แม้ว่าจุดประสงค์หลักของเว็บไซต์ Headlightmag.com แห่งนี้คือการนำทุกท่านเข้าสู่โลก
แห่งเนื้อหาสาระทางด้านรถยนต์และเทคโนโลยีรวมถึงความเป็นไปในโลกของยานพาหนะ 4 ล้อ
โดยมี 2 ล้อมาร่วมแจมเป็นระยะๆ (แต่เจ้าของเว็บคงไม่คิดจะจับ 6 ล้อ 10 ล้อหรือตีนตะขาบ
มารีวิว) คุณผู้อ่านหลายท่านก็อาจสังเกตได้ว่าเราเองก็มีบางจุดที่คล้ายกับนิตยสารรถยนต์
หลายเล่ม ตรงที่มีการแซมเอาเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งอื่นๆปะปนไปบ้างเพื่อให้ผ่อนคลายสมอง
เป็นการให้เซลล์ส่วนที่คิดเรื่องรถได้มีโอกาสพักและปลุกความคิดและการรับรู้ในเรื่องอื่น
อาทิเช่นอาหารและการท่องเที่ยว แม้บางท่านจะมีความเชื่อว่าเว็บไซต์รถก็ควรพูดกันแต่เรื่องรถ
ผมกลับรู้สึกว่าคนเรานั้นจะให้พูดเรื่องรถตลอดเวลาก็คงไม่ใช่ ถูกล่ะ รถคือสาระหลักที่มีอัตรา
ส่วนเยอะที่สุดบนเว็บนี้ แต่ทุกท่านที่กำลังอ่านย่อหน้านี้ อย่างน้อยต้องมีความสนใจในด้านอื่นบ้าง
ถูกมั้ยครับ?

ที่เกริ่นมานี่ ก็เพียงเพื่อจะผายมือส่งสายตาเชิญชวนคุณผู้อ่านเข้าสู่เรื่องราวของเพลงที่ผมกำลัง
จะเขียนถึงในตอนนี้ ช่วงเวลาต้นปีที่ฤดูหนาวอันแสนสั้นในประเทศไทยที่เยื้องย่างแผ่ซ่านความ
เย็นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โบกมืออำลาอย่างถาวร ฤดูร้อนส่งสัญญาณว่าข้ามาปักหลัก
ตอกหมุดเป็นที่เรียบร้อย คอยส่งแดดแผดเผาให้ร่างกายเราชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อกาฬระหว่างวัน
ต้นมะม่วงผลิตลูกดกพร้อมร่วงหล่นลงมากระแทกพื้น หากเราสอยไม่ทัน เป็นฤดูกาลที่รถยนต์
พึงระวังไม่ควรจอดรถไว้ใต้ต้นมะม่วงโดยเด็ดขาด เพราะฤทธิ์ของมันเป็นกรดชนิดที่กัดกร่อนสี
ให้มีรอยด่างพร้อยเลยทีเดียว

คุณผู้อ่านคงคล้ายผมและผู้คนอีกจำนวนมากที่รู้สึกว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยเรา มี3ฤดู แต่เป็น
3ฤดูที่มิได้เหมือนยุคก่อนโน้นตามตำราเรียนอีกต่อไป ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ปัจจุบันเราจะแซว
สภาพอากาศประเทศไทยอย่างตลกร้ายว่ามี 3 ฤดูจริงๆ แต่เป็นฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อน
เรือหาย เอาล่ะครับ ในเมื่อเรายังต้องอาศัยอยู่กับประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีสภาพอากาศ
ร้อนชื้นเหนียวเหนอะหนะ ชินกับการยกมือปาดเหงื่อเม็ดเป้ง ซึ่งบางครั้งก็ไหลเข้าปากเสียก่อน
จนต้องหยีตากับรสชาติเค็มๆ

ตรงกันข้ามกับฝรั่งมังค่านะครับ ฤดูร้อนเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ ปิติปลื้มปริ่มจนน้ำตาไหล ในที่สุด
ฉันก็จะได้โอบรับไออุ่นอีกครั้ง หลังจากทนหนาวเย็นมาตลอดปี ได้ถอดเสื้อขนสัตว์หนานุ่ม มาสวม
เครื่องนุ่มห่มเบาบางอย่างแจ็คเก็ตผ้าร่ม หล่มหิมะที่เคยเป็นอุปสรรคการเดินทาง บัดนี้ละลายไหล
ลงสู่ลำธารหมดสิ้น กลิ่นแดดหอมกรุ่นกระตุ้นให้สารหลั่งความสุขในร่างกายได้สูบฉีด
 
alt

ใช่แล้วครับ ประเดิมบทความแรกเรื่องดนตรีที่นี่ ผมเตรียมเพลงที่นิตยสารRolling Stone รวมทั้ง
อีกหลายหัวทั่วโลก จัดให้เป็นเป็น 1 ใน30 เพลงแห่งฤดูร้อนที่ยอดเยี่ยมตลอดกาล มาเล่าให้ฟัง
นั่นคือ Summertime ผลงานเพลงขึ้นหิ้งระดับตำนานของสองพี่น้องตระกูลGershwin โดย
Georgeผู้น้องเป็นคนทำดนตรีขึ้นมาก่อน แล้วจากนั้น Iraผู้พี่รับหน้าที่เขียนเนื้อในลำดับถัดมา
ร่วมกับ DuBose Heyward ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องPorgy ที่ต่อมาถูกสร้างเป็นละครโอเปร่า
ในชื่อ Porgy & Bess โดยมีSummertimeเป็นเพลงประกอบนั่นเอง  ส่วนการบันทึกเสียงเพลงนี้
ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่19 July 1935 โดย Abbie Mitchell นักร้องเสียงโซปราโน่

alt
 
นอกจากนี้ Summertimeยังกลายเป็นเพลงมาตรฐานอมตะนิรันดร์กาลของประเทศสหรัฐอเมริกา
ไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ ถ้าเปรียบกับบ้านเราก็น่าจะประมาณผลงานประพันธ์เพลงของ
ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ คณะสุนทราภรณ์

สิ่งที่แตกต่างระหว่างบ้านเรากับบ้านเขา คือ เพลงระดับขึ้นหิ้งชั้นครูของเขานำมาตีความใหม่ได้
อย่างอิสระเสรีหลายรูปแบบดนตรี ไม่ต้องกังวลว่าผู้ใหญ่ร่วมสมัยที่เติบโตมากับงานเพลงของ
Gershwinจะคอยค่อนขอดมองด้วยหางตาว่า มีสิทธิ์อะไรมาฉวยเพลงในตำนานไปทำใหม่ให้
มีบุคลิกต่างไปจากเดิม เราเลยได้ยินSummertimeในฉบับที่ถูกนำมาต่อยอดในหลายแนวดนตรี
จวบจนทุกวันนี้ ต่างกับบ้านเราที่การหยิบเพลงสุนทราภรณ์มาทำดนตรีใหม่ จะมีสายตาที่คอย
จ้องจับผิดประหนึ่งเห็นเด็กเมื่อวานซืนกำลังรื้อหิ้งพระแล้วจัดวางผิดทิศผิดทางที่ตนคุ้นเคย

Summertimeที่ผมตั้งใจนำเสนอตรงนี้ มีไอเดียเริ่มต้นจากการที่ผมนำฉบับที่ Al Jarreau ขับร้องไว้
ตั้งแต่ปี1994 มาเล่นออกอากาศในรายการวิทยุ DR!VE By J!MMY ทางFM93.5 เพราะมีอยู่คืน
หนึ่งขณะที่ผมกำลังเตรียมเพลงสำหรับรายการ ก็ค้นหาอะไรเพลินๆดูทางช่อง
ท่านท่อ(YouTubeน่ะ)  เผอิญเจอโฆษณารถยนต์SUBARUในเลบานอนเข้าให้ และแน่นอนว่า
ในภาพยนตร์โฆษณานั้น ใช้เพลงSummertimeดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ น่าเสียดายที่ผม
จนปัญญาไม่สามารถค้นหาเสียงสวยๆของสุภาพสตรีที่ร้องไว้ในโฆษณาตัวนั้นได้ ต้องหันมา
ใช้บริการฉบับAl Jarreau ทดแทนในรายการ ภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ของSUBARUในเลบานอน
ทำการดัดแปลงเนื้อร้องบางคำมารับใช้แนวคิดเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวตามบทที่วางไว้ เนื้อร้อง
ตอนต้นเพลงดั้งเดิม ร้องไว้ว่า…

Summertime And The Living Easy
Fish Are Jumping
And The Cotton Is High…………….
ซูบารุเลบานอนเขาเปลี่ยนบางคำเพื่อสอดรับกับแคมเปญคำเชิญชวนที่จะทำให้คุณได้เป็น
เจ้าของรถตราดาวลูกไก่อย่างสะดวกสบายง่ายดาย  สุภาพสตรีเสียงสวยในภาพยนตร์โฆษณา
ร้องไว้ดังนี้

