คลื่นกระแสการเรียกรถเข้ารับการแก้ไขชิ้นส่วนที่บกพร่องถาโถมเข้าสู่วงการรถยนต์อย่างหนัก เมื่อค่ายรถญี่ปุ่นชื่อดัง Toyota ตัดสินใจเรียกรถจำนวนกว่า 8 ล้านคันในสหรัฐอเมริกา,ยุโรปและจีนแก้ไขปัญหาคันเร่งค้างอย่างเร่งด่วน ตามมาติด ๆ ด้วย Honda ที่ประกาศเรียก Jazz และ City โฉมที่แล้วคืนกว่า 6 แสนคันเพื่อเปลี่ยนสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า
ล่าสุดค่ายรถยนต์เมืองน้ำหอมยักษ์ใหญ่ PSA Group ที่ครอบครองแบรนด์ Peugeot และ Citroen ก็เป็นไปกับเขาด้วยการประกาศเรียกรถนาครระดับ A-Segment รุ่น 107 และ C1 จำนวน 97,000 คันทั่วทวีปยุโรปเพื่อตรวจสอบและแก้ไขความผิดปกติคันเร่งค้าง
ฟังดูคุ้น ๆ ใช่ไหมล่ะครับ ว่าทำไมรถฝรั่งทั้ง 2 ค่ายถึงมีสาเหตุการเรียกรถคืนกรณีเดียวกับ Toyota ก็เพราะว่ารถรุ่น107 และ C1 เป็นรถยนต์ที่ถูกพัฒนาร่วมกับ Toyota ที่คลอดผลผลิตในชื่อ Aygo เพื่อลดต้นทุนการพัฒนาและการผลิตให้ได้มากที่สุดเพื่อบุกตลาดซิตี้คาร์ในยุโรปโดยเฉพาะ ที่สำคัญ Toyota รับผิดชอบในการพัฒนาระบบส่งกำลังเป็นหลัก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรถฝรั่งทั้ง 2 รุ่นถึงจะต้องประกาศเรียกรถคืนด้วย
แม้จะต้องเสียหน้าเรียกรถกลับมาแก้ไขข้อบกพร่องแต่สิ่งที่ PSA Group ประกาศย่อมส่งผลกระทบน้อยกว่า Toyota ชนิดที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะกรณี PSA Group มีจำนวนรถที่มีปัญหาน้อยกว่า Toyota มาก และหากจะมองเฉพาะด้าน Toyota ฝ่ายเดียวก็พบว่าการเรียกรถกลับคืนครั้งใหญ่นี้ต้องส่งผลกระทบรายได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ Toyota ยืนยันแล้วว่าจะเรียกรถยนต์ที่วางจำหน่ายในยุโรปจำนวน 1.8 ล้านคันเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องแป้นคันเร่งค้าง ได้แก่รุ่น Aygo, iQ, Yaris, Auris, Corolla, Verso, Avensis และ RAV4 ที่ผลิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2005 เป็นต้นไป
ผลจากการวิกฤติการเรียกรถคืนครั้งมโหฬารของ Toyota ทำให้ตลาดหุ้น Toyota ตกต่ำลงมาในรอบ 8 เดือน สวนทางกับตลาดหุ้น Peugeot ที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
ดูแล้วโชคจะช่างเข้าข้าง PSA group มากกว่า Toyota เสียอีกนะครับ