ชีวิตช่วงนี้ วุ่นวายผิดปกติครับ

เป็นผลมาจากการที่ แต่ละค่ายรถยนต์ รีบใช้เวลา ก่อนงาน Motor Expo
จะเริ่มขึ้น ช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน พยายามเร่งเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ของตน และเชิญสื่อมวลชน ไปลองขับรถใหม่เหล่านี้ ตามสถานที่ต่างๆ
ชนกันเอง โดยไม่ได้นัดหมาย ต่างฝ่ายต่างต้องอาศัยข้อมูลการข่าว เพื่อ
สับหลีกกิจกรรมของตน ไม่ให้ไปจ๊ะเอ๋กับงานของค่ายอื่นเขา

แต่ก็ยังอุตส่าห์มีบางค่าย จัดงานชนกันจังๆ โดยไม่ตั้งใจ 

Ford วางแผน จัดงานทดลองขับ Fiesta EcoBoost ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่
วันที่ 11 – 19 พฤศจิกายน 2013 รวม 8 กลุ่ม ทั้งสื่อมวลชนในไทย และ
ASEAN แต่ Toyota เอง ก็ต้องจัดงานทดลองขับ Yaris ใหม่ ช่วงวันที่
12 – 13 พฤศจิกายน เช่นกัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม นี่ยังไม่นับกับ ค่ายอื่นที่จัด
กิจกรรมชนกัน ทั้ง Suzuki Swft สีเขียว (ไปขับที่เวียงจันท์), Mazda
CX-5 ขึ้นเชียงใหม่ ขับไปเชียงราย (14 – 15 พฤศจิกายน) และ Chevy
Trailblazer 2.8 ลิตร 200 แรงม้า ขับไป พม่า อีกต่างหาก!

ดังนั้น ตารางชีวิตของผม จึงปั่นป่วน วินาศสันตะโร และต้องเลือกว่า
จะไปงานไหน ไม่ไปงานไหน เลือกตามช่วงเวลา และความสำคัญของ
ตัวรถกันเลย พูดกันตรงๆแบบนี้ละครับ

เท่ากับว่า ทันทีที่เสร็จสิ้นจากการลองขับ Ford Fiesta 1.0 EcoBoost ที่
เชียงใหม่ ผมก็ต้องใช้บริการ ของสายการบิน THAI Smile บินลงมายัง
เมืองท่องเที่ยวอีกแห่งของไทย ทางภาคใต้ นั่นคือ ภูเก็ต ในเช้าวันรุ่งขึ้น
ทันที! ขับเสร็จปุ๊บ ตัดสินใจ กลับกรุงเทพฯ ในคืนวันนั้นเลย…

ตาเหลือกกันพอดี

แต่ผมเลือกทำเช่นนี้ เพราะนี่น่าจะเป็นโอกาสเดียวในช่วงเดือนนี้ ที่ผมจะ
โอกาสทดลองขับ ECO Car 1.2 ลิตร คันแรกจาก Toyota ในรอบ
หลายปีมานี้

ถึงขั้นต้องบินมาลองขับ ทั้งที่เวลาทุกอย่าง กระชั้นมาก แม้แต่เวลาจอดพัก
ถ่ายรูป หรือหาโลเกชัน ยังแทบไม่มีเลย ต้องใช้ภาพถ่ายจาก ช่างภาพ
ที่ทาง Toyota จ้างมา ทำภาพประกอบบทความนี้ เกือบทั้งหมด ยกเว้น
แค่ ช็อตมาตรฐาน ของห้องโดยสาร ห้องเครื่องยนต์ และ ใบหน้าอันอวบ
อ้วนตุ้ยนุ้ยของผมเท่านั้น ที่ยังเป็นภาพจากกล้อง Canon ของตัวเองอยู่

เพื่อจะได้หายสงสัยเสียทีว่า ทำไม กระแสการพูดถึงรถรุ่นนี้ ในโลก
Social Media มันถึงไม่แรง อย่างที่เคยเป็นมา?

เหตุผลที่รู้กันดีทั้งวงการรถยนต์ก็คือ โครงการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถคันแรก
ในชีวิต ของรัฐบาล ในรอบปี 2011 – 2012 ทำเอาตลาดรถยนต์ในเมืองไทย
ป่วนใช้ได้เลยละ  ผู้บริโภคหนะ เปรมปรีด์ (ยกเว้นบางราย ที่ผ่อนส่งต่อไป
ไม่ไหว) แต่ผู้ผลิตทุกราย ต่างต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิต สุดท้าย พอสิ้นสุด
โครงการ กลายเป็นว่า กำลังซื้อในปี 2013 หดหายฮวบๆ รถค้างสต็อก
จอดกันเต็มลาน ถึงขั้นบางค่าย ต้องเช่าลานจอดเพิ่มเติม และต้องออก
โปรโมชันพิเศษ ระบายสต็อก กันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก ที่ค่ายใดก็ตาม พยายามจะเปิดตัวรถยนต์
รุ่นใหม่ ในกลุ่ม ECO Car หรือ B-Segment ช่วงนี้ จะได้รับผลกระทบ
จากยอดขายที่หดหายไปเข้าเต็มๆ ไม่เปรี้ยงปร้างเท่าเดิม

Yaris เอง ก็ตกอยู่ในชะตากรรมนี้ ร่วมกับญาติผู้พี่ร่วม Platform อย่าง
Vios ไปกับเขาด้วย ชนิดที่ใครก็ช่วยไม่ได้

ถึงแม้กระแสการพูดถึง Yaris ใหม่ จะถือว่า บางตากว่าการเปิดตัวรถยนต์
รุ่นใหม่ๆ ของ Toyota ตามปกติ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระนั้น Toyota
ก็ยืนยันว่า ตัวเลขยอดสั่งจองยังพอไปได้อยู่

เพราะหลังจากวัน เปิดตัว เมื่อ 22 ตุลาคม 2013 ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์แรก
ที่เริ่มขาย จนถึงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มียอดสั่งจองเข้ามารวมประมาณ
4,800 คัน เมื่อบวกยอดสั่งจอง ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ทำได้ประมาณ
วันละ 200 – 200 นิดๆ คัน จากโชว์รูมผู้จำหน่ายกว่า 300 แห่ง ทั่วประเทศ
ดังนั้น ตัวเลข จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2013 ก็จะมี Back Order ประมาณ
2 เดือน และมียอดจองรวมประมาณ 8,000 คัน และในจำนวนยอดสั่งจองทั้งหมด
เป็นรุ่นเกรด G ตัวท็อป กว่า 50%

ตัวเลขจะจริง หรือไม่จริง ผมไม่ทราบ แต่ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่
จะส่งข้อมูลการสั่งจองของลูกค้าในแต่ละวัน จากโชว์รูมทุกแห่ง ไปยัง
ศูนย์ข้อมูลที่สำนักงานใหญ่ ของ Toyota มันไม่โกหกแน่ๆ

แต่สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ ทำไม Yaris ต้องปรับลดขนาดเครื่องยนต์ จากเดิม
ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร อยู่ในกลุ่มตลาด B-Segment ตามปกติ แต่ต้องเปลี่ยน
มาวางเครื่องยนต์ 1.2 ลิร แล้วลดตำแหน่งการตลาด ลงมาเล่นกับกลุ่ม ECO Car?

คำตอบก็คือ ต่อให้ในช่วงตั้งแต่เปิดโครงการ ECO Car สมัยแรก Toyota จะแสดง
ท่าที่ ไม่ค่อยเห็นด้วยมากนัก แต่ในเมื่อ มติของบริษัท ตัดสินใจเข้าร่วมเกาะขบวน
ผู้ผลิตรถยนต์กลุ่มแรก ที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ จากภาครัฐ ตามโครงการ ECO Car
ดังนั้น Toyota จึงต้องหาข้อสรุป ว่า จะเลือกรถยนต์รุ่นใด มาทำตลาดกลุ่มนี้ดี?

จากสารพัดข้อจำกัดมากมายก่ายกอง จนในทีสุด ก็มาลงตัวว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน
ใช้วิธีพัฒนา Yaris รุ่นใหม่ สำหรับตลาดศักยภาพสูง แล้วขายในเมืองจีน กับ
เมืองไทย เป็น 2 ตลาดสำคัญ ของรถรุ่นนี้ โดยใช้โครงสร้างวิศวกรรมบางส่วน
ร่วมกับ Vios แต่มีการปรับปรุงให้เข้ากับข้อกำหนด กฎเกณฑ์ของโครงการนี้
ไปเลยก็แล้วกัน (วะ)

เป็นไปตามที่ TakeShi Matsuda : Chief Engineer ผู้พัฒนา ทั้ง Yaris 
และ Vios รุ่นล่าสุด บอกว่า “ความตั้งใจของเขาตอนแรกก็คือ ทำ Yaris รุ่นนี้ ให้
เป็นรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change ของ Yaris สำหรับตลาดทั่วโลก ที่
ไม่ใช่ตลาดยุโรป หรือญี่ปุ่น แต่ในเมื่อ ตลาดเมืองไทย มีนโยบายมาว่า ให้ทำ Yaris
รุ่นนี้ เป็น ECO Car เขาจึงต้องหาทางออกให้กับสารพัดคำถาม และข้อจำกัดต่างๆ
ซึ่งเกิดขึ้นมากมาย และผลลัพธ์ ก็ออกมาเป็น Yaris อย่างที่เห็นกันอยู่นี้”

Yaris ใหม่ มีตัวถังยาว 4,115 มิลลิเมตร กว้าง 1,700 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Yaris รุ่นก่อน ซึ่งมีตัวถังยาว 3,800 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร
สูง 1,520 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,460 มิลลิเมตร จะพบว่า Yaris ใหม่ ยาวขึ้นกว่าเดิมถึง
415 มิลลิเมตร กว้างขึ้นแค่ 5 มิลลิเมตร แต่เตี้ยลง 45 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวขึ้น
90 มิลลิเมตร

กระนั้น ขนาดตัวถังของ Yaris ใหม่ ยังถือว่า ใหญ่โตที่สุด และมีระยะฐานล้อที่ยาวสุด
ในบรรดา ECO Car Hatchback 1.2 ลิตร ที่ขายในเมืองไทย กระนั้น ต้องหมายเหตุ
ไว้ว่า อันที่จริงแล้ว ระยะฐานล้อ ก็ยาวเท่ากับ Toyota Vios ทั้งรุ่นที่แล้ว และรุ่นใหม่
ล่าสุด รวมทั้ง Honda City รุ่นปัจจุบัน ที่ใกล้ตกรุ่น นั่นละ!

เส้นสายภายนอก มาในสไตล์ เฉียบคม เน้นเหลี่ยมสัน พร้อมกระจังหน้าที่ดูคล้ายกับ
Mitsubishi RVR / ASX หรือ Lancer EX เสียด้วยซ้ำ แต่เพิ่มความแตกต่าง ด้วยแถบ
สีเงิน แบบหนวดปลาดุก จนผมแทบอยากจะตั้งฉายารถคันนี้ว่า “Yaris รุ่นลุงหนวด!”

รายละเอียดภายนอกบางชิ้น สามารถใช้ร่วมกับ Vios ได้ ตัวอย่างเช่น ครีบรีดอากาศ
ที่เสาขอบประตู ใกล้กับกระจกมองข้าง หรือมือจับประตูทั้ง 4 ชิ้น กระจกหน้าต่าง
คู่หน้า ก็สามารถใช้ทดแทนร่วมกันได้กับ Vios กระจกบังลมหน้า ในรุ่น G ก็ยัง
เป็นแบบ Acoustic Glass เสริม ฟิล์มสอดแทรกเป็นไส้กลาง ช่วยลดเสียงรบกวน
ขณะขับขี่

ส่วนบั้นท้ายนั้น ด้วยเหตุที่ ทีมออกแบบน่าจะอยากสร้างความต่อเนื่องของเส้นสาย
จากหน้าต่างประตูคู่หลัง จรดกระจกบังลมหลัง จึงต้องมีแผงพลาสติกสีดำ มาแปะไว้
เชื่อมต่อไม่ให้เส้นสายสะดุด แล้วก็ทำชุดไฟท้ายให้มีกรอบทรงประหลาดๆ เหมือน
ก้อนซีลีโคนมาแปะติดไว้ อยากบอกความคิดเห็นส่วนตัวของผมว่า ชิ้นส่วน 2 ชิ้น ทั้ง
2 ฝั่งตัวถัง มันไปทำลายความลงตัว ของงานออกแบบฝาประตูคู่หลัง และบานประตู
คู่หลัง จนทำให้บั้นท้าย ดูแปลกๆ ประดักประเดิด ในเส้นสาย อย่างน่าเสียดายยิ่ง

การเข้า – ออกจากเบาะนั่งคู่หน้า ทำได้ดีไม่แตกต่างจาก Vios เลย ก็แน่ละ
ในเมื่อ เสาหลังคาคู่หน้า รวมทั้ง กรอบประตู มันแทบจะเหมือนกันขนาดนั้น
ถ้าแตกต่างกัน ก็จะแปลกไปหน่อยแล้วละ

ยิ่งพอได้ลองนั่งบนเบาะคู่หน้าแล้ว ยิ่งมั่นใจได้เลย เหมือนกับ Vios ชนิด
โขกพิมพ์เขียวเดียวกันออกมาเลย ก็เพราะทั้ง 2 รุ่น ใช้โครงสร้างเบาะนั่ง
คู่หน้า เหมือนกันนั่นเอง ดังนั้น การเดินทางไกล จึงสบาย ใช้ได้ แต่ ถ้า
นั่งนานๆไป ก็อาจมีอาการเมื่อยหลังอยู่บ้าง เหมือนกับ Vios นั่นละครับ
กระนั้น ก็ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงอยู่เหมือนกัน จึงจะเกิดอาการ

เบาะรองนั่ง สั้นไปนิดนึง ผ้าหุ้มเบาะเป็นสีดำ แนว Sport พร้อมลวดลาย
และแนวตะเข็บฝีเย็บ ที่ใช้โทนสีส้ม แตกต่างจาก Vios ส่วนการวางแขน
บนแผงประตู ก็วางได้อยู่ อาจไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบ แต่วางข้อศอกได้
เหมือนกับ Vios นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ที่ปรับระดับ สูง – ต่ำ ไม่ได้
ยังคงตามมาหลอกหลอน ใน Yaris ใหม่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้
เกิดความน้อยหน้าเหลื่อมล้ำต่ำสูงกัน

มือจับเปิดประตูด้านในรถ ของรุ่น G เป็นพลาสติกชุบโครเมียม ทั้ง 4 จุด

แต่ประเด็นที่หลายคนสนใจกันหนะ มันย้ายมาอยู่ที่เบาะแถวหลังครับ
การเข้า – ออก ทำได้ดีกว่า ECo Car ตัวถัง Hatchback ทุกคันในตลาด
(แน่ละ ตัวถังใหญ่กว่าเพื่อนเขาเลยนี่หว่า) การวางแขนบนแผงประตู
ด้านหลัง ก็ทำได้พอประมาณ ไม่เลวนัก

เบาะหลัง มีพนักพิงที่นั่งสบายใช้ได้ พนักศีรษะ ทั้ง 2 ฝั่ง ออกแบบ
ให้ใช้งานได้จริง รองรับศีรษะได้สบาย ยกเว้น พนักศีรษะตรงกลาง
รูปตัว L คว่ำ ซึ่งจะต้องยกขึ้นใช้งาน และอันที่จริง ผมว่า ถอดทิ้งไป
เมื่อไม่ใช้งานเลย ก็ได้เช่นกัน พนักพิงหลัง ไม่มีพนักวางแขนแบบ
พับเก็บได้แต่อย่างใด ช่องวางแก้ว อาจต้องอาศัย ใช้พื้นที่ร่วมกับ
ช่องวางของข้างแผงประตูทดแทน

เบาะรองนั่ง ออกแบบได้กำลังดี นั่งใช้ได้ แต่สั้นไปหน่อย กระนั้น
คงจะยาวกว่านี้มากไม่ได้ ไม่เช่นนั้น อาจต้องมานั่งปาดขอบเบาะ
เพื่อให้พอจะเหลือพื้นที่เหวี่ยงขาออกจากรถ ซึ่งนั่นคงไม่ดีแน่ๆ

พื้นที่วางขา ยาว และใหญ่พอให้นั่งไขว่ห้างได้ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ
ผมนั่งได้สบายๆ หัวเกือบชนเพดาน แต่ยังมีพื้นที่เหลืออยู่นิดหน่อย
อยากได้ พื้นที่เหนือศีรษะแบบนี้ ใน Vios ใหม่ ชะมัด!

เข็มขัดนิรภัย เบาะหลัง ให้มาเป็นแบบ ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง
ดังนั้น สำหรับผู้โดยสารตรงกลาง ตำแหน่งของชุดเข็มขัด จึงย้าย
ไปอยู่บนเพดานหลังคาแทน Matsuda-san อ้างว่า ปรเด็นนี้ ถกกัน
หนักมาก ในตอนออกแบบรถคันนี้ จนในที่สุด ก็มาลงตัวเป็นแบบ
ที่ติดตั้งกันให้เห็นอยู่นี้ แน่นอนว่า ถ้าจะเก็บให้เรียบร้อย มันต้อง
ถูกออกแบบให้พาดหัวไหล่ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นอีก (?)

แผงหน้าปัด…ยกชุดมาจาก Vios ใหม่ อย่างไม่ต้องสืบ เพียงแต่วัสดุการตกแต่ง
แตกต่างกันไปตามแต่ละรุ่นย่อย แถมวัสดุรอบๆ ชุดเครื่องเสียง ก็ยังเป็นแบบ
เรียบ มิได้มี พื้นผิว Texture พิเศษ เหมือนบนหน้ากากชุดเครื่องเสียงแต่อย่างใด

พวงมาลัยในรุ่น G หุ้มหนัง มาให้ ระยะห่างของพวงมาลัย จากขอบชุดมาตรวัด
แบบ 3 วงกลม หลอกตาว่าห่างออกมาจากที่พบเจอใน Vios นิดหน่อย ทั้งที่จริง
มันก็มีระยะพอๆกันนั่นละ

ส่วนสวิชต์เครื่องปรับอากาศ ในรุ่น G เป็นแบบ มีหน้าจอ Digital มาให้ ยกชุด
จาก Vios เช่นกัน ให้ความเย็นสะใจ ตามสไตล์ DENSO หนึ่งใน บริษัทซึ่งมี
ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า Den จำนวน 2 บริษัท ที่คน Toyota ส่วนใหญ่รู้ดีว่า ไม่ควร
ไปขัดแย้งเคืองโกรธกันถ้าไม่จำเป็นอย่างเด็ดขาด…อิอิ

ชุดเครื่องเสียง เล่น CD/MP3 ได้ มีช่องเสียบ USB และ AUX มาให้  คุณภาพ
เสียง ก็ไม่ต่างจากใน Vios นั่นละครับ

รวมทั้งข้อด้อยสำคัญที่ผมรำคาญชะมัด ใน Vios ก็ยังมาโผ่ใน Yaris ด้วย นั่นคือ
ตำแหน่งช่องวางของ หลังคันเกียร์ รถยนต์ปกติทั่วไป ทำเป็นช่องลึกๆ วางของ
ได้เยอะ แต่ Yaris และ Vios ถุกออกแบบให้มีหน้าตาอย่างนี้ ด้วยความหวังดี
ของคนออกแบบชาวญี่ปุ่น ตั้งใจให้เป็นช่องวางโทรศัพท์ Smart Phone แต่
พอออกมาใช้งานจริง มันวางแทบไม่ได้เลย เพราะมันไม่มีที่ยึดเหนี่ยว และ
ทำให้ Smart Phone ต้องหล่นลงบนพื้นรถตลอด อันตรายเหมือนกันนะนั่น
ขอแนะนำว่า เอาเข้ากระบวนการ Kaizen เช่นเดียวกับ พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน
พร้อมสวิชต์ Mullti Function ควบคุมชุดเครื่องเสียง ที่แลดูราคาถูกราวกับจงใจ
ลดต้นทุน และ ลวดลายตะเข็บฝีเย็บหลอกๆ บนหน้าปัดทั้งแผง จาก Vios ได้แล้วเน่อ!

ด้านขุมพลังนั้น อย่างที่บอกไปแล้วว่า Yaris ใหม่ ถูกลดตำแหน่งการตลาด จากพิกัด
ความจุกระบอกสูบของเครื่องยนต์ ลงมาเล่นในตลาดกลุ่ม Eco Car 1.2 ลิตร เท่ากับว่า
Toyota จะต้องลดขนาดเครื่องยนต์ ลงมาจากเดิม ปลดประจำการเครื่องยนต์เก่า รหัส
1NZ-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี หัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว
เฉพาะหัวแมชาฟต์ ฝั่งไอดี VVT-i 109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
141 นิวตันเมตร (14.36 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ
เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ECT-i เช่นเดียวกับ Vios เดิม ทิ้งไปทั้งยวง

แล้วแทนที่ด้วย เครื่องยนต์ 3NR-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ความจุกระบอกสูบ
เหลือแค่ 1,197 ซีซี หัวฉีด EFI แต่มาพร้อม ระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ทั้งฝั่ง
วาล์วไอดี และไอเสีย Dual VVT-i ให้กำลังสูงสุด 86 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร (11.0 กก.-ม.ที่  4,000 รอบ/นาที และมีทางเลือกของ
ระบบส่งกำลัง แค่เพียง เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT แบบเดียวเท่านั้น โดย
ไร้เงาของเกียร์ธรรมดา อย่างที่ควรเป็น

เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Super CVT-i ลูกนี้ จะมีชุดลูก Torque Converter
อยู่ในเรือนเกียร์ด้วย มี ปุ่ม Shift Lock สำหรับปลดล็อกเกียร์ จากตำแหน่ง P มาเป็น
เกียร์ว่าง N เพื่อให้เข็นรถได้ แม้จะจอดดับเครื่องยนต์ อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์เดินหน้า……………………….2.386 – 0.426
เกียร์ถอยหลัง……………………….2.505 – 1.736
อัตราทดเฟืองท้าย………………….5.833

เหตุผลที่ Yaris ใหม่ มีให้เลือกแค่ เกียร์อัตโนมัติ CV ไม่มีรุ่นเกียร์ธรรมดา
Toyota อ้างว่า จากการสำรวจวิจัยตลาดในเมืองไทย พบว่า ตลาดรถยนต์นั่ง
กลุ่ม ECO Car นั้น มีความต้องการเกียร์ธรรมดา ไม่ถึง 5% จากยอดขายรวม  
ดังนั้น พวกเขาจึงมองว่า เกียร์ CVT น่าจะเป็นทางเลือกเดียวสำหรับลูกค้า
ชาวไทย ไปเลยดีกว่า

อย่างไรก็ตาม มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างลอยมาว่า ส่วนหนึ่ง น่าจะเป็นผลมาจาก
การที่ Yaris ใหม่ รุ่นเกียร์ธรรมดา อาจไม่ผ่านการทดสอบด้านมลพิษ คือ
อาจปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ออกมามากกว่ารุ่น CVT ไป และ
มันเกินกว่า ค่ากำหนดของรัฐบาล ที่อ้างอิงมาตรฐานมลพิษจาก UNECE
ว่าต้องปล่อยก๊าซ CO2 ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร จึงทำให้ไม่อาจวางขาย
ในบ้านเราได้

เรื่องนี้ เป็นเพียงอีกเสียงหนึ่งที่ได้ยินมา แต่จะเป็นจริงหรือเปล่านั้น
ไม่มีใครยืนยัน จึงต้องขอบันทึกเอาไว้ ว่า ครั้งหนึ่ง เคยมีการพูดถึง
ในลักษณะนี้เกิดขึ้นด้วย แค่นั้น

อย่างไรก็ตาม Toyota เคลมว่า เกียร์ลูกนี้ ถูกออกแบบมาให้ใช้น้ำมันเกียร์
CVT ของตน โดยเฉพาะ และคนละเกรดกับที่ใส่ให้ใน เกียร์ CVT ของ
Corolla Altis MY 2010 – 2013 อีกทั้ง เกียร์ CVT ลูกนี้จะมีท่อหายใจ
ยกไว้สูง จากเดิมที่เมื่อก่อนมักอยู่ด้านหลังของเกียร์ ก็เพื่อรองรับปัญหา
น้ำท่วม ดังนั้น โอกาสที่เกียร์จะเสียหายจากการลุยน้ำแบบไม่ตั้งใจ จะ
ลดน้อยลง

ขณะติดเครื่องยนต์ อาจเห็นว่า เข็มวัดรอบ ค่อนข้างต่ำ บางครั้งอาจมี
อาการสั่นกระพรือเล็กๆเกิดขึ้นได้ Toyota ชี้แจงว่า พวกเขาพยายามตั้ง
ค่ารอบเดินเบา ให้ต่ำที่สุด อยู่ที่ 600 รอบ/นาที เพราะออกแบบรถคันนี้
มาให้ใช้งานในเมือง ดังนั้น เครื่องยนต์ต้องทำงานในรอบเดินเบาช่วง
การจราจรติดขัด บ่อยมาก จึงอยากให้ประหยัดเชื้อเพลิง แต่เมื่อคลัชต์
ของคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ ทำงาน รอบเครื่องยนต์ ก็จะเพิ่ม
ขึ้นไปเป็น 800 รอบ/นาที (รถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 850 – 900 รอบ/นาที)

สมรรถนะ ในภาพรวมนั้น เป็นไปตามความคาดหมายส่วนตัวของผม
ชนิดไม่ผิดเพี้ยน

เริ่มจากอัตราเร่ง กันก่อน แม้ว่า การขับขี่ไปามขบวนคาราวาน ทำให้ผม
ไม่สามารถหาจังหวะในการทดลองอัตราเร่งจาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ได้เลย แต่อย่างน้อย ก็ยังมีจังหวะเหลือพอให้ทดลองจับเวลาช่วงเร่งแซง
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มา 1 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการจับเวลาเล่นๆ ไม่จริงจัง
เพราะปัจจัยแวดล้อมในการจับเวลา แตกต่างจากมาตรฐานของเราสิ้นเชิง
เพราะจับเวลา ตอนนั่งในรถรวม 2 คน น้ำมันที่เติมมาให้ในรถคันทดลอง
ขับของพวกเรา เป็น ปตท. แก็สโซฮอลล์ 95 (ซึ่งปกติแล้ว เป็นน้ำมันที่ผม
จะไม่เลือกใช้ในการทดลองทั้งสิ้น)

ตัวเลข 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ออกมา ได้ 11.48 วินาที ก็ถือว่า แม้จะ
นำ Suzuki Swift (จับเวลา เกียร์ D ตอนกลางคืน ตามมาตรฐานของเว็บเรา)
แต่ก็แค่ 0.2 วินาที นอกนั้น ถ้าเทียบกับ Hatchback ECO Car ทุกคันในตลาด
ยังไงๆ Yaris ใหม่ ก็ยังด้อยกว่า Mirage และ Brio อยู่ดี แต่จะทำตัวเลข ชนะ
Nissan March ไปพอสมควร

ถ้าคิดจะเร่งแซงรถคันข้างหน้า รถสิบล้อ หรือรถพ่วง บนถนนสวนกันแบบ
สองเลน ถ้ารถคันข้างหน้าว่างพอ แค่เหยียบคันเร่งให้จมมิด ลากรอบขึ้นไป
เพราะถ้าคุณตัดสินใจช้าไปเพียงเสี้ยววินาที คุณอาจต้องลุ้นกับการเร่งแซง
มากกว่าปกติ เว้นเสียแต่ว่า ถ้าคุณใช้ความเร็วระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
การเค้นพละกำลังด้วยการเหยียบมิด ทั้งที่รอบเครื่องยนต์อยู่ในช่วง 3,000
รอบ/นาที จะได้ผลดีกว่า และทำให้ตัวรถพุ่งขึ้นไปข้างหน้าได้ต่อเนื่อง

แต่ถ้าจะออกตัวจากไฟแดงละก็ การเหยียบคันเร่งจมมิด พรวดเดียว อาจ
ไม่ได้ส่งผลให้ไต่ความเร็วขึ้นไปได้ ไวขึ้น เมื่อเที่ยบกับการละเลียด
คันเร่ง ให้ความเร็วไต่ขึ้นไปช้าๆอย่างต่อเนื่อง และมั่นคง

แต่ในช่วงเหยียบคันเร่ง เค้นพละกำลังจากรถ อาจมีกลิ่น จากการทำงานของ
เครื่องฟอกไอเสีย Catalytic Converter ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายแอมโมเนียฉุนๆ
จมูก (แบบเดียวกับที่ ลูกค้า Mazda 2 หรือ Ford Fiesta รุ่นก่อนปรับโฉม
พร้อมใจกันเคยเจอมานั่นแหละ) ลอดเข้ามานิดๆ จางๆ ไม่เยอะ แต่จริงๆ
จะว่าปแล้ว ก็ไม่ควรจะมีให้ได้กลิ่นนะ

ดังนั้น ถือว่า อืดไหม ก็อืดกว่าคู่แข่ง 2 รุ่น แต่ก็ยังชนะคู่แข่ง อยู่ 1 รุ่น ถือว่า
อัตราเร่ง มีแนวโน้ม ออกมาอยู่ในระดับกลางๆ ของกลุ่ม ECO Car 1.2 ลิตร
Hatchback โดยเราต้องไม่ลิมว่า Yaris นั้น มีน้ำหนักตัวรถเยอะกว่าคู่แข่ง
อยู่พอสมควรเลยทีเดียว

การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิด ในช่วงความเร็วเดินทาง
100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมแทบไม่ต้องเพิ่มเสียงพูดของตนเองเลย
แม้แต่น้อย และผมมองว่า เลอๆ อาจเก็บเสียงดีกว่า Vios นิดนึง ด้วยซ้ำ!

พวงมาลัยเป็นแบบเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) 
ปรับน้ำหนักของพวงมาลัย ตามความเร็วในการขับขี่ แม้จะใช้แร็คชุดเดียวกัน
กับ Vios ใหม่ แต่มีการปรับปรุง ระยะรอบของมอเตอร์ให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้
พวงมาลัยหน่วงมือ มากขึ้น ตึงมือมากขึ้น

แน่นอนว่า การตอบสนอง ในขณะขับขี่ทางตรง ไปจนถึงการเลี้ยงพวงมาลัย
ขณะเข้าโค้งต่อเนื่องยาวๆ พงมาลัยจะนิ่งและ ตึงมือกว่า Vios ใหม่ขึ้นมานิดนึง
จนสงสัยว่า ทำไมถึงไม่ยอมเอา Setting นี้ ไปใส่ใน Vios ตั้งแต่เลยละเนี่ย?

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง
ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ยกชุดจาก
Vios แต่มีการปรับปรุง ให้เน้นความนุ่มนวลในการดูดซับแรงสะเทือน
มีสเถียรภาพในการขับขี่ด้วยความเร็วเดินทาง ถือว่า คราวนี้ Toyota Set
ช่วงล่างมาได้ดีมากกว่าที่คิด ส่วนหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า ได้อานิสงค์จาก
Setting ความหนืดของช็อกอัพ และสปริง จาก Vios รุ่น G และ E มาอยู่
ไม่น้อยเหมือนกัน ผมชื่นชอบในช่วงล่างชุดนี้ของ Yaris และมันสามารถ
เทียบเคียง กับ Suzuki Swift ซึ่งถือเป็น เทพประจำพิกัด ECO Car ท้ายตัด
และในบางลักษณะของพื้นผิวถนน อาการกระเด้งจากบั้นท้ายของ Yaris
น้อยกว่า Swift อย่างชัดเจน

ในเบื้องต้น ช่วงล่าง Yaris คือสิ่งที่ผมถือเป็นจุดเด่นของรถคันนี้ไปแล้ว
มันเทียบเคียงได้กับ Swift สมดังความตั้งใจของ คนใน Toyota ที่อยากให้
มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ! แต่เพื่อให้แน่ใจกว่านี้ อาจต้องขอลองขับยาวๆ
ตอนทำ Full Review กันอีกสักครั้ง

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ หน้าดิสก์ – หลังดรัม ทุกรุ่นจะติดตั้ง  ระบบป้องกัน
ล้อล็อคขณะเบรค ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก
EBD (Electronic Brake force distribution) ระบบเสริมแรงเบรก BA
(Brake Assist) เช่นเดียวกับ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า SRS ที่มีมาให้ครบตั้งแต่รุ่น
J ECO ที่ไม่ให้อะไรตกแต่งภายนอกมาให้เลยแม้แต่ฝาครอบล้อ!

การตอบสนองของเบรก มาในสไตล์เดียวกับ Vios คือ เบรกจิกๆ ดี หรือ
จะเบรกให้นุ่มนวล ก็ทำได้ ผ้าเบรกจับจานเบรกไว แป้นเบรกค่อนข้างตื้น
ระบบป้องกันล้อล็อก ABS ทำงานกำลังดีแต่ต้องกะน้ำหนักเท้ากันสักหน่อย

นอกจากนี้ยังมีระบบ Brake Override เช่นเดียวับ Vios เป็นระบบที่คิดขึ้นมา
ป้องกันปัญหา คันเร่งค้าง ถ้า คุณเหยียบคันเร่งอยู่ แล้วเกิดเหยียบแป้นเบรก
ไปด้วยพร้อมกัน ระบบคอมพิวเตอร์จะเข้าใจว่า คุณเจอปัญหาคันเร่งค้าง
ECU จะรีบสั่งให้เครื่องยนต์ ชะลอความเร็วลงมา ให้รถค่อยๆหยุดนิ่ง
เข้าข้างทางได้ (แต่ถ้าปล่อยเบรกกับคันเร่งเมื่อไหร่ รถก็จะเคลื่อนตัวต่อไป)

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
Vios แบบ Hatchback ถอดเครื่อง 1.5 ลิตร เกียร์ 4AT วาง เครื่อง 1.2 ลิตร CVT

สรุปกันดื้อๆ แบบนี้ละครับ สำหรับรถยนต์ ECO Car ตัวถัง Hatchback ของ
ยักษ์อันดับ 1 ในเมืองไทย

เพราะในเมื่อ Toyota เอง ก็เลือกแล้วว่า จะพา Yaris มาเข้ากลุ่ม ECO Car ตาม
นโยบายของรัฐบาลไทย ก็ต้องถอดเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ออกไป แล้วแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร บล็อกใหม่ ที่ต้องลดทอนเรี่ยวแรงลง
แล้วหันไปเน้นการควบคุมอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง กับมลพิษแทน จนต้องเชื่อม
กับเกียร์ Super CVT-i

ในเมื่อทุกอย่างที่รถคันนี้ แสดงฝีมือออกมา เป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ ก็ย่อมไม่ใช่
เรื่องแปลกที่ ผมจะมีความคิดเห็นกับ Yaris ใหม่ เป็นแบบนี้

บุคลิกของรถทั้งคัน มันก็คือ เวอร์ชัน Hatchback 5 ประตู ของ Vios ที่ถูกปัญหา
ภายในองค์กรมากมาย รวมทั้งนโยบายในการเลือกและจัดรถยนต์เข้ามาผลิต
ประกอบขายในบ้านเรา โดยชาวญี่ปุ่น ผลักดันออกมาให้กลายเป็นแบบนี้

แต่ที่เขียนมา ไม่ใช่ว่า รถมันไม่ดีนะ…

แต่ขอใช้คำว่า มันทำผลงานออกมาได้ ดีอย่างที่มันควรเป็น ท่ามกลางสารพัด
ข้อจำกัดบ้าบอคอแตกทั้งหลายแหล่ นั่นแหละ!

บอกเลยว่า การตอบสนองของพวงมาลัย และช่วงล่่าง รวมทั้งพื้นที่นั่งโดยสาร
ด้านหลัง คือจุดเด่นของ Yaris ใหม่ แต่มันเป็นผลพลอยได้จากการนำ Yaris
มาวางเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร พร้อมเกียร์ CVT เพื่อให้สามารถทำตลาดในกลุ่ม
ECO Car ดังนั้น เมื่อผู้บริโภค ที่เข้าใจและรู้อยู่แล้วว่า มันคือ ECO Car ได้
ลองเปรียบเทียบกับ คู่แข่งในพิกัดเดียวกัน เช่น Nissan March , Honda Brio
Mitsubishi Mirage หรือ แม้แต่ คู่แข่งระดับเป้าหมายหลัก อย่าง Suzuki Swift
แน่นอครับ Yaris ก็จะได้เปรียบกว่าใครเพื่อนในกลุ่มเขาไปเลย แทบจะ
ทุกด้าน

แต่อย่างว่าครับ สำหรับ Toyota แล้ว วลีที่ว่า “ได้อย่าง เสียอย่าง” ยังคงเกิดขึ้น
กับ Yaris ใหม่ด้วยเช่นกัน คุณได้พวงมาลัยที่คมและหนักแน่นกว่า Vios
นิดนึง ได้ช่วงล่างที่นุ่มสบาย เดินทางไกลพอได้ แบบเรื่อยๆ แต่คุณจำเป็น
ต้องแลกกับอัตราเร่ง ที่อืดอาด ตามสไตล์ รถเก๋ง เครื่อง 1.2 ลิตร พ่วงเกียร์
CVT (ทั้งที่ บุคลิกของพวงมาลัย และช่วงล่างแบบนี้ ควรจะไปอยู่ใน Vios
มากกว่า)

กระนั้น ถ้าใครจะมาถามหาตัวเลขอัตราเร่ง ว่ามันอืดจริงไหม ถ้าใครจะมา
ถามหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพระาอยากรู้ว่าประหยัดหรือเปล่า? หรือ
ถ้าอยากรู้ข้อมูลด้านตัวเลขอื่นๆ

คงต้องบอกได้คำเดียวเหมือนเช่นบทความ First Impression อื่นๆ ว่า
ในเมื่อ บทความนี้ เกิดขึ้นจากทริปทดลองขับ ซึ่งต้องเดินทางกันไป
เป็นขบวนคาราวาน ดังนั้น อย่าหวังว่าจะหาจังหวะทดลองตัวเลข
อะไรต่อมิอะไรที่คุณต้องการทราบ กันง่ายๆเลย มันแทบเป็นไปไม่ได้

มีทางเดียวคือ โปรดรอ อ่านได้ใน Full Review ซึ่งผมมั่นใจว่า คราวนี้
ไม่น่าจะนานเกินรอ

ดังนั้น ถ้าใครมาถามผมว่า Yaris ประหยัดน้ำมันไหม หรือว่า อัตราเร่ง
0 – 100 เท่าไหร่ ในตอนนี้….จะขอสาบแช่ง ให้แฟนทิ้ง และถ้าใครยังโสด
ขอให้โสดตลอดไป!

หนอยยยย…ไม่ยอมอ่านให้ดีๆ กันดีนัก!

——————–///——————

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และ ฝ่ายบริการเทคนิค
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อการเดินทาง และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย บางส่วน เป็นผลงานของผู้เขียน (ภาพรถ ภายนอก เป็นของ Toyota)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
13 พฤศจิกายน 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
November 13th,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE