ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนแผ่นดินใหญ่ พุ่งทะยานร้อนแรงมาก ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายต่างต้องบุกเข้าไปจับมือกับผู้ผลิตท้องถิ่นรายใหญ่ ที่ถือหุ้นโดยภาครัฐ ทั้งรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑล เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ ออกมาจำหน่าย แย่งชิงลูกค้ากันอุตลุด
ผมเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงอยู่นานมาก และเคยมีความคิดว่า อยากเข้าไปศึกษาตลาดรถยนต์เมืองจีน ให้ลึกซึ้งกว่านี้ เพราะจากสิ่งที่ผมมองเห็นภายนอก พบว่า ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดนั้น ตลาดรถยนต์ที่ก้าวขึ้นมามียอดจำหน่ายสูงที่สุด และกลายเป็นตลาดใหญ่สุดในโลกไปแล้ว แห่งนี้ มีความพิเศษ ไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ข้อกำหนดในการตั้งบริษัท รสนิยมลูกค้าในท้องถิ่น การกำหนดนโยบายโดยรัฐบาลกลาง ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อการประกอบกิจการของผู้ผลิตทุกราย เพราะหลายครั้ง มันส่งผลต่อยอดขายและรายได้มหาศาลของพวกเขา อย่างยากจะหลีกเลี่ยง ฯลฯ อีกมากมาย
การไปเยือนเมืองจีน ถึง 4 ครั้ง ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา จนถึงปีนี้ ทำให้ผม เริ่มเปิดกว้าง เห็นมุมมองและโลกทัศน์ใหม่ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของพวกเขา ชนิดที่พลิกโฉมไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
และการเยือนจีน ครั้งนี้ ก็ช่วย “เบิกเนตร”ให้ผม ได้เพิ่มขึ้นอีกจากที่เคยเป็น
General Motors และ Chevrolet Sales (Thailand) กำลังจะเปิดตัวรถยนต์ SUV คันใหม่ ในเมืองไทย หลังจากห่างหายไปนาน พวกเขาตัดสินใจ นำรถยนต์ Baojun 530 ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากบริษัทร่วมทุนของตนในเมืองจีน คือ SGMW (SAIC – GM – Wulling) ซึ่งประกอบจากโรงงานของพันธมิตรชาวมังกร ที่ Indonesia เข้ามาขายในเมืองไทย โดยสวมแบรนด์ดั้งเดิมที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดี นั่นคือ Chevrolet CAPTIVA ใหม่ นั่นเอง
เพื่อให้รู้ถึงที่มาของตัวรถ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในคุณภาพระดับโลก GM และ Chevrolet ก็เลยตัดสินใจ พาผมและสื่อมวลชนไทย อีก 9 ชีวิต บินมาดูกิจการของ พันธมิตร อย่าง SGMW ให้ถึงฐานที่มั่นในเมือง Liuzhou กันเสียเลย
ในเมื่อมาถึงถิ่นของ SGMW ทั้งที ไหนๆก็ไหนๆ เราก็ควรจะทำความรู้จัก และศึกษาแบรนด์ท้องถิ่นของเขาไปด้วยเลยจะดีกว่า ทางเจ้าภาพร่วมฝั่งจีน อย่าง SGMW ก็เลย จัดช่วงพิเศษ แนะนำกิจการของ SGMW ให้เราได้รู้จัก แต่ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังแนะนำแบรนด์ Baojun ให้เราได้เรียนรู้กันอีกด้วย
ผมรู้จักกับแบรนด์ Baojun เป็นครั้งแรกก็ตอนที่นั่งเตรียมข้อมูลเรื่อง Captiva ใหม่ ช่วงเดือนมกราคม 2019 สำหรับบทความสรุปรถใหม่ 2019 – 2022 นั่นละครับ จากนั้น พอได้มีโอกาสไปเห็น รถคันจริง ในบูธของพวกเขา ที่งาน Auto Shanghai เดือนเมษายน 2019 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวรถรุ่นใหม่ๆของพวกเขา เนี้ยบขึ้นกว่า รถยนต์รุ่นก่อนๆ อย่างมาก แอบคิดเหมือนกันว่า ถ้าได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแบรนด์นี้อีกสักหน่อย ก็คงจะดี แน่นอนครับ ผมไม่คิดเลยว่า การมาเยือนเมืองจีนคราวนี้ GM จะจัดให้เราได้มีโอกาสสัมผัสกับแบรนด์ Baojun ของพวกเขาด้วย
และแน่นอนว่า หลังจากเดินชมกิจการของพวกเขา ตั้งแต่ โรงงานขนาดมหึมา แยกไลน์ผลิตระหว่างรถยนต์ทั่วไป กับรถยนต์ไฟฟ้า ออกจากกันชัดเจน, ศูนย์วิจัยและพัฒนา R&D Center , Design Center , Crash Test Lab , ห้องทดสอบเรื่องเสียง ที่มีขนาดใหญ่สุดใน Asia บอกได้เลยว่า มันช่างน่าตื่นตาตื่นใจมากๆ ว่า วันนี้ ชาวจีน เขามาไกลกันมากๆ และการลงทุนมหาศาลที่พวกเขาทำในตอนนี้ มันจะเป็นการวางรากฐานให้กับการพัฒนารถยนต์ในอนาคต เพื่อก้าวไปสู่ การแข่งขันในระดับสากล ตามที่ตั้งใจกันไว้
Baojun คือ แบรนด์อะไร ของใคร
Baojun เป็นแบรนด์รถยนต์ก่อตั้งใหม่ ของ บริษัท SGMW (SAIC – GM – Wulling Automobile Company Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ ที่ถือกำเนิดขึ้น ได้จากความร่วมมือกัน 3 ฝ่าย
พันธมิตรรายแรก นั่นคือ SAIC Motor Corporation Limited (SAIC : Shanghai Automotive Industries Corporation) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในจีน ซึ่งนอกจากจะจับมือเป็นพันธมิตร ให้กับกลุ่ม Volkswagen กับ GM เพื่อพัฒนา ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ Volkswagen , Audi , Skoda รวมทั้ง Chevrolet , Buick และ Cadillac สำหรับตลาดเมืองจีนแล้ว SAIC ยังเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ที่ตนเองผลิตและออกขายภายใต้ชื่อที่ไปซื้อจากอังกฤษมา อย่าง MG รวมทั้ง แบรนด์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำตลาดรถยนต์ระดับกลางค่อนข้างหรูอย่าง Roewe และแบรนด์รถยนต์อเนกประสงค์ กับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อย่าง Maxus อีกด้วย
พันธมิตร รายที่ 2 คือ ยักษ์ใหญ่ฝั่งอเมริกาเหนือ อย่าง General Motors เจ้าของแบรนด์รถยนต์ Buick Cadillac Chevrolet GMC Holden ซึ่งไปตั้งสำนักงานในจีน ใช้ชื่อว่า GM China ดูแลการลงทุน งานวิจัยวิศวกรรม ฯลฯ ร่วมกับพันธมิตรชาวจีนทุกราย
พันธมิตร อีกรายหนึ่ง คือ Liuzhou Wulling Motor Co.,Ltd. บริษัทผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 28 ตุลาคม 1958 ในชื่อ Liuzhou Power Machining Plant ในอดีต พวกเขาผลิตรถ Tractor โดยเน้นตลาดผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก ต่อมา พวกเขาก็เริ่มผลิตรถตู้ขนาดกระทัดรัด Microvan ในปี 1982 ต่อมา ในปี 1985 Liuzhou Automotive Industry Corporation ได้เซ็นสัญญากับ Mitsubishi Motors เพื่อนำพิมพ์เขียวรถตู้ Minicab มาผลิตขายเอง ในชื่อ Liuzhou Wuling LZ 110
Lizhou Wuling Motors เริ่มต้นเป็นพันธมิตรกับทาง SAIC โดยจัดตั้ง บริษัท SAIC Wuling Motors Co.Ltd. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2001 จากนั้น อีก 1 ปีถัดมา พวกเขาจึงได้จับมือเซ็นสัญญา กับ GM China ก่อตั้งบริษัท SAIC-GM-Wuling Motors (SGMW) โดยมีอัตราถือหุ้น GM 44%, SAIC 50.1% และ Wuling (Guangxi Automotive Group) 5.9% เพื่อพัฒนา ผลิต และจำหน่าย รถยนต์แบรนด์ท้องถิ่นของตนเอง อย่าง Wuling (เน้นขายรถตู้ขนาดเล็ก และระกระบะเล็ก ที่เคยเข้ามาขายในไทยอยู่พักหนึ่ง) โดย Wulling ตัดสินใจ ย้ายการผลิตรถกระบะและรถตู้ขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ มาไว้ที่ SGMW ทั้งหมด
ธุรกิจผลิตรถตู้กับรถกระบะขนาดเล็กนี่เอง ที่ทำให้ Wuling เติบโตก้าวกระโดด ปี 2009 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว SGMW ทำยอดขายรวมได้สูงถึง 1,061,213 คัน กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากจีน รายแรกในประวัติศาสตร์ ที่ขายรถยนต์ได้ ทะลุ 1 ล้านคัน ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม และพวกเขาก็ทำยอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ได้ในปี 2017 ด้วยตัวเลขสูงถึง 2,160,000 คัน ส่วนปี 2018 ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดรถยนต์ในจีน ชะลอความร้อนแรงลงมา ยอดขายจึงลดลงเล็กน้อย เหลือ 1,926,000 คัน แต่นั่นก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่มากมายมโหฬารอยู่ดี เพราะนี่เท่ากับว่า 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์ในเครือ GM รวมกันทั่วโลก มาจาก SGMW !!
อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในประเทศจีน มีขนาดใหญ่มาก แม้จะมีรถยนต์แบรนด์สากล จากยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ เข้าไปจับมือกับบริษัทท้องถิ่น ซึ่งถือหุ้นทั้งโดยรัฐบาลจีน และเอกชน บุกตลาดกันอย่างสนุกสนาน กระนั้น ยังมีช่องว่างทางการตลาดนั่นคือ กลุ่มลูกค้านอกเมืองใหญ่ ที่อาศัยอยู่ห่างจาก Shanghai , Beijing ออกไป ลูกค้ากลุ่มนี้ ในอดีต ไม่แคร์กับการซื้อรถยนต์จากผู้ผลิตท้องถิ่น ลูกอีช่าง Copy ที่ขยันไปซื้อรถยนต์แบรนด์ดังๆ มาลอกแบบ แล้วทำขายในราคาถูกๆ เพื่อให้ลูกค้าในท้องถิ่นอันห่างไกลเหล่านั้น ได้เอาไปอวดกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูงว่า ฉันก็มีรถ (ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับรถ) ดีๆ ขับกับเขาแล้วนะ ดังนั้น ผู้ผลิตจากยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ต่างพากันตัดสินใจ เปิดตัว “Fighting Brand” หรือ เอาไว้ต่อสู้กับผู้ผลิตท้องถิ่นเหล่านั้น เช่น Nissan ก็มีแบรนด์อย่าง Venucia หรือ Mazda ก็มีแบรนด์อย่าง Haima เป็นต้น
19 กรกฎาคม 2010 SGMW ตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์รถยนต์ กลุ่ม “Fighting Brand” ของตนเอง อย่าง “Baojun” ขึ้นมา ชื่อ “เบ่าจุน” นี้มาจากภาษาจีน แปลว่า “ม้าอันสูงค่า” (Treasure Horse) แยกตัวออกมาจากแบรนด์ Wulling และวางตำแหน่งการตลาดในอดีตไว้ “สูงกว่า Wuling แต่ต่ำกว่า Chevrolet” เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เน้นไปที่ รถเก๋งขนาดเล็ก รถตู้ Minivan 7 ที่นั่ง และ SUV ขนาดเล็ก ในราคา “แพงขึ้นกว่า Wulling แต่ยังคงคุ้มค่าและสมเหตุสมผล” เพื่อให้เป็นคู่แข่งโดยตรงกับแบรนด์ท้องถิ่น ลกอีช่าง Copy อย่าง BYD, Chery , Geely, Changan , GAC , Haval , Honqqi , JAC , Trumpchi ฯลฯ
พวกเขาเริ่มทำตลาดด้วยรถเก๋ง Baojun 630 ในปี 2011 และทะยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้กลายเป็นแบรนด์ที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วมากๆ ล่าสุด ยอดขายในจีน ตอนนี้ อยู่ในอันดับ 2 จากบรรดา แบรนด์ท้องถิ่นที่มีขายเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเป็นรองเพียงแค่ แบรนด์ Geely เท่านั้น!
ปัจจุบัน Baojun กำลังอยู่ในช่วง ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand transitioning) จากเดิมซึ่งเป็นแค่ Fighting Brand ธรรมดา ให้กลายมาเป็น “แบรนด์สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว” มากยิ่งขึ้น โดยให้คำนิยามบุคลิกของแบรนด์ที่กำลังจะมุ่งไป ขึ้นมาใหม่ ว่า “open, creative, free and believe.” (เปิดกว้าง , ความคิดสร้างสรรค์ , อิสระ และความเชื่อ) รวมทั้งจะเน้นการเชื่อมต่อเข้ากับระบบสื่อสาร (Connectivity) และระบบขับขี่เองอัตโนมัติ (Autonomous Drive) โดยวางแผนจะใช้ประโยชน์ จากโครงค่ายสัญญาณ 5G รวมทั้งพันธมิตรด้านระบบสื่อสาร อย่าง Huawei ให้เป็นประโยน์มากที่สุด
พวกเขาตัดสินใจ เริ่มต้นจากการประกาศเปลี่ยนมาใช้ สัญลักษณ์แบบใหม่ ที่ผสมผสานรูปแบบของ เพชร เข้ากับ หัวของม้า เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2019 โดย
นอกจากนี้ SGMW ยังเริ่มเปลี่ยนวิธีการเรียกชื่อรุ่นรถยนต์ตระกูล Baojun จากเดิม ซึ่งใช้ตัวเลข 3 หลัก เป็นตัวบอกพิกัดขนาดตัวถัง มาเป็น การใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ 2 ตัว บ่งบอกประเภทของรถ โดยมีความหมายดังนี้
ตัวอักษรตัวแรกด้านหน้าชื่อรุ่น จะเป็นตัว “R” หมายถึงการ “re-creation” หรือการสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ จากนั้น จะตามด้วยตัวอักษร แบ่งประเภทตัวถังรถยนต์ 3 แบบ ดังนี้
- C หมายความว่าเป็น รถยนต์มาตรฐาน (ตัวถัง Sedan หรือ Hatchback)
- S หมายความว่าเป็น รถยนต์ SUV (Sport Utility Vehicle)
- M หมายความว่าเป็น รถยนต์ Minivan / MPV (Multi Purposed Vehicle)
สัญลักษณ์ใหม่ และการเรียกชื่อรุ่นแบบใหม่นี้ เริ่มใช้กับ Baojun RS-5 C+D-Segment SUV สุดโฉบเฉี่ยวรุ่นล่าสุด เป็นรุ่นแรก
จากนั้นจะเริ่มทะยอยนำมาใช้กับรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่เตรียมจะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 ไม่ว่าจะเป็น B-Segment SUV ที่จะเปลี่ยนโฉมใหม่แทน Baojun 510 คันเดิม อย่างที่เราบอกกันไปด้านบน (คาดว่า น่าจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Baojun RS-3)
ไม่ว่าจะเป็น รถเก๋ง C+D-Segment Sedan รุ่นใหม่ รหัสโครงการ CN202M ใช้ชื่อว่า Baojun RC-6 Sedan – Coupe – Crossover ยกสูง 3 – in – 1 ในคันเดียว! ตัวรถจะมีความยาว 4,925 มิลลิเมตร กว้าง 1,880 มิลลิเมตร สูง 1,580 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,800 มิลลิเมตร แต่จะมีระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) สูงถึง 191 มิลลิเมตร! (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านที่นี่ Click Here!)
จากนั้นจะตามติดมาด้วย Minivan 7 ที่นั่ง รุ่นใหญ่กว่า Baojun 530 หรือ Chevrolet Captiva เวอร์ชันไทย โดยจะใช้ชื่อว่า Baojun RM-5 ซึ่งมีรูปลักษณ์ ถอดแบบมาจาก รถยนต์ต้นแบบ Baojun RM-C Concept ซึ่งเผยโฉมพร้อมกับ RS-5 ในงาน Auto Shanghai เดือนเมษายน 2019 ที่ผ่านมานี่เอง เวอร์ชันจำหน่ายจริงจะมีความยาว 4,805 มิลลิเมตร กว้าง 1,806 มิลลิเมตร สูง 1,625 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านที่นี่ Click Here!)
ทั้ง RS-5 , RC-6 และ RM-5 จะวางขุมพลังร่วมกันกับ Baojun 530 / Chevrolet Captiva 2019 ใหม่เวอร์ชันไทย เป็น เครื่องยนต์ สหกรณ์ รหัส LJO แบบ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร (1,451 ซีซี) จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ MFI (Multi Fuel Injection) พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger จาก Honeywell กำลังสูงสุด 147 แรงม้า (HP) หรือ 152 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 230 นิวตัน-เมตร (20.38 กก.-ม.) ที่ 2,000 – 3,800 รอบ/นาที ทุกรุ่น ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยระบบส่งกำลัง ซึ่งจะมีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT จาก BOSCH ตามแต่ละรุ่นย่อย
เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องถึงต้นไตรมาสที่ 4 SGMW จะเปิดตัว B-Segment SUV รุ่นเปลี่ยนโฉม Full ModelChange ของ Baojun 510 ทั้งที่เพิ่งออกสู่ตลาดมาได้เพียง 2 ปี กับ 7 เดือนเท่านั้น !! ตามติดมาด้วย Baojun SUV คันใหญ่ ที่คาดว่าจะใช้เครื่องยนต์สหกรณ์ ลูกเดียวกันกับญาติพี่น้องทุกรุ่นข้างต้น
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโชว์รูมผู้จำหน่าย ทั้งกว่า 500 แห่ง ทั่วเมืองจีน ให้มีภาพลักษณ์แบรนด์ (CI : Corporated Identity) รูปแบบใหม่ทั้งหมด โดยจะเพิ่มเทคโนโลยีต่างๆ เช่น จอ Video Wall Information ให้ลูกค้าได้เลือกสั่งซื้อรถ หรือเลือกออพชัน สี และบริการด้านไฟแนนซ์ ได้จากหน้าจอ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบ Application บนมือถือของ พนักงานในโชว์รูม แม้กระทั่งการติดตั้ง Traffic Heat Wave ซึ่งจะมีตัววัดรังสีความร้อน ตามจุดต่างๆของโชว์รูมและศูนย์บริการ เพื่อดูว่า ลูกค้า เวลาเดินเข้าโชว์รูมแล้ว จะเดินไปดูอะไร ทำอะไร เพื่อศึกษาและเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า จะได้ตอบสนองอย่างทันท่วงที หรือเก็บข้อมูลไว้ศึกษาวิจัยในอนาคต
นอกเหนือจาก บรรดารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่พวกเขาเตรียมจะถล่มตลาดบ้านเกิดตัวเองตลอดปีนี้ จนถึงปีหน้าแล้ว SGMW และแบรนด์ Baojun ยังมีอีกธุรกิจที่สำคัญ และกำลังมาแรงมากๆ นั่นคือ รถยนต์ไฟฟ้า ขนาดเล็ก
สำหรับประเทศจีนแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากลูกค้าชาวจีน เนื่องจากรัฐบาลกลาง พยายามส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของตน ให้มุ่งไปสู่การเป็นผู้นำอันดับ 1 แซงหน้า สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปน และเกาหลีใต้ดังนั้น ทางลัดที่จะนำพาให้จีนไปถึงเป้าหมายดังกล่าวโดยเร็ว ก็คือ การส่งเสริมให้บริษัทรถยนต์ของตน เร่งพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาให้มากๆ โดยให้การสนับสนุนด้านภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิต ทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น ถูกลงกว่าที่ควรเป็นอย่างมาก
ไม่เพียงแค่นั้น รัฐบาลจีนยังสนับสนุนให้ภาคประชาชน เริ่มเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยวิธีการต่างๆมากมาย เช่น ถ้าคุณอยู่ในเมืองใหญ่ อย่าง Shanghai Beijing หรือ ShenZhen แล้วอยากซื้อรถยนต์สักคัน คุณจำเป็นต้องเข้าร่วมประมูลป้ายทะเบียนรถยนต์ กับทางหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งอาจต้องใช้เวลารอยาวนานถึง 3 ปี และอาจมีค่าใช้จ่ายรวมแล้วสูงถึง 20,000 หยวน หรือราวๆ 100,000 บาท แต่ถ้าคุณซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Plug-in Hybrid คุณไม่ต้องมาเสียเวลาขอประมูลป้ายทะเบียนเลย เพราะภาครัฐจะจัดหาป้ายทะเบียนให้คุณได้ทันที!
ขณะเดียวกัน ยังมีการกำหนดช่วงเวลาที่รถยนต์จากต่างเมือง จะเข้ามาแล่นในเขตเมืองหลวง เช่น ห้ามไม่ใหรถยนต์ทะเบียนจากเมืองอื่น หรือมณฑลอื่นๆ เข้ามาแล่นในเขต Shanghai ช่วง 7.00 – 10.00 น. และ 15.00 – 21.00 น. เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น บริการ Application เรียก Taxi บางแห่ง ก็พยายามเร่งให้ผู้ขับ Taxi ที่เข้าร่วมให้บริการรับส่งลูกค้า ผ่าน App. ของตน เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า มิเช่นนั้น จะยกเลิกสิทธิ์ ไม่ให้รับผู้โดยสารอีกต่อไป ดังนั้น ต่อให้ผู้ขับ Taxi จะอยากกลับไปใช้รถยนต์ ที่ต้องเติมน้ำมัน หรือ ก๊าซ มากกว่า แต่พวกเขา ก็ต้องขวนขวายหารถยนต์ไฟฟ้า มาให้บริการรับส่งลูกค้าของเขาให้ได้อยู่ดี
ผู้ผลิตรถยนต์ชาวจีน ต่างก็ขานรับนโยบายนี้ ด้วยการหันไปพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า หลากหลายรูปแบบ ขนาดตัวถัง และความจุแบ็ตเตอรี ที่แตกต่างกัน ออกมาแข่งขันกันอย่างรุนแรงเต็มไปหมด ชนิดที่ว่า ถ้าค่ายไหนไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า ก็อาจจะส่งผลถึงยอดขายในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม การอุดหนุนของรัฐบาลจีน ก่อให้เกิดการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า คุณภาพต่ำ หรือแล่นได้ในระยะทางไม่ไกลนักเต็มไปหมด ดังนั้น รัฐบาลจีน จึงออกประกาศ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2019 ว่าจะลดการอุดหนุน ต่างๆ ลง 50% และเตรียม จะยกเลิกการอุดหนุนโดยสิ้นเชิง ในปี 2020 ที่จะถึงนี้
SGMW เอง ก็มองเห็นถึงโอกาสดังกล่าว จึงตัดสินใจทำรถยนต์ไฟฟ้า ออกขายด้วย เพียงแต่ว่า พวกเขาเลือกเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกระทัดรัดก่อนในช่วงแรก ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาเติบโตมาจากการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ จนกลายเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดกลุ่มนี้ และค้นพบว่า รถยนต์ขนาดเล็กเหล่านี้ สามารถลบล้าง หรือลดทอนข้อด้อย (Pain Point) ในการใช้รถยนต์ ตั้งแต่ขนาดตัวรถที่เป็นอุปสรรคในการหาที่จอด ราคาแพง ค่าใช้จ่ายทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง การบำรุงรักษา และการประกันภัยที่สูงลิ่ว เป็นต้น ได้อย่างดี
SGMW ถึงขั้น แยกโชว์รูมพิเศษ ออกมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กเหล่านี้โดยเฉพาะ และเราได้มีโอกาสไปเดินดูโชว์รูมแห่งนี้ โดยบังเอิญ ตั้งอยู่ชั้นล่าง ของห้างสรรพสินค้า หวันต้า พลาซ่า (Wanda Plaza) ซึ่งติดอยู่กับโรงแรม Wanda Realm Liuzhou ที่เราไปพักพอดี
โชว์รูมแห่งนี้ ถูกตกแต่งในสไตล์เดียวกับ ร้านขายสินค้า iT ในบ้านเรา เน้นจัดโชว์ข้าวของเครื่องใช้สไตล์ Modern ร่วมสมัย น่ารักกุกกิก เอาใจคนรุ่นใหม่ มี Counter Bar ในสไตล์ร้านกาแฟ แต่แท้จริงแล้ว เป็นโต๊ะทำงาน ของพนักงานขายประจำโชว์รูม รวมทั้งยังจัดวางเก้าอี้ทรงสูง สำหรับลูกค้า และ โต๊ะวงกลม กับเก้าอี้ที่มีทรวดทรงและโทนสี เข้ากันดีกับงานออกแบบภายในของตัวโชว์รูม ผนังทั้ง 2 ฝั่ง จัดแสดงสินค้า และอุปกรณ์ตกแต่งพิเศษของรถยนต์ ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อเพิ่มเติมได้ มีครบแม้กระทั่งรถโมเดลขนาดเล็ก ของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น ย่อส่วนจากคันจริง ในขนาด 1 : 18 จัดแสดงและจำหน่ายอยู่ด้วย
ใช่ครับ รถยนต์ไฟฟ้า ขนาดกระทัดรัด 2 รุ่นแรก ที่ SGMW ใช้เปิดตลาดภายใต้แบรนด์ Baojun ทั้งรุ่น E100 และ E200 ซึ่งผมกำลังจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ 2 ศรีพี่น้องคู่นี้กัน…ข้างล่างนี้…
SGMW เปิดตัว Baojun E100 อันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 2 ที่นั่ง ขนาดกระทัดรัด ออกมาครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2017 วางตำแหน่งการตลาดให้เป็น “รถยนต์คันที่ 2 ของครอบครัวคนเมือง” (The Seconds car for the Urban families)
ตัวรถมีความยาว 2,488 มิลลิเมตร กว้าง 1,506 มิลลิเมตร สูง 1,670 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ สั้นเพียง 1,600 มิลลิเมตร เท่านั้น ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,310 และ 1,320 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 130 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวทั้งคัน เบาแค่ 750 กิโลกรัม!
บานประตู เปิดกางออกได้กว้าง เพื่อให้สามารถลุกเข้า – ออก ได้สะดวกสบาย ภายในห้องโดยสาร นั่งได้ 2 คน เท่านั้น พวงมาลัยเป็นแบบ 2 ก้าน พร้อมสวิตช์ Multi Function บนก้านพวงมาลัยทั้ง 2 ฝั่ง ชุดมาตรวัดเป็น จอ LCD Monitor สี ขนาด 7 นิ้ว มีเครื่องปรับอากาศ พร้อม Heater ในตัว สวิตช์ปรับความสว่างของไฟหน้า สวิตช์ไฟฉุกเฉิน
E100 มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย คือ Zhixing มาพร้อมอุปกรณ์มาตรฐาน ได้แก่ ไฟหน้าแบบเลนส์ พร้อมระบบหน่วงเวลาปิด Home Lighting มีไฟตัดหมอกหน้า – หลัง ไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง ไฟเบรกดวงที่ 3 เสาอากาศแบบครีบฉลาม ติดฟิล์มที่กระจกหน้าต่างรอบคัน และฝาครอบล้อ Version A
ส่วนภายใน เบาะนั่งจะเลื่อนได้ 2 ทิศทาง คือ เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง เท่านั้น มีช่องเสียบ USB มาให้ 2 ตำแหน่ง ถุงลมนิรภัยเฉพาะฝั่งคนขับ เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้ง 2 ที่นั่ง มีระบบ เตือนคนเดินถนน Low Speed Pedestrian Warning System ตัวปล่อยสัญญาณ Wi-Fi 4G วิทยุ AM/FM พร้อมระบบ Bluetooth 2 ลำโพง นอกจากนี้ยังมี Interconnection Application ให้ลูกค้า Download เข้าโทรศัพท์มือถือ เพื่อเข้าไปลงทะเบียนนัดหมายในการนำรถเข้าศูนย์บริการ รวมทั้งเพิ่มระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC (Electronic stability control) มาให้อีกด้วย
อีกรุ่นหนึ่ง เรียกว่า Zhixiang จะเพิ่มอุปกรณ์ จากรุ่น Zhixing ทั้ง เบาะนั่งปรับได้ 4 ทิศทาง (ขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับเอน – ตั้งชัน) กระจกมองข้างปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ไฟสร้างบรรยากาศในห้องโดยสาร Atmosphere Light แผงบังแดดพร้อมกระจกแต่งหน้า ตะขอบนแผงหน้าปัดสำหรับแขวนถุงใส่ของ ระบบกุญแจ Keyless Entry และปุ่มติดเครื่อง Keyless Start ระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB (Electric Parking Brake) ไส้กรองฝุ่นในเครื่องปรับอากาศ และปลั๊กตำแหน่งพิเศษ สำหรับติดกล้องบันทึกการจราจรขณะขับขี่จุดนึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX
นอกจากนี้ ยังเพิ่มจอ Mornitor สี ขนาด 10 นิ้ว Interconnection PAD ซึ่งออกแบบมาเพื่อ E100 โดยเฉพาะ สามารถเชื่อมต่อ E100 เข้ากับระบบ Bluetooth ของโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้เป็นระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigatin System , วิทยุ AM/FM , เครื่องเล่นไฟล์เพลง ,ระบบสั่งการด้วยเสียง ช่องเสียบ USB 5 ตำแหน่ง และ Function อื่นๆ อีกมากมาย
ระบบขับเคลื่อน ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า Permanent magnet synchronous motor กำลังสูงสุด 29 กิโลวัตต์ หรือ 38 แรงม้า (HP) แรงบิดสูงสุด 110 นิวตันเมตร (11.20 กก.-ม.) เชื่อมการทำงานกับ แบ็ตเตอรีแบบ Lithium-ion ความจุ 14.9 kWh (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) ความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถแล่นได้ไกล 155 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟเต็มที่ 1 ครั้ง โดยใช้ไฟบ้าน 220 V พร้อมโปรแกรมการขับขี่แบบ Economy , Standard และ Sport Mode
ขับเคลื่อนล้อหน้า พวงมาลัยแบบ Rack &b Pinion พร้อมระบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระ MacPherson Strut ด้านหลังเป็นแบบอิสระ single-arm ระบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti – Lock Braking System) พร้อมระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distributor) พร้อมระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC (Electronic Stability Control) สวมล้อกระทะ พร้อมฝาครอบแบบเต็มวง พร้อมยางขนาด 145/70 R12
SGMW รับประกันคุณภาพของตัวรถ 3 ปี หรือ 60,000 กิโลเมตร และรับประกันคุณภาพสำหรับชิ้นส่วนหลักๆของระบบขับเคลื่อน 8 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร ตั้งราคาขายไว้ที่ 45,800 หยวน ในรุ่น Zhixing และ 58,800 หยวน ในรุ่น Zhixiang (229,000 – 294.000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตของไทย ) ราคาดังกล่าวนี้ เป็นค่าตัวที่ทาง SGMW ได้รับเงินอุดหนุน จากรัฐบาลจีนแล้ว หากไม่ได้รับการอุดหนุน ราคาขายปลีกของ E100 จะต้องอยู่ที่ 93,900 หยวน ในรุ่น Zhixing และ 109,900 หยวน ในรุ่น Zhixiang (หรือ 469,500 – 549,500 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตของไทย )
ช่วงแรก ที่เปิดตัว SGMW วางแผนจำกัดพื้นที่เขตการขายไว้แค่ เฉพาะในเขตเมือง Liuzhou และ มณฑล Guangxi เท่านั้น เนื่องจากเหตุผลด้านความพร้อมในการสร้างสาธารณูปโภครองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลมณฑล Guangxi มีมากกว่า กระนั้น ตัวรถยังมีข้อจำกัดด้านระยะทางแล่นต่อการชาร์จไฟที่ยังไม่ไกลพอ อีกทั้งในเบื้องต้น ยังมีการจำนวนผลิตเพียง 200 คันก่อนในล็อตแรก
ทว่า หลังแถลงข่าวเปิดตัวไปได้เพียงวันเดียวกันนั้นเอง มีลูกค้าชาวเมือง Liuzhou และละแวกใกล้เคียง สั่งจองเข้ามาสูงถึง 5,000 คัน! เพียงแค่ 5 เดือนแรก ที่ออกสู่ตลาด SGMW ก็ทำยอดขาย Baojun E100 ไปได้มากถึง 11,446 คัน และเมื่อนับยอดขายตลอด 10 เดือนแรก จะสูงถึง 22,000 คัน
ต่อมา 13 มิุนายน 2018 SGMW เปิดตัว Baojun E100 รุ่น Upgrade ออกมา เพิ่มระยะทางวิ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ให้ไกลขึ้นเป็น 200 กิโลเมตร ตั้งราคาขายปลีก 46,800 หยวน และ 59,800 หยวน รวมทั้ง เพิ่มเขตการจำหน่าย จากเดิมที่สงวนเฉพาะเมือง Liuzhou มณฑล Guangxi เพิ่มเมือง Qingdao และเมือง Shangdong รวม 2 แห่ง
E100 เวอร์ชัน 2 ทำตลาดได้เพียงแค่ 2 เดือน SGMW ก็เร่งเปิดตัว Baojun E200 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2018 ออกมาขายควบคู่กันไปด้วยเลย
ตัวรถมีความยาว 2,497 มิลลิเมตร กว้าง 1,526 มิลลิเมตร สูง 1,616 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 1,600 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,310 – 1,320 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 842 กิโลกรัม รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด มาพร้อมเส้นสายที่ ดูล้ำอนาคต ในสไตล์ Futuristic มากกว่า E100 อย่างชัดเจน ไฟหน้า กับไฟท้าย รวมทั้งไฟ Daytime Running Light เป็น LED ทั้งหมด
ภายในห้องโดยสาร ออกแบบขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับภายนอก เบาะนั่งคู่หน้า ยังคงเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด ไล่ตั้งแต่พนักศีรษะ พนักพิงหลัง จนถึงเบาะรองนั่ง แบบบาง ฟังก์ชันที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านขวา สามารถพับให้แบนราบ เพื่อวางสัมภาระได้ หรือ จะยกแค่เบาะรองนั่ง หงายขึ้น เปิดเข้าสู่พื้นที่เก็บของขนาดกำลังดี อีกก็ได้เช่นกัน แถมยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX กับเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง และถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ มาให้ด้วย
E200 ยังคงมีให้เลือก 2 รุ่นย่อย เหมือน E100 นั่นคือ รุ่น Zhixing กับ Zhixiang ความแตกต่างของทั้ง 2 รุ่นย่อย ก็เหมือนกับ E100 นั่นละครับ ช่องเสียบ USB 3 ตำแหน่ง มีจอ Pad ให้เลือกสั่งซื้อพิเศษ มาพร้อมกับระบบปล่อยสัญญาณ Wi-Fi แบบ 4G จากในรถ ชุดมาตรวัดก็เป็นจอแสดงข้อมูลแบบเดียวกับ E100 คือรวมทุกฟังก์ชันการทำงาน มาแสดงไว้บนจอเดียวกัน ส่วนพวงมาลัยก็เป็นแบบ 2 ก้าน ออกแบบใหม่ ให้มี Grip ที่หน้าขึ้น กระชับขึ้น และมีสวิตช์ Multi Function ควบคุมเครื่องเสียง และระบบต่างๆ จากก้านพวงมาลัยมาให้เสร็จสรรพ
ระบบขับเคลื่อน ยก มอเตอร์ไฟฟ้า Permanent magnet synchronous motor กำลังสูงสุด 29 กิโลวัตต์ หรือ 38 แรงม้า (HP) แรงบิดสูงสุด 110 นิวตันเมตร (11.20 กก.-ม.) มาจาก Baojun E100 ทั้งยวง มาติดตั้งให้กับ E200 แบบไม่ต้องคิดมาก แต่เชื่อมการทำงานกับ แบ็ตเตอรีแบบ Lithium-ion ความจุใหญ่ขึ้นเป็น 24 kWh (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) ความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมโปรแกรมการขับขี่แบบ Economy , Standard และ Sport Mode
E200 มีจุดเด่นเหนือกว่า E100 ตรงที่ มีการเพิ่มขีดความสามารถในการชาร์จไฟ และเพิ่มระยะทางแล่นตามมาตรฐานการวัดของ NEDC ให้ไกลขึ้น เป็น 210 และ 270 กิโลเมตร (ในโบรชัวร์ภาษาจีนระบุไว้แค่ 250 กิโลเมตร) ต่อการชาร์จไฟเต็มที่ 1 ครั้ง ด้วยไฟ 220V (ชาร์จจาก 20% อันเป็นระดับต่ำสุดเท่าที่โรงงานตั้งเอาไว้ให้เหลือพอจะติดเครื่องได้ จนเต็ม 100% ใช้เวลา 11 ชั่วโมง) ไม่เพียงเท่านั้น มอเตอร์ไฟฟ้า ยังถูกปรับปรุง ให้ทำงานได้เงียบขึ้น ขณะที่มอเตอร์หมุน 2,600 – 3,800 รอบ/นาที สามารถวัดระดับเสียงได้ 40.5 Decibel A ซึ่งเป็นระดับเสียงที่เงียบเท่าห้องสมุด ลดลงจาก E100 ซึ่งทำได้ 42.5 Decible A
ขับเคลื่อนล้อหน้า พวงมาลัยแบบ Rack &b Pinion พร้อมระบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 3.8 เมตร ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระ MacPherson Strut ด้านหลังเป็นแบบอิสระ single-arm ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti – Lock Braking System) พร้อมระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distributor) พร้อมระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC (Electronic Stability Control) สวมล้อกระทะ พร้อมฝาครอบแบบเต็มวง พร้อมยางขนาด 145/70 R12
ราคาจำหน่าย แพงกว่า E100 เล็กน้อย รุ่นพื้นฐาน Zhixing อยู่ที่ 54,800 หยวน ส่วนรุ่น Zhixiang อยู่ที่ 64,800 หยวน (274,000 – 324,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า และภาษีสรรพสามิต ของไทย) ราคาดังกล่าวนี้ เป็นค่าตัวที่ทาง SGMW ได้รับเงินอุดหนุน จากรัฐบาลจีนแล้ว โดย SGMW รับประกันคุณภาพของตัวรถ 3 ปี หรือ 60,000 กิโลเมตร และรับประกันคุณภาพสำหรับชิ้นส่วนหลักๆของระบบขับเคลื่อน 8 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร เหมือน E100
***** การทดลองขับ *****
จากระยะทางที่ได้ทดลองขับ สั้นๆ เพียง 300 เมตร ซึ่งค่อนข้างสั้นมากๆ สัมผัสได้ว่า อัตราเร่ง ไม่ได้ถึงกับจัดจ้านอย่างรถยนต์ไฟฟ้า ทั่วไปที่ผมเคยลองขับมา ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะน้ำหนักของผู้ขับขี่ ที่ปาเข้าไป 110 กิโลกรัม รวมกับน้ำหนักของ Instructor อีกราวๆ 60 กิโลกรัม น่าจะมีผลต่ออัตราเร่งของรถอยู่บ้าง (ฮา)
ถ้าให้เปรียบเทียบกันแล้ว แรงดึงจากการออกตัว ใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าลอยน้ำได้อย่าง Fomm คือภาพรวมหนะไม่ได้แรงมาก แต่ตอนออกตัว ก็พุ่งทะยานไปอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มไปเหี่ยวเอาช่วงปลายๆ อันเป็นปกติวิสัยของรถยนต์ไฟฟ้า กล่าวคือ ช่วงไต่ความเร็ว หลัง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป จะเริ่มช้าลง แน่นอนว่า ตัวเลข Top Speed น่าจะแตะ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ ผมมองว่าจำกัดความเร็วไว้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็เหมาะสมดีแล้ว เผลอๆ ยังคิดว่า เยอะไปหรือเปล่าเสียด้วยซ้ำ เพราะดูจากโครงสร้างตัวรถ และองค์ประกอบทั้งหมด มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แล่นได้เร็วขนาดนั้นเลย
ด้วยระยะทางตรงของสนามทดสอบที่เราลองขับ ค่อนข้างสั้น และมีการจำกัดความเร็วไว้เพียงแค่ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมจึงต้องถอนเท้าขวาออกจากคันเร่ง แล้วเปลี่ยนมาเหยียบแป้นเบรก เพราะใกล้ถึงจุด U-Turn เข้าไปยังสนามที่มีทางโค้งคดเคี้ยวเล็กๆ กันต่อ
ระบบห้ามล้อ ตอบสนองได้ดี น้ำหนักแป้นเบรก เบาเอาเรื่อง ในระดับที่เรียว่า เบาชิบหาย! ต้องเหยียบแป้นเบรกลงไปราวๆ 30% จึงจะเริ่มทำงาน ถ้าจะชะลอรถให้หยุดอย่างนุ่มนวล ก็ยังพอทำได้ แต่อาจต้องเกร็งเท้านิดนึง ถ้าขับในเมือง แป้นเบรกแบบนี้ คุณสุภาพสตรีน่าจะชอบ แต่สำหรับผม ขอหนืดกว่านี้อีกหน่อยเถอะ!
พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ก็ให้สัมผัสในแบบพวงมาลัยไฟฟ้า สำหรับรถเล็กๆ มีแรงขืนที่มือ พอประมาณ ไม่เบาโหวงอย่างที่คิด แต่ก็ไม่หนืดมากนัก ทำให้การบังคับเลี้ยว พอจะทำได้ดีประมาณหนึ่ง ในระดับที่ เบากว่า และดีกว่า พวงมาลัยของรถยนต์ไฟฟ้า Fomm นิดหน่อย
ช่วงล่างมาในสไตล์ กระชับ กำลังดี แบบที่คุณพอจะนึกคาดเดาและคาดหวังได้จากรถยนต์ที่มีระยะฐานล้อ (Wheelbase) สั้น เพราะถ้าเซ็ตช่วงล่างมาให้นุ่มนวลจนนุ่มนิ่มไปกว่านี้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการทรงตัวในย่านความเร็วสูงได้ และถ้าเซ็ตให้แข็งไปเลย ความสบายในการขับขี่ในเมือง ก็จะหายไป ดังนั้น ผมมองว่าช่วงล่างที่เขาเซ็ตมาอย่างนี้ ทำได้ดีเกินคาดหวังแล้วละ
ข้อที่ต้องทำใจก็คือ ช็อกอัพ มีระยะยุบค่อนข้างสั้น ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจว่า พอเจอหลุมบ่อ หรือพื้นทางต่างระดับ อาการสะเทือนตึงตังที่คนขับจะได้รับเข้ามา ค่อนข้างชัดเจน ดุจรถเก่า ช็อกอัพตาย ที่แล่นมา 10 ปีแล้ว
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
Chinesse “Smart For Two” เพื่อชาวเมืองใหญ่ ขับไปเถอะ อย่าคิดมาก!
แนวคิดการสร้างรถยนต์ นั่ง 2 คน เพื่อ เดินทางในเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ Daimler AG เคยทำรถยนต์ต้นแบบ Mercedes-Benz ออกมาก่อนแล้วตั้งแต่ยุค 1980 ก่อนจะต่อยอดออกมาเป็น รถยนต์ Smart ซึ่งยังคงพยายามหาทางเอาตัวรอดอยู่ในกระแสเชี่ยวกรากจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่รุนแรง
สำหรับเมืองจีนแล้ว การที่รัฐบาลกลาง ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ผู้ผลิตสามารถพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดกระทัดรัด นั่งได้ 2 คน แบบนี้ ซึ่งเมื่อเห็นรถคันจริงตามท้องถนน ก็พบว่า มันช่างเหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่อย่างมาก ไม้แพ้เมืองใหญ่ในยุโรปเลย
E200 มันอาจไม่ใช่รถที่ขับดีนัก เมื่อเทียบกับ Smart แต่ด้วยโครงสร้างตัวรถกระทัดรัด แน่นหนาประมาณหนึ่ง (คือ แน่นกว่า Fomm เยอะ แต่ยังไม่อาจเทียบเท่า Smart) การออกแบบที่เน้นการผสมผสานระหว่าง เส้นสายร่วมสมัย เข้ากับงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้า มาในต้นทุนที่ไม่แพงเกินไปนัก นั่นคือข้อได้เปรียบของรถยนต์ประเภทนี้ จากผู้ผลิตชาวเมืองจีน หลายราย แต่ SGMW ก็ทำรถออกมาได้ดีกว่า Fomm อย่างชัดเจน แถมยังสามารถขายในราคา ที่พอๆกันกับ Fomm อีกด้วย (เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้ว ไม่รวมภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพสามิต และถอดมูลค่าการ Subsidise จากรัฐบาลจีนออกแล้วด้วยนะ) มีสิ่งเดียวที่ Fomm เหนือกว่า ก็คือ สามารถลงไปขับในน้ำได้
แผนของ SGMW ก็คือ พวกเขาต้องการเพิ่มสัดส่วนยอดขายรถยนต์ EV เหล่านี้ ให้มากขึ้นเป็น 20% ต่อปี จากเป้าหมายยอดขายรถยนต์ของพวกเขาในระดับ ระดับ 2,000,000 คัน/ปี นั่นเท่ากับว่า SGMW หวังจะขายรถยนต์ EV เหล่านี้ ถึง 400,000 คัน/ปี เลยนะนั่น!! จริงอยู่ว่า ตลาดรถยนต์ในจีน ใหญ่สุดในโลก ปริมาณยอดขายมันมากพอให้ตั้งเป้าได้สูงขนาดนี้มานานหลายปีแล้ว
หลังจากได้เห็น ความก้าวหน้าของตลาดรถยนต์เมืองจีน และการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV ของพวกเขาแล้ว ผมคงได้แต่ถอนหายใจ และคิดเงียบๆ สั้นๆ ระหว่างบินกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของเราว่า….
ไทยเราละ? มัวทำอะไรกันอยู่??
———————-///———————
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
SGMW Ltd. ,Liuzhou , Republic of China
Mike Devereux, Executive Vice President, SGMW
Huang haohua, Baojun Brand Manager, SGMW
Robert Gao, Design Director, SGMW
Peng Lingchen, Director of Manufacturing Operations, SGMW
Zhang Fei, Director of Test Operations
GM China Science Lab.
Jeff Wang, Site Leader, GM China Science Lab
Helen Liu, Lab Group Manager,Advanced Battery and Manufacturing Process
General Motors (Thailand) Co.,Ltd. & GM Southeast Asia (SEA)
Sean Poppitt , Director of Marketing and Communications
Chevrolet Sales (Thailand) Co.,Ltd.
Piyanuch Chaturaphat ,General Director of Sales
Pucharapan Holim , Communications Manager
สำหรับการจัดทริปในครั้งนี้ รวมทั้งการดูแลต้อนรับที่ประเสริฐเลิศเลออย่างยิ่ง!
————————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์บางส่วน เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในพื้นที่ของ SGMW เป็นของ QiLai Shen
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
2 กรกฎาคม 2019
Copyright (c) 2019 Text and Pictures
Some picture shooted in SGMW Facility by : QiLai Shen
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 2nd,2019