะโชว์อะไรเป็นหลัก สามารถเอานิ้วแตะ จิ้ม และลากจอต่างๆไปมาเพื่อจัดเรียงตามใจคุณได้ และที่ผมชอบมากคือการเข้าสู่ฟังก์ชั่นหลักต่างๆ ยังทำเป็นปุ่มกดแบบปกติมาไว้ใต้จอ ทำให้ใช้ได้ง่ายขึ้น

ส่วนปุ่มที่เรียงเป็นตับนั้นคือปุ่มสตาร์ท ตามด้วยปุ่มสำหรับเลือกเกียร์ ตามด้วยไฟฉุกเฉิน และปุ่ม LAUNCH ซึ่งเอาไว้ใช้ทำอะไรก็คงไม่ต้องบอกล่ะ..แต่วิธีใช้ไม่ยาก เปิด Active Dynamics Panel ให้ทำงาน จากนั้นเอาเท้าซ้่ายจมเบรก เข้าเกียร์ 1 กดปุ่ม LAUNCH แล้วเอาเท้าขวาจมคันเร่ง รอบจะไปดิ้นพราดๆอยู่ที่ 3,200 แล้วก็เตรียมรับแรงจีให้ดีแล้วกันครับ

นอกจากลูกเล่นเพื่อการซิ่งแล้ว McLaren ยังมีที่วางของวางแก้วซ่อนอยู่ข้างหลังปุ่มเลือกเกียร์ และมีที่เสียบ USB ซ่อนอยู่ตรงที่เก็บของใต้ที่เท้าแขน อีกลูกเล่นหนึ่งที่เหมาะกับเศรษฐีอย่างมากคือ Valet Mode ในจอกลาง เวลาเอารถไปล้าง หรือไปตามโรงแรมแล้วต้องให้คนอื่นมาขับรถ เจ้าของรถสามารถเปิด Valet Mode โดยใส่รหัส PIN ที่จอกลาง เมื่อเปิดโหมดนี้ รถจะวิ่งได้ไม่เกิน 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไม่สามารถเปิด Active Dynamics Panel ได้

ถือว่าพยายามเก็บรายละเอียดและคำนึงถึงรูปแบบชีวิตเจ้าของรถใช้ได้ทีเดียว!

 

หน้าปัด เป็นจุดหนึ่งที่พัฒนาเพิ่มจาก 650S แบบเปลี่ยนไปเลย จากเดิมที่เป็นมาตรวัดเข็มปนจอ ตอนนี้กลายเป็นจอ TFT แถมสามารถแสดงผลได้หลายรูปแบบ อย่างแรก เมื่อคุณบิด On หน้าจอจะแสดงตัวเลข Parking Days ซึ่งจะบอกว่าแบตเตอรี่มีไฟเหลือพอให้จอดได้กี่วันก่อนที่ไฟจะหมด (ปัญหาประจำของคนมีซูเปอร์คาร์เยอะ จนบางคนต้องเอาไฟเสียบรถไว้เสมอ)

จากนั้นเมื่อเข้าโหมดปกติ หน้าจอจะโชว์ข้อมูลเท่าที่จำเป็นในโหมด Comfort และโชว์มากขึ้นในโหมด Sport สามารถแสดงค่าได้หลายอย่างเช่น

  • มาตรวัดรอบและความเร็ว
  • แรงดันลมยางและอุณหภูมิยาง
  • ความร้อนของหม้อน้ำและระดับน้ำมันเชื้อเพลิง
  • ระบบนำทาง
  • Media ที่กำลังเล่นและโทรศัพท์
  • Trip Computer
  • สถานะของแบตเตอรี่

Sport Mode จะโชว์มาตรวัดรอบเป็นวงกลมเหมือน Comfort/Non-Active แต่ย้ายเลขเกียร์มาอยู่ตรงกลางมาตรวัดรอบแล้วเอาค่าความเร็วย่อลงไปอยู่ด้านขวาแทน แต่ถ้าบิดไปโหมด Track มาตรวัดรอบจะโชว์เป็นแท่งยาว ยิ่งไปกว่านั้น คุณสามารถกดปุ่มพับหน้าปัดลง จะเห็นแค่วัดรอบ ความเร็ว ตำแหน่งเกียร์แค่นั้น ซึ่งมันเป็นค่าที่จำเป็นที่สุดเวลาขับในสนามแข่ง อย่างอื่นคุณอาจไม่จำเป็นต้องทราบ ไฟเตือนและระบบต่างๆแยกกันอยู่กับจอนี้อยู่แล้ว และการพับหน้าปัดช่วยให้คุณมองเห็นด้านหน้ารถได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 

****รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ*****

ถือว่าเป็นเรื่องน่าแปลกอยู่สักหน่อยที่ซูเปอร์คาร์ซึ่งมีเครื่องยนต์ทรงพลังสมัยนี้หลายรุ่นเลือกที่จะไม่โชว์ตัวเครื่องให้ใครเห็นง่ายๆ McLaren 720S ก็เป็นเช่นนั้น รถคันนี้ไม่มีสวิตช์เปิดฝากระโปรงหลังส่วนที่ครอบเครื่องยนต์ วิธีเดียวที่จะเปิดเพื่อทำการซ่อมบำรุงได้คือต้องเอาไขควงที่มีหัวแบบเฉพาะ (เหอะเหอะ..ใช่สิ) ไขแล้วยกฝาครอบออกเท่านั้น น่าเสียดาย แต่ในปัจจุบันแม้แต่ Porsche 911 ก็เป็นแบบนั้นล่ะครับ

McLaren 720S ใช้เครื่องยนต์เบนซิน รหัส M840T V8 90 องศา ขนาด 4.0 ลิตร 3,994 ซีซี. เทอร์โบแบบ Twin-scroll พร้อมเวสต์เกตไฟฟ้า 2 ลูก 32 วาล์ว หัวฉีด 2 หัวต่อ 1 สูบ ขนาดปากกระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก เท่ากับ 93.0 x 73.5 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัดต่ำแค่ 8.7 : 1 ให้พลังสูงสุด 720 แรงม้า (PS) ที่ 7,250 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 770 นิวตันเมตรที่ 5,500 รอบต่อนาที

M840T นั้น แม้จะมีลักษณะทางกายภาพของเครื่องยนต์เหมือนกับ M838T ในรุ่น 540S/570S แต่ได้ใช้ชิ้นส่วนใหม่ถึง 41% และ รวมถึงก้านสูบ ลูกสูบ ข้อเหวี่ยง ฝาสูบใหม่ เปลี่ยนเทอร์โบจากแบบธรรมดาเป็น Twin-scroll แต่ขนาดโข่งเล็กลง ท่อทางเดินอากาศใหม่ ท่อไอดีใหม่ ผลที่ออกมา ทำให้ขนาดของเครื่องยนต์โดยรวมเตี้ยกว่า M838T ใน 650S 4.5 นิ้วและมีน้ำหนักเบาลง

ผลพลอยได้จากสิ่งเหล่านี้ นอกจากจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลงแล้ว เมื่อรวมกับกระจกหลังที่ใสและโปร่ง ก็ยังช่วยให้ทัศนะวิสัยด้านหลังของรถดีขึ้นกว่า 650S และดีกว่าซูเปอร์คาร์รุ่นอื่นๆ

ระบบส่งกำลังของ 720S เป็นแบบคลัตช์คู่ SSG (Seamless Shift Gearbox) 7 จังหวะ สร้างโดยบริษัท Graziano Oerlikon ในเมือง Turin ซึ่งเป็นผู้ผลิตระบบส่งกำลังให้กับซูเปอร์คาร์ชั้นนำหลากหลายยี่ห้อทั้ง Ferrari, Maserati และ Aston Martin แต่รูปแบบของระบบส่งกำลังรวมถึงการเซ็ตสมองกลเกียร์จะมาจากทีมวิศวกรของ McLaren เอง

เกียร์คลัตช์คู่ SSG จะมีราวเฟืองเกียร์ 2 ชุดกับคลัตช์ 2 ชุดรับหน้าที่ส่งกำลังสู่ราวเกียร์ของใครของมัน มีชุดคลัตช์แบบหลายแผ่นซ้อนไว้ทำหน้าที่จับกำลังจากเครื่องให้เข้าสู่เกียร์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

โชคดีที่คู่มือติดรถเวอร์ชั่น PDF ของทาง McLaren ระบุตัวเลขความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์มาให้ด้วย ข้อมูลมีดังนี้ครับ

อัตราทดเกียร์/ความเร็วสูงสุดของเกียร์นั้น (กิโลเมตร/ชั่วโมง)

  •  เกียร์ 1………..  3.982 (80)
  •  เกียร์ 2……….. 2.612 (122)
  •  เกียร์ 3……….. 1.905 (169)
  •  เกียร์ 4……….. 1.479 (218)
  •  เกียร์ 5……….. 1.160 (278)
  •  เกียร์ 6……….. 0.906 (341)
  •  เกียร์ 7……….. 0.690 (317)
  • เกียร์ถอยหลัง  2.800
  • เฟืองท้าย  3.308

แน่นอนว่าเป็นซูเปอร์คาร์ยุคใหม่ ก็ต้องมาพร้อม Paddle shift แต่ของ 720S จะเป็นแบบ 2 Way กล่าวคือโดยปกติเราจะเปลี่ยนเกียร์ขึ้นโดยกดแป้นด้านขวาเข้าหาตัว และเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำด้วยการกดแป้นด้านซ้ายเข้าหาตัว นี่คือเรื่องปกติสำหรับรถมี Paddle shift แต่สำหรับ McLaren 720S คุณสามารถ ผลักแป้นในทิศออกห่างจากตัวได้และมันจะให้ผลกลับกัน ดังนั้นสมมติว่ามือซ้ายของคุณจำเป็นต้องกุมมือคนรักข้างๆ คุณยังใช้มือขวาข้างเดียว ผลักแป้น Paddleshift ด้านขวาออกจากตัวเพื่อลงเกียร์ต่ำได้ ที่ทำได้ทั้งหมดนี่เพราะแป้น Paddle ซ้ายกับขวานั้นที่จริงมันคือชิ้นเดียวกัน มีจุดหมุนอยู่ตรงกลาง แค่นั้นแหละครับ

ผมบอกแล้วว่าวิศวกร McLaren เป็นพวกที่คิดเก็บรายละเอียดแม้ในจุดที่ไม่ค่อยมีใครสนและดูเผินๆไม่จำเป็นต้องทำด้วยซ้ำ

ตัวเลขสมรรถนะจากโรงงาน บอกว่า 720S ทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ภายใน 2.9 วินาที และเร่งจาก 0-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายใน 7.8 วินาที วิ่งควอเตอร์ไมล์ได้ภายใน 10.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 341 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถเบรกหยุดจากความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายในเวลา 4.6 วินาทีกับระยะเบรก 117 เมตร

ถือว่าเป็นตัวเลขที่ถ่อมตัวพอสมควร เพราะขนาด 650S รุ่นเก่า เวลามีนเอาไปทดสอบจริงก็ทำความเร็วได้ดีกว่าตัวเลขโรงงานของ 720S แล้ว แต่ถ้ามาเจอการทดสอบจริงในไทย อากาศร้อนชิบหายวายป่วง แถมเจอน้ำหนักบรรทุกผมกับพี่จ้ำ ซึ่งรวมกันน่าจะมี 230 กิโลกรัมจะเป็นอย่างไร

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง = 3.97 วินาที และ 0-180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 8.85 วินาที

ผมไม่ได้จับตัวเลขของ NISMO GT-R และ Lamborghini Huracan เอาไว้ จึงเหลือเพียงแต่ AMG GT-S ที่เคยลองนั่งกับ J!MMY แล้วถ่ายคลิปอัตราเร่งไว้ ความต่างระหว่างรถ 510 แรงม้ากับ 720S แรงม้ามันชัดเจน GT-S วิ่งตอนกลางคืนด้วย และใช้โหมด RACE START ล็อครอบออกตัวด้วยยังทำ 0-180 ได้ใน 11.75 วินาที ในขณะที่ตัวเลขของ 720S นั้น ทำด้วย Comfort Mode และกดออกตัวเปล่าๆ พูดแล้วยังอิ่มอกอิ่มใจ เปิดเว็บมา 9 ปีกว่า แล้วผมก็ได้ขับรถที่ทำ Record อัตราเร่งเร็วที่สุดก็วันนี้

หากจะวัดจากความรู้สึก..แรงดึงช่วงออกตัวยังไม่มาก ถ้าเทียบกับรถขับสี่ที่พลังสูงอย่าง 911 Turbo S ซึ่งได้เปรียบจากการถ่ายกำลังลงพื้น 4 ล้อ แต่พอลงเกียร์ 2 เท่านั้นพลังของ 720S ก็ไหลมาเทมาอย่างดุดัน เกียร์ 2 ทั้งช่วงจบลงภายใน 1.3 วินาที ต่อเกียร์ 3 และ 4 ก่อนยกคันเร่ง แรงดึงที่กดอัดตัวผมติดเบาะที่เกียร์ 2 กับเกียร์ 4 แทบไม่ต่างกัน

ที่สำคัญคือในรถขับเคลื่อนล้อหลังที่แรงม้าเยอะขนาดนี้ ผมกลับสามารถฟลอร์คันเร่งแล้วถือพวงมาลัยไปตรงๆนิ่งๆชิลๆเหมือนขับ Impreza คอขาว 210 แรงม้า และถ้าไม่นับเกียร์ 1 ที่รู้สึกว่ากล่อง ECU ลดกำลังเครื่องเอาไว้เพื่อไม่ให้รถหมุนหันหน้ากลับไปสวัสดีพ่อ เกียร์อื่นๆมาต่อเนื่อง ไม่รู้สึกเลยว่ามีการควบคุมจำกัดพลังอันใดไว้ พูดแบบนี้หลายคนคงเดาไม่ถูกอยู่ดี แต่สำหรับคนที่เคยขับรถวางเครื่อง 600-700 ม้า หรือยุโรปดุๆขับหลังแรงบิดเยอะอย่าง 911 GT2 คุณจะเริ่มตั้งคำถาม..ว่ามันทำได้ไง

