ทดลองขับ
VOLVO V70 CROSS COUNTRY
By : J!MMY
ภาพประกอบ : เว็บไซต์สื่อมวลชน ของ Volvo
(หมายเหตุ : บทความนี้ เป็นบทความรีวิวครั้งแรก ของผู้เขียน ถูกนำออกเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ www.pantip.com/cafe/ratchada
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2001 และมีการปรับปรุงแก้ไข ในรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนภาพประกอบนั้น เนื่อจากในสมัยนั้น
ยังไม่มีการอนุญาตให้โพสต์รูป ลงใน pantip.com จึงไม่มีการถ่ายภาพเก็บเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ขอนำภาพประกอบจากเว็บไซต์สื่อมวลชนของวอลโว
มาประกอบกับภาพที่ ผู้ร่วมทดลองขับ คือ คุณหนึ่ง มาโพสต์รวมกันไว้ ณ ที่นี้)
31 ตุลาคม 2544
16.46 น.
จะว่าไปแล้ว แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกของผม กับการทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ แล้วนำมารายงานเป็นบทความ แต่นี่เป็นครั้งแรกสำหรับการทดลองขับเป็นการส่วนตัว ปราศจาก
ความวุ่นวายจากผู้คนรอบข้าง และไม่ได้อยู่ในบรรยากาศของการเชิญสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ไปทดลองขับแต่อย่างใด อยากจะทดลองอะไรก็เอาเลย แต่เน้นว่าต้องปลอดภัยพอ
ทั้งกับตัวเองและผู้ร่วมสัญจรบนถนน
โชคดีสำหรับผมอย่างหนึ่งอยู่ที่ว่า ผมเติบโตมาในย่านชานเมือง บ้านของผมอยู่ห่างจากถนนที่มีสภาพเหมาะแก่การทดลองหรือทดสอบรถยนต์ ถึง 3 เส้นทาง แต่หลาก
สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้า เพียงแค่เดินออกไปหน้าปากซอยเท่านั้นเอง และเส้นทางทั้งหมดนี้ ผมคุ้นเคยพอที่จะรู้ว่า สภาพถนนเป็นอย่างไร มีหลุมตรง
ไหนบ้างที่กรมทางหลวงยังไม่เคยแก้ไข แก้ไปแล้วหรือแก้ไปแล้วแต่เริ่มพังใหม่อีกแล้ว ดังนั้น จึงค่อนข้างสะดวกที่จะทดลองรถยนต์รุ่นใหม่ๆ กับสภาพพื้นผิวถนนที่ต่างกันได้
ครบทั้งในด้านอัตราเร่ง การตอบสนองของระบบกันสะเทือน โครงสร้างตัวถัง ไปจนถึงระบบห้ามล้อ จากสภาพการจราจรที่แวดล้อมอยู่ในขณะนั้น
ครั้งนี้เป็นโอกาสเหมาะสำหรับการทดลองขับวอลโว วี70 ครอสคันทรี สเตชันแวกอนสไตล์แปลกๆ ที่รวมเอาจุดเด่นของ SUV คันโตเข้ามาเสริมไว้ด้วย
ก่อนอื่นต้องเน้นย้ำกันว่า ถึงแม้จะมีรูปทรงที่ดุดัน แต่ วี70 ครอสคันทรี ไม่ใช่รถยนต์ SUV ดังนั้น ด้วยเหตุที่รถรุ่นนี้ถูกเซ็ทมาให้มีคาแรคเตอร์ ที่ลุยได้ทั้งบนถนนเรียบและบน
พื้นผิวที่รถยนต์ธรรมดาทั่วไปเข้าไม่ถึง เราจึงเรียกรถยนต์ประเภทนี้ว่า รถยนต์ OUTBACK
OUTBACK คืออะไร
เอาต์แบ็กคือรถยนต์สเตชันแวกอน 5 ประตูนี่แหละครับ แต่ถูกจับมาติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จะเป็นระบบหมุนทุกล้อตลอดเวลา หรือหมุนตามความจำเป็นเมื่อเจอพื้นผิว
ถนนที่ไม่พึงประสงค์ก็ตามแต่ แล้วยกพื้นตัวถังให้สูงขึ้นกว่าแวกอนทั่วไป เพื่อให้พื้นที่ระหว่างพื้นตัวถังกับพื้นถนนหรือ GROUND CLEARANCE มากกว่าปกติ ช่วยให้
ง่ายต่อการบุกไปในสภาพถนนที่รถยนต์ SUV ทั่วไปเข้าถึงได้ แต่รถเก๋งทั่วไปเข้าไม่ได้
คำว่าเอาต์แบ็กเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อซูบารุนำเลกาซี แวกอนขับเคลื่อน 4 ล้อ มายกพื้นสูงขึ้น จนเป็นรุ่นแลงแคสเตอร์ แล้วส่งออกไปบุกตลาดสหรัฐอเมริกาช่วงตั้งแต่ปี 1993
หลังจากได้รับความนิยมเกินความคาดหมาย คราวนี้หลายผู้ผลิต ต่างพากันพัฒนารถยนต์ประเภทนี้ออกสู่ตลาดกันมากขึ้น จนถึงเวลานี้ คู่แข่งอยู่ในตลาดกลุ่มนี้ประกอบด้วย
ซูบารุ เลกาซี แลงแคสเตอร์,วอลโว วี70 ครอสคันทรี,ออดี้ ออลโรด ควาตโทร,นิสสัน อาเวนีร์ แบลสเตอร์ ,นิสสัน สเตเจีย AR-X ,ฮอนด้า อวองซิเอร์ (เฉพาะรุ่น 4WD) ซึ่งยัง
ไม่นับรวมอีกหลายรุ่นที่ใกล้จะเปิดตัวในช่วง 2-3 ปีนี้ด้วย
ในตลาดโลกรวมทั้งเมืองไทย วอลโววางตำแหน่งทางการตลาดของรถรุ่นนี้ให้อยู่กึ่งกลางระหว่างผู้ที่ต้องการความอเนกประสงค์ในแบบของ วี70 ธรรมดา ขณะที่ยังต้องการจะ
ใช้งานสมบุกสมบันเพิ่มจากปกติเล็กน้อย แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพา SUV รุ่นใหญ่รุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง XC90 ที่จะทะยอยเปิดตัวสู่ตลาดทั่วโลกตั้งแต่ปี
2002 เป็นต้นไป แต่อย่างใด
อยากจะแจ้งให้คุณผู้อ่านได้ทราบว่า แม้จะมีการบันทึกภาพการทดลองขับครั้งนี้ไว้ แต่ด้วยจังหวะและโอกาสที่ไม่เอื้ออำนวยพอให้ถ่ายภาพภายนอกรถได้ถนัดนัก อีกทั้ง
ภาพที่ล้างออกมา ไม่คมชัดและแสงไม่สว่างพอ จนมองไม่เห็นรายละเอียด เนื่องจากความผิดพลาดบางประการ จึงขออนุญาต นำภาพประกอบจากทางฝ่ายประชาสัมพันธ์
ของวอลโว สวีเดน ที่เลือกมาแล้วว่ามีอารมณ์ของภาพในลักษณะใกล้เคียงกับการทดลองขับในวันนั้นมาประกอบแทน แต่นอกจากนั้น ทุกภาพที่ถ่ายในห้องโดยสาร เป็นภาพ
จริงที่ผู้ร่วมเดินทางเป็นผู้บันทึกให้
————————————–
ภายนอก
วี 70 ครอสคันทรีใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นร่วมกับโครงการ เอส 60 และ วี 70 ใหม่ ภายใต้พื้นตัวถังหรือแพล็ตฟอร์มเดียวกันกับพี่ใหญ่รุ่น เอส 80 ด้วยเหตุที่รถรุ่นนี้ถูกออกแบบมา
ให้ตอบสนองกับลูกค้าที่อยากได้ วี 70 แต่ต้องการความพิเศษเหนือกว่าเพื่อการใช้ชีวิตในรูปแบบสันทนาการกึ่งผจญภัย ดังนั้น รายละเอียดมากมายใน วี 70 ธรรมดา จึงถูก
ปรับปรุงให้เข้ากับคาแรคเตอร์ของตัวรถมากขึ้น เริ่มกันที่ ชุดกันชน โป่งคิ้วเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 ชายประตู ไปจนถึงกันชนหลัง เปลี่ยนกลับมาใช้สีดำด้าน ทำจากพลาสติกรีไซเคิล
ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาดหลังจากไปลุยฝุ่นลุยโคลนกันมา ฝากระโปรงหน้าทำจากอะลูมิเนียม กันชนหน้า-หลังและคิ้วขอบล้อทั้ง 4 ข้างทำจากพลาสติกรีไซเคิลได้สี
ดำ ประตูท้ายรถทำจากพลาสติกชนิดพิเศษ ยาง พีแรลลี สกอร์เปี้ยน 215/65 16 นิ้ว ระยะห่างจากพื้นตัวถังถึงพื้นรถอยู่ที่ 209 มิลลิเมตร สูงกว่า V70 รุ่นมาตรฐานซึ่งอยู่ที่
134 มิลลิเมตร
โครงสร้างตัวถังใช้เหล็กกล้าความแกร่งสูง HSS ชุบกัลวาไนซ์กันสนิม ประมาณ 70% มีส่วนยุบตัวดูดซับแรงปะทะทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง และการกระแทกจากด้านข้างในแบบ
SIPS เหมือนกับวอลโวทุกรุ่น
————————————–
ภายใน
เมื่อเข้าสู่ห้องโดยสาร จะพบกับแผงหน้าปัดชุดเดียวกับที่พบได้ใน เอส 60 และ วี 70 บนแผงคอนโซลหน้าประกอบด้วยชุดเครื่องเสียง สามารถควบคุมได้จากพวงมาลัย และ
เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้น ชุดเครื่องเสียงจะเพิ่มระดับเสียงให้ดังขึ่นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ ส่วนที่อยู่ติดกัน เป็นชุดโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM หากต้องการใช้งาน แค่เพียงกด
ปุ่มเปิดเครื่อง ถอดซิมจากโทรศัพท์มือถือของคุณมาใส่ในถาดที่ออกมารอรับ ดันกลับเข้าไปแล้วใช้งานได้ทันที ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์ HANDS FREE เพราะติดตั้งฝังตัวอยู่ใน
พนักพิงเบาะคนขับอยู่แล้ว แถมมีหูโทรศัพท์พร้อมไมโครโฟน เก็บซ่อนอยู่ในคอนโซลหน้าพร้อมถาดเก็บของ สำหรับผู้โดยสารตอนหลังอีกด้วย
ล่างสุดเป็นเครื่องปรับอากาศแยกส่วนคนขับและผู้โดยสาร พร้อมที่เสียบปากกา ด้านล่างของคอนโซลบริเวณคันเกียร์ นอกจากจะมีที่วางแก้ว 2 ใบ ที่พักแขน ซึ่งเปิดเป็นที่เก็บ
ชองได้ 2 ชั้น และเป็นที่เก็บซ่อนหูโทรศัพท์สำหรับผู้โดยสารแล้ว ยังมีราวจับ ติดตั้งในฝั่งตรงข้ามกับเบรกมือ สำหรับให้ผู้โดยสารเกาะยึดเมื่อต้องเจอสภาพถนนขรุขระ
เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า ฝั่งคนขับมีระบบความจำ 3 ตำแหน่ง พร้อมพนักพิงศีรษะ WHIPS ป้องกันการบาดเจ็บที่ต้นคอ ส่วนเบาะแถวหลังแบ่งพับได้ในอัตราส่วน
40 / 20 / 40 เพือ่เพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง มีที่พักแขนตรงกลาง พร้อมหมอนพิงศีรษะสำหรับทั้ง 3 ตำแหน่ง เบาะรองนั่งสามารถหงายขึ้นได้ เพื่อดึงถาดพลาสติกพับเก็บ
ได้พร้อมที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้ เบาะรองนั่งทั้ง 2 ตำแหน่งที่เหลือสามารถดันขึ้นให้เป็นเบาะนิรภัยสำหรับเด็กได้ทั้งคู่แถมด้วยจุดยึดเบาะนิรภัยมาตรฐาน ISOFIX
ส่วนที่เก็บของด้านหลัง มีม่านแผ่นพลาสติกปิดที่ยกออกได้ และมีตาข่ายกั้นไม่ให้สัมภาระด้านหลังกระเด็นมายังส่วนผู้โดยสารเมื่อมีการปะทะ หรือเบรกกระทันหัน แถมพื้น
ห้องเก็บของ เมื่อเปิดออก จะเป็นพื้นยาง สามารถวางรองเท้าบูทที่เลอะเทอะหรือ ร่มที่เปียกปอน รวมทั้งข้าวของอาหารสดที่อาจมีการซึมเปื้อนของน้ำต่างๆออกมาได้
ส่วนด้านล่าง เปิดออกมาจะพบที่วางยางอะไหล่ตามปกติ
ด้านความปลอดภัยมากันครบทั้งถุงลมนิรภัยพองตัว 2 ระดับความแรงตามการชน และติดตั้งมาเพียงแค่ฝั่งคนขับเท่านั้น เพราะเหตุผลที่ฝ่ายการตลาดของวอลโว ไทยแลนด์
เคยระบุว่า คนไทยยังนิยมนำน้องๆคุณหนูๆทั้งหลายมานั่งที่เบาะหน้า ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งไม่ควรทำ แต่กลายเป็นนิสัยที่เคยชินไปแล้วสำหรับคนไทย ตามด้วยถุงลมนิรภัยด้านข้าง
ม่านลมนิรภัย เบ็ดเสร็จรวมแล้ว 5 ใบ ทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัยลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ ตัวล็อกกันเด็กซนเปิดประตูหลังสั่งการด้วยไฟฟ้า
ข้อดีของการออกแบบให้เสาหลังคา D-PILLAR ตั้งตรงแบบนี้ ทำให้ทัศนวิสัยด้านหลังดีกว่ารถยนต์สเตชันแวกอนทั่วไปอยู่มาก ลดปัญหาการถอยหลังเข้าจอด ไปได้ระดับหนึ่ง
ส่วนเสาหลังคาด้านหน้านั้น เข้าใจดีว่าต้องทำให้หนา เพื่อผลทางด้านความปลอดภัยจากการชน แต่ทัศนวิสัยด้านหน้าก็ไม่ได้รับผลกระทบไปมาก
————————————–
รายละเอียดทางเทคนิค
ขุมพลังที่วอลโวเลือกติดตั้งใน V70 CROSS COUNTRY เวอร์ชันไทย เป็นรหัส B5234T7 5 สูบเรียง DOHC 20 วาล์ว 2,319 ซีซี พร้อมเทอร์โบแรงดันต่ำ พ่วงอินเตอร์
คูลเลอร์ขนาดใหญ่ ติดกับแผงคอนเดนเซอร์แอร์ พร้อมออยล์คูลเลอร์ 197 แรงม้า (HP) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 29.04 กก.-ม.ทื่ 1,980-5,100 รอบ/นาที
หลายคนอาจสงสัยว่า แต่ละตัวเลขตัวอักษรที่อยู่ในรหัสเครื่องยนต์ของวอลโวนั้นหมายความว่าอย่างไร คำตอบอยู่ตรงนี้ครับ
B = Benzine
5 = 5 สูบ
23 = 2,300 ซีซี
4 = 4 วาล์ว/สูบ
T = Turbo มีระบบอัดอากาศ (เทอร์โบ)
S = non aspiration ไม่มีระบบอัดอากาศ
ส่วน 7 เป็นรหัสการเซ็ทของแต่ละเวอร์ชัน
เครื่องยนต์รุ่นนี้ถูกติดตั้งเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะพร้อม LOCK-UP TORQUE CONVERTER และโปรแกรม อัตโนมัติที่ผู้ขับเลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้เองของ
AISIN รุ่น AW55-50SN ผลิตในญี่ปุ่น เพื่อส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ ตรงนี้น่าสังเกตว่า ทุกค่ายที่ผลิตรถยนต์เอาต์แบ็กสู่ตลาดจะไม่เรียกระบบที่ติดตั้งในรถ
ของตนเหล่านี้ว่า 4WD เหมือนกลุ่มตลาดอื่นอื่น แต่พร้อมใจกันเรียกว่า AWD (ALL-WHEEL DRIVE) เพราะมักเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบตายตัว ไม่มีเกียร์พิเศษ
สำหรับถ่ายทอดกำลังเหมือนใน SUV รุ่นใหญ่ แต่จะมีระบบแทร็กชันคอนโทรล ระบบควบคุมต่างๆนาๆมาดูแลให้กับผู้ขับแทน ใน วี70 ครอสคันทรี วอลโวเลือกใช้ระบบ
TRACS มาทำหน้าที่ตรงนี้
การทำงานของระบบ TRACS นั้น เริ่มกันตั้งแต่การออกตัวหรือเร่งความเร็วจนถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือเมื่อพบสภาพถนนลื่นกระทันหันที่ความเร็วต่ำกว่า 40 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ทันทีที่เซ็นเซอร์ที่ล้อทั้ง 4 จับสัญญาณได้ว่าล้อใดล้อหนึ่งกำลังหมุนฟรี ก็จะส่งสัญญาณไปที่สมองกลเพื่อสั่งให้เบรกล้อที่หมุนฟรีอยู่ ขณะเดียวกันก็จะเพิ่งแรงหมุนให้ล้อ
อื่น เพื่อพาให้รถทะยานพ้นจากสภาพถนนลื่นไถล ดังนั้น หากตัวรถอยู่ในอาการลื่นไถล แต่ยังไม่เสียการทรงตัวมากนัก และอยู่ในระดับพอควบคุมได้ “ผู้ขับก็ควรจะเหยียบ
คันเร่งส่งเพื่อเร่งให้ระบบนี้ทำงานเต็มที่”
ในสภาพถนนแห้ง แรงขับเคลื่อนจะส่งไปที่ล้อคู่หน้าประมาณ 95% ส่วน 5% ที่เหลือ ส่งให้กับล้อคู่หลัง ยกเว้นในช่วงออกตัว ที่แรงขับเคลื่อนจะถูกส่งไปที่ล้อหลังมากเป็นพิเศษ
เล็กน้อย แต่เมื่อเข้าสู่สภาพถนนที่แตกต่างไป การกระจายแรงขับเคลื่อนก็จะแปรผันให้กับล้อทั้งหน้า-หลังในอัตราส่วนที่ต่างกัน เพื่อช่วยการยึดเกาะถนนให้ดีทีสุดเท่าที่ตัวรถ
จะมีศักยภาพทำได้ อย่างไรก็ตาม ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อของ วี70 ครอสคันทรี ไม่ได้ออกมาแบบมาให้ใช้งานแบบสมบุกสมบันอย่างที่ SUV ทั่วไปทำได้ ซึ่งเราคงต้องระลึกข้อ
นี้ไว้ด้วย
ระบบกันสะเทือนหน้าแมคเฟอร์สันสตรัท-หลังมัลติลิงก์ เช่นเดียวกันกับ วี70 ปกติ แต่มีการเพิ่มความแข็งแรงของบุชยางจุดยึดต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งของจุดยึดชุดมัลติลิงก์จะ
แตกต่างกันกับ วี70 ปกติ อยู่บ้าง ขณะที่ระบบห้ามล้อเป็นแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS (ANTI LOCK BREAKING SYSTEM) พร้อมระบบ
กระจายแรงเบรกสู่ล้อทั้ง 4 EBD (ELECTRONIC BREAK FORCE DISTRIBUTION) ตามสมัยนิยม
————————————–
การทดลองขับ
(ผมรออยู่ถึงเที่ยงตรง จนตาหนึ่ง เพื่อนใหม่ผมที่คุยกันได้รู้เรื่องภาษาคนคอเดียวกันในเรื่องรถ นำ V70 CROSS COUNTRY มาให้ผมทดลองขับถึงหน้าบ้าน
ตอนเที่ยงเศษๆ กว่าจะออกจากบ้านได้ ก็ปาเข้าไปบ่ายโมงครึ่ง เพราะเราดูวีดีโอ พรีเซ็นเตชันของวอลโว S60 อยู่ จากนั้น ค่อยไปทานไก่ทอด KFC ที่โลตัสบางนา
จากนั้นค่อยหาซื้อฟิล์มสี เพิ่งรู้ว่าในโลตัสมีร้างล้างอัดรูปอยู่ด้วย โอ้ ทำไมสะดวกไปหมดอย่างนี้หนอ บ้านเราเจริญแล้ว เย้ๆๆๆๆๆ)
เส้นทางที่ใช้ในวันนั้น นับว่าเพียงพอต่อการเรียนรู้ลักษณะของรถในสภาพการจราจรที่ต่างกัน ในสภาพการใช้งานจริง และสภาพอากาศนั้นก็ช่างเป็นใจเหลือเกิน ช่วงแรกยัง
ร้อนและแห้ง แต่เมื่อถึงช่วง บ่าย 3 โมงเศษๆ ท้องฟ้าเริ่มอืมครึม ก่อนที่สายฝนจะตกลงมาพรำๆ สร้างความเจิ่งนองเต็มพื้นถนนเป็นการปิดท้าย
เราเริ่มต้นกันที่ห้างเทสโก้-โลตัส สาขาบางพลี ออกสู่ทางหลวงบางนา-บางปะอิน เลนคู่ขนาน เพื่อทำความคุ้นเคยกับรถกันเล็กน้อย หยุดพักถ่ายรูป บริเวณทางกลับรถ ใต้
สะพาน FLY-OVER เหนือถนนอ่อนนุช ก่อนจะตรงดิ่งกลับสู่เส้นทางบางนา-ตราด ด้วยทางราบคู่ขนาน แล้วออกสู่เลนทางด่วนใต้ทางยกระดับ ตรงยาวไปจนเกือบถึงทางออกสู่
จังหวัดฉะเชิงเทรา
จุดแรกที่เริ่มสังเกตคือ นับตั้งแต่การออกตัว ความเร็วถูกเพิ่มขึ้นอย่างราบเรียบและต่อเนื่อง เข็มความเร็วที่กวาดขึ้นไปถึงระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงอย่างรวดเร็วนั้น แม้จะ
รับรู้ได้ว่าความเร็วของรถเพิ่มขึ้นอยู่ แต่รสสัมผัสก็ไม่ปรู๊ดปร๊าดจนน่าตระหนกสำหรับคนที่ไม่ชอบขับรถเร็ว ซึ่งจุดนี้อาจสร้างความรู้สึกตรงกันข้ามให้กับผู้ที่มีเท้าขวาหนักกว่า
ปกติได้
ตัวเลขจากโรงงานระบุมาว่า อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำเวลาได้ 8.6 วินาทีในเกียร์ธรรมดา และ 9.0 วินาทีในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ แต่จากการทดลองโดยคร่าวๆ โดย
ใช้นาฬิกาข้อมือเป็นตัวจับเวลา ของผู้ร่วมทดลองขับอีก 1 คน น้ำหนักตัวประมาณ 65 กิโลกรัม + น้ำหนักผู้ขับ 85 กิโลกรัม เราทำได้ประมาณ 9-10 วินาที
เมื่อเข้าสู่ถนนบางนา-ตราดในช่วงบ่ายวันนั้น สภาพการจราจรถือว่าหนาแน่น เพราะมีสารพัดรถกระบะส่งของและรถยนต์ส่วนบุคคล รวมทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวนมาก
มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก และยิ่งด้วยสภาพพื้นถนนที่มีทั้งลอน อันเกิดจากการทรุดตัวของผิวดิน และการบรรทุกน้ำหนักที่เกินกว่าพิกัดในกฎหมายระบุไว้
ระบบกันสะเทือนหน้าแมคเฟอร์สันสตรัท-หลังมัลติลิงก์
เมื่อใกล้ถึงทางแยกเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา เราตัดสินใจเลี้ยวกลับ แล้วหาทางขึ้นสู่ทางยกระดับบางนา-บางปะกง เพื่อดูอาการตอบสนองของรถในย่านความเร็วสูง ทั้งในด้าน
ระบบกันสะเทือน ปฏิกิริยาของรถต่อการเข้าปะทะของลมที่มาจากด้านข้าง ความมั่นใจในการขับขี่ และระดับความเร็วที่เกินขีดความปลอดภัยที่รถคันนี้จะรับได้ และเมื่อรับ
บัตรพลาสติกจากเจ้าหน้าที่ด้านขาขึ้นเพื่อไปจ่ายเงินในด่านสุดท้ายตอนขาลงแล้ว ความหฤหรรษ์ก็เริ่มต้นขึ้น
ในเวลาไม่นานเกินรอ เข็มความเร็วก็กวาดขึ้นมาไต่ระดับที่แถวๆ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่หลังจากที่เข็มความเร็วขึ้นสู่ระดับพ้น 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่รอบเครื่องยนต์
ประมาณ 5,800-5,900 รอบ ณ เกียร์ 5 ไปแล้ว ความเร็วจะเพิ่มขึ้นช้าๆ คาดว่าความเร็วสูงสุดนั้น ทำได้เกิน 220 กิโลเมตร/ชั่วโมงแน่นอน แต่คงต้องใช้เวลาและระยะทาง
ที่ยาวพอสมควรจึงจะไปถึงจุดนั้นได้
และที่ต้องชมเชยก็คือ แม้จะพยายามฝืนธรรมชาติของตัวรถ เท่าที่พอจะมีโอกาสทำได้ เช่นการเปลี่ยนเลนอย่างรวดเร็ว จากซ้ายสุด มาขวาสุด และกลับเข้าเลนขวาสุดอีกครั้ง
ทันที ด้วยความเร็วระดับ 100-120 ไปจนกระทั่ง 185-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนพื้นถนนที่แห้ง ในลักษณะทั้งแบบการแซงธรมดา ไปจนถึงการมุด และขับแบบหนีการไล่กวด
ติดตาม ระบบพวงมาลัย มั่นใจได้ นิ่งมาก ถึงขนาดว่าเหยียบอยู่ที่ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วลองปล่อยมือจากพวงมาลัย เร่งต่อไปจนถึง 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังไม่เกิด
อาการใดๆให้กังวลเลย
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะจาก AISIN ของญี่ปุ่น ทำงานอย่างนุ่มนวล และช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์เป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบเรียบ ในโหมดที่ให้คนขับเปลี่ยนเกียร์เองนั้น ถ้า
เราต้องการเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำเพื่อเร่งแซง หากสมองกลของเกียร์พบว่ารถแล่นอยู่ในความเร็วและรอบเครื่องยนต์ที่เกินกว่าที่ตำแหน่งเกียร์นั้นจะรับได้ สมองกลจะไม่ยอมให้
เปลี่ยนเกียร์ลงไปมากเกิน 1 หรือ 2 ตำแหน่ง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์และเกียร์ เช่นเมื่ออยู่ในความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์ประมาณ
3,000 รอบ/นาที ที่เกียร์ 4 หากจะเปลี่ยนลงมาอยู่ที่เกียร์ 3 ย่อมทำได้ แต่ถ้าเปลี่ยนไปอยู่ที่ 2 สมองกลเกียร์จะไม่รับคำสั่ง และจะยังปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ 3 ไว้เช่นนั้น
ดังนั้น ถ้าใครคิดจะต้องใช้ ENGINE BREAK ในยามฉุกเฉิน ยังพอใช้ได้ครับ แต่ต้องระมัดระวังพอสมควร ไม่เช่นนั้น โอกาสที่สมองกลของเกียร์เสียหายจะมีสูงเป็นปกติ
มาถึงจุดนี้ น่าเสียดายว่า ด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่ในระยะอีกเพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตรข้างหน้า ผมจึงต้องถอนเท้าออกจากคันเร่งเสียก่อน
