UPDATE! เชิญชมคลิปที่ทาง Mitsubishi Motors เพิ่งถ่ายทำการเปรียบมวยระหว่าง Pajero Sport
2.5 Turbo รุ่นเก่า คัสีเงิน และ 2.5 VG Turbo รุ่นใหม่คันสีน้ำตาล วัดอัตราเร่ง ถ่ายคลิปกันสดๆร้อนๆ
จากสนาม Bridgestone ที่สระบุรี ได้ที่นี่ CLICK
—————————————
เสียงของ “ตูน” นักร้องนำ วง BodySlam ดังอยู่ตลอดทางระหว่างที่ผมขับรถจากบางนา ไปถึง
แก่งคอย สระบุรี ในเช้าวันนี้ วันที่ผมยอมแหกขี้ตาตื่นก่อนเวลาปกติไปหลายชั่วโมง
คงต้องบิลท์อารมณ์กันสักหน่อย ช่วยไม่ได้จริงๆ ก็ผมต้องไปลองขับรถคันที่ ตูน เขาเพิ่ง
รับงานเป็นพรีเซ็นเตอร์ ไปหมาดๆ เลยนี่นา ขนาดวันเปิดตัวเมื่อวานนี้ สาวๆ รีบปรี่เข้าไป
แย่งกันถ่ายรูปตูน หน้าเวที จนบรรดาช่างภาพอาชีพ หันไปมองค้อนขวับมากมาย
ครับ Mitsubishi Triton และ Pajero Sport หัวใจใหม่ 2.5 VG Turbo นั่นเอง
อันที่จริง ผมไม่ถึงกับเป็นแฟนเพลงของ คุณ ตูน นัก เพียงแต่ว่า ในอัลบั้มล่าสุดของ BodySlam
มีเพลงหนึ่ง ที่ผมชอบมากๆ จนเข้าขั้นรักเลย…และ..”แสงสุดท้าย” เพราะว่า เป็นเพลงที่ไม่เพียง
แค่จะปลุกเร้าจิตวิญญาณแห่งการลุกขึ้นสู้ เพื่อเป้าหมายที่รออยู่ข้างหน้า ของผมเท่านั้น หากแต่
ดูคลับคล้ายคลับคลาว่า น่าจะกระตุกจิตใครสักคนที่ Mitsubishi Motors (Thailand) มากพอจน
เสนอผู้บริหารชาวญี่ปุ่นว่า ขอให้ดึงเอา ตูน บอดี้สแลม มาเป็น พรีเซ็นเตอร์
แน่นอนว่า พลังของตูน นั้น ก็น่าจะมีแรงดึงดูดความสนใจจากสาธารณชน มากพอจะดึง
ลูกค้าเข้าโชว์รูม Mitsubishi กันได้ง่ายขึ้น
กระนั้น มันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่ผมจะยอมถ่อสังขารมาถึงสนามทดสอบ Bridgestone
ที่สระบุรี แห่งนี้ แต่เช้าตรู่ คือ เช้าชนิดที่ว่า เห็นคุณพี่แตน ผกามาศ ผดุงศิลป์ จากฝ่าย
ประชาสัมพันธ์ของค่าย Mitsubishi กำลังขับ Pajero Sport 2.5 ลิตร คันสีขาวของพี่เขาเอง
อยู่ข้างหน้าผม หลัดๆ แล้วก็เลี้ยวรถเข้าสนามทดสอบ พร้อมกันพอดี
วันนี้ นอกจากจะได้มาลองรถแล้ว ก็ยังถือเป็นวันรวมเพื่อน อีกวันหนึ่ง เพราะเพื่อนเก่า
สมัยเรียนอยู่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่ทำงานอยู่ใน Bridgestone แวะเวียนมาเจอกัน
กับผม ถึงที่นี่ เขาชื่อ ทรงกลด อธิบาย เล่าเพียงสั้นๆแล้วกันว่า สมัยยังเรียนอยู่ ผมกับ
ทรงกลด จะต้องกลับบ้านเย็นย่ำมืดค่ำด้วยกันทั้งคู่ เป็นพวกไม่ยอมออกจากโรงเรียน
จนถึงพระอาทิตย์ตกดินแล้วนั่นละ
อีกรายหนึ่ง ก็เป็น ตา Map วงศธร ควันธรรม DJ นักจัดรายการวิทยุ และ MC พิธีกร
รายการต่างๆ บุตรชายของ คุณวิโรจน์ ควันธรรม ผู้คร่ำหวอดในวงการวิทยุและเพลง
สากล ชื่อดังแห่งเมืองไทย กับเพื่อนของตา Map ที่่ชื่อ คุณมด วันนี้มาร่วมทดลองขับ
กับเขาด้วย เพราะเจ้าตัว ก็กำลังสนใจ เล็งเจ้า Pajero Sport เอาไว้อยู่
ระหว่างที่รอสื่อมวลชน กลุ่มช่วงเช้า นั่งรถตู้มาจาก กรุงเทพฯ ผมกับ Map และมด
เราเดินลงไปในสนาม เพื่อสำรวจดูความเปลี่ยนแปลงภายนอก ของ ทั้ง Triton
และ Pajero Sport…
เพื่อที่จะพบว่า มันแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย ถ้าคุณมองจากภายนอกอย่างเดียวนะ
และคุณต้องเปิดประตูเข้าไปนั่งในรถ ถึงจะรู้ว่า มันมีการปรับปรุงจากเดิมอยู่หลายจุด
รายละเอียดการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ ในเบื้องต้น นั้น Pajero Sport จะมีอุปกรณ์ใหม่เพิ่มเข้ามา
อาทิไฟหน้า HID กุญแจ Immobilizer ระบบเครื่องเสียงใหม่รองรับวิทยุ ซีดี MP3 AUX in ช่องเสียบ
USB ในรุ่น GLS และ ระบบใบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ในรุ่น GT สีน้ำตาล Quartz Brown
แต่ถ้าเป็น Triton จะเน้นไปที่การเปลี่ยนกระบะท้ายดีไซน์ใหม่ แบบตัดตรงยาวขึ้น 180 มิลลิเมตร
และสูงขึ้นอีก 57 มิลลิเมตร ในรุ่น Double Cab ระบบเครื่องเสียงใหม่รองรับวิทยุ ซีดี MP3 AUX in
ช่องเสียบ USB ในรุ่น Single Cab Mega Cab Double Cab ขับเคลื่อน 2 ล้อ รวมไปถึง Mega Cab Plus
GLX ในขณะที่รุ่น Mega Cab Plus GLS และ Double Cab Plus มีการติดตั้งเครื่องเล่นวิทยุ DVD
พร้อมจอภาพระบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว กระจกมองข้างปรับและพับด้วยไฟฟ้าในรุ่น Mega Cab Plus
Double Cab Plus และ Double Cab 4WD รวมทั้ง กุญแจรีโมท (Keyless) และระบบ Immobilizer
ในบางรุ่นย่อย
อย่างไรก็ตาม ผมยังขอไม่เจาะลึกรายละเอียดลงไปให้มากกว่านี้ ด้วย 2 เหตุผลสำคัญ
ข้อแรก อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ คุณสามารถหาอ่านได้ในโบรชัวร์ หรือสื่อส่งเสริมการขายอื่นๆ
ไม่เช่นนั้น ก็รออ่านกันอีกทีใน Full Review ที่จะตามมาหลังจากนี้ ก็ได้ ถึงตอนนั้น ก็จะเขียน
ให้ละเอียดกันไปข้างนึงเลยทีเดียว
เหตุผที่ 2 ก็คือสิ่งที่ผมเชื่อว่า คุณผู้อ่าน น่าจะอยากรู้มากกว่าประเด็นอื่นใด ก็คงจะหนีไม่พ้น
ประเด็นที่ว่า ในเมื่อมีการ “ปรับปรุงเครื่องยนต์รุ่น 2.5 ลิตร ใหม่” กันแล้ว สมรรถนะที่ออกมา
จะดีขึ้นตามที่ผู้บริโภคคาดหวังหรือไม่?
เรื่องมันเริ่มต้นจาก ยอดขายรุ่นเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 3.2 ลิตร Commonrail
Turbo 165 แรงม้า (PS) ที่วางอยู่ในรุ่นท็อป หรือ ขับเคลื่อนสี่ล้อของ ทั้ง 2 รุ่นเดิม นั้น ขายกัน
ไม่ค่อยจะดีเท่ากับรุ่น 2.5 ลิตร ที่ในระยะหลังมานี้ Triton กับ Pajero Sport ทำยอดขายจากรุ่น
2.5 ลิตร ได้มากกว่าอย่างชัดเจน
อีกทั้งยังมีเสียงลูกค้าบ่นเรื่อง ภาษีประจำปีที่ต้องจ่ายเยอะใช้ได้เลย ในรุ่น 3.2 ลิตร แถมยัง
มีความคิดที่อยากจะทำเครื่องยนต์ให้มีความจุกระบอกสูบเล็กลง แต่ได้พละกำลังเท่ากัน หรือ
แรงกว่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ตัวเดิม เพราะแนวโน้มการพัฒนาเครื่องยนต์ในช่วง 4-5 ปีมานี้
มีแนวโน้มไปในทิศทาง Downsizing กันมากขึ้น
ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว มาทำเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร รหัส 4D56 เดิม ให้มันมี
เรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในช่วงเร่งแซง แต่ยังคงกินน้ำมันเท่ากันกับเครื่องยนต์รุ่นเดิมไปด้วย
จะดีกว่าไหม
ทีมวิศวกรของ Mitsubishi Motors ก็เลยนำเครื่องยนต์ 4D56 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,477 ซีซี
Di-d Common Rail 140 แรงม้า (PS) เดิม ที่วางอยู่แล้วใน ทั้ง Triton กับ Pajero Sport มาปรับปรุงใหม่
การปรับปรุงเครื่องยนต์ คร่าวๆ ที่ทาง Mitsubishi Motors แจ้งให้ทราบ โดยหลักๆ ก็คือ เปลี่ยน มาใช้
Turbo แบบแปรผันครีบ จาก IHI เพื่อรับอากาศเข้า ได้ตาม รถรุ่นนี้ ไม่ได้มีการติดตั้ง เวสต์เกต มาให้
มีการเปลี่ยนหัวฉีด จากเดิม ซึ่งมีรูหัวฉีด 6 รู ขนาด 0.153 มิลลิเมตร ลดลงมาเหลือ 0.150 มิลลิเมตร
แล้วเพิ่มเป็น 7 รูหัวฉีด เพื่อให้ สามารถฉีดเชื้อเพลิงออกมาละเอียด เป็นฝอยละอองได้มากที่สุด
ประกับแบริ่ง มีการโมดิฟายใหม่ ลูกสูบ มีการปรับปรุง ให้สามารถรับแรงระแทกแล้ว เคลื่อนที่ลง
โดยไม่มีการตกข้าง เสีถยรในการเคลื่อนที่ลง จุดที่รองรับแรงระเบิด จะเพิ่มจาก 50.8 เป็ร 55
มีการลดพื้นที่ของรูบนหัวลูกสูบ จากความสูง 18 มิลลิเมตร เหลือ 16.8 มิลลิเมตร
พละกำลังของ เครื่องยนต์ 4D56 เวอร์ชันใหม่นี้ ถึงจะมีกำลังสูงสุดเท่ากัน คือ 178 แรงม้า (PS) ที่
4000 รอบ/นาที ส่วนแรงบิดสูงสุดนั้น จะขึ้นอยู่กับระบบส่งกำลังที่แตกต่างกัน ถ้าเชื่อมเข้ากับเกียร์
ธรรมดา 5 จังหวะ จะมีแรงบิดสูงสุด ถึง 400 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที แต่ถ้าเชื่อมเข้ากับเกียร์
อัตโนมัติ 5 จังหวะลูกใหม่ล่าสุด แรงบิดสูงสุด จะอยู่ที่ 350 นิวตันเมตร ณ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่
1,800 – 3,500 รอบ/นาที
การปรับปรุงเครื่องยนต์ใดๆ นั้น จำเป็นจะต้องคำนึงถึงการปล่อยมลพิษ ให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย
ที่บังคับใช้กันอยู่ อย่าง มาตรฐาน Euro-III และจะต้องเผื่อกันไปถึงมาตรฐาน Euro-IV ที่จะบังคับ
ใช้กันในไทย ปี 2012 ซึ่งตอนนี้ เครื่องยนต์ใหม่ 4D56 VG Turbo ตัวนี้ ก็ผ่านมาตรฐานไอเสีย
EuroIV แล้วเช่นเดียวกัน
ในชั่วโมงนี้ คงต้องถือว่า เป็นรถกระบะ เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ที่ “มีแรงม้าเยอะสุดในตลาด” (จนกว่า
Ford Ranger / Mazda BT-50 และ Isuzu D-Max ใหม่ทั้งคัน จะเปิดตัว เพราะแต่ละรายนั้น เคลม
พละกำลังกันไว้ที่ระดับ 200 แรงม้า จากเครื่องยนต์ 3.0 – 3.2 ลิตรทั้งสิ้น)
รอบเดินเบา จะมีรอบเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่าเดิม แถมเสียงเครื่องยนต์ ค่อนข้างเบาลง (อันนี้ยืนยันได้
จากตอนที่ผม ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ จากรถคันจริง ที่ติดเครื่องขณะเคลื่อนย้ายรถออกจากห้องบอลรูม
ในโรงแรม พลาซา แอธเธนี ว่า มันเบากว่าเดิมชัดเจนจริงๆ)
เครื่องยนต์ใหม่นี้ จะถูกวางลงใน Pajero Sport ใหม่ “ครบทุกรุ่น” โดยในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ จะยังคง
เอมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ลูกเดิม ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Super Select 4WD จะเชื่อม
เข้ากับเกียร์อัตโนมัติ ลูกใหม่ แบบ 5 จังหวะ INVECS-II พร้อมโหมด บวก-ลบ Sportronic ซึ่งถือเป็น
ครั้งแรกในรถประเภทนี้
แต่ในรุ่น Triton ในเบื้องต้น จะถูกวางลงในรุ่น Double Cab Plus GLS เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ลูกเดิม
และ Double Cab ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ GLS-Limited เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ
5 จังหวะ พร้อมโหมดบวกลบ Sportronic (แต่ไม่มีระบบ INVECS-II มาให้นะ!) เท่านั้น แถมระบบ
ขับเคลื่อนสี่ล้อ ก็ยังเป็นแบบ Part Time ในชื่อ Easy Select 4WD ซึ่งเป็นแบบที่คอรถกระบะแท้ๆ
น่าจะยังชื่นชอบกันอยู่
รถที่ทาง Mitsubishi Motors เตรียมไว้ให้เราได้ทดลองขับกันนั้น ไม่มีรุ่นเกียร์ธรรมดา มีแต่รุ่นเกียร์
อัตโนมัติ ตามแต่ละระบบขับเคลื่อน และรูปแบบตัวถัง มีทังหมด 10 คัน คละรุ่น คละตัวถังกันไป
และนั่นคือโอกาสอันดี สำหรับผม ที่จะได้ลองจับเวลา หาอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง กัน
คร่าวๆ ในเบื้องต้น สักหน่อย ดูสิว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์ในครั้งนี้ จะให้ผลลัพธ์ ออกมาอย่างไร?
อัตราเร่งจากการจับเวลาคร่าวๆ งานนี้ ข้าพเจ้าขับเอง และกดนาฬิกาจับเวลาเอง เพื่อเช็คดูตัวเลข
ในเบื้องต้น เพื่อดูแนวโน้ม ว่า ตัวเลขจะดีขึ้นกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน แต่ละคัน มีโอกาส จับเวลา
เพียงแค่ครั้งเดียว เท่านั้น และผลที่ได้ ก็มีดังนี้
Triton Double Cab PLUS 2WD 4AT รถหมายเลข 7 นั่ง 2 คน อยู่ที่ 12.37 วินาที
Triton Double Cab 4WD 5AT รถหมายเลข 10 นั่ง 2 คน ตัวเลขอยู่ที่ 12.52 วินาที
Pajero Sport 2.5 GT 4WD 5AT รถหมายเลข 1 นั่ง 3 คน ตัวเลขอยู่ที่ 13.xx ปลายๆ วินาที
(เผลอกดนาฬิกาลบตัวเลขไปก่อนจะบันทึกลงกระดาษ)
ส่วน Pajero Sport 2.5 GT 2WD 4 AT ทดลอง 2 คัน เพราะคันหมายเลข 5 ทำได้ 14.49 วินาที
ซึ่งถือว่า รถน่าจะมี ปัญหาอะไรบางอย่าง จากโรงงาน ทำให้อืดกว่าที่ควรจะเป็น ผมสงสัย
และข้องใจมาก จึงตัดสินใจทดลองขับ รถอีกคันหนึ่ง เป็นรถหมายเลข 6 และนั่ง 3 คน
เหมือนกัน ทำตัวเลขได้ 13.82 วินาที
เห็นตัวเลขแล้ว คิดอย่างไรกันบ้างครับ?
เอาละ ถ้าดูจากตัวเลข แล้วคิดว่า เครื่องยนต์ใหม่ ก็ยังดูอืด แล้วละก็
ความจริง ที่ออกมาจากนาฬิกาจับเวลาของผม ก็คือ เมื่อลองเทียบกับตัวเลขของ Triton และ Pajero Sport
เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร เดิม พบว่า รถรุ่นใหม่ ดันทำอัตราเร่ง ได้ดีกว่ารถรุ่นเก่าจริงๆ นะ อ่ะ ไม่เชื่อก็ลอง
ดูเอาแล้วกัน ตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จาก Pajero Sport เดิม รุ่น 3.2 ลิตร 4WD 4AT ทำได้ที่
13.91 วินาที ส่วนรุ่น 2.5 ลิตร 2WD 4AT ทำได้ 15.11 วินาที
ส่วน Triton Double Cab 4WD 3.2 ลิตร 4AT ทำตัวเลขได้ 13.65 วินาที ขณะที่ Triton Plus 2WD 2.5 ลิตร
4AT ทำตัวเลขได้ 14.15 วินาที และทั้งหมดนี้ ขอย้ำว่า คือตัวเลขรถรุ่นเก่า
เมื่อเทียบตัวเลขทั้งหมดนี้ คุณจะพบว่า เอาเข้าจริง เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร VG Turbo ทำตัวเลขออกมา
ได้ไวกว่า รถรุ่นเดิม เครื่องยนต์ ทั้ง 3.2 ลิตร และ 2.5 ลิตร อย่างชัดเจน จริงๆนะ ก็ตัวเลขมันฟ้อง
โกหกไม่ได้ เพราะ ใช้นาฬิกาจับเวลาเรือนเดียวกันมาตลอด ไม่ได้เปลี่ยนเลย
ที่สำคัญ ตัวเลขในรุ่น Pajero Sport 2.5 VG Turbo นั้น เกิดขึ้นได้ ทั้งที่ มีคนนั่งอยูในรถถึง 3 คน
มากกว่ามาตรฐานปกติที่เราทดลองกันแค่ 2 คน และทั้ง 3 คนที่ว่านั้น น้ำหนักตัว รวมกัน ก็มีเกิน
200 กิโลกรัมแน่ๆ ไม่ใช่แค่ผม กับเจ้ากล้วย BnN 2 คน ซึ่งยังไงๆ ก็น้ำหนักตัวไม่เกิน 150 กิโลกรัม
แน่ๆ ที่สำคัญ ตัวเลขทั้งหมดนี้ ยังทดลองกันในช่วงกลางวัน ของจังหวัดสระบุรี ที่โล่งแจ้ง
แสงแดดแผดเผาไปหาสวรรค์วิมานอะไรก็ไม่รู้ เสียอีกต่างหากแหนะ!
แต่ถ้าไม่มีนาฬิกาจับเวลาอยู่ในมือละ? บอกได้เลยว่า นิสัยการตอบสนองของ เครื่องยนต์ใหม่ มันกลับ
ไม่ได้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากรุ่นเครื่องยนต์เดิมเอาเสียเลย งงชะมัด !!??
เอาเข้าจริง หลังจากได้ลองขับแล้ว ทุกรุ่นย่อย ที่ผ่านมือ จะตอบสนองผมด้วย บุคลิกในช่วงออกตัวที่อืดอาด
ต่อให้เหยียบคันเร่งแบบเต็มมิดติดเหล็กรถกันตั้งแต่ออกตัว หรือว่า จะค่อยๆ เริ่มไล่น้ำหนักลงบนคันเร่ง
ตามลำดับก็ตาม ก็ต้องรอให้ Turbo เริ่มทำหน้าที่ กันที่แถวๆ 2,000 รอบ/นาที ขึ้นไปเสียก่อน คุณถึงจะ
เริ่มเห็น รอบเครื่องยนต์ “กวาดแว๊ด” ขึ้นไป แต่ก็ไปหมดเอาในช่วง 4,000 รอบ/นาทีต้นๆ ตามปกตินิสัย
ของเครื่องยนต์ Diesel ที่ไม่อาจจะทำรอบได้จัดหนัก
การมี Turbo แปรผัน VG เพิ่มเข้ามานั้น ดูเหมือนว่าวิศวกรญี่ปุ่น จงใจจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา ช่วง
จังหวะเร่งแซง ขณะขับขี่ทางไกลเป็นหลัก ซึ่งด้วยพละกำลังที่มีให้ในตอนนี้ ถือว่า พอจะช่วยบรรเทา
ปัญหาเดิมไปได้ในระดับหนึ่ง
แต่ปัญหาเดิมที่ดูเหมือนว่า พวกเขาลืมจะแก้ไขไป นั่นคือ การออกตัวที่ขาดความจี๊ดจ๊าด ในช่วง เกียร์ 1
ซึ่งเป็นสิ่งที่ ผมเชื่อว่า คุณผู้อ่านหลายๆคน หรือลูกค้าคนไทย ทั่วไป ซึ่งพักหลัง ติดใจนิสัยการออกตัว
ของ Toyota Fortuner และ Vigo ที่เริ่มมีแรงบิดโผล่มาจ๊ะเอ๋ กันตั้งแต่ ระดับ 1,500 รอบ/นาที กันแล้ว
คาดหวังอยากจะเห็นจาก ทั้ง Pajero Sport และ Triton ใหม่
อัตราเร่ง ที่มีปัญหาทั้งหมดนี้ มีแนวโน้มว่า มาจาก การเปลี่ยนเกียร์ ที่ช้าเหมือนรถรุ่นเดิม และกว่าจะ
ปถึงความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่าง ก็ต้อมีการเปลี่ยนเกียร์ 2 ครั้ง เหมือนกัน ถึงแม้อัตราทดเกียร์
ของรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จะจัดกว่ามากก็ตาม
ผมสัมผัสได้ว่า แม้เครื่อง 2.5 ลิตร เวอร์ชันใหม่ จะมี Turbo แปรผันแล้ว ก็ตาม ก็ยังปรากฎอาการรอรอบ
ให้เห็นเหมือนเดิมอยู่ดี ก็ชวนให้ฉงนว่า ทำไม ในเมื่อมี Turbo แปรผันแล้ว ยังอุตส่าห์มีการรอรอบ
กันอีกละเนี่ย?
ในขณะที่ อัตราเร่งแซง ในช่วง 80 -120 กิโลเมตร/ชั่วโมง น่าจะดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมชัดเจนนิดหน่อย แล้ว
ยังอยากเห็นการปรับปรุงเรื่อง การออกตัว ให้ดึงกระชากหลังติดเบาะมากขึ้นอีกสักหน่อย
กระนั้น เราก็ยังไม่อยากจะตัดสินอะไรลงไปให้มันชัดเจนนัก เพราะอย่างที่บอกว่า นี่เป็นแค่
First Impression ยังไม่ใช่ Full Review ของจริง ไว้ยืมรถมาทดลองกันในภายหลัง ก็คงจะ
เห็นตัวเลขที่รถรุ่นนี้ทำได้จริง ชัดเจนกว่านี้
ขณะเดียวกัน เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ INVECS-II พร้อมโหมด Sportronic ลูกนี้ ทำงานได้ค่อนข้าง
ราบรื่น เปลี่ยนเกียร์ ไล่ขึ้นไปค่อนข้างนุ่มนวล เพียงแต่อาจจะมีอาการกระตุกนิดๆ จากแรงบิด ขณะ
เปลี่ยนเกียร์จาก P มา R หรือ D ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรในความคิดของผม เพราะมันแค่ พอให้
สัมผัสได้ว่า เกียร์เปลี่ยนแล้วนะ ไม่ใช่กระตุก กึกๆ จนน่ารำคาญแต่ประการใด (และที่แน่ๆ กว่าจะถึง
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกียร์ลูกนี้ ก็จะต้องเปลี่ยนเกียร์ขึ้น 2 จังหวะ เหมือนกับเกียร์ 4 จังหวะลูกเก่า
เหมือนกันเป๊ะเลยนั่นละ
ด้านการบังคับควบคุมรถ ด้วยพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ก็ยังคงไม่แตกต่าง
ไปจากรถรุ่นเดิม กล่าวคือ พวงมาลัยหนืด ไม่ได้เบาโหวง มาในสไตล์ เอาใจคนยุโรป ดังนั้น ความมั่นคง
ในการขับทางไกล จะมีมาก แต่ขณะเดียวกัน ความฉับไว และแม่นยำในการแก้ไขอาการ ในช่วงสลาลอม
ก็ “เป็นไปในแบบที่รถใหญ่ๆ และหนักๆ มักจะแสดงอาการกัน” คือ พวงมาลัย ต้องออกแรงสาวไป-มา นิดนึง
และเช่นเดียวกัน ระบบกันสะเทือนของ ทั้ง 2 รุ่น ก็ยังคงตอบสนองเหมือนกัน กับแต่ละรุ่น แต่ละตัวถัง
ของรถรุ่นก่อนหน้านี้ เป๊ะ กล่าวคือ ใน Pajero Sport จะมีความหนักแน่น และมั่นคง สัมผัสได้ว่า กำลัง
ขับรถใหญ่ๆ หนักๆ 1 คัน ไปบนถนนอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเข้าโค้ง หรือขับไปตรงๆ ขณะที่ Triton
ก็จะให้สัมผัสว่าตัวรถเบากว่า Pajero Sport ระบบกันสะเทือนจะมีบุคลิก หน้านุ่ม หลังแข็ง แต่ไม่มาก
เท่าเดิมนัก
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
แรงขึ้นชัดเจนในช่วงกลาง แต่ตีนต้น ยังอืดอาดอยู่เหมือนเดิมนะ
การเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ของทั้ง Triton และ Pajero Sport จาก 2.5 ลิตร เดิม มาเป็น 2.5 VG Turbo ในครั้งนี้
เราต้องทำความเข้าใจกันสักหน่อย เพราะการที่จะปล่อยให้คุณเดินเข้าโชว์รูม Mitsubishi ไปดื้อๆ โดยไม่มี
อะไรอยู่ในหัวเลย หรือไม่อ่านบทความนี้เสียก่อน ดูท่าจะไม่ได้การณ์เสียแล้วละ
จริงอยู่ว่า โดยพื้นฐานตัวรถของทั้ง Pajero Sport และ Triton รุ่นเดิม ก็มีความสมบูรณ์ ในตัวของมันเองอยู่แล้ว
ทั้งในเรื่องโครงสร้างตัวถัง ด้านความปลอดภัย ความแข็งแรง รวมทั้ง ห้องโดยสาร ที่ถือว่า นั่งสบาย และมีบุคลิก
การขับขี่ ที่เน้นความมั่นคง มั่นใจ ทั้งทางตรง และทางโค้ง ซึ่งถือว่าตอบโจทย์พื้นฐานต่างๆ ได้ดีกว่ารถกระบะ
ของคู่แข่งหลายๆคัน
แต่ปัญหาที่ผ่านมา ของ ทั้งคู่ ในสายตาของลูกค้าก็คือ อัตราเร่งที่ยังไม่ค่อยจะทันใจ คนไทยจำพวกเท้าหนัก
เท่าใดนัก ในฐานะผู้ผลิต สิ่งที่ Mitsubishi Motors กำลังทำอยู่ในตอนนี้ คือความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยให้น้ำหนักไปที่อัตราเร่งแซง มากกว่าการออกตัวให้จี๊ดจ๊าด (ซึ่งดันเป็นสิ่งที่ลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่ จะ
อยากได้แถมมาด้วย)
ทว่า เรื่องน่าประหลาดคือ คุณจะเห็นความแตกต่าง ของเครื่องยนต์ใหม่ อย่างแท้จริง ต่อเมื่อคุณมีนาฬิกาจับเวลา
อยู่ในมือ…มันต่างกันชัดเจนมาก แรงขึ้นกว่าเดิมมาก และ เป็นเครื่อง 2.5 ลิตร ที่แรงกว่า เครื่องยนต์ 3.2 ลิตร จริงๆ
อันนี้ขอคอนเฟิร์ม!
แต่ทำไม ฟีลลิงตอนขับ มันไม่ค่อยจะต่างจากรถรุ่นเดิมเท่าไหร่เลยแหะ?
สำหรับ Triton แล้ว การได้เครื่องยนต์ 4D56 เวอร์ชันใหม่นี้ มาวาง ก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเร่งแซงขณะ
ขับขี่ทางไกล ไปได้พอสมควร เพราะน้ำหนักตัวที่ เบากว่า Pajero Sport จะช่วยให้คุณเห็นความแตกต่าง
ถึงประสิทธิภาพที่เครื่องยนต์กับระบบส่งกำลังชุดใหม่นี้ พยายามจะถวายตัวให้คุณ ถือว่า ทำได้ใกล้เคียง
กับคู่แข่งมากขึ้นกว่าเดิม และนับว่า อยู่ในระดับ พึงพอใจ แม้จะยังไม่ถึงขั้นดีเลิศประเสริฐศรี จนต้อง
มอบโล่ห์ท่านประธาน อบต.ให้ก็ตาม แต่ด้วย อัตราเร่ง ที่ดีขึ้น ก็น่าจะช่วยให้ คุณผู้อ่าน สนุกกับการขับขี่
ได้มากขึ้นกว่าเก่า นิดหน่อย และนั่นทำให้ผม คิดได้ว่า ถ้าใครอยากได้ Triton PLUS หรือ รุ่น 4WD
กันมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และเลือกจะรอเครื่องยนต์เวอร์ชันใหม่ แล้วละก็ ผมว่า ซื้อได้ ไม่เป็นปัญหา
เพียงแต่ว่า ถ้าคุณ ไม่ใช่คนที่อยากได้ Triton มาก่อน คุณอาจจะต้องมองคู่แข่งคันอื่นประกอบไปด้วย
เพื่อช่วยให้ การตัดสินใจ ลงตัวกับความต้องการของคุณอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม สำหรับ Pajero Sport แล้ว ถ้าคุณคาดหวังว่า การออกตัวจะจี๊ดจ๊าดแซบลิ้น เหมือนกินยำยำ จัมโบ้
รสต้มยำกุ้ง ผมเกรงว่าคุณอาจจะผิดหวังก็ได้ เพราะรสชาติ มันจะเหมือนกับคุณ กินไก่อบชานอ้อย จากซุ้มขาย
ไก่ย่าง 5 ดาว ที่ราดด้วย Salsa มากกว่า มันอาจจะอร่อย แค่พอประมาณ นุ่มลิ้น เผ็ดนิดเดียว เปรี้ยวนิดนึง แต่
ไม่จี๊ดจ๊าดร้อนแรงสะใจ น้ำหูน้ำตาไหลแบบที่คนไทยต้องการ จาก SUV บนพื้นฐานรถระบะ ที่มีตัวถังหนักอึ้ง
ในสไตล์ญี่ปุ่นผสมยุโรป แบบนี้
แต่ ถ้าใครก็ตาม ที่คิดจะซื้อ Pajero Sport นั้น ผมอยากจะขอแนะนำ “อย่างจงหนัก” ว่า ก่อนจะเซ็นใบจอง
กรุณาทดลองขับก่อน โดยอยากให้เริ่มจาก ลองขับ Triton Plus 2.5 VG Turbo ก่อน จะเป็นรุ่นขับ 2 ล้อ
หรือ 4 ล้อ ก็ได้ เพื่อให้รับรู้ก่อนว่า พละกำลัง จากเครื่องยนต์ ในรถคันที่ ไม่มีน้ำหนักตัวถัง และอุปกรณ์
ต่อพ่วงด้านหลัง มาถ่วงน้ำหนัก เป็นภาระกับตัวรถมากนัก คุณจะพบว่า สมรรถนะที่ออกมาจากเครื่องยนต์
ที่แท้จริง เป็นอย่างไร
จากนั้น ค่อยบอกกับพนักงานขายว่า ขอลองขับ Pajero Sport จะเป็นรุ่นไหนดี ขึ้นอยู่กับว่า อยากซื้อรุ่น
ขับเคลื่อน 2 ล้อ หรือ 4 ล้อ
ถ้าคิดว่า รับไม่ได้ และต้องการ อัตราเร่งในช่วงออกตัวที่สะใจกว่านี้ ไปหา Toyota Fortuner เลยครับ
อัตราเร่งในช่วงต้นนั้น เขาจะให้คุณได้ทันใจกว่า แน่ๆ (แต่ก็ต้องแลกกับการที่ รถมันอาจจะทำให้คุณ
มีแนวโน้มเปลี่ยนนิสัยการขับรถ จากเรียบร้อย นุ่มนิ่ม เป็นดุดัน ก้าวร้าว ขึ้นไปได้ และอาจถึงขั้น
แอบไปซื้อปืน มาไล่ยิง กัปตันการบินไทย หากเห็นว่าเขาขับรถไม่ได้อย่างใจคุณต้องการ ก็อาจเป็นได้!!)
แต่ ถ้าคิดว่ารับได้ กับอัตราเร่งประมาณนี้ ซึ่งจะดีกว่ารถรุ่น 2.5 ลิตรเดิม ราวๆ ไม่เกิน 1 วินาที โดยประมาณ
เพียงแต่ จะไม่เห็นผลนักในช่วงออกตัว ไม่เกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือ พูดง่ายๆคือ ในช่วงต่ำกว่า 2,000
รอบ/นาที ลงไป แทบจะอืดอาด ไม่ได้แตกต่างไปจากเครื่องยนต์ 4D56 ตัวเดิมเลย แต่พอพ้นช่วง ที่ว่าขึ้นไป
ก็จะมีเรี่ยวแรงดึงรถ มาให้ตื่นเต้นกันนิดหน่อย จนถึง 3.500 รอบ/นาที
ซึ่งถ้าตัดข้อด้อยข้อนี้ทิ้งไป แล้วคุณยังรับได้ กับบุคลิกการขับขี่ และความมั่นใจในการควบคุมรถ การทรงตัว
และบรรยากาศภายในห้องโดยสาร แถมด้วยอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา วัสดุ การตกแต่ง ที่ถือว่า ดีกว่า
คู่แข่งอีกหลายรุ่นในตลาด กับค่าตัวที่เพิ่มขึ้นจากเดิม อย่างที่เห็นกันอยู่ รวมทั้งบริการหลังการขายในแบบ
ของ Mitsubishi Motors ซึ่งพอจะหาศูนย์บริการในดวงใจได้เพียง 2-3 แห่ง จากทั่วประเทศ
ถึงตอนนี้ ผมว่า อัตราเร่งของเครื่องยนต์ ก็ไม่น่าเป็นปัญหาแล้วละ! เพราะยังมี ผู้ผลิตกล่องโมดิฟาย
กล่อง ECU หลายรายให้เลือกใช้บริการกันได้ในภายหลัง ซึ่งก็ต้องไปสืบเสาะค้นหากันเอาเอง
แต่..ถ้าไม่รีบร้อน รอดู Full Review ที่คาดว่าจะตามมาหลังจากนี้ ไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะ
อุดมไปด้วย ตัวเลขอัตราเร่งเต็มรูปแบบ และตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง ตามมาตรฐานเดิมของ
J!MMY และ Headlightmag.com กันอย่างอิ่มหนำสายตา กันดีกว่า
เนาะ!?
——————————————///———————————————–
ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
สำหรับความเอื้อเฟื้อ ทุกอย่าง ในครั้งนี้
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
14 มกราคม 2011
Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 14th,2011