ส่วนการตอบสนองคันเร่งนั้น ผมไม่ได้มีโอกาสลองช่วงรอบต่ำๆมากนักด้วยเวลาที่จำกัด แต่เหนือ 3,000 รอบขึ้นไป แรงบิดที่มาเมื่อกดคันเร่ง ต่อให้กดแค่ 40% ก็พร้อมดึงหน้าหงาย มันอาจจะไม่มาเปรี้ยงปร้างทันทีแบบเครื่อง NA 5.2-6.5 ลิตร แต่ดีเลย์กว่ากันเพียงเล็กน้อย และถ้าเป็นที่ 4,000 รอบ..แทบไม่ต่างจากพวก NA บล็อคโต คันเร่งในโหมด Comfort ไวเท่ารถบ้านทั่วไป คุมง่าย แต่ถ้าเล่น Sport หรือ Track ต้องรู้จักกะน้ำหนักคันเร่งไว้บ้าง เพราะทะเล่อทะล่ากดเหมือนขับรถบ้าน 720S ก็จะมีอาการ เตือนให้คุณรู้และระลึกว่ากำลังขับรถอะไรอยู่

มีเรื่องเดียวที่ไม่สบอารมณ์คือเสียงเครื่องยนต์ เสียงที่ได้ยินในคลิปข้างบนนั่นกับของจริงไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอกครับ นี่ขนาดวิศวกรบอกว่าปรับปรุงให้ดุขึ้นแล้ว แต่ผมก็ยังได้ยินเสียงที่เหมือนกับ Golf GTi ใส่ท่อแต่งสองคันวิ่งพร้อมกัน มีเสียงหวีด ฟี่ ฟิสส ของเทอร์โบที่ดังหน่อย ในขณะที่เสียง 6 สูบ Boxer NA ใน 911 GT3 หวานกว่า และเสียง V10 ของ Huracan กังวาน ดุดัน สองคันที่ว่านี้ให้เสียงประหนึ่งฟังนักร้องเปล่งเสียงสุดชีวิตในขณะที่ 720S ไม่ใช่แบบนั้นเลย

โครงสร้าง MonoCage II ของ McLaren 720S เป็นแบบที่สร้างขึ้นมาใหม่ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ MonoCage I ใน McLaren P1 และแตกต่างจาก Carbon MonoCell ของ 650S และ 675LT โดยสิ้นเชิง

อธิบายง่ายๆก็คือ แม้ทั้งคู่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานเป็นอ่างทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ แต่ของ 650S นั้น จะมาเป็นทรงอ่างเดวิสจริงๆ ไม่มีส่วนหลังคา จากนั้นก็เอาซับเฟรมหน้าและหลังต่อเข้าไปกับตัวอ่าง แล้วก็มีโครงหลังคาที่เป็นเหล็กมาครอบทับ แต่สำหรับ Monocage II นั้น อ่างคาร์บอนจะมีส่วนที่เป็นหลังคาและกรอบประตูที่ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันมาเลย

วิธีนี้นอกจากจะทำให้โครงสร้างหลักมีความแข็งแกร่งขึ้นแล้ว การที่มีชิ้นส่วนเป็นเหล็กน้อยลงก็ทำให้ตัวถังรถเบาลงได้อีก 18 กิโลกรัม และจุดศูนย์ถ่วงของโครงสร้างลดต่ำลงกว่าเดิมอีก 3% ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งคือ การที่เสา A-pillar ขึ้นรูปจากคาร์บอนไฟเบอร์พร้อมกับตัวถัง มันจึงแข็งแรงทั้งที่มีขนาดเล็ก และความบางของเสาทำให้ทัศนะวิสัยด้านหน้าดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม

ช่วงล่างของ 720S เป็นแบบอิสระปกนกคู่ 4 ล้อ ควบคุมความหนืดด้วยของเหลวไฮดรอลิคแบบ Proactive Chassis Control II ซึ่งเริ่มต้นพัฒนาโดย McLaren ร่วมกับแผนกวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Oxford Cambridge โดยวิจัยต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2010

