ช่วงทศวรรษที่ 1970 หลังจากญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคประชายนต์นิยม (MOTORIZATION) เต็มตัว
ความต้องการรถยนต์ในแนวสปอร์ต หรือรถยนต์แบบ SPECIALTY COUPE เพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกเหนือจากผู้ผลิตรายหลักๆ เช่นโตโยต้า นิสสัน มิตซูบิชิ จะสนองตอบความต้องการของลูกค้า
ด้วยรถสปอร์ตคูเป้ ทั้ง เซลิกา ซีลเวีย รวมทั้งโคลต์ กาแลนท์ จีทีโอ และ เอฟทีโอ แล้ว ซูซูกิ ในฐานะ
ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก (Kei-Jidosha หรือ K-Car) รายใหญ่ที่สุดจากเมืองฮามามัตสึ ก็เริ่มชิมบางตลาดกลุ่มนี้เป็นครั้งแรก
ด้วยการเปิดตัว ซูซูกิ ฟรอนเต้ คูเป้ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 1971 เพื่อออกมาต่อกรกับ
มิตซูบิชิ มินิกา สกิปเปอร์ (MINICA SKIPPER) ฮอนด้า Z และไดฮัทสุ เฟลโล แม็กซ์ ฮาร์ดท็อป (FELLO MAX Hardtop)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_01.jpg)
FRONTE COUPE
LC10W
กันยายน 1971 – 1976
ชื่อรุ่นก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้สายพันธุ์ ฟรอนเต้ อันถือเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก
ที่เก่าแก่ที่สุด ของซูซูกินั่นเอง จุดเด่นอยู่ที่เส้นสายตัวถังอันเป็นผลงานของ Giorgetto Giugiaro
นักออกแบบรถยนต์ชื่อดังจากสำนักอีตัลดีไซน์ แห่งอิตาลี ที่เคยร่วมงานกับ ซูซูกิ มาตั้งแต่ปี 1970
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_02.jpg)
มิติตัวถังยาว 2,995 มิลลิเมตร กว้าง 1,295 มิลลิเมตร สูง 1,190 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,010 มิลลิเมตร
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_03.jpg)
วางเครื่องยนต์ 3 สูบ 2 จังหวะ 356 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 37 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 4.2 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ไว้ด้านหลัง เชื่อมกับขับเคลื่อนล้อหลัง
(RR : REAR ENGINE , REAR WHEEL DRIVE)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_04.jpg)
การปรับทัพบุกตลาด มีเพียงไม่กี่ครั้ง เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 1972 เพิ่มรุ่นเบาะนั่งแบบ 2+2 ที่นั่ง
ชื่อ GXF 37 แรงม้า (PS) รวมทั้งรุ่น GXPF ที่ลดความแรงลงเหลือ 34 แรงม้า (PS)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_05.jpg)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_06.jpg)
จากนั้น มิถุนายน 1972 เพิ่มรุ่นท็อป GXCF 37 แรงม้า (PS) เพิ่มดิสก์เบรกคู่หน้า และเพิ่มเบาะนั่ง
เป็นแบบ 2+2 ที่นั่ง ส่วนรุ่น GAF ลดกำลังลงเหลือ 31 แรงม้า (PS) และ GXF-T พ่นสีทูโทน
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_08.jpg)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_09.jpg)
ส่วนเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ยกเลิกรุ่น 2 ที่นั่งธรรมดา จากนั้น พฤษภาคม 1974 ปรับปรุงขุมพลังอีกรอบ
ให้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และมลพิษต่ำลง ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ส่งผลให้สมรรถนะลดลงเหลือ 35 แรงม้า (PS)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_10.jpg)
ฟรอนเต้ คูเป้ อยู่ในตลาดจนถึงปี 1976 จึงยุติการผลิตไป แต่เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในตลาดกลุ่ม
SPECIALTY K-CAR นี้นานนัก ซูซูกิ จึงนำ ฟรอนเต คูเป้ มาปรับปรุงรายละเอียดทางเทคนิค
และการตกแต่งเสียใหม่ ให้เอาใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอันเป็นสุภาพสตรี และออกขายในชื่อ ซูซูกิ เซอร์โวนั่นเอง
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_14.jpg)
———————————–
1st GENERATION
SS20
ตุลาคม 1977 – 9 มิถุนายน 1982
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1977_Suzuki_Cervo_2.jpg)
ประเด็นสำคัญในการปรับปรุงฟรอนเต้ คูเป้ ให้กลายมาเป็นเซอร์โว
อยู่ที่การเพิ่มความกว้างตัวถังจากเดิม 1,295 เป็น 1,395 มิลลิเมตร โดยยังคงรูปแบบตัวถังเดิม
ที่ออกแบบโดย จูเจียโร รวมทั้งยังคงวางเครื่องยนต์ด้านหลัง ขับเคลื่อนล้อหลัง (RR : REAR ENGINE ,
REAR WHEEL DRIVE) และยกระดับเครื่องยนต์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจาก 356 ซีซี เป็น 539 ซีซี
ตามความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายการแบ่งจำแนกประเภทภาษีรถยนต์ K-CAR ในยุคนั้น
(ก่อนมาเป็นขนาดไม่เกิน 660 ซีซี 64 แรงม้า ในปัจจุบัน)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1972_Suzuki_Fronte_Coupe_18.jpg)
มิติตัวถังยาว 3,190 มิลลิเมตร กว้าง 1,395 มิลลิเมตร สูง 1,210 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,030 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์รหัส T5A 3 สูบ 2 จังหวะ 539 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 28 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 5.3 กก.-ม. ที่ 5,000 รอบ/นาที ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกเดี่ยว คอยล์สปริง
หลังแบบเซมิเทรลลิงอาร์ม คอยล์สปริง ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม
ในตลาดส่งออก ซูซูกิ จะเปลี่ยนชื่อ เซอร์โว ให้เป็น SC100 และเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ใหญ่ขึ้น
เป็นแบบ 4 สูบ SOHC 970 ซีซี ขณะที่ในอังกฤษจะเรียกรุ่นนี้ว่า WHIZZKID
กันยายน 1978 เพิ่มรุ่น CX-L เอาใจสุภาพสตรีด้วยกระจกแต่งหน้า ในแผงบังแดด
ปรับเปลี่ยนให้พนักศีรษะกับเบาะนั่ง แยกชิ้นกัน
นิตยสาร CAR GRAPHIC ของญี่ปุ่น เคยทำบทความทดสอบเซอร์โวรุ่นแรกไว้ และให้ข้อมูลว่า
เครื่องยนต์ดูเหมือนจะกวาดขึ้นไปยังรอบสูงสุดที่ 7,000 รอบ/นาที แต่กลับปรากฎอาการเครื่องยนต์
เดินไม่เรียบ มีอาการสะดุดในรอบเครื่องยนต์ต่ำๆ ทำให้ตัวรถสั่นสะท้านไปทั้งคัน และก่อให้เกิด
ความไม่สบายในการขับขี่ ความเร็วสูงสุดที่ทำได้คือ 111.80 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราเร่ง 0-400 เมตร
หรือควอเตอร์ไมล์ ใช้เวลานานถึง 23 วินาที กระนั่น ด้วยการวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหลัง
ทำให้เซอร์โวถือเป็นรถขับสนุก และเดาได้ไม่ยากว่าการควบคุมจะเบา และคล่องตัวเพียงใด
ขณะเดียวกัน การทรงตัวถือว่าทำได้ดีเกินคาด
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1982_Suzuki_Cervo_June.jpg)
2nd GENERATION
SS40
9 มิถุนายน 1982 – มีนาคม 1988
การเปลี่ยนโฉมครั้งแรก ถือเป็นการพลิกโฉมใหม่ทั้งคัน เพราะถือเป็นเซอร์โวรุ่นแรก
ที่ย้ายตำแหน่งติดตั้งเครื่องยนต์จากด้านหลังมาไว้ด้านหน้า และเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
(FF ; FRONT ENGINE, FRONT WHEEL DRIVE) ตามเพื่อนพ้องร่วมยุคสมัย
อีกทั้งยังเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ และเริ่มเปลี่ยนมาใช้พื้นตัวถังร่วมกับรถเล็กขายดีที่สุด
ในญี่ปุ่นร่วมยุคอย่าง อัลโต้/ฟรอนเต (ALTO/FRONTE)
มิติตัวถังยาว 3,195 มิลลิเมตร กว้าง 1,395 มิลลิเมตร สูง 1,290-1,295 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,150 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์รหัสเดียว F5A 3 สูบ 543 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 31 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 4.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที พ่วงทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะหรือเกียร์อัตโนมัติ 2 จังหวะ
พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียนระบบกันสะเทือนหน้าสตรัต คอยล์สปริง หลังคานแข็งพร้อมแหนบ
ระบบเบรกเป็นแบบดรัม 4 ล้อ สวมยางขนาด 5.20-10-4PR ดูสเป็กแล้ว ลูกค้าที่เคยชื่นชอบ
ในความแรงสมตัวของรุ่นเดิมแทบร้องไห้ เพราะรุ่นนี้ เปิดตัวออกมาในช่วงแรกด้วยสเป็กที่ต่ำเอามากๆ
แม้เครื่องยนต์จะแรงขึ้น 2 แรงม้า แต่โปรดสังเกตว่าช่วงล่างด้านหลัง กลับหันไปหาคานแข็งและแหนบ
ขณะที่ระบบดรัมเบรก 4 ล้อ ยังอุตส่าห์หลุดรอดหลงเหลือมาจนถึงทศวรรษ 1980 ได้อีกด้วย!!
การปรับปรุงรายละเอียดมีขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง ทั้งการเพิ่มเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ให้กับรุ่น 31 แรงม้า (PS)
เมื่อ 20 กันยายน 1982 และการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ย้ายตำแหน่งกระจกมองข้าง จากบนตัวถัง
มาไว้ที่กรอบประตูรถทั้งสองฝั่งเมื่อ 11 พฤษภาคม 1983
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1982_Suzuki_Cervo_2.jpg)
แต่หลังทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว 11 พฤศจิกายน 1983 ซูซูกิจึงเพิ่มรุ่น CT-G นำขุมพลังเดิม มาพ่วงเทอร์โบ
แรงขึ้นเป็น 40 แรงม้า (PS) 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 5.54 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะ
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ระบบเบรกเปลี่ยนมาใช้ดิสก์เบรกเฉพาะคู่หน้า สวมยางขนาด 145/70SR 12
เพิ่มสกู๊ปดักอากาศบนฝากระโปรงหน้า เปลี่ยนกระจังหน้าลายตาข่าย และเพิ่มสติ๊กเกอร์คาดตัวถัง
บริเวณเสาหลังคากลาง B-PILLAR และนั่นเป็นเพียงครั้งเดียวที่มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียว
ให้กับเซอร์โวรุ่นนี้
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1983_Suzuki_MightyBoy_Catalog01.jpg)
***รุ่นพิเศษ MIGHTY BOY (SS40T) ***
1983 – 1987
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1983_Suzuki_MightyBoy_Catalog02.jpg)
เป็นการนำเซอร์โว มาปรับปรุงตัวถังด้านหลัง ให้กลายเป็นรถกระบะขนาดเล็ก เอาใจวัยรุ่นที่อยากได้
รถเล็กไว้ขับใช้งาน ได้รับความนิยมตามสมควร ทั้งในญี่ปุ่น และตลาดส่งออก คือ ออสเตรเลีย
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1983_Suzuki_MightyBoy_Catalog03.jpg)
โดยวางเครื่องยนต์ F5A 3 สูบ SOHC 543 ซีซี 28 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 4.2 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และอัตโนมัติ 2 จังหวะ
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1983_Suzuki_MightyBoy_Catalog04.jpg)
รายละเอียดพื้นฐานใช้ร่วมกันกับเซอร์โวได้แทบทั้งหมด มีให้เลือกทั้งรุ่นล่างสุด PS-A
ใส่กระทะล้อเหล็กขนาดแค่ 10 นิ้วมาให้ ไปจนถึงรุ่นกลางและรุ่นแพง PS-L และ PS-QL ที่ใส่ล้อ 12 นิ้วมาให้
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1983_Suzuki_MightyBoy_Catalog05.jpg)
———————————–
3rd GENERATION
CERVO F
CG72V CH72V
มีนาคม 1988 – 18 กรกฎาคม 1990
จริงอยู่ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมใหม่จากรุ่นเดิมทั้งคัน ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว เซอร์โวรุ่นที่ 3
เป็นการนำอัลโต รุ่นที่ 2 มาผ่าครึ่งคัน แล้วออกแบบบั้นท้ายสไตล์ใหม่ ในแบบคูเป้แวกอน 3 ประตูนั่นเอง
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1988_Suzuki_Cervo_03.jpg)
ตัวถังมีความยาว 3,195 มิลลิเมตร กว้าง 1,395 มิลลิเมตร สูง 1,330 – 1,350 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,175 มิลลิเมตร
วางเครื่องยนต์ F5B 3 สูบ SOHC 12 วาล์ว 547 ซีซี 40 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 4.2 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ระบบกันสะเทือนหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต
หลังแบบ I.T.L ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม ภายในติดตั้งวิทยุ AM ของ DIATONE (จก Mitsubishi)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1988_Suzuki_Cervo_02.jpg)
จุดเด่นในงานออกแบบคือ ในบางรุ่น จะมีหลังคากระจกแบบ PANORAMIC GLASS ROOF
ที่ติดตั้งต่อเนื่องจากกระจกบังลมหน้า ถือได้ว่าเป็นรถญี่ปุ่นสำหรับทำตลาดจริงรุ่นแรกสุด
ที่มีหลังคากระจกแบบต่อเนื่องจากกระจกบังลมหน้าเช่นนี้
และถือว่า มีมาก่อน เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส รุ่นปัจจุบัน ถึง 15 ปี
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1988_Suzuki_Cervo_01.jpg)
สถานการณ์ยอดขายในขณะนั้น ไม่ถือว่าดีนัก เพราะว่าคู่แข่งอย่าง Daihatsu Leeza
คลอดออกมาใหม่ ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามกว่า อีกทั้ง เซอร์โวรุ่นนี้ เป็นเพียงตัวถัง
อัลโต้ มาเปลี่ยนบั้นท้ายใหม่ จึงทำให้รุ่นนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร
———————————–
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1990_Suzuki_Cervo_Mode_3-5dr_Jpn_01.jpg)
4th GENERATION
CERVO MODE
CN31S CP31S CN21S CP21S
CN32S CP32S CN22S CP22S
19 กรกฎาคม 1990 – ตุลาคม 1998
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1994_Suzuki_Cervo_SR1.jpg)
เปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันบนพื้นตัวถังใหม่ร่วมกับอัลโตเช่นเดิม คราวนี้ เน้นกลุ่มลูกค้าผู้ชายและผู้หญิงโสดเป็นหลัก
เส้นสายที่โค้งมน เรียบง่าย และร่วมยุคสมัยบนตัวถังที่มีความยาว 3,295 มิลลิเมตร กว้าง 1,395 มิลลิเมตร
สูง 1,370 – 1,400 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,335 มิลลิเมตร
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1995_Suzuki_Cervo_Mode_03.jpg)
ช่วงแรก วางขุมพลัง 2 ความแรง
ทั้งรหัส F6A 3 สูบ SOHC 6 วาล์ว 657 ซีซี เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ 61 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 9.2 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที และรหัส F6B 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 658 ซีซี เทอรโบ
64 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 8.4 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ทั้งคู่เชื่อมได้ทั้ง
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ ระบบกันสะเทือน หน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต
พร้อมเหล็กกันโคลง หลังแบบ I.T.L ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1990_Suzuki_Cervo_Mode_4.jpg)
การปรับปรุงสายพันธุ์รุ่นนี้ มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเพิ่มตัวถัง 5 ประตูแฮตช์แบ็ก L-TYPE
และรุ่นโลว์ออพชัน S-TYPE เมื่อ 2 พฤศจิกายน 1990 โดยขุมพลัง F6A 3 สูบ 657 ซีซี มีให้เลือกถึง 3 เวอร์ชัน
เริ่มจากรุ่นพื้นฐาน SOHC 6 วาล์ว คาร์บิวเรเตอร์ 42 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 5.6 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1990_Suzuki_Cervo_Mode_1.jpg)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1990_Suzuki_Cervo_Mode_2.jpg)