Summertime And The Payment Is Easy
Offer Are Jumping
And The Car Are So Nice……………

เมื่อลองย้อนกลับไปสืบหาถึงรากเหง้าของSummertime ปรากฎว่าเป็นเพลงที่มีเค้าโครงมาจาก
เพลงกล่อมเด็กพื้นบ้านของประเทศยูเครน (Ukrainian lullaby) ที่ชื่อว่า Oi Khodyt Son Kolo Vikon
 (A Dream Passes By The Windows) เมื่อGeorge Gershwin มีโอกาสได้ยินและชมเพลงนี้
จากการแสดงของ Oleksander Koshetzs Ukrainian National Chorus.จึงรู้สึกประทับใจ
และใช้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงSummertimeขึ้นมา เขาเริ่มลงมือแต่งทำนองเพลงนี้
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 1933 ใช้ความพยายามยาวนานกว่า20เดือนจึงจะสำเร็จเสร็จสิ้น หนึ่งใน
ความพยายามอันยากยิ่งที่ต้องใช้เวลานานก็เพราะปรับให้เหมาะสมกับตัวละครในโอเปร่าเรื่อง
Porgy & Bess

alt

ตามตำนานเล่าไว้ว่าPorgy and Bess เกิดขึ้นช่วงต้นยุค 1930 ในรัฐ South Carolina เป็น
เรื่องราวเกี่ยวกับความรักของชายขาพิการ กับหญิงสาวตกยากที่โดนสามีแมงดาทอดทิ้ง
ชั่วชีวิตนั้นพบแต่วิบากรรม ประสบอุปสรรคนานาประการ และมีตอนจบที่ไม่น่าอภิรมย์นัก
เพลง Summertime ตามท้องเรื่อง ร้องโดยตัวละครที่ชื่อ Clara ใช้เพลงนี้ขับกล่อมลูกน้อย
ของเธอ ทั้งๆที่เป็นเพียงตัวประกอบของเรื่อง แต่เพลงนี้กลับได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จัก
มากที่สุด ว่ากันว่าเป็นเพลงที่ได้รับการ cover เป็นจำนวนมากที่สุดในโลกเพลงหนึ่งเลยทีเดียว
นับกันทั้งนำมาบันทึกเสียงใหม่กับนำไปแสดงสดบนเวทีต่างๆนานา รวมแล้วกว่า 30,000ครั้ง
ถ้าเราคิดว่าครึ่งหลังของศตวรรษที่19เพลงYesterdayของThe Beatlesน่าจะเป็นเพลงที่ถูกนำ
มาตีความใหม่มากมายนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว Summertime ก็คือเพลงจากครึ่งแรกของศตวรรษ
ที่19ที่มีสถิติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าYesterday

เรียกกันว่ามีการนำมาทำใหม่ ขับร้องใหม่ ปัดฝุ่นแล้วบันทึกเสียงใหม่ หยิบขึ้นมาแสดงสดบน
เวทีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดย่อมในสถานบันเทิงยามค่ำคืนไปจนถึงเวทีคอนเสิร์ต
ขนาดมหึมา Summertime ประเคนความรื่นรมย์แก่ผู้ฟังผู้ชมมานับครั้งไม่ถ้วน และศิลปินที่
นำมาตีความใหม่ก็มีหลายแนวตั้งแต่แจ็ซอย่างLouise Armstrong ,Frank Sinatra โซลมิวสิค
อย่างJoss Stone,ยันสายร๊อคอย่าง R.E.M ทะลุไปถึงสายเร็กเก้-สกาอย่างวง Sublime แม้แต่
วงดนตรีหัวก้าวหน้าทำเพลงทริปฮอปอย่างMocheeba จากกลางยุค90ก็นำมาใส่เสียงสังเคราะห์
ที่ผมฟังแล้วเหมือนปลุกพี่น้อง Gershwin ฟื้นคืนชีพมาเต้นรำที่ไนท์คลับตอนหัวค่ำ ก่อนจะจิบ
เครื่องดื่มอะไรนิดหน่อยที่บาร์น้ำให้พอหายเหนื่อย จากนั้นค่อยเดินกลับไปยังประตูที่เชื่อม
ระหว่างโลกหลังความตายกับโลกมนุษย์ เพื่อข้ามภพกลับไปยังจุดเดิมที่เคยสถิตย์ก่อนหน้านั้น

เมื่อเขียนถึงเพลงนี้ที่เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของพี่น้องGershwin ก็อดที่จะนึกถึงเรื่องราว
อาถรรพ์หรือจะเรียกว่าคำสาปดีล่ะ คนพี่ที่ชื่อIra อายุยืนถึง87ปี จึงหมดลมหายใจในปี1983
ตรงกันข้ามกับคนน้องคือGeorgeที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง38 ด้วยโรคเนื้องอกในสมอง
ตัวGeorgeเองนั้น ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วค่อยดึงพี่ชายมาทำงานด้วย
ตอนที่George เสียชีวิตลงนั้น Ira เสียใจจนไม่เป็นอันทำงานอยู่หลายปี เมื่อฉุดตัวเองให้พ้น
จากหล่มแห่งความโศกเศร้าได้สำเร็จ ก็ปรับตัวเข้าสู่โหมด”จะอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีจอร์จ”
จากนั้นจึงฮึดขึ้นมาผลิตผลงานเพลงละครบรอดเวย์ เพลงประกอบภาพยนตร์ ร่วมกับนักแต่ง
เพลงคนอื่น

คำสาปหรืออาถรรพ์ที่พูดถึงคือ ศิลปินจำนวนไม่น้อยที่สร้างผลงานระดับ”ฝากไว้ให้โลกา
อย่าลืมข้าเมื่อจากไป” นอกจากGeorge Gershwin ที่เสียชีวิตด้วยวัยเพียง38 ช่วงศตวรรษ
ที่17 Mozart ก็หมดลมหายใจด้วยวัยเพียง 35 ปลายทศวรรษที่18ต่อเนื่องถึงทศวรรษที่19
และ20 สถิติของศิลปินผู้เสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง27เพิ่มขึ้นมิได้หยุดหย่อน  จนกระทั่งฝรั่งจัด
หมวดหมู่ศิลปินที่สิ้นชีพเหล่านี้ขึ้นมาแล้วขนานนามว่า Club 27 ไล่มาตั้งแต่พ่อหนุ่มกีตาร์
เทพ Jimi Hendrix , Jim Morrison แห่งวงThe Door, Kurt Cobain ตำนานกรันจ์ร็อคจาก
ซีแอตเทิ่ลในนามวง Nirvana,หรือเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือ Amy Winehouse  เหมือนบัญชา
สวรรค์จงใจบรรจุECUอัจฉริยะไว้ให้กับบุคคลพิเศษเหล่านี้ ก่อนจะส่งมาเกิดบนดาวนพเคราะห์
ที่เรียกว่าโลก เมื่อเติบโตมามีภารกิจต้องนำพรสวรรค์ในกระเป๋าเอาออกมาใช้ๆๆๆๆๆๆๆๆ  
จนเมื่อล้วงเข้าไปในกระเป๋าทุกจุดบนเสื้อกับกางเกงแล้วไม่พบพรสวรรค์อีกต่อไป ก็เป็นอันว่า
หมดหน้าที่บนโลกนี้แล้ว จงกลับไปอยู่ยังภพเดิมที่เคยสังกัดอยู่ซะ ต่างกับคนธรรมดาสามัญ
ทั่วไปที่ทยอยใช้ไปเรื่อยๆ กินเวลาเกือบ60-80ปีจึงหมดเกลี้ยงไปพร้อมกับสภาพชราแก่หง่อม
ตั้งแต่ตัวอักษรแรกที่เริ่มพรมนิ้วลงแป้นคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊คชราภาพเพื่อพิมพ์เรื่องราวของ
เพลง Summertime จนถึงบรรทัดนี้ ผมฟังการบรรเลง ขับร้องในฉบับต่างๆไม่ต่ำกว่า10เวอร์ชั่น
จนวิญญาณพี่น้อง Gershwinแทบจะมอบโล่ห์ดีเด่นพร้อมข้าวเหนียวมะม่วงน้ำดอกไม้ชุดใหญ่
ไว้กินช่วงฤดูร้อน ได้เวลาต้องขออนุญาตยกเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก็บเข้าที่และสอดแผ่นเสียง
ใส่ซองเพื่อเก็บซิงเกิ้ลเพลงSummertimeไว้บนชั้นวางของเสียที คราวหน้ามาติดตามกันต่อครับ
ว่าผมเขียนถึงเพลงอะไรต่อไป

May-t Taechachaiwong