ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นคือถิ่นฐานกำเนิดรถกระบะตระกูล Toyota Hilux เป็นที่แรกในโลก แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นว่าความนิยมของรถกระบะ Toyota Hilux ตลาดหลัก คือตลาดเมืองไทย, ออสเตรเลีย, แอฟริกาใต้, อเมริกาใต้ แทนที่ตลาดญี่ปุ่นไปเสียแล้ว เนื่องจากลูกค้าชาวญี่ปุ่น หันเหไปหารถเล็ก และ รถตู้อเนกประสงค์แทนในช่วงยุค ปลาย 90s จนถึงต้นยุค 2000

และ ข่าวล่าสุดที่สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมากคือ Toyota Motor ประเทศญี่ปุ่นกำลังวางแผนเปิดตัว All NEW Toyota Hilux อีกครั้ง ในวันที่ 12 กันยายน 2017 ถือเป็นการหวนกลับมาทำตลาดรถกระบะ Toyota Hilux ในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ยกเลิกสายการผลิตและการทำตลาดในญี่ปุ่นเมื่อปี 2005


เชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Toyota Motor ญี่ปุ่นหวนทำตลาดรถกระบะในญี่ปุ่นอีกครั้ง ก็คงเพราะลูกค้าชาวญี่ปุ่นได้มองเห็นอรรถประโยชน์ใช้สอยของรถกระบะที่สามารถใช้งานได้ทั้งเป็นรถยนต์นั่ง และ ขนสัมภาระได้

All NEW Toyota Hilux สำหรับตลาดญี่ปุ่นจะเป็นรถโฉมเดียวกับ Hilux Revo ในตลาดเมืองไทย เพียงแต่จะมีแต่เฉพาะตัวถัง Double Cab 4 ประตูให้เลือกเท่านั้น เพราะ Toyota จะวางตลาด Hilux ใหม่ ให้กลายเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ที่สามารถนั่งโดยสารอย่างสะดวกสบายได้ไม่แพ้ SUV คันโต

มิติตัวถัง All NEW Toyota Hilux JDM version
ยาว x กว้าง x สูง : 5,335 x 1,855 x 1,820 มิลลิเมตร

 

มร.ฮิโรกิ นาคาจิมะ หัวหน้าวิศวกรอาวุโส เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Toyota Motor Corporation จำกัด เปิดเผยข้อมูลสำคัญ เมื่อวันงานเปิดตัว Toyota Hilux Revo ในประเทศไทยไทย ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2015 ว่า “ทีมวิศวกร Toyota ได้พัฒนา Hilux โฉมใหม่ ด้วยเครื่องยนต์ใหม่บนโครงสร้างแชสซีส์ใหม่กับแรงบิดที่สูงขึ้น ลดระดับเสียงรบกวนจากการทำงานของเครื่องยนต์พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

พร้อมกันนี้ยังได้พัฒนาระบบเกียร์แบบ 6 สปีดใหม่ที่รองรับสมรรถนะของเครื่องยนต์ใหม่บล็อกใหม่, พัฒนาระบบกันสะเทือนใหม่ที่นุ่มนวลยิ่งขึ้น ถูกออกแบบเป็นพิเศษให้เหมาะกับสภาพถนนของประเทศไทยโดยเฉพาะ ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่คล้ายกับรถ SUV ระดับหรู”

สื่อมวลชนสายรถยนต์จากญี่ปุ่นได้ระบุอีกว่า All NEW Toyota Hilux มีความสามารถในการลากจูงเทรลเลอร์ที่มีน้ำหนักสูงสุด 3,500 กิโลกรัมเลยทีเดียว จึงเหมาะสำหรับคนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นที่รักในการทำกิจกรรมนอกสถานที่

All NEW Toyota Hilux สำหรับตลาดญี่ปุ่นจะมีเพียง 2 เกรดให้เลือกเท่านั้น ได้แก่

เกรด X ราคา 3,250,000 เยน (ราว 972,000 บาท)

ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 2GD-FTV (High) 4 สูบ แถวเรียง 16 วาล์ว DOHC VN Turbo และ Intercooler หัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่น แบบคอมมอนเรล ขนาด 2.4 ลิตร 2,393 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะชัก 92.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.6 : 1 กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตรที่ 1,600 – 2,000 รอบต่อนาที จับคู่เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหว ะและ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Part-Time

เกรด Z ราคา 3,800,000 เยน (ราว 1,137,000 บาท)

ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 1GD-FTV (High) 4 สูบ แถวเรียง 16 วาล์ว DOHC VN Turbo และ Intercooler หัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่น แบบคอมมอนเรล ขนาด 2.8 ลิตร 2,755 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะชัก 92.0 x 103.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.6 : 1 กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตรที่ 1,600 – 2,400 รอบต่อนาที จับคู่เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ และ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Part-Time

ราคาดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงกับ Toyota FJ Cruiser ที่มีช่วงราคา 3,240,000 – 3,695,246 เยน

อุปกรณ์มาตรฐานในเกรด Z

  • ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB)
  • ระบบช่วยให้ผู้ขับขี่ขับรถรักษาเลน
  • เฟืองท้าย Limited Slip Differential (ในไทยจะเป็นแบบ Differential Lock)
  • ไฟหน้า LED
  • Cruise Control
  • พวงมาลัยหุ้มหนังแท้
  • ล้ออลูมิเนียม


All NEW Toyota Hilux สำหรับตลาดญี่ปุ่นจะนำเข้ารถจากฐานการผลิตโรงงาน Toyota ประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกของตระกูล Hilux ที่ต้องนำเข้ารถจากฐานการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่น

ที่มา : Yahoo News Japan


ข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับ Toyota Hilux

ปัจจุบันตระกูลรถกระบะ Toyota Hilux มีทั้งหมดถึง 8 เจเนเรชั่น ได้แก่
เจเนเรชั่นที่ 1 ปี 1968-1972
เจเนเรชั่นที่ 2 ปี 1972-1978
เจเนเรชั่นที่ 3 ปี 1978-1983
เจเนเรชั่นที่ 4 ปี 1983-1988
เจเนเรชั่นที่ 5 ปี 1988-1997
เจเนเรชั่นที่ 6 ปี 1997-2004
เจเนเรชั่นที่ 7 ปี 2004-2015
เจเนเรชั่นที่ 8 ปี 2015 – ปัจจุบัน

Hilux โฉมแรกเมื่อปี 1968

ความหมายของชื่อ Toyota Hilux นั้นย่อมาจาก Hi Luxury ที่แปลว่ารถยนต์หรูหราระดับสูง Toyota Hilux เจเนเรชั่นแรกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1968 รหัสตัวถัง N10 ตัวรถถูกพัฒนาและผลิตโดย Hino Motor เพื่อทำหน้าที่เป็นรถยนต์ทางเลือกใหม่นอกเหนือจากรถยนต์นั่งยอดนิยมในสมัยนั้น อาทิ Toyota Crown, Corona และ Corona Mark II โดยวางตำแหน่งเป็นรถกระบะที่มีระดับสูงกว่า Toyota Stout เพื่อให้สมกับชื่อรุ่น Hi Luxury และหลังจากนั้น Toyota Stout ก็ถูกยุบสายการผลิตเป็นต้นมา แล้วปล่อยให้ Toyota Hilux โลดแล่นในยุทธจักรรถกระบะระดับโลกแทน

Hilux Vigo เจเนเรชั่นที่ 7 ที่ให้ไทยเป็นผู้รับผิดชอบการส่งออก 113 ประเทศทั่วโลก ณ ขณะนั้น

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ Toyota Motor ได้พลิกยุทธศาสตร์การพัฒนารถกระบะใหม่ทั้งหมดภายใต้โครงการพัฒนารถกระบะขนาดคอมแพคท์ (Innovative International Multi-Purpose Vehicle : IMV) โดยย้ายฐานการผลิตรถกระบะและรถอเนกประสงค์จากประเทศญี่ปุ่นมาประเทศไทยด้วยเงินลงทุนถึง 37,000 ล้านบาท

Toyota Motor เริ่มแนะนำรถยนต์ภายใต้โครงการ IMV เป็นครั้งแรกในปี 2004 กับรถกระบะ Toyota Hilux Vigo, รถยนต์อเนกประสงค์ Toyota Fortuner ยกเว้น Toyota Innova มินิแวนพื้นฐานรถกระบะที่มีฐานการผลิตอยู่ในอินโดนีเซีย สำหรับฐานการผลิตในประเทศไทยจะรับผิดชอบการส่งออกรถยนต์ไปยัง 113 ประเทศทั่วโลก

นั่นเท่ากับว่าเป็นการปิดฉากฐานการผลิต Toyota Hilux ในประเทศญี่ปุ่นตลอดระยะเวลา 36 ปี

ปัจจุบันชื่อ Toyota Hilux มีอายุยาวนานถึง 50 ปีและมียอดขายสะสมทั่วโลกมากกว่า 16 ล้านคันแล้ว