ในบูธ Nissan กลางงาน Tokyo Motor Show 2011 รอบสื่อมวลชน
30 พฤศจิกายน 2011

ผมเจอคุณ ชนกนันท์  เตชะภัทรพร หรือคุณ “ตาเล็ก” ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Nissan
ซึ่งพาสื่อมวลชนไทย (กลุ่มหนังสือพิมพ์) จำนวน 5 คน ไปชมงานแสดงรถยนต์รายการใหญ่ประจำปี
ที่ญี่ปุ่น ในบูธของ Nissan นั่นละ ก็เลยได้พูดคุยกันนิดหน่อย

รู้อยู่แล้วละว่า Nissan คงไม่ชวนผมมาร่วมงาน Tokyo Motor Show อย่างแน่นอน ไม่ว่าครั้งนี้ หรือ
ครั้งต่อๆไป ในเมื่อ งบประมาณมีไม่มากนัก พามาได้แค่ 5 คน และเขาจำเป็นจะต้องเลือกสื่อที่คิดว่า
น่าจะช่วยในการสื่อสารไปยังกลุ่มมวลชนได้ดีกว่า สื่ออย่าง Website ใน Internet……

ซึ่งถึงแม้จะเสียดายอยุ่บ้าง ในฐานะคนชอบแบรนด์ Nissan มาตั้งแต่เด็ก ในครอบครัวของเรา ก็อุดหนุน
ตระกูล Sunny / Sentra ถึง 5 คัน จากทั้งหมด 5 Generation แล้วมันก็เป็นความฝันมาตั้งนานแล้วของผม
ที่อยากหาโอกาสไปดูศูนย์ออกแบบ และพัฒนารถยนต์ของ Nissan โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลังเก็บรถ Zama
ซึ่งเต็มไปด้วย Nissan รถยนต์รุ่นเก่าๆ ที่ผมโปรดปรานมากมาย อยากจะไปดูสักครั้ง อยากจะไปกรี๊ดดังๆ
ที่นั่นสักครั้ง ให้สาแก่ใจ เพราะไม่ง่ายเลยที่เขาจะเปิดให้ใครได้เข้าไปดูกัน ต่อให้มีปัญญาไปญี่ปุ่นเอง
แต่จะเข้าไปดูง่ายๆ ทาง Nissan ญี่ปุ่น เขาก็คงไม่ให้เข้า ก็พอจะเข้าใจ ต้องทำใจ และคิดว่า ไม่เป็นไร

กระนั้น ขนาดผมไปญี่ปุ่น เพียงลำพัง ผมก็ยังอุตส่าห์แวะไปซื้อ รถ Model Car 1/43 ที่โชว์รูม Nissan
Gallery กลางสี่แยก Ginza ใน Tokyo หอบกลับมาบ้านถึง 3 คัน ก็ด้วยความช่วยเหลือ พูดคุยไต่ถาม
กับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นของคุณพี่ตาเล็ก นั่นละครับ ถึงได้รู้ว่า ผมควรจะเดินทางไปอย่างไร และเหลือของ
ที่ผมต้องการอยู่ที่นั่นบ้างหรือไม่

คงเพราะอานิสงค์นี้กระมัง พอกลับมาเมืองไทย เพียง 4-5 วันหลังจากนั้น คุณพี่ “ตาเล็ก” ก็ส่ง E-mail
มาหา บอกว่า ชวนไปเข้าร่วมการอบรมเทคโนโลยี รถยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมกับทดลองขับ Nissan
LEAF….

ดีใจ ! ช่างรู้ใจเราเป็นยิ่งนัก!

อันที่จริง ผมก็เคยขึ้นไปนั่งเล่นบนเจ้า LEAF มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อช่วงงาน Bangkok International
Motor Show กับทีมน้องๆ The Coup Channel ของเรา เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ที่ผ่านมานี้เอง และผม
ค่อนข้างชื่นชอบบรรยากาศภายใน และคุณภาพการประกอบอย่างมาก ได้แต่คิดเอาไว่ว่า สักวันหนึ่ง
ต้องหาโอกาสลองขับ รถไฟฟ้าคันนี้ให้ได้

แล้วในที่สุด ฝันก็เป็นจริง ได้ลองขับสมใจอยาก  แถมคราวนี้ งานยังถูกจัดขึ้น ใกล้บ้านผมกว่าที่คิด…

โรงแรม Novotel สุวรรณภูมิ….

จัดงานที่นี่กันจริงๆหรือ? อู้วว!! ไม่เลวๆ 

ผมใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิบ่อยๆ เห็นอาคารโรงแรม Novotel แห่งนี้ หลายครั้ง เคยคิดเล่นๆ
ว่า คงมีสักวันที่จะได้เข้าไปใช้บริการ แต่ไม่นึกว่าจะเป็นวันนี้ และเป็นกิจกรรมของ Nissan

งานนี้ Nissan เตรียม LEAF ไว้ใเราสัมผัสกันถึง 3 คัน โดย 2 คัน คือรถที่จะใช้ในการทดลองขับจริงๆ
และอีกคันหนึ่ง จะเป็นรถยนต์สำหรับจัดแสดงเอาไว้ด้านหน้าห้องสัมมนา เพื่อการถ่ายบันทึกภาพ
เพราะงานนี้ นอกเหนือจากจะมีสื่อมวลชน 5 ราย (รวมทั้ง Headlightmag.com ของเรา) ในการสัมมนา
รอบบ่ายแล้ว ยังมี คณาจารย์ และนิสิต นักษึกษา จากทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้ง มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒน์ประสานมิตร รวม 30 คน มาร่วมงานสัมมนาใน
รอบเช้าอีกด้วย

แน่นอน Headlightmag.com ของเรา ไม่ใช่สื่อมวลชนไทยรายแรกที่มีโอกาสได้ทดลองขับ และทำรีวิว
รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ เพราะก่อนหน้านั้น ผู้นำเข้ารายย่อย ตัดสินใจสั่งนำเข้า Nissan LEAF มาขาย และ
ส่งให้นิตยสารรถยนต์ในบ้านเราบางเล่ม ทำบทความรีวิวกันไปแล้ว

ดังนั้น คราวนี้ก็คงเป็นอีกมุมมองหนึ่งจากผม ในฐานะที่เคยทดลองขับ รถยนต์พลังงานแปลกใหม่
มาแล้วมากมายหลายคัน ตั้งแต่ Hybrid , EV , Fuel Cell และน่าจะเป็นมุมมองที่พอจะตอบคำถาม
ให้ทั้งคุณผู้อ่าน และสาธารณชนได้ว่า Nissan ควรจะทำอย่างไรกับอนาคตรถยนต์พลังไฟฟ้าต่อไป
อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ…

Nissan ควรจะสั่งนำเข้า LEAF มาเปิดตลาด ขายเองหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด?

Nissan LEAF ถือเป็นความก้าวหน้าระดับก้าวกระโดด ของโครงการพัฒนารถยนต์ พลังไฟฟ้า ให้ตอบสนอง
ความต้องการใช้งานของผู้คน ในโลกแห่งความจริง ได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งในด้านความสะดวกสบาย
ในการขับขี่ การโดยสาร การสื่อสาร ความสะดวกในการชาร์จไฟ และการบำรุงรักษา อีกทั้งยังควบคุมอุปกรณ์
ต่างๆ อย่างง่ายดาย

ชื่อรุ่น “LEAF” หนะ แปลว่า ใบไม้ ขณะเดียวกัน มันก็มาจากแนวคิดพื้นฐานในการสร้างรถยนต์คันนี้ ที่ทีม
วิศวกรของ Nissan กำหนดไว้แต่แรกแล้วว่า จะต้องเป็น “Leading, Environmentally friendly, Affordable,
Family car” หรือรถยนต์ครอบครัวที่เป็นผู้นำทั้งในด้านเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งต้องมีราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ สะท้อนความหมาย ถึงจุดแข็งของตัวรถเอง

LEAF ไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ Nissan ผลิตขึ้น เพื่อจำหน่ายจริง เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ หากนับย้อนไป
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่ รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของ Prince Motor (ซึ่งมารวมเข้ากับ Nissan เมื่อปี 1968)
ในชื่อ Tama ออกสู่ตลาดในปริมาณไม่มากนัก รถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นทุกคัน ถึงจะมีการผลิตออกจำหน่ายอยู่บ้าง
แต่ก็ยังถือว่าเป็นเพียงการทดลอง มากกว่าจะเป็นการผลิตขายจริงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เท่าโครงการ LEAF
ในทุกวันนี้ เรื่องราวความเป็นมาในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ของ Nissan หาอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่ Click Here!

Nissan เปิดตัว LEAF สู่สาธารณชนครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2009 ที่อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ
Nissan ใจกลาง Yokohama โดยโรงงาน Oppama ในดเมือง Yokosuka จังหวัด Kanagawa ชานกรุง Tokyo
อันเป็นโรงงานเก่าแก่ที่ผ่านเรื่องราวในยุครุ่งเรืองของอดีตมามากมาย ถูกปรับพื้นที่ และสายการผลิตบางส่วน
เพื่อรองรับการผลิต รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้โดยเฉพาะ นับตั้งแต่เปิดตัว จนถึงวันนี้ Nissan ทำยอดขาย LEAF
ไปแล้วมากถึง 20,000 คัน ในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา กับอีก 2,000 คันในยุโรป ตัวเลขนี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้น
เรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

LEAF เคยถูกนำมาอวดโฉมในเมืองไทยแล้วครั้งหนึ่ง ในงาน Bangkok International Motor Show เมื่อ
เดือนมีนาคม 2011 ที่ผ่านมา และขณะนี้ Nissan เองกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อจะนำ
LEAF เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย อย่างจริงจัง แต่นั่นก็คงต้องรอกันอีก 2-3 ปีเลยทีเดียว

จุดเด่นสำคัญของ LEAF ที่ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก มีอยู่ 5 ประการ คือ
1. ระบบขับเคลื่อน ที่จะไม่มีการปล่อยมลพิษสู่โลกเลย อย่างสมบูรณ์แบบ (Zero Emission)
2. ราคาเหมาะสม ที่ง่ายต่อการเป็นเจ้าของ
3. การออกแบบที่ดึงดูดใจ
4. สามารถแล่นใช้งานได้ยาวไกล ถึง 160 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง 
5. เชื่อมต่อเข้ากับระบบ จัดการจราจรอัตโนมัติ Advanced intelligent transportation (IT) ได้

เมื่อมองจากภายนอก LEAF จะมีรูปลักษณ์เป็นรถยนต์นั่ง Hatchback 5 ประตู 5 ที่นั่ง ระดับ Compact ที่สร้างขึ้น
บนโครงสร้างวิศวกรรมใหม่หมดจด”ทั้งคัน” และใช้ พื้นตัวถังหรือ Platform แบบแรกในโลก ที่ออกแบบมาเพื่อ
ให้ใช้กับรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนๆ 100% สำหรับผลิตขายจริงในปริมาณมากๆ โดยเฉพาะเท่านั้น

LEAF มีความยาวทั้งคัน 4,445 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร (กว้างกว่า Honda Civic FD) สูง 1,550 มิลลิเมตร
และมีระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร (เท่า Honda Civic FD) น้ำหนักรถเปล่าอยู่ที่ 1,520 กิโลกรัม ผู้โดยสาร
นั่งได้ 5 คน และน้ำหนักรวมการบรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระทั้งหมด จะอยู่ที่ 1,795 กิโลกรัม

ดูจากขนาดตัวถังแล้ว ถือว่า LEAF อยู่ในพิกัด C-Segment Compact Hatchback เช่นเดียวกับ Volkswagen Golf ,
Toyota Corolla 5 Door (Auris) , Mazda 3 / Axela 5 Door , Mitsubishi Lancer EX  / Galant Fortis Sport Back ,
Chevrolet Cruze 5 Door , Ford Focus Hatchback ฯลฯ

แต่คู่แข่งที่แท้จริงของ LEAF หนะหรือ? Toyota Prius ทั้งแบบ Hybrid มาตรฐาน และแบบ PHV (Plug-in Hybrid)
ซึ่งเพิ่งจะออกสู่ตลาดญี่ปุ่น เดือนธันวาคม 2012 นี้เอง กับ Chevrolet Volt รถยนต์ไฟฟ้า แบบ Extended range
ต่างหาก!

รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบให้ เน้นการไหลของอากาศ อย่างราบรื่นที่สุด ส่วนใต้ท้องรถ มีการนำวัสดุมาปิดทึบ
เพื่อให้แบนราบที่สุด ให้อากาศไหลผ่านได้โดยไม่มีการสะดุด ซึ่งจะช่วยลดเสียงรบกวนจากกระแสลม และจาก
ใต้ท้องรถในทางอ้อม ชุดไฟหน้า ออกแบบให้ลดการต้านลม และช่วยเบี่ยงอากาศ ไม่ให้ไหลกระทบบริเวณกระจก
มองข้างมากนัก ทำให้เสียงรบกวนจากกระแสลม ที่ไหลผ่านบริเวณ กระจกมองข้างจะลดน้อยลง

ด้านข้าง มีแนวเส้นสายที่ไหลลื่นต่อเนื่องกันไปตั้งแต่ชุดไฟหน้า จรดบั้นท้าย อันเป็นอีกจุดเด่นของงานออกแบบ
ใน LEAF ชุดไฟท้าย LED แนวยาว ช่วยเพิ่มบุคลิกล้ำอนาคตให้กับตัวรถ แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็ชวนให้ระลึกถึง
Renault Avantime มินิแวน 2 ที่นั่ง รุ่นล้ำยุคเกินเหตุ และไม่ประสบความสำเร็จนักของ Renault เมื่อปี 2002
ไปด้วยเช่นเดียวกัน

แต่พูดก็พูดเถอะ ล้ออัลลอย 16 นิ้วลายนี้ ชวนให้นึกถึง ล้ออัลลอยของ Nissan Fairlady Z 300 ZX Z32 รุ่นปี
1991 ชะมัดเลยแหะ ทำไมมันช่างคล้ายกันจนราวกับว่าเอาของเก่าในคลังอะไหล่ มาใช้ใหม่ ทั้งที่ความจริง
ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด

การเข้า – ออกจากรถ ใช้กุญแจรีโมทแบบ Smart Key เหมือนเช่น Nissan Teana , March และ Almera รุ่นท็อป
พกรีโมท เดินเข้าใกล้รถ แล้วกดปุ่มบนมือจับประตู ก็สามารถดึงเปิด หรือล็อกประตูรถได้แล้ว

เมื่อเปิดประตูคู่หน้า จะพบว่า บรรยากาศในห้องโดยสารนั้น ชวนเชื้อเชิญให้เข้าไปสัมผัสมากๆ การเข้า – ออก
จากตัวรถ ทำได้ง่าย เมื่อเข้าไปนั่ง คุณแทบไม่ต้องกังวลว่า หัวจะติด หรือไปโขกกับขอบหลังคาด้านบนหรือไม่
แผงประตูด้านข้าง ถูกออกแบบเพื่อให้มีพื้นที่วางแขนได้ดี เพียงแต่ว่า สำหรับผมแล้ว ตำแหน่งพื้นที่วางแขน
เตี้ยกว่าระดับที่ผมจะวางแขนได้สบาย นิดนึง ไม่เยอะนัก มีการตกแต่ง พื้นผิวบริเวณรอบสวิชต์กระจกหน้าต่าง
ไฟฟ้า ด้วยพลาสติกพิเศษ สีดำเงา ให้สัมผัสที่ดูหรูขึ้นมานิดๆ บานประตูมีน้ำหนักเบา เสียงปิดประตู ก็อยู่ใน
ระดับเดียวกับรถยนต์ประกอบในญี่ปุ่นทั่วไป คือค่อนข้างดี

ภายในห้องโดยสาร ของ LEAF ตกแต่งในแนวแปลกตา โดยใช้โทนสีครีมขาว งาช้าง เป็นหลัก เบาะนั่งหุ้มด้วย
ผ้าที่ให้สัมผัสนุ่มนวล ละมุนมาก ใกล้เคียงกับผ้าหนังกลับสังเคราะห์ Alcantara พอสมควรเลยทีเดียว

ตำแหน่งเบาะนั่ง ถือได้ว่า ออกแบบมาตามหลักสรีรศาสตร์ เบาะคู่หน้า นั่งได้สบาย เต็มก้น เพียงแต่ว่า ปรับระดับ
สูง – ต่ำไม่ได้ สิ่งที่ปรับได้ก็คือ องศาการเอียงของเบาะรองนั่ง ว่าจะให้ยกระดับช่วงต้นขา สูง หรือต่ำลง แค่ไหน
พนักพิงหลัง นั่งสบายมาก หากขับทางไกล ก็ไม่น่าจะมีอาการปวดหลังแต่อย่างใด พื้นที่เหนือศีรษะ ถือว่า มีมาก
พอใช้ได้ ไม่ก่อความอึดอัดขณะเดินทาง หรือขับขี่ เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับ
ระดับสูง – ต่ำได้ พร้อมระบบดึงกลับอัตโนมัติ และผ่อนแรงปะทะ Pre-tensioner และ Load Limiter ในตัว

ฝาช่องวางของ ที่คั่นกลางระหว่างเบาะคู่หน้า เป็นพื้นที่วางแขนในคตัว บุด้วยผ้าแบบเดียวกับเบาะนั่ง ให้สัมผัส
นุ่มสบาย แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า ถึงแม้ LEAF จะโดดเด่นมากในเรื่อง Perceived Quality หรือสัมผัสแห่งการรับรู้
ด้านคุณภาพ ของผู้ที่ได้เข้ามาพบและทดลองกับรถคันจริง เพราะวัสดุที่ใช้นั้น ให้พื้นผิวที่่บอกได้เลยว่า ดีเยี่ยม
ราวกับรถยนต์ราคาแพง (ยกเว้น พื้นผิวของ วงพวงมาลัย) แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยโทนสีสว่าง สะอาดตานั้น กลับ
พร้อมเป็นรอยสกปรกได้ง่าย หากขาดความเอาใจใส่และระมัดระวังของผู้ที่จะลองขับ หรือผู้เป็นเจ้าของ มาใน
แนวเดียวกับ Teana รุ่นปัจจุบัน ดังนั้น อยากจะให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้งาน เพื่อรักษาความสะอาด
สวยงามให้อยู่กับตัวรถต่อไป

การเข้าออกจากประตูคู่หลัง ทำได้สะดวกสบายดี หัวของผม ไม่โขกกับกรอบประตูด้านบนแต่อย่างใด แผงประตู
ด้านข้าง วางแขนได้ในระดับพอดีๆ ส่วนที่วางแขน จะบุด้วยผ้า เหมือนผ้าเบาะ และมีช่องใส่ขวดน้ำขนาดเล็ก
มาให้อีก ต่างหาก บานประตูเปิดกางออกได้กว้างในระดับเดียวกับรถยนต์ทั่วไป กางได้ 2 จังหวะ เสียดายนิดเดียว
ที่ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ของบานประตูคู่หลัง เปิดลงได้เกือบสุด เหลือขอบมุมบนไว้เล็กน้อย

เบาะหลังนั่งสบาย มีพื้นที่เหนือศีรษะเหลือพอประมาณ ใกล้เคียงกับ TIIDA Hatchback แต่ไม่เตี้ยเกินไปอย่าง
Almera ใหม่ ก็แล้วกัน เบาะรองนั่ง รองรับบั้นท้ายของผมได้เกือบเต็มขา ขาดอีกนิดเดียว แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่
พนักพิงหลัง พิงสบายกำลังดี พนักศีรษะก็ไม่ตำส่วนท้ายทอยเหมือน พนักศีรษะรูปตัว L ในรถยนต์ท้ายตัดอื่นๆ
มีเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุดมาให้ ทุกตำแหน่ง มีมือจับบนเพดานหลังคามาให้ครบ แต่ไม่มีพนักวางแขนกลาง
แบบพับเก็บได้บนพนักพิงเบาะหลัง พื้นที่วางขา มีมาให้เยอะ พอกันกับ TIIDA Hatchback แต่ต้องปรับเบาะหน้า
ให้ดีๆ จึงจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ เบาะหลังยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระด้านหลัง ฝาประตู
ห้องเก็บของ เปิดยกขึ้นได้ และค่ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิก ฝั่งละ 1 ต้น รวม 2 ต้น ช่องทางเข้าดูเหมือนจะใหญ่
แต่ความจริงแล้ว ปลายฐานช่องทาง จะแคบนิดนึง อาจต้องยกข้าวของสูงขึ้นเพื่อจะจับใส่ท้ายรถได้ โดยไม่ขูด
กับเปลือกกันชนหลัง มีช่องมือจับที่แผงประตูด้านใน สำหรับดึงฝาประตูปิดลงมา และใช้ระบบกลอนไฟฟ้าเพื่อ
ล็อกบานประตู เหมือนกับทั้ง 4 บานที่เหลือ

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดใหญ่กว่า TIIDA 5 ประตู เล็กน้อย สิ่งที่แปลกตาอยู่บ้างก็คือ กระเป๋าสีดำ
สำหรับชุดชาร์จไฟ ที่แถมมาให้จากโรงงาน ทุกคัน สำหรับไว้เสียบเชื่อมต่อกับปลั๊กไฟบ้าน ซึ่งจะมีเครื่องควบคุม
การจ่ายไฟ ขนาดเล็กมาให้ด้วย

LEAF ไม่มียางอะไหล่ แต่มีชุดปะยางด้วยตัวเอง Repair Tyre Kit จาก Continental มาให้ ติดตั้งซ่อนอยู่ในผนัง
พลาสติกฝั่งซ้ายของห้องเก็บของ มีฝาปิดเรียบร้อยอย่างดี  ซึ่งก็ชวนงุนงงนิดหน่อย เพราะว่า ยางติดรถยนต์จาก
โรงงานนั้น เป็น Bridgestone ECOPIA คืออันที่จริง ชุดคิท ปะยาง ก็ใช้ร่วมกันได้ละ แต่แค่งงว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ
ทำไมไม่ใช้ยี่ห้อเดียวกันไปเลยให้หมดเรื่อง

แผงหน้าปัด สไตล์โค้งมน ออกแบบให้ดูเป็นรถยนต์ที่มาจากยุคอนาคต แต่กลับใช้งานง่าย ไม่ยากนัก ตกแต่งด้วย
สีงาช้าง ตัดกับพลาสติกเคลือบเงาสีดำ แผงควบคุมกลาง ออกแบบมา จนชวนให้นึกถึง โทรศัพท์ iPhone หรือ iPad
ที่แปะเอาไว้ กลางแผงควบคุม เน้นความสะดวกในการใช้งาน และรองรับการเชื่อมต่อระบบ Advanced intelligent
Transportation (IT) ได้อย่างเต็มที่

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน พร้อมสวิชต์ Multi Function สั่งการ และควบคุมการทำงานชุดเครื่องเสียง และอุปกรณ์
ภายในรถ คันเกียร์ มาในรูปแบบ Mouse ของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีขนาดเล็ก จับกระชับมือ ชวนให้นึกถึง คันเกียร์
ที่พบได้ในรถไฟฟ้า Mitsubishi i-MiEV ที่ผมเคยลองขับเมื่อปีก่อน ส่วนเบรกมือ เป็นสวิชต์ไฟฟ้า แบบเดียวกับ
Lexus LS460 , BMW รุ่นใหม่ๆ ทั้ง ซีรีส์ 5 6 หรือ 7 , ตระกูล Land Rover รุ่นใหม่ๆ ทุกรุ่น ฯลฯ มีไฟอ่านแผนที่
เหนือกระจกมองหลัง ในแผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้ามาให้ มือจับเปิดประตูแบบโครเมียม สวิชต์กระจกหน้าต่าง
ไฟฟ้า มีมาให้ทั้ง 4 บาน แต่เป็นแบบ One Touch กดและดึงขึ้นครั้งเดียว ได้เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น กระจกมองข้าง
ใช้สวิชต์แบบลูกเต๋า การติดเครื่อง เพื่อออกรถ ต้องเหยียบเบรก แล้วค่อยกดปุ่ม Power สีแดงส้ม เพื่อเปิดระบบ และ
ถ้าจะออกจากรถ ก็ควรกดปุ่มสีแดงส้ม อีกครั้งหนึ่ง เพื่อปิดระบบทั้งหมด (ก็เหมือนการติดหรือดับเครื่องยนต์ใน
รถยนต์ทั่วไป แบบที่ใช้ปุ่ม Push Start นั่นละครับ)

ผมไม่เข้าใจอยู่เรื่องหนึ่ง ทำไม Nissan ถึงยังคงกั๊ก พวงมาลัยแบบปรับระยะห่าง ใกล้ – ไกล จากตัวผู้ขับขี่
เอาไว้ ให้มีแต่เฉพาะใน รถยนต์หรูอย่าง Fuga / Fuga HYBRID และ GT-R ทำไมอุปกรณ์ที่สมควรจะ
เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานในรถยนต์ทุกรุ่นได้แล้ว ถึงยังไม่มีติดตั้งมาให้เสียที ขนาด Nissan Teana รุ่น
ที่จำหน่ายในญี่ปุ่น ก็ยังไม่มีมาให้เลย ไม่เข้าใจอย่างยิ่ง ใครก็ได้ที่ทราบ ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจทีเถอะ
เพระาแม้แต่ LEAF ก็ยังไม่มีพวงมาลัยแบบปรับระยะได้อย่างนี้ มาให้เลย ไม่เข้าใจอย่างรุนแรง!

ชุดมาตรวัดความเร็ว และแสดงข้อมูลของตัวรถ มาในสไตล์ 2 ชั้น แบบเดียวกับ Honda Civic FD โดยด้านบน
แสดงความเร็วของรถ นาฬิกา เทอร์โมมิเตอร์บอกอุณหภูมิ ออกแบบให้ลดการละสายตาของผู้ขับขี่จากถนน
ข้างหน้า ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนหน้าจอด้านล่าง แถบฝั่งขวา บอกถึงปริมาณไฟฟ้าที่เหลืออยู่ ส่วน
แถบฝั่งซ้าย บอกอุณหภูมิของระบบแบ็ตเตอรี ตรงกลางด้านบน เป็นไฟสัญญาณบอกให้รู้ว่า ขณะนั้นใช้
ระบบอยู่ใน Mode ใช้งานขับเคลื่อน หรือ Mode ปั่นไฟฟ้าไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี หน้าจอตรงกลาง เป็นแบบ
Multi – Information Display แสดงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น

อ้อ! ก้านสวิชต์ไฟหน้า และไฟเลี้ยวต่างๆ ของ LEAF อยู่ฝั่งซ้ายนะครับ ส่วนก้านสวิชต์ใบปัดน้ำฝนและสวิชต์
ฉีดน้ำล้างกระจกหน้า จะอยู่ฝั่งขวามือ แปลกดีเหมือนกัน เหมือนทำออกมาเพื่อรถพวงมาลัยซ้าย แล้วไม่ยอม
เปลี่ยนสลับกลับข้างมาให้ เริ่มทำตัวเหมือน Subaru บางรุ่น เข้าไปอีกรายนึงแล้วเหรอเนี่ย?

แผงควบคุมตรงกลาง หน้าตาคล้าย iPad มีช่องแอร์ พร้อมสวิชต์ไฟฉุกเฉิน ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่
สะดวกต่อการใช้งาน ชุดเครื่องเสียง พร้อมหน้าจอ มอนิเตอร์ แบบ Touch Screen สวิชต์ระบบ
เครื่องปรับอากาศ ใช้งานง่าย ไม่ยาก อันที่จริง สวิชต์ที่มีให้กดใช้งาน มีไม่มากนัก แต่ด้วยการ
ออกแบบอย่างชาญฉลาด ทำให้หลายๆคนรู้สึกว่า มีปุ่มให้กดเยอะ และหลายฟังก์ชันการทำงาน
ช่องใส่แก้ว อยู่ที่ใต้แผงคอนโซลกลาง มีช่องเก็บของจุกจิกเล็กน้อย อยู่ใกล้กัน

จอมอนิเตอร์ สี แบบ Touch Screen จะทำหน้าที่แสดงผล เป็นหน้าจอให้ทั้งระบบเครื่องปรับอากาศ
ชุดเครื่องเสียง ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System พร้อม ระบบสื่อสารอัจฉริยะ
CARWINGS ที่จะช่วยให้การหาตำแหน่งเส้นทางต่างๆ รวมถึงการจองโต๊ะ จองโรงแรม การท่องเที่ยว
ทำได้ง่ายดายขึ้น ผ่านทางอุปกรณ์ในรถนี่ละ (แผนที่ในภาพนี้ เป็นของประเทศอังกฤษ เนื่องจาก
LEAF คันสีฟ้า ที่จัดแสดงอยู่นี้ เป็นรถยนต์ สเป็กสำหรับประเทศอังกฤษ)

นอกจากนี้ยังมีหน้าจอแสดง การใช้พลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบต่างๆ อ่านข้อมูลง่าย เข้าใจง่าย และ
ยังมีหน้าจอรับสัยาณภาพจากกล้อง ด้านหลังรถ เพื่อช่วยในการกะระยะขณะถอยรถเข้าจอดอีกด้วย
เชื่อมต่อกับเกียร์ถอยหลังนั่นเอง หน้าจอสามารถยกเลื่อน เพื่อใส่แผ่น CD/MP3 ได้

ทัศนวิสัยด้านหน้า ต้องบอกกันไว้ก่อนว่า มาในแนวทางคล้ายๆกับ Honda Civic FD คือ มีการออกแบบ
ให้มีเสาหลังคายื่นล้ำไปด้านหน้า และมีกระจกหูช้าง เสริมเข้ามา ระหว่างเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar
และบานประตูคู่หน้า

เหตุผลที่ทีมวิศวกรบอกมาก็คือ การออกแบบลักษณะนี้ จะช่วยทำให้เกิดความโปร่งตา ของพื้นที่ด้านหน้า
แม้จะมีเสาหลังคาคู่หน้ามาบดบังบ้าง แต่อย่างน้อย ก็ยังช่วยในการกะระยะได้อยู่ เช่นเดียวกับรถยนต์แบบ
Minivan อย่างไรก็ตาม ใครที่ชอบรถยนต์ซึ่งขับแล้วต้องมองเห็นฝากระโปรงหน้าตลอดเวลา อาจไม่ชอบ
รถยนต์ในยุคใหม่ๆเหล่านี้มากนัก ส่วนตัวผมเอง ก็ยังไม่ถือเป็นปัญหา จนกระทั่งเลี้ยวกลับรถ

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ในลักษณะนี้ อาจบดบัง ทัศนวิสัย ตอนที่คุณเลี้ยวออกจากซอยอยู่บ้าง
ทำให้ต้องระวังรถที่แล่นมาจากฝั่งขวามากขึ้น ต่อให้ LEAF จะมีกล้องถ่ายทอดสัญญาณภาพจากด้านหน้า
มาให้เลือกเป็นอุปกรณ์ติดตั้งพิเศษ (Dealer Option) ในญี่ปุ่น (แบบเดียวกับกล้องหน้ารถของ Isuzu D-Max
Super Titanium รุ่นสุดท้ายก่อนเปลี่ยนโฉม) ก็ยังต้องชะเง้อมองกันอยู่ดี

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ถึงจะทำให้ด้านหน้ารถดูโปร่งขึ้น แต่ก็ไม่มากมายเท่าที่ควร เพียงแต่
การเลี้ยวกลับรถ อาจจะพบการบดบังของเสาหลังคา ไม่ถึงกับมากนัก แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ยังไงๆ
เสาก็ยังคงมีมุมบดบัง รถที่แล่นสวนมาอยู่ดี

เช่นเดียวกับฝั่งขวา กระจกมองข้างฝั่งซ้าย หากขยายพื้นที่กระจกในแนวขวาง ให้กว้างขึ้นอีกสักหน่อย
จะลดจุดบอดได้ดีกว่าที่เป็นอยู่อีกพอสมควร

เสาหลังคา C-Pillar ด้านหลังมีขนาดใหญ่ และมีการบดบังรถจักรยานยนต์ ขณะแล่นขนาบข้างอยู่บ้าง
แต่โชคดีที่ กระจกบังลมหลัง มีขนาดใหญ่ และแอบช่วยให้การมองเห็นทัศนวิสัยด้านหลัง ดีขึ้นได้บ้าง
แต่การที่ LEAF มีกล้องถ่ายทอดสัญญาณภาพจากด้านหลังรถ แสดงผลผ่านหน้าจอชุดเครื่องเสียง พร้อม
ระบบนำทาง ก็ช่วยลดปัญหาการถอยหลังเข้าจอดลงไปได้พอสมควร แต่อย่าไว้ใจกล้องมากเกินไปครับ


********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ความแตกต่างของ LEAF จากรถยนต์แบบปัจจุบันที่ทุกคนรู้จักมักจี่คุ้นเคยกันดี ก็คือ ระบบขับเคลื่อน
และที่มาของพละกำลัง รวมทั้งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขับเคลื่อนนั่นเอง

หากเป็นรถยนต์แบบดั้งเดิม แน่นอนว่า ต้องมีเครื่องยนต์ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน มีระบบส่งกำลัง
เพื่อช่วยถ่ายทอดแรงม้า แรงบิด ไปยังล้อขับเคลื่อน จะเป็นล้อหน้า ล้อหลัง หรือ 4 ล้อ ก็ตามแต่
ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง และต้องมีน้ำมันหล่อลื่นกลไกในระบบต่างๆ แถมยังต้องมีหม้อน้ำเพื่อ
ระบายความร้อนในระบบ รวมทั้งมีท่อไอเสีย เพื่อปล่อยก๊าซพิษ อันเป็นของเสียที่เครื่องยนต์
ผลิตออกมาหลังจากได้กำลังขับเคลื่อนให้กับรถยนต์แล้ว มีระบบไฟฟ้า ไปเกี่ยวข้องแค่ในช่วง
ติดเครื่องยนต์ กับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า อำนวยควยามสะดวกในรถยนต์เป็นหลัก ก็เท่านั้น

แต่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แบบ EV (Electric Vehicles) นั้น เครื่องยนต์จะถูกถอดออกไป
โดยให้มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังขับสูง ทำหน้าที่ ขับเคลื่อนล้อหน้า ล้อหลัง หรือ 4 ล้อ แทน (ในกรณี
ของ LEAF เป็นรถยนต์แบบขับเคลื่อนล้อหน้าเท่านั้น) ส่วนเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการขับเคลื่อน
รถยนต์ ก็คือ ไฟฟ้า ล้วนๆ 100 เปอร์เซนต์ นั่นจึงทำให้ต้องมี แบ็ตเตอรี ขนาดใหญ่ ในการเก็บ
ไฟฟ้า เอาไว้สำหรับใช้ส่งให้กับมอเตอร์ไปหมุนล้อรถยนต์ นอกจากนี้ การควบคุมรถยนต์ ทั้ง
พวงมาลัย และระบบเบรก ก็ยังต้องใช้ระบบไฟฟ้า เข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลด
แรงเสียดทานต่างๆในระบบลงให้ได้มากที่สุด นั่นเท่ากับว่า ทุกระบบในรถยนต์ จะขึ้นอยู่กับ
ระบบไฟฟ้าล้วนๆ

LEAF ขับเคลื่อนล้อคู่หน้า ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นแบบ High-Response Synchronous AC Motor
รุ่น EM61 ให้กำลังสูงสุด 80 กิโลวัตต์ หรือ 109 แรงม้า (PS) ที่รอบตั้งแต่ 2,730 – 9,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร หรือ 28.6 กก.-ม. ที่รอบตั้งแต่ 0 – 2,730 รอบ/นาที ติดตั้งอยู่ที่ด้านหน้า

ใช้กำลังไฟจาก แบ็ตเตอรี Laminated Lithium-ion แบบบาง 48 Module 192 เซลส์ (Module ละ 
4 เซลส์) ขนาด 360V ให้พลังงานได้ 24 kWh (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) ซึ่งเป็นแบ็ตเตอรีที่ถูกพัฒนา วิจัย
และผลิตขึ้น จากความร่วมมือกันระหว่าง Nissan กับ บริษัท NEC โดยทีมวิศวกรของ Nissan ใช้เวลา
ในการพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแบบนี้ นานถึง 20 ปี ติดตั้งไว้ กับพื้นตัวถังรถ ใต้ห้องโดยสาร
ใต้เบาะนั่งผคู่หน้า และพื้นห้องโดยสารด้านหลัง

การชาร์จไฟ 1 ครั้ง จะสามารถแล่นได้ในระยะทางไกลถึง 160 กิโลเมตร (100 ไมล์ ในมาตรฐาน
ของสหรัฐอเมริกา US LA4 Mode หรือ 175 กิโลเมตร ในมาตรฐาน NEDC ของยุโรป)

นอกจากนี้ ขณะที่คุณเหยียบเบรกเพื่อให้ระบบห้ามล้อทำงาน ยังสามารถนำพลังงานในการเบรค
ส่งแปลงกลับเป็นกระแสไฟฟ้า ไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ อีกครั้ง ในแบบ Re-Generative Brake
แบบเดียวกับรถยนต์ Hybrid ที่เราคุ้ยเคยกันอีกด้วย

การชาร์จไฟเพื่อเติมพลังงานในการขับเคลื่อน เป็นแบบเสียบปลั๊กได้ทันที หรือ Plug-in โดยจะต้อง
ยกฝาปิดบริเวณสัญลักษณ์ Nissan ด้านหน้ารถขึ้นมาก่อน จากนั้น คุณจะเห็น ช่องเสียบ 2 แบบ หาก
ต้องการเสียบชาร์จไฟ กับ ระบบไฟบ้าน ให้ใช้ช่องเสียบฝั่งขวา ขนาดเล็ก อย่างที่ คุณลุง Kadota-San
สาธิตให้เราดูอยู่นี้  การชาร์จโดยใช้ปลั๊ก เสียบต่อตรงกับไฟบ้านญี่ปุ่น 110 V จะใช้เวลา 8 ชั่วโมง แต่
ถ้าชาร์จไฟบ้านเมืองไทย 220 V จะใช้เวลาราวๆ 6 – 8 ชั่วโมง

แต่หากขับรถใช้งานอยู่ เมื่อถึงจุดหมาย และต้องการเสียบชาร์จไฟ ให้ชาร์จในแบบ Quick Charge ด้วย
การเสียบปลั๊กเข้ากับหัวเสียบฝั่งซ้าย จะใช้เวลาเพียง 30 นาที จนกระแสไฟฟ้า เพิ่มเป็น 80 เปอร์เซนต์
ของความจุแบ็ตเตอรี ทั้งหมด โดยคุณจะดูได้ว่า ไฟในแบ็ตเตอรี เต็มหรือยัง จาก สัญญาณไฟกระพริบ
3 ช่อง บนแผงหน้าปัด อย่างที่เห็นนี้ ถ้าไฟสว่างเต็ม 3 ดวง แสดงว่า แบ็ตเตอรีเต็มแล้ว พร้อมขับรถได้
ทันที เพียงแต่ว่า ไม่ควรชาร์จไฟแบบ Quick Charge เป็นหลัก เพราะคุณลุง Kadota-San บอกว่า นั่น
จะทำให้แบ็ตเตอรี มีอายุการใช้งานสั้นลงประมาณ 10 เปอร์เซนต์ตลอดอายุการใช้รถที่คำนวนไว้
ราวๆ 10 ปี

ในเมื่อใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน Nissan LEAF จึงไม่มีท่อไอเสีย จึงไม่มีการปล่อยมลพิษก๊าซไอเสียใดๆ สู่โลกเลย
แม้แต่นิดเดียว! ที่สำคัญ ยังมีการออกแบบให้ปลอดภัยจากปัญหาไฟช็อตผู้ใช้งาน ถ้ามีการทำตามขั้นตอน
การใช้งาน หรือการซ่อมแซมที่ถูกต้อง

ที่สำคัญ ปลั๊กไฟแบบ Quick Charge (เต้าเสียบฝั่งซ้าย) เอง มีการออกแบบ รูระบายน้ำ เพื่อป้องกันการลัดวงจร
อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้มาตั้งแต่แรก ดังนั้น หากคุณจำเป็นต้องจอดรถ และเสียบชาร์จไฟกลางแจ้ง ขณะ
ฝนตก ก็จะไม่มีปัญหาไฟรั่ว ไฟช็อต ระหว่างชาร์จไฟกลางสายฝน ให้ไปนอนแหมะข้างตัวรถ เป็นศพสวยๆ
ลงข่าวหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์หัวสี อย่างแน่นอน

เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มีปัญหาจริงๆ ทีมวิศวกรของ Nissan ก็เลยทดสอบให้เห็นกันจะจะ แล้วบันทึกภาพวีดีโอที่คุณ
เห็นอยู่ข้างบนนี้เอาไว้เลย สังเกตในวงรี ไว้นะครับ จะพบว่า วิศวกร กำลังเทน้ำให้ไหลลงมาอยู่ระหว่างหัวปลั๊ก กับ
เต้าเสียบที่ตัวรถกันอย่างนี้เลย
…และแน่นอนว่า ไม่มีการช็อตใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้นครับ ดังนั้น ประเด็นที่ว่า ชาร์จไฟแล้ว
จู่ๆ ฝนตกลงมา ก็ปล่อยชาร์จกันต่อไป ยังไงๆ ไฟก็ไม่รั่ว ไม่ช็อตคุณ หรือทำความเสียหายกับตัวรถแน่ๆ

แล้วถ้าในระหว่างที่เราชาร์จไฟ ถ้ามีฟ้าผ่าลงมา จะเป็นอย่างไร?

คำตอบง่ายมากครับ โดยปกติ เวลาฟ้าผ่า ระบบไฟฟ้าตามบ้านเรือนทั่วไป จะมีฟิวส์ คอยป้องกันความเสียหาย เจ้า LEAF
ก็เช่นกัน จะมีฟิวส์ ที่กล่องควบคุมการชาร์จไฟ และ ฟิวส์ ในตัวรถ ที่จะเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าสลับเป็นกระแสตรง ดังนั้น
การมีฟิวส์ถึง 2 ชั้น จึงปลอดภัยต่อตัวรถ ก่อนหน้านี้ ได้มีการจำลองฟ้าผ่าลงมายังเจ้า LEAF ระหว่างชาร์จไฟ ก็ไม่เกิด
ปัญหาใดๆขึ้น อย่าลืมว่า ยางรถยนต์เองก็เป็นฉนวนในตัวอยู่แล้ว

เอาละ ทีนี้ LEAF ไม่กลัวเรื่องน้ำท่วม ตอนชาร์จไฟละก็…แล้วรถไฟฟ้าอย่าง LEAF จะลุยน้ำท่วมได้ไหมละ?
คำตอบก็คือ..ได้สิ! และ…ทั้งที่น้ำท่วมสูง ลึกระดับครึ่งคันรถ มิดล้อแล้ว ได้สบายๆ เสียด้วยแหนะ!

ดูจากภาพข้างบนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ TIIDA Hatchback 5 ประตู จะพบว่า ในน้ำท่วมสูงระดับ 70 เซ็นติเมตร
ถึงแม้น้ำจะเข้ารถมาเหมือนกัน ซึ่งจะทำให้ แบ็ตเตอรี จะอยู่ในน้ำ รวมทั้งตัวคอนเน็คเตอร์สายไฟต่างๆ จะอยู่
ในน้ำเช่นเดียวกันแต่ Nissan ได้ออกแบบและทำฉนวนหุ้มห่อทั้งแบ็ตเตอรี และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้
กันน้ำแล้วส่วนใหญ่ และพวกเขาก็มั่นใจมากว่า ต่อให้ลุยน้ำลึกขนาดนี้ รถก็จะไม่พัง และไม่มีชิ้นส่วนใดๆที่จะ
เกิดความเสียหายได้เลย เพียงแต่ คำแนะนำของ คาโดตะซัง ก็คือ หลังจากลุยน้ำแล้ว ถ้าจะให้ดี ควรจะเช็คสภาพ
ฉนวนของสายไฟ และตัวแบ็ตเตอรี ในรถ ตามจุดต่างๆรอบคัน เท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว!

ถ้ายังไม่รู้ว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร Nissan ก็เลยถ่ายวีดีโอ มาให้ดูกันเลย!!

ภาพวีดีโอที่เห็นอยู่นี้ ถ่ายทำโดยให้ LEAF คันจริง ลงไปลุยน้ำในบ่อทดสอบการลุยน้ำที่ระดับความลึกมากถึง
70 เซ็นติเมตร ทันทีที่ LEAF เริ่มลงน้ำ ฝากระโปรงหน้า ก็ต้องต้อนรับน้ำกันเต็มๆ แต่รถก็ยังคงแล่นได้อย่าง
ต่อเนื่อง ไม่มีดับกลางทาง ลุยไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

คาโดตะ-ซัง บอกกับผมว่า หากจำเป็นต้องลุยน้ำท่วม ลึกระดับ 70 เซ็นติเมตร ไปด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง
LEAF จะแล่นได้ไกลถึง 30 กิโลเมตร! ด้วยเหตุผลจาก แรงต้านของกระแสน้ำ ขณะที่รถกำลังลุยผ่านน้ำไปนั่นเอง

ถ้าน้ำท่วม เมืองไทยปี 2012 – 2013 ผมว่า สบายแล้วละ! ถ้าพื้นที่ไหน รถกระบะยกสูง ยังพอจะลุยไปได้แล้วละก็
ใครขับ LEAF ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะตายกลางทาง อย่างเก่ง ก็แค่ ถอดเบาะ ออกมาซักพรม ครั้งมโหฬาร รวมทั้ง
ตรวจเช็ค Seal บริเวณจุดเชื่อมต่อ Connector ต่างๆ และฉนวน กับ Battery Case Frame ว่ามีน้ำซึมเข้าไป
หรือเปล่า? ถ้ามี ก็เปลี่ยน แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ก็แค่นั้นเอง!!!

จะว่าไปแล้ว Nissan มักจะทำการทดสอบรถยนต์ของต้น ด้วยข้อจำกัดที่หฤโหดอยู่บ่อยๆ เมื่อครั้งเปิดตัวรถกระบะ
Nissan Navara ทาง วิศวกร ก็นำ Video ถ่ายทำการทดสอบความทนทานของรถ มาให้สื่อมวลชนบ้านเราได้ชมกัน
เมื่อเดือนมกราคม 2007

โดยพวกเขา ทดสอบ Navara กันแบบโหดกว่าการใช้งานจริงอยู่มาก ทั้งการขับรถด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ซัดล้อหน้าลงไปในหลุมที่จำลองว่าเป็นฝาท่อซึ่งเปิดทิ้งไว้ เต็มๆ แบบไม่ยั้งมือ ไม่ต้องเบรก เพื่อให้ผ่านข้อกำหนด
ที่ว่า “ล้ออาจจะดุ้ง แต่ช่วงล่างต้องไม่เสียหายอะไรเลย!” และ Navara ก็ทำได้จริงๆ หรือแม้แต่ การนำโครงสร้าง
หลังคาเหล็ก ที่พ่อค้าแม่ค้า ติดตั้งไว้ เพื่อการบรรทุก มาติดตั้งให้กับ Navara แล้วบรรทุกแตงโม ให้ได้น้ำหนักมาก
“ถึง 4 ตัน” ขับขึ้นเนินลาดชัน ไปจอดดับเครื่องบนเนิน เมื่อติดเครื่องยนต์ เข้าเกียร์ 1 รถจะต้องเคลื่อนที่ออกไปได้
ในการทดลองครั้งนั้น มีเพียง Navara คันเดียว ที่สามารถนำรถก้าวพ้นอุปสรรคได้สบายๆ

เรื่องที่น่าเสียดายก็คือ “ทำไมไม่มีใครคิดจะเอาภาพ Footage เหล่านี้ ไปทำเป็นหนังโฆษณา ฉายในบ้านเรา
กันบ้างเลย หา!!!??????” Nissan ญี่ปุ่นหนะ จะหวงอะไรกันนักกันหนา ของดีๆพวกนี้

ด้านความปลอดภัย นอกจาก LEAF จะติดตั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัย รวม
6 ใบ และเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง รวมทั้ง มีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX แล้ว
โครงสร้างตัวถังของ LEAF ยังถูกพัฒนาให้มีความแข็งแกร่ง ทนต่อการบิดตัวสูง มีการกระจายแรงปะทะไปยัง
เสาหลังคา และคานใต้ท้องรถ แถมยังมีการติดตั้ง W-Frame สำหรับบรรจุแบ็ตเตอรีสำหรับระบบขับเคลื่อน
Lithium – ion เอาไว้ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นตัวถังมากขึ้น ลดการบิดตัวของ Platform ได้มาก

นับตั้งแต่ออกสู่ตลาด LEAF ได้รับการยืนยันในเรื่องความปลอดภัย จากองค์กรอิสระตรวจสอบความปลอดภัย
ของรถยนต์ 2 แห่ง ทั้ง Euro NCAP ที่ให้ตะแนนสูงถึง 5 ดาว นับว่าปลอดภัยสูงสุด โดยการป้องกันผู้โดยสาร
ขนาดผู้ใหญ่ อยู่ที่ 89 เปอร์เซนต์ จากคะแนนเต็ม 32 คะแนน การป้องกันผู้โดยสารเด็กอยู่ที่ 83 เปอร์เซนต์
จากคะแนนเต็ม 40 คะแนน การปกป้องคนเดินถนน อยู่ที่ 65 เปอร์เซนต์ จาก 23 คะแนน และได้คะแนน
อุปกรณ์ตัวช่วยต่างๆ 84 เปอร์เซนต์ จาก 6 คะแนนเต็ม

ขณะเดียวกัน สถาบัน IIHS Insurance Institute for Highway Safety อันเป็นหน่วยงานสำหรับประเมินการ
ลดผลกระทบจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ของธุรกิจประกันภัยในสหรัฐอเมริกา ก็ให้คะแนน LEAF ในกลุ่ม
Good ทั้งในด้านการชนจากด้านหน้า ด้านท้าย การพลิกคว่ำ ฯลฯ

ยิ่งถ้าได้เห็นภาพของ LEAF ตอนถูกชนจากด้านหลัง ยิ่งน่าจะมั่นใจได้มากขึ้น เพราะมีพื้นที่ด้านท้ายมากพอ
กว่าที่แรงปะทะ จะมาถึง ผู้โดยสารบนเบาะหลัง

ย้อนกลับไปที่เรื่องของการชาร์จไฟ อย่างที่บอกไปว่า LEAF ถูกออกแบบมาให้รองรับการชาร์จไฟได้ 2 แบบ
ทั้งกดารชาร์จเข้าตรงกับปลั๊กไฟบ้าน ซึ่งต้องใช้เต้าเสียบขนาดเล็กฝั่งขวาเป็นหลัก แต่ถ้าในขณะขับรถออกไป
นอกบ้าน และต้องการชาร์จไฟแบบด่วน Nissan ก็เลยทำตู้ชาร์จไฟ ออกมาขาย โดยรุ่นที่บางกว่านั้น คือตู้ชาร์จ
แบบใหม่ที่ Nissan เพิ่งประกาศขายเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2011 ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ประมาณ 800,000 เยน หรือ
ราวๆ 320,000 บาท….! (เอาน่า อย่างน้อยก็มีราคาถูกกว่าตู้รุ่นเดิมเยอะแล้วกัน)

ข้อดีของตู้รุ่นใหม่นี้ นอกจากจะมีขนาดเล็กลงประมาณครึ่งหนึ่ง สามารถติดตั้งได้ในทุกสถานที่ ตั้งแต่ในบ้าน
ตามลานจอดรถ ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน Service Area บนทางด่วน หรือแม้แต่ลานจอดรถในสนามบิน
ก็ไม่กินพื้นที่จอดรถ แถมยังสามารถต่อสายชาร์จออกมาได้อีก 2 ด้าน ชาร์จรถได้ 2 คันในเวลาเดียวกันจากตู้เดียว
ได้อีกด้วย สายชาร์จเป็นแบบ Easy Grip ปกติ เปื้อนดิน หรือน้ำ ในตู้รุ่นใหม่ ทำมือจับแบบใหม่ออกมา ให้ใช้งาน
ได้สะดวกและสะอาดขึ้น แถมยังมีการปรับปรุงวิธีการชาร์จไฟ ตามภาพในสไลด์ PowerPoint ข้างบนนี้ ในญี่ปุ่น
ตอนนี้ มีเครื่องชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแล้วประมาณ 801 แห่ง แต่ในปีหน้า (2012) จะเพิ่มเป็น 5,000 แห่ง
ดังนั้น การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ในญี่ปุ่น ก็จะเริ่มสะดวกสบายมากขึ้น เพราะในช่วงแรกๆนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายใน
การชาร์จไฟใดๆทั้งสิ้น ยังเปิดให้ชาร์จไฟกันฟรีๆ ทั่วเกาะญี่ปุ่นอยู่

ที่สำคัญ ตู้ชาร์จไฟดังกล่าว สามารถเสียบชาร์จให้กับรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง Mitsubishi i-MIEV , Minicab MIEV และ
Toyota Prius PHV (Plug-in HYBRID) ได้อีกด้วย เพราะตู้ชาร์จไฟของ Nissan ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับ
มาตรฐานอุปกรณ์ชาร์จไฟ สำหรับรถยนต์ CHAdeMO ซึ่งมีบริษัทเอกชนกว่า 140 แห่ง ทั้งในญี่ปุ่น และต่างชาติ
มาช่วยกันกำหนดมาตรฐานร่วมกัน ดังนั้น หัวปลั๊กที่จะใช้ จึงต้องเหมือนกันทั้งหมด โดยคำว่า CHA de MO
มาจาก การย่อคำว่า “CHArge de MOve” หรือแปลได้ว่า “charge for moving” และในอีกมุมหนึ่ง ก็แปลมาจาก
คำถามในภาษาญี่ปุ่นว่า “O cha demo ikaga desuka” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “รับชาสักถ้วยขณะชาร์จไฟไหม?”
ในปัจจุบัน  ตู้ชาร์จไฟที่อยู่ในมาตรฐาน CHAdeMO ในญี่ปุ่นมีแล้ว 801 แห่ง ยุโรป 157 แห่ง ในประเทศอื่นๆ
อีก 7 แห่ง และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ (ดูรายละเอียดความเป็นมาต่างๆได้ที่นี่ www.chademo.com )

อีกจุดเด่นหนึ่งที่สำคัญคือ ในเมื่อแบ็ตเตอรีของ LEAF นั้น จุไฟได้ถึง 24 kWh ซึ่งเท่ากับไฟที่ใช้ตาม
บ้านเรือน 2 ชั้น ขนาดกลางได้นานถึง 2 วันเต็มๆ ก็เลยมีการดัดแปลงให้ LEAF สามารถแปลงร่างเป็น
เครื่องจ่ายไฟฟ้าให้อุปกรณ์ในบ้านได้!

ตามแนวคิด LEAF to Home อธิบายกันเล็กน้อยว่า ในญี่ปุ่นนั้น การเก็บค่าไฟ จะมีการแบ่งช่วงเวลา หาก
ใช้ไฟในเวลากลางวัน ค่าไฟจะแพงกว่าเวลากลางคืน ดังนั้น ในวันอาทิตย์ที่ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน
ช่วงกลางคืนวันเสาร์ ก็ชาร์จไฟเข้าไปเก็บใน LEAF ผ่านทาง ปลั๊กไฟบ้าน ที่เชื่อมกับตู้ PCS ในบ้าน พอ
ถึงเช้าวันอาทิตย์ จนกระทั่งหัวค่ำ ก็ตัดการรับกระแสไฟฟ้าจากสายไฟหลักนอกบ้าน และให้ PCS ดึงเอา
กระแสไฟในแบ็ตเตอรีของ LEAF มาใช้งานเป็นไฟบ้านแทน! วิธีนี้จะช่วยประหยัดค่าไฟไปได้เยอะมาก
เพราะไม่ต้องใช้ไฟบ้านตลอดเพียงอย่างเดียว!!

ในอนาคต Nissan กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ มีแผนจะผลิตแท่นชาร์จแบบไร้สาย ใช้คลื่นแม่เหล็กเหนี่ยวนำ
ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ เตาแม่เหล็ก เหมือนในร้านสุกี้ MK ตอนนี้ นั่นละครับ คือใช้คลื่นแม่เหล็ก ก่อให้เกิด
เป็นกระแสไฟฟ้า ด้วยวิธีการ ถอยรถเข้าไปจอด ให้แบ็ตเตอรีใต้ท้องรถ ตรงกับ อุปกรณ์ชาร์จแล้วเปิดเครื่อง
ชาร์จไฟ นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายราย รวมทั้ง Nissan เอง ก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์
พลังไฟฟ้าต่อไป ทั้งการติดตั้งมอเตอร์ ที่ล้อ ในแบบ Motor-in-Wheels เทคโนโลยีการชาร์จไฟแบบไร้สาย
การปรับปรุงแบ็ตเตอรี ให้มีความจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้า แล่นได้ระยะทางไกลขึ้น ฯลฯ

Kadota-san ถึงกับบอกว่า เขาเอง มองว่า ภายในปี 2020 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า 10 เปอร์เซนต์ของรถยนต์ที่
ขายกันในโลก จะเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า! ทั้งหมดนี้ ดูไม่ไกลเกินความจริงเหมอืนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว!

แล้วก็ถึงเวลาลองของจริงกันเสียที งานนี้ Nissan ไม่ได้ยจัดให้ลองขับแค่ รอบทางแล่นในโรงแรมเท่านั้น
เพราะคราวนี้ เราจะได้ลองขับกันอย่างเต็มที่ บนถนนในบริเวณรอบๆสนามบินสุวรรณภูมินั่นเอง

เส้นทางไม่ซับซ้อนเลย ออกจากหน้าโรงแรม Novotel สุวรรณภูมิ เลี้ยวซ้าย คลานไปยังสามแยก แล้ว
เลี้ยวขวา มุ่งหน้าไปยังถนนสายหลักของสนามบิน เลี้ยวซ้าย ไปลอดใต้สะพานข้ามแยกกิ่งแก้ว กลับรถ
แล้วมุ่งหน้าตรงไปเรื่อยๆ กลับรถอีกครั้ง บนสะพานเกือกม้า ตรงย้อนถนนเส้นหลักมา เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้า
กลับเข้าสู่โรงแรมอีกคตรั้ง ตามจุดสีแดงที่เห็นในภาพข้างบนนี้

ในเมื่อ ระยะทาง ดูเหมือนว่าจะสั้น ไม่ยาวนัก ผมก็เลยตัดสินใจว่า ต้องขอ เบิ้ล อีกสักรอบ ซึ่งทางผู้ควบคุม
ก็ยินดี ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแต่ ในรอบ 2 คุณเจน แห่ง Nissan ขอติดรถมาด้วย อยากลองนั่งเบาะหลัง
กับเขาบ้างเหมือนกัน

ก่อนที่จะลองขับกันจริงๆ คงต้องบอกวิธีการบังคับรถกันเล็กน้อย การขับขี่ ก็เหมือนกับการขับรถยนต์
ทั่วไปนั่นละครับ เพียงแต่ว่า คันเกียร์ มีหน้าตาแปลกๆนิดนึง ใครที่ขับ Toyota Prius หรือ Mitsubishi
i-MIEV มาก่อน คงจะคุ้นเคยกับรูปแบบตำแหน่งเกียร์อย่างนี้อยู่แล้ว เพราะแทบจะเหมือนกันเลย

เมื่อต้องการเดินหน้า เหยียบเบรก ดึงเมาส์เข้าหาตัว กดลง หน้าปัดจะขึ้นตัว D ปล่อยเบรกและออกรถ
เหมือนเกียร์อัตโนมัติ ปกติครับ

ถ้าอยากถอยหลัง ดึงคันเกียร์เข้าหาตัว แล้วดันขึ้นไป ปล่อยมือ เกียร์จะอยู่ในตำแหน่งถอยหลัง (R)
โดยกล้องมองภาพจากด้านท้ายรถ จะทำงานเพิ่มเขามาในทันที

แต่ถ้าจะจอดรถ ให้เลื่อนเมาส์คันเกียร์เข้าหาตัว 1 วินาที แล้วปล่อย เกียร์จะไปอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง
หรือเกียร์ N แต่ถ้าอยากจะ ล็อกเข้าเกียร์ P ให้กดปุ่ม บนเมาส์คันเกียร์ แค่นั้นเลย!

ส่วนเบรกมือ เป็นระบบไฟฟ้า หลักการทำงาน ก็เหมือนกับทั้งใน BMW Lexus และรถยนต์หรูรุ่นใหม่ๆ
นั่นเอง คือถ้าจะใช้งาน จอดรถเข้าเกียร์ P แล้วใช้นิ้ว กระดิกยกสวิชต์ขึ้น จนไฟสีแดงติดสว่างขึ้นมา ถ้า
ต้องการจะปลดเบรกเมือลง ทำได้ 2 วิธี คือ ต้องเหยียบเบรก แล้วกดปุ่มเดิมลง จึงจะปลดได้ หรือไม่ ก็
ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยก่อน พอเข้าเกียร์ D เพื่อออกรถ ให้เหยียบคันเร่งเบาๆ ระบบเบรกมือไฟฟ้า จะ
ปลดระบบออกให้เอง ขับขี่ไปได้สบายๆ

เมื่อเริ่มออกรถ ขับสู่ถนนจริงกันแล้ว คำถามที่หลายๆคนอยากรู้ ก็คือ

1. การขับขี่ จะแตกต่างจากรถยนต์ธรรมดา ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป มากน้อยแค่ไหน?


คำตอบก็คือ…ตอนขับหนะ ไม่แตกต่างเลย แถมยังจะ “แรงกว่าซะด้วยซ้ำ!”

ถึงแม้ผมจะคุ้นชินกับการขับรถยนต์ที่ใช้พลังไฟฟ้า จากมอเตอร์ขับเคลื่อน ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
รถยนต์ HYBRID จากทั้ง Toyota (3 รุ่น) กับ Honda (2 รุ่น) หรือรถยนต์ Fuel Cell อย่าง Chevrolet Equinox
Fuel Cell และ Honda FCX Clarity (Prototype) รวมทั้งรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนๆ อย่าง Mitsubishi i-MIEV
ซึ่งต่างก็ให้บุคลิกในการขับขี่ที่น่าประทับใจแตกต่างกันไป บางคัน ทำได้ดีกว่าที่คาด บางคันทำได้ไม่เท่าที่คิด

แต่สำหรับ LEAF รถยนต์พลังไฟฟ้า ที่มีการขับขี่ แทบไม่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปเท่าใดนัก กลับเริ่มต้น
สร้างประสบการณ์ให้ผม ด้วยแรงดึงที่ทำให้ผมแปลกใจพอสมควร เราลองจับเวลากัน ด้วยสภาพที่ต่างจาก
การทำรีวิวปกติทั่วไป คราวนี้ ผม เปิดแอร์ มีผู้โดยสารอีก 2 คน ทั้งพี่ที่เป็น Instructor ประจำรถ และคุณเจน
ภัทรินทร์ อรรคภัทร รองผู้จัดการใหญ่ สื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์ของ Nissan นั่งบนเบาะหลังด้วย
โดยได้บอกกล่าวกันไว้ก่อนแล้วว่า จะขอลองจับตัวเลขอัตราเร่งสั้นๆ ทำเพียงครั้งเดียว ในตอนบ่าย 3 โมง
ของวันที่ทำการทดลอง อากาศไม่ร้อนจนเกินไปแค่อย่างใด และตัวเลขที่ได้ มีดังนี้

อัตราเร่ง   0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 3 คน อยู่ที่  10.70 วินาที
อัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 3 คน อยู่ที่    8.03 วินาที

เห็นตัวเลขนี้แล้ว ลองมาเปรียบเทียบกับรถยนต์ในพิกัด C-Segment ด้วยกันจะพบว่า มีเพียง Toyota Corolla
ALTIS 1.8 G CVT กับ 2.0 V Navi CVT รวมทั้ง Honda Civic FD 2.0 5AT และ Ford Focus 2.0 TDCi
เท่านั้น ที่ทำตัวเลขอัตราเร่งได้ดีกว่า LEAF แต่ตัวเลขก็จะแตกต่างกันเพียงแค่ ไม่เกิน 0.5 วินาที กันเป็นส่วนใหญ่

และต่อให้เทียบกับรถยนต์ HYBRID ทั้ง 5 คัน ที่ผมเคยทำรีวิวเก็บตัวเลขมา พบว่า LEAF ชนะขาดลอย!
จะมีเพียง Toyota Camry HYBRID เท่านั้น ที่ LEAF ยังสู้ไม่ได้ (0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 9.03 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.58 วินาที) หรือถ้า Honda CR-Z คิดจะสู้ ก็ต้องเปลี่ยนเข้าสู่ Sport Mode
เยก่อนเท่านั้น ตัวเลขที่ออกมาจึงจะสูสี (Sport Mode 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 10.68 วินาที 80 – 120
กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 7.32 วินาที) แต่คราวนี้ ผมจับเวลา โดยมีคนขับกับผู้โดยสาร รวมอยู่ในรถ 3 คน
ทำเวลาได้ดีขนาดนี้ ต้องเรียกว่า ไม่ธรรมดาแล้วละ

แหงสิครับ แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร ของ LEAF หนะ เท่ากับแรงบิดของ Volkswagen Golf GTi และ
Volkswagen Scirocco 2.0 TFSI
รุ่นมาตรฐานกันเลยทีเดียว แถมแรงบิดสูงสุด 280 นิ วตันเมตรจากมอเตอร์
ไฟฟ้า ต่างกันกับแรงบิดโดยเครื่องยนต์สันดาป ตรงที่ ไม่ต้องรอรอบเครื่องยนต์ แค่เหยียบคันเร่งปุ๊บ แรงบิด
สูงสุด โผล่มาทักทาย และทำงานให้คุณทันทีทันใด ไม่อู้งาน ลุยกันเต็มเหนี่ยวตั้งแต่ออกตัวเลยนั่นแหละ!

นี่คือเคล็ดลับที่ว่า ทำไมตัวเลขอัตราเร่งถึงออกมาดีได้ขนาดนี้! แต่ แรงดึงที่เกิดขึ้นขณะขับขี่จริงนั้น LEAF
จะทะยานสู่ความเร็วที่คุณต้องการ อย่างนุ่มนวล ทว่า สัมผัสได้เลย ถึงพลังขับเคลื่อนที่กำลังถูกรีดมาหมุนล้อ
อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผิดกับ Chevrolet Cruze 2.0 CRDi ที่อัตราเร่งจะไต่ขึ้นอย่างนุ่มนวล สุภาพ ทว่า กลับสัมผัส
ได้ว่า แรงดึงแผ่นหลังให้ติดเบาะนั้น แอบน้อยกว่า LEAF นิดหน่อย

แบบนี้ ก็ขับสนุกละครับ อัตราเร่งที่เรียกมาได้ทันใจแบบนี้ ก็เร่งแซงได้อย่างสบายๆ เพียงแต่ ต้องยั้งมือ
ยั้งเท้าไว้บ้างนะครับ เพราะถ้าเหยียบความเร็วสูงๆ แช่นานๆ แบ็ตเตอรี อาจหมดไฟเร็วกว่าที่คิดก็ได้
ความเร็วสูงสุด ไม่มีโอกาสทำตัวเลขเอาไว้ แต่ Nissan เคลมไว้ว่า อยู่ที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่เกินนี้

แค่นั้น ก็เหลือเฟือแล้วครับ สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้า ที่ออกแบบมาให้เน้นการใช้งานในเมือง และ
พอจะข้ามเมืองได้บ้างนิดหน่อย ในระดับเริ่มต้น อย่างนี้

2.  แล้วตอนขับขี่ เสียงเครื่องยนต์ กับเสียงลมปะทะ เป็นอย่างไรบ้าง?


เอ่อ..พี่ครับ นี่รถยนต์ไฟฟ้านะครับ จะให้มีเสียงเครื่องยนต์ นี่ก็คงจะไม่ใช่ละครับ ตั้งแต่เหยียบคันเร่งเบาๆ
เพื่อออกรถ จนกระทั่งขับกลับมาจอด ที่ทางเข้าหน้าโรงแรม ผมไม่ได้ยินเสียงการทำงานของระบบกลไกต่างๆ
ภายในเจ้า LEAF เลย ต่อให้เป็นเสียงของมอเตอร์ไฟฟ้า ขณะขับเคลื่อนล้อคู่หน้า ก็มิได้ดังมากมายแต่อย่างใด
อยู่ในเกณฑ์เงียบมากเสียด้วยซ้ำ

เสียงรบกวนในห้องโดยสารนั้น แทบจะไม่มีในช่วงความเร็วตั้งแต่ จุดหยุดนิ่งจนถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่
หลังจากนั้น อาจพอมีเข้ามาได้ยินบ้างนิดหน่อย เป็นเสียงจากยาง Bridgestone ECOPIA ขนาด 205/55 R16
ติดรถมาจากโรงงานที่หมุนกลิ้งไปตามพื้นถนนมากกว่า และก็ไม่ได้ดังมากมายนัก แถมเสียงลมที่ไหลผ่าน
ช่องว่าง ระหว่างกระจกมองข้าง กับกระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หน้า ซึ่งคาดว่า น่าจะมีบ้าง ปรากฎว่า แทบ
ไม่มีเสียงลมให้ได้ยินเลย


3. ช่วงล่าง พวงมาลัย และระบบห้ามล้อ เป็นอย่างไรบ้าง?

ความน่าประทับใจอีกประเด็นหนึ่งของ LEAF อยู่ที่การปรับแต่งช่วงล่าง พวงมาลัย และระบบเบรก ซึ่งมีรูปแบบ
พื้นฐานสากล และพบได้ในรถยนต์ญี่ปุ่น บ้านๆ พิกัด B-Segment จนถึง C-Segment ทั่วไป ให้บังคับควบคุมง่าย
ขับขี่สบาย สำหรับผู้สูงวัย และสุภาพสตรี แต่ยังให้ความมั่นใจได้มากขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ซึ่งโดยปกติใน
รถยนต์ญี่ปุ่นแล้ว 2 ประเด็นนี้ มักจะไม่ได้มาพร้อมกัน จำเป็นที่คุณต้อง เลือกเอาข้อใดข้อหนึ่ง แต่ LEAF มีมา
ให้คุณได้ครบ ในแบบพอดีๆ และเหนือชั้นกว่าที่คาดเอาไว้นิดหน่อยด้วยซ้ำ!

พวงมาลัย เป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมกับเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า มีระยะฟรีน้อย กำลังดี น้ำหนัก
ค่อนข้างเบา หมุนเลี้ยวได้คล่อง เบาสบาย ในช่วงความเร็วต่ำ เบาพอกับ Mazda 3 ใหม่ 2.0 ลิตร กันเลยทีเดียว
ไม่ต้องออกแรงในการหมุนมากนัก ซึ่งพวงมาลัยแบบนี้ สุภาพสตรี และผู้สูงอายุจะชอบ

ขณะเดียวกัน การควบคุมรถ ในช่วงความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังถือว่านิ่ง เสถียร และยังไม่ชวนให้เกิด
ความหวาดเสียวอะไรเลย การเปลี่ยนเลน ไป – มา ในช่วงความเร็ว ระดับ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังทำได้อย่าง
คล่องแคล่ว บังคับควบคุมง่าย สบายๆ ถือว่า พวงมาลัยนั้น เซ็ตมาเอาใจนักขับทั่วไป ทุกพื้นฐานการขับขี่

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม บอกได้เลยว่า ปรับแต่งมา
ในแนวนุ่มก็จริง แต่เป็นความนุ่มในแบบเดียวกับ ที่นอนสปริง ที่อัดฟองน้ำเข้าไปแน่นมากๆ จนกลายเป็น
ความนุ่มแน่น และ Firm จนสัมผัสได้ว่า นุ่มนวลได้อย่าง แตกต่างจากรถยนต์ในพิกัดเดียวกัน ทุกคันที่ผมเคย
ลองขับมา ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ ปราศจากอาการตึงตังทั้งลายทั้งปวง!

การติดตั้งแบ็ตเตอรี Lithium – ion ซึ่งแม้จะเบากว่า แบ็ตเตอรี Ni Mh เข้าไปบนพื้นที่ตรงกลางคันรถ ก็ยังทำให้
ตัวรถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และทำให้ทีมวิศวกรต้องออกแบบ และปรับเซ็ตค่าต่างๆของระบบกันสะเทือนให้ต่าง
ไปจากรถยนต์ทั่วไปอีกพอสมควร เพื่อที่จะยังต้องรักษาความนุ่มนวลในการขับขี่เอาไว้ให้ได้ แต่ขณะเดียวกัน
ก็ต้องมั่นใจได้ขณะขับขี่ความเร็วสูงด้วย

และถ้าจะบอกว่าในภาพรวมแล้ว ช่วงล่างของ LEAF ซับแรงสะเทือนได้ดีกว่า และเก็บอาการเด้งบนคอสะพาน
และรอยต่อทางขึ้น กับตัวสะพาน ได้ดีกว่า Toyota Prius รุ่นล่าสุด อย่างชัดเจน คุณจะเชื่อไหม?

สัมผัสที่ผมได้รับจากตัวรถ ราวกับว่า คุณกำลังใช้นิ้ว จิ้มเบาๆลงไปบน เค็กกล้วยหอม จากฝีมือร้านเบเกอรีชั้นดี
ที่อบมาในเวลาที่เหมาะสม ฟูกำลังดี ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป และใช้ผงฟูชั้นดี ทำให้เนื้อเค็กแน่น และไม่ร่วนซุย
เมื่อกัดคำแรกเข้าปาก นั่นละครับ ช่วงล่างของ LEAF เป็นแบบนี้!

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก พร้อมรูระบายอากาศ ครบทั้ง 4 ล้อ และมีระบบ Re-Generative Brake หรือการ
ใช้พลังงานในการเบรก มาปั่นไฟฟ้า ไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี แบบรถยนต์ Hybrid ทั่วไปนั่นเอง แป้นเบรกจะ
ตื้นไปนิดนึง ถ้าอยากได้ความรู้สึกว่าเบรกทำงาน ต้องเหยียบลงไปอีกเล็กน้อย ไม่มากนัก แต่โดยรวม มั่นใจ
และชะลอความเร็ว รวมทั้งหน่วงความเร็วได้มาก ซึ่งก็เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่มีระบบ Re-Generative
แบบนี้อยู่แล้ว


4. แล้วความประหยัดละ

ถึงแม้เราจะไม่ได้ทดลองกันในประเด็นนี้ เพราะ จุดประสงค์การทดลองขับสั้นๆวันนี้ ก็เพียงเพื่อให้ได้รับรู้ถึง
การตอบสนองเบื้องต้นของ ตัวรถ บนพื้นผิวถนนเมืองไทย (ที่ออกจะราบเรียบดีกว่าถนนสายอื่นๆ เพราะนี่คือ
ถนนในอาณาบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ) แต่ทางพี่ต้อม
สรุปให้ฟังว่า

“การชาร์จไฟ จากบ้านให้เต็มแบ็ตเตอรี จน LEAF พร้อมวิ่งได้นั้น หากเป็นไฟบ้านญี่ปุ่นระบบ 110 V
จะใช้เวลาในการชาร์จ 8 ชั่วโมง แต่สำหรับบ้านเรือนในเมืองไทย ซึ่งใช้ไฟ 220V จะใช้เวลาชาร์จเพียง
4 ชั่วโมงเท่านั้น (เร็วกว่ากันถึง 4 ชั่วโมง) ถึงแม้จะดูเหมือนว่า ปริมาณไฟฟ้าที่ต้องใช้ จะเยอะพอให้
ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ทุกชนิดในบ้านได้ นานถึง 2 วัน แต่เมื่อคำนวนด้วยค่าไฟฟ้าเมืองไทย ราคา Unit ละ
เพียง 2 บาท (ราคาอ้างอิงในปัจจุบัน เดือนธันวาคม 2012) เจ้าของ LEAF จะเสียค่าไฟในการชาร์จ
แบ็ตเตอรีให้เต็ม เพียงแค่ ครั้งละ 48 บาท เท่านั้น…!!!

เฮ้ยยยยย! มันถูกได้ขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย!! ถูกชนิดที่ LPG CNG นี่ หลบลงข้างทางไปเลยเถอะ!

ก็ลองคิดดูแล้วกันครับ ใครที่ใช้รถยนต์วันละไม่เกิน 50 กิโลเมตร ใช้ในเมือง หรืออยู่ที่ไหนของประเทศ
ก็ตาม หากวันนี้ คุณซื้อรถยนต์นั่ง เครื่องยนต์ เบนซิน 1.5 ลิตร มา 1 คัน อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แล่น
ทางไกล 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ทำได้ 15 กิโลเมตร/ลิตร ในเมือง อาจทำได้ราวๆ 11 – 12
กิโลเมตร/ลิตร ถังน้ำมัน จุได้ 42 ลิตร ถ้าวันหนึ่ง ใช้งาน 40 กิโลเมตร รวมในเมืองและชานเมือง เท่ากับว่า
เดือนหนึ่ง คุณต้องเติมน้ำมันเบนซิน แก็สโซฮอลล์ 95 (คิดเสียว่าราคาลิตรละ 35 บาท) เต็มถังครั้งละถึง
1,470 บาท แม้จะประหยัดขนาดไหน แต่ในความเป็นจริง เดือนนึง คุณอาจต้องเติมน้ำมัน เต็มถัง 3 ครั้ง
ตกเป็นเงิน 4,410 บาท แต่ถ้าเดือนไหน ใช้รถเยอะ อาจต้องเติมน้ำมันราวๆ 5 ครั้ง เป็นเงิน 7,350 บาท
(ในความเป็นจริง ผมขับ Honda City เติมน้ำมัน สัปดาห์ละไม่เกิน 1,000 บาท เพราะใช้รถไม่เยอะ เฉลี่ย
เดือนละ 4,000 บาท ที่ผมต้องจ่ายออกไป)

หรือต่อให้เป็น Nissan March กับ Almera เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.2 ลิตร ด้วยเถอะ แล่นทางไกล ด้วยความเร็ว
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เฉลี่ย 18 กิโลเมตร/ลิตร ถ้าแล่นในเมือง อาจทำตัวเลขได้ลดเหลือ
14 – 15 กิโลเมตร/ลิตร ด้วยราคาน้ำมันเท่ากัน คุณอาจต้องจ่ายเงินเติมน้ำมันเต็มถัง น้อยครั้งกว่า คืออาจจะ
เหลือ เดือนละ 3 ครั้ง แต่นั่นก็คือเงิน 4,410 บาท ที่คุณต้องจ่ายออกไป (ในความจริง ช่วงที่ผมผมขับ March
ผมเติมน้ำมัน 1 ถัง ในช่วง 5-6 วัน เท่ากับว่าผมต้องเติมน้ำมัน 4 – 5  ครั้ง/เดือน หากผมใช้รถเยอะ) แน่นอน
ECO Car ช่วยคุณประหยัดเงินค่าน้ำมันได้แน่ แต่นั่นยังไม่น่าตื่นเต้นเท่ารถยนต์ไฟฟ้า…

เพราะถ้าเป็น Nissan LEAF คิดเสียว่า ชาร์จเสียบไฟบ้าน 2 วัน / ครั้ง ครั้งละ 48 บาท (คิดจากค่าไฟในบ้านเรา
Unit ละ 2 บาท) เดือนหนึ่งๆ คุณจะชาร์จไฟรวมแล้วประมาณ 15 ครั้ง และคุณจะเสียค่าไฟบ้าน เพิ่มขึ้นอีก
เพียง 720 บาท เท่านั้น โดยไม่ต้องเสียค่าน้ำมันอีกเลย (สมมติว่าถ้าคุณใช้ LEAF เป็นรถคันเดียวในบ้าน)
เฉลี่ย ระยะทางแล่น 1 กิโลเมตร เสียเงินเพียง 40 – 50 สตางค์!

ที่สำคัญ ในเมื่อไม่มีเครื่องยนต์กลไกซับซ้อน การบำรุงรักษาตามระยะทาง ทุกๆ 10,000 กิโลเมตร
จึงมีเพียงแค่ การตรวจสภาพของฉนวนหุ้มสายไฟ ตามจุดต่างๆ รวมทั้งการดูแลระบบกันสะเทือน
ระบบบังคับเลี้ยว และระบบเบรก เพียงแค่นั้น เป็นอย่างนี้เรื่อยไป แม้ว่าจะผ่านการตรวจสภาพ
ตามกฎหมายในญี่ปุ่น ทุก 3 ปี ก็ตาม

ฟังดูน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยนะครับ !!!!

แต่ในตอนนี้ น่าเสียดายที่ว่า การชาร์จไฟ 1 ครั้ง ทำให้ LEAF แล่นได้ไกลแค่ 160 กิโลเมตร แถมยังขึ้นอยู่กับ
การเหยียบคันเร่งของคุณอีกต่างหาก ถ้าเหยียบหนักๆ ไฟในแบ็ตเตอรี จะลดหายลงไปอย่างรวดเร็ว และคุณ
จำเป็นต้องปรับนิสัยการขับเสียใหม่ กลายเป็นคนขับรถช้าลง คืออาจจะไม่เกิน 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ถ้าขับแบบนี้ ไปได้สบายๆ ครับ แต่ถ้าเหยียบหนักๆ 130 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจต้องมีลุ้นกันพอสมควร

เราได้แต่รอการพัฒนาแบ็ตเตอรี หรือ Super Capacitor ให้สามารถเก็บไฟฟ้า ได้เยอะกว่านี้ เพื่อช่วยให้ LEAF
แล่นได้ไกลกว่านี้ ถึงระดับ 300 กิโลเมตร เมื่อถึงเวลานั้น LEAF จะไม่เพียงแต่กลายเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ
ของผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์แค่ในเมืองเท่านั้น หากแต่ ยังเอื้ออำนวยให้ผู้บริโภค ซึ่งจำเป็นต้องขับรถยนต์
วันละราวๆ 100 กิโลเมตร/วันขึ้นไป ได้หันมามอง รถไฟฟ้าคันนี้กันมากขึ้นอีก เชื่อแน่ว่า อีกไม่นานเกินรอ


********** สรุป (เบื้องต้น) **********

รถครอบครัวพลังไฟฟ้า เทคโนโลยีล้นทะลัก รักสิ่งแวดล้อม แต่แรงนะ ไม่ได้ล้อเล่น!

ผมไม่แปลกใจแล้วละ ว่าทำไม LEAF ถึงได้คว้ารางวัล รถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2011 ในทุกรางวัลใหญ่
ทั่วโลก ทั้ง รางวัล COTY (Japan Car of the Year 2011 – 2012) รางวัล RJC Car of the Year 2011 ควบ
2 รางวัลในญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ ก็คว้ารางวัล European Car of the Year กลายเป็นรถญี่ปุ่น และ Nissan คันที่ 2
ที่ได้รับรางวัลทรงเกียรติ และเข้มงวดในการตัดสินมากขนาดนี้ รวมทั้งรางวัล World Car of the Year 2011
ในสหรัฐอเมริกา แถมด้วยรางวัล 1 ใน 10 Ward’s Engine of the Year (ให้มาทั้งที่ไม่มีเครื่องยนต์ใน LEAF
แต่เพราะเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนของรถคันนี้นั่นเอง) นี่ยังไม่นับอีกสารพัดรางวัล ที่ผมคิดว่า เลิกนับเถอะ
เพราะมันเยอะจนนับไม่หวาดไม่ไหวแล้ว

2 รอบ บนเส้นทางในบริเวณ สนามบินสุวรรณภูมิ พอจะทำให้ผมได้รับประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมาย
ทั้งในด้านอัตราเร่งที่ดีเกินคาด ช่วงล่าง และการขับขี่ ที่ดีเกินหน้าเกินตารถยนต์หลายๆรุ่นในตลาดบ้านเรา
ไปไกล ไม่มีไอเสียให้ปล่อยออกมา แถมโครงสร้างตัวถังยังแน่นหนา ขับแล้วมั่นใจ ใช้ได้ดีทีเดียว

แม้ว่าจะยังมีเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่อยากเห็นการปรับปรุงบ้าง ทั้ง พวงมาลัยปรับระยะ ใกล้ – ไกล ที่ Nissan
ควรจะเลิกกั๊ก เลิกขี้เหนียว ใส่มาให้ในรถยนต์รุ่นล่างๆของตนได้แล้วเสียที จะมัวแต่กั๊ก เอาไว้ให้ Fuga กับ
GT-R กันอย่างเดียวเลยหรือยังไง? หรือแม้แต่ การออกแบบ ด้านทัศนวิสัย ซึ่งคงต้องรอให้ถึงรุ่นต่อไปกัน
รุ่นนี้ไม่ต้องไปคิดแก้ไขแล้ว

แต่ในภาพรวม การลองขับ Nissan LEAF ครั้งนี้ สำหรับผม ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่อีกครั้ง ในการ
ลองขับรถยนต์พลังไฟฟ้า และยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นให้ผมได้เห็นว่า ได้เวลาที่ประเทศไทย ควรจะเริ่มหันมา
ศึกษาเทคโนโลยีรถยนต์พลังไฟฟ้า อย่างจริงจังกันได้แล้วเสียที

ผมไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ทำ Full Review ของ LEAF อีกทีเมื่อไหร่ แต่อยากบอกว่า นี่คือ Nissan ที่ผมชอบ
อีกคันหนึ่ง ชอบจนไม่อยากจะลุกจากเบาะนั่งเลยจริงๆ ไม่อยากคืนกุญแจ กันอีกแล้วครับคุณผู้อ่าน!

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่า วันนี้ หากมีเงิน ผมยินดีจะซื้อ LEAF มาใช้งานไหม ก็คงจะตอบได้ทันทีว่า “ไม่
จำใจต้องตอบแบบนี้ ทั้งที่ผมเอง อยากได้ LEAF มาใช้งานใจจะขาด!


เหตุผล หาใช่ว่าตัวของ LEAF มันไม่ดี หากแต่เป็นเพราะว่า การใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันของผมนั้น
เอาแน่เอานอนไม่ได้ ถึงระยะปกติ จะเพียงพอให้ใช้งาน LEAF ได้อย่างสบายใจ แต่ก็มี อย่างน้อย
สัปดาห์ละ 1-2 วัน ซึ่งผมอาจต้องใช้รถยนต์ ในระยะทางวันละ 100 กิโลเมตร ไป – กลับจากบ้าน และ
ด้วยนิสัยการขับรถของผมเอง บอกได้เลยว่า โอกาสที่แบ็ตเตอรี จะหมดลงเร็วกว่าที่ควรนั่น เป็นไปได้
สูงใช่เล่น

LEAF ยังคงมีข้อจำกัดที่ทำให้เราในฐานะคนไทย อาจยังคงต้องรอกันต่อไปอีกพักใหญ่ เพื่อจะได้ซื้อหา
รถยนต์พลังไฟฟ้า แบบนี้มาใช้งาน มันก็มีอยู่ แค่ 2 – 3 ประเด็น

ข้อแรก : รอการพัฒนาของแบ็ตเตอรี และการเพิ่มจำนวนของตู้ชาร์จไฟสาธารณะ
ทุกวันนี้ รถยนต์พลังไฟฟ้า มีข้อจำกัดในเรื่องของ ระยะทางที่แล่นได้ ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ระยะทาง
แค่ 160 กิโลเมตร ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทำให้ หลายๆคนคิดว่า รถยนต์ไฟฟ้า ถูกจำกัดการใช้งานแต่เพียง
ในตัวเมือง และรอบๆชานเมืองเท่านั้น

แม้ว่าในญี่ปุ่นเอง กำลังอยู่ในระหว่างการส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาซื้อรถยนต์พลังไฟฟ้า ไปใช้งาน
กันมากขึ้น และมีการเพิ่มจำนวนของตู้ชาร์จไฟ มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน แต่นั่นยังไม่เพียงพอกับการ
ใช้งานในอนาคต เพราะต่อให้มีตู้ชาร์จไฟเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้า แบ็ตเตอรี ยังไม่อาจเก็บไฟฟ้าได้มาก
เพียงพอกับการใช้งานระดับ 300 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ผมว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะ
กระจุกตัวอยู่แต่ในเขตเมือง เป็นหลัก หรืออาจจะเป็นการใช้งาน เฉพาะบางครอบครัว บางชุมชน
ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

ผมอยากเห็น แบ็ตเตอรี ที่สามารถเก็บไฟได้มากกว่าปัจจุบัน มันต้องมากพอที่จะพาให้ LEAF
สามารถแล่นได้ 300 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (ซึ่งนั่นจะเป็นตัวเลขที่ดึงดูดใจให้ผู้บริโภค
เริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า กันอีกเป็นจำนวนมาก!) โดยที่ตัวแบ็ตเตอรีเอง ก็ต้องมีน้ำหนักเบา
พอประมาณ หรือไม่ก็ต้องเบากว่า แบ็ตเตอรี Lithium – ion ใน LEAF รุ่นปัจจุบัน อีกเพียงนิดนึง
ไม่ต้องเบากว่านี้มากนัก


ข้อ 2

Nissan เอง ก็อยู่ในระหว่างกำลังพัฒนา LEAF รุ่นใหม่ ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นไปอีก เป็น Super LEAF
ที่มีพละกำลังมากขึ้น แล่นได้ระยะทางไกลขึ้น ซึ่งน่าจะใช้เวลากันอีก 2 ปี เป็นอย่างต่ำ ถึงเวลานั้น
ก็น่าจะพร้อมที่ Nissan จะนำ LEAF เข้ามาขายในเมืองไทยได้แล้ว พอดี ตอนนี้ ยังไม่แน่ใจเลยว่า
เมือ่ถึงวันนั้น สมรรถนะของ LEAF จะถูกยกระดับขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน? เราคงต้องรอดูกันต่อไป

ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า หาก LEAF สามารถยกระดับตัวเอง ให้แล่นได้ 300 กิโลเมตร ต่อการ
ชาร์จไฟ 1 ครั้ง ถ้ามีเงิน ผมจะซื้อไหม? ผมก็ตอบได้ทันทีอีกเช่นกันว่า

“ไม่แน่ ต้องดูก่อนว่า ราคาเท่าไหร่”

ราคารถยนต์ประหยัดพลังงานแบบนี้ จะแพงแค่ไหน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่บริษัทรถยนต์เพียงอย่างเดียว
หรอกครับ แต่มันอยู่ที่รัฐบาลด้วย ว่าจะสนับสนุน ส่งเสริม ให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ประเภทนี้กันมากน้อย
แค่ไหน และอย่างไร

และนี่ละ คือ ข้อสุดท้าย

ก่อนที่จะถึงเวลานั้น เราอาจต้องรอให้ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ ฯลฯ
ได้เห็นคุณงามความดีในการรณรงค์ ส่งเสริมการเกิดของตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า ในประเทศไทย อย่าง
จริงจังกันเสียที เพื่อที่ประเทศไทยของเราทุกคน จะได้เริ่มต้นลดการใช้พลังงานจากน้ำมันลงไปได้บ้าง
ด้วยวิธีการนี้ อาจจยังไม่เห็นผลชัดเจนนักในปีแรกๆ แต่สำหรับระยะยาวแล้ว เราจะเห็นผลดีที่จะเกิดขึ้น
อย่างแน่นอน

เพราะตอนนี้ บ้านอื่นเมืองอื่น รัฐบาลต่างประเทศ เขาตระหนัก และเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับนโยบาย
ส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า กันมากขึ้นแล้ว บางประเทศ ให้แรงจูงใจในรูปส่วนลดด้านภาษีต่างๆ
แก่ประชาชนที่ซื้อรถยนต์เหล่านี้ไปใช้งาน บางประเทศ จัดให้มีตู้ชาร์จไฟ กันมากขึ้นในที่สาธารณะ

แล้ววันนี้ หน่วยงานภาครัฐของเรา จะตั้งแต่รัฐบาลสมัยไหน พรรคไหน ก็ตาม ได้ทำอะไรเพื่อปูพื้นฐาน
ให้ประชาชนของเรา ก้าวสู่ยุคแห่งการเดินทางด้วยพลังงานที่สะอาดขึ้นกว่าทุกวันนี้บ้างแล้วหรือยัง?

ผมอยากตั้งคำถาม ถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ว่า เรา ในฐานะ ประชาชนตาดำๆ จะต้องรอกันอีกนานไหม?
กว่าที่ทุกท่าน จะเริ่ม ปลีกเวลา จากการหาเสียงเพื่อปากท้องของตนเอง มาคิดถึงเรื่องการวางอนาคตด้านการ
ใช้พลังงานไฟฟ้า ในรถยนต์ กันอย่างจริงจังมากกว่านี้ เพราะนี่เป็นวิธีหนึ่งที่นอกจากจะช่วยลดการใช้น้ำมัน
ลงไปได้ในทางอ้อมแล้ว ยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ที่เกิดจากการสันดาปของเครื่องยนต์
อีกด้วย ช่วยให้ลูกหลานของเรา รุ่นต่อไป ยังมีอาการสะอาดดๆไว้หายใจกัน หรือว่าจะยังมัวแต่สนใจการ
แก่งแย่งชิงดี เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ อันจะเอื้อประโยชน์เข้ามาสู่ตน โดยไม่สนใจว่า การแก่งแย่งชิงดีด้าน
พลังงาน และเศรษฐกิจของโลก ในอนาคตข้างหน้า คือความท้าทายที่น่ากลัวกว่า กำลังคืบคลานเข้ามาหาเรา
อย่างช้าๆ

ครั้นจะไปหวังพึ่ง หน่วยงานด้านพลังงานของประเทศ ผมก็ไม่รู้จะฝากความหวังไว้ที่ใครได้บ้าง เพราะดูเถิด
แต่ละท่าน ก็สนใจแต่การลงทุน ในสิ่งที่เห็นชัดๆว่า ได้กำไรเข้ากระเป๋าตนแน่ๆ ณ วันนี้ โดยไม่ได้คิดคำนึงถึง
การลงทุนเพื่ออนาคตอันยั่งยืนกันบ้างเลย หรือจะต้องรอให้ทุกสิ่งมันจวนตัวกันเสียก่อน แล้วค่อยลงมือทำ

ตามนิสัยประจำ ที่เราชาวไทย เคยเห็นตำตากันมาตลอดหลายสิบปี?

————————————-///———————————–


ขอขอบคุณ / Spacial Thanks :
– คุณภัทรินทร์ อรรคภัทร (คุณเจน)
รองผู้จัดการใหญ่ สื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์
–  คุณชนกนันท์  เตชะภัทรพร (คุณ “ตาเล็ก”)
ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประชาสัมพันธ์
–  และ คุณชาญ กับคุณตุ๊ก ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อโอกาสในการทดลองขับ และการต้อนรับอย่างดี


————————————————————————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในเมืองไทย
ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน ยกเว้นภาพสไลด์ ลิขสิทธิ์ของ Nissan Motor Co.,ltd.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
19 ธันวาคม 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
December 19th,2011


แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome!Click Here!