ตั้งแต่ทำเว็บไซต์ของตัวเองมาก็จะ 8 ปีเข้าไปแล้ว ไปร่วมทริปทดลองขับ
รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ก็นับครั้งไม่ถ้วน เคยถูกเชิญต่อเนื่องกัน เดือนละ 1 ทริป
ติดกัน 6 เดือนรวด ก็เจอมาแล้ว ในปี 2014
ยังไม่เคยมีทริปไหนที่ทำให้ผม ดีใจ ตื่นเต้น และแอบหวั่นใจ เท่าครั้งนี้
มาก่อนเลยในชีวิต! เพราะนี่คือเป็นทริป “รวมครั้งแรก” ไว้ในหลายเรื่อง
ด้วยกัน…
– ครั้งแรกในรอบ…กี่ปีหว่า…ไม่รู้ละ แต่นานมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ที่ Volvo Cars (Thailand) เชิญสื่อมวลชนจากประเทศไทย ไปลองขับ
รถยนต์รุ่นใหม่ ไกลถึงประเทศต้นกำเนิด นั่นคือ Sweden
– ครั้งแรกในชีวิตของผม ที่ได้เดินทางไปยัง Sweden
– ครั้งแรก ที่ผู้บริหารสูงสุด ของบริษัทรถยนต์ จะพาเราบินไปเอง แถม
ยังขับรถพาเราไปตามสถานที่ต่างๆ เดินทางไปด้วยกัน หัวหกก้นขวิด
ชนิดไปลุ้นเอาดาบหน้ากันเลย!
– ครั้งแรก ที่ต้องขุดเอาความรู้ภาษาอังกฤษที่ตัวเองคืนเข้าลิ้นชักไป
กลับออกมาใช้ใหม่ เพราะคราวนี้ เราสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษล้วนๆ
– ครั้งแรก ของการได้บินไปดู สำนักงานใหญ่ของ Volvo ตามที่เคย
วาดฝันไว้ตอนวัยเด็ก
– ครั้งแรก ของการขับรถบนหิมะ และลานน้ำแข็ง (ขอบอกว่า มันส์มาก!)
แต่นั้นหนะ ยังไม่เท่ากับ..ครั้งแรก ที่ผมต้องเจอว่า งานนี้ PR ของ
ค่ายรถยนต์ ทั้ง 2 แห่ง…ซึ่งอันที่จริง ถือเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกัน
ต่างมาเชิญ ผมและพี่ Richard Lau จาก Bangkok Post พร้อมกัน
ทริปเดียวกัน และต่อเนื่องกันทั้งคู่
เอายังไงดีละเนี่ย?…สรุป เราก็ไปมันทั้ง 2 ทริป เลยนั่นแหละ!
ด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการประสานงาน ระหว่างค่ายรถยนต์
ทั้ง 2 แบรนด์ เราต่างก็จัดการเรื่องเอกสาร VISA และตั๋วเครื่องบิน
ได้อย่างลงตัว
นั่นจึงเป็นเหตุให้ เมื่อผมเสร็จจากทริปทดลองขับ MINI Countryman
รุ่นล่าสุดแล้ว สามารถอ่านได้ที่นี่ ทดลองขับ MINI Countryman F60
จึงยังไม่ได้บินกลับเมืองไทย หากแต่ เรา ต้องเดินทางต่อด้วยสายการบิน
British Airways ออกจากสนามบิน Heathrow เวลา 19.15 น.ของค่ำ
วันที่ 24 มกราคม 2017 ถึงสนามบิน Landvetter เมือง Gothenberg
ประเทศ Sweden เวลา 22.10 น.
พอลงจากเครื่องบิน เดินขึ้นมาจากลานจอด ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง
ที่ไม่เข้มงวดอะไรมากนัก เราก็ลงมารับกระเป๋า…แค่เริ่มต้น ก็เหวอแล้ว!
ดูเอาแล้วกันครับ ไม่เคยเจอสนามบินแห่งไหนในโลก นำรถแข่ง Classic
อย่าง Volvo PV544 มาจอดอวดโฉม ด้านบน เหนือสายพานรับกระเป๋า
เดินทาง แบบนี้มาก่อน! ยังไม่นับ V90 Cross Country รุ่นล่าสุด ที่จอด
อยู่บนแท่นขนาดใหญ่ สีขาว ถัดออกไป มีแสงไฟ SpotLight สาดส่อง
จนเด่นสง่า ท่ามกลางสายตาของผู้มาเยือน
เป็นการต้อนรับที่ทำให้ทุกๆคน รู้เลยว่า “ที่นี่ Goteburg หรือ Gothenberg
คือ เมืองของ Volvo ! ”
ทริปนี้ สุดแสนจะ Exclusive ไปทุกสิ่งอย่าง แค่เริ่มต้นออกมาจากสนามบิน
เราก็มี S90 รุ่นล่าสุด มาทำหน้าที่ Limousine จอดรอรับ เพื่อพาเราไปยัง
โรงแรม Gothia Tower ซึ่งเป็นที่พักของเราตลอด 2 คืน
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจัดการมื้อเช้าเรียบร้อยแล้ว คุณ Anette Anderson MD
หรือ Managing Director ของ Volvo Cars (Thailand) เดินทางมารอรับ
เราที่หน้าโรงแรม ด้วย Volvo XC90 ใหม่ล่าสุด เพื่อจะขับรถพาเรา เข้าสู่
ทางด่วน ข้ามสะพานแขวนขนาดยักษ์ ไปยังอีกฟากหนึ่งของเมือง นั่นคือ
เขต Torslanda อันเป็นสถานที่ตั้งของ สำนักงานใหญ่ และโรงงาน ของ
Volvo Cars Corporation
คุณอาจรู้สึกว่า โห ทริปนี้ สุดยอดมากๆ นอกจากจะเดินทางมากันแค่ 2 คน
ยังมี ผู้บริหารสูงสุดของค่ายรถยนต์ มาขับรถพาคุณไปเยือนตามจุดต่างๆ
อีกด้วย!
ความจริงแล้ว มันก็ใช่นั่นแหละครับ แต่ผมไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นหลัก เพราะ
คุณ Anette เป็นผู้บริหารชาวต่างชาติ ที่ไม่เหมือนกับใครอีกหลายๆคนที่
ผมเคยเจอมา เธอคิดว่า ในฐานะของคนที่เคยทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่
แห่งนี้ มานานถึง 29 ปี…!! เธอรัก Volvo มาก เมื่อใดที่เจออุปสรรคมากั้น
เธอจะเดินหน้าเข้าไป เพื่อแก้ปัญหาจนสำเร็จลุล่วงให้ได้ ซึ่งเป็น Attitude
ที่ดีมากๆสำหรับการทำงานและการดำเนินชีวิต
ตัวอย่างเช่น ในระหว่างทัวร์ของเรา หากขับรถเข้าไป แล้วไม้กั้นไม่ยกขึ้น
เธอจะรออยู่ในรถแป๊บนึง บีบแตร หรือ กระพริบไฟสูง เรียกผู้เกี่ยวข้อง แต่
ถ้าทำไม่ได้ คุณ Anette จะปลดเข็มขัดนิรภัย เปิดประตูรถ ก้าวลงไปคุย
กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของด่านประตูทางเข้าแห่งนั้น ทันที
ด้วยตัวเอง!
คุณ Anette เล่าให้ฟังว่า เมือง Gothenberg เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ใน
บรรดากลุ่มประเทศเขต Scandinavian (Sweden , Norway , Finland)
มีประชากรราวๆ 600,000 คน ส่วนใหญ่ทำอาชีพอุตสาหกรรม โดยมี
กิจการ ของ Volvo ทั้งหมดนั่นละครับ ที่ค้้ำจุนเศรษฐกิจของเมือง นั่น
เท่ากับว่า ประชากรส่วนใหญ่ของเมืองนี้ ก็ต้องพึ่งพาความอยู่รอดของ
Volvo ในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
กิจการรถยนต์ Volvo Cars นั้น Volvo Group เอง เคยประคับประคอง
มาอย่างยากลำบากตลอดช่วงทศวรรษ 1970 จากความผันผวนต่างๆที่
เกิดขึ้นสืบเนื่องจากสถานการณ์ของโลก พวกเขาพลิกวิกฤติได้จากการ
เปิดตัว Volvo 700 Series ในเดือนตุลาคม 1981 และรถยนต์ขับเคลื่อน
ล้อหน้า Volvo 850 ในปี 1991 จนกลายมาเป็นรถยนต์ที่ขายดีมากสุด
รุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ Volvo
อย่างไรก็ตาม Volvo Group ได้ขายกิจการรถยนต์ Volvo Cars ให้กับ
Ford Motor Company ซื้อไปเมื่อ 28 มกราคม 1999 จากนั้นอีก 10 ปี
ถัดมา หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา (Hamburger Crisis)
จากการล้มละลายของสถาบันการเงินอย่าง Lehman Brothers, ทำให้
Ford ต้องกอบกู้สถานการณ์ของตน ด้วยการทะยอยขายสินทรัพย์ซึ่งยัง
ไม่จำเป็นมากนักออกไป เพื่อเอาเงินสดกลับเข้ามา นั่นเป็นเหตุผลที่ทาง
Ford ตัดสินใจขายกิจการ Volvo Cars ให้กับกลุ่ม Geely Holding จาก
จีน เข้าซื้อกิจการส่วนรถยนต์ ทั้งหมด
ดังนั้น ปัจจุบันนี้รถยนต์ของ Volvo จึงมีความเกี่ยวข้องกับ รถบรรทุกและ
รถบัส (Volvo Truck & Bus) และกลุ่มเครื่องยนต์ของเรือ / อากาศยาน
ทางทหาร Volvo Penta เพียงแค่ถือสิทธิ์ในการใช้ชื่อ Volvo ทำตลาด
เหมือนกัน ร่วมกัน เท่านั้น
เราเดินทางบน ทางหลวงสาย E6 จาก Örgrytevägen เข้าสู่ทางด่วน
Lundbyleden ลอดอุโมงค์ Lundby Tunneln ขับตามป้าย ทางหลวง
หมายเลข 155/Öckerö/N Älvstranden/Hamnar ราวๆ 6.6 กิโลเมตร
จากนั้น ชิดซ้าย Hisingsleden ขับตามป้าย E45/Angered volvo/E6
แล้วจึงขับรถต่อไปถึง ถนน Assar Gabrielssons väg (ตามป้ายบอกทาง
Volvo Torslanda) เป็นอันถึงจุดหมายของเราในเช้านี้แล้ว
เมื่อเราเลี้ยวซ้ายเข้าไปยัง ถนน Assar Gabrielssons väg ซึ่งเป็นพื้นที่
ของสำนักงานใหญ่ Volvo แล้ว จะพบอาคารแนวราบ จำนวนมาก ตั้งอยู่
เรียงรายตามสองข้างทาง มีทั้งอาคารของ แผนก Customer Service
หน่วยงานด้าน Logistic กับฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายรับอะไหล่จากผู้ผลิตชิ้นส่วน
(Parts Maker) แถมยังมีสำนักงานของผู้ผลิตชิ้นส่วน หรือ Supplier
บางราย อย่าง DELPHI ตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย!
ตอนแรก คุณ Anette ขับรถพาเราไปยังอาคารของฝ่ายการตลาด และ
ฝ่ายขาย ซึ่งเป็นอาคารหลังเก่าพอสมควร แต่ภายในมีการปรับปรุงใหม่
(Renovate) จนดูทันสมัยขึ้นกว่าเดิม ชั้นล่างมีพื้นที่สำหรับต้อนรับแขก
และมีรถยนต์จัดแสดงอยู่ 1 คัน แต่วันนี้ ดูเหมือนว่า คนรู้จักทั้งหมดของ
คุณ Anette น่าจะไม่อยู่กัน พวกเขาไปจัดกิจกรรมกันที่เมือง Are (ซึ่ง
เราก็จะต้องไปที่นั่นในอีก 2 วันหลังจากนี้) จึงได้แค่แวะชมพื้นที่โถง
ด้านล่างแค่นั้น
คุณ Anette ขับรถพาเราออกมาจากอาคารฝ่ายการตลาด มายัง สำนักงานใหญ่
ซึ่งมีลักษณะเป็น อาคาร 4 ชั้น สร้างในแนวราบ และมีลักษณะที่ชวนให้นึกถึง
ห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของบริษัท ยา หรือเคมีภัณฑ์ มากกว่าจะชวนให้คิด
ว่าเป็นบริษัทรถยนต์ นี่ถ้าเอาป้ายชื่อบริษัทขายยา มาแปะไว้ ผมคงเชื่อสนิทใจ!
ฝั่งซ้ายของอาคารสำนักงานใหญ่ มีอาคารหลังคาโค้งเป็นทรงกะลาครอบ นั่นคือ
Volvo Hallen (Volvo Hall) ซึ่งเป็นพื้นที่การประชุม ขนาด 800 ตารางเมตร ซึ่ง
ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีห้องประชุม หลายขนาด รวมถึง
5 ห้อง พร้อมระบบ Audio Visual ที่ทันสมัยสุด ให้เลือกใช้กันได้ตามวัถุประสงค์
ตามต้องการ เช่นใช้ในการเปิดตัวสินค้าใหม่ รองรับได้ตั้งแต่ 5 คน จนถึง 250 คน
น่าเสียดายว่า ในวันที่เราไปเยือน Volvo Hallen ปิดเพื่อจัดกิจกรรมภายในองค์กร
เราจึงไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมด้านใน
ที่แน่ๆ ลานจอดรถด้านนอก ละลานตาไปด้วย Volvo หลากรุ่น หลายสี และรวมถึง
รถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ที่ถูกนำมาจอดด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ที่นี่ยังมีช่องจอดเฉพาะสำหรับ
รถยนต์ Plug-in Hybrid หรือรถยนต์ไฟฟ้า EV พร้อมเครื่องชาร์จไฟ ให้บริการฟรี
อีกด้วย เท่าที่เห็น ไม่ได้มีเพียงแค่ Volvo รุ่น Plug-in Hybrid เท่านั้น ที่จอดเสียบ
ปลั๊กชาร์จอยู่ ผมยังแอบเห็น Mitsubishi SUV รุ่น Outlander PHEV ยังแอบจอด
ชาร์จไฟ เนียนไปกับชาวบ้านเขาด้วย!
ในสวีเดน Volvo มีกิจการ Car Sharing ในชื่อ SunFleet เปิดดำเนินการมาตั้งแต่
ปี 1998 ปัจจุบัน ให้บริการอยู่ใน 50 เมือง ทั่วสวีเดน มีสมาชิกกว่า 50,000 ราย
โดยมีรถยนต์ Volvo อายุการใช้งาน มีตั้งแต่ใหม่ล่าสุด จนถึงไม่เกิน 1 ปีครึ่ง จำนวน
1,200 คัน ให้บริการใน Fleet อย่างเช่นในภาพข้างล่างนี้ เป็น Volvo V60 Plug-in
Hybrid ที่จอดเสียบชาร์จไฟอยู่
หลักการใช้งาน ก็คล้ายกับบริการ ZipCar ในสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้บริการ แค่ลงทะเบียน
ทาง www.Sunfleet.com (ภาษาสวีดิช ล้วนๆ) จากนั้น จองรถที่ต้องการ จากเมืองที่
เรากำลังอยู่ หากจองสำเร็จ ก็สามารถเดินไปที่รถ ปลดล็อกประตู ด้วย Application
ที่คุณต้อง Download ลงในโทรศัพท์มือถือ ผ่านระบบ Bluetooth จากนั้น เปิดลิ้นชัก
หน้ารถ เพื่อหากุญแจ ติดเครื่องยนต์ แล้วขับออกไปได้เลย! นอกจากนี้ ยังมีบริการให้
เช่ารถ ทั้งแบบรายเดือน หรือเฉพาะ ช่วงสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ เย็นวันศุกร์ 17.00 น. จนถึง
เช้าวันจันทร์ 8.00 น. อีกด้วย
จากสำนักงานใหญ่ และ Volvo Hallen Anette พาเราขึ้น XC90 เลี้ยวขวา
ตรงมาตามถนน Assar Gabrielssons vag ซึ่งเป็นถนนเส้นหลัก ของพื้นที่
อาณาจักร Volvo ตั้งชื่อตาม ชื่อผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท Volvo จนถึงสามแยก
ขนาดใหญ่ เราก็มาถึงจุดหมายต่อไป…Volvo Cars Visitor Centre.
Volvo Cars Visitor Centre เป็นอาคารต้อนรับลูกค้า และบุคคลทั่วไปที่
มาเยี่ยมชม อาณาจักรสำนักงานใหญ่ของ Volvo ใน Torslanda รวมทั้ง
ใช้เป็นพื้นที่ต้อนรับแขกเหรื่อที่จะมาเข้าชมโรงงานผลิตรถยนต์ Volvo
อีกด้วย
ภายในประกอบไปด้วย พื้นที่รองรับลูกค้าขนาดใหญ่ จัดแสดงรถยนต์ Volvo
รุ่นล่าสุด ณ ช่วงเวลานั้นๆ ในบรรยากาศของห้องรับแขกแบบ Scandinavian
มีห้องอาหารไว้บริการ รวมทั้งร้านขายสินค้าที่ระลึก The Shop By Volvo
ต้อนรับบุคคลทั่วไปที่มาเยือนกว่า 30,000 คน/ปี
โปรแกรมของเราในช่วงนี้ คือการนังรถราง Blue Train เข้าเยี่ยมชมโรงงาน
หรือ Factory Tour ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยว ลูกค้า Volvo หรือบุคคลภายนอก
สามารถติดต่อลงทะเบียนจองโปรแกรมได้ ทาง [email protected]
ด้วยกฎระเบียบและข้อบังคับ ด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้
เราจำเป็นต้อง ฝากกล้องถ่ายรูป และโทรศัพท์มือถือ ไว้ที่ลิ้นชักในตู้เก็บของ
ตรงกำแพงด้านข้างของ อาคาร Visitor Center (โดยไม่มีกุญแจล็อกใดๆให้
ทั้งสิ้น แต่จะอยู่ในสายตาของ เจ้าหน้าที่ Reception นั่งเฝ้าให้ตลอด) ก่อนจะ
เดินฝ่าลมหนาว ออกไป ขึ้นรถพ่วงโดยสาร 4 ตู้ ที่ชื่อ Volvo Blue Train
ซึ่งแต่ละครั้ง จะบรรทุกแขกผู้มาเยือนได้ราวๆ 30 คน
ไม่ว่าคุณจะมาเป็นหมู่คณะ เป็นแค่นักท่องเที่ยว ก็สามารถติดต่อขอเข้าชม
โรงงานได้ มีไกด์ เป็นภาษาอังกฤษ สวิเดน และจีนกลาง ไว้บริการ หากใคร
อยากเข้าชมโรงงาน ต้องโทรศัพท์ หรือจองทัวร์ ล่วงหน้า เท่านั้น เพื่อที่ทาง
Volvo จะได้จัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมสรรพ
เสียดายว่า วันที่เราไปเยี่ยมชมนั้น ทางโรงงานกำลังปิดพื้นที่บริเวณไลน์ผลิต
ช่วง Final Inspection รถราง Blue Train จึงพาเราวนแค่พื้นที่ Body Shop
หรือส่วนงานปั้มขึ้นรูปชิ้นส่วน เท่านั้น และการทัวร์ มีขึ้นแค่เพียงครึ่งชั่วโมง
ก็เสร็จสิ้นแล้ว
ไม่เป็นไรครับ อย่างน้อยๆ การได้ ช้อปกระจุยกระจาย ใน Shop ของ Volvo
ก็ทดแทนได้อย่างดี ทั้งเสื้อ ของที่ระลึกต่างๆ หนังสือเล่มหนาๆ หรือแม้แต่
รถโมเดล 1 : 43 กับ รถบังคับวิทยุสำหรับเด็ก ก็มีให้เลือกซื้อกันเต็มที่ และ
อาหารพื้นๆ สไตล์ Swedish ใน Cafeteria ก็อร่อยใช้ได้
ร้านอาหาร เปิดให้บริการ วันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่ 8.00 am ถึง 15.30 pm.
ส่วนร้านขายของที่ระลึก THE SHOP เปิดทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่
9.00 am ถึง 16.30 pm.
โรงงาน Torslanda (ทอร์สแลนด้า) ถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการขยาย
กำลังการผลิตของ Volvo Cars ในช่วงทศวรรษที่ 1950 – 1960 โดย Volvo
เริ่มต้นวางแผนการก่อสร้างโรงงานแห่งนี้ ในปี 1959 เนื่องจากกำลังการผลิต
ของโรงงาน Lundby ในปีนั้นพุ่งไปถึง 78,000 คัน แล้ว ดังนั้น จำเป็นต้องหา
พื้นที่ใหม่ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่โดยเร็ว
Volvo กับเมือง Gothenburg วางแผนร่วมกันที่จะใช้พื้นที่รกร้างบริเวณใกล้กับ
สนามบิน Gothenburg และริมอ่าว Arlandal ซึ่งหน่วยงานด้านผังเมือง ได้วาง
ไว้ให้พื้นที่โซน Torslanda เป็นเขตอุตสาหกรรมของเมือง Gothenburg
ตัวโรงงานเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1961 แล้วเสร็จบางส่วนเมื่อปี 1962 เพื่อเร่งการ
ผลิต Volvo Amazon ก่อน จากนั้น ตัวโรงงานทั้งหมด บนที่ดินกว่า 200,000
ตารางเมตร เสร็จสมบูรณ์และเริ่มเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่
24 เมษายน 1964 โดยทุ่มเทกำลังการผลิตทั้งหมด 110,000 คัน / วัน (1 กะ
หรือ Shift) ให้กับ Volvo Amazon ทั้ง Saloon 2 กับ 4 ประตู และ Estate จน
หมดสิ้น ก่อนจะเริ่มการผลิต Volvo 140 Series ในช่วงปี 1970
จากนั้น มีการปรับปรุงโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 กะ (Shift) รวมเป็น
150,000 คัน/ปี ในปี 1973 เพื่อเตรียมการผลิต Volvo 200 Series ที่เปิดตัวใน
ช่วงเวลาดังกล่าว และกลายเป็นศูนย์การผลิตหลักของ Volvo ที่จะต้องรับบท
ในการ Support เตรียมงานผลิตให้กับโรงงานอื่นๆที่ทะยอยเปิดขึ้นตามมาใน
ประเทศต่างๆ เช่นที่ Halifax ใน Canada หรือโรงงาน Ghent ใน Belgium
ปัจจุบันโรงงาน Torslandaverken หรือ Torslanda Works ในภาษาอังกฤษ
ถูกปรับปรุงทั้งการสร้างโรงงานพ่นสี (Body Shop) แห่งใหม่ และการปรับปรุง
สายการผลิต Final Assembly เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 300,000 คัน/ปี
รองรับการผลิต Volvo รุ่นใหญ่ ที่ใช้โครงสร้างพื้นตัวถัง SPA Platform หรือ
Scalable Product Architecture ในตระกูล 90 Series ทั้ง XC90 ,S90 , V90
และ V90 Cross Country โดยในอีกไม่นานนักหลังจากนี้ Volvo มีแผนจะย้าย
ฐานการผลิตเฉพาะ รุ่น S90 ไปไว้ที่โรงงานในเมืองจีน ทั้งหมด เพื่อ Supply
ชิ้นส่วน CKD ให้กับโรงงานในหลายประเทศ รวมทั้ง มาเลเซีย ที่จะต้องรับ
หน้าที่ประกอบรถยนต์ส่งขายให้กับประเทศไทย ด้วย
โรงงาน Torslanda เพิ่งฉลองครบรอบ 50 ปี ไปเมื่อ วันที่ 24 เมษายน 2014
หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง
เสร็จจากโปรแกรม Factory Tour แล้ว คุณ Anette ขับรถ XC90 พาเราเข้ามายัง
พื้นที่หวงห้ามด้านใน เพื่อเข้าเยี่ยมชม Volvo Brand Experience Centre ตั้งอยู่
ติดกับ อาคารทดสอบความปลอดภัยจากการชน แบบปรับมุมองศา ตัวอุโมงค์
ทดสอบได้ด้วยระบบไฮโดรลิกและไฟฟ้า ของฝ่ายวิจัยและพัฒนา
อาคาร 2 ชั้น แห่งนี้ เป็นสถานที่สำหรับเปิดประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ เหมาะ
อย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักแบรนด์ Volvo Cars มาก่อน อีกทั้งยังช่วยให้ใคร
ที่เคยชื่นชอบแบรนด์นี้อยู่แล้ว ยิ่งรักในแนวคิดของผู้ผลิตรถยนต์ชาวสวีเดนแห่งนี้
มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคย
เมื่อมาถึงพื้นที่ต้อนรับ คุณ Marina เจ้าหน้าที่ของ Brand Experience Centre
พาเราเดินขึ้นไปยัง พื้นที่ชั้น 2 ซึ่งจัดวางไว้เป็นห้องประชุมใหญ่ มีบันไดเชื่อม
ขึ้นลงได้ 2 ฝั่ง ในวันนั้น ไม่มีแขกเหรื่ออื่นใด นอกจาก ผมและพี่ริชชี่ เท่านั้น!
เราเริ่มต้นกันด้วย การชมภาพยนตร์ Brand Presentation บนจอโปรเจคเตอร์
“The Story of Volvo Cars” ที่คุณผู้อ่าน สามารถคลิกเข้าชมได้ ข้างล่างนี้
เมื่อชม Video ข้างบนนี้ จบแล้ว คุณ Marina ก็พาเราลงมายังพื้นที่จัดแสดงชั้นล่าง
สิ่งแรกที่เราได้เรียนรู้กัน คือเรื่องความสำคัญของการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสาร
ในรถยนต์
ก่อนที่ผมจะเดินทางไปสวีเดนได้ไม่กี่วัน สำนักข่าว BBC อังกฤษ รายงานบนหน้าเพจ
Facebook ของพวกเขาว่า ประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนสูงถึง 24,000 คนใน
ปี 2016 ที่ผ่านมา เป็นอันดับ 2 รองเพียงแค่ ประเทศ Syria เท่านั้น…!!!!
เดี๋ยวๆๆๆๆ นี่มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆแล้วนะ ตัวเลขผู้เสียชีวิตเหล่านี้ นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
จากการไม่ใส่ใจในประเด็นความปลอดภัยของการใช้ถนนร่วมกัน (Road Safety) ต่างก็
คิดแต่เพียงว่า จะต้องออกจากบ้าน ไปให้ถึงจุดหมาย โดยไม่สนใจว่า พฤติกรรมบนถนน
ของตนเอง จะไปก่อความเดือดร้อนให้คนอื่นอย่างไร บางคนก็ขับรถช้าเอื่อยเฉื่อย ไหล
เป็นน้ำบาดาลหน้าแล้ง ขณะที่คนอีกไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้พวกรถกระบะระยำๆ
พวก SUV และ PPV บ้าพลัง รวมทั้ง รถตู้ Taxi มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และพวกคนขับรถ
ประจำตำแหน่งเจ้านายทั้งหลาย ที่แม่งไม่เคยสนใจห่าเหวใดๆ ทั้งสิ้น สนแต่ว่าขับยังไง
ไม่ให้นายด่า ขับอย่างไรเพื่อไปให้ถึงจุดหมายเร็วที่สุด ไฟเลี้ยวไม่เคยคิดจะเปิดบอก
เพื่อนร่วมทาง เบรกกระชั้นชิด เร่งก็เหยียบมิดกระจาย ไม่สนใจความตายของตนว่ามัน
จะส่งผลกระทบถึงลูกเมียและคนข้างหลังขนาดไหน บางทีหนักหนาถึงขั้น เมาแล้วขับ
ก็ไม่แคร์ ขอแค่ขับแล้วไม่เจอด่านตำรวจตอนกลางคืนก็พอ คนพวกนี้สนใจแค่เพียงว่า…
“กูไปก่อน กูไปก่อน กูไปก่อน กูต้องไปก่อนนนนนนนนนนนนน!!!”
น่าแปลกว่า คนพวกนี้ ไม่ค่อยตายไปก่อน อย่างที่พวกมันอยากไป แต่ไอ้คนใช้รถใช้ถนน
ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ กลับกลายเป็นเหยื่อจากพวกไร้ความรับผิดชอบ ไร้สามัญสำนึก ไร้ซึ่ง
ความเป็นมนุษย์ อุดมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งผีห่าซาตานที่สิงอยู่ในร่างตอนขับขี่พาหนะ
เหล่านี้กันทั้งนั้น!
ผมคิดว่า เราทุกคน ควรจะเริ่มทำอะไรบางอย่างกันเสียที อย่างน้อย ก็เพื่อช่วยกันปกป้อง
ชีวิตของคนที่เรารัก ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือมัจจุราช ไปได้นานที่สุดเท่าที่ควรจะเป็น แค่
เราเริ่มต้น ฝึกให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงรอบตัวเรา หัดคาดเข็มขัดนิรภัยให้เป็นนิสัย ยังเป็น
เรื่องยากเลย
จริงอยูว่า Nils Bohlin วิศวกรของ Volvo เป็นผู้คิดค้นประดิษฐกรรมนี้ รายแรกในโลกมา
ตั้งแต่ 13 สิงหาคม 1959 และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด สามารถช่วย
ลดจำนวนผู้เสียชีวิต และการบาดเจ็บที่ร้ายแรงจากอุบัติเหตุได้ปีละหลายหมื่นคน อีกทั้ง
ในช่วงปี 1985 เข็มขัดนิรภัย ยังถูกยกย่องว่าเป็น 1 ใน 8 สิ่งประดิษฐ์ ที่สำคัญยิ่งสำหรับ
มวลมนุษยชาติ ตลอดช่วง 100 ปี (1885-1985)
แม้จะมีการศึกษาวิจัยพบว่า 63% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไม่คาดเข็มขัด
นิรภัย และ ผู้ที่คาด จะมีโอกาสรอดตายจากอุบัติเหตุได้มากกว่าคนที่ไม่คาดถึง 50%
อีกทั้ง การนั่งรถยนต์ที่ใช้ความเร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยนั้น หาก
เกิดการชน แรงปะทะจะเท่ากับคุณตกจากเก้าอี้โต๊ะกินข้าวของ IKEA สูงซ้อนกัน 4 ตัว!
ยิ่งถ้าเพิ่มความเร็วเป็น 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง แรงปะทะที่จะเกิดขึ้น มันเท่ากับการที่คุณ
ตกจากตึก ชั้น 2 เลยทีเดียว!
แต่ทุกวันนี้ ก็ยังมีคนไทยอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่รู้ว่า ทำไมพวกเขาต้องคาดเข็มขัดนิรภัย!
เวลาใครขึ้นมานั่งรถที่ผมขับ ผมมีกฎข้อหนึ่งที่สำคัญมากคือ ถ้าคุณไม่คาดเข็มขัด ผมจะ
ไม่ยอมออกรถเด็ดขาด ในฐานะของคนที่เคยรอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ 4-5 ครั้ง
มาตั้งแต่เด็ก จากเข็มขัดนิรภัย จึงรู้ดีว่า เครื่องมือชนิดนี้ มันช่วยให้คุณรอดตายได้ดีกว่า
การพึ่งพาถุงลมนิรภัยเพียงอย่างเดียว โดยส่วนตัว ผมมีวิธีสาธิตให้พวกเขาเห็นภาพว่า
ทำไมจึงต้องคาดเข็มขัดนิรภัย แต่จะทำอย่างไร ให้คนทั่วๆไป ที่ไม่รู้จักกับผมมาก่อนได้
สัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ จนเข้าใจและยอมคาดเข็มขัดนิรภัยเสียที…
ผมคิดเรื่องนี้มานานมาก จนกระทั่ง ทันใดนั้น…ผมก็เห็นเครื่องมือสาธิตชิ้นนี้…ไอเดียแสน
บรรเจิดก็ผุดขึ้นมาทันที!
เจอแล้วว้อยยยยยยยยยยยย!!!!! Eurekaaaaaaa!!!!!!
ทีมวิศวกรของ Volvo เขามีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาความปลอดภัยในรถยนต์
เยอะมาก จนกระทั่งสามารถคิดสร้างเครื่องมือง่ายๆ เพื่อช่วยสาธิตให้ผู้คนเข้าใจ
ว่าทำไม ทุกคนจึงควรคาดเข็มขัดนิรภัย
มันเป็นแท่นติดตั้งเบาะนั่ง พร้อมเข็มขัดนิรภัย ยกมาจากรถยนต์ที่จำหน่ายจริง
ติดตั้งอยู่บนรางเลื่อน พร้อมฐานล็อก เพื่อให้สะดวกต่อการขึ้น – ลง ตัวรางเลื่อน
ถูกออกแบบและคำนวนให้ลาดเอียง เท่ากับการใช้ความเร็วราวๆ แค่เพียง 5-7
กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งนั่นคือความเร็วของการเดินไปทำงานตามปกติ เท่านั้น!
เมื่อทดลองนั่ง และปล่อยให้รางเลื่อน ค่อยๆไหลไปตามทาง จนถึงจังหวะหยุด
กระทันหัน ดัง “ตึง!!” ตัวเราจะพุ่งไปข้างหน้า และเข็มขัดนิรภัยนั่นแหละ ที่จะ
รั้งตรึงร่างกายเราไว้กับเบาะนั่ง เพื่อความปลอดภัย
แค่ครั้งเดียวที่คุณลองนั่งเจ้าเครื่องมือสาธิตนี้ คุณจะเข้าใจด้วยตัวเองว่าทำไม
ผมถึงบอกให้คุณ คาดเข็มขัดนิรภัย…
แต่ไม่ใช่แค่เพียงผู้ขับขี่กับผู้โดยสารบนเบาะนั่งคู่หน้า เท่านั้นที่ต้องคาด เพราะ
ผู้โดยสารด้านหลังก็ต้องคาดเช่นเดียวกัน!
ทำไมหนะหรือ?
นอกจากจะช่วยลดการบาดเจ็บ จากการชนด้านท้ายรถแล้ว การคาดเข็มขัด
นิรภัยขณะนั่งโดยสารบนเบาะหลัง จะช่วยไม่ให้ตัวคุณ พุ่งไปอัดกระแทก
เข้ากับพนักพิงเบาะคู่หน้าอีกด้วย ซึ่งนั่นจะส่งผลร้ายให้เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร
บนเบาะหน้าอย่างใหญ่หลวง
มันขนาดนั้นเลยหรือ?
คุณ Marina แสดงให้เราดูถึงผลกระทบดังกล่าว ด้วยการเชิญ พี่ริชชี่ ขึ้นไป
ยืนบนแท่นชั่งน้ำหนัก จริงอยู่ว่า โดยปกติ พี่ชายของผมคนนี้หนัก 70 กิโลกรัม
ทว่า เมื่อเกิดแรงเหวี่ยงปะทะมหาศาลขึ้นมา น้ำหนักตัวที่จะเพิ่มขึ้นกระทันหัน
และอัดกระแทกเข้าไปยังเบาะหน้า (ในกรณีไม่คาดเข็มขัด) นั้น จะเพิ่มสูงขึ้น
อย่างฉับพลัน จนน่าตกใจ!
ณ ความเร็ว แค่ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม จะเพิ่มขึ้นเป็น
1,750 กิโลกรัม! นั่นมันหนักเท่ากับ รถเก๋ง Sub Compact B-Segment พวก
Toyota Vios หรือ Honda City ที่แบกน้ำหนักบรรทุก และสัมภาระ เต็มปรี่
เลยนะ
แต่ถ้าเพิ่มความเร็ว เป็น 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม จะเพิ่ม
ขึ้นเป็น 2,450 กิโลกรัม! ซึ่งเท่าๆกับ Toyota Fortuner หรือ Ford Everest
1 คัน พร้อมสัมภาระและน้ำหนักบรรทุกเกือบเต็มนะ! หรือไม่ก็พอๆกับ Volvo
XC90 รุ่นใหม่ 1 คันเลยเชียวละ!
ยิ่งถ้าคุณใช้ความเร็วเพิ่มเป็น 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม
จะพุ่งพรวดขึ้นไปเป็น 3,150 กิโลกรัม หรือเท่ากับช้างป่า African Elephant
1 เชือก เลยทีเดียว!
ในสวีเดน ถึงมีคำกล่าวว่า “No Elephant in the back seat” หรือ “อย่าปล่อย
ให้มีช้างอยู่บนเบาะหลังของคุณ” นั่นเอง!
ผมยืนยันว่า ประเทศไทยเรา ควรจะมีการสร้างเครื่องมือจำลองนี้ ไปติดตั้ง
ตามหน่วยงานราชการ ซึ่งมีหน้าที่ออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ อย่าง อาคาร
กรมการขนส่งทางบก หรือขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ เลยละ! เพราะเมื่อผู้ที่จะ
เข้ารับการอบรม สอบขอรับใบขับขี่ ได้ทดลองนั่งเล่นเครื่องมือสาธิตเหล่านี้
พวกเขาจะเข้าใจได้เองในทันทีเลยว่า ทำไม พวกเขาต้องคาดเข็มขัดนิรภัย
โดยไม่ต้องไปใช้วิธีสาธิตอื่นใด ให้สิ้นเปลืองและเสียเวลาไปกว่านี้
Volvo Cars เป็นบริษัทรถยนต์ รายเดียว ที่มีการตั้งทีมวิจัยด้านความปลอดภัย
ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในสวีเดน อย่างจริงจัง ตั้งแต่ทศวรรศ 1970
ทันทีที่มีรายงานว่า รถยนต์ของ Volvo เกิดอุบัติเหตุ ทีมวิจัย จะพุ่งเข้าไปยังจุด
เกิดเหตุในทันที เพื่อเก็บข้อมูล หลักฐาน สัมภาษณ์พยานแวดล้อม สำรวจดูทั้ง
สภาพโครงสร้างตัวรถ สภาพการบาดเจ็บของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้งในรถยนต์
ของ Volvo และของคู่กรณี (หากมี) ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเก็บข้อมูลไปประมวลผล
ค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการเสริมความปลอดภัยให้กับรถยนต์รุ่นต่อๆไป
ผลลัพธ์ก็คือ Volvo ได้พัฒนาระบบความปลอดภัยองค์รวม ครบวงจร เรียกว่า
INTELLISAFE ซึ่งประกอบด้วยสารพัดระบบตัวช่วยมากมาย ที่ช่วยกันทำงาน
ตามแต่ละลำดับขั้นของสถานการณ์ ทั้งการขับขี่ปกติ จังหวะหมื่นเหม่ การป้องกัน
การลดความเสียหาย และ ช่วงเวลาหลังเกิดอุบัติเหตุไปแล้ว แบ่งออกได้ดังนี้
1. Normal Driving : การขับขี่ในยามปกติ จะมีระบบตัวช่วยต่างๆ ซึ่งจะเพิ่ม
การมองเห็น เพิ่มสมาธิ และการตื่นตัวให้กับผู้ขับขี่ ดังนี่้
– กล้องมองภาพ 360 องศา Surround View
– ระบบเตือนผู้ขับขี่ Driver Alert Control
– ระบบแจ้งเตือนป้ายบอกทาง Road Sign Information
– ระบบแจ้งเตือนรถที่แล่นตามมาด้านข้าง ด้วยสัญญาณเรดาห์
Redar-base BLIS (Blind Spot Information Systrm)
– ระบบสัญญาณเตือนพาหนะ หรือวัตถุตัดผ่านหลังรถ Cross Traffic Alert
– ระบบช่วยลงเนิน Hill Descent Control
– ระบบแสดงข้อมูลอัจฉริยะ Intelligent Driver Informtaion System)
– ระบบกล้องช่วยกะระยะขณะถอยเข้าจอด Park Assist Camera
– ระบบเตือนระดับแอลกอฮอลล์ก่อนติดเครื่องยนต์ Alcoguard
2. Conflict : ขณะเกิดสถานการณ์หมิ่นเหม่ว่าอาจเกิดอุบัติเหตุ ระบบตัวช่วย
ข้างล่างนี้ จะเริ่มเข้ามาควบคุม หรือแจ้งเตือนผู้ขับขี่กับพานหะรอบข้างให้
ระมัดระวังรถคันของเรา
– ระบบแจ้งเตือนการปะทะพร้อมระบบเบรกเองโดยอัตโนมัติ Coliision
Warning with Full Auto Brake
– ระบบรักษารถให้อยู่ในเลนถนน Lane Keeping Aid
– ระบบควบคุมเสถียรภาพและป้องกันล้อหมุนฟรี Dynamic Stability &
Traction Control
– ระบบควบคุมการทรงตัวของรถพ่วงท้าย Trailer Stability Assist
– กุญแจพร้อมระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะ Personal Car Communicator
– ไฟเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ Emergency Brake Lights
3. Avoidance : การหลีกเลี่ยง / ป้องกัน ในจังหวะที่มีแนวโน้มสูงมากๆว่า
อาจหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุไม่ได้ ระบบเหล่านี้จะรับช่วง เข้ามาทำงานต่อทันที
เพื่อหากทางเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
– ระบบ เบรกอัตโนมัติ ในความเร็วต่ำขณะขับขี่ในเมือง City Safety
– ระบบ เรด้าห์ตรวจจับ คน สัตว์ สิ่งของ ตัดหน้า พร้อมเบรกอัตโนมัติใน
ความเร็วต่ำขณะขับขี่ในเมือง Collision Warning with Auto Brake &
Pedestrian Detection
– ระบบเบรกอัตโนมัติ เมื่อถึงทางแยก Auto Brake at Intersection (มีเฉพาะ
ใน XC90 ใหม่ก่อน)
4. Damage Reduction : หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนต้องเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ระบบ
ข้างล่างนี้จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ได้
– ระบบ ป้องกันอันตรายจากเหตุรถตกถนนหรือไหล่ทาง Run Off Road Protection
(มีเฉพาะ XC90 ก่อนในตอนนี้)
– ระบบปกป้องผู้โดยสารจากการปะทะด้านหลังรถ Pre Crash protection in rear impact
(มีเฉพาะ XC90 ก่อนในตอนนี้)
– ระบบเบรกอัตโนมัติ สำหรับการขับขี่ในเมือง City Safety
– ระบบ เรด้าห์ตรวจจับ คน สัตว์ สิ่งของ ตัดหน้า พร้อมเบรกอัตโนมัติใน
ความเร็วต่ำขณะขับขี่ในเมือง Collision Warning with Auto Brake &
Pedestrian Detection
5. After Collision : หลังเกิดอุบัติเหตุ ระบบตัวช่วยต่างๆจะเข้ามาปกป้องผู้ขับขี่และ
ผู้โดยสารให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รีบรุด
มาที่เกิดเหตุ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที่
– ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินอัตโนมัติ Volvo On Call (เฉพาะในตลาดยุโรป)
– โครงสร้าง Platfrom SPA และ CMA ของรถรุ่นใหม่ หลังปี 2015 เป็นต้นไป
– โครงสร้างด้านหน้านิรภัย ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร Patented Front Structure
– ระบบกระจางแรงปะทะด้านข้าง SIPS (Side Impact Protection System)
– พนักศีรษะป้องกันการลื่นไถล Whiplash Protection System
– ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ Roll-over Protection System)
– ระบบเตรียมรั้งตรึงเข็มขัดนิรภัยอัตโนมัติ ก่อนและขณะเกิดการชน
Pre-prepare Restraint System
– ระบบความปลอภัยสำหรับเด็ก Child Safety
– เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก แบบติดตั้งมาให้กับตัวรถ Integrated Two-stage Child
Booster Seat
– ถุงลมนิรภัยคนขับ ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย
– ถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่าผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร Knee Airbag
– ถุงลมนิรภัย สำหรับคนเดินถนน โผล่ขึ้นมาจากฝากระโปรงหน้ารถ Pedestrian
Airbag Technology
ต่อให้มีสารพัดระบบตัวช่วยอีเล็กโทรนิคส์สมัยใหม่ อัดท่วมเต็มคันรถ
มากมายแค่ไหน ถ้าโครงสร้างตัวถัง ไม่ดีพอ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารก็จะ
ไม่มีทางปลอดภัยได้เลย ดังนั้น Volvo จึงให้ความสำคัญกับการทดสอบ
การชน ทั้งด้วยวิธีการดั้งเดิม คือ จับรถยนต์มาทดสอบชนกันจริงๆ หรือ
แม้แต่การทดสอบด้วยวิธีสมัยใหม่ อย่างการใช้โปรแกรม Crash Test
Simulation เพื่อจำลองรูปแบบการชนในคอมพิวเตอร์ ก่อนการทดสอบ
ของจริง
ทุกวันนี้ Volvo ยังคงต้องทดสอบการชน มากกว่า 200 ครั้ง ในการพัฒนา
รถยนต์ 1 รุ่น ในขณะที่ ผู้ผลิตฝั่งญี่ปุ่น “รายใหญ่ในบ้านเรา 2 ราย” ที่ผม
เคยไปดูศูนย์ทดสอบการชนของพวกเขามา จะทดสอบการชนเฉลี่ยแล้ว
ประมาณ 40 – 50 ครั้ง สำหรับรถยนต์ 1 รุ่น เท่านั้น
ดังนั้น ไม่ว่า ระดับมาตรฐานการทดสอบการชน จากหน่วยงานภายนอก
จะถูกยกระดับขึ้นไปเพียงใด ทีมวิศวกรของ Volvo ก็ยืนยันอย่างมั่นใจว่า
“รับมือได้ สบายมาก!”
ตัวอย่างล่าสุดก็คือ การทดสอบการชนแบบพิลึกพิลั่นขององค์ก IIHS หรือ
หน่วยงานด้านความปลอดภัยของสมาคมประกันวินาศภัยในสหรัญอเมริกา
ซึ่งมักขยัน หาการทดสอบใหม่ๆ มาเข่นฆ่าผู้ผลิตรถยนต์ทุกราย ไม่ว่าจะเพื่อ
ให้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถ หรือเพื่อหาเรื่องส่งข้อมูลแจ้ง
ไปยังบริษัทที่เป็นสมาชิกในสมาคม ให้สามารถหาเรื่องขึ้นค่าเบี้ยประกันภัย
รถยนต์ที่ไม่ผ่านการทดสอบของตน หรือไม่ก็ตาม
IIHS เพิ่งออกรูปแบบการทดสอบชนแบบ เอามุมหัวรถ ถากไถล ซึ่งจะก่อ
ให้เกิดความเสี่ยหายได้มากยิ่งกว่าการทดสอบการชนแบบ Offset Crash
หรือไม่เต็มพื้นที่ด้านน้าแบบเดิมที่เราคุ้นเคยกันดี แทบไม่มีผู้ผลิตรายใด
ที่ผ่านมาตรฐานใหม่ดังกล่าวนี้เลย มีเพียงแค่ Volvo เท่านั้น ที่ผ่านมาได้
สบายๆ Chil Chil อย่างที่เห็นใน XC60 คันนี้!
ไม่เพียงเท่านั้น Volvo เอง ก็ยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ที่นำเหล็กกล้า
แบบ Boron มาใช้กับรถยนต์ของตน เป็นเวลานานหลายปีแล้ว
(สาวก Ford Fiesta โปรดรับรู้ด้วยนะจ้ะ)
ผลจากการทำงานหนักของทีมวิศวกร Volvo ไม่เพียงแค่ช่วยให้รถยนต์ของ
พวกเขา ผ่านทุกมาตรฐานการทดสอบด้านความปลอดภัย ทุกแห่งในโลก
หากแต่ยัง ช่วยรักษาชีวิตผู้คนให้รอดตายจากอุบัติเหตุมาได้จำนวนมาก
ตัวอย่างคือ เหตุการณ์ข้างล่างนี้…
นี่คือซากรถยนต์ S60 คันจริง จากลูกค้าจริง ที่ประสบอุบัติเหตุบนถนนระหว่าง
เมือง Gothenberg ชายวัย 30 ปีเศษๆ กำลังเดินทางไปกับเพื่อนของเขา ใน
ช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีสภาพถนนเปียกลื่น
ทันใดนั้นเอง รถเกิดเจอพื้นผิวถนนลื่น จนหมุนกระทันหัน ทันทีที่จอดสนิทนิ่ง
รถคันที่แล่นมาจากอีกทิศทางหนึ่ง ก็เบรกไม่ทัน พุ่งเข้าชนที่ประตูผู้โดยสาร
ฝั่งซ้ายในแนวทะแยงมุมไปข้างหน้า ราวๆ 45 องศา
เชื่อหรือไม่ว่า ชายคนที่นั่งอยู่บนเบาะหน้าฝั่งซ้ายนั้น แทบไม่ได้รับบาดเจ็บ
อะไรเลย เพราะเขาคาดเข็มขัดนิรภัย อีกทั้งโครงสร้างตัวถังกระจายแรงปะทะ
ทางด้านข้างตัวรถ SIPS ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีมาก อาจมีบาดเจ็บบ้างก็แค่
แผลถลอกที่แขน และที่หัวนิดเดียว มาจากการกระทบกับศีรษะของผู้ขับขี่
ฝั่งซ้ายของรถ…และแค่นั้น!
ทีมศึกษาอุบัติเหตุของ Volvo Cars พุ่งไปยังจุดเกิดเหตุ วิเคราะห์ข้อมูล
และตัดสินใจ สร้างเหตุการณ์จำลองจากอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้นมา โดยให้ชาย
ผู้ประสบเหตุ เข้ามาเยี่ยมชมที่ศูนย์ทดสอบการชนของ Volvo Cars นี่ละ!
หลังชมการทดสอบชนจริงๆ ในแบบที่เจ้าตัวโดนมา ชายคนดังกล่าวถึงกับ
นิ่งอึ้ง และพูดว่า “นี่แหละ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม พวกเขาจำลองได้เหมือนจริง
มากๆ ดูเบาะผู้โดยสารด้านขวาเนี่ยสิ ผมนั่งตรงนี้เลย”
ถ้าไม่ใช่ Volvo ชายคนนี้จะมีโอกาสรอด มาเล่าเรื่องราวของเขาให้เราได้ฟัง
หรือไม่? สุดจะเป็นเรื่องยากเกินคาดเดา
นอกจากนี้ Volvo ยังสนใจในด้านความปลอดภัยของเด็ก ขณะโดยสารไป
ในรถยนต์ และเป็นผู้ผลิตรายแรกที่พัฒนาเบาะนิรภัยสำหรับเด็กออกมาใน
ปี 1964 อีกด้วย!!
ข้อแรก สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ Volvo ยืนยันแนะนำให้คาดเข็มขัดนิรภัย
เหมือนเช่นทุกๆคน อยู่ดี เพียงแต่ว่า ต้องให้สายเข็มขัดเส้นบน พาดไหล่
บนพื้นที่ซึ่งต้องสวมเสื้อผ้าปกปิดไว้ ขณะที่สายเข็มขัดบริเวณบั้นเอว ต้อง
คาดให้ต่ำกว่าเอวมากที่สุด ลอดใต้ครรภ์มารดา และต้องแน่ใจว่า สายของ
เข็มขัด ไม่บิดตัว
ประการต่อมา เด็กควรเดินทางในรถ ด้วยเบาะแบบไหน และอย่างไร?
จากการศึกษาวิจัย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องมา
นานกว่า 40 ปีทำให้ Volvo ค้นพบว่า การติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ที่จะ
ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับทารกตัวน้อยได้มากที่สุด คือการติดตั้งโดย
หันหน้าเด็ก ไปทางด้านหลังรถ เราจำเป็นต้องให้เด็กน้อยโดยสารในแบบนี้
จนกว่าพวกเขาจะมีอายุ 4 ปีขึ้นไป
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ลองดูภาพประกอบข้างล่างนี้สิครับ
ภาพนี้ ยกมาจากคู่มือ Children & Cars : Safety Manual ที่จัดพิมพ์โดย
Volvo Cars เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมานี้เอง
ภาพนี้ เปรียบเทียบให้เราได้รู้ถึงสัดส่วนของร่างกายมนุษย์ ในช่วงอายุต่างๆ
นับตั้งแต่ ทารกแรกเกิด เด็กน้อยอายุ 2 ปี 6 ปี 12 ปี และร่างกายของผู้ใหญ่
จะเห็นได้ว่า บริเวณที่ผม ล้อมรอบด้วยเส้นสีแดงไว้ นั่นคือ พื้นที่ของร่างกาย
ในการรองรับกับแรงเหวี่ยง เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะโดยสารในรถยนต์ จริงอยู่
ว่าเมื่อยิ่งเราโตขึ้น ร่างกายเราจะมีโครงกระดูที่แข็งแรงขึ้นในการรองรับกับ
แรงเหวี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภายนอก ทว่า เด็กทารก ไม่เป็นเช่นนั้น
หากเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่า ส่วนหัวของเด็กอายุ 9 เดือนนั้น จะมีน้ำหนัก
มากถึง 25% จากน้ำหนักตัวสรีระของเด็กทารก กระดูกต้นคอยังไม่แข็งแรง
พอที่จะรองรับกับแรงเหวี่ยงปะทะจากการเกิดอุบัติเหตุได้แบบร่างกายผู้ใหญ่
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมคุณถึงควร หาเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก แบบหันหน้า
ไปทางด้านท้ายรถ (Rearward-facing Child Seat) มาติดตั้งไว้กับเบาะหลัง
หรือด้านหลังของพนักพิงเบาะหน้า มารองรับการเดินทางของลูกน้อย จนกว่า
พวกเขาจะมีอายุ 4 ขวบไปแล้ว
ถ้าอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับการนำเด็กโดยสารไปบนเบาะนิรภัย
ก็สามารถ Download คู่มือเล่มนี้ได้ ตาม Link ข้างล่างนี้ “ฟรี”
http://www.volvocars.com/bh/about/our-stories/made-by-sweden/child-safety/child-safety-by-volvo
ไม่เพียงเท่านั้น Volvo ยังทุ่มให้ความสำคัญกับอีกหลายประเด็นสำคัญที่มี
ส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการออกแบบให้
รถยนต์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนา จนกระทั่ง วันที่รถคันนั้น
ต้องถูกยุบรวมกลายเป็นก้อนสี่เหลี่ยมที่เห็นวางอยู่ในมุมห้องตามรูปข้างบนนี้
การพัฒนาและวิจัย ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ ทั้งในแง่ของความ
ทนทานในการใช้งาน ทนต่อสภาพอากาศ ความชื้น และต้องมีพื้นผิวสัมผัสที่ดี
(Perceived Quality)
ไม่เพียงเท่านั้น Volvo ยังให้ความสำคัญกับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ด้วยระบบฟอกอากาศ
ภายในรถ CLEAN ZONE ซึ่งจะประกอบด้วย Carbon Air Filter ที่ดักจับฝุ่นควัน
ภายในห้องโดยสาร เสริมด้วยระบบ Interior Air Quality System ซึ่งช่วยลดก๊าซ
Carbon Monoxide , Ground Ozone และ Nitrogex Oxide ในห้องโดยสารได้
อีกด้วย
รายละเอียดอยู่ใน Video Clip 2.11 นาที ข้างล่างนี้
นอกจากนี้ พวกเขายังพัฒนารถยนต์ระบบ “ไร้กุญแจ” โดยเชื่อมต่อตัวรถเข้ากับ
Application บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการ แชร์กุญแจให้กับบรรดา
สมาชิกในครอบครัว หรือ ใช้บริการ Car Sharing ในต่างประเทศ รวมทั้งยังเชื่อม
กับระบบ Application Volvo On Call สำหรับช่วยเหลือในยามฉุุกเฉิน แจ้งเตือน
ตำแหน่งของรถที่จอดอยู่ หรือนำทางไปยังจุดหมายที่ต้องการ เช่นตัวอย่างจาก
Video Clip ข้างล่างนี้
(Volvo Keyless Cars Technology)
(Volvo On Call)
ทั้งหมดนี้ เป็นอีกองค์ประกอบเสริม ที่จะเชื่อมให้การเดินทางด้วยเทคโนโลยีแบบ
ไร้คนขับ Autonomous Drive ให้เกิดขึ้นได้จริง Volvo เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาระบบนี้
ให้สำเร็จและนำมาทดลองใช้งานได้จริง เป็นรายแรกๆของโลก
ในปี 2017 นี้ Volvo จะเริ่มทดลองนำรถยนต์ Autonomous Drive ของตน จำนวน
100 คัน ออกแล่นทดสอบในเมือง Gothenberg ที่สวีเดน ตามโครงการ DRIVE ME
Project รายละเอียด อยู่ใน Video Clip ยาว 3 นาทีข้างล่างนี้
แล้วอนาคตของตัวรถยนต์ Volvo ละ จากนี้ จะเป็นไปในทิศทางใด?
นับจากนี้ จนถึงปี 2020 Volvo มีแผนเตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆมากถึง 5 รุ่น
ทั้งในต่างประเทศ และเมืองไทย ทุกรุ่นจะถูกสร้างขึ้นภายใต้โครงสร้างวิศวกรรม
ที่แตกต่างกันเพียงแค่ 2 Platform เท่านั้น ดังนี้
– SPA (Scalable Product Architecture) เป็น Platform ขับเคลื่อน
ล้อหน้า และ 4 ล้อ แบบ AWD สำหรับ รถยนต์นั่งขนาดกลางและใหญ่อย่าง
ตระกูล 60 กับ 90
– CMA (Compact Modular Architecture) เป็น Platform ขับเคลื่อน
ล้อหน้า และ 4 ล้อ แบบ AWD สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก ตระกูล 40 ถูกสร้างขึ้น
โดย Volvo ภายใต้การลงทุนร่วมกับ Geely ของจีน โดยในอนาคต Geely รุ่นใหม่ๆ
จะใช้พื้นตัวถัง CMA ของ Volvo เฉพาะในจุดที่เป็นงานวิศวกรรมหลัก นั่นแปลว่า
Volvo และ Geely รุ่นเล็กที่ใช้ Platform CMA จะมีขนาดระยะฐานล้อ ช่วงล่าง
หน้า – หลัง และจุด Hard points อื่นๆ ร่วมกัน ทว่า Volvo จะไม่ยอมแชร์อุปกรณ์
ระบบไฟฟ้าร่วมกับ Geely นอกจากนี้ งานออกแบบของทั้ง 2 แบรนด์จะต้องต่างกัน
นั่นหมายรวมถึงว่า รถยนต์ของ Geely จะไม่ถูกแปะตรา Volvo เด็ดขาด
ขุมพลังที่ Volvo ออกแบบให้สามารถติดตั้งลงบน SPA และ CMA Platform ได้
มี 4 แบบ ดังนี้
– ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเครื่องยนต์สันดาป ตามปกติ (เบนซิน หรือ Diesel Turbo)
– ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเครื่องยนต์ Plug-in Hybrid (เรียกว่า Twin Engine)
– ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบกลไก Mechanical AWD ด้วยเครื่องยนต์ ปกติ
– มอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ BEV (Battery Electric Vehicle)
รุ่นแรงสุดของรถยนต์ที่ใช้พื้นตัวถังใหญ่ SPA จะเป็นรุ่น Twin Engine ในรหัส T8
พละกำลังสูงสุดจะไม่เกิน 330 แรงม้า (PS) ส่วนรุ่นแรงสุด ของรถยนต์ที่ใช้พื้นตัวถัง
CMA จะเป็นรุ่น Twin Engine ในรหัส T5
ท้ายที่สุด คือเรื่องงานออกแบบ ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร Volvo
ในฐานะของบริษัทรถยนต์ เพียงหนึ่งเดียวที่เหลือยู่ใน สวีเดนจะต้องพยายาม
สร้างบุคลิกอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ่านเส้นสายและการออกแบบในสไตล์
SCANDINAVIAN DESIGN ซึ่งมีพื้นฐานจากความเรียบง่าย อยู่เหนือกาลเวลา
ดูได้นาน ร่วมสมัย ไม่เบื่อง่าย ในแบบ Timeless Design
Volvo เคยทำรถยนต์ต้นแบบ ออกจัดแสดงมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 1933 แต่สำหรับ
การนำเสนอแนวทางของ Volvo รุ่นใหม่ๆ ที่ทะยอยเปิดตัวกันมาตั้งแต่ปี 2014
นั้น เริ่มต้นขึ้นด้วย Volvo Universe Concept และ Volvo Concept You ในปี
2011 ซึ่งพูดกันตามตรงคือ รูปทรงที่อ้างว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก PV544 รุ่น
เก่าของตนนั้น มันดูไม่ได้เอาเสี่ยเลย กว่าจะมาลงตัว ทีมออกแบบ Volvo ต้อง
ตัดสินใจ ทำรถต้นแบบ 2 ประตู Volvo Concept Coupe ออกอวดโฉมในงาน
Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 2013 ตามด้วยรถต้นแบบสีน้ำตาลแดง
Volvo Concept Estate ในงาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 2014 และ
และ Volvo Concept XC Coupe ในงาน Detroit Auto Show 2014 เพื่อยืนยัน
ให้ทุกคนเห็นถึงเส้นสายของ Volvo รุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะตามออกมาในอนาคต
ว่าจะแตกต่างจาก Universe Concept และ Concept You อย่างแน่นอน
งานออกแบบของ Volvo รุ่นใหม่ในยุคนี้ โดนใจลูกค้าเป้าหมายทั่วโลกตามความ
คาดหมาย ดูได้จากยอดสั่งจอง XC90 ที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงแรกที่เปิดตัว จน
รุ่นพิเศษ ล็อตแรก จำนวนจำกัด หมดลงเพียงไม่นานหลังการเปิดตัว
จาก Volvo Brand Experience Centre แล้ว โปรแกรมต่อไป ที่บรรดาผู้มาเยือน
สำนักงานใหญ่ Volvo ไม่ควรพลาดเลย นั่นคือ การทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด
ของ Volvo ทั้ง 22 คัน ที่ สนามทดสอบ Volvo Cars Demo Centre
คุณ Anette ขับรถพาเรา ออกจากศูนย์ Brand Experience Centre ทะลุออกมา
ยังถนนด้านหลังศูนย์ทดสอบการชน จากจุดนี้ จะเห็นว่า มีทั้งศูนย์ Volvo Truck
& Bus Demo Centre ตั้งอยู่ติดกันด้วย ทั้งคู่ยังคงใช้พื้นที่ดั้งเดิมแห่งนี้ร่วมกันแม้
บริษัทแม่ของทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจ อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันมากเหมือนในอดีตแล้ว
สนามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1998 โดยจำลองรูปแบบสภาพถนนชนบทในสวีเดน
ไว้ได้ครบถ้วน คุณสามารถเลือกขึ้นไปนั่งบน Volvo คันไหนก็ได้ จากทั้งหมดถึง
22 รุ่น กดปุ่ม หรือหมุนสวิตช์ติดเครื่องยนต์ แล้วขับออกไปได้เลย คนละ 2 รอบ
ต่อ 1 คัน (แต่ในวันที่ สนามว่างมากๆ คุณจะขับนานกว่านั้นสักหน่อยก็ได้)
เรามีเวลามากพอที่จะลองขับตลอดทั้งบ่ายก็จริง แต่ถ้าจะให้ลองกันครบ 22 คัน
ผมอาจจะพลาด กำหนดการที่เหลืออยู่ จึงเลือกเอารถยนต์รุ่นที่ยังไม่ได้ลองขับ
ทั้งหมด 5 รุ่น ดังนี้
Volvo V60 D5 R-Design เป็นรถที่พร้อมจะพาผมไถลออกจากแทบทุกโค้ง
ในสนามวันนั้นบ่อยที่สุด ด้วยเหตุที่ยางติดรถเป็นยางหน้ากว้าง แก้มเตี้ย และ
เป็นยางแนวสปอร์ต เมื่อเจอพื้นผิวแทร็คเปียกชื้นในอุณหภูมิราวๆ 3-4 องศา
เซลเซียส แล้ว แทบไม่ต้องคิดมากเลยครับ ผมสนุกกับการปล่อยให้รถไถล
หน้าดื้อๆ นิดๆหน่อยๆ พอสมควร พวงมาลัยยังคงเป็นแบบ Volvo ปี 2000
ถึง 2014 คือ มีน้ำหนักค่อนข้างดี ไม่คมมาก แต่ไม่เนือยมาก อัตราเร่งสไตล์
ขุมพลัง Diesel Turbo ของ Volvo คือ รอติดบูสต์นิดๆ ที่เหลือ เรี่ยวแรงก็จะ
พร้อมพาคุณพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจนถึงช่วงปลายๆ
Volvo S90 T6 AWD 320 แรงม้า (HP) : เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองขับ S90
รุ่นใหม่เสียที หลังจากที่เราได้เห็นตัวจริงกันตั้งแต่ตอนเดินทางไปเซี่ยงไฮ้กับ
Volvo เมื่อปลายปีที่แล้ว แผงหน้าปัด ดูเหมือนเอาใจผู้ใหญ่ แต่งานออกแบบ
กลับดูอบอุ่นลึกล้ำอย่างน่าแปลก อัตราเร่ง แน่นอนว่า แรงสุดในรุ่นเครื่อยนต์
เบนซินธรรมดาล้วนๆ (เพราะถ้าต้องการแรงกว่านี้ ต้องขยับขึ้นไปเล่นรุ่น T8