เราลงจากจุดสิ้นสุดของโครงการทางยกระดับบางนา-บางปะกงฝั่งขาเข้าเมือง ณ กิโลเมตรที่ 2 ของถนนบางนา-ตราด ในยามที่ฝนเริ่มหล่นลงมาเป็นเม็ดๆ แต่สภาพถนนที่ปู
ด้วยยางมะตอยนั้น ลื่นได้ที่เลยทีเดียว เราไปเลี้ยวกลับรถที่สี่แยกบางนา แล้วขับย้อนตรงมาถึงทางเข้ามหาวิทยาลัย รามคำแหง วิทยาเขตบางนา (รามฯ 2) เมื่อดูว่ายังพอมีเวลา
เหลืออยู่ จึงตัดสินใจเลี้ยวเข้าไปเพื่อจะทดลองในเรื่องความคล่องตัวต่อสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ที่ทั้งติดขัดและเต็มไปด้วยตรอกซอย รวมทั้งจับอาการของรถ เมื่อเข้า
โค้งวงเวียนแคบๆ ด้วยความเร็วระดับ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ในสภาพการจราจรที่ติดขัดผิดปกติของซอยรามฯ 2 สิ่งที่ผมรู้สึกคือ ผมไม่รู้สึกเครียดกับการต้องนั่งอยู่หลังพวงมาลัยของรถที่ติดแน่นไม่กระดิกตัวเป็นเวลานานเลย
ชุดเครื่องเสียงระดับพรีเมียม ให้คุณภาพเสียงที่ดีมากพอจนไม่ต้องไปซื้อหามาติดตั้งใหม่ให้สิ้นเปลือง ขณะเดียวกัน ด้วยวงเลี้ยวที่แคบ ทำให้สามารถหักพวงมาลัยออกจนสุด
เพื่อเปลี่ยนเลนในสภาพการเคลื่อนตัวที่ช้ามากเกือบหยุดนิ่งแบบนี้ได้ดั่งใจ แต่สิ่งที่ต้องทำใจคือ รถคันนี้มีความกว้างตัวถังถึง 1,800 มิลลิเมตร ดังนั้น หากคุณคิดจะแทรกตัว
เปลี่ยนเลน ที่ไม่กว้างนัก คงต้องเพิ่มความระมัดระวังสักเล็กน้อย อย่าเผลอตัวขับตามรถคันหน้าที่คุณเพิ่งเห็นว่าแทรกตัวผ่านไปได้ทันที แต่ถ้าคุณแทรกตัวไปแล้วและกระจก
มองข้าง ก็ไปครูดกับสิ่งกีดขวางใดๆก็ตาม ไม่ต้องกังวลใจ เพราะถูกทาด้วยสีดำด้าน ทำความสะอาดง่าย และไม่เป็นรอยเด่นชัดนัก หากบาดแผลไม่ฉกรรจ์
เมื่อเราผ่านพ้นสภาพที่ติดขัดมาแล้ว เราก็มุ่งหน้าเข้าสู่วงเวียนแคบๆ เพื่อจับอาการของรถในทางโค้งที่ต้องใช้ความเร็วต่ำ ไม่เกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อดูว่าปลอดภัยและ
ไม่มีรถแล้ว เราจึงทดลองกันด้วยการออกตัวอย่างรวดเร็วเข้าสู่โค้งทันที แรงเหวี่ยงมากพอที่จะทำให้รถเกิดอาการหน้าดื้อ เล็กน้อย แต่ระบบ TRACS ก็พยายามแก้อาการให้
เท่าที่จำเป็น เสียงเอี๊ยดที่เกิดขึ้นจากการเสียดสีของยางกับพื้นถนน ดังมากพอที่จะทำให้ผู้คนตื่นตกใจวิ่งออกจากบ้านที่ตั้งอยู่รายล้อมโค้งนั้นมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อออกจากซอย เข้าสู่ถนนประเวศที่เจิ่งนองด้วยน้ำและสายฝนจางๆ ทันทีที่เห็นว่าปลอดภัย และไม่มีรถคันอื่นตามมา ผมตัดสินใจหักพวงมาลัยมาทางซ้ายแล้วกดคันเร่งออก
จากซอยแบบไม่ยั้งเท้า เพื่อดูการทำงานของระบบขับเคลื่อน ถึงรถจะออกอาการหน้าดื้อและไถลเข้าหาเลนขวาสุดของถนนทันทีอย่างชัดเจน แต่ระบบ TRACS ก็พยายามช่วย
แก้อาการและดึงรถกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งถ้าเป็นรถยนต์ทั่วไป เชื่อขนมกินได้เลยว่า รถจะต้องลื่นไถลไปสู่เลนฝั่งตรงข้ามทีมีรถแล่นสวนมาจนอาจก่อให้
เกิดอันตรายถึงขั้นอุบัติเหตุแบบการชนประสานงาได้โชคดีที่ถนนโล่งมาก และไม่มีรถสวนมาในระยะกระชั้นชิด ไม่เช่นนั้นผมคงไม่ทำ
เราบึ่งด้วยความเร็วระดับ 120-130 กิโลเมตร/ชั่วโมง สลับกับการเบรกชะลอความเร็วทั้งกระทันหัน และจงใจ กลางสายฝนที่ตกลงมาบนถนนประเวศ เพื่อมุ่งหน้าสู่สี่แยก
อุดมสุข เมื่อเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องติดไฟแดงที่นานมาก พอดีว่ามีทางลัดเป็นซอยเล็กๆ พอที่รถจะวิ่งสวนกันได้ จึงลัดเลาะเข้าไป และเมื่อถึงปากซอย เราก็ต้องพบกับหลุมบ่อ
แอ่งน้ำที่ลึกและขรุขระจำนวนมาก แต่เพียงแค่เหยียบคันเร่งเบาๆ วี 70 ครอสคันทรี ก็พาเราพ้นจากสภาพถนนแย่ๆแบบนั้นมาได้อย่างไม่ลำบากนัก เพราะหลุมบ่อเหล่านั้น ลึก
มากจนผมเองนึกว่า ถ้าขับรถเก๋งธรรมดาๆมา แล้วตกลงไป ใต้ท้องรถคงต้องครูดกับพื้นผิวแย่ๆแบบนี้แน่ๆ และแล้วเราก็กลับเข้าสู่ถนนบางนา-ตราดกันอีกครั้ง
เวลาผ่านไป ฝนก็ยังไม่หยุดตก ยังคงหล่นลงมาจากฟากฟ้าสีหม่นจางๆ แต่มากพอที่จะทำให้พื้นถนนราดด้วยยางมะตอยบนถนนบางนา-ตราด ฝั่งขาออกนอกเมือง ลื่นจนยาก
จะควบคุมรถ ถึงกระนั้น ผมก็ตัดสินใจกดคันเร่งจนสุดเพื่อให้แรงขับเคลื่อนส่งกระจายไปยังล้อคู่หลังด้วย เข็มความเร็วกวาดขึ้นไปถึง 120-130 กิโลเมตร/ชั่วโมงอย่างรวดเร็ว
แต่ทันทีที่ผมเห็นรถ 4 คันข้างหน้าชะลอความเร็ว และเมื่อเหลียวมองกระจกหลังแล้วว่ามีรถตามมาอยู่ในระยะที่ไกลมาก จนมั่นใจว่าเขาจะชะลอรถได้ทัน ผมคิดว่านี่แหละ
สถานการณ์คับขันที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับการทดลองการหยุดรถกระทันหันบนพื้นถนนที่ลื่น และมีสิ่งกีดขวางอยู่เล็กน้อย
ผมเริ่มเหยียบเบรกด้วยแรงเหยียบประมาณ 60% ก่อนจะเพิ่มแรงเหยียบจนสุด แค่นี้ก็มากพอแล้วที่จะทำให้รถออกอาการท้ายปัดเป๋ไปทางซ้ายเล็กน้อย จนคล้ายว่าเกือบจะ
หมุน ระบบป้องกันล้อล็อก ABS พร้อมระบบกระจายแรงเบรกสู่ล้อทั้ง 4 EBD ก็พยายามทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากผมตั้งใจเร่งความเร็วก่อนหน้านี้มากเกินไป
รถจึงยังคงไม่หยุดนิ่งโดยง่ายนัก แถมด้วยอาการท้ายรถเหวี่ยงออกทางด้านซ้าย หน้ารถเบนไปทางขวาผมตัดสินใจหักพวงมาลัยที่เบนไปทางขวานิดๆ ให้เบนกลับมาทั้งซ้าย
นิดนึง เตรียมเลี้ยงให้ตัวรถกลับมาอยู่ในแนวตรง ก่อนจะถอนเท้าจากแป้นเบรกแล้วเหยียบซ้ำลงไปเกือบสุดอีกที คราวนี้ได้ผลครับ ท้ายรถสะบัดกลับมาตั้งตรงอีกครั้ง วี70
ครอสคันทรี ชะลอตัวจากอาการเกรี้ยวกราดจนเกือบสงบนิ่ง ตามหลังรถคันข้างหน้าอีก 3 คันที่ยังคงแล่นเอื่อยๆ ด้วยความเร็วราวๆ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอหันมองกระจกหลัง
แล้วว่าปลอดภัย ผมจึงรีบหักพวงมาลัยเบนรถจากเลนกลางออกสู่เลนซ้ายสุดทันทีก่อนจะเหยียบคันเร่งส่งเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ เพื่อเร่งแซงออกห่างจากกลุ่มรถที่ขับช้า
4-5 คันนี้ต่อไป
เหตุการณ์ทั้งหมดใน 1 ย่อหน้าข้างบนนี้ เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 15 วินาที และการแก้อาการทั้งหมดคงจะสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดซึ่งความร่วมมือที่ดีด้วยการตอบสนองที่
ฉับไวพอสมควรของ V70 CROSS COUNTRY ยอมรับว่า เหตุที่ผมต้องฝืนอาการของรถมากกว่าปกติ แต่ไม่ถึงขั้นที่จะก่ออันตรายให้กับผู้ร่วมสัญจรนี้ เพราะยอมรับว่า
มันเป็นวิธีที่จะทำให้เรารู้ว่า เมื่อถึงสถานการณ์คับขันขึ้นมา รถจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับคนขับ อย่างไรก็ดี หากคนขับขาดสติ และมีแต่ความคึกคะนอง ต่อให้มีระบบความ
ปลอดภัยมากแค่ไหน ก็ไม่อาจรักษาชีวิตของคุณๆได้ ดังนั้น สิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ขอแนะนำให้นำไปลองทำกันเองโดยเด็ดขาด เพราะขนาดผู้ร่วมเดินทางของผม
ยังถึงกับต้องนั่งลุ้นตัวโก่งจนปัสสาวะแทบจะรดกางเกง ซึ่งนั่นก็แสดงว่า มันเกินขีดระดับที่ปลอดภัยมาแล้ว
เมื่อกลับสู่จุดสิ้นสุดของการเดินทางวันนี้ ยอมรับว่า ออกจะเสียดายที่เวลามีน้อยไปนิดนึง และยังทดสอบหาอัตราตัวเลขด้านต่างๆไม่ได้ เนื่องจากอุปกรณ์ไม่เพียงพอ และผม
รู้ตัวล่วงหน้าเพียงวันเดียวเท่านั้น เตรียมตัวไม่ทัน อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่ผ่านมานี้ก็เพียงพอจะให้ผมได้เรียนรู้ถึงคาแรกเตอร์ของ วี70 ครอสคันทรีได้ในระดับเกือบสมบูรณ์
จะขาดไปก็แต่เพียงตัวเลขในทางสถิติทั้งหลาย เช่นอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ความเร็วสูงสุด และระยะเบรกจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงถึงจุดหยุดนิ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ คงต้องเป็น
ข้อแก้ไขที่จะมีขึ้นในการทดลองขับครั้งต่อๆไปนับจากนี้
———————————-
ข้อดี : ลืมทุกความรู้สึกเก่าๆของวอลโวในใจคุณได้เลยด้วยการออกแบบทั้งภายในและภายนอกที่นอกจากแปลกตาและพลิกโฉมแบบไม่เหลือเค้าโครงเดิม แถมยังมาในสไตล์
เอาต์แบ็กแวกอนกึ่งลุย ที่เหมาะมากสำหรับครอบครัวที่เดินทางออกต่างจังหวัดบ่อยๆ คุณลักษณ์ประโยชน์ต่างๆในห้องโดยสาร ยังถือว่าทำออกมาดี ออกแบบให้อเนกประสงค์
กว่ารุ่นก่อน ทุกฟังก์ชันการใช้งาน เน้นความสะดวกสบายและความปลอดภัยควบคู่กันตามสไตล์วอลโว
ข้อที่น่าปรับปรุงในโอกาสต่อไป :
1.เนื่องจากคันเร่งใช้ระบบ DRIVE BY WIRE ควบคุมด้วยไฟฟ้าที่เท้าส่งสัญญาณไปยังมอเตอร์ที่ปิดเปิดลิ้นปีกผีเสื้อ แทนที่จะใช้สายคันเร่งเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น ถึงแม้
การตอบสนองอัตราเร่งในช่วงความเร็วสูงจะดีมาก แต่กับการออกตัวหรือใช้ความเร็วต่ำ ถือว่าตอบสนองไม่ไวพอ คนที่เคยขับรถยนต์ที่ใช้สายคันเร่งอาจรู้สึกว่าช้าไปหน่อยถ้า
เทียบกับระบบกลไกแบบเดิม ซึ่งอาจมีปัญหาอยู่บ้างในกรณีที่คุณต้องการจะเลื่อนรถเดินหน้าหรือถอยหลังเพียงเล็กน้อย ต้องกดคันเร่งมากขึ้นนิดนึง เพื่อให้รถเคลื่อนตัว
ซึ่งถ้ากะจังหวะพลาด หรือไม่เคยชินกับรถ ก็อาจจะเหยียบพลาดและทำให้รถพุ่งมากกว่าที่ต้องการได้ แต่ถ้าปรับสภาพตัวคุณให้เคยชินแล้ว ทุกอย่างจะง่ายขึ้น
2.แรงบิดที่รอบต่ำ ยังไม่อาจเรียกใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก ถึงแม้การตอบสนองอัตราเร่งในช่วงความเร็วสูงจะดีมาก แต่กับการออกตัวหรือใช้ความเร็วต่ำ ถือว่า
ตอบสนองไม่ไวพอ
3.ตัวรถพยามแก้อาการให้ แม้ผมจะทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติของรถคันนี้ไปบ้าง แต่ถ้าพุดกันตามจริงแล้วความพยามที่ว่านี้ยังไม่ดีพอสำหรับคนที่ขับรถที่ยังมีประสบการณ์ไม่
มากนัก แต่เหมาะสมแล้วสำหรับคนที่มีทักษะในการขับขี่ระดับสุภาพชน และอาจจะน่าเบื่อสำหรับคนที่ขับรถเน้นความสนุกเข้าว่าเป็นหลัก สรุปว่าเกือบลงตัวแล้ว แต่ยังไม่ดีพอ
4.แม้จะเห็นความพยามของวอลโวในการปรับปรุงระบบเบรก แต่การหน่วงเหนี่ยวลดจากความเร็วสูงลงต่ำยังไม่ดีพอ ประสิทธิภาพเบรกยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะบนผิวถนนที่ลื่น
นอกจากนี้ บนพื้นถนนปูนซีเมนต์ เมื่อลองวิ่งด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ทางเข้าออกหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่กำลังก่อสร้าง) ทดลองเบรกกระทันหันอย่างรุนแรงเมื่อพบ เนิน
ลูกระนาด แล้วพยายามหักพวงมาลัยเลี้ยวไปทางซ้าย ปรากฎว่าตัวรถก็ยังคงไถลไปข้างหน้าอยู่เหมือนเดิม
หากปรับปรุงทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ได้ วี 70 ครอสคันทรี จะเป็นรถที่สมบูรณ์แบบมากภายใต้คาแรคเตอร์ของตัวมันเอง
สรุป
วี70 ครอสคันทรีใหม่ เป็นรถยนต์ที่วอลโว่ออกแบบมาตอบสนองกับผู้ที่ต้องขับรถไปทำงานทุกวัน แต่ยังรักการผจญภัยในต่างจังหวัดช่วงวันหยุด โดยใช้พื้นฐานร่วมกับ วี70 รุ่น
ปกติ แต่มีคาแรคเตอร์ที่ต่างออกไปจาก วี70 มาตรฐานอย่างชัดเจน ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทำงานเมื่อยามจำเป็น ลดการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุไปได้พอสมควร เด่นเรื่อง
พวงมาลัย วงเลี้ยวแคบดี และนิ่งในย่านความเร็วสูง ตอบสนองอัตราเร่งทันใจแต่อาจยังไม่ฉับไวนักสำหรับคนเท้าหนัก การทรงตัวของรถจัดว่าดีเกินคาดเล็กน้อย ระบบเบรก
ยังไม่ค่อยดี โดยเฉพาะบนถนนลื่น ต้องพัฒนาปรับปรุงกันต่อไป ระบบกันสะเทือนวางใจได้สบายๆ แม้รถจะพยายามแก้ปัญหาให้คนขับ แต่ยังไม่ดีพอสำหรับคนขับอ่อน
ประสบการณ์ อย่างไรก็ดี ค่าตัวระดับ 2,985,000 บาท อาจจะดูเหมือนแพง หากเทียบกับราคา 2,630,000 บาทในรุ่น วี 70 ปกติ แต่ก็คุ้มค่าถ้าคิดจะเปลี่ยนการตัดสินใจ
จาก วี70 รุ่นปกติมาเป็นแวกอนกึ่งลุยรุ่นนี้
—————————————————————————–