ความเดิมจากตอนที่แล้ว
The DeLorean DMC-12 Part 1

John Z. DeLorean เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงมาดเพลย์บอยรักษาหุ่นที่แตกต่างจากผู้บริหาร
GM คนอื่นๆที่ยศสูงเท่ากัน เขาสร้างชื่อเสียงและยอดขายให้กับแบรนด์ Pontiac ต่อมาก็
Chevrolet เขามีความคิดบุกเบิกเหมือนนักประดิษฐ์ ชอบความท้าทาย ชอบลองของ
รักการแข่งขันและมีจิตใจมุ่งมั่นเอาชัยชนะ และในหลายครั้งก็ไม่แคร์ถึงวิธีการหรือ
ความถูกต้องตามระเบียบขององค์กรเท่าไรนัก John เป็นคนที่ใช้ชีวิตแหวกแนวต่าง
จากคนในวงการรถยนต์คนอื่นๆ เขาชอบการออกสื่อ การพบปะกับคนในแวดวงดาราและ
เจ้าของธุรกิจเงินล้าน ในยุคนั้น ไม่มีใครที่จะไม่รู้จักผู้บริหารมากเสน่ห์ที่ประสบความสำเร็จ
ตั้งแต่อายุยังน้อย เขาออกเดทกับดารา แต่งงานกับสาวสวยที่ใครต่อใครได้แต่ฝันถึง..
และอันที่จริงทั้งชีวิตของเขาแต่งงานทั้งหมด 4 ครั้ง

John ผลักดันตัวเองจนมาถึงจุดสูงสุดของชีวิตแล้วก็ว่าได้ จากเดิมที่เป็นลูกของพ่อที่เป็น
คนงานสหภาพ แม่รับจ้างทั่วไป ชีวิตขัดสนกดดันตั้งแต่กำเนิด แต่อาศัยที่ว่าเป็นคนที่มี
ความปราถณาร้อนแรงดุจลาวาภูเขาไฟ จึงสร้างตัวด้วยการขยันเรียน คบหาสมาคมกับผู้รู้
ก่อนไปเป็นทหารเกณฑ์สงคราม กลับมาขายประกัน แล้วก็ถูกชักชวนให้ไปศึกษาเอาดีทางด้าน
รถยนต์ ในที่สุดบอสใหญ่ของ GM ก็ได้หยิบยื่นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดที่คุมแผนกรถยนต์
และรถปิคอัพทั้งหมด

แต่การเมืองภายในองค์กร บวกกับข้อจำกัดต่างๆทำให้เขาตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะ
ลาออกจาก GM ตามคำพูดที่ว่า “ไม่มีใครหรอกที่สร้างความฝันให้เป็นอย่างที่คุณต้องการ
เป๊ะๆได้..นอกจากตัวคุณเอง”
John ก่อตั้งบริษัทรถของตัวเองภายใต้ชื่อ DeLorean Motor Company Limited (DMCL)
เขาประสบความสำเร็จในการจัดหาทุนจากเพื่อนฝูงที่เป็นคนดังในอเมริกา และมีรัฐบาล
อังกฤษภายใต้ยุคของ James Callaghan และ Northern Ireland Development Agency
(NIDA) มอบทุนให้หลายสิบล้านปอนด์ภายใต้เงื่อนไขตอบแทนระยะยาวที่ John เล็งเห็น
ว่า “ยังไงก็คุ้ม Win/Win ทั้งสองฝ่าย” และก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของเขาขึ้นที่
เมือง Dunmurry ชานกรุง Belfast ท่ามกลางความวุ่นวายจากการจลาจล ก่อการร้าย
และความไม่ลงรอยระหว่างชาวคาธอลิกที่ต้องการไปรวมตัวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์
กับชาวโปรเตสแตนท์ที่ต้องการอยู่กับอังกฤษต่อไป

เดือนแล้วเดือนเล่าที่ผ่านไป กับผู้บริหารที่มีบางคนเริ่มถูกเชือดออกไปจากผังองค์กร
ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงอันไม่ได้คาดคิดมากมายที่สร้างความกดดันอันน่าท้อถอย
ให้กับมดงานภายในองค์กร แต่หลังจากที่เลื่อนนัดดูรถตัวจริงกับทางรัฐบาลมาหลายรอบ
ในที่สุด DMC-12 คันแรกก็ออกจากสายการผลิตในเดือนมกราคมปี 1981 และรถจำนวน
350 คันก็ถูกลำเลียงใส่เรือขนส่งเพื่อมุ่งสู่อเมริกา ตลาดหลักที่พวกมันถูกสร้างขึ้นมา
เพื่อกอบโกยรายได้โดยเฉพาะ

แต่ในโลกนี้ ไม่มีทะเลใดๆที่มีผิวน้ำราบเรียบตราบใดที่ยังมีลมโพยพัดอยู่
ความปิติยินดีจากการที่พวกเขาสามารถส่งรถล็อตแรกไปสู่อเมริกาได้นั้น เปรียบเสมือน
ผืนน้ำเรียบๆที่กำลังมีพายุลูกหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าหาอย่างรวดเร็ว!
มาติดตามกันต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับ DeLorean

.

CHAPTER 7 – ล้อแตะแผ่นดินแม่ แล้วก็แห่เข้าอู่พ่อ.ง

ผมกำลังนั่งเกาหัวพิมพ์บทความลงคอมพิวเตอร์บนโต๊ะอาหารกลมที่อยู่ติดกับห้องครัว
ในยามดึกดื่นที่เงียบสงัด มีแต่เสียงแมวกัดกันอยู่ในระยะห่างไกลออกไปกับเสียงพัดลม
ที่พยายามอย่างสุดความสามารถในการระบายความร้อนให้กับตัวผมในประเทศที่แทบ
จะเป็นฤดูร้อนเสีย 8 ใน 10 ของปีอย่างไทยแลนด์นี้

เรื่องราวของ DeLorean ยังอยู่ในหัวของผม ไม่ได้หนีไปไหนไกลแม้ว่าจะห่างหายกัน
ไปสักพักตามงานการที่ประดังเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนระบบเว็บใหม่ให้รับกับยุคสมัย
และใช้งานได้ง่ายขึ้น รวมถึงบทความต่างๆที่จู่ๆจะมาก็มาแบบอาหารตามสั่ง ดราม่าชีวิต
บ้าบอคอแตกที่ทำให้ผมผิดสัญญา เขียนงานชิ้นนี้ออกมาเลยกำหนดไปเกือบครึ่งปี ผมไม่โทษใคร
นอกจากสมองและการตัดสินใจของตัวเองในการทำงานลำดับก่อนหลัง

ผมต้องขออภัยผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ ที่นี้

zdmc013

 

ผมจำได้ว่าครั้งล่าสุด ควินน์และตัวผมได้ติดตามรถประตูปีกนกคันนี้มาจนถึงตอนที่
พวกมันถูกส่งใส่เรือบรรทุกสินค้า มุ่งหน้าไปสหรัฐอเมริกาพร้อมกับสัญญาณที่บ่งบอกว่า
ยังมีชะตากรรมอีกหลายรูปแบบที่รอคอยชาว DeLorean อยู่

และทุกอย่างที่ได้พานพบมาก่อนหน้านี้ก็เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น

ผมเริ่มคิดถึงควินน์เพื่อนเก่า ที่ไม่ได้เจอกันมาสักพักใหญ่แล้ว ลองเรียกดูดีกว่าเผื่อ
วันนี้จะอยู่แถวนี้

“ควินน์..ควินน์โว้ย” ผมลองตะโกนเรียก

“อยู่ตรงนี้แหละ ไม่ได้ไปไหน ไม่เคยไปไหน ว่าไง?”

“ผมว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องเขียนเรื่องของ DeLorean ต่อกันแล้วล่ะนะ ..คราวที่แล้วเราพูดถึง
ตอนที่รถถูกขนส่งออกจากท่าเรือในไอร์แลนด์เหนือไป แล้วหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นต่อบ้าง?”

“เอาคำถามที่เจาะจงกว่านั้นได้มั้ย? คุณถามกว้างมาก หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นหลังจากนั้น”
“เอางี้” ผมคิดได้ “ในแง่การรับรู้ของประชาชน ลูกค้าที่มีต่อตัวผลิตภัณฑ์ก่อนดีกว่า”

“ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ค่อยยังชั่ว ผมบอกได้เลยว่าแทบไม่ต้องห่วง ทีม PR ของ John ทำงานหนักมาก
พวกเขาไม่ใช่กระจอกๆอยู่แล้ว และอย่าลืมว่าที่อเมริกามี Dick Brown เป็นรองประธานฯ คอยดูแล
ให้ทางค่ายมีข่าวดีจิบกาแฟฟังแล้วปลื้มอยู่ประจำ จำได้ไหมที่ผมบอกว่ารถต้นแบบของ DMC-12
แต่ละคันมีหน้าที่มากกว่าการทดสอบ มันยังเป็นรถโชว์ด้วย Dick Brown ดูแลให้ทางดีลเลอร์ใดๆ
ก็ตามที่อยู่ในเขตมีศักยภาพทางการขายสูงได้มีโอกาสเอารถ Prototype เหล่านั้นไปขึ้นแท่นโชว์ด้วย”

ผมเริ่มคิดออก “อ๋อ เอาไปโชว์เพื่อสร้างกระแสใช่ไหมล่ะ ยั่วให้คนเห็นแล้วอยากได้ พอรถคันจริงมา
จะได้ไม่ต้องคิดมากตอนเซ็นจอง”

“ใช่ ปี 1981 เริ่มต้นขึ้นก็มีคนมารอคิวซื้อแล้ว คุณเคยผ่านร้านเป็ดย่างแมนดารินแถวท้ายๆซอย
ทองหล่อเลยโรงพยาบาลคามิลเลียนไปหน่อยมั้ย ทำไมเขาต้องเอาเป็ดย่างตัวเป้งๆมาแขวนโชว์
หน้าร้านในตู้กระจก?”

“นั่นมันร้านไอ้หลุยส์ สคบ.ประจำเว็บเรานี่?” ผมถึงว่า..Location ร้านมันคุ้นๆ “นอกจากเป็ดแล้ว
ยังมีหมูกรอบ…ปลาหิมะนึ่งซีอิ๊ว..แล้วก็..”

“คืออย่าเพิ่งนอกเรื่องสิวะคุณ! ..ตอบคำถามผมก่อน” ควินน์ด่าให้
“เพราะ..เห็นแล้ว เกิดความอยากกิน?” ผมตอบแบบเสียมิได้ ..และหิวด้วยจริงๆ

“ใช่! เพราะมันทำให้คุณเกิดความอยาก!! และความอยากทำได้ทุกอย่าง!! ตามที่ดีลเลอร์บางคนบอก
ขนาดเอารถมาโชว์แค่ 2-3 วัน ยังมีคนมาขอวางเงินจองเลย พอยอดจองเยอะเข้า จากเดิมวางมัดจำแค่
1,000 ดอลลาร์ ตัวเลขก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ดีลเลอร์บางเจ้านี่บอกลูกค้าเลยว่าเห้ย ถ้าจะรับจอง คุณต้องวาง
มัดจำ 5,000 ดอลลาร์ จ่ายสดเท่านั้น! งดต่อรอง!”

เป็นอันว่ายุทธวิธีโชว์เป็ดย่างของ Brown ได้ผลจริง เพราะดีลเลอร์หลายต่อหลายแห่งต่างก็สามารถ
ตักตวงเงินเข้าตัวเองได้เป็นล่ำเป็นสัน 5,000 ดอลลาร์นั่นก็เทียบได้กับ 1 ใน 5 ของมูลค่ารถทั้งคันแล้ว

zdmc001

ควินน์บรรยายต่อ “รถคันแรกๆถูกส่งมอบให้ลูกค้าในเดือนมิถุนายน 1981 เอาจริงๆเลยนะ ปีนี้เป็น
ปีทองของ DeLorean เพราะยอดขายดีมาก ในช่วง 6 เดือนแรกหลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
มันทำยอดขายได้มากกว่า Porsche 911 ทุกรุ่นในอเมริการวมกันเสียอีกจน John กระหยิ่มยิ้มย่อง
เขามั่นใจมากจนทุบโต๊ะเปรี้ยงเลยว่า DMC-12 จะขายได้ 10,000 คันต่อปี ภายในไม่ช้า”

“จะขายดีกว่า Porsche 911 ก็ไม่แปลกนี่ Porsche มันรถแพง..หรือเปล่า?”
“แพงพ่อ.งสิครับ 911 SC 3.0 ลิตร ปี 1981 ราคาเริ่มต้นแค่ 28,000 ดอลลาร์ แพงกว่า DMC-12 แค่
3,000 ดอลลาร์ ใช่เรื่องใหญ่เหรอ?” ควินน์ตอบ

ดังนั้นการที่สามารถสร้างตัวเลขยอดขายได้น่าประทับใจแบบนี้ มันก็เป็นเพราะพลังของดีไซน์และ
ความแตกต่าง รวมกับยุทธวิธีทางการประชาสัมพันธ์ที่หนักแน่นเข้มข้น จนสื่อมวลชนในยุค 80s
หลายคนยังเคยกล่าวไว้ว่าแทบไม่มีวันไหนเลยที่คนจะไม่เห็นโฆษณาของ DeLorean ผ่านทาง
โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ตัว John DeLorean เองก็ทำหน้าที่หัวหน้าพ่อค้าที่ดี พาตัวเอง
ไปออกรายการวิทยุต่างๆบ่อยครั้งเพื่อรายงานความคืบหน้าของการสร้างรถและเรียกความสนใจ
จากประชาชนมาโดยตลอด

Jim Rose ดีลเลอร์รายใหญ่เจ้าเก่าของเรายังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า “ตอนรับจองก็ต้องจัดคิวจอง
และถ้าสมมติว่าคุณเป็นคิวที่ 25 แล้วคนที่ 24 สละสิทธิ์ มันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้เลื่อน
มาเป็นคิวที่ 24 นะ ผมเอาคิวที่ 24 นั่นไปขายให้กับพวกคนทั่วไปที่ไม่ได้จองไว้ตั้งแต่แรกแล้วจู่ๆ
อยากได้ขึ้นมา พวกคนเหล่านั้นยินดีจะจ่าย 30,000-35,000 เหรียญเพื่อให้ได้สิ่งที่พวกเขา
ต้องการ…ลูกค้าบางคนจอง DeLorean เอาไว้หลายๆคัน แล้วก็มาขายใบจองเอาทีหลังเพื่อ
ทำกำไรก็มี”

ดังนั้น ภายใต้ความสำเร็จและกระแสตอบรับที่ดีนั้น ก็มีกิจกรรมบางอย่างซึ่งไม่ซื่อตรงนัก
เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ เราไม่สามารถพูดได้ว่ามันเลวทรามบัดซบ เพราะมันก็ไม่ใช่ แต่เราก็ไม่สามารถพูด
ได้เหมือนกันว่ามันเป็นธุรกิจที่ซื่อตรง เราจะเห็นได้ว่าเรื่องการเก็งกำไรจากความฮิตของรถ รวมถึง
การซื้อใบจองมาเก็งกำไรน่ะ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ที่เมืองไทย มันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ Mercedes-Benz
300CE กับรถ Honda ในอดีตหลายรุ่น หรือถ้าจะให้พูดถึงรถในยุคใหม่หน่อยก็คงต้องเป็น Suzuki
Swift ซึ่งในช่วงเปิดตัวรุ่น 1.2 ลิตรนั้นรถขายดีจนประกอบไม่ทัน ทำให้มีการขายใบจองกันบนเว็บไซต์
เป็นเรื่องปกติ จากเงินมัดจำ 5,000 บาท กลายเป็น 15,000 บาท หรือ 30,000 บาทสำหรับรุ่นและสีที่
ผู้คนมีความต้องการสูง แต่กระนั้นคงไม่โหดเท่ากับกรณีของ DeLorean ซึ่งมูลค่าใบจองนั้นสูงถึง
20-25% ของราคารถทั้งคัน..ลองคิดดูเถิดครับ ถ้าคุณซื้ออีโคคาร์สักคันแล้วต้องจ่ายเงินจอง
แสนกว่าบาทคุณจะยังทำหน้าตาเฉยเมยหรือไม่?

 

“แล้วเรื่องอื่นๆนอกจากความสำเร็จในด้านยอดขายล่ะควินน์” ผมถามต่อ

“หุ..แน่นอน ชีวิตก็ยังอยู่ท่ามกลางคลื่นลมแห่งความห่วยแตกต่อไป จะเริ่มจากที่ไหนก่อนดี?
จะเอาที่อเมริกาก่อน หรือจะกลับไปเยี่ยม Nick Sutton ที่ Northern Ireland?”

“เอาที่อเมริกาก่อนแล้วกัน คุณบอกว่ารถคันแรกส่งถึงมือลูกค้า เดือนมิถุนายน 1981..”
“ถ้าเอาให้แม่นเลยก็ 17 มิถุนายน 1981”
“อ่ะ ใช่..แต่รถมันออกจากท่าเรือที่อ่าว Belfast ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนแล้วนี่นา”
“ใช่ แล้วเรือลำนั้นก็มาถึงอเมริกาในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม”
“แล้วมันหายไปไหนมาตั้งครึ่งเดือนล่ะควินน์?”

“ก็พอรถพวกนั้นแต่แผ่นดินแม่ปุ๊บ…มันก็เข้าอู่หาพ่อมันไปเลยไงล่ะ Dick Brown เป็นลูกรักที่
ส่งข่าวดีให้บอสมาโดยตลอด แต่ทันทีที่รถเหล่านั้นมาถึง Long Beach รัฐ California มันก็ถูกส่ง
ไปยัง Quality Assurance Center ที่ Santa Ana  เพื่อตรวจสภาพรถก่อนส่งไปยังดีลเลอร์

….และสิ่งที่ Dick Brown พบ จะเป็นสิ่งที่ช็อคและหลอกหลอนเขาไปอีกหลายเดือน”

มาถึงจุดนี้ผมรู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องของคุณภาพการประกอบแน่นอน เพราะไม่ว่าจะหนังสือรถ
เล่มไหนในโลก หากได้มีโอกาสเขียนถึง DeLorean ก็มักจะมีคำว่าปัญหาการประกอบและ
คุณภาพตามมาเหมือนยุง ผมคิดว่า Dick Brown ในเวลานั้นอาจจะอยากลาออกจากบริษัท
เต็มแก่แล้วก็ได้

“Brown น่ะไม่ใช่คนกระจอกนะ ตั้งแต่เห็นสภาพโรงงานและคุยกับหลายคนในโรงงานสมัย
ไปเยี่ยม DMCL ที่ไอร์แลนด์เหนือ เขาก็รู้แล้วว่า shipหาย งานเข้าแน่ถ้าไม่เตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ
นี่ขนาดว่าเตรียมรับมือไว้อย่างดีแล้วนะ Brown เองยังยอมรับเลยว่าปัญหาที่เขาพบนั้น
มันช่างทุเรศทุรังกว่าที่เขาคาดเอาไว้มาก” ควินน์เล่า

“แสดงว่าต้องมีจุดบกพร่องเยอะ แต่อย่างน้อยศูนย์ตรวจสอบสภาพเขาก็มีกระจายอยู่ที่ California
ที่ New Jersey กับ Michigan นั่นก็น่าจะพอ ถ้ากระจายรถไปตาม QAC แต่ละแห่งได้
ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ไม่ยาก หรือไม่งั้นก็ค่อยตามแก้เอาทีหลังก็ได้ ดูอย่าง Ford Fiesta, Mazda
บางรุ่นสมัยนี้เขาก็มีตามเปลี่ยนอะไหล่ภายหลังกัน ไม่งั้นก็เพิ่มอายุการรับประกัน” ผมเสริมความเห็น

“บ้า!” ควินน์ด่าเสียงดัง  “ข้อบกพร่องอะไรก็ตามที่คุณพูดถึงรถพวกนั้น!
ผมบอกได้เลยว่ากระจอกมากเมื่อเทียบกับเคสของ  DeLorean  คุณลองเปิดเอกสารเวียนภายในของ
DeLorean ที่ Dick Brown ส่งสรุปปัญหาไปให้กับบอร์ดบริหารดูแล้วกัน แล้วดูซิว่ามันจะแพ้รถสมัยใหม่
เจ้าปัญหาของพวกคุณหรือเปล่าไฟล์นั่นมันก็อยู่ในเครื่องคุณนั่นแหละ เซฟมาเป็นชาติแล้วไม่รู้จักอ่าน”

ผมลองค้นไฟล์ในแฟ้ม DeLorean ดู ก็เจอจริงอย่างที่ควินน์ว่า จากนั้นจึงบอกให้ควินน์ไปพัก
ก่อนใช้เวลา 20 นาทีต่อมาในการอ่านและสรุปใจความ

– – – – – – – – –

มันแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับรถที่ประกอบออกจากโรงงาน และผ่านการตรวจสอบ
คุณภาพที่หน้างานมาในระดับหนึ่งแล้ว ถึงแม้เราจะรู้กันว่า DeLorean Motor Cars Limited สร้าง
โรงงานของพวกเขาภายในเวลา 28 เดือนและมีเวลาน้อยมากในการฝึกคนงานท้องถิ่นในการ
ประกอบรถยนต์ คนงานชาวไอร์แลนด์เหนือนั้นถึงแม้จะไม่เคยผ่านงานประเภทนี้มาก่อน แต่ก็เป็น
แรงงานที่มีความรับผิดชอบสูง รักในงานที่ทำ

“ไม่รักแล้วจะเอาอะไรกิน? ก่อนหน้านี้ไม่มีจะกินมาเป็นชาติ มีโรงงานเดียวมาตั้ง แถมให้ค่าตอบ
แทนดี ใครจะอ้าปากบอกว่าไม่รัก ใครจะกล้าทำงานแบบชุ่ยๆในเมื่อมีตา Don Lander เดินทำหน้า
ยังกะว้ากเกอร์ปี 3 ไปทั่วโรงงานอยู่ตลอดเวลา” ควินน์พูด

“ถ้ามันไม่กล้าทำงานชุ่ยๆ แล้วไอ้ Defect ที่ผมรวมได้ 30 รายการนี่คืออะไรล่ะ?”
“ก็..Don Lander ไม่สามารถอยู่ทุกแผนกทุกที่ทุกเวลาได้พร้อมๆกัน..มั้ง? ไหนเราลองมาดูซิว่า
คุณได้อะไรมาบ้าง”

ผมเริ่มอ่านทีละรายการ โดยมีควินน์ให้ความรู้เสริมไปด้วย

“1. ปรับตั้งชุดคันชักคันเกียร์ใหม่”
“คันชักประกอบมาไม่ถูก เวลาเข้าเกียร์ 1,3,5 หัวเกียร์จะยันคอนโซลเหมือนรถจีนยุคยังไม่พัฒนาน่ะ”

“2. ไม่ได้ไล่ลมในระบบเบรก”
“อาการคือเหยียบแล้วเบรกจมหายทั้งแป้นไง แล้วก็เบรกไม่อยู่ด้วย”

“3. หม้อน้ำรั่ว
4. สายไฟเก็บไม่เรียบร้อย บางช่วงเสียหายจะสามารถแตะกับตัวถังและช็อต
5. เบาะนั่งชำรุด”
“ตัวเบาะมีโครง Support หลังไม่แข็งแรงพอ พอเจอคนขับน้ำหนักมากหน่อยมันก็แตก บางที
ก็เฟืองแตก เบาะล็อคไม่อยู่ เอนเลยป้ายไปเลย”

“6. กันชนติดตั้งมาเอียง/ระยะห่างเกินมาตรฐาน
7. ซีลฝากระโปรงไม่สนิท, ติดตั้งผิดวิธี, ไม่ได้ลงแนวซิลิโคน, น้ำรั่วเข้า
8. เสา A และ B-Pillar (วัสดุภายในติดตั้งไม่สนิท) แผงปิดเสา B จะเผยอออกและยัดกลับเข้าไปไม่ได้
9. ซีลขอบประตูติดตั้งไม่ถูกวิธี น้ำรั่วเข้า
10. ติดตั้งประตูไม่ตรงแนว เปิดปิดยาก และน้ำรั่ว”
ควินน์บอก “จริงๆจะรวบไปเลยก็ได้นะ รั่วทั้งคืน รั่วทั้งวัน รั่วทั้งคัน ปัญหาคลาสสิค โดนเกือบทุกคัน”

“11. น็อตที่ขันในห้องเครื่องหลายตัวเป็นสนิม
12. โครงสร้างส่วนที่เป็นไฟเบอร์บางส่วนมีรอยแตกเนื่องจากการขันติดตั้งอุปกรณ์ใช้
แรงขันเกินกำหนด
13. ตัวล็อคประตูชำรุด ใช้การไม่ได้”
“ไอ้ตัวล็อคประตูชำรุดนี้พูดง่ายๆเลยนะว่าพบเกือบทุกคัน ประมาณ 90% ของรถที่ผลิตและกว่าจะแก้ได้
แบบถาวรก็ต้องรอข้ามปีไปเลย”

“14. สวิตช์กระจกมองข้างปรับไฟฟ้าชำรุด (ปรับได้แค่บางทิศทาง)
15. ซีลกรอบยางด้านในของประตูชำรุด”
“ไอ้นี่ช่วงแรกๆไม่ค่อยเจอหรอก พอลูกค้าเอาไปขับเปิดปิดๆประตูบ่อยๆก็ชำรุดหมด เป็นทุกคัน”

“16. ใส่ที่ปัดน้ำฝนไม่ถูกล็อคเฟือง (ก้านปัดทำมุมสูง/ต่ำกว่ามาตรฐาน) พบใน 40%
ของรถทั้งหมด
17. สติกเกอร์ต่างๆลอก หรือเคลื่อนออกจากจุดเดิมจากปัญหาคุณภาพกาว (โดนทุกคัน)
18. สายพานขับไดชาร์จ (อัลเทอเนเตอร์) หลวมโพรก”

“เรื่องไดชาร์จนี่มีฮากว่านี้อีก เดี๋ยวค่อยมาเล่า ต่อ ต่อ”

“19. ฝาครอบคอยล์จุดระเบิดปิดมาไม่สนิท
20. เข็มขัดนิรภัยดึงออกมาแล้วไม่คืนตัว เพราะชิ้นส่วนของจุดยึดด้านบนหลุดไปขัดทาง
(พบใน50%ของรถที่ผลิต)
21. กรอบหน้าปัดหลวม หลุดออกจากตำแหน่งที่ติดตั้ง
22. หัวฉีดน้ำล้างกระจกใช้การไม่ได้ หรือฉีดแล้วไม่พุ่งไปที่กระจก
23. เซนเซอร์วัดแรงดันน้ำมันเครื่องบกพร่อง
24. เก็บสายไฟใต้คอนโซลไม่เรียบร้อย สายไฟห้อยต่องแต่งออกมา
25. มอเตอร์พัดลมแอร์สะท้าน (พบในรถจำนวนน้อย)
26. แม่แรงหลุดออกจากแท่นยึด (โดนทุกคัน)”
“อันนี้แก้ง่าย แท่นยึดมันหนีบแรงไม่พอ เขาเลยเจาะรูใส่สลักยึดมันไว้ ใช้เวลาหน่อยแต่แก้ได้”

“27. มีคราบกาวเหนียวบริเวณแถบกันกระแทกข้างตัวรถและล้างออกได้ยาก
28. มีร่องรอยความเสียหายและรอยขูดขีดภายในรถซึ่งเกิดจากขั้นตอนการประกอบ
29. กระจกกดแล้วไม่ลง
30. ตั้งรางกระจกมาไม่ถูกต้อง ทำให้กระจกหล่น หรือขัดราง”

“ไอ้ปัญหาเรื่องกระจกไฟฟ้านี่โดนซะ 70% ของรถทั้งหมด ไม่ใช่แค่ล็อตแรกนะแต่รวมไปถึงรถที่
ผลิตไปจนสิ้นปีเลยทีเดียว กดไม่ลง หรือพอลงแล้วก็ไม่ขึ้น”

ผมรู้สึกว่าปัญหาของ DeLorean นั้น ไม่ใช่แค่ประกอบไม่เป็น แต่มันคือการรวมเอา “พรนรก”
ทุกอย่างที่ไม่พึงประสงค์ในการประกอบรถยนต์มารวมกันไว้ในที่เดียว หลายเรื่องดูเหมือนจะ
เป็นความบกพร่องของอุปกรณ์จากซัพพลายเออร์ แต่บางอย่างเช่นลืมไล่ลมเบรกนี่คือ…
หมดคำถาม หมดทุกคำจริงๆ DMCL จ้างใครไว้ทำงานฝ่ายตรวจสอบคุณภาพที่โรงงานกันแน่?
ถ้าบุคลากรด้านตรวจสอบคุณภาพมีมากพอ และทำงานอย่างเข้มงวดมากพอ บางสิ่งที่
ชวนขวัญผวาคงไม่ถูกปล่อยให้เล็ดรอดมาถึงอเมริกาได้

zdmc003R

รถเหล่านี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของ Dick Brown เพราะในท้ายที่สุด รถล็อตแรกเกือบทุกคัน
ต้องถูก “รื้อแล้วประกอบใหม่หมดทั้งคัน!” มันไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องความล่าช้าในการนำรถส่ง
โชว์รูม แต่ยังกลายเป็นคอขวด..เป็นจุดติดขัดในขั้นตอนระหว่างการผลิตจนถึงการจำหน่าย
เพราะรถบางคันนั้นต้องใช้เวลาในการรื้อและประกอบใหม่ รวมเป็นเวลา 140 ชั่วโมงแรงงาน
(Man Hour) หรือพูดภาษาคนทั่วไปคือใช้เวลานานมากกว่าจะทำรถคันหนึ่งให้อยู่ในสภาพ
พร้อมใช้งาน จำหน่ายออกไปแล้วไม่เสียหมานั่นเอง

 

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือค่าใช้จ่าย เพราะในช่วงแรกเริ่ม ฝ่ายบริหารย่อมต้องเอาเงินทุนไปลงกับ
โรงงานและสายการผลิต (ไม่นับที่ John เอาไปโปรยเล่นกับการซื้อธุรกิจรถแทร็กเตอร์, น้ำหอม, แว่น
กันแดด กับบริการที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาภาพลักษณ์แบรนด์) น้อยคนจะคาดคิดว่าเมื่อรถออกจากโรงงาน
มาแล้วยังจะมีปัญหาเกิดขึ้นกับรถอีก หน่วยงาน QAC-Quality Assurance Center ของ Dick Brown
นั้นไม่ได้รับการเผื่องบประมาณไว้ตั้งแต่แรก แต่หลังจากที่มีการสรุปรายงานความบกพร่องและ
ห่วยแตกขั้นมารของรถล็อตแรก พวกเขาก็พบว่ารถบางคันนั้นต้องใช้ค่าจ้างแรงงาน/เครื่องมือ/อะไหล่
คิดแล้วเป็นเงินถึง 2,000 ดอลลาร์ ส่วนอีกหลายคันที่เหลือนั้นไม่ใช่ก็ใกล้เคียง ไม่มีรถคันไหนเลยที่
สามารถผ่านด่านของ QAC ไปโดยไม่ต้องปรับปรุงหรือซ่อมแซมส่วนใดเพิ่ม

และในภายหลัง งานแก้ไขปัญหาของหน่วย QAC นี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล
จนส่งผลกระทบต่อเงินหมุนเวียนของ DeLorean Motor Company แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของ Brown
เขาพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้รถทุกคันที่ผลิตออกมานั้นสามารถขายได้ แต่เขาก็มัก
จะโดนวิจารณ์ในระหว่างการประชุมเสมอว่าหน่วยงานนี้ใช้เงินมากเกินความจำเป็น

กำลังใจของ Brown นั้นดีเยี่ยม น้อยคนจะทราบว่าแม้จะคงยศเป็นรองประธานฝ่ายปฏิบัติการฝั่งอเมริกา
แต่เขาถูก John ถอดชื่อออกจากคณะกรรมการบริหารตั้งแต่ต้นปี 1981 แล้วถูกแทนที่ด้วย Cristina
(เมีย John) และนักบัญชีกับทนายอีก 2-3 คน แต่ Brown ยังยืนหยัดทำหน้าที่รองฯฝ่ายปฏิบัติการต่อ
อย่างไว้ลายเสือ พลังคอสโม่ทุ่มเทให้กับงานด้านคุณภาพและการขายอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ดีแล้วเพราะ
อย่างน้อยเขาก็มีส่วนในการ “ลดความทุกข์” ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเจ้าของ DMC-12 ลงไปได้มาก
เพราะถ้าไม่ใช่ว่าทุ่มเทดูแลการแก้ไขปัญหานี้เต็มที่ DeLorean ก็คงจะถูกประณามจากสังคม
จนไม่ต้องพึ่ง Facebook หรือเพจ Youlike ในการให้ลูกค้ารวมหัวกันสาปแช่งส่งแบรนด์ลงสู่ห้วง
แห่งความฉิบหาย

“โอ้ เปล่าหรอก” ควินน์เหมือนจะรู้ทันอะไรบางอย่าง “เคยเจอมั้ย? ช่วงเวลาของชีวิตที่ปัญหา
ทุกอย่างมาพร้อมๆกันโดยมิได้นัดหมาย?”

“เคยสิ..ประจำแหละ เกิดเรื่องแย่ๆขึ้นกับชีวิต พอเราคิดว่ามันไม่น่าจะแย่ไปกว่านั้นแล้ว
เรื่องที่แย่กว่าก็ตามมาอีกจนไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะมีอะไรซวยซ้ำซวยซากได้มากกว่านั้นอีกแล้ว”ผมตอบ

“นั่นล่ะคือสิ่งที่ผมกำลังจะบอก ถ้า DeLorean เป็นคน มันก็จัดว่าเป็นคนที่ซวยซ้ำซากได้แบบนั้น
เพราะในขณะที่รถล็อตแรกยังมาไม่ถึงอเมริกานั้น เคราะห์กรรมอีกอย่างกำลังก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ
ณ ที่แห่งหนึ่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังที่ซึ่งพวกเขาผลิตรถเหล่านั้นขึ้นมานั่นแหละ”

….

 

CHAPTER 8: ระเบิดขวด ไฟ และภัยการเมือง

การเมือง ศาสนา และลัทธิความเชื่อ คือสิ่งที่สามารถทำได้ทั้งหล่อหลอมให้เป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกัน และทำลายสิ่งที่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ

เรื่องนี้ ผู้บริหารของ DMCL ที่ไอร์แลนด์เหนือทราบดี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขา
สร้างกฎระเบียบในการแสดงออกเกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้อย่างรัดกุมและบังคับใช้อย่างเข้มงวด
โดยมีบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง โดยนโยบายสำหรับพนักงานที่ทำงานภายในบริษัท
ทุกคนก็คือ

1. ห้ามพูดถึงเรื่องความเชื่อทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน
2. ห้ามมิให้สวมใส่เสื้อผ้า สร้อย กำไล หรือของตกแต่งอื่นๆที่เป็นสัญลักษณ์แสดงแทน
แนวคิดความเชื่อทางศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง

มันเป็นข้อห้ามที่ค่อนข้างลิดรอนสิทธิเสรีภาพอยู่บ้าง ถ้าเปรียบเป็นกรณีปัจจุบันก็คงเทียบได้
กับการที่เจ้านายของคุณห้ามใส่เสื้อสีเหลืองและแดงมาทำงาน…แต่มันก็ได้ผล เพราะภายใน
โรงงานแห่งนี้ ชาวคอธอลิกจาก Twinbrook และโปรเตสแตนท์จาก Seymour Hill ทำงานร่วมกัน
พวกเขาเดินเข้าโรงงานจากคนละประตู แต่เมื่ออยู่ในเขตโรงงาน ไม่มีใครรู้เบื้องหลังของ
กันละกัน จับมือ เปลี่ยนกะ และช่วยกันทำงานจนหลายคนเลิกสนไปแล้วว่าใครเด็กพรรคไหน
ที่นี่มีแต่งาน โอกาส และเงิน มันคุ้มค่าเกินกว่าจะทะเลาะกันเพื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อ

แต่สัมพันธภาพที่เพิ่งจะก่อร่างได้ไม่นานด้วยการมาของ DMCL กำลังจะสั่นคลอน
ทั้งๆที่รถล็อตแรกยังไปไม่ถึงอเมริกาเสียด้วยซ้ำไป!

จากใจกลางกรุง Belfast ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 14 ก.ม. มีเรือนจำแห่งหนึ่งซึ่งรู้จักกันในชื่อ
H Blocks หรือชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ Maze Prison ซึ่งแปลงสถานที่จากฐานทัพอากาศ
อังกฤษเก่าเป็นสถานที่คุมขังนักโทษกลุ่ม IRA และพวกที่ฝักใฝ่สาธารณรัฐไอร์แลนด์
ชื่อ H Blocks นั้นก็มาจากรูปทรงของอาคารซึ่งเมื่อมองจากทางอากาศแล้วจะเห็นเป็น
รูปตัว H นั่นเอง

 

H Blocks เป็นที่ซึ่งมีเรื่องราวของความรุนแรงเกิดขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่เริ่มต้นในฐานะค่ายกักกัน
ในปี 1971 หลายต่อหลายครั้งมักมีการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ถูกคุมขังกับผู้คุมนักโทษ ไม่ว่าจะ
เป็นการทำร้ายร่างกายจริงๆ หรือการยัดข้อหาเพื่อปลด “สิทธิภาพพิเศษ” จากนักโทษผู้นั้น
สิทธิภาพพิเศษคือกฎที่บังคับใช้กับกลุ่มนักโทษ IRA และระดับหัวโจกหลายคน ซึ่งจะได้รับสิทธิ์
ให้สามารถเดินไปมาหาสู่กับเพื่อนร่วมคุกคนอื่นๆได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังสามารถคุยกับญาติๆ
และมิตรสหายที่มาเยี่ยมได้นานและบ่อยกว่านักโทษธรรมดาทั่วไป การแต่งกายของนักโทษกลุ่มนี้
จะเป็นอะไรก็ได้ เพราะไม่ต้องถูกบังคับให้ใส่ชุดนักโทษ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่านักโทษที่มีสิทธิภาพ
พิเศษนี้แทบไม่ต่างอะไรกับคนธรรมดาหรือนักเรียนที่โดนกักบริเวณในห้องดัดนิสัยของโรงเรียน
พวกบรรดาฝรั่งนั่นเอง

แต่แล้วในปี 1976 รัฐบาลอังกฤษก็ถอนสิทธิภาพพิเศษนี้จากนักโทษทีละราย ทำให้เกิดการ
ประท้วง ไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับผู้คุม แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษ
จะนิ่งเฉยในช่วงแรกๆ แต่ก็ทำเป็นแสดงท่าทีผ่อนปรนในภายหลัง อาจเป็นเพราะว่านอกเรือนจำไป
ยังมีสมาชิก IRA และกลุ่มสนับสนุนที่เคลื่อนไหวโดยพยายามใช้การรายงานข่าวจากสื่อมวลชน
และป้อนข่าวให้ร้ายแก่รัฐบาลอังกฤษเพื่อหวังให้นานาประเทศร่วมกันคว่ำบาตรอังกฤษ
ดังนั้นการเคลื่อนไหวแต่ละอย่างจึงต้องระมัดระวัง บางทีก็ใช้วิธีให้ผู้คุมพูดจายียวนกวนนักโทษ
จนบันดาลโทสะเกิดการชกต่อยชุลมุน และถือการวิวาทเป็นเหตุในการเพิกถอนสิทธิภาพพิเศษ
ของนักโทษเป็นรายๆไป

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับ DeLorean อย่างไรล่ะ? แน่นอน เมื่อความวุ่นวายเริ่มก่อตัวใน H Blocks
ตั้งแต่ปี 1976 นั้นโรงงาน DeLorean ยังเป็นวุ้นอยู่เลย แต่เมื่อโรงงานสร้างเสร็จ และอยู่ในช่วง
ที่กำลังพยายามเร่งงานสุดฝีมือเพื่อประกอบรถคันแรกให้ทันนั้น นักโทษในเรือนจำ Maze นั้น
ก็เริ่มประท้วงเพื่อทวงคืนสิทธิภาพพิเศษอีกครั้ง แต่รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนาง Margaret
Thatcher ไม่ใจดีเหมือนพรรคแรงงานที่ผ่านมา จึงปฎิเสธคำร้องขอจากนักโทษ

zdmc010

Bobby Sands เป็นนักโทษหนุ่มวัย 26 ปี ซึ่งก่อคดีอุกฉกรรจ์เอาไว้และเป็น IRA หัวโจกที่
เคยเดินเข้าคุกมาแล้วครั้งหนึ่ง เขาถูกจับเพราะร่วมกับสมาชิก IRA วางระเบิดร้านค้า
เฟอร์นิเจอร์ในเมือง Dunmurry และถูกตัดสินให้ชดใช้ความผิดในเรือนจำเป็นเวลา 15 ปี
Sands มีประวัติการใช้ความรุนแรงหลายครั้ง และมักเป็นคนร่วมมือวางแผนในการ
ก่อการร้ายภายในเขตเมือง Belfast และเมืองใกล้เคียง แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในคุก เขากลับกลาย
เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจากบทความที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ Republican News รวมถึง
บทกวีและเพลงต่างๆที่เขาแต่งเอาไว้

เมื่อรัฐบาล Thatcher ปฎิเสธข้อเรียกร้อง Bobby Sands จึงเริ่มการประท้วงอดอาหาร
ในวันที่ 1 มีนาคม 1981 หลังจากที่เกิดข่าวรั่วออกไปจากเรือนจำเรื่องการประท้วงของเขา
ก็มีสมาชิก IRA และผู้สนับสนุนรายอื่นประท้วงตามกันมาอีก 9 คน จนทำให้เป็นที่สนใจ
ของสื่อมวลชนในการทำข่าว Bobby Sands กลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลกด้วยฤทธิ์
ของสื่อมวลชนและภาพของการประท้วงอหิงสาที่สั่นคลอนภาพลักษณ์ของรัฐบาลอังกฤษ
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อผู้แทนสภาประจำเขต Fermanagh and South Tyrone ของไอร์แลนด์เหนือ
เกิดหัวใจวายสิ้นชีพกะทันหัน ก็มีผู้สนับสนุนส่งชื่อ Bobby Sands เข้าเป็นผู้สมัครเลือกตั้ง
ซึ่งในการเลือกตั้งวันที่ 9 เมษายน เขาชนะคะแนนคู่แข่งไปประมาณ 1,400 เสียง ได้รับเลือก
ให้เป็นผู้แทนในสภาที่หนุ่มแน่นที่สุดในขณะนั้น แต่เพราะการมีสถานภาพเป็นนักโทษ ทำให้
รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธชัยชนะของเขา

และในที่สุดวันที่ 5 พฤษภาคม 1981 หลังจากอดอาหารมาได้ 66 วัน Bobby Sands
ก็สิ้นใจลงภายในเรือนจำ H Blocks นั่นเอง

แล้วทายสิ..ว่าบ้านของ Bobby Sands อยู่ไหน?

“Twinbrook” เสียงของควินน์ดังขึ้น “แน่นอนว่าความวุ่นวายโกลาหลเกิดตามมา เมื่อผู้นำ
ทางจิตวิญญาณที่เป็นเสมือนศูนย์รวมและพลังของชุมชนสิ้นชีพลง และโดยเฉพาะเมื่อ
เป็นเขตที่มีความเปราะบางพร้อมแตกหักได้อย่างเมือง Dunmurry ยิ่งสามารถขยายวง
ลุกลามได้อย่างน่ากลัว เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่มีการประกาศข่าวการเสียชีวิตของ
Bobby Sands ก็เกิดความวุ่นวายไปทั่วตั้งแต่เรือนจำ H Blocks ไปจนถึง Belfast
ผู้คนออกมาประท้วงและก่อความวุ่นวายตามท้องถนน มีคนส่งนมชาวโปรเตสแตนท์
กับลูกชายอายุแค่ 14 ปี นั่งมาในรถส่งนมด้วยกันนี่ล่ะ อยู่ผิดที่ผิดเวลาอย่างน่าสงสาร
พวกเขาถูกรุมขว้างด้วยหินและสิ่งของต่างๆจนเสียชีวิตทั้งคู่”

zdmc009

ส่วนที่โรงงานของ DeLorean ได้รับผลกระทบแทบจะในทันทีเช่นกัน กลุ่มคาธอลิก
หัวรุนแรงขโมยรถมาคันนึงแล้วก็ขับพุ่งชนประตูด้านนอกสุดเข้ามาในเขตโรงงาน
โชคดีว่ามีประตูชั้นในอีกชั้นหนึ่งซึ่งแข็งแรงกว่าประตูด้านนอก เป็นตัวกันระหว่าง
กลุ่มก่อจลาจลและพนักงานนับพันข้างในโรงงาน กระนั้นก็ยังมีการสร้างความไม่สงบ
การกดดันในรูปแบบต่างๆ เช่นรวมกลุ่มกันเอาฝาถังขยะมาตีกับกำแพงพร้อมๆกันทีละ
หลายร้อยฝา นอกจากนี้ยังมีการจุดระเบิดเพลิงโยนเข้ามาในเขตโรงงาน ซึ่งเป็นลานจอดรถ
ที่ประกอบเสร็จแล้ว กับอาคารส่วนหน้าซึ่งยังใช้เป็นที่เก็บเอกสารจำนวนมาก ตัวอาคาร
ถูกไฟไหม้ และในระหว่างที่หลายคนกำลังแตกตื่น พนักงานชื่อ Neal Barclay แสดง
สปิริตซูเปอร์มดงานด้วยการคว้ากุญแจและเลื่อนรถ DeLorean ที่จอดอยู่ตรงลานหลบ
พ้นวิถี Molotov Cocktail (ระเบิดขวด) ทีละคัน พนักงานคนอื่นๆก็มาช่วยกันทั้งเลื่อนทั้งเข็น
หลบจนในที่สุดกลุ่มพนักงานใจกล้าเหล่านี้สามารถปกป้อง DeLorean ที่ประกอบเสร็จแล้ว
ไว้ได้ทั้งหมด พูดง่ายๆคือไม่มีรถได้รับความเสียหายแม้แต่คันเดียว!

“หลังจากนั้นเช้าวันต่อมาก็มีบาทหลวงจากโบสถ์คาธอลิกใน Twinbrook มาช่วยเคลียร์ให้”
ควินน์เสริม “ท่านบอกว่าการก่อวินาศกรรมนั้นเป็นฝีมือของพวกวัยรุ่นหัวรุนแรง แต่ชาว
Twinbrook ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นชอบกับวิธีการนี้ พวกเขายินดีที่จะทำงานที่ DMCL ต่อไป
และไม่ได้อยากให้เกิดสิ่งร้ายใดๆกับโรงงาน แม้จะคุยกันจบด้วยดีก็เท่านั้น..ในช่วงเดือน
สองเดือนต่อมาโรงงาน DMCL ก็โดนระเบิดขวดถล่มราวสิบครั้ง และมีการบุกรุกของ
พวกผู้ชุมนุมอีก 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โอ้ยคุณเอ้ย นึกสภาพดิว่าคนกำลังเร่งทำงานให้ทัน
ตามกำหนด แล้วมีเรื่องบ้าบอแบบนี้เกิดขึ้น มันน่าเห็นใจนะที่ทุกอย่างเกิดขึ้นในช่วงเวลา
ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด”

ที่น่ากลัวคือ Bobby Sands ไม่ใช่ผู้ประท้วงอดอาหารเพียงคนเดียว ยังมีอีกเป็นสิบ
นอนรอความตายอยู่ในคุก และลำพังแค่ Sands สิ้นชีพคนเดียวก็ส่งผลกระทบมากแล้ว
การขาดงานเริ่มปรากฏบ่อยครั้ง และในที่สุด พนักงานแต่ละคนก็ได้รู้ว่าใครเป็นพวกไหน
จากการขาดงานครั้งนี้นั่นเอง แผนกที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือแผนกที่สร้าง Black cars
หรือโครงรถที่ขึ้นรูปด้วยไฟเบอร์กลาส  โดยในช่วงแรกๆ ยังมีพนักงานแอบโดดงานไม่มาก
แต่เมื่อผ่านไปนานวันเข้า จำนวนพนักงานที่เหลือก็เริ่มร่อยหรอลงทุกที มากจนกำลังการผลิต
ลดลงเหลือแค่วันละไม่กี่คันเท่านั้น ทำให้ Donald Lander ต้องเรียกประชุมทีมด่วนและ
มอบหมายให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอย่าง Myron Stylianides ไปหาทางจัดการแก้ปัญหานี้ซะ
นอกจากนี้ยังสั่งให้ทีมดำเนินการสรุปความเสียหายเพื่อรายงาน John DeLorean ที่อเมริกา

ความเสียหายที่เกิดก็คือเสียอาคารไม้ไป 1 หลัง เอกสารเกี่ยวกับพนักงานและทรัพยากรบุคคล
ส่วนหนึ่งถูกไฟเผามอดไปหมด ซึ่งสิ่งที่ทีมงานไอร์แลนด์เหนือสรุปไปนั้นระบุว่าเอกสาร
หลายอย่างสามารถทำขึ้นมาใหม่ได้ ส่วนเอกสารที่เกี่ยวกับพิมพ์เขียวและอะไหล่ส่วนต่างๆ
ก็มีทำสำเนาเอาไว้ที่สำนักงานจัดซื้อหมด ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อมีการแถลง
ต่อสื่อมวลชนและรัฐบาลอังกฤษ กลับมีการระบุว่าเอกสารทางการเงินจำนวนมากถูกไฟไหม้ไปด้วย
Donald Lander ก็รับลูกจาก John ในการแถลงข่าว และใช้เหตุผลจากความไม่สงบดังกล่าว
ในการขอเลื่อนกำหนดการต่างๆที่สัญญาไว้กับรัฐบาลอังกฤษพร้อมทั้งขอเงินชดเชย
ค่าเสียหายอีก 7 ล้านปอนด์ ซึ่งเรื่องนี้ ทุกคนที่ได้รับรู้ถึงความเสียหายที่แท้จริงก็ทราบกัน
ว่าเป็นตัวเลขที่ “โอเวอร์มาก” ความเสียหายจริงนั้นไม่กี่แสนปอนด์

เท่ากับว่าระเบิดเพลิงลูกที่ขว้างโดนอาคารหลังนั้น เพิ่มอำนาจในการต่อรองให้กับ DeLorean
และจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียักยอกเงินจากคำกล่าวอ้างที่ว่าเอกสารทางการเงินถูกเผา
เรื่องทั้งหมดจะแดงภายในไม่นานนับจากนี้!

ส่วนเรื่องการจัดการกำลังคนนั้น Myron Stylianides ร่วมกับตำรวจและผู้คุมเรือนจำ
ในการวางแผนการรับมือ ผลออกมาก็คือ พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการเอารายชื่อของผู้ประท้วง
อดอาหารทั้งหมดมาดู แล้วจากนั้นก็คาดคะเนว่าคนเหล่านั้นจะเสียชีวิตลงในวันไหน
เพื่อที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงที่ไม่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตให้มากขึ้น ชดเชยกับการขาดงาน
ในวันที่มีผู้ประท้วงเสียชีวิต หรือวันที่มีการจัดงานศพขึ้น โดยแผนกขึ้นรูปบอดี้คือแผนก
ที่มักประสบปัญหามากที่สุด ทางทีมบริหารจึงให้เร่งการผลิตบอดี้ด้วยขั้นตอน VARI นี้และ
สต็อกเก็บบอดี้ที่ผลิตเอาไว้ในโรงผลิต ในยามที่แรงงานขาดแคลนก็ยังสามารถส่งบอดี้
ต่อไปให้แผนกอื่นประกอบต่อได้

zdmc012

งานศพของ Bobby Sands มีผู้มาร่วมงานมากมายจนนับไม่ถ้วน ถ้าดูจากในภาพ
ก็คงไม่แปลกใจเลยที่ในวันงานนั้นพนักงานในโรงงานที่ DMCL จะหายไปเกือบครึ่ง

เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น Francis Hughes ผู้ประท้วงอีกคนก็สิ้นใจลง คราวนี้การ
ประท้วงดูจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ในวันงานศพของ Hughes มีกลุ่มวัยรุ่น IRA ตั้งขบวนรถยนต์
ปิดท้ายเข้าออกโรงงานฝั่ง Twinbrook เพื่อห้ามไม่ให้แรงงานคาธอลิกเข้าไปทำงานในวันดังกล่าว
ซึ่งคนงานหลายคนที่ไม่ได้ต้องการร่วมพิธีศพ ก็ต้องถูกบังคับให้ไปร่วมอย่างไม่สมัครใจ
บางคนที่เจ้าปัญญาหน่อยก็กลับไปบ้าน เปลี่ยนเป็นชุดลำลองแล้วแอบเดินไปเข้าโรงงานที่ประตู
ฝั่ง Seymour Hill (ซึ่งที่นั่น IRA ยังไม่กล้าเข้าไปเพราะมีชาวโปรเตสแตนท์อยู่เพียบ) หรือถ้า
หลบด่าน IRA ไม่พ้น ก็จะใช้วิธีบอกว่า “แวะเข้ามาเอาของในโรงงาน เดี๋ยวจะไปร่วมพิธีศพ”
ซึ่งหลายคนก็ใช้วิธีนี้ผ่านพ้นมาได้

จากวันนั้นเป็นต้นมา ความรุนแรงก็มีแนวโน้มจะทวีคูณ รัฐบาลอังกฤษแอบส่งทหารบก
ติดอาวุธจำนวน 200 คน แอบเข้ามายังโรงงานผ่านทาง Seymour Hill และใช้โรงประกอบ
ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ในการกำบังไม่ให้คนฝั่ง Twinbrook กับพวก IRA เห็น เพียงไม่กี่นาที
ทหารก็เข้าประจำตามจุดต่างๆในโรงงานและอาคารสำนักงาน หลายต่อหลายครั้งที่ผู้ชุมนุม
ประชิดเข้ามาใกล้จนถึงกำแพงรอบในของอาคาร มีหัวโจกกลุ่มมาพร้อมเครื่องขยายเสียง
ตะโกนลั่นทุ่งเพื่อปลุกเร้าให้พนักงานที่เป็นชาวคาธอลิกออกมาร่วมประท้วงด้วยกัน
พลางสั่งให้ผู้ประท้วงคนอื่นๆอีกนับร้อยกดดันด้วยการเอาฝาถังขยะตีกับรั้วหรือกำแพง
เพื่อเป็นการกดดัน และไม่กี่เมตรหลังแนวของผู้ประท้วงไปนั้นก็มีสื่อมวลชนทั้งจากในประเทศ
และต่างชาติพร้อมกล้องตั้งไว้เตรียมตัวถ่ายฉากนองเลือดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ!

ทั้งผู้ประท้วง และสื่อมวลชน ไม่มีใครรู้หรอกว่าถ้าหากทำใจกล้าบุกตีประตูกับกำแพงเข้าไป
ทหารอังกฤษพร้อมปืนและไรเฟิลสไนเปอร์ครบมือพร้อมที่จะยิงได้ทันที

นี่คือชีวิตของชาว DeLorean ในโรงงานไอร์แลนด์เหนือ ณ ช่วงเวลานั้น นอกจากต้องทำงาน
ตามปกติภายใต้ภาวะกดดันอย่างหนักแล้ว เวลาเดินไปเดินมาในโรงงานก็ต้องคอยก้มต่ำ
ให้พ้นวิถีกระสุนที่อาจยิงจากภายนอก หรือไม่ก็ต้องเบี่ยงตัวหลบกลุ่มทหารที่ซ่อนตัวอยู่
ภายในอาคาร ทำงานไปโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ผู้ประท้วงจะบุกเข้ามาแล้วเกิดการนองเลือด
หรือเมื่อมีผู้ประท้วงอดอาหารเสียชีวิตลง วัฏจักรเดิมๆก็จะปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการ
ขาดงานของพนักงานจำนวนมาก การบุกรุกของผู้ประท้วง กับประเพณีเคาะฝาถังขยะ
และการปราศรัยของหัวโจก IRA ที่เป็นตัวปลุกการชุมนุม

“ขอบอกไว้ก่อนว่า ไม่ใช่ว่าผู้ชุมนุมปักหลักอยู่รอบโรงงานตลอดนะ เดี๋ยวคนอ่านจะ
เข้าใจผิด” ควินน์เสริมให้ “ในหลายวันของสัปดาห์ ชีวิตที่โรงงานก็จัดว่าปลอดภัยดีอยู่
อย่างน้อยก็มีทหารทั้งกองพลซุ่มคอยเป็นการ์ดให้อยู่ข้างใน”

แต่ในขณะที่เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ดูเหมือนพระเจ้าแห่งความสงบกำลังเข้าข้าง DeLorean
เพราะความรุนแรงเริ่มลดลงเรื่อยๆ การขาดงานก็ลดลง จากเดิมที่ต้องไปร่วมขบวน
แห่ศพ ในช่วงหลังๆ เมื่อมีการประกาศว่ามีผู้ประท้วงอดอาหารเสียชีวิต พนักงานที่เป็น
คาธอลิกก็จะยืนไว้อาลัยอยู่ครู่ใหญ่ๆ จากนั้นก็ทำงานต่อไป กำลังการผลิตที่เคยลดลง
ก็กลับมาอยู่ในระดับ 30-35 คันต่อวันในเดือนกรกฎาคม แล้วจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อผู้คน
เริ่มเหนื่อยล้ากับการประท้วง สื่อมวลชนก็เริ่มหมดความสนใจในการทำข่าว ความถี่
ในการถูกรบกวนขณะทำงานก็น้อยลง รัฐบาลอังกฤษก็เริ่มถอนทหารออกจากโรงงาน
โดยจะถูกเรียกใช้บริการก็ต่อเมื่อมีแนวโน้มเกิดความไม่สงบเท่านั้น

 

โลกภายนอกเริ่มต้องการข่าวใหม่ๆมาสร้างดราม่า..โลกในเมือง Dunmurry ก็ต้องเดินต่อไป
ในที่สุดการประท้วงอดอาหารก็จบลงในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง

แต่ดราม่าในชีวิตของชาว DeLorean มาอย่างไม่เคยขาดสาย…ทั้งในระหว่างการประท้วง
หรือหลังจากนั้นก็ตาม

กลับมาที่สหรัฐอเมริกา

ชายวัยกลางคนร่างผอมคนหนึ่ง ได้รับมอบรถ DMC-12 หมายเลข VIN 4523 มา
เขารู้สึกภาคภูมิใจกับรถคันนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงที่แปลกแหวกแนวหรือประตูปีกนก
ที่เปิดขึ้นอย่างสง่างาม เขาสตาร์ทรถ แล้วขับออกมา พลางเอามือลูบไล้ไปตามคอนโซลบุหนัง
กดคันเร่งฟังเสียงเครื่อง V6 ที่ไพเราะพอประมาณ..อย่างน้อยก็ดีในความคิดของเขาล่ะ

แต่แล้วไม่นานหลังจากนั้น ก็ดูเหมือนว่ารถจะเร่งไม่ขึ้น มีอาการกระตุกเป็นระยะ
แล้วท้ายสุดก็ดับลงกลางทาง เขาพยายามเปิดประตู แต่ระบบล็อคไฟฟ้าก็ไม่ทำงาน
พยายามจะเลื่อนกระจกบานเล็กลงเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่กดสวิตช์ไปเท่าไหร่
กระจกก็ไม่เลื่อนลง หากเป็นยุคสมัยดิจิตอลนี่ อย่างมากก็แค่ยกโทรศัพท์โทรหาศูนย์
หรือ LINE บอกเพื่อนให้มาช่วยเปิดรถให้ แต่ทว่าเรากำลังพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน
ปี 1981 ซึ่งโทรศัพท์มือถือยังไม่ใช่ของที่ทุกคนมีพกติดตัว เครือข่ายยิ่งไม่ต้องพูดถึง
สรุปว่าชายคนนั้นติดอยู่ในรถนานครึ่งชั่วโมงกว่าจะมีคนมาช่วยแงะออกได้ แน่นอนว่า
เขาโมโหถึงขีดสุด นี่หรือวะรถที่เพิ่งรับมายังไม่ถึงชั่วโมง!?! และบังเอิญว่าชายคนที่เรา
กำลังพูดถึงนี้คือ Johnny Carson ซึ่งเป็นเซเล็บ เป็นพิธีกรรายการ Tonight Show
และเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ให้ทุนสนับสนุน DeLorean Motor Corporation!

งานเข้าอีกตามเคย

 

ข่าวรถ DMC-12 ตายกลางทาง ถูกส่งมายังทีมของ Dick Brown เพื่อตรวจสอบสาเหตุ
ในทันที ช่างที่ดีลเลอร์ตรวจสอบก็พบว่ากำลังไฟในแบตเตอรี่หายหมด แต่พอชาร์จแบต
แล้วสตาร์ทลองวิ่งดูอีกรอบ ทุกอย่างทำงานเป็นปกติ แต่เพื่อไม่ให้โดนประจานออกสื่อ
โดยเฉพาะคนดังตัวพ่ออย่าง Carson นั้นถ้าโดนประจานทีนึงงานจะไม่จบง่ายๆแน่
ทางดีลเลอร์จึงเปลี่ยนไดชาร์จลูกใหม่ที่มีสต็อกอยู่ให้ในทันที

Johnny Carson รับรถออกมา แต่เอามาใช้ได้ไม่นาน รถก็ออกอาการเดิมอีก คราวนี้
กลายเป็นเรื่องใหญ่ เซเล็บผู้กำลังหมดความอดทนโทรสายตรงไปเม้ง John แล้วจึงก่อ
ให้เกิดการทำงานแบบ Top-down (ยิงดราม่าไปที่เจ้านายระดับสูง แล้วค่อยกดดันต่อๆ
มาให้ลูกน้องเดินงานให้เร็วๆ เป็นภาษาองค์กร เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจ และซึ้งใจดี)

จากการทดสอบหาสาเหตุของทีมวิศวกร ในที่สุดก็สามารถระบุได้ว่ามาจากไดชาร์จ
Ducellier ที่ติดมากับเครื่อง PRV V6 นั้นไม่สามารถทำกำลังไฟได้มากพอเมื่อมีการเปิดใช้
ระบบไฟฟ้าทุกอย่างภายในรถพร้อมๆกัน เจ้าของรถที่ขับแค่ตอนกลางวันส่วนมากมัก
จะไม่ค่อยได้เจอปัญหานี้ แต่ถ้าขับกลางคืนหรือตอนเย็นเมื่อไหร่ล่ะก็ได้เรื่องทันที
การแก้ไขปัญหาอย่างเร็วที่ Dick Brown คิดขึ้นได้ก็คือรีบเรียกรถเข้ามาเปลี่ยนไดชาร์จลูกใหม่
โดยเปลี่ยนเป็นของ Motorolla ที่สามารถหาได้ในอเมริกา

“ลองคิดดูสิ ถ้ามีความรอบคอบในการทดสอบมากกว่านี้ หรือให้เวลาในการทดสอบ
มากกว่านี้จะเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมั้ย? นี่ล่ะคือผลของการทำงานแบบเร่งรีบไปหมดเสียทุกอย่าง
เรื่องแบบนี้ ต่อให้เป็นผู้ผลิตรถอย่าง GM หรือ Nissan โอกาสที่จะขายหน้าด้วยเรื่องง่ายๆ
แบบนี้แทบจะเป็นศูนย์” ควินน์ให้ความเห็นเสริม

 

“แล้วศูนย์ตรวจสอบคุณภาพไม่ได้ช่วยอะไรเลยหรือ เรื่องแบบนี้น่าจะตรวจเจอได้” ผมถามกลับ
“ทางพวก QAC น่ะ ลำพังแค่เอารถ DMC-12 มานั่งประกอบใหม่ทีละคันก็แทบจะไม่มีเวลา
เหลือไปทำอย่างอื่นแล้ว มันไม่ใช่ว่ารถคันนึงมี 1-2 เรื่องที่ผิดพลาด แต่มันมีจุดผิดพลาดเต็มไปหมด
ยิ่งเรื่องการหาจุดอ่อนด้านระบบไฟ ถ้าไม่ใช่ว่ามีทีมงานเอารถไปขับตอนกลางคืนสัก 15-20 นาที
บางทีอาการมันก็ไม่ออก ไฟเตือนแบตบนหน้าปัดก็ไม่ได้ช่วยนะ เพราะมันจะโชว์ก็ต่อเมื่อไม่มีการ
ชาร์จไฟ แต่นี่มีไฟชาร์จ แค่ชาร์จไม่เพียงพอต่อการแล่นเป็นเวลานานๆ แต่ก็ถูก เรื่องพวกนี้บางที
เอาเครื่องมือวัดไฟลองทิ่มดูก็รู้ แต่ด้วยกำลังคนที่งานล้นมือกันทุกคน ใครเล่าจะว่างพอมาคิดเรื่องนี้
และถ้าเราพูดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ใช่แค่เรื่องไดชาร์จนี่ บางอย่างศูนย์ตรวจสอบคุณภาพก็ไม่สามารถ
ช่วยอะไรได้เลยจริงๆ”

“เช่น?”
“ก็อย่างล้อรถไง..คุณรู้ใช่มั้ยว่า DeLorean บางคันที่ผลิตช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 1981
มีล้อหลัง 2 ข้างที่ไม่เหมือนกัน? ต้นเหตุมันเกิดมาจากกรรมวิธีการผลิตของซัพพลายเออร์
ซึ่งในขั้นตอนการหล่อน่ะ อัลลอยเหลวที่ไหลเข้าไปในแม่พิมพ์ล้อมันไหลไม่สะดวก ไหลเข้าไป
แล้วก็เกิดการเย็นตัวแล้วก็เริ่มแข็งตัวก่อน แต่พออัดอัลลอยเหลวเข้าไปเรื่อยๆในที่สุดมันก็
จะไหลจากอีกด้านเข้ามาเจอกับไอ้ตรงที่มันเย็นตัวไปแล้ว ทีนี้อัลลอยที่เริ่มเย็นตัว กับอัลลอย
ร้อนๆมาเจอกัน มันก็จะดูภายนอกเหมือนสมานติดกันดี แต่ที่จริงเนื้ออัลลอยมันไม่ได้ผสาน
เข้าด้วยกันดีเท่าที่ควร ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cold shut ซึ่งมีผลต่อความแข็งแรงของล้อ
เวลากระแทกแรงๆไอ้ส่วนที่เกิดการ Cold shut นี่ล่ะเสี่ยงที่จะแตกออกจากกันได้ เป็นไง?
เรื่องแบบนี้ QAC ที่ไหนมันจะไปตรวจให้คุณได้”

“ถ้าอย่างนี้ก็คงต้องให้ซัพพลายเออร์ทำล้อออกมาใหม่แล้วเรียกรถที่จำหน่ายไปกลับเข้ามา
เปลี่ยนล้อใหม่ ผมว่าอย่างนั้น?”

“ก็ถูกส่วนหนึ่ง ทาง DeLorean ก็ประสานงานกับซัพพลายเออร์จนในที่สุดพวกเขาต้อง
ออกแบบล้อใหม่เลย เพื่อให้อัลลอยเหลวสามารถไหลได้สะดวก ตัดปัญหาเรื่อง Cold shut
Cold shit อะไรนั่นไป จากนั้นก็เอาล้อนี่มาใส่ในรถที่กำลังผลิต” ควินน์เล่าต่อ

zdmc014

“ก็ดูเป็นการแก้ไขที่ถูกต้องแล้ว แต่ทำไมคุณบอกว่ารถบางคันมีล้อหลังด้านซ้ายและขวา
ที่ไม่เหมือนกันอยู่ล่ะ แสดงว่าไม่ได้เปลี่ยนทุกคันหรือ?” ผมถาม

“ก็ไม่ได้เปลี่ยนน่ะสิ แล้วรถที่ผลิตออกไปก่อนหน้านั้นราวพันสองพันคันก็ไม่ได้ถูก Recall
กลับมาเปลี่ยนล้อ เหตุผล? เพราะไม่มีรายงานว่ามีล้อของรถคันไหนชำรุดหรือเสียหาย
ก็เลยไม่มีการ Recall อ่ะ..เจ๋งป่ะล่ะ แล้วล้อล็อตใหม่นี่ก็ผลิตเสร็จแล้วส่งมาใส่ในสต็อก
ปะปนไปกับล้อล็อตเดิมนั่นแหละ ไม่มีการแยกความต่างกัน ดังนั้นรถบางคันก็จะแจ็คพ็อต
ได้ล้อหลังสองข้างที่ไม่เหมือนกัน แต่มันก็คล้ายกันมากจนถ้าไม่ถอดมาวางข้างๆกันแล้ว
พลิกดูหน้า-หลังก็ไม่รู้ และเจ้าของส่วนมากก็ไม่รู้ด้วย สุดยอดจริงๆ”

 

CHAPTER 9: เวลาดีมีน้อยนิด

“โอเค เรื่อง Defect อื่นๆคงไม่ต้องพูดถึง ผมเชื่อว่ามีเยอะ แล้วเรื่องอื่นๆล่ะควินน์ ผมคิดว่า
ตั้งแต่เราช่วยกันเขียนเรื่อง DeLorean มานี่ยังไม่เคยได้พูดถึงเรื่องการทดสอบของพวก
สื่อมวลชนต่างๆเลยนี่”

“ผมก็รอว่าเมื่อไหร่คุณจะถามไง เรื่องการทดลองขับนี่ตอนแรกทาง DeLorean เชิญเฉพาะสื่อ
จากฝั่งอเมริกามาลองรถนะ และไม่ให้พวกนิตยสารฝั่งยุโรปได้ลองเลยแม้แต่ค่ายเดียว
จนตอนหลังก็มี Tony Swan ซึ่งเป็นสื่อจากฝั่งอเมริกา เขียนให้ทั้ง Car and Driver, Road & Track
แล้วก็ยังส่งบทความตัวเองให้กับ CAR magazine ของทางอังกฤษด้วย ในภาพรวมแต่ละที่ก็
มีจุดตำหนิร่วมกันคือเครื่องยนต์มีกำลังไม่พอ ทาง DeLorean เคยเคลมไว้ว่าอัตราเร่ง
0-60 ไมล์/ช.ม. ใช้เวลา 8.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 135 ไมล์/ช.ม. แต่ตามที่ Road & Track
ลองจับเวลาดูกลับทำได้เร็วสุดแค่ 10.5 วินาที และกว่าจะเร่งออกตัวไปถึง 100 ไมล์/ช.ม.ได้
ก็ต้องใช้เวลา 40 วินาที และทำความเร็วสูงสุดในการทดสอบของพวกเขาได้แค่ 109 ไมล์/ช.ม.”

“นั่นมันก็ไม่ต่างอะไรกับรถบ้านเท่าไหร่เลยนี่นา รถอีโคคาร์บวกชุดแต่งแฮปปี้มีลสมัยนี้
ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดาก็สามารถทำตัวเลขแบบนั้นได้ไม่ยากเย็นเลย” ผมคิดเช่นนั้น

CnD_Comparo81

“ยังเล่าไม่จบ..ตอนหลัง Car & Driver จับ DMC-12 มาทำเทสต์หมู่กับรถสปอร์ตรุ่นอื่นๆที่ขาย
อยู่ในอเมริกาตอนนั้น สงสัยจะเป็นเพราะทดสอบในฤดูหนาวตัวเลขเลยสวยกว่า 0-60 ไมล์/ช.ม.
ได้ 9.5 วิ ความเร็วสูงสุดได้ 120 ไมล์/ช.ม. ควอเตอร์ไมล์ได้ภายในเวลา 17 วินาที ฟังดูบางคน
อาจจะบอกว่าเร็วเมื่อเทียบกับมาตรฐานรถทั่วไปของปี 1981 แต่อันที่จริงในการทดสอบของ
Car & Driver นั้น รถที่เอามาเทียบก็มี Chevrolet Corvette, Datsun 280ZX Turbo, Ferrari
308GTSi และ Porsche 911SC ซึ่ง DMC-12 นั้นเป็นรถที่ทำอัตราเร่งช่วงต่างๆได้ช้าที่สุดในกลุ่ม
คุณลองคิดดูแล้วกันว่าคุณต้องจ่าย 25,600 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกับรถที่ช้ากว่า Corvette
แบบคนละเรื่อง Corvette V8 ควอเตอร์ไมล์ได้ 15.4 วินาที ทำสลาลอมได้ด้วยความเร็วที่สูงกว่า
ระยะเบรกก็สั้นกว่า แถมยังมีราคาถูกกว่ามาก เริ่มต้นที่ 16,258 ดอลลาร์เท่านั้น”

“แต่ Corvette V8 ก็กินน้ำมันดุกว่า?”
“ถูก แต่ถ้าอยากได้ทั้งแรงทั้งประหยัด ก็ไปซบ 280ZX สิ เพราะวิ่งทางไกลเนียนๆก็ประหยัด
เท่า DeLorean ระยะเบรกสั้นกว่า สมรรถนะด้านอื่นๆก็เทียบเท่า Corvette และราคาก็ยัง
ถูก แค่ 17,500 ดอลลาร์ แต่ก็ใช่..ระหว่างรถสแตนเลสประตูปีกนก กับรถสปอร์ตจากญี่ปุ่น
ความขลังในสายตาฝรั่งมันก็คนละเรื่องกันอยู่แล้ว แต่ที่เจ็บก็คือ Porsche 911SC ซึ่งมี
ระดับความเป็นพรีเมียมสปอร์ตอยู่ในตัวแล้วยังเร่ง 0-60 ไมล์/ช.ม. ได้ใน 6.3 วินาที และเป็น
คันเดียวในกลุ่มที่ควอเตอร์ไมล์ได้เร็วกว่า 15 วิ กลับตั้งราคาเริ่มต้นไว้แพงกว่า DMC-12
แค่ 3,000 ดอลลาร์เท่านั้น ส่วน Ferrari นั่นแพงทะลุ 50,000 ดอลลาร์..คงจับตลาดคนละกลุ่ม
แต่เอามาเทียบกันขำขำน่ะแหละ”

zdmc004

“แล้วด้านอื่นเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องการบังคับควบคุมล่ะ ก็เห็นว่ามี Lotus ช่วยออกแบบผมว่า
น่าจะได้คะแนนดีนะ”

“ก็จัดว่าดีถ้าเทียบกับรถทั่วไปนะ พวงมาลัยจะหนักๆแบบรถสมัยก่อนที่ไม่มีเพาเวอร์ช่วย
แต่ก็บังคับควบคุมทิศทางได้แม่นยำและตามสั่ง น่าจะจัดว่าเป็นจุดเดียวที่ไม่ว่าใครที่ได้ขับ
จะเป็นอเมริกันหรือสื่อจากยุโรปก็พูดเหมือนกันหมดว่าพวงมาลัยเจ๋ง แต่การตอบสนองของ
ช่วงล่างจะแปลกกว่าที่คาดเพราะคนเห็นว่าเครื่อง V6 วางท้าย กระจายน้ำหนัก 35:65 ก็เดา
ว่าจะต้องสะบัดท้ายเป็นบ้าเป็นหลังแน่ แต่ปรากฏว่า DMC-12 กลายเป็นโรคหน้าดื้อ เวลา
เข้าโค้งแรงๆหน้าจะแถไปก่อนเลย แล้วท้ายรถก็ไม่ได้ปัดออกง่ายอย่างที่คิด ครั้นพอพยายาม
ทำให้ท้ายออก ก็จะออกแบบขวางลำไปเลย พูดง่ายๆแล้วกันว่าคะแนนด้าน Handling
ฝรั่งยังบอกว่า Corvette กับ 280ZX ทำคะแนนได้ดีกว่า ดังนั้นไม่ต้องไปเทียบกับ 911 หรือ
Ferrari แต่ถ้าหากวัดกันที่ความสบายเวลานั่ง คราวนี้ DMC-12 จะช่วงล่างนุ่มใกล้เคียง
Porsche 928 ซึ่งนั่นก็ทำให้มันสบายตูดกว่า 911 และดีกว่า Corvette แบบคนละเรื่อง”

 

“แล้วเรื่องอื่นๆเช่นพื้นที่ในรถกับความสะดวกสบาย?”
“ก็ดีกว่า Corvette แต่แพ้ 911 ซึ่งมีที่ให้เอนเบาะได้มากกว่าและยังมีทัศนวิสัยการขับที่ดีกว่า
DeLorean เวลานั่งจะเหมือนจมไปในตัวรถ ทัศนวิสัยด้านหน้าค่อนข้างบีบและแคบเมื่อเทียบ
กับ 911 หรือ 280ZX แต่ด้านหลังนี่สิยิ่งแย่ใหญ่ เวลาถอยรถทีแทบจะขอเปิดประตูถอย”

ผมอ่านบททดสอบจากสื่อฯอื่นๆประกอบไปด้วย ท้ายสุดก็เป็นอย่างที่ควินน์บอก
รถคันนี้ขายได้เพราะรูปทรงภายนอกเป็นหลักจริงๆ เพราะคุณลักษณะทางวิศวกรรม
และสมรรถนะที่วัดออกมาเป็นตัวเลขจริงๆไม่ได้ถือว่าดีเลย ราคาของรถก็ไม่ได้ถูก
ในอเมริกา 911 ดูเป็นรถที่ให้ความคุ้มค่าอย่างสัมผัสได้จริงจังมากกว่า (ถ้าไม่ติดขัดเรื่อง
รูปทรงที่ต่างคนจะชอบไม่เหมือนกัน) และพอสื่อมวลชนฝั่งอังกฤษได้นำรถ DMC-12
ไปลองวิ่งในอังกฤษดูบ้าง พวกเขาก็ไม่ได้ชอบ DMC-12 มากนัก โดยบอกว่า Lotus
Esprit ให้ความคล่องแคล่วในการบังคับควบคุมที่ดีกว่า และบอดี้ของ DMC-12 นั้นยัง
ให้ความรู้สึกกว้างเกินไปสำหรับถนนแคบๆอย่าง B-Road ในอังกฤษ ที่ซึ่ง Ford Capri
ตัวแคบๆจะสามารถทะยานลัดเลาะไปได้อย่างมั่นใจ

DeLorean DMC-12 ขายได้เพราะผิวสแตนเลสกับประตูปีกนก..คำพูดนี้ก็ไม่ได้
เกินเลยความจริงในเมื่อคุณสมบัติด้านอื่นเมื่อเทียบกับราคาแล้วแสนจะธรรมดา
และถ้าหากคุณคิดว่า 25,600 ดอลลาร์ยังไม่แพงพอ DeLorean ก็ยังมีวิธีให้คุณเสียเงิน
ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นโครงการ DMC-24 ซึ่งกำลังดำเนินการกันอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี
1981 ซึ่งวิศวกรยังไม่รู้จะทำยังไงกับประตูปีกนกซึ่งจะต้องยาวตั้งแต่หน้าไปถึงหลังรถเพราะว่า
DMC-24 จะเป็นรถ 4 ที่นั่ง เบาะหลังที่เพิ่มมาคือต้นเหตุที่ทำให้บานประตูต้องยาวมาก และขนาด
ประตูของ DMC-12 นั้นก็หนักข้างละ 36 กก. แล้ว ไอ้เจ้าประตูปีกนกของ DMC-24 จะหนักขนาดไหน
รถคันนี้จะถูกพัฒนาเพื่อมาเป็นรุ่นที่สูงขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งแน่นอนว่าราคามันจะแพงกว่า DMC-12

แต่ถ้าคุณไม่ต้องการรอการเปิดตัวของ DMC-24 John DeLorean ก็ยังมีไอเดียเก๋ไก๋ของเขา
ในการสร้างรถมาเอาใจคนเงินเยอะชอบของแปลกอีก มันคือ “รถทอง” นั่นเอง

zdmc011

“รถทองเป็นความบ้าบอคอแตกที่สุดอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครเข้าใจว่าจะทำไปทำไม ในเมื่อ
บริษัทก็ต้องใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังและมีปัญหาอื่นๆที่ยังเคลียร์ไม่จบกับ DMC-12
จากสายการผลิต” ควินน์ด่าก่อนเป็นการเอาฤกษ์ ผมเข้าใจว่าเขาไม่ได้ชอบ John มาตั้งแต่แรกแล้ว

“ก็มีอย่างที่ไหน พ่อเจ้าประคุณไปฟังไอเดียนี้มาจากมัณฑนากรที่คฤหาสน์ของตัวเอง แล้วก็ทำหน้า
ปิ๊งหลงรักไอเดียนี้เข้าเต็มเปา John คิดว่าถ้าเขาทำรถสแตนเลสเคลือบด้วยทอง 24กะรัตมาขาย
มันจะมีคนซื้อ ไร้สาระสิ้นดี เขาไปเจรจาธุรกิจกับบัตรเครดิต American Express แล้วทางนั้นก็
ตอบรับมาอย่างดี พวกเขาตัดสินใจทำแคมเปญร่วมกันโดยที่ลูกค้าจะต้องเป็นสมาชิกบัตรทองของ
American Express ก่อน มีเฉยๆไม่พอ ต้องมีวงเงินสำหรับการใช้จ่ายที่สูงมากด้วย เพราะวิธีที่คุณ
จะสามารถซื้อรถ Gold Car เหล่านี้ได้ก็คือต้องรูดบัตรอภิมหารวย รวย รวย ของคุณเท่านั้น”

ถูกแล้วครับ พวกเขาเลือกขายรถราคา 85,000 ดอลลาร์รุ่นนี้ด้วยการรูดบัตร John มองว่า
เป็นผลประโยชน์ร่วมซึ่ง DeLorean ก็ได้ขายรถสุดเท่ห์เก๋โกลด์เซนต์ในขณะที่ American Express
ก็ได้ประโยชน์ในการสร้างปรากฏการณ์ทางการตลาดชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน Project Brief
ถูกนำมาโปะลงบนโต๊ะประชุมโดยแจ้งว่า DeLorean จะทำรถทองออกมาสำหรับแคมเปญนี้
สัญญาต่างๆได้ถูกลงนามเอาไว้กับทาง American Express แล้ว โดยรถจะต้องถูกส่งมอบถึงลูกค้า
ภายในเดือนตุลาคม 1981

อารมณ์ของบรรดาทีมงานแทบจะหมดไปในทันใด เพราะถ้าไม่นับงานที่ทำอยู่ทุกวันซึ่งก็น่า
ปวดหัวพออยู่แล้วกลับต้องมานั่งดิ้นรนหาวิธีสานฝันบ้าบอของ John ซึ่งตอบตกลงกับทาง
American Express ไปโดยที่ไม่ได้ทำการวิจัยโอกาสในการสร้างรายได้ก่อน และไม่ต้องถามถึง
กลวิธีว่าการทำรถชุบทองสักคันนึง มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน และถึงทำได้
มันจะคุ้มค่ากับการลงทุนสำหรับบริษัทที่ฐานะการเงินยังไม่มั่นคงอย่าง DMCL หรือเปล่า
เดือนนั้นคือเดือนมิถุนายน ทีมงาน DeLorean มีเวลาไม่นานนักในการทำให้สำเร็จ

พวกเขาค้นหา..(ฟังดูเหมือนง่ายแต่อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงโลกที่ยังไม่รู้จักเว็บไซต์หรือ
Google) จนในที่สุดก็ค้นพบบริษัทเยอรมันชื่อ Degussa ซึ่งสามารถเคลือบทองคำ 24 กะรัต
ลงบนพื้นผิวสแตนเลสได้ แต่ทาง Degussa ก็มีเงื่อนไขว่า DMCL จะต้องออกค่าใช้จ่ายในการ
สร้างเครื่องมือและถังชุบขนาดใหญ่ให้กับทาง Degussa เอง เพราะงานปกติของ Degussa
ก็คือการชุบ แต่ไม่ใช่ชุบวัตถุขนาดใหญ่โตอย่างประตูหรือฝากระโปรงหน้าของรถ และถ้านั่นยัง
ไม่ยากพอ John DeLorean ยังระบุสเป็คมาด้วยว่าทองที่เคลือบจะต้องมีความหนา 2.5 ไมครอน
ซึ่งทาง Degussa ก็บอกว่าแค่เคลือบได้แล้วไม่หลุดนี่ก็แทบจะเอาไส้กรอกมากราบแล้ว
การจะทำให้ได้ความหนา 2.5 ไมครอนเป๊ะๆในทุกส่วนยิ่งเป็นไปไม่ได้ ในภายหลังจึงมีการยืดหยุ่น
ให้สามารถหนาบวก/ลบได้ 2 ไมครอนแต่ห้ามเกินนั้นโดยเด็ดขาด

หลังจากที่ลงทุนไปล่วงหน้านับแสนดอลลาร์ ในวันที่ 15 กันยายน ทีม DeLorean ก็นำชิ้นส่วนรถ
ของจริงมาลงที่โรงงานของบริษัท Holder ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Degussa ในเยอรมัน ชิ้นส่วน
แต่ละชิ้นถูกห่อหุ้มมาอย่างดี ไม่น่าจะมีอะไรพลาดแล้ว ชิ้นส่วนของรถที่เตรียมมาก็มีพร้อม
สำหรับการทดลองชุบทอง และชิ้นส่วนจริงสำหรับการนำไปประกอบเป็นรถที่ลูกค้าสั่ง
ซึ่งในการทดลองชุบช่วงแรกๆนั้น ทาง Degussa ยังมีปัญหากับการพยายามรักษาระดับความหนา
ของทองให้ได้ 2.5 ไมครอนตามที่ John DeLorean สั่งมา ของชิ้นใหญ่ๆอย่างฝากระโปรงหน้านั้น
ยิ่งมีอุปสรรคมากเพราะในขณะที่ตรงกลางฝากระโปรงนั้นชั้นทองที่เคลือบอยู่จะบางมาก แต่ตรงขอบ
ฝากระโปรง ทองจะไปสุมตัวเป็นชั้นอยู่บริเวณนั้นซึ่งความหนาของทอง ณ ขอบกระโปรงนั้นเกิน
4 ไมครอนด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ทีมงานจากทั้ง Degussa และ DeLorean ก็ทำงานร่วมกันไป
และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทีละนิด ภายในช่วงเวลาที่จำกัด

ที่บอกว่าจำกัด ก็เพราะว่าพื้นที่โรงงานของ Holder นั้นอยู่ในระหว่างหยุดพักการผลิต 7 วัน
นั่นคือเหตุผลที่ทาง Degussa สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ในการชุบทองได้โดยง่ายต่อการ
รักษาไม่ให้ความลับและกรรมวิธีการชุบรั่วไหลไปสู่บุคคลอันไม่พึงประสงค์ ช่วยไม่ได้
ถ้าไม่ต้องการให้ความลับรั่วไหล คนรู้ยิ่งต้องน้อย ดังนั้นจึงมีคนจากทาง Degussa กับ DMCL
เท่านั้นที่เข้ามาอยู่ในโรงงานกันเพียงไม่กี่คนในช่วงเวลานี้

และแล้ว ความซวยอันเป็นพรสวรรค์พิเศษของชาว DeLorean ก็บังเกิดอีกครั้ง…

 

ในขณะที่กำลังทยอยแกะชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเพื่อนำมาชุบทอง ทางทีมของ DeLorean ก็ตรวจพบว่า
มีประตูบานหนึ่งซึ่งเกิดความเสียหาย ไม่ใช่แค่รอยขีด แต่ขอบประตูโดนกระแทกจนบุบไปเลย
เคลือบไปก็ไม่สามารถกลบรอยได้ และไม่สามารถซ่อมแซมรอยดังกล่าวที่หน้างานได้แน่นอน
ร้อนถึง Nick Sutton ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานที่ถูกส่งไปดูแลการชุบวัสดุ Nick รีบโทรไปสำนักงานที่
Dunmurry เพื่อให้ส่งประตูบานใหม่มาทางเครื่องบินอย่างเร็วที่สุด แต่กว่าประตูจะมาถึงก็ปาเข้าไป
หกโมงเย็นแล้ว และวันนั้นเป็นวันศุกร์ ศุลกากรที่สนามบินในเยอรมนีปิดทำการแล้ว จะเปิดอีกครั้ง
ในวันจันทร์ ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่เซ็นอนุมัติปล่อยของ พวกเขาไม่สามารถรอถึงวันจันทร์ได้เพราะงานชุบ
ทุกอย่างจะต้องเสร็จภายในวันรุ่งขึ้นเป็นอย่างช้า

“ผมก็มองซ้ายมองขวา ไม่มีใครอยู่แถวนั้น” Nick เขียนเล่าไว้ในหนังสือ The DeLorean Story
“พอไม่มีใคร..เช็คแน่ใจแล้วว่าไม่มีใคร ผมก็..เอาสองมือหยิบประตูบานนั้นแล้วก็เดินจ้ำอ้าว
ออกมาเลย ฮ่า ฮ่า ฮ่า”

เป็นอันว่าประตูบานนั้นก็ถูกชุบจนเสร็จ ชิ้นส่วนต่างๆที่เหลือก็ถูกชุบจนเป็นสีทองอร่าม
ตรวจสอบจนผ่าน (หรืออาจจะไม่ผ่านแต่ทางทีมงานขี้เกียจที่จะมาแคะสิวกับความหนาระดับไมครอน
กันต่อไป) ชิ้นส่วนต่างๆก็ถูกนำไปใส่หีบห่อตั้งแบบพิเศษ กันกระแทกและห่ออย่างดีชนิดแม้
รถส่งของไปคว่ำกลางทางก็ห้ามมีรอยขีดข่วนบนทองเด็ดขาด

และพูดถึงคำว่ารถส่งของ นั่นก็เป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งของทีมนักสู้ชุบทอง (เลียนแบบ
“นักสู้ชุดทอง” ในการ์ตูนเซนต์เซย่า) เพราะการขนส่งทางอากาศไม่สามารถใช้ได้สำหรับสิ่งของ
ขนาดใหญ่ เนื่องจากศุลกากรปิด ถึงไม่ติดเรื่องศุลกากรก็ไม่มีใครรับประกันว่าจะรอดมั้ย
หลังจากที่ประตูปีกนกบานนึงถูกหนุ่มคนนึงยกหนีไปโดยพลการ ไม่มีใครกล้าเสี่ยง
ครั้นจะเอาใส่รถบรรทุกแล้ววิ่งไปก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะว่ากฎหมายของเยอรมันนั้น
ห้ามมิให้รถบรรทุกวิ่งสัญจรบนทางสายหลักในวันเสาร์และอาทิตย์
แล้วพวกเขาแก้ปัญหาอย่างไร?

คำตอบก็คือ เอาชิ้นส่วนชุบทองเหล่านั้น ยัดไปในรถบรรทุกผักผลไม้ที่ติดแอร์!!!

เหตุผล? แม้จะมีกฎหมายห้ามไม่ให้รถบรรทุกทั่วไปวิ่ง แต่สำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กกว่าที่ใช้
ในการขนส่งอาหารไปยังภูมิภาคต่างๆของประเทศนั้น จะได้รับการอนุโลมให้วิ่งในวันหยุดสุดสัปดาห์ได้!
และอย่างน้อยมันก็เป็นวิธีที่ได้ผลจริง เพราะรถบรรทุกคันดังกล่าวขับตีรวดจากเยอรมนี
มาจนถึงโรงงานที่ Dunmurry ได้โดยสวัสดิภาพในเช้าวันอังคาร พวกเขาเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน
ในการรวบรวมเอาชิ้นส่วนอื่นๆเช่นกันชนหน้า กรอบหน้า กรอบท้ายรถ ท่อไอเสีย และล้อซึ่งต้อง
ไปทำเป็นสีทองให้รับกับผิวของตัวรถ แล้วมาประกอบอย่างระมัดระวังในโซนจัดเฉพาะที่ห้าม
บุคคลทั่วไปเข้ามายุ่มย่าม และใครก็ตามที่ได้รับอนุญาตให้เข้าก็จะต้องถอดเครื่องประดับ
หรือวัสดุที่เป็นโลหะฝากไว้ข้างนอกทั้งหมด

แล้วพวกเขาก็ทำสำเร็จ รถทอง 2 คันถูกประกอบขึ้นและส่งไปยังลูกค้าในช่วงกลางเดือนตุลาคม
ลูกค้าคนหนึ่งอาศัยอยู่ใน San Francisco และลูกค้าอีกรายหนึ่งเป็นชาว Texas ซึ่งเปิดธนาคาร
และนำ DeLorean สีทองของเขาไปจอดโชว์ในวันเปิดสาขาธนาคารด้วย และสำหรับชิ้นส่วนอื่นๆ
ที่ได้รับการชุบทองแล้ว ทาง DMCL จะเก็บเอาไว้ในโรงงานเพื่อเป็นชิ้นส่วนสำรองสำหรับซ่อมรถ
ลูกค้าในภายหลัง

ควินน์ดูเหมือนรอจังหวะจะพูดมานานแล้ว
“โอ๋ยย ฟังดูยิ่งใหญ่มาก ผมดีใจกับทีมงานที่ทำสำเร็จได้ทั้งๆที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนนะ
แต่อย่างที่คุณแพนเดานั่นแหละ นี่เป็นงานชักเนื้อ ทำไปก็ขาดทุน John DeLorean บอกว่าจะทำรถ
แบบนี้มาขายให้ได้ 100 คัน แต่เอาเข้าจริงลูกค้าที่รูดบัตรซื้อรถทองก็มีแค่นาย 2 คนนั้นแหละ”

ในโลกนี้มีรถ DeLorean สีทองทั้งหมด 3 คัน 2 คันในนั้นคือรถของลูกค้าที่ซื้อผ่านบัตรเครดิต
ตามที่ได้กล่าวไป ส่วนรถอีกคันคือรถทองที่เกิดจากการเอาชิ้นส่วนอะไหล่เหลือๆที่ชุบทองแล้ว
มาประกอบเข้ากันจนกลายเป็นรถ DMC-12 คันสุดท้ายที่ออกจากโรงงาน

“เงินที่จ่ายสำหรับการเอาเปลือกนอกของรถไปชุบทองเป็นพาร์ทสำหรับรถ 3 คัน หมดไป
133,000 ดอลลาร์ ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ต้องส่งให้ Degussa ไปดัดแปลงเครื่องมือสำหรับ
การชุบทองชิ้นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับชิ้นส่วนอื่นที่ต้องทำเป็นสีทอง
แบบสั่งพิเศษ ค่าจ้างแรงงานพิเศษสำหรับการประกอบ หารเฉลี่ยออกมารถทองของ
DeLorean แต่ละคันมีต้นทุนคันละ 125,000 ดอลลาร์ แล้วก็เอามาขายคันละ 85,000
ดอลลาร์ เท่ากับเอาเงินไปผลาญอีก 40,000 ดอลลาร์ต่อคันอย่างไม่เกิดประโยชน์” ควินน์ทิ้งท้าย

เดือนตุลาคม ในความคิดของ Nick Sutton เขาบอกว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ดีที่สุดของ
ชีวิตการทำงานในบริษัทนี้ DMCL สามารถผลิตรถไปได้แล้วทั้งสิ้น 4,343 คัน คิดเป็นเงินได้
76 ล้านปอนด์ พวกเขาสามารถนำเงินค่างวดส่งคืนให้กับรัฐบาลอังกฤษได้ส่วนหนึ่ง
ปัญหาต่างๆของตัวรถได้ถูกแก้ไปมากแล้ว รถที่ส่งออกไปขายก็มีปัญหาจุกจิกกวนใจ
น้อยลง ชิ้นส่วนต่างๆและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางส่วนที่มีการเปลี่ยนรุ่น เปลี่ยนแบบ
เปลี่ยนสเป็คจนฝ่ายจัดซื้อและคนร่างคู่มือการประกอบต้องเขียนแผนใหม่กันเกือบทุกวัน
ณ บัดนี้ก็เริ่มนิ่งขึ้นเพราะรู้กันหมดแล้วว่าชิ้นส่วนไหนใช้ได้ และชิ้นไหนใช้แล้วซวย

นอกจากนี้ฝ่ายวิศวกรรมของ DMCL ยังช่วยกันปรับปรุงตัวรถให้สามารถใช้งานได้ดีและ
ลดต้นทุนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของรถ งานของพวกเขาเหล่านี้จะส่งผลตั้งแต่
ช่วงกลางปี 1981 ไปจนวันที่ DeLorean คันสุดท้ายออกจากโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น

1. ฝากระโปรงหน้า รถรุ่นแรกๆจะมีลอนตามแนวยาวบนฝากระโปรง และมีฝาถังน้ำมัน
อยู่บนฝากระโปรง เมื่อเปิดฝาถังน้ำมันแล้วก็จะเจอฝาเกลียวที่ต้องเอากุญแจไขอีกทีนึง
ในช่วงปลายปี 1981 ทีมวิศวกรเปลี่ยนฝากระโปรงหน้าแบบใหม่ มีลอนตามยาวเหมือนเดิม
แต่ไม่มีฝาถังน้ำมัน ลดความยุ่งยากในการผลิตฝากระโปรงลง และต่อมาฝาเกลียวที่เคย
มีกุญแจล็อคก็ถูกเปลี่ยนไปใช้ฝาเกลียวแบบธรรมดาแทน วิธีนี้ต้นทุนค่าฝากระโปรงและ
ฝาเกลียวถังน้ำมันลดลง และลูกค้าก็ไม่ต้องเอากุญแจออกมาไขเปิดฝาเกลียว แค่เปิดฝา
กระโปรงรถแล้วหมุนฝาเกลียวออกได้เลย

ในช่วงท้ายก่อนเลิกผลิต ฝากระโปรงถูกเปลี่ยนเป็นแบบแบนราบ ไม่มีลอน เพราะการปั๊ม
กระโปรงหน้าให้มีลอนนั้นมีความเสี่ยง บางชิ้นปั๊มออกมาก็ใช้ไม่ได้ ถ้าออกแบบให้แบนเรียบ
ก็สามารถปั๊มได้ง่ายและมีชิ้นงานที่เสียน้อยลง รถเหล่านี้คือรถที่ถูกผลิตหลังบริษัทเจ๊งแล้ว

2. สายดึงปิดประตู – ในรุ่นแรกๆนั้นการปิดประตูจะต้องจับที่คันดึงบนแผงประตูแล้วปิด
ถ้าเป็นคนตัวยาวแขนยาวก็คงพอว่ากันได้ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่เอื้อมไม่ถัง ดังนั้นจึงมีการ
ติดตั้งสายดึงโดยคล้องเข้าไปกับคันดึงบนแผงประตูเฉยๆ ในภายหลังสายดึงนี้ถูกย้าย
ไปติดในตำแหน่งที่เยื้องไปด้านหลังของแผงประตูมากขึ้น ดึงสะดวก และดูเรียบร้อยขึ้น

3. ที่พักเท้าซ้ายถูกติดตั้งเพิ่ม
4. เครื่องเสียง – รถปี 1981 ใช้เครื่องเสียงของ Craig ซึ่งไม่มีนาฬิกาในตัว ทำให้ต้องติดนาฬิกา
ดิจิตอลเพิ่มเข้าไปที่บริเวณด้านหน้าตำแหน่งคันเกียร์ ข้างสวิตช์หมุนปรับความสว่างของ
ไฟบนหน้าปัด ต่อมาพวกเขาเปลี่ยนไปใช้เครื่องเสียงของ ASI ซึ่งมีนาฬิกาในตัว สามารถ
ตัดนาฬิกาดิจิตอลของเดิมออกได้

5. มีสีภายในสีใหม่ให้เลือก จากเดิมมีแต่สีดำ ก็มีสีเทาเพิ่มขึ้นมาในเดือนสิงหาคม
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำภายในสีเบจ สีแดงเบอร์กันดีและสีน้ำเงินออกมาอีก
แต่บริษัทก็เจ๊งไปเสียก่อน

คลิกเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของ DMC-12 โมเดลปีต่างๆ

 

“ในเดือนกันยายน ยังมีการเปลี่ยนมาใช้ระบบ Single-Key ซึ่งหมายถึงการใช้กุญแจดอกเดียว
ไขรถได้ทั้งคัน ทั้งประตูและรูสตาร์ท” ควินน์เสริม

“เดี๋ยว..แปลว่าก่อนหน้านี้คุณต้องใช้กุญแจลูกนึงเพื่อเปิดประตู และอีกลูกนึงเพื่อสตาร์ทรถ?”

“ใช่ ถ้าเป็น DMC-12 ล็อตแรกๆยังมีกุญแจอีกดอกไว้เปิดฝาเกลียวถังน้ำมันด้วย อาจจะฟังดู
แปลก แต่รถยุคก่อนก็เป็นแบบนั้นกัน พอเปลี่ยนมาใช้ดอกเดียว เจ้าของรถก็สบายขึ้น
แต่ในโรงงานนี่โกลาหลไปพักใหญ่เลย เพราะต้องปรับสายการผลิตใหม่เพื่อให้รถคันเดียว
สามารถใช้กุญแจเดียวได้ นั่นก็รวมถึงซัพพลายเออร์ที่ผลิตส่งให้จากเดิมสองส่วนนี้สามารถ
แยกกันได้ ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องมีชุดกุญแจ 3 ชุดที่เหมือนกัน ที่โรงงานก็ใส่มาผิดบางที
ประกอบเกือบเสร็จแล้วปรากฏว่ารูกุญแจสตาร์ทกับที่ประตูไม่เหมือนกัน บางล็อตที่ออกมายิ่ง
ตลกสุดๆคือเจ้าหน้าที่ถือกุญแจดอกเดียวนะ แต่เดินไขเปิดประตูรถที่จอดรอตรวจอยู่ 5-6 คันได้เลย
ด้วยกุญแจอันเดียวเนี่ยล่ะ เป็นยังไง ซึ้งมั้ย?”

“ไหนว่าปัญหาด้านคุณภาพหลายอย่างแก้จบแล้วไง” ผมย้อนถาม

“มันจบตรงหน้าลูกค้า แต่ในโรงงานน่ะแก้ไปหลายเรื่อง แต่เรื่องใหม่ๆก็เกิดอีก เพราะในช่วง
ที่ผ่านมา ระหว่างวิกฤติ Bobby Sands นั้น John DeLorean ต้องการจะนำบริษัท DeLorean
เข้าตลาดหุ้น แกเลยมีไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าจะดึงดูดผู้ลงทุนได้เยอะ ก็ต้องสร้างรถให้ได้มากๆ
ทำภาพลักษณ์บริษัทให้ดูยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุด นี่ล่ะคือหนึ่งในจุดเริ่มต้นของหายนะ”

ความที่ John ต้องการจะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นให้ได้เร็วที่สุด บวกกับโบนัสจากรัฐบาลที่ว่า
หาก DMCL สามารถจ้างแรงงานท้องถิ่นโดยเอาคนที่เคยตกงานและพึ่งพาสวัสดิการรัฐ
อันเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลมาเป็นคนงานภายในโรงงานได้ รัฐบาลจะให้ค่าตอบแทนตรงนี้
6,500 ปอนด์ ต่อ 1 คน ดังนั้นถ้าจ้างคนว่างงานรับเงินสวัสดิการเหล่านี้ได้ 1,000 คน นั่นก็คือ
เงิน 6.5 ล้านปอนด์หรือเกือบ 10% ของมูลค่าการลงทุนใน DMCL ที่ Dunmurry ดังนั้น
ภายในไม่กี่เดือนในปี 1981 จำนวนพนักงานจึงเพิ่มจากพันต้นๆ และในเดือนตุลาคมนั้น
DMCL ก็จ้างคนงานและพนักงานรวมกันเป็นจำนวน 2,633 คน! แรงงานจำนวนมากที่
จ้างมาใหม่นั้น ไม่รู้งาน ขาดความเชี่ยวชาญ ผลกระทบก็คือคุณภาพของรถในสายการผลิต
ด้อยลงอีกครั้ง หลายคนทำงานโดยไม่เปิดคู่มือประกอบ และบ่อยครั้งที่พนักงานระดับ Supervisor
ต้องลงไปทำงานภาคปฏิบัติเสียเองเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น

การโหมจ้างแรงงานจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็วยังส่งผลเสียในด้านการบันทึก
ข้อมูลพนักงานและการจ่ายผลตอบแทน จำนวนพนักงานใหม่เพิ่มเร็วจนฝ่ายการพนักงาน
ไม่สามารถจัดทำข้อมูลประวัติเงินเดือนได้ทัน วิธีแก้ที่ถูกนำมาใช้คือวิธีจากยุคโรมัน
ซึ่งคนงานแต่ละคนจะเข้าแถวต่อคิวยาวที่หน้าเคาน์เตอร์จ่ายเงิน จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการ
พนักงานจะถามว่าวันนี้ทำงานอะไรบ้าง และทำไปกี่ชั่วโมง จากนั้นก็คูณผลตอบแทนรายชั่วโมง
แล้วจ่ายเป็นเงิน และทำอย่างนี้กับคนงานรายต่อๆไป ไม่มีการตรวจสอบว่าแท้จริงแล้วคนงาน
แต่ละคนได้ทำงานตามที่ตนเองบอกหรือไม่

zdmc006

และเมื่อฝึกฝีมือให้กับแรงงานใหม่เหล่านี้จนสามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามเป้าหมาย
DeLorean ก็เดินสายการผลิตอย่างเต็มขั้นแต่ไม่เต็มสติ กล่าวคือต่างคนต่างทำส่วนของตนเอง
ออกมาด้วยความเร็วและปริมาณที่บ้าคลั่ง แผนกสร้างโครงรถซึ่งเคยมีปัญหามากที่สุดในช่วง
วิกฤติ Bobby Sands กลับกลายเป็นแผนกที่สวมพลังขยันราวเสพย์ยาบ้า สามารถผลิตโครงรถ
ออกมาเยอะมากจนหาที่เก็บแทบไม่ทัน ชิ้นส่วนหลายชิ้นถูกสั่ง และส่งมาจากทางซัพพลายเออร์
แล้วนำมากองไว้เพื่อรอประกอบให้เป็นรถเต็มคัน

เดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว DMCL สามารถผลิตรถไปได้ 1,800 คัน ถือว่าสูงสุดตั้งแต่เริ่ม
เดินสายการผลิตมา ในสายตาคนที่ไม่รับรู้เรื่องฉาวภายในหรือไม่ใช่คนที่สามารถเข้าถึงข้อมูล
ทางการบัญชีได้ก็จะมองภาพโรงงาน เห็นรถที่ผลิตจอดรอส่งจำนวนมาก เห็นคนงานจำนวน
เกือบๆสามพัน เห็นภาพการแถลงข่าวที่ John จัดขึ้นเพื่อประกาศให้โลกรู้ ไม่ว่าใครก็ต้องบอกว่า
วินาทีนี้ DeLorean ฉายแววแห่งการเป็นม้าผงาดแห่งวงการรถยนต์ ไม่มีใครจะหยุดเขาไว้ได้
อีกแล้ว

“แต่อันที่จริงผู้หญิงหนึ่งคนกับก๊อกน้ำและสื่อมวลชนก็เบรกคนอย่าง John อยู่นะ” ควินน์แทรก
“คุณหมายความว่ายังไง ผู้หญิง? ก๊อกน้ำ? สื่อ??”

“ก็มีอดีตพนักงานคนนึง เป็นผู้หญิง ชื่อ Marion Gibson แกไปเห็นเอกสารการใช้เงินของ
John DeLorean กับผู้บริหาร แล้วก็แต่งเรื่องว่าก๊อกน้ำที่ John ใช้เงินจากรัฐบาลไปซื้อติดใส่
คฤหาสน์ตัวเองนั้นเป็นก๊อกทองคำ แล้วก็สร้างประเด็นให้สังคมมองว่า John และผู้บริหาร
เอาเงินที่ควรจะไปใช้ในการสร้างรถไปถลุงเพื่อความสุขส่วนตัว”

“แล้วมันจริงมั้ยล่ะ”

“ที่จริงก๊อกน้ำที่ถูกสั่งไปติดที่คฤหาสน์นั้นยังถูกสั่งไปติดที่บ้านพักรับรองผู้บริหารที่ไอร์แลนด์เหนือ
และยังมีใช้ในบ้านอีกหลายหลังที่รวยๆหน่อย มันไม่ถึงกับเป็นก๊อกน้ำตามวังชี้คกับสุลต่านหรอก
แค่เป็นก๊อกชุบทองที่แพงและดูหรูกว่าปกติเท่านั้น..แต่พอเรื่องนี้ถึงหูสื่อมวลชน แน่นอนว่าก็เอา
ไปสร้างเป็นประเด็นดราม่ากันสนุกปาก ไอ้ดราม่าเล็กๆนี้ยังไปดึงดูดความสนใจคนอื่นที่มีหัว
ทางด้านการเงินให้มาถกกันประเด็นเรื่องการใช้เงินของ DeLorean ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรค
มากพอที่จะทำให้ที่ปรึกษาทางด้านภาพลักษณ์ของบริษัทแนะนำ John ให้เลื่อนกำหนดการเข้าสู่
ตลาดหุ้นเป็นช่วงหลังปีใหม่ ซึ่งแม้ John ไม่เต็มใจนักแต่เนื่องจากคนที่แนะนำก็เป็นลูกรักอีกคน
ก็เลยเชื่อ”

และนั่นก็คือจุดที่แผนการเร่งรัด เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบรถให้ได้วันละ 80 คัน
รวมถึงแผนการที่จะจ้างคนเพิ่มเป็น 3,000 คนในช่วงสิ้นปี และ 4,000 คนภายในปี 1982
ต้องสะดุดลง

zdmc002

หลังจากเดือนตุลาคม ก็ย่างก้าวเข้าสู่ช่วงใกล้ปลายปี แม้สิ่งต่างๆในสายตาชาว Dunmurry
จะดูดีมากจนเหมือนพระเจ้ามาโปรด แต่หายนะของพวกเขากำลังใกล้เข้ามาอย่างเงียบเชียบ

ท่ามกลางธุรกิจท้องถิ่นที่เฟื่องฟู กิจการด้านบริการ ร้านอาหาร ผับ และที่พักซึ่งถูกเปิดขึ้น
เพื่อรองรับคนงาน 2,600 กว่าคนและยังไม่นับบรรดาคนงานต่างๆที่ทำงานกับซัพพลายเออร์
ของ DMCL อีกนับได้เกือบ 3,000 คน ในใจของพวกเขาทุกคนมีแต่อนาคตรุ่งเรืองที่วาดฝันไว้
บางบ้านนั้นทั้งสามี, ภรรยา และลูกวัยกำลังโต ต่างทำงานในโรงงาน DMCL ทั้งสิ้น นี่คือชีวิตดีๆ
ที่พวกเขาใฝ่หามาแสนนาน ชีวิตที่มีกิน มีงานทำ นายจ้างใจป้ำ และปลอดระเบิดหรือภัยจาก
การก่อการร้าย หากไม่นับความวุ่นวายช่วงวิกฤติ Bobby Sands แล้ว สถานที่ที่ชาวคาธอลิก
กับโปรเตสแตนท์เป็นเพื่อนกันได้ กินข้าวด้วยกันได้ ก็คือโรงงานแห่งนี้

พวกเขาไม่ทราบเลยว่าในอีกมุมหนึ่งของเมือง มีบางคนที่มองเห็นหายนะนั้นอย่างปรุโปร่ง
และตัดสินใจก้าวจากไททานิคลงสู่เรือชูชีพไปแล้ว Chuck Bennington ซึ่งอยู่กับ DeLorean
มาตั้งแต่ตอนยังไม่คลอด และมาเป็นคนดูแลโปรเจคท์พัฒนารถรุ่นใหม่ๆ ลาออกและหายไป
อย่างเงียบเชียบในเดือนพฤศจิกายน ไร้พิธีเลี้ยงส่ง ไร้การตีพิมพ์ประกาศสรรเสริญในวารสาร
รายเดือนของบริษัท

 

William Haddad เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนที่เป็นทั้งสมอง และเครื่องชั่งวัดความเหมาะสม
ในการดำเนินการทางธุรกิจต่างๆก็ลาออกไปจากบริษัทเช่นเดียวกัน ในบรรดาผู้บริหารที่
เลือกจะประจบและทำตัวเป็นติ่ง John ไปวันๆ William มักจะเป็นคนที่กล้ายืนขึ้นบอกสิ่งที่
ผิดพลาดและเสนอแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม แต่หลักจากการโต้เถียงกันหลายครั้ง
William ก็ลาออก ทิ้งท้ายเอาไว้ให้กับพนักงานคนอื่นว่าให้ระวัง เงินในบัญชีบริษัทจำนวนมาก
หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุและระวังบริษัทจะเจ๊งเพราะการใช้เงินฟุ่มเฟือยไม่เข้าท่าของ John

ผู้บริหารอีก 2-3 คนในระดับสูงก็ลาออกโดยได้รับเงินชดเชย และในที่สุดแม้แต่ประธานฯ
Eugene Cafiero ก็แอบลาออกไปแบบเงียบๆกลางเดือนธันวาคมอีกคนพร้อมกับเงินค่าตอบแทน
จำนวนมหาศาลที่มีข่าวลือว่า John สั่งให้ไปเพื่อปิดปากในความลับหลายเรื่องที่อาจจะมี
พวกเขากับคนอีกจำนวนไม่มากที่ทราบ

 

Donald Lander ยังเป็น MD อยู่ อย่างน้อยในเดือนธันวาคมทุกคนก็เป็นพยานได้ว่าเขายังไม่ไปไหน
เพราะจะมีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเปรียบเทียบแล้วไม่ต่างอะไรกับการซ้อมรับน้องที่รุ่นพี่ว้ากเกอร์
เป็น SOTUS ตัวเทพสุดกำลังลงโทษน้องปี 1 พี่ปี 2 และคนที่เกี่ยวข้องด้วยปากของเขานั่นเอง
เหตุเพราะรถ DMC-12 ที่ผลิตออกไปนั้นมีปัญหากับตัวน็อตยึดสตรัทตัวบนที่เกลียวคลายและ
มีโอกาสที่จะเลื่อนหลุดจนส่งผลให้ช่วงล่างทั้งชิ้นหลุดออกมาได้ถ้าจัมพ์เนินแรงๆ ซึ่งเมื่อตัวน็อต
มีปัญหา ทางฝ่ายวิศวกรรมก็คิดวิธีแก้ปัญหาโดยการเจาะรูขนาดเล็กขึ้นที่ตัวน็อตและหัวสตรัท
แล้วจากนั้นก็เสียบสลักเข้าไป น็อตก็จะหมุนไม่ได้และทำให้ไม่เลื่อนหลุด

ในระหว่างการเจาะนั้นเอง พบว่าตัวน็อตทุกตัวที่เจาะจะแตกร้าวเสมอ ทำให้ในที่สุดก็ได้ค้นพบว่า
น็อตยึดหัวสตรัทพวกนั้น ไม่ได้ผ่านการอบร้อนขั้นสุดท้ายเลยสักตัว การอบด้วยความร้อนหรือ
ที่เรียกว่า Heat-treating นี้จะทำให้โลหะมีโมเลกุลที่แน่นคงที่สุด มีการหดและขยายตัวที่น้อยลง
ในเมื่อน็อตไม่ได้ผ่านขั้นตอนนี้ก็ไม่แปลกที่เกลียวจะคลาย

วันนั้น.. Nick Sutton เขียนเอาไว้ในหนังสือของเขาว่า Donald Lander เรียกหัวหน้าฝ่าย
ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมายืนรวมกันกลางโรงงาน เจ้านายอยู่แถวหน้าๆ พวกลูกน้องอยู่แถวหลัง
จากนั้นก็รอให้บรรดาคนงานที่เดินผ่านไปผ่านมามาชุมนุมราวกับเตรียมดูนักเลงต่อยกัน
แล้วก็เริ่มชี้หน้าด่ากราดไปทีละคนเท่าที่สามารถด่าได้ ใครที่กล้าพอจะสบตาก็จะโดนด่า
เป็นคนแรกๆ ส่วนพวกลูกน้องกับพวกที่ก้มหน้าก็แบ่งกันรับพลังหมัด SOTUS ของท่าน MD ไป

 

นั่นคือบรรยากาศภายในโรงงานที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะกดดันอีกครั้งก่อนที่จะมีงานเลี้ยงฉลอง
คริสต์มาสในวันที่ 18 ธันวาคมที่โรงแรม Conway เยื้องกับทางเข้าโรงงานนั้นเอง

มันคือปาร์ตี้ที่พนักงานหลายคนได้รับเชิญเข้าร่วม John DeLorean เองก็นั่งคองคอร์ดมาจาก
อเมริกาเพื่อมามอบสุนทรพจน์อันซ้ำซากจำเจตามสไตล์ของเขา โดยเน้นย้ำขอให้พนักงาน
ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน เพื่อสร้างรถที่มีคุณภาพ และขอให้ปรับปรุงเรื่องคุณภาพ
ในการผลิตให้ดี เพราะต่อจากนี้ไป DeLorean จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีกมาก เพราะยิ่ง
ทำมามาก ก็ยิ่งขายได้มาก แต่บรรดาดีลเลอร์ในอเมริกาก็สามารถขายรถที่ผลิตมาได้ทุกคัน

“พวกเขาทำให้พนักงานเชื่อว่าความรุ่งโรจน์จะบังเกิดขึ้นในชั่วข้ามปี” ควินน์บอก
“แต่มันไม่ใช่…มันเป็นประสบการณ์ที่อาจเลวร้ายที่สุดในชีวิตของหลายคน เป็นบทเรียน
ของการรักคนผิด เชื่อผิดคน เป็นสิ่งที่พวกเขาจำนวนมากยังวิ่งหนีจากความจริงจนทุกวันนี้”

 

CHAPTER 10: ปีกหัก

เพียง 1 สัปดาห์หลังจากงานเลี้ยงคริสต์มาส ก็มีข่าวลือว่าบริษัท DeLorean กำลังเผชิญ
ปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนักหน่วง ทว่ามีแต่ผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นที่ทราบเรื่อง
และทุกคนตั้งแต่ระดับบิ๊กบอสลงมาถึงระดับ Supervisor ประจำทีมต่างก็ถูกสั่งให้ปิดปาก
ให้สนิท แต่ก็เหมือนกับข่าวลือในโลกนี้ทุกข่าว ยิ่งถูกสั่งให้ปิด ก็ยิ่งแพร่กระจายในวงกว้าง
แต่มาแบบเงียบๆเหมือนคลื่นสึนามิที่ยิ่งเจอทะเลลึกยิ่งเคลื่อนที่เร็วและเงียบเชียบ

นอกจากการเงินอันไร้ระเบียบที่ฝั่งไอร์แลนด์เหนือแล้ว ที่อเมริกายิ่งดูอาการหนัก
ศูนย์ควบคุมคุณภาพภายใต้การดูแลของ Dick Brown หมดเงินไปกับการคอยแก้ปัญหารถต่างๆ
ด้วยแรงงานราคาแพงสไตล์ USA จนใช้เงินเฉลี่ยรวมกับหน่วยอื่นๆอีก 3 แห่งตก 800,000 ดอลลาร์
และยังไม่นับสำนักงานที่ New York อีก 200,000 ดอลลาร์ ทั้งหมดที่ว่ามาคือ “ต่อเดือน”!

ที่ผ่านมา John ทำตัวเหมือนเด็กพ่อรวยที่กว้านซื้อทุกอย่างที่ต้องการโดยไม่มีใครห้ามอยู่
นอกจากกิจการรถบรรทุกโรมาเนียและรถแทร็คเตอร์แล้ว John ดูเหมือนจะสนใจ
ไปเสียทุกอย่าง เขาลงทุนในฟาร์มมันฝรั่ง, บริษัทเดินเรือ, เครื่องฉายเลเซอร์ และน้ำหอม
เท่านั้นยังไม่พอ ยังพยายามจะซื้อ AMC (บริษัทอเมริกันมอเตอร์ส) พยายามจะซื้อกิจการ
Jeep, Chrysler และยังคิดจะเปิดธุรกิจนำเข้ารถ Alfa Romeo กับ Daihatsu มาขายใน
อเมริกา เขาหมดเงินไปกับเรื่องเหล่านี้นับล้านดอลลาร์ และยังมีการเอาเงินอีกกว่าล้าน
ไปชำระค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายของบริษัทที่เขามีเอี่ยว แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนารถ
หรือพัฒนากิจการของ DMC เลยแม้แต่น้อย ขนาดคนทำความสะอาด คนรับใช้ที่บ้านตัวเอง
John ยังเอาเงินจากบริษัทไปจ่าย แล้วยังให้ทางบัญชีลงบันทึกค่าใช้จ่ายไว้ว่าเป็น
พนักงาน PR เลยด้วยซ้ำ

ที่น่าอัปยศอดสูที่สุดคือ ภายใต้สภาพการเงินของบริษัทที่กำลังขยายตัวแบบตามใจ
แต่มีการบริหารเงินที่ย่ำแย่ John เซ็นอนุมัติให้ “จ่ายโบนัสประจำปี” ให้กับตัวเองและ
ผู้บริหารระดับสูงเป็นเงินรวม 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

“นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า John มีปัญหากับการเรียงลำดับความสำคัญในการทำธุรกิจ
เขาลุยปะฉะดะหมด หัวของเขาอยากจะได้อะไร ร่างกายและปากก็สนองไปตามนั้น
ไม่ได้มีการลำดับสิ่งต่างๆตามความจำเป็นว่าอะไรควรทำก่อน และอะไรควรทำทีหลัง
พูดง่ายๆคือเป็นคนที่มีไอเดียประเสริฐเลิศล้ำ มีความฉลาดหลักแหลม แต่เป็นนักบริหาร
ที่แย่และเป็นผู้นำที่โคตรชุ่ย” ควินน์เล่า

“ตา Dick Brown เองยิ่งช่วงหลังๆยิ่งมีดราม่ากับ John บ่อยนะ John เองก็ไม่ใช่พ่อพระ
เขาพร้อมจะส่งเสริมและส่งต่อบุญบารมีทุกอย่างให้กับคนที่หนุนหลังเขา แต่สำหรับใครก็ตาม
ที่ทำตัวขัดต่อความต้องการของเขา ไม่ว่าผิดหรือถูก John ก็พร้อมที่จะเขี่ยทิ้งเสมอ เหมือนที่
เคยเขี่ย Dick Brown ออกจากคณะกรรมการบริหารมาแล้ว”

“แล้วทำไม Dick Brown ยังทนทู่ซี้อยู่อีกล่ะ” ผมถาม “ลาออกเลยเสียก็หมดเรื่อง ผมไม่เข้าใจ
ในโลกนี้ทำไมมีคนดีๆหลายคนที่ดักดานภักดีอยู่กับคนที่ปฏิบัติกับเราอย่างไม่เห็นค่า?”

“ไม่ได้ทู่ซี้ Brown เองก็ไม่ใช่คนโง่นะอย่าลืม คุณแพนต้องเข้าใจว่าคนเราบางทีอยากจะลาออก
เมื่อไหร่มันก็ทำได้ แต่คนเป็นหัวหน้าคน เป็นเจ้าเป็นนายคน บางทีต่อให้เคืองบอสใหญ่
มากขนาดไหน เคืองจนแทบอยากจะเอาตีนนาบหน้าสักกี่รอบ แต่ก็ต้องยั้งปาก ยั้งตีน
เพราะภายใต้ตัวเองลงไป ยังมีลูกน้องอีกมากที่ไม่ได้มีพรมวิเศษคอยรองรับแบบหัวหน้า
Brown เป็นผู้บริหารที่มีคุณธรรม ถ้าเขาทิ้งบริษัทไปตอนนี้ ลูกน้องของเขาทุกคนจะได้รับ
ผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นเขาจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้บริษัทอยู่รอด เหมือนกับ
พนักงานอีกหลายร้อยคนที่ยอมสละความสุขส่วนตัวที่มีเพื่อให้บริษัทอยู่รอด เพราะพวกเขา
ทราบดีว่า ถ้าบริษัทปลอดภัย หัวหน้าปลอดภัย ตัวพวกเขาเองก็ปลอดภัยด้วยเช่นกัน”

“แต่อย่างที่คุณบอก Brown เองก็มีเรื่องกับ John บ่อยไม่ใช่หรือ?” ผมถามกลับ

“แน่นอน ยิ่งพอมีเจ้าของบริษัทนิสัยเสีย ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายไม่เป็นเรื่องทั้งๆที่ตัวบริษัทเองนั้น
กำลังจะล่มอยู่ในไม่ช้า และเดินไต่ลวดอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงทางการเงินมาโดยตลอด
Brown ทนไม่ไหว เลยด่า John ไปว่า เฮ้ย! ผมถามจริงๆเหอะว่ะ ตกลงไอ้ที่ลงทุนไปกับ
กิจการไร้สาระมากมายเนี่ย ทำเพื่ออะไร! ตกลงบริษัท DeLorean ยังเป็นธุรกิจหลัก
ของเราอยู่หรือเปล่า? ตกลงคุณตั้ง DeLorean ขึ้นมาเพื่อที่จะผลิตรถจริงๆ หรือแค่เอามา
เป็นส่วนหนึ่งของหน้าฉากในการจัดหาเงินมาปรนเปรอตัณหาส่วนตัวกับความเพ้อฝัน
ของคุณกันแน่!!

ควินน์เล่าต่อ “แล้ว John ก็ของขึ้นเหมือนกัน ก็เลยตอกกลับไปว่า ฟังนะ! นี่มันบริษัทของผม
ผมจะทำตามความคิดของผมเอง ใครจะทำไม! ถ้าอยากทำตามความคิดของคุณเอง
มากนัก ก็ไปเปิดบริษัทของตัวเองซะ!แล้วอยากจะทำอะไรก็ทำเลย!

– – – – –

ความเย็นชาของ John ที่มีต่อบริษัทและลูกน้องตัวเอง (ที่ไม่ใช่ลูกรัก) ก็ไม่ต่างอะไรกับ
สภาพอากาศอันหนาวเหน็บที่โจมตีอเมริกาอยู่ในขณะนั้น มันเป็นหน้าหนาวที่โหดร้ายที่สุด
และยาวนานที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ เมื่ออากาศหนาวและพื้นเต็มไปด้วยหิมะ ผู้คนจึง
สัญจรไปมาน้อยลง น้อยคนนักจะมีอารมณ์ซื้อรถคันใหม่ ฟังดูเหมือนพูดสั่วๆ แต่ความจริง
หน้าหนาวโหดครั้งนั้นในช่วงปลายปี 81-82 ส่งผลกระทบครั้งร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์
ในอเมริกา Ford มีโรงงานหลายแห่ง แต่ต้องถูกปิดลงหมดโดยเหลือไว้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ยักษ์ใหญ่อย่าง GM ก็ปิดโรงงานผลิตรถและโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่เป็นบริษัทลูกไป 8 แห่งจาก
ทั้งหมดที่มี 32 แห่ง ในขณะที่ Chrysler ซึ่งปกติก็มีสภาพพิการทางการเงินอยู่แล้ว มาคราวนี้
ย่ำแย่จนถึงกับต้องปิดโรงงานของตัวเองทุกแห่งไปจนกว่าจะพ้นวิกฤติ

incapr83e1x1

หน้าหนาวทำให้รถขายไม่ออกเช่นกัน รถ DMC-12 ที่ผลิตไปกว่า6,000 คันแล้ว John บอกว่า
ขายได้หมดนั้น แท้จริงแล้วเพิ่งจะส่งถึงมือลูกค้าได้ราว 2,500 คันเท่านั้น มีอีกราว 3,500 คันที่
กำลังถูกจอดดองคาสต็อกเพราะไม่มีใครสนใจจะซื้อรถในช่วงหน้าหนาวโหดๆ โดยเฉพาะ
รถสปอร์ต 2 ประตูยี่ห้อแปลกที่ราคาเกือบเท่า Porsche 911

 

John ยังเดินหน้าต่อไปเหมือนไม่รับรู้อะไร ไม่รับฟังอะไรนอกจากสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน

ณ จุดนี้ ควินน์เล่าให้ผมเปลี่ยนความคิดใหม่
“คุณคิดว่า John ไม่รู้เหรอ?”
“ก็ดูจากสิ่งที่เขาทำ มันบ่งชี้นี่ว่าเขาไม่รู้เลยว่า DeLorean กำลังตกที่นั่งลำบากขนาดไหน”
“เชอะ..ไปค้นดูบทสัมภาษณ์เก่าๆของท่าน Lee Iacocca แห่ง Chrysler ดูนะ คุณจะเห็นว่าที่จริง
John น่ะรู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองลำบาก เขาปิดข่าวทุกอย่างกับสื่อมวลชน เพราะรู้ฤทธิ์จากดราม่า
ก๊อกน้ำแล้วว่าสื่อฯมีผลต่อเขา แต่ความจริงมันเผยออกมาตอนที่ Iacocca เล่าในภายหลังว่า
John มาขอเข้าพบ และถามว่าจะขอเอากิจการ DeLorean Motor Company มารวมกันกับ
Chrysler ได้หรือไม่”

“อืม..น่าคิดนะควินน์ ถ้าบริษัท DeLorean กำลังรุ่งโรจน์ ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไป
รวมกิจการกับใคร เสือตัวผู้สองตัวจะร่วมกันสู้ก็ต่อเมื่อมันรู้สึกได้ว่าภัยกำลังมา”

“Iacocca นั้น เป็นผู้บริหารที่ผ่านโลกมาเยอะกว่า เขาเป็นผู้ที่ให้กำเนิด Mustang สร้างชื่อจน
โด่งดังเป็นประวัติการณ์ เขาเคยรุ่งเรือง และเคยล้มเหลว เคยไต่เพดานบินสูงแล้วหล่นลงพื้น
ตอนที่ Henry Ford II ไล่เขาออกมาแล้ว เขาเห็นโลกมานานจนอ่านเกมออกหมดโดยที่
ไม่ต้องคิดอะไรอีก ในวันนั้นที่ John มาขอพบและถามว่าจะขอร่วมกิจการกันได้หรือไม่นั้น
Iacoca ก็ตอบว่า..Two losers together isn’t a good idea (ผู้แพ้สองคนอยู่ร่วมกันเป็น
ความคิดที่ไม่ดีหรอก)”

ควินน์เล่าต่ออีก “หลังจากพลาดหวังที่ Chrysler แล้ว John ยังมีหน้าไปถึงสำนักงานใหญ่
ของ GM ซึ่งเป็นที่ที่เขาลาออกตั้งนานมาแล้ว แถมยังเคยร่วมกับ Patrick Wright เขียนหนังสือ
เปิดโปงและวิจารณ์การทำงานภายในองค์กรของ GM มาก่อน..แน่นอนว่าไม่มีใครอยากรับ
หอกอย่าง John กลับมาไม่ว่าจะในฐานะคู่ร่วมธุรกิจหรือแบรนด์ลูกกะเปี๊ยกก็ตาม”

สถานการณ์ทางการเงินที่เริ่มตึงเครียด ส่งผลให้ DMCL กลายเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ
ต่ำลง ซัพพลายเออร์หลายรายโดนดองหนี้กันมานานและต่างพยายามโทรศัพท์มาทวงถาม
ที่ฝ่ายการเงินเป็นประจำ ซึ่งพอหนักมากเข้าพนักงานฝ่ายการเงินก็ไม่รับสาย หรือไม่ก็ชักสาย
โทรศัพท์ทิ้งเอาเสียดื้อๆ ดังนั้นคนที่จะโดนตามทวงหนี้แทนฝ่ายการเงินก็คือฝ่ายจัดซื้อซึ่งมี
สำนักงานอยู่ที่ Coventry ในหลายต่อหลายครั้งฝ่ายจัดซื้อต้องออกรับหน้าแทน โดนด่าสารพัด
แต่ก็ไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้เพราะอำนาจการสั่งจ่ายเงินไม่ได้อยู่กับฝ่ายจัดซื้อ

เมื่อไม่สามารถเก็บเงินได้ซัพพลายเออร์และผู้ให้บริการบางรายจึงเริ่มหาวิธีการทวงคืน
ความยุติธรรมให้กับตัวเองในรูปแบบต่างๆ ทาง GM ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่จำนวนมาก
ที่ใช้ในรถ DMC-12 ปฏิเสธการส่งมอบชิ้นส่วนล็อตประจำเดือนมกราคมจนกว่าจะได้รับการ
ชำระหนี้เก่าที่ค้างไว้ แต่หลังจากการเจรจาขอประนอมหนี้โดยให้เหตุผลว่าถ้าไม่มีชิ้นส่วนเหล่านี้
รถก็จะขายไม่ได้ ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่มีเงินมาชำระหนี้ GM พอได้ยินแบบนี้ GM ก็บอกว่า “ได้ แต่จะให้
หนนี้เป็นครั้งสุดท้าย ถ้างวดหน้าเบี้ยวอีกก็อย่าหวังจะได้ชิ้นส่วนอะไรจาก GM อีก”

ส่วนทาง NIC- Northern Ireland Carriers ซึ่งให้บริการขนส่งรถจากโรงงาน Dunmurry
ไปยังท่าเรือนั้นยิ่งมีวิธีการสุดแสนจะโรบิ้นฮู้ดยิ่งกว่า เมื่อ DMCL ติดค้างค่าขนส่งหลายงวดเข้า
และทางบริษัท NIC ก็แอบได้ยินข่าวลือมาว่า DMCL จะเจ๊งจนเข้าสู่ขั้นตอนการพิทักษ์ทรัพย์
พวกเขาจึงชิงลงมือ “ปล้น” ความยุติธรรมโดยการชิงรถ! ทุกอย่างถูกวางแผนไว้หมดแล้ว

ระหว่างที่มีการขนส่งรถ DMC-12 ไปยังท่าเรือ Belfast รถบรรทุก 3 คันซึ่งแต่ละคันก็มี DMC-12
อยู่ 6 คันบนนั้นออกจากโรงงาน Dunmurry ไป หลังจากนั้นเมื่อถึงทางแยกก็มีคนจากทาง NIC
มาโบกรถบรรทุกให้วิ่งไปอีกทาง ซึ่งในที่สุดปลายทางนั้นก็คือโกดังของทาง NIC เอง แต่ทว่า
รถบรรทุกคันแรกวิ่งมาเร็วเกินไปจึงไม่ทันเห็นสัญญาณที่โบกให้เลี้ยว รถบรรทุกอีก 2 คันที่เหลือ
เห็นทุกสัญญาณและหักเลี้ยวรถ ขับไปจนถึงโกดังของ NIC พนักงานของ DeLorean ที่ท่าเรือ
เห็นรถมาไม่ครบ จึงเริ่มผิดสังเกต จนเมื่อสอบถามจาก NIC ก็ได้ความว่ารถ 12 คันถูกเอาไป
“เรียกค่าไถ่หนี้” เรียบร้อยแล้ว กรณีนี้กลายเป็นคดีความยาวยืดซึ่งกินเวลาอีกหลายเดือนซึ่งในที่สุด
ศาลก็ตัดสินให้ NIC เป็นเจ้าของรถทั้ง 12 คันและสามารถนำไปขายเพื่อเอาเงินมาทดแทนหนี้ที่
คงค้างอยู่ได้”

เรื่องระหว่าง DMCL กับ GM และ NIC นี้ข่าวรั่วไปค่อนข้างเร็ว และเริ่มสร้างความหวาดกลัว
ในหมู่พนักงานและคนงานมากขึ้น แต่แน่นอนว่าทางผู้บริหารโรงงานและ DMC ที่อเมริกาก็พยายาม
ปิดข่าวกันสุดฤทธิ์ แต่พนักงานไม่โง่ เพราะเมื่อบริษัทตัวเองไม่ยอมบอก พวกเขาก็ไปซื้อหนังสือพิมพ์
จากที่อื่นมาอ่าน บางครั้งก็เอามาไกลจากแผ่นดินใหญ่ ดังนั้นกระแสข่าวเรื่องปัญหาทางการเงิน
ในบริษัท จึงเป็นที่รับรู้กัน แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่ทราบแต่ก็พอที่จะสั่นคลอนโรงงานได้

 

วันที่ 18 มกราคม หนึ่งเดือนให้หลังจากงานปาร์ตี้คริสต์มาส รัฐบาลอังกฤษเชิญ John เข้าพบที่
London โดยจากการประชุมครั้งนั้น John ได้รับทราบท่าทีของรัฐบาล Mrs. Thatcher นายกฯ
คนใหม่จากพรรคอนุรักษ์นิยมแล้วว่าพวกเขาไม่มีท่าทีที่จะอนุมัติเงินเพิ่มเติม 40 ล้านปอนด์
ตามที่ John ได้ขอไป ตรงกันข้าม รัฐบาลกลับบอกว่าพวกเขามีภาระอื่นต้องแบกรับอีก ในเขต
ไอร์แลนด์เหนือนั้นยังมี Short Brothers ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินและเป็นบริษัทที่มีการจ้างแรงงาน
ในจำนวนที่เยอะกว่า DMCL มาก ทาง Short Brothers กำลังประสบปัญหาขาดทุนจนต้องลอยแพ
คนงานไปแล้ว 650 คนและมีอีกหลายพันคนที่จะตามไปหากไม่มีการช่วยเหลือใดๆจากทางรัฐ

นอกจากนี้ ไม่กี่วันถัดมา James Prior รัฐมนตรีว่าการประจำแคว้นไอร์แลนด์เหนือได้แจ้งกับ
John ว่าเขาจะส่งผู้แทนสำรวจทรัพย์สิน ซึ่งได้แก่ Paul Shewell จาก Cooper & Lybrand
และ Sir Kenneth Cork จากทาง Cork & Gully เข้าไปตรวจสอบสภาวะทางการเงินและสินทรัพย์
ต่างๆเพื่อประเมินโชคชะตาในอนาคตของ DMCL

Cork & Gully นั้นเป็นบริษัทบัญชีที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษทางด้านการเข้าไป “ทำความสะอาด”
บริษัทที่มีการเงินล้มเหลวเลอะเทอะให้กลับมาตั้งตัวได้ หรือถ้าตั้งตัวไม่ได้ก็ขอให้เค้นเอาเงิน
จากส่วนที่หลงเหลือของบริษัทให้ได้มากที่สุดเพื่อหักลบกับเงินลงทุนที่ได้เสียไป Sir Kenneth
Cork ก็เป็นคนที่เหมาะกับงานนี้มากเพราะทำมาตลอดชีวิตตั้งแต่รุ่นพ่อ จนมาควบรวมกับทาง
Cooper & Lybrand  ในปี 1980 (ปัจจุบันบริษัทนี้ใช้ชื่อว่า PriceWaterhouseCoopers)

 

นอกจากคำสั่งของ James Prior แล้ว ทาง NIDA และส.ส.บางคนได้ขุดล้วงข้อมูลจนทราบแล้วว่า
มีเงินจำนวนมากหายไปจากบันทึกบัญชีของทางบริษัทโดยผ่านบริษัทที่ชื่อ
General Product Development หรือ GPD

“GPD น่ะเป็นบริษัทประเทศปานามา แต่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ พวกเขาเป็นตัวกลาง
ที่เข้ามาดูแลการถ่ายโอนเงินจาก DMCL เพื่อนำจ่ายไปยัง Lotus” ควินน์บอก “แต่ไม่เข้าใจว่าทำไม
จะต้องทำให้ยุ่งยาก ทำไมไม่จ่ายตรงๆหรือไม่ก็ผ่านบริษัทท้องถิ่น นี่ล่ะที่หลายคนสงสัย”

เพียงไม่นานหลังจากนั้น ก่อนสิ้นเดือนมกราคม บรรยากาศการเฉลิมฉลองดูเหมือนเพิ่งจบลงไม่นาน
Donald Lander ซึ่งเป็น MD ของ DMCL ก็ประกาศออกสื่อว่าเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
จำเป็นจะต้องมีการปลดคนงาน 1,100 คน!

zdmc005

ท่ามกลางความสับสนและเสียใจของบรรดาแรงงานท้องถิ่น พวกเขารู้สึกเหมือนถูกหักหลัง
และไม่มีที่ไป บริษัทแจ้งล่วงหน้าแค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ แล้วในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ แรงงานชุดแรก
ที่ถูกลอยแพเหล่านี้จะต้องกลับไปเผชิญชะตากรรมเดิม ไม่มีกิน หางานทำไม่ได้ เพราะบริษัท
น้อยใหญ่ทุกแห่งในแถบนั้นต่างก็ประสบภาวะขาดทุนด้วยกันทั้งสิ้น

ไม่มีปาฏิหาริย์ใดๆมาช่วยเหลือแรงงานที่ถูกปลดเหล่านั้นได้ในคราวนี้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์
มาถึง พวกเขามาทำงานเป็นวันสุดท้ายและเดินออกจากโรงงานนั้นเป็นครั้งสุดท้ายเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงงานอีกราว 1,500 คนที่ยังทำงานอยู่กับ DMCL ซึ่งทุกคนก็ได้แต่หวังว่า
ตัวเองจะรอดพ้นสภาพวิกฤตินี้ไปได้ แต่คนที่รู้เรื่องมากกว่าคนอื่น ก็เริ่มนับถอยหลังกันแล้วว่า
จะอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน John เองก็ยังออกสื่อเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการหารือกับทาง
NIDA หรือการเจรจากับซัพพลายเออร์เพื่อขอผลัดหนี้ แต่บรรดาซัพพลายเออร์เหล่านั้นรู้นิสัย
ของ John กันหมดแล้ว จึงก่อตั้งเป็นคณะกรรมการด้วยความร่วมมือระหว่าง “เจ้าหนี้” ทั้งหลาย
ของ DeLorean แล้วร่วมมือกับรัฐบาล นำโดยนาย John Putt

John Putt มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทวงหนี้..แต่เขาก็ฉลาดพอที่จะตระหนักได้ว่าการได้
เงินชดใช้นั้น หมายถึงการส่งเสริมให้ DeLorean สามารถประกอบธุรกิจจนมีรายได้มาชดใช้หนี้
ไม่ใช่เอาแต่ตั้งหน้าฟ้องอย่างเดียว เขายังแสดงความเป็นห่วงในบรรดาคนงานและสัญญาที่จะ
หาวิธีประนีประนอมซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานที่น่าสงสารเหล่านี้ แต่เขายืนยันที่จะทำงาน
โดยร่วมกับฝั่งรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลท้องถิ่นไอร์แลนด์เหนือมากกว่าที่จะขอคุยอะไรกับทาง
DMCL อีกต่อไป เพราะความเชื่อถือต่างๆที่เคยมีนั้นได้หายไปจากใจเกือบหมดแล้ว

ส่วน John DeLorean ก็ยังคงพยายามทำตัว “หล่อออกสื่อ” ต่อไป เขาพยายามทำให้คนอื่นๆ
เขาใจว่าสาเหตุที่เงินสดหมุนเวียนในบริษัทหมดลงก็เพราะว่าธนาคารเงินกู้ส่งออกของทาง
อังกฤษ (ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจ) ไม่ยอมปล่อยเงินกู้สำหรับการสต็อกและจัดส่งสินค้า
ทำให้เขาต้องไปกู้เงินจากทาง Bank of America แทน และแบกค่าใช้จ่ายทางด้านดอกเบี้ย
ที่สูงกว่าปกติ

“ทุกคนรู้..ว่านั่นคือเรื่องโป้ปดมดเท็จ” ควินน์บอก

 

ในการประชุมกับคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง John ยื่นข้อเสนอสุดหล่อให้โดยการยินยอมยก
หุ้นส่วนของตัวเองใน DMCL ให้กับทางรัฐบาลทั้งหมด และพร้อมยอมให้รัฐบาลเข้ามาบริหาร
โดยที่ตัวเขาเองจะกลับไปอเมริกาโดยไม่มีอะไรติดกระเป๋าไปเลย

“หลายคนก็รู้..ว่าไม่ได้กลับไปมือเปล่า เพราะที่จริงตอนเซ็นสัญญากับรัฐบาลอังกฤษ เขาแอบ
หมกในสัญญาไปแล้วว่าสิทธิในการจำหน่ายรถ DeLorean ในอเมริกาทั้งหมด จะตกอยู่กับเขา
ส่วนทรัพย์สินทางปัญญา เช่นเรื่องดีไซน์ของตัวรถ อยู่กับ Oppenheimer Group ซึ่งก็คือ
DeLorean Research Partnership อันเป็นบริษัทที่เขากับผู้ร่วมทุนชาวอเมริกันก่อตั้งไว้ที่
ฝั่งอเมริกานั่นเอง ดังนั้นสิทธิที่ John บอกว่าจะมอบให้กับรัฐบาลก็เปรียบได้กับจาน ช้อน เท่านั้น
ส่วนข้าวและกับก็ให้รัฐบาลไปหาเอาเองดาบหน้า”

 

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1982

เป็นวันตัดสินชะตาของ DeLorean ซึ่งท่านรัฐมนตรี James Prior มีกำหนดจะแถลงในสภา
พนักงานที่ Dunmurry ต่างพากันรุมล้อมวิทยุตามห้องพักและตามมุมต่างๆของตัวโรงงาน
ในขณะที่พวกฝ่ายจัดซื้อที่ Coventry ก็ต่างมารุมล้อมอยู่รอบโต๊ะตัวเดียวเพื่อฟังผลการตัดสิน
พวกเขาทราบดีอยู่แล้วว่าในขณะที่รัฐบาลก่อนหน้าเป็นผู้อนุมัติโครงการ DeLorean และ
เปิดโอกาสให้พวกเขามีวันนี้ แต่รัฐบาลนาง Margaret Thatcher ซึ่งบริหารประเทศมาตั้งแต่ปี
1979 นั้นเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับไอร์แลนด์เหนือ และไม่ได้มองบริษัท
ของชาวอเมริกันอย่าง DeLorean เป็นลูกรักเท่ากับ Short Brothers แน่ๆ

11 โมงเช้า รัฐมนตรี James Prior ได้อ่านผลสรุป และสั่งให้บริษัท DeLorean Motor Cars Ltd.
เข้าสู่การพิทักษ์ทรัพย์ โดยมีผลนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

เมื่อบริษัทเข้าสู่การพิทักษ์ทรัพย์ หรือ Receivership นั้น หากอ่านผ่านๆแบบไม่สนใจอะไรมาก
ก็ดูเหมือนไม่มีความร้ายแรงอะไร แต่ถ้าบอกว่ามันก็คือการปฏิบัติลักษณะเดียวกับ
“Chapter 11” ของฝั่งอเมริกาที่เพิ่งเกิดขึ้นไปกับค่ายรถอเมริกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็จะเข้าใจ
การเข้ามาพิทักษ์ทรัพย์ พูดง่ายๆก็คือ John DeLorean และคณะผู้บริหารจะหมดสิทธิ์ในการ
สั่งจ่ายเงินของบริษัท อำนาจดังกล่าวจะตกเป็นของตัวแทนจากรัฐบาล รวมถึงอำนาจในการ
กำหนดการผลิต การปลดหรือจ้างงาน อำนาจการบริหารและตั้งนโยบายบริษัท

ทันทีที่มีประกาศอย่างเป็นทางการออกมา Sir Kenneth Cork ก็ไปเยือนโรงงานในบ่ายวันนั้น
เขาคือมือปราบอันดับหนึ่งทางด้านการบัญชีที่รัฐบาลอังกฤษส่งมาดูและการพิทักษ์ทรัพย์

 

Shaun Harte เป็นผู้บริหารที่คอยต้อนรับและพาท่าน Cork ชมโรงงาน เพราะเขาคือสมาชิก
กรรมการบริหารคนเดียวที่ยังอยู่ที่นั่น คนอื่นๆ ถ้าไม่ลาออกหนีไปแล้วก็แอบบินกลับไปที่
สำนักงานใหญ่ใน New York

ท่าน Cork ไม่ใช่หนุ่มที่ร้อนแรงดุดัน เขาเป็นชายแก่วัยเกือบ 70 ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเงินๆทองๆ
และเคยดำรงตำแหน่ง Lord Mayor of London มาก่อน แม้หลายคนจะเกรงกลัวชื่อเสียง
จากความเฮี๊ยบในการทำงาน แต่ท่าน Cork ตัวจริงที่มาเยือนโรงงาน DMCL นั้นมีท่าทีดูอบอุ่น
เหมือนลุงขายกาแฟมากกว่าขุนนางที่หัวไวปานเครื่องคิดเลข เขาร่วมประชุมกับทีมบริหาร
และหัวหน้าแผนกก่อนที่จะเริ่มเดินชมบริเวณต่างๆในสายการผลิต นอกจากนี้ยังเดินไปตาม
ส่วนต่างๆของโรงงานที่มีพนักงานชั้นผู้น้อยซึ่งพวกนี้จะรับค่าจ้างโดยคิดเป็นรายชั่วโมง
ท่าน Cork สุ่มเลือกคุยกับคนงานเป็นรายๆไป แต่ก็คุยไปหลายคน ภาพของนักบัญชียศสูงศักดิ์
จาก London ก็ค่อยๆเปลี่ยนไป คนที่โรงงานเริ่มหวาดกลัวเขาน้อยลงและพูดคุยอย่างเป็นกันเอง
มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ท่าน Cork เองก็รู้สึกประทับใจกับแรงงานที่มีความขยัน รักในงานที่ทำ
และสภาพแวดล้อมในโรงงานที่สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยชนิดที่โรงงานของ British Leyland
ไม่มีวันทาบติด

“ท้ายสุดลุง Ken แกก็เป็นคนใจบุญระดับนึงล่ะ” ควินน์บอก “เพราะในขณะที่ John ถนัดแต่
เล่นละครหล่อๆไปวันๆ ลุงคือคนที่มองทุกอย่างตามโลกแห่งความจริงและคาดคะเน
ตามความเป็นจริง พูดง่ายๆคือลุงแกน่าจะเข้ามาบริหารที่นี่ตั้งนานแล้ว ในเย็นวันนั้นก่อนกลับ
ลุงก็บอกกับคนที่โรงงานว่าเขาพยายามจะทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจนี้สามารถดำเนินต่อไปได้
แต่ต้องขอเวลาเพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งด้านกำลังคนและการเงินก่อนเพื่อที่จะรู้ว่าบริษัทควร
ใช้แผนแบบไหน”

ลุง Ken (เรียกว่าลุงแบบควินน์น่าจะเป็นกันเองกว่า) แนะว่าไหนๆก็มีรถ 500 คันที่ยังประกอบไม่เสร็จ
ก็ขอให้ทางโรงงานประกอบให้เสร็จก่อนแล้วขาย เพราะนั่นคือเงินที่สามารถเอามาหมุนเวียน
ระยะสั้นได้ ทางลุงยินดีประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือซัพพลายเออร์หาก
ติดขัดประการใดก็ตาม แล้วก็ถาม Shaun Harte ว่า “500 คัน ประกอบให้เสร็จภายใน 3 เดือน
และพยายามประกอบให้มีคุณภาพดีๆ โอเคมั้ย?” ซึ่ง Shaun ก็รับปากว่าทำได้ แม้แรงงานจะหายไป
พันกว่าคนแต่ร้อยกว่าคันต่อเดือนก็ไม่ใช่เรื่องยากเพราะเคยทำมาแล้ว

หลังลุงกลับไป พนักงานทุกคนกลับดูมีความหวังมากขึ้น แม้ว่า DMCL จะโดนเข้าพิทักษ์ทรัพย์ไป
แต่ด้วยพลังสมองที่ขึ้นชื่อของลุง Ken และทัศนคติอันดีที่เขามีต่อโรงงาน ทุกคนจึงรู้สึกยังอยาก
ที่จะพยายามสู้ต่อไป ส่วน John DeLorean ก็ยังทำสิ่งที่เขาถนัดอยู่คือออกสื่อ และส่งข่าวกลับไป
ตีพิมพ์ที่อเมริกา หนังสือเวียนไปยังดีลเลอร์ถูกร่างขึ้นมาโดยใช้คำพูดว่า “รัฐบาล และบริษัทตัดสินใจ
ร่วมมือกันเพื่อแก้วิกฤติ” และไม่ได้บอกแม้แต่คำเดียวว่าบริษัทเจ๊งหรือเข้าขั้นตอนพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้ว

แต่ไม่ว่าจะพยายามปิดข่าวอย่างไรก็ไม่พ้น เพราะ DeLorean Motor Company เองก็ติดหนี้
ทาง Bank of America ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อในการนำเข้าและขนส่งรถ DMC-12 ดังนั้นรถจำนวนมาก
จึงถูกยึดเอาไว้ Dick Brown ซึ่งเคยเป็นลูกรักของ John กลับถูกเฉดหัวออกจากบริษัทอย่างไม่ใยดี
แถมยังถูกขู่ฆ่าล้างโคตรโดยมาเฟียอย่าง Roy Nesseth ซึ่งเป็นมือขวาของ John อย่างลับๆและเคย
พัวพันกับคดีอาชญากรรมมาหลายคดี

“ผมว่าแม้จะทะเลาะกันบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะเล่นกันแรงแบบนี้ หรือคุณว่าไงควินน์” ผมถาม

“Dick Brown เป็นพวกยึดถือความถูกต้องและเกียรติยศ ดังนั้นเมื่อ Bank of America ประกาศ
ยึดรถทั้งหมดที่จอดอยู่ ณ ศูนย์ควบคุมคุณภาพในเมือง Irvine รัฐ California มีหรือพ่อ Brown
จะเล่นหัวหมอ เขาเก็บรถเหล่านั้นไว้อย่างดีจนกระทั่ง John สั่งให้เอารถทั้งหมดส่งมอบให้กับ
ดีลเลอร์ แน่นอนว่า Dick Brown ปฏิเสธ ดังนั้นไม้หนักจึงถูกเล่น Roy Nesseth ถูกส่งมาจัดการ
เรื่องนี้ พูดง่ายๆว่าจะให้ไปดีๆหรือจะหายตัวไปทั้งครอบครัว แน่นอนว่าคนดีคนเดียวสู้อำนาจมืด
ไม่ได้ Brown ถูกไล่ออกจากที่นั่น กุญแจล็อคประตูศูนย์ QAC ถูกเปลี่ยนใหม่หมด ทำให้ Brown
และลูกน้องคนสนิทของเขาไม่สามารถเข้าไปทำอะไรที่นั่นได้อีกเลย”

เดือนมีนาคมนี้เอง เรื่องทุกอย่างก็แดงออกมา รวมถึงการปรากฏตัวของ Roy Nesseth ที่มัก
แอบติดตาม John ไปไหนมาไหนตลอดก็ถูกสื่อมวลชนนำมาเล่นงาน สภาพของ John ตอนนี้
เหลือแค่ลูกสมุน กับลูกเล่น ซึ่งก็คือ “ปาก” ของเขานั่นเอง หลายต่อหลายครั้งที่ John พยายาม
กลบข่าวด้วยการประกาศว่าจะมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาอัดฉีดทุนให้กับบริษัท แต่เมื่อซักหนักๆ
เข้าก็จะโบ้ยไปเรื่องอื่น หรือเมื่อส่งข้อมูลนักลงทุนให้ลุง Cork ดู ลุงก็บอกว่าไม่น่าไว้ใจ พอ John
ทำแบบนี้หลายครั้งเข้า ความมั่นใจที่พนักงาน DeLorean เคยมีในตัวเขาก็มลายไปหมดสิ้น
สำหรับพนักงานในเวลานี้เขามีค่าเป็นแค่เด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่ง ในขณะที่ลุง Ken กลายเป็นฮีโร่
ในโลกแห่งความจริงที่ทุกคนเชื่อมั่น

หลายคนพยายามช่วยเหลือ John และในบางกรณี ก็มาแปลก หลังจากที่ข่าวเรื่องการพิทักษ์ทรัพย์
รั่วไปถึงหูคนในอเมริกา Zora-Arkus Duntov วิศวกรผู้ได้ว่าว่าเป็นบิดาแห่ง Chevrolet Corvette
ได้พยายามติดต่อและอาสาที่จะเข้ามาทำงานเป็น Chief Engineering (ผู้บริหารสูงสุดด้านวิศวกรรม)
โดยยินดีที่จะร่วมมือกับตัวแทนจากรัฐบาลอังกฤษและ DeLorean เพื่อที่จะปรับปรุงตัวรถให้สามารถ
ขายได้ดีขึ้น เขารู้จุดอ่อนของรถแล้ว และพร้อมที่จะมาทำงานที่ไอร์แลนด์เหนือ  แต่ John ไม่มีอำนาจ
ที่จะแต่งตั้งใครและทางอังกฤษก็สนใจเรื่องการอยู่รอดในระยะสั้นมากกว่า

 

Nick Sutton ยังทำงานกับฝ่ายจัดซื้ออยู่ แต่ก็แทบไม่ได้ยุ่งกับโทรศัพท์อีกเลยเพราะลุง Cork
ห้ามไม่ให้มีการจัดซื้อสิ่งใดเพิ่มนอกเสียจากว่าจำเป็นต่อการประกอบรถให้เสร็จ ค่าใช้จ่ายทุกอย่าง
ถูกควบคุม ส่วนเรื่องการประกอบรถนั้น ให้ใช้วิธีสำรวจรถในโรงงานก่อน เพราะมีรถที่ยัง
ประกอบไม่เสร็จจอดรออยู่ตามจุดต่างๆ ก็ให้เลือกรถที่ประกอบใกล้เสร็จที่สุดมา จากนั้นก็ไปสอย
เอาชิ้นส่วนที่จำเป็นมาจากรถคันอื่นที่ยังประกอบไม่เสร็จ วิธีนี้จะทำให้พาร์ทแต่ละจุดไม่เข้ากับรถ
แบบ 100% อย่างที่เคยเป็น แต่ลุง Ken ขอแค่เพียงว่าให้รถเหล่านั้นประกอบให้เสร็จ สามารถวิ่งได้
ใช้แล้วไม่พัง และมีความปลอดภัยต่อชีวิตของลูกค้าก็พอแล้ว

ฝากระโปรงของรถ DMC-12 ปี 82 ที่เปลี่ยนมาเป็นฝาเรียบไร้ลอน ก็เป็นการลดต้นทุนส่วนหนึ่ง
เพราะฝาเรียบปั๊มขึ้นรูปได้ง่าย งานไม่เสีย ในขณะที่ฝามีเส้นลอนตามยาวแบบเก่าเวลาปั๊มออกมา
บางครั้งก็ร้าว หรือไม่ได้รูปจนต้องโยนทิ้ง แต่อย่างน้อยรถเหล่านี้ก็มีโลโก้ DeLorean แปะเพิ่มมาให้
ที่ด้านล่างขวาของฝากระโปรงเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าถูกตัดต้นทุนทิ้งมากจนเกินไป

“พวกเขาประกอบรถด้วยวิธีนี้” ควินน์บอก “จากนั้นก็ส่งไปขายที่คูเวต 22 คัน นั่นคือรถกลุ่มแรก
ที่ส่งไปขายนอกตลาดอเมริกาอย่างเป็นทางการ”

“แล้วประสบความสำเร็จมั้ยล่ะ” ผมถาม
“ก็ขายได้หมดนะ..แต่ DeLorean ก็ยังซวยตามสไตล์ DeLorean รถทั้ง 22 คันนั้นสามารถ
ถูกไขเปิดล็อคได้ด้วยกุญแจอันเดียวกันทั้งหมด” ควินน์ตอบ
“…..”

——————–

ส่วนทางด้านแรงงานคน พนักงานประจำสำนักงานทยอยถูกปลดออกทีละคน น่าเศร้าที่
ลุง Ken นั้นแม้จะใจดีเพียงไรแต่ถ้าพบงานตำแหน่งใดก็ตามที่ดูแล้วค่อนข้างซ้ำซ้อนหรือสามารถ
ยุบงานตรงนั้นลงได้ ก็จะมีจดหมายเชิญออกไปวางไว้ที่โต๊ะ เป็นฟอร์มถ่ายเอกสารแบบง่ายๆ
เว้นช่องเอาไว้ให้ใส่ชื่อพนักงานผู้เคราะห์ร้าย หลายคนที่แจ็คพอตโดนซองวางบนโต๊ะก็เป็นพนักงาน
ที่อยู่กับโรงงานมาตั้งแต่ก่อนเริ่มประกอบรถ เห็นได้ชัดว่าจุดมุ่งหมายของลุง Ken ไม่ใช่การ
คงจำนวนพนักงาน แต่เป็นการพยายามทำให้ธุรกิจนี้สามารถดำเนินต่อไปได้นานที่สุดและ
เรียกทุนกลับคืนมาให้ได้มากที่สุดเช่นกัน

นอกจากนี้ลุงยังได้ตรวจบัญชีของบริษัท และพบว่ามีเงินจำนวนกว่าสิบล้านปอนด์ที่ไร้การบันทึก
ที่ไป ว่าไปจ่ายให้ใครหรือใช้ทำอะไร ดังนั้นจึงได้สั่งให้ลูกน้องเข้าตรวจสอบกับฝ่ายการเงิน
และรอฟังผล ในช่วงเวลาใกล้กันนั้นเองความหวังในเรื่องผู้ลงทุนใหม่ก็ค่อนข้างริบหรี่ จึงได้มีการ
ประกาศว่าหากหาผู้ลงทุนใหม่มารับช่วงบริษัทได้ไม่ทันสิ้นปี ก็อาจจะต้องปลดพนักงานออกอีก
ราว 1,000 ตำแหน่ง เหลือไว้เฉพาะคนที่จำเป็นต่อการประกอบรถที่เหลือให้เสร็จเท่านั้น

 

คำประกาศนี้สร้างความไม่พึงพอใจให้กับแรงงาน DeLorean ที่เหลืออยู่อย่างมาก พวกสหภาพ
แรงงานจึงนัดประชุมและท้ายสุดก็มีการชุมนุมกันราว 250 คน ทำให้พนักงานฝ่ายบริหารที่เหลือ
ต้องย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ Warren House ซึ่งก็คือบ้านพักรับรองของ Barrie Wills ผู้บริหารฝ่าย
จัดซื้อซึ่งในเวลานี้ก็ทำงานเปรียบเสมือนกับ MD ของบริษัทไปแล้วแม้ไม่ได้มีหนังสือแต่งตั้งก็ตาม
ส่วน Shaun Harte นั้น ลุง Ken ขอให้ไปติดต่อประสานงานเรื่องการนำเอา DMC-12 ไปขายใน
ตลาดประเทศอื่นนอกเหนือจากอเมริกาเพื่อสร้างรายได้อีกทาง

แต่คนตรงอย่างลุง Ken แม้ปากจะบอกว่าอาจไม่รอด แต่ก็ยังพยายามสู้อย่างสุดความสามารถ
จนในที่สุดกลางเดือนมิถุนายน ลุงก็ประกาศอีกครั้งว่ายังมีโอกาสที่จะรอด

กลุ่มธุรกิจ Consortium จากอังกฤษกลุ่มหนึ่งมีความสนใจที่จะรับกิจการ DeLorean ไปดูแลต่อ
โดยได้รับเงื่อนไขจากรัฐบาลก็คือทางกลุ่มดังกล่าวจะต้องร่วมมือกับทาง DMCL เพื่อจัดทำ
แผนธุรกิจที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าบริษัทยังมีศักยภาพที่จะทำเงินได้ในอนาคต โดยแผนธุรกิจนี้
จะต้องส่งถึงมือลุง Ken ภายในวันที่ 30 สิงหาคม 1982

และถ้าหากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถส่งแผนธุรกิจได้ตามกำหนดนั้น ก็จะเป็นตาของ John
DeLorean ที่จะต้องเสนอแผนธุรกิจที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่แผนโปเยโปโลเย PR จ๋าแบบที่เคยทำมา

หากทั้งสองฝ่ายล้มเหลว DeLorean ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์!

 

CHAPTER 11: สู่ความจริง และการล่มสลาย

ลุง Ken ทราบดีอยู่แล้วว่าการจะหวังพึ่งพา John DeLorean คงเป็นไปได้ยาก
เพราะถ้าเขามีความจริงใจและเฉลียวฉลาดให้ถูกทางกว่านี้สักนิด DMCL และบรรดา
แรงงานคงไม่ต้องเดือดร้อนมาจนถึงจุดนี้ ดังนั้นลุงจึงฝากความหวังไว้กับกลุ่มธุรกิจและ
ชาว DMCL ทั้งหลายที่จะช่วยคิดแผนมาให้ดี..มันต้องดีมากจนลุงอ่านแล้วมองเห็นอนาคต
ด่านลุงนั้นคือด่านแรก แต่ด่านที่สองที่ยากที่สุดคือรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของ
Margaret Thatcher ผู้ซึ่งแลดูจะไม่สนใจใยดีกับ DeLorean เป็นทุนอยู่แล้ว

Chuck Bennington ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหาร เป็นอดีต Project Leader ซึ่งลาออกไปตั้งแต่
เดือนพฤศจิกายนปี 1981 กลับมาร่วมงานกับ DMCL อีกครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ
ช่วยกันปั๊มหัวใจให้ DeLorean อย่างด่วนที่สุด Chuck และหลายคนในทีมกู้หายนะมี
ความเห็นร่วมกันว่า จุดอ่อนอย่างหนึ่งของ DeLorean คือการที่มีรถจำหน่ายเพียงรุ่นเดียว
และรถรุ่นนั้นก็มีราคาไม่ถูกเอาเสียเลย แถมยังเล็งไปที่ตลาดอเมริกาเป็นหลัก ดังนั้นจึง
ได้ร่วมกันคิดแผนที่จะทำให้ DeLorean สามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น

พวกเขาพยายามหาวิธีลดต้นทุนการผลิต DMC-12 และทำให้มันเป็นรถที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่ง
ที่หลายคนอาจจะไม่ทราบคือพวกเขาเคยติดต่อไปทาง Honda เพื่อดูความเป็นไปได้ในการ
ว่าจ้างให้ประกอบเครื่องยนต์แล้วเอามาใช้แทนเครื่อง PRV ซึ่งแม้ว่าในสมัยนั้น Honda
ยังไม่ได้เอาเครื่อง VTEC มาใช้กับรถในสายการผลิต แต่ทีมวิศวกร DeLorean ทราบดีว่า
เครื่องยนต์ 4 สูบของ Honda ให้ความประหยัด มลภาวะต่ำและเชื่อถือได้ นอกจากนี้
ในระยะยาวยังมีโอกาสได้เครื่องยนต์ที่สมรรถนะสูงมาใช้ Honda เป็นรถญี่ปุ่นเจ้าแรก
ที่ชนะการแข่ง Formula One และในช่วงปี 1982 นั้นพวกเขาก็กำลังสร้างเครื่องยนต์แข่ง
สำหรับทีม Spirit อยู่

นอกจากเรื่องเครื่องยนต์แล้ว วิธีการผลิต ไปจนถึงจำนวนคนที่ใช้เพื่อการผลิตถูกนำมา
วิเคราะห์ใหม่หมด ทีม DeLorean กับตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจต้องการลดกำลังการผลิตลง
จากปีละ 15,000 คันที่ John DeLorean ตั้งไว้ ลงไปกว่าครึ่งหรืออาจจะน้อยกว่านั้น
ดังนั้นหากจุดใดสามารถตัดเพื่อลดค่าใช้จ่ายลงได้พวกเขาก็จะทำ

แบบแปลน และข้อมูลทางวิศวกรรมต่างๆที่เป็นเอกสารกระจัดกระจายอยู่ทั้งที่ Dunmurry
และสำนักงานใน Coventry ถูกนำมารวมกันไว้ที่ “รัง” ของทีม DMCL พวกเขายังมีความหวัง
ที่จะสร้าง DMC-24 ซึ่งเป็น DMC-12 แบบ 4 ที่นั่งมาขาย แต่มันเป็นโครงการที่ต้องใช้การลงทุน
สูงพอควร ดังนั้นจึงต้องมีวิธีที่ถูกกว่านี้ในการสร้างรถรุ่นที่ 2 มาช่วยกันดันยอดขาย

Chuck Bennington และทีมคิดหาทางออกได้ในที่สุด พวกเขาไปเจรจากับ British Leyland
(กลุ่มผู้ผลิตรถรายใหญ่ของอังกฤษที่เจ๊งจนรัฐบาลต้องเข้ามาอุ้ม) และขอซื้อแบบดีไซน์
แบบแปลน เครื่องมือในการผลิตต่างๆของรถ Triumph TR7 มาใช้ TR7 คือรถสปอร์ต
ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา หน้าแหลมๆที่เพิ่งจะเลิกผลิตก่อนหน้านั้นได้ไม่นาน และโชคดีที่
รัฐบาลกับตัวแทนจาก British Leyland ไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใดจาก TR7 อีกแล้ว จึงยินดี
มอบกรรมสิทธิ์ทางปัญญาและเครื่องไม้เครื่องมือให้ DeLorean นำไปใช้ต่อได้เลย โดยที่
มีข้อแม้ว่าห้ามเอาชื่อทางการค้า “Triumph” และชื่อรุ่น “TR” ไปใช้

ดังนั้นรถรุ่นนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า Healey ซึ่งก็คือชื่อเดียวกับ Austin Healey รถสปอร์ตอังกฤษรุ่นเก๋า
นั่นเอง พวกเขาไปขออนุญาตเจ้าของชื่อทางการค้าและได้รับอนุญาตภายใต้ข้อตกลงขอเก็บ
ค่าใช้ชื่อนิดๆหน่อยๆ

ควินน์ขอผมอธิบายเสริมว่า  “Austin-Healey ก่อตั้งหลังจาก Healey เสียอีกนะ Healey
นั่นก่อตั้งโดยนาย Donald Healey ผลิตรถสปอร์ตที่ราคาค่อนข้างสูง ตัว Donald เองก็เป็น
นักแข่งที่มีฝีมือและเคยแข่งชนะในรถ Triumph มาก่อนตั้งแต่ยุค 1930s ต่อมาลูกชายของเขา
Geoffrey ก็รับช่วงต่อ รถที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่น Healey 3000 กับ Healey Sprite”

ปัญหาอย่างเดียวของการขนเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างมาประกอบ Healey เวอร์ชั่น
ปรับปรุงใหม่โดยทีมงานจาก Dunmurry ก็คือ Healey รุ่นใหม่เป็นรถที่มีการพ่นสีภายนอก
แบบรถปกติทั่วไป แต่ DMC-12 ที่พวกเขาผลิตมาตลอดนั้นใช้ผิวสแตนเลสเปล่าๆ จึงทำให้
ไม่มีการสร้างบริเวณสำหรับชุบ/พ่นสีในตัวโรงงานเลย ดังนั้นจึงต้องไปใช้โรงงานของ Nissan
ในเมือง Dublin ในการพ่นสี แล้วจึงส่งมาประกอบที่ Dunmurry อีกรอบ

แต่ในระหว่างที่แผนต่างๆกำลังดำเนินไปนั้น ด้วยเงินทองที่ร่อยหรอลงและกำลังผลิตต่อวัน
ที่น้อยมาก เพราะมีแค่การพยายามนำเอาชิ้นส่วนจากรถที่จอดอยู่มา “ยำ” ให้เป็นรถที่สมบูรณ์
แล้วขายนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานทั้ง 1,500 คนที่ยังเหลืออยู่ ลุง Ken มองว่าหากเป็นอย่างนี้
ต่อไปก็จะตายกันทั้งบริษัท จึงได้ประกาศขอให้พนักงานจำนวน 1,300 คนหยุดการทำงาน
โดยแต่ละคนจะได้รับเงินชดเชยงวดสุดท้าย ซึ่งก็มีมูลค่าเพียงน้อยนิด และไม่มีอะไรในอนาคต
ให้ฝากความหวังไว้ นอกจากขอให้ทีม DMCL และกลุ่มธุรกิจใจหาญกล้าสามารถพลิกชะตา
บริษัทให้กลับมาได้ หากเป็นเช่นนั้นจริง อย่างน้อยก็จะมีคนงานอีกประมาณ 1,000 คนที่ได้กลับ
มาทำงานที่นี่อีกครั้ง

เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมมาถึง แรงงาน 1,300 คนต่อคิวเรียงแถวกันที่โรงอาหารอย่างเรียบร้อย
เพื่อรับเงินค่าตอบแทนครั้งสุดท้าย ไม่มีการประท้วง ไม่มีความวุ่นวายใดๆ และขั้นตอนทุกอย่าง
เสร็จสิ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนี้ไปจะเหลือคนงานและพนักงานรวมกันแค่ 200 คนในโรงงาน
DMCL ที่จะยังต้องร่วมฝ่าฟันกันต่อไป

“ในช่วงเวลานั้น ไม่ใช่แค่พนักงาน DMCL ที่ชะตาพลิกผัน แต่ชะตาของ John DeLorean
ก็เริ่มเดินสู่หายนะด้วยเช่นกัน” ควินน์แทรกเข้ามา

“เรื่องยาเสพย์ติดใช่มั้ย? ผมเคยอ่านในนิตยสารรถยนต์ของไทยตั้งแต่เด็กแล้ว เคยมีบทความ
ที่เขียนว่า John เข้าไปพัวพันกับพวกโคเคนหรือเฮโรอีนอะไรพวกนั้น หนังสือพวกฝรั่งเวลาเขียน
ก็จะบอกว่า John DeLorean ไปยุ่งกับเรื่องการค้ายาเช่นกัน แต่ผมไม่ทราบรายละเอียด”

“ก่อนที่คุณจะคิดไปไกล ผมจะบอกตามจริงก่อนเลยแล้วกันว่า John ไม่ใช่นักค้ายาตัวยง
ในชีวิตเขาอาจจะไม่เคยเอามือแตะยาเสพย์ติดพวกนั้นเลยด้วยซ้ำ แต่เรื่องมันเริ่มในช่วง
ปลายเดือนมิถุนายนปีนั้น ชายที่ชื่อ James Hoffman เริ่มโทรศัพท์หา John และเสนอดีล
เกี่ยวกับการค้าโคเคนซึ่งจะทำรายได้มหาศาล แต่เราไม่ทราบว่าสองคนนี้คุยอะไรกัน เพราะว่า
บทสนทนา 2 ครั้งแรกทางโทรศัพท์นั้นไม่มีการบันทึกไว้เลย” ควินน์เล่า

“น่าจะตามๆพวก CIA หรือ FBI นะ พวกนั้นคงรู้ความจริง” ผมให้ความเห็น
“รู้อะไรกัน? ไม่รู้หรอก ก็ FBI นี่ล่ะคือคนที่ส่ง James Hoffman มา แล้วเจ้า Hoffman นั่นล่ะ
ที่เป็นอดีตพ่อค้ายาซึ่งถูก FBI จับได้ เลยต้องมาทำงานชดใช้กรรมเป็นนกต่อและสายข่าว
ให้กับทาง FBI ดังนั้นจะพูดก็ได้ว่า John ถูก FBI วางแผนล่อซื้อล่อขาย..ผมว่าไม่ผิดนะ
Hoffman พยายามหาทางสร้างผลงานแลกกับการอภัยโทษโดยการจับปลาตัวใหญ่
ส่งให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และปลาตัวนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกค่อยๆปั้นค่อยๆสร้างบทบาทขึ้นมา
โดยใครสักคน”

แต่ ณ จุดนี้ เมื่อรายละเอียดที่ควินน์เล่า เริ่มจะยาว ผมจึงคิดว่าลำดับเหตุการณ์จะชวนให้สับสน
ดังนั้นจึงขอรวบรัดไว้ตรงนี้ว่าในช่วงที่ทีม DMCL กับกลุ่มธุรกิจกำลังสาละวนกับการเตรียม
แผนกันอยู่ John ก็เริ่มถูกชักนำเข้าไปสู่เรื่องการซื้อขายยาเสพย์ติด

– – – – – – – – – – –

เดือนสิงหาคมมาถึงอย่างรวดเร็ว พวกหนุ่มๆที่ DMCL นำทีมโดย Chuck Bennington
สามารถร่วมกันทำแผนธุรกิจได้เสร็จ ลุง Ken ได้ช่วยตรวจสอบให้แล้วว่าไม่มีข้อใด
ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นด้วยว่า DeLorean มีโอกาสฟื้นคืนชีพได้อย่างแท้จริง
จึงได้นำเอกสารดังกล่าวยื่นให้กับท่านรัฐมนตรี James Prior เพื่อเสนอต่อท่านนายกฯ
Margaret Thatcher

ทุกอย่างที่พวกเขาต้องการในเวลานี้ก็คือลายเซ็น และตราประทับอนุมัติจากหญิงเหล็ก
พรรคอนุรักษ์นิยมท่านนี้ จากนั้นก็ไม่มีอะไรต้องห่วง กลุ่มธุรกิจก็พร้อมที่จะเดินหน้าลุย
และธนาคารที่ติดต่อไว้ก็พร้อมที่จะให้สินเชื่อสำหรับการ “RESTART” บริษัทครั้งใหม่

แต่ทว่า..

ตามคำบอกเล่าของลุง Ken ในวันนั้นเมื่อท่าน James Prior สอดเอกสารแผนธุรกิจ
เข้าไปรวมกับบรรดาเอกสารอื่นๆที่จะให้นายกฯหญิงเหล็กพิจารณา ปรากฏว่าเมื่อท่าน
นายกฯเห็นเอกสารดังกล่าวว่ามาจากทาง DMCL ก็ดึงเอกสารเล่มนั้นออกจากกอง
หนังสือรออนุมัติแล้วโยนทิ้งไปเลย!

“James Prior ไม่ใช่ลูกรักของ Thatcher เลยแม้แต่น้อย แต่ท่านหญิงเหล็กไม่เอาเรื่องแค่นี้
มาเป็นข้ออ้างหรอก” ควินน์บอก “ความจริงก็คือ Thatcher ไม่ได้ชอบ DeLorean อยู่แล้ว
และเชื่อกันว่าข่าววงในเรื่องที่มีเงินหายไปเป็นมูลค่าเท่ากับ 17.65 ล้านดอลลาร์ โดยที่เงิน
เหล่านี้ก็เอามาจากทุนที่รัฐบาลอังกฤษอนุมัติให้นั้น รู้ไปถึงหูของท่านเรียบร้อยแล้ว
ในช่วงเวลานั้น Thatcher กับประธานาธิบดี Reagan สนิทสนมกันมาก ทั้งสองฝ่ายต่างก็มี
หน่วยงานลับที่คอยแอบตรวจสอบพฤติกรรมของ John อยู่เบื้องหลังมาได้สักพัก” ควินน์พูด

“ฟังดูแล้วทำให้ผมคิดว่า Thatcher ต้องการให้บริษัท DeLorean ตายๆไปซะ” ผมว่างั้น

“ผมก็เชื่อ 80% ว่าเป็นเช่นนั้น เพราะถ้าหากมือปราบการเงินอย่างลุง Ken บอกว่าแผนธุรกิจ
Restart DMCL นั้นเชื่อถือได้ ก็แปลว่าต้องเชื่อได้..Thatcher ไม่ได้เก่งการเงินกับบริหารเงิน
องค์กรมากเท่าลุง Ken หรอก แต่คนเลือกมองกันคนละอย่าง ลุง Ken มองว่าทำยังไงก็ได้
ให้บริษัทนี้อยู่ต่อไปได้ ส่วนเรื่อง 17.65 ล้านที่หายไป ต้องมาสอบสวนกันตอนหลัง ส่วนทาง
Thatcher มองว่าต่อให้แผนธุรกิจจะเลิศแค่ไหน สุดท้ายก็มีจุดเริ่มต้นที่การแก้หนี้มหาศาล
รวมถึงการหาเงิน 17.65 ล้านมาคืน..มันจะเปรียบได้ต้นไม้เน่าที่ไม่มีวันออกผล…
..ดังนั้นต้องตัดรากถอนโคน! เอาเงินไปจุนเจือบริษัทอังกฤษหรือไอร์แลนด์เหนือแท้ๆ
ยังดีซะกว่า”

 

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงยังตามมาหลอกมาหลอนได้อีกก็คือกรรมที่ John ทำไว้กับ
อดีตลูกรักอย่าง Dick Brown เมื่อนิตยสาร Private Eye ที่ชอบเขียนเรื่อง Gossip ไฮโซ
ได้ตีแผ่เรื่องราวของ Roy Nesseth มาเฟียมือขวาในเงามืดของ John รวมถึงเผยคำให้การ
จาก Brown เรื่องที่โดน Roy ขู่เอาชีวิตแบบยกแพ็คเกจทั้งครอบครัวมาแล้ว แต่ Private Eye
ไม่ได้สนแค่เรื่องปัจจุบัน พวกเขาขุดเอาประวัติอาชญากรรมของ Roy มาทั้งหมดตั้งแต่อดีต
และตั้งคำถามกับสังคมว่า “เราจะยังให้คนที่คบโจรเป็นมิตรแบบนี้มาทำธุรกิจอีกหรือ?”

นับว่า John ถูกกรรมที่ตัวเองทำไว้สะท้อนกลับมาเต็มๆจากการที่ใช้ให้ Roy ไปจัดการ
อดีตลูกน้อง.. นับตั้งแต่ Private Eye ตีพิมพ์ข่าวออกไป กลุ่มธุรกิจที่เคยสนับสนุนก็เริ่ม
ถอนกำลังออก ธนาคารใหญ่ที่เคยพร้อมจะให้สินเชื่อคืนชีพธุรกิจ ก็ล้มเลิกสัญญาไป

แม้กระนั้นลุง Ken ก็ยังไม่ยอมแพ้ แม้สิ่งต่างๆจะไม่อำนวยโชคแม้แต่น้อย แต่เขาก็พบว่าตาม
ข้อตกลงที่เซ็นสัญญาไว้ตั้งแต่ 24 มิถุนายนระหว่าง DeLorean กับรัฐบาลอังกฤษระบุไว้ว่า
“หากแผนธุรกิจที่ทำมาไม่ผ่านการอนุมัติ John DeLorean จะต้องเข้ามาสานต่อและรับหน้าที่
ในการหาผู้ลงทุนมารับช่วงบริษัทต่อให้ได้

ณ จุดนี้ Chuck Bennington และทีมถึงกับโยนผ้าขาวยอมแพ้ พวกเขาเห็นทางเลือกที่เหลืออยู่
ก็รู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงที่จะไปต่อ เพราะที่ผ่านมา การเชื่อใจ John นั้นเจ็บไม่แพ้กับการนอน
กับอสรพิษ ดังนั้นครั้งนี้ก็คงไม่ต่างอะไร สู้เก็บของกลับบ้านไปเลยดีกว่า

 

แต่ปรากฏว่า..ในครั้งนี้ John พลิกความคาดหมายของทุนคน! เขาหาผู้ร่วมลงทุนได้
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ได้แก่ Minet Management ซึ่งเป็นบริษัทของอังกฤษ พวกเขา
พร้อมที่จะมอบเงินลงทุนขั้นต้นมูลค่าตีเป็นเงินอเมริกันได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากมาย
ไม่แพ้เงินที่รัฐบาลอังกฤษเคยมอบให้กับ DeLorean ในปี 1978 เลย ทุกอย่างที่รัฐบาลอังกฤษ
ต้องทำก็คือแค่อนุมัติเท่านั้น

แล้วก็เช่นเคย ประหนึ่งมีแรงแค้นสักอย่างของรัฐบาลอังกฤษซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ต้องการ
เห็นชื่อ DeLorean บนแผ่นดินนี้อีก จึงบอกว่า “ได้ จะยอมให้ Minet Management เข้ามา
เป็นผู้ลงทุนก็ได้ แต่ถ้าต้องการลายเซ็นจากนายกฯ จะต้องทำตามอีกเงื่อนไข ซึ่งก็คือ
John DeLorean ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารใหญ่สุด ควรจะต้องร่วมลงทุนด้วย
โดยควักกระเป๋าจ่ายเงินในนามของตัวเองเป็นมูลค่า 20% ของยอดลงทุนทั้งหมด”

แน่นอนว่า John ในเวลานั้นมีรายจ่ายท่วมตัว เงินโบนัสที่เคยเบิกมาอย่างน่าอัปยศ
ก็ใช้ไปหมดแล้ว อย่าว่าแต่ 20 ล้านเลย ล้านเดียวบนหัวก็แทบจะขูดมาไม่ได้ด้วยซ้ำ
รัฐบาลอังกฤษกระหยิ่มยิ้มย่องในใจ พวกเขาคิดว่ารอบนี้ DeLorean ได้ถึงคราวอวสานแน่ๆ
ถ้าไม่ใช่เพราะความหวังดีแบบตาใสๆของบริษัท Minet Management มาขวางเอาไว้

Minet Management รับทราบเงื่อนไขต่างๆของรัฐบาลดี แต่ก็ตีโจทย์ออกว่าไม่ได้มีข้อบังคับใดๆ
มาห้ามไม่ให้ John DeLorean กู้เงินมาร่วมทุนในนามของตัวเอง จึงกระซิบบอก John
ว่าพวกเขาสามารถช่วยเจรจากับทางบริษัท FSI Management ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหา
เรื่องเงินให้กับ John ได้ แล้วพวกเขาก็ทำตามที่บอกไว้ได้จริง เพราะในต้นเดือนตุลาคม
Jeanne Firma ซึ่งเป็นบอสใหญ่ของ FSI ลงทุนบินมาถึงโรงงานที่ Dunmurry ด้วยตัวเอง
และได้เยี่ยมชมโรงงานพร้อมกับหารือข้อตกลงทางธุรกิจกับ John ว่า FSI ยินดีที่จะให้เงิน
20 ล้านดอลลาร์โดยที่ John เพียงแค่ลงนามในเอกสาร 2-3 ชุดเท่านั้น John แสดงความ
ขอบคุณต่อ Jeanne และบอกว่าเขาต้องการเงินจากทาง FSI แค่ 10 ล้านพอ ส่วน 10 ล้าน
ที่เหลือนั้นเขาจะพยายามหามาเอง

 

ทุกอย่างดูราบรื่น และทุกคนก็เตรียมพร้อมที่จะได้กลับมาทำงานอีกครั้ง ขนาดลุง Ken ได้ทราบ
ข่าวเรื่องผู้ลงทุนใหม่ที่ดูแล้วอนาคตสดใสก็รู้สึกยินดีแทน เขาบอกกับทีมงาน DMCL ว่า
“เราจะได้กลับมาผลิตรถกันอีกครั้ง และคราวนี้น่าจะจ้างแรงงานกลับมาทำงานได้สักพันคน”
รัฐบาลอังกฤษขีดเส้นตายให้เอกสารทุกอย่างส่งถึงมือภายในวันที่ 20 ตุลาคม 1982
Jeanne Firma ก็รับทราบกำหนดการดังกล่าวพร้อมกับรีบทำจดหมายและแพ็คเอกสารทุกอย่าง
ส่งไปถึงสำนักงานใหญ่ของ DeLorean ใน New York ช่วงเช้าวันที่ 19 ตุลาคม

 

แต่ด้วยเหตุอันใดก็ไม่ทราบ..John ทิ้งเอกสารจาก FSI Management ไว้บนโต๊ะ ส่วนตัวเอง
ก็นั่งเครื่องบินไปโผล่ที่ Los Angeles

เขาถูก FBI ทำการจับกุมที่ห้อง 501 โรงแรม Sheraton La Reina ใกล้กับสนามบิน L.A.

ผมให้ควินน์เล่าต่อจากจุดนี้ไปจะดีกว่า เพราะเรื่องราวมันไปเชื่อมต่อกับตอนที่ James Hoffman
เข้าไปทำการติดต่อเรื่องธุรกิจยาเสพย์ติดพอดี

“Hoffman ทำงานสำเร็จ เขาสามารถชักนำ John ให้มาพบกับเอเย่นต์ค้ายาที่ L.A. ได้
แต่ถึงพูดว่าเอเย่นต์ค้ายา อันที่จริงคนที่อยู่ในห้อง 501 ล้วนแล้วแต่เป็นคนจาก FBI ทั้งนั้น
John นั่งคุยกับทุกคนบนโซฟาอย่างผ่อนคลาย ณ จุดหนึ่ง กระเป๋าใบใหญ่ถูกนำมาวางตรงหน้า
เมื่อมันถูกเปิดออกก็พบว่าข้างในเป็นโคเคนเต็มกระเป๋า” ควินน์เล่า “และเมื่อ John ได้เห็นดังนั้น
เขาก็พูดว่า “เห้ย นี่มันดีพอๆกับทองคำเลยแถมอันที่จริงทองมันยังหนักกว่านี้ด้วยนะ” หลังจากนั้น
ทุกคนก็นั่งชนแก้วกันในขณะที่ John พูดขอบคุณทุกคนในวงค้าขายโคเคนนั้น”

ESS01 ESS02

ควินน์เล่าต่อ “แล้วทันใดนั้น เจ้าหน้าที่ FBI ก็โผล่มาแสดงตัวโชว์ตราประจำตัว แล้วก็บอก Johnว่า
John DeLorean คุณถูกจับในข้อหาซื้อขายยาเสพย์ติดร้ายแรง..พวกเขาใส่กุญแจมือ John
แล้วก็นำตัวออกจากโรงแรมไป Cristina ภรรยาของเขาได้รับทราบข่าวก็เดินทางมาสมทบ
และคอยเป็นกำลังใจให้ ทั้งๆที่ความจริง Cristina เองก็รู้อยู่แก่ใจว่าคงสักวันแหละที่จะต้องมี
เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้น Roy Nesseth ก็มาดูชะตาของนายตัวเองด้วย แต่ก็หลบมุมอยู่ในเงามืด
ห่างไกลจากบรรดาช่างภาพและแสงไฟต่างๆ”

“ปริมาณโคเคนที่ถูกนำมาที่ห้อง 501 ในวันนั้นเยอะมั้ย” ผมถาม
“ที่แน่ๆคือนอกจากในกระเป๋าแล้ว ยังมีในกระเป๋าอีกหลายใบที่เอามาด้วย รวมๆแล้ววันนั้น
น่าจะมีโคเคนอยู่ในห้อง 501 สักร้อยโลเห็นจะได้ มูลค่าการซื้อขายก็ตกราวๆ 1.8 ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐฯ..แล้วจากนั้น James Hoffman นกต่อของ FBI ที่เป็นอดีตพ่อค้ายาก็ไปให้การ
ในศาลชั้นต้นว่า John DeLorean โทรมาหาเขา พร้อมกับบอกว่าต้องการเงิน 17 ล้านดอลลาร์
อย่างด่วนเพื่อเอาไปเซฟบริษัทตัวเอง และขอให้ Hoffman คิดหาวิธีที่จะได้เงินเร็วที่สุด ซึ่งเมื่อ
Hoffman เสนอข้อตกลงเรื่องการซื้อขายโคเคน John DeLorean ก็ยอม และร้องขอให้จัดการ
ซื้อขายเอาเงินมาให้ได้เร็วที่สุด”

“แล้วทำไม John DeLorean ซึ่งมี FSI Management คอยสนับสนุนเรื่องเงินอยู่แล้วต้องมาพัวพัน
กับเรื่องยาเสพย์ติดทั้งที่ไม่จำเป็นต้องยุ่ง” ผมถาม

“เรื่องนี้ ก็แล้วแต่ว่าคุณจะเชื่อใคร ถ้าเชื่อ DeLorean เขาก็เล่าให้ฟังในชั้นศาลว่าได้รับการข่มขู่
จากบุคคลไม่ประสงค์ออกนามให้ไปที่โรงแรม Sheraton La Reina ตามวันและเวลาดังกล่าว
และดำเนินการซื้อขายโคเคนให้เสร็จสิ้น หากไม่เช่นนั้นแล้วทั้งภรรยาและลูกสาวของเขาก็อาจ
ถูกสั่งเก็บ John บอกว่าเรื่องนี้ทำให้เขาลำบากใจมาก แต่ในที่สุดก็ต้องยอมทำตาม ครั้นพวก
FBI จะหาหลักฐานเสียงบันทึกมายืนยันก็ไม่ได้ เพราะในการสนทนาระหว่างเอเย่นต์ค้ายาปลอม
กับ John นั้น มี 2 ครั้งที่ไม่ได้มีการบันทึกหรือดักฟังการสนทนาเอาไว้ ทำให้ใครจะแต่งเรื่องยังไงก็ได้”

“อ่าฮะ แล้วถ้าผมไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับ John ล่ะ?”

“ก็เดาได้นี่ คุณก็รู้ว่านิสัยของ John ที่ผ่านมานั้นเหลวแหลกเรื่องวินัยการใช้จ่าย และเป็นโรค
เสพย์ติดความสบาย เขาชอบเงินที่ได้มาโดยง่าย และมักหย่อนยานมากเรื่องการใช้หนี้ ถึงบอกว่า
FSI Management จะให้เงิน 10 หรือ 20 ล้าน ท้ายสุด John DeLorean เองก็ต้องจ่ายเงินคืน
แต่ถ้ามีวิธีที่เสกเงินฟรีๆเข้ากระเป๋าตัวเองได้ เรื่องอะไรต้องไปเสียเงิน”

“แล้วมีทฤษฎีอื่นที่ไม่ใช่เรื่องความอยากได้ผลงานของ Hoffman กับ FBI หรือเรื่องนิสัยเสีย
เรื่องเงินของ John มั้ย”

“มี แต่อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ หลายคนโดยเฉพาะพวกชาวคาธอลิกที่ยึดมั่นศรัทธาในตัว John
เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลอังกฤษ แม้แต่ Nick Sutton ผู้เขียนเรื่อง The DeLorean Story
ยังค่อนข้างเชื่อว่ามันเป็นการรวมหัวกันระหว่างนาง Margaret Thatcher และ Ronald Reagan
ซึ่งมีการให้สายลับของทั้ง 2 ฝ่ายคอยสืบเรื่องของ DeLorean อยู่ตลอด และแผนการตั้งกาว
ดักหนู..หนูตัวใหญ่หิวเงินที่ชื่อ John DeLorean นี่ก็เป็นความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะได้
ประโยชน์กันทั้งคู่ Margaret Thatcher สามารถกำจัดเสี้ยนตำตีนอย่าง DMCL ไปจากตัวเอง
ได้ตลอดกาล ส่วน Ronald Reagan ก็ได้โปรโมทแคมเปญต่อต้านยาเสพย์ติดของเขาด้วย”

 

ข่าวเรื่องการจับกุม บวกกับข่าวจากฟากอังกฤษซึ่งมีการแถลงภายในวันต่อมาว่า “ในบัญชี
การใช้จ่ายของ DeLorean นั้น พบว่ามีเงินจำนวน 17.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่หายไป
และไม่ทราบว่าตกลงเงินจำนวนนี้ไปอยู่ที่ใคร” เพียงเท่านี้ Minet Management ก็ยกเลิก
การซื้อกิจการไปเรียบร้อย ทำให้ทีม DeLorean ไม่สามารถปฏิบัติตามเส้นตายของรัฐบาลได้

บริษัท DeLorean Motor Cars Limited จึงถูกทิ้งดิ่งให้เหมือนซากขยะในสายพานที่ลำเลียง
เข้าสู่เตาเผาอย่างไม่มีใครช่วยอะไรได้อีกแล้ว ถ้าใครก็ตามต้องการฆ่า DeLorean..
พวกเขาก็ทำสำเร็จแล้วในเดือนตุลาคมนี่เอง แรงงานที่เหลืออยู่เพียงไม่ถึง 200 คนซึ่ง
ในจำนวนนี้รวมพนักงานระดับบริหารบางคนที่ยังมีใจทำงานต่อนั้น จะสานงานในการ
ประกอบรถที่เหลืออยู่ให้เสร็จ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่ขั้นตอนการพิทักษ์ทรัพย์ จนถึงวันล่มสลาย
พวกเขาใช้ยุทธวิธีแร้งจกชิ้นส่วนมารวมประกอบเป็นรถได้ทั้งสิ้นเกือบ 2,000 คัน

 

ในช่วงปลายปี 1982 นั้น บริษัท Consolidated International (ทุกวันนี้คือห้าง Big Lots)
ได้เข้ามากว้านซื้อรถ DeLorean ไปจำนวนกว่าพันคัน และจ้างผู้จัดการโรงงานและแรงงาน
ที่เหลืออยู่ในการประกอบรถ 77 คันสุดท้ายจากชิ้นส่วนเท่าที่หาได้ พร้อมกันนี้ยังได้ซื้ออะไหล่
ส่วนที่ไม่สามารถนำมาผลิตเป็นรถได้ทั้งคันเอามาสต็อกไว้สำหรับขายลูกค้าอีกด้วย
ถ้าหากว่าเจอ DeLorean DMC-12 ตัวเป็นๆ ให้ดูที่เลข VIN ของรถ ถ้าหากขึ้นต้นด้วย
อักษร DD แล้วตามด้วยเลข 5 หลัก นั่นล่ะคือรถที่ Consolidated International ซื้อไป

รถ DeLorean DMC-12 คันสุดท้ายที่ออกจากโรงงานมีเลข VIN คือ DD020105
มันคือรถ Gold Car ที่ประกอบขึ้นจากพาร์ทสำรองที่ขนส่งมาจากเยอรมนีมาเก็บไว้
ตั้งแต่ปี 1981 แล้วไม่ได้ใช้นั่นเอง

 

รัฐบาลอังกฤษสั่งปิดโรงงานอย่างถาวร แรงงาน DMCL ทั้งหมดจะต้องไปฝากชะตากรรม
ไว้กับบริษัทอื่นในท้องถิ่นซึ่งก็ประสบปัญหาด้านเงินและการปลดพนักงานอยู่ด้วยกันทั้งหมด
หลายต่อหลายคนจากจำนวนนั้น ไม่เคยได้งานที่ไหนทำอีกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ส่วนคนที่ยังดิ้นรนได้ ก็ต้องดิ้นรนต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – – – –

ในช่วงเวลาคู่ขนานเดียวกันกับที่โรงงานใช้แรงงานกลุ่มสุดท้ายประกอบรถขายให้กับ
Consolidated International นั้น ลุง Ken ซึ่งหมดหน้าที่การเป็นโค้ชใจดีให้กับ “ทีม DMCL”
ก็ถูกสั่งให้ไปทำตัวเป็นนักสืบโคนันทางการเงิน แล้วไปหามาให้ได้ว่าเงิน 17.65 ล้านดอลลาร์
นั้นหายไปไหน และอยู่ที่ใคร

“อันที่จริงลุงรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงกลางปีแล้ว แต่ไม่ได้ลุยเต็มที่เพราะหน้าที่หลักของแกคือการ
ทำให้คนงานนับพันได้มีโอกาสทำงานต่อไป พอได้รับคำสั่งลุยเต็มที่ แกก็สืบสวนเรื่องราว
จนในที่สุดก็พบว่ามีเอกสารบันทึกจากทาง Citibank ที่อเมริกา เขียนไปหาธนาคารฯใน
เนเธอร์แลนด์เรื่องการโอนเงินสินเชื่อจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีบัญชีปลายทางเป็น John DeLorean
และเงินจำนวนดังกล่าวก็มาจาก Lotus” ควินน์เล่า

“แปลกดี DeLorean เป็นคนจ้าง Lotus ทำรถ แล้ว Lotus จะโอนเงินมาให้ John ทำไม?”

“เป็นข้อตกลงลับๆที่ John มีกับ Colin Chapman ผู้ก่อตั้ง Lotus ซึ่งมันต้องสืบย้อนไปจนถึง
ช่วงแรกๆที่พวกเขาเจอกันในปี 1978-1979 ว่าไปตกลงกันไว้อีท่าไหน แต่ที่แน่ๆคือมีบริษัท GPD
ซึ่งเป็นของสองสามีภรรยา เป็นบริษัทจดทะเบียนสัญชาติเป็นปานามา และได้รับมอบหมาย
ในการโอนถ่ายเงินจาก DeLorean ในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากรัฐบาลอังกฤษนั่นล่ะ
แล้วมาผ่านที่ GPD สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเจนีวา แล้วก็โอนต่อไปที่ DeLorean Motor
สำนักงานใหญ่ New York พร้อมทั้งรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลการจ่ายเงินไปสู่ Lotus ด้วย”

“ถ้างั้น ก็พอเข้าใจได้ว่าเงินที่ไปเข้า DeLorean อเมริกานั้นมีหลักฐานทางบัญชีถูกต้อง แต่เงิน
ที่ไปหา Lotus นั้นคือก้อนที่หายไป ถูกมั้ย” ผมถามกลับ

“แน่นอน เพราะในช่วงต้นทศวรรษที่ 80s นั้น Lotus เองก็อยู่ในอาการย่ำแย่ ทั้งปีขายรถได้
ไม่ถึง 400 คัน ก่อนหน้านั้นก็มีปัญหาทางการเงินรุมเร้ามาตลอด ดังนั้นถ้า Chapman
มีโอกาสได้เงินหรือซ่อนเงินไว้ได้สักจำนวนหนึ่งก็ไม่แปลก ตอนทำข้อตกลงว่าจ้างพัฒนารถ
DMC-12 Chapman ยังบอกเลยว่าให้หาวิธีจ่ายเงินที่ไม่ต้องเสียภาษีมาก คิดว่าส่วนนึง
ก็คงเป็นวิธีการโอนผ่านบริษัท GPD เนี่ยล่ะ” ควินน์ตอบ

ในปี 1982 นั้นลุง Ken (Kenneth Cork) ได้ตามหาเงินโดยสืบย้อนจากอเมริกากลับไป
ที่อังกฤษจนทราบแล้วว่าเงินของรัฐบาล 17.65 ล้านดอลลาร์ (10 ล้านปอนด์) ไปอยู่ที่ Lotus
แต่เมื่อให้ Fred Bushel ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) ของ Lotus ไปเอาหลักฐานมา
กลับไม่พบบันทึกว่ามีเงินจำนวนดังกล่าวเข้าไปที่บัญชีของบริษัท ลุง Ken มั่นใจว่าเงิน
หล่นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลแถวนี้แน่นอน จึงเอ่ยปากขอนัด Colin Chapman เพื่อคุยเรื่องนี้

Colin Chapman ก็บ่ายเบี่ยงเลี่ยงนัดเท่าที่ทำได้ และถึงแม้สามารถมาพบกับลุง Ken ตามนัดได้
เขาก็เลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถาม หรือตอบไม่ตรงจุด แต่ลุง Ken ก็สามารถใช้กำลังภายใน
ค้นจนเจอว่ามีสัญญาที่มีการลงนามระหว่าง John DeLorean, Colin Chapman, Fred Bushell
และสามีภรรยา Juhan เจ้าของและผู้มีอำนาจลงนามจากบริษัท GPD โดยที่เอกสารชุดนี้มี 2 ชุด
สำหรับ John และ Chapman คนละชุด ซึ่งหลังจากอ่านสัญญาอย่างละเอียด ลุง Ken ก็พบว่า
เอกสาร 2 ชุดนี้ระบุรายละเอียดข้อมูลเรื่องเงินไม่เหมือนกัน

และในที่สุดก็พบหลักฐานว่ามีการโอนเงิน 8.9 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 50.1% ของจำนวนเงิน
ที่หายไป) จาก Lotus กลับเข้าไปยังบัญชีของ John DeLorean ที่อเมริกา และยังหาปลายทาง
เจอด้วยว่า John เอาเงินไปใช้ซื้อกิจการ Logan Manufacturing, จ่ายหนี้ตัวเอง และนำไปซื้อ
เครื่องประดับเพชรพลอยจากร้านไหนอย่างไร เรียกได้ว่าลุง Ken เตรียมหลักฐานมาครบชนิด
กะเอาทั้ง Chapman และ John ให้ไปช่วยกันเก็บสบู่ในเรือนจำอังกฤษได้นานกว่า 5 ปีในข้อหา
ยักยอกเงินหลวงไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

ดังนั้นในเดือนธันวาคม ลุง Ken จึงขอนัด Colin Chapman อีกรอบ ซึ่งตกลงกันไว้ว่าจะเป็นช่วง
วันที่ 17-20 ธันวาคม (ก่อนคริสต์มาส) ลุง Ken เตรียมคำถามและหลักฐานพร้อมเพื่อที่จะ
จัดการกับเหยื่ออยู่แล้ว Chapman เองก็เหมือนนกรู้ จึงแอบนั่งเครื่องบิน Cessna จาก Hethel
ไปนัดพบกับสามีภรรยา Juhan (GPD) ที่ Paris ในวันที่ 15 ธันวาคม โดยไม่มีใครทราบว่า
คุยกันเรื่องอะไรแต่ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ทางการกำลังไล่บี้และการพยายามหาทางเอาตัวรอด

Chapman บินกลับ Hethel ในคืนนั้น

 

เขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายอย่างเฉียบพลันในช่วงเช้าวันถัดมา

 

ลุง Ken ไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งที่เขาตั้งใจไว้ เพราะเมื่อ Chapman ตายไป ความลับทุกอย่าง
ที่เกี่ยวกับเงิน GPD ก็ตายไปด้วยกัน ดังนั้นจึงเหลือแค่ 2 คนที่พอจะนำมาไต่สวนได้ ซึ่งก็คือ
Fred Bushell และ John DeLorean

ในขณะนั้น John เองก็กำลังตกเป็นประเด็นสังคมด้วยเรื่องซื้อขายโคเคนอันอื้อฉาว
ศาลดำเนินการพิจารณาคดีอีกครั้งในปี 1984 โดยในระหว่างเดือน ต.ค. ปี 1982 ถึงวัน
พิจารณาคดีนั้นเขาถูกสั่งไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ และถูกประกันตัวไปด้วยวงเงิน
500,000 ดอลลาร์ พร้อมกับต้องมารายงานตัวและเข้าการพิจารณาคดีตามกำหนดศาล

ส่วนในปี 1983 นั้นไม่มีอะไรสำคัญเกิดขึ้นนอกจากรถประมาณ 1,100 คันที่ DMCL ประกอบและ
ถูกกว้านซื้อนำไปขายโดย Consolidated International ซึ่งเปิดราคามา 21,000 ดอลลาร์
แล้วในภายหลังก็ต้องลดราคาลงมาจนเหลือแค่ 18,995 ดอลลาร์กว่าจะขายได้

John เป็นข่าวอีกครั้งในปีถัดมา วันที่ 16 สิงหาคม 1984 หรือเกือบ 2 ปีหลังจากถูกจับกุม
เป็นกำหนดการพิจารณาขั้นสุดท้ายที่จะตัดสินชะตาชีวิต ทาง John มีอัศวินเป็นทนายความ
ชื่อดังอย่าง Howard Weitzman ซึ่งมีชื่อเสียงจากการว่าความให้ดาราและเซเล็บจนสามารถ
พลิกคดีกลับมาชนะได้หลายคดี มีคนใช้บริการมากมายทั้ง Michael Jackson, Marlon Brando,
Courtney Love และถ้าเป็นยุคปัจจุบัน ลูกค้าคนล่าสุดคือ Justin Bieber…

เมื่อเริ่มเปิดศาล อัยการและทางฝั่ง FBI พยายามจี้ประเด็นที่ John มีส่วนรู้เห็นและตกลง
รับโคเคนในกระเป๋าเหล่านั้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า John มีความตั้งใจที่จะลุยธุรกิจโคเคนจริง
แต่ผู้พิพากษาก็ยังไม่รู้สึกพอใจกับหลักฐานเท่าที่มีมา และมองว่าพฤติกรรมการเข้าจับกุม
อยู่ในข่ายล่อซื้อล่อขาย โดยไม่มีสิ่งใดพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดได้จริงว่า John เตรียมการมาก่อน
ดังนั้นเมื่อ FBI เริ่มตกเป็นมวยรอง พวกเขาก็พยายามซื้อใจลูกขุนโดยการฉายวิดิโอแอบถ่าย
ซึ่งตั้งกล้องเอาไว้ในขณะจับกุมและชี้ให้เห็นว่ามีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง

วิดิโอดังกล่าวทำให้ทนาย Howard Weitzman สามารถคิดบางอย่างออกได้ เมื่อถึงตาเขา
ลุกขึ้นว่าความ จึงได้ขออนุญาตศาลในการตั้งคำถามจากฝั่ง FBI ดังนี้

1. John DeLorean ทราบหรือไม่ว่าวันนั้นจะมีการเอาโคเคนของจริงมาที่ห้อง 501 ด้วย
คำตอบที่ได้รับคือ “เขาไม่ทราบว่าจะมีการนำโคเคนมา”
2. John DeLorean เป็นผู้นำโคเคนเหล่านั้นมาเองหรือไม่
คำตอบคือ “เขาไม่ได้นำมา คนที่เอามาคือ FBI ที่จัดเตรียมไว้เอง”
3. ในการสนทนาที่ห้อง 501 มีช่วงใดหรือไม่ที่ John พูดในเชิงว่าจะนำกระเป๋าใบนั้นไปด้วย
คำตอบคือ “ไม่ได้พูดเลย”
4. คำถามข้อสุดท้ายคือ John ได้นำเงินสดติดตัวมาเพื่อซื้อ/หรือจ่ายค่าตอบแทนเพื่อซื้อ
โคเคนเหล่านั้นไว้หรือไม่
คำตอบคือ “ไม่”

เพียงเท่านี้ ทนายเฟี้ยวยักคิ้ว 1 ข้างขึ้นแล้วยิ้มออก
“ศาลที่เคารพ และคณะลูกขุน..เห็นได้ชัดว่า John ไม่ได้รับทราบว่าวันนั้นจะมีการนำโคเคนมา
และไม่ได้แตะโคเคนเลยสักนิด แล้วก็ยังไม่ได้มีการนำเงินมาซื้อขาย ไม่ได้เอาโคเคนกลับไป
ตามกฎหมายแล้ว John จะเป็นผู้ร้ายไปได้อย่างไร? เขาไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมด้วยซ้ำ
และไม่มีหลักฐานใดๆที่สามารถยืนยันได้ว่า John ทำการค้ายา มีแต่คำพูดในวิดิโอนั้น ซึ่ง
John ได้ให้การแล้วว่าต้องพูดและทำในสิ่งที่ทำเนื่องจากกลัวภรรยาและลูกถูกปองร้ายนั่นเอง”

zdmc0020rs

คณะลูกขุนพิจารณาหลักฐาน และท้ายสุดก็ลงความเห็นตัดสินให้ John DeLorean
พ้นความผิดจากข้อหาการซื้อขายยาเสพย์ติด แต่ในเวลานั้นชื่อเสียงของเขาก็ป่นปี้ไปพร้อมๆ
กับเศษดินเศษฝุ่นหน้าโรงงานที่ Dunmurry แล้ว

 

บทจบ: LIFE AFTER DELOREAN

Cristina Ferrare The Hot Wife ของเขาฟ้องหย่าจาก John ในปี 1985 โดยเอาลูกสาวไปเลี้ยงด้วย
ในการไต่สวนปี 1985 นั้นเธอได้ให้การกับศาลว่าในช่วงเวลาระหว่างที่ยังเป็นสามารถภรรยา
กันอยู่นั้นเธอเคยเห็น John ฝึกปลอมลายเซ็นคนอื่น โดยเธอสามารถจำได้ว่าลายเซ็นเหล่านั้น
ก็มีของ Colin Chapman อยู่ด้วย นอกจากนี้ John ยังเคยโชว์เทคนิคการทำเอกสารใหม่ให้ดูเก่า
แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานใดๆที่สามารถชี้ชัดได้ว่า John ได้ทำเอกสารเหล่านี้ไปใช้ที่ไหนบ้าง
ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานมัดตัวได้

ส่วนลุง Ken นั้น หลังจากที่รอฝั่งอเมริกาตัดสินคดีเรื่องยาเสพย์ติดเสร็จ เขาก็บินมาอเมริกา
เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องเงิน GPD หลักฐานที่ลุง Ken เตรียมมานั้นมากพอที่จะทำให้
John ไม่สามารถเฉไฉทำเป็นตาใสไม่รู้เรื่องได้อีกแล้ว เพราะหลักฐานการนำเงินไปใช้มันทนโท่
หลังจากที่คาดคั้นกันพอสมควร John จึงบอกกับตัวแทนจากรัฐบาลอังกฤษในการไต่สวนว่า
เงินจำนวน 8.9 ล้านดอลลาร์นั้น เป็นเงินที่เขาขอยืมมาจาก Colin Chapman เพื่อนำไปใช้
ในการส่วนตัว เขาไม่ได้รู้เห็นอะไรกับการทุจริตในครั้งนี้

“ก็ Chapman ตายไปแล้วนี่ โยนบาปให้คนตายเป็นเรื่องง่าย” ควินน์แทรก

ลุง Ken มีแต่หลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีการโอนเงินจากไอร์แลนด์เหนือผ่าน GPD ไปลงที่ Lotus
โดยไม่ทราบจุดประสงค์ แต่ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่า John รู้เห็นกับการโอนเงิน
8.9 ล้านจากอังกฤษไปสู่บัญชีเขา ถ้าไม่ใช่ว่า John กะล่อน ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีการขอยืมเงิน
จริงโดยที่ John ไม่รู้ว่า Chapman เอาเงินจากไหนมาให้ เมื่อระบบตัดสินคดีต้องดำเนินด้วย
หลักฐาน ก็ไม่สามารถเอาผิดจากความเชื่อจากสถานการณ์โดยรอบได้ หลายคนไม่เชื่อ John
เพราะในช่วงเวลานั้น Lotus ก็ฝืดเคืองจะตายชักอยู่แล้ว ทำไมต้องเอาเงินจำนวน 8.9 ล้าน
ไปให้คนอื่นยืม ทุกอย่างดูไม่สมเหตุสมผล

แต่ความที่เจอคนมาหลายรูปแบบ ลุง Ken มองเห็นแสงสว่างปลายทางแล้วก็เอ่ย
ถ้อยคำต่อหน้าตัวแทนเจ้าหนี้ รัฐบาลจากสองประเทศว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว ในเมื่อเรา
ยอมรับกันว่าเงินของรัฐบาลอังกฤษนับสิบล้านปอนด์หายไปอยู่กับ Lotus โดยที่ไม่
สามารถแจกแจงได้ว่าหายไปไหน ดังนั้นเท่ากับว่า Lotus หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ Colin Chapman
ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาชดใช้คืนให้กับรัฐ

แต่เนื่องจากคุณ John DeLorean ได้ยืมเงินของ Chapman ไป 8.9 ล้าน Chapman ซึ่งเป็น
เจ้าหนี้ของ John DeLorean ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ของรัฐบาลอังกฤษ และเพราะการที่ Chapman
ได้เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นจึงเท่ากับว่า John DeLorean ต้องใช้คืนเงินจำนวนดังกล่าว โดย
แทนที่จะจ่ายเข้าไปที่ Lotus ก็เอามาจ่ายให้กับรัฐบาลอังกฤษไปเลยก็แล้วกัน”

ศาลระหว่างประเทศตัดสินในเบื้องต้นให้ John DeLorean ต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว
พร้อมทั้งอัตราเงินเฟ้อให้กับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งกว่าจะชดใช้หมดก็ต้องรอไปถึงปี 1992
และหมดเงินไปกว่า 9.5 ล้านดอลลาร์

ลุง Ken ถอนตัวจากการเป็นมือสืบสวนทางการเงินไม่กี่ปีหลังจากการไต่สวนในครั้งนั้น
เขาเสียชีวิตลงในปี 1991 แต่มรดกความวุ่นวายจาก DeLorean ยังคงอยู่ต่อไป

Fred Bushell ซึ่งเป็น CFO ของ Lotus ให้การรับสารภาพในภายหลังว่ามีการรับเงิน
จาก GPD เข้า Lotus โดยไม่ได้ลงบัญชีของบริษัท โดยที่ตัวเขาเองก็ได้รับเงิน 848,000 ดอลลาร์
เป็นค่าตอบแทนในการช่วยอำนวยการยักยอกเงิน เขาถูกตัดสินความผิดในปี 1992 โดย
ถูกปรับ 1.5 ล้านปอนด์ และจำคุก 3 ปีข้อหายักยอกและรู้เห็นเป็นใจในการยักยอกเงินของรัฐ
การสืบสวนภายหลังทำให้ระบุได้ว่ามีเงิน 7.5 ล้านถูกโอนถ่ายไปยังบัญชีส่วนตัวของ Chapman
แต่ก็ไม่สามารถเรียกคืนมาได้แล้ว และที่ร้ายไปกว่านั้นคือยังมีคดีความเกี่ยวกับเรื่องเงินและ
หลักฐานเพิ่มเติมที่จะเล่นงาน John DeLorean ได้อีก แต่เมื่อเรื่องราวผ่านล่วงมาจนถึงปี 1992
รัฐบาลสหรัฐปฏิเสธที่จะส่งตัว John ไปขึ้นศาลในอังกฤษ เนื่องจากว่าตามกฏของอเมริกานั้น
การส่งตัวผู้ร้ายในคดีความธุรกิจข้ามประเทศได้ อายุความของคดีจะต้องไม่เกิน 3 ปี

John ไม่เคยต้องรับโทษอะไรอีกเลยหลังจากนั้น เขาให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้ง
และยืนยันในความเชื่อว่าบาปบนแผ่นดินไอร์แลนด์เหนือนั้น เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ รัฐบาลอังกฤษ
ต่างหากที่ทำให้เกิดเรื่องเศร้าดังกล่าวขึ้น

ควินน์เล่าว่า “ในปี 1988 เขาพูดออกรายการข่าวเลยว่า เขาเชื่อว่าบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด
รัฐบาลอังกฤษนั่นล่ะที่พยายามจะฆ่าธุรกิจของเขา เขารู้สึกได้เลยว่าพอเปลี่ยนมาเป็น
รัฐบาล Thatcher แล้วดูเหมือนไมตรีที่เคยได้รับก็เปลี่ยนเป็นความเย็นชา เขารู้สึกเหมือนกับ
มีคนอยากกำจัดเขาทิ้งอยู่ตลอดเวลา”

“ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งช่วยได้ แต่เลือกที่จะไม่ช่วย แล้วก็อาจจะเป็น
เหตุผลส่วนตัวรวมกับเรื่องการเมือง ผมคิดว่าในท้ายสุดเราก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างว่า
การทำธุรกิจมันไม่มีความแน่นอนตราบใดก็ตามที่คุณยืนอยู่บนเงินของคนอื่น” ผมให้ความเห็น

“ผมคิดว่าไม่ใช่หรอก” ควินน์บอก “มีธุรกิจไหนบ้างที่ขยายกิจการได้โดยใช้เงินของตัวเองล้วนๆ
ถึงมี มันก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น ผมคิดว่าการมีหนี้เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ แต่สิ่งที่ John พลาด
คือการขาดภาวะผู้นำ หลายคนมองว่าเขาเป็นผู้นำ แต่ผมว่าไม่ใช่ คนสมัยนี้พอเห็นใครทำอะไรเก่ง
เก่งด้านนั้นด้านนี้ ก็เชิดชูให้เป็นผู้นำ ผู้นำด้านนั้นด้านนี้ ต้องแยกให้ถูกล่ะว่าความเก่งกาจ
กับภาวะผู้นำ มันคนละเรื่องกัน ความเก่งเป็นแค่คุณสมบัติด้านหนึ่งในการเป็นผู้นำ บุคลิกดี
หน้าตาดี พูดจาน่าเชื่อถือ ก็เป็นแค่คุณสมบัติด้านหนึ่งของความเป็นผู้นำ แต่คนจะเป็นผู้นำได้นั้น
เรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาก็คือการตัดสินใจโดยมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่
ตามมา การเชื่อฟังเหตุผลนี่ก็สำคัญ John DeLorean ไม่ฟังใครนอกจากคนที่เห็นด้วยกับเขา
เขาตัดสินใจโดยคิดเอง เออเองแล้วก็หวังว่าทุกอย่างมันต้องออกมาดี แล้วพอมันออกมาไม่ดี
เขาก็หาวิธีที่จะปัดความผิดนั้นให้พ้นตัวเอง โยนความผิดให้คนอื่น คนแบบนี้ต่อให้ฉลาด
ที่สุดในโลกก็ไม่ควรจะเป็นผู้นำ”

“ผมเห็นด้วย อีกข้อหนึ่งที่ผมคิดเกี่ยวกับเรื่องความเป็นผู้นำคือวิธีการที่คุณดูแลลูกน้องและ
พนักงานใต้บังคับบัญชานั่นแหละ เพราะเมื่อคุณไม่สามารถทำตัวให้ลูกน้องไว้ใจได้ ไม่ให้เกียรติ
คุณไม่บอกความจริงกับพวกเขา และไม่อยู่ข้างพวกเขาเมื่อหายนะมาถึง ปล่อยให้ทุกอย่าง
สายเกินแก้ ต่อให้กลับใจในภายหลังก็ยากที่จะเรียกความศรัทธากลับคืนมาได้ มันก็จะมีแต่
คนที่คอยมองความล่มจมด้วยความสมน้ำหน้า ผมพูดผิดตรงไหนบอกได้นะ”

“ไม่ผิดหรอก เพราะในตอนท้ายก็ไม่มีลูกน้องคนไหนอยากช่วย John ที่ประเสริฐที่สุดก็คง
เป็น Cristina ภรรยาคนสวยที่ทนผ่านวิกฤติมาได้นานมากแล้วในที่สุดก็หย่าจากกัน
เพราะไม่มีอะไรที่ดีเหลือในความรู้สึกอีกแล้ว ถ้าความดีงามที่ก่อมาก่อนนั้นมันมากพอ
เราคงได้เห็นการเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมให้ John เราคงได้เห็นลูกน้องรายล้อม
รอฟังการตัดสินใจของเขาอย่างเคารพแม้จะเป็นวันสุดท้ายของบริษัทก็ตาม” ควินน์บอก

“ผมคิดว่าเราได้บทเรียนจากเรื่องนี้แล้วล่ะว่าความใฝ่ฝัน ความปราถณาอันแรงกล้า
และความเฉลียวฉลาด ไม่ใช่เครื่องมือการันตีความสำเร็จในระยะยาว ผมต้องขอบคุณมาก
ที่มาช่วยอยู่เป็นเพื่อนผมและเขียนบทความนี้จนเสร็จ” ผมไม่ลืมที่จะชื่นชมควินน์

“ไม่เป็นไรหรอก ถ้ามีอะไรอีกก็เรียกได้ หรือถ้าจะเขียนถึงรถยี่ห้ออื่น จะให้ผมเรียก
เพื่อนผมมาอีกก็ได้นะ ผมรู้จักเยอะ ทั้งมัตสึโมโตะ เปเตอร์ ชไนเดอร์ ไปจนถึงโรแบร์โต้
จะได้มานั่งคุยกันให้สนุกไปเลย” ควินน์บอก

“คงไม่มีอีกแล้ว ควินน์

ผมเบื่อกับการที่นั่งคุยกับตัวเองจนชาวบ้านเขานึกว่าผมเป็นโรคประสาทแล้วล่ะ
แต่ถ้ามันจำเป็นจริงๆผมจะไม่ลืมคุณแล้วกันนะ ลาก่อน”

– – – – – – – – –

ผมปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ลงไปพร้อมๆกับเสียง Soundtrack จากภาพยนตร์เรื่อง
Back to the Future ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้ DMC-12 มีตำนานโด่งดังมากกว่าที่มันควรเป็น
อย่างน้อยก็โชคดีที่วันนี้ ด้วยความพยายามของบริษัทใน Texas ที่ซื้อชิ้นส่วนและกิจการ
มาเปิดเป็นบริษัท DeLorean แห่งใหม่นั้น ทำให้ผู้ใช้รถ DeLorean มีแหล่งข้อมูลและสถานที
สำหรับซ่อมและเบิกอะไหล่ นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถ DeLorean ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า
ออกมาอีกด้วย มันจะเป็นตำนานต่อไปอีกนับทศวรรษตราบใดที่ศรัทธาในประตูปีกนกคู่นี้
ยังมีอยู่

แต่การสร้างรถขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมากๆนั้น คงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะบรรดา
แท่นปั๊มสแตนเลสขึ้นรูปเปลือนอกและประตูรถนั้นถูกโยนทิ้งลงอ่าว Galway Bay
ในไอร์แลนด์เหนือไปตั้งแต่ปี 1984 ..มันถูกใช้ประโยชน์ในการถ่วงน้ำหนักเพื่อยึด
ตาข่ายกรงสำหรับฟาร์มปลา Salmon

DMC-12 ถูกผลิตออกมาทั้งหมดประมาณ 9,200 คัน ทุกวันนี้ยังมีพวกมันอยู่ในส่วนต่างๆ
ของโลกรวมกันได้ประมาณ 6,500 คัน

zdmc00223

ส่วน John DeLorean นั้น หยุดลมหายใจไปกว่าทศวรรษมาแล้ว

เขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล Overlook ในรัฐ New Jersey เพราะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองแตก
ร่างของเขาถูกฝังเอาไว้ที่สุสาน White Chapel ในเมือง Troy รัฐ Michigan บนป้ายชื่อของเขา
มีรูปรถ DeLorean DMC-12 ที่กำลังกางปีกของมันอย่างสง่างาม

รถรุ่นนี้ก็คือมรดกทางยนตรกรรมชิ้นสุดท้ายที่มอบทั้งบทเรียนและตำนานเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง
ได้จดจำตลอดไป

Wings Spread.
Rest In Peace.

zdmc007
 

ย้อนกลับไปอ่าน Part I
DeLorean DMC-12 : ปีกแห่งความฝัน รอยยิ้ม และน้ำตา ( Part I )

 


สำหรับท่านที่ยังไม่เคยได้สัมผัสตัวจริงของ DeLorean DMC-12
สามารถเดินทางไปชมได้ที่ เจษฎา เทคนิค มิวเซียม จังหวัดนครปฐม

zdmc015

บรรณานุกรม
THE DELOREAN-THE CAR, THE PEOPLE, THE SCANDAL by Nick Sutton
DeLorean DMC-12 Official Brochure (1981)

www.deloreanmuseum.org
www.lotusespritworld.com
www.lotuselancentral.com
ateupwithmotor.com
www.kirschgessner.net
www.entermyworld.com
Knut Grimsrud’s DeLorean Mailing List Site

GSN: Anything to win (John Z. DeLorean)
Greatest Blunder (DeLorean Motor Company)
The Car The Star Documentary (DeLorean)
DeLorean Documentary by Pennebaker/Hegedus
BBC Documentary – CAR CRASH: The DeLorean Story

สงวนลิขสิทธิ์ ตัวบทความ โดยผู้เขียน (Pan Paitoonpong)
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย เป็นของเว็บไซต์ตามที่แจ้งให้เครดิตภาพไว้
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
26 กันยายน 2015

Copyright (c) 2015 Text and some pictures without source identified.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
Some images belongs to other websites as described at given credit on
each image.

First published in www.Headlightmag.com
September 26th, 2015