เช้าวันศุกร์ ที่ 12 มีนาคม 2010 สำหรับคนไทยทั่วๆไปแล้ว อาจจะกำลังอยู่ในระหว่างลุ้นระทึก
ว่าตกลงแล้ว จะได้ออกไปทำงานกันอย่างสะดวกโยธินหรือไม่ เพราะในวันนี้ มีการประกาศว่า
จะมีศึกมหกรรมกีฬาสี ครั้งยิ่งใหญ่ ทั่วกรุงเทพมหานคร
แต่สำหรับคนในวงการรถยนต์ วันนี้ ก็มีอีกเรื่องให้ลุ้นระทึกไม่แพ้กัน
ถ้าคุณทำงานอยู่ในบริษัทรถยนต์ สื่อมวลชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงคนอื่นๆ
อาจจะลุ้นอยู่ว่า ราคาเปิดตัวของ ECO Car คันแรก ในประเทศไทย จะเปิดออกมา
เริ่มต้นที่เท่าไหร่?
ส่วนสำหรับคนของ Nissan พวกเขาก็ลุ้นระทึกไม่แพ้กัน
ลุ้นว่า งานเปิดตัวจะผ่านพ้นไปด้วยดีหรือไม่ (สรุปว่า ผ่านไป แต่ไม่ค่อยจะด้วยดีนัก)
ลุ้นว่า จะมีใครมาป่วนงานจนปวดกบาลกันหรือไม่ (สรุปว่า ไม่มี ดีแล้ว)
ลุ้นว่า ท่านรองนายกฯ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี จะมาเป็นประธานในพิธี
ทำคลอด ECO Car ออกจากโรงงาน ได้ทันตามกำหนดการเดิมหรือไม่ (สรุปว่า ไม่ทัน มาช้ายังดีกว่าไม่มานะจ้ะ)
ลุ้นว่า จะมีนักข่าว เขียนถึงรถคันนี้ กันในแง่ใดบ้าง (คนแรกที่เขียน ก็ข้าพเจ้า อ่านได้ข้างล่าง)
และที่สำคัญ ลุ้นระทึกว่า สาธารณชน จะตอบรับกับรถคันนี้ กันอย่างไร (สรุปว่า เริ่มต้นมา โดนด่าเรื่องราคาเละไป 1 ยก)
ผมเอง ก็แอบลุ้นอยู่เล็กๆ เหมือนกัน
ถึงได้ต้องรีบแหกขี้ตาล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำสาระผม แต่งตัว
หัวยังไม่ทันจะเช็ดแห้งดี ก็ต้องรีบออกจากบ้าน ย่านบางนา-ตราด
กม.8 บึ่งมายัง โรงงานของ Nissan ที่ ถนนสายเดียวกัน แต่ไกลออกไป
อยู่ที่ กม.21 เพื่อไปดูว่า วันนี้ Nissan พร้อมแค่ไหน กับการจัดงานแถลงข่าว
เปิดตัว Nissan MARCH ECO Car คันแรก ที่ได้เวลาเปิดตัว ซะที พอดีจังหวะ
กันเหลือเกิน
ในที่สุด หลังจากนั่งรอกันจน แทบจะบอกเจ้าภาพว่า ข้าพเจ้าขอลากลับไปนอนต่อ
อีกสักงีบ งานเริ่มเมื่อไหร่ ช่วยโทรไปปลุกด้วย…แต่ก็เกรงใจ ขืนทำอย่างนั้น
ก็อาจโดนเจ้าภาพด่าเปิง เละเทะ ก็เป็นได้
ฯพณฯ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็เดินทางมาถึง พร้อมกับกล่าวสุนทรพจน์ เล็กๆน้อย
โดยมี Mr.T Shiga COO ของ Nissan Motor Co.,ltd กล่าวให้การต้อนรับ
เป็นอย่างดี ตามธรรมเนียมในฐานะเจ้าบ้าน ทั้งที่ก่อนหน้านั้น น้าเค้าเดินพล่าน
ไปทั่วงาน อย่างน่าแปลกใจเล็กๆ
สงสัยคงกลัวว่า ECO Car คันแรกของตน จะไปรอดหรือเปล่า
ก่อนอื่น ECO CAR ที่พูดกันอยู่ได้ ช้านานหนะ มันคืออะไร?
ในที่อื่นๆ ECO CAR แน่นอน มันหมายถึง รถยนต์ประหยัดพลังงาน และปล่อยมลพิษต่ำ รักษา
สิ่งแวดล้อม ในญี่ปุ่น เวลานี้ ก็มีโครงการ ECO CAR คือ เป็นโครงการ ให้ส่วนลดทางด้านภาษี
แก่ผู้บริโภค ที่ขายรถคันเก่า แล้วนำมาแลกซื้อรถคันใหม่ ที่ประหยัดเชื้อเพลิง กว่าเดิม ทว่า นั่นคือ
ECO CAR ในแดนอาทิตย์อุทัย
แต่ ECO CAR ในความหมายของ สยามเมืองยิ้ม ก็คือ โครงการส่งเสริมการลงทุน ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก
เพื่อผลักดันให้ขายในประเทศได้ และกลายเป็น สินค้าส่งออก ในหมวดรถยนต์ ที่สำคัญเป็นลำดับ 2
รองจาก รถกระบะ พิกัด 1 ตัน นั่นเอง (โอ้ ต่างกันคนละโลกเลย)
โครงการนี้ เริ่มต้นเมื่อช่วงต้นปี 2004 โดยคุณวัชระ พรรณเชษฐ์ อดีตผู้บริหารของ บริษัทเอ็มเอ็มซี สิทธิผล
ที่เคยผลิตและขายรถยนต์ Mitsubishi ในบ้านเรา ตอนนั้น ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง
อุตสาหกรรม (คุณพินิจ จารุสมบัติ) ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนเสนอ และผลักดันให้เกิด
โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงาน (ECO Car) ไปชักชวนบริษัทรถยนต์อื่นๆ จากทั่วโลกมาร่วมโครงการกัน
ในช่วงแรก มีการกำหนดขนาดตัวถังรถออกมาด้วย ว่าตัวรถต้องยาว 3.6 เมตร กว้างแค่ 1.63 เมตร ในตอนนั้น
นิสสัน และผู้ผลิตบางค่าย ไม่เห็นด้วย ในประเด็นนี้ เพราะอ้างว่า จะทำให้เป็นการจำกัดขีดศักยภาพ
ในการพัฒนารถยนต์ เพื่อผู้บริโภค อย่างเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้ว ในกลุ่มตลาด Kei-Jidosha หรือ K-Car
ไม่เกิน 660 ซีซี ในตลาดญี่ปุ่น ที่ทุกวันนี้ จะพยายามสร้างรถอย่างไร ก็เจอข้อจำกัดทางกฎหมายญี่ปุ่น
บล็อกเอาไว้หมดแล้ว
ต่อมา เมื่อรัฐบาลทักษิณ ปรับ ครม.มีการเปลี่ยนตัว รัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นคุณวัฒนา เมืองสุข
ผู้ช่วยก็เลยต้องเปลี่ยนตาม คุณวัชระ ไม่ได้เข้าร่วม ตอนนั้น โครงการ ECO Car ถูกรื้อจากลิ้นชักขึ้นมาใหม่
เรียกว่าโครงการ ACEs Car พร้อมกับปรับสเปกเป็นความยาว 3.6 เมตร และกว้าง 1.63 เมตร และมีการร้องขอ
ให้กระทรวงการคลัง ยอมลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถประเภทนี้เหลือเพียง 10% (ในตอนนั้น)
ไปๆมาๆ สงสัย ผู้ผลิตรถยนต์ คงจะบ่นกันอุบ เรื่องการกำหนดขนาดตัวรถ เสียจนรัฐบาลตอนนั้น
เกรงใจ กลัวไม่มาลงทุนกัน คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มารับตำแหน่งแทนคุณวัฒนา ในการปรับ ครม.
ครั้งต่อมา ก็เลยศึกษาดูจนได้ข้อสรุปว่า “เอาวะ ไม่กำหนดขนาดตัวถังรถก็แล้วกัน” และ Nissan นี่แหละ
ก็เป็นเจ้าแรกที่ร้อง ไชโย ซะดังลั่น…
ต่อมา 20 พฤศจิกายน 2549 ที่ประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ในยุครัฐบาล
ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มีมติสนับสนุนโครงการอีโคคาร์ในประเทศไทย
โดยข้อกำหนด อย่างเป็นทางการ ของรถยนต์ ที่จะสามารถยื่นขอรับสิทธิ์ ส่งเสริมการลงทุน
ตามแผนการ ECO CAR นี้ได้ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.เครื่องยนต์ที่จะติดตั้งในตัวรถคันจริงที่ทำตลาดอยู่นั้น
หากเป็นเครื่องยนต์ เบนซิน จะต้องมีความจุกระบอกสูบ ไม่เกิน 1,300 ซีซี
ส่วนเครื่องยนต์ ดีเซล จะต้องมีความจุกระบอกสูบ ไม่เกิน 1,400 ซีซี
2.จะต้องมีการปล่อยมลพิษออกมาในระดับ ตามกว่ามาตรฐานมลพิษ EURO IV
และมีค่าการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ต่ำกว่า 120 กรัม / 1 กิโลเมตร
(หรือ เข้าใจง่ายๆคือ ต้องปล่อยไอเสียน้อยกว่ามาตรฐาน EURO III ที่ใช้ใน
บ้านเราตอนนี้ลงอีกถึง 50%)
3. ต้องมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจากการวัดตามมาตรฐานของทางยุโรป
อยู่ในพิกัด 5 ลิตร ต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร (หรือตีเสียว่า 20 กิโลเมตร/ลิตร
ซึ่งต้องบอกก่อนว่า มันคือ การใช้มาตรฐานยุโรป ECE Reg.101 ซึ่งจำลองการขับขี่
ในห้อง Lab เสทือนการขับขี่จริง ทั้งในเมือง และนอกเมืองผสมกัน คือมีทั้ง
การเร่ง เบรก และใช้ความเร็วคงที่ ต่อเนื่อง ซึ่งความเร็วที่ใช้นั้น น่าจะอยู่
ในระดับแถวๆ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งผลที่ได้ ยังไงๆ ก็สูงกว่า และเป็น
หนังคนละเรื่องกับ การทดลองวิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
ที่ Headlightmag.com ของเราทำการทดลองกันตามปกติแน่นอน)
4. โครงสร้างตัวถัง ต้องมีความปลอดภัยจาการชน เพียงพอ
ตามมาตรฐานของยุโรป (UNECE Reg. 94 จากการชนด้านหน้า
แบบไม่เต็มหน้าที่ความเร็ว 56 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ Reg. 95
หรือการชนด้านข้าง ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
Nissan เป็นหนึ่งในค่ายแรกๆที่พร้อมเข้าไปยื่นขอเข้าร่วมโครงการนี้
และแผนของ Nissan นั้น ก็ค่อนข้าง จะทำเอาคู่แข่งทั้งหลาย อึ้งไปเลย
เพราะส่วนใหญ่แทบทุกค่าย สามารถปฏิบัติ ตาม ข้อกำหนดของโครงการที่ว่า
“ผู้ผลิตต้องเสนอแผนงานชัดเจน ประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์
ผลิตเครื่องยนต์และการผลิตจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ มูลค่าการลงทุนต้องไม่ต่ำกว่า
5,000 ล้านบาท”
แต่ส่วนใหญ่ จะยังกังวลกันในข้อที่ว่า “ต้องเสนอแผนการลงทุนการผลิตระยะยาว 5 ปี
โดยตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไปจะต้องมีปริมาณการผลิตในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 100,000 คัน”
ซึ่งข้อนี้ Nissan บอกว่า ไม่กลัว เฉยๆ ชิลๆ เพราะว่า ยังไงๆ ยอดผลิตทั้งหมด
ของ March ทั้งแบบประกอบเสร็จแล้วทั้งคัน CBU (Complete Built Unit)
หรือ แยกชิ้นส่วนเป็น CKD (Complete Knock-down) มันจะสูงถึงระดับ
100,000 คัน/ ปี รวมกัน ได้แน่ๆ
เพราะ Nissan เล่นมุข ไม่นำรถยนต์รุ่นที่มีอยู่แล้ว มาผลิตขาย หากแต่ใช้วิธี
พัฒนารุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change ของ Sub-Compact Hatchback ใน
พิกัดขนาด B-Segment รุ่น March มาทำเป็นรถ ECO Car คันแรกของตนในไทย
กันซะเลย!!!
แล้วเวลาที่รอคอยก็มาถึง MARCH น้อยน่ารัก ก็พุ่งตัวออกมา จากสายการผลิตที่เตรียมไว้ สู่สายตาคนไทย ซะที
ทำไมต้องเป็น MARCH?
ก็เพราะตอนที่ โครงการ ECO Car เริ่มต้นขึ้นนั้น Nissan เอง กำลังเริ่มคิดทำ
รุ่นเปลี่ยนโฉมของ MARCH พอดีๆ งานนี้ ก็เลยเหมือนลูกฟุตบอลที่พุ่งเข้าเท้า
ของดาวยิงประจำทีม
ตกลงแล้ว MARCH เป็นรถยนต์แบบไหนกันแน่
คำตอบก็คือ ถ้าเป็นตลาดโลก ต้องถือเป็นรถยนต์ Sub-Compact Hatchback B-Segment
แข่งขันกับ Honda Jazz (Fit ในญี่ปุ่น) , Toyota Yaris (Vitz ในญี่ปุ่น)
Mazda 2 (Demio ในญี่ปุ่น) Suzuki Swift, Volkswagen Polo, Volkswagen FOX
แต่ถ้าเป็นตลาดเมืองไทย คงต้อง จัดอยู่ในกลุ่มตลาด ECO Car ซึ่งยังไร้คู่แข้่งโดยตรงไปแทน
และมีคู่แข่งอ้อมๆ คือ รถยนต์ B-Segment ระดับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร รุ่นล่างๆ ราคา ต่ำกว่า
5.5 แสนบาท จ้องเขม่นกันอยู่
อ้าว? ทำไมเป็นเช่นนั้น?
“เพราะ Nissan เลือกที่จะทำเครื่องยนต์ และออกแบบตัวรถ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนด
ของโครงการ ECO Car ทั้ง 4 ข้อ พอดีเป๊ะ นั่นเอง นั่นหมายความว่า ต่อให้รถของคุณ
จะมีขนาดใหญ่โตเท่าบ้าน ถ้วางเครื่องยนต์ ไม่เกินพิกัดที่ระบุไว้ในโครงการ ECO Car
และสามารถประหยักน้ำมันเชื้อเพลิงได้ตามนั้น ปล่อยมลพิษออกมาได้ตามนั้น ก็สามารถ
เป็นรถยนต์ ECO Car ในเมืองไทยได้แล้วละ!
พิธีการ Line-Off Ceremony ผ่านพ้นไปเรียบร้อย
Nissan ก็เปิดให้แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ได้ขึ้นไปลองนั่งเล่น
ใน MARCH ใหม่ทั้ง 4 สี 4 คัน ซึ่งจอดเรียงต่อเนื่องกัน อย่างที่เห็นนี้
เอาให้ฉ่ำปอด หลังจากที่ต้องรอกันมานาน ยิงกว่า พจมาน จะได้รับการยอมรับ
หลังอยู่ในบ้านทรายทองซะอีก
สีตัวถัง คราวนี้ สีสันคัลเลอร์ฟูล กันซะจริง แม้ในบ้านเราจะผลิตครบ 10 สี
แต่ได้ขายในบ้านเราจริงๆ แค่ 6 สี (สีแดง น้ำเงิน และ แชมเปญ โกล์ด รวมทั้งสีขาวธรรมดา
คือสีที่ไม่ส่งขายในไทย)
สีที่ใช้ในการโฆษณาคือ สีส้ม Sunlight จะเป็นสีหลัก นอกนั้น มีสีเขียวอ่อน Spring Green
ม่วงอ่อน Crystal Lilac (สีเดียวกับรถคันที่คุณเห็นในภาพ Spyshot จากออสเตรเลียนั่นละครับ)
สีขาวมุก สีดำ และสีเงิน มีให้เลือกครบในทุกรุ่น ยกเว้น รุ่นล่างสุด 1.2 S เอาสีม่วงอ่อน LILAC
สีเงิน และสีดำ ไปใช้ 3 สี แค่นั้น และเท่านั้น (-_-‘) คันที่เห็นนี้คือ 1.2 E MT
พิธีการต่างๆ หนะเสร็จเรียบร้อย
แต่ เวรกรรมของข้าพเจ้า และหมู่เฮา ยังไม่จบสิ้นลงแต่อย่างใด
เรายังต้องขึ้นรถตู้ ที่จัดเตรียมไว้อย่างดี นั่งเข้าไปในสำนักงานใหญ่
ของ Nissan Motor Thailand กม.22 ซึ่งเชื่อมต่อกันได้ ด้วยสะพานข้ามคลอง
บนพื้นที่ของโรงงาน จะได้ไม่ต้องออกไปอ้อม เข้ามาทาง ถนนบางนา-ตราด
ให้เสียเวลา ถึงยังศูนย์ NTCSEA จัดแถลงข่าวกันใน อาคาร Workshop ติดแอร์
เปิดให้เย็นฉ่ำ สู้อากาศอันร้อนดุเดือด เพื่อมาร่วมพิธีแถลงข่าว เปิดตัว MARCH
ในตลาดเมืองไทยอีกครั้ง อย่างเป็นทางการ และเฉลยแผนการตลาด รวมทั้งราคา
อันแสนสุดจะน่าประทับจิตเหลือเกิ๊นนนนน อย่างที่ทุกท่านคงทราบกันดี
ว่า เริ่มต้นที่ 375,000 บาท และไปจบเอาที่ 537,000 บาท แค่เพียงสลับตัวเลขกัน
ความรู้สึกของหลายๆท่าน ก็อาจะเปลี่ยนไป
ยังก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อนลังเลใจอะไรขนาดนั้น เรายังไมได้ทดลองขับกันเลย
รอให้ความสับสนวุ่นวายในการจัดแบ่งกลุ่มนักข่าว ต้อนขึ้นรถและไปกินข้าวเที่ยง
ผ่านพ้นให้เรียบร้อยเสียก่อน
อาหารมื้อเที่ยง ที่ถูกจัดเตรียมไว้ ยังไม่ทันจะตกถึงท้อง ครบ 5 นาทีนัก
Nissan ก็แจ้งมาว่า จะให้มีการทดลองขับกันในแบบ Touch & Feel….
คือ ขับกันสั้นๆ สั้นมากๆ สั้นจน ผู้คนในวงการเขาอดแซวกันแทบไม่ได้เลยว่า
“ลองขับ กัน แค่ 0.55 กิโลเมตร เนี่ยนะ?”
ครับ ขับกันแค่นั้นจริงๆ! ก็ดูสนามหลังโรงงาน ที่เขาเตรียมเอาไว้ให้สื่อมวลชนได้
ทดลองขับแบบสั้นๆ กันดูสิครับ เกิดมา เพิ่งเคยเจอ ว่าสนามที่เอาไว้ใช้ในการทดลองรถ
มันสั้นได้มากมายขนาดนี้ มันน่าหงุดหงิดม๊ากกกกกกกกกก สนามขับขี่ ปลอดภัย ของ
Yamaha ที่อยู่ในอาณาบริเวณใกล้ๆกัน ยังจะมีระยะทางยาวกว่าเลย!!
เพราะว่า การทดลองขับแบบนี้ มันไม่ได้ต่างะไรกับ การแจกตัวอย่าง ขนมปังแซนด์วิช
ที่เสียบไม้จิ้มฟันเอาไว้ ให้ผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาในซูเปอร์มาร์เก็ต หยิบขึ้นมาใส่ปาก
แล้วก็เคี้ยวแบบพอเป็นพิธี 3-4 ครั้ง ก่อนจะกลืนลงท้องไป โดยที่แทบไมได้สัมผัส
รสชาติที่แท้จริงอะไรกับเขาเลย
ต่อให้รู้ว่า คุณผู้อ่าน จะอยากรู้ ถึงรายละเอียด และสมรรถนะ ที่แท้จริง ของ March ว่าเป็นอย่างไร
แต่ถ้า เราจะเริ่มต้นกันดื้อๆ โดยไม่ย้อนให้เห็นถึงที่มาที่ไปกันสักหน่อย ผมว่า คงจะไม่ค่อยดีนัก
ดังนั้น ต่อไปนี้ คือข้อเท็จจริง ที่ผมคิดว่า อยากจะบอกเล่า เพื่อให้คุณผู้อ่าน เข้าใจตรงกัน
และจะได้ ไม่สับสน เวลาจะเอาไปถกเถียงกับเพื่อนฝูง ก็จะได้เถียงกันให้มันถูกๆ หน่อย
จะได้ไม่ต้องปล่อยไก่ ให้ใครเขาโห่ฮิ้ว กิ๋วกิ๋ว หน้าไม่อาย ก๊าบก๊าบ กันเปล่าๆปลี้ๆ
รุ่นที่มีการจัดเอาไว้ให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับกัน เป็นรุ่นเกียร์ CVT
ซึ่งเป็นรถ ทดลองประกอบ Pre-Productin Vehicle ล้วนๆ และจะยัง
ไม่อาจส่งมอบให้ลูกค้าได้ จนกว่าจะในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ผิดกับรุ่น เกียร์ธรรมดา ที่ตอนนี้ ผลิตออกมา เต็มลานจอดทุกแห่ง
ของโรงงาน และพร้อมจะส่งมอบกันได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เลยทันที เป็นต้นไป
ในรุ่น 1.2 EL และ 1.2 VL จะมี กุญแจแบบ Intelligent Key
หน้าตา เป็นกุญแจสหกรณ์ เหมือนกับ รีโมท รูปเมล็ดข้าวสารงาดำ
ของทั้ง TIIDA และ Teana เดินเข้าไปใกล้รถ กดปุ่มบนประตู
ก็เปิดเข้าไปนั่งข้างในได้ทันที มีเซ็นเซอร์กะระยะสำหรับถอยหลังเข้าจอด
มาให้อีกต่างหาก
ภายในห้องโดยสารของ March นั้น ในตลาดโลก จะมีให้เลือก
มากถึง 4 สี ตั้งแต่ สีดำ สีขาว Ivory สีน้ำตาล Plum และ สีเทา
แต่พอเป็นเวอร์ชันไทย กลับมีแค่สีดำ ให้เลือกเพียงสีเดียวเท่านั้น…(-_-‘)
อย่างไรก็ตาม วัสดุพลาสติกที่ใช้กับ MARCH ดูแล้ว กลับกลายเป็นว่า
ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด จัดอยู่ในเกณฑ์ ยอมรับได้ หากท่องเอาไว้ว่า
ราคาเริ่มต้นหนะ แค่ 375,000 บาท และราคารุ่นอื่นๆ ป้วนเปี้ยนกันแถวๆ
4-5 แสนบาท
เบาะนั่งคู่หน้า ไม่มีปัญหาสำหรับคนตัวใหญ่อย่างผม เบาะรองนั่งสั้น
แต่พนักพิงหลัง ผมมองว่า น่าจะออกแบบมาได้กำลังดี ที่แน่ๆ
ความเห็นส่วนตัวของผมคือ เบาะนั่งคู่หน้า นั่งสบายกว่า Toyta Yaris
ก้านปรับระดับสูง-ต่ำพวงมาลัย ค่อนข้างแข็ง ต้องออกแรงดึงมากโขเกินเหตุ
เช่นเดียวกับ ก้านโยกปรับเอนเบาะนั่งคู่หน้า ที่ต้องออกแรงดึงกว่ารถทั่วไปนิดนึง
แต่ไม่ถึงกับต้องงัดข้อกับแชมป์ทีมชาติ อย่างใน TIIDA ตอนออกรถป้ายแดง
แต่อย่างใด ตำแหน่งนั่ง ไม่สูง และไม่ต่ำเกินไป จัดอยู่ในเกณฑ์พอดีๆ
ช่องทางเข้าประตูคู่หลัง ดูเหมือนจะเล็ก แต่สำหรับผม ไม่มีปัญหาในการเข้าออกมากนัก
ในเบื้องต้น ขนาดของมัน ก็ใกล้เคียงกับ Mazda 2 และ จะมีพื้นที่ทางเข้าของ ขาคน
มากกว่ากันนิดเดียว กะจกหน้าต่าง คู่หลัง สามารถเปิดลงได้จนสุดขอบประตู
ทุกรุ่น ให้กระจกหน้าต่าง เลื่อนขึ้นลง ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แถมด้วยระบบดีดกลับเมื่อมี
สิ่งกีดขวาง Anti-Jam Protection เฉพาะฝั่งคนขับ มาให้ครบ มีแค่รุ่นเดียวที่ยังใช้กระจก
หน้าต่าง แบบมือหมุนรุ่นโบราณ นั่นคือ รุ่น 1.2 B
เบาะนั่งแถวหลังนั้น แม้ว่าตัวรถจะเล็ก แต่ ก็ถือว่า ไม่ถึงกับอึดอัดนัก และพอทนนั่งได้
เบาะรองนั่ง สั้น ตามสูตรมาตรฐานของรถระดับนี้ ที่เน้นให้นั่งกัน 2 คนข้างหน้า
เป็นหลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่เหนือศีรษะ ค่อนข้างสูงกว่าที่คิดเอาไว้
ค่อนข้างใกล้เคียงกับ Suzuki Swift และ ดีกว่า Mazda 2 กับ Yaris เห็นๆ
ที่แน่ๆ พนักพิงเบาะนั่ง แบนราบไปนิด และนั่งได้แค่ว่า ทนออกจากบ้าน
ย่านบางนา ติดรถไปลงรถไฟฟ้า BTS อ่อนนุช นั่นละ
เปิดฝากระโปรงหลังขึ้นมา กลอนประตู ยังเป็นแบบมาตรฐานดั้งเดิม
พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีความจุ 241 ลิตร ไล่เลี่ย และพอกันกับ
รถยนต์ขนาดเล็กในพิกัดตัวถังเท่าๆกัน ทั้ง Yaris Swift และ Mazda 2
แต่สิ่งที่ผมกลับมองว่า ไม่ค่อยเข้าท่า ก็คือ ไหนๆ จะทำพนักพิงเบาะหลัง
ให้พับลงมา เพื่อวางของได้แล้ว ทำไมถึงไม่แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง 50 : 50 ไปเลย?
จะประหยัดต้นทุนอะไรกันนักกันหนา แล้วอย่างนี้ ถ้าจะต้องมีเพื่อนไปสัก 3 คน
และมีสัมภาระขนาดใหญ่ ติดไปด้วย จะทำอย่างไรกันละทีนี้?
อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือขอบล่าง ของทางเข้าห้องเก็บของด้านหลังหนะ รถทั่วไป
อย่างน้อย ต้องมีแผ่นพลาสติกแบบยาว เพื่อป้องกันการขูดขีดระหว่าง
สิ่งของ กับตัวถังรถ แต่ Nissan ก็ไม่ติดตั้ง มาให้ ใน MARCH ซึ่งแพงพลาสติก
ชิ้นนี้ ต้นทุน ก็ไม่ได้แพงอะไรมากมายนัก แต่เพื่อความสวยงาม จะใส่มาให้หน่อย
ไม่ได้เลยหรือ?
แผงหน้าปัด ออกแบบในสไตล์ ร่วมสมัย ช่องแอร์ เป็นแบบ วงกลม
เหมือนรถปรับอากาศ ขสมก. อันเป็นมาตรฐานของรถเล็กสมัยนี้กันไปแล้ว?
พวงมาลัย ทุกรุ่นปรับระดับสูงต่ำได้ แต่อย่างที่บอก ออกแรงเยอะหน่อย
ไม่มีสวิชต์ควบคุมอะไรบนพวงมาลัยมาให้ อย่างที่เวอร์ชันเมืองนอกเขามี
ชุดมาตรวัดในรุ่น 1.2 EL และ 1.2 VL จะมีจอ Multi Display มาให้
นอกจากจะแจ้งเตือน ให้พักกินกาแฟบ้าง เปล่ยนยาง หรือนำรถเข้าตรวจเช็ค
ได้แล้วบ้าง ยังสามารถร้อง Happy Birthday หรือสุขสันต์วันแต่งงาน
จุดพลุเล็กๆ ให้ดูเล่นตอนปีใหม่ Happy New Year ได้อีกด้วย
ไอเดียแบบเนี้ย สไตล์ญี่ปุ่นเค้าละ!
กระจกมองข้างปรับและพับเก็บได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มีมาให้ก็จริง
แต่ ต้องดูให้ดีๆ ตั้งแต่ 1.2 E เกียร์ธรรมดาขึ้นไป ปรับด้วยไฟฟ้าทั้งหมด
แต่ระบบพับด้วยไฟฟ้า จะมีเฉพาะตั้งแต่ 1.2 EL CVT ขึ้นไป เท่านั้น
รุ่น 1.2 V และ 1.2 VL จะมีสวิชต์เครื่องปรับอากาศแบบ ดิจิตอล
ยกชุดมาจาก Nissan Cube มาให้ใช้ด้วย ถือเป็นครั้งแรก ในรถยนต์ระดับราคา
ต่ำกว่า 5 แสนบาท ที่ทำตลาดในไทย แล้วมีแอร์ดิจิตอลมาให้
(แต่อย่าหวังว่า เวอร์ชันไทยจะมี ระบบฟอกอากาศ Plasma Cluster
มาให้แบบเวอร์ชันญี่ปุ่น ลืมไปได้เลย)
กระนั้น ถ้าคุณ ไม่มีงบมากพอจะเล่นรุ่น 1.2V หือ 1.2VL อันเป็นรุ่นท็อป
ผมมองว่า 1.2 E ที่เห็นอยู่นี้ ก็ให้ข้าวของมาเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
แค่ว่า ไม่มีสีเงินประดับตามจุดต่างๆของแผงหน้าปัด พวงมาลัย และแผงประตู
สวิชต์แอร์ เป็นแบบ สวิชต์เครื่องปรับอากาศ ในรุ่นธรรมดา จะเป็นแบบ มือบิดและมือหมุน
ความแรงพัดลม เลือกได้ 4 ระดับ
ส่วนเครื่องเสียง จะเป็น วิทยุ แบบเล่น CD/MP3 ได้ 1 แผ่น พร้อมช่องต่อ AUX
สำหรับเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นเพลงต่างๆ มีลำโพงมาให้ 4 ชิ้น เป็นอุปกรณ์มาตราฐาน
เหมือนกันเป๊ะ ในทุกรุ่น ยกเว้น 1.2 B (ตามเคย)
ที่สำคัญ Nissan March ใหม่ ถือเป็น รถยนต์ขนาดเล็ก ราคาต่ำกว่า 5 แสนบาทในไทย
รุ่นแรก ที่มีถุงลมนิรภัยมาให้ครบทุกรุ่น ตั้งแต่ รุ่นพื้นฐาน คันละ 3 แสนกว่าบาท
เครื่องยนต์ ที่ติดตั้งใน March รุ่นใหม่ เวอร์ชันไทย นั้น จะมีเพียงแบบเดียว
คือ รหัส HR12DE บล็อก 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1,198 ซีซี หัวฉีด Multi-Point
ควบคุมด้วยกล่องอีเล็กโทรนิคส์ ระบบขับวาล์ว ใช้โซ่ตอนเดียวแบบใหม่้
ถือเป็นเครื่องยนต์ 3 สูบ แบบแรก ของ Nissan ที่เคลมว่า ให้กำลัง และการทำงาน
ที่พอกันกับเครื่องยนต์ ขนาด 1.4 ลิตร เลยทีเดียว
เหตุที่ต้องถือว่าเครื่องยนต์บล็อกนี้ อยู่ในตระกูล HR อันเป็นตระกูลเครื่องเล็ก ใจใหญ่
ของ Nissan ก็เพราะว่า หากมานั่งผ่าพิสูจน์กันแล้ว HR12DE ใน March ก็คือ การนำเอา
เครื่องยนต์ HR15DE หรือ HR16DE ใน TIIDA ทั้งในตลาดโลกและเมืองไทย
มาหั่นกระบอกสูบทิ้งไปเลย 1 สูบ (ตกเฉลี่ยเล่นๆแล้ว สูบละ 400 ซีซี โดยประมาณ)
พละกำลังของเครื่องยนต์ บล็อกนี้ ตัวเลขสุดท้ายที่มีการสรุป และปล่อยออกสู่สาธารณชน
ตัวเลขอยู่ที่ 79 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดกออกไซด์ ออกมาในระดับต่ำ ประมาณ 120 กรัม/ ระยะทาง 1 กิโลเมตร
เครื่องยนต์ ตัวนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ธรรมดา เทคโนโลยี ที่ Nissan นำมาใช้นั้น
เท่าที่นั่งกางอ่านเอกสารดู ต้องถือว่า งานนี้ Nissan ยกเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในเครื่องยนต์
ของ TIIDA มาปรับประยุกต์กันใหม่ โดยเน้นไปในเรื่องการลดแรงเสียดทานต่างๆ
ใส่ตัวถ่วงสมดุล Outer Balancer เพื่อให้เครื่องยนต์ เดินได้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้
บริเวณ พูเลย์ และ Flywheel
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ Idle Stop
ซึ่งเมื่อชะลอรถ จนจอดหยุดนิ่ง เหยียบเบรกค้างไว้ 1 นาที
เครื่องยนต์จะดับลงเองอัตโนมัติ ถอนเท้าออกจากแป้นเบรก
แล้วเหยียบคันเร่งใหม่ ในเวลา 0.8 วินาที เครื่องยนต์จะติดขึ้นเอง
และทำงานต่อไป (คล้ายกับใน Toyta Camry HYBRID
แต่ของ Nissan ถือว่าเป็นครั้งแรกในเมืงไทย สำหรับการติดตั้งระบบนี้
ลงในรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์ เบนซิน เพียวๆ โดยไม่มีระบบ Hybrid ต่อพ่วง)
แต่ระบบนี้ จะทำงานเฉพาะตอน กดสวิชต์ A/C Off ตัดการทำงาน
ของคอมเพรสเซอร์แอร์เท่านั้น ฯลฯ อีกมากมาย
ยังครับ ยังไม่เขียนถึงตอนนี้หรอก เก็บเอาไว้รออ่านกันอีกทีใน Full Review
วันที่เราได้รับรถมาลองขับกันเต็มๆจะดีกว่า เพราะว่ามันจะยาวมาก ยาวจน
หลายๆคน คงจะถามว่า ตกลงนี่ จะเขียนทความ หรือทำ Thesis กันแน่?
เพียงแต่สิ่งที่ Nissan เขาอยากจะบอกในตอนนี้คือ หมดห่วงเรื่องราคาอะไหล่ได้เลย
เพราะในเมื่อ ถือเป็นเครื่องยนต์ของ TIIDA 1.6 ลิตร แต่หั่นออกไปเลย 1 สูบ
เหลือ 3 สูบ ดังนั้น อะไหล่ ข้าวของต่างๆ จึงใช้แทนกันได้ค่อนข้างเยอะ อีกทั้ง
ผลิตในประเทศไทย ปาเข้าไปมากถึง 90% ของทั้งเครื่องยนต์ ดังนั้น ราคาอะไหล่
ก็เลยจะถูกลงกว่ารถยนต์ ระดับ B-Segment 1.5 ลิตรทั่วไป ตั้งแต่ 16-40% แถมยัง
สั่งซื้อได้เร็วกว่า รับประกันเฉพาะอะไหล่ที่เปลี่ยนไปหมาดๆ 1 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร
แล้วแต่กรณีใดถึงก่อน
แถมค่าบำรุงรักษาก็ยังถูกอีก เพราะใช้น้ำมันเครื่องแค่ 3 ลิตร ไส้กรองอากาศ ก็ราคาถูก
ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง Nissan เคลมว่าเป็นแบบ Free Maintenance (อันที่จริง ยังไงๆ
ก็ควรจะเปลี่ยนเมื่อถึงอายุการใช้งานของมันอยู่ดี)
ทีนี้ ก็ถึงเวลา ขึ้นไปนั่งบนเบาะคนขับกันจริงๆแล้ว
ผมมองว่า เวลาเพียงแค่สั้นๆ ผมไม่อาจจะบอกได้หมดว่า เครื่องยนต์ 3 สูบ บล็อกนี้
ทำงานสั่นไหม หรือ เดินเครื่องเรียบไหม รู้แต่ว่า ก่อนออกรถหนะ รอบเดินเบา
ค่อนข้างจะเงียบมาก เมื่อเทียบกับรถยนต์ในสมัยเดียวกันนี้รุ่นอื่นๆ ยิ่งเปิดแอร์ด้วย
ยิ่งยังไม่อาจจับสัมผัสได้ไวนัก เพราะเวลาไม่มี
แต่ที่บอกได้แน่ๆคือ ทันที่ที่ออกรถ เกียร์ CVT ก็เริ่มพารถ ไหลขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
ถ้าคุณ ตั้งความหวังไว้ไม่สูงนัก กับอัตราเร่งของรถคันนี้ และเข้าใจอย่างดีแต่แรกว่า
นี่คือ รถสำหรับ ใช้งานในเมือง ขับไปทำงาน ขับไปเรียน ซื้อของนิดหน่อย กลับเข้าบ้าน
ไปเที่ยวห้างบ้างในวันเสาร์-อาทิตย์ ผมบอกเลยว่า อัตราเร่ง ที่มาจากเครื่องยนต์ HR12DE
ซึ่งมามุขง่าย ด้วยวีธี ยกเครื่อง HR16DE ของ TIIDA บ้านเรา มาตัดเอากระบอกสูบทิ้งไป
เสีย 1 สูบ ก็ยังคงให้อัตราเร่งที่ดี และมีบุคลิกของเครื่องยนต์ ใกล้เคียงกับ เครื่องยนต์
HR15DE ที่วางอยู่ใน Nissan Cube นั่นละครับ ใกล้เคียงกันพอสมควรเลยทีเดียว
คือ พุ่งไปข้างหน้า อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่กระชาก ไม่รีบร้อน กระนั้น ก็ยังเร็วกว่า
Chevrolet Aveo 1.4 ลิตรแน่ๆละนั่น
แต่อย่างว่า สัมผัสจากแรงดึงที่เกิดขึ้น อาจหลอกคุณได้
มีทางเดียวคือ ต้องจับเวลากัน ด้วยมาตรฐานที่กำหนด
ซึ่งก็คงต้องรอเวลาให้มีรถพร้อมส่งมาให้เราทดลอง
เพื่อทำ Full Review กันก่อน ถึงตอนนั้น ค่อยว่ากันอีกที
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม
มีการปรับลดขนาดของชิ้นส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง จาก March รุ่น K12 ที่กำลังจะตกรุ่น
ในญี่ปุ่นและยุโรปไปนั้น ลงไปจากเดิม ประมาณ 15% เหตุผลก็เพราะ ต้องการ
ลดน้ำหนักตัวรถในภาพรวมให้เบาขึ้น จนผมเริ่มสงสัยนิดๆว่า ถ้าเปรียบเทียบกับ
March รุ่นเก่าแล้ว ใครจะให้การทรงตัว ในย่านความเร็วสูงและเข้าโค้งได้ดีกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม Nissan ระบุว่า มีการปรับปรุงช็อกอัพ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
มีระยะยุบตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งยัง พยายามลดการสั่นสะเทือนในขณะขับขี่
บนผิวถนนขรุขระ ให้ดีขึ้นเทียบเท่า หรือดีกว่าคู่แข่งในตลาดโลก หลายๆคัน
บนพื้นถนนปูนนี่ ผมยังจับสัมผัสอะไรไม่ได้มากหรอกครับ ลู่วิ่งมันสั้นไปหน่อย
รู้แต่ว่า ขณะโยกตัว ผมว่าช่วงล่างของรถคันนี้ น่าจะไว้ใจได้แน่ๆ เพียงแต่ ขอแนะนำว่า
คุณอาจจะหาโอกาส เปลี่ยนยางติดรถจากโรงงาน ซึ่งจะมีทั้ง Dunlop และ Maxxis
ทิ้ง ไปทำสนามเด็กเล่นให้เด็กด้อยโอกาสไปเสีย แล้วหายางใหม่ ที่ดีกว่านี้นิดนึง
มาสวมเข้าไปแทน น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจหากต้องเข้าโค้งแรงๆ โดยกระทันหัน
ได้มากขึ้นอีกนิด
ระบบเบรก หน้าดิสก์ – หลังดรัม มีการลดขนาดจานเบรก และดุมล้อหลัง ลงจาก March รุ่นเดิม
ไปนิดหน่อย แต่มีการติดตั้ง ระบบ้องกันล้อล็อก ABS มาพร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD
และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้เฉพาะในรุ่น 1.2V และ VL เท่านั้น
ในช่วงที่ลองเหยียบเบรก ไม่เต็มเท้า แต่กดลงไปลึกประมาณ เกินครึ่งหนึ่งของระยะเหยียบแป้น
การตอบสนอง ก็ถือว่า น่าจะเพียงพอกับการใช้งานในเมืองเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่รู้ว่า
หากจำเป็นต้องวิ่งทางไกล จะยังคงไว้ใจได้กำลังดี แบบที่ TIIDA ทำเอาไว้ หรือเปล่า?
แต่สิ่งเดียว ที่ผมอยากจะขอตำหนิ และ อยากจะขอให้ลองหาทางปรับปรุงกันดู
ก็คงจะเป็น การตอบสนองของพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
แบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 4.5 เมตร เมื่อใส่ยางขนาด 175/60R15
อันเป็นยาง ขนาดมาตรฐานจากโรงงาน (น่าแปลกว่า ทำไมในเมืองนอกใส่ Bridgestone มาให้
แต่ในบ้านเรา กลับใส่ยางแค่ MAXXIS หรือไม่ก็ Dunlop มาให้?)
เพราะ ในการหักหลบกรวยยาง ที่ตั้งเรียงเอาไว้ บังคับให้ผู้ขับขี่หักหลบ
น้ำหนักพวงมาลัยของ MARCH นั้น มาแปลก กว่าใครเพื่อนเขา
คือ ในจังหวะแรกที่เริ่มหมุนพวงมาลัยเพื่อจะเลี้ยวเบี่ยงรถออกไปตามไลน์
พวงมาลัยแทบจะไม่มีความหนืด และให้สัมผัสการทำงานที่เหมือนกับ
พวงมาลัยไฟฟ้าในรถทั่วๆไปยุคใหม่ กระนั้น รถจะยังเลี้ยวไม่มากพอ
ในเสี้ยววินาที คุณจำต้องตัดสินใจ หักเลี้ยวเพิ่ม
จังหวะนี้เอง พวงมาลัยจะหนืดขึ้นมาก จนผิดสังเกต ความหนืด
อยู่ในระดับประมาณว่า คุณกำลังแข่งชักคะเย่อกับเด็กประถม 2
(โดยคุณ อยู่คนเดียว และน้อง ประถม 2 มีสัก 2 คน)
และนั่นทำให้คุณต้องออกแรงในการหมุนพวงมาลัยเพิ่มขึ้นอีกมาก
จนอาจจะเร็วไม่ทันที่จะหักหลบสิ่งกีดขวางได้พ้น อย่างที่ต้องการ
ผมมองว่า จะดีกว่าไหม ถ้าเซ็ตพวงมาลัยออกมาให้มีน้ำหนักใกล้เคียงกับ
Nissan TIIDA มากกว่านี้ แม้ว่า พวงมาลัยของ TIIDA จะไม่ใช่พวงมาลัย
ที่ดีที่สุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก แต่อย่างน้อย การหักหลบสิ่งกีดขวาง
ก็ทำได้ไว และ “Linear” กว่าพวงมาลัยของ March คันที่ผมทดลองขับนี้แน่ๆ
ในเบื้องต้น ดูเหมือนจะมีเพียงเรื่องเดียว ที่ผมอยากจะให้ Nissan
รีบปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะส่งมอบรถให้กับลูกค้า
แต่ ด้วยเหตุที่ รถทั้ง 2 คันซึ่งเราเจออยู่นี้ เป็น รถ Pre Production
ผมเลยได้แต่หวังว่า ผมจะไม่พบเจอปัญหานี้ ในรถคันขายจริงที่จะเริ่มทะยอย
ส่งให้ถึงมือลูกค้าในเร็ววัน
********** สรุป **********
***ขอแก้เรื่องพวงมาลัยอีกนิด เท่านั้นเลย ***
ผมเชื่อว่า หลายๆ คน หลายๆครอบครัว ที่มีรายได้ไม่มากนัก คงเคยฝัน อยากจะมีรถยนต์
ราคาไม่แพงนัก เอาไว้ขับใช้งานในชีวิตประจำวัน อาจจะเอาไว้รับส่งลูก รับส่ง บุพการี
ไปหาหมอ หรือว่า ออกไปกินข้าวนอกบ้านกันบ้าง ไปเที่ยวในจังหวัดใกล้ๆ เปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง
การมีรถยนต์ สำหรับหลายครอบครัว มันคือเรื่องที่น่าดีใจ เพราะนั่นหมายถึงนอกจากจะเป็นการ
ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และมีอิสระ กับความเป็นส่วนตัวมากขึ้นแล้ว
ยังมีส่วนช่วยยกสถานภาพทางสังคม ในสายตาคนรอบข้างให้ดีขึ้นตามไปด้วย
แม้ว่า รถยนต์ราคาประหยัด จากค่ายน้องใหม่ ทั้ง Proton หรือแม้แต่ Cherry อาจจะตอบโจทย์
ลูกค้าบางกลุ่ม ที่ไม่รู้เรื่องรถมากนัก เห็นแค่ว่าราคาถูก ก็จะพยายามหาซื้อมาขับ โดยไม่สนใจ
อะไรทั้งสิ้น
แต่..ผมเชื่ออยู่ลึกๆว่า หลายคน ก็คงฝันกันลึกๆละ ว่าอยากเห็น รถยนต์ค่าย เมเจอร์แบรนด์
ระดับ Top 5 ในไทย รายใด ก็ได้ ทำรถยนต์ราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 4 แสนบาท กลับมาขายอีกครั้ง
เหมือนเมื่อครั้งในอดีต
เพราะถ้าผู้บริโภคชาวไทย ส่วนใหญ่เห็นแก่ของถูกกันจริงๆ โดยไม่สนใจอีร้าค่าอีรม
ผมเชื่อว่า ป่านนี้ ยอดขายของรถทั้ง 2 ยี่ห้อที่ผมเอ่ยมา คงจะต้องพุ่งไปไกลกว่านี้กันแล้ว
การมาถึงของ MARCH นั้น หลายคนมองว่า น่าจะช่วยสร้างปรากฎการณ์บางอย่าง ให้กับผู้บริโภค
ชาวไทย ที่หวังจะมองหารถเล็ก คุณภาพดีสมราคาที่จ่ายไป แถมยังปลอดภัย และเป็นมิตร
กับสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมกันในคันเดียว
ซึ่งในเบื้องต้น หากมองกันแต่เปลือกนอก คุณภาพที่ได้ เมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป
ดูเหมือนว่า จะคุ้ม และน่าจับจองเป็นเจ้าของกันไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะฝากกับ Nissan ในวันที่ งานออกแบบอื่นๆ นั้น
มาไกลจนเกินกว่าจะแก้ไขอะไรได้ทันแล้ว ก็คงจะเหลือแค่เพียง
การปรับเซ็ตพวงมาลัย ให้ตอบสนอง ได้ดีกว่านี้อีกหน่อย ไม่ใช่แค่ไว
แต่ยังต้องให้ความมั่นคง ในการขับขี่ย่านความเร็วระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และให้การบังคับเลี้ยวที่เฉียบคม มั่นใจได้ หากต้องหักหลบสิ่งกีดขวางกระทันหัน
แม้ในความเร็วที่ต่ำเพียง 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมงก็ตาม
ถ้ารีบหาทางปรับแต่งกันใหม่ได้โดยเร็วเท่าใด ผมเชื่อว่า เสียงบ่นจากลูกค้า
น่าจะตามมาน้อยลงเท่านั้น เพราะสารภาพตามตรง ผมไม่คิดมาก่อนว่า
พวงมาลัย ของ March จะให้การบังคับเลี้ยวได้ ไม่ดีเท่า Nissan Cube หรือ แม้แต่
TIIDA เองก็ตามเถอะ
กระนั้น เส้นทาง 0.55 กิโลเมตร มันก็ยังน้อยเกินไป ที่เราจะใช้ตัดสิน รถสักรุ่นหนึ่ง
ดังนั้น ถ้าขับน้อย และจับสัมผัสรถได้น้อยขนาดนี้ เห็นที่จะต้องมีภาคสอง กันแล้วละ….
———————————///———————————–
ขอขอบคุณ
บริษัท Nissan Motor (Thailand) จำกัด
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
12 มีนาคม 2010
Copyright (c) 2010 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 12nd ,2010
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่
UPDATE Clip Video ทดลองขับ Nissan March ทั้ง CVT และ 5MT คลิกที่นี่
FULL REVIEW ทั้งตัวเลขอัตราเร่ง และ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มาแล้ว คลิกที่นี่