หลักการทำงานของมันก็คือ ใช้กระบอกไฮดรอลิกค้ำตัวรถเอาไว้ ทำหน้าที่ทั้งรับน้ำหนักและควบคุมความหนืดไปในตัว กำหนดความหนืดด้วยการไหลของน้ำมันไฮดรอลิก โดยที่มีทางเดินน้ำมันถึงกันทั้ง 4 กระบอก วิธีนี้ทำให้รถสามารถปรับค่าความหนึบ/หนืดของกระบอกไฮดรอลิกได้อย่างอิสระทุกข้างหรือแข็งเท่าๆกันทุกข้าง เมื่อไหร่ อย่างไร ท่าไหนก็ได้ และทำให้ไม่ต้องมีการติดตั้งเหล็กกันโคลงอีกต่อไป เป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัย MP4-12C กับ 650S แต่ในขณะที่ 650S มีเซ็นเซอร์ตรวจจับและส่งค่าการทำงานของช่วงล่าง 9 ตัว ใน 720S กลับปาเข้าไป 21 ตัว

นอกจากนี้การใช้วัสดุน้ำหนักเบาในปีกนกบน/ล่าง และจุดยึดต่างๆที่ออกแบบใหม่ ทำให้ 720S มีน้ำหนักรวมของชิ้นส่วนช่วงล่างเบาลงกว่า 650S ถึง 16 กิโลกรัม

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พิเนียนแบบ Electro-Hydraulic ซึ่งใช้ไฟฟ้าในการช่วยกำหนดความหนืด แต่กลไกตัวหลักยังใช้ปั๊มไฮดรอลิก เติมน้ำมันเพาเวอร์ Pentosin CHF202 อยู่

ระบบเบรกของ 720S ทำมาเพื่อรองรับการห้ามล้อระดับซูเปอร์คาร์ด้วยการใช้เบรกคาร์บอนเซรามิก ด้านหน้าใช้จานเบรกขนาด 390 มิลลิเมตร คาลิเปอร์เบรกแบบ 6 Pot และด้านหลังขนาด 380 มิลลิเมตรจับคู่กับคาลิเปอร์ 4 Pot

ล้ออัลลอย คู่หน้า ขนาด 9.0 x 19 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด 245/35R19 คู่หลังขนาด 11.0 x 19 นิ้ว ยาง 305/30R20

สำหรับยางที่ติดตั้งใน 720S นั้น ทาง McLaren เลือก Pirelli เป็นผู้วิจัยและผลิตยางให้ได้ตามมาตรฐานของ McLaren และในโปรแกรมสมองกลของรถ จะมีฟังก์ชั่นกำหนดรุ่นของยาง ซึ่งคุณจะต้องเลือก ว่าตอนนี้ใส่ยาง P-Zero MC1, Corsa หรือ Trofeo-R ซึ่งมีดัชนีการยึดเกาะต่างกัน เพราะวิศวกรจะเซ็ตการทำงานของระบบช่วยเหลืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆมาให้เหมาะกับยางแต่ละรุ่น

หลังจากที่ลองประสิทธิภาพช่วงล่างและเบรกของ 720S มาแล้ว ผมว่ามันคือการพลิกตำราหน้าใหม่ของฟิสิกส์ในรถยนต์ก็ว่าได้!

เมื่อคุณคิดว่าตัวเองกำลังคุมรถขับหลัง 720 แรงม้า ใจคุณย่อมนึกถึงอาการดีดดิ้น พยศ น่ากลัว แต่ 720S นั้นถ้าคุณสุภาพกับคันเร่งระดับหนึ่ง มันจะเข้าโค้งไปเหมือนกับรถไฟเหาะที่วิ่งบนราง ไม่หลุุด ไม่พยศ ไปแบบแบนๆราบติดพื้น ไม่มีอาการยวบซ้ายขวา แม้จะปรับเป็น Track Mode แต่เปิด ESC ไว้ มันก็ยังได้อารมณ์สนุก อยากเอาท้ายออก ก็กดคันเร่งไปสิ อยากไปเนียนๆ? ก็ลดความไวในการกดลงหน่อย มันง่ายมากจนผมอยากจะเตือนคนที่ขับ 720S เป็นรถ 700 ม้าคันแรกในชีวิตให้ระวัง เพราะรถหลายรุ่นที่ม้าน้อยกว่านี้ ขับยาก และน่ากลัวกว่านี้

เอางี้ครับ หลังจากทดลองขับเสร็จ มีรุ่นพี่ท่านนึงเดินมาถามผมว่า “ตกลงนี่มันขับหลังหรือขับสี่วะแพน กูขับแล้วไม่แน่ใจละว่ะ”

การจะขับ McLaren ให้น่ากลัว คุณต้องใส่ Input แบบโง่ๆ แต่แก้อย่างคนฉลาด หรืออีกวิธีนึงคือต้องใช้แรงเหวี่ยงสะสมกับความเร็วที่สูงกว่าซูเปอร์คาร์รุ่นอื่น ถ้าให้เทียบกับรถพันธุ์แรงรุ่นอื่นที่ผมเคยขับ Lamborghini Huracan ตัวขับสี่ยังแสดงอาการช่วงล่างยวบมากกว่า พยศมากกว่า ดีดดิ้นกว่า 720S ทั้งที่ใช้ความเร็วน้อยกว่า (ตัวขับหลัง..ยิ่งออกอาการมากกว่า) และ NISMO GT-R ที่ผมเคยชื่นชมว่า แรง เกาะ ไวกระชากจิต พอเทียบกับ 720S มันก็กลายเป็นรถสายท่องเที่ยวไป จืดชืดกว่า หน้าไม่ไวเท่า และวิ่งในโค้งก็ไม่ได้เร็วกว่า

ที่น่าแปลกคือ เวลาขับในสนามตัวรถจะดูมั่นคงขนาดไหน แต่ตอนที่ผมลองปีน Apex ดูความสะเทือนของช่วงล่าง เชื่อไหมครับว่าแรงสะเทือนเข้ามาน้อยกว่า BMW 430i เสียอีก ราวกับว่ารถมีตา มองเห็นว่าตรงไหนพื้นเรียบ ตรงไหนขรุขระ แล้วมันก็เตรียมช่วงล่างรอเอาไว้เหมือนเวลาเราเห็นและก้าวข้ามก้อนขี้แมว ผมไม่รู้ว่าเขาทำได้อย่างไรเหมือนกัน

พวงมาลัยของ 720S มีน้ำหนักพอควร และทดมาค่อนข้างไวระดับล็อค-ล็อค 2.5 รอบ การตอบสนองไม่ต้องพูดถึง ผมนึกไม่ออกว่าจะมีพวงของใครสนุกบนสนามได้ดีกว่านี้ แม่น คม แต่มีแรงต้านการหมุนเยอะ ถ้าปล่อยมือตอนเลี้ยวมันจะดีดกลับแรงกว่ารถรุ่นอื่นๆที่เคยลองมา รวมถึงเวลาปีน Apex ที่โค้ง S1 กับ S2 แรงที่ส่งผ่านมายังพวงมาลัยค่อนข้างเยอะ เรื่องนี้แล้วแต่คนชอบ ถ้าคุณต้องการพวงมาลัยที่บอกทุกความรู้สึก มันก็จะพูดทุกสิ่งอย่างกับมือคุณอย่างนี้

ส่วนเรื่องเบรก อันนี้ต้องสารภาพว่าผมเกือบทำให้ลูกค้าอดทดสอบ 720S ไปรอบนึงเพราะไม่เชื่อฟังสิ่งที่พี่จ้ำบอก

“กับรถคันนี้..เร่งด้วยเท้าขวา และเบรกด้วยเท้าซ้าย..นะครับ”

ผมไม่เคยขับโกคาร์ท..เพราะนั่งไม่ได้ และโดยปกติแม้ผมจะฝึกเบรกเท้าซ้ายเวลาขับบนถนนประจำอยู่แล้ว แต่มักมีปัญหากับการกะแรงในการเบรกเท้าซ้าย ถ่ายน้ำหนักห่วยแตก ก็เลยขับด้วยการเบรกเท้าขวา พบว่าแป้นเบรกมีระยะเหยียบสั้น และต้านเท้ามาก ถ้าต้านแรงกว่านี้อีกนิดมันจะเหมือนรถบ้านถอดหม้อลมเบรกแล้ว แถมพอเบรกคาร์บอนเซรามิกร้อนได้ที เวลาคาลิเปอร์หนีบจานทีหน้าแทบคะมำ แต่ช่วงหลุดโค้ง 100R ผมกดคันเร่งห้อมาเต็มพิกัด ปรากฏว่าการที่แป้นเบรกกับคันเร่งชิดกัน ทำให้เท้าโตๆของผม เหยียบโดนคันเร่ง ไอ้ 720 ม้ามันก็พารถปลิวไป

ดีที่ว่าช่วงหลังๆมานี้พยายามฝึกประสาทการรับรู้เวลาขับรถ พอรู้สึกว่ามันไม่ใช่ละโว้ย ผมก็ยกเท้าขวาออก แล้วสวนเท้าซ้ายลงไปที่เบรกทันก่อนเข้า S1 แบบฉิวเฉียด ถ้าเป็นปี 2016 ผมเจอแบบนี้ แหกโค้งแน่นอนและผมน่าจะหนีไปอยู่ต่างประเทศแล้ว

จากนั้นมาผมเลยว่าง่าย เบรกด้วยเท้าซ้ายตามที่พี่จ้ำบอก กลายเป็นว่าทุกอย่างสมบูรณ์แบบ รู้สึกเหมือนใช้พลังในการเหยียบเบรกไม่มาก และทำให้เบรก-เร่ง-เบรกได้ไวขึ้น “เหมือนรถมันเซ็ตมาให้คุณใช้เท้าซ้ายเบรกจริงๆ”

สิ่งหนึ่งที่เราไม่มีโอกาสได้ลอง แต่จะไม่เขียนถึงก็เสียดาย ก็คือระบบ Variable Drift Control ซึ่งผู้ขับสามารถกำหนดค่าเองเลยว่า อยากให้ท้ายรถ “ปัดออก” ได้กี่องศา ก่อนที่ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามาช่วย หลักการทำงานคล้ายกับระบบ Side Slip Control ของ Ferrari ก็อย่าแปลกใจ เพราะ Chief Engineer ของ 720S คือคุณ Emelio Scervo ซึ่งก่อนที่จะมาทำงานกับ McLaren นั้น เขาเคยทำงานให้ Ferrari ช่วยเซ็ตช่วงล่างให้ 458/Scuderia

วิธีใช้ ก็แค่เข้าโหมด Sport หรือ Track แล้วกด ESC Off คาไว้สักครู่ หน้าจอกลางจะโชว์ฟังก์ชั่น Variable Drift Control แล้วคุณก็สไลด์นิ้วเลือกเลยครับว่าอยากให้ท้ายกวาดมากขนาดไหน แสดงเห็นเป็นภาพดูง่าย

****สรุปเบื้องต้น****

****ซูเปอร์คาร์สายวิทย์ พลังเหลือล้นสำหรับคนเงินเหลือเยอะ****

ผมทราบดีว่าตัวเองไม่ใช่คนที่ได้ขับซูเปอร์คาร์บ่อยจนสามารถตัดสินสิ่งต่างๆได้อย่างแม่นยำนัก แต่เชื่อว่าหลายคนที่เป็นนักอ่านเว็บขาประจำของเราอาจจะอยากรู้ว่าในความรู้สึกของคนที่ชินกับรถแต่งรถวางเครื่องอย่างผม เมื่อมาเจอรถอย่าง 720S แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

จะบอกให้ก็ได้ครับ…หลายคนจะเชื่อว่าการทำรถให้มี 720 แรงม้า มันไม่ใช่เรื่องยาก และคุณไม่ต้องจ่าย 26.5 ล้านซื้อ McLaren หรอก แค่หารถซีดานขับหลังสักคันมาวางเครื่อง 6 สูบเรียงเทอร์โบยอดนิยมจากญี่ปุ่น คุณก็ไปถึงเป้าหมายได้แล้ว นั่นก็จริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ในบรรดารถวางเครื่องที่ผมขับมา ไม่ต้อง 700 แรงม้าหรอกครับ แค่ 500-600 คุณก็ไม่สามารถที่จะออกตัวไปตรงๆ เหมือนวิ่งอยู่บนรางอย่างที่ McLaren 720S ทำได้ ส่วนเรื่องการเข้าโค้ง ดูจากลักษณะทางกายภาพของรถแล้ว ผมคงไม่มีอะไรต้องอธิบายเพิ่ม

สมัยก่อน การขับรถ 700 ม้าให้อยู่กับร่องกับรอยเป็นเรื่องยาก สมัยนี้ McLaren ทำให้มันง่ายขึ้น เหลือแต่ตัวคนขับเองนั่นแหละจะกล้าที่จะท้าขีดความสามารถของรถขนาดไหน

ทีนี้ ถ้าไปเทียบกับซูเปอร์คาร์หรือรถสมรรถนะสูงคันอื่นที่ผมเคยขับ เรื่องความแรงนั้นถ้ากดกันสุดๆแล้วแช่ยาวๆ 720S น่าจะข้ามขั้นไปไล่ Hypercar บางรุ่นได้เลยด้วยซ้ำ ผมไม่เคยเจอรถที่ดึงแรง และโหดขนาดนี้มาก่อน (ยกเว้นรถแข่งควอเตอร์ไมล์) เกียร์ 1-2-3-4 ผ่านไป แรงดึงหลังติดเบาะเกือบจะเท่ากันหมด  เทียบกับ AMG GT-S ที่เราเคยจับเวลาไว้ ตอนที่ GT-S แตะ 180 นั้น 720S ก็คงจะเลย 200 ไปไกลมากแล้ว และถ้าพูดถึงการตอบสนองคันเร่ง ผมรู้สึกว่ารถ NA บล็อคโต อย่าง Lamborghini Huracan นั้นเวลากดคันเร่งรถจะพุ่งไวกว่าในเสี้ยววินาทีแรก..แต่หลังจากเสี้ยวนั้นจบลง McLaren จะเอาคืนได้อย่างเร็ว

