คุณผู้อ่านที่รัก
ก่อนที่จะเลื่อนลงไปอานบทความข้างล่างนี้ เราต้องมาปรับความเข้าใจ ให้ตรงกัน
เสียก่อนว่า รถยนต์ทั้ง 3 คันที่ปรากฎในบทความนี้ เป็นรถยนต์ต้นแบบขั้นสุดท้าย
ก่อนเตรียมการผลิตจริง (Pre-Production) ดังนั้น อุปกรณ์ ที่เห็นในรูป หรือแม้แต่
ชิ้นงานพลาสติกภายในห้องโดยสาร รวมทั้งอะไหล่บางส่วน จะยังไม่ตรงกับรถยนต์
รุ่นที่จะผลิตออกขายจริง อุปกรณ์บางชิ้น เช่นพวงมาลัย อาจแตกต่างไปตามแต่ละ
ประเทศที่รถคันนี้ถูกส่งเข้าไปทำตลาด
ถ้าเข้าใจตรงกันแล้ว เลื่อนลงไปอ่านต่อได้!
————————————————-
ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ประเทศไทย เพิ่งเริ่มรู้จักรถยนต์ประเภท SUV กัน
อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก จากการเปิดตัวของ Jeep Cherokee ทั้งรุ่นนำเข้าใน
ช่วงแรก และรุ่นที่จ้างโรงงาน Thai-Swedish Assembly ในกาลต่อมา
ในช่วงนั้น Honda ถือเป็นบริษัทรถยนต์ ที่จับกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาด
ในบประเทศไทย ได้ไวมากพอที่จะรีบสั่งนำเข้า CR-V Compact SUV รุ่นแรกใน
ประวัติศาสตร์ของพวกเขา มากอบโกยยอดขายไปได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
วันเวลาผ่านไป CR-V ที่เคยประสบความสำเร็จ ถูกขยับขยายร่างกายจนมีขนาด
ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม และดูห่างไกลจากแนวความคิดพื้นฐานดั้งเดิมของมันไปทุกที
ต่อให้ พวกเขา จะพยายามนำ HR-V มาประกอบขาย ถึงแม้จะช่วยให้ Honda ได้
ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ คือกลุ่ม สตรีสูงวัย และมีเงิน ก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยอดขาย
ของ HR-V จะไปแย่งกำลังซื้อจากกลุ่มที่กำลังสนใจรถยนต์นั่งกลุ่ม C-Segment
ซึ่งรวมไปถึง Civic เองด้วย
ไม่ใช่แค่นั้น เพราะ HR-V ยังมีราคาสูงเกินกว่าลูกค้ากลุ่มหนึ่งจะเอื้อมไหว ลูกค้า
กลุ่มนี้ ยังคงเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ จะมีใคร ทำ SUV ซึ่งมีขนาดเล็กอย่างสมเหตุสมผล
ให้อุปกรณ์มาครบครัน ทั้งด้านความสบายและความปลอดภัย ในราคาที่พวกเขายัง
พอจะจ่ายเงินดาวน์ไหว ผ่อนส่งสบายๆ มาขายกันเสียที
วันนี้ ฝันของใครหลายๆคน ที่เคยอยากได้ SUV แบบนี้ กำลังจะกลายเป็นความจริง
27 ตุลาคม 2015
ผมมายืนอยู่ในสนาม Active Safety Traning Park 2 ของสนามแข่งรถ Twin Ring
Motegi ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขา Motegi จังหวัด Tochigi ประเทศญี่ปุ่น กันตั้งแต่เช้าตรู่
ผมยังจำบรรยากาศของสนามแห่งนี้ได้ดี แสงแดดเจิดจ้า มาพร้อมสายลมเย็นๆ พัดผ่าน
มันเป็นภาพวันวาน เมื่อครั้งได้มาลองขับ Honda Accord G9 เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2013
วันนี้ Honda Automobile (Thailand) พาคณะสื่อมวลชน 30 กว่าชีวิต กลับมาเยือน
สนามแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อให้เราทุกคนได้ลองสัมผัส รถยนต์นั่ง Compact SUV รุ่นใหม่
ซึ่งพวกเขา เตรียมจะเปิดตัวในประเทศไทย ในอีกไม่นานเกินรอ ภายใต้ชื่อรุ่น BR-V
ซึ่งย่อมาจาก “Bold Runabout Vehicle”
BR-V เป็นผลงานของทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่น กับชาวไทย ในศูนย์วิจัยและพัฒนา Honda
R&D Asia Pacific Co.,ltd. ริมถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ชานเมืองกรุงเทพฯ ของเรา
นี่เอง! ร่วมกับทีมออกแบบและวิศวกรจาก P.T.Honda Prospect Motors Indonesia
Mr.Atsushi Arisaka Large Project Leader (LPL) หรือหัวหน้าวิศวกรโครงการ
พัฒนา BR-V ผู้ซึ่งดูแลโครงการพัฒนาทั้ง Brio , Brio Amaze และ Mobilio เล่าว่า
ชื่อรุ่น BR-V นั้น ย่อมาจาก Bold Runabout Vehicle ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจกลุ่ม
ลูกค้า หลักๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Out of Frame (ติดนอกกรอบ) กลุ่ม Adventure (ผู้รัก
การผจญภัย) และกลุ่มครอบครัว ทั้ง 3 กลุ่ม ต้องการรถยนต์ที่แตกต่าง (Outstanding)
กระฉับกระเฉง (Active) เหมาะกับทุกรูปแบบการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้าน
ความอเนกประสงค์ (Ugtility)
Honda เปิดตัว BR-V ครั้งแรกในโลก ณ งานแสดงรถยนต์ Gaikindo Indonesian
International Auto Show (GIIAS) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2015 ที่ผ่านมา พวกเขา
ตั้งเป้ายอดสั่งจอง Pre-order Booking เอาไว้ 1,000 คัน แต่เพียงระยะเวลา 1 เดือน
ผ่านไป ปรากฎว่า ลูกค้าชาวตะกะล็อก ให้การตอบรับกับ BR-V อย่างดีใช้ได้ ด้วย
ยอดจองกว่า 2,500 คัน (ตลอดเดือนกันยายน 2015)
BR-V มีขนาดตัวถังยาว 4,455 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า /หลัง (Front & Rear Thread)
อยู่ที่ 1,500 และ 1,500 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นรถ Ground Clearance
201 มิลลิเมตร
เมื่อเปรียบเทียบกับ Mobilio ซึ่งมีความยาว Mobilio 4,386 – 4,398 มิลลิเมตร กว้าง 1,683
มิลลิเมตร สูง 1,603 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,652 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า กับ
หลัง (Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,472 และ 1,475 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึง
พื้นรถ Ground Clearance 189 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า BR-V ยาวเพิ่มขึ้น 57 มิลลิเมตร
กว้างขึ้น 52 มิลลิเมตร สูงขึ้น 50 มิลลิเมตร ส่วนระยะฐานล้อนั้น ยาวขึ้น 8 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด Active Solid Motion โดยใช้วิธีการ
นำ Honda Mobilio เวอร์ชันสำหรับตลาดเอเซีย มาปรับปรุง เปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังใหม่
ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้ดูทะมัดทะแมงขึ้นในสไตล์ที่แตกต่างจากเดิม
ฝากระโปรงหน้า และแก้มฝั่งซ้าย – ขวา กระจังหน้ารถ รวมทั้งไฟหน้า ถูกปรับปรุงให้
เพิ่มความตั้งชัน และลดความลาดเทจาก Mobilio เดิมอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ท้ายรถ
ถูกออกแบบขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด เปลี่ยนชุดไฟท้ายให้มีแนวยาวต่อเนื่องกัน โดยยังคง
รูปแบบของกระจกบังลมหลังเอาไว้ตามเดิม
BR-V เวอรชันไทย จะถูกติดตั้ง แร็คหลังคา Rack Roof มาให้ เพื่อรองรับการขนสัมภาระ
หรือจักรยาน บนหลังคารถได้อย่างสะดวกสบายขึ้น ล้ออัลลอย ของรุ่นท็อปจากโรงงาน
เป็นขนาด 16 นิ้ว สวมด้วยยาง 195/60R16
ระบบล็อกประตูของ BR-V เวอร์ชันไทย จะเป็นแบบ Honda Smart Key System เชื่อม
การทำงานกับระบบกันขโมย Immobilizer และติดเครื่องยนต์ด้วยการกดปุ่ม Push Start
(One Push Ignition System)
การยกตัวรถให้สูงขึ้นจากพื้นถนนจนมีระยะ Ground Clearance เพิ่มเป็น 200 มิลลิเมตร
ทำให้ การเข้า – ออกจากเบาะโดยสารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สะดวกขึ้นสำหรับสมาชิก
ในครอบครัว กลุ่ม สว. (สูงวัย) ที่มีปัญหาเรื่องหัวเข่าอย่างชัดเจน ความกว้างของช่องทาง
เข้า – ออก ทั้งคู่หน้า และคู่หลัง เหมือนกับ Mobilio ใหม่ ทุกประการ
ทีมออกแบบของ Honda R&D ตัดสินใจ ออกแบบตกแต่งภายในห้องโดยสารของ BR-V
ขึ้นใหม่ ด้วยวัสดุที่เทียบเท่ากับ Honda Jazz และ City เพื่อสร้างความแตกต่างจาก Mobilio
ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ชุดเบาะนั่งคู่หน้า พร้อมนักศีรษะในตัว จากรุ่น Brio และ Mobilio ถูกแทนที่ด้วย เบาะนั่ง
แบบใหม่ ในรุ่นท็อปจะหุ้มด้วยหนัง ส่วนรุ่นล่าง จะหุ้มด้วยผ้าแบบไม่อมฝุ่น คล้ายผ้าของ
เบาะนั่งรุ่น City มีพนักศีรษะแยกชิ้นจากพนักพิงเบาะหลัง ตัวพนักศีรษะ แยกชิ้นจากตัว
พนักพิงหลัง เสริมฟองน้ำมาค่อนข้างนุ่ม และไม่ถึงกับดันศีรษะมากนัก
ขณะเดียวกัน พนักพิงหลัง ถูกเสริมแนวขอบโค้งรูปตัว U คว่ำ เป็นพิเศษ เพื่อช่วยรองรับ
บริเวณหัวไหล่ทั้ง 2 ข้าง ให้ดีขึ้น เบาะรองนั่ง นุ่มขึ้น และให้สัมผัสคล้ายๆกับ เบาะนั่ง
ของ Nissan TIIDA นิดๆ น่าเสียดายที่ ยังไม่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยปรับสูง – ต่ำ มาให้กับ
เบาะคู่หน้ากันเสียที
เบาะแถว 2 รวมทั้งบานประตู และแผงประตูคู่หลัง ยกชุดมาจาก Mobilio ทะงดุ้น ดังนั้น
คุณจะยังคงด้พบกับ พนักพิงหลังที่แบนราบ เป็นพื้นกระดาน เสียจนแทบไม่เหลือการ
รองรับซัพพอร์ตแผ่นหลังกับหัวไหล่เลย โชคดีที่ฟองน้ำอันแสนจะนุ่มแอบนิ่มนิดๆ ยัง
พอจะสร้างความสบายให้ผู้โดยสารได้อยู่ แม้จะนั่งในระยะทางไกลๆ ก็ตาม
เบาะรองนั่ง ถึงจะสั้น แต่ก็ไม่สั้นไม่ยาวมาก นุ่มและแอบแน่นนิดๆ กำลังดี อยู่ในระดับ
มาตรฐานของรถยนต์นั่งจากญี่ปุ่น ราคาปานกลาง ทั่วไป ตัวเบาะนั่ง แยกฝั่งปรับเอนได้
ทั้งซ้าย – ขวา ในอัตราส่วน 60 : 40 และตัวเบาะ ก็สามารถแยกปรับเลื่อนขึ้นไปข้างหน้า
หรือ ถอยหลังได้ 100 มิลลิเมตร อีกด้วย ส่วนพนักศีรษะเป็นแบบมาตรฐานทั่วไป ความ
นุ่มสบาย และการรองรับศีรษะทำได้ค่อนข้างดี
พื้นที่ภายในห้องโดยสารกว้างขวางและสะดวกสบายพอกันกับ Mobilio แต่มีพื้นที่สำหรับ
หัวเข่า (Leg Room) และพื้นที่บริเวณเหนือศีรษะ (Head Room) ที่มากขึ้น นิดหน่อย แต่
Honda ยังไม่ระบุตัวเลขความแตกต่างในประเด็นดังกล่าวออกมาในตอนนี้
ไม่เพียงเท่านั้น เบาะนั่งแถว 3 ก็ยังยกมาจาก Mobilio กันทั้งดุ้น แบบไม่ต้องคิดมาก ยังคง
สามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 50 : 50 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังได้เช่น
เดียวกันกับ Mobilio
แต่ถึงจะไม่ได้พับเบาะ ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ของ BR-V ก็ยังมีขนาดใหญ่ สามารถ
ใส่กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ได้ถึง 2 ใบ ในแนวตั้ง เลยด้วยซ้ำ!
แผงหน้าปัดเดิมจาก Brio และ Mobilio ถูกยกอออกไปทิ้ง แล้วแทนที่ด้วยแผงหน้าปัด
ซึ่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้มีตำแหน่งช่องแอร์ และแผงสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง กับ
เครื่องปรับอากาศ คล้ายกับ แผงหน้าปัดของ Jazz และ City ใหม่ แต่ถูกอัพเดทให้มี
เส้นสายเพิ่มเติมบริเวณ ฝั่งซ้าย ทั้งหมด เพื่อให้ดูสอดคล้องกับแนวเส้นภายนอกรถ
จนลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย
พวงมาลัย ยังคงเป็นแบบ 3 ก้าน พร้อมชุดสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนก้านพวงมาลัย
ซึ่งยกชุดมาจาก City รุ่นปี 2008 – 2014 ทั้งดุ้น (ส่วนภาพข้างบน ที่เป็นพวงมาลัย
ของ Mobilio ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ นั่นมันเวอร์ชันอินโดฯ)
ส่วนชุดมาตรวัดเป็นแบบ 3 วงกลม วางเรียงตำแหน่งเหมือน Jazz กับ City ใหม่ โดย
วงกลมใหญ่สุดตรงกลางเป็นมาตรวัดความเร็ว ฝั่งซ้ายเป็น มาตรวัด รอบเครื่องยนต์
แถมยังมี จอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-Information Display) มาให้อีกด้วย
แผงควบคุมกลาง ติดตั้ง ชุดเครื่องเสียง เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมช่องเสียบ USB และ
จอมอนิเตอร์สี ขนาด 6.1 นิ้ว แบบหน้าจอสัมผัส Touch Screen รองรับการเชื่อมต่อ
กับ โทรศัพท์แบบ Smart Phone ผ่านทาง Bluetooth
นอกจากนี้ BR-V เวอร์ชันไทย จะยังติดตั้ง เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ สำหรับ
ผู้โดยสารด้านหน้า และระบบปรับอากาศ (Blower) สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ติดตั้ง
อยู่ระหว่างเบาะที่นั่งแถวที่ 1 และแถวที่ 2 เพื่อกระจายความเย็นได้อย่างทั่วถึง
********** รายละเอียด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
แม้ Honda Automobile (Thailand) และ P.T.Honda Prospect Motor Indonesia
จะยังไม่ยอมเปิดเผยสเป็กอย่างเป็นทางการออกมา แต่เมื่อผมและ The Coup Team
ของเว็บเรา ตรวจเช็คข้อมูลใน Internet ก็พบว่า BR-V เวอร์ชัน Indonesia จะติดตั้ง
เครื้่องยนต์ รหัส L15A1 บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
73.0 x 89.4 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.3 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ PGM-FI มา
พร้อมระบบ แปรผันวาล์ว i-VTEC กำลังสูงสุด 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร (14.8 กก.-ม.) ที่ 4,800 รอบ/นาที ซึ่งเป็นเครื่องยนต์
บล็อกดั้งเดิมที่ วางอยู่ใน Honda Jazz และ City รุ่นปี 2008 – 2014
ส่วน BR-V เวอร์ชันไทย จะวางขุมพลัง ยกชุดมาจาก Jazz กับ City รุ่นปี 2014 – 2015
ซึ่งหลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาคุ้นเคยกันดี เป็นเครื่องยนต์รหัส L15Z1 บล็อก 4 สูบ SOHC
16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1
หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ PGM-FI ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive-By-Wire (DBW) พร้อมระบบ
แปรผันวาล์ว i-VTEC
ตัวเลขกำลังสูงสุดสำหรับเวอร์ชันไทย ร วันปิดต้นฉบับ ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็น
ทางการ แต่ก็พอจะเดาได้ว่า น่าจะยังเป็น 117 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 145 นิวตันเมตร (14.8 กก.-ม.)ที่ 4,800 รอบ/นาที ตามเดิม เหตุที่ตัวเลขแรงม้า
ลดลงก็เพราะว่า เวอร์ชันไทย จะมีการปรับจูน ให้สามารถรองรับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง
แก็สโซฮอลล์ E85 เรียบร้อยแล้ว!
ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ที่ถูกพัฒนาขึ้น
ภายใต้แนวทาง Earth Dream Technologies ยกชุดมาจาก Jazz รุ่น 3 และ City รุ่นปี 2014
กับ Mobilio ถึงกระนั้น คันเกียร์ กับฐานรองเกียร์ ยังคงยกมาจากยกมาจากพี่น้องร่วมค่ายทั้ง
Jazz รุ่นที่ 2 , Brio , Brio AMAZE และ Mobilio ทั้งดุ้น ตามเคย
Mr.Arisaka เล่าว่า พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้าช่วยผ่อนแรง
EPS (Electronics Power Steering) ที่ถูกปรับแต่งให้แตกต่างจาก Mobilio เช่นเดียวกันกับ
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม ซึ่งใช้ชิ้นส่วนกับ
Mobilio ได้ราวๆ 40% ที่เหลือ เป็นชิ้นส่วนใหม่ๆ ซึ่งถูกพัฒนาใหม่ เพื่อ BR-V โดยเฉพาะ
ระบบเบรกเป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock
Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution)
ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวบนพื้นลื่น VSA (Vehicle Stability Assist) และระบบ
ช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist
จากสภาพสนาม ที่ให้ขับวนเป็นวงกลม ซึ่งไม่มีจังหวะให้ทำการทดลองอัตราเร่งใดๆเลย
ทำได้เพียงแค่จับความรู้สึกจากการขับเอง 2 รอบ และเป็นผู้โดยสารอีก 2 รอบ รวมทั้งหมด
4 รอบ ซึ่งก็ทำได้ดีที่สุดแค่นี้ เนื่องจากเวลามีจำกัด เพราะตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ยังต้องร่วม
กิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย
เท่าที่ได้ทดลองขับในระยะทางสั้นๆ พบว่า อัตราเร่ง และการตอบสนองของเครื่องยนต์
กับระบบส่งกำลัง ไม่แตกต่างจาก Mobilio เลย เหมือนกันเกือบเป๊ะ เพียงแต่ว่า ในช่วง
ที่ต้องเหยียบเร่งเต็มมิดคันเร่ง ด้วยน้ำหนักตัว และความสูงของรถ อาจทำให้พอรู้สึกว่า
อาจจะแอบช้ากว่า Mobilio ในระดับเสี้ยววินาที นอกนั้น ถือว่า เหมือนๆกัน
พวงมาลัย ก็ตอบสนองคล้ายคลึงกับ Mobilio แต่แอบเฟิร์มกว่ากันเพียงนิดเดียว การเลี้ยว
เข้าโค้งในช่วงความเร็วไม่เกิน 60 – 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังคงทำได้กระชับดี สมตัว ส่วน
ช่วงล่างนั้น แม้จะมีอาการเอียงตัวของรถ ขณะเข้าโค้งเพิ่มขึ้นจาก Mobilio แต่นั่นก็ถือว่า
เป็นเรื่องธรรมดา ของรถยนต์ ที่ถูกยกพื้นตัวถังให้สูงขึ้น ไม่แปลกหรอก ถ้าจะเอียงตัว
เพิ่มขึ้นตอนอยู่ในโค้ง
แต่สิ่งที่สัมผัสได้เลยว่า ต่างจาก Mobilio คือช่วงล่าง ที่หนึบ และเฟิร์มกว่ากันอย่างชัดเจน
บนพื้นผิวถนนที่ยังเรียบได้ไม่สนิทดีนัก แม้แต่ในขณะเข้าโค้ง ถึงจะเอียงออกข้างเพิ่มขึ้น
แต่กลับยังคงมั่นใจได้อยู่ ถือว่า ทีมวิศวกรเขาทำการบ้านมาดีเอาเรื่อง
ระบบห้ามล้อ มาในสไตล์เดียวกับ Mobilio ตอนเพิ่งออกจากโชว์รูมมาใหม่ๆ คือแป้นเบรก
ถูกเซ็ตมาให้ตอบสนองอย่างนุ่มนวล มีน้ำหนักเหมาะสม ยืดหยุ่นกำลังดี สำหรับการขับขี่
ในช่วงความเร็วต่ำ ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่าเพิ่งถามว่า แล้วถ้าหลังจากนั้นจะเป็น
อย่างไร เพราะเจ้าหน้าของสนาม ชาวญี่ปุ่น ไม่ยอมให้ขับเร็วกว่านี้
********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ยกระดับ Mobilio ให้ดูโก้และ ทะมัดทะแมงขึ้นกว่าเดิม
มันไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ถ้าคุณจะเข้าใจว่า BR-V คือ Mobilio ในเวอร์ชันยกสูงเป็น SUV
เพราะ สำหรับผมแล้ว Mobilio ก็เป็นรถยนต์ Minivan 7 ที่นั่ง ที่มีคุณงามความดีพอประมาณ
ในราคาที่ยอมรับได้
พูดง่ายๆก็คือ Mobilio เองมันก็ไม่ได้มีอะไรด่างพร้อยในสายตาผม นอกจากแผงหน้าปัด กับ
งานออกแบบด้านหน้าของรถนั่นเอง ที่ยังต้องปรับปรุงใหม่ให้ดีกว่านี้
กระนั้น วันนี้ Arisaka-san และทีมงานคนไทย ใน Honda R&D Asia Pacific ก็ได้แสดงออก
ถึงความพยายามร่วมกัน เพื่อการยกระดับ Mobilio เดิม ให้ทะมัดทะแมงขึ้น ดูดีขึ้น และเริ่ม
สัมผัสได้ถึงความคุ้มค่ามากขึ้น
แน่ละ ตำแหน่งทางการตลาดของ BR-V คือการเข้ามาเป็นน้องเล็กสุดท้องในตระกูล SUV
ของ Honda ต่อจาก CR-V และ HR-V นั่นเอง ดังนั้น หลากหลายข้อจำกัด และข้อควรต้อง
ปรับปรุง ต่างๆ ถูกเติมเต็มเข้าไป ทำให้ Minivan คันนึง กลายร่างเป็น SUV 7 ที่นั่ง ขนาด
เล็กสุดในตลาด ไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังคงไว้ซึ่งอรรถประโยชน์ใช้สอย ตามใจกลุ่มลูกค้า
ประเภทครอบครัวยุคใหม่ ต้องการ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่า BR-V จะเปิดตัวเมื่อไหร่? และจะ
เริ่มขายในบ้านเราเมื่อไหร่
ตลาดแรก ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นตลาดเป้าหมายหลักของรถรุ่นนี้คือ Indonesia
เปิดตัวล่วงหน้าบ้านเราไปแล้ว เพราะเขาผลิตขายกันเองที่โรงงานในบ้านของเขา
สำหรับบ้านเรา Honda เอง จะนำ BR-V มาขึ้นสายการประกอบในประเทศไทย ที่โรงงาน
โรจนะ ก่อนจะเผยโฉมให้ยลโฉมกัน คาดว่าจะเป็นช่วงงาน Motor Expo เดือนธันวาคมนี้
แต่จะพร้อมส่งมอบแลพะเปิดตัวออกขายกันอย่างเป็นทางการ คงต้องรอกันจนถึง ต้นเดือน
มกราคม เป็นอย่างเร็วที่สุด
ไว้เมื่อถึงตอนนั้น เราค่อยมาเจาะรายละเอียดกันอีกที ว่า BR-V เหมือน หรือต่างจาก
Mobilio กันมากน้อยแค่ไหน…
และ…อย่างไร!?
——————————-///———————————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ อย่างดียิ่ง
——————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของทั้งผู้เขียน และช่างภาพจาก Honda
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
27 ตุลาคม 2015
Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 27th,2015
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!