เมื่ออายุของเรามากขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง เวลาจะผ่านไปเร็ว ในวัยเด็ก การจะรอให้เดือนหนึ่งผ่านไปนั้นมันช่างนานเสียเหลือเกิน แต่เมื่อคุณโตพอจะทำงาน สร้างหนี้ และใช้หนี้ เวลาในวัฏจักรชีวิตจะติดเทอร์โบ ช่วงเวลาที่เดินเร็วมากคือเมื่อคุณยังหาเงินมาเติมได้ไม่ครบในขณะเวลาวันครบกำหนดชำระใกล้มาถึง ณ จุดหนึ่ง คุณคือมดงานผู้แข็งแกร่ง หนักเอา เบาสู้ เอาผ้าญี่ปุ่นคาดหัวทำงานจนเสร็จและภูมิใจกับการได้โยนงานที่เสร็จแล้วลงโต๊ะดังตูมแล้วชูมืออย่างผู้ชนะ
ตัดภาพมาปัจจุบัน คุณ.. ไม่ตื่นเต้นอะไรอีกแล้วกับการได้งาน หรือการทำงานเสร็จ เพราะคุณรู้ว่ามันไม่ใช่การเอาชนะเกมทีละสเตจ แต่เป็นธารน้ำที่คุณต้องว่ายสวนไปจนกว่าคุณจะว่ายไม่ไหว แล้วยังมักถูกเพื่อนทักบ่อยๆ ว่าอ้วนขึ้นนะ ผมหงอกแล้วนะ หน้าเหี่ยวนะ ดูแลตัวเองบ้างนะ …หรือไม่ก็เป็นถ้อยคำอื่นๆที่ดูเหมือนจะห่วงใยแต่แท้จริงแล้ว อันตรายต่อสุขภาพเหงือกและฟันของเพื่อนคนที่พูด ซึ่งอาจจะหมดไปจากปากภายใน 1 วินาทีถ้ายังไม่หยุด ฟลูโอไรด์ที่อาจารย์ให้อมเพื่อฟันแข็งแรงตั้งแต่สมัยประถมจะรู้สึกเสียใจเป็นอันมาก
แต่ในขณะเดียวกัน แม้ทุกวินาทีที่นาฬิกาติ๊กต็อก (หรือแต๊กๆๆๆๆ ในกรณีที่เป็นนาฬิกา Mechanical/Automatic) ก็ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของสรรพสิ่งรอบตัว อย่างเช่นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา เมื่อทาง Suzuki เผยโฉม Ciaz ไมเนอร์เชนจ์…ซึ่งเป็นการอัปเดตจริงจังครั้งแรกหลังจากขายในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2015 สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกดีก็คือ การได้เห็นคุณเบลล่า ราณี รับเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับรถรุ่นนี้ ซึ่งหากเป็นผม ผมก็เลือกเธอ มีสตรีจำนวนไม่มากนักที่มีเอกลักษณ์ที่สอดคล้องกันกับผลิตภัณฑ์ในหมวดรถยนต์ สง่างาม มีเสน่ห์ แต่ยังคงดูมีพลัง พร้อมลุย พร้อมคุย พร้อมซน พร้อมชน
หลายท่านจะจำคุณเบลล่าในฐานะนักแสดงสาวเสน่ห์แรง ในละครหลายเรื่อง วิมานเมขลา หรือโด่งดังสุดขีดกับบทการะเกดในบุพเพสันนิวาส ส่วนผมเหรอครับ? ผมจำเธอในภาพเด็กหญิงตัวเล็กๆ วัย 6-7 ขวบที่วิ่งไปวิ่งมาอยู่ในบ้านของเธอ..แต่ไม่ต้องคิดลึกว่าทำไมผมถึงไปอยู่ในบ้านเธอได้นะครับ สมัยก่อน คุณพ่อของคุณเบลล่า เป็นชาวอังกฤษที่สอนพิเศษ ผมกับท่านรองผู้กำกับการ กก.2 บก.จร.บช.น. (วิภาวดีรังสิต/ทางพิเศษ) หรือเรียกสั้นๆว่า รองฯกุ๊ก ไปเรียนเสริมอาวุธทางภาษากันที่นั่น ท่านรองฯกุ๊ก เป็นคนไปค้นพบ และชักชวนผมไปเรียน คุณพ่อของเบลล่าสอนแบบใจเย็น นโยบายการสอน ไม่ได้ยึดการแข่งว่าใครเก่งกว่าคนนั้นชนะ แต่ทั้งคลาสที่มี 4-5 คนนั้นจะก้าวไปด้วยกัน และช่วยคนที่มีอุปสรรคให้เก่งกาจขึ้นเท่ากันทุกคน แล้วค่อยก้าวสู่บทเรียนเล่มต่อไป
เพราะอาจารย์ชาวอังกฤษคนนี้ ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าภาษาอังกฤษไม่ได้น่ากลัว และทำให้ไม่เคยประหม่าเลยเวลาเจอชาวต่างชาติ ส่วนเบลล่า ก็วิ่งเล่นในบ้าน นั่งกินขนม ตะโกนหยอกล้อขนาดตัวผมบ้างในบางทีเพราะผมมันอ้วนตั้งแต่เด็ก หรือบางทีในขณะที่คุณพ่อสอน เบลล่าจะแง้มประตูโผล่หน้ามาทำหน้าทะเล้นๆ ยิ้มแก้มยู่ สายตาอยากรู้อยากเห็นสอดส่องเป็นเรดาร์ แบบที่คุณเห็นในละครทุกวันนี้เป๊ะ แล้วคุณพ่อก็จะบอกว่า “จะเข้ามาเรียนด้วยมั้ย” บางทีเบลล่าก็เข้ามานั่งเรียนไปกับพวกเด็ก ม.ต้นอย่างเราด้วยจริงๆ ซึ่งแน่นอนว่าทักษะภาษาของเราห่างชั้นกับเธอมาก
จากวันนั้น ผ่านไปกว่า 20 ปี เบลล่าโตขึ้นมา ก็ “Evolve” จากเด็กแก่น เป็นสาวสวยมากด้วยความสามารถชนิดที่ผมเองก็ไม่คิด ว่าเธอจะมาได้ถึงระดับนี้ ท่านรองฯกุ๊ก เคยเป็นเด็กเตะบอลสนาม เกเร ไม่เรียน อารมณ์รุนแรง ก็กลายเป็นนายตำรวจที่สง่าผ่าเผย พูดจริงทำจริง มีบุคลิกน่าเคารพนับถือ นี่คือความงดงามที่เวลามันนำพามาให้ผมเห็นความก้าวหน้าของบุคคลสองท่านนี้ ส่วนผมเหรอครับ? ก็เปลี่ยนจากเด็กอ้วนหน้าหื่นที่ยื่นขอโบรชัวร์ตามบูทในงานรถแล้วเซลส์หัวเราะใส่แล้วไล่ไปหาพ่อ.ง กลายเป็นชายวัยกลางคนพุงหนักหัวหงอกหน้าหื่นกว่าเดิม โสดกว่าเดิม เครียดไมเกรนกินกว่าเดิม มีแต่ภาระกับภารกิจไม่เคยมีโชคลาภ..แต่อย่างน้อยทุกวันนี้โบรชัวร์ถูกส่งถึงมือผมแล้วโดยไม่ต้องขอ นี่คือพยายามมองชีวิตในแง่ดีที่สุดแล้วนะ
อย่างไรก็ตาม การ “Evolve” ของ Suzuki Ciaz ไมเนอร์เชนจ์ ไม่ได้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขนาดชีวิตของบุคคลทั้งสอง มันคือความแตกต่างระหว่างเด็กปี 2 กับเด็กปี 4 เตรียมจบการศึกษา ไม่ใช่ความต่างระหว่างวัยเรียนกับวัยทำงาน คุณสามารถเลือกมองได้สองมุมระหว่าง “แทบไม่มีอะไรเปลี่ยน” กับ “ไม่มีอะไรที่แย่ลง” เพราะมันก็จริงทั้งคู่ แม้แต่ราคาก็ยังตรึงเอาไว้คงเดิม โดยตัดรุ่นย่อยล่างสุดอย่าง GA ออกไป
- รุ่น GL เกียร์ธรรมดา ราคา 523,000 บาท
- รุ่น GL เกียร์ CVT ราคา 559,000 บาท
- รุ่น GLX เกียร์ CVT ราคา 625,000 บาท
- รุ่น RS เกียร์ CVT ราคา 675,000 บาท
เนื่องจากสถานการณ์ไข้โคหวิด-19 (จริงๆอยากเรียกว่าโรคควายหวิดเพราะเกลียดมันเป็นบ้า) ทำให้ Suzuki เลือกที่จะไม่จัดงานเปิดตัวเอิกเกริก แต่ส่งข้อมูลรถมาให้สายข่าว และจัดงานทดลองขับทันทีเพียง 24 ชั่วโมงหลังแถลงข่าวเปิดตัวรถ ผลที่ตามมาก็คือ พวกเรายังไม่ได้มีโอกาสเห็นหน้าตารุ่นย่อยอย่าง GL กับ GLX ว่าจะแตกต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับรุ่น RS ซึ่งเป็นรถทดสอบสำหรับเราในทริปงานทดลองขับที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ ผมสามารถสรุปให้ได้สั้นๆ
- กระจังหน้าใหม่
- กันชนหน้า ออกแบบใหม่
- ไฟหน้า เปลี่ยนเป็นไฟ Projector หลอด LED พร้อมระบบปรับองศาสูงต่ำการฉายแสงไฟจากสวิตช์ในรถ
- กันชนหลัง เพิ่มคิ้วโครเมียมที่ส่วนล่างกันชน
- เพิ่มคิ้วโครเมียมเหนือช่องติดตั้งป้ายทะเบียน
- ล้ออัลลอย โทนสี Hyper Chrome
- เพิ่มเซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง 4 จุด
- ระบบ Suzuki SmartConnect/Apple CarPlay
- เพิ่มกล้องมองหลัง
- ภายในเพิ่มแค่สวิตช์ Parking sensor และสวิตช์ปรับองศาการฉายไฟหน้า
สำหรับท่านที่คาดหวังขุมพลังใหม่ หรืออุปกรณ์อย่างระบบควบคุมการทรงตัว ขอแสดงความเสียใจด้วยนะครับ เพราะยังไม่มีมาให้
บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่ทำสองสิ่งนี้ให้มันดีขึ้น เหตุผลนี้ คนของ Suzuki เองก็คงพูดตรงๆไม่ได้ แต่ในความคิดผม น่าจะมีเหตุผลตามนี้ครับ
- Ciaz ในไทย ไม่ใช่รถที่ขายเยอะกำไรแยะมากจนสามารถสร้างอำนาจต่อรองขอนู่นขอนี่กับบริษัทแม่ได้ตามใจชอบ อย่างในปี 2020 กับสภาพเศรษฐกิจโคหวิดขวิดชิบหายนี้ พวกเขาตั้งเป้าในไทยว่า ภายในสิ้นปีนี้ รุ่นไมเนอร์เชนจ์ขายได้ 6,200 คันก็พอแล้ว
- ในตลาดโลก นอกจากเครื่อง 1.2 ลิตรของเวอร์ชั่นไทยแล้ว Ciaz ไม่มีเครื่องยนต์เบนซินที่สามารถเข้าข่ายอีโคคาร์ได้อีก ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล 1.5 ลิตรในตลาดอินเดียที่พัฒนาโดย Maruti-Suzuki ก็มีพละกำลัง 95 แรงม้า และมีเฉพาะเกียร์ธรรมดา เท่ากับว่าถ้าอยากได้เบนซินเทอร์โบดีๆ Suzuki จะต้องลงทุนก้อนโตเพื่อเอาเครื่องใหม่มาใส่
- เช่นเดียวกับเรื่องระบบการทรงตัวต่างๆ Suzuki Ciaz ในตลาดโลกก็ไม่มีเช่นกัน เพราะประเทศอื่นที่ Ciaz ขายไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าไทย รวมถึงแนวโน้มความสนใจด้านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศเหล่านั้นก็ไม่เหมือนไทย
ดังนั้น การลงทุนเฟ้นหาเครื่องยนต์และระบบควบคุมการทรงมาแล้ววิจัยใส่ในรถเพื่อตลาดไทยที่ขายรถได้จำนวนไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถที่ทำตลาดมาจนเกินครึ่งอายุเจนเนอเรชั่น สู้เอาเงินไปลงทุนทำรถเจนเนอเรชั่นใหม่ทีเดียวจบดีกว่า
เริ่มกันด้วยขนาดมิติตัวถัง Suzuki Ciaz ไมเนอร์เชนจ์ มีความยาว 4,495 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร ความกว้างระยะฐานล้อคู่หน้าและหลังอยู่ที่ 1,495 และ 1,505 มิลลิเมตรตามลำดับ ความสูงจากใต้ท้องรถถึงพื้น 145 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวถัง รุ่นย่อยอุปกรณ์น้อยสุดอย่าง GL เกียร์ธรรมดา อยู่ที่ 965 กิโลกรัม รุ่น GL CVT อยู่ที่ 990 กิโลกรัม และรุ่น RS CVT อยู่ที่ 1,015 กิโลกรัม ขนาดถังน้ำมันคือ 42 ลิตร
ขอหมายเหตุไว้หน่อยว่า รุ่น RS นั้น การที่มันได้กันชนไม่เหมือนรุ่นย่อยอื่น ทำให้ตัวถังยาวกว่ากันอยู่ 5 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตาม มิติตัวถังโดยรวมสั้นลง 10-15 มิลลิเมตรเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์
เมื่อเทียบกับรถพิกัดเดียวกัน มีข้อมูลดังนี้
- Nissan Almera ยาว x กว้าง x สูง : 4,495 x 1,740 x 1,460 มิลลิเมตร
- Honda City ยาว x กว้าง x สูง : 4,553 x 1,748 x 1,467 มิลลิเมตร
- Mazda 2 Sedan ยาว x กว้าง x สูง : 4,340 x 1,695 x 1,470 มิลลิเมตร
- Toyota Yaris ATIV ยาว x กว้าง x สูง : 4,425 x 1,730 x 1,475 มิลลิเมตร
จะเห็นได้ว่า Suzuki Ciaz ที่เคยมีขนาดตัวใหญ่เป็นจุดเด่น ปัจจุบันนี้ Nissan Almera ก็มีขนาดตัวใกล้เคียงกันมาก ส่วนรถที่เคยเป็นอดีต B-segment 1.5 ลิตรซึ่งเพิ่งมาร่วมวงอีโคคาร์อย่าง City นั้นมีขนาดโดยรวมโตกว่า Suzuki Ciaz เสียอีก เมื่อคุณจอด Ciaz ข้างรถที่เล็กที่สุดในคลาสอย่าง Mazda 2 จะได้รับความรู้สึกเหมือนพ่อกับลูกเดินข้างกัน ซึ่งเป็นไปตามความคิดของแต่ละบริษัทในการเลือกว่าผู้บริโภคของพวกเขา อยากได้รถแบบไหน
รูปทรงภายนอก คือจุดเด่นอย่างหนึ่งของ Suzuki Ciaz แม้ว่ามันจะอยู่มานานหลายปี แต่ผมรู้สึกลังเลถ้าจะบอกว่ามันดูโบราณ มีแต่ไฟท้ายเท่านั้นที่เมื่อมองรายละเอียดไฟจะสัมผัสได้ถึงความเป็นรถยุค 2014-2015 แต่การเก็บรายละเอียดดีไซน์ ส่วนเว้าส่วนโค้ง การบาลานซ์ความยาวระหว่างหน้า/กลาง/ท้ายที่ให้ความรู้สึกกระเดียดไปทางรถขับหลังมากที่สุดในกลุ่มอีโคคาร์ซีดาน เมื่อจอดข้างๆ Honda City จะไม่รู้สึกเลยว่ามันคือรถที่อายุดีไซน์ต่างกัน 6 ปี แต่ทั้งหมดนี้อาจจะขึ้นอยู่กับวิธีมองของแต่ละคนด้วย ถ้าไม่นับส่วนท้ายของรถ ผมว่าส่วนที่เหลือ สวยไม่แพ้ใคร และเป็นลักษณะของรถที่สะท้อนความต้องการของลูกค้าทั่วไปได้ตรงจุดที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญกับรสนิยมลูกค้าไทย
เพียงแต่ว่าด้วยความที่อยู่มานาน ถ้านับเป็นเด็กมหาลัยก็คือปี 4 ปี 5 พอเด็กเฟรชชี่อย่าง City กับ Almera มา ผู้คนก็ดูจะกรี๊ดกร๊าดน้องใหม่กันมากกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ผิด ผมเองก็กรี๊ดเด็กปีหนึ่งเหมือนกันนั่นล่ะครับ
รุ่น RS ได้โคมไฟ Projector ที่สวยงาม แต่ไม่มี Daytime Running Light ถ้าสามารถปรับแถบไฟหรี่ด้านล่างให้ทำงานเป็น DRL ได้ด้วยจะถูกใจวัยรุ่นกว่านี้อีกเยอะ แต่ในความคิดผม Suzuki ดูจะไม่ได้ต้องการโฟกัสตลาดวัยรุ่นมากขนาดนั้น เพราะสำหรับลูกค้าวัยเด็ก พวกเขาก็มี Swift อยู่แล้ว ส่วนล้ออัลลอยแม้จะเป็นลายเดิม แต่ทำสีออกเทาไฮเปอร์ ขนาด 16 นิ้ว จับคู่กับยาง 195/55 ซึ่งเมื่อบวกกับซุ้มล้อขนาดไม่โต ทำให้ดูเต็มกำลังดี การตัดเส้นแก้มหน้าที่ดูเตี้ย ทำให้ตัวรถไม่ดูหน้าหนาโย่งแบบ Honda City แต่ถ้าเป็นท้ายรถ ผมว่าเด็กปีหนึ่งของสองค่ายข้างต้นนั้นทำมาได้เซ็กซี่กว่า
ขอให้ข้อมูลเสริมสักนิด สำหรับคนที่ไม่ต้องการรุ่นท้อป ในรุ่นรองอย่าง GLX นั้น คุณยังได้ล้ออัลลอยขอบ 16 นิ้วลายเดียวกับ RS นะครับ และในรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้ ยังเอาสีแดงมุก Ablaze Pearl มาเพิ่มให้ในรุ่น GLX ด้วย
กุญแจของรุ่น GLX และ RS จะเป็นสมาร์ทคีย์ ทรงไข่เหมือนเดิม เวลาจะขึ้นรถ เอากุญแจไว้ในกระเป๋าได้ แต่ต้องกดปุ่มสีดำที่มือจับเปิดประตูเพื่อปลดล็อคก่อน กด 1 ครั้งปลดเฉพาะบานคนขับ กด 2 ครั้งติดกัน ปลดล็อคประตูทุกบาน ซึ่งปลอดภัยสำหรับลูกค้าผู้หญิงออฟฟิศทำงานดึกจอดรถในที่เปลี่ยวๆ กันไม่ให้โจรผู้ร้ายฉวยโอกาสเปิดประตูอีกข้างมาจี้ (แต่ถ้ามันจี้ตั้งแต่นอกรถก็รวมสติแล้วเตะผ่าหมากนะลูก)
ซึ่งปุ่มดำๆนี้จะมีทั้งสองด้าน แต่อย่าง Yaris ATIV นั้น จะมีปุ่มดำแค่ด้านคนขับ ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าคุณแค่จะมาเปิดหยิบของจากฝั่งคนนั่ง คุณต้องเอากุญแจออกมาปลดล็อค ไม่ก็เข้าจากทางฝั่งคนขับ ถ้าไม่ต้องการจะเอากุญแจออกจากกระเป๋า ส่วน Honda City มีทั้งสองด้านเหมือน Suzuki และเอามือสอดที่ตรงจับเปิดประตูรถจะปลดล็อคให้เลย
การเข้าออกรถของ Suzuki Ciaz บัดนี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเกือบจะทั้งตลาดเน้นเสาหน้าลาดเอียงกันทั้งนั้น แต่ความสูงของรถและเบาะทำให้คนที่ขาไม่ค่อยแข็งแรงเข้านั่งได้ง่าย ตัวเบาะนั่งหุ้มหนัง ลักษณะเหมือนรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ด้านคนขับปรับสูง/ต่ำได้แบบยกไปทั้งตัว แยกกระดกเทหน้า/หลังไม่ได้ ลักษณะตัวเบาะ มีจุดที่ผมชอบคือพนักพิงหลัง ซึ่งกว้างใหญ่ราวนมแรมโบ้ บวกกับพนักพิงศีรษะ ซึ่งดูจากภายนอกธรรมด๊าธรรมดา แต่พอนั่งขับทางไกลเมื่อยๆแล้วพิงหัวปุ๊บ เออ พอดีเว้ยแก ส่วนเบาะรองนั่งนั้น ผมรู้สึกว่า Honda City นั่งแล้วสบายกว่า รองใต้ขายาวกว่าเมื่อนั่งแบบก้นชิดใน
ถ้าถามความเห็นคนไซส์ 5 XL ว่าตอนนี้เบาะคนขับใครสบายสุด ผมว่า City สบายทวาร ส่วน Ciaz สบายแผ่นหลัง จากนั้นตามมาด้วย Yaris ATIV ส่วน Almera กลายเป็นว่าธรรมดาไปคอนโซลเบียดเข่าโดยไม่จำเป็น ส่วน Mazda ไม่ได้ทำรถมาเอาใจคนอ้วนอยู่แล้วดังนั้นเชิญคนผอมไปตัดสินกันเอาเองได้เลย
อย่างไรก็ตาม พวงมาลัยของ Suzuki Ciaz นั้น ปรับได้แค่ขึ้น/ลง ไม่สามารถปรับเข้า/ออกได้แบบ City รวมถึงการจัดตำแหน่งที่นั่งวางไว้สูงเพื่อเน้นการเข้าออกและทัศนะวิสัยด้านหน้า เมื่อจำเป็นต้องปรับท่านั่งในการขับซัดโค้งเล่นบนภูเขา ซึ่งความสูงและระยะพวงมาลัยต้องพอดีกัน กลายเป็นว่า City กับ Almera จะทำคะแนนได้ดีกว่า ถ้าพวงมาลัยของ Ciaz ปรับเข้าออกได้ ก็น่าจะช่วยให้คะแนนดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กปีหนึ่งเฟรชชี่อย่าง City กับ Almera ไม่มี ก็คือเข็มขัดนิรภัยที่สามารถปรับความสูง/ต่ำเพื่อให้สายเข็มขัดพาดผ่านส่วนรับแรงกระแทกที่ไหล่ได้อย่างพอดี
นี่คือจุดน่ารัก ที่สำคัญต่อความปลอดภัยมากกว่าที่ทุกคนคิด ซึ่ง Ciaz, Yaris และ Mazda มี แต่ City กับ Almera เลือกที่จะไม่ใส่ให้ บางคนก็บอก เอ็งก็ปรับความสูงเบาะเอาสิ เอ้า..ถ้าปรับแล้วยังขับได้ถนัดก็แล้วไปครับ
เบาะหลังของ Ciaz ก็ยังเหมือนเดิมครับ ความยาวของฐานล้อที่มากที่สุดในคลาส ส่งผลให้มีเนื้อที่วางขาเหลือเฟือ ถ้าผมมีพี่ชายฝาแฝดที่ตัวเท่ากัน ผมสามารถให้พี่นั่งขับข้างหน้า แล้วเอาตัวเองไปนั่งข้างหลังพี่ได้ และยังเหลือเนื้อที่ระหว่างหัวเข่ากับเบาะ มากพอให้เอาน้ำอัดลมขวด 1.45 ลิตรสอดได้ แต่เรียนแจ้งตามจริงว่า..ผมก็ทำแบบนี้กับ Honda City ได้เหมือนกันแหละครับทั้งๆที่เจ้านั่นน่ะฐานล้อสั้นกว่ามาก
เรื่องความสบายของตัวเบาะล่ะ? ในฐานะที่เป็นอีโคคาร์ซาลูนที่ฟัดกันเรื่องความใหญ่โตทั้งคู่ ผมพบว่า City มีเบาะรองนั่งที่ติดตั้งไว้ต่ำกว่า แต่ก็ยังสบายอยู่ ในขณะที่ Ciaz จะวางเบาะสูง ขึ้นลงง่ายสบายแรงขา แต่พอเบาะสูงหัวผมก็ไปชนหลังคา ต้องทะแล่ดแต้ดไถก้นไปข้างหน้ามากกว่า City ทำให้รู้สึกว่าเบาะรองนั่งสั้นรองรับขาได้น้อยลง หมอนอิงศีรษะทั้งของ Ciaz และ City เป็นแบบติดตายตัวทั้งคู่ แต่ของ City เวลาหนุนจะสบายหัว ในขณะที่ของ Ciaz จะนูนออกมามากกว่า ส่วนที่ Ciaz จะชนะก็คือพนักพิงหลังซึ่งนุ่ม ดันข้างกำลังดี
ในภาพรวม ถ้าต้องเลือกนั่งเบาะหลังทางไกลๆ ผมจะเลือก City ก่อน ตามด้วย Ciaz จากนั้นค่อยเป็น Yaris หรือ Almera
ด้านหลังของ Ciaz ไม่มีช่องเสียบ USB แต่มี Power Outlet มา ให้คุณไปหา Adapter USB ใส่กันเอาเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเหลือบตาขึ้นมอง โฮะ! มีช่องเป่าลมแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง…ในอโยธยา ไม่มีแม่หญิงใดเขาทำแบบนี้นะแม่การะเกด คือถ้าอยากได้รถอีโคคาร์มีช่องเป่าแบบนี้ ก็มีแต่ Ciaz เท่านั้นแหละที่มีให้ และในขณะที่พนักเท้าแขนเบาะหลังของรถรุ่นอื่นมักจะถูกตัดออก หรืออย่าง City ก็มีให้แค่ในตัวท้อป แต่ Ciaz นั้น มีพนักเท้าแขนเบาะหลังพร้อมช่องวางแก้วมาให้ “ทุกรุ่นย่อย” แถมพอกางลงมา ก็ล็อคตัวในตำแหน่งที่เท้าแขนสบายๆได้ ไม่ใช่ร่วงแป้กไปพาดแหมะกับเบาะราวชายหย่อนสมรรถภาพแบบ City RS
ด้านท้าย ในรุ่นที่มีสมาร์ทคีย์ จะสามารถเปิดได้ด้วยการกดรีโมท ส่วนที่ฝาท้ายรถก็มีปุ่มยางอยู่ แต่ในรถทดสอบผมกดเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเปิด ไม่รู้ไปล็อคอะไรไว้หรือเปล่า พื้นที่ใต้ฝากระโปรงท้ายมีความจุ 565 ลิตร ซึ่งจุมากพอๆกับท้ายรถสเตชั่นแวก้อนอย่าง Volvo V60T8 และโตพอๆกับรถยนต์นั่งระดับผู้บริหารเลยด้วยซ้ำ มีความกว้างมากใส่ถุงกอล์ฟสบาย และยังเหลือที่ใส่กระเป๋าเดินทางใบโตได้ แต่เบาะหลังจะไม่สามารถพับได้ ถ้าเมื่อก่อนคงถือเป็นจุดด้อย แต่สมัยนี้ทั้ง Almera และ City ก็พับไม่ได้เช่นกัน เลยไม่รู้จะด่ายังไง
Ciaz ทุกรุ่น จะไม่มียางอะไหล่ แต่ให้เป็นชุดซ่อมปะยางมาแทน เหตุผลของ Suzuki ก็คือ ลูกค้าจำนวนมากของพวกเขาเป็นผู้หญิง และเมื่อยางแตก การให้ผู้หญิงมายกรถ ถอดยาง ใส่ยาง เป็นภาพที่ดูไม่จืด ผู้หญิงนั้นไม่ใช้ทุกคนที่จะมีแฟนให้โทรเรียกมาช่วยได้ ก็เลยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนโสดกับคนมีหลัวด้วยการ “เอาชุดซ่อมปะยางไปละกันค่ะลูก” ซึ่งการซ่อมยางที่รั่วด้วยตะปูหรือของมีคมเป็นรอยเล็กๆนั้น จะทำได้ง่าย
แต่ถ้าหากว่า ยางมันรั่ว แล้วเราต้องขับบดยางไปเพื่อหาที่จอดที่ปลอดภัย จนแก้มยางฉีกเป็นทางยาว แบบนั้นชุดซ่อมปะยางก็จะช่วยอะไรไม่ได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมสื่อมวลชนทดสอบรถยนต์หลายท่านจะยังชอบให้มียางอะไหล่อยู่ เพราะถึงบดแก้มฉีก เปลี่ยนยางใหม่ เรื่องก็จบ ส่วนตัวผม ผมชอบให้มียางอะไหล่มากกว่า แต่เวลาเอารถให้ผู้หญิงไปยืมใช้ ผมก็โยนชุดปะซ่อมยางใส่ท้ายรถไว้ให้ ซึ่งก็เป็นชุดที่ผมขโมยมาจาก Swift ของพี่สาวผม (รบกวนอย่าบอกมันนะครับ)
ภายในของ Ciaz ในความเห็นผมนั้น ตั้งแต่วันแรกที่มันออกมาก็ดูเป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่นมากอยู่แล้ว ดังนั้นผ่านไป 5 ปีเป็นอย่างไร มันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คุณได้บรรยากาศแบบเข้มๆ เรียบๆ วัสดุตกแต่งเป็นสีเทาเงิน ดูแล้วรู้สึกได้ว่ามันเป็นผลิตผลทางการออกแบบจากหลายปีก่อน เพราะไม่มีการใช้วัสดุสีดำเงาอันเป็นที่นิยมในสมัยนี้ แต่องค์ประกอบที่เป็นพลาสติกดำ หรือสีเงินที่ตกแต่งตามขอบจุดต่างๆนั้น ยังถือว่าดูดี ถ้าคุณไม่ได้รู้อายุจริงของมัน Maza 2 ยังคงเป็นรถที่มีการออกแบบภายในล้ำสมัยที่สุด ตามมาด้วย Nissan Almera ส่วน City นั้น แม้จะเป็นรถใหม่แต่กลับดูล้ำสมัยน้อยกว่ารุ่นเดิมของมันอีกด้วยซ้ำ ส่วน Yaris ATIV ก็ไม่ได้โดดเด่นเท่าไหร่
พวงมาลัยสามก้านทรงเดิมเป๊ะ หุ้มหนังที่อย่างน้อยก็ให้สัมผัสดีกว่าหนังแบบประชดโลกของ Almera ใต้ช่องแอร์ด้านขวา มีสวิตช์เปิด/ปิด Parking sensor และสวิตช์แบบ Roller สำหรับปรับองศาการส่องสูง/ต่ำของไฟหน้า ซึ่งมีประโยชน์ แต่คนมักไม่ค่อยสน เวลาบรรทุกของหนัก หน้าเชิด ไฟจะไปแยงตาชาวบ้าน คุณก็ปรับให้ส่องต่ำลงได้ แต่อย่างที่บอก อะไรที่ดีและเป็นสิ่งพึงกระทำเพื่อส่วนรวม คนบ้านเราไม่ค่อยสนกันหรอกครับ
จอกลาง เป็นแบบทัชสกรีนขนาด 7 นิ้ว ถือว่าไม่ได้โตอะไรแล้วในสมัยนี้ มีระบบ Suzuki Smart Connect สามารถเชื่อมต่อ Apple CarPlay/MirrorLink ได้ และมีระบบนำทางมาให้ด้วย มีช่องต่ออ่านไฟล์จาก USB อยู่ที่คอนโซลกลางตอนล่าง และมี Power Outlet อีกอัน มีฝาปิดเรียบร้อยเวลาที่ไม่ใช้ เครื่องเสียงของ Ciaz RS มี 6 ลำโพง ซึ่งคุณภาพเสียงก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของรถราคาระดับนี้ ไม่มีอะไรให้ชมเป็นพิเศษ ในรถเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์นี้ ยังมีการเพิ่มกล้องมองหลัง และเซนเซอร์ 4 จุดมาให้ แต่เส้นกะระยะบนจอจะไม่ได้บิดไปตามการหมุนพวงมาลัย (ซึ่งก็เหมือน Honda City เพียงแต่ไม่สามารถเลือกปรับมุมมองได้ 3 ระดับแบบ Honda เค้า)
แม้จะเป็นภายในที่ดูธรรมดา แต่ Ciaz RS จะมีความแอบน่ารักในมุมมืดของมัน คนที่มองแค่ดีไซน์จะรู้สึกธรรมดา แต่ยิ่งพยายามทำตัวเป็นนักจับผิด คุณจะพบว่า Suzuki ก็แอบให้อะไรดีๆมา อย่างแผงบังแดดทั้งสองข้าง มีกระจกส่องสิวพร้อมฝาปิด ซึ่งถ้าเป็น Honda City ถ้าไม่ใช่รุ่น RS คุณจะได้กระจกส่องสิวแค่ฝั่งคนขับเท่านั้น หรือจะเป็นเรื่องระบบปรับอากาศ ช่องแอร์บนคอนโซลทุกช่อง แยกเปิดปิดช่องทางลมได้ และนอกจากนี้ Ciaz GLX และ RS นี่จะมีเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ “พร้อม Heater” มาให้
..อันนี้เกือบไม่ได้รู้ เพราะไม่ค่อยมีคนพูดถึง ด้วยความซน ผมลองบิดแอร์ไปทางร้อนสุดเพื่อแกล้งเพื่อนสื่อมวลชนเล่น แต่พบว่ามันพ่นลมร้อนออกมาจริง ร้อนกว่าอากาศข้างนอกอย่างชัดเจน เมื่อสอบถามไปหาผู้จัดการศูนย์ Suzuki ที่ผมเอารถไปเซอร์วิสประจำ ถึงได้รู้ว่า Swift กับ Ciaz ที่เป็นแอร์ออโต้ มี Heater ทั้งนั้น ซึ่ง City, Almera และ Yaris จะไม่มี ส่วน Mazda 2 ผมยังไม่ได้ลองซนเลยครับ
แผงมาตรวัดของ Ciaz ก็ยังเป็นสไตล์จากยุคก่อนวันสิ้นโลกตามปฏิทินเผ่ามายา คุณจะไม่ได้จอสีขนาดโตล้ำยุคแบบ Almera และไม่ได้ระบบฉายความเร็วขึ้นกระจกแบบที่ Mazda มี เรื่องสีสันสดสวยต่างๆ ก็เป็นรองมาตรวัดของ Yaris ATIV ด้วยซ้ำ Ciaz นี่ จะเหมือนกับ City รุ่น SV ตรงที่ใช้จอ MID แบบขาวดำ ดูธรรมดา มาตรวัดพื้นดำ ตัวเลขขาว เข็มขาว ดูธรรรมดา แต่อ่านค่าง่ายเมื่อชำเลืองมองเวลาขับรถ มีก้านกดยื่นเหมือนหอกออกมาจากหน้าปัด กดก้านขวา จะเป็นการสลับโหมดแสดงค่าอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย/Real-time/ระยะทางที่ยังวิ่งได้ด้วยน้ำมันที่เหลือในถัง กดก้านด้านซ้าย จะโชว์ Trip meter วัดระยะทางวิ่ง Trip A/B แทน คุณไม่สามารถดู Trip พร้อมกับข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองได้ ลักษณะการใช้งานและการแสดงผลนี้ ก็ตกทอดมาตั้งแต่หน้าปัดของ Swift ECO 1.2 ตัวแรกนั่นล่ะครับ ซึ่งมันหลุดยุคไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเป็นมนุษย์ประเภทเน้นการใช้งานมากกว่าแสงสี หน้าปัดของ Ciaz ก็ไม่มีอะไรต้องปรับแก้ และยังมีการใส่มาตรวัดอุณหภูมิน้ำระบายความร้อนมาให้ ไม่ได้ตัดออกแบบค่ายอื่นบางค่าย
ภาพรวมของภายใน ถ้าเทียบกับอีโคคาร์เฟรชชี่มีหอยอย่าง City กับ Almera เราจะสังเกตได้ว่า อะไรที่มันทำให้คนว้าวมาก ถ่ายรูปทำโบรชัวร์ออกมาแล้วดูหรูล้ำ ความสำคัญจะถูกประเคนไปให้สิ่งนั้น โดยมีการตัดต้นทุนจากบางจุดไปโปะ ตามแนวทางของรถสมัยนี้ ในขณะที่ Ciaz เหมือนพยายามยึดปรัชญารถจากยุค 90s คือ “กูดูไม่ค่อยมีอะไรอ่ะนะ แต่กูแอบใส่นู่นยัดนี่ไว้ให้นะ มึงจะใช้ก็ใช้ไปละกัน” (ขออภัยที่ไม่สุภาพ แต่มันได้อารมณ์แบบนั้นจริงๆ)
****รายละเอียดทางวิศวกรรม****
ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงในด้านวิศวกรรมสำหรับรถรุ่นไมเนอร์เชนจ์ เครื่องยนต์ที่ใช้ก็ยังเป็นแบบเดิม รหัส K12B 4 สูบ 16 วาล์ว ระบบวาล์วแปรผัน VVT ขนาด 1.25 ลิตร 1,242 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 73.0 x 74.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 พละกำลังสูงสุด 91 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 118 นิวตันเมตร ที่ 4,800 รอบ/นาที ปล่อยค่า CO2 119 กรัมต่อกิโลเมตร ยังคงจัดเป็นรถอีโคคาร์ Phase 1 ได้ภาษีสรรพสามิตอัตรา 14% (พวก Phase 2 อย่าง City, Almera, 2 และ Yaris จะได้อัตรา 12%) รองรับน้ำมันเชื้อเพลิง E20
มันไม่ใช่เครื่องยนต์ Dual Jet ใหม่แบบใน Suzuki Swift รุ่นปัจจุบัน และอันที่จริงพื้นฐานของเครื่องยนต์มันก็คือ K12B แบบเดียวกันกับ Swift ECO ตัวแรกนั่นแหละครับ
ระบบส่งกำลัง ในรุ่น GL ยังมีเกียร์ธรรมดาให้เลือก แต่รุ่น GLX กับ RS จะมีแต่เกียร์ CVT จาก JATCO ลูกเดียวกับที่ใช้ใน Swift ECO ตัวแรก, Nissan March และ Mitsubishi Attrage นั่นเอง แต่ในระหว่างปีที่เริ่มใช้ จนถึงปัจจุบันนั้น มีการเคลมเกียร์เคลมชิ้นส่วนกันจนฝ่ายเคลมแทบปวดหัว จึงต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนชิ้นส่วนกันเรื่อยมา จนในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องเกียร์เบาบางลงไปเยอะ ระบบเกียร์ของ Suzuki เองก็มีกรองเกียร์ แต่เมื่อก่อนเขาจะบอกว่าไม่มีพาร์ทให้สั่งมาเปลี่ยนเอง เพราะใช้ได้ยาวนานตลอดอายุเกียร์ ไม่รู้ว่าปัจจุบันเปลี่ยนนโยบายไปแล้วหรือยัง
อัตราทดของเกียร์ลูกนี้ แปรผันอยู่ระหว่าง 4.006 – 0.550 : 1 เกียร์ถอยหลัง 3.771 : 1 และอัตราทดเฟืองท้ายอยู๋ที่ 3.757 : 1
ไม่มี Paddle shift ให้เล่นแต่ประการใด อย่างไรก็ตาม คุณสามารถกดปุ่ม SPORT ที่หัวเกียร์เพื่อดึงรอบเครื่องเอาไว้ใกล้จุดที่เครื่องยนต์มีกำลังได้ดีขึ้น และยังดีกว่า Honda City ตรงที่มีเกียร์ L เอาไว้ใช้วิ่งขาลงบนภูเขาได้
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) เหมือนเดิม รัศมีวงเลี้ยวตามสเป็คโรงงานเคลมไว้ 5.4 เมตร ส่วนช่วงล่าง ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์เช่นกัน ด้านหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัท ส่วนด้านหลังเป็นทอร์ชั่นบีม ธรรมดาๆ แต่ใครๆก็ใช้กัน
ระบบเบรก เป็นแบบดิสก์เบรกหน้า พร้อมครีบระบายความร้อนขอบจาน ส่วนด้านหลังเป็นดรัมเบรก มีระบบเบรก ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD มาให้ครบทุกรุ่นย่อย
****การทดลองขับ****
เส้นทางการลองขับในครั้งนี้ ทาง WIN WIN WIN ซึ่งเป็น Organizer จัดงาน วางแผนให้ขับจากโรงแรม Parc Borough ใกล้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไปกินข้าวกลางวันกันที่ร้านปูอลาสก้าเชียงดาว แล้วขับกลับ โดยขาไปนั้นผมขอเป็นผู้โดยสารนั่งหลังเพื่อลองรับความรู้สึกของช่วงล่างเป็นระยะทางยาวสักหน่อย จากนั้นขากลับ สื่อมวลชนอีกสองท่านที่มาในรถคันเดียวกัน ยกให้ผมตียาวจากร้านอาหารกลับมาถึงโรงแรมไปเลย หวานล่ะเว้ย
เรื่องของอัตราเร่ง ทางเว็บของเราเคยทำการทดสอบไปแล้วตามมาตรฐานปกติ น้ำหนักบรรทุก 150-170 กิโลกรัม เราได้ตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 14.01 วินาที และ 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกียร์ D 11.09 วินาที แต่ในเกียร์ L ตัวเลขจะลดลงมาเหลือ 9.79 วินาที
อย่างไรก็ตาม ด้วยความอยากรู้ ผมก็เลยลองจัด 0-100 มาหนึ่งดอก โดยบนรถนั้นมีน้ำหนักตัวผม และสื่อมวลชนหญิงสายรถยนต์ร่างเล็กอีก 2 ท่าน น้ำหนักรวม น่าจะประมาณ 230-240 กิโลกรัม และตอนจับเวลาอากาศข้างนอกก็ร้อนจัดระดับ 35 องศา ตามตัวเลขบนหน้าปัด ก็ได้ตัวเลขมา 15.7 วินาที ไม่ใช่ว่ามันอืดลงหรอกครับแต่บนรถมันบรรทุกน้ำหนักเยอะกว่าตอนเราทดสอบครั้งแรกมาก อากาศร้อนกว่ามาก ถึงแม้ตัวจะเบากว่า City และ Almera แต่ด้วยพลังเครื่องที่มีแรงบิดแค่ 118 นิวตันเมตร นี่คือสุดความสามารถของมันแล้วครับ แม้จะแพ้อีโคคาร์เฟรชชี่มีหอยทั้งสองนั่น แต่ถ้าเจอกับ Mazda 2 1.3 ลิตร ก็ถือว่าไม่น้อยหน้า และออกจะเร็วกว่าเสียด้วยซ้ำไป
การขับขี่ในตัวเมือง พลังเครื่องยนต์ K12B นั้นถือว่าเพียงพอสำหรับคนใจเย็น แต่ไม่พอสำหรับคนใจร้อนเท้าหนักอย่างผมเท่าไหร่นัก ช่วงออกตัวแบบรีบ เครื่องยนต์จะมีอาการรอพลังเหมือน Swift ECO โฉมแรก เหมือนจะพุ่งแต่ไม่พุ่ง จนกระทั่งเข็มวัดรอบผ่าน 4 พัน ก็จะมีจังหวะแปลกๆที่เกียร์ทดลงต่ำเรื่อยๆ เข็มวัดรอบไม่กวาด แต่ความเร็วจะเดินดี อาการยึกยักแบบรถเกียร์ CVT น้อยลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการพยายามปรับปรุงเกียร์ทั้งในเรื่องการทำงาน และความทนทาน เสียงหอนขณะรถวิ่ง น้อยลงเมื่อเทียบกับ Swift พี่สาวผม (ซึ่งเคลมเกียร์ล็อตใหม่มาเมื่อปี 2016) แต่นั่นก็ยังเร็วเกินกว่าที่จะคอนเฟิร์มได้ว่ามันจะไม่หอนตลอดไป
สำหรับการขับขี่บนทางโล่ง เครื่องยนต์ K12B ดูจะตอบสนองได้ค่อนข้างดี ถ้าต้องการพลังสูงสุดจริงๆ คุณปิดแอร์แล้วยัดเกียร์ L รอก่อนส่งคันเร่งตาม อัตราเร่งที่ได้จะพอเล่นกับพวกรถ 1.6 ลิตรออโต้จากปี 2002-2003 ได้ (แต่เขาใส่เกียร์ D และเปิดแอร์นะ) ตลอดทางที่ขับ มีจังหวะเร่งแซงต้องเรียกใช้พลังบ่อยครั้ง ผมรู้สึกว่าใส่เกียร์ D ขับเฉยๆ มันจะยังไม่ทันใจนัก ต้องใส่ SPORT Mode โดยการกดปุ่มที่หัวเกียร์ด้วย จึงจะได้ความคล่องตัวแบบที่อยากได้ แน่นอนว่าอีโคคาร์เทอร์โบยุคใหม่ ไม่มีปัญหานี้ กดคันเร่งแค่ครึ่งเดียวก็พุ่งปรู๊ด ไม่ต้องเล่นนู่นเล่นนี่ช่วยแบบ Ciaz
อย่างไรก็ตาม Ciaz ยังมีจุดที่ดีอยู่บ้างในเรื่องความเรียบร้อย ความสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ซึ่งมีบาลานซ์ตามธรรมชาติของมันดีกว่าเครื่อง 3 สูบ ที่รอบเดินเบา ใส่เกียร์ D เหยียบเบรก ความสั่นสะเทือนที่เข้ามานั้นไม่น่าเกลียดแบบ Nissan Almera นี่ถือว่าดีขึ้นกว่าสมัย Swift ECO ล็อตแรกๆปี 2012-2013 ซึ่งตั้งรอบเดินเบาต่ำและสั่นจนใกล้เคียงกับ Almera ถึง Ciaz จะเป็นเครื่องบล็อคเดียวกัน แต่ก็ถูกปรับเซ็ตมาเรื่อยๆจนทำงานได้ลงตัวที่สุดแล้วในปัจจุบัน
สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดใน Ciaz น่าจะเป็นช่วงล่าง ..เปล่านะครับ ไม่ใช่ว่ามันพร้อมซิ่งพร้อมแข่งหรือซัดสนุก แต่ผมมองว่า สำหรับคนที่ซื้ออีโคคาร์ใช้จริงๆ Ciaz มีบาลานซ์ความเกาะ/ความนุ่มดีที่สุดแล้ว ใกล้เคียงกับ Honda City ซึ่งต่างคนต่างมาในแนว พอซัดได้ แต่เน้นเอาใจแม่ยายมากกว่า ทั้งคู่สามารถวิ่ง 120 ได้อย่างสบายอารมณ์ แล้วค่อยเริ่มวูบวาบหลัง 130 กิโลเมตร/ชั่วโมงเป็นต้นไป
ส่วนที่ต่างกันก็คือช่วงล่างของ City จะนุ่มแบบญี่ปุ่น แต่ Ciaz จะเหมือนใส่นิสัยช่วงล่างยุโรปเข้าไป 20% การคุมตัวรถเมื่อวิ่งผ่านถนนที่เป็นบัมพ์ และโดยเฉพาะการเข้าโค้งโดยที่ถนนในโค้งเป็นผิวตะปุ่มตะป่ำ ผมรู้สึกได้ว่าท้ายรถของ City จะยังมีอาการกวัดแกว่งไปมามากไปสักนิด ในขณะที่ Ciaz จะมีความกระชับท้ายมากกว่า และทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้สูญเสียความนุ่มนวลที่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ต้องการ
เมื่อเข้าโค้งแบบแรงๆ Ciaz จะพยายามยึดเกาะได้มากเกือบเท่า Almera (อาจจะเป็นผลจากการใช้ยาง 195 มิลลิเมตรเท่ากัน) แต่พอถนนสภาพเริ่มแย่ Ciaz จะรูดไปแบบสบายพุงในขณะที่ Almera จะสะเทือน ต่อให้ลดลมยางจากสเป็คโรงงานลงมาเหลือ 33-34 ปอนด์ ก็ยังไม่นุ่มเท่า แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นดอกมุดหรือหักโค้งแรงๆ โช้คและสปริงของ Almera จะยันตัวถังไว้ได้ดีกว่า ดังนั้น แม้ว่าในเรื่องการซิ่ง ยังสู้ Mazda 2 และ Nissan Almera ไม่ได้ เพราะไม่คมเท่า แต่เมื่อหารเท่า ทั้งซิ่ง ทั้งขับปกติ Ciaz ดีที่สุดในกลุ่ม ตามมาด้วย City
แต่สิ่งที่ทำลายความสนุกไปเยอะ กลับเป็นพวงมาลัย ซึ่งนิสัยของมันยังเหมือนเดิม 95% กับรถล็อตแรกๆปี 2015 น้ำหนักเบา อัตราทดมาในแนวเฉื่อยๆ ไร้ชีวิตชีวา หมุนไปหมุนมาบ่อยๆรู้สึกเบื่อมากกว่าเอ็นจอย แล้วพอมาวิ่งไฮเวย์ทางตรง มันก็ยังมีอาการต้องคอยคัดซ้ายคัดขวาช่วยเพื่อพยายามประคองให้รถอยู่ในเลน ผมพูดแล้วพูดอีกและจะพูดต่อไปว่าแม้การที่พวงมาลัยทดเฉื่อยๆ จะเป็นที่ถูกใจลุงกับป้า พี่หรืออาที่เป็นคนขับรถอีโคคาร์ขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครหรอกครับที่ชอบพวงมาลัยแบบที่ต้องคัดซ้ายคัดขวาตลอดแบบนี้ พวงมาลัยของ Ertiga รถ MPV ของทางค่ายเองก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ และคนขับ Ertiga ก็ไม่ใช่นักซิ่ง ทำไมไม่ทำให้มันเหมือนกันล่ะ แค่ลดทอนความไวลง แต่ขอความแม่น และแน่นกว่านี้ มันน่าจะตอบโจทย์ทุกคนได้นี่ครับ
นอกจากนี้ ผมยังได้มีโอกาสลองในช่วงขับลงเขา ดึงเกียร์เป็น L เพื่อดูว่าจะได้พลัง Engine Brake ขนาดไหน ก็พบว่ามันมีอาการหน่วงมากกว่าเกียร์ S ของ Honda City SV ตอนลงเนิน แต่ยังไม่หน่วงแบบเอาจริงเอาจังแบบ Almera ส่วนแป้นเบรก ก็มีระยะเหยียบที่ไม่สั้นจนเกินไป ดูเหมือนทำมาให้ผู้ใหญ่ขับแล้วกะแรงเบรกได้ง่าย สั่งเท่าไหร่ได้เท่านั้น แต่ประสิทธิภาพโดยรวมไม่ได้เหมาะสำหรับการซิ่ง ซึ่งอีโคคาร์ส่วนมากก็จะให้เบรกดีมาในระดับใกล้เคียงกัน แต่ Honda จะโดนสื่อมวลชนด่าเรื่องเบรกมาก ไม่ใช่ว่าเบรกมันแย่ แต่มันมีความสามารถในการเร่งสู่ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงในระดับที่อีโคคาร์คันอื่นทำกันไม่ได้ เมื่อบวกเรื่องนี้ กับเบรกที่ไม่ได้ดีกว่า Ciaz มันเลยอันตราย ส่วน Ciaz นั้น ผมว่าเขาเซ็ตเบรกมากลางๆ ให้พอรับพลังได้ ถ้าใครขับลงเขาบ่อย แค่อัปเกรดผ้าเบรกหน้าให้ทนความร้อนสูงขึ้น ก็จะขับได้มั่นใจขึ้นมากแล้ว
การเก็บเสียง เป็นจุดหนึ่งที่เราไม่สามารถอ่านจากโบรชัวร์ได้ มันต้องลองขับ และเมื่อลอง ก็รู้สึกว่ามันเป็นจุดเด่นอีกข้อของ Ciaz ที่ผมว่ามันเก็บกรองเสียงลมได้ดีไม่แพ้รถราคา 900,000-1,000,000 บาท อย่าง Almera นั้นถ้าคุณขับ 90 เสียงลมกรีดตรงหูช้างประตูหน้าจะเริ่มดัง และดังมากขึ้นที่ 130 ส่วน Ciaz นั้น ผมต้องขับไปประมาณ 110-115 จึงจะได้เสียงลมที่ดังเท่ากับ Almera ขับ 90 แต่เสียงลมของ Ciaz จะเป็นเป็นโทนแหวกลมแบบทุ้มๆ ไม่แหลมแบบ Almera
อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทางเว็บเคยทดสอบตามมาตรฐานเอาไว้แล้ว ได้ 17.12 กิโลเมตรต่อลิตร จะให้บอกว่าประหยัด ผมคงยอมเลิกเขียนบทความรถตลอดชีพ เพราะล่าสุดพี่ J!MMY ทดสอบ Almera ก็ได้ 21.99 กิโลเมตรต่อลิตร และ City ได้ 19.66 กิโลเมตรต่อลิตร ไม่ต้องพูดถึง Mazda 2 ซึ่งครองแชมป์รถเบนซินไร้ถ่านประหยัดสุดขั้วระดับ 24 กิโลเมตรต่อลิตรในการทดสอบแบบเดียวกัน ผมว่าก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อเครื่องยนต์เป็นเทคโนโลยีที่เก่าที่สุด แม้จะได้เปรียบเรื่องการบำรุงรักษาที่ง่าย จุดดูแลน้อย ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องบ่อยแบบพวกเครื่องเทอร์โบ แต่พอพูดถึงเรื่องค่าเชื้อเพลิง หากเป็นคนขับเน้นประหยัด คุณจะมีโอกาสเซฟเงินได้มากกว่า ถ้าขับรถของคู่แข่ง
แต่นั่นมันคือการขับโหมดประหยัด บนถนน ในทริปนี้ ผมทำตัวเลขได้ 14.8 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งมีทั้งรถติด เร่งแซง และทำความเร็ว ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ยังพอคุยกันได้ รถเทอร์โบอย่าง City ยิ่งกดหนักมาก ม้าออกมาเพ่นพ่านมาก อัตราสิ้นเปลืองจะดุกว่าตอนขับสันติสุขโหมดชัดเจน นี่ก็เลยต้องอธิบายไว้ เพราะไม่งั้นเดี๋ยวจะนึกว่าขับท่าไหน City ก็ประหยัดกว่า มันจะประหยัดกว่า ก็ตอนคุณขับมันดีๆเท่านั้นแหละครับ
****สรุปการทดลองขับ****
****เปลี่ยนจากเดิมไม่มาก เจ๋งเรื่องสบาย ได้ใจผู้ใหญ่ แต่ไม่ถูกใจวัยรุ่น****
Suzuki Ciaz RS ไมเนอร์เชนจ์ คือรถที่มีบุคลิก หนักแน่น ไปแบบสบายๆ นั่งก็สบาย ไม่น่าแปลกใจที่คนชอบเช่ารถ AVIS จะเลือกขับ Ciaz กันเยอะ อ้าว ทำไมจะไม่เช่าล่ะครับ ค่าเช่าเรตถูกสุด แต่ความสบายเวลาโดยสาร ฟีลที่ได้จากช่วงล่าง มันสู้รถขนาดโตกว่าค่าเช่าแพงกว่าได้สบายเลย ถ้าคุณเป็นคนที่ขับอีโคคาร์แบบที่เจ้าของอีโคคาร์ 80% เขาขับกัน และสามารถมองข้ามเรื่องแบรนด์หลัก แบรนด์รองไปได้ Ciaz คือรถที่มอบความสุขให้อย่างเท่าเทียมทั้งผู้ขับ และผู้โดยสารอย่างแท้จริง
ช่วงล่าง และความสบาย ยังเป็นจุดเด่นของมัน..ตั้งแต่วันนั้น และจนถึงวันนี้ มันบาลานซ์ระหว่างความนุ่มนวล กับความมั่นใจได้อย่างลงตัว ผมนั่งหน้า หรือนั่งหลัง ก็รู้สึกสบายและกระชับพอเหมาะ สำหรับการขับในเมือง ขับบนถนนขรุขระ หรือวิ่งทางไกลในระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เมื่อต้องขับแบบรีบๆ บนถนนในโค้ง ถ้าไม่นับเรื่องพวงมาลัยที่เฉื่อยๆ หุ่นยนต์ๆ แบบเอาใจผู้ใหญ่ 100% ช่วงล่างของ Ciaz ถือว่าอยู่ในอันดับดีระดับต้นของกลุ่ม แค่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเล่นโค้งแบบ Mazda 2 ก็เท่านั้น
สิ่งดีๆที่พบอีกอย่างก็คือ Suzuki ไม่ได้พยายามหั่นต้นทุนอะไรเพิ่มจากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ซ้ำยังให้ของเล่นมามากกว่าเดิม ในราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลง ความใส่ใจในรายละเอียด มีซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆที่คุณอาจต้องใช้เวลาในการค้นพบสักนิด เช่นไฟหน้าปรับองศาการส่องของไฟ ลดการแยงตารถที่สวนมาได้ (ของดีที่คนไทยชอบช่างแม่ง) ระบบเครื่องปรับอากาศที่อุตส่าห์เอา Heater มาติดตั้งไว้ให้ คนเมืองเหนืออุ่นสบายแม้ยามขึ้นดอย และที่สำคัญคือมีช่องแอร์หลังให้ มีพนักเท้าแขนมาให้ทั้งหน้าและหลัง ระบบต่างๆอาจไม่ได้ทันสมัย แต่อย่างน้อยจอกลางของรุ่น RS ก็มีระบบนำทาง เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนได้ และมีกล้องหลังกับเซ็นเซอร์มาให้
ในขณะที่หลายค่าย จะพยายามสร้างความเด่นด้วยเทคโนโลยี แล้วทำให้ผู้คนหลงใหลในเทคโนโลยีนั้น Suzuki Ciaz ดูเหมือนจะเป็นรถที่ถามกลุ่มคนที่ใช้รถแบบนี้จริง ว่าพวกเขารู้/ไม่รู้อะไร อยากได้/ไม่อยากได้อะไร แล้วก็พยายามทำรถให้ตรงต่อความต้องการของคนเหล่านี้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมาตรฐานของอีโคคาร์ เปลี่ยนไปเยอะมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว ผมคงไม่สามารถใช้มาตรฐานของ 2015 ในการรีวิว Ciaz ณ วันนี้ได้ เพราะจะไม่เป็นการยุติธรรม
ดังนั้น สิ่งที่ Ciaz ยังขาดอยู่ ก็คือเทคโนโลยีเครื่องยนต์ พลัง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และอุปกรณ์ความปลอดภัยในเชิง Active/Passive เช่น มีถุงลมนิรภัยแค่ 2 ใบ ไม่มีระบบ Traction Control ไม่มีระบบช่วยเหลือเรื่องการทรงตัว ดังนั้น รายการอุปกรณ์ส่งเสริมความปลอดภัยในลักษณะนี้ จึงด้อยกว่าอีโคคาร์ของค่ายอื่น นอกจากนี้ Suzuki ยังต้องพยายามคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรกับขุมพลังของ Suzuki Ciaz เจนเนอเรชั่นถัดไป อาจจะเป็นเครื่องเดียวกับ Swift เจนเนอเรชั่นปัจจุบัน แล้วพยายามจูนให้ได้อัตราสิ้นเปลืองที่ดีมากๆ เน้นเป็นรถสายประหยัดไปเลยก็ได้ เพราะถ้าเอาเครื่องเทอร์โบมาแข่งกับเขา เห็นทีจะยาก และไม่น่าเกิดได้ภายในเวลา 2-3 ปีนี้ เพราะถ้าได้..แล้ว Swift ล่ะต้องเปลี่ยนตามด้วยมั้ย? งานต่างๆที่ต้องทำเพิ่ม เงินที่ต้องลงทุน จะตามมาอีกเยอะ
จนกว่าจะถึงวันนั้น ผมมองว่าบทบาทของ Ciaz ในตลาดอีโคคาร์ก็จะยังไม่เปลี่ยน ท่ามกลางเด็กปีหนึ่งสดๆ แรงๆ Ciaz จะยังคงเป็นรถที่รักษาแนวทางเอาใจผู้ใหญ่ของมันเอาไว้แบบเดิม มอบสิ่งดีจากวันก่อนๆให้คุณแบบไม่หวงก้าง แม้ว่ามันจะยังขาดเทคโนโลยีใหม่ๆที่เราพบจากรถ New Model Change ของคู่แข่ง เรื่องนี้ ท้ายสุด ผู้ที่ตัดสินใจก็คือผู้บริโภค เพราะผมเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคน ที่หลงใหลในแรงม้า พละกำลังอย่างที่ผมเป็น ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบช่วงล่างคม พวงมาลัยไวแบบผมชอบ บางครั้ง รถที่ดีที่สุดสำหรับคนหนึ่งคน ก็เป็นแค่รถคันหนึ่งที่ให้ความผ่อนคลายในเวลาขับ มีหน้าตาที่ดูแล้วปลื้มขับไปอวดแม่ได้ แอร์เย็น พาพ่อนั่งหลังพ่อไม่ด่า และอยู่ในงบประมาณที่เขาพอจะซื้อได้
มันอาจจะไม่ใช่อีโคคาร์ที่ผมเลือก (ถ้ามีเงินพอ) แต่สำหรับคนที่ต้องการรถในลักษณะดังกล่าว และดู Ciaz มาพักใหญ่ วันนี้ คุณคงตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ส่วนเบลล่านั้น ไม่ต้องห่วง ยังไงผมก็โหวตให้เธอเป็นสาวสามสิบที่ไฉไลที่สุด ..อันนี้แค่จะชมคน ไม่ได้เกี่ยวกับรถแต่อย่างใด ขอตัวไปดูบุพเพสันนิวาสย้อนหลังสักตอนนะครับ
—-////—-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
Suzuki Motor (Thailand) Co.,ltd สำหรับการเชิญทางเราร่วมทดสอบในทริปครั้งนี้
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน / ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของ Suzuki Motor (Thailand) และผู้เขียนห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 12 มีนาคม 2020
Copyright (c) 2020 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com 12 March 2020
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE