เป็นประจำของทุกปี ที่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ยันไปถึงปลายเดือนมีนาคม เป็นช่วง
เวลาที่ประเทศไทยจะมีงานแสดงรถยนต์สำคัญ 1 ใน 2 รายการหลักประจำปี อย่าง
The International Banhkok Motor Show ผู้ผลิตทุกราย ต่างพยายาม แย่งชิง
พื้นที่การนำเสนอข่าว บนสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร ไม่เว้น
แม้แต่ ฝั่งโลก On-Line และ Social Media

เป็นประจำที่ในช่วงนี้ของทุกปี สื่อมวลชนสายรถยนต์ ของบ้านเรา จะเจอกับตาราง
นัดหมายงานเปิดตัวรถยนต์ ไปจนถึง ทริปทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ในต่างจังหวัด
และอีกสารพัดกิจธุระมากมาย เข้ามาประดังประเดกันสารพัดจะวุ่นวายไม่หยุดหย่อน

ตามปกติแล้ว ช่วงนี้ของปี ผมเองก็มีงานชุกชุมมาก จนยากจะปลีกตัว แต่แล้วจู่ๆ ช่วง
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทาง General Motors (Thailand) ก็ส่งเทียบเชิญสำคัญ
ที่ผมคิดว่า ควรจะยอมทิ้งงานทิ้งการในบ้านเรา หลบไปชมวิวทิวทัศน์ของดินแดน
Down-Under กันอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งไปเยือนมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015

เพียงแต่ว่า คราวนี้ พวกเขาจะพาเรา สื่อมวลชน 4 คน และ PR ของ GM Thailand
อีก 1 คน เปิดประสบการณ์ใหม่ เดินเข้าไปดูศูนย์ออกแบบรถยนต์ของ Holden
แบรนด์ใหญ่สำหรับตลาด Australia และ New Zealand ของ GM ไกลถึงเมือง
Melbourne เลยทีเดียว

ทำไมต้องมาดูงานกันไกล ถึง Melbourne?
ทำไมต้องมาดู Studio ออกแบบ ของ Holden?
Holden เกี่ยวอะไรกับเมืองไทย?
GM Thailand อยากให้เราได้เห็นอะไร?

_45A2075

อธิบายกันสักหน่อย….ดีกว่า….

เหตุผลที่เราต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในครั้งนี้ นั่นเพราะทาง GM Thailand
ได้รับการเทียบเชิญเป็นกรณีพิเศษ จาก GM-Holden Design Center Australia
เชิญกลุ่มสื่อมวลชนจากประเทศไทย ให้มาร่วมดูเวอร์ชันต้นแบบของรถกระบะ
Colorado Minorchange และ Trailblazer Minorchange นั่นเอง

ทีม PR ของ Holden เขาตั้งใจเชิญสื่อมวชนจากฝั่งออสเตรเลียราวๆ 10 คน มาดู
รถยนต์ทั้ง 2 คันนี้อยู่แล้ว พวกเขาเลยเกิดความคิดว่า เออ เราน่าจะให้สื่อมวลชน
จากเมืองไทย ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น ส่งมาขายที่นี่ ได้ยลโฉมไปด้วยกัน
เลยดีกว่า!

พวกเขาส่งเทียบเชิญมาค่อนข้างกระทันหันพอสมควร เล่นเอา GM Thailand
กับทีม PR ของ Weber Shandwick ถึงกับหัวปั่นเลยละว่า “กรูจะทำ VISA เข้า
ออสเตรเลีย กันทันไหมเนี่ยยยยย Holden เขาจะรู้ไหมว้าาา ว่า VISA ประเทศ
พวกยูนะ ไม่ได้ขอกันง่ายๆนะเฟ้ย! มันต้องใช้เวลา 15 วันทำการเชียวนะ”

ในที่สุด จะด้วยวิธีการใดก็ตามแต่ซึ่งผมก็ไม่รู้ พวกเราได้ VISA ครบทุกคน ทัน
เวลา Deadline แบบเฉียดฉิว ก่อนขึ้นเครื่องบินกันแค่วันเดียว

เครื่องบิน 777-300 ER เที่ยวบินที่ TG 461 ของสายการบินไทย มาถึงสนามบิน
Melbourne เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2016 ประมาณ 20.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น
(เร็วกว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง)

หลังผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เราเดินทางจากสนามบิน ไปพักที่โรงแรมชื่อ
Crowne Plaza Melbourne ริมแม่น้ำ Yaira ใจกลางเมือง Melbourne ซึ่งต้องบอก
กันไว้เลยว่า ถิ่นคุ้นเคย เนื่องจากว่า ใกล้กับโรงแรม Westin ซึ่งผมเคยมาพักใน
การเดินทางมายังเมืองนี้ เมื่อครั้งที่แล้ว นั่นเอง

ร้านรวงเริ่มทะยอยปิดตัวลง เราก็คงต้องอาบน้ำและเตรียมตัวเข้านอนเร็วๆ เพื่อ
พักผ่อนเอาแรง สำหรับวันรุ่งขึ้น

2016_02_18_Holden_Design_Center_01

18 กุมภาพันธ์ 2016
9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น
15 องศา เซลเซียส

คุณ Emily และคุณ  Deanna 2 สาว จากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของ GM-Holden Pty.
มารับคณะของเรา ทั้ง 5 คน โดยเราจะเดินทางด้วย Holden Captiva หรือ Chevrolet
Captiva ซึ่งเป็นเวอร์ชันสำหรับจำหน่ายในออสเตรเลีย รวม 2 คัน ใช้เวลา 15 นาที
มุ่งหน้าไปยัง สำนักงานใหญ่ของ GM-Holden

จากโรงแรม ลัดเลาะมาตามถนนสายรอง บริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แค่ช่วงสั้นๆ
เราก็เดินทางมาถึง อาคารแบบ 4 ชั้น ขนาดใหญ่ อันเป็นที่ตั้งของ General Motors –
Holden ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 191 Port Melbourne

ด้านหน้าทางเข้าอาคาร ชั้นล่าง เป็นพื้นที่ของร้านขายของที่ระลึกทั้งจาก Holden เอง
จากทีมแข่งรถยนต์ ทั้งทีมโรงงาน และทีม Redbull Holden อีกทั้งเป็นพื้นที่จัดแสดง
รถยนต์ต้นแบบ เกือบทุกรุ่น ที่ Holden สร้างขึ้นนับจากอดีต จนถึงปัจจุบัน

ยังไม่ขอสาธยายรายละเอียดของรถยนต์ต้นแบบทั้งหลายเหล่านี้ เพราะข้อมูลทั้งหมด
รอให้อ่านถัดลงไปข้างล่าง ครับ

17997-960 17997-944

ก่อนเข้าสำนักงานใหญ่ของพวกเขา ก็ต้องติดต่อกับ เจ้าหน้าที่ รปภ. เพื่อติดสติกเกอร์
ทับเลนส์กล้องของโทรศัพท์มือถือ ทุกคน อันเป็นนโยบายปฏิบัติปกติ ขององค์กรใหญ่
เพื่อป้องกันความลับรั่วไหล

เราถูกเชิญขึ้นไปยัง ห้องประชุมทรงกลม ชั้น 2 เหนือร้านขายของที่ระลึก เพื่อพบปะ
กับทีมนักออกแบบของ GM Holden ที่มารอต้อนรับพวกเรา รวมทั้งสื่อมวลชนจากใน
ประเทศออสเตรเลีย อีก 10 คน

ทาง Holden เตรียม ล่ามผู้แปลภาษาไทยไว้ ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียนแท้ๆ แต่เคยมา
พำนักอยู่ในเมืองไทย เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว จนมีภรรยาเป็นคนไทย ลุงเค้าเก่งนะครับ
เคยปีนขึ้นภูกระดึงมาแล้ว! (ลุงบอกว่า..ถ้ารู้ว่าเหนื่อยขนาดนั้น คงไม่ปีนหรอก แต่
พอปีนไปถึงยอดภูแล้ว มันคุ้มค่ามากๆที่ได้เห็น)

หลังจากที่ Mr. Richard Ferlazzo ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ของ GM Australia Design
กล่าวต้อนรับ เรียบร้อยแล้ว เขาก็พาพวกเรา เดินมายังอุโมงค์ชั้น 2 อันเป็นทางเชื่อม
ระหว่าง สำนักงานใหญ่ กับ ที่ทำงานของเขา…ศูนย์ออกแบบของ Holden

เดินขึ้น – ลง บันไดนิดหน่อย ก็เจอ กองรถยนต์ต้นแบบในอดีตกาล หลายๆคันที่เรา
เคยเห็นในหน้านิตยสารรถยนต์ฝั่งออสเตรเลีย จอดเรียงรายกันเป็นทิวแถว เท่าที่
ทราบมา แต่ละคัน ยังอยู่ในสภาพดี พร้อมโชว์ รวมทั้ง Chevrolet Adra รถยนต์
ต้นแบบที่ ทาง GM India อยากทำ และทาง GM Australia เสนอรับสร้างตัวรถ
ต้นแบบให้อยู่ในสภาพพร้อมจัดแสดงได้

ลุง Ferlazzo พาพวกเรา เข้ามายัง ห้องประชุม พร้อมจอขนาดยักษ์ ที่ฉายภาพรถยนต์
Present บนจอได้เต็มทั้งคัน พร้อมระบบสื่อสาร Teleconference สำหรับการประชุม
ทางไกล ข้ามทวีป เพื่อเริ่มบรรยายเรื่องราวของ Holden ในอดีตรวมทั้งรายละเอียด
ของรถยนต์ที่เราจะได้ดูกันในวันนี้

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักศูนย์ออกแบบแห่งนี้กันสักหน่อยดีกว่า ว่าสำคัญกับ GM
มากขนาดไหน ถึงได้รับความไว้วางใจให้รับงานออกแบบรถยนต์สารพัดแบรนด์ใน
เครือ แทบทุกยี่ห้อกันเช่นนี้

2016_02_18_Holden_Design_Center_03

GM Australia Design หรือ Holden Design Centre ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน
กับสำนักงานใหญ่ของ Holden ที่ Port Melbourne รัฐ Victoria ประเทศออสเตรเลีย
ก่อตั้งมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ปัจจุบันมีผู้อำนวยการคือ Mr. Richard Ferlazzo

ในปัจจุบัน ศูนย์ออกแบบแห่งนี้ เป็น 1 ใน 10 Design Studio ที่ GM เป็นเจ้าของอยู่
และทำงานร่วมกับ Studio อื่นๆเพื่อออกแบบรถรุ่นใหม่ๆให้กับ GM ทั่วโลก รถยนต์
อย่าง Chevrolet Camaro โฉม Bumble Bee (2003) และ Chevrolet Cruze ตัวถัง
Hatchback 5 ประตู ที่ไม่มีจำหน่ายในบ้านเรานั้นก็เป็นผลงาน ของทางออสเตรเลีย

Holden Design Centre ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1964 โดยรถรุ่นแรกที่พวกเขาออกแบบคือ
รถขนาดกลางรุ่น Holden HR ซึ่งเปิดตัวในปี 1966 และจากนั้นเป็นต้นมา รถยนต์ของ
Holden ทุกรุ่นที่วิจัยและพัฒนาขึ้นโดยออสเตรเลีย จะเป็นผลงานจากศูนย์ออกแบบ
แห่งนี้ แน่นอนว่านั่นก็รวมถึงรถอย่าง Holden Commodore และรถในอนุกรมใกล้เคียง
อย่างเช่น Calais, Statesman และ Caprice ซึ่งเป็นรถยอดนิยมเปรียบได้กับ Corolla
ในแบบตัวโตๆ เครื่องยนต์ใหญ่บ้านบึ้ม ขับเคลื่อนล้อหลังสไตล์ออสซี่ เป็นเอกลักษณ์
อย่างหนึ่งของประเทศนี้เลยก็ว่าได้

ในช่วงรุ่งเรืองที่สุด คือยุคปี 2003-2004 ขณะกำลังทำโครงการพัฒนารถเก๋ง Holden
Commodore VE อยู่นั้น พวกเขามีนักออกแบบทำงานอยู่ถึง 250 คน แต่หลังจากการ
เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย Chapter 11 ของ GM ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ต้องมีการจัด
องค์กรใหม่เพื่อตัดค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆจนเหลือพนักงานแค่ 140 คน ในปี 2014

ในปี 2014 แม้ว่า GM-Holden จะประกาศยุติการผลิตรถยนต์ในออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี
2017 เป็นต้นไป Marry Barra CEO หญิงคนใหม่ของ GM ก็บอกว่า Holden Design
Centre จะยังอยู่ต่อไปเพื่อช่วย GM ภูมิภาคอื่นในด้านการออกแบบ

แม้จะอยู่ห่างไกลจากบริษัทแม่ที่ Detroit ในอเมริกามาก แต่ผู้บริหารของ GM ตกลงใจที่จะ
ต่อลมหายใจให้กับศูนย์ออกแบบแห่งนี้ เพราะทีมออกแบบของที่นี่หลายคนเป็นระดับหัวกะทิ
ที่สามารถคิดรูปลักษณ์รถได้ 108 อย่าง ปรับตัวเก่งและเข้าใจหาแนวทางการออกแบบใหม่ๆ
อยู่เสมอ GM มีสตูดิโอออกแบบอยู่ 10 แห่งในโลก และมีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่เก่งกาจชนิด
สามารถเริ่มออกแบบจากกระดาษ เอาเข้าคอมพิวเตอร์ และสร้างออกมาเป็นรถต้นแบบคันจริง
ได้เลย ก็คือ GM Design ที่ Detroit และ GM Australia Design ที่ออสเตรเลียนี่เท่านั้น!
อย่างรถต้นแบบ Camaro ที่โชว์ตัวในอเมริกาเหนือปี 2006 นั่นก็คือฝีมือการออกแบบและ
การสร้างของทีมงานออสเตรเลียนี่ล่ะครับ

***** ตัวอย่างผลงานรถยนต์ที่ถูกออกแบบโดย GM Australia Design *****

Holden Hurricane (1969)
รถต้นแบบรุ่นแรกของบริษัท Holden โค้ด RD001 เครื่องวางกลางลำทรงเฉี่ยว ใช้
เครื่องยนต์ V8 4.2 ลิตร 259 แรงม้า บอดี้ของรถ เตี้ยแบบพร้อมมุดสิบล้อเพียงแค่
990 มิลลิเมตรเท่านั้น

จุดเด่นของรถคันนี้ นอกจากจะอยู่ที่รูปทรงเตี้ยและแบน เพื่อแสดงออกถึงแนวคิด
ของการเดินทางในอนาคต จากจินตนาการของนักออกแบบในยุค 1970 แล้ว การ
เข้าออกรถคันนี้ก็ล้ำยุคมากสำหรับปี 1969 โดยเมื่อเปิดประตู หลังคา Canopy ซึ่ง
เชื่อมติดกับกระจกหน้าต่างด้านข้าง และกระจกบังลมหน้าเป็นชิ้นเดียวกันจะเลื่อน
ออกมาด้านหน้าทั้งชุดด้วยระบบไฮดรอลิก และเบาะนั่งก็จะเลื่อนขึ้นมาด้วย แม้แต่
คนของ Holden เอง ยังแอบต้องระมัดระวัง เพราะหลังคาอาจปิดลงมาโขกหัวได้
ง่ายๆ พวกเขาสร้างรถต้นแบบคันนี้ ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากผ่านไปเกือบ 50 ปี

Holden Torana GTR-X Concept, 1970

Holden Torana GTR-X (1970)
ออกแบบโดยใช้เส้นสายลิ่มคมแบบ Wedge-shape ซึ่งใกล้เคียงกับรถสปอร์ตฝั่ง
ญี่ปุ่น และรถยนต์จากอิตาลีฝีมือ Marcello Gandini ในสมัยนั้น ที่จริง Holden
มีรถเก๋งขนาดกลางรุ่น Torana ขายอยู่ตั้งแต่กลางยุค 60s แล้ว (Torana เป็น
ภาษาอะบอริจิ้น แปลว่า “บิน”) GTR-X เป็นรุ่นพิเศษที่ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง
3.0 ลิตร หรือ V8 4.2 ลิตร ดิสก์เบรก 4 ล้อ Holden ตั้งใจจะทำขายจริง แต่ต้อง
ล้มโครงการไปเพราะต้นทุนการผลิตรถแต่ละคันนั้นสูงลิบลิ่ว

