การพยายามนำเอาพลังงานลม มาปรับใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์นั้น เป็นความพยายามที่บริษัทรถยนต์พยายาม
ค้นคว้ามาเป็นเวลานาน เนื่องด้วยแนวคิดนี้เป็นการนำเอาพลังงานที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ปล่อยมลพิษ และมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง
แต่การนำเอาพลังงานลมเดี่ยวๆมาใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ ก็ดูจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์มากเกินไป วันนี้ กลุ่ม PSA/Peugeot-Citroën
จึงทำความฝันนี้ให้เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ด้วยการเปิดตัวเครื่องยนต์ไฮบริด ‘เบนซิน-พลังลม’ กลางงาน Innovation Day
ให้สาธารณชนได้รู้จักกัน

alt
alt

ระบบขับเคลื่อนไฮบริดพลังลมนี้ เป็นแนวคิดใหม่ ที่มุ่งสร้างความประหยัดน้ำมันเฉลี่ยได้ 50 กม./ลิตร โดยจะเป็นการควบรวม
เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ เข้ากับถังอัดอากาศ มอเตอร์ปั๊มลมไฮโดรลิก และเกียร์อัตโนมัติพร้อมระบบเฟืองพิเศษ แม้จะถูกเปิดตัว
อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว แต่ PSA/Peugeot-Citroën ยังอุบเงียบเกี่ยวกับรายละเอียดเครื่องยนต์ รวมถึงตัวเลขสมรรถนะ
ต่างๆเอาไว้ แต่ระบบขับเคลื่อนไฮบริดพลังลมนี้ จะมีโหมดการทำงาน 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ เครื่องยนต์ พลังลม และทำงานผสมกัน

PSA/Peugeot-Citroën ได้ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยไว้อย่างคร่าวๆ ให้เห็นถึงศักยภาพของระบบขับเคลื่อนนี้กัน
โดยหากนำระบบนี้ไปติดตั้งในรถขนาด B-Segment อย่าง Citroën C3 หรือ Peugeot 208 ก็จะสามารถสร้างความประหยัด
น้ำมันได้ 34.4 กม./ลิตร และปล่อยก๊าซ CO2 ออกมาต่ำเพียง 69 กรัม/กม. เท่านั้น ที่สำคัญ หากขับขี่ในเมืองที่มีการจราจร
ติดขัด รถยนต์ที่ใช้ระบบไฮบริดพลังลมจะไม่มีการปล่อยก๊าซไอเสียออกมาเลย เพราะจะขับเคลื่อนด้วยพลังลมล้วนๆเป็นส่วนใหญ่

alt

สำหรับใครที่ข้องใจว่าระบบขับเคลื่อนไฮบริดพลังลมนี้มีหลักการทำงานต่างจากระบบไฮบริดไฟฟ้าอย่างไร ต้องขออธิบายว่า
ระบบขับเคลื่อนไฮบริดพลังลม