ใครบอกว่า Toyota ทนนิ่งเฉยตลาดรถไฟฟ้าหรือ EV ปล่อยคู่แข่งร่วมสัญชาติและต่างสัญชาติแซงหน้าไปต่อหน้าต่อตาได้ และยังภาคภูมิใจกับความเป็นเจ้าตลาด Hybrid ของโลกอยู่ เห็นทีจะเดาสถานการณ์ Toyota ผิดไปเสียแล้ว

 
 
 

นับจากนี้ไปเกมการตลาดรถยนต์สิ่งแวดล้อมของ Toyota ไม่เพี้ยงจะเน้น Hybrid เท่านั้นแต่ยังโอบล้อมด้วยรถยนต์ Fuel Cell และรถไฟฟ้าที่ช่วยเติมเต็มความเป็นบริษัทรถยนต์สีเขียวของโลกอย่างแท้จริง

วิธีลัดที่ Toyota จะเร่งสปีดการแข่งตลาดรถไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่พัฒนาตัวทิ้งห่าง Toyota ไปหลายขุมคือการดอดเข้าไปซื้อกิจการบริษัทรถไฟฟ้าที่เล็กกว่าหวังนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วมาประยุกต์ใช้กับรถยนต์ Toyota เรียกว่าใช้เงินก้อนเดียวแต่ซื้อระยะเวลาให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในธุรกิจได้ในเวลาอันรวดเร็วโดย

Toyota เพียงแค่เข้าไปถือหุ้นในบริษัท Tesla ผู้ผลิตรถสปอร์ตไฟฟ้ารายเล็กในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเพียงแค่ 50 ล้านดอลลาร์เท่านั้นก็เติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับ Toyota ได้แล้ว ดังนั้น Tesla จึงมิใช่บริษัทที่ต้องผลิตรถสปอร์ตรักเศรษฐีเอาใจสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวเท่านั้น นับจากนี้ไปจะต้องพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า, ผลิตชิ้นส่วน, พัฒนากระบวนผลิต, งานวิศวกรรมรถไฟฟ้าให้แก่ Toyota ด้วย

ผลลัพธ์ Toyota สามารถไล่กวดตลาดรถไฟฟ้าได้ทัน Nissan และ GM ที่พัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าล้ำหน้ากว่าคู่แข่งขัน  และอีกผลลัพธ์อีกประการคือ Toyota สามารถตั้งไลน์ผลิตรถไฟฟ้ามายังโรงงาน NUMMI อันเคยเป็นโรงงานร่วมทุนระหว่าง Toyota และ GM เมื่อสมัยยุค 90 มีทีท่าว่าจะต้องปิดตัวลงไป เท่ากับว่าความร่วมมือระหว่าง Toyota และ Tesla สามารถช่วยชีวิตโรงงาน NUMMI ให้มีชีวิตอยู่ต่อได้ แถมยังเป็นวิธีฟื้นฟูที่คุ้มค่าเพียงแค่ขอเงินลงทุนสำหรับการผลิตรถเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่น่าจะได้รับถึง 465 ดอลลาร์

แผนธุรกิจรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมของ Toyota ยังยึดมั่นอยู่กับ Hybrid แน่นอนเพราะยังเชื่อเสมอว่ารถประเภทนี้ต้องได้รับความนิยมอีกนาน ลูกค้าไม่น่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อรถไฟฟ้าได้รวดเร็วขนาดนั้น ด้วยระยะเวลาที่นานขนาดนั้น Toyota ก็สามารถพัฒนารถไฟฟ้าได้ทันต่อความต้องการแน่นอน