ช่วงล่างและการบังคับควบคุม? รถมันแล้วแต่คุณเลยครับ ถ้าเซ็ตทุกอย่างเป็น Comfort รถก็จะว่านอนสอนง่าย กดคันเร่งไปโง่ๆ รถยังตั้งลำตรงสวยๆได้เอง มองจากข้างนอกนึกว่าคนขับเก่ง แต่ถ้าอยากให้ชีวิตสนุกขึ้นมาหน่อย ก็ลอง Sport หรือ Track โหมด โดยเปิด ESC เอาไว้ มันจะได้ความสนุกแบบท้าทายกำลังดี สำหรับนักขับที่ Level สูงกว่านั้น ปิดระบบช่วยเหลือ แล้วปล่อยให้ 720 แรงม้าอาละวาดเล่นก็ได้ ถ้าเทียบกับ Lamborghini Huracan แล้ว เจ้ากระทิงขับสี่จะออกอาการดีดดิ้นพยศมากกว่าแม้อยู่ในโหมดที่ธรรมดาที่สุด

ระวังอย่างเดียวครับคือ “เบรกด้วยเท้าซ้าย” นะครับ ถ้าไม่อยากเกือบซวยแบบผม

ความเป็นซูเปอร์คาร์สายวิทย์ ทำให้หลายส่วนของรถถูกคิดมาโดยมีเหตุผลรองรับที่ดี พื้นฐานง่ายๆ เช่นการออกแบบรถให้เสา A-pillar เรียวเล็กลง และใช้หลังคากระจกที่ส่งผลให้ทัศนะวิสัยรอบคันดีเลิศ ไม่เคยมีรถ 600-700 แรงม้าเครื่องวางกลางลำคันไหนเลยที่คุณมองกระจกส่องข้างแล้วสามารถเห็นทุกอย่างได้ชัดเจน การทำประตูแบบ Dihedral doors ที่เปิดเอาส่วนหลังคาของรถไปด้วย บวกกับการพยายามทำขอบประตูให้เล็กลง ทำให้การเข้า/ออกรถง่าย ชนิดที่ผมอยากจะพูดว่า ถ้าคุณอ้วนเท่าผม แต่รวยกว่าผมมาก แล้วอยากได้ซูเปอร์คาร์ที่ไม่ทำให้คุณดูเป็นตัวตลกเวลาขึ้น/ลง เชิญมาลอง McLaren 720S เถอะครับ

อย่างไรก็ตาม ความเป็นสายวิทย์ 100% ทำให้ดูเหมือน McLaren จะขาดไปเรื่องเดียวนั่นคือเสียงจากเครื่องยนต์เวลากดเต็มพิกัด มันมีแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่ผมมองว่าน่าจะหาทางทำให้มันเร้าใจได้มากกว่านี้ ถึงแม้มันจะไม่ใช่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเร็วบนนาฬิกา แต่มันคือเรื่องของอรรถรส ซึ่งคนอ่าน Headlightmag ทั่วไปอาจจะไม่สน แต่คนที่มีเงินร้อยล้านและไม่ต้องอ่านรีวิวก่อนซื้อรถเขาจะสนกัน

ท้ายสุดนี้ McLaren 720S ก็ได้มอบความประทับใจไว้ให้ผมฝันถึง ไม่ใช่ฝันว่าจะได้ซื้อมันหรอกครับ ราคาสูงกว่าเงินที่ผมใช้มาตลอดชีวิตเสียอีก ใครจะไปซื้อไหว แต่ความประทับใจที่ว่านี้ นอกจากความแรง เร็ว โหดเต็มพิกัดแล้ว มันยังเป็นรถที่พิสูจน์ศักยภาพทางวิศวกรรมว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยียานยนต์ก้าวไกลจนรถ 720 แรงม้า ไม่ใช่เครื่องจักรสร้างแม่หม้ายอีกต่อไป แต่เป็นของเล่นที่ปล่อยให้คุณค่อยๆสนุกและปรับทักษะในขณะที่คุณพยายามทลายขีดจำกัดของตัวเอง เพื่อตามให้ทันขีดจำกัดของรถ

น่าเสียดาย มีแต่คนพันล้าน ที่จะได้รับความรู้สึกนี้ทุกเมื่อที่ต้องการ

 

—–/////—–

ขอขอบคุณ Niche Cars Group ตัวแทนจำหน่าย McLaren ในประเทศไทย สำหรับการเชิญเข้าร่วมทดลองขับ


Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ เนื้อหาบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย เป็นผลงานของผู้เขียน  และช่างภาพของ Niche Cars ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 30 ตุลาคม 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com  30 October 2018.

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are welcome! CLICK HERE!