Accord Hybrid Minorchange จะมาเมื่อไหร่ครับ ?
ทำไมรุ่น Hybrid ไม่เปิดตัวพร้อมกับรุ่นธรรมดาเลยล่ะ ?
Hybrid จะเปิดตัวทันภายในปีนี้ไหมครับ ?
คำถามเหล่านี้พรั่งพรูเข้ามาไม่ขาดสาย เมื่อ Honda ตัดสินใจเปิดตัว Accord
รุ่น Minorchange เครื่องยนต์ 2.0 และ 2.4 ลิตร เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ท่ามกลางความสงสัยว่า ทำไมไม่เปิดตัวรุ่น Hybrid ไปพร้อมๆกันเลยล่ะ ?
มันไม่น่าจะติดขัดอะไรนะ เพราะคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการปรับดีไซน์ภายนอก
และ ภายในเล็กๆน้อยๆ แต่งหน้าทาปากตามปกติของอายุตลาด
แต่เรื่องแปลกก็คือ ในวันที่ผมไปงานเปิดตัว Accord Minorchange นั่นล่ะ
ก็ได้เห็นโบร์ชัวร์ Accord ที่ทาง Honda แจกให้ ก็ปรากฏว่ามีรายละเอียด
Option ของรุ่น Hybrid ครบทั้ง 2 รุ่นย่อย ทั้งที่ยังไม่เปิดตัว เพียงแต่ว่า
ตารางสเป็คในส่วนของข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของรุ่น Hybrid กลับ
ไม่ใส่มาให้
เอ๊ะ มันยังไง…
ผมจึงต้องไปค้นคว้าหาข่าวจากทางฝั่งอเมริกา แล้วก็ได้ทราบว่ารุ่น Hybrid
จะมีการปรับปรุงเครื่องยนต์และรายละเอียดงานวิศวกรรมใหม่ด้วย ก็เลย
เปิดตัวไม่พร้อมกัน อย่างนี้นี่เองงง (ทำเสียงแบบพิธีกรรายการ TV Champion)
เวลาล่วงเลยผ่านไปกว่า 4 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึง มิถุนายน ยังไม่มี
ข่าวคราวว่า Accord Hybrid Minorchange กำหนดจะเปิดตัวในไทย
เมื่อไหร่ อันที่จริงพักหลังมานี้ ข่าว หรือ ช่วงเวลาในการเปิดตัวรุ่นปรับโฉม
Minorchange ของ Honda ค่อนข้างปิดเงียบพอสมควร นึกจะมาก็มาแบบ
สายฟ้าแล่บกันเลย เช่น Brio / Brio Minorchange อยู่ดีๆก็มาในเดือน
พฤษภาคม และ มาแบบเงียบเชียบเชียว
เช่นเดียวกันกับ Accord Hybrid Minorchange ก็มีกำหนดการเปิดตัว
ส่งหมายเชิญจาก Honda มา ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม หลังจากที่
ปล่อย Teaser บนหน้าเว็บมานานมากกก ! ก็ถึงเวลางานเปิดตัว สิ่งที่ผม
สัมผัสได้ก็คือ Scale ของพื้นที่จัดงาน รวมถึงการให้ความสำคัญของตัวรถ
มันค่อนข้างที่จะต่างจากรุ่นเครื่องยนต์ปกติพอสมควร พื้นที่จัดงานที่มีขนาด
ใหญ่กว่า การประชาสัมพันธ์ต่างๆที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
เอ…ชักน่าสงสัยแล้วว่า ทำไม Honda ถึงให้ความสำคัญกับรถรุ่นนี้มาก
เป็นพิเศษ รวมถึงมันมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างกันแน่ ทำไมผมถึงพาดหัวว่า
Accord Hybrid Minorchange – หลายอย่างเปลี่ยนไป มากกว่าที่เห็น
เพื่อให้หายสงสัย เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ
มิติตัวรถไม่ต่างจากเดิมมากนัก (แน่ล่ะ เพราะมันเป็นรุ่น Minorchange นี่!)
ยาว 4,930 มิลลิเมตร มากกว่ารุ่นเดิม 15 มิลลิเมตร จากกันชนหน้าที่ยื่นมากกว่า
เดิมนิดๆ ส่วนความ กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,465 มิลลิเมตร และ ระยะฐานล้อ
2,775 มิลลิเมตร เท่าเดิมเป๊ะ ความสูงจากพื้นถึงตัวถัง (Ground Clearance)
อยู่ที่ 141 มิลลิเมตร
ภายนอกเหมือนกับรุ่นเครื่องยนต์ปกติแต่จะมีรายละเอียดที่ต่างกันเล็กน้อยในบางจุด
ไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ Full LED (ไฟต่ำ ไฟสูง ไฟเลี้ยวเป็น LED ทั้งหมด)
มีไฟ Daytime Running Light แบบ LED Tube มาให้รวมอยู่ในโคมเดียวกัน จะ
มีจุดแตกต่างก็คือ กรอบของ DRL จะเป็นสีฟ้าอ่อน เพื่อสร้างความแตกต่างให้รู้
ว่า “ชั้นน่ะ รุ่น Hybrid นะ” แต่เวลาไฟติดก็เห็นเป็น แสงสีขาวเหมือนเดิม
กระจังหน้าแถบโครเมียมที่ลากยาวไปกินพื้นที่ของไฟหน้า ใครที่ใช้รุ่นเดิม
อยากได้ไฟหน้า Full LED ขอบอกว่าเปลี่ยนเฉพาะไฟอย่างเดียวไม่ได้
ต้องยกทั้งกระจังหน้า และ กันชนหน้าใหม่ มาพร้อมกัน
เส้นสายด้านข้างก็ยังเหมือนเดิมครับ จะมีก็แต่ล้ออัลลอย ลายใหม่ปัดเงา
ทำสีทูโทนขนาด 18 นิ้ว (รุ่น TECH) ผมชอบลายนี้เป็นพิเศษ ตอนเวอร์ชั่น
ญี่ปุ่นเปิดตัว ก็ลุ้นว่าของไทยจะได้หรือไม่ สุดท้ายก็ได้มา รัดด้วยยางขนาด
235/45 R18 เปลี่ยนจาก Michelin Pilot Sport 3 ในรุ่นเดิม เป็น Yokohama
Advan DB ในรุ่นใหม่ พร้อมกับติดตั้งสเกิร์ตข้างมาให้
ด้านหลังติดตั้งสปอยเลอร์ แบบตูดเป็ด Duck Tail มาให้, เสาอากาศแบบ
ครีบฉลาม Shark Fin ก็เป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างให้กับรุ่น Hybrid
นอกจากนี้ชุดไฟท้ายยังมีการปรับดีไซน์ใหม่ แนวทางการออกแบบก็เหมือน
กับชุดไฟหน้า คือ แถบโครเมียมเหนือกรอบป้ายทะเบียนจะกินพื้นที่สร้าง
ความต่อเนื่องมายังชุดไฟท้าย ใครจะเปลี่ยนก็ต้องยกชิ้นโครเมียมมาด้วย
ไฟท้ายแบบ LED ทั้งไฟหรี่แบบ Tube 3 แถบ และ ไฟเบรก (ขอบอกว่า
เวอร์ชั่นอเมริกาไฟเบรกเป็นหลอดไส้นะครับ) มีการเปลี่ยนในส่วนของ
กรอบไฟเลี้ยว และ ไฟถอยหลังเป็นสีฟ้า เพื่อสร้างความแตกต่างสำหรับ
รุ่น Hybrid ในส่วนของกันชนท้ายมีการเปลี่ยนรายละเอียดที่ชายล่างกันชน
ต่างจากรุ่นเดิมนิดหน่อย คือ มีแถบโครเมียมเสริมเข้ามาชิ้นใหญ่ขึ้น
เปิดประตูเข้ามาที่ภายในห้องโดยสารกันบ้าง คราวนี้ Honda เพิ่มระบบ
Engine Remote Start มาให้เหมือนกับรุ่นน้องอย่าง Civic สามารถสตาร์ท
รถจากรีโมทได้ มีระบบกุญแจ Smart Key System กับ ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์
Push Start Button มาให้ตามมาตรฐานของรถระดับนี้
สิ่งต่อมาที่เห็น คือความเปลี่ยนแปลงของโทนสีภายในห้องโดยสาร เบาะสีใหม่
น้ำตาลอมแดง สำหรับผมรู้สึกว่าค่อนข้างโอเคเลยครับ เพราะ จริงๆแล้วสีน้ำตาล
เนี่ยเป็นสีโปรดของผมเลยล่ะ จะตินิดก็ตรงบริเวณแผงประตูน่าจะหุ้มหนังสีนี้
มาให้ด้วย จะได้ดูเต็มๆครบๆ สีเบาะที่ได้จะขึ้นอยู่กับสีตัวถังภายนอก ตัวถังสีเข้ม
