(หมายเหตุ : บทความนี้ ถูกแยกออกมาจากบทความ ทดลองขับรถยนต์ Honda เวอร์ชันญี่ปุ่น เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนา Honda R&D
และสนามทดสอบของฮอนด้า ในเมือง Utsunomiya จังหวัด Tochigi วันที่ 18 ตุลาคม 2005 ตามคำเชิญ ของ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
ภาพประกอบของบทความนี้ เป็นภาพถ่ายโดยช่างภาพชาวญี่ปุ่น จากทางฮอนด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในวันเยี่ยมชม เราไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพด้วยตนเอง
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน http://topicstock.pantip.com/ratchada/topicstock/V3849926/V3849926.html )
ไลฟ์ เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กในกลุ่ม K-CAR หรือ KEI-JIDOSHA 660 ซีซี ตามกฎหมายแบ่งประเภทรถยนต์นั่งเพื่อจัดเก็บภาษีของรัฐบาลญี่ปุ่น และเป็นรถยนต์อีกรุ่น
ที่มีความสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ของฮอนด้าในวงการรถยนต์ 4 ล้อ เผยโฉมครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 1971 และทำตลาดเพียง 3-4 ปี ก่อนจะเงียบหายไปในปี 1974
ทิ้งช่วงไปถึง 25 ปี กับ 10 เดือน ไลฟ์จึงหวนกลับมาทำตลาดอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน 1997 ในฐานะตัวตายตัวแทนของฮอนด้าทูเดย์ ซิตีคาร์ยอดนิยมที่ปลดประจำการไป
เมื่อปี 1996 ที่ผ่านมามีการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ให้กับไลฟ์ไปแล้ว 2 ครั้ง ทั้งในเดือน ตุลาคม 1998 กับการเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังภายนอกเกือบทุกจุด พร้อมอัดขุมพลังใหม่
ลงไป และล่าสุดกับเวอร์ชันสปอร์ตอย่างไลฟ์ ดังก์ เมื่อต้นปี 2001 ปัจจุบันนี้ ไลฟ์กลายเป็นหัวหอกหนึ่งเดียวของฮอนด้าในการบุกตลาดรถยนต์ เค-คาร์ (ไม่นับรวมรถตู้ตระกูล
ACTY/VAMOS)
รุ่นใหม่ของไลฟ์ พัฒนาขึ้นภายใต้การดูแลของ MAKIHITO NOGUCHI หัวหน้าวิศวกรของโครงการนี้ โดยมีขนาดตัวถังยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร
สูงระหว่าง 1,575 -1,590 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,420 มิลลิเมตร แบ่งการตกแต่งออกเป็น 2 สไตล์ คือรุ่นมาตรฐานเอาใจคุณแม่บ้าน D F และ C รหัสรุ่น JB5 (FF) และ
JB6 (4WD) ชุดกระจังหน้าเป็นแบบเรียบง่ายและรุ่น เทอร์โบ รหัสรุ่น JB7 (FF) และ JB8 (4WD) ซึ่งเป็นรุ่นแรง เข้ามาทำตลาดแทน ไลฟ์ ดังก์ ที่ยกเลิกไป เพิ่มความ
สปอร์ตด้วยสกูปรับอากาศบนฝากระโปรงหน้า ช่องรับอากาศบนกันชนหน้า เหนือป้ายทะเบียน มีขนาดใหญ่ขึ้น และเพิ่มล้ออัลลอยขนาด 14 นิ้ว เข้าไป ชุดไฟหน้าแบบ HID
(HIGH-INTENSITY DISCHARGE) เป็นออพชันพิเศษ ขณะที่ชุดไฟท้าย ยังคงเป็นแนวตั้ง ยาวจากขอบหลังคาจรดกันชนหลังเช่นเดิม สีตัวถังเลือกได้ถึง 12 เฉดสี
ห้องโดยสารยังคงเอาใจคุณแม่บ้าน ด้วยแผงหน้าปัดชุดใหม่ที่รับอิทธิพลการออกแบบจากรุ่นฟิต โมบิลิโอ และฟิต เอริอา (ซิตี ในไทย) ชุดมาตรวัดความเร็ว มี 2 ช่อง คล้ายกับ
ชุดมาตรวัดของจักรยานยนต์ ฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว แต่ฝั่งซ้ายเป็นหน้าจอ MULTI INFORMATION SYSTEM สามารถเลือกปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงข้อมูลได้
ทั้งมาตรวัดรอบทริปมิเตอร์ บอกอุณหภูมิภายนอกรถ แจ้งเตือนเมื่อออกรถแล้วลืมปลดเบรกจอด แถบแสดงน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ รวมทั้งคำนวนค่าเฉลี่ยน้ำมันที่ใช้ไปใน
การเดินทางแต่ละครั้ง แจ้งเตือนนำรถไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไปจนถึงปฏิทินพร้อมระบบกำหนดให้แจ้งเตือนวันพิเศษๆต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีที่เปิดประตูรูปตัว C สวิชต์เครื่องปรับอากาศดิจิตอล ชุดเครื่องเสียงพร้อม ซีดี/มินิดิสก์ ในตัว เบาะแถวหลังแยกพับได้ 50:50 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง
ด้านความปลอดภัย ยังครบครันด้วยถุงลมนิรภัยคู่หน้า เข็มขัดนิรภัยลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติและจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX
จุดขายสำคัญของ ไลฟ์ใหม่ อยู่ที่การปรังปรุงโครงสร้างตัวถังนิรภัย G-CON โดยเน้นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับชิ้นส่วนรับแรงกระแทกด้านหน้า ทั้งคานเหล็กบน ระหว่าง
ชุดไฟหน้า (BULK HEAD or UPPER FRAME) ให้รับแรงปะทะได้ดีขึ้น ขณะที่คานล่าง (LOWER FRAME) และโครงแชสซีใต้ห้องเครื่องยนต์ (MAIN FRAME)
ซึ่งทำจากเหล็กเหนียวพิเศษและน้ำหนักเบา HIGH-TENSILE ถูกปรับปรุงให้รับและส่งกระจายแรงปะทะได้ดีขึ้น ทำให้ลดโอกาสการเสียรูปของห้องโดยสารเมื่อเกิดการชน
ลงได้อีกมาก นอกจากนี้ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า ทั้งฝากระโปรงซุ้มล้อ และกันชนพลาสติกรีไซเคิลได้ ถูกสร้างขึ้นให้ช่วยลดการบาดเจ็บของผู้ร่วมสัญจรบนถนน เป็นพิเศษอีกด้วย
นอกจากเปลี่ยนโฉมแล้ว ยังเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเดิมรหัส E07Z มาใช้ขุมพลังรหัสใหม่ P07A 3 สูบเรียง SOHC 656 ซีซี 8 วาล์ว หัวฉีด PGM-FI คราวนี้มาพร้อม
เทคโนโลยี 2 หัวเทียน/1สูบ i-DSi เพื่อช่วยจุดระเบิดและเผาไหม้ได้ดีขึ้น หากเป็นรุ่นคุณแม่บ้าน จะมีกำลังเท่าเดิม 50 แรงม้า (PS) ที่ 6,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.2
กก.-ม.ที่ 3,800 รอบ/นาที แต่ในรุ่นเทอร์โบ เมื่อเพิ่มระบบอัดอากาศเทอร์โบ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์เข้าไป จะเพิ่มความแรงเป็น 64 แรงม้า (PS)ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 9.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที ที่ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตามมาตรฐานการวัด 10-15 โหมดของรัฐบาลญี่ปุ่นระดับ 16.8-19.8 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งเป็น
ครั้งแรกที่ฮอนด้า ติดตั้งระบบอัดอากาศเทอร์โบให้กับเครื่องยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี i-DSi นอกจากนี้ยังได้รับการปรับปรุงเรื่องเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือน เพื่อให้รบกวน
ผู้โดยสารน้อยที่สุด
ระบบส่งกำลังมีให้เลือกแต่เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ PROSMATEC ที่ได้รับการปรับปรุงโซลินอยด์ เพื่อให้ช่วยลดอาการกระตุกขณะเปลี่ยนเกียร์ได้ดีขึ้น เพียงแบบเดียว ไม่มี
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะให้เลือกอีกต่อไป แต่เลือกได้ว่าจะใช้ระบบขับล้อหน้าหรือขับ 4 ล้อแบบ REAL TIME หลักการทำงานเหมือนกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อในซีอาร์-วี คือ
เมื่ออยู่บนถนนแห้งธรรมดา ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าจะทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเข้าสู่ถนนขรุขระ หรือมีสภาพลื่น เพลาขับเคลื่อนล้อคู่หลังจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระทันที
ระบบกันสะเทือนยังคงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนล้อหลังมี 2 แบบ หากเป็นรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า จะใช้แบบ
คานแข็งธรรมดา แต่ถ้าเป็นรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จะเปลี่ยนมาเป็นแบบ เดอ ดิออง ทั้งคู่ไม่มีเหล็กกันโคลงมาให้พวงมาลัยแรคแอนด์พีเนียนพร้อมเพาเวอร์แบบธรรมดาช่วย
เท่านั้น ไม่มีระบบเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS มาช่วย ส่วนระบบเบรก ทุกรุ่นเป็นแบบหน้าดิสก์-หลังดรัม เสริมด้วยเอบีเอส และระบบกระจายแรงเบรก อีบีดี
** ความรู้สึกเมื่อได้ลองขับ **
นี่เป็นครั้งที่สองในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสทดลองขับรถเล็กระดับ K-Car หลังจากครั้งแรกผ่านพ้นไปตั้งแต่ปี 2003
กับมิตซูบิชิ ek-Wagon รุ่น ek-SPORTS ที่ผมประทับใจ
ในความคล่องแคล่วของตัวรถ
มาคราวนี้ ไลฟ์ โฉมล่าสุด เปลี่ยนโฉมให้ดูเอาใจคุณแม่บ้านมากขึ้น
น่าเสียดายที่ไม่มีรุ่นตกแต่งเร้าใจสไตล์วัยรุ่นชายหนุ่ม
Life Dunk ออกมาเหมือนรุ่นที่แล้ว
เมื่อขึ้นไปนั่งห้องโดยสาร ไม่ได้รู้สึกเล็กหรือคับแคบอย่างที่เห็น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เค-คาร์ยุคใหม่ นิยมเล่นการขยายขนาดตัวถัง
ในแนวตั้ง หรือเพิ่มความสูงนั่นเอง จึงทำให้ห้องโดยสารที่เล็ก
กลับดูไม่อึดอัดอย่างที่เคยคิดกัน
ติดเครื่องปุ๊บ มาตรวัดดิจิตอลบนจอจะบอกว่า
Hello! เป็นการทักทาย
อุ่นเครื่องพร้อมแล้ว เราก็ใส่เกียร์ D แล้วออกรถกัน
ผมขับคันนี้เป็นคันสุดท้าย พอดีกับที่เวลาในการทดสอบ
สถานี 1 หมดลงพอดี เลยได้ขึ้นรถไปกับพี่หมัด
ช่างภาพของTarget media , itv และพี่ตุลย์
พี่สาวหุ่นกกะปุ๊กลุกหน้าสวยของผม
ที่รู้จักกันมาก่อนหน้านี้ 2-3 ปีแล้ว
อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง คงไม่ทำ
เพราะว่านั่งมา 3 คน แต่ละคนหุ่นก็เกินพิกัดกันทั้งนั้น
ความเร็วสูงสุด ทำได้เท่ากับ ek-Sports คือ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง การเปลี่ยนเลนมีส่ายนิดๆตามปกติประสารถเล็ก
แต่เวลาขับแล้ว น่ารักดี คล่องตัวใช้การได้
การตอบสนองของระบบกันสะเทือนต่อลูกระนาดต่างๆ
ยังมีมีฟีลลิงแบบฮอนด้ายุคหลังๆเหลืออยู่นิดๆ คือ
กระด้างนิดๆ แต่ในขณะทำความเร็วสูง ถือว่านุ่มนวลดี
และนิ่งกว่าที่คิด เสียงเทอร์โบลูกเล็กๆตอนทำงาน
ดังแค่พอให้รู้สึกว่า เออ รถคันนี้ก็มีเทอร์โบติดมากับเขาด้วยนะ
พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า มีน้ำหนักเบา จนชวนให้นึกถึง พวงมาลัยของ ฮอนด้า Jazz รุ่นแรกขึ้นมาเลยทีเดียว
ตอนดับเครื่อง
หน้าจอมอนิเตอร์บอกว่า Bye Bye
ถามข้อมูลทางฮอนด้าแล้วบอกว่า รถคันนี้ สามารถปรับตั้งเพื่อสั่งให้ร้อง
แฮปปีเบิร์ธเดย์ เมื่อถึงวันเกิดของคุณได้อีกด้วย
ภาพรวมแล้ว จี๊ดจ๊าดดี อารมณ์เหมือนขับ แจ้ส แต่เล็กกว่า
อย่าดูถูกเชียวนะคร้าบ เจ้าพวกรถเล็กแต่ใจหญ่ายพวกนี้ไม่ใช่ขี้ๆนะคร้าบ
——————
Update
หลังจาก บินกลับมายังเมืองไทย และวันเวลาผ่านไปได้ 2 ปีเศษ ผมได้มีโอกาสทดลองขับ Honda Life อีกครั้งหนึ่ง
ในระยะทางสั้นๆ และคราวนี้ เป็นรุ่นเครื่องยนต์ธรรมดา ไม่มีระบบอัดอากาศ เทอร์โบ และได้พบว่า สมรรถนะนั้น ค่อนข้างอืดอาดเอามากๆ
ยิ่งถ้านั่่งไปด้วยกัน 2 คนแล้ว หากเป็นคนขับรถไม่เร็วนัก ก็ยังรู้สึกอึดอัด กับอัตราเร่งที่ช้ามากๆ และเพียงพอแค่การขับขี่ไปจ่ายตลาดเท่านั้น
อย่าไปคาดหวังอัตราเร่งใดๆ จากรถที่มีพละกำลังแค่ 50 แรงม้า ผิดไปจากรุ่นเทอร์โบ ซึ่ง ยอมรับว่าอัตราเร่ง มีสีสันกว่ามาก
ดังนั้น ถ้าจะให้เลือก ฮอนด้า ไลฟ์แล้วรุ่นเทอร์โบ คือรุ่นเดียวที่คุณควรจะเลือก
ปัญหาก็คือ เมื่อไหร่ รถเล็กแบบนี้ จะมีมาให้คนไทยได้เลือกซื้อกันละ?
———————————————-///—————————————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรกใน Pantip.com ห้องรัชดา 2 พฤศจิกายน 2005
เผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com
11 กุมภาพันธ์ 2009