1968_2001_Holden_Monaro

Holden Coupe Concept (1998) / Monaro (1968 – 2008)
รถสปอร์ตสายพันธ์ออสเตรเลียนแท้ๆ แบบแรกของพวกเขา ออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี
1968 ก่อนจะกลืนหายไปตามสถานการณ์ตลาดรถยนต์ทั่วโลก ในป 1979 ทว่า
Holden คิดอยากจะทำเวอร์ชัน Coupe ในชื่อ Monaro มาโดยตลอด

หลังจากซุ่มพัฒนารถยนต์ต้นแบบ Coupe Concept เพื่ออวดโฉมในงาน Sydney
Motor Show ในปี 1998 เพียง 3 ปีต่อมา เส้นสายทุกอย่างของรถคันนี้ก็กลายมา
เป็น Holden Monaro (เวอร์ชั่นคูเป้ของ Holden Commodore นั่นเอง)

Coupe Concept ใช้ดีไซน์เส้นโค้งเป็นหลัก พื้นที่กระจกกว้าง ทัศนวิสัยดี แต่มี
ความอ่อนช้อยสวยงามเหมาะกับสหัสวรรษใหม่ เพราะดีไซน์ของ Holden ใน
ช่วงทศวรรษก่อนหน้าจะค่อนข้างเป็นเหลี่ยมเป็นคม หรือเป็นทรงเหลี่ยม แต่ขัด
มุมรถให้โค้งเช่น Commodore ตัวถัง VB ถึง VS ส่วนเส้นโค้งแบบนี้ จะเริ่มใช้
กับ Commodore ตัวถัง VT เป็นต้นมา

รายละเอียดและประวัติของ Holden Monaro History สามารถอ่านต่อได้โดย
“คลิกที่นี่”

2001_2008_Chevrolet_Cruze_YGM1_By_Suzuki

Chevrolet YGM1 (1999)
YGM อาจจะไม่ได้หมายถึง Why GM? แต่มันก็คือรถ SUV ขนาดเล็ก และยังนับว่าเป็นผลงาน
ชิ้นแรกของ GM Australia Design ที่ส่งไปโชว์ในระดับโลก โดยคาดโลโก้เป็น Chevrolet
แม้งานออกแบบจะเป็นฝีมือของออสเตรเลีย แต่ลึกลงไปใต้เปลือกนอกรถนั้นงานวิศวกรรม
ทั้งหมดเป็นฝีมือของ Suzuki โดยในช่วงปี 2001-2008 มีการผลิตรถรุ่นนี้จำหน่ายในชื่อ
Suzuki Ignis และ Chevrolet Cruze (ชื่อเหมือนกับขวัญใจรถยกบ้านเรา แต่คนละบอดี้กัน)

Holden Utester Concept

Holden Utester (2001)
Utester (ยูท-สเตอร์) ใช้พื้นฐานของรถมาจาก Holden Commodore Ute ตัวถัง VU
แต่ดัดแปลงส่วนหลังคากระจกที่สามารถถอดออกได้ และกระจกบานหลังที่สามารถ
เปิดออกได้

holdenconcept 02sydney

Holden SSX (2002)
รถต้นแบบที่ดัดแปลงมาจาก Holden Commodore ตัวถัง VY แม้ส่วนหน้า
จะดูคล้ายกัน แต่ SSX มีประตูท้ายแบบแฮทช์แบ็ค 2 ชิ้น เปิดแยกชิ้นบนและ
ล่าง คล้ายกับ Honda Civic EG 3 ประตู รถรุ่นนี้ใช้เครื่องยนต์ V8 Gen III
5.7 ลิตร 302 แรงม้า (HP) ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบเดียวกับใน
Holden Crewman กับ HSV Coupe 4 น่าเสียดายที่ไม่ถูกนำมาผลิตขายจริง

Holden SST Stepside Custom Pickup Concept

Holden SST Stepside Custom (2004)
ใช้พื้นฐานของรถจาก Holden One-Tonner ใช้เครื่องยนต์ Gen III V8 5.7 ลิตร
302 แรงม้า (HP) สร้างออกมาเพื่อโชว์ให้เห็นว่ารถกระบะพื้นฐานเก๋งของ Holden
นั้นสามารถดัดแปลงให้มีความเอนกประสงค์และดูซิ่งไปพร้อมกัน กลุ่มเป้าหมาย
ของดีไซน์นี้คือพวกนักแต่งรถ และผู้ที่ชื่นชอบความเร็ว บวกกับเอกลักษณ์ของ
Custom Pick-ups ที่ได้รับความนิยมในช่วงยุคทศวรรษ 1950

2004 Holden Torana TT36 Hatch Concept

Holden Torana TT36 (2004)
ถูกพัฒนาให้เป็นรถยนต์แบบ Family Size Hatchback 5 ประตู ที่ใช้ดีไซน์และ
พื้นฐานวิศวกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง วางเครื่องยนต์ V8 จากออสเตรเลีย
บวกกับโครงสร้างที่ร่วมพัฒนาโดย GM Global ได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจาก
Torana A9X รถยนต์นั่งที่โด่งดังจากมอเตอร์สปอร์ตในออสเตรเลียมาก่อน

แต่แท้จริงแล้ว TT36 เป็นร่างจำแลงที่เอาดีไซน์ของ Commodore ตัวถัง VE
มาปรับปรุงเป็นรถยนต์ต้นแบบเพื่อวัดปฏิกิริยาที่ผู้คนมีต่อหน้าตาของรถ ก่อนที่
Commodore VE จะเปิดตัว แต่สุดท้าย Holden ก็ตัดสินใจไม่ทำ Torana รุ่นนี้
ออกขาย ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งด้านความซ้ำซ้อนกับรุ่นพี่ Commodores
ขนาดตัวถังที่ไม่สามารถหั่นให้เล็กลงไปกว่านี้ได้ และที่สำคัญสุดคือ ต้นทุนการ
ผลิตที่สูงลิบลี่ว จนอาจไม่คุ้มค่าต่อยอดขายที่จะตามมา

2005 EFIJY concept

Holden Efijy (2005)
รถต้นแบบย้อนยุคทรงกระชากใจที่เอาแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก
Holden FJ ปี 1953 (ซึ่งนับเป็นรถยนต์ออสเตรเลียพันธุ์รุ่นที่ 2 ของ Holden)
มารวมกับความทันสมัยแบบรถรุ่นใหม่

เห็นหน้าตาแบบนี้ ไส้ในของรถรวมถึงโครงสร้าง เป็นของ Chevrolet Corvette
ซึ่งนั่นก็แปลว่ามันวางเครื่องยนต์ V8 6.0 ลิตร Supercharge 644 แรงม้า (HP)
คนที่ออกแบบรถคันนี้คือ Richard Ferlazzo ซึ่งก็เป็นผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบ
แห่งนี้ คนปัจจุบัน นั่นเอง

ว่ากันว่ามีชี้คอาหรับพยายามติดต่อ Ferlazzo เพื่อขอซื้อรถคันนี้ในราคาสูงลิบลี่ว
ถึง 20 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย แต่เขาบอกแค่ว่า “ไม่ได้เอาไว้ขายครับท่าน” แต่
มันก็ทำให้เขาได้ไอเดียใหม่ในการสร้างรถที่สามารถทำกำไรได้ในอนาคต “ต้นทุน
ของ Efijy ต่อคันจริงๆอยู่ที่ราว 1,200,000 ดอลลาร์แค่นั้น” Ferlazzo บอก

Holden Coupe 60

Holden Coupe 60 (2008)
รถคูเป้ที่สร้างบนพื้นฐานของ Commodore VE เพื่อฉลองครบรอบ 60 ปีตั้งแต่
Holden เริ่มประกอบรถยนต์รุ่นแรก 48-215 ที่โรงงาน Fisherman Bends ใน
Port Melbourne ใช้เครื่องยนต์ LS2 บล็อก V8 6.0 ลิตร จาก Chevrolet พร้อม
ระบบ Active Fuel Management  ให้พลัง 369 แรงม้า

น่าเสียดายอีกเช่นกันที่มันไม่ได้ถูกนำมาผลิตจริง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น
ทาง GM กำลังช่วยกันพัฒนา Camaro อยู่ และ Coupe 60 ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะ
ไม่สามารถทำยอดขายได้มากเท่า Camaro มันคือความคุ้มในเชิงธุรกิจ แค่นั้น

Colorado

Chevrolet/Holden Colorado (2011)
ใช่แล้วครับ รถกระบะ Colorado ที่ขายอยู่ในบ้านเรา ก็เป็นฝีมือการออกแบบ
ของ GM Australia Design นั่นเอง ร่วมงานกับ Studio ของ GM do Brazil
เวอร์ชั่น Concept เผยโฉมก่อน เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ที่ประเทศไทย กลาง
ลำน้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นช่วงปลายปี 2011 จึงเริ่มผลิตและขายในบ้านเรา
เป็นแห่งแรกในโลก ก่อนที่จะไปถึงตลาดออสเตรเลียในช่วงปี 2012

การออกแบบของ Colorado รุ่นปัจจุบันเน้นรูปทรงที่ดูสปอร์ต มีมัดกล้าม แบบ
นักกีฬาแต่ไม่เทอะทะแบบรถปิคอัพสไตล์อเมริกันแท้ๆ

2015 Chevrolet Bolt EV Concept all electric vehicle – front ex

Chevrolet Bolt EV (2015)
สำหรับรถคันนี้ทาง GM Australia Design ร่วมมือกันกับทาง GM Korea และ
GM North America แต่เมื่อถึงคราวสร้างรถต้นแบบคันจริง ทางออสเตรเลียก็
ได้รับความไว้ใจให้เป็นผู้สร้างรถทั้งคัน Bolt EV เป็นรถยนต์ครอสโอเวอร์ที่นำ
Design ฝีมือออสเตรเลียมาบวกกับความรู้เชิงวิศวกรรม รถพลังไฟฟ้าของ GM
ภายใต้แบรนด์ Chevrolet ที่เตรียมจะผลิตออกขายจริงในเร็วๆนี้

Buick Avenir-01

Buick Avenir (2015)
Avenir เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “อนาคต” ดังนั้นการออกแบบรถรุ่นนี้จึงทำมา
เพื่อทดสอบ ปฏิกิริยาของลูกค้าที่มีต่อรูปทรงของรถยนต์ตามแนวทางที่ Buick
ต้องการจะเดินต่อไปในอนาคต แต่กระนั้น ทีมออกแบบก็ยังเอาอิทธิพลเส้นสาย
ส่วนหนึ่งมาจาก Buick Reviera ปี 1971 มันได้รับรางวัล Eyes on Design Award
จากงาน North American International Auto show 2015 คว้าที่หนึ่งตำแหน่ง
รถยนต์ต้นแบบยอดเยี่ยมไปครอง

ว่ากันว่า เส้นสายของรถคันนี้ อาจไปปรากฎอยู่บนตัวถังของ Commodores รุ่น
ต่อไป ที่จะถูกผลิตขึ้น นอก ออสเตรเลีย ก่อนจะนำเข้าไปขายในดินแดนดาวน์-
อันเดอร์ หลังการผลิตรถยนต์รุ่นปัจจุบันจะยกเลิกในปี 2017

2016_02_18_Holden_Design_Center_02_EDIT

ภายในศูนย์ออกแบบนั้น ก็จะมีการแบ่งงานออกเป็นฝ่ายต่างๆดังนี้

1. หน่วยออกแบบภายนอกและภายใน – รับหน้าที่ออกแบบรถบนกระดาษหรือในคอมพิวเตอร์ก่อน

2. ฝ่าย Digital sculpting – รับงานจากหน่วยออกแบบมาวางแปลนรูปทรงชิ้นส่วนต่างๆแบบดิจิตอล

3. หน่วย Visualization- ประสานงานกับทีมอื่นแล้วนำงานออกแบบมาสร้างเป็นรูปลักษณ์ที่สามารถ
เห็นบนจอได้ สำหรับการวิจัย หรือนำเสนอต่อผู้บริหาร

4.  ทีม Advance Design – เป็นทีมขนาดเล็ก มีหน้าที่ออกแบบรถสำหรับอนาคตและไม่ได้ยุ่งกับ
รถโมเดลใดๆก็ตามที่จะนำมาผลิตจริง เรียกได้ว่าเน้นความคิดสร้างสรรค์หลุดโลกไปเลยก็ว่าได้

5. Clay modelling – หลังจากเสร็จขั้นตอน Visualization แล้วผ่านการอนุมัติ ก็จะนำงานออกแบบ
ดังกล่าวมาให้ทีม Clay modelling จัดการปั้นเป็นอัตราส่วนต่างๆ ในขั้นแรกมักทำขนาด 1:3 ก่อน
เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะเอาเป็นงานออกแบบไหนค่อยทำขนาดเท่าคันจริง

6. ฝ่ายการจัดการวัสดุและการตกแต่ง – มีหน้าที่เลือกว่าส่วนใดของรถ จะใช้วัสดุแบบไหน โทนสีแบบใด

7. กองผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพ – ทำงานคล้ายหน่วย Audit ในองค์กรซึ่งจะพยายามจับผิดหาข้อบกพร่อง
ในการออกแบบที่อาจผิดพลาดหรือส่งผลร้ายเมื่อนำไปผลิตจริง และต้องช่วยคิดหาวิธีแก้ไข

8. ทีมสร้างรถต้นแบบ- รับงานต่อจากหน่วยอื่นๆและนำมาสร้างเป็นรถต้นแบบคันจริงสำหรับนำไปโชว์
ในงานมอเตอร์โชว์ต่างๆ

2016_02_18_Holden_Design_Center_JIMMY

จากนั้น ลุง Ferlazzo ก็พาพวกเรา เข้ามายัง Studio หมายเลข 6 เพื่อมาให้สัมผัส
กับวัสดุ เครื่องมือ และชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้ในการทำงานออกแบบรถยนต์ จริงๆ

ตื่นเต้นสิครับ! ปกติ ผมเคยเห็นของพวกนี้ ในเอกสารต่างๆจากบริษัทรถยนต์ พอได้
มาเจอของจริง ก็เลยเข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากขึ้น เช่น….

– คุณต้องมี ตู้อุ่นดินเหนียว ที่ใช้ปั้น Clay Model ตลอดเวลา มิเช่นนั้น มันจะแข็ง
และดัดแปลงขึ้นรูปได้ยาก

– โครงสร้าง ตัวรถที่เห็นนั้น จะขึ้นรูปพื้นฐานด้วย สไตโลโฟม แล้วค่อยเอาดินเหนียว
แปะเข้าไป ดัดแปลงตามชอบ

– ไฟหน้า และไฟท้าย ของรถยนต์ต้นแบบขนาดเท่าของจริง ติดตั้งแกนเหล็กข้างใน
ซึ่งสามารถยืดหดได้ตามความต้องการ!

– แบบจำลองของรถต้นแบบ ขนาด 1:4 จะใช้ล้อสีดำ เป็นฐาน แล้วเอา พลาสติกซึ่ง
ออกแบบเป็นลายล้อ มาแปะเข้าไปเฉยๆ ถอดออกได้ทุกเมื่อ เพื่อลองเปลี่ยนลายล้อ
ให้เข้ากับตัวรถ

ฯลฯ อีกมากมายยยยยยยย

17997-814

แล้วเราก็ได้เวลามาดู ไฮไลต์สำคัญ ลุง Ferlazzo พาเราเดินออกมาจาก Studio
ออกแบบ ลงบันได ออกจากตึก เดินลัดเลาะไปตามลานจอดรถ จนถึง Body Shop
สถานที่สำหรับขึ้นรูปชิ้นส่วน พ่นสี และประกอบรถยนต์ต้นแบบ ครบวงจร

นี่คือบรรยากาศของ Shop ดังกล่าว คุณเห็นแล้วใช่ไหมครับ มีรถอะไรจอดอยู่?
วันที่พวกเราไปเยี่ยมชม Body Shop แห่งนี้ รถทั้ง 2 คัน ก็ยังประกอบไม่เสร็จ
อย่างที่เห็นนั่นละครับ

แต่วันนี้ รถคันจริง ตอนที่ประกอบเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ถูกส่งลงเรือมาถึง
ประเทศไทยแล้ว ดังนั้น เรามาดูหน้าตาของทั้งคู่กันเลยดีกว่า!

Colorado_exterior_2

Chevrolet Colorado Xtreme

ไมค์ ซิมโค รองประธานฝ่ายออกแบบ GM International กล่าวว่า “เราได้แรงบันดาลใจ
ในการพัฒนารถคันนี้จากหลายๆ ที่ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่ง Chevrolet
เป็นผู้นำการออกแบบรถกระบะ เพียงได้เห็นรูปลักษณ์ของ XTreme ก็ทราบได้อย่าง
ชัดเจนว่าตลาดอเมริกาเหนือส่งอิทธิพลต่อสไตล์การออกแบบมาก”

“รถกระบะคันนี้มุ่งตอบสนองโดยตรงต่อความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบการแต่งรถ
ชุดอุปกรณ์ตกแต่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้รถดูหล่อเหลาเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญ
สูงสุดต่อการรองรับการใช้งานจริงและประโยชน์ใช้สอยซึ่งถือเป็นการเสริมศักยภาพ
ของตัวรถได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

Colorado Xtreme มาพร้อมกับสีส้มด้านแบบใหม่ “Furness” เสริมให้ตัวรถเด่นและ
มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจ แตกต่างจาก Trailblazer อย่างชัดเจน
สีส้มใหม่ผสมผสานอย่างอย่างลงตัวกับสีดำ เพิ่มความทะมัดทะแมงด้วยอุปกรณ์การ
ตกแต่งและลวดลายกราฟฟิค รอบคัน

Colorado_interior

ภายในห้องโดยสาร มีการเปลี่ยนแปงสำคัญ นั่นคือ แผงหน้าปัด ถูกออกแบบใหม่
ให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น ตกแต่ง Trip ประดับ ด้วยผ้าสีส้ม ล้อมกรอบช่องแอร์ทั้ง 4 จุด
ด้วย กรอบพลาสติกชุบโครเมียม ชุดมาตรวัดออกแบบใหม่ ให้ดูสวยงามขึ้น อีกทั้ง
การวางตัวเลข ความเร็วของรถ และรอบเครื่องยนต์ เปลี่ยนกลับมาอยู่ในตำแหน่ง
ปกติกันเสียที อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายว่า ช่องวางแก้ว ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับและฝั่ง
ผู้โดยสาร ถูกถอดออกไป

ด้านความบันเทิง จะมีเครื่องเสียงพร้อมหน้าจอ Touchscreen 8 นิ้ว แสดงผลระบบ
My Link รุ่นล่าสุดที่รองรับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ Apply Car Play และ Andriod
Auto เสร็จสรรพ

อุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ใน Colorado Xtream ได้แก่

– สีภายนอกแบบพิเศษ “Furnace”
– Safari Bar ที่ด้านหน้า พร้อมราวไฟ LED และวินช์
– กันชนท้ายแบบ step ทั้งด้านหลังและมุมกันชน พร้อมคานลาก
– คิ้วซุ้มล้อขนาดใหญ่รองรับชุดยาง Offroad
– ยาง Offroad 18 นิ้ว พร้อมตัวล็อกขอบยางพิเศษ
– Hood Scoop บนฝากระโปรงหน้า
– ท่อสน็อกเกิล ระบายไอเสีย สำหรับการขับลุยน้ำ
– Sport Bar ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
– Spoiler พร้อมไฟเบรกดวงที่สามและเสาอากาศในตัว
– แร็คใส่ของบนหลังคาพร้อมราวไฟ LED
– แผ่นรองพื้นกระบะแบบพิเศษ
– ช่องสายรัดปรับระยะได้ และขยายสำหรับการเปิดกระบะท้าย
– แท่นยางอะไหล่ในตัวและตัวยึดเครื่องมือ
– ชุดน็อตยึดร่องแบบพิเศษ
– ฝาถังน้ำมันแบบพิเศษ
– มือจับบนแผงแดชบอร์ด
– มาตรวัดการเอียงและการหมุน
– เบาะที่นั่งหุ้มหนัง/ผ้าแบบพรีเมียม
– พรมปูพื้นดีไซน์แบบเดียวกับวัสดุหุ้มเบาะ
– ช่วงล่างยกสูง
– Roll Bar
– ชุดตกแต่งกราฟฟิก
– อุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน

Trailblazer_exterior

Chevrolet Trailblazer Premier

ขณะที่ Colorado ถูกตกแต่งในสไตล์ ลุยๆ ดุดัน ด้วยสีสันเปรี้ยวปรี๊ด ในทางตรงกันข้าม
Trailblazer Premier จะเผยให้เราได้เห็นว่า ถ้าจะต้องอัพเกรดงานออกแบบดั้งเดิมของ
Trailblazer ที่ดูหรูพอประมาณ ให้หรูและดูร่วมสมัยยิ่งขึ้นไปอีก ผลลัพธ์จะออกมาเป็น
เช่นนี้

ไมค์ ซิมโค กล่าวว่า “รถต้นแบบ show vehicle คันสีฟ้านี้คือผลลัพธ์ของความร่วมมืออย่าง
แท้จริง เพื่อให้แน่ใจว่าเราเข้าใจในความต้องการของแต่ละตลาด ผลวิจัยของ GM ระบุว่า
ลูกค้า โดยเฉพาะในเมืองไทย ชื่นชอบความหรูหราจากการตกแต่งที่ลงลึกในรายละเอียด
ระดับ Premium ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับการยกระดับประสบการณ์ของผู้ขับขี่และ
ผู้โดยสารอย่างแท้จริง เรามีเป้าหมายที่เรียบง่าย คือการยกระดับความประณีตเพื่อให้ตัวรถ
มีความหรูหรามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

Trailblazer Premier แตกต่างจาก Colorado Xtreme ตรงที่การออกแบบและเลือกใช้วัสดุ
และโทนสี ที่อ่อนโยนกว่า แต่ให้สัมผัสที่ดู Premium ทั้งด้วยการใช้โครเมียมสีสว่างและ
ไม้ Australia ซึ่งถูกคัดสรรและผลิตด้วยมือ

Trailblazer_interior

แผงหน้าปัด ถูกออกแบบใหม่ บนพื้นฐานหลักเดียวกันกับ Colorado Xtreme แต่การใช้
เทคนิคและกระบวนการตกแต่ง อย่างการขลิบขอบผ้าแบบพิเศษ และการตัดเย็บตาข่าย
ด้านหลังเบาะที่นั่งผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้วยมือช่วยเพิ่มบรรยากาศ Premium ให้ตัวรถ

สีตัวถังภายนอกเป็นสีฟ้าเฉดเงิน “Velocity” ผสมด้วยสีฟ้าเขม่า (smoky oil blue) ที่มี
ความฉ่ำ เสริมด้วยการเคลือบแล็คเกอร์ ที่มีความมันวาวสูง ทำให้ตัวรถดูลื่นไหลและ
เรียบหรูเมื่อผนวกกับสีโครเมียมโทนสว่างของการตกแต่งภายนอก

เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อยังคงมีความสำคัญ Trailblazer Premier มาพร้อมระบบ
Infotainment พร้อมระบบ MyLink รุ่นล่าสุด ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อได้เต็มรูปแบบ
ด้วยการเข้าถึง Application แอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านการสัมผัสหรือสั่งงานด้วยเสียง

อุปกรณ์ตกแต่งของ Trailblazer Premier ได้แก่

– สีภายนอกแบบพิเศษ “Velocity”
– ล้อและยางขนาด 22 นิ้ว
– Spoiler หลัง
– ชุดกันกระแทกด้านท้าย
– บันไดข้างในตัวพร้อมการตกแต่งด้วยโครเมียมสีสว่าง
– ตกแต่งภายในห้องโดยสารใหม่
– เบาะหนังพรีเมียม สีน้ำตาลกาแฟ ตัดสลับผ้าสีสว่าง พร้อมการตัดเย็บตาข่ายด้วยมือ
– ตกแต่งภายในประตูด้วยวัสดุไม้แซมด้วยโลหะ นำมาซ้อนๆกัน
– แผงแดชบอร์ดสีทูโทนที่ได้รับการตัดเย็บอย่างพิถีพิถัน
– เสริมวัสดุโครเมียม
– พรมปูพื้นดีไซน์เข้ากับวัสดุหุ้มเบาะและแผงแดชบอร์ดซึ่งตัดเย็บอย่างพิถีพิถัน

end_pic_chevrolet_banner

Chevrolet Colorado Extream และ Chevrolet Trailblazer Premier เป็น
2 รถยนต์ต้นแบบที่เปิดเผยให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า รุ่น Minorchange
ของ Colorado และ  Trailblazer จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

รถยนต์ต้นแบบทั้ง 2 คัน จะถูกจัดแสดงเป็นครั้งแรกในโลก ที่งาน Bangkok
International Motor Show วันที่ 23 มีนาคม 2016 – 3 เมษายน 2016 ณ
IMPACT Challenger เมืองทองธานี

แล้วเวอร์ชันขายจริงละ? จะเปิดตัวในบ้านเราได้เมื่อไหร่?…

แน่นอนว่า GM ไม่บอกเราหรอก มันผิดกฎของพวกเขา แต่จากข้อมูลที่ทีมงาน
ของเราได้รับมาจากหลายแหล่ง ทำให้เราทราบว่า มีความเป็นไปได้ที่ Colorado
Minorchange จะเปิดตัวก่อน ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2016 จากนั้น จึงจะ
เป็นคิวของ Trailblazer Minorchange ตามมาในอีก 1-2 เดือน หลังจากนั้น

จะเป็นจริงอย่างที่เราคาดการณ์หรือไม่ ก็รอดูต่อไปแล้วกันนะครับ

————————————–///—————————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to
General Motors Holden Pty.
General Motors Thailand Co.,ltd.
Chevrolet Sales (Thailand) Co.,ltd.
เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ เป็นผลงานของ ผู้เขียน

ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นของ ผู้เขียน และ GM-Holden
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
22 มีนาคม 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission
is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 22nd, 2016

แสดงความคิดเห็น? เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE