เดือนกรกฎาคม 2011 ณ สำนักงานใหญ่ของ Hyundai – Kia Motor ชานกรุง Seoul เกาหลีใต้
ผมกำลังยืนมอง รถยนต์รุ่นใหม่ๆของ Hyundai ที่จัดแสดงกันอย่างไม่ละสายตา พลางได้แต่คิดว่า เมื่อไหร่หนอ
รถยนต์เหล่านี้จะได้มีโอกาสมาโลดแล่นบนถนนเมืองไทยเสียบ้าง บอกตรงๆว่า ผมละเบื๊อเบื่อ ที่ต้องรับรู้กับ
ความจริงที่เป็นอยู่ ว่า Hyundai ในบ้านเรา มีรถยนต์ให้เลือกเพียงแค่ H-1 Sonata และ Tucson โดยที่ H-1 จะ
มีให้เห็นเยอะสุด วิ่งเล่นบนถนนเมืองไทยกันเกลื่อน เป็นหลักหมื่นคันได้แล้วละ ถ้านับรวมเวลา 4 ปี ที่ค่าย
รถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 จากเกาหลีใต้ กลับมาบุกตลาดในเมืองไทยอีกครั้ง จากการทำงานของบริษัท Sojitsu
พอเดินไปซื้อ รถยนต์โมเดล และ กวาดแค็ตตาล็อก Hyundai ภาษาเกาหลี บนชั้นวางในห้องโถงใหญ่เสร็จสรรพ
ผมก็เดินขึ้นรถบัสมา เพื่อฟังข่าวดี ซึ่งทาง Hyundai ประกาศออกมาเองเลย ว่าจะนำเข้า รถยนต์นั่งระดับ Sub –
Compact อย่าง Accent ใหม่ มาเปิดตลาดในเมืองไทยช่วงปลายปี 2011 เป็นข่าวที่ผมแอบอึ้งนิดๆ
ตอนนั้น ผมก็แอบหวังอยู่ลึกๆว่า ทำไมไม่เอา Elantra / Avante ใหม่เข้ามากันละเนี่ย? รถยนต์ Sedan รุ่นนี้
ออกจะสวยกว่า ขนาดตัวถังก็อยู่ในกลุ่ม C-Segment ที่คนไทยชื่นชอบ ตั้งราคาดีๆ ก็ขายได้แหละ งงจริงๆ
เอา Accent มาเนี่ยนะ? จะขายแข่งกับใครเขาได้บ้างละเนี่ย? แต่ผมก็พูดมากไม่ได้ เพราะต่อให้พูดไป
สุดท้าย ก็ต้องเป็นการตัดสินใจของ Hyundai สำนักงานใหญ่ กับทาง Hyundai Motor Thailand บ้านเรา
กันเองอยู่ดี…ก้เลยได้แต่แอบหวังไว้ลึกๆ ว่าสักวัน Sedan เรือนร่างชวนฝันคันนี้ มันควรจะมีโอกาสมา
เปิดตัวในบ้านเรา
แต่…พอถึงเดือนตุลาคม 2011 ขณะที่หลายๆครอบครัว กำลังประสาทแดกกับมวลน้ำก้อนมหึมา จากน้ำมือ
การปล่อยน้ำของคน…(ไม่ใช่มนุษย์ครับ…แค่ “คน”) Hyundai ก็ประกาศจะจัดงานเปิดตัว รถยนต์รุ่น Elantra
ใหม่ ในบ้านเรา ถือเป็นเรื่องพลิกความคาดหมายมากๆ ว่าจู่ๆ Hyundai ก็ทำสิ่งที่ผมอยากเห็นให้เป็นจริงได้
เสียที
ทว่า เมื่อถึงช่วงเวลาใกล้เปิดตัว โรงแรมในย่านรัชดาภิเษก ที่ตั้งใจจะใช้เป็นสถานที่จัดงาน กลับโดนน้ำท่วม
ไหลบ่าเข้ามาบริเวณด้านหน้า ทำให้ไม่สะดวกต่อการจัดงาน จนต้องยกเลิกกันกลางคัน แถมบ้านของทีมงาน
Hyundai หลายๆคน ก็โดนผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนั้นไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ สุดท้าย งานเปิดตัวก็เลยต้อง
เลื่อนออกมา
เลื่อนมาไกลมาก เลื่อนมาจนถึงวันนี้ 13 มีนาคม 2012 วันเปิดตัวรถยนต์รุ่นนี้ สู่ตลาดเมืองไทย เป็นทางการ
วันที่ผม ยืนอยู่บนสนาม มอเตอร์สปอร์ตแลนด์ หรือแดนเนรมิต(เก่า) กันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมาลองขับกันสั้นๆ
ให้รู้รสแค่พอซึ้ง ว่า Elantra ใหม่ จะมีบุคลิกการขับขี่ที่ถึงใจไม่แพ้เรือนร่างอันโฉบเฉี่ยวของมันหรือเปล่า?
อันที่จริง Hyundai Elantra เคยถูกนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ กลุ่ม PNA พระนครยนตรการ
ในชื่อ ยูไนเต็ด โอโต้โมบิลล์ เริ่มคิดจะนำแบรนด์รถยนต์ Hyundai มาเปิดศักราชในบ้านเรา เมื่อปี 1992 มาพร้อม
กับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นเล็กอย่าง Excel และ รถยนต์รุ่นกลาง อย่าง Sonata เปิดตัวครั้งแรกในงานมหกรรมรถยนต์
ของทาง สื่อสากล (นิตยสาร ฟอร์มูลา) เมื่อเดือนธันวาคม 1992 และในครั้งนั้น มีผู้ให้ความสนใจกันอย่างมาก และ
เริ่มมียอดสั่งจองเยอะพอสมควร ด้วยค่าตัวที่ไม่แพงนัก มาพร้อมอุปกรณ์ที่ครบครัน คุ้มค่า แถมงานออกแบบของ
Elantra เจเนอเรชันแรก ยังเป็นฝีมือของ สตูดิโอออกแบบรถยนต์ชั้นนำจากอิตาลี อย่าง จิวเจียโร ทำให้ Elantra
วิ่งเล่นบนถนนเมืองไทย หลายร้อยคันอยู่ ต่อเนื่องมาจนถึงเจเนอเรชันที่ 2 เมื่อปี 1995 คราวนี้มากันครบทั้งรุ่น
Sedan และ Wagon แถมยังมีรุ่นกระจังหน้าเปลือกหอยโลหะ อันเบ้อเร่อ อย่าง Elantra Avante มากระตุ้นตลาด
ในช่วงปลายอายุของมันในบ้านเราอีกด้วย ทั้งที่ในเมืองนอก Elantra รุ่นที่ 2 นี้ ทำตลาดในชื่อ Avante ที่เกาหลีใต้
และชื่อ Lantra ในยุโรป (เป็นชื่อที่คนยุโรปรู้จักกับรถยนต์รุ่นนี้ มาตั้งแต่เจเนอเรชันแรกแล้ว)
หลังจากกลุ่ม PNA หมดสิทธิ์ทำตลาด Hyundai จนถึงขั้นเว้นวรรคไปเกือบ 10 ปี มี Elantra อีก 2 เจเนอเรชันที่
ไม่ได้มาขายในบ้านเรา ทั้งรุ่น XD ตัวถังเหลี่ยมสัน ในปี 2000 และ รุ่น HD ตัวถัง โค้งมน พร้อมกระจกหน้าต่าง
แบบ 6 Windows ในปี 2006 แต่ทั้ง 2 รุ่น มียอดขายแค่ประคับประคองไปได้เรื่อย ไม่ถึงกับหวือหวามากนักหาก
มองกันตลอดอายุตลาด
จนกระทั่ง รุ่นปัจจุบันที่เห็นอยู่นี้ รหัสรุ่น MD เปิดตัวครั้งแรกในงาน Pusan International Motor Show เมื่อเดือน
เมษายน 2010 นั่นละ สายตาแทบทุกคู่ก็หันมาจับจ้อง Hyundai อีกครั้ง เพราะหลังจากที่พวกเขาทำโลกรถยนต์
สั่นสะเทือนด้วยการออกแบบของ Sonata รุ่นล่าสุดแล้ว มาคราวนี้ Elantra หรือ Avante ใหม่ ก็ยิ่งสร้างความคื่นตา
ตะลึงใจ ให้ทุกผู้คนที่พบเห็น ด้วยแนวเส้นสายแบบ Fluidic Sculpture Design อันเป็นธีมในการออกแบบของ
Hyundai ในช่วง 2-3 ปีมานี้
ตัวรถมีความยาว 4,530 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,445 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถโดยประมาณอยู่ที่ 1,200 – 1,230 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 48.5 ลิตร
การตกแต่งภายนอกของเวอร์ชันไทยนั้น กระจังหน้าเป็นสีดำ ตกแต่งด้วยโครเมียมนิดหน่อย มือจับประตู
พ่นสีเดียวกับตัวรถ มีกรอกกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว LED ในตัว รุ่น เกียร์ธรรมดา 1.8 E จะใช้กระทะ
ล้อเหล็ก พร้อมฝาครอบจากโรงงาน สวมด้วยยางขนาด 195/65 R15 แต่ในรุ่น 1.8 S และ 1.8 G จะสวมด้วย
ล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/ 45 R17
การเข้าออกจากรถ ใช้ รีโมทกุญแจแบบพับในรุ่น 1.8 E เกียร์ธรรมดา และ 1.8 S เกียร์อัตโนมัติ แต่ในรุ่น
1.8 G เกียร์อัตโนมัติ จะมีรีโมทกุญแจแบบอัจฉริยะ พร้อมปุ่มติดเครื่องยนต์ แบบ Push Start และระบบ
กันขโมย ด้วยรหัส Immobilizer มาให้
ทางเข้าประตูคู่หน้า ทำได้ดี พอกับรถยนต์ญี่ปุ่นในพิกัดเดียวกันทั่วไป การเข้า – ออก ไม่ได้รู้สึกลำบาก
ยากเย็น หรือต้องก้มตัวเยอะแยะแต่อย่างใด สำหรับสรีระหุ่นน้องหมีอย่างผม แต่ถ้าเป็นหุ่น Heavy
Weight อย่าง ตาแพน Commander CHENG ละก็…ผมว่า น่าจะมีบ่นนิดหน่อยบ้างเหมือนกัน
เบาะนั่งทั้งด้านหน้าและหลัง หุ้มด้วยผ้าลาย Sport ที่ชื่อว่า Knit Black ซึ่งเป็นลวดลายที่ดูคล้ายกับเบาะ
รถญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันนี้ ในรุ่น 1.8 G เบาะคนขับ สามารถปรับระดับต่างๆ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้าได้มากถึง
10 ทิศทาง แถมด้วยสวิชต์ปรับตำแหน่งการดันหลัง เพื่อช่วยลดโอกาสปวดหลังลงนิดหน่อย นั่งได้สบาย
เบาะรองนั่ง สั้นนิดๆ แต่ใครที่คุ้นชินกับรถญี่ปุ่นอยู่แล้ว คุณจะไม่พบปัญหาเลย เท่าที่ลองนั่งดูสักพัก
ก็พบว่า นั่งสบายดี ขณะที่ตากอล์ฟ เจ้าหน้าที่ Product Planning สารพัดประโยชน์ สุดอเนกประสงค์
ของ Hyundai (เพราะถูกจ้างมาทำงานตำแหน่งเดียว แต่ดูเหมือนต้องชวยซัพพอร์ตสารพัดอย่าง ตั้งแต่
สากกะเบือยันเรือรบ..ฮ่าๆๆ) เล่าว่า จากที่ได้ลองขับทางไกล ในระบยะทางราวๆ 200 กิโลเมตร กอล์ฟ
เองก็ไม่มีปัญหาปวดเมื่อยหลังแต่อย่างใด
มาดูพื้นที่โดยสารเบาะหลังกันบ้าง แม้ว่าแนวโค้งของเสากรอบประตูจะดูเหมือนมีขนาดเล็ก แต่การติดตั้ง
เบาะรองนั่ง ในตำแหน่งเตี้ยกำลังดี ไม่เตี้ยมากเกินไป ทำให้ผมไม่มีปัญหาในการเข้าออกจากประตูคู่หลัง
แต่อย่างใด กระจกหน้าต่างไฟฟ้า สำหรับบานประตูคู่หลัง เลื่อนลงมาได้ จนเกือบจะสุดบาน ขาดขอบด้าน
บนซ้ายอีกนิดเดียวจริงๆ
เบาะหลัง ของทุกรุ่น จะมี พนักศีรษะตอนหลังปรับระดับได้ ที่วางแขนพับเก็บได้ พร้อมที่วางแก้วติดตั้งมาให้
และสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง พนักพิงด้านหลัง นั่งสบาย
การวางแขน ก็ถือว่าทำได้ดีในภาพรวม ที่พักแขนแบบพับเก็บได้ อาจจะเตี้ยไปนิดเดียวจริงๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่
ปัญหาแต่อย่างใด
กระนั้น เบาะรองนั่งด้านหลัง ยังสั้นไปหน่อย ถ้านั่งโดยสารในระยะทางไม่ไกลนักละก็ นั่งได้สบายๆ แต่
ถ้าต้องเดินทางไกลแล้วละก็ ควรให้บรรดาลูกสมุนตัวน้อยประจำบ้านของคุณ ยึดครองพื้นที่เบาะหลังไป
จะดีกว่า
แผงหน้าปัดมีงานออกแบบที่ประหลาดกว่าชาวบ้านเขานิดหน่อย ตรงที่แผงควบคุมกลาง มีหน้าตาเหมือนกับ
สาวเกาหลี ใส่ชุดฮันบก ที่แดจังกึม เขาเคยสวมใส่ (อันนี้ ตากอล์ฟ ของ Hyundai เขาพูดเองนะ ผมเห็นด้วย
เหมือนกัน! มันช่างเหมือนจริงๆ!)
ช่องแอร์ตรงกลาง มีขนาดเล็ก ผมไม่เข้าใจทีมออกแบบว่า ทำไมต้องย้ายตำแหน่งของมัน มาไว้ ใต้ Trim
สีเงิน ซึ่งขนาบข้างแผงควบคุมชุดเครื่องเสียงด้วย เพราะในความเป็นจริงแล้ว ช่องแอร์กลางที่มีขนาดเล็ก
แบบนี้ เหมาะกับรถยนต์ในเมืองหนาว มากกว่ารถยนต์ในเมืองร้อน เพราะในเมืองหนาว ไม่ค่อยเปิดแอร์
เขาเปิดกันแต่ฮีตเตอร์ และช่องอากาศเพียงเท่านี้ ไม่เหมาะกับบ้านเรา เพราะ ขณะถ่ายรูป จอดรถกลางแดด
เปิดเครื่องรับอากาศ แบบ Manual ในโหมด MAX A/C กระแสลม ก็ยังเดินทางไม่ค่อยจะถึงเบาะหลังเลย
กระจกหน้าต่างทุกรุ่นเป็นแบบ ไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน เฉพาะฝั่งคนขับ เป็นแบบปรับขึ้น-ลง อัตโนมัติ One-Touch
กระจกมองข้าง พับและปรับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า พร้อมไล่ฝ้าในตัว! กระจกมองหลังแบบตัดแสงได้ แผงบังแดด
มีไฟส่องแต่งหน้า เฉพาะรุ่น 1.8 S และ 1.8 G จะมีไฟส่องแผนที่พร้อมกล่องใส่แว่นกันแดดมาให้อีกด้วย
พวงมาลัยเป็นแบบ 4 ก้าน ทรงเอวนางแบบ พร้อมปุ่มควบคุมการแสดงข้อมูลบนจอ Tip Computer ในทุกรุ่น
แต่เฉพาะในรุ่น 1.8 G จะมีปุ่มควบคุมชุดเครื่องเสียงบนพวงมาลัย และแป้นเหยียบคันเร่งกับเบรก ทำจาก
อะลูมีเนียม รวมทั้งหุ้มหนังบริเวณวงพวงมาลัยแถมมาให้ด้วย ทุกรุ่น สามารถปรับระดับ สูง – ต่ำได้ แต่ในรุ่น
1.8 S และ 1.8 G จะเพิ่มการปรับระยะใกล้ – ไกล แบบ Telescopic ได้
ชุดมาตรวัด เป็นแบบ มีจอแสดงข้อมูลการเดินทาง ทั้งการคำนวนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ระยะทาง
ที่น้ำมันในถังจะเหลือพอให้รถแล่นต่อไปได้ หรือข้อมูลจำพวก Trip Information อื่นๆ มีระบบเปิด – ปิด
ไฟหน้าอัตโนมัติมาให้ ในรุ่นท็อป 1.8 G
ชุดเครื่องเสียง ประกอบด้วยวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 แบบ Built-in ฝั่งมากับแผงควบคุมกลาง
มี 2 แบบ ถ้าเป็นรุ่น 1.8 E จะมีลำโพง 4 ชิ้น แต่ถ้าเป็นรุ่น 1.8 S และ G จะมีลำโพง 6 ชิ้น พร้อมช่องเสียบ AUX
และ USB มาให้ จากโรงงาน เสาอากาศ เป็นแบบฝังในกระจกบังลมด้านหลัง
ด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย ทุกรุ่นติดตั้งถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับมาให้ แต่จะมีเฉพาะรุ่นท็อป 1.8 G ที่จะเพิ่ม
ถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารด้านข้างมาให้ด้วย
เครื่องยนต์ของ Elantra เวอร์ชันไทย เป็นรหัส Nu บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,797 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
81 x 87.2 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ทั้งฝั่งวาล์วไอดี และวาล์วไอเสีย
D-CVVT พร้อมระบบแปรผันท่อทางเดินไอดี VIS กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
178 นิวตันเมตร หรือ 18.1 กก.-ม.ที่ 4,700 รอบ/นาที ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ตามสากลนิยม
สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ คราวนี้ Elantra มีระบบส่งกำลังมาให้ถึง 2 รูปแบบ ทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แบบขั้นบันได
Step-Gate พร้อมโหมด Sport ใช้ Torque Converter ช่วยในการทำงานของเกียร์ มีมาให้ในรุ่น 1.8 S และ 1.8 G
แต่ที่พิเศษ เอาใจลูกค้าที่รักความสะใจ นั่นคือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ พร้อมคลัชต์แห้งแผ่นเดียว สำหรับรุ่น 1.8 E
ถือเป็นครั้งแรกของ Hyundai นับตั้งแต่กลับมาเปิดตลาดในเมืองไทยอีกครั้ง รวม 4 ปี ที่เริ่มมีรถยนต์นั่ง คันเล็ก
เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ออกขายให้กับลูกค้าคนไทย (ไม่นับรถตู้ H-1 นะครับ)
เพื่อให้รับรู้ถึงสมรรถนะที่แท้จริง Hyundai ก็เลยจัดรถทดลองขับไว้ให้ถึง 2 คัน โดยเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา คันสีเงิน
1 คัน และ รุ่นเกียร์ธรรมดา สีดำ 1 คัน
ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ อัตราเร่งช่วงออกตัวก็ทำได้ดี ออกตัวแบบสบายๆ ไม่อืดอาดแน่ๆ แต่ยังกระฉับกระเฉงได้
ไม่ถึงกับเต็มที่นัก ถ้าจะต้องเร่งออกจากโค้ง ก็ยังมีช่วงแรงบิดที่ส่งต่อรถในภาวะกระทันหันได้ดีอยู่ กระนั้น
อาจจะคล่องกว่า Lancer EX 1.8 แต่ก็ยังไม่ถึงกับกระฉับกระเฉงมาก
แต่พอลองเปลี่ยนไปขับรุ่นเกียร์ธรรมดา เท่านั้นละ ผมก็รู้แล้วว่า ในช่วงตีนต้น ออกตัว เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร บล็อกนี้
เพียงพอแล้วสำหรับการทำงาน เพราะให้อัตราเร่งที่ ใช้การได้เลย สมตัว กระฉับกระเฉง ไม่อืดอาด พาให้รถแล่น
ปรู๊ด ออกไปได้ แต่ไม่ถึงชั้น ปรู๊ดปร๊าด จัดจ้าน อย่าลืมว่า นี่คือรถเก๋งบ้านๆ แล้วคุณจะมีความสุขกับอัตราเร่งของ
Elantra รุ่นเกียร์ธรรมดา ยิ่งในช่วงเกียร์ 2 นั้น แรงบิดที่ส่งต่อเนื่อง มาในช่วงที่ต้องการพอดี ไม่หน่วง แต่พร้อม
ให้เหนี่ยวได้ทุกเมื่อ
ขณะเดียวกัน คันเกียร์ ก็กระชับ และมีน้ำหนักการเข้าเกียร์ ที่ชวนให้ผมนึกถึง คันเกียร์ธรรมดาของ Mazda 2 ชะมัด
คันเกียร์ที่มี Shift Feeling แบบนี้ ชาวยุโรปจะชื่นชอบ เพราะเข้าง่าย กระชับ และช่วง Stroke กำลังดี ไม่ยาว ไม่สั้น
จนเกินไป
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics
Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร แม้ว่าขณะหยุดนิ่งตอบสนองได้แตกต่างกันชัดเจน เพราะในรุ่นเกียร์
ธรรมดา พอออกรถปุ๊บ ยิ่งเร็วขึ้น พวงมาลัยจะยิ่งหนืดขึ้น และให้การตอบสนองที่ เฉียบคม ใช้ได้ จนน่าลอง
ขณะที่รุ่นเกียร์อัตโนมัติ พวงมาลัยจะเบากว่า นิดหน่อย แต่ให้ความเฉียบคมที่พอกัน นี่คือเรื่องที่น่าชื่นชม
ระบบกันสะเทือนหน้า แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบ ทอร์ชันบีม CTBA (Couple Torsion Beam Axle)
ถูกปรับแต่งมาให้มาในแนวทั้งนุ่ม ทั้งหนึบ มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เพียงแต่ ด้วยสภาพพื้นผิวแทร็ก ของ
สนาม มอเตอร์สปอร์ตแลนด์ นั้น คงเล่นรับรู้ได้เพียงแค่การเอียงตัวของรถ ขณะเข้าโค้ง และการดูดซับแรง
สะเทือนขณะแล่นอยู่บนพื้นผิว ในช่วงความเร็ว ไม่เกิน 40 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ภาพรวมแล้ว ช่วงล่างของ Elantra ใหม่ ให้การตอบสนองในโค้งได้ค่อนข้างนุ่มนวล นิ่ง และมั่นใจได้ในแบบ
Hyundai ยุคใหม่ ที่ทำช่วงล่างมาได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม เยอะมาก เพียงแต่ในรุ่นเกียร์ธรรมดา หากต้องอัดเข้าโค้ง
แรงๆ หรือว่าใช้ความเร็วหน้าโค้งมากๆ หากปล่อยให้เข้าโค้งไปทั้งที่ความเร็วค่อนข้างสูง ตัวรถจะออกอาการ
Understeer (หน้าดื้อ) ปรากฎชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะใช้ยางหน้าแคบ ที่มีพื้นที่หน้ายาง สัมผัสกับ
พื้นถนนน้อยกว่า แต่ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติเอง แม้จะใช้ยางหน้ากว้างกว่า และชัดเจนว่าจิกเกาะพื้นถนนรวมทั้ง
เข้าโค้งได้ดีกว่า แต่ยังปรากฎอาการ Understeer หลงเหลือให้เห็นอยู่ และมันก็ยังคงชัดเจน ตามประสารถยนต์
ขับเคลื่อนล้อหน้า
ผมอยากจะเรียกมันว่า ช่วงล่างแบบ Marshmello Suspension!
ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ คู่หน้า มีครีบระบายความร้อน พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Brake
System) กับระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน PBA (Power Brake Assist) แต่ในรุ่นท็อป 1.8 G จะเพิ่มตัวช่วย
เข้ามามากมายทั้งระบบ ควบคุมเสถียรภาพด้วยอีเล็กโทรนิคส์ ESP (Electronic Stability Program) ซึ่งมีทั้งระบบ
จัดการเสถียรภาพ VSM (Vehicle Stability Management) ทำงานเหมือนๆ กับระบบ VSC ของ Toyota ติดตั้ง
รวมเข้าไปอยู่ในชุดระบบ ESP อีกด้วย แถมัยงมีระบบช่วยขี้นทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control) ในกรณีที่
ผู้ขับขี่ ถอนเท้าจากเบรก ระบบจะยังล็อกค้างตัวรถไว้บนเนิน 2-3 วินาที รอให้ผู้ขับขี่ เหยียบคันเร่ง นำรถเคลื่อน
ขึ้นเนินต่อไปได้
ในช่วง 3 รอบสนามสั้นๆ ของรถแต่ละคัน ผมมีเวลาให้จับสัมผัสการทำงานของระบบเบรกเพียงนิดหน่อยเท่านั้น
แต่พอบอกได้ว่า แป้นเบรก ไม่ได้ทื่อ และน่าจะมีความ Linear ต่อเนื่องในระดับที่ กำลังดี แบบที่คนซึ่งคุ้นเคยกับ
รถยนต์ญี่ปุ่น น่าจะชื่นชอบ
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ขับดีพอสมควร รุ่นเกียร์ธรรมดาน่าจับตา แต่ราคารุ่นเกียร์อัตโนมัติ แพงไปหน่อยนะ
นับจาก Elantra รุ่นแรก ในเมืองไทย เมื่อปี 1992 มาจนถึงวันนี้ พัฒนาการที่เกิดขึ้น อย่างเด่นชัด ของ Hyundai
ในการสร้างรถยนต์ ก็ยังคงทำให้ผมชื่นชมมาอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุที่ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกมอง
ว่า Hyundai เป็นรถยนต์เกาหลี เลยตั้งความคาดหวังไว้ต่ำ พอมาถึงวันนี้ วันที่ Hyundai ทำรถยนต์แต่ละรุ่นออกมา
ฟัดเหวี่ยงกับคู่แข่งระดับสากลได้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ ก็เลยทำให้ผู้คนทั่วโลก เริ่มหันมามอง และประทับใจ
กับ Hyundai มากขึ้น
แต่ในวันนี้ ในเมื่อ Hyundai กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ระดับ World-Class เช่นเดียวกับ ค่ายญี่ปุ่น ไปแล้ว ดังนั้น
ผู้คนทั่วโลก ก็ย่อมเพิ่มความคาดหวังจากความสามารถของทีมวิศวกร Hyundai ในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ
มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำถามก็คือ ในเมื่อ Sonata Sport Tucson และ H-1 ทำผลงานได้ดีในสายตาของ Headlightmag.com เราแล้ว
Elantra ใหม่ จะพิสูจน์ตัวเองในเบื้องต้น ได้ดีไม่แพ้พี่ๆรุ่นก่อนหน้านี้กับเขาบ้างหรือเปล่า?
แน่นอนครับ Elantra ใหม่ กระฉับกระเฉงกว่า Sonata Sport ชัดเจน เหมือนเป็นการนำบุคลิกของ Sonata รุ่นก่อน
มาปรับให้เข้ากับ Packaging ของตัวรถที่มีขนาดเล็กลง ในระดับ C-Segment Upper เช่นเดียวกับ Chevrolet Cruze
Ford Focus, Honda Civic ,Mazda 3 Mitsubishi Lancer EX, Nissan Slyphy (L12F) และ Toyota Corolla
ALTIS อันเป็นคู่แข่งโดยตรง
เมื่อนั่งกางตารางสเป็ก เพียงอย่างเดียว และเมื่อได้ลองขับแล้ว คุณจะพบกับความน่าอภิรมณ์ จากบุคลิกของตัวรถ
ที่ให้การตอบสนองได้ดี กระฉับกระเฉงกว่า Sonata Sport แน่ๆ ละ แถมยังมาในสไตล์ นุ่มแต่หนึบ ไม่ได้ดิบเถื่อน
แข็งกระด้างแต่อย่างใด อุปกรณ์ที่ให้มา ก็มีลูกเล่นพอประมาณ เป็นทางเลือกใหม่ในตลาดรถยนต์กลุ่ม C-Segment
1,600 – 2,000 ซีซี ที่น่าสนใจกันเลยทีเดียว
แต่เมื่อนั่งกางใบราคา ควบคู่กันไปด้วย คุณจะเริ่มเห็น ประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคต่อยอดขายของ Elantra ในไทย
นั่นคือเรื่องของราคา
เพราะค่าตัวของ Elantra รุ่นเกียร์อัตโนมัติ อันเป็นรุ่นที่คาดว่าจะต้องขายดีนั้น ตั้งราคาเอาไว้ ในรุ่นท็อป 1.8 G
สูงถึง 1.198,000 บาท ส่วนรุ่นรองท็อป 1.8 S แปะป้ายราคา 1,088,000 บาท นับว่า แพงไปหน่อย เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่
มีมาให้
แต่ครั้นจะบอกว่า มันแพงเพราะภาษีนำเข้า ผมก็คงพูดได้ไม่ค่อยเต็มปาก เพราะในรุ่นเกียร์ธรรมดาแสนรัก
ของผม ตั้งราคาไว้เพียงแค่ 899,000 บาท !! ซึ่งถือว่า แพงกว่ารถยนต์ 1.8 ลิตร เกียร์ธรรมดา ประกอบในประเทศ
เพียงแค่ ไม่กี่หมื่นบาท เท่านั้น!!
ต่อให้ Hyundai บอกว่า ไม่สามารถกดราคาลงได้มากกว่านี้ แต่ผมมองว่าราคาขายปลีกของรุ่น 1.8 S อันเป็นรุ่น
ที่คาดว่าน่าจะขายดีที่สุด ควรจะอยู่ที่ 970,000 – 980,000 บาท จึงจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ราคาที่ถูกกว่าเดิม
90,000 – 100,000 บาท จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจยอมเซ็นใบจอง ได้ง่ายยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้
อย่างไรก็ตาม ต่อให้ใจผมอยากจะบอกว่า หากซื้อ Elantra ใหม่ การเลือกรุ่นเกียร์ธรรมดา คือทางออกที่เหมาะสม
มากๆ แต่ผมก็ยังไม่อาจเขียนอย่างนั้นได้เต็มปาก เพราะการลองสัมผัสเพียงแค่คันละ 2-3 รอบสนาม มันคงไม่
เพียงพอสำหรับการเรียนรู้บุคลิกที่แท้จริงของรถสักรุ่น…
คงต้องรอ…จนกว่าจะได้รับ Elantra ทั้ง 2 รุ่น มาทำ Full Review….
————————————————///————————————————–
ขอขอบคุณ
คุณสฤษฎร์พร สกลรักษ์ พี่แกะ ตากอล์ฟ ชเรศ
และทีมงานทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ และ Product Planing
บริษัท Hyundai Motor (Thailand) จำกัด
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
13 มีนาคม 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part
or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 13th,2011
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่