29 พฤษภาคม 2023 เป็นวันที่ BMW (Thailand) ร่อนจดหมายถึงสื่อมวลชนเรื่องการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในตระกูลตัวแรงอย่าง BMW M3 Competition M xDrive Touring เพียงไม่กี่นาทีหลังจากที่บทความราคาอย่างเป็นทางการถูกเผยแพร่ออกไป หลายคนพร้อมใจกันยกย่องให้ 3-Series Touring คันนี้ เป็นยานพาหนะคู่ใจสำหรับคุณพ่อบ้านเท่าหนัก ที่เหมาะเอาไว้รับ – ส่งลูกหลานไปโรงราน พลางฝึกเขียนอักษร ก – ฮ บนหลังเบาะนั่งคาร์บอนไฟเบอร์
1 ปีผ่านไป BMW (Thailand) ได้ร่อนจดหมายมาถึงพวกเราอีกครั้ง ว่าจะมีการจัดกิจกรรม BMW M Drive Festival ที่สนามพีระ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต พัทยา มีรถพันธุ์โหดตระกูล M หลายรุ่นให้ทดลองขับ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ M3 Competition M xDrive Touring !
ผมไม่รอช้า รีบตอบตกลงไปทางทีม PR ไป พร้อมจองคิวทดสอบเป็นช่วงบ่ายของวัน หวังใช้ความแซ่บสะเด่าของรถปลุกตัวเองจากอาการง่วงเหงาหาวนอนหลังทานอาหารมื้อเที่ยง โดยลืมไปว่ามรึงอาจถึงขั้นอ้วกพุ่งได้นะเว้ย คิว !
แม้ผมจะรู้ดีว่าจำนวนคนที่กดเข้ามาอ่านบทความทดลองขับของรถยนต์สาย Performamce จ๋าๆ นั้นจะไม่ได้มีเยอะนัก ทว่านี่อาจเป็นโอกาสเพียงไม่กี่ครั้งที่ผมจะได้ลิ้มรสสมรรถนะและความสนุกจากพลังเครื่องสันดาปเพียวๆ ของ BMW M GmbH ก่อนที่พวกเขาจะเบนเข็มไปคบขุมพลังพ่วงมอเตอร์ไฟฟ้าที่แรงสะบัด แต่ตัวหนักเป็นบ้า เฉกเช่นที่เป็นอยู่ใน BMW M5 (G90) และ M5 Touring (G99) และที่สำคัญ นี่เป็นโอกาสที่ผมจะได้พิสูจน์ว่า ขุมพลังเบนซิน 6 สูบแถวเรียง 3.0 ลิตร Turbo 510 แรงม้า ตลอดจนสารพัดงานวิศวกรรมที่เคยสร้างรอยยิ้มให้กับผมเมื่อครั้งที่ได้ขับ M4 Competition ที่สนามบุรีรัมย์เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน จะยังคงสร้างรอยยิ้มบนใบหน้าของผมได้อีกครั้งหรือไม่ เมื่อต้องมาอยู่บนเรือนร่างของรถทรงพ่อบ้าน !?
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว BMW M3 Touring คันแรกถือกำเนิดขึ้นบนโลกตั้งแต่ปี 2000 ในฐานะรถยนต์ Prototype สร้างขึ้นบนพื้นฐาน M3 รหัสตัวถัง E46 แต่ไม่เคยประจักษ์ต่อสายตาสาธารชน และไม่ได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็นเวอร์ชั่นผลิตขายจริง เนื่องจากผู้ผลิตมองว่ากำลังฉุดลากจากเครื่องยนต์ S54B32 6 สูบ 3.2 ลิตร ในสมัยนั้น อาจไม่เพียงพอต่อการแบกรับน้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้น และอาจไร้ซึ่งอรรถรสในการขับขี่ในแบบที่ M Car ควรจะเป็น ต่างจากกรณีของ M5 Touring E34 ที่ได้เครื่องยนต์ S38B38 6 สูบ 3.8 ลิตร อันมีแรงบิดและพละกำลังสูงเพียงพอกับขนาดและน้ำหนักตัวรถ
BMW M3 Touring Prototype ถูกเก็บเป็นความลับอยู่ภายใน BMW Garage นานกว่า 16 ปี ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจนำรถยนต์คันดังกล่าวออกมาเผยให้ชาวโลกได้เห็นเป็นครั้งแรกในปี 2016 เป็นการสร้างเซอร์ไพรส์เล็กๆ ภายในงานครบรอบ 30 ปี BMW M3 ในเวลานั้นแม้ M3 Touring Prototype จะได้รับเสียงปรบมือจากแฟนคลับบางส่วน แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความไม่พอใจจากกลุ่มคนที่เฝ้ารอคอย 3-Series Touring ขุมพลัง M มานานหลายสิบปี
4 ปีต่อมา… ซึ่งเป็นช่วงเวลาคล้อยหลังจากการเปิดผ้าคลุม BMW 3-Series G20 (ปี 2018) รวมถึงการเปิดตัว BMW M3 Sedan G80 (ปี 2020) BMW ได้ปล่อยภาพ Teaser ของ M3 Touring รุ่นปัจจุบัน รหัสตัวถัง G81 เพื่อหยั่งกระแสตอบรับเป็นครั้งแรก ในโอกาสที่พวกเขาเริ่มทำ M3 เวอร์ชั่นสำหรับพ่อบ้านเท้าหนักออกมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตามคำเรียกร้องของแฟนบอย พร้อมเผยวีดีโอที่มีชื่อว่า “The Drop – A BMW M Town Story” อันเป็นเรื่องราวสั้นๆ ของชายหนุ่มที่ถูกปลุกให้ตื่นมาพบกับความคึกคักในเมือง M Town ที่อุดมไปด้วยเหล่าบรรดา M Cars ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สื่อความหมายถึง M3 Touring ที่ได้เวลาออกมาเฉิดฉาย หลังจากที่หลับใหลมานานนม (คลิกชมได้ที่นี่)
BMW M ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการทดสอบขั้นสุดท้าย เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตใหม่ของพวกเขาจะสร้างความประทับใจให้กับบรรดาลูกค้าขาโหดได้ แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่ลืมทำ คือ การนำรถไปวิ่งทดสอบและจับเวลาใน The Green Hell หรือสนาม Nurburgring ซึ่ง M3 Touring สามารถทุบสถิติเวลาต่อรอบสนามด้วยตัวเลข 7:35.060 นาที ไวกว่าแชมป์เก่าอย่าง Mercedes-AMG E 63 S Estate ที่เคยทำเวลาไว้ 7:45.19 นาที ตั้งแต่ปลายปี 2017
หลังจากปล่อยภาพรถทดสอบมาหลายชุดทั้งในและนอกสนามแข่ง รวมไปถึงภาพ Teaser จากในโรงงานของ M Division ในที่สุด BMW ก็ได้ฤกษ์เปิดผ้าคลุมอย่างเป็นทางการสำหรับ BMW M3 Touring ในวันที่ 23 มิถุนายน 2022 พร้อมโลดแล่นไปบนแทร็คอันเปียกลื่น ณ เทศกาล Goodwood Festival of Speed เมือง Goodwood สหราชอาณาจักร โดยมี ดยุคแห่งริชมอนด์ กระโดดขึ้นขับเป็นคนแรกเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย
หาก Mercedes-Benz คือภาพจำของรถ Safety Car ในการแข่งขัน Formula 1 ทางฝั่ง BMW ก็เป็นแบรนด์รถยนต์ที่สาย 2 ล้อ (มอเตอร์ไซค์) คุ้นเคยกันดี เพราะพวกเขาคือผู้สนับสนุนรถ Safety Car ของรายการ MotoGP อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 1999 และนั่นก็เป็นที่มาของการได้สูดอากาศประเทศไทยเป็นครั้งแรกสำหรับ BMW M3 Touring ในฐานะรถสำรวจสภาพสนาม ขับนำขบวนก่อน – ระหว่างการแข่งขัน และเมื่อเกิดเหตุจำเป็น ในรายการ MotoGP ฤดูกาล 2022 ที่สนาม Buriram International Circuit เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2022
แต่กว่าที่ BMW M3 Touring จะพร้อมเปิดตัวและประกาศราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ก็ต้องรอกันจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2023 ซึ่งทาง BMW (Thailand) ได้เปิดตัวแบบ Soft Launch พร้อมเผยค่าตัวของ M3 Competition M xDrive Touring ที่ 10,399,000 บาท ก่อนย่องเบาปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 10,429,000 บาท (รวมแพ็คเกจ BSI Standard) ในช่วงปลายปี 2023
และกว่าตัวผมเอง รวมถึงสื่อมวลชนท่านอื่นๆ จะได้มีโอกาสทดลองขับ M3 Touring ในเมืองไทย ก็ต้องรอกันข้ามปี จนกระทั่ง BMW ได้ฤกษ์งามยามดีจัดงาน M Drive Festival ขึ้นที่สนาม Bira International Circuit นำทีมโดยทีม Instructor จาก xSpan แม้ฝั่งเมืองนอกเพิ่งจะมีการเปิดตัวรุ่นปรับโฉม LCI 2024 ไปหมาดๆ ทว่าไม่อาจทำให้ความอยากรู้ของและยากลองของผมลดลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะสำหรับรถที่ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่าง Performance และ Funtionality ตามแบบฉบับของ BMW M
BMW M3 Touring มีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,801 มิลลิเมตร กว้าง 1,903 มิลลิเมตร สูง 1,446 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,857 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า 1,617 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหลัง 1,605 มิลลิเมตร (ตัวเลขเมื่อวัดจากกึ่งกลางล้ออาจทำให้รู้สึกว่าล้อหลังหุบแคบกว่า แต่หากวัดที่ขอบยางด้านนอกจะเท่าๆ กัน) ความสูงจากพื้นจนถึงจุดตำ่สุดใต้ท้องรถ หรือ Ground Clearance ต่ำเพียง 120 มิลลิเมตร
เทียบกับ 3-Series Touring รุ่นทั่วไป M3 Touring จะยาวกว่า 85 มิลลิเมตร จากการเปลี่ยนดีไซน์เปลือกกันชนหน้าและหลังให้ดูดุโหดขึ้น อีกทั้งยังกว้างกว่า 76 มิลลิเมตร จากแก้มด้านข้างเหนือซุ้มล้อที่ถูกดึงขยายออกมาเพื่อรับกับความกว้างช่วงล้อที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
น้ำหนักตัวรถเปล่าๆ อยู่ที่ 1,865 กิโลกรัม แต่เมื่อเติมของเหลวทุกอย่างลงไป น้ำหนักตัวรถโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,940 กิโลกรัม (อ้างอิงจาก EcoSticker) ดูแล้วค่อนข้างสมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับตัวถัง Coupe’ อย่าง M4 Competition ที่ชั่งออกมาได้ 1,850 กิโลกรัม ในเงื่อนไขเดียวกัน ยิ่งเมื่อลองเทียบกับรถในพิกัดเดียวกันอย่าง Mercedes-AMG C 63 S E Performance Estate ซึ่งต้องแบกทั้งเครื่องยนต์ มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ จนหนักทะลุ 2,100 กิโลกรัม (อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ EVO Magazine) หรือ Audi RS 4 Avant quattro Competition ที่มีนำ้หนักตัว 2,000 กิโลกรัมถ้วน ก็ยิ่งรู้สึกว่า BMW M ดูมีความถนัดเรื่องการทำรถให้เบาอยู่พอสมควร
ภายนอกของ M3 Competition Touring ยังคงสร้างความสะดุดตาด้วยกระจังหน้าไตคู่ขนาดใหญ่ ใหญ่จนเผลอคิดว่าเป็นปอดคู่ไปแล้วเสียอีก แม้จะเป็นกระจังหน้าที่เล็งกล้องหามุมสวยยาก แต่ขนาดอันใหญ่โตบ้านบึ้มนี้ ถูกซุกซ้อนเอาไว้ซึ่งครีบ Air Curtains แบบปรับองศาได้ สามารถดึงอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังช่วยรีดอากาศให้ไหลผ่านตัวรถได้อย่างเป็นระเบียบในช่วงความเร็วสูง ด้านข้างของกระจังเป็นไฟหน้าแบบ Laser Light เส้นไฟ DRL เปล่งแสงสีขาว ไม่ใช่โทนสีเหลืองเหมือน M3 CS แต่มีระบบปรับลำแสงไฟสูงแหวกหลบรถคันอื่นบนถนนมาให้เช่นกัน
เมื่อมองจากด้านข้างและบั้นท้ายของรถ จะพบว่ามีชิ้นส่วนสีดำตกแต่งตามจุดต่างๆ หลายจุด เริ่มจากชายล่างตัวถังรอบคันสีดำเงาที่ออกแบบให้มีสันนูนขึ้นมา รับกับแก้มด้านข้างเหนือซุ้มล้อที่ตีโป่งตาม Track ล้อที่กว้างขึ้นจาก 3-Series ปกติ รวมถึงแผงดิฟฟิวเซอร์ทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่ ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับท่อไอเสียปลายคู่ 2 ฝั่ง เส้นผ่าศูนย์กลางท่อละ 100 มิลลิเมตร ตามด้วยราวหลังคาสีดำเชื่อมจรดตั้งแต่หน้าถึงสปอยเลอร์หลังแบบ 2 ชั้น ปิดท้ายด้วยกรอบกระจกหน้าต่างที่ไม่ได้มีดีไซน์ส่วนปลายแบบ Hofmeister Kink แต่อาศัยการตวัดขอบล่างขึ้นเพื่อทำให้รถดูทะมัดทะแมง
เรื่องดีไซน์อันเป็นปัจเจกนั้นก็แล้วแต่คนชอบ มีหลายคนที่มองว่างานออกแบบของ M3 Touring ดูสวยดุ มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนในแบบที่มองเห็นแว๊บแรกก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือ Compact Station Wagon ตัวแรงของ BMW แต่สำหรับผมยังรู้สึกชอบดีไซน์อันเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่ดูกลมกล่อมของ Audi RS4 Avant มากกว่า
เบาะนั่งของ M3 Touring ถูกห่อหุ้มด้วยหนัง Merino ซึ่งเป็นวัสดุเกรดสูงสุดที่คุณจะพบได้เฉพาะในรถยนต์ BMW ซีรี่ย์สูงหรือรหัสท็อปๆ แซมด้วยหนังกลับ Alcantara ในบางจุด โทนสีเบาะนั่งและภายในสามารถ custom ได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ สีฟ้า Yas Marina Blue สลับดำ, สีเทา Silverstone สลับดำ, สีดำล้วน Black และสีส้ม Kyalami Orange สลับดำ แบบคันที่เห็นในบทความนี้
เบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบ M Carban Bucket Seat น้ำหนักเบากว่าเบาะนั่งปกติ 9.6 กิโลกรัม สามารถเลื่อนปรับให้เข้ากับสรีระด้วยระบบไฟฟ้า 8 ทิศทาง มีหน่วยความจำ Memory Seat มาให้ 2 ตำแหน่ง รวมถึงมีระบายอากาศ Ventilated Seat มาให้ แต่ไม่สามารถปรับดันหลังได้ สิ่งที่คุณต้องใจสำหรับเบาะนั่งคู่หน้าคือการที่มีปีกเบาะที่สูงและแข็งโป๊ก ! ทำให้การลุกเข้า – ออกจากตัวรถทำได้ค่อนข้างลำบากพอสมควร การก้าวเข้าไปนั่งภายในรถด้วยท่วงท่าอันสง่างามเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของแต่ละคน ทั้งนี้ก็เพื่อความโอบกระชับลำตัว ช่วยลดการเหวี่ยงไปตามแรง G โดยเฉพาะเวลาเล่นบทบู๊ในสนามแข่ง
แม้ว่าการขับในสนามพีระ เบาะนั่ง Sport Seats ธรรมดาใน M340i ถือว่าดีประมาณหนึ่งแล้วสำหรับการการพยุงลำตัว แต่ถ้าขับเป็นการในสนามที่ใช้ความเร็วสูงขึ้นอย่างสนามบุรีรัมย์ คุณจะสามารถนั่งขับได้อย่างมั่นคงมากกว่าในเบาะนั่ง Bucket Seat ของ M3 Touring ขณะที่ใน M340i ใบหน้าคุณอาจมีโอกาสแปะติดกระจกหน้าต่าง หรือไม่ก็ต้องเกร็งลำตัวช่วยจนเสี่ยงตะคริวรับประทานกันไปเลย
ขยับมาที่เบาะนั่งด้านหลัง เป็นแบบแยกพับพนักพิงหลังได้ 40:20:40 มีพนักพิงศีรษะมาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง ตรงกลางมีพนักวางแขนพร้อมช่องวางแก้วน้ำแบบมีฝาเปิด – ปิด ตำแหน่งท่านั่งเบาะหลังมีความคล้าย 3-Series ตัวถัง Sedan แทบไม่ต่างอะไรกันเลย ตำแหน่งเบาะรองนั่งค่อนข้างเตี้ย แต่มีมุมองศาส่วนปลายเชิดขึ้นมารองรับข้อพับหัวเข่า พนักพิงหลังมีมุมเอียงแค่พอประมาณและปรับเอนเพิ่มไม่ได้
โดยรวมการนั่งโดยสารเบาะหลังของ M3 Touring ยังให้ความสบายใกล้เคียงกันกับ 3-Series รุ่นปกติทั่วไป ทว่าสิ่งที่ทำได้ดีว่าคือการมีพื้นที่กระจกหน้าต่างโตกว่า มองออกไปนอกตัวรถแล้วรู้สึกโปร่งโล่ง แถมยังมีพื้นที่เหนือศีรษะแบบเหลือๆ ในแบบที่ตัวถัง Sedan ให้คุณไม่ได้ นอกจากนี้ ความเพรียวบางของเบาะนั่งคู่หน้า M Carbaon Bucket Seat ยังมีผลพลอยได้เรื่องพื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารด้านหลังที่เพิ่มขึ้นอีกราวๆ 2 – 3 นิ้วโดยประมาณ แต่ยังไม่ขั้นยาวโอ่อ่าเหมือน 330Li
บานฝาท้ายเป็นแบบเปิด – ปิดด้วยไฟฟ้า สามารถแยกเปิดเฉพาะกระจกบังลมหลังได้ด้วยการกดปุ่มใต้ใบปัดน้ำฝนหลัง ช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณพ่อบ้านแม่บ้านเวลาจอดในพื้นที่แคบ เมื่อเปิดบานฝาท้ายขึ้นจะพบกับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง ความจุ 500 ลิตร มากกว่า Audi RS 4 Avant เพียงแค่ 5 ลิตร และเมื่อพับพนักพิงเบาะนั่งด้านหลังให้ราบไปกับพื้นจะได้พื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,510 ลิตร โดยรวมแม้จะไม่ได้ใหญ่โตโอฬารเท่า SUV ตระกูล X แต่ผมคิดว่าเพียงพอในระดับที่ลูกค้าที่ซื้อรถทรงเก๋งมีท้ายคาดหวัง
อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการจัดเก็บสัมภาระมีมาให้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น แผ่นรางเสริมยางกันลื่น (Anti-slip Rails) 4 จุด ม่านบังสัมภาระ ต่าขายกั้นห้องเก็บสัมภาระ (ซ่อนอยู่ใต้ม่าน) รวมถึงสวิตช์สั่งพับเบาะนั่งจากทางด้านหลังแบบ One-touch ก็มีมาให้ด้วยเช่นกัน
ภายในห้องโดยสารของ M3 Touring เป็นเวอร์ชั่นเดียวกับ 3-Series รุ่นปรับโฉม LCI ปี 2022 แผงแดชบอร์ดด้านหน้ายังคงดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ของ BMW ผสานเข้ากับความทันสมัยของหน้าจอโค้ง BMW Curved Display อันประกอบด้วยหน้าจอชุดมาตรวัด ขนาด 12.3 นิ้ว และหน้าจอกลางระบบสัมผัส ขนาด 14.9 นิ้ว เทียบกับ 3-Series ปกติ M3 Touring จะมีความแตกต่างที่การประดับตกแต่งด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์แท้ตามจุดต่างๆ ทั้งบริเวณแผงแดชบอร์ด แผงคอนโซลกลาง และพวงมาลัย วัสดุหนังตามจุดต่างๆ อัพเกรดขึ้นมาใช้แบบ Merino Leather ซึ่งเป็นหนังเกรดสูงสุดในบรรดารถ BMW เป็นการสร้างความรู้สึก “ดีต่อใจ” สำหรับคนที่ยอมจ่าย
แล้วสิ่งที่ดีต่อการขับล่ะ !?
เมื่อกดเจาะลึกเข้าไปดูที่หน้าจอ BMW Curved Display ฝั่งชุดมาตรวัดจะมีกราฟฟิคแสดงค่าต่างๆ โดยเฉพาะความเร็วและรอบเครื่องยนต์ที่เด่นชัดขึ้น เช่นเดียวกับตัวเลขบอกความเร็วบนหน้าจอ Head-up Display ส่วนฝั่งหน้าจอกลาง เมื่อลองสังเกตดีๆ จะพบว่ามี 2 เมนูเพิ่มเข้ามา อันแรกคือ M Drift Analyser โชว์ผลประกอบการดริฟท์ในแต่ละรอบ ทั้งระยะเวลา ระยะทาง องศาของรถ พร้อมมีสกอร์บอกคะแนน ราวกับมีกรรมการคอยจับตาดูคุณอยู่ขอบสนาม ต่อมาคือ M Laptimer ช่วยบอกเวลาต่อรอบ รวมถึงข้อมูลการขับขี่อื่นๆ ในสนามแข่ง
******รายละเอียดทางวิศวกรรม*******
ขุมพลังของ M3 Competition Touring เป็นเครื่องยนต์รหัส S58B30A เบนซิน 6 สูบแถวเรียง DOHC 24 วาล์ว ความจุ 3.0 ลิตร 2,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.3 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ตรงสู่ห้องเผาไหม้แบบ Direct Injection ด้วยหัวฉีด High Precision Injection แรงดันสูงสุด 350 บาร์ พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharged แบบ Momo-scroll 2 ตัว พร้อม Intercooler มีระบบแปรผันระยะเวลายกวาล์ว VALVETRONIC และระบบแปรผันหัวแคมชาฟต์ Double-VANOS
เครื่องยนต์รหัส S58 นั้น ถูกพัฒนาต่อยอดจากเครื่องยนต์ B58 ที่ประจำการอยู่ใน BMW รหัส 40i ในปัจจุบัน แม้พื้นฐานจะคล้ายกันคือเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบแถวเรียง ความจุ 3.0 ลิตร แต่ S58 ได้รับการขยายปากกระบอกสูบจาก 82.0 เป็น 84.0 มิลลิเมตร ลดระยะช่วงชักจาก 94.6 เหลือ 94.0 มิลลิเมตร ปรับอัตราส่วนกำลังอัดจาก 11.0 : 1 เหลือ 9.3 : 1 เพื่อรองรับบูสท์เทอร์โบที่สูงขึ้นจากระบบอัดอากาศแบบ Mono-scroll 2 ตัว ขนาดเท่ากัน แยกหน้าที่อัดอากาศสำหรับกระสูบที่ 1 – 3 และกระบอกสูบที่ 4 – 6 (เทอร์โบของ B58 เป็นแบบ Twin-scroll)
ใน M3 รุ่นปกติ มีแรงดันบูสท์เทอร์โบสูงสุดอยู่ที่ 18.9 Psi ซึ่งสามารถผลิตกำลังสูงสุดได้ 480 แรงม้า ที่ 6,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 550 นิวตันเมตร ที่ 2,650 – 6,130 รอบ/นาที ขณะที่รุ่น Competition จะได้รับการอัดบูสท์เพิ่มขึ้นเป็น 24.7 Psi หรือ 1.7 Bar มีตัวเลขพละกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 510 แรงม้า ที่ 6,250 รอบ/นาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 650 นิวตันเมตร ที่ 2,750 – 5,500 รอบ/นาที
ตัวเลขอ้างอิงจากทาง BMW ระบุว่า M3 Competition Touring สามารถเร่งความเร็วจาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายใน 3.6 วินาที และเร่งความเร็วจาก 0 – 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายใน 12.9 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุด Top Speed ล็อกเอาไว้ที่ 280 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ติดตั้ง M Driver’s Package มาให้จากโรงงาน) มีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 228 กรัม/กิโลเมตร (อ้างอิงจาก EcoSticker ของหน่วยงานรัฐบาลไทย)
รูปแบบการขับขี่สามารถปรับได้ผ่านสวิตช์ M Mode บริเวณคอนโซลกลาง มีให้เลือกทั้ง 3 รูปแบบ ได้แก่
- M Mode Road สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป
- M Mode Sport เน้นการบังคับควบคุมโดยผู้ขับขี่ ระบบช่วยเหลือการขับขี่ Driving Assistance ปิดการทำงาน ชุดมาตรวัด และ Head-up Display แสดงค่าที่จำเป็นสำหรับการซิ่ง เช่น รอบเครื่องยนต์ มาตรวัดแรง G-Force ฯลฯ
- M Mode Track สำหรับการขับขี่ในสนามแข่ง ปิดการแสดงผลหน้าจอกลาง และปิดการทำงานระบบ Driving Assistance ตลอดจนระบบ Infotainment
ใน M Mode แต่ละรูปแบบ คนขับสามารถกดเข้าไปที่ฟังก์ชั่น Setup เพื่อตั้งค่าส่วนต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา ไม่ว่าจะเป็น การตอบสนองของเครื่องยนต์ ความหนืดของโช๊คอัพ การตอบสนองของพวงมาลัย การตอบสนองของแป้นเบรก การทำงานของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ M xDrive ตลอดจนการเปอร์เซ็นต์การเข้ามามีบทบาทของระบบ Traction Control ค่าต่างๆ สามารถบันทึกไว้ในโหมด Configuration M1/M2 เพียงแค่กดปุ่มสีแดงที่พวงมาลัย คุณก็จะได้รูปแบบการตั้งค่าส่วนต่างๆ ให้เลือกใช้ตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ M Steptronic พร้อมแป้น Paddle Shift ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ และโหมด Drivelogic สำหรับตั้งค่าความฉับไวและรอบเครื่องยนต์ที่ระบบจะสั่งการเปลี่ยนเกียร์ ปรับได้ 3 ระดับ จากสวิตช์ที่อยู่ข้างๆ เกียร์ P บนคันเกียร์ หรือเข้าจะเข้าไปตั้งค่าใน Configuration M1/M2 ก็ได้เช่นกัน
อัตราทดแต่ละเกียร์ มีดังนี้
- เกียร์ 1 …………………. 5.000
- เกียร์ 2 …………………. 3.200
- เกียร์ 3 …………………. 2.143
- เกียร์ 4 …………………. 1.720
- เกียร์ 5 …………………. 1.313
- เกียร์ 6 …………………. 1.000
- เกียร์ 7 …………………. 0.823
- เกียร์ 8 …………………. 0.640
- เกียร์ถอยหลัง ………… 3.478
- อัตราทดเฟืองท้าย ….. 3.154
เมื่อผ่านเกียร์มาแล้ว ม้าฝูงใหญ่จะถูกส่งลงพื้นด้วยระบบ M xDrive ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ถูกนำมาติดตั้งครั้งแรกใน M5 (F90) และถ่ายทอดมายังรุ่นต่างๆ รวมถึง M3 Competition Touring รุ่นปัจจุบัน อาศัยการทำงานของ 3 ส่วนหลัก ไม่ว่าจะเป็น Central Intelligent Unit ซึ่งทำหน้าที่คำนวณองศาพวงมาลัย, การกดคันเร่ง, ทิศทางของรถยนต์ และการหมุนของล้อ มี Transfer Case ช่วยตัดต่อและกระจายกำลังระหว่างเพลาขับหน้าและหลัง รวมถึงมีระบบเฟืองท้าย Active M Differential ที่ช่วยกระจายแรงบิดของล้อคู่หลังในแต่ละฝั่ง
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ M xDrive สามารถปรับรูปแบบการทำงานได้ 3 โหมด ดังนี้
- 4WD รูปแบบนี้จะเป็นการตั้งค่าไว้แบบกลางๆ ที่ให้สมรรถนะการยึดเกาะถนนที่ดี มีโอกาสหลุดโค้งน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยในยามปกติระบบจะตั้งค่าให้ถ่ายแรงบิดไปที่ล้อคู่หลังมากกว่าล้อคู่หน้าอยู่เล็กน้อย (Rear-drive Bias)
- 4WD Sport รูปแบบนี้จะอนุญาตให้คนขับเล่นสนุกกับรถได้มากขึ้น โดยเพิ่มการถ่ายแรงไปล้อคู่หลัง รวมถึงล้อฝั่งนอกโค้ง แม้ว่าจะมีการเปิดใช้งานระบบ M Dynamic Mode อยู่ คนขับยังสามารถควบคุมการเข้าโค้งด้วยการ Drift ได้ แต่เป็นการ Drift ในแบบที่สามารถควบคุมง่าย ตั้งหน้ารถตรงได้อย่างรวดเร็ว
- 2WD รูปแบบนี้สามารถใช้งานได้ในกรณีที่ปิดการทำงานของระบบ DSC เท่านั้น โดยพละกำลังทั้งหมดจะถูกส่งไปยังล้อคู่หลัง พร้อมสำหรับการดริฟท์ในสนามแบบเอามันส์
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) เสริมการทำงานด้วยระบบแปรผันน้ำหนักพวงมาลัย M Specific Servotronic ปรับเซ็ตมาตามแบบฉบับรถ M เน้นความดิบและการใช้แรงควบคุมจากแรงคนขับเป็นหลัก และมีระบบแปรผันอัตราทดเฟืองพวงมาลัย Variable Sport Satio โดยอัตราทดในช่วงถือพวงมาลัยตรงจะอยู่ที่ 15 : 1 เท่ากันกับ M3 และ M4 รุ่นที่แล้ว ส่วนรัศมีวงเลี้ยวแคบสุดทำได้ 6.1 เมตร
รูปแบบของระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบอิสระ Double-joint Spring Strut ชิ้นส่วนปีกนกทำจากวัสดุอะลูมิเนียม ด้านหลังเป็นแบบอิสระ Five-link ชิ้นส่วนปีกนกทำจากวัสดุอะลูมิเนียมและเหล็กกล้า ระบบช่วงล่างเป็นแบบ Adaptive M Suspension สามารถปรับความหนืดของโช๊คอัพได้ด้วยระบบไฟฟ้า มีการติดตั้งชิ้นส่วนเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถังส่วนล่าง ลดการบิดตัวจากช่องว่างบริเวณห้องสัมภาระที่มากกว่ารุ่น M3 ตัวถัง Sedan ชุดซับเฟรมด้านหลังถูกยึดติดกับตัวถังโดยตรง ต่างจาก 3-Series ปกติที่จะมีบูชยางช่วยสร้างความยืดหยุ่นและคอยซับแรงสะเทือน
คานค้ำยันตัวถังและระบบกันสะเทือนด้านหน้า (Front End Strut Brace) ของ M3 Touring เป็นโลหะธรรมดา มีจุดยึด 5 ตำแหน่ง แตกต่างจาก M3 CS และ M4 CSL ซึ่งเป็นวัสดุอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา เพิ่มจุดยึดเป็น 7 ตำแหน่ง
ระบบห้ามล้อจากโรงงาน เป็นจานเบรกแบบ M Compound แบบมีครีบและรูระบายความร้อน จานเบรกคู่หน้ามีขนาด 380 x 36 มิลลิเมตร จับคู่กับคาลิเปอร์ 6 สูบ ทำจากวัสดุ Forged Alloy ส่วนจานเบรกคู่หลังมีขนาด 370 x 24 จับคู่กับคาลิเปอร์ Floating 1 สูบ ทำจากอะลูมิเนียมผสมเหล็กหล่อ สำหรับคนที่เงินเหลือ BMW มีอ็อพชั่นเสริมให้เลือกเป็นเบรก M Carbon Ceramic จานหน้า 400 x 38 มิลลิเตร และจานหลัง 380 x 28 มิลลิเมตร ในราคาราวๆ ครึ่งล้าน !
ล้อ M Forged นำ้หนักเบา มาพร้อมลาย Double-spoke ด้านหน้ามีขนาด 19 x 9.5 นิ้ว สวมด้วยยาง 275/35 R19 ล้อด้านหลังมีขนาด 20 x 10.5 นิ้ว สวมด้วยยาง 285/30 R20 ยางติดรถจากโรงงานเป็น Michelin Pilot Sport 4S เช่นเดียวกับ M4 เฉพาะ M3 CS เท่านั้นที่จะอัพเกรดยางเป็น Michelin Pilot Sport CUP2
******การทดลองขับ*******
การทดลองขับในครั้งนี้ ยังไม่ได้มีโอกาสลองจับเวลาหาอัตราเร่ง แต่โดยปกติแล้ว รถตระกูล M มักจะตอกเวลาออกมาได้ไวพอๆ กับตัวเลขที่เคลมจากโรงงาน ซึ่งใน M3 Touring Compettition คันนี้ระบุเอาไว้ที่ 3.6 วินาที ใน TRACK Mode เมื่อเทียบกับตัวแรงทรง Wagon จากค่ายสี่ห่วง จะเร็วกว่า Audi RS4 Avant และใกล้เคียงกับ RS6 Avant ช่วงโค้ง 13 ผมลองใช้ความเร็วที่ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนตั้งลำตรงที่ความเร็ว 100 เพื่อกดคันเร่งดูความเร็วช่วงทางตรงบริเวณหน้า pitch ผลปรากฎว่า อัตราเร่งจาก 100 – 185 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาไปแค่ 6.5 วินาที จังหวะนี้หากคันข้างหน้าเป็น M4 (Coupe) M3 Touring ผมจะยังพอดูดติดไปกับเขาได้ แต่ถ้าเป็น M3 CS ที่มีแรงม้ามากกว่า 41 ตัว ระยะห่างจะถูกยืดออกไปอย่างชัดเจน
การเปลี่ยนจากเกียร์อัตโนมัติ DCT 7 จังหวะ ในรถ M เจเนอเรชั่นก่อนหน้า มาเป็นเกียร์อัตโนมัติ M Steptronic 8 จังหวะ ส่งผลให้เกียร์ต่ำๆ ทดได้สูงขึ้นและละเอียดขึ้น การเปลี่ยนเกียร์มีความกระชับ ฉับไว ระบบ Drivelogic มีความชาญฉลาดในการเลือกเกียร์โดยเฉพาะจังหวะ Downshift ทำให้ผมไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับแป้น Paddle Shift เลยแม้แต่นิดเดียว
เมื่อจบทางตรงก่อนเข้าสู่โค้งยูเทิร์น ตรงนี้ผมจะใช้เป็นจุดทดสอบระบบเบรก การชะลอความเร็วจาก 185 ลงมาเหลือ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน M3 Touring ทำได้อย่างมั่นใจไร้ความน่ากังวล กดเบรกลงไปราวๆ 70% ตัวรถจะให้ความรู้สึกราวกับถูกดูดติดลงกับพื้น อาการของรถนิ่งตรงแหน็ว บุคลิกต่างจากรถซิ่งสำหรับวัยซนอย่าง M2 ที่จะมีความวาบหวิวปนเสียวสันหลังเล็กๆ จากความเบาของพวงมาลัยและอาการส่ายเล็กๆ บริเวณบั้นท้ายรถ จนต้องเพิ่มสมาธิในการควบคุม
น้ำหนักแป้นเบรกในโหมด Sport จะมีน้ำหนักต้านเท้าพอประมาณและมีระยะเหยียบค่อนข้างสั้น พรมน้ำหนักลงบนแป้นแค่เพียงนิดก็จะพบกับแรงหน่วงทันที เหมาะสำหรับการขับในโหมดท้ารบหรือลงสนามแข่ง เป็นฟีลลิ่งปกติทั่วไปที่สามารถพบได้ในรถ BMW หลายรุ่น ส่วนโหมด Comfort นั้น ระยะเหยียบเท่ากัน แต่การจับกันของผ้าเบรกและจานจะช้าลง การสั่งให้รถหน่วงความเร็วลงในระดับเท่าๆ กัน โหมด Comfort จะต้องกดลึกกว่า ทำให้การขับใช้งานในโหมดสันติมีความนุ่มนวล ลดอาการจึ๊กในจังหวะหยุดนิ่ง ถือแป้นเบรกที่เอื้อให้คนขับบริหารจัดการแรงหน่วงตามความเหมาะสมกับการใช้งานหลายๆ แบบ
พวงมาลัยช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า ไม่ดิบเหมือนพวงมาลัยไฮดรอลิกในรถแรงที่ผมเคยสัมผัสมาใน AMG GT S แต่ยังถูกเซ็ตมาให้ผู้ขับขี่มีส่วนร่วมในการออกแรงควบคุมมากกว่า BMW รุ่นปกติทั่วไปนิดหน่อย อาการกระชากเวลาล้อหน้าปีนขอบโค้ง S โผล่มาให้สัมผัสไม่เยอะ อัตราทดเฟืองพวงมาลัยไวกำลังดี ใกล้เคียงกับ Audi RS4 Avant โดยรวมผมว่ามันกลมกล่อมพอที่จะทำให้คุณพ่อบ้านได้อรรถรสการขับในวัน Track Day ในขณะที่คุณแม่บ้านก็จะไม่ปริปากบ่นหากต้องขับไปรับ – ส่งลูกที่โรงเรียน
ประเด็นต่อที่มาผมอยากรู้มากที่สุด คือ ช่วงล่าง… ก่อนหน้าน้ี ผมมีโอกาสซัดตัวอย่างตึง M4 (ซึ่งจริงๆ มันก็คือ M3 ในเวอร์ชั่น Coupe’) ที่สนามบุรีรัมย์ ยังจำได้ดีว่ามันเป็นรถทำให้ผมฉีกยิ้มกว้างคันหนึ่ง พอขยับมาขับตัวถัง Touring ความรู้สึกเก่าๆ มันหวนกลับมา แต่กลับมาราวๆ 90% ในโค้งแคบต่างๆ ที่ใช้ความประมาณ 60 – 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาการของโค้งจะใกล้เคียงกัน คือ ตัวถังนิ่ง อาการเอียงตัวน้อย ขณะที่ล้อก็เกาะหนึบเป็นตุ๊กแกตีนกาว ลองเติมคันเร่งในจังหวะออกโค้งเร็วกว่าปกติ การกระจายแรงของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ M xDrive ก็พยายามเข้ามาช่วยให้รถไม่มีเสียอาการ (ลองทำแบบเดียวกันกับ M2 ขับหลัง ท้ายจะเริ่มออกอาการ Oversteer ทันที)
ความต่างอีก 10% ที่เหลือ จะอยู่ที่จังหวะเข้าโค้ง R100 ลงเขาที่ความเร็ว 100 กว่าๆ กิโลเมตร/ชั่วโมง M3 Touring จะเริ่มมีอาการไถลออกของหน้ารถนิดๆ เคล้าเสียงยางและอาการที่ส่งขึ้นมาที่พวงมาลัย ในขณะที่ M4 และ M3 CS จะไปได้แบบคมเป๊ะมากกว่า นอกจากนี้ น้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลให้จังหวะโยกจากขวาไปซ้ายกลางโค้ง S ตัวรถจะมีการโยนตัวมากกว่า M4 และ CS อยู่นิดๆ ยังไม่ถึงขั้นทำให้สูญเสียความมั่นใจ แค่อาจจะไปได้ช้ากว่า
******บทสรุปเบื้องต้น*******
พาหนะคู่ใจ สำหรับพ่อบ้านเงินหนาเท้าหนัก และผู้หลงรักทัวร์ริ่ง (ที่กรีดเลือดออกมาเป็นสี Tri-color)
ตลอดระยะทาง 2 รอบสนามพีระเซอร์กิต ผมพยายามจับสังเกตลักษณะอาการของ BMW M3 Competition Touring ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้จะไม่ละเอียดมากเท่าการยืมรถทดสอบมาขับแบบปกติ
M3 Touring ถือเป็นรถอีกหนึ่งคันที่โชว์ฝีมือของบรรดาวิศวกรแผนก M Division เมื่อต้องหาจุดลงตัวให้กับ 2 สิ่ง ที่ต่างกันคนละขั้ว ระหว่างการเป็นรถ High-performance เน้นการขับขี่ และการเป็นรถ Touring ที่เน้นความอเนกประสงค์จากพื้นที่ส่วนท้ายรถที่ต่อเติมออกไป มีจุดกำเนิดมาจากการดัดแปลงรถ Sedan เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระด้านหลัง เช่นที่ Max Reisböck วิศวกรในสำนักงานใหญ่ BMW ลงมือทำกับ 3-Series ของตัวเองเมื่อปี 1984 และเป็นที่มาของ 3-Series Touring ที่โลดแล่นอยู่บนถนนจนถึงทุกวันนี้
ความอเนกประสงค์ต่างๆ ของ 3-Series Touring ถูกถ่ายทอดมายัง M3 Touring อย่างเต็มพิกัด ไม่มีการตัดทอนสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไป เบาะนั่งด้านหลังให้ความสบายได้มากกว่าตัวถัง Sedan ในแง่ของพื้นที่เหนือศีรษะ ความง่ายต่อการก้าวเข้าออก และความโปร่งโล่งของกระจกหน้าต่างด้านข้าง พื้นที่เก็บสัมภาระทรงกล่องขนาดใหญ่ เอื้อต่อการบรรทุกของใช้จำเป็นสำหรับการออกไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด (ที่ไม่ทุรกันดารจนเป็นภัยต่อชิ้นส่วนใต้ท้องรถ) หรือแม้กระทั่งการยัดกระเป๋าเดินหลายใบขับไปสนามบินก่อนออกทริปต่างประเทศกับครอบครัว
ด้านความดุเด็ดเผ็ดมัน M3 Touring สามารถยืดอกชูความเป็น M Car ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ลักษณะอาการของตัวรถในสนามแข่งแทบจะเหมือนกันกับตัวถัง Coupe’ ยกเว้นความปราดเปรียวในจังหวะพุ่งตัวผ่านโค้ง S รวมถึงการเร่งความเร็วที่ช้ากว่ากันระดับเสี้ยววินาทีจากน้ำหนักตัวที่มากกว่า กระนั้นแล้ว อย่าเพิ่งเอามันไปเปรียบเทียบกับ M3 CS เพราะรายนั้นเขาถูกสร้างมาเพื่อการกดเวลาต่อรอบสนามให้ต่ำลง ทั้งจากการเซ็ตช่วงล่าง มุมล้อ ตลอดจนชิ้นส่วนลดน้ำหนักหลายรายการ ขับแล้วเทพกว่าจริง แต่ส่วนต่างราคานั้น คุณสามารถซื้อ M340i + BSI Ultimate มาขับชิลๆ ได้อีกหนึ่งคัน
สำหรับคนที่ตอบคำถามตัวเองได้แล้วว่า High-performance ทรงพ่อบ้าน คือ คำตอบสุดท้ายของการหาสมาชิกเพิ่มให้กับ Garage ส่วนตัวของท่าน ในตลาดบ้านเราเวลานี้ จะมีตัวเลือกให้ตัดสินใจอยู่แค่ 2 รุ่น รุ่นแรกคือ BMW M3 Competition Touring ราคา 10,429,000 บาท ส่วนอีกคันก็มาจากแบรนด์ Big 3 German เช่นกัน นั่นคือ Audi RS 4 Avant quattro Competition ค่าตัว 6,499,000 บาท
เทียบกันระหว่างคู่นี้ M3 Touring จะมีแรงม้าจากโรงงานที่ทำให้คุณทะยานไปข้างหน้าได้ไวกว่านิดๆ ระบบขับเคลื่อนสั่งให้ปั่นเฉพาะล้อคู่หลังได้สำหรับคนที่กระหายการดริฟท์ มีสารพัดโหมดที่ปรับให้เข้าขากับคนได้หลายรูปแบบ ภายในห้องโดยสารมีการออกแบบและวัสดุตกแต่งที่ดูหวือหวามากกว่า หน้าจอยาวบนแผงแดชบอร์ดที่โชว์ค่าต่างๆ ได้หลากหลาย รวมถึงมีเบาะนั่ง M Carbon Bucket Seats ที่นอกจากจะสวยโดนใจสายซิ่งแล้ว ยังเอื้อต่อการซัดโหดในสนามด้วย
ในด้านการขับขี่ ผมยังไม่สามารถเทียบกันหมัดต่อหมัดได้อย่างเต็มปาก เพราะใน RS 4 Avant นั้น ผมได้ลองขับแค่ในระบบทางด่วนระยะทางไม่ยาวนัก เพียงพอให้ได้ลิ้มรสความแรงจากม้าฝูงใหญ่ 450 ตัว ที่พาตัวรถหนัก 2 ตัน ทะยานจากจุดหยุดนิ่งสู่ความเร็วระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายในเวลาไม่กี่อึดใจ แม้จะตอกเวลาออกมาช้ากว่า M3 Touring นิดเดียว แต่มีแรงบิดให้ขับใช้งานในชีวิตประจำวันในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย รวมถึงประสิทธิภาพการยึดเกาะของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ quattro ที่เกาะพื้นแบบไปเป็นก้อนเดียวกันทั้งลำ แถมเกาะไปในโค้งในเร็วมากด้วย แม้ในช่วงความเร็วสูงเกิน 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ตัวรถจะมีอาการหน้าลอยนิดๆ อยู่บ้างก็ตาม ขณะท่ี M3 Touring นั้น ผมได้ลองแค่ในสนามซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ เช่น ความเร็ว ลักษณะโค้ง ต่างกัน
แต่โดยรวมแล้ว ผมว่าคู่นี้ถือเป็นรถทรงพ่อบ้าน High-performance ที่ขับสนุกสูสีกันมาก หากจะมีซักจุดที่เชือดเฉือนกันแล้วรู้แพ้รู้ชนะกันไปเลย ณ ตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องราคา… สำหรับคนที่ไม่ได้คลั่งไคล้ในโลโก้ใบพัดฟ้าขาวมากขนาดนั้น การเก็บเงินราวๆ 4 ล้านบาทเข้าตู้เซฟ แล้วกำส่วนที่เหลือเดินเข้าโชว์รูม Audi ซื้อ RS4 Avant quattro Competition ก็อาจจะเป็นอะไรที่ดูสมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์มากกว่า แต่สำหรับคนที่กรีดเลือดออกมาเป็นสี Tri-colours มีความสุขกับการได้เห็น M3 Touring จอดเคียงคู่กับ M Car รุ่นอื่นหรือตัวถังรูปแบบอื่นในบ้าน จำนวนเงินกว่า 8 หลัก ก็อาจจะพอมองข้ามไปได้
ณ ปัจจุบัน BMW M3 Competition M xDrive Touring รุ่นที่คุณเห็นอยู่ในบทความนี้ยังสั่งซื้อกับทาง BMW (Thailand) ได้อยู่ แต่สิ่งที่ต้องรู้ก่อนซื้อ คือ ในตลาดโลก M3 Touring ได้รับการปรับโฉม LCI ไปแล้ว โดยความเปลี่ยนแปลงคร่าวๆ คือ มีการปรับรูปทรงไฟ DRL ใหม่ ดูคล้ายเลข 1 วางเรียงกัน 2 ตัว ภายในเปลี่ยนช่องแอร์ตรงกลางให้ดูเรียบขึ้น เพิ่มสัญลักษณ์ Red Center Mark กึ่งกลางพวงมาลัย อัพเกรดระบบปฏิบัติการ BMW OS เป็นเวอร์ชั่น 8.5 รวมถึงปรับจูนขุมพลัง S58 ให้แรงขึ้นเป็น 523 แรงม้า 650 นิวตันเมตร เพื่อต่อกรกับ AMG C 63 S E Performance ขุมพลังเบนซิน 2.0 ลิตร Turbo PHEV 680 แรงม้า 1,020 นิวตันเมตร
แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกรุ่นปัจจุบัน หรือรุ่นปรับโฉม LCI คุณจะยังได้รถ M ที่ประจำการด้วยเครื่องยนต์สันดาปล้วนแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจกลายเป็นของหายากในอนาคต ด้วยกฎหมายควบคุมมลพิษของโลกเราเริ่มเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ High-performance หลายรุ่นเริ่มผันตัวมาคบขุมพลัง Hybrid ที่ได้เรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นมากโข แถมปล่อยมลพิษออกจากท่อไอเสียลดลง แต่กลับมีข้อเสียด้านน้ำหนักตัวรถที่เป็นภาระจำยอมสำหรับคนรักการขับ โดยเฉพาะสิงห์สนาม
แม้ว่าปัจจุบันเราจะยังไม่ค่อยได้ยินข่าวความเคลื่อนไหวของ BMW M3 และ M4 รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ทว่าการมาถึงของศิษย์ผู้พี่อย่าง M5 รหัสตัวถัง G99 พร้อมขุมพลังเบนซิน V8 4.4 ลิตร Turbo Plug-in Hybrid แรงสะใจด้วยพลังม้า 728 ตัว แรงบิด 1,000 นิวตันเมตร กับน้ำหนักตัวทะลุ 2.5 ตัน (หนักอึ้งพอๆ กับ X7) ก็พอจะเดาภาพอนาคตของศิษย์ผู้น้องออก และอยากจะบอกเป็นการปิดท้ายบทความ M3 Competition M xDrive Touring สำหรับเหล่า M Car ผู้ใจรักเครื่องยนต์เพียวว่า ถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหา…
จัดไปเลยครับ !
—————–//—————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท BMW (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
QCXLOFT (Yutthapichai Phantumas)
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายโดยช่างภาพจาก BMW Thailand และผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
3 กันยายน 2024
Copyright (c) 2024 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
3 September 2024