จะได้ภายในสีอ่อน ตัวถังสีอ่อนจะได้ภายในสีเข้ม (ใครคิดเนี่ย ! บางทีลูกค้า
อยากได้รถสีดำ ภายในสีดำ ก็มีนะเออ)
– สีเงิน Lunar Silver / สีขาว White Orchid Pearl จะได้ภายในสีดำ
– สีเทา Modern Steel / สีดำ Crystal Black Pearl จะได้ภายในสีเบจ
ในรุ่น Hybrid และ สีน้ำตาลในรุ่น Hybrid TECH
เบาะนั่งคนขับเป็นแบบปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมหน่วยบันทึกความจำ
Memory Seat ให้ 2 ตำแหน่ง และ ระบบปรับดันหลังแบบไฟฟ้า ส่วนเบาะ
ผู้โดยสารตอนหน้าจะเป็นแบบปรับด้วยไฟฟ้า 4 ทิศทาง พร้อมปุ่มปรับเบาะ
ด้านข้าง สำหรับเวลาผู้บริหารนั่งหลัง หรือ คนขับรถจะปรับเบาะคนนั่งได้ง่าย
เรื่องของความสบายเบาะนั่งคู่หน้า ผมให้คะแนนพอๆกันหมด ทั้ง Camry
Accord และ Teana เป็นเพราะความสบายมันขึ้นอยู่กับสรีระร่างของแต่ละ
คนด้วย ความต่างมันอยู่ที่เบาะหลังไม่ว่าใครไปนั่ง ก็น่าจะให้ความเห็นที่
ตรงกันว่า เบาะหลังของ Camry ดูจะสบายที่สุด ทั้งตัวเบาะ และ พื้นที่
Headrooom – Legroom ยิ่งถ้าเป็นรุ่น Premium ด้วยแล้ว ปรับเอนได้
ก็ยิ่งสบายขึ้น ตามมาติดๆด้วย Accord ที่หนีกันไม่มาก ให้ความสบายใน
ระดับที่ค่อนข้างน่าพอใจ ส่วน Teana L33 ที่ดูจะเสียข้อดีตรงนี้ไปเมื่อเทียบ
กับสมัย J32 ที่เคยโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม แต่ในรุ่นปัจจุบัน Accord ทำได้ดีกว่า
ความเปลี่ยนแปลงของแผงแดชบอร์ดอยู่ที่การเปลี่ยนลายไม้ใหม่ เป็นโทนสี
ที่เข้มขึ้น บางส่วนเดิมเช่น แผงสวิตซ์ควบคุมแอร์จากเดิมเป็นวัสดุสีเงิน ก็ถูก
เปลี่ยนมาใช้สีดำเงา Piano Black ช่วงคอนโซลกลางส่วนล่าง-ฐานเกียร์
จากลายไม้ก็เป็นวัสดุสีดำ Piano Black เช่นเดียวกัน
หน้าจอแสดงผลแบบสี 2 จอ ก็ถูกจัดการวางฟังก์ชั่นใหม่ ลดปุ่มควบคุมลง
ด้านล่างจากเดิมเป็นชุดปุ่มแยกสำหรับควบคุมระบบนำทาง Navigation
System ก็ถูกเอามารวมไว้ที่หน้าจอล่าง ที่เป็นหน้าจอควบคุมเครื่องเสียง
ระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 7 นิ้ว ทำให้ปุ่มดังกล่าวหายไป ทำให้
การใช้งานง่ายขึ้น ตำแหน่งนั้นเองก็กลายเป็น ช่องเก็บของแบบมีฝาปิดแทน
จอด้านบนเป็นจอแบบสี แสดงข้อมูลต่างๆ i-MID ขนาด 7.7 นิ้ว ทำหน้าที่
เป็นจอแสดงผลของระบบเครื่องเสียง ข้อมูลทริปการขับขี่ โหมดวิทยุ เพลง
นาฬิกา รวมถึงใช้แสดงภาพจากกล้องมองหลังที่ปรับได้ 3 ระดับ ภาพมุมแคบ
มุมกว้าง 130 – 180 องศา และ ภาพจากกล้องใต้กระจกมองข้างด้านซ้าย ของ
ระบบ Honda LaneWatch
นอกจากนี้ในรุ่น Hybrid TECH จะมีการติดตั้งหลังคากระจก Sunroof
เปิด-ปิด ด้วยไฟฟ้ามาให้
*****รายละเอียดด้านวิศวกรรม*****
ระบบ Hybrid ของ Honda ในปัจจุบันถูกเรียกว่า “SPORT HYBRID” หรือ
Full Hybrid อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน พัฒนาจากเจเนอเรชั่นเดิมที่ถูกเรียกว่า
IMA (Integrated Motor Assist) โดยจะแบ่งออก เป็น 3 รูปแบบ เพื่อให้เหมาะ
กับความต้องการในการใช้งานรถประเภทต่างๆ
– Sport Hybrid “i-DCD” (Intelligent Dual Clutch Drive)
เครื่องยนต์ เบนซิน 1.5 ลิตร Atkinson Cycle ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว
ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch (DCT) 7 จังหวะ วางในรถยนต์ขนาดเล็ก
ทั้ง Fit Hybrid /Jazz Hybrid และ City Hybrid / Grace Hybrid
รวมถึง Freed Hybrid ด้วย
– Sport Hybrid “i-MMD” (Intelligent Multi Mode Drive)
เครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 ลิตร Atkinson Cycle ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว
ส่งกำลังด้วย เกียร์อัตโนมัติ แบบ Electric Couple CVT (E-CVT)
ติดตั้งเฉพาะใน Honda Accord Hybrid / Plug-in Hybrid
– Sport Hybrid “SH-AWD” (Super Handling – All Wheel Drive)
เครื่องยนต์ V6 3,500 ซีซี ทำงานร่วมกับ มอเตอร์ไฟฟ้า 3 ลูก แบบ Integrated
Motor ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ พบได้ใน Honda Legend /
Acura RLX รุ่นใหม่ล่าสุด และ Honda NSX
ใน Accord Hybrid จะเป็นในรูปแบบที่ 2 คือ Sport Hybrid “i-MMD”
ตั้งแต่รุ่นเดิม แต่ในรุ่น Minorchange จะมีการปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ
ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เดี๋ยวเราไปดูกันว่า มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง
Honda Accord Hybrid Minorchange ไม่ได้มีการปรับเฉพาะดีไซน์ภายนอก และ
ภายในห้องโดยสารเท่านั้น แต่รายละเอียดทางด้านวิศวกรรม ก็มีการปรับปรุงไป
ไม่น้อยเช่นกัน เริ่มต้นด้วยเครื่องยนต์ และ ระบบไฮบริดกันก่อน ในรุ่นเดิมเป็น
เครื่องยนต์ Atkinson Cycle ขนาด 2.0 ลิตร PGM-Fi DOHC i-VTEC กำลังสูงสุด
143 แรงม้า แรงบิด 165 นิวตันเมตร ทำงานคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กำลังสูงสุด
169 แรงม้า แรงบิด 307 นิวตันเมตร เมื่อเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า
จะได้พละกำลังรวมสูงสุด 199 แรงม้า
รุ่น Hybrid Minorchange ปรับปรุงทั้งเครื่องยนต์ และ มอเตอร์ไฟฟ้าใหม่
เครื่องยนต์ Atkinson Cycle ขนาด 2.0 ลิตร PGM-Fi DOHC i-VTEC
จูนเพิ่มแรงม้ามาอีก 2 ตัว เป็น 145 แรงม้า แรงบิดเพิ่มขึ้น 10 นิวตันเมตร เป็น
175 นิวตันเมตร ทำงานคู่กับ มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่มีการปรับปรุงกำลังสูงสุด
เพิ่มมา 15 แรงม้า เป็น 184 แรงม้า ที่ 5,000 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดเพิ่มขึ้น
8 นิวตันเมตร เป็น 315 นิวตันเมตร ที่ 0-2,000 รอบ/นาที ทำให้เมื่อทำงานร่วมกัน
จะได้พละกำลังรวม เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 16 แรงม้า เป็น 215 แรงม้า ปล่อย CO2
ลดลงจากเดิม 100g.เหลือ 99g./km. รองรับน้ำมันสูงสุด E20
ชุดมอเตอร์ไฟฟ้า AC Synchronous 2 ตัวประกบกัน มีการพัฒนาจากรุ่นเดิม
ให้มีขนาดเล็กลง รวมถึงเบาขึ้น โดยการเปลี่ยนการจัดวางขดลวดจากเป็นแบบ
กลม Round Copper Wire เป็นแบบเหลี่ยม Square เพื่อเพิ่มความหนาแน่น
ของขดลวด อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแม่เหล็กโรเตอร์ 2 ตัว เป็น 3 ตัว แต่มีขนาด
เล็กลง และ เบาขึ้น จัดวางในลักษณะโค้ง ลดขนาดและน้ำหนักลงจากเดิม 23%
Power Control Unit (PCU) หรือ ส่วนสมองประมวลผลของระบบ Hybrid
ปรับปรุงให้เชื่อมต่อเข้ากับระบบส่งกำลังโดยตรง มีตัวเชื่อมต่อ 3 เฟส ลดการ
ใช้ชิ้นส่วนในการเชื่อมต่อ เช่น แกนยึด และ สายเคเบิลต่างๆ
Intelligent Power Unit (IPU) + Battery ติดตั้งอยู่บริเวณห้องเก็บสัมภาระ
ด้านหลังติดกับเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหลัง แบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ความจุ
ไฟฟ้า 1.3 kWh ขนาด 72 Cell / 5.0 Ah 259V จากเดิมเป็นแบบ 12 x 6 Modules
ถูกเปลี่ยน เป็น 18 x 4 Modules มีการเพิ่มประสิทธิภาพ และ ลดขนาด-น้ำหนัก
ของตัวแปลงกระแสไฟฟ้า DC-DC ทำให้ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีพื้นที่เก็บของ
มากขึ้นอีก 26 ลิตร จากเดิม 398 ลิตร เป็น 424 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA จากขนาด
ของ IPU + Battery ที่ลดลง ทำให้พื้นที่วางของถึงท้ายรถจาก 743 มิลลิเมตร
เป็น 830 มิลลิเมตร หรือเพิ่มขึ้น 87 มิลลิเมตร
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้น้ำหนักตัวรถรุ่น Hybrid TECH จากเดิม 1,663 กิโลกรัม
ลดลง 28 กิโลกรัม เหลืออยู่ที่ 1,635 กิโลกรัม
พละกำลังทั้งหมด ถูกส่งลงล้อคู่หน้า ด้วย เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน E-CVT
…อันที่จริงจะเรียกว่าส่งผ่านเกียร์ก็ไม่ถูก เพราะแม้จะมีคันเกียร์ให้เห็นอยู่แบบนั้นแต่
ความจริง มันน่าจะเรียกว่าไม่มีเกียร์เลยมากกว่า เพราะแม้จะเขียนในโบรชัวร์ว่า E-CVT
แต่ในความจริงไม่มีเฟืองเกียร์เป็นจังหวะๆ และ ไม่มีสายพานแบบเกียร์ CVT ทั่วๆไป
ไม่มีทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ไม่มีชุดคลัตช์สำหรับตัดต่อกำลังช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง
แต่จะมีชุดเฟือง และคลัตช์ตัดต่อแบบที่ฝังอยู่ในมอเตอร์ของระบบขับเคลื่อน
ด้วยเหตุนี้อาจอธิบายได้ว่าทำไมเวอร์ชั่นญี่ปุ่นถึงใช้ปุ่มกดแทนคันเกียร์ แต่ของ
สเป็คบ้านเรายังเป็นคันเกียร์อยู่เพราะเหตุใด อันนี้ก็ไม่ทราบแน่ชัดครับ
อัตราทดเกียร์ มาแปลกกว่ารถยนต์ทั่วไปอย่างที่บอกครับ มันต่างออกไปจากเกียร์
CVT ทั่วไป อัตราทดเกียร์ที่ตัวมอเตอร์ไฟฟ้า 2.454 : 1 เครื่องยนต์ 0.805 : 1
อัตราทดเฟืองท้าย 3.421 : 1
ก่อนจะไปในส่วนของการทดลองขับ ผมขออธิบาย การทำงานของระบบ
Hybrid กันก่อน ถูกแบ่งออกเป็น 4 โหมดด้วยกัน
– EV Drive Mode ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ Lithium-ion
ผ่านมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถกดปุ่ม EV Mode ที่ข้างคันเกียร์เพื่อมาใช้โหมดนี้ได้
วิ่งด้วยโหมดนี้ได้ความเร็วสูงสุดถึง 120 km/h แต่ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณแบตที่มีด้วย
ไม่สามารถวิ่งจนแบตหมดเกลี้ยงได้ ระบบจะตัดการทำงานอัตโนมัติไปยังโหมดอื่น
– Hybrid Drive เครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้า ทำงานร่วมกัน เพื่ออัตราเร่งที่ดี
ขณะปล่อยคันเร่งเครื่องยนต์จะหยุดทำงาน เข้าสู่ EV Drive Mode และ ชาร์จไฟ
กลับไปยังแบตเตอรี่
– Engine Drive Mode เครื่องยนต์จะส่งกำลังทั้งหมดไปยังล้อคู่หน้าโดยตรง
แต่จะตัดสลับการทำงานกับ EV Drive Mode เป็นระยะตามระดับของแบตเตอรี่
เหมาะกับการขับชี่ด้วยความเร็วสูงคงที่
ลองดูคลิปการทำงานของรุ่น 2014 เทียบกันก็ได้ครับ
โดย 3 โหมดนี้ จะเป็นโหมดที่เราพบได้ในรุ่นก่อน Minorchange อยู่แล้ว แต่ในรุ่นปี
2016 นี้ จะมีโหมดใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 1 โหมด
– Sport Drive Mode กระตุ้นให้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยเครื่องยนต์มากขึ้น
ด้วยความที่มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานตลอด ทำให้พลังงานในแบตเตอรี่ถูกใช้ไปอย่าง
รวดเร็ว ทำให้เครื่องยนต์ต้องเข้ามาช่วยชาร์จไฟด้วย ทำให้เมื่อกดคันเร่งลงไป
ช่วยให้ช่วงเวลาที่ต้องสลับการทำงานระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าน้อยลง
เพราะเครื่องยนต์จะทำงานอยู่ตลอด ทั้งนี้เลยทำให้ปริมาณแบตเตอรี่มีเยอะตลอดเวลา
มอเตอร์ไฟฟ้าก็จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยทำงานโดยกดปุ่มที่อยู่
ด้านล่างคันเกียร์ ไฟ SPORT สีเขียวก็จะติดขึ้นที่ชุดมาตรวัด
*****การทดลองขับ สรุปเบื้องต้น*****
เส้นทางที่ใช้ในการทดสอบ เริ่มเดินทางจากตัวเมืองพัทยา สู่ หาดคุ้งวิมาน
จังหวัดจันทบุรี ออกจากพัทยาโดยถ.สุขุมวิท มุ่งหน้าสู่ทางหลวงหมายเลข 36
หรือที่รู้จักกันในชื่อ ถ.บายพาสพัทยา-ระยอง จากนั้นมาเชื่อมเข้ากับถ.สุขุมวิท
(หมายเลข3) อีกครั้งก่อนจะแยกเข้า ทางหลวง ชนบท จบ. 1011 เพื่อมุ่งหน้าสู่
หาดคุ้งวิมาน ถนนก็มีตั้งแต่คอนกรีต ไปจนถึงลาดยาง การจราจรมีติดขัดบ้าง
ช่วงกำลังทำอุโมงค์ที่พัทยา – ทำถนนหน้าสนามพีระเซอร์กิต ทำให้ได้ลองกัน
เกือบครบระยะทางไป-กลับ ประมาณ 310 กิโลเมตร
ผมจะลองเขียนแบบสรุปเบื้องต้นให้ฟังในแต่ละประเด็นกันครับ ว่าในรุ่น
Minorchange มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างจากรุ่นเดิม
– เครื่องยนต์ และ ระบบ Hybrid มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น !
จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และ น้ำหนักตัวที่
ลดลง ทำให้อัตราเร่งดีขึ้น ลองจับเวลาโดยผมนั่งกับคุณโค้ก Autospinn
หนุ่มหล่อ Presenter ที่หลายคน อาจจะเห็นกันผ่าน Print Ads ของ one2car
นั่นล่ะครับ น้ำหนักรวมกัน 2 คนกับผมก็แน่นอนว่าเกินมาตรฐานการทดสอบของ
Headlightmag ไปร่วมๆ 30 kg.ได้ เปิดแอร์ อุณหภูมิภายนอก 34 องศาเซลเซียส
อัตราเร่ง 0-100 km/h จับเวลา 2 ครั้ง
#1 8.51 sec
#2 8.40 sec (Sport Mode)
อัตราเร่ง 80-120 km/h จับเวลา 2 ครั้ง
#1 6.09 sec
#2 6.05 sec
อัตราเร่ง 80-120 km/h จับเวลา 2 ครั้ง (Sport Mode)
#3 5.88 sec
#4 5.91 sec
เทียบกับ รุ่นเดิม Accord Hybrid รุ่นเดิมเวลาไม่ต่างกันมาก ทั้งนี้เพราะ
บริบทที่ใช้ทดสอบต่างกัน ทั้งเรื่องของน้ำหนัก และ อุณหภูมิภายนอก เพราะนี่
เรานั่งกันสองคนก็จริง แต่เส้นทางที่วิ่งคนละเส้น แล้วผมก็จับเวลาตอนกลางวัน
กระนั้น ผมก็คิดว่ารถรุ่น Minorchange มีแนวโน้มที่อัตราเร่งจะดีกว่าเดิมขึ้น
อีกเล็กน้อยหากทดสอบตามมาตรฐานปกติของ Headlightmag
ในตารางข้างล่าง เป็นตัวเลขของรุ่นปี 2014 นะครับ ผมเอามาเทียบให้ดู
เรื่องความไว…ไวหายห่วง มีพลังเหลือเฟืออย่างไม่ต้องกังวลเลยครับ
ตัวรถจะพุ่งไปในแทบทุกเมื่อที่คุณต้องการ ในทุกย่านความเร็ว กดคันเร่ง
เท่าไหร่ มาเมื่อนั้น และไต่ความเร็วขึ้นไปอย่างว่องไว
แต่ต้องบอกไว้ก่อนนะครับ ถึงแม้ว่าอัตราเร่งจะทำเวลาได้ดี และ ไว
ขนาดนี้ แต่เมื่อเหยียบคันเร่งลงไป ลักษณะอาการของรถมันไม่ได้พุ่ง
กระชากไปข้างหน้าหลังติดเบาะเหมือนกับพวกเครื่องยนต์ดีเซลแรงบิด
สูงๆ ดังนั้นบางคนที่อ่านไปแล้วจะคาดหวังว่ามันแรงกระชากมหาศาล
ก็อาจจะผิดหวังไปบ้าง แต่….ความรู้สึกของท่านอาจจะโดนหลอกได้
ถ้าหากไม่เหลือบตามองไปที่เข็มความเร็ว เพราะเข็มความเร็ว มันกวาด
ขึ้นไปเรื่อยๆอย่างว่องไว จนถ้าคุณไม่สังเกต แล้วกดคันเร่งลงไปเต็มที่
เพียงแค่ช่วงไม่กี่วินาที ความเร็วบนมาตรวัดก็สามารถทำความเร็วแตะ
top speed 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ถูกล็อคไว้ได้อย่างไม่ยากเย็นเลย
ข้อด้อยที่มีอยู่ในรุ่นเดิมคือ ถ้าคุณต้องการเร่งแซง กระทืบคันเร่งลงไป
เลยทันที ถ้าบังเอิญอยู่ในจังหวะที่ระบบ Hybrid กำลังพยายามขับเคลื่อน
รถในโหมดไฟฟ้าล้วนๆ EV Drive Mode อยู่ เครื่องยนต์ไม่ทำงาน เมื่อ
คุณเหยียบคันเร่งแล้ว ยังอาจต้องรอช่วงจังหวะหน่วง เพื่อให้สมองกล
สั่งให้เครื่องยนต์ทำงานเพื่อช่วยมอเตอร์ไฟฟ้าในการสร้างพละกำลัง
และ อัตราเร่ง ซึ่งอาการนี้นี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เหมือนเดิมในรุ่น Minorchange
แต่ในรุ่น Minorchange นี้ ถ้าหากคุณกดปุ่ม Sport Mode ที่อยู่ใต้
คันเกียร์เป็นโหมดการขับขี่ใหม่ Sport Drive Mode ที่เพิ่มมาให้ในรุ่นนี้
อาการดังกล่าวก็จะหายไปแทบปลิดทิ้ง!
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การทำงานคือ กระตุ้นให้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามา
ช่วยเครื่องยนต์มากขึ้นด้วยความที่มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานตลอด ทำให้
พลังงานในแบตเตอรี่ถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องยนต์ต้องเข้ามา
ช่วยชาร์จไฟด้วย เมื่อกดคันเร่งลงไป ช่วยให้ช่วงเวลาแล็คที่ต้องรอให้
สมองกลสั่งเครื่องยนต์ให้ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าลดน้อยลง เพราะ
เครื่องยนต์จะทำงานอยู่เกือบจะตลอด ทั้งนี้เลยทำให้ปริมาณแบตเตอรี่
มีเยอะตลอดเวลา มอเตอร์ไฟฟ้าก็จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วย คุณจะมีความสุขกับการขับ Accord Hybrid นี้มากขึ้นพอสมควร
เลยล่ะ ส่วนตัวผมค่อนข้างประทับใจกับการใส่ Sport Mode นี้มาให้
– จะขับสนุกกว่านี้ ถ้าระบบส่งกำลังมี Manaul Mode + – หรือ Paddle Shift
แอบน่าเสียดายที่ Honda พัฒนาระบบ Sport Hybrid “i-MMD” นี้ คู่กับ
ระบบส่งกำลัง E-CVT มาตั้งแต่ต้น ไม่มีเฟืองเกียร์ และ ไม่มีสายพาน แบบ
เกียร์ CVT ทั่วๆไป มาในรูปกลไกการทำงานของชุดเฟือง และคลัตซ์ ที่ฝัง
อยู่ในมอเตอร์ของระบบขับเคลื่อน ไม่ได้สัมพันธ์กับความเร็ว-รอบของ
เครื่องยนต์ ทำให้การล็อคอัตราทดต่างๆทำไม่ได้เหมือนเกียร์ปกติทั่วไป
ในบางครั้งก็เลยอาจจะขาดความเร้าใจในอารมณ์การขับขี่ไปในบางจังหวะ
แต่ก็ยังดีที่มี Sport Mode ใส่เพิ่มเข้ามาให้ที่ผมค่อนข้างประทับใจ ก็พอ
ช่วยทดแทนสิ่งที่ขาดไปในส่วนนี้ได้บ้าง
แต่…คุณ AVANTGARDe’ สมาชิกเว็บบอร์ดของเราได้ตั้งข้อสังเกตว่า
เวอร์ชั่นญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนเป็นเกียร์แบบปุ่มกด ดันมี Paddle Shift ได้ ? (อ่าวเฮ้ย
ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า !) ลองมาดูเวอร์ชั่นอเมริกาที่คันเกียร์เป็นแบบปกติ
เหมือนของไทยก็ไม่มี Paddle Shift มาให้เช่นกัน มันจะมีอะไรต่างกันหรือไม่
ในเรื่องของระบบส่งกำลัง ไว้เดี๋ยวผมจะขอศึกษา และ สอบถามจากวิศวกร
ของฮอนด้าเพิ่มเติม แล้วจะมาบอกเล่าให้ฟังกันอีกครั้งใน Full Review นะครับ
– ช่วงล่าง ปรับให้นุ่มนวลซับแรงสะเทือนดีขึ้น แต่ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง…
ที่ผ่านมา ผมได้ยินหลายคนที่ไปลองขับ หรือ แม้กระทั่งเป็นเจ้าของ Accord
Gen9 อยู่บ่นเข้ามาว่า ช่วงล่างค่อนข้างสะเทือนไม่สมกับเป็นรถ D-Segment
เท่าไหร่เลยดังนั้นในรุ่น Hybrid Minorchange นี้ Honda เลยจัดการปรับปรุง
ช็อคอัพใหม่ ให้มีความนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของความหนืด แรงเสียดทาน
และ ยางรองโช้คอัพใหม่
ช่วงแรกของการทดสอบ ให้คุณโค้กขับ ส่วนผมกระโดดไปนั่งเบาะหลังก่อนเลย
(อันที่จริงอย่าเรียกว่ากระโดดเลย ฮ่าๆ) การนั่งโดยสารในช่วงความเร็วต่ำ
นุ่มนวลขึ้นอย่างสัมผัสได้ การซับแรงสะเทือนจากรอยต่อถนน หรือ หลุมบ่อ
ทำได้ดีขึ้นจากรุ่นเดิม แต่เวลาใช้ความเร็วสูงเจอถนนที่เป็นลอนคลื่นไม่เรียบ
หรือ ขรุขระ ช่วงระยอง-จันทบุรี จะออกอาการโยนตัวไปตามผิวถนนเยอะขึ้น
ตรงจุดนี้ รุ่นเดิมแอบทำได้ดีกว่าเล็กน้อยในการเก็บอาการต่างๆช่วงความเร็วสูง
แต่ก็อย่างว่าครับ การปรับให้ช่วงล่างนุ่มนวลซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้นนุ่มขึ้น
ก็ต้องแลกกัน
ขากลับเปลี่ยนมาเป็นผมควบขับกลับบ้าง ช่วงล่างที่นุ่มขึ้น ซับแรงสะเทือนดีขึ้น
แต่การเข้าโค้งต่างๆบนถนนเรียบยังคงมั่นใจได้เหมือนเดิม ไม่มีปัญหาอะไร แต่
เน้นนะครับว่าถนนเรียบ แต่หากเป็นถนนลอนหรือ ขรุขระให้เพิ่มความระมัดระวัง
หน่อย เพราะค่อนข้างจะโยนตัวกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย เช่นเดียวกันกับการจัมพ์เนิน
หรือ คอสะพานด้วยความเร็ว ก็จะออกอาการหน่อย ถ้าไม่เกิน 120 km/h ไม่มี
ปัญหาอะไรมาก ความเร็วต่ำนุ่มนวล ซับแรงสะเทือนดีกว่าเดิม ความเร็วสูงต้อง
ใช้ความระมัดระวัง และ สมาธิในการควบคุมเพิ่ม ช่วงล่างที่ดีที่สุดในกลุ่มนี้ผม
ยกให้ Nissan Teana เหมือนเคยแต่ก็ไม่มีรุ่น Hybrid ให้เลือก ส่วน Camry
Hybrid ภาพรวมผมให้ใกล้เคียง Accord Hybrid แต่ Camry จะเหนือกว่านิดๆ
เมื่อลงรายละเอียดในเรื่องความนุ่มนวล และ การซับแรงสะเทือนในช่วงความ
เร็วสูงบนถนนขรุขระ
– พวงมาลัย เบรก มีอะไรเปลี่ยนไปรึเปล่า ?
พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมระบบผ่อนแรงเพาเวอร์แบบไฟฟ้า EPS
รุ่น Hybrid ล้อ 17 นิ้ว อัตราทดเฟืองพวงมาลัย อยู่ที่ 13.37 : 1 พวงมาลัย
หมุนสุด 2.55 รอบ ส่วนรุ่น Hybrid TECH ล้อ 18 นิ้ว อัตราทดเฟือง จะ
เปลี่ยนเป็น 13.54 : 1 หมุนได้ 2.47 รอบ เหมือนเดิมไม่มีผิดเพี้ยน แต่รัศมี
วงเลี้ยวมีการเพิ่มจากเดิมที่ 5.7 เมตร และ 5.9 เมตร มาเป็น 6.064 เมตร
และ 6.271 เมตร อีกทั้งยังมีการปรับน้ำหนักพวงมาลัย ให้หนืดขึ้นกว่าเดิม
เล็กน้อย ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ และ ความเร็วสูง
ในช่วงความเร็วสูง น้ำหนักพวงมาลัยช่วงถือตรงมีความนิ่ง และระยะฟรีกำลังดี
ถึงแม้ว่ารุ่นใหม่ Minorchange พวงมาลัยจะมีน้ำหนัก และ ความหนืดที่ดีขึ้น
กว่ารุ่นเดิม แต่อยากให้เพิ่มกว่านี้อีก ในภาพรวมด้วยตัวรถขนาด และน้ำหนักรถ
D-Segment แบบนี้ ผมยังแอบรู้สึกว่า มันเบาไปอยู่ดีในช่วงความเร็วสูง ประมาณ
100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ส่วนในช่วงความเร็วต่ำ ทุกอย่างกำลังพอเหมาะ
พอดีอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง Camry Hybrid ในเรื่องของพวงมาลัย
ผมรู้สึกว่ามันโอเคกว่า Accord Hybrid ในช่วงความเร็วสูงอยู่นิดหน่อย ส่วน
ความเร็วต่ำทำได้ดีพอๆกัน
ระบบห้ามล้อ หรือ ระบบเบรก เป็นอีกระบบหนึ่งที่แตกต่างไปจาก Accord รุ่น
เครื่องยนต์ปกติ ลักษณะภายนอกจะติดตั้ง ดิสก์เบรก ครบทั้ง 4 ล้อ โดยคู่หน้า
มีครีบระบายความร้อนมาให้ จานขนาด 11.5 นิ้ว ด้านหลังจะใช้จานขนาด 11.1 นิ้ว
พร้อมระบบ ABS / EBD / BA เหมือนกัน แต่เนื่องจากรถคันนี้ ใช้ระบบขับเคลื่อน
แบบ Hybrid ซึ่งต้องมีระบบ Re-generative Braking เพื่อช่วยดึงพลังงานจลน์
จากการเบรก ไปปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า ส่งคืนไปเก็บที่แบตเตอรี่ ดังนั้น Accord
Hybrid จึงไม่มีหม้อลมเบรก แต่เปลี่ยนมาใช้ระบบเบรก Electric Servo Brake
System แทน มีการออกแบบแป้นเหยียบเบรกแบบไฟฟ้า เพิ่มชุด Feeling
Simulator ที่จะช่วยปรับการทำงานของแป้นเบรก ให้สนองตอบต่อการเหยียบ
ได้ใกล้เคียงกับแป้นเบรก ในรถยนต์ทั่วไป มากยิ่งขึ้น
ผลคือ น้ำหนักแป้นเบรกต่างๆ ถ้าไม่ได้จับสังเกตหรือบอกว่าเป็น Servo ไฟฟ้า
ก็จะไม่ทราบเลยว่ามีความแตกต่าง เซ็ตน้ำหนัก ระยะต่างๆมาได้ดีมาก ไม่เหมือน
อย่าง X-Trail Hybrid รายนั้นเบรกไม่โอเคอย่างแรง ควรดูการเซ็ตน้ำหนักของ
Accord Hybrid เป็นตัวอย่างจะมีข้อด้อยอยู่นิดนึงตรงช่วงหน่วงจากความเร็วสูง
แป้นมีอาการสั่นเล็กๆ จากที่ศึกษาอาการเบรกแบบนี้จาก Honda หลายๆรุ่น คาดว่า
มาจากผ้าเบรก วิธีแก้ก็ไม่ยากครับ ใครที่ขับรถเร็วๆอาจจะต้องหาผ้าเบรกคุณภาพ
สูงกว่านี้มาใส่แทน
– การเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ดีขึ้น เงียบขึ้น
หากเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม D-Segment ในรุ่นเดิมจะพบว่าการเก็บเสียงจาก
ครึ่งคันล่างรถทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเสียงยางบดถนนจะค่อนข้างดัง
เป็นพิเศษ ในรุ่น Minorchange ก็มีการปรับปรุงเรื่องนี้เช่นกัน เพิ่มวัสดุซับเสียง
โฟมยูรีเทนในจุดต่างๆ บริเวณซุ้มล้อ ทั้ง 4 ล้อ ก็มีการบุวัสดุซับเสียงเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้มีการเปลี่ยนจากยาง Michelin Pilot Sport 3 เป็น Yokohama
Advan DB ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวจะเป็นยังไงคงต้องรอดู
กันต่อไป เพราะ หลายคนที่ใช้ยางนี้ก็บอกว่าแรกๆมันก็เงียบอยู่ แต่นานๆเข้า
ก็เริ่มดัง แต่ภาพรวมของการทดสอบเท่าที่ได้เจอก็พบว่าการเก็บเสียงจาก
ครึ่งคันล่างรถที่เคยเป็นปัญหาก็ทำได้ดีขึ้นครับ จะมีก็แต่เสียงของกระแสลม
จะเริ่มดังขึ้นหน่อย เมื่อใช้ความเร็วเกินกว่า 130 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว
– อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ช้าก่อน ! ตอนนี้ยังไม่มีโอกาสได้ทดสอบเลยครับ
การขับทริปทดสอบแบบนี้ แน่นอนว่าไม่มีโอกาสได้ทดสอบอัตราสิ้นเปลือง
อยู่แล้วครับ แต่มีตัวเลขบนหน้าจอมาให้ชม ช่วงขาไปที่คุณโค้กขับ ความเร็ว
ที่ใช้ก็ไปเรื่อยๆครับ 110-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีกดคันเร่งคิกดาวน์บ้างในบาง
จังหวะเพื่อเร่งแซง และ ลองอัตราเร่ง ตัวเลขบนหน้าจอเฉลี่ยอยู่ที่ 16.0 – 17.6 km/l
ขากลับผมขับตัวเลขก็จะต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณ 14-15 km/l เพราะลองจับเวลา
อัตราเร่ง 0-100 / 80-120 อยู่หลายครั้ง รวมถึงกดคันเร่งลองดูการตอบสนอง
ของ Sport Mode บ่อยหน่อย ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเมื่อทดสอบตามมาตรฐาน
Headlightmag จะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามกันครับ
– ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน ช่วยเหลือการขับขี่ มีอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร
ระบบความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆก็มีมาให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ระบบเบรก
ABS/EBD/BA, ระบบควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง VSA ซึ่งจะรวมถึง
ระบบป้องกันการลื่นไถล TRC ด้วย, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA,
กล้องมองภาพขณะถอยจอด และ ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน
(Honda LaneWatch) โดยตัวกล้องจะรวมอยู่ในชุดกระจกมองข้างด้านซ้าย
ทำงานร่วมกับก้านไฟเลี้ยว เมื่อเราเปิดไฟเลี้ยวซ้าย ตัวกล้องจะทำงาน และ
แสดงภาพบนหน้าจอ i-MID ขนาด 7 นิ้ว (จอบน) มีเส้นกะระยะให้ด้วย เพื่อ
ช่วยให้มองเห็นรถที่อยู่ในจุดบอดของกระจกมองข้างด้านซ้ายได้ เมื่อปิด
สัญญาณไฟเลี้ยวก็จะตัดการทำงานอัตโนมัติ แต่ถ้าอยากให้ภาพขึ้นก็สามารถ
กดเปิดกล้องได้โดยการกดปุ่มที่ปลายก้านไฟเลี้ยวครับ
ที่กล่าวมาคือ ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน หรือ Active Safety ที่จะช่วย
ก่อนเกิดเหตุ ส่วนเมื่อเกิดเหตุแล้วก็เป็นหน้าที่ของระบบความปลอดภัยเชิง
ปกป้องหรือ Passive Safety ประกอบไปด้วย ถุงลมนิรภัยรวม 6 ตำแหน่ง มี
คู่หน้า 2 ตำแหน่ง, ด้านข้าง 2 ตำแหน่ง และ ม่านถุงลมนิรภัย 2 ตำแหน่ง
รถระดับนี้จะมีระบบช่วยเหลือการขับขี่ หรือ ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน
Active Safety มาแค่นี้ก็คงจะไม่พอ Honda เลยแนะนำ เทคโนโลยี Honda
Sensing ที่จะทำงานร่วมกับเรดาร์ (อยู่บริเวณช่องดักลมกันชนหน้าด้านขวา)
และ กล้องด้านหน้า (อยู่บริเวณกึ่งกลางกระจกบังลมหน้าส่วนบน) ในการ
ตรวจจับสภาพแวดล้อมบนถนน แล้วแจ้งเตือน รวมถึงช่วยควบคุมรถ มีด้วยกัน
4 ระบบ ไปดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง แล้วมันทำงานอย่างไร
– Adaptive Cruise Control (ACC)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน การทำงานก็เหมือนกับระบบ
Cruise Control ทั่วไป แต่จะเพิ่มความสามารถในการรักษาระห่างจากรถ
คันหน้า ตรวจจับโดยกล้องและเรดาร์ เช่น ที่ความเร็ว 120 km/h เราตั้ง
ความเร็วเอาไว้ หากรถคันข้างหน้าลดความเร็วลง ระบบก็จะลดความเร็ว
ลงตาม ถ้าเป็น Cruise Control เราจะต้องเปลี่ยนเลนเพื่อหลบ หรือ เหยียบ
เบรกเพื่อชะลอความเร็ว แต่ ACC จะช่วยลดความเร็วอัตโนมัติ หากมีรถมา
แทรกกลาง ระบบก็จะค่อยๆชะลอความเร็วลงเช่นกัน แล้ว detect รถคันที่
มาใหม่แทน ตามระยะที่เราตั้งเอาไว้ มี 3 ระยะให้เลือก คือ ใกล้ กลาง ไกล
หากรถคันหน้าเพิ่มความเร็ว ระบบก็จะเพิ่มความเร็วให้กลับไปสู่ความเร็ว
และ ระยะห่างที่เราได้ตั้งเอาไว้แต่แรก
*ACC จะทำงานได้ตั้งแต่ความเร็วที่ 30 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เมื่อระบบชะลอความเร็วลง ไฟเบรกก็จะติดด้วยครับ เพื่อให้รถคันหลังทราบ
– Collision Mitigation Braking System (CMBS)
ระบบเตือนการชนด้านหน้า และ ตรวจจับคนเดินถนน ด้วยกล้อง และ เรดาร์
ทำงานตั้งแต่ความเร็ว 15 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เมื่อมีรถด้านหน้า หรือ
คนเดินถนน ระบบจะตรวจจับเมื่ออยู่ในระยะที่ไม่ปลอดภัย จะมีข้อความขึ้น
เตือนบนหน้าจอ MID ที่ชุดมาตรวัด, มีเสียงเตือน รวมถึงการสั่นเตือนที่
พวงมาลัย ถ้าหากคนขับยังไม่ตอบสนองระบบก็จะช่วยกระตุกเข็มขัดนิรภัย
และ เพิ่มแรงเบรกให้ แต่ถ้ารถติดๆไหลๆในเมืองความเร็วไม่เกิน 15 km/h
แล้วมัวแต่เล่นมือถือ ระบบจะไม่ทำงานนะครับ คนละแบบกับของ Mazda
ที่ช่วยเบรกเฉพาะที่ความเร็วต่ำ
2 ระบบที่ว่ามานี้ คือ ACC และ CMBS มีมาให้ในรุ่นย่อย TECH ตั้งแต่รุ่นก่อนหน้า
ในรุ่น Minorchange นี้ มีการเพิ่มมาให้อีก 2 ระบบใหม่ นั่นก็คือ
– Lane Keeping Assist System (LKAS)
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ ตรวจจับเส้นแบ่งเลน (ที่เป็นเส้นประ)
โดยใช้กล้องด้านหน้า เริ่มทำงานที่ความเร็ว 72 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะช่วย
เตือนด้วยสัญลักษณ์สีส้มบนหน้าจอ MID บนมาตรวัด รวมถึงหากตรวจจับว่า
กำลังจะออกนอกเลน พวงมาลัยจะมีการหน่วงช่วยดึงรถให้อยู่ในช่องจราจร
สามารถตรวจจับเส้นแบ่งเลนได้ทั้งทางตรง และ ทางโค้ง จับองศาโค้งได้ถึง
230 องศา หากมีการปล่อยมือจากพวงมาลัยระบบก็จะเตือนเช่นกัน
– Road Departure Mitigation with Lane Departure Warning (RDM with LDW)
ระบบแจ้งเตือน และ ช่วยเหลือเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ ใช้กล้องด้านหน้า
ตรวจจับเส้นแบ่งเลน (เส้นทึบ ขอบถนน) พูดง่ายๆก็คือระบบจะช่วยตรวจจับ
ไม่ให้รถตกถนนนั่นเอง มีการช่วยหน่วงพวงมาลัยให้กลับเข้าสู่ช่องจราจร หาก
กรณีที่เบี่ยงออกนอกทางมากขึ้น ก็จะมีการช่วยเบรกชะลอความเร็วด้วย และ
มีการแจ้งเตือนผ่านทางสัญลักษณ์สีส้มบนหน้าจอ MID และ เสียงเตือน รวมถึง
การสั่นเตือนที่พวงมาลัย
2 ระบบหลังที่ว่ามานี้ หากเส้นถนนจางมากจนไม่สามารถตรวจจับได้ หรือ ไม่มี
เส้นแบ่งช่องจราจรบนถนน ระบบก็จะไม่ทำงานครับ
– การรับประกันตัวรถ โปรแกรมค่าบำรุงรักษา/เช็คระยะฟรี !
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าค่อนข้างเป็นห่วง และกังวลกันพอสมควร สำหรับ
ภาพรวมของ รถยนต์ Hybrid ไม่ว่าจะรุ่นไหนค่ายไหนก็ตาม ตรงจุดนี้
Honda มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ผมขอแบ่งตรงนี้ออกเป็น
3 ส่วนให้เข้าใจกันง่ายๆครับ (รวมทั้งหมดนี้ Honda เรียกว่า Privillege
Package สำหรับลูกค้า Accord Hybrid)
1. การรับประกันอายุการใช้งานแบตเตอรี่ 10 ปี / ระบบ Hybrid ทั้งระบบ 5 ปี
ไม่จำกัดระยะทาง ครอบคลุมการรับประกันในส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้า,
อุปกรณ์ควบคุม แบตเตอรี่ไฮบริด และ ระบบสายไฟไฮบริดต่างๆ
2. การรับประกันตัวรถส่วนอื่นๆ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ในรุ่น Hybrid
จะมีการเพิ่ม Ultimate Care ให้อีก 2 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร
รวมเป็นรับประกัน Warranty รวมเป็น 5 ปี หรือ 140,000 กิโลเมตร
(*ในส่วนของ Ultimate Care ที่เพิ่มเข้ามาให้อีก 2 ปี / 40,000 km.
จะรับประกันครอบคลุมชิ้นส่วนต่างๆน้อยลงกว่า Warranty 3 ปี
100,000 กิโลเมตร)
สองข้อแรกนี้ นอกเหนือจาก Ultimate Care เป็นสิ่งที่ลูกค้า Accord
Hybrid ได้รับตั้งแต่รุ่นก่อน Minorchange แล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่
ครั้งแรกสำหรับ Accord Hybrid Minorchange และครั้งแรก
ของรถยนต์ Honda นั่นก็คือ
3. โปรแกรมการบำรุงรักษา ของ Honda ผมเรียกมันว่า HSI ก็แล้วกันครับ
ย่อมาจาก Honda Service Inclusive (อันนี้ผมตั้งเอาเองนะ เพื่อให้เข้าใจ
กันง่ายๆ) ล้อไปกับ BSI : BMW Service Inclusive ของ BMW มันคืออะไร?
มันก็คือฟรี ค่าแรง/ค่าอะไหล่/เช็คระยะ เป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร
พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาเอารถเข้าศูนย์บริการเช็คระยะต่างๆ คุณจะไม่เสียค่าใช้จ่าย
ตลอด 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยกเว้น
ยางรถยนต์, ยางปัดน้ำฝน, แบตเตอรี่ปกติ (ที่ไม่ใช่แบตของระบบไฮบริด)
ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ขึ้นมาพอสมควรกับระบบ Hybrid
โดยเฉพาะ HSI หรือ โปรแกรมการบำรุงรักษา ของ Honda ฟรี ค่าแรง/ค่าอะไหล่
/เช็คระยะ เป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ตรงนี้ดีมากๆ รถ Flagship ที่
เป็น Mass Market ของแต่ละค่ายควรดูเป็นตัวอย่างที่สมควรทำตาม ด้วยราคา
ระดับนี้ มันสมควรมีมาให้ได้แล้ว
ที่เหลือคงจะเป็นเรื่องของงานประกอบ อันที่จริง Accord Hybrid ที่ผ่านมา
ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก แต่ช่วงหลังมานี้รถรุ่นอื่นๆ ของ Honda มักมีเสียง
feedback ดังมาจากลูกค้าว่างานประกอบไม่ค่อยเนี๊ยบ มีปัญหาจุกจิกประปราย
มันเลยส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในวงกว้าง ลูกค้าประจำที่เคยซื้อ
หรือ เป็นเจ้าของรถ หลัก 10 ปีที่แล้ว จะรู้สึกได้ว่า แม้ Honda จะไม่ได้แน่นเป็น
ตู้เซฟแบบรถยุโรป แต่มันเป็นรถที่สตาร์ท แล้วขับ แล้วก็เช็คตามระยะ ใช้ทนมือ
ทนเท้า เข้าใจง่าย ถ้ารถรุ่นใหม่มันดีขึ้นทุกอย่าง แต่ข้อดีเดิมๆที่มีมันหายไป
ลูกค้าเก่าก็อาจเสียความเชื่อถือไป กลับมาใส่ใจงานประกอบให้มากขึ้นกว่าที่
เป็นอยู่ตอนนี้ รักษาความดีนั้นไว้เถอะครับ ระยะยาวมันมีผลต่อการตัดสินใจแน่นอน
ปล.แถมท้ายให้อีกนิดนึง ใครที่รอว่า Accord Hybrid จะมีรุ่น Plug-in เร็วๆนี้
ก็ขอให้พักความคิดนี้ไว้ได้เลย เพราะ Honda บอกเองว่าจะยังไม่มีการทำตลาด
ในไทยสำหรับ Plug-in Hybrid ใน Generation นี้ เพราะที่อเมริกาเอง Gen 9
ก็เคยมี แต่ด้วยต้นทุน และ ราคาจำหน่ายทำให้ราคาเข้าไปใกล้กับกลุ่ม Premium
Compact อย่าง 3-Series / C-Class รุ่นเริ่มต้นมากเกินไป ทำให้ไม่เป็นที่นิยม
และ สุดท้ายก็ยุติการผลิต เลิกทำตลาดไป เช่นเดียวกับที่ไทย คิดดูว่าตอนนี้
ราคาตัวท๊อปของรุ่น Hybrid TECH ก็ปาเข้าไป 1,849,000 บาทแล้ว ถ้ามีรุ่น
Plug-in คงไปแตะ ราวๆ 2 ล้านบาท คงโดนลูกค้าด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง
*****สรุปเบื้องต้น*****
แม้จะเป็นรุ่น Minorchange แต่หลายอย่างเปลี่ยนไป มากกว่าที่เห็น
Accord Hybrid Minorchange ไม่ได้ปรับเพียงแค่หน้าตาอย่างเดียวเท่านั้น
งานวิศวกรรมต่างๆก็ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในหลายๆส่วน ทั้งที่อยู่บนกระดาษ
สเป็ค และ อื่นๆที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง พวงมาลัย การเก็บเสียง
Option เพิ่มขึ้น ราคาลดลง (ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยครั้งนัก สำหรับการเปิดตัว
รถยนต์รุ่นใหม่ๆ) อัตราเร่งที่ยังเป็นจุดเด่นของรุ่นนี้ มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดิม
เล็กน้อย ความประหยัดระดับหัวแถวของกลุ่ม แต่มีข้อดีก็ต้องมีข้อด้อย ไม่มี
รถคันไหนที่จะเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง เช่น ช่วงล่างที่เด้ง และ โยนไป
ในช่วงความเร็วสูงเมื่อถนนไม่เรียบ ขรุขระ หรือเป็นลอน น้ำหนักพวงมาลัย
ที่ต้องการเพิ่มขึ้นอีกนิด ผ้าเบรกที่อาจจะต้องเปลี่ยนถ้าใครใช้ความเร็วสูงบ่อยๆ
ข้อดีต่างๆ รวมถึง ข้อด้อยที่มี สุดท้ายก็อยากฝากให้ใครที่สนใจไปทดลองขับ
กันครับ ฟังเค้าเล่า อ่านที่ผมเขียน บางทีอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายทุกอย่าง
อยู่ที่ความชอบของแต่ละคนอยู่ดี
ที่เหลือก็คงจะเป็นเรื่องของ การทดสอบตัวเลขต่างๆ อย่างเป็นทางการ
กันอีกครั้ง ทั้งอัตราเร่ง และ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง รวมถึง รายละเอียด
ความเปลี่ยนแปลง ต่างๆที่เกิดขึ้นแบบเจาะลึกลงรายละเอียดกันให้ชัดอีกที
สำหรับ Accord Hybrid Minorchange จะมีให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่นย่อย
คือตัวเริ่มต้น Hybrid 1,659,000 บาท ราคาเท่าเดิม และตัวท๊อป Hybrid
TECH 1,849,000 บาท ถูกลงกว่าเดิม 50,000 จากรุ่นก่อน ความแตกต่าง
อุปกรณ์ Option ต่างๆ สามารถเข้าไปชม >> ได้ที่นี่ << ต่างกันอยู่ 190,000
บาท หลักๆก็คือ ระบบ Honda Sensing ที่เพิ่มเข้ามา, Sunroof, DVD-Navi
สเกิร์ต-สปอยเลอร์หลัง และ ล้อ 18 นิ้ว จริงๆถ้าเห็นว่าส่วนที่เพิ่มมานี้ ไม่ได้
จำเป็นสำหรับคุณเท่าไหร่ รุ่นเริ่มต้น 1.659 ล้าน ผมว่าก็เหลือเฟือแล้วล่ะ !
น่าเสียดายที่พี่สาวผมชอบ Accord แต่รีบใช้รถเลยออก 2.4 EL มาก่อนหน้านี้
จากภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่เริ่มใช้เมื่อมกราคม 59 ส่งผลให้ราคารุ่น 2.4 EL
กับ 2.0 Hybrid ตัวเริ่มห่างกันแค่เพียง 24,000 บาทเท่านั้น ! (2.4 EL –
1,635,000 บาท / 2.0 Hybrid 1,659,000 บาท) เพิ่มมานิดเดียว ได้ความแรง
ที่มากกว่า ประหยัดกว่า อุปกรณ์พอๆกัน แถมยังมีส่วน Privillege Package
ฟรีค่าบำรุงรักษามาให้อีก แต่ก็คงต้องทำใจยอมรับกับราคาขายต่อที่น่าจะ
หล่นวูบเอาเรื่อง กับความไม่มั่นใจในรถ Hybrid ของกลุ่มตลาดรถมือสอง
ใครที่สนใจรถในกลุ่ม D-Segment ที่เป็น Hybrid อยู่คู่แข่งตรงตัวก็เห็นจะ
มีเพียงอีก 1 ตัวเลือก คือ Camry Hybrid ที่พึ่งปรับอุปกรณ์มาสู้ พร้อมตั้ง
ราคามาเท่ากันกับ Accord Hybrid เป๊ะๆ ทั้ง 2 รุ่นย่อย ดูรายละเอียด ได้ที่นี่
ไว้หลังจากนี้ผมจะทำบทความเปรียบเทียบสเป็คของมวยคู่นี้แบบละเอียด
ให้ชมกันอีกที
ทั้งหมดรอติดตามกันได้ในอีกไม่นานนัก หลังจากนี้
ขอขอบคุณ / Special Thanks
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดสอบในครั้งนี้
Teerapat Archawametheekul
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของ
ผู้เขียน และ ช่างภาพจาก Honda Automobile (Thailand)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
20 กันยายน 2016
Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 20th,2016
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!