แปลกใจใช่ไหมครับ? ว่าทำไมถึงมี รีวิว รถตู้คันนี้ อยู่ใน Headlightmag.com ได้?
ทั้งที่ดูแล้ว ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมี?

แล้วทำไมต้องไปขับรถตู้รุ่นนี้ ไกลถึงญี่ปุ่น?

เอ้า! ก็ในเมืองไทย มันมีรถตู้รุ่นนี้ขายอยู่ไหมละ? ถ้าไม่ให้ขับที่ญี่ปุ่น แล้วจะ
ให้ไปขับฝ่าดงระเบิด ที่อัฟกานิสถาน หรือไงฮะเพ่?

ขณะกำลังนั่งเขียนบทความนี้ ผมนั่งอยู่ในห้องพัก ที่โรงแรม Ark Hotel Royal
ในเมือง Hakata จังหวัด Fukuoka บนเกาะ Kyushu ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

แม้ว่าเป็นประเทศซึ่งผมมาเยือนบ่อยที่สุด แต่ยังคงมาได้ มาดี มากี่ที กี่ที ก็มีอะไร
ต่อมิอะไร แปลกใหม่ให้ตืนตาตื่นใจไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน ครั้งนี้ก็เช่นกัน
ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้มาเยือนเกาะ Kyushu อันเป็นเกาะใต้เกือบสุด และเป็น
จุดยุทธศาสตร์สำคัญ ของค่ายรถยนต์ท้องถิ่น เพราะมีโรงงาน ผลิตรถยนต์ ใน
ละแวกย่านนี้ อย่างน้อย 5 ยี่ห้อรวด มีศูนย์ขนส่งรถยนต์ขึ้นเรือ และท่าเรือ
ขนาดใหญ่ เฉพาะแค่เจ้าภาพของเรา ในคราวนี้ อย่าง Nissan Motor ก็มี
ลานส่งรถขึ้นเรือ จุรถได้พร้อมกันถึง 25,000 คัน!!!

ครับ เจ้าภาพของเราในคราวนี้ ทั้ง Nissan Motor (Thailand) และ Nissan
Global Communication เชิญมาทดลองขับ รถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดของพวกเขา
อันที่จริง ก็รวมแล้ว 3 รุ่น…ทั้งบนถนนสาธารณะ จากเมือง Hakata (ซึ่งเจริญ
เหมือนเมืองใหญ่ อย่าง Tokyo หรือ Nagoya ไม่มีผิด) ไปจนถึง ทางด่วน
Urban Expressway ของ NEXCO ขับต่อไปยาวๆ ถึง สนามแข่งรถ ขนาด
ใหญ่ AutoPolis และขับไปจนถึง ถนน ชมวิว Scenic Route แสนงดงาม
อย่าง Aso

แต่ผมได้ลองขับจริงๆ 2 รุ่น และ 1 ในนั้น เตรียมจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด
ในกลุ่ม Compact Crossover SUV ของบ้านเรา

พูดกันซะเห็นภาพขนาดนี้ คงเดากันได้นะครับ ว่ามันจะเป็นรุ่นอื่นใดไปไม่ได้เลย
นอกจาก…รุ่นที่คุณก็คงรู้อยู่แหละ ว่าเป็นรุ่นอะไร…

แต่…ในเมื่อ Nissan บอกว่า ถ้าจะปล่อยบทความทดลองขับรถคันนั้น อยาก
ขอให้รออีกสักพักหนึ่งก่อน แล้วค่อยปล่อย พร้อมๆกัน จะกราบขอบพระคุณ
อย่างสูง

ก็เลยจำเป็นต้องยอม เพราะพี่ๆ ร่วมทริป ทุกคน เขาก็โอเคกันหมด ดังนั้น
Embargo กันไว้ก่อน ก็ไม่ทำให้บทความมันบูดหรอกครับ

รีวิวรถยนต์ นะฮะ ไม่ใช่ นม ที่ใส่แก้ววางทิ้งไว้แป๊บเดียวก็บูดได้…

ดังนั้น ระหว่างที่ผมปล่อยให้คุณผู้อ่าน รออยู่อย่างนี้ ก็ควรมีของว่าง มาคั่นเวลา
กันไว้สักหน่อย เผื่อจะมองเห็นความเป็นไปได้บางอย่าง ในอนาคต ที่จะมาถึง

สำหรับผมแล้ว บทความรีวิว รถตู้คันนี้ แบบสั้นๆ ก็คือของว่าง คั่นเวลา เพื่อ
คุณผู้อ่าน Headlightmag.com นั่นเอง

(เพราะ เวลาที่มีอยู่ จำกัด ผมก็ขอยืมไปขับคนเดียว นึกว่าจะกลับมาทันเวลา
ให้พี่ๆคนอื่นเขายืมไปถ่ายรูปกันต่อ ที่ไหนได้ ไม่ทันซะแล้ว แหะๆ)

อันที่จริง คนไทยที่สนใจเรื่องรถยนต์ น่าจะยังพอรู้จักชื่อ Serena กันได้บ้าง
เพราะ Nissan ในยุคที่ Siam Motors ยังถือสิทธิ์ เป็นผู้จำหน่าย Nissan ใน
บ้านเราอย่างเป็นทางการ ได้สั่งนำเข้า Vannette Serena รุ่นแรก ซึ่งเปิดตัว
ในปี 1991 ลงเรือมาขายในเมืองไทย ช่วงปี 1993 ชูจุดเด่นเป็นรถตู้โดยสาร
ขับเคลื่อนล้อหลัง แต่วางเครื่องยนต์ตระกูล SR มีแอร์ออโต้ และเบาะนั่งแถว
กลาง ปรับหมุนได้ 180 องศา แปลงสภาพห้องโดยสาร ให้กลายสภาพเป็น
ห้องนั่งเล่น วันพักผ่อน ได้อย่างดี

เวลาผ่านไป Serena ก็หายไปจากตลาดเมืองไทย ทั้งที่ในญี่ปุ่น Serena
รุ่นแล้วรุ่นเล่า ยังคงถูกเปิดตัวออกสู่ตลาดแดนปลาดิบอยู่เรื่อยๆ ในฐานะ รถตู้
Compact Minivan 1-Box Type เพื่อไว้ต่อกรกับคู่แค้นตัวฉกาจอย่าง
Honda StepWGN และ Toyota Noah / Voxy โดยมี Mazda 
Biante ตามมาอยู่ห่างๆ

ตลาดรถตู้กลุ่มนี้ เน้นเอาใจลูกค้ากลุ่มครอบครัว ที่มีลูกมากกว่า 2 คนขึ้นไป
และลูกๆ มักทำกิจกรรมมากมาย เช่น นักเบสบอล หรือนักฟุตบอล บางครั้ง
ต้องแบกเพื่อนๆของลูกๆ ไปกินข้าวเย็น แล้วไปส่งถึงประตูของแต่ละบ้าน
ในละแวกย่านเดียวกัน แต่ในวันปกติ ก็ต้องเป็นรถคันเดียวของครอบครัว
ที่พ่อบ้าน จะขับไปโรงงาน หรือสำนักงาน ดังนั้น มันต้องตอบโจทย์ การ
ใช้งานให้ได้ครอบคลุมที่สุด แม้จะมีตัวถัง ที่กว้างไม่เกิน 1,700 มิลลิเมตร
ตามกฎหมายพิกัดรถยนต์นั่งขนาดเล็กไม่เกิน 2,000 ซีซี หรือ “5 Number”

Serena รุ่นนี้ ถือเป็นรุ่นที่ 4 เปิดตัวมาตั้งแต่ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2010 ตอนนี้
อายุตลาด ก็ปาเข้าไป จะครบรอบ 5 ปี กันแล้ว  ส่วนรุ่น S-Hybrid นั้น เปิดตัว
ในญี่ปุ่น ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2012 ถือเป็นรถตู้ รุ่นเดียว ในตลาด
Compact Minivan 1-Box ในญี่ปุ่น ที่ใช้เครื่องยนต์ Hybrid (จวบจนกระทั่ง
ปี 2013 ที่ผ่านมา Toyota จึงออกรถตู้ Noah Hybrid ตีตลาดกระจุยกระจาย)

Serena รุ่นปัจจุบันมี ขนาดตัวถัง ยาว 4,685 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร
สูง 1,865 – 1,875 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,860 มิลลิเมตร แต่รุ่น S-Hybrid
 Highway Star ที่เราลองขับกันอยู่นี้ ความยาวจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,770 มิลลิเมตร
กว้างเพิ่มขึ้นเป็น 1,735 มิลลิเมตร ด้วยชุดกระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า และ
หลัง ที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ แต่คงไว้ทั้งความสูง กับระยะฐานล้อ ที่ยังไงๆ ก็
ต้องยาวเท่าเดิม

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งพิกัดเดียวกันอย่าง Honda StepWGN ซึ่งมีความยาว
4,690 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,815 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,855 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า ทั้ง 2 รุ่น มีขนาดพอๆกัน เพียงแต่ Serena
จะมีส่วนสูงมากกว่าถึง 50 มิลลิเมตร และมีะระยะฐานล้อยาวกว่ากันแค่
5 มิลลิเมตร เท่าน้ั้น

เส้นสายภายนอก ออกแบบให้แตกต่างจากรุ่นก่อน ลดควมเรียบง่าย และ
เพิ่มลูกเล่น ด้วยการออกแบบเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ให้มีกระจก ทรง
3 เหลี่ยม Opera เพิ่มเข้ามาจากเดิม เพื่อเพิ่มทัศนวิสัย ในการเข้าจอด
และการขับขี่ ดียิ่งขึ้น

แต่ในความเป็นจริง แม้จะมีกระจกค่อนข้างโล่ง โปร่ง รอบคัน แต่เสา
หลังคาคู่หน้า แบบนี้ ยังคงมีข้อจำกัดในการมองเห็นบ้างนิดหน่อยอยู่ดี

การเข้า – ออกจาก บานประตู คู่หน้า ทำได้ดีทัดเทียมกับ StepWGN เพียงแต่
พื้นที่ช่องทาง เข้า – ออก ของ Serena ยังเล็กกว่า StepWGN เนื่องจากการ
ออกแบบเสาหลังคาคู่หน้า ให้มีกระจก Opera ขนาดใหญ่ เพิ่มเข้ามา จนต้อง
ทำเสากรอบบานประตูให้ลาดลงเล็กน้อยตามไปด้วย

ส่วนการเข้า – ออก จากบานประตูเลื่อนด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา นั้น
ทำได้ไล่เลี่ยกันกับ StepWGN เพียงแต่ความกว้าง หากกะเก็งจากสายตา พบว่า
ช่องทางเข้า ของ Serena แอบคับแคบกว่า Serena อยู่นิดนึง น้อยมาก

การวางแขนบนแผงประตูคู่หน้า ทำได้ดีมาก แต่ก็ยังมีพนักวางแขนมาให้ที่ด้านข้าง
พนักพิงฝั่งคนขับ เท่านั้น

เบาะนั่ง หุ้มด้วยผ้า ชั้นดี สีดำ เบาะรองนั่ง มาในสไตล์เดียวกันกับ Nissan รุ่นใหม่ๆ
ในระยะหลังๆมานี้ คือ รองรับต้นขา เกือบจะถึงข้อพับ แต่จะปาดขอบลงไปให้ช่วง
ข้อพับ ลอยอยู่เล็กน้อย  พนักพิงรองรับแผ่นหลังได้ดี ปีกข้างออกแบบมาไม่แข็ง
แต่ก็ไม่นุ่มจนเกินไป พนักศีรษะ นุ่มสบายกว่า Teana รุ่นล่าสุด

ส่วน Head Room ไม่ใช่ปัญหาเลย สำหรับรถตู้ประเภทนี้ ไม่ว่าจะนั่งบนเบาะแถวหน้า
แถวกลาง หรือด้านหลัง ยังมีพื้นที่เหนือศีรษะ 1 ฝ่ามือครึ่ง ในแนวนอน เสมอ

เฉพาะเบาะคนขับ มีพนักวางแขน ยกพับเก็บได้มาให้ พร้อมทั้งเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า
แบบ ELR 3 จุด Pretensioner & Load Limiter ปรับระดับสูง – ต่ำได้

เบาะแถวกลาง แยกชิ้นกันทั้งตำแหน่ง ซ้าย กลาง และขวา มีจุดขายที่แปลกแหวกแนว
มากกว่าคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน อยู่ที่เบาะชิ้นกลาง ซึ่งนอกจากจะมีพนักวางแขนพับเก็บ
ซ่อนรูปได้แล้ว ยังมีรางเลื่อนตรงกลาง ขนาดยาว ที่ช่วยให้สามารถเลื่อนเบาะชิ้นกลาง
ขึ้นมาเป็นพนักวางแขน และวางข้าวของจุกจิก สำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า
ก็ได้ หรือจะเลื่อนถอยหลังกลับไปเป็นโต๊ะวางของ สำหรับผู้โดยสารแถวกลางตามเดิม
ก็ทำได้เช่นเดียวกัน แถมยังติดตั้ง เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ฝังมาให้กับชุดเบาะ
ตรงกลาง และแถวหลังสุด ทุกตำแหน่งอีกด้วย!

ส่วนเบาะแถวหลังสุดนั้น จะไม่สามารถพับลงราบไปกับพื้น อย่าง StepWGN ทว่า
แบ่งพับเก็บแยกฝั่งได้ ทั้ง ซ้าย และ ขวา และใช้วิธี พับพนักพิงลงมาก่อนจะยกชุด
เบาะ ขึ้นไปพิงด้านข้างผนังห้องโดยสาร คล้ายเบาะแถว 3 ของ Toyota Fortuner
แต่ไม่ต้องใช้ตะขอเกี่ยว เพราะเพียงแค่พับขาตั้งเบาะ เป็นตัวล็อกไว้ไม่ให้ร่วงหล่น
ลงมา เท่านี้ ก็ใช้การได้แล้ว

ห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาดใกล้เคียงกับ StepWGN แต่คงไม่อาจจะอเนกประสงค์
ได้เทียบเท่า เนื่องจากรูปแบบการพับเบาะแถว 3 ไม่ได้เอื้ออำนวยมากเท่า Honda แต่
เพีงเท่านี้ ก็มากพอจะแบกขนจักรยาน Mountain Bike ได้ 2 คัน แน่ๆ

แผงหน้าปัด ออกแบบให้ดูคล้ายกับได้แรงบันดาลใจ จากแผงหน้าปัดของรถไฟฟ้า
อย่าง Nissan LEAF เน้นให้แผงควบคุมกลาง รวมชุดเครื่องเสียง ระบบนำทางผ่าน
ดาวเทียม GPS Navigation System พร้อมระบบสื่อสารอัจฉริยะ CARWINGS
มาให้เป็นอุปกรณ์พิเศษ และเครื่องปรับอากาศแบบแยกฝั่ง ซ้าย – ขวา พร้อมช่องแอร์
สำหรับผู้โดยสารแถวกลาง

ชุดมาตรวัดเป็นแบบ Multi Graphic Upper Meter แสดงผลทั้งมาตรวัดความเร็ว
มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และการทำงานของระบบไฟฟ้าต่างๆในตัวรถ
เชื้อเพลิงและโหมดประหยัดน้ำมัน ECO ด้วยภาพกราฟิกสีขาว-ฟ้า

ข้อที่ยังน่ากังขาคือ ตำแหน่งของชุดมาตรวัด แม้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายาม
ของทีมออกแบบ ที่คิดยกมาตรวัดขึ้นไปไว้อยูใกล้กับกระจกหน้าต่างบังลมหน้า
มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยลดกดารละสายตาของผู้ขับขี่ จากท้องถนน
ส่วนพื้นที่ของมาตรวัดเดิม ถูกเปลี่ยนเป็น ช่องเก็บของจุกจิกพร้อม ฝาปิด ไว้
วางซองบุหรี่ หรือโทรศัพท์มือถือ

แต่เอาเข้าแล้ว มันแอบขัดสายตาพอประมาณ เพราะคนส่วนใหญ่ จะคุ้นชินกับ
การมองทะลุวงพวงมาลัยไปแล้วเจอจอมาตรวัดเลย แต่ Serena ใหม่ เมื่อ
ย้ายมาตรวัดขึ้นไปด้านบนแล้ว มันเกิดพื้นที่โล่ง เสียจนหลายคนไม่คุ้นเคย

ขุมพลัง ของ Serena ในญี่ปุ่น มีให้เลือกทั้งรุ่นมาตรฐาน กับรุ่น S-Hybrid โดยใช้
รหะส MR20DD บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,997 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
84 x 90.1 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ Nissan Di (Direct
Injection) ควบคุมด้วยกล่องสมองกล ECCS

รุ่นขับเคลื่อนล้อหน้าให้กำลังสูงสุด 147 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด /210 นิวตันเมตร (21.4 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที

แต่รุ่น ขับเคลื่อน 4 ล้อ จะให้กำลังสูงสุด ลดลงเหลือ 144 แรงม้า (PS) ที่ 5,600
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ก็ลดลงนิดเดียว เหลือ 207 นิวตันเมตร (21.1 กก.-ม.)
ที่รอบเท่ากัน 4,400 รอบ/นาที

แต่ในรุ่น S-HYBRID จะพ่วงเข้ากับ มอเตอร์ไฟฟ้า รุ่น SM23 ขนาด 2.4 แรงม้า
(PS) แรงบิดสูงสุด 53.6 นิวตันเมตร หรือ 5.5 กก.-ม.หน้าที่ของ มอเตอร์ลูกนี้ คือ
ทำหน้าที่ ช่วยกันประสานงานถ่ายทอดระบบขับเคลื่อนขณะที่รถจอดนิ่งๆ และ
รวมทั้งช่วยส่งพละกำลัง มาให้ออกตัวกันอย่างมีกำลัง

เกียร์อัตโนมัติ แน่นอนว่า ยังเป็นแบบอัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Xtronic CVT 
จาก Jatco ตามเคย เรียงอัตราทด เกียร์ไว้ดังนี้

เกียร์ D ขับเคลื่อน ตั้งแต่ 2.349 – 0.394 เกียร์ R ถอยหลัง : 1.750 และ
อัตราทดเฟืองท้าย 5.407

เครื่องยนต์ พิกัด 2,000 ซีซี นั้น เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศญี่ปุ่นแน่ๆ เพราะ
คนส่วนใหญ่ ขับรถกันไม่ถึงกับโหดร้ายเท่าเมืองไทย เน้นการใช้งานช่วงความเร็ว
ไม่ค่อยเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมักออกตัวกันแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่อให้
เร่งแซง ก็ยังเหยียบกันแค่ครึ่งคันเร่ง ดังนั้น อัตราเร่งที่ Serena S-Hybrid มีมาให้
มันก็เพียงพอสำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่น

แต่สำหรับคนที่คิดเผื่อมาถึงตลาดเมืองไทยแล้วละก็ อัตราเร่ง ของ รถตู้รุ่นนี้ ผมยัง
ไม่ค่อยอยากให้สอบผ่านเท่าไหร่นัก

จริงอยู่ว่า ในทางราบ อัตราเร่งช่วง 40 – 60 และ 60 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ทำได้ดีในแบบที่คุณควรได้รับจากเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี ตามปกติ อย่างไรก็ตาม
ในบางช่วงของการทดลองขับ มีทางลาดชันขึ้นเนิน หากคุณเหยียบคันเร่งเพียงแค่
ครึ่งหนึ่งของระยะเหยียบทั้งหมด คุณจะพบได้ทันทีว่า แรงบิดในช่วงรอบ กลางๆ
มันสร้างเสียงเครื่องยนตืให้ดังขึ้น แต่ล้อขับเคลื่อนคู่หน้า กลับขี้เกียจ จนแทบ
ไม่อยากจะหมุนเคลื่อนรถไปข้างหน้าเท่าที่ควร

พูดให้ง่ายก็คือ มันเร่งบนเนิน ไม่ค่อยจะขึ้น ถ้าคุณไม่เหยียบคันเร่ง เกินกว่า
50 % หรือ ครึ่งหนึ่ง ของระยะเหยียบ คุณจำเป็นต้องเติมคันเร่งลงไปมากขึ้น
และบางครั้ อาจถึงขั้นต้องเหยียบส่งกันจมมิดทะลุพื้นรถไปเลย

ต่อให้กดคันเกียร์ ไว้ที่โหมด Sport จนมีไฟโชว์ขึ้นบนมาตรวัด คันเร่งก็ยัง
พอจะมีอาการเร่งไม่ขึ้น ให้เห็นกันอยู่ดี

ถ้านึกไม่ออกว่า Serena S-Hybrid มีอัตราเร่ง ในช่วงขึ่นเนินลาดชัน อย่างไร
ให้นึกถึง เจ้า Sylphy หรือ Pulsar ในบ้านเรา แต่ต้องใส่ล้อ 18 นิ้ว แทนที่จะ
เป็น 16 หรือ 17 นิ้ว จากโรงงาน!

แต่นอกนั้น ในการใช้งานบนทางราบปกติ หรือเนินที่ไม่ลาดชันมาก แน่นอน
Serena S-Hybrid ยังคงมีอัตราเร่ง ที่ดีสมตัว ใช้การได้อยู่

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบไฟฟ้า EPS
มีน้ำหนักเบา ในแบบที่คุณจะพบได้จากรถยนต์ขนาดเล็กจากญี่ปุ่นทั่วๆไป
แต่ มีความหนืด และความต่อเนื่อง มากกว่า StepWGN นิดนึง การบังคับเลี้ยว
คล่องแคล่ว และไวในระดับกำลังดี

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม
ภาพรวม ถูกเซ็ตมาในแนวนุ่มกำลังดี เอาใจครอบครัว แต่ให้การทรงตัวที่
ทางโค้ง ดีกว่า StepWGN ที่ความเร็วตั้งแต่ 60 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่
นิดหน่อย การซับแรงสะเทือน จากพื้นผิวถนนขรุขระ ไม่เรียบ ทำได้ดี
มากกว่า StepWGN Spada อยู่นิดนึง ไม่ถึงกับต่างกันแบบฉีกขาด

ระบบห้ามล้อทุกรุ่น เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีรูระบายความร้อน
เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD และ
ระบบเพิ่มแงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ยังคงทำงานได้ดี ตาม
มาตรฐานรถตู้ทั่วไป แป้นเบรกเซ็ตมาในระดับกำลังดี ไม่นุ่มหรือไม่แข็ง
มากมายนัก หน่วงความเร็วในระดับ ใช้การได้

นอกจากนี้ยังมี มีระบบ Pre-Crash System ซึ่งมีระบบ Redar ตรวจจับ
สิ่งกีดขวางที่อยู่ข้างหน้า และสั่งเบรกเองโดยอัตโนมัติ ถ้าผู้ขับขี่ เหยียบเบรก
ไม่ทัน เพิ่มเข้ามาให้แล้ว

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ตอนนี้หนะ ยังไม่มา แต่ อีกไม่กี่ปีข้างหน้า…ยังไม่แน่!

2 – 3 รอบสั้นๆ บนเส้นทาง รอบสนาม AutoPolis ที่ Fukuoka นั้น เพียงพอให้
ผมได้ทำความรู้จักบุคลิกพื้นฐานของ Serena จนพอจะหาความแตกต่างได้ หาก
ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อย่าง Honda StepWGN

Serena รุ่นปัจจุบัน มีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ การเซ็ตช่วงล่างและพวงมาลัยมาให้
อยู่ในระดับที่ ไว้ใจได้ ในการขับขี่ทางไกล แต่ยังคงไว้ซึ่งความคล่องแคล่ว
พอประมาณ ขณะขับขี่ในเมือง

แต่ ฝ่าย Product Planning ของ Nissan Motor ญี่ปุ่น ที่มาร่วมทริปกับเราในวันนั้น
ก็ยอมรับกับผมตรงไปตรงมาว่า การเปิดตัว Toyota Noah Hybrid ซึ่งเป็นระบบ
ขับเคลื่อน Hybrid เต็มรูปแบบนั้น ทำให้ Nissan เอง ตกเป็นมวยรองในกลุ่ม
ไปแทบทันที นี่ยังไม่นับว่า Serena แอบด้อยกว่า Honda StepWGN ในด้าน
การปรับเปลี่ยนรูปแบบเบาะนั่ง ให้อเนกประสงค์ และพื้นที่ห้องเก็บของใน
ตอนท้ายของรถ ด้วยซ้ำนะ

กระนั้น พวกเขาก็ยังเตรียมไม้เด็ด ไว้ เอาใจลูกค้าทั้งในญี่ปุ่น และต่างประเทศ
กันต่อไป แต่คงต้องรอกันจนกว่า Serena รุ่นที่ 5 จะเปิดตัว ในช่วงปี 2015 –
2016 กันเสียก่อน

คำถามก็คือ ในเมื่อ Serena รุ่นนี้ จะไม่มีการทำตลาดในเมืองไทย ฉะนั้น รุ่นต่อไป
มันจะพอมีโอกาสหลงเหลืออยู่บ้างไหม?

คำตอบก็คือ “มีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ ณ วันนี้ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน”

ผมมองว่า Serena มีอนาคต ในการทำตลาดบ้านเราอยู่บ้าง หากวางตำแหน่งการตลาด
ให้เหมาะสม และเน้นการประกอบในเมืองไทย เพื่อเป้นฐานส่งออกสู่ตลาด ASEAN
ไม่เช่นนั้น ก็ยกให้เจ้าตลาด Minivan 7 ที่นั่ง อย่าง Indonesia เขาเอาไปประกอบขาย
ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการควบคุมต้นทุน และตั้งราคาขายปลีก ให้เหมาะสม ขอแค่ว่า
ค่าตัวของ Serena ควรจะอยู่ในช่วง 1.3 – 1.7 ล้านบาท พอกันกับ Crossover SUV
ทั้งหลายในตอนนี้ ก็น่าจะช่วยให้ Serena มีที่ยืนอยู่ในตลาดรถบ้านเราได้
แม้จะมียอดขายไม่น่าจะแตะ300 คัน/เดือน ก็คาม

เพราะราคาของ Serena S-HYBRID ในญี่ปุ่น เริ่มที่ 2,384,550 – 2,799,300 เยน
รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม consumption tax ขณะที่รุ่นมาตรฐาน ซึ่งใช้เครื่องยนต์ธรรมดา ตั้ง
ราคาไว้ที่ 2,163,000 – 2,832,900 เยน รวมภาษี consumption tax ดังนั้น ถ้าจะ
ตั้งราคาให้ต่ำกว่านี้ ก็คงยากมากๆ

รอดูกันต่อไปครับว่า Nissan จะกล้าสั่ง Serena รุ่นต่อไป มาทำตลาดในไทยหรือไม่?

——————————–///——————————–

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motor Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อการเดินทาง สู่เมือง Fukuoka ประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนี้

————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความและภาพถ่ายทั้งหมด โดยผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
19 มิถุนายน 2014

Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 19th,2014 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE