” ตกลงแล้ว เราควรจะเรียกรถคันนี้ว่าอะไรดี ? ”

พี่ริชชี่ (Richard Leu) จากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ถามผม ขณะยืนดูเรือนร่างของรถคันนี้ ท่ามกลางแสงไฟสป็อตไลต์ ในงานเลี้ยงช่วงหัวค่ำ ซึ่งจัดขึ้น ใต้สะพานฉลองอิสรภาพ ในกรุง Lisbon ประเทศโปรตุเกส จุดเกิดเหตุอันเป็นต้นเรื่องของบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้…

คำตอบจากผม ? ” มันก็คือ X1 เปลี่ยนเปลือกตัวถังให้ดู Sleek ขึ้น ”
พี่ชายผมเขาสวนขึ้นว่า ” แต่…ตอนแรกผมมองว่า มันคือ 1-Series Hatchback ยกสูง เพราะตัวจริง มันเตี้ยมากกว่าที่ผมคิดไว้เสียอีก ! ”

เออ ก็จริงของเฮียเราเค้านะนั่น ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม BMW ไม่ยอมออกแบบ 1-Series รุ่นก่อน และ ปัจจุบัน ให้มันดูสวยแบบนี้ตั้งแต่แรกกันฟะ ?

เอาเถอะ ไม่ว่า คุณจะเรียกมันว่าอะไร ท้ายที่สุด ผู้ผลิตรถยนต์เชื้อชาติเยอรมัน ที่มาพร้อมสัญลักษณ์ใบพัดสีฟ้า เขาก็ทำ X2 รุ่นนี้ ออกมาขายเสร็จเรียบร้อยแล้ว และ คราวนี้ พวกเขาก็ส่งเทียบเชิญผม รวมทั้งสื่อมวลชนจากประเทศไทยอีก 3 ราย ขึ้นไปนั่งบนเครื่องบิน Boeing 777-300 ของสายการบิน Emirates เที่ยวบิน EK371 ออกจากกรุงเทพมหานคร ตอนตี 2 ของวันที่ 26 มกราคม 2018 มาถึงสนามบิน Dubai แล้วปล่อยให้เราต้องวิ่งสุดชีวิต เพื่อให้ทันเวลากับการเปลี่ยนเที่ยวบินเป็น EK191 กับเครื่องบิน และ ที่นั่งแบบเดียวกัน

14 ชั่วโมงอันยาวนาน ผ่านพ้นไป ในที่สุด เราก็มาถึงเมือง Lisboa หรือ Lisbon เมืองหลวงริมทะเลเมดิเตอเรเนียน ของประเทศ โปรตุเกส อันสวยงาม หนาวเย็น แอบมีฝนปรอยๆนิดๆ กำลังสบาย (11 องศาเซลเซียส คือค่าเฉลี่ยตลอดทริปนี้ของเรา) สถานที่ซึ่ง BMW เลือกให้ใช้เป็นสถานที่เปิดตัว และจัดทริป ทดลองขับ X2 ใหม่ ให้กับสื่อมวลชนจากทั่วโลก ด้วยเหตุผลที่ BMW บอกกับเราว่า เมืองนี้ มีความ Unique มากสุดแห่งหนึ่งในยุโรป ในหลายๆด้าน มีบุคลิกพิเศษ ที่สอดคล้องกับบุคลิกของ X2 ใหม่ ซึ่งมีงานออกแบบแตกต่างจาก บรรดา BMW ทุกรุ่นที่ผ่านๆมา

ใช่ครับ คราวนี้ BMW เขาจะเน้นขาย Design ของรถคันนี้ เป็นจุดเด่นสำคัญ!!

อันที่จริง ผมเคยมา ที่กรุง Lisbon หรือที่ชาวโปรตุเกสเรียกว่า Lisboa ครั้งแรก เมื่อ 2 ปีก่อน แต่คราวนั้น เกิดไปเจอไข้หวัดใหญ่สายพันธ์อะไรไม่รู้ กลับมาถึงขั้นเป็นไข้ และไม่สบายไปยาวถึง 1 เดือนกว่าๆ เลยทีเดียว เล่นเอางานการช่วงนั้นพังพินาศหมด ต้องนอนแหมะอยู่กับเตียงที่บ้านหลังเก่า ในสภาพคนป่วยเท่านั้น ผมจึงค่อนข้างขยาดแหยงเมืองนี้ ไม่น้อย ในตอนแรกที่ได้ยินว่า BMW Thailand จะชวนผมมาที่นี่…

พอมาถึง ตลอดเวลา 3 วันในเมืองนี้ ทำเอาผมเปลี่ยนความคิดไปไม่น้อยเลยทีเดียว จากความกังวล กลายเป็นหลงรักเมืองนี้ หลายสถานที่ซึ่งเคยไปเยือนเมื่อคราวก่อน ก็ยังอยู่ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก ในโซน Belem อันแสนสงบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานฑูตต่างๆมากมาย รวมทั้งโรงแรมที่พักในคืนแรก NAU : Palacio de Governador ซึ่งเป็นการนำทำเนียบประธานาธิปดีโปรตุเกส หลังเก่า มาบูรณะใหม่ เปิดดำเนินการเป็นโรงแรม ครั้งแรก เมื่อ 30 มิถุนายน 2016 ก็ยังไม่เปลี่ยนไปเท่าใดนัก ตรงเดินข้ามถนนไปยังหัวมุมฝั่งตรงข้าม มีร้าน Hamberger Sampa ซึ่งเป็น Chain มาจาก Brazil ราคาถือว่าถูก และอร่อยกว่า เบอร์เกอร์ท้องถิ่นหลายๆร้านเลยทีเดียว

เดินออกจากโรงแรม มุ่งหน้าไปได้ทั้งริมแม่น้ำ Tagus อันเป็นที่ตั้งของ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตั้งแต่ อนุเสาวรีย์ Padrao dos Descobrimentos ,ศูนย์วัฒนธรรม Centro Cutural de Belem ที่มีอาคารซึ่งถูกออกแบบอย่างร่วมสมัยและดูแกร่ง ท้าทายกาลเวลา เยื้องกันนั้น เป็นวิหาร Mosteiro dos Jeonimos และเพียงแค่เดินข้ามถนนไป ก็จะเจอของขึ้นชื่อประจำ Lisbon อย่าง ร้านเบเกอรี Pastie de Belem ที่มีชื่อเสียงมากในการทำ Tart ไข่ ชิ้นละ 1.10 Euro เมื่อลองชิม จะพบว่า รสชาติแตกต่างจาก Tart ที่มีขายในบ้านเราเล็กน้อย จากแป้งรอบนอกที่กรอบกว่า และไส้ข้างในที่หวานกลมกล่อม ชวนให้สงสัยว่า ใช้กะทิ เป็นส่วนผสมสำคัญด้วยหรือเปล่า ร้านนี้ เปิดมาตั้งแต่ปี 1857 และ ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ว่าต้องแวะมาที่นี่ให้ได้ ไม่เพียงแค่ขาย Tart ไข่ แต่ร้านนี้ยังมีขนมอบต่างๆจำหน่ายมากมาย รวมทั้งสิ่งที่ดูหน้าตาคล้ายเปาะเปี๊ยะทอดของบ้านเราด้วย!

ช่วงค่ำ ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตของผม ที่ได้มีโอกาส นั่ง “รถราง” เหมือนเช่นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเราเคยเดินทางแบบนี้ในกรุงเทพฯ ยุคอดีต สมัย “บ้านดีเมืองดี” คราวนี้ BMW เหมา “รถราง” ยานพาหนะขนส่งมวลชนสุดคลาสสิกของเมือง 2 คัน

ระหว่างทาง มีคุณลุง เล่นกีตาร์ เพลงแนว Fado ซึ่งเป็นเพลงท้องถิ่นของ โปรตุเกส แล้วก็ยังมี สาวน้อยในทีม Staff ของ BMW ไปเหมาขนม Tart ไข่ ร้าน Pastie de Belem มาให้ทุกๆคนได้ลิ้มรสกันอย่างทั่วถีง

รถราง ทั้ง 2 คัน พาพวกเราไปยังงานเลี้ยง บริเวณ บริเวณใต้สะพานแขวน อนุสรณ์ฉลองอิสรภาพ ของเมือง ซึ่งถูกเนรมิตขึ้น กลายเป็นบรรยากาศ วัยรุ่นจ๋า มี D.J. เปิดเพลงดังในยุค ’80 – ’90 ร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างเข้าท่า แทบทุกเพลง เสียจนต้องถามตัวเองให้แน่ใจว่า ตกลงนี่เรามางานเปิดตัว BMW หรือ MINI รุ่นใหม่กันแน่?

พอหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมทดลองขับ ในวันถัดมา (27 มกราคม 2018) เราก็ย้ายโรงแรมไปพักใจกลางเมือง Pestana CR7 ซึ่งตัวเลขและอักษรด้านหลังต่อท้าย มาจากชื่อหุ้นส่วนของเขา และเสื้อที่สวมใส่ในวงการฟุตบอล (Christiano Ronaldo สวมเสื้อเบอร์ 7) นั่นเอง! บรรยากาศชั้นล่าง ทั้ง บาร์ และห้องอาหารมาในสไตล์ Chic แบบผู้ชายๆ ภายในห้องพัก ได้กลิ่น ที่ชวนให้นึกภึง นักกีฬาตัวล่ำหุ่นหนา เพิ่งอางน้ำเสร็จ ชโลม Eau de Cologne จนฟุ้ง เตรียมออกล่าเหยื่อสาวตามผับบาร์ในยามค่ำคืน!

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้ไปเดินขึ้นไปดู ปราสาท Castelo de Sao Jorge สร้างขึ้นมาประมาณช่วงปี ค.ศ. 1147 (ครับ อ่านไม่ผิด) ปัจจุบันกลายเป็นจุดชมวิวของเมือง Lisbon ที่สวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงยามเย็นฝ และสัมผัสบรรยากาศช่วงหัวค่ำ ในเขตตัวเมือง Lison ที่เหมือนจะวุ่นวาย แต่แผงความสงบเงียบ ตามวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของผู้คนท้องถิ่น

ปกติแล้ว เวลาไปร่วมทริปทดลองขับรถยนต์ในฝั่งยุโรป ผมแทบไม่ค่อยได้มีโอกาสไปดูสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองที่เราเดินทางไปเยือน แบบนี้มาก่อน มีแต่ขับรถให้เสร็จ แล้วก็ถูกสำนักงานใหญ่ของบริษัทรถยนต์ฝั่งยุโรปเหล่านั้น ถีบส่งขึ้นเครื่องบินกลับบ้านทันที ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นในเวลาแค่ 2 วันเท่านั้น คราวนี้จึงเป็นโอกาสอันดี ที่พอจะได้เที่ยวชมเมืองบ้างนิดๆหน่อยก็ยังดี

เอาละ ถ้าคุณคิดว่า บทความนี้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวท่องเที่ยวในต่างประเทศ เหมือนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกละก็ คุณคิดผิดถนัด! ก็ในเมื่อเขียนเรื่องราวเหล่านั้น ประกอบลงในบทความ ปรากฎว่า หลายคนแทบไม่อ่านกันเลย ดังนั้น ผมจึงไม่เขียนอะไรให้มันยาวมากไปกว่าข้างบนนี้อีกแล้ว ขอตัดจบกันไว้แค่เพียงเท่านี้ สั้นกุดกว่าที่เคย เพราะนี่คือเว็บไซต์รถยนต์ ไม่ใช่เว็บท่องเที่ยว

ต่อจากบรรทัดนี้ไป ใครที่กำลังมองหา Premium Crossover SUV จากฝั่งยุโรป และงบการเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ ลองนั่งลง ใช้เวลานิดหน่อย เลื่อนนิ้วอ่านบทความนี้ ไปบนมือถือหรือ Tablet ของคุณสักพัก เพื่อเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ X2 ใหม่คันนี้ ก่อนที่เราจะได้ยลโฉมคันจริงกันบนแผ่นดินไทย ในเดือนมีนาคม ที่กำลังจะมาถึง…

X2 คืออะไร เป็นรถยนต์แบบไหน ต่างจาก X1 ตรงไหน?

แม้ว่า BMW จะเรียก X2 ใหม่ว่า เป็น SAC-Sports Activity Coupe หรือ รถยนต์อเนกประสงค์ ที่มีเส้นสายในสไตล์ Coupe เข้ามาผสมด้วย แต่จริงๆแล้ว X2 เป็นรถยนต์ แบบ Premium Small B-Segment Crossover (Coupe) SUV ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตั้งใจจะชน Mercedes-Benz GLA โดยเฉพาะ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น นี่คือ X1 ในตัวถังที่ลาดลงกว่าเดิม ดูวัยรุ่นกว่าเดิม และ แน่นอนว่า ภายในรถอาจชวนให้อึดอัดคับแคบ แต่ เหมาะกับคนโสดมากกว่า X1 (ซึ่งโปร่งสบายตากว่ากันเยอะ) กระนั้น ภายในห้องโดยสารนั้น ตั้งแต่แผงหน้าปัด แผงประตู ยันเบาะนั่ง ก็ยกชุดกันมาจาก X1 ทั้งยวง!

X2 ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง หรือ Platform “UKL2” ร่วมกับบรรดา BMW รุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ทั้ง X1 , 1-Series Sedan (สำหรับตลาดเมืองจีน) รวมทั้ง All New Countryman ใหม่ แต่ถึงกระนั้น ชิ้นส่วนตัวถังภายนอกของ X2 ที่ใช้ร่วมกับ X1 มีเพียงแค่ กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง และมือจับเปิดประตูทั้ง 4 บาน นอกนั้น ทุกชิ้นส่วนตั้งแต่เปลือกตัวถัง กระจกหน้าต่างรอบคัน และรายละเอียดอื่นๆ ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ให้แตกต่างจาก X1 กันไปเลย!

ในเมื่อ มี X1 แล้ว ทำไม BMW ต้องทำ X2 ออกมา?

คำตอบก็คือ รูปทรงของ X1 นั้น อาจจะถูกใจกลุ่มลูกค้าประเภทครอบครัวเล็กๆ พ่อ 1 แม่ 2 ลูก 3…เฮ้ย! ไม่ใช่!! ต้อง พ่อแม่ลูก รวม 3 คนถึงจะถูก ครอบครัวรุ่นใหม่กลุ่มนี้ อยากได้ความอเนกประสงค์เพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน รวบคู่ไปกับสมรรถนะการขับขี่ จากแบรนด์ BMW ที่พวกเขาชื่นชอบ ควบคู่ไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้าทั้งกลุ่ม “Youngster” ซึ่งมักเป็นคนโสด หรือไม่ก็เพิ่งจะแต่งงานมาหมาดๆ ยังไม่คิดจะมีลูก ที่คิดว่า X1 ดูเป็นรถครอบครัวมากเกินไป และกลุ่ม “Young at heart” (ถึงกายจะแก่ แต่ใจไม่ยอมแก่) ทั้ง 2 กลุ่มนี้ อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ต้องการรถยนต์ Crossover SUV ใต้ท้องสูงที่พอจะลุยน้ำท่วมได้บ้าง หรือไปลุย Trkking เบาๆ ได้บ้าง แต่ยังต้องมีบุคลิกการขับขี่แบบ Hot Hatch (ในยุโรป มักเรียกรถยนต์ Hatchback 3-5 ประตู ขนาดเล็ก วางเครื่องยนต์แรงๆ เซ็ตช่วงล่างหนึบๆแข็ง และเน้นขับสนุกสะใจ สไตล์ Hot hatch (หรือพวกรถเก๋งเล็กท้ายตัด Hatchback ตัวแรง ตามนิยามของสื่อมวลชนฝั่งอังกฤษ)

พูดง่ายๆ ก็คือต้องการรถยนต์แบบ Hot Hatch ยกสูง นั่นเอง!!

รถยนต์ประเภทนี้ ที่ขายอยู่ในเมืองไทย และตรงกับคำจำกัดความดังกล่าวมากสุด ก็คือ คู่แข่งโดยตรง อย่าง Audi Q2 กับ Mercedes-Benz GLA หรือ คู่แข่งที่ไม่ได้ชนกันโดยตรง เพราะมีค่าตัวถูกกว่ากันเยอะ อย่าง Subaru XV นั่นเอง!!

อย่างไรก็ตาม BMW มองว่า Audi Q2 นั้น มีขนาดเล็กไปที่จะมาแข่งกับ X2 (แน๊! มีอย่างนี้อีกด้วย!) ฉะนั้น พวกเขามองว่า นอกเหนือจาก GLA แล้ว คู่ประกบที่วิศวกรชาวมิวนิค เขาตั้งใจเทียบก็คือ Range Rover EVOQUE ต่างหาก!…จะเทียบกันทั้งที่ราคาของ EVOQUE นั้น มันแพงหูดับตับไหม้ เกินไปกว่า X2 เสียด้วยซ้ำเนี่ยนะ? (เอาจริงดิ?)

ทั้งหมดนี้ ให้คิดและมองเฉพาะ ขนาด พิกัดตัวรถ เท่านั้น อย่าเพิ่งเอา ความแตกต่างด้านราคาขายปลีกของประเทศไทยเรา มาเปรียบเทียบ เพราะนั่น เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจจะพูดถึงให้อ่านกันอยู่แล้ว ในช่วงท้ายของบทความนี้

X2 เพิ่งเผยโฉมไปสดๆร้อนๆ เมื่อ 28 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา หลังงาน Frankfurt Motor Show เพียง 1 เดือนเท่านั้น นับว่าเป็นเรื่องแปลกไปสักหน่อย ที่ BMW ไม่ยอมเปิดตัว X2 ในงานใหญ่ยักษ์ดังกล่าวตามธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม แต่เป็นเรื่องที่ พอเข้าใจได้

เหตุผลก็เพราะในงานดังกล่าว ค่ายใบพัดสีฟ้า ปล่อยของใหม่ ออกไปหลายรุ่น ทั้งรถยนต์ต้นแบบ มากถึง 5 คัน (รวม MINI) และรถยนต์รุ่นใหม่พร้อมขายจริงอีกนับไม่ถ้วน จนจำกันแทบไม่หวาดไหว จึงต้องยอมเลื่อนให้ น้องเล็ก X2 เผยโฉมตามออกมาภายหลัง เพื่อให้มีพื้นที่ข่าวในสื่อทั่วโลก เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าจะไปแย่งชิงความเด่นจากบรรดารถยนต์ที่ถูกนำไปเปิดผ้าคลุมในงานดังกล่าวจนหมดสิ้น (เพราะแย่งไป ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ลูกค้าก็ไม่จดจำ ไม่มีพื้นที่ X2 ในสื่อทั่วโลกมากเท่ากับปล่อยให้เปิดตัวแบบฉายเดี่ยวตอนนี้ดีกว่า)

X2 ใหม่ มีขนาดความยาวตัวถัง 4,360 มิลลิเมตร ความกว้าง (ไม่รวมกระจกมองข้าง) 1,824 มิลลิเมตร สูง 1,526 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,670 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,563/1,562 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 182 มิลลิเมตร

ถ้าหากเทียบกับ X1 F48 รุ่นปัจจุบัน ซึ่งมีขนาดตัวถังยาว 4,439 มิลลิเมตร กว้าง 1,821 มิลลิเมตร สูง 1,612 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,561/1,562 มิลลิเมตร ระยะความสูงจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้น 183 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่าตามมาตรฐาน DIN 1,470 กิโลกรัม (น้ำหนักแจ้งสรรพสามิตสำหรับรถสเป็คไทยอยู่ที่ 1,545 กิโลกรัม) ถังน้ำมันจุ 51 ลิตร

คุณจะพบว่า X2 จะมีขนาดเล็กกว่า ในเกือบทุกด้านยกเว้นความกว้างที่เกือบเท่ากัน บอดี้ของ X2 จะเตี้ยกว่ากันมาก (86 มิลลิเมตร) ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบหลังคาให้เป็นทรงเตี้ยลาดแบบคูเป้ และความสูงใต้ท้องรถที่ลดจาก 205 เหลือ 182 มิลลิเมตร (สูงกว่ารถเก๋งทั่วไปประมาณ 40 มิลลิเมตร) ส่วนระยะฐานล้อนั้นมีขนาดเท่ากันกับ X1 ส่วนน้ำหนักตัวนั้นเมื่อวัดตามมาตรฐาน DIN รุ่น sDrive20i ขับเคลื่อนล้อหน้าอยู่ที่ 1,460 กิโลกรัม ส่วนรุ่น xDrive20d อยู่ที่ 1,600 กิโลกรัม ถังน้ำมันมีความจุ 51 ลิตร

จุดเด่นด้านงานออกแบบของ X2 ใหม่ หลักๆแล้ว มีอยู่ด้วยกัน 4 จุด ดังนี้

  1. กระจังหน้า ไตคู่ ถูกพลิกคว่ำเป็นแบบที่เห็น เพื่อเสริมความดุดันให้กับตัวรถ
  2. สัญลักษณ์ ใบพัดสีฟ้า ของ BMW ถูกติดตั้งที่เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ได้รับแรงบันดาลใจจาก เสาหลังคาคู่หลังสุดของ BMW 3.0 CSL รถยนต์ Coupe แสนแพงสุดโฉบเฉี่ยว ในยุคปลายทศวรรษ 1960
  3. สัญลักษณ์บอกรหัสรุ่นย่อย ของ SUV / SAV ตระกูล X จากเดิม แปะไว้ที่ชายล่างของบานประตูคู่หน้า จากนี้ จะถูกย้ายมาแปะไว้ใต้ชุดไฟท้าย และนับจากนี้ BMW จะใช้แนวทางการวางตำแหน่ง Emblem ท้ายรถแบบนี้ ทุกรุ่นนับจากนี้ไป ยกเว้นลูกค้าชาวยุโรป จะแจ้งกับทาง Dealer ว่า ช่วยถอดป้ายบอกรุ่นย่อยออก ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าชาวเยอรมันจำนวนมาก นิยมทำกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากให้ใครรู้ว่า รุ่นรถที่ตนขับอยู่หนะ รุ่นย่อยไหน
  4. ปลอกท่อไอเสีย คู่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 90 มิลลิเมตร เท่ากันกับ BMW X6! มีเฉพาะรุ่นขุมพลัง 4 สูบ

X2 ใหม่ แบ่งระดับการตกแต่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

Basic ใช้กันชนหน้า/หลังแบบมาตรฐาน กาบข้างสีดำ ล้ออัลลอยเริ่มที่ขนาด 17 ไปจนถึง 19 นิ้ว ภายในตกแต่งโทนสีดำ Oxide Silver Dark เบาะผ้าสี Anthracite ใช้วัสดุตกต่างสีเงินสลับกับ High-gloss Black

M Sport ใช้กันชนหน้า/หลังแบบ M Sport กาบข้างสีเดียวกับตัวรถ ล้ออัลลอยเริ่มที่ขนาด 19 นิ้ว และสั่งพิเศษเป็นขนาด 20 นิ้วได้ เพิ่มสปอยเลอร์หลัง ภายในสีดำ เบาะ M Sport ปรับรองน่องได้ วัสดุตกแต่งสีเงินอะลูมิเนียม Hexagon สลับกับสีน้ำเงิน M

M Sport X ใช้กันชนหน้า/หลังแบบ M Sport กาบข้างสี Frozen Grey ตัดกับตัวรถ ล้ออัลลอยเริ่มที่ขนาด 19 นิ้ว และสั่งพิเศษเป็นขนาด 20 นิ้วได้ เพิ่มสปอยเลอร์หลัง ภายในสีดำ เบาะ M Sport ปรับรองน่องได้ ตัวเบาะหุ้มด้วยผ้าลายหกเหลี่ยมสลับ Alcantara เย็บตะเข็บสีเหลือง วัสดุตกแต่งสีเงินอะลูมิเนียม Hexagon สลับกับสีมุก Chrome Pearl Effect

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า อย่าคาดหวังว่า มันจะดีเทียบเท่ากับ X1 ที่ผมเอ่ยปากชมไปในบทความรีวิว โดยพี่แพน อย่างเด็ดขาด! เพราะทุกครั้งที่ผมก้าวขึ้น – ลง จากเบาะคู่หน้า ต่อให้ปรับตำแหน่งเบาะไว้ต่ำสุดแล้ว หัวของผมก็ยังโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทุกทีเลยสิพับผ่า! ความสูงของหลังคาจรดพื้นดินที่แตกต่างแค่เพียง 86 มิลลิเมตร นี่มันส่งผลได้มากขนาดนี้เชียวเหรอเนี่ย?

กระนั้น พี่ริชชี่ ตัวสูงกว่าผม คือราวๆ 180 เซ็นติเมตร กลับไม่มีปัญหาในการลุกเข้า – ออกจากเบาะหน้าแต่อย่างใด…อ้าว! ถ้าเช่นนั้น ก็ขอแนะนำว่า เมื่อใดที่รถรุ่นนี้มาเปิดตัวในบ้านเรา ก็คงต้องเข้าไปลองนั่งกันเองนะครับ ร่างใครร่างมัน ย่อมมีประสบการณ์ไม่เหมือนกันเสมอไป

แผงประตูด้านข้าง หน้าตาเหมือน X1 แต่ต่างกันที่ รุ่น M Sport X ที่เห็นนี้ จะตกแต่งพื้นที่ด้วยผ้าลายตาข่าย สีเทาดำ บริเวณพื้นที่วางแขน หุ้มด้วยหนังและวัสดุบุนุ่ม แต่มือจับดึงปิดประตู ทำจากพลาสติกทั้งดุ้น ส่วนตำแหน่งพนักวางแขน สามารถวางข้อศอกได้พอดีและลาดเอียงไปทางด้านหน้ารถเล็กน้อย ตามสไตล์ BMW ยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เลือดลมของผู้ขับี่และผู้โดยสาร ไหลเวียนจากแขนไปถึงนิ้วมือได้ดีขึ้น ส่วนท่อนล่างของแผงประตู มีข่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้ 2 ขวด พร้อมช่องวางของจุกจิกเล็กน้อย

เบาะนั่งคู่หน้า ของ X2 M Sport X คันนี้ อาจคล้ายคลึงกับเบาะหน้าของ X1 และ 2-Series Gran Tourer อยู่ ตรงที่ ฐานรองเบาะ โครงสร้างตัวเบาะ รวมทั้ง ระบบปรับเบาะเอนนอน หรือขึ้น – ลง ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำ 2 ตำแหน่ง เฉพาะฝั่งคนขับ รวมทั้งพนักศีรษะที่แอบดันกบาลนิดๆ และไม่สามารถปรับระดับการดันแบบ 3-Series ได้ ดังนั้น ตำแหน่งการนั่ง ก็จะคล้ายคลึงกับ X1 มากๆ ยกเว้น ปีกข้างของพนักพิงเบาะคู่หน้า ที่จะหนาขึ้น โอบสีข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารเพิ่มขึ้นชัดเจนมาก

พนักพิงเบาะคู่หน้า พยายามออกแบบให้รองรับทุกส่วนของแผ่นหลัง มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้. โชคดีที่ว่า เบาะของรุ่น M Sport X ใช้ผ้ากำมะหยี่สังเคราะห์ Alcantara ตัดสลับกับผ้าลายหกเหลี่ยม จึงช่วยลดความรู้สึก คล้ายกับการนั่งอยู่บนเก้าอี้ทำงานของพนักงานระดับล่าง จากใน X1 ลงไปได้ประมาณหนึ่ง

X2 ในตลาดโลก จะมีหลังคา Panoramic Glass Roof มาให้เลือกเป็นอุปกรณ์สั่งซื้อพิเศษ แต่มีแนวโน้มสูงว่า เวอร์ชันไทย อาจจะมีหลังคากระจกแบบนี้ ติดตั้งมาให้จากโรงงานเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน! แน่ละ MG ZS เขายังอุตส่าห์มีให้ นี่ถ้า X2 ไม่ใส่มา ขายหน้าเขาแย่เลยนะเนี่ย!

ส่วนการเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง นั้น แม้ว่าจะมีระยะฐานล้อเท่ากับ X1 จนทำให้มีช่องทางเข้า – ออก บริเวณฐานเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ไปจนถึง ซุ้มล้อ มีขนาดเท่า X1 แต่ด้วยความจงใจในการออกแบบบานประตูคู่หลังให้กว้างขึ้นกว่า X1 ทำให้การลุกเข้า – ออก ง่ายดายกว่า X1 เพียงแต่ว่า ควรก้มหัวเพิ่ม ระหว่างหย่อนก้นลงไปนั่งบนเบาะหลังของ X1 นิดนึง เพราะมีความเสี่ยงที่หัวของคุณอาจโขกกับขอบหลังคาด้านบนได้ แม้จะน้อยกว่าช่องทางเข้า – ออกคู่หน้าก็ตามเถอะ

แผงประตูคู่หลัง แม้จะมีงานออกแบบตำแหน่งพนักวางแขน (ซึ่งวางแขนและข้อศอกได้กำลังดี) มือจับเปิดประตู ช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท และการประดับ Trim ตกแต่งในตำแห่งเดียวกัน ทว่า ครึ่งท่อนบนนั้น จะมีความยาวเพิ่มขึ้นจาก แผงประตูคู่หลังของ X1 อย่างชัดเจนมาก สรุปว่า หน้าตาเหมือนกัน แต่ถอดสลับสับเปลี่ยนร่วมกันไม่ได้ เป็นคนละชิ้นกันครับ ส่วนกระจกหน้าต่างคู่หลัง สามารถเลื่อนขึ้นลงได้จนสุดขอบแผงประตู

เบาะนั่งแถว 2 นอกจากจะมีหน้าตาเหมือนชุดเบาะหลังของ X1 แล้ว ตำแหน่งการนั่ง ก็เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน แม้จะรองรับพื้นที่ทั่วถึงและเต็มแผ่นหลังดีอยู่ แต่พนักพิงเบาะหลัง แน่นจนค่อนข้างแข็งในระดับพอๆดับพนักพิงเบาะหลังของ X3 รุ่นที่แล้ว ให้สัมผัสโดยรวมคล้ายนั่งพิงอยู่บนแผ่นไม้กระดาน ยังดีว่า หุ้มด้วยผ้า Alcantara เลยพอจะไม่รู้สึกแย่เท่ากับเบาะที่หุ้มด้วยหนัง

พนักศีรษะคู่หลัง ต้องยกขึ้นใช้งาน จึงจะไม่ทิ่มตำต้นคอ ฟองน้ำบุด้านใน ค่อนข้างแน่นจนเกือบแข็ง แถมมีมุมเงยรองรับต้นคอนิดนึง ให้พอรำคาญหัว ส่วนตรงกลางเบาะหลัง มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมข่องวางแก้วน้ำซึ่งฝาปิดแบบบานประตูวัดไทย (คล้าย 5-Series) มาให้ มีตำแหน่งวางแขนเตี้ยไปนิดนึง

เบาะรองนั่งแถวหลัง ยังคงสั้นไป นั่งไม่สบาย ขอบเบาะโค้งนูนขึ้นมาถึงต้นขาจนน่ารำคาญ มาในสไตล์เดียวกันกับ X1 ไม่มีผิด อยากให้ทำเบาะรองนั่งยาวกว่านี้ ไม่เช่นนั้น ก็ช่วยปรับปรุงให้ลดการดันช่วงต้นขาเสียที

เบาะนั่งแถว 2 นอกจากจะมีจุดยึดเบาะนิรภัยมาตรฐาน ISOFIX พร้อมเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่งแล้ว ยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง วิธีการพับเบาะ ก็เหมือนกับ X1 นั่นละครับ คุณต้องคลำหาสายเชือก ที่คล้องเป็นตัว U อยู่ที่ ฐานพนักพิงเบาะทั้ง 3 ตำแหน่ง เพื่อดึงปลดล็อค แล้วพับพนักพิงเบาะในตำแหน่งที่เราต้องการ ลงมาให้แบนราบ เป็นแนวระนาบเดียวกับพื้นห้องเก็บของด้านหลัง

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เป็นกลอนไฟฟ้า มีสวิตช์ปิดและล็อกฝาท้ายด้วยระบบไฟฟ้ามาให้ พร้อมระบบสั่งเปิด-ปิดอัตโนมัติ ด้วยไฟฟ้า ด้วยวิธีเอาเท้าเตะเหวี่ยงอากาศ ใต้เปลือกกันชนหลัง เหมือน X1 ใหม่

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาด 470 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี (ลดลงจาก X1 รุ่นใหม่ 35 ลิตร) แต่ถ้าพับเบาะแล้ว พื้นที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,355 ลิตร (VDA) ลดลงจาก X1 ใหม่ 195 ลิตร อันเนื่องมาจากความสูงของหลังคาที่เตี้ยลงนั่นเอง มีไฟส่องสว่างยามค่ำคืน มีปลั๊กไฟฟ้า 12V สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งแผงม่านบังสัมภาระ กับตาข่ายกั้นสิ่งของ ที่ผนังห้องเก็บของฝั่งขวา ถอดยกชุดออกได้ ติดตั้งมาให้จากโรงงาน

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมาแล้ว จะพบช่องวางของขนาดใหญ่ แต่ไม่มียางอะไหล่มาให้ ตามเคย เพราะ BMW ยังคงให้ยางติดรถแบบ Runflat ที่แม้ลมรั่วก็วิ่งด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปได้ไกลอีก 80 กิโลเมตร อยู่แล้ว ส่วนเครื่องมือประจำรถ ก็มีชุดหูลาก ชุดขันน็อตต่างๆและชุดปฐมพยาบาลมาให้ตามมาตรฐาน

แผงหน้าปัด แผงควบคุมกลาง รวมทั้งคอนโซลกลาง เครื่องปรับอากาศแบบ อัตโนมัติ แยกฝั่งซ้าย – ขวา พร้อม Heater ในตัว ช่องแอร์ สวิตช์ล็อก/ปลดล็อกประตู ณ มือจับเปิดประตูฝั่งคนขับ ช่องวางแก้วแบบมีฝาปิด และฐานคันเกียร์ พร้อมแผงสวิตช์ควบคุมระบบโปรแกรมการขับขี่ เบรกมือไฟฟ้า ปุ่มควบคุมระบบ iDrive และสวิตช์ระบบ DSC ล้วนยกชุดมาจาก X1 ทั้งยวงแบบไม่ต้องเสียเวลาออกแบบใหม่ให้สิ้นเปลือง เพียงแต่เพิ่ม Trim การประดับตกแต่งให้มีบุคลิก Premium Sporty มากขึ้น ใช้วัสดุแบบผิวนุ่มขึ้นรูป มีการเย็บตะเข็บด้วยด้ายสีตัดกัน

วัสดุตกแต่งในห้องโดยสาร ขึ้นอยู่กับรุ่นย่อยที่ลูกค้าเลือก หากเป็นรุ่น M Sport กับ M Sport X จะใช้เบาะผ้าลายหกเหลี่ยม ตัดสลับกับผ้าสังเคราะห์ Alcantara เดินตะเข็บเย็บด้วยด้ายสีน้ำเงินหรือสีเหลือง หรือถ้าชอบเบาะหนัง ก็ยังมีเบาะ Dakota ให้เลือกอีก 5 สี ส่วนวัสดุตกแต่งตามแดชบอร์ดกับประตูนั้นก็เลือกได้เช่นกันว่าจะใช้วัสดุ High-gloss สีดำ, อะลูมิเนียมหรือลายไม้ Oak Grain สีน้ำตาลด้าน ส่วน กล่องเก็บของ Glove Compartment บุด้วยผ้าสักกะหลาด มาให้ทั้งหมด เช่นเดียวกับ BMW รุ่นอื่นๆ

ชุดมาตรวัด เป็นแบบ Black Panel เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน พร้อมระบบแสดงข้อมูลความเร็ว และการนำทาง ฉายขึ้นบนกระจกหน้า Head-Up Display ให้เลือกสั่งติดตั้งพิเศษ

ระบบ iDrive แสดงผลผ่านจอมอนิเตอร์สีขนาด 8.8 นิ้ว พร้อมเครื่องเสียงจาก Harman Kardon ให้เลือกติดตั้งพิเศษ รองรับ Apple CAR PLAY อีกด้วย รวมทั้งยังมีระบบ Intelligence Voice Control ให้เลือกติดตั้งพิเศษ

นอกจากนี้ BMW ยังมีออพชั่น Lighting Package ให้เลือกติดตั้งพิเศษ โดยแสงไฟตกแต่งห้องโดยสารชุดนี้ จะลากยาวจากบริเวณแผงหน้าปัด ไปจนถึงแผงประตู เสมือนเป็นวงแหวนเรืองแสงรอบห้องโดยสาร ยาวไปจรดด้านหลัง และทำให้ชุดควบคุมและจอ iDrive ดูเหมือนลอยออกมา มีมิติมากขึ้นในยามค่ำคืน เมื่อสั่งซื้อ Package นี้แล้ว ลูกค้าก็ยังสามารถปรับสีภายในได้ 6 สี คือ ส้ม, Lilac, Mint, ทองแดง, น้ำเงิน และขาว

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรมและการทดลองขับ**********

ช่วงแรกที่เปิดตัว X2 ในตลาดโลกจะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 ขนาด ดังนี้

sDrive20i : เครื่องยนต์ รหัส B48A20 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 94.6 x 82.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 พ่วง Turbocharger กำลังสูงสุด 192 แรงม้า (HP) ที่ 5,000 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร (28.53 กก.-ม.) ที่ 1,350 – 4,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Steptronic DCT (Dual Clutch) 7 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 7.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 227 กิโลเมตร/ชั่วโมง

xDrive20d : เครื่องยนต์ รหัส B47C20 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 90.0 x 84.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตามราง Common-Rail พ่วง Turbocharger กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 1,750 – 2,500 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Steptronic 8 จังหวะ พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 7.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 221 กิโลเมตร/ชั่วโมง

xDrive25d เครื่องยนต์ รหัส B47C20 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 90.0 x 84.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตามราง Common-Rail พ่วง Turbocharger เหมือนกับรุ่น xDrive20d แต่จูนให้แรงขึ้นเป็น 231 แรงม้า (HP) ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร (48.55 กก.-ม.) ที่ 1,500 – 3,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Steptronic 8 จังหวะ พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 6.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 237 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่ในช่วงฤดูไบไม้ผลิ ปีนี้ BMW มีแผนจะเพิ่มทางเลือกให้กับ X2 อีก 4 รุ่นรวด ทั้ง sDrive18d, xDrive18d , xDrive18i และ xDrive20i ตามออกมา โดยทั้ง 4 รุ่นย่อย จะใช้เครื่องยนต์ ร่วมกันกับญาติผู้พี่ ร่วมตระกูล อย่าง X1

ระบบขับเคลื่อน มีให้เลือกทั้ง ขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive ทั้งคู่ จะมีระบบส่งกำลังให้เลือก ตามรูปแบบเครื่องยนต์ หากเป็นรุ่น เบนซิน จะได้ใช้เกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ ลูกใหม่ล่าสุด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของ BMW ขับเคลื่อนล้อหน้า (ไม่นับ MINI) ที่ได้ใช้เกียร์แบบนี้

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………..4.154
เกียร์ 2……………………..2.450
เกียร์ 3……………………..1.393
เกียร์ 4……………………..0.975
เกียร์ 5……………………..0.755
เกียร์ 6……………………..0.675
เกียร์ 7………………………0.547

เกียร์ถอยหลัง 3.357
อัตราทดเฟืองท้าย 3.789

ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ Diesel Turbo จะยังคงยืนหยัดอยู่กับ เกียร์อัตโนมัติ Torque Converter 8 จังหวะ Steptronic พร้อมโหมด บวก/ลบ จาก Aisin AW รุ่น AWF8F พร้อมแป้น Paddle Shift ให้ผู้ขับขี่ เลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้เองที่แป้นด้านหลังพวงมาลัยทั่งฝั่งซ้ายและขวา

อัตราทดเกียร์ แตกต่างจาก X1 sDrive18d เวอร์ชันไทย พอสมควร ดังนี้

………………………….xDrive 20d……………xDrive 25d

เกียร์ 1……………………..5.519……………………..5.250
เกียร์ 2……………………..3.184……………………..3.029
เกียร์ 3……………………..2.050…………..………..1.950
เกียร์ 4……………………..1.492……………………..1.457
เกียร์ 5……………………..1.235………………….…..1.221
เกียร์ 6……………………..1.000……………………..1.000
เกียร์ 7………………………0.801………………….…0.809
เกียร์ 8………………………0.673……………….……0.673

เกียร์ถอยหลัง…………….4.221……………………..4.015
อัตราทดเฟืองท้าย………2.851……………………..2.955

นอกจากนี้ยังมี Program การขับขี่ Driving Experience Control มาให้เลือกใช้งาน 3 แบบ ได้แก่

– ECO Pro เน้นประหยัดน้ำมันและปล่อยมลพิษต่ำ ด้วยวิธีรักษาอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไมให้เย็นเกินไป และเปิดลิ้นคันเร่งให้หน่วงช้าลงกว่าปกตินิดนึง
– Comfort ขับขี่ทั่วไป ใช้งานในชีวิตประจำวัน
– Sport พวงมาลัยจะแข็งขึ้น โปรแกรมจะสั่งค้างเกียร์ เพื่อลากรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้นอีกนิด และมีเข็มวัดแรงม้า กับแรงบิด ขณะใช้งานจริงมาให้ดูเล่นๆบนจอมอนิเตอร์ของระบบนำทาง เหมือน BMW รุ่นใหม่ๆ หลายๆรุ่น

ส่วนเบรกมือเป็นแบบสวิตช์ไฟฟ้า แต่ไม่มีระบบ Auto-Hold มาให้ ฐานคันเกียร์ ยกชุดมาจาก X1 แต่หัวเกียร์ เป็นแบบใหม่ ไม่เหมือน X1

เส้นทางที่เราใช้ในการทดลองขับนั้น เริ่มต้นจากโรงแรมที่พัก Hotel NAU Pacacio de Governador ลัดเลาะไปตามริมทะเลเมดิเตอเรเนียน ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม และลมทะเลโกรกเย็นเฉียบจนหนาวสั่น เดินทางกันราวๆ 1 ชั่วโมง 20 นาที ไปแวะที่ร้านอาหารสำหรับคนที่ชอบดนตรี Jazz และ กีฬา Surf Board อย่าง Ribeira D’ILhas Restaurant & Bar เพื่อพักดื่มกาแฟ กินขนม และมีช่างภาพของทาง BMW เตรียมไว้ให้พวกเราสำหรับการถ่ายทำรายการ หากต้องการก็เรียกใช้บริการได้เลย จากนั้น เราก็ขับลัดเลาะมาขึ้นทางด่วน สาย A21 มุ่งหน้ากลับมายังโรงแรม Pacacio de Governador เป็นอันเสร็จสิ้นทริปในวันนี้

สมรรถนะของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังนั้น จะวัดกันได้จากการจับเวลาหาอัตราเร่ง ซึ่งเราก็แอบกดนาฬิกา มาแบบคร่าวๆ ภายใต้ สภาพการณ์ ที่แตกต่างจากมาตรฐานการทดลองตามปกติของเรา (เปิดแอร์ นั่ง แค่ 2 คน ขับขี่ตอนกลางคืน)

คราวนี้ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องเวลา อุณหภูมิ สถานที่ ฯลฯ ทำให้ตัวเลขการจับเวลาของรถคันนี้ เกิดขึ้นโดยมีผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวม 3 คน ขับขี่ตอนกลางวัน อุณหภูมิ 14.5 องศาเซลเซียส เปิดแอร์ ที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส ไม่ทราบชนิดและยี่ห้อของน้ำมัน Diesel ที่ใช้ ว่าจะเป็น Repsol, หรือยี่ห้ออื่น (แต่ไม่ใช่ Shell Caltex Esso บางจาก หรือ PTT แน่นอน เพราะเราอยู่ในโปรตุเกส ไม่ใช่ประเทศไทย!)

อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 9.22 วินาที
อัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 7.70 วินาที
(ใช้วิธีเลี้ยงความเร็วไว้ที่ 80 ก่อนจะเหยียบคันเร่งจมมิดให้เกียร์สั่งเปลี่ยนตัดลงไปเป็นเกียร์ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ ตามมาตรฐานของเว็บเรา)

ตัวเลขที่ออกมา และแรงดึงที่เกิดขึ้น เป็นไปตามความคาดหมาย คือไล่เลี่ยกันกับ 320d F30 รุ่นปี 2013 ที่เราเคยทำรีวิวกันไปเมื่อนานแล้ว ประเด็นเรื่องอัตราเร่ง ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นห่วง พละกำลังที่มีมาให้ ถือว่า เสมอตัว เร่งแซงได้ดี ไม่ต้องลุ้น แรงบิดในช่วงต้น และช่วงกลาง ยังคงไหลมาดี ความลื่นไหลในการไต่ความเร็วก็ยังคงทำได้ดีสมกับเป็นเครื่องยนต์ Diesel ของ BMW พิกัด 2.0 ลิตร ที่หลายคนคุ้นเคย

ส่วนความเร็วสูงสุด ไม่ได้ทดลองมาให้ เพราะในยุโรป การขับรถเกินความเร็วเกินกำหนด เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และอาจโดนปรับหนักมาก กระนั้น โปรตุเกส ถือว่าเป็นประเทศที่ ไม่ค่อยเคร่งในเรื่องการขับรถเร็วเกินกำหนดมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศในเขตยุโรปอื่นๆ เท่าที่สังเกตจากรถยนต์ท้องถิ่น ที่แล่นควบคู่ไปด้วยกันกับเรา ก็ขับเร็วกว่าเรามากอยู่ ดังนั้น ขอยกตัวเลข Top Speed จากการทดสอบของทางโรงงาน ว่าทำได้ 221 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาแปะไว้ให้รับทราบก็แล้วกัน

การเก็บเสียงจากภายนอก ยังแอบมีเสียงกระแสลมไหลผ่านเล็ดรอดขึ้นมาให้ได้ยิน บริเวณเสากรอบกระจกหน้าต่างท่อนบนของบานประตูคู่หน้า ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งต้องใช้ความเร็วเกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป จึงจะได้ยิน อีกทั้งในวันที่เราทดลองขับกัน กระแสลมบนทางด่วนขณะมุ่งหน้า เข้า หรือ ออกจาก Lisbon ค่อนข้างแรงมากๆ จึงอาจได้ยินเสียงลมเข้ามาเยอะกว่าปกติสักหน่อย

ไม่เพียงแค่เครื่องยนต์เท่านั้น แต่งานวิศวกรรมช่วงล่าง ระบบบังคับเลี้ยว และระบบเบรก ของ X2 ก็ยังยกมาจาก X1 ทั้งยวง เพียงแต่มีการปรับแต่งให้ต่างกันนิดหน่อยเท่านั้น

พวงมาลัย เป็นแบบ แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า (EPS) Servotronic อัตราทดเฟืองพวงมาลัยเปลี่ยนจาก 15.7 : 1 ใน X1 มาเป็น 15.9 : 1 จะว่าไปแล้ว การตอบสนองในทุกๆด้าน ก็คล้ายคลึงกับพวงมาลัยของ X1 มากๆ

กระนั้น Peter HauBler : Project Management , Driving Dynamic ของ X2 รุ่นนี้ ก็เล่าให้เราฟังว่าการปรับมุม Camber ล้อคู่หน้า ให้ติดลบเล็กน้อย ช่วยเพื่มการตอบสนองของพวงมาลัยให้กระชับและเฉียบคมมากขึ้น

การสวมล้ออัลลอยขนาด 20 นิ้ว พร้อมยาง Pirelli P Zero ในรถทุกคันที่จัดให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับ มีผลให้น้ำหนักพวงมาลัยช่วงความเร็วต่ำ ขณะเลี้ยวถอยเข้าจอด หนักกว่า X1 รุ่นประกอบไทย อยู่เล็กน้อย ไม่มากนัก แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้น น้ำหนักหน่วงกลางช่วงถือพวงมาลัยตรงจะหนักและหนืดขึ้น ความไวของพวงมาลัยเวลาเลี้ยวก็อยู่ในระดับที่พอเหมาะ แต่เวลาวิ่งเร็วๆ อย่าเผลอหักพวงมาลัยเยอะ เพราะเมื่อหมุนออกจาก Center เพียงนิดเดียว มันจะแอบไวขึ้นมาทันที พอกับ X1 นั่นละครับ

น้ำหนักพวงมาลัยในโหมด Comfort กับ Sport ต่างกันนิดเดียว น้อยมากๆ ต้องพยายามจับความรู้สึกอย่างมาก แต่โดยรวมแล้วมันยังเป็นพวงมาลัยซึ่งมีระยะฟรีหลอนๆนิดๆ ในช่วงขยับแกว่งพวงมาลัย ซ้าย – ขวา ไปมาเล็กน้อย เหมือนๆ X1 อยู่ดี

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบอิสระ Single-joint spring strut ปีกนกทำจากอะลูมิเนียม ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Multi-arm axle (มัลติลิงค์) แยกช็อกอัพแบบธรรมดาไม่มีระบบปรับความแข็งอ่อน และสปริง ออกจากกัน โดยจะมีการปรับเซ็ตช่วงล่าง 2 ระดับความแข็ง-อ่อน ขึ้นอยู่กับระดับการตกแต่ง รุ่นมาตรฐาน จะได้ช่วงล่างแบบปกติ ส่วนรุ่น M Sport และ M Sport X ในคันที่เราลองขับ จะเพิ่ม Damper Control Suspension ซึ่งจะทำให้ตัวรถ เตี้ยลงจากรุ่นมาตรฐาน 10 มิลลิเมตร

ถ้าคุณคิดว่า X1 มีช่วงล่างที่แข็ง เฟิร์ม และหนึบ เอาใจวัยรุ่น คล้ายกับ MINI Countryman รุ่นใหม่แล้ว X2 รุ่นช่วงล่าง M Sport X จะยื่งแข็งและสะเทือนมากกว่า จนใกล้เคียงกับ Countryman รุ่น Cooper S กันเลยทีเดียว ถ้าหลุมบ่อขนาดไม่ใหญ่ไม่ลึก ช่วงล่างจะเก็บอากาศเอาไว้ให้พอรู้สึกได้ว่ากำลังขับผ่านหลุมพวกนั้นอยู่ แต่ถ้าต้องเจอหลุมขนาดใหญ่พอให้ล้อรถตกลงไปได้ คุณจะสัมผัสกับแรงสะเทือนขึ้นมาได้แทบจะทันที

เมื่อหักเลี้ยวหลบแบบกระทันหัน ช่วงล่างสามารถควบคุมอาการยวบตัวได้อย่างดีเยี่ยม ยิ่งกว่า X1 ด้วยซ้ำ บาลานซ์ของตัวรถเวลาเข้าโค้งก็ทำได้ดีขึ้นกว่า X1 นิดหน่อย ถ้าเข้าโค้งแรงๆ ท้ายรถจะเริ่มปัดออกนิดๆ กำลังงาม พอจะแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ได้รู้ว่า “เฮ้ นายเข้าโค้งเร็วไปแล้วนะ” แต่ก็ยังง่ายต่อการดึงรถคืนกลับมา ซึ่งนี่คือลักษณะนิสัยที่ผมคาดหวัง จาก Platform รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า บุคลิกแบบนี้ ดูเหมือนจะมี Saab กับ Mazda และ Honda (Civic Type-R ปี 2017 ขึ้นมา) เท่านั้น ที่จะแสดงอาการออกมาในแนวทางเดียวกันนี้

ผมมั่นใจว่า ผู้ใหญ่คนไหนที่ขึ้นมานั่ง X2 ช่วงล่าง M Sport X แบบนี้ รับรองว่า คงก่นด่าลูกหลานแน่ๆว่า “ลื้อซื้อมาได้ยังไงว้า ไอ้รถแบบนี้ ช่วงล่างแข็งชิกหัย” แต่แน่นอนว่า วัยรุ่น วัยซน วัยคะนอง ที่อยากได้ช่วงล่างแข็งๆหน่อย น่าจะชอบการเซ็ตรถแบบนี้เลยละ!

ระบบเบรก เป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ มีครีบระบายความร้อนที่ขอบจานเบรก และใช้คาลิเปอร์แบบ Floating 1 Pot ทั้งหน้าและหลัง เพียงแต่ขนาดคาลิเปอร์และจานเบรกจะต่างกัน มาพร้อมสารพัตตัวช่วยมากมาย ยกชุดมาจาก X1 ทั้งระบบ DSC (Dynamic Stability Control) ที่รวมการทำงานของ ระบบป้องกัล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) , ระบบป้องกันการลื่นไถล ASC (Anti Skid Control) กับระบบป้องกันล้อฟรีขณะออกตัวบนพื้นลื่น DTC (Dynamic Traction Control)

ไม่เพียงเท่านัน ยังมีระบบ DBC (Dynamic Brake Control),ระบบทำวามสะอาดผ้าเบรก brake drying function, ระบบป้องกันอาการเบรกไม่อยู่ จากความร้อนของผ้าเบรก Fading Compensation, ระบบช่วยออกตัว Start-Off Assistant, เพลาท้าย EDLC (Electronic Differential Lock Control), ระบบ Performance Control, ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะลากจูงรถพ่วง Trailer stability control, ระบบควบคุมการลงเนิน HDC (Hill Descent Control), ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ xDrive all-wheel-drive system ให้มาครบชุด รวมทั้งยังสามารถเลือกสั่งติดตั้ง Dynamic Damper Control เพิ่มเติมได้อีกด้วย

ระบบห้ามล้อ ตอบสนองได้ไม่ต่างจาก X1 เลย ให้ประสิทธิภาพที่เพียงพอต่อการหน่วงตัวรถจากความเร็วระดับ 150 กิโลเมตร /ชั่วโมง ลงมาได้อย่างมั่นใจ ส่วนการตอบสนองและน้ำหนักของแป้นเบรกนั้น ต้านเท้ากว่า Countryman โฉมใหม่ ชัดเจน แต่กลับกลายเป็นว่าน้ำหนักต้านเท้าของ BMW หนักกว่านิดๆ

สิ่งที่ควรปรับปรุงคือ ขณะที่คุณเหยียบเบรกจะต้องกดแป้นลงไปลึกประมาณหนึ่ง ช่วงแรกยังไม่หน่วงความเร็วเท่าไหร่ ระยะฟรีแป้น (Pedal Travel) มีพอประมาณ แต่พอเหยียบเพิ่มขึ้นอีกนิดเดียวไปถึงจุดหนึ่ง คาลิเปอร์จะหนีบจานแบบทันที จนตัวรถเกิดอาการ หน้าทิ่ม การควบคุมรถขณะขับขี่ในเมือง แอบต้องใช้สมาธิเพิ่ขึ้นนิดนึงเหมือนกัน

แม้จะเป็นเรื่องที่คุณสามารถปรับความคุ้นชินกับตัวรถได้ แต่อยากให้ทีมวิศวกร ปรับปรุงแป้นเบรก X1 กับ X2 ให้มีลักษณะ Linear แบบ “เหยียบน้อยหน่วงน้อย เหยียบมากหน่วงมาก” เหมือน BMW รุ่นอื่นๆเขาทำกันได้เสียทีเถอะ

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
เจอกันแบบนำเข้าทั้งคัน Motor Show มีนาคมนี้
แต่ถ้าอยากให้ขายดี จงเอาเข้ามาประกอบที่ระยอง!

ตลาด Premium Small Crossover SUV นั้นกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงก็จริง แต่ความต้องการแอบแฝงของลูกค้าชาวยุโรป ที่อยากได้ รถยนต์ Hatchback ท้ายตัดยกสูงหน่อยๆ มันก็ยังมีซุกซ่อนอยู่อีกมาก

แน่นอนว่า ยอดขายที่ไปได้ดีของ Mercedes-Benz GLA ย่อมทำให้ BMW เกิดอยากจะเข้ามาร่วมชิงเค้กก้อนนี้กับเขาด้วย และในเมื่อ พวกเขาต้องทำ X1 บนพื้นตัวถัง UKL2 อยู่แล้ว ก็วางให้ เจ้าตัวเล็กของรุ่น มีน้องสาวเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คัน เน้นบุคลิกแบบสปอร์ตแบบเดียวกับญาติผู้พี่ ทั้ง X4 และ X6 เลยก็แล้วกัน!

ว่ากันตามตรงแล้ว BMW ก็ยังคงทำผลงานออกมาได้ดี ตามความคาดหมายของผมในภาพรวมได้เช่นเดิม ถึงแม้ว่า X2 จะเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า แต่ยังคงมีบุคลิกตามแบบฉบับของ BMW ที่หลายๆคนรัก โดยเฉพาะเรื่อง Dynamic Driving อันเป็นหัวใจหลักที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับ BMW ทุกรุ่น ถึงแม้บุคลิกการขับขี่ ไม่แตกต่างจาก X1 มากนัก แต่วิศวกรชาว Munich ก็เซ็ตออกมาได้ดี เอาใจคนรักการขับรถแนวสนุก และชอบช่วงล่างแข็งๆ เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ส่วนพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระยังมีขนาดไล่เลี่ยกันกับ X1 ด้วยซ้ำ ต่างกันเพียงแค่ มีหลังคาที่เตี้ยกว่า เพราะเปลือกตัวถังด้านนอกต้องถูกออกแบบใหม่เกือบ ทั้งหมด

X2 แตกต่างจาก X1 ตรงที่…

  1. รูปลักษณ์ สปอร์ต โฉบเฉี่ยวกว่า เอาใจวัยรุ่น และ คนโสดมากกว่า
  2. หลังคา เตี้ยกว่า เข้า – ออก ลำบากขึ้น ความสูงห้องเก็บของลดลง
  3. X2 รุ่น M Sport X สวมล้อ 20 นิ้ว ช่วงล่าง จะแข็งกว่า X1 เวอร์ชันไทย ชัดเจน
  4. ช่วงล่างหน้า ถูกปรับมุม Camber ใหม่ เพิ่มความแม่นยำขณะเลี้ยวมากขึ้น
  5. เพิ่มชิ้นพลาสติกในบุชยางของเหล็กกันโคลง เพิ่มประสิทธิภาพช่วงล่างดีขึ้น

BMW หมายมั่นปั้นมือ ว่าจะส่ง X2 ออกมาท้าชนกับ GLA รวมทั้ง Range Rover Evoque (ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแปี 2012 และใกล้จะได้เวลาเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้) โดยมองข้าม Audi Q2 ไป ด้วยเหตุผลว่า ตัวเล็กไปนิดนึงเมื่อเทียบกับ X2)

ทว่า สถานการณ์ในเมืองไทยนั้น ต่างออกไป ในช่วงแรก X2 จะถูกนำเข้ามาบ้านเราแบบสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU : Complete Built Unit) จากโรงงาน Regensburg ในแคว้น Bavaria (Regen แปลว่า ฝน ส่วน Burg แปลว่า ปราสาท หรือ Castle รวมความแล้วแปลว่า เมือง ปราสาทสายฝน) ซึ่งนั่นอาจทำให้ค่าตัวช่วงแรกที่ออกจำหน่าย พุ่งไปอยู่แถวๆ 2,600,000 – 2,800,000 บาท (เปรียบเทียบกับ X1 ประกอบในประเทศ ตั้งแต่กรกฎาคม 2016 รุ่น sDrive18i ราคา 2,259,000 บาท , sDrive18d X Line 2,459,000 บาท และ sDrive 18d M Sport 2,559,000 บาท)

ทว่า คู่แข่งอย่าง Mercedes-Benz GLA ถูกสั่งเข้ามาประกอบ ณ โรงงานของธนบุรีประกอบรถยนต์ ย่านสำโรง ตั้งนานแล้ว ทำให้ค่ายรถยนต์ตราดาว สามารถตั้งราคาขายปลีกของ GLA ได้ถูกเพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้ลูกค้าไขว่คว้าถึง (GLA 200 Urban ราคา 2,090,000 บาท ส่วน GLA 250 AMG Dynamic ราคา 2,390,000 บาท)

จริงอยู่ละว่า มีลูกค้ากลุ่มที่ “เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่” สนใจจะอุดหนุน X2 แน่ๆ แต่ถ้าต้องการเพิ่มโอกาสในการขาย BMW ก็ต้อง หาทางนำ X2 เข้ามาประกอบในประเทศไทย เหมือน X1 ให้ได้ เพื่อกดราคาลงมาให้ต่ำกว่า 2,800,000 บาท ซึ่งก็อาจจะป้วนเปี้ยนแถวๆ 2,600,000 บาท เพราะตามหลักแล้ว X2 ควรจะมีค่าตัวที่แพงกว่า X1 อยู่เพียงเล็กน้อย เท่านั้น

X2 เวอรชันไทย นำเข้า CBU ในช่วงแรก คาดว่า จะใช้เครื่องยนต์ เบนซิน หรือ Diesel อาจมาเป็นรุ่น sDrive20i ,sDrive20d, xDrive20i หรือ xDrive20d (รุ่นหลักสำหรับตลาดโลก) อย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเป็นไปได้ว่า เราอาจเห็นหลังคา Panoramic Glass Roof ในรุ่น Top Option กำหนดการเปิดตัวครั้งแรกในบ้านเรา อย่างเป็นทางการ จะเกิดขึ้น ช่วง งาน Interntaional Bangkok Motor Show ปลายเดือนมีนาคม 2018 นี้

ส่วนคำถามที่ว่า หลังจากนี้ Headlightmag จะยืม X2 เวอร์ชันไทย มาทำรีวิวหรือไม่ ผมยังให้คำตอบไม่ได้ ในตอนนี้

ว่าแต่…ป่านนี้ พี่ริชชี่ เขาจะสรุปได้หรือยังหนอ ว่า เจ้าหมอเนี่ย ตกลงแล้ว จะเป็น X1 เปลี่ยนเปลือก หรือ 1-Series ยกสูง?

อิอิ

———————-///———————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
คุณพิศมัย เตียงพาณิชย์
คุณ โอภาส นพพรพิทักษ์
BMW Thailand Co.,ltd
เอื้อเฟื้อทริปการเดินทาง

Pan Paitoonpong : สำหรับการเตรียมข้อมูลตัวรถทั้งหมด

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
Full Review : รีวิว BMW X1 โดย Pan Paitoonpong

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในต่างประเทศ เป็นของ J!MMY และ BMW AG.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
5 กุมภาพันธ์ 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without
permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
February 5th,2018

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!


ทดลองขับ BMW X1 sDrive18d 8AT FWD (F48) : MINI ของผู้ใหญ่..และ BMW ของวัยรุ่น