Plug-in Hybrid) แต่แค่นี้ก็เหลือเฟือในการใช้งานแล้ว เรียกอัตราเร่งได้แรง
ทันใจ การบังคับเลี้ยว ทำได้คล่องแคล่วกำลังดี คือพวงมาลัยเบา แต่ไม่ถึงกับ
ไว หรือเนือยจนเกินไป Feeling พวงมาลัยอยู่ตรงกลางระหว่าง พวงมาลัยของ
S80 3.2 ลิตร รุ่นแรกสุด 2008 กับ S80 D4 รุ่นปี 2013 ที่เราเคยลองขับมา ซึ่ง
นั่นแปลว่า พวงมาลัยของ S90 และ V90 ใหม่ จะเบากว่า S80 รุ่นสดท้ายก่อน
เปลี่ยนโฉม นิดหน่อย ส่วนแป้นเบรกจะตอบสนองได้ Linear กำลังดี หนักแน่น
ใช้ได้ มั่นใจได้ดี หน่วงความเร็วได้อย่างไม่เคอะเขิน
Volvo V90 T5 (254 แรงม้า HP) และ Volvo V90 D5 AWD (245 แรงม้า HP) :
พอเปลี่ยนมาเป็นตัวถัง Estate กลับพบความแตกต่างของเครื่องยนต์อยู่บ้าง แม้
แรงม้าจะใกล้เคียงกัน แต่แน่นอนว่าขุมพลัง T5 ใช้เวลาไต่ความเร็วช่วงเร่งแซง
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไวกว่า D5 (ซึ่งต้องเจอระบบขับเคลื่อน 4 ล้อพ่วง
เข้ามาด้วย) ชัดเจน การตอบสนองด้านพวงมาลัย ช่วงล่าง และเบรกไม่ถึงกับ
แตกต่างไปจาก S90 มากมายนัก
Volvo V90 Cross Country D5 : สัมผัสได้ว่า ตัวรถจะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น
ล้อและยางที่ใหญ่ขึ้น ทำให้การบังคับพวงมาลัยหนืดขึ้นกว่า S90 และ V90
นิดนึง อีกทั้งยังมีช่วงล่างที่ สูงขึ้น 60 มิลลิเมตร และนุ่มนวลขึ้นอีกนิดนึง แต่
พละกำลังนั้น เหมือนกันกับ V90 D5 นั่นคือ มีเรี่ยวแรงให้เรียกใช้ในช่วงกลาง
แต่ชัดเจนเลยว่า หลังจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ไต่ความเร็วขึ้นได้ช้า
กว่าเพื่อนพ้องที่ใช้ขุมพลังเบนซิน ชัดเจน
——————————————–
การเดินทางมาเยี่ยมชมกิจการ ของ Volvo Cars ถึงถิ่นกำเนิดในเมืองท่า
Gothenberg ประเทศสวีเดน ครั้งนี้ ผมค้นพบความจริงข้อหนึ่งที่สำคัญว่า
สิ่งที่ทำให้ Volvo Cars ยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ
“การยืนหยัดกับแนวทางของตนเองโดยไม่หวั่นไหว แต่ยังมีใจคิดถึงส่วนรวม”
ความปลอดภัย ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ Volvo ยึดหลักมาตลอดนับจากวันแรกที่
กุสตาฟ ลาร์สัน และ แอสซา การ์เบรียลสัน 2 ผู้ก่อตั้ง Volvo ได้กล่าวไว้ในปี
1927 หลายประดิษฐกรรมของ Volvo อย่าง เข็มขัดนิรภัย , เบาะนิรภัยสำหรับ
เด็ก อุปกรณ์ Lambda Sond และอีกมากมายหลายสิ่งอย่าง ถูกคิดค้นขึ้น และ
กระจายตัวไปสู่รถยนต์แทบทุกยี่ห้อ ด้วยแนวคิดที่ง่ายดายคือ
“คุณควรจะเดินทางด้วยความปลอดภัย ไม่ว่าคุณจะขับ Volvo หรือไม่ก็ตาม”
เฮ้ยยยยยย มันจะมีบริษัทรถยนต์ยี่ห้อไหนในโลก คิดอะไรดีๆแบบนี้อีกไหมเนี่ย ???
แม้ Volvo จะเผชิญอุปสรรคมามากมายนับครั้งไม่ถ้วน แต่ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า
การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของ Geely กลับยิ่งทำให้ Volvo แข็งแกร่งและยืนหยัดอยู่
ได้ท่ามกลางกระแสการแข่งขันอันรุนแรงของตลาดรถยนต์ทั่วโลกมากยิ่งกว่าเมื่อ
ครั้งที่พวกเขาเคยอยู่ใต้ร่มไม้ชายคาของ Ford เสียอีก!
ชาวสวีเดน ที่ทำงานกับ Volvo ที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยด้วย บางคน ต่างพูดตรงกัน
ว่า วันนี้ การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของ Geely ผู้ผลิตรถยนต์จากเมืองจีน กลับยิ่งทำให้
Volvo แข็งแกร่ง ได้รับคุณประโยชน์มากมาย และยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางกระแส
การแข่งขันอันรุนแรงของตลาดรถยนต์ทั่วโลก มากยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่พวกเขาเคยอยู่
ใต้ร่มไม้ชายคาของ Ford Motor Company เสียอีก!
เพราะการมาถึงของ Geely นั้น มีโมเดลธุรกิจ คล้ายคลึงกับสิ่งที่ ราทัน ทาทา แห่ง
Tata Industrial Group ทำ เมื่อเขาตกลงใจซื้อ Jaguar กับ Land Rover ไปเป็น
ของตน คือ ปล่อยให้บริษัทเหล่านั้น ดูแลการทำตลาด และการวางแผนระยะยาวไป
ตามเดิม แต่อาจจะดูแลในด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อประโยชน์
ร่วมกัน และการลงทุนเพื่อหวังผลกำไร ในรูปแบบที่ไม่ทำให้รากเหง้าดั้งเดิมของ
บริษัทที่ตนซื้อมา ต้องถูกทำให้เปลี่ยนไปในทางไม่ดี
Volvo ในวันนี้ กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความท้าทายต่ออนาคต การเตรียม
กระหน่ำเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องนับจากนี้ไปอีก 5 ปี คือสิ่งที่น่าจับตามอง
อย่างมาก เพราะ XC90 ใหม่ S90 , V90 และ V90 Cross Country เป็น 4 รุ่นแรก
จากพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรม SPA ที่เปิดตัวออกมาแล้ว และได้รับการต้อนรับอย่าง
ดีเกินคาด
คิวต่อไป คือ XC60 ที่กำลังจะเผยโฉมใน Geneva Motor Show วันที่ 7 มีนาคม 2017
จะเป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เราจะได้รู้กันว่า Volvo จะเปลี่ยนโฉมให้กับรถยนต์ที่ขาย
ดีที่สุดของตนในรอบหลายปีมานี้ ได้อย่างไร
ต้องคอยติดตามชมกันต่อไป!
—————————-///—————————–
Special Thanks to:
Anette Anderson
Managing Director
& Ms.Nuttha Jitrakom
Public Relation
Volvo Cars (Thailand) Co.,ltd.
***** Tourist Information *****
ถ้าต้องการเดินทางไปเยี่ยมชม สำนักงานใหญ่ Volvo Cars และเข้าชม
โรงงาน รวมทั้งศูนย์ Visitor Centre คุณสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียด
เบื้องต้นได้ที่ www.volvocars.com/Visitor และติดต่อสอบถามข้อมูล
หรือจองรายการทัวร์ ได้ทางโทรศัพท์ Tel. +46 (0)31 325 1093 หรือ
ทาง E-Mail : [email protected] ขอย้ำว่า ต้องลงทะเบียนจอง
โปรแกรม ล่วงหน้า ค่าใช้จ่าย “ฟรี”
Coming up Next…
– Volvo Museum Tour
– Volvo V90 Cross Country Testdrive บนลานน้ำแข็ง!
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพถ่าย โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาด Illustrator และ Video Clip ทั้งหมด
เป็นของ Volvo Cars Corporation
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
1 มีนาคม 2017
Copyright (c) 2017 Text & Photo by : J!MMY
Copyright (c) Illustration & Video Clip By :
Volvo Cars Corporation
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March, 1st,2017
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!