รอคอยเธอมาแสนนาน….ทรมานวิญญาณหนักหนา
ระทมในอุรา แก้วกานดา ฉันปองเธอผู้เดียวววว…………….
นี่อาจจะเป็นบทเพลงที่ชื่อว่า แต่ปางก่อน ที่บ่งบอกความรู้สึกได้ดีที่สุดสำหรับลูกค้า
ที่จอง Ford Everest ไปตั้งแต่ช่วงงาน Motorshow ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ใช่ครับ ฟังไม่ผิด รถเปิดตัวและรับจองกันตั้งแต่ปลายมีนาคมกันแล้ว !!!
หลายครั้งหลายคราที่คุณผู้อ่านได้ถามไถ่กันเข้ามาไม่ขาดสายว่า ขอโทษนะครับรบกวน
ถามนิดนึง Ford Everest นี่เปิดตัวรึยังครับ ? แล้วจะขายเมื่อไหร่ ? ราคาเท่าไหร่ ?
เห็นวิ่งกันตั้งแต่ต้นปี ป่านนี้ยังไม่ขายอีกหรือครับ ? นึกว่ารับรถกันไปแล้วซะอีก
หลายๆคนนิยามการวิ่งทดสอบแบบไม่ปิดพรางตัวใดๆของรถฟอร์ดว่า ” วิ่งอ่อย ”
จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เอาล่ะ ! เมื่อไหร่ที่เราเห็นรถใหม่วิ่งทดสอบรุ่นใดๆของฟอร์ด
แบบไม่ปกปิดพรางตัวใดๆทั้งสิ้นเป็นครั้งแรก นับไปเลยอีก 1 ปี ลูกค้าถึงจะได้รับรถ
มาขับกัน (นั่นก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง ฮาาา !!)
ที่จริงแล้วนั้นมันก็มีเหตุผลอยู่ว่าทำไม ต้องวิ่งทดสอบกันนานขนาดนี้ อย่างที่พวกเรา
อาจจะเห็นกันบ้างตามภาพ Spyshot หรือบางทีหลายคนอาจเรียกมันว่า Promoteshot !
ก็ตามแต่ รถที่วิ่งทดสอบนั้นจะมีสติ๊กเกอร์แปะอยู่ด้านท้ายรถเป็นตัวอักษร ภาษาอังกฤษ
4 ตัว ” VOCF ” หรือชื่อเต็มของมันก็คือ Voice of Customer Fleet เป็นการให้นักขับ
ของ Ford วิ่งเก็บข้อมูลตัวรถไปเรื่อยๆ ล็อตละประมาณ 10,000 km. เพื่อหา Defect ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในงานทดลองประกอบ รถเหล่านี้จะแบ่งออกเป็นหลายล็อต พัฒนากันมาเรื่อยๆ
PP1 – PP2 – PP3 ( PP = Pre-Production หรือรถทดลองประกอบ) จนกระทั่ง เริ่ม MP
หรือ Mass Production ที่จะส่งมอบให้ลูกค้าได้ รถที่เราเหล่าสื่อมวลชนได้ทดสอบนั้น
ทาง Ford แจ้งว่าเป็น Final PP หรือรถทดลองประกอบล็อตสุดท้าย ก่อนจะขึ้นไลน์ประกอบ
จริงเริ่มส่งมอบให้ลูกค้า แต่…….มันก็ยังมี Defect บางอย่างให้พบเจออยู่บ้าง เดี๋ยวผมจะ
เล่าให้ฟังในส่วนของ Part ถัดๆไปที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามแต่ วันนี้ Ford Everest ก็พร้อมจะเริ่มส่งมอบให้ถึงมือลูกค้ากันได้แล้วในช่วง
ต้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ก่อนจะพูดถึง Ford Everest ใหม่กัน ท้าวความก่อนซักเล็กน้อย
Ford Everest รุ่นเดิมนั้นเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2003
นั้นนับเป็น Generation ที่1 ของ Everest โดยจุดประสงค์หลักคือ เปิดไลน์พัฒนารถรุ่นนี้
มาเพื่อตลาดในไทยโดยเฉพาะ เพื่อให้เข้าเกณฑ์รถ SUV ที่มีพื้นฐานมาจากกระบะ 1 ตัน
หรือที่บ้านเราเรียกว่า PPV นั่นเอง ในปี 2003 นี้เองก็ตรงกับการฉลองครบรอบ 100 ปี
ของฟอร์ดทั่วโลก
เปิดตัวมาผ่านไปได้ 1 ปี ในช่วงกลางปี 2004 ก็มีการปรับปรุงอุปกรณ์ภายในเล็กๆน้อยๆ
จนถึงช่วงสิงหาคม 2005 ก็มีการโหมหนักด้วยการจัดแคมเปญ รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ กดราคาลงมา
เหลือ 888,000 บาท เพราะมีคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Toyota Fortuner ลงมาเล่นในตลาดนี้โกย
ยอดขายไปอย่างถล่มทลาย ทำให้ฟอร์ดต้องประคองตัวกันมาเรื่อยๆ จากนั้นมีการปรับโฉม
Minorchange ครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงสิงหาคม 2006 ในแต่ละปีก็มีการแต่งหน้าทาปาก
เล็กๆน้อยๆ ลากขายกันยาวมาจนถึงปัจจุบันปี 2015 กันเลยทีเดียว
ถึงแม้ในช่วงเดือนมีนาคม 2011 Ford ได้เปิดตัว Ranger ใหม่ แบบ Full Modelchange
ก็ยังไม่มีท่าทีของ Everest รุ่นใหม่ แต่อย่างใด จนเวลาล่วงเลยผ่านมาถึง 3 ปี 13 พฤศจิกายน 2014
ในที่สุดก็มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Ford Everest โฉมใหม่ครั้งแรกที่ประเทศจีน เมื่อนับรวม
การผลัดเปลี่ยนจากรุ่นเดิม สู่รุ่นใหม่ ใช้ระยะเวลายาวนาน ถึง 12 ปี นึกภาพตามง่ายๆว่า ถ้าครอบครัว
คุณมีลูกตอนปี 2003 ป่านนี้ลูกคุณก็เรียนอยู่ชั้น ม.1 แล้วล่ะครับ !!!
สำหรับ Ford Everest รุ่นใหม่ แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยดังต่อไปนี้
2.2 Titanium 4×2 A/T 1,269,000 บาท
3.2 Titanium 4×4 A/T 1,459,000 บาท
3.2 Titanium+ 4×4 A/T 1,599,000 บาท
สำหรับรายละเอียดสเป็คและอุปกรณ์ต่างๆ ในแต่ละรุ่นย่อย สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ครับ
// เจาะสเป็ค-Option-ราคา-รุ่นย่อย All new Ford Everest //
เวอร์ชั่นไทยนั้นมีให้เลือกด้วยกัน 5 สี ได้แก่ สีขาว Cool white, สีดำ Black Mica,
สีเงิน Aluminum, สีทอง Sparkling Gold และ สีแดงส้ม Sunset Metalic
สีตัวรถที่คุณผู้อ่านจะได้เห็นนอกเหนือจาก 5 สีนี้ โดยจะมี สีแดงสด True Red,
สีเทา Metropolitan Grey และ สีน้ำเงิน Blue Reflex ในบทความจะเป็นสีเพิ่มเติม
สำหรับเวอร์ชั่นส่งขายต่างประเทศเท่านั้น
เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า ตัวใหม่ เมื่อเทียบกับตัวเก่า ขนาดและมิติแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
Everest รุ่นเดิมมีมิติตัวรถ ยาว 5,062 มม. กว้าง 1,788 มม. สูง 1,826 มม. มีระยะฐานล้อ 2,860 มม.
ระยะต่ำสุดจากพื้นหรือ Ground Clearance อยู่ที่ 207 มม.
ส่วน Everest รุ่นใหม่ มีขนาดยาว 4,893 มม. กว้าง 1,862 มม. สูง 1,837 มม. และมีระยะฐานล้อ
ยาว 2,850 มม. ระยะต่ำสุดจากพื้นเพิ่มขึ้นเป็น 225 มม. สรุปได้ว่า ตัวรถนั้นมีความยาวที่สั้นลง
เพื่อให้กระชับมากยิ่งขึ้น แต่กว้างขึ้นและสูงขึ้นเล็กน้อยนั่นเอง
การออกแบบภายนอกนั้น มาในแนว ถึกบึกบึน เส้นสายต่างๆ ดูมีความแกร่ง เริ่มต้นจากไฟหน้า
แบบโปรเจคเตอร์ HID พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวันหรือ Daytime Running Light มาให้อยู่ใน
โคมเดียวกัน กระจังหน้าแบบเส้นแนวนอน 2 แถบ 3 ช่องซึ่งเป็น DNA เอกลักษณ์ประจำรุ่นของ
ทั้ง Ford Ranger และ Everest กระจังหน้านั้นหากสังเกตก็จะต่างจากที่อยู่ใน Ranger
ด้านหน้ากันชนจะมาพร้อมกับการ์ดกันชนด้านล่างสีเงินเมทัลลิคพร้อมไฟตัดหมอกคู่หน้า
พร้อมเซนเซอร์กะระยะด้านหน้า 4 จุด และที่ฉีดน้ำล้างโคมไฟหน้าก็มีมาด้วยเช่นกัน
ด้านข้างของตัวรถ จะมาในสไตล์เรียบง่าย เส้นสายไม่หวือหวามากนัก มาแนวอนุรักษ์นิยม
ด้านบนมาพร้อมกับราวหลังคาแบบ Roof rail ฝังไปกับตัวรถ สีเงินเมทัลลิค มือเปิดประตู
ตกแต่งด้วยโครเมียม และชายบันไดข้างจะและสีเงินเมทัลลิค ที่ดูคล้ายพื้นผิวของแสตนเลส
ขนแมว (hairline) จากเส้นสายด้านข้างที่ดูธรรมดา พอมาใส่คู่กับล้ออัลลอยล้ออัลลอยขนาดใหญ่
20 นิ้ว ลาย 6 ก้าน รัดด้วยยาง ขนาด 265/50 R20 Good year Efficient Grip SUV แบบ H/T
มันดูเต็มซุ้ม และทำให้ดูโดดเด่นและชวนมองเป็นอย่างยิ่ง !
ด้านท้ายโดดเด่นด้วยไฟท้ายแบบ LED พร้อมเส้นไฟหรี่แบบ Light Guideline คาดด้วยแถบ
โครเมียมพร้อมตัวหนังสือชื่อรุ่น Everest เหนือช่องสำหรับใส่ป้ายทะเบียน กันชนหลังมาพร้อม
กับการ์ดด้านล่างสีเงินเมทัลลิคและไฟตัดหมอกด้านหลัง
ส่วนรุ่น 2.2 Titanium 4×2 คันจริง ช่วงขับทดสอบไม่มีโอกาสได้ถ่ายมา แต่ว่าเคยมาโชว์ตัว
อยู่ที่ Fashion Island ผมได้ถ่ายมาลงไว้ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งภายนอกและภายในครับ
เชิญรับชมได้ที่ // พาไปชมคันจริง Ford Everest 2.2 Titanium 4×2 A/T โชว์ตัวครั้งแรกในไทย //
เบื้องต้นจะแตกต่างแค่เพียงมือจับเปิดประตูโครเมียม ชายบันไดล่างสีเงิน และล้อที่หดขนาดลง
เหลือ 18 นิ้ว แค่นั้น นอกนั้นแทบจะเหมือนกันทุกประการกับรุ่น 3.2 Titanium Plus+
การเข้าออกตัวรถ น่าเสียดายที่ยังไม่มีระบบ Smart Keyless มาให้ แต่เป็นรีโมทแบบพับเก็บได้
กดสวิตซ์เปิด-ปิด หรือจะเสียบกุญแจเอาก็ได้ เมื่อเปิดเข้ามาภายในจะพบกับห้องโดยสารให้สีแบบ
ทูโทน ส่วนครึ่งบนจะใช้สีดำ ครึ่งล่างจะเป็นสีเบจครีม
เบาะคนนั่งและคนขับ จะเป็นแบบปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางทั้งคู่ เบาะนั่งคู่หน้านั้นดูแล้วละม้ายคล้าย
กับที่อยู่ใน Ranger นั่นเอง แต่วัสดุหนังนั้นจะต่างกันโดยสิ้นเชิง ใช้หนังหุ้มเบาะที่ดีมากๆ
ให้ผิวสัมผัสที่นุ่มสบาย เนียนเรียบ โดยความเห็นส่วนตัวถือว่าเป็นหนังที่คุณภาพที่ดีที่สุด
ในรถระดับเดียวกัน คุณภาพดีกว่าที่อยู่ใน Nissan X-Trail อีกด้วย ! ตัวเบาะนั้นให้ความนุ่มสบาย
พนักพิงศีรษะไม่ดัน แต่ผมคิดว่ามันจะออกจะแข็งไปซักหน่อย เบาะรองนั่งยาวกำลังดี พนักพิง
รองรับแผ่นหลังนั้นสบาย ด้านข้างโอบกำลังดี
เบาะแถวที่ 2 นั้นสามารถปรับเลื่อนหน้าถอยหลังได้ เบาะมีความนุ่มสบาย นั่งสบายกว่าเบาะคู่หน้า
เสียอีก ส่วนรองนั่งความยาวกำลังดี ยาวกว่า New Fortuner เล็กน้อย สามารถปรับเอนได้ และแยก
พับแบบ 60 : 40 มีที่วางแขนตรงกลาง ส่วนปลายกดออกมาเป็นที่สำหรับวางแก้วน้ำได้ ตำแหน่งของ
ที่เท้าแขนตรงกลางนั้น ตำแหน่งอยู่สูงไปนิดนึง น่าจะปรับให้ลงมาต่ำกว่านี้ได้จะดีมาก
การเข้าออกเบาะแถวที่ 3 นั้นถือว่าทำได้ด้อยที่สุดในบรรดา PPV ด้วยกัน เนื่องจากตัวเบาะนั้น
ไม่สามารถพับตลบลงมาได้อีกทบ เพื่อให้สามารถเข้าออกได้สะดวก ทำได้เพียงเลื่อนไปด้านหน้า
จนสุดแล้วพนักพิงเอน 45 องศา เหมือนการเข้าออกรถกระบะแค็ปสมัยก่อนที่บานแค็ปนั้นยัง
ไม่สามารถเปิดได้ อีกอย่างคือ แม้จะมีมือจับอยู่ที่เสา B มาให้ แต่การเข้าออกผมมองว่าควรที่จะ
มีมือจับที่หลังคามาให้ด้วย การเข้าอาจจะไม่เป็นปัญหามากนัก แต่การออกนี่สิ ไม่มีมือจับเลย
แทบจะกลิ้งลงเป็นลูกชิ้นยักษ์ ตามหุ่นอันใหญ่โตของผม ฮ่าๆๆๆ
เบาะแถวที่ 3 สามารถพับได้ด้วยระบบไฟฟ้า เพียงแค่กดสวิตซ์เดียวเท่านั้น เป็นครั้งแรกในกลุ่มนี้
ที่มีมาให้ ตัวเบาะนั้นสามารถพับไปได้เรียบเนียนดูเรียบร้อยและเพิ่มพื้นที่วางสัมภาระได้มากขึ้น
ตรงนี้ทำได้ดีกว่า New Fortuner แต่สำหรับการนั่งเบาะแถวที่ 3 ยังให้ความสบายไม่มากนัก
เมื่อเทียบกับ New Fortuner เพราะรายนั้นสามารถปรับเอนได้ด้วย ทำให้ไม่ต้องนั่งหลังตรง
พื้นที่ก็มีให้มามากกว่าประมาณนึง แต่พื้นที่ Headroom นั้น Ford Everest ทำได้ดีกว่าทั้งเบาะ
แถวที่ 2 และเบาะแถวที่ 3 ผมสูง 174 เซนติเมตร สามารถนั่งแถวที่ 3 แล้วหัวไม่ติด ส่วนใน
Fortuner นั้นติดต้องเลื่อนตัวมาด้านหน้าถึงจะไม่ชนเพดาน ก็เรียกได้ว่าได้อย่างเสียอย่างจริงๆ
บานประตูด้านหลังนั้นสามารถเปิดปิดได้ระบบไฟฟ้า มีสวิตซ์สามารถควบคุมได้จากคนขับ
รวมถึงสามารถกดปุ่มเปิดจากด้านหลังได้เช่นกัน มีระบบป้องกันการหนีบ Jam Protection มาให้
แผงแดชบอร์ดส่วนด้านบนนั้นจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม เดินตะเข็บด้วยด้ายจริง พวงมาลัยก็เหมือน
Ranger แต่มีการบุหุ้มหนังใหม่ กริปค่อนข้างหนานุ่มและกระชับมือ ปุ่มบนพวงมาลัยนั้นแยก
เป็นสองฝั่ง ซ้าย-ขวา ควบคุมแยกกันกับการแสดงผลบนมาตรวัด
ตรงกลางเป็นจอควบคุมส่วนกลาง มีทั้งระบบเครื่องเสียง ที่สามารถสั่งการด้วยเสียง SYNC2
เช่น การเลือกเพลง หรือแม้กระทั่งเพิ่มพัดลมแอร์ก็ยังได้ เป็นจอระบบสัมผัส Touchscreen
ขนาด 8 นิ้ว เป็น Center Control ระบบต่างๆในรถ แม้กระทั่งแอร์ด้านหน้าและด้านหลัง
ก็ยังแสดงผลและสามารถควบคุมได้ที่หน้าจอนี้ การสัมผัสถือว่ายังแอบช้าอยู่บ้างในบางจังหวะ
มาพร้อมกับลำโพง 9 ตัว และซับวูฟเฟอร์ 1 ตัว คุณภาพเสียงที่ฟังคร่าวๆถือว่าเป็นที่น่าพอใจ
มีช่องเชื่อมต่อ AUX และ USB มาให้ 2 ช่อง พร้อมกล้องมองภาพขณะถอยจอด มี GPS มาให้
แต่น่าเสียดายที่ไม่มีระบบนำทาง มีแต่เพียงช่องสำหรับใส่ SD Card ที่ยังไม่รู้ว่าในอนาคต
จะสามารถการ์ดระบบนำทางได้เหมือนอย่างใน Mazda หรือไม่? แต่ ณ ตอนนี้ถามมาแล้ว
ยังไม่มีครับ
ระบบปรับอากาศนั้นเป็นแบบอัตโนมัติ แยกฝั่งอิสระซ้าย-ขวา ควบคุมอุณหภูมิได้ที่จอกลาง
หรือหากไม่สะดวกก็มีปุ่มควบคุมแยกต่างหาก คอนโซลด้านหน้ามีช่องชาร์จไฟ 12V มาให้ 2 จุด
และที่ด้านหลังกล่องเก็บของตรงกลาง มีช่องชาร์จไฟ 12V และ 230V มาให้อย่างละ 1 ช่อง
พร้อมกับปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศแยกส่วนด้านหลัง อยู่ในบริเวณเดียวกัน
มาตรวัดแบบจอสีคู่ TFT สามารถแสดงผลข้อมูลได้มากมาย ฝั่งซ้ายจะเป็นระบบ Entertainment
ส่วนฝั่งขวาจะเป็นข้อมูลการขับขี่ มาตรวัดความเร็วจะเป็นวงตรงกลางเข็มแบบอนาล็อก มีจุดที่น่า
ตำหนิคือ มาตรวัดรอบที่แสดงผลเป็นเข็มแบบดิจิตอลนั้นมีขนาดเล็กเกินไป แถมยังไม่มีขีดบอก
ระยะต่างๆ มีแค่เลข 1 2 3 4 5 6 พอจะดูรอบเครื่องสัมพันธ์กับความเร็ว เลิก !!! ผมนี่เลิกดูเลย
มันมองยากมากๆ ต้องกะเอาเองว่ารอบเครื่องที่แท้จริงนั้นเท่าไหร่กันแน่ &(*)@(*$@_!!#_
เพราะการขับไปเป็นขบวนแบบนี้ต้องใช้สมาธิ หากมัวแต่จะมาจดๆจ้องๆ ชนคันข้างหน้ากันพอดี
จุดเด่นภายในห้องโดยสารที่สำคัญอย่างขาดไม่ได้ และทำให้บรรยากาศภายในห้องโดยสารนั้น
โปร่งโล่งสบายคือ หลังคากระจกเต็มบาน Panoramic Sunroof ควบคุมการเปิด- ปิดด้วยระบบ
ไฟฟ้า มีม่านบังแดดเลื่อนเปิด-ปิดแบบไฟฟ้ามาให้ด้วยเช่นกัน แต่ตัวส่วนของหลังคากระจกนั้น
ถ้าจะเปิดเพื่อรับอากาศ จะเปิดได้แค่ครึ่งบาน เนื่องจากถ้าหากเปิดเต็มบานจะไม่มีพื้นที่สำหรับเก็บ
*** เครื่องยนต์และรายละเอียดทางวิศวกรรม ***
อย่างที่ทราบกันดี Ford Everest นั้นมีพื้นฐานมาจากกระบะ 1 ตันอย่าง Ranger เพราะฉะนั้นแล้ว
เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังก็จะเหมือนกัน ขุมพลังจะแบ่งออกเป็น 2 ความจุด้วยกันคือ
เครื่องยนต์ดีเซล 5 สูบแถวเรียง 20 วาล์ว Duratorq TDCi ขนาด 3,198 ซีซี พร้อมเทอร์โบแปรผัน
แบบมีครีบ VG Turbo พร้อมIntercooler ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า (PS) ที่ 3,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุดที่ 470 นิวตันเมตร ที่ 1,750 – 2,500 รอบ/นาที
และอีกความจุก็คือ เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว Duratorq TDCi ขนาด 2,198 ซีซี
พร้อมเทอร์โบแปรผัน แบบมีครีบ VG Turbo พร้อมIntercooler ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า
ที่ 3,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตร ที่ 1,600 – 2,500 รอบ/นาที
Ford เคลมว่าเครื่องยนต์ที่ติดตั้งในทั้ง Ranger Minorchange และ Everest 2 ความจุนี้
ถึงแม้จะเป็นเครื่องยนต์เดิม จากเดิมเรียกว่า Puma Version 3.0 แต่มีการถูกพัฒนาปรับปรุงขึ้น
อัพเกรดมาเป็น Version 3.5 ในเครื่องยนต์ 2.2 ลิตรจะมีแรงม้าเพิ่มขึ้น 10 ตัว แรงบิดเพิ่มขึ้น
10 นิวตันเมตร ส่วน 3.2 ลิตรนั้นถึงแม้จะมีพละกำลังเท่าเดิม แต่ก็มีการปรับปรุงชิ้นส่วนใหม่
หลายรายการ เช่น ชุดหัวฉีดใหม่ ระบบหมุนเวียนไอเสีย EGR, การจูนอัพ Calibration ใหม่
รวมถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆด้วย
ด้านระบบส่งกำลัง จะเป็นเกียร์อัตโนมัติ แบบ 6 จังหวะ พร้อมโหมดเปลี่ยนเกียร์แบบธรรมดา
เหมือนกันทั้ง 2 ความจุเครื่องยนต์ อัตราทดเกียร์มีดังนี้
เกียร์ 1 ……………………… 4.171
เกียร์ 2 ……………………… 2.342
เกียร์ 3 ……………………… 1.521
เกียร์ 4 ……………………… 1.143
เกียร์ 5 ……………………… 0.867
เกียร์ 6 ……………………… 0.691
เกียร์ถอยหลัง ……………….. 3.400
อัตราทดเฟืองท้าย …………. 3.730
มาพร้อมกับเฟืองท้ายไฟฟ้าแบบ Locking Rear Differential (เรียกกันง่ายๆว่า Diff lock)
ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยพาวเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPAS
(Electric Power Assisted Steering) เป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียวในตลาด PPV ตอนนี้
รัศมีวงเลี้ยวอยู่ที่ 5.85 เมตร
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น ดับเบิ้ลวิชโบน พร้อมคอยล์สปริง
และเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบคอยล์สปริงพร้อมวัตต์ลิงค์และเหล็กกันโคลง
ระบบห้ามล้อหรือระบบเบรก ทุกรุ่นตั้งแต่ตัวเริ่มต้น ด้านหน้าจะเป็นแบบดิสก์เบรกพร้อม
ครีบระบายความร้อน ส่วนคู่หลังก็ให้มาเป็นดิสก์เบรกเช่นเดียวกัน
ทุกรุ่นติดตั้งระบบช่วยเหลือมาให้อย่างเต็มพิกัด ไล่เรียงกันตั้งแต่ ระบบป้องกันล้อล็อค ABS,
ระบบกระจายแรงเบรก EBD, ระบบเสริมแรงเบรก BA, ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP
ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและป้องกันการลื่นไถล TRC, ระบบช่วยออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัด
HLA, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา HDC (รุ่นขับ4) , ระบบป้องกันรถพลิกคว่ำ ROM,
ระบบควบคุมส่วนพ่วงท้าย TSC, ระบบไฟฉุกเฉินอัตโนมัติเมื่อเบรกกระทันหัน ESS, ถุงลมนิรภัย
คู่หน้า – ด้านข้าง – ม่านนิรภัย และในรุ่น Titanium Plus+ จะมีถุงลมนิรภัยหัวเข่าเพิ่มมาให้อีก 1 ลูก
รวมถึงระบบช่วยจอดอัจฉริยะ Active Park Assist, ระบบตรวจจับรถในจุดบอด BSIS,
ระบบตรวจจับรถขณะออกจากช่องจอด Cross Traffic Alert มาให้อีกด้วย
บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว (เพลงมหาฤกษ์เริ่มบรรเลง ! ) ต่อจากนี้ไปจะเป็นช่วง
เข้าสู่พิธีการการทดลองขับกันเสียที สมรรถนะจะเป็นอย่างไร ช่วงล่างและการตอบสนอง
การขับขี่จะเป็นอย่างไร รวมถึงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดล่ะ?
สำหรับทริปทดสอบขับ Ford Everest ใหม่นั้นคราวนี้มาไกลถึง จ.เชียงราย ออกเดินทาง
จากโรงแรมเลอ เมอริเดียน รีสอร์ท เข้าพื้นที่ตำบลดอยฮาง และสิ้นสุดช่วงแรกที่ คะเนรี
เนเชอรัล รีสอร์ท ระยะทาง ประมาณ 54.8 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ผลัดคนขับ ผมได้คู่กับพี่ชาย
นิตยสาร What’s Car คันแรกที่ขับ เป็นรุ่น 3.2 Titanium Plus+ สีน้ำเงิน Blue Reflex
(สีนี้จะไม่มีให้เลือกในเวอร์ชั่นไทย)
พี่ชาย เริ่มขับก่อน ส่วนผมนั่งอยู่ข้างๆด้านหน้า ความรู้สึกแรกเมื่อรถวิ่งไปบนถนน ผ่านรอยต่อ
ต่างๆ พบว่าช่วงล่างสามารถซับแรงสะเทือนได้ดีมาก นิ่งและหนักแน่น รถเคลื่อนตัวไปแบบ
สไตล์รถ SUV คันใหญ่ๆ พี่ชาย What’s Car ขับแบบจับอาการของรถใส่ทุกหลุม ทุกบ่อ
ทุกรอยต่อถนน แม้จะเป็นล้อขนาด 20 นิ้ว แต่มันเก็บอาการได้ดีจริงๆ ไม่มีอาการสะบัด
ไม่กระแทกจนแข็ง แต่ยังพอมีอาการดีดสั่นสะเทือนเข้ามาเล็กๆ แต่น้อยมาก น้อยกว่า
New Fortuner พอสมควร บรรยากาศการนั่งโดยสารสบายและผ่อนคลายมาก
จากทั้งโทนสีที่ใช้ในห้องโดยสาร และความนิ่งของตัวรถ จากประสบการณ์ที่เคย
นั่งรถ PPV มาแล้วทุกรุ่นในตลาดผมว่าคันนี้นั่งแล้วผ่อนคลายมากที่สุดก็ว่าได้
ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสนั่งโดยสารมาแล้วที่เบาะแถวที่ 2 อาการส่ายหรือสะบัดส่วนท้าย
ก็แทบไม่มีให้เห็น จะมีบ้างก็แต่ในจังหวะการเข้าโค้งตัว S แบบแรงๆ บนถนนที่ค่อนข้างแฉะ
ตัวรถจะยังมีอาการส่งเข้ามาเล็กน้อย แต่ไม่มากอย่างที่คิด อาการโยนตัว ไม่มีให้เห็น ใครที่เป็นห่วง
ว่าล้อ 20 นิ้วจะแข็งและสะเทือน ผู้ใหญ่จะนั่งโดยสารแล้วไม่สบาย ลืมไปได้เลยครับ
ความเร็วในการเดินทางทั่วไป บรรยากาศการนั่งโดยสาร รู้สึกถึงความนุ่มสบายและนิ่ง
กว่ากลุ่ม SUV พื้นฐานเก๋งบางคันซะอีก
ส่วนเบาะแถวที่ 3 นั้นผมก็ได้มีโอกาสนั่งมาแล้วเช่นเดียวกัน อาการบัมพ์รอยต่อถนนต่างๆ
จะมากกว่า แถวที่ 2 อยู่นิดหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ด้วยตัวเบาะแถวที่ 3 นั้น
ปรับเอนไม่ได้ เลยทำให้ การนั่งไม่ค่อยสบาย ส่วนตัวคิดว่าสงวนสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะเด็กๆ
หรือคนที่ตัวค่อนข้างเล็กจะเหมาะกว่า
เปลี่ยนมาเป็นผลัดที่ 2 ถึงตาผมขับบ้าง พวงมาลัยพาวเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPAS นั้น
เบาสบายในความเร็วต่ำ น้ำหนักพวงมาลัยกำลังดี ไม่ไวหรือหนักจนเกินไป ในช่วงความเร็ว
110-120 km/h ไม่โหวง ผู้หญิงสามารถมาขับคันนี้แบบสบายๆ แต่ความคล่องตัวแน่นอนว่า
รถคันใหญ่แบบนี้มุดสนุกสู้พวก SUV พื้นฐานเก๋งอย่าง CX-5 ไม่ได้ (อยู่แล้ว)
ตอนแรกได้ยินจากหลายคนที่ไปขับ Ranger Minorchange บอกว่าพวงมาลัยเบาสบายมาก
ผมนั้นเป็นคนชอบขับรถพวงมาลัยแบบหนักๆหน่อย คิดไปก่อนแล้วว่า มาขับ Everest คันนี้
ต้องเกลียดพวงมาลัยมันแน่ๆ แต่ผิดคาดครับ น้ำหนักความหนืดต่างๆ ทำได้ดีมาก เบาแต่ไม่ไว
จนเกินไป ช่วงความเร็วสูงความหนืดต่างๆก็เพิ่มขึ้น ผมค่อนข้างจะแฮ้ปปี้เลยทีเดียว
เส้นทางที่ขับกันนั้น เป็นถนนคดเคี้ยวและเป็นเลนสวนกัน บางช่วง แคบๆ ถึงแม้รถจะคันใหญ่
แต่พวงมาลัยมีส่วนช่วยมากๆ ขับแล้วไม่เครียด เมื่อเทียบกับ New Fortuner นั้น พวงมาลัย
ของ Everest มีน้ำหนักที่ดีกว่า รวมถึงดีกว่าใน MU-X และ Trailblazer ด้วยเช่นกัน
การเข้าโค้งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโค้งหักศอก หรือโค้งรูปตัว S ช่วงล่างนั้นบอกได้เลยว่า
“เอาอยู่” รถไปได้แบบสบายๆ แม้ในบ้างโค้งจะใช้ความเร็วที่มากกว่าปกติ แต่ผลลัพธ์
ที่ออกมาคือแทบไม่ต่างจากการเข้าโค้งที่ความเร็วต่ำ รถทรงตัวได้ดี ไม่มีอาการเป๋หรือ
ท้ายออกแต่อย่างใด ขับแล้วถือว่าให้ความมั่นใจค่อนข้างสูง
อัตราเร่งนั้น เนื่องจากขับเป็นขบวน แต่มีช่วงที่ทำความเร็วกันบนถนนใหญ่อยู่ การตอบสนอง
ของเครื่องยนต์ 3.2L น้้น รอบต้นออกตัวจะไปแบบเนิบๆ ค่อยๆพุ่งทยานไปแบบสุภาพ ไม่ได้
กระชากแบบหลังติดเบาะ แต่พอช่วงหลัง 60 km/h ขึ้นไปเรี่ยวแรงมันก็มาทยานไปได้ไว
ถือว่าไม่อืด ไม่หงุดหงิดแต่อย่างใด คันเร่งและเกียร์ตอบสนองดี ไต่ความเร็วขึ้นไปไวกว่า
New Fortuner 2.8 ทั้งช่วงออกตัวและความเร็วเดินทาง ช่วงออกตัวนั้นพอๆกับ MU-X 3.0
แต่ในช่วง ความเร็ว 120 km/h ขึ้นไป 3.0VGS ของ MU-X นั้น ไต่ความเร็วไปได้ไวกว่า
แบบรู้สึกได้ แต่ แต่ แต่ …………ทุกคันในตลาดตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสู้เครื่องของ Trailblazer
Duramax2 2.8L 200 แรงม้า (PS) ได้อยู่ดี ! ครับท่านผู้ชม
ส่วนตัวเลขอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ต้องรอ Ford จะส่งรถมาให้เรา
ทดสอบกันแบบ Full Review ในอนาคตกันต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ครับผม
ส่วนรุ่น 2.2L ขับเคลื่อน 2 ล้อ ผมมีโอกาสได้ขับเช่นกันในช่วงเดินทางกลับ อัตราเร่งนั้น ถือว่า
เพียงพอต่อการใช้งานขับแบบทั่วไป การออกตัวในรอบต้นนั้นตอบสนองดี ช่วง 0-40 km/h
นั้นแอบพุ่งไปไวกว่า 3.2L เสียอีก แต่หลัง 60km/h เป็นต้นไป รวมถึงการเร่งแซงช่วง
80-120 km/h ยังไต่ความเร็วไปได้ไม่ไวนัก ใกล้เคียงกับ MU-X เครื่อง 2.5VGS
แต่แอบรู้สึกว่า Everest 2.2 น่าจะไวกว่าอยู่นิดๆ
ช่วงล่างของนั้นแอบกระด้างกว่า 3.2L Titanium Plus+ อยู่เล็กน้อย คาดว่าเนื่องจาก
น้ำหนักตัวที่กดลงไปน้อยกว่าจากชุดเพลาขับล้อคู่หน้า และอุปกรณ์ต่างๆที่หายไปจากรุ่น 3.2L
ทำให้มีอาการสะเทือนเข้ามามากกว่าแต่ก็เพียงเล็กน้อย นอกนั้นการขับขี่และการควบคุมแทบจะ
ไม่แตกต่างจากรุ่น 3.2L มากนัก
มาถึงระบบเบรกบ้าง แป้นเบรกเป็นลักษณะแป้นกลางๆ ไม่ตื้นและไม่ลึกจนเกินไป
ไม่กดแล้วหัวทิ่ม การหน่วงความเร็วทำได้ดี น้ำหนักในช่วงครึ่งแรกของแป้นทำได้ดี แต่ในช่วงจังหวะ
เบรกที่ต้องการแรงเบรกเพิ่มขึ้น อาจจะต้องกดลงไปมากกว่าปกติซักหน่อย แต่กระนั้นก็ยังฟันธงอะไร
ไม่ได้ เพราะตลอดเส้นทางที่ขับนั้น ฝนตกและถนนเปียกอยู่ตลอดเวลา ขอแปะป้ายไว้ตรงนี้ก่อน
แล้วจะมาสรุปอีกครั้ง เมื่อได้นำรถมาทดสอบแบบ Full review ในอนาคต
ช่วงที่สองจะเป็นเส้นทางการขับขี่แบบทางเรียบผสมกับออฟโรด มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านชาวเขาปางกลาง
และวนกลับมาที่คะเนรี เนเชอรัล รีสอร์ทอีกครั้ง รวมระยะทางประมาณ 24.1 กิโลเมตร แบ่งเป็นทาง
ที่ไม่ค่อยสมบุกสมบั่นมากนัก 16 กิโลเมตร และออฟโรด 8.1 กิโลเมตร ผลัดนี้จะจับกลุ่ม 3 คน
สลับกันขับ ผมได้อยู่กับพี่บอล Autodeft.com และ พี่โอ๊ต จาก Sanook Auto
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อของ Everest นั้นเป็นแบบ Full time AWD กึ่ง Real time เอ๊ะ ! หลายคนคง
สงสัยทำไมเป็น Full time กึ่ง Real time ล่ะ มันเป็นแบบนี้ครับ เกี่ยวโยงไปถึงระบบโหมดการขับขี่
Terrain Management System ด้วย ใน Normal Mode ปกตินั้นระบบจะส่งกำลังไปที่ล้อหน้าและหลัง
อัตราส่วน คู่หน้า 40 : คู่หลัง 60 เป็นแบบ Full time ไม่มีโหมดขับเคลื่อน 2 ล้อหลังเพียวๆ 0 : 100
แล้ว Real time ล่ะเป็นอย่างไร ตัวเซนเซอร์จะจับอาการของรถ อาศัยการประมวลผลจากระบบ ESP
ถ้าหากเจอสถานการณ์ที่ต้องใช้กำลังของล้อคู่หน้ามากขึ้น ระบบจะส่งแรงกระจายคู่หน้า – คู่หลัง
ต่างออกไป รวมถึงระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ ที่จะจัดการมากน้อย ส่งแรงเบรกไปที่้ล้อต่างๆ
ตามแต่สถานการณ์
Terrain Management System (TMS) จะสามารถบิดเพื่อเปลี่ยนโหมดได้ทันที ยกเว้นโหมด
Rock (หิน) จะต้องเข้าเกียร์ N กดสวิตซ์ 4L (4Low) ก่อน ส่วน Diff-Lock นั้นจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้
แล้วแต่ผู้ขับขี่ มีการลดความเร็วของคันเร่งลง ระบบ TRC หรือ ป้องกันการลื่นไถลจะทำงาน
เต็มประสิทธิภาพและป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนเกียร์สูง จะปรับเกียร์ลดลงเป็นเกียร์ 1 แทน
ในโหมด Snow – Mud – Glass ระบบจะเปลี่ยนเกียร์สูงให้เร็วขึ้นและปรับลดเกียร์ต่ำให้ช้าลง
เพื่อให้รอบเครื่องต่ำควบคุมง่าย ส่วนระบบ TRC จะทำงานไวขึ้น และลดความไวของคันเร่งลง
เพื่อให้ควบคุมความเร็วได้คงที่และแม่นยำ
ส่วนในโหมด Sand จะปรับการเปลี่ยนเกียร์สูง-ต่ำให้ช้าลง ป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนเกียร์หากไม่ได้
เหยียบคันเร่ง และจะปรับลดเกียร์อย่างรวดเร็วเมื่อแตะเบรก เพื่อรักษาสมดุลของตัวรถ ปล่อยล้อ
ให้ลื่นไถลได้มากขึ้น เพิ่มความไวของคันเร่ง เพื่อให้เครื่องยนต์ตอบสนองได้เร็ว
ที่จริงแล้วในโหมดปกติ Normal แล้วใส่ Diff lock ก็สามารถลุยไปได้อย่างสบายๆ
สิ่งที่น่ากังวลอยู่หน่อยๆ คือ การเอาไปลุยหนักๆ ระบบเซนเซอร์ต่างๆจะยังทำงานได้ดี
หรือไม่ขณะลุย ทั้งน้ำ ทั้งโคลนต่างๆ เพราะใน Everest ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าแทบจะทั้งหมด
ระบบต่างๆที่ให้มานั้นทำงานได้ดี แต่อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาและเรียนรู้อยู่ซักหน่อย เพื่อให้
ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ข้อควรระวังสำหรับการเอาไปลุยคือ ยาง ล้อขนาด 20 นิ้ว
แต่แก้มยาง ซีรีย์แค่ 50 หากเจอแง่งหิน หรือหลุมต่างๆ นั่นอาจจะทำให้คุณไม่ได้ไปต่อก็ได้
ช่วงสุดท้ายจะเป็นการขับเส้นทางปกติเพื่อกลับสู่ เลอ เมอริเดียน รีสอร์ท ระยะทาง 61.6 กิโลเมตร
อย่างที่เล่าไปแล้วในช่วงต้น เรียกว่าผ่านพบเจอถนนทุกรูปแบบทั้งถนนเรียบ หลุมบ่อเป็นคลื่น
เส้นทางคดเคี้ยว และออฟโรด ฝนกระหน่ำตลอดทั้งวัน มีหยุดพักบ้างเป็นระยะๆ ขับต่อเนื่องกัน
ตั้งแต่ 9โมงเช้า ยัน 4โมงเย็น ฟังการบรรยายสรุป จากนั้นพ้กเล็กน้อย และบินกลับกรุงเทพทันที !!!
ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 4 ทุ่มกว่า เรียกได้ว่า มีความโหดใช้ได้เลยทีเดียว
อีกอย่างที่จะลืมพูดถึงไปไม่ได้เลย นั่นก็คือการเก็บเสียง ทำได้ดีมากๆ ห้องโดยสารเงียบที่สุด
ในกลุ่มรถ PPV ทุกคันในตลาด เสียงลมที่เข้ามาผ่านทางขอบประตูต่างๆมีน้อยมาก การบุวัสดุ
ดูดซับเสียงในส่วนต่างๆ รวมถึงมีระบบ Active Noise Cancellation ที่ติดตั้งไมโครโฟน 3 ตัว
ไว้ภายใน เพดานรถ หลักการคร่าวๆคือ ตรวจวัดระดับเสียงจากเครื่องยนต์ในรอบต่ำที่จะรบกวน
ประมวลผลสังเคราะห์คลื่นเสียงความถี่ตรงกันข้ามเพื่อหักล้างกัน ทั้งหมดนี้เลยทำให้
การนั่งโดยสารไปในรถนั้น เงียบ สงบ และบรรยากาศผ่อนคลายมากๆ
*** สรุปเบื้องต้น สำหรับ Ford Everest 3.2 Titanium+ 4×4 A/T ***
ถือว่าครบเครื่องจริงๆ กับ Ford Everest สำหรับอุปกรณ์และ Option การใช้วัสดุ ระบบช่วยเหลือ
การขับขี่ที่ใส่เข้ามาให้อย่างครบครัน ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านการขับขี่ การนั่งโดยสาร
ทำได้ก้าวกระโดดหลายชั้นเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม รวมถึงเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ภาพรวมนั้นถือว่า
เป็น Best in its Class จริงๆ ณ ตอนนี้ หากเทียบกับการจ่ายเงิน 1,599,000 บาทไปเทียบกับคู่แข่ง
ถือว่าคุ้มค่ามากๆ เรียกได้ว่าหลายๆสิ่ง หลายๆอย่างนั้นเหนือกว่าแบบรู้สึกได้ชัดเจน
แต่……………
ศูนย์บริการและความไว้วางใจนั้น ตรงจุดนี้ก็ยังเทียบไม่ได้เลยกับเจ้าตลาด ถึงแม้ทุกวันนี้ ผ่านมา
2-3 ปี เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง พัฒนาการของศูนย์บริการ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่ดีพอ
บริษัทแม่ยังต้องเข้ามาดูแลมากกว่านี้ ใส่ใจในการควบคุมดูแลดีลเลอร์และศูนย์บริการให้มากกว่านี้
อีกอย่างนึงสิ่งที่พึงระวังสำหรับคันนี้นอกจากเรื่องศูนย์บริการแล้ว คือระบบไฟฟ้า เพราะคันนี้ควบคุม
ด้วยระบบไฟฟ้า แทบจะทั้งคัน บางอย่างยังน่าเป็นห่วงอยู่บ้าง อย่างที่บอกไว้ตอนเริ่มต้น รถที่ผมได้ขับ
นั้นถึงแม้จะเป็น Pre-Production แต่ก็ยังมี Error ให้พบเห็นอยู่ เป็นคันที่ผมขับเอง เกี่ยวกับไฟเตือน
ขึ้นแสดงที่มาตรวัดไม่ยอมดับ แต่การขับขี่ก็ยังเป็นไปอย่างปกติ หวังว่าล็อตที่ เป็น Mass Production
ส่งมอบถึงมือลูกค้านั้นจะไม่พบปัญหา หรือถ้ามีก็ให้มีน้อยที่สุด การที่ อาจจะมี Defect บางอย่างนั้น
ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่การรับมือแก้ปัญหา รวมถึงการอบรมช่างในศูนย์ฯ อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ด้วยเช่นกัน นอกนั้นทั้งการขับขี่การนั่งโดยสารถือว่ากินขาด PPV ทุกตัวในตลาด ณ ตอนนี้
ถ้า Ford ปรับในส่วนนี้ได้ เชื่อว่าลูกค้าหลายๆคนที่ยังกล้าๆกลัวๆอยู่ จะมาเป็นลูกค้าได้โดยง่าย
เพราะตัวรถเอง สามารถขายได้ด้วยตัวมันเอง มีความเจ๋ง ความดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ถ้าถามผม
ผมกล้าเสี่ยงมั้ย? จากที่ขับมาแล้ว ผมตอบได้เลยว่า ประทับใจมาก และกล้าที่จะเสี่ยง ! ทำไม
ผมถึงกล้าที่จะตอบอย่างเต็มปากเต็มคำ นั่นเพราะ…ผมยังมีรถคันอื่นอีกอยู่ในบ้าน แต่ถ้าคันนี้
จะเป็นรถคันเดียวในบ้านของคุณ อาจจะต้องคิดทบทวนให้หนักกันอีกที
แต่ยังต้องขอเผื่อให้ New PajeroSport อีกนิดที่กำลังจะเปิดตัว อย่างเป็นทางการวันที่ 1 สิงหาคมนี้
แล้วเราค่อยมาดูกันอีกที ว่าผมจะยังยืนยันคำนี้อยู่มั้ย !?!?!? โปรดรอติดตามชมกันครับ
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Ford Motor Company (Thailand) จำกัด
และ บริษัท Ford Motor Asia Pacific จำกัด
สำหรับทริปขับทดสอบในครั้งนี้
MoO Cnoe
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความและภาพถ่าย โดยผู้เขียน
ภาพถ่าย โดยผู้เขียน , ทีมช่างภาพจาก Ford Thailand
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
22 กรกฎาคม 2015
Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 22th,2015
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE!
——————————————————————————————————–
บทความที่น่าสนใจควรค่าต่อการอ่านเพิ่มเติม
+ เจาะรถเด่น : เทียบ Spec-Option Fortuner vs Everest : PPV คู่เดือดแบบหมัดต่อหมัด