รอนานไหมครับ?
ผมถามคุณผู้อ่านนั่นแหละ ไม่ต้องหันไปมองหาใครอื่นรอบข้างหรอก!
รอมาตั้งแต่ก่อน Toyota จะเปิดตัว Vios ใหม่ ซึ่งต้องผ่านเรื่องราววุ่นวายมากมาย
ตั้งแต่ก่อนเปิดตัว จนถึงช่วงปลายปีที่ผ่านมา กับนวนิยายเรื่องสั้นที่ชื่อว่า “โครงการ
รถคันแรก” ที่กว่าจะได้บทสรุป หลายฝ่าย หลายคน คงได้บทเรียนกันไปเยอะแล้ว
ซึ่งผมก็คงไม่ย้อนไปพูดถึงมันอีก ให้เสียเวลา และเปลืองเซลส์สมอง (ถ้าไม่จำเป็น)
รอทั้งการมาถึงของ Vios ใหม่ กว่าจะขึ้นโชว์รูม Toyota ทั้ง 300 แห่งทั่วเมืองไทย
กันได้ พร้อมเพรียง ต้องรอจนถึงกลางเดือน พฤษภาคม 2013
รอโอกาสจะได้ลองขับ รอโอกาสจะได้เป็นเจ้าของ Vios ใหม่
และแน่นอนครับ รอทั้งการมาถึงของบทความทดลองขับ แบบสั้นๆ First Impression
ที่คุณกำลังจะได้อ่านกันอยู่นี่ ข้างล่างนี้
ผมเองก็รอคอยไม่แพ้คุณผู้อ่านละครับ
รอว่าเมื่อไหร่จะได้ทำบทความนี้ให้คุณได้อ่านกันเสียที อุตส่าห์วางแผนเตรียมการ
ไว้เงียบๆ มานาน ตั้งแต่รู้กำหนดการเปิดตัว คิดไว้เสร็จสรรพเลยว่า ถ้าวันไหน Vios
เปิดตัวปุ๊บ ก็จะดิ่งเข้าไปทดลองขับ กันที่ ดีลเลอร์ แล้วก็ทำบทความรีวิวแบบสั้นๆ
First Impression ให้คุณได้อ่านกันทันที
ที่ไหนได้ Toyota กลับเปิดตัว Vios ใหม่ กันแบบ..แปลกๆกว่าพี่น้องร่วมตระกูลคันอื่นๆ
อย่างมาก เพราะเล่นใช้เวทีในงาน Bangkok International Motor Show รอบ
สื่อมวงชน เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เปิดตัวรถยนต์รุ่นนี้กันกลางบูธ แทนที่จะปฎิบัติตาม
ธรรมเนียมเดิมๆ คือ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวในโรงแรมหรือศูนย์ประชุม แสดงสินค้า ที่ใด
สักแห่ง ก่อนจะส่งรถมาเข้าร่วมงานแสดงรถยนต์ เปิดตัวสู่สาธารณชน ในภายหลัง
ดูจะเป็นการประหยัดงบประมาณการตลาดที่ต้องใช้ในช่วงเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
กันอย่างแปลกๆ ไม่เคยมีมาก่อน
แถมตอนเปิดตัว Toyota ยังไม่พร้อมส่งรถยนต์ให้กับผู้จำหน่ายกว่า 300 โชว์รูมทั่วไทย
ต้องรอพ้นช่วงหยุดยาว จากเทศกาลสงกรานต์ จึงจะเริ่มกลับมาผลิตอีกครั้ง การเตรียม
กองทัพ Vios ใหม่ เพื่อช่วงเปิดตัว จึงเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จากโรงงาน Gateway
สู่บรรดาโชว์รูมทั่วประเทศ พร้อมเพรียงกันในวันที่ 10 พฤษภาคม 2013 ที่ผ่านมาหมาดๆ
ทำให้ผมเองต้องยกเลิกแผนลองขับ Vios ใหม่ ก่อนสื่อรายใด ไปโดยปริยาย เพราะ
ไม่มีเวลาว่างพอที่จะทำบทความนี้ได้อีก มีทางเดียวที่เหลืออยู่ คือมาร่วมทดลองขับ
ในทริปสื่อมวลชน กลุ่มแรก ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 27 – 28 พฤษภาคม 2013 ขับรถไป-
กลับ ระหว่าง โรงแรม Otaku…เอ้ย! Okura เพลินจิต กับ โรงแรม Hotel de la praix
ที่หัวหิน
ผมละชอบจำชื่อโรงแรม โอคุระ เป็นโรงแรม โอตาคุ เสมอเลยทุกที แล้วก็เผลอพูด
เรียกกับผู้คนรอบข้างเป็นประจำ มันไม่ใช่แค่ว่าชื่อพ้องคล้องจองกัน แต่ถ้าคุณลอง
หาโอกาส แหงนมองขึ้นไปยังตัวอาคาร ในตอนกลางวัน หรือจะตอนกลางคืนที่เขา
เปิดไฟสว่างๆ ก็ตาม คุณจะพบว่า งานสถาปัตยกรรม ของตึกหลังนี้ มันช่างมีหน้าคา
คล้ายกับ “อะไรบางอย่าง” อยู่เหลือเกิน…(ฮา)
ผมไม่เฉลยละกัน แต่ชวนให้คุณผู้อ่าน ไปลองแหงนมองส่องตึกนี้กันเอาเองนะครับ!
(อ้อ สำหรับใครที่สงสัยว่า Otaku แปลว่าอะไร
มันเป็นคำในภาษาญี่ปุ่นครับ หมายถึง กลุ่มคนประเภท…แฟนพันธุ์แท้อะไรสักอย่าง
เช่น เกม การ์ตูน Manga รูปโป๊เปลือย หรือกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญ ศึกษา เรื่องราวอย่างหนึ่ง
จนเก่ง เทพ เหนือกว่าคนอื่นไปเลย คนกลุ่มนี้เขาจะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนบ้าง หรือไม่
ก็ทำตัวแปลกแยก อยู่แต่ในห้องนอนบ้าง เข้าสังคมไม่เก่ง เป็นพวกแว่นหนานั่งหน้า
ชั้นเรียน หรือ Nerd คนกลุ่มนี้ ถ้าไม่ผอมกะหร่องก๊องแก๊งไปเลย ก็จะจ้ำม่ำ หรืออ้วนฉุ
ไปเลย อันที่จริง Headlightmag ของเรา ก็มีผู้อานบางคน อยู่ในข่ายนี้เหมือนกัน!
และการจะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ บางทีก็ชวนให้ปวดตับจี๊ดๆ ได้เอาเรื่อง)
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเวลาจำกัด และปริมาณรถทดลองขับ กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม
มีเยอะมาก ทำให้ผมถูกจัดสรรให้มาลองขับ Vios รุ่น G เกียร์อัตโนมัติ อันเป็นรุ่น
Option กลางๆ ค่อนข้างจะดี ซึ่งได้รับแจ้งมาว่า ช่วงล่างของรุ่น G E และ J จะนุ่ม
ต่างจาก รุ่น S ซึ่งจะกระด้างขึ้นนิดนึง
อีกทั้ง ด้วยเส้นทางซึ่งเต็มไปด้วยรถราคับคั่ง การจราจรติดขัด และถนนที่ใช้ในช่วง
ครึ่งหลัง ก็เป็น ทาง 2 เลน ผ่านชุมชน มีเลี้ยวซ้ายและขวามากมาย เข้าไปสู่หาดชะอำ
ระยะทางสั้นลง 20 กิโลเมตร แต่ใช้ความเร็วได้ไม่กมากเกินไปกว่า 120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ดังนั้น ในบทความนี้ จึงยังไม่มีการทดลองตัวเลขอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลือง
หรือความเร็วสูงสุดต่างๆมาให้
เราเดินทางไปร่วมทริป ไปกันเป็นหมู่คณะ ขับกันไปหลายคัน จะทดลองรถเอง
โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมทริปเดียวกันท่านอื่นๆ ก็ไม่ถูกต้องแน่ๆ
ดังนั้น ในรีวิวนี้ จึงจะมีรายละเอียดและภาพถ่ายของรุ่น G กันเป็นหลัก ส่วนรุ่น S
และบรรดาตัวเลขทั้งหลายที่คุณอยากรู้ เก็บเอาไว้รออ่านอีกครั้งใน บทความฉบับ
Full Review ก็แล้วกัน…
นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อเดือนมกราคม 1997 Soluna Vios ก็กลายเป็น
ผู้เล่นรายสำคัญของตลาดรถยนต์นั่งในเมืองไทย ด้วยการครองแชมป์ยอดขายอันดับ 1
ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ แม้ว่าในช่วงรุ่นแรก 1997 – 2002 อาจมีอุปสรรคจาก คู่รักคู่แค้น
อย่าง Honda City มากอบโกยยอดขายไปให้ลุ้นระทึกบ้าง
แต่เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2002 จุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อ Toyota เปิดตัว Soluna Vios
แล้วดึง Britney Spear มาเป็น Presenter ด้วยสมรรถนะการขับขี่ที่ดี ในราคาที่คุ้มค่า
ทำให้ Vios กลับขึ้นมาผงาดเป็นหมายเลข 1 ในกลุ่มรถยนต์นั่ง B-segment หรือ
Sub-Compact class 1,300 – 1,600 ซีซี ต่อเนื่องกันนับแต่นั้น จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2007 Toyota เริ่มแนวทางยกระดับการพัฒนา Vios จากเดิมที่
เป็นเพียงแค่ “รถยนต์ เพื่อภูมิภาค ASEAN ” ให้กลายเป็น Global Small Sedan
มากขึ้น Vios ใหม่ที่เปิดตัวในเมืองไทย จึงกลายเป็นรถยนต์รุ่นเดียวกันกับ
Belta ในญี่ปุ่น และ Yaris Sedan ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็สอดคล้องกับในอดีต
ที่ผ่านมา อันเป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วว่า Vios ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานงานวิศวกรรม
และพื้นตัวถัง Platform ร่วมกับ Toyota Vitz / Yaris สำหรับตลาดทั่วโลก
ยอดขายในเมืองไทยของ Soluna และ Vios รวม 3 Generation รวมกันแล้ว
มากถึง 639,646 คัน เป็นตัวเลขที่ เหมือนจะน้อย สำหรับภาพรวมของบริษัทรถยนต์
กระนั้น สำหรับประเทศไทยแล้ว นี่คือตัวเลขที่เยอะมากพอให้ Toyota ไม่อาจปล่อยปละ
ละเลยความสำคัญไปได้
แต่ใน Vios รุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลง ก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อ Toyota เล็งเห็นว่า
ควรสร้างรถยนต์นั่ง B-Segment 2 รุ่นหลัก สำหรับตลาด ASEAN รวมทั้งตลาด
เกิดใหม่ Emerge Market อย่างเมืองจีน และอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น
Toyota จึงนำ Platform เดิมที่ใช้อยู่ มาพัฒนาปรับปรุง จนเป็น Platform ใหม่
(ตามที่ทาง Toyota อ้างไว้) แล้วแยกการพัฒนา Vios ใหม่ ออกจาก ตระกูล
Yaris รุ่นหลัก ที่เปิดตัวในตลาดญี่ปุ่นกับยุโรป ไปเมื่อปี 2009 อาจมีชิ้นส่วน
และรายละเอียดทางเทคนิคบางอย่าง เชื่อมต่อเกี่ยวเนื่องกันบ้าง แต่ไม่มากนัก
นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังจะได้เป็นฐานในการผลิต Vios ต่อเนื่องเหมือนเช่นเดิม แต่
เปลี่ยนเป้าหมายจากเพียงแค่เน้นทำตลาดในประเทศ เป็นการเพิ่มตัวเลขส่งออกไปกว่า
80 ประเทศทั่วโลก โดยตั้งเป้าหมายส่งออกไว้ที่ 45,000 คัน ในปี 2013
คุณมานิตย์ เกียรติสุขอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ เล่าว่า “วันนี้ Vios ใหม่ ถูก
สร้างขึ้น ภายใต้แนวคิด “Value beyond believe” หรือคุณค่า ที่เกินกว่าทุกความเชื่อ
โดยสื่อสารทางการตลาด ด้วยแนวคิด beyond its class หรือ “ปฏิวัติการออกแบบให้
โดดเด่นกว่ารถในระดับเดียวกัน” ออกมาเป็นสโลแกนว่า “Have it all” หรือมีทุกสิ่ง
พร้อมสรรพ”
Takeshi Matsuda , Chief Engineer และ Takatomo Suzuki , Deputy
Chief Engineer เลือกที่จะนำ Vios รุ่นเดิม มานั่งศึกษากันว่า สิ่งใดที่ดีอยู่แล้ว และ
สิ่งใดควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
พอเข้ามานั่งดู Video Presentation ก็รับรู้ได้ว่า Toyota พยายามบอกกับสาธารณชนว่า
Vios ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเยอะแยะตาแป๊ะไก่กว่าที่ใครจะเห็นเพียงแค่
รูปลักษณ์ที่เพิ่งมองผ่าน มีทั้งการเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างตัวถัง เน้นการ
ขับขี่ที่สบายกว่าเดิมด้วยการ ปรับช่วงล่างใหม่ ให้ดูดซับแรงสะเทือนดีขึ้น ปรับปรุง
เบานั่ง และการซับเสียงรบกวนที่ดีขึ้น ฯลฯ
Vios ใหม่ มีความยาวตัวถัง 4,410 มิลลิเมตร กว้าง 1,700 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า (Front Track) 1,455 มิลลิเมตร
ในรุ่น S และ 1,470 มิลลิเมตร ในรุ่น G,E,J ส่วนความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track)
จะอยู่ที่ 1,445 มิลลิเมตร ในรุ่น S และ 1,460 มิลลิเมตร ในรุ่น G,E,J ระยะต่ำสุดจาก
พื้นถนน (Ground Clearance) 145 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,020 – 1,075 กิโลกรัม
ตามแต่ละรุ่นย่อย ความจุถังน้ำมัน 42 ลิตร
เมื่อเปรียบเทียบกับ รถรุ่นก่อน จะพบว่า ตัวรถนั้น ยาวขึ้นกว่าเดิม 110 มิลลิเตร และ
สูงขึ้นกว่าเดิม 15 มิลลิเมตร มีระยะห่างจากล้อ จนถึงปลายสุดมุมรถ (Overhang หน้า
และหลัง มากขึ้น) เพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของให้มีความขจุ 476 ลิตร
ด้านรูปลักษณ์ภายนอก Kazuya Hasegawa , Exterior design ก็พยายามจะสะท้อน
ตัวตนของรถให้ดูหนักแน่น และทรงพลัง ด้วยการเพิ่มมิติความกว้างบริเวณด้านหน้าของตัวรถ
และใช้แนวหลังคาแบบ Catamalan โค้งนูน เหมือน ทุเรียนใส่ถาดโฟม ช่วยเรื่องการรีด
อากาศขณะไหลผ่าน และเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคาไปในตัว เพิ่มส่วนเว้า
และนูนให้กับตัวถังด้านข้างมากขึ้น มีครีบจัดการกับการไหลผ่านของอากาศ ทั้งบริเวณ
กระจกมองข้าง และด้านข้างของชุดไฟท้าย ทั้ง 2 ฝั่ง กระจกบังลมหน้าแบบ Acoustic
Glass เสริม ฟิล์มสอดแทรกเป็นไส้กลาง ช่วยลดเสียงรบกวนขณะขับขี่
อีกทั้งยังมีการใช้เหล็ก High Tensile เยอะขึ้น 50% ของตัวรถ แต่เท่าที่ดู ยังไมได้ยินว่า
มีการใช้เหล็ก Ultra High Tensile กับโครงสร้างตัวถังรถรุ่นนี้ อาจต้องขอศึกษาข้อมูล
เชิงลึกมากกว่านี้อีกสักหน่อย
เมื่อเปิดประตูเข้าไปนั่งภายในห้องโดยสาร ผมพบว่า เบาะนั่งคู่หน้า แก้ปัญหาในรุ่นเดิม
ได้สำเร็จเกือบหมดแล้ว เป็นเบาะหน้า ที่นั่งได้ดีที่สุดในบรรดา Vios ทุกรุ่นที่มีมา แม้ว่า
เบาะรองนั่ง สั้นอยู่ แต่ก็มีการปรับปรุงระยะเอนข้นหน้า – ถอยหลัง รวมทั้งขนาดของ
เบาะนั่งกันใหม่หมด จนนั่งสบายขึ้น โดยเฉพาะพนักพิงด้านหลังให้สัมผัสทั้งบริเวณ
หัวไหล่ บั้นเอว และแผ่นหลัง ช่างคล้ายคลึงกับเบาะคู่หน้าของ Toyota Camry รุ่นล่าสุด
เอามากๆ
กล้าพูดแบบนี้ได้ เพราะขากลับจากหัวหิน ผมจำเป็นต้องขับ Toyota Camry 2.5 ลิตร กลับบ้าน
นั่นเท่ากับว่า ผมกระโดดลงจาก Vios ใหม่ปุ๊บ ก็ขึ้นนั่งขับ Camry ใหม่ต่อเลย ดังนั้น สัมผัส
ที่ผมพบ จึงต่อเนื่อง และไม่ผิดเพี้ยนแน่ๆ นอกจากนี้ Headroom พื้นที่เหนยือศีรษะ และ
ทัศนวิสัย ก็ถือว่า ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม มองเพื่อกะระยะตอนเลี้ยว ออกจากซอย ดีขึ้น นิดนึง
ส่วนการวางแขนบนแผงประตู ยังทำได้ดีในระดับยอมรับได้ เสียดายว่า น่าจะมี กล่องใส่ของ
พร้อมที่วางแขนแบบปรับเลื่อนได้ ในระดับสูงพอให้ใช้งานวางแขนได้จริง มาให้ในรุ่น G
แทนที่จะมีให้แค่ในรุ่น S อย่างเดียว
แต่เรื่องหนึ่งที่อยากขอตำหนิกันเลย คือเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ซึ่งเคยปรับระดับสูง – ต่ำได้
ในรุ่นใหม่นี้ ทำไมถึงได้ตัดออกไป? การที่เบาะคนขับปรับสูง – ต่ำได้นั้น เป็นเรื่องดีอยู่
แต่การเลือกลดต้นทุนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเหมาะสมด้านสรีรศาสตร์ ที่ต่างกัน
ของลูกค้าแต่ละรายแบบนี้ เป็นเรื่องที่ผมมองว่า ไม่เข้าท่า!! รุ่น Minorchange หวังว่า
มันจะถูกใส่กลับเข้ามาอีกครั้ง และมันควรเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ไม่ควรถูกตัดออกไปอีก!
มาดูเบาหลังกันบ้าง ถือว่านั่งสบายขึ้น พนักพิงหลัง นุ่มและรองรับสรีระได้ดีขึ้น แม้ว่า
เบาะรองนั่ง จะยังสั้นอยู่ แต่ยังถือว่าอยูในระดับ ยอมรับได้ พื้นที่วางขาหรือ Legroom
สหรับผู้โดยสารด้านหลัง หลัง เยอะขึ้นชัดเจน ข้อนี้ ขอชมเชย
แต่สิ่งที่ผมไม่เข้าใจก็คือ ทำไม ผม ผู้ซึ่งสูง 171 เซ็นติเมตร นั่งหลังตรง แล้วหัวติดเพดาน
ชนหลังคา!?
Vios รุ่นปี 2002 หัวของผม เฉี่ยวหลังคา นั่งบนเบาะหลังไม่สบายเท่าที่ควร
Vios รุ่นปี 2007 แม้ขยายพื้นที่แล้ว แต่เบาะหลัง แค่พอนั่งได้ แต่ยังไม่สบาย
แถมหัวผมยังเฉี่ยวกับเพดานหลังคา
มาถึง vios รุ่นปี 2013 เบาะนั่งหลังสบายขึ้นมาก พื้นที่วางขาเยอะมาก แต่หัวผมชนเพดาน!
มันอะไรกันเนี่ย!!??
ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ จะนั่งแบบ ไหลนิดๆ กันไม่ชิดเบาะ ดังนั้น จึงไม่รู้ตัวว่า พอนั่งแล้ว
หัวติดเพดานหรือไม่ เท่ากับว่า ตอนนี้ Vios ใหม่ มีปัญหาในประเด็นนี้ เหมือนกันกับเจ้า
Nissan Almera เลยแหละ!
ทางแก้? รอรุ่นต่อไป กว่าจะคลอด โน่นแหนะ 2017 – 2018 โน่น ถึงเวลานั้น ก็ได้แต่หวังว่า
วิศวกรรุ่นต่อๆไป จะเพิ่มพื้นที่เหนือศีรษะ ให้กับผู้โดยสาร สูงวัย ที่จำเป็นต้องนั่งเบาะหลัง
กันซะที!
แต่ในเรื่องที่ต้องด่า ก็ยังมีเรื่องให้ชม Vios ใหม่ ให้เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
เป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง พร้อมพนักศีรษะ สำหรับผู้โดยสารตรงกลางอีกด้วย
และที่ต้องปรบมือเลยคือ เป็นรถยนต์ประกอบในประเทศฝั่งญี่ปุ่น หนึ่งในไม่กี่รุ่น ที่ติดตั้ง
จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้จากโรงงาน
ปรบมือรัวๆๆๆๆ!!!
การตกแต่งภายใน คืการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และทำเอาหลายคนอึ้ง ไม่คิดว่า Toyota จะ
ทำถึงขนาดนี้ ภาพรวมของมัน ก็ดูสวยดี เป็นสีดำตัดกับ Trim สีเงิน เช่นเดียวกับพวงมาลัย
แผงคันเกียร์ และแผงประตูด้านข้าง การใช้แนว Stiching แบบรถยนต์หรูจากยุโรป มาปั้ม
ขึ้นรูปและกัดลายลงบนพลาสติก ช่วยเสริมให้ภายในของ Vios ดูหรูขึ้นได้นิดๆ ถ้าคุณ
ไม่ติดใจว่า ตะเข็บฝีเย็บนั้น มันเป็นของปลอม ผมว่า ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรกับมัน
เป็นแผงหน้าปัดที่ทำให้นึกถึงการนำ แผงหน้าปัดของรถยนต์ 2 รุ่นมารวมกัน..คือ
Toyota Crown….อัครยานยนต์สุดหรูของชาวญี่ปุ่น
และ…….Toyota Avanza! มินิแวนขนาดเล็กยอดนิยมจากอินโดนีเซีย!
(ฮา)
แต่ประเด็นสำคัญ มันอยู่ที่การย้ายชุดมาตรวัด จากตรงกลางแผงหน้าปัด กลับมาอยู่ใน
ตำแหน่งด้านหน้าคนขับ อันเป็นตำแหน่งมาตรบานของรถยนต์ทั่วโลก ถือเป็นการ
เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย เล่นเอาบรรดาลูกค้า สื่อมวลชน และ
แม้แต่ตัวผมเอง ถึงกับต้องตั้งคำถามว่า
“ในเมื่อ สมัยก่อน ตอนเปิดตัว Vios 2002 และ 2007 Toyota บอกว่า ตำแหน่งมาตรวัดที่
ย้ายไปอยู่ตรงกลางนั่น คือตำแหน่งที่ดีในการเพิ่มทัศนวิสัยการขับขี่ แล้วทำไมในรุ่นนี้
ถึงย้ายมันกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติทั่วไปกันละ?”
เดาได้ไม่ยากครับ และคุณผู้อ่านเดาถูก Toyota บอกว่า “เป็นเพราะเราทำตามความต้องการ
ของลูกค้าส่วนใหญ่ ที่อยากให้ชุดมาตรวัด ย้ายกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม”
อืมม..นะ…พลิกวิกฤติเป็นโอกาสเลยซะงั้น! (-__-‘)
ชุดมาตรวัด แบบ 3 วงกลม สไตล์ Sport มีลวดลาย Graphic บนพื้นหลัง แตกต่างกัน ในรุ่น
G จะเป็นพื้นโทนน้ำเงิน แต่ในรุ่น S จะมี สีเหลืองและแดง มาตัดสลับอยู่ด้วย มองเผินๆ
คล้ายเกร็ดลายบนลำตัวงูพิษ แม้ว่าจะมองและอ่านค่าต่างๆง่ายดายเหมือนกัน ทว่า มันกลับ
ดูเป็นชิ้นงานราคาถูกๆ เพราะดูจากตำแหน่งคนขับ จะเห็นได้ชัดเจนว่า เหมือนมีการเอา
กระดาษ พิมพ์ลายกราฟฟิคพร้อมตัวเลขต่างๆ แล้วเคลือบให้แข็ง ก่อนจะแปะเข้าไปเป็น
พื้นหลังของชุดมาตรวัด
จากเดิม มาตรวัด Digital ที่ดูอ่านยาก กลายมาเป็นแบบเข็ม ที่มีขนาดเล็ก ไกลสายตา
แต่ยังดูดี ดูได้ มาเป็นมาตรวัดรุ่นล่าสุด ที่อ่านง่ายกว่าเดิม แต่ใช้ลาย Graphic ราคาถูก
แถมยังมีมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง ขนาดเบ้อเร่อเท่ามาตรวัดรอบกันเลย
ทั้งที่จริงๆแล้ว แบ่งพื้นที่ ให้กับมาตรวัดอุณหภูมิน้ำในระบบหล่อเย็น ที่เคยถูกถอด
หายไปจากหน้าปัดของ Vios ก็ได้มั้ง!
พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ทรง Sport มีทั้งส่วนที่หุ้มหนัง และใช้ฝีตะเข็บหลอกว่าเป็นหนัง
บนแป้นแตร และ ถุงลมนิรภัย รวมทั้งยังมีสวิชต์ Multi-Finction ควบคุมชุดเครื่องเสียง
บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้ายอีกด้วย รู้ว่าพยายามตั้งใจออกแบบ แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของ
ความคิดในการลดต้นทุนเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นงานออกแบบจึง ออกมาดูคล้ายกับ
พวงมาลัยรถจีนราคาถูกๆ จริงๆแล้ว ยกพวงมาลัยรุ่นเดิมมาใส่แทนไปเลย ยังจะสวยกว่า
ไม่เพียงเท่านั้น แม้จะปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่สำหรับคนตัวสูงทั่วไปแล้ว ปรับไว้ใน
ระดับสูงที่สุดเถอะครับ เพราะส่วนที่เตี้ยที่สุดนั้น ก็อาจไม่หมาะกับคนตัวเตี้ยเท่าใดเลย
ส่วนวงพวงมาลัย และ Grip ในการจับพวงมาลัย ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไข เช่นเดียวกับ
ตำแหน่งของคันเกียร์ ที่รู้ว่า จงใจเอาแนวทางมาจาก Camry ใหม่ชัดเจน วางตำแหน่ง
คันเกียร์ไว้ได้ดี แต่น่าจะมีที่พักแขนขนาดสูงพอให้ใช้งานได้จริง ติดตั้งมาในรุ่น G
กันด้วย ไม่ใช่อัดข้าวของต่างๆให้แต่รุ่น S กันอย่างเดียว
ตำแหน่งติดตั้งชุดเครื่องเสียง ถูกยกขึ้นไปอยู่ด้านบนสุดเหนือแผงควบคุมกลาง ใครที่
บอกว่ามันเป็นตำแหน่งไม่เหมาะสม ผมกลับมองตรงกันข้าม เพราะการติดตั้งวิทยุ
ไว้ในตำแหน่งนี้ เท่ากับช่วยลดการละสายตาจากพื้นถนนลงมาได้อีกทางหนึ่ง เหลือ
แค่เพียงทำสวิชต์ให้มีขนาดใหญ่ ไวพอประมาณ พอให้คลำได้ในขณะขับขี่ เท่านี้
ก็ช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากแล้ว ถือว่า เป็นเรื่องน่าชมเชย เพียงแต่ว่า อาจ
ต้องออกแบบวิทยุ ให้ดูลงตัวกว่านี้อีกนิดนึง เท่านั้นเอง
เครื่องปรับอากาศ ให้หน้าจอมาแบบ Digital สวยงามดีจริงอยู่ แต่ผมต้องคลำหาว่า สวิชต์
เร่ง หรือลดความเร็วพัดลม มันกดอย่างไร โดยไม่ต้องเปิดคู่มือผู้ใช้รถ กว่าจะเจอ ก็ต้อง
ใช้เวลาราวๆ 3 นาที แอบนานไปนิดนึง
ใต้เครื่องปรับอากาศลงมา มีช่องวางของ ซึ่งผมไม่เข้าใจเลยจริงๆว่า ทำไมถึงไม่เจาะช่อง
ให้มันลึกพอจะวางกระเป๋าสตางค์ หรือโทรศัพท์มือถือในแนวนอนได้ หากตั้งไว้ในแนวตั้ง
อย่างที่ทีมออกแบบเขาทำมา ถ้าขับรถไป จู่ๆ โทรศัพท์เด้งตกลงมาที่พื้นใต้เบาะฝั่งคนขับละ?
ถึงแม้ Toyota พยายามจะสื่อสารว่า พวกเขาได้ทุ่มเทปรับปรุง Vios ใหม่ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ในทุกด้าน กระนั้น ระหว่างนำเสนอข้อมูลรถยนต์รุ่นใหม่ให้สื่อมวลชนได้รับทราบกันบน
จอ Presentation กลับไม่มีการพูดถึง รายละเอียดเรื่องเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังกันเลย
แม้แต่คำพูดเดียว! ใน Product Video ที่ฉายขึ้นบนจอ ก็ไม่มีการแตะต้องประเด็นนี้สักแอะ!
นี่ถือเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ผมอยู่ในวงการรถยนต์ของบ้านเรามา!
ก็แน่ละ Toyota ยังคงใช้บริการ เครื่องยนต์รหัส 1NZ-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,497 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 75.0 x 84.7 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง
ด้วย หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ EFI ควบคุมด้วย กล่อง ECU 32 Bit พร้อมระบบแปรผันวาล์ว
VVT-i (Variable Valve Timing-intelligent) 109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 141 นิวตัน-เมตร (14.4 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro4
เชื่อมกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ อัตโนมัติ 4 จังหวะ
Super ECT ที่ออกแบบคันเกียร์ลักษณะขั้นบันได Gate Type เหมือนเช่นรุ่นเดิม เป๊ะ!
การตัดสินใจไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง อาจถูกผู้บริโภคมองว่า กั๊กเทคโนโลยี
ล้าหลัง ชาวบ้านชาวช่องเขาไปถึงไหนต่อไหนกันหมดแล้ว Toyota มัวทำอะไรอยู่ จะขาย
ของเก่ากินกันไปอีกนานไหม ซึ่งพูดกันตรงๆก็คือ Toyota เอง ก็ต้องยอมรับความจริงใน
จุดนี้ด้วยว่าที่ผู้บริโภคเขายกเรื่องนี้ เป็นประเด็นใหญ่กันขึ้นมา มันก็จริงของเขานั่นแหละ!
แต่ในมุมกลับกัน การใช้เครื่องยนต์ กับเกียร์ลูกเก่ามันมีข้อดีเรื่องหนึ่งซึ่งดันเป็นเรื่องสำคัญ
ในการเป็นเจ้าของรถยนต์ขนาดเล็กสักคันของหลายๆครอบครัว ก็คือ ในเมื่อเครื่องยนต์
ลูกนี้ มีการผลิตออกมาจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึง ราคาชิ้นส่วนอะไหล่ที่จะถูกลง
ไปได้อีกในระยะยาว หรืออย่างน้อย บางชิ้น ก็ยังรักษาราคาเท่าเดิมได้ โดยไม่ต้องขึ้นราคา
หากไม่จำเป็น นั่นเท่ากับ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง หากคุณต้องการจะใช้รถคันนี้กัน
ยาวๆ เป็น 10 ปีขึ้นไป จะยิ่งถูกลง แถมความชำนาญเชี่ยวชาญของช่างซ่อม หรือแม้แต่จะ
นำไปติดตั้งระบบก๊าซ จะ LPG หรือ CNG ก็ยิ่งทำได้ง่ายดาย สบายใจขึ้น ช่างซ่อมรถยนต์
ในประเทศนี้ คนไหน ที่ซ่อมเครื่องยนต์ Vios ตั้งแต่รุ่นปี 2002 ถึงรุ่นปัจจุบันไม่ได้ อย่าได้
กล้าหาญริอาจเรียกตัวเองว่าเป็นช่างซ่อมรถยนต์กันเลย!
พูดง่ายๆก็คือ ถึงแม้จะเป็นเครื่องยนต์ลูกเดิม แต่มันก็ผ่านการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วไปแล้ว
ว่า ทำออกมาเผื่อการใช้งานและดัดแปลงได้ ไม่เกินฝีมือของช่างไทยแน่ๆ อยากประหยัด
ก็จับติดก๊าซ อยากแรง ก็จับพ่วง Turbo และ Intercooler จะจูนกล่องอะไรเพิ่มเติม ก็ได้อีก!
สิ่งเดียวที่ Toyota บอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ ก็คือ เปลี่ยน
ยางรองแท่นเครื่องใหม่ ให้ช่วยลดการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ขณะเดินเบา หรือทำงาน
ในช่วงรอบความเร็วต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาด้าน NVH ( Noise Vibration and
Harshness) นอกเหนือไปจากการเพิ่มสารพัดวัสดุซับเสียง เพิ่มขึ้นตามพื้นตัวถัง ผนังห้อง
เครื่องยนต์ และจุดต่างๆ ทั่วทั้งคัน ไม่เว้นแม้แต่แผงประตูด้านข้าง
ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจเลยละครับว่า การตอบสนองจากเครื่องยนต์ ในทุกช่วงที่ต้องการเร่งแซง
หรือการออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง แรงดึงที่เกิดขึ้น เท่าที่ผมสัมผัสได้ และยังไม่ได้จับเวลา (เพราะ
ไม่มีจังหวะเอื้ออำนวยให้ทำอย่างนั้น ตลอดการทดลองขับสั้นๆครั้งนี้เลย) ก็คงพูดได้เกือบจะ
เต็มปากว่า
“แรงดึง การตอบสนอง เหมือนรถรุ่นเดิมนั่นแหละ”
เพียงแต่ว่า คันเร่งมีการปรับปรุง จาก Vios 2007 ล็อตแรกๆ ให้มีการตอบสนองที่ไวขึ้นนิดเดียว
พอเหยียบคันเร่งลงไปปุ๊บ สมองกลขอเวลาคิด 0.5 วินาที แล้วจึงสั่งให้ Torque Converter ทำงาน
พูดถึงคันเร่ง ก็คงต้องขอถามกันสักหน่อยว่า ทำไมลดขนาดของแป้นคันเร่งลง? จะอ้างว่า ลด
โอกาสที่พรมเช็ดเท้า จะถูกดันเข้าไปติดกับคันเร่งจนทำให้เสี่ยงต่อคันเร่งค้าง ก็ดูจะเป็นเพียง
แค่ข้ออ้าง มันทำให้ผมต้องใช้ความพยายามในการรักษาระดับคันเร่งเพิ่มขึ้นในช่วงความเร็วต่ำ
อยู่นิดนึงเหมือนกัน แม้จะไม่มากนักก็เถอะ
ที่สำคัญ หน้าตาของคันเร่ง ชวนให้นึกถึง แป้นคันเร่ง เบรก คลัชต์ ของ รถ Volkswagen Beetle
รุ่น Original ยุคปี 1960 ที่ผมเคยลองขับมาก่อนไม่มีผิด!
ประเด็นต่อไป สิ่งที่ Toyota อยากให้จับสัมผัสกัน ก็คือ เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างตัวถัง และ
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลังเป็นแบบ ทอร์ชันบีม ตามเคย
แต่มีการปรับจูนใหม่ ให้ลดอาการสะท้านสะเทือน (Harshness) ลงมาอย่างชัดเจนในรุ่น G
แต่ ในรุ่น S จะมีการเซ็ตให้แข็งขึ้นกว่ารุ่น G นิดนึง
ผมยังไม่ได้ลองขับรุ่น S แต่สำหรับรุ่น G ที่คาดว่า ผู้คนส่วนใหญ่น่าจะซื้อรุ่นนี้ รวมทั้งรุ่น J
อันเป็นรุ่นพื้นฐาน ทั้ง 2 Grade นี้ จะเซ็ตระบบกันสะเทือนมาเหมือนกัน ดังนั้น ผมบอกได้
ว่า Toyota เซ็ตช่วงล่างมาได้ดีขึ้นจริงๆ
ช่วงแรกที่ผมเป็นผู้โดยสาร นั่งข้างคนขับ บรรยากาศในการเดินทางมัน Peaceful ในระดับ
ราคาของรถ เลยจริงๆ ผมไม่รู้สึกอึดอัด หรือนั่งไม่สบายใดๆทั้งสิ้น ถ้าปรับเบาะเอนนอนได้
ผมคงทำไปแล้ว (พอดี ผมไม่ใช่คนชอบนอนหลับบนรถ ถ้าไม่เพลียหนักๆจริงๆ)
และต่อให้ย้ายมานั่งในตำแหน่งผู้ขับขี่ บอกได้เลยว่า ทุกโค้ง ทุกพื้นผิวที่ไม่เรียบ ช่วงล่าง
ขอ Vios รุ่น G ใหม่ พยายามดูดซับให้ขึ้นมารับรู้ถึงผู้ขับขี่น้อยลงกว่าเดิมชัดเจน ส่วนการ
เอียงตัวของรถ ขณะเข้าโค้ง ยังพอกันกับรุ่นเดิม อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยอมรับได้
แต่สิ่งที่ผมยังติดใจอยู่ ก็คือ พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า
EPS (Electronics Power Steering) นี่แหละครับ วิศวกรเขาบอกว่า ได้ปรับอัตราทดเฟือง
พวงมาลัยใหม่ และปรับการตอบสนอง ให้เฉียบคม กระชับขึ้น
เอาละ ไม่เถียงครับว่า มันดีขึ้นอยู่นะ เลี้ยวได้ดี กระชับขึ้นนิดนึง On-center Feeling ใน
ช่วงความเร็ว 120 -130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ไว้ใจได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม เพียงแต่ผมมองว่า
ระยะห่างของพวงมาลัย จากคอพวงมาลัย จนถึงชุดมาตรวัด ที่ดูเหมือนจะสั้นไปสักนิด
มีส่วนทำให้ผู้ขับขี่ ไม่คิดว่ามันมีการปรับปรุงมาแล้ว มันเป็นปัญหาทางการรับรู้ของ
แต่ละปัจเจกชนด้วยส่วนหนึ่ง เป็นความรู้สึกเฉพาะของแต่ละบุคคล
แต่วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ไม่ยากคือ ทำพวงมาลัยให้สามารถปรับระดับใกล้ – ห่าง จากตัว
ผู้ขับขี่ ไม่ต้องมาบอกผมนะครับว่า ใส่ไปแล้ว ทำให้ต้นทุนมันเพิ่มขึ้นเยอะ เพราะจะ
เจอผมถามสวนกลับไปว่า แล้วทำไม Honda City เขาถึงทำได้ละ? แคใส่มาในรุ่น S
กับรุ่น G เพิ่มราคาเข้าไปอีกสัก 3,000 บาท มันจะยากเย็นแสนเข็ญอะไรขนาดนั้น?
อย่างไรก็ตาม ต่อให้แก้ปัญหานี้ไป การตอบสนองของพวงมาลัย ก็ยังทำได้แค่ ดีขึ้นกว่า
รุ่นปี 2007 ยังไม่อาจเทียบได้กับ พวงมาลัยแร็คแบบ ไฮโดรลิก ของ Vios รุ่นปี 2002
อันน่าถวิลหานั่น อยู่ดี! นั่นคือพวงมาลัยรถเก๋ง B-Segment ชั้นครู ที่แม้แต่ Toyota เอง
ก็ยังไม่อาจเซ็ตพวงมาลัยไฟฟ้าของตน ให้ดีเทียบเท่าได้ หากต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุน
กันมากขนาดนี้ ผมว่า ลองศึกษาพวงมาลัยของ Camry ใหม่ มาปรับประยุกต์กับ Vios
ดูบ้างก็ดีนะ
ระบบห้ามล้อ ในรุ่น S และ G เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ แต่ถ้าเป็นรุ่น E และ J จะยังคงเป็น
แบบ หน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก มีการปรับปรุง Air Valve ให้เป็นแบบ dual Cervo
เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเบรกให้ดีขึ้น เสริมการทำงานด้วย ระบบป้องกันล้อล็อก ขณะ
เบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนัก
บรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะ
ฉุกเฉิน Brake Assist มีให้ครบในรุ่น S G และ E แต่ไม่มีในรุ่น J อันเป็นรุ่นพื้นฐาน
ภาพรวม ถือว่าตอบสนองได้ดี หน่วงความเร็วได้ในระดับปานกลางค่อนข้างดี ขณะใช้
ความเร็วไม่สูงนัก สามารถชะลอรถให้ช้าลง และหยุดอย่างเนียนๆ ได้โดยไม่มีอาการ
กระตุกกระชาก ก็ไม่ยาก และถ้าเจอกรณีฉุกเฉิน เช่นที่เราเจอกันมา นั่นคือการหักหลบ
รถกระบะห้องเย็น ล้อหน้าขวาหักกระทันหัน จอดอยู่ริมเส้นทางฝั่งขวา ของถนนสาย
ธนบุรี-ปากท่อ ระบบเบรกก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่า สามารถพาผู้ขับขี่ผ่านวิกฤติได้ดี ถ้าหาก
ผู้ขับขี่ มีสติและมองเส้นทางข้างหน้า ระยะไกล
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ส่วนที่ปรับปรุงแล้วดีขึ้น ก็ดีขึ้นจริงๆ แต่ส่วนที่ยังต้องปรับปรุงต่อหนะ ก็ยังมีอีกนะ
การเปลี่ยนโฉมใหม่ให้กับ Vios ครั้งนี้ คงต้องบอกกับคุณผู้อ่านกันอย่างตรงไปตรงมา
เหมือนเช่นเคย ว่าเป็นการปรับปรุง Vios รุ่นเดิม เพื่อให้สามารถรักษาบรรลังก์แชมป์
ยอดขายรถยนต์นั่ง อันดับ 1 ในเมืองไทย ต่อไปให้ได้ ด้วยการนำ Vios รุ่นเดิมมา
วิเคราะห์ และค้นหาความต้องการของลูกค้าว่า สิ่งใดที่ผู้บริโภคต้องการให้เปลี่ยน
แน่นอนครับ เปลือกตัวถังใหม่ ที่แข็งแหร่ง น้ำหนักเบา การเซ็ตช่วงล่าง พวงมาลัย
เบาะนั่ง อุปกรณ์ต่างๆ ที่ลูกค้าอยากได้ ก็ถูกติดตั้งเสริมเข้าไป จน Vios ดูดีขึ้น หล่อ
และหนุ่มขึ้นกว่าเดิม บังคับควบคุมได้ดีขึ้นนิดนึง แต่ให้ความสบายในการเดินทาง
ระยะไกล ดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับรถรุ่นก่อน มันน่าใช้ขึ้นกว่าเดิม ในหลายประเด็น
โดยเฉพาะเรื่องช่วงล่าง ที่นุ่มสบายสมราคาขึ้น เดินทางไกลสบายขึ้น เบาะนั่งดีขึ้น
มาพร้มกับการตอบสนองของเครื่องยนต์และเกียร์ลูกเดิม ที่หลายคนคุ้นเคย
แต่ส่วนที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงเพิ่ม ก็มีให้เห็นเช่นเดียวกัน เบื้องต้นนี่ ก็มีอยู่หลายจุด
– เช่นเรืองการควบคุมพวงมาลัย และตำแหน่งของมัน ซึ่ง อาจยังไม่ลงตัวนักสำหรับคนส่วนใหญ่
วิธีแก้ก็ไม่ยาก แค่เพิ่มพวงมาลัยแบบปรับระดับ ใกล้ – ห่างออกจากตัวผู้ขับขี่ ไม่ต้องมานั่งกังวล
เรื่องต้นทุนกันนักหรอก แค่ใส่ในรุ่นท็อป มันจะแพงขึ้นเท่าไหร่กันเชียว แพงก็บวกเพิ่มเข้าไป
3,000 บาท อย่างที่บอก แค่นั้นเอง แล้วก็พยายามปรับพวงมาลัย โดยดูคู่แข่ง และ Toyota Camry
ใหม่ รวมทั้ง Chevrolet Sonic เอาไว้เป็น Benchmark
– ช่องวางของ ใต้เครื่องปรับอากาศ ทำมาทั้งที เจาะช่องให้มันใส่ของได้ใหญ่กว่านี้ไปเลย
ไม่งั้น ปิดมันทิ้งเสียยังจะดีกว่า
– เบาะหลังนั่งดีขึ้น แต่หัวติดเพดาน ถ้าคุณสูง เกิน 170 เซ็นติเมตร สงสัยต้องรอแก้ในรุ่นต่อไป
– เข็มขัดนิรภัย คู่หน้า ควรจะปรับสูง – ต่ำมาให้ ก็ไปถอดทิ้งซะงั้น แต่ดันใส่เข็มขัด 3 จุด ให้
ผู้โดยสารเบาหลัง ทุกตำแหน่ง เออ มึน งง ฮา ดีจริงๆ
สรุปกันสั้นๆ คือ “ไปเพิ่มคุณค่า ในจุดที่ลดต้นทุนก็ได้ แต่ดันไปลดต้นทุนในจุดที่ไม่น่าจะลด ซะงั้น!”
ถ้าถามผมว่า Vios ยังคงความน่าซื้อหามาขับขี่ใช้งานอยู่ไหม? ผมบอกได้เลยว่า มัน OK ขึ้น
กว่ารุ่นเดิมชัดเจนมากพอที่ผู้บริโภค ซึ่ง หวาดหวั่นกับแบรนด์ทางเลือกระดับมวยรอง และยัง
มั่นใจกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota หรือ Honda เท่านั้น สามารถตัดสินใจซื้อหามาขับ
ได้ตามเคยอยู่ดี อาจมีบางข้อที่ตะขิดตะขวงใจบ้าง แต่ก็เชื่อว่า ถ้าทำใจยอมรับได้ ก็สิ้นเรื่อง
กระนั้น ถ้าถามผมว่า แล้วสมรรถนะเป็นอย่างไร อัตราการสิ้นเปลืองเป็นอย่างไร ตอบได้ทันที
ในตอนนี้ว่า “ยังไม่ได้ลอง ยังไม่มีโอกาสได้ลอง”
ไว้ต้องรอให้ Toyota พร้อมส่งรถมาให้เราทำบทความ Full Review กันอย่างเต็มที่อีกครั้ง
เมื่อถึงเวลานั้น ผมคงจะตอบคำถามคุณผู้อ่าน ได้เต็มปากกว่านี้
—————————///————————-
ขอขอบคุณ
คุณบุญชวน วิภูษณวนิช , คุณมหาสมุทร สายสวรรค์
รวมทั้ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และ ฝ่ายบริการเทคนิค
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
28 พฤษภาคม 2013
Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 28th,2013
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ ฝ Comments are Welcome! CLICK HERE