ตามด้วยเวอร์ชัน SOHC 12 วาล์ว 657 ซีซี มี 2 เวอร์ชัน ทั้งรุ่นคาร์บิวเรเตอร์ 52 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 5.7 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที และรุ่นจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EPI 55 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 6.1 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ส่วนรุ่น 61 แรงม้า (PS) ถูกยกระดับสมรรถนะขึ้นเป็น
64 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
ทุกรุ่นเลือกได้ทั้งรุ่นขับล้อหน้าหรือสี่ล้อ และเลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 3 จังหวะ
ส่วนรหัส F6B ถูกลดทอนให้ใช้ได้แค่เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะเท่านั้น ทั้งรุ่นขับล้อหน้าและสี่ล้อ
จากนั้นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์เล็กน้อยเมื่อ 2 กันยายน 1991 และเพิ่มรุ่น L S M และ MC
ตามด้วยการเพิ่มรุ่น M SELECTION มอบแอร์เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และลายผ้าเบาะใหม่
เมื่อ 19 ตุลาคม 1993 คล้อยหลังไปไม่นานนัก 13 เมษายน 1994 เพิ่มรุ่นล่างพื้นฐาน A
ตามด้วย 6 มิถุนายน 1994 เพิ่มรุ่นตกแต่งพิเศษในชื่อ Loft (จับมือกับร้านขายของ GIFT SHOP ชื่อดังของญี่ปุ่น
ซึ่งมีสาขาในไทยที่สยามดิสคัฟเวอรี และพารากอน) เพิ่มมาตรวัดรอบ กระจกไฟฟ้า ลายผ้าเบาะพิเศษ ฯลฯ
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1995_Suzuki_Cervo_Mode_01.jpg)
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1995_Suzuki_Cervo_Mode_02.jpg)
9 ตุลาคม 1995 เปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ กันชนหน้าใหม่ และเปลี่ยนชุดไฟท้ายใหม่เป็นแบบเต็ม
จากเดิม แบบ 2 ช่องแถว ให้ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น เปลี่ยนดีไซน์แผงควบคุมช่องแอร์บนคอนโซลกลาง
ของแผงหน้าปัดใหม่ เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ B C E และ X
2 สิงหาคม 1996 กระแสการนำรถยนต์ขนาดเล็ก มาตกแต่งในสไตล์คลาสสิกย้อนยุค กำลังฮิตในญี่ปุ่น
ยิ่งเมื่อ ซูบารุ เปิดตัว วิวีโอ บริสโต อันเป็นเวอร์ชันตกแต่งด้วยโครเมียมสไตล์คลาสสิค
ซูซูกิ จึงรีบเกาะกระแส ด้วยการเปิดตัว เซอร์โว-ซี (CERVO-C) ตกแต่งในสไตล์คลาสสิก ด้วย
กระจังหน้า คิ้วกันกระแทก ฯลฯ ด้วยโครเมียม ตกแต่งภายในด้วยพลาสติกขึ้นรูปลายไม้ ฯลฯ
วางเครื่องยนต์ F6A SOHC 12 วาล์ว 657 ซีซี มี 2 เวอร์ชัน ทั้งรุ่นคาร์บิวเรเตอร์ 52 แรงม้า (PS)
มีทั้งรุ่นขับล้อหน้า พ่วงทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ ส่วนรุ่นขับสี่ล้อ
มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และรุ่นจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EPI 55 แรงม้า (PS) มีเฉพาะรุ่นขับสี่ล้อ
เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ จากนั้น 16 มกราคม 1997 จึงปรับปรุงรายละเอียดเล็กน้อยให้กับ เซอร์โว-ซี อีกครั้ง
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/1996_Suzuki_Cervo_01.jpg)
9 พฤษภาคม 1997 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนกระจังหน้าและกันชนหน้า และเพิ่มรุ่นให้กับเซอร์โว โหมด
เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยรุ่น S-LIMITED ทั้งขับล้อหน้าและสี่ล้อ ทำตลาดร่วมกับเซอร์โว-ซี และรุ่น M-SELECTION
และในที่สุด หลังจากอยู่ในตลาดมานาน 21 ปี ซูซูกิ ตัดสินใจปลดเซอร์โว ออกจากสายการผลิตไปในเดือนตุลาคม 1998
ก่อนจะนำชื่อเซอร์โวมาปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในวันนี้
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่หายตัวไปจากญี่ป่น ในตลาดนอกบ้าน ซูซูกิ ยังคงส่งออกเซอร์โว
ไปทำรายได้ในยุโรปต่อไป แต่กลับเปลี่ยนไปสวมชื่อ อัลโต้ แทน
———————————————————————-
5th Generation
7 พฤศจิกายน 2006
ซูซูกิ ตัดสินใจนำชื่อเซอร์โว กลับมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ กับรถเล็ก 5 ประตูคันใหม่ เปิดตัวอีกครั้ง เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006
HASUIKE TOSHIAKI ; CHIEF ENGINEER ของโครงการพัฒนาเซอร์โว กล่าวในงานเปิดตัวรถเล็กรุ่นใหม่นี้ว่า
ตลาดรถยนต์ขนาดจิ๋ว K-CAR (ขนาดเครื่องยนต์ ไม่เกิน 660 ซีซี ไม่เกิน 64 แรงม้า) เริ่มมีแนวโน้มความต้องการ
ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิม ลูกค้าสุภาพสตรี เป็นลูกค้ากลุ่มหลักของรถยนต์ประเภทนี้มาโดยตลอด
ทว่าหลายปีมานี้ สัดส่วนของลูกค้าสุภาพบุรุษ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/2009_Suzuki_Cervo01.jpg)
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มอายุของลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ K-CAR ก็มีพัฒนาการที่เปลี่ยนไปเช่นกัน กล่าวคือ
จากเดิมที่มีแต่คนรุ่นหนุ่มสาวเป็นลูกค้าหลัก แต่ในวันนี้ ลูกค้าวัยทำงานระดับผู้ใหญ่ ต่างพากัน
หันมาอุดหนุนรถเล็กประเภทนี้มากขึ้น ดังนั้น ซูซูกิ จึงเลือกจะพัฒนาให้เซอร์โวใหม่
ยังคงความเป็นรถยนต์ขนาดจิ๋ว ที่มีบุคลิกสปอร์ต เหมือนเช่นเดิมที่เคยเป็นมา
ก่อนยุติสายการผลิตไปในปี 1998 แต่จะเพิ่มคุณค่าใหม่ๆในด้านต่างๆ เพื่อตอบสนอง
ความต้องการของลูกค้าสุภาพสตรีมากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มผู้หญิงที่มีรสนิยมในแนวน่ารัก คิกขุ
หรือแนวอบอุ่น สุขุม นั่นคือที่มาของการกำหนดแนวคิดในการพัฒนาเซอร์โวใหม่ที่ว่า
FIT ON MY STYLE หรือการสร้างความลงตัวสอดคล้องกับบุคลิกของ
ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ที่มีความคิดอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และพิถีพิถันในการใช้ชีวิต
ถึงจะสาธยายมายืดยาวขนาดนี้ แต่ลึกๆแล้ว จุดประสงค์ของการนำชื่อเซอร์โว กลับมาใช้อีกครั้ง
ไม่มีอะไรมากไปกว่า ความพยายามของซูซูกิในการสร้างรถยนต์ K-CAR รุ่นใหม่ เพื่อจะต่อกรกับ
Daihatsu Sonica และ Subaru R1 รวมทั้ง R2 นั่นเอง เพราะตลาดของรถยนต์ K-Car
ในแบบซีดาน หรือ Personal Car ดูเหมือนถูกละเลยไป หลังจากกระแสรถเล็กแบบ TALL BOY
ที่เริ่มปูพื้นจาก Mitsubishi Minica Toppo ตามด้วย Suzuki Wagon-R และ Daihatsu MOVE
จะพุ่งสู่ความนิยมอย่างสูงในช่วงปี 1993 เป็นต้นมา
โครงสร้างตัวถังที่มีความยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร สูง 1,535 – 1,545 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อยาว 2,360 มิลลิเมตร (เท่ากับ โตโยต้า โซลูนา รุ่นแรก) ถูกออกแบบให้มีเส้นสาย
ที่เฉียมคม ผสานความโค้งมนในเวลาเดียวกัน ไฟหน้ามาในสไตล์เรียวแหลม
แต่บั้นท้าย ยังคงเน้นการใช้เส้นสาย J-LINE มาตัดเชื่อมกันกับประตูห้องเก็บของด้านหลัง
แผงหน้าปัดมาในสไตล์เรียบง่าย แต่ออกแบบและวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ชวนให้นึกถึง
แผงหน้าปัดของพี่ใหญ่รุ่น สวิฟต์ ได้อย่างสนิทใจ เบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบบักเก็ตซีต
มาในสไตล์สปอร์ต โอบกระชับลำตัว พร้อมคันโยกปรับระดับสูง-ต่ำของชุดเบาะ ขณะที่เบาะหลัง กลับ
ออกแบบให้ดูเรียบง่ายจนต่างกันอย่างเด่นชัด และแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ตามมาตรฐานรถเล็กท้ายตัดของญี่ปุ่น
จุดเด่นอยู่ที่การติดตั้งระบบเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ไร้สายแบบ Bluetooth ระบบรีโมทคีย์การ์ด
สั่งล็อกและปลดล็อกประตูรถ และติดเครื่องยนต์ได้โดยไม่ต้องใช้ลูกกุญแจ แบบเดียวกับนิสสัน เทียนา
และโตโยต้า ยาริส/คัมรี ในบ้านเรา ส่วนชุดเครื่องเสียงติดรถ สามารถต่อเชื่อม
กับเครื่องเล่น iPod จากค่ายแอปเปิลได้
![](http://www.headlightmag.com/main/images/stories/jimmy01/Suzuki/Cervo_History/2009_Suzuki_Cervo02.jpg)
ขุมพลังมีรหัสเดียว ยกมาจากสหกรณ์เครื่องยนต์ของซูซูกินั่นเอง
เป็นแบบ K6A DOHC 12 วาล์ว 658 ซีซี แต่มีให้เลือก 2 ระดับความแรง
ทั้งเวอร์ชันธรรมดา ที่มาพร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT 54 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 6.4 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที และเวอร์ชันแรงสุด พ่วงเทอร์โบ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์
60 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 8.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที ทั้งคู่เลือกได้
ทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือสี่ล้อตลอดเวลา แต่ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
แบบขั้นบันได พร้อมโหมด บวกลบให้เลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง เพียงแบบเดียวเหมือนกัน
ระบบกันสะเทือน หน้าแม็คเฟอร์สันสตรัต หลังแบบ I.T.L (ISOLATED TRAILING LINK)
อันเป็นรูปแบบที่ซูซูกินิยมใช้กับรถเล็กของตนมาแต่ไหนแต่ไรหลายสิบปีแล้ว ถูกปรับเซ็ตให้
เอาใจลูกค้าที่ชอบความมั่นคงในการขับขี่ยิ่งขึ้น พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์
ถูกปรับเซ็ตอัตราทดเฟืองเกียร์ให้กระชับขึ้น รัศมีวงเลี้ยวแคบเพียง 4.1 เมตร ระบบเบรกแบบ
หน้าดิสก์-หลังดรัม เสริมด้วยเอบีเอส และระบบกระจายแรงเบรก อีบีดี โดยมีเฉพาะรุ่นท็อป TX
ที่ได้ใช้จานเบรกหน้าพร้อมรูระบายความร้อน
ด้านความปลอดภัย ยังคงยืนหยัดอยู่กับโครงสร้างตัวถังนิรภัย TECT ประกอบด้วยถุงลมนิรภัย
ที่มีมาให้เพียงแค่คู่หน้า เข็มขัดนิรภัยพร้อมระบบรั่งและดึงกลับอัตโนมัติ ฝากระโปงหน้า
กันชนหน้า ออกแบบให้ลดการกระเทือนต่อการชนผู้สัญจรข้ามถนนในกรณีฉุกเฉิน และการบุ
เสาขอบเพดานหลังคา ด้วยวัสดุที่ลดการบาดเจ็บของศีรษะ เมื่อเกิดการกระแทก
ด้วยค่าตัวที่ต่ำกว่าคู่แข่งในท้องตลาดที่ระดับ 331,968 – 440,160 บาท ทำให้ซูซูกิ
มั่นใจจะตั้งเป้ายอดจำหน่ายของเซอร์โว ผ่านเครือข่ายจำหน่าย ARENA
และผู้จำหน่ายรายย่อยของตนไว้ที่ 5,000 คัน/เดือน
———————————————–///————————————————
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรก ในนิตยสาร THAIDRiVER ฉบับที่ 89
ดัดแปงเพื่อเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com
8 เมษายน 2009