ทันทีที่ได้รับ E-mail เทียบเชิญจาก Mazda sales Thailand ให้ไปลองขับรถกระบะรุ่นใหม่
ในครั้งนี้ คำถามแรกที่ลอยเข้าหัวผมมาจากสายลมยามบ่าย 2 โมง ก็คือ
ทำไม ต้องเป็น BT-50 PRO?
ทำไมไม่ลองเป็น BT-50 Breeze Excel Ultra , หรือ BT-50 Fab หรืออะไรทำนองนี้
เพราะ PRO ก็เป็นผงซักฟอกยี่ห้อระดับรองในตลาดบ้านเรานี่หว่า? หรือ Mazda ยังคง
อยากจะเป็นเบอร์รองๆในตลาดต่อไป?
ไวเท่าความเร็วแสงเลเซอร์ ผมก็เลยตอบ E-Mail คุณพี่อุทัย เรืองศักดิ์ PR ของ Mazda
กลับไปอย่างที่คิดเอาไว้นี้ เป๊ะเลย ไม่ผิดเพี้ยน
และคำตอบที่ได้รับกลับมาทาง E-mail ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 4 นาที จากพี่อุทัย ก็คือ…
“กะว่าจะเป็น เปาปุ้นจิ้น หายากเกิน”
ใช่! ฉันลืมผงซักฟอกยี่ห้อนี้ไปแล้วได้อย่างไรกัน! ทำไมฉันไม่นึกถึง Pao Silver Nano !?
ฟังดูแล้ว เปิดเรื่องมา ก็เพ้อเจ้อ ยิงมุขแป๊ก (-_-‘) แถมยังโดนเฮียเค้าสวนมุขกลับมาซะอีก!
แต่เปล่านะ ผมไม่ได้เพ้อเจ้อ!
ก็ความจริงมันเห็นกันเด่นชัดแจ่มแจ้งแดงแจ๋เป็นก้นลิงกับเนื้อแตงโม นี่นา ว่า มันก็เหมือนกับตลาด
ผงซักฟอกนั่นแหละ ที่จะมีคนจำชื่อของ Pao ได้สักกี่คนกัน ถ้าเวลานี้ ไม่มี Siver Nano ฉันใดฉันนั้น
เวลาซื้อรถกระบะสักคัน จะมีผู้บริโภคชาวไทยสักกี่คน ที่นึกถึง Mazda กัน? มิใยที่พยายามทำโฆษณา
กันแทบตาย ตั้งแต่ยุค กมลสุโกศล ยังทำตลาดอยู่ ตอนนั้นเขาเอา คุณโชคชัย บุญกุล มาเป็นพรีเซ็นเตอร์
Mazda Magnum (ยังจำชื่อนี้กันได้ไหม?) เว้นช่วงไปจนถึงยุค คุณสมรักษ์ คำสิงห์ (แชมป์มวยเหรียญ
ทองโอลิมปิค คนแรกของไทย มาเป็น พรีเซ็นเตอร์บ้าง มาถึงยุคของ Mazda Sales Thailand เกิดไอเดีย
บรรเจิดอะไรไม่รู้ เอาพญานาค มาเลื้อยๆ ไล่ๆ BT-50 กลางลานฝุ่น ทำเอาผมเปลี่ยนช่องหนีทันทีอยู่
พักใหญ่ (พอดีเป็นคนเกลียดและกลัวอะไรก็ตาม ที่หน้าตาคล้ายงู) และล่าสุด เอามนุษย์หน้ากากใส่ชุด
รัดติ้ว เอาดรัมเบลล์ มาแปลงเป็นล้อ ยึดไว้ทั้งมือคู่หน้า และขาคู่หลัง แล่นเข้าโค้ง ลุยน้ำแตกกระจาย
ในสนาม เพื่อบอกว่า ช่วงล่าง DE-S นั้นเจ๋งมากกกก!
ถามหน่อย ทั้งหมดที่ทำมานั่นหนะ ยอดขายรถกระบะ Mazda กระเตื้องไหม? ก็อาจจะใช่นะ ดีขึ้น
กว่าสมัยก่อนนิดหน่อย แต่ก็ยังไม่ถึงจุด Peak อย่างที่ควรเป็นเสียที
Mazda ก็เลยกลับไปทำการบ้านมาอย่างหนัก ราวๆ 4-5 ปี เพื่อจะพัฒนารถกระบะรุ่นใหม่ จนเสร็จ และ
นั่นก็เป็นเหตุให้ผม มายืนตากลม ชมวิว ทิวทัศน์ในสนาม Bridgestone ที่สระบุรี อย่างนี้ไง!
ในช่วงเช้า หลังจากที่เราเดินทางจาก กรุงเทพฯ มาถึงสนามทดสอบ Mazda ก็นำเราเข้าไปฟังเรื่องราว
และรายละเอียดต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับตัวรถ ให้ได้รับทราบกัน นานราวๆ 35 – 40 นาที พร้อมกับเปิด
โอกาสให้ซักถามข้อสงสัยต่างๆในเบื้องต้น ก่อนจะไปรับประทานอาหารเที่ยง และเริ่มทดลองขับ
กันในช่วงบ่าย
มีคุณ Choichi Yuki Managing Director ของ Mazda Sales Thailand จำกัด กล่าวให้การต้อนรับ และ
คุณธีร์ เพิ่มพงศ์พันธุ์ Product Manager ของ Mazda เป็นผู้บรรยาย เกี่ยวกับรายละเอียดของ BT-50 PRO
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต้องเรียนให้คุณผู้อ่านทราบก็คือ การทดลองขับในครั้งนี้ เป็นการเชิญกลุ่มสื่อมวลชน
กลุ่มแรกในเมืองไทย ที่จะได้มีโอกาสทดลองขับ Mazda BT-50 PRO ใหม่ ดังนั้น ทุกคนที่มาร่วมงานวันนี้
จะได้ลองขับ จับสัมผัสแบบคร่าวๆ ให้พอเอาไปเขียนบทความได้ พอจะไปรายงานในรายการวิทยุได้
และพอให้มีรูปถ่ายกันแบบ นิดๆ หน่อยๆ Sneak Preview กันจริงๆ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ Mazda ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชน ถ่ายภาพในสนามทดสอบของ Bridgestone โดยอ้างว่า
ทาง สนามเอง สั่งเป็นประกาศิต ห้ามการถ่ายรูปใดๆ ที่จะเห็นผิวแทร็กของสนามอย่างเด็ดขาด ซึ่งก็ยัง
ไม่แน่ใจว่า จะเป็นคำสั่งของทาง Bridgestone เองเลยหรือเปล่า เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ เรายังสามารถ
บันทึกภาพรถกันบนสนามได้อย่างอิสระ เสรี แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มา และสนามของ
Bridgestone รอดมาได้มากพอสมควร ก็มีประกาศิตนี้ออกมา ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกัน แต่ผมก็ยังคลางแคลงใจ
จนถึงตอนนี้อยู่ดี
ถ้าเป็นประกาศิตของ Bridgestone จริง ก็ไม่รู้ว่าจะหวงห่าเหวอะไรนักหนา กับแค่ผิวแทร็กสนามของตัวเอง
กลัวว่า ค่ายอื่นจะรู้ลักษณะของพื้นผิวถนน แล้วนำไปทำสนามทดสวอบของตนเลียนแบบขึ้นมาบ้างหรือยังไง?
เอาส่วนไหนของสมองคิดกันเนี่ย?
แต่ถ้าเป็น Mazda เอง ที่คิดบอกเช่นนี้ ผมก็พอรู้เหตุผลละว่า ต้องการจะปล่อยให้ทุกคนได้สัมผัสกับ
ภายในห้องโดยสารกัน ในวันเปิดตัว พร้อมๆกัน ซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ว่า มันจะอะไรนักหนา?
ถ้ากลัวว่าจะมีใครสักคน มานั่งโกรธ เพราะว่า “ทีข้า เอ็งไม่ยอมเปิดห้องโดยสารให้เข้าไปนั่ง แต่ทีเอ็ง
กลับได้เข้าไปนั่ง” ผมว่า มันก็เป็นเหตุผลที่ ไม่ make sense อย่างรุนแรงอยู่ดี
เอาละ จะเป็นใครก็ตาม ผมก็ยังพยายามจะไม่คิดอะไรในตอนนี้ คิดไปก็เปลืองเซลส์สมองเปล่าๆ
เพราะเรื่องก็ผ่านพ้นไปแล้ว…
แต่โชคดี๊โชคดี โชคยังเข้าข้างผม ที่ช่างภาพของ Mazda คราวนี้ เป็น ตาแบงค์ ที่รู้จักกันดี มาตั้งแต่พบกัน
ในสมัยยังพูดคุยกันกับกลุ่ม Club RT ผมก็เลยขอรบกวนตาแบงค์ ช่วยเก็บภาพช็อตที่ผมต้องการมาได้เยอะ
แต่พอถึงเวลา บันทึกลงแผ่น CD แจกสื่อมวลชน พี่อุทัย เป็นคนเลือกรูปเอง ด้วยความที่รู้แกว ว่าถ้าให้พี่อุทัย
นั่งเลือกคนเดียว สงสัย ผมคงไม่เหลือรูปอะไรมาโพสต์ให้คุณผู้อ่านได้ดูกันแน่ๆ ก็เลยต้องไปเสนอหน้า
ช่วยเฮียเค้า เลือกๆๆๆๆ ว่า จะเอารูปนี้ๆๆๆๆ พี่อุทัยเอง ก็ต้องพยายามทำตามหน้าที่ บอกว่าอันนี้ให้ได้
อันนี้ให้ไม่ได้ ยืนเถียงกันขำขำอยู่นานสองนาน ในที่สุดได้รูปมา ให้คุณได้ชมกันเท่าที่พอจะเป็นไปได้
ก็เท่าที่เห็นในรีวิวนี้ นั่นละครับ…
ดังนั้น ชุดรุปทั้งหมดนี้ เป็นฝีมือของ ตาแบงค์ คนเดียวล้วนๆ ผมแทบไม่ได้ถ่ายอะไร มากไปเกินกว่า
ภาพบน Power Point Presentation เลย ขอโปรดให้รับทราบกันตามนี้
พร้อมแล้วก็เชิญทัศนา!
Mazda BT-50 PRO ใหม่ ถือเป็นรถกระบะในพิกัด Mid-size Truck รุ่นที่ 6 นับตั้งแต่สมัยรถกระบะ
รุ่น PROCEED ในยุคโบราณกาล ตามมาถึงยุคของ Mazda B-1600 , Mazda B-2200 จนกระทั่งถึง
ยุคของ Mazda Magnum พอปรับโฉม Minorchange ก็ใช้ชื่อ Mazda Thunder ก่อนจะเปลี่ยนโฉม
ใหม่ทั้งคัน เป็น Mazda Fighter ในปี 1997 และกลายมาเป็น Mazda BT-50 ในปี 2006 มาถึงวันนี้
Mazda ต้องการที่จะยกระดับรถกระบะของตน ไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ ที่แตกต่าง ไปจากรถกระบะ
คันอื่นๆ ในตลาด รวมทั้งยังจะเปิดกว้าง ต้อนรับกลุ่มลูกค้า ที่ไม่เคยซื้อรถกระบะมาก่อนอีกด้วย
Mr. Takasuke Kobayashi : Project Manager หรือผู้จัดการโครงการพัฒนา Mazda BT-50 ใหม่
เล่าว่า “สำหรับ Mazda BT-50 PRO ใหม่ เราตัดสินใจออกแบบให้เป็นรถกระบะที่มีลักษณะคล้ายรถเก๋งให้
มากที่สุด โดยเน้นในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ และการออก แบบที่มีสไตล์ตามแบบฉบับ Mazda ยุคใหม่
คุณภาพวัสดุต่างๆ ระดับสูงเทียบเท่ารถเก๋งระดับหรู เครื่องยนต์ ระบบบังคับเลี้ยว และโครงสร้างของรถ
ที่ได้รับการพัฒนาให้ตอบสนองการขับขี่ในสไตล์ Zoom-Zoom และจะต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
น้อยที่สุด รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ระดับสูงสุด”
เส้นสายภายนอกของ BT-50 PRO นั้น ถือได้ว่า เป็น รถยนต์ Mazda รุ่นสุดท้าย ที่ใช้แนวทางการ
ออกแบบ NAGARE Design Concept ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบที่เน้นความสวยงามของเส้นสาย
ที่ปรากฏในธรรมชาติ มาประยุกต์เข้ากับ แนวทางการออกแบบล่าสุดของ Mazda ที่เรียกว่า “KODO
Souls of Motion” ซึ่งเป็นการออกแบบในทศวรรษใหม่ของ Mazda ที่จะเน้นการแสดงออกถึงด้าน
จิตวิญญาณแห่งการเคลื่อนไหว ของสัคว์ป่า ที่พุ่งกระโจนไปล่าเหยื่อ อีกทั้งต้องดึงดูดผู้คนให้รู้สึก
อยากเข้าไปนั่งหรือขับตั้งแต่แรกเห็น
ดังนั้น แนวทางที่ทีมออกแบบวางเอาไว้ก็คือ BT-50 PRO ใหม่ต้องสะท้อนจิตวิญญาณของรถสปอร์ตหรู
(Sports Soul) ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ ถือได้ว่าทีมออกแบบประสบความ
สำเร็จในการยกระดับ BT-50 จากปัจจุบันเป็นรถปิคอัพเพื่อประโยชน์ใช้สอย ไปสู่รถปิคอัพรุ่นใหม่ที่
ตอบสนองทุกรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนได้กว้างขึ้นกว่าเดิม
ทีมออกแบบได้กำหนดภารกิจเรื่องการออกแบบให้รถ BT-50 PRO ไว้ว่า รถกระบะคันใหม่นี้ ต้องเป็น
รถที่ผู้ขับมั่นใจ อยากขับ และต้องสะท้อนถึงความภูมิใจของเจ้าของ โดยไม่ทิ้งความสปอร์ตที่ถูกสื่อสาร
ผ่านเส้นสายเฉียบคม ดูแข็งแกร่งเฉกเช่นมัดกล้าม เนื้อนักกีฬา สิ่งที่ทำให้ BT-50 PRO แตกต่างจาก
รถกระบทั่วไปนั้น มี 5 ประการ คือ
1. มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป้าหมายแรก ในการออกแบบ Mazda BT-50 PRO ใหม่คือ ต้องมีโดดเด่น
ทุกสายตาจะจับจ้องไม่ว่าจะขับไปที่ใด มาสด้า BT-50 โปร ใหม่จะต้องมีความพลิ้วไหว สะท้อนการ
ออกแบบในอนาคต และจะต้องมีความสปอร์ตเช่นกัน ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนหรือมองจากระยะไกล
กว่า 100 เมตร ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นรถกระบะของ Mazda แน่ๆ ไม่ผิดเพี้ยน
2. เป็นรถที่ตอบสนองความต้องการของเจ้าของรถได้อย่างแท้จริง การออกแบบรถต้องสะท้อน
บุคลิกของรถสปอร์ตระดับหรู (Sports Soul) ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ
3. เป็นรถที่มีเส้นสายในแนวทางเดียวกับรถยนต์ Mazda รุ่นอื่นๆ แต่ต้องมีบุคลิกที่แตกต่าง
อย่างชัดเจนไปพร้อมกันด้วย
4. มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าของรถ รวมทั้ง ไฟท้าย 2 ก้อนที่บริเวณบั้นท้าย เพราะ
บุคลิกของรถที่แสดงออกมาจะช่วยคัดกรองความแตกต่างของกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับรถกระบะ
รุ่นอื่นๆ
5 อุปกรณ์มีความกลมกลืนสวยงาม และต้องอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ใช้สอย และความแข็งแรงทนทาน
ควบคู่กัน
ไม่เพียงเท่านั้น งานนี้ Mazda เลือกที่จะเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ตอบสนองได้ดีขึ้น แรงขึ้น
ให้พละกำลังขับเคลื่อนมหาศาล แต่ยังต้องประหยัดน้ำมัน และปล่อยมลพิษต่ำ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัย
จากการชน การปรับปรุงระบบบังคับเลี้ยว และช่วงล่างของรถ เพื่อให้ตอบสนองได้พอกันกับ SUV ระดับหรู
อีกทั้งยังต้องมีประสิทธิภาพในการเบรกที่ดีกว่าคู่แข่งทั้งหมด
นอกจากนี้ ในด้านสมรรถนะ Mazda ยังให้ความสำคัญกับเรืองการแก้ปัญหา เสียงรบกวน แรงสั่นสะเทือน
และอาการสะท้าน (NVH : Noise , Vibration & Harshness) อย่างมาก เพื่อที่จะยกระดับให้ BT-5o PRO
กลายเป้นรถกระบะที่มีความใก้เคียงกับรถเก๋ง มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้ว่า BT-50 PRO ใหม่ จะสร้างขึ้น บนโครงสร้างแชสซี และงานวิศวกรรม ร่วมกับ Ford Ranger ใหม่ แต่
mazda พยายามสร้างความแตกต่าง ด้วยการปรับจูนเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ไปจนถึงการเพิ่มเติมรายละเอียด
เล็กๆน้อยๆ ให้แตกต่างกันมากที่สุด เรียกได้ว่า งานนี้ Mazda ทุ่มสุดตัว สำหรับการเตรียมความพร้อม เพื่อนำ
BT-50 PRO ใหม่ออกสู่ตลาด
เขียนมาจนถึงตรงนี้ หลายๆคน คงสงสัยว่า ชื่อ PRO หนะ มาจากอะไร? คำตอบก็คือ มาจากคำว่า Professional
หรือสื่อได้ว่า “มือโปร ทำรถกระบะระดับโปร ให้ลูกค้าระดับ โปร” นั่นเอง
ต่อให้จะฟังแล้ว คิดถึงชื่อรถกระบะ Nissan Datsun Professional D ในสมัยอดีตก็ตาม แต่ได้โปรดอย่านึกถึง
ความหมายในเชิง ลบ เช่น “เกรดฌแลี่ยไม่ถึง จนติด Pro (bation) เด็ดขาด!
เพราะหลังจากที่ได้ลองขับแล้ว รถคันนี้ ไม่สมควรจะติดโปร ในตารางการให้คะแนนอย่างยิ่ง! และถ้าเทียบ
เกรดเฉลี่ย ผมว่า ควรจะให้ แถวๆ เกียรตินิยมอันดับ 1 หรือ 2 ด้วยซ้ำ….
ภายในห้องโดยสาร อย่างที่ได้บอกไปครับ ภาพที่ถูกคัดเลือกส่งมาให้สื่อมวลชนทุกคน ที่ลองขับกัน
มีเพียงแค่ 2 ภาพนี้เท่านั้น ทั้งที่ สวิชต์ และตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ มันก็เหมือนกันกับภาพถ่ายของ
BT-50 ใหม่ ในต่างประเทศเลยนั่นแหละ หวงกันจริ๊งงง!
เอาเถอะ จะหวงภาพยังไงก็ตามแต่ ผมก็จับสัมผัสมาเล่าให้คุณผู้อ่านกันตรงนี้เลยว่า ตำแหน่งนั่งขับ
คือสิ่งที่ผมว่าประเสริฐมากที่สุด และแทบไม่ต้องแก้ไชอะไรอีกในภาพรวม พวงมาลัย มี Grip มือจับ
ระดับที่เหมาะสมกับรถกระบะทั่วไป ไม่อ้วนมาก และไม่บางมากจนเกินไป พอกันกับพวงมาลัย
ของ Chevrolet Colorado และ Isuzu D-Max ใหม่เลยนั่นแหละครับ บนพวงมาลัย มีสวิชต์ควบคุม
ชุดเครื่องเสียง Multi Function มาให้
ในรุ่น 4 x 4 ตัวท็อป จะมีถุงลมนิรภัยคู่หน้า มาให้ พร้อมกับมีเซ็นเซอร์ กะระยะขณะถอยหลัง
แถมมาให้จากโรงงานอีกด้วย! ติดตั้ง บนบันไดที่กระบะหลังนั่นแหละ!
ชุดมาตรวัด มีการจัดวางตัวเลข กับระยะห่างของตัวเลข ให้อ่านง่าย สบายตา ชุดเครื่องเสียงนั้น
ระหว่างที่รอคิวเรียกไปทดลองขับ ผมก็เดินไปที่หยิบเอาแผ่น CD อัลบั้มใหม่ล่าสุดของ Palmy
และ CD อัลบั้ม Natural Relax ของศิลปิน Club Jazz ชาวญี่ปุ่น Kenichi Nisihara มาเปิดฟัง
ผมพบว่า คุณภาพเสียง ดีมากๆ และถือว่า ดีที่สุดในบรรดารถกระบะเมืองไทยตอนนี้ แทบไม่ต้อง
เพิ่มเสียงใส กับเสียงเบสเลย เสียงที่ออกมา ก็ดีใช้ได้อยู่แล้วระดับหนึ่ง ส่วนแผงควบคุมต่างๆ
ก็คล้ายคลึง และยกชิ้นมาจาก Ford Ranger เลยนั่นละครับ ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก ใช้งาน
แอบยากนิดนึง แต่คลำคลำดู สักพัก ก็ใช้เป็นเอง
บานประตู Free Style Cab เปิดกางออกได้ ในระดับที่พอกันกับคู่แข่ง เบาะนั่งคู่หน้า นั่งสบายมากๆ!
แทบไม่ต้องแก้ไขอะไรอีกแล้ว เบาะรองนั่ง รองรับพื้นที่เต็มก้น และต้นขา มาจนถึงขาพับได้พอดี
เช่นเดียวกับเบาะรองนั่งด้านหลัง ที่เป็นเช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้เบาะหน้า และเบาะรองนั่งของ
BT-50 PRO เหนือกว่าคู่แข่งในตลาดทุกคัน เพียงแต่ว่า ในรุ่น 4 ประตู พนักพิงเบาะหลัง แม้จะมี
มุมเอนบ้างแล้ว แต่ก็ยังถือว่าตั้งชันกว่า Colorado และ D-Max ใหม่ อยู่นิดนึง
กระนั้น ณ วันนี้ เบาะหลังของ Triton ที่ผมถือว่า ดีที่สุดในตลาดรถกระบะ 4 ประตู ถูก BT-50 PRO
เอาไปตำแหน่งไปครองเรียบร้อยแล้ว!
นอกจากจะเปลี่ยนโฉมตัวถังทั้งภายนอกและภายในแล้ว ขุมพลังใน BT-50 PRO ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง
แบบยกชุดใหม่ กันอีกด้วย มีให้เลือก 2 ขนาด ภายใต้ชื่อเรียกทางการค้าว่า ขุมพลังแบบ DI-THUNDER
PRO ซึ่งถึงแม้ว่าจะพัฒนาโดย Ford แต่ ทีมวิศวกรของ Mazda ก็นำมาปรับปรุงให้เข้ากับุคลิกรถกระบะ
ของตนเอง มีให้เลือกทั้ง เครื่องยนต์ แบบ Diesel 5 สูบเรียง DOHC 20 วาล์ว 3.198 ซีซี จ่ายเชื้อเพลิงด้วย
หัวฉีด อีเล็กโทรนิคส์ Di – Direct Injection Common-Rial ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก 89.9 x 100.7
มิลลิเมตร ถือเป็นเครื่องยนต์ แบบ 5 สูบเรียง เครื่องแรก ในประวัติศาสตร์ของ Mazda พ่วงด้วย เทอร์โบ
แบบแปรผันครีบได้ (VNT : Variable-Nozzle Turbocharger) แถมยังขยายขนาดของ Intercooler ให้
ใหญ่ขึ้นด้วย ทำให้ ตัวเลขพละกำลังสูงสุด พุ่งไปหยุดที่ 200 แรงม้า (PS) ที่ 3,000 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 470 นิวตันเมตร ที่ 1,750 – 2,500 รอบ/นาที ให้ลองสังเกตดูตารางกราฟแรงม้า แรงบิดให้ดีนะครับ
จะเห็นว่า แรงบิดสูงสุดนั้น ไหลมาเทมาต่อเนื่องเป็นแบบ Flat Torque กันเลยทีเดียว
อีกรุ่นหนึ่ง เป็นเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2199 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 94.6 มิลลิเมตร มีโครงสร้างและระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง Turbocharger แบบ VNT พร้อม
Intercooler ใบใหม่ ใหญ่ขึ้น และพื้นฐานงานวิศวกรรมอื่นๆ แบบเดียวกับเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร แต่
ต่างกันเพียงแค่จำนวนลูกสูบที่มีเพียง 4 สูบ กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,700 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 375 นิวตันเมตร ที่ 1,500 – 2500 รอบ/นาที เครื่องยนต์บล็อกนี้จะมีน้ำหนักและขนาดที่เล็ก
กะทัดรัดกว่าเครื่องยนต์ MZR-CD 2.5 ลิตรเดิม แต่สมรรถนะที่ได้จะเท่าเครื่องยนต์ MZR-CD แบบ
2.5 ลิตรเดิม แต่ประหยัดน้ำมันมากกว่า
รายละเอียดของเครื่องยนต์ทั้ง 2 รุ่นในเชิงลึกไปกว่านี้ รออ่านกันในบทความทดลองขับ BT-50 ใหม่
เวอร์ชัน Full Review กันอีกครั้งหนึ่งครับ
ทีนี้ก็ถึงเวลาลงสนามเพื่อลองขับจริงกันแล้วละ…
เราคงต้องมาเริ่มกันที่รุ่นซึ่ง Mazda ตั้งใจจะขายให้ได้สัดส่วนมากถึง 90 เปอร์เซนต์ จากยอดขายของ
BT-50 PRO ใหม่ทั้งหมด นั่นคือรุ่น 2.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เพียงแต่ว่า รถคันที่จัดไว้ให้เรา
ได้ทดลองขับกันนั้น เป็นรุ่น 4×2 ขับ 2 ยกสูง Hi-Racer คันสีแดงเลือดหมู
รูปแบบเส้นทางนั้น ทาง ทีมงาน บริษัท i-Inspire ของคุณพีรพงษ์ กลั่นกรอง เตรียมการไว้ค่อนข้างดี
โดยจะได้ลองขับให้รู้กันทั้งการเข้าโค้ง ในหลายรูปแบบ การขับซิกแซก หักซ้าย – ขวา ความเร็วแถวๆ
30 – 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง วนเลี้ยวเป็นวงกลม 360 องศา ที่ความเร็ว ระดับเดียวกัน มีช่วงให้ลองเหยียบ
จาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (แต่ห้ามทำล้อฟรี หรือ Donut เด็ดขาด) มีพื้นผิวขรุขระ Rough Road
หลายรูปแบบให้ได้ทดลองกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสนาม Bridgestone เกิดมาเคร่งครัดกฎระเบียบอย่างมาก ตามที่บอกไป ดังนั้น
ถ้าขึ้นออกตัวล้อฟรี ดังเอี๊ยดลั่น สนั่นทุ่ง ก็คงเป็นเรื่องเป็นราวกันแน่ๆ ผมทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า
ลองจับเวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แบบ Soft Launch คือ ไม่ต้องเลี้ยงรอบเครื่องยนต์รอ แต่ จอดรถ
ให้หยุดนิ่ง แล้วค่อยใส่เกียร์ 1 ถอนคลัชต์ เหยียบคันเร่งจนสุด พารถทะยานขึ้นไป สับเปลี่ยนเกียร์
เมื่อถึงเวลาอันสมควร
อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ ขับคนเดียว ของรุ่น 2.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ อยู่ที่
13.26 วินาที…นับว่าไม่เลวเลย เมื่อเทียบกับบรรดารถกระบะด้วยกันทั่วๆไป นี่ถ้ามีโอกาส ออกตัวแบบ
เลี้ยงรอบเครื่องยนต์ไว้ที่ระดับ 2,000 รอบ/นาที และเปลี่ยนจากน้ำมันที่ใช้อยู่ (ปตท.) ไปเป็นน้ำมัน
อย่าง Shell , Caltex คิดว่า ตัวเลขน่าจะออกมาได้ดียิ่งกว่านี้อีก
การทำงานร่วมกันของเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะนั้น เป็นไปด้วยดี มีแรงดึงแบบ
พอให้รู้นะว่ามีกำลัง และให้รู้ว่าแรง แต่ไม่ได้ดึงถึงขั้นหลังติดเบาะ หรือเผ่นพุ่งโผนโจนทะยาน
แบบที่หลายๆคนคาดหวัง สัมผัสได้ว่า เข็มวัดรอบ ไม่ได้กวาดจากซ้ายไปขวา ในฉับพลันทันที ป๊าบๆๆ
อย่างที่คิด แต่เข็มจะกวาดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คันเร่ง และลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ทำงานได้ไว ทันใจ ยังไม่พบ
อาการ Lack แต่อย่างใด
คันเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ นี่ละ คือ สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจ การเข้าเกียร์กระชับดีมาก Shift Feeling
ผมให้ ยอดเยี่ยม คันเกียร์แบบ Short Stroke แถมการถ่ายทอดกำลังก็เป็นไปด้วยดี ต้องการใช้งาน
แค่ไหน ก็เรียกกำลังออกมาให้ได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญก็คือ มี สัญญาณไฟเตือนเปลี่ยนตำแหน่ง
ของเกียร์ให้สูงขึ้น เมื่อถึงรอบที่เหมาะสม หรือ Shift Indicator เป็นไฟสีเขียวเล็กๆ บนมาตรวัดรอบ
มาให้อีกด้วย!!
ภาพรวม ผมว่า เครื่องยนต์ 2.2 ลิตร เทอร์โบแปรผัน พ่วงด้วยเกียร์ธรรมดา ในรุ่น 4 x 2 Hi Racer
สอบผ่าน และสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผม หากคิดจะซื้อรถกระบขับ 2 ยกสูง แบบ Cab สักคัน
ได้แล้วเรียบร้อย อย่างง่ายดายเสียด้วย!
ส่วนรุ่น ท็อป 4 ประตู 3.2 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 4×4 นั้น พอจับเวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมนั่งขับคนเดียว จับเวลาเอง เปิดแอร์ ด้วย แน่นอนครับ ตัวเลขออกมาเร็วกว่าชัดเจน…11.43 วินาที
แม้ว่าเวลาที่ออกมาจะดีใช้ได้เลยทีเดียว แต่ในรอบแรกที่ลองขับ ผมกลับรู้สึกถึงความเนือย ไม่ถึงขั้น
กระฉับกระเฉงเท่าที่คิด ยังมีอาการหนืดๆอยู่นิดหน่อย จนผมต้องขอกับทางคุณแบงค์ เจ้าหน้าที่
ของ i-Inspire ว่า ลองขับอีกรอบได้ไหม? เมื่อคำตอบคือ “ได้เลย” ผมก็กระโดดขึ้นรถ คาดเข็มขัด
นิรภัย แล้วออกรถ
พอเริ่มขับเข้าไปลัดเลาะตามโค้ง คันเร่งไฟฟ้า พร้อมลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ก็ยังทำงานได้ตามสั่ง
สั่งแค่ไหน ทำแค่นั้น และถ้าพูดกันตามจริงคือ ผมพบว่า นิสัยของ BT-50 รุ่น 3.2 เกียร์อัตโนมัติ
6 จังหวะ น่าจะมีบุคลิกคล้ายกับ Nissan X-Trail คือ เหยียบไป ไม่รู้สึกเลยว่าแรง แต่พอจับเวลา
อ้าว! เฮ้ย! แรงกว่าใครเขาเพื่อนซะอย่างนั้น! เพียงแต่ แรงดึงจากเครื่อง 3.2 ลิตรนั้น มันมีให้เรา
ได้สัมผัสชัดเจนว่า มีแรงดึงนะ แต่ ไม่ได้ถึงกับกระชากหลังติดเบาะจนชวนให้ร้อง อู้หู อ้าหา!
แต่อย่างใดทั้งสิ้น
เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ลูกใหม่นี้ มีการเปลี่ยนเกียร์ที่ทำได้อย่างนุ่มนวล และไม่กระตุกเท่าไหร่
แต่การถ่ายทอดกำลังลงสู่ระบบขับเคลื่อนนั้น ผมยังคิดว่า มีแนวโน้มว่าน่าจะยังสูญเสียกำลังไป
ในระบบขับเคลื่อนอยู่พอสมควร ซึ่งก็ดูจะเป็นปัญหาเดิมๆของ รถยนต์ ตระกูล Mazda ที่มักจะ
สดใส กระเปรี้กระเปร่า หากเป็นเกียร์ธรรมดา แต่พอเป็นเกียร์อัตโนมัติ การตอบสนองจะเหมือน
คุณลุงผู้ที่ผ่านโลกมามาก และคิดคำนึง อย่างถี่ถ้วน ก่อนทำการเปลี่ยนเกียร์ให้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่
คุณลุงจะมีแรงทำให้เราได้
ผมเชื่อว่า ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ มาเชื่อมการทำงานกับเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร ความสนุก
ในการขับขี่ น่าจะสะท้อนออกมาให้ผมสัมผัสได้มากกว่านี้อีกแน่ๆ
ระบบบังคับเลี้ยว เปลี่ยนจาก พวงมาลัยแบบ Bolt & Nuts อันล้าสมัย กลายมาเป็นแบบ Rack & Pinion
เหมือนอย่างชาวบ้านชาวช่องเขาเป็นกันเสียที โดยทีมวิศวกรของ Mazda ได้พัฒนาโครงสร้างยึดชุด
ระบบบังคับเลี้ยวแบบ Rigid Mounting โดยไม่มีการใช้บุชยาง และติดตั้ง Damper Valve เพื่อลดแรง
สั่นสะเทือนจากพื้นถนน จึงเพิ่มความรู้สึกของการควบคุมรถที่ง่ายขึ้น
สิ่งที่เซอร์ไพรส์มาก และผมไม่คิดมาก่อนว่าจะได้เจอใน BT-50 PRO คือ การตอบสนองของพวงมาลัย
คม กระชับ ฉับไวมาก เหมือน Mazda 3 มากๆ ในช่วงความเร็วต่ำ การปรับโซ็ตอัตราทดเฟืองพวงมาลัย
ให้ลดลงจากเดิม 19.6 : 1 ให้เหลือ 16.3 : 1 ในรุ่น 4 x 2 และ จาก 21.0 : 1 เหลือ 16.7 : 1 ในรุ่น 4 x 4
คือ เหตุผลที่ทำให้การบังคับเลี้ยวของ BT-50 PRO ทำได้ดีขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม แบบ “ก้าวกระโดด” จากการเป็น
รถกระบะ ที่มีการตอบสนองของพวงมาลัย อยู่ในระดับปลายแถวของตลาด ข้ามหัวชาวบ้านชาวช่อง ชึ้นมาเป็น
“รถกระบะที่มีพวงมาลัยตอบสนองดีที่สุดในตลาด” ไปเรียบร้อยแล้ว!!
ขอร้อง ได้โปรด อย่าเปลี่ยน อย่าปรับแก้ไขพวงมาลัยอะไรไปมากกว่านี้อีก มาถูกทาง จนบรรลุถึง
เป้าหมาย ยิงเข้าเป้าเรียบร้อยแล้ว รักษาข้อดีนี้ไว้ต่อไปให้นานๆ
ระบบกันสะเทือนถูกปรับปรุงมาให้เน้นการตอบสนองต่อการบังคับควบคุมได้แม่นยำยิ่งขึ้น ต้องมี
เสถียรภาพและความนุ่มนวลในการขับขี่ ไม่ว่าจะบรรทุกของไว้บนกระบะหลังหรือไม่ก็ตาม และ
จะต้องมีบุคลิก โน้มเอียงไปในแนวทางของ SUV ชั้นดี มากกว่าจะเป็นรถกระบะ
นั่นจึงเป็นที่มาให้มีการเปลี่ยนรูปแบบระบบกันสะเทือนด้านหน้า จากทอร์ชันบาร์ เป็นแบบปีกนกคู่
Double Wishbone เปลี่ยนมาใช้คอยล์สปริง (Coil Spring) พร้อมเหล็กกันโคลงหน้า (Stabilizer bar)
ถูกเปลี่ยนตำแหน่งไปยึดติดอยู่กับแกน Axle ไม่ใช่ที่ตำแหน่ง Lower Arm เหมือนรุ่นเดิม การเปลี่ยน
ตำแหน่งติดตั้งนี้ทำให้เหล็กกันโคลงมีค่า Roll Stiffness ดีขึ้นจึงช่วยลดการโคลงได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ตัวบุชยาง (Rubber Bush) ทำจากยาง Damping rubber ชนิดที่ช่วยซับแรงสั่นสะเทือนของชิ้นส่วนโลหะ
ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เพิ่มความนุ่มสบายในการขับขี่ และลดแรงสั่นสะเทือนจากพื้นถนน
ส่วนระบบกันสะเทือน ด้านหลังยังคงเป็นตับแหนบ ตามเคย แต่มีการปรับปรุงด้วยการใช้โครงสร้าง
การยึด Shackle (โตงเตง) ไว้กับตัวเฟรมและความหนาเหล็กที่หนาขึ้น เพิ่มความยาวของแหนบขึ้น
เป็น 1,330 มิลลิเมตร เพิ่มความสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น Leaf-eye Bushing ด้านหน้า
มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 55 มิลลิเมตร (ใหญ่ขึ้นอีก 15 มิลลิเมตร) ช่วยลดแรงสั่นสะเทือน
จากระบบขับเคลื่อน และให้ความนุ่มนวลขณะขับขี่มากยิ่งขึ้น และโตงเตง Shackle Bushing พร้อม
ยางซับแรงกระแทกและลดแรงตึง ถูกออกแบบใหม่ด้วยรูปทรงใหม่และวัสดุใหม่ จึงช่วยลดอาการ
โคลงตัวและการบิดตัวของช่วงล่างด้านหลัง
บนทางเรียบยางมะตอย BT-50 PRO ใหม่ ไม่ปรากฎอาการดีดเด้งจากความนุ่มนวลเกินไปของ
ระบบกันสะเทือนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันพยายามเก็บอาการได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ยิ่งเมื่ออยู่ในโค้ง การตอบสนอง นอกจากจะแม่นยำแล้ว รถยังนิ่งมาก การเอียงตัว เป็นไปอย่าง
เหมาะสม ไม่เอียงมากจนน่าหวาดเสียวแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อทำงานร่วมกับ พวงมาลัยแบบใหม่
ด้วยแล้ว ทำให้การบังคับรถไปตามทางโค้งที่ลัดเลาะ ไม่ยาก ไม่เหนื่อยเกินไป แถมการเปลี่ยน
เลนกระทันหัน ยังพบว่า โครงสร้างเฟรมแชสซี และโครงสร้างตัวถัง ซึ่งออกแบบจุดยึดระหว่าง
พื้นใต้ท้องรถกับเฟรมแชสซีกันใหม่ ทำให้ช่วยควบคุมโครงสร้างตัวถัง ให้ไม่ต้องบิดตัวมากนัก
เข้า – ออกจากโค้งได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และฉับไว ยิ่งกว่าเดิมมาก
บนพื้นผิวขรุขระ ทั้งที่ความเร็ว 60 และ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อระบบกันสะเทือนถูกปรับแต่งมา
ในแนวหนึบ แต่ติดนุ่มนิดหน่อย ดังนั้น เมื่อช็อกอัพและสปริง พยายามร่วมกันทำงานให้ครบลูป
วงจรของมัน (คือเมื่อล้อเจอเนิน หรือหลุมบ่อปุ๊บ ล้อต้องดันตัวขึ้น หรือยืดตัวลง ส่งแรงให้ช็อกอัพ
ทำงานหดตัวขึ้น หรือยืดตัวลง) ก็เลยอาจเกิดอาการเด้งนิดๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ถือว่าน้อยมากเมื่อ
เปรียบเทียบกับรถกระบะรุ่นปัจจุบันที่ขายกันในท้องตลาดทั่วไป
ระบบเบรกของทั้ง 2 รุ่น ยังคงเป็นแบบหน้าดิสก์เบรก มีรูระบายความร้อน เส้นผ่าศูนย์กลางจานเบรก
เพิ่มข้นจาก ขนาด 14 นิ้ว เป็น 16 นิ้ว และในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ได้เปลี่ยนจากคาลิปเปอร์แบบลูกสูบ
เดี่ยวเป็นแบบลูกสูบคู่ (Twin Piston Caliper) เช่นเดียวกับรุ่นขับเคลื่อน 4ล้อ จึงช่วยเพิ่มสมรรถนะการ
ชะลอ และหยุดรถ ได้มากยิ่งขึ้น ส่วนด้านหลังยังคงเป็นแบบดรัมเบรก ตามมาตรฐาน รถกระบะทั่วไป
ในเมืองไทยเหมือนเดิม พร้อมระบบเพิ่มแรงเบรกอัตโนมัติ
ภาพรวมถือว่า มีการตอบสนองดีกว่า BT-50 รุ่นเดิมอย่างชัดเจน เบรกได้นุ่มนวลและใกล้เคียงกับรถเก๋ง
มากยิ่งขึ้น การชะลอความเร็ว ให้รถหยุดอย่างนุ่มนวล ทำได้ง่ายดาย คุมน้ำหนักเท้าให้ดีๆเท่านั้น และ
ต่อให้ต้องชะลอรถลงมาจากย่านความเร็วสูง ก็ยังทำได้ดี และการหน่วงความเร็ว ก็ทำได้ดีขึ้น แป้นเบรก
ตอบสนองได้ Linear ขึ้น
นอกจากนี้ BT-50 PRO ใหม่ ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย รุ่นใหม่ล่าสุด ยกมาจากรถเก๋ง
และ SUV ระดับหรู มาให้มากมายไม่น้อยหน้าชาวบ้านชาวช่องเขา นอกจากจะติดตั้งระบบป้องกัน
ล้อหมุนฟรี TCS – Traction Control System ระบบป้องกันล้อล็อก 4 ล้อ 4W-ABS Antilock Braking
System พร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD – Electronic Brake Force Distribution มาให้แล้ว ยังมี
ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง DSC – Dynamic Stability Control ระบบเพิ่มแรง
เบรกฉุกเฉิน EBA – Emergency Brake Assist ระบบสั่งการเบรกอัตโนมัติ BOS – Brake Override
System ระบบสัณญาณไฟฉุกเฉินกระพริบเมื่อเบรกฉุกเฉิน ESS – Emergency Stop Signal ระบบ
ควบคุมการบรรทุกแบบแปรผัน LAC – Load Adaptive Control ระบบช่วยลดการเหวี่ยงตัวเมื่อต้อง
ลากจูงรถพ่วงท้าย TSM – Trailer Sway Mitigation ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ ROM – Roll Over
Mitigation ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA – Hill Launch Assist และระบบควบคุมความเร็ว
ขณะขับขี่ลงทางลาดชัน HDC – Hill Descent Control
แต่ แน่นอน ต้องเน้นย้ำว่า อุปกรณ์ความปลอดภัยเหล่านี้จะติดตั้งเป็นอุปกรณ์เสริมในแต่ละรุ่น
คงไม่อาจติดตั้งมาให้ได้ครบทุกรุ่นได้แน่ๆ
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
อย่าเพิ่งซื้อรถกระบะคันไหน ถ้ายังไม่ได้ลองเจ้านี่!
เมื่อครั้งที่ผมมีโอกาสได้เห็นภาพถ่ายครั้งแรกของ Mazda BT-50 รุ่นก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2006 ผมรู้สึก
เซ็งจิต และถามกับตัวเองว่า..”นี่ฉันจะต้องทนเห็นหน้าตาของมันไปอีก 5 ปีเลยเหรอ?”
มาวันนี้ Mazda พยายามจะบอกกับผมว่า การรอคอยอันยาวนานถึง 5 ปีนั้น คุ้มค่า เพราะพวกเขา นำ
ทุกเสียงสะท้อนจากผู้บริโภค ลูกค้า สื่อมวลชน ผู้จำหน่าย แทบทั้งหมดที่ได้พบ นำไปขบคิด พิจารณา
และค้นหาจุดยืนของตัวเองในตลาดรถกระบะเมืองไทย อันได้ชื่อว่า เป็นตลาดที่มียอดขายรถกระบะ
ขนาด 1 – 2 ตัน มากที่สุดในโลก (หากไม่นับสหรัฐอเมริกา) กันเสียใหม่
เป็นโชคดีของ Mazda ที่มีทีมวิศวกร พัฒนารถยนต์เก่ง และทีมงานด้าน Product Planning มองเกมทะลุ
ตีโจทย์แตก ตัดสินใจ เบนเข็ม นำ Mazda BT-50 ใหม่ ไปสู่การเป็นรถกระบะเพื่อตอบสนองลูกค้าซึ่ง
ต้องการรถที่มีลักษณะและบุคลิกการขับขี่ ใกล้เคียงกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
ทำให้ BT-50 PRO ใหม่ กลายเป็นรถกระบะมีจุดยืนแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดอย่างชัดเจน แถมยังน่าจะ
เป็นรถกระบะที่ทำให้ ลูกค้ากลุ่มซึ่งใช้รถเก๋งเป็นหลัก แต่จำเป็นต้องมองหารถกระบะไว้ใช้งานสักคัน
น่าจะไม่ต้องปรับตัวในการขับขี่ มากนัก
เพราะ ในภาพรวม การลองขับสั้นๆ พอจะทำให้เราได้รู้ว่า BT-50 PRO ใหม่ มีการบังคับเลี้ยวที่ดีจน
น่าประทับใจ รวมทั้งการเข้าโค้งที่นิ่ง และมั่นใจได้ บนพื้นผิวถนนเรียบราดยางมะตอย แถมในรุ่น
เกียร์ธรรมดา ยังมีคันเกียร์ที่ให้สัมผัสใกล้เคียงกับคันเกียร์ธรรมดาของรถเก๋งจากยุโรป อีกด้วย!
และที่เจ๋งกว่าเพื่อนพ้อง ก็คงต้องยกนิ้วให้การออกแบบห้องโดยสารภายใน โดยเฉพาะแผงหน้าปัด
ที่ทำให้ลืมไปเลยว่า รถที่ขับอยู่เนี่ย คือรถกระบะนะ! เบาะนั่งคู่หน้าก็สบายที่สุด ส่วนเบาะหลัง
มีเบาะรองนั่งที่รองรับได้เต็มพื้นที่ต้นขา ฟังดูเหมือนว่า รถคันนี้ น่าจะเป็นรถกระบะที่ดีที่สุด
ในคตลาดบ้านเราเลย
แต่ สำหรับสมรรถนะจากเครื่องยนต์นั้น ใจผม ยังรู้สึกติดใจอยู่นิดหน่อย เพราะในบางช่วง สัมผัสได้
ทันทีเลยว่า แรง แต่ในบางช่วง กลับสัมผัสว่า หนืด และเหมือนยังเรียกพละกำลังออกมาได้ไม่เต็มที่นัก
แถมยังน่าสงสัยว่า การพัฒนาเครื่องยนต์บล็อกใหม่นี้ จะช่วยให้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ประหยัด
น้ำมันยิ่งกว่าเดิม ไปได้ มากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อผนวกกับตัวถังที่ใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้
โอกาสที่ตัวเลขความประหยัดจะดีขึ้นแบบก้าวกระโดด ดูจะเกิดขึ้นได้ยาก
2 ประเด็นนี้ เราจะขอแปะป้ายลายนิ้วมือจำนำกันไว้ก่อน คงต้องรอให้การเปิดตัวผ่านพ้นไปก่อน
แล้วค่อยมาว่ากันอีกครั้ง
เปิดตัวเมื่อไหร่?
Mazda มีกำหนดเปิดตัว BT-50 PRO ใหม่ ในวันที่ 24 มกราคม 2012 นี้ เลื่อนออกมาจากวกำหนดเดิม 1 วัน
เนื่องจาก ไม่สามารถจองโรงแรม และสถานที่จัดงาน ได้ตามต้องการ (โรงแรมทุกแห่ง เต็มหมดแล้วในวันนั้น)
เปิดตัวแล้ว มีรถพร้อมส่งมอบเลยหรือไม่?
พี่ซู สุรีย์ทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี แห่ง Mazda Sales Thailand ยืนยันว่า “ทันทีที่เปิดตัว ตามสไตล์ Mazda
เราจะต้องมีรถพร้อมส่งมอบให้ลูกค้าในทันที โดยเราจะเตรียมรถไว้ทั้งหมด 2,500 คัน และจะพร้อมส่งมอบได้ทันที
ทั้งรุ่น เครื่องยนต์ 2.2 ลิตร และ เครื่องยนต์ 3.2 ลิตร”
ไว้เปิดตัวแล้วเมื่อไหร่ Headlightmag.com จะรีบยืมรถมาทำบทความฉบับ Full Review กันให้เร็วที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างแน่นอน…
สัญญา ด้วยเกียรติของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่กันเลยทีเดียว!
———————————///———————————-
ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to:
บริษัท Mazda Sales (Thailand) จำกัด
และบริษัท i-inspire จำกัด โดยคุณ พีรพงษ์ กลั่นกรอง
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในเมืองไทยทั้งหมด เป็นผลงานของ คุณแบงค์ และ Mazda Sales (Thailand)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
23 ธันวาคม 2011
Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 23rd,2011