ทดลองขับ Mitsubishi L-200 STRADA รุ่นปี 2002 2800 2WD / 4WD / G-Wagon : 3 รุ่น สไตล์เดียว

ฺัBy : J!MMY

ภาพประกอบ : บริษัทผู้ผลิต

 

4 ตุลาคม 2002

 

ตลอดในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ผมพอจะเจียดหาเวลาว่างของผมที่จะทดลองขับรถรุ่นใหม่อยู่บ้าง
ตามแต่โอกาสและเวลาพึงจะอำนวย เนื่องด้วยช่วงนี้
ใกล้สอบแล้ว แถมยังมีงานเพลง และงานต้นฉบับจากหลายแห่งที่มาจ่อคิว
กันติดๆมากมาย

พอดีจังหวะที่ว่าในช่วงนี้ ได้มีโอกาสทดลองขับ
มิตซูบิชิ แอล-200 สตราด้า รวดเดียว 3 แบบ
ทั้งแบบ ขับล้อหลัง-ดับเบิลแค็บ , ขับ 4 ล้อ เมกาแค็บ
และ จี-แวกอน ตัวท็อป เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังกันคร่าวๆครับ

อาจสงสัยว่า ทำไมไม่ไปขับ รุ่น วีจี-เทอร์โบ เลยหละ?
ก็อาจจะตอบได้แต่เพียงสั้นๆว่า รุ่น วีจี-เทอร์โบนั้น
จัดอยู่ในคิวต่อๆไปครับ เพียงแต่ยังไม่ใช่ช่วงนี้เท่านั้น

เพราะรายการต่อไปที่ผมเตรียมจะทดลองขับ
และมารายงานให้ได้อ่านกันนั้น
จะเป็นรถมินิแวน…..ครับ

—————————————

อยากจะขอสรุปสั้นๆ นะครับ

รถที่ผมได้ทดลองขับก็คือ
L-200 Strada Double Cab 4 ประตู 2WD 2.8 GLS 5M/T
L-200 Strada Mega Cab 2 ประตู 4WD Super 2.8 GLS 5M/T
L-200 Strada G-Wagon 5 ประตู 4WD 2.8 GLS ตัวท็อป 4A/T

ทั้ง 3 รุ่นที่กล่าวมานั้น ใช้เครื่องยนต์รหัส 4M40
4 สูบ SOHC 2,835 ซีซี
ถึงแม้ว่าจะให้กำลังสูงสุด 71 กิโลวัตต์ (96 แรงม้า PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 20.17 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที
แต่กำลังม้าที่ลงพื้นนั้น ผมว่า น่าจะอยู่แค่ราวๆ 60 กว่าๆม้า เกือบๆ 70 หรือเปล่า?

เพราะจากที่ลองวัดอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
รุ่น จี-แวกอน เกียร์อัตโนมัติ ใช้เวลานานมากๆ เฉลี่ยแล้ว
ต้องใช้เวลานานถึง “28-30 วินาที” !!!!!
ผมทดลองอยู่ 3-4 ครั้ง และแต่ละครั้งใช้เวลานานมาก

เรียกว่าพูดกันเล่นๆสนุกๆได้ว่า ถ้ากดคันเร่งจนมิด
งีบหลับไปได้ตื่นนึงพอดี ลืมตาขึ้นมา เข้มจะหยุดอยู่ที่เลข 100 พอดี
(เอิ๊กๆๆๆ)

อัตราเร่งจากเท่าที่ลองจับเวลาคร่าวๆดู
60-80 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ถ้ากดคันเร่งให้เปลี่ยนลงแค่เกียร์ 3 จะต้องใช้เวลาประมาณ 7-8 วินาที
แต่ถ้ากดคันเร่งลงไปให้ทอล์กเปลี่ยนลงไปอยู่ที่เกียร์ 2 จะใช้เวลาลดลงเหลือประมาณ 5 วินาทีเศษๆ
และถ้าจาก 60-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น จะต้องใช้เวลาถึง เกือบ 15 วินาที

อีกทั้งในรุ่นกระบะธรรมดา เกียร์ธรรมดา แค่เกียร์ 1
กดคันเร่งต่อ ก็มีแต่เสียงของเครื่องยนต์ที่ดังคำรามออกมา
แต่ล้อไม่ค่อยจะหมุนตามเท่าใด ต้องใส่เกียร์ 2 ตาม
ถึงจะมีการตอบสนองของแรงบิดที่ลงสู่ล้อมากขึ้น
แต่ไม่มีโอกาสจับเวลา หรือลองขับในระยะเวลายาวๆมากนัก
เลยไม่ได้นำตัวเลขมาบอกเล่ากันในที่นี้

สิ่งที่ผมคิดต่อไปก็คือ มันเกิดอะไรขึ้น?
พอมานั่งดูในสเป็กแค็ตตาล็อก ก็ร้องอ๋อเลย

อัตราทดเกียร์ 1 ของเกียร์ธรรมดานั้นอยู่ที่ 4.330 โน่นแหนะ
ส่วนเกียร์ 2 ทดเสียห่างเชียวครับ ที่ 2.335
เกียร์ 3 ที่ 1.509 เกียร์ 4 ที่ 1.000 ตามสูตร
และเกียร์ 5 ที่ 0.833

ส่วนเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ใน จี-แวกอน นั้น
เกียร์ 1 ทดที่ 2.826
เกียร์ 2 ทดที่ 1.493
เกียร์ 3 ทดที่ 1.000
เกียร์ 4 ทดที่ 0.730

ระบบส่งกำลังนั้น ผมจับอาการได้คร่าวๆว่า
ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ
ก็จะมีคาแรคเตอร์หนึ่งที่เหมือนกันเลย

นั่นคือ เกียร์ 1 เขาทดเอาไว้ให้ใช้แค่เหยียบคันเร่งออกตัวจาก
จุดหยุดนิ่งเท่านั้น และถ้าอยากจะเพิ่มความเร็ว หรือเล่นกับอัตราเร่ง
ต้องใช้เกียร์ 2

แต่ข้อดีอีกอย่างของการเซ็ตอัตราทดเกียร์แบบนี้คือ จะช่วยให้
มีกำลังฉุดลากมากในการขึ้นทางชัน เช่นเนินเขา รวมทั้งการฉุดลากรถพ่วง
ที่จะมาต่อท้ายด้วย คิดว่าทางทีมวิศวกรคงจะคำนึงถึงประเด็นหลังนี้มากกว่า
เลยจงใจทดเกียร์มาในลักษณะนี้…หรือเปล่า…?

แต่ที่น่าชมเชยอีกจุดคือ ในรุ่น จี-แวกอนนั้น การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ทำได้เยี่ยมมากครับ
น่าประทับใจที่สุดหากเทียบกับรุ่นกระบะอีก 2 คันที่เหลือ เหมือนเป็นรถคนละรุ่นกันเลย
เสียงเครื่องยนต์ที่ลอดเข้ามาน้อยมาก เช่นเดียวกับเสียงลม ที่แทบไม่ลอดเข้ามาให้ได้ยิน
เท่าใดนักในช่วงความเร็วเกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป
————-
ระบบกันสะเทือน

ยอมรับกันตามตรงว่า มิตซูบิชิ พยายามจะเซ็ตรถกระบะรุ่นที่เน้นให้คนโดยสาร
ทั้ง 3 แบบนี้ให้เอาใจลูกค้าคนไทยพอสมควร เพราะเน้นเซ็ตให้
มีความนุ่มที่พอรับได้ในแบบรถกระบะ และหนึบในระดับที่ยังต้องมีลุ้นอยู่พอสมควร
เมื่อทดลองเปลี่ยนเลนกระทันหันในช่วงความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ถ้าในช่วงโค้งความเร็วไม่สูงมากนัก ถือว่าตอบสนองได้อย่างน่าพอใจ
ไม่ต้องลุ้นมากนัก ซึ่งปัจจัยอื่นๆที่จะช่วยให้คนขับรับรู้ความรู้สึกว่า
ช่วงล่างกระด้าง หรืออ่อนนุ่มเกินไป ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับขนาดของยาง
ว่ามีหน้ากว้างเท่าไหร่และเติมลมยางไว้เท่าใดด้วยเช่นกัน

(จี-แวกอนคันที่ทดลองขับนั้น เติมไว้ที่ 30 ปอนด์ฯ)

ถือว่าระบบกันสะเทือนหน้าอิสระปีกนก 2 ชั้น พร้อมทอร์ชันบาร์ และเหล็กกันโคลงหน้า
ช่วยในช่วงการเข้าโค้งได้ดี ส่วนระบบกันสะเทือนหลังของรุ่น จี-แวกอน ใช้แหนบ 4 ชั้น
แถมเหล็กกันโคลงด้านหลัง มาให้อีกต่างหาก แต่ในรุ่นกระบะทุกรุ่นไม่มี
เหล็กกันโคลงหลัง มีเพียงแต่แหนบเป็นแบบ 5 ชั้น

สำหรับ จี-แวกอนแล้วการเปลี่ยนเลนกระทันหัน ค่อนข้างต้องลุ้นอยู่พอสมควร
เพราะเป็นธรรมดาของรถรูปแบบนี้ที่มีน้ำหนักตัวมาก + ตัวรถสูง + หน้ายางก็ใหญ่
แรงเหวี่ยงค่อนข้างมาก และเมื่อถึงจุดหนึ่ง หากไม่ถือพวงมาลัยนิ่งๆ และใจเย็นพอ
ก้มีสิทธิ์จะพลิกคว่ำได้เหมือนกัน แต่โอกาสจะเกิดเหตุเช่นนั้น คงยากนิดนึงครับ
เว้นเสียแต่ว่า คุณจะซวยจริงๆหรือขาดสติคอนโทรลรถไม่อยู่จริงๆเท่านั้น

————–

ระบบพวงมาลัยแบบลูกปืนหมุนวน ตามปกติของรถกระบะทั่วๆไป
พอเสริมเพาเวอร์เข้าไป ก็ใช้งานได้คล่องตัวดี แต่ระบบพวงมาลัยจะรับแรงสั่นสะเทือน
จากพื้นถนนอยู่บ้าง ความรู้สึกนี้ มันขัดแย้งกับระบบกันสะเทือน ที่เก็บความรู้สึก
จากพื้นถนน ไม่ถ่ายทอดต่อไปที่ห้องโดยสารมากนัก เก็บความรู้สึกได้ดี
ในช่วงความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเกินกว่านั้น ก็จะเริ่มมีอาการ
มากขึ้นเป็นปกติ (ทดลองบนถนนยางมะตอยที่มีหลุมบ่อและเนินคลื่น ด้วยความเร็ว
ระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

————–
ส่วนระบบเบรกนั้น ได้ลองครบทั้ง 3 รุ่น
และทั้ง 3 รุ่นให้ความมั่นใจได้ดีเหมือนๆกัน
แต่ที่น่าสังเกตคือ ในช่วงความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ระบบเบรกจะทำงานได้อย่างเฉียบคม และฉับไว กดลึกๆครั้งเดียว
หยุดได้ดังใจ

แต่ถ้าเกินจากนั้นไป หากเป็นรุ่นที่มีระบบป้องกันล้อล็อก
เอบีเอส ระยะเบรกอาจจะยาวขึ้นจากเดิมนิดหน่อย ไม่มากนัก
แต่พอจะหยุดรถได้อย่างปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่
ต้องมีเรื่องของยางที่สวมอยู่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เพราะรูปแบบหน้ายางและดอกยาง เป็นทีรู้กันดีว่า
มีผลต่อระยะหยุดรถด้วยเช่นเดียวกัน

————————
สรุปแล้ว สตราด้า ทุกตัวถังในรุ่น 2800
จะเหมาะกับคนที่เท้าไม่หนัก เป็นคนที่ชอบขับรถ
ออกต่างจังหวัดแบบธรรมดา ไม่ชอบไปแซงใครเขา
เหมาะกับครอบครัวที่ รักความสงบ สบายๆ
เพราะถ้ารุ่นเกียร์อัตโนมัตินี่ อัตราเร่งถือว่าอืดมากๆ
และการจะเร่งแซง ไม่ควรกดคันเร่งจนจมมิดเพื่อให้เกียร์ทำงาน
ตั้งแต่เริ่มต้นใหม่ แต่ถ้าอยากจะเล่นสักเล็กน้อยพอเป็นพิธี
มันจะมี “ทริค” ในการกดคันเร่งอยู่เล็กน้อย คืออย่ากดให้จมมิด
แต่กดเป็นสเต็ป สเต๊ปแรก กดลงไป 50% เพื่อให้เกียร์เริ่มเปลี่ยน
จากนั้น กดเพิ่มไปถึงประมาณ 80% ให้เปลี่ยนลงต่ำกว่าเดิม
เพื่อดึงให้เกียร์ 2 ได้ทำหน้าที่ของมัน ช่วยให้เราเร่งแซงอย่างสมบูรณ์

เนื่องจากผมมีเวลาลองรถทั้ง 3 คันนี้ แต่ละคันใช้เวลาไม่เกิน 10-20 นาที
จะยกเว้นก็แค่ จี-แวกอน ที่มีเวลาสัมผัสนานถึง ครึ่งชั่วโมง
ดังนั้น ผมจึงต้องพยามเค้นเอาทุกสิ่งทุกอย่าง และเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
จากตัวรถให้ได้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย

ดังนั้น บทสรุปสำหรับผม
ผมประทับใจกับระบบกันสะเทือน และระบบเบรกของสตราด้า ทั้ง 3 ตัวนี้
อยู่ไม่น้อย และที่ต้องให้คะแนนเต็มไปเลยคือความเงียบของห้องโดยสาร
ที่อยู่ในระดับเหมาะสมกับการเดินทางอย่างสบายๆ

แต่สตราด้าทั้ง 3 ตัวนี้ก็มาเสียคะแนนตรงที่ ความอืดอาดชนิดไม่น่าให้อภัย
ของเครื่องยนต์ 2800 ซีซี ตัวนี้นั่นเอง
ยิ่งรุ่นเกียร์อัตโนมัติแล้ว ผมยกนิ้วโป้งลงเลยหละครับ
ท็อปสปีดที่เค้นได้เต็มที่สุด อยู่ที่ประมาณ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมงนิดๆ
เท่านั้นเอง หากจะทำให้ได้มากกว่านี้ มันก็ไม่มีทางเกินกว่า 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ไปได้ และต้องใช้ระยะทางที่ยาวมากที่จะทำคยวามเร็วระดับนั้น
ซึ่งเล่นเอาหืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว

ถ้าเป็นคนเท้าหนัก เลือกรุ่น วีจี เทอร์โบ ดูท่าทางน่าจะดีกว่าครับ
เพราะคนที่ไปด้วยกันกับผมเขาลองขับมา บอกเล่าให้ฟังว่า
อัตราเร่ง และการเร่งแซงนั้น ต่างกับเครื่อง 4M40 ตัวนี้
ชนิดฟ้ากับเหว เพราะรายนั้น เขาว่ากันว่า กดแล้วสั่งได้ดังใจ

รุ่น วีจี เทอร์โบ จะเจ๋งจริงอย่างที่เพื่อนผมคนนี้เล่าไว้หรือไม่
จะหาเวลาไปพิสูจน์กันอีกทีครับ

(หรือถ้าทางเอ็มเอ็มซี สิทธิผล จะกรุณาส่งรถมาให้ยืมทดสอบแบบ
ยืมเช้า คืนตอนเย็น ก็ยังได้นะครับ ฮ่าฮ่าฮ่า)

 

——————————————————————–