(หมายเหตุ : บทความนี้ ถูกแยกออกมาจากบทความ ทดลองขับรถยนต์ Honda เวอร์ชันญี่ปุ่น
เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนา Honda R&D และ สนามทดสอบของฮอนด้า
ในเมือง Utsunomiya จังหวัด Tochigi วันที่ 18 ตุลาคม 2005 ตามคำเชิญ ของ
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ภาพ ประกอบของบทความนี้ เป็นภาพถ่ายโดยช่างภาพชาวญี่ปุ่น จากทางฮอนด้า มอเตอร์
ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในวันเยี่ยมชม เราไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพด้วยตนเอง
และลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Pantip.com ห้องรัชดา เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2005)

สเต็ปแวกอนเป็นรถตู้โดยสารขนาดกลางรุ่นแรกในประวัติ ศาสตร์ของฮอนด้า
ที่เป็นรถตู้แท้ๆ ไม่ใช่มินิแวน แบบ Odyssey เผยโฉมครั้งแรกในงาน
โตเกียวมอเตอร์โชว์ 1995 ก่อนจะเริ่มบุกตลาดจริงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1996
และกลายเป็นรถยนต์อเนกประสงค์อีกรุ่นของฮอนด้าที่ประสบความสำเร็จ
ถึง ขั้นโค่นแชมป์รถตู้ขนาดกลางสำหรับครอบครัวขายดีสุดจากนิสสัน เซเรนาได้สำเร็จ

รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น RF เปิดตัวเมื่อ 6 เมษายน 2001 ยังคงสืบทอดเจตนารมณ์มินิแวนเพื่อ
เอาใจคุณหนูๆอย่างเหนียวแน่น จนขายดิบขายดีกว่าเก่า รุ่นล่าสุด เปิดตัวเมื่อ
26 พฤษภาคม 2002 และกลายเป็นรถขายดีอันดับต้นๆในตารางรถขายดีของญี่ปุ่น

สเต็ป แวกอนใหม่ รหัสรุ่น RG พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด FUN-DERFUL MOVER
สื่อถึงความพยายามของฮอนด้าในการยกระดับมินิแวนที่ตอบสนองอรรถประโยชน์ใช้สอย
ได้มากขึ้นกว่าเดิม ภายใต้ความยาวตัวถังเท่าเดิม 4,630 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร
สูง 1,770-1,785 มิลลิเมตร ไม่ว่าจะเป็นการนำวิธีลดความสูงของพื้นรถและพื้นตัวถังลงมา
พร้อมๆกัน เพื่อให้ความสูงห้องโดยสารวัดจากพื้นมีขนาดคงเดิม ซึ่งเป็นสูตรเดียวกัน
ที่ใช้มาแล้วในโอดิสซีย์ใหม่ เลื่อนตำแหน่งล้อหน้า ให้เข้าใกล้คนขับมากขึ้น พร้อมกับ
เลื่อนตำแหน่งล้อหลังถอยร่นไปให้ใกล้ กับทายรถมากขึ้น ส่งผลให้ระยะฐานล้อยาวขึ้นอีก
50 มิลลิเมตร เป็น 2,855 มิลลิเมตร ลดความสูงระหว่างพื้นถนนกับพื้นห้องโดยสารเหลือ
390 มิลลิเมตร เพื่อให้เข้าออกจากรถได้สะดวกยิ่งขึ้น

รูปลักษณ์ภายนอก ฉีกแนวจากความเรียบง่ายสะอาดตาในรุ่นเดิม สู่ความโฉบเฉี่ยว
ด้วยแนวเส้นคาดข้างตัวถังเป็นแนวเฉียง ต่อเนื่องไปจนถึงชุดไฟท้ายที่ออกแบบ
ให้ดูคล้ายกับไฟท้ายรถเก๋ง ชุดไฟหน้าติดตั้งอยู่ในตำแหน่งสูง กระจังหน้ามีขนาด
ใหญ่โตขึ้น ประตูผู้ โดยสารบานเลื่อนทั้ง 2 ฝั่ง และฝากระโปรงหลัง เปิดปิดได้ด้วย
สวิชต์ไฟฟ้า และรีโมทกุญแจ ไฟหน้าแบบ PROJECTOR DISCHARGE ปรับระดับ
สูงต่ำได้เองเมื่อมีผู้โดยสารตอนหลังเพิ่มขึ้น จนหน้ารถเชิดขึ้น ไฟหน้าจะปรับระดับ
ลดต่ำลง เพื่อลดการรบกวนสายตาผู้ขับขี่สวนไปมา

จุด ขายของสเต็ปแวกอนใหม่ อยู่ที่การออกแบบห้องโดยสาร ให้ยกระดับความสวยงาม
และความสบายไปอีกขั้น พื้นห้องโดยสารปูด้วยไม้ ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านมากขึ้น
ตกแต่งด้วย 4 โทนสี ทั้ง เทา ดำ ไอวอรี และส้ม เพิ่มหลังคากระจกรับแสงได้ในบางรุ่น
แผงหน้าปัดผสานเอาความชื่น ชอบของลูกค้าจากแผงหน้าปัดของรุ่นเดิม ผสานกับ
รูปแบบการจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆในมินิแวนรุ่นยักษ์ ฮอนด้า เอลิซิออง ชุดมาตรวัด
และหน้าจอบอกข้อมูลต่างๆ ย้ายขึ้นไปอยู่ด้านบน คล้ายกับฮอนด้า พรีลูดรุ่นปี 1991
ยกระดับความสูงของชุดมาตรวัดเพื่อช่วย ลดการละสายตาคนขับจากถนน  นอกจากนี้
ยังสั่งติดตั้งชุดเครื่องเสียง พร้อมปุ่มควบคุมบนพวงมาลัย รวมทั้งระบบนำร่องด้วยชุดแผนที่
จากฮาร์ดดิสก์ (HDD) และระบบสื่อสารอัจฉริยะ INTERNAVI พร้อมอุปกรณ์
ความบันเทิงสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ทั้งเครื่องเล่น DVD TV ช่องเสียบหูฟัง ฯลฯ ได้อีกด้วย

เบาะ นั่งแถวกลาง มีให้เลือก 2 แบบ ทั้งแบบ TUMBLE SEAT แบ่งพับในอัตราส่วน 60:40
พับพนักพิงให้แบนราบ และยกชุดเบาะคว่ำไปด้านหน้าได้ เพื่อการเข้าออกที่สะดวกสบาย
หรือแบบ TIP UP & SLIDE SEAT สามารถปรับเอนนอน ยกเบาะรองนั่งขึ้น เลื่อนขึ้นหน้า-
ถอยหลัง หรือปรับหมุน 180 องศาได้ ส่วนเบาะแถว 3 ใช้วิธี พับแล้วยกแขวนไว้กับเพดาน
แบบเดียวกับโตโยต้า ฟอร์จูเนอร์ / อินโนวา บ้านเรานั่นเอง

ขุมพลัง ยังคงเป็นบล็อก K แบบ 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC
เช่นเดิม แต่เชื่อมการทำงานด้วยระบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า DRIVE-BY-WIRE มี 2 ขนาดเช่นเดิม
แต่มีการปรับปรุงสมรรถนะเล็กน้อย ทั้งรหัส K20A 1,998 ซีซี 155 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 19.2 กก.-ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 13.2 กิโลเมตร/ลิตร ตาม
มาตรฐาน 10-15 โหมดของญี่ปุ่น มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ทั้งรุ่นขับล้อหน้าหรือขับสี่ล้อ

และรหัส K24A 2,354 ซีซี 162 แรงม้า (PS) ที่ 5,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.2 กก.-ม.
ที่ 4,000 รอบ/นาที สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 12.2 กิโลเมตร/ลิตร ตามมาตรฐาน 10-15 โหมดของญี่ปุ่น
รุ่นขับล้อหน้า ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT พร้อม ปุ่มกดเพื่อล็อกอัตราทดได้
7 จังหวะ บนพวงมาลัยเหมือนใน แจ้ส/ซิตี ส่วนรุ่นขับสี่ล้อ จะเชื่อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
เพิ่ม แทร็กชันคอนโทรล TCS ระบบควบคุมความเร็วคงที่และเพิ่ม-ลดระยะห่างจากรถคันหน้า
อัตโนมัติ IHCC (INTELLIGENT HIGHWAY CRUISE CONTROL) ในบางรุ่นย่อย

ถึงแม้รายละเอียดในส่วนอื่นๆจะได้รับการปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น แต่ในด้านระบบกันสะเทือน
ถึงแม้ด้านหน้าจะยังคงเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัต แต่ด้านหลังก็ยังชวนให้สงสัย เพราะเปลี่ยน
จากปีกนกคู่ มาใช้คานทอร์ชันบีมแทน เพื่อส่งผลให้การเพิ่มขนาดห้องโดยสารด้านหลังทำ
ได้ง่ายดายขึ้น ส่วนรุ่นขับสี่ล้อ จะเพิ่มระบบกันสะเทือนหลังแบบ เดอดิออง เป็นพิเศษ
พวงมาลัยแรคแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ ปรับระดับสูงต่ำ-ใกล้ไกลได้ รัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร

ด้านความ ปลอดภัย เสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างตัวถังบริเวณคานด้านหน้า เสากรอบ
ประตูหน้า A-PILLAR และเสากลาง B-PILLAR เพื่อรองรับและกระจายแรงปะทะได้ดีขึ้น
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งติดตั้งระบบเตรียมพร้อมก่อนเกิดอุบัติเหตุ CMS (COLLISION –
MITIGATION BRAKE SYSTEM) ยกชุดมาจากฮอนด้า อินสไปร์ ทำงานร่วมกับระบบ
เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับอัตโนมัติและลดแรงปะทะ E-PRETENSIONER และเชื่อมกับ
ระบบควบคุมการทรงตัว VSA (VEHICLE STABILITY ASSIST) หลักการทำงานก็คือ
เรดาห์ที่ติดตั้งด้านหน้ารถยนต์จะส่งคลื่นความถี่รูปตัว V ทำมุม 16 องศาเพื่อตรวจหา
สิ่งกีดขวางและรถยนต์คันข้างหน้า ในระยะ 100 เมตร และรับคลื่นสัญญาณที่สะท้อน
กลับมา เพื่อส่งให้กับกล่องสมองกลของ ระบบ CMS-ECU คำนวนผลร่วมกับข้อมูลจาก
เซ็นเซอร์ตามจุดต่างๆ ทั้งตรวจจับมุมของพวงมาลัย, ความเร็วในการหมุนของล้อ และ
แรงดันเบรก เพื่อประมวลและวิเคราะห์ถึงโอกาสเกิดการชน  ถ้าระบบพบว่าสภาวะ
ขณะนั้นมีโอกาสชน ก็จะส่งแจ้งไปยังดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ พร้อมเอบีเอส ระบบกระจาย
แรงเบรก EBD และระบบเพิ่มแรงเบรกขณะฉุกเฉิน BREAK ASSIST ให้เตรียมทำงาน
และส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่พร้อมกับ เข็มขัดนิรภัย 3 จุดคู่หน้า E-PRETENSIONER
จะปรับความตึงโดยอัตโนมัติทันที และ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย
รวม 6 ใบ จะทำงานตามความเหมาะสม

** ความรู้สึกเมื่อได้ทดลองขับ **

ถ้าคิดว่าสเต็ปแวกอน คือเวอร์ชันจูเนียร์ ของเอลิซิออง
แล้วละก็

คงต้องบอกว่านั่นเฉพาะแค่ ตำแหน่งการตลาด และความสบายในห้องโดยสารเท่านั้นครับ

ห้องโดยสารหนะ น่าใช้จริงๆ ไม่เถียง กระจก Sky roof
เป็นแนวๆแถบๆ บนหลังคา สร้างบรรยาศในการเดินทางที่ดีทีเดียว
แถมพื้นห้องโดยสาร ยังใช้วัสดุลายไม้ ปูรองเข้าไป ให้สัมผัสเหมือนกับ
อยู่ในบ้านมากขึ้นกว่ามินิแวนรุ่นอื่นๆ หรือรุ่นก่อนๆของสเต็ปแวกอน

การควบคุมอุปกรณ์บนแผงหน้าปัด ใช้งานได้ง่ายดี ตามสไตล์ของฮอนด้า

แต่…พอเรามาดูในเรื่องสมรรถนะกันแล้ว

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง วัดคร่าวๆอยู่แถวๆ 13 นาที
ความเร็วสูงสุด จากมาตรวัดบนแผงหน้าปัด 182 กิโลเมตร/ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เสียงลม เริ่มดังเข้ามาในห้องโดยสาร ตั้งแต่ความเร็วระดับ
120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป และจะดังมากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อความเร็ว
ขึ้นไปถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังถือว่า การเก็บเสียง ทำได้ไม่ดีพอ

(ซึ่ง เอลิซิออง จะเงียบกว่า สเต็ปแวกอน เยอะ ที่ความเร็วระดับเท่ากัน )

สรุป : สเต็ปแวกอน ยังไม่ใช่ เอลิซิออง จูเนียร์
ในแง่ความเป็นจริง แต่ยังคงเป็นมินิแวนสำหรับขับเรื่อยๆ
ใช้งานในเมืองได้อย่างดี ช่วงล่างเน้นความสบาย
เพื่อการโดยสาร เป็นสำคัญ

ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจว่า นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลอดอายุตลาด
ของสเต็ปแวกอนรุ่นนี้ โดนคู่แข่งตลอดกาล อย่าง นิสสัน เซเรนา
ทำยอดขายแซงหน้าไป จนกลายเป็นผู้นำตลาด ได้ในที่สุด


——————————–///——————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

– เผยแพร่ครั้งแรกใน Pantip.com ห้องรัชดา
  2 พฤศจิกายน 2005
– เผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com
  7 กันยายน 2009

Copyright (c) 2009 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

– First publish in Pantip.com
  November 2nd, 2005
– Second publish in www.Headlightmag.com
– September 24th,,2009