อากาศในกรุงเทพมันช่างร้อนเสียจริง ต้นไม้ใหญ่ก็ไม่ค่อยมี ทั้งควันไอเสีย ความร้อนที่สะสม
บนพื้นถนน ความร้อนจากเครื่องยนต์ และความร้อนจากแอร์บ้านเรือน จนแทบละลายติดพื้น
เวลาที่เราต้องเดินออกไปข้างนอก

00 Cover

ถ้าคนยังรู้สึกร้อน เครื่องยนต์ก็ร้อนเหมือนกัน – เครื่องยนต์ทำงานด้วยการเผาไหม้
ของเชื้อเพลิง อุณหภูมิของพลังงานที่ได้จากการจุดระเบิดแต่ละครั้งกว่า 2,000 องศาเซลเซียส
ในกระบอกสูบของเครื่องยนต์เบนซิน ฉะนั้นการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไปจึงสำคัญมาก

แล้วอะไรจะมาช่วยควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไป? -ระบบหล่อเย็นหรือระบบน้ำ และ
น้ำมันเครื่องเป็นระบบที่สำคัญอันดับแรกๆ ที่มีผลชี้เป็นชี้ตายต่อการทำงานของเครื่องยนต์
รถยนต์ที่ใช้มาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี จะมีบางชิ้นส่วนที่เริ่มแก่โรยราไปตามอุณหภูมิ และ
อายุการใช้งานไปบ้างแล้ว มีผลให้ระบบระบายความร้อนนั้นทำงานผิดแปลกไป หรือจนกระทั่ง
ไม่สามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิของเครื่องยนต์ได้ ทำให้เครื่องยนต์ร้อนเกินไป เกิดความเสียหาย
ต่อระบบภายในของเครื่องยนต์ หรือที่เราเรียกว่า เครื่องยนต์ ฮีท” นั่นเอง

01

ถ้าคุณใช้รถใหม่ป้ายแดงสดๆ ปัญหาเรื่องระบบความร้อนยังไม่เกิดขึ้นง่ายๆหรอก

แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีรถใหม่ทุกปี บางคนอาจจะเพิ่งซื้อรถยนต์เหมือนกัน แต่เป็นรถยนต์มือสอง
อายุ 10 ปีกว่าๆเสียด้วยซ้ำ ครั้งนี้เรามีวิธีการตรวจเช็ครถยนต์ในหน้าร้อน 5 ขั้นตอนมาฝาก
– วิธีที่ใช้ต่อไปนี้ เป็นวิธีที่ท่านผู้อ่านสามารถตรวจเช็คเบื้องต้นได้ง่ายๆด้วยตนเองที่บ้าน
โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆให้ยุ่งยาก แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่สามารถชี้ขาดได้ว่า รถของท่านปกติ
เหมือนใหม่แต่อย่างใด ท่านควรให้ช่างที่ไว้ใจ ตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์และระบบหล่อเย็น
อย่างน้อยทุกปี และหมั่นสังเกตุอาการผิดปกติด้วย

02

คู่มือตรวจเช็ครถยนต์ในหน้าร้อนด้วยตัวเองเบื้องต้น 5 ขั้นตอน

เริ่มขั้นตอนแรกเมื่อเครื่องเย็น เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง เราแนะนำให้ทำตอนเช้า
ก่อนออกจากบ้าน จะดีที่สุด

ขั้นตอนที่ 1 – มองหาความผิดปกติ และดูระดับกับสภาพน้ำมันเครื่อง

ในขณะที่เครื่องเย็น เปิดฝากระโปรงหน้า มองว่ามีอะไรผิดปรกติไหม มีคราบน้ำ หรือ
คราบน้ำมันเครื่องด้านบนหรือด้านข้างของฝาสูบหรือไม่ บริเวณรอบๆมีอะไรผิดแปลกไป
หรือไม่ ถ้าไม่ หรือไม่รู้ ก็ให้ดึงก้านน้ำมันเครื่องขึ้นมาเช็คก่อนครับ
วิธีการดูระดับน้ำมันเครื่อง ให้มองหาก้านวัดน้ำมันเครื่อง ซึ่งปกติแล้ว จะมีห่วงให้จับดึง
มีสีแดง ส้ม หรือสีเหลืองในรถคันนี้ ดึงขึ้นมา – เช็ดออกก่อน  เอาคราบกระเซ็นออกก่อน
เพื่อความเที่ยงตรง – ใส่ก้านวัดกลับเข้าไป – แล้วดึงขึ้นมาดูอีกที – ระดับน้ำมันเครื่อง
ควรอยู่กึ่งกลางระหว่าง ขีดล่าง/ขีดบนสุด ของก้านวัด ถ้าน้อยให้เติม น้ำมันเครื่องที่ดี
เปลี่ยนตามระยะที่กำหนด จะมีความใสพอให้มองทะลุตัวน้ำมันเห็นโลหะของก้านวัด
กรณีที่สีเปลี่ยนเป็นน้ำตาลข้นเหมือนโอวันตินใส่นม เรียกช่างได้เลย

03-1
03-2

ขั้นตอนที่ 2 ดูระดับกับสภาพน้ำในหม้อพัก และในหม้อน้ำ

เปิดฝาหม้อพักน้ำดูว่า ระดับน้ำในขณะเครื่องเย็นอยู่ระดับใด ถ้าระบบปกติ ระดับน้ำจะอยู่
กึ่งกลางระหว่างขีด Max กับขีด Min หรือไม่เกินขีด Max และไม่น้อยไปกว่าขีด Min
ถ้าแห้งขอดก้นกระปุก แปลว่าไม่ปรกติ ถ้าเต็มจนล้นก็แปลว่าไม่ปรกติเช่นกันครับ

นอกจากระดับน้ำก็ต้องดูสภาพของน้ำในหม้อน้ำและให้กระปุกพักน้ำด้วย ว่าใสหรือข้น
มีคราบสนิมหรือตะกรันมาก/น้อย เพียงใด ถ้มีคราบสนิมบางๆแบบในภาพ แสดงว่าไม่ได้เติม
น้ำยาหล่อเย็น หรือน้ำยาหล่อเย็นหมดสภาพแล้วนั่นเอง ในกรณีเปิดมาเป็นคราบสนิมเหนียวๆ
เหมือนผงโอวันตินข้นๆ น้ำเป็นสีสนิมส้ม หรือแดง ไม่ปรกติและเริ่มอันตราย เข้าเช็คสภาพด่วน

 

04 05

ขั้นตอนที่ 3 – มองหารอยรั่วและคราบน้ำของท่อน้ำและหม้อน้ำ

รถอายุเกิน 7 ปีนั้นผ่านประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย จึงต้องตรวจเช็คสภาพรอบๆ
ของหม้อน้ำ และท่อน้ำ ท่อยางต่างๆว่ามีสภาพกรอบแห้ง หรือมีรอยรั่วรอยแตกบ้างหรือยัง
เพราะระบบน้ำหล่อเย็นเป็นระบบปิดและวิ่งไปมาด้วยแรงดันแบบสุญญากาศ ถ้ามีรอยรั่วให้อากาศ
หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปได้แล้ว มันก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและลุกลามทำให้สุขภาพ
ของชิ้นส่วนอื่นๆทรุดโทรมพังก่อนวัยอันควรได้ ถ้ารถยนต์ของคุณใส่น้ำยาหม้อน้ำที่เป็นสีต่างๆ
เพราะถ้ามีรอยรั่ว จะมีคราบสีของน้ำยาหม้อน้ำแห้งๆเกาะอยู่ ทำให้เราสังเกตุได้ง่ายขึ้น

 

06
07

ขั้นตอนที่ 4 – ตรวจเช็คพัดลมไฟฟ้าเบื้องต้น

สตาร์ทเครื่อง แล้วเปิดแอร์ เดินลงไปดูว่า พัดลมไฟฟ้าทำงานไหม ถ้าทำข้ามไป ถ้าไม่ทำ
โทรศัพท์คุยกับช่างได้เลย พัดลมไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในรถยนต์
แบบใช้น้ำหล่อเย็น เพราะรถยนต์ไม่ได้เคลื่อนที่ตลอดเวลา ถ้าอากาศไม่เคลื่อนที่ผ่านหม้อน้ำ
หม้อน้ำก็จะระบายความร้อนได้ไม่เร็วพอ จึงต้องมีพัดลมไฟฟ้าหรือพัดลมเครื่องยนต์เพิ่มเข้ามา
ดูด/ดันให้อากาศไหลผ่านหม้อน้ำเวลารถยนต์ไม่เคลื่อนที่ แล้วอุณหภูมิน้ำสูงเกิน

 

08

– อันที่จริงแล้ว พัดลมไฟฟ้าทำงานในสถานการณ์ต่างๆกันไป การเปิดแอร์แล้วเช็คว่า พัดลม
ทำงานหรือไม่ ก็เป็นอีกสถานการณ์ที่สามารถอ้างอิงได้สถานการณ์หนึ่ง ถ้าคุณเป็นคนขับรถเปิดแอร์
เมื่อแอร์ทำงาน พัดลมไฟฟ้าก็จะทำงานเพื่อระบายความร้อนน้ำยาแอร์จากแผงแอร์ที่อยู่บริเวณ
หม้อน้ำนั่นเอง

09

– ถ้าแอร์เสีย หรือเป็นคนที่ขับรถไม่เปิดแอร์ พัดลมไฟฟ้าจะทำงานตามเซ็นเซอร์อุณหภูมิที่
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้กำหนดไว้ ตรวจเช็คได้ด้วยการติดเครื่องไว้สักพักหนึ่ง พัดลมจะทำงาน
เมื่อถึงอุณหภูมิทำงานของเครื่องยนต์ เข็มความร้อนถึงขีดกลาง หรือสักพักใหญ่ๆ
เมื่อไฟสัญญาณเครื่องยนต์เย็นดับ (ในรถที่ไม่มีเข็มแสดงอุณหภูมิ)

 

ขั้นตอนที่ 5 – ตรวจเช็ค วาล์วน้ำ และการไหลเวียนของน้ำ

เพื่อความปลอดภัยให้ดับเครื่องยนต์ ลองเอาผ้ารองมือแล้วบีบท่อทั้งสองด้านของหม้อน้ำ
ว่ามีความแข็งเท่ากัน และมีความต่างของอุณหภูมิหรือไม่ ถ้าอุณหภูมิต่างกันมากๆ หรือความแข็ง
ของท่อน้ำต่างกันมากๆ เช่นท่อน้ำด้านหนึ่งร้อนจี๋ แล้วอีกด้านหนึ่งไม่ร้อนเลย ด้านหนึ่งแข็งบีบไม่ลง
อีกข้างนึงนิ่มปวกเปียก ไม่ได้แปลว่าหม้อน้ำคุณดีมาก แต่แปลว่าน้ำไม่ไหลเวียน วาล์วน้ำพัง
หม้อน้ำตัน หรือปั๊มน้ำที่ทำหน้าที่ดันให้น้ำไหลเวียนพังนั่นเอง

 

10

 

– วาล์วน้ำ เป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ช่วยเร่งอุณหภูมิของเครื่องยนต์ เครื่องยนต์มีอุณหภูมิในการทำงาน
ถ้าเครื่องเย็นเกินไปหรือร้อนเกินไป ก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เมื่อสตาร์ทเครื่องใหม่ๆ
อุณภูมิของเครื่องยนต์และน้ำยังเย็นอยู่ วาล์วน้ำจะปิดเพื่อให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น เหมือนเรา
ต้มน้ำแล้วปิดฝาหม้อ เพื่อให้น้ำเดือดได้เร็วขึ้น เมื่อน้ำถึงอุณหภูมิที่กำหนด วาล์วน้ำจะเปิด
เพื่อให้น้ำไหลเวียนไปยังหม้อน้ำ และคายความร้อนออกไปด้วยลม จากพัดลมไฟฟ้า หรือ ลม
ที่เคลื่อนที่ตอนเราวิ่งอยู่

 

11

 

เพียง 5 ขั้นตอน ที่คุณสามารถเช็คได้เองด้วยตาเปล่าที่บ้าน ก็จะทำให้คุณสามารถรับทราบถึง
ความปกติหรือความผิดปกติของระบบหล่อเย็นซึ่งเป็นระบบที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆของรถยนต์
แก้สถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องไปเสียเวลา เสียอารมณ์อยู่บนถนน

 

12 end

 

ขอให้ทุกท่านขับรถปลอดภัย มีน้ำใจบนถนน สนุกสนานไปกับรถยนต์คันโปรดของท่าน
ในวันร้อนๆอย่างมีความสุขครับ

 


 

พันธิตร หมอกพริ้ง
Panthit Morkpring

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นของ ผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.facebook.com/panthit.morkpring
12 เมษายน 2559

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission
is prohibited. First publish in www.facebook.com/panthit.morkpring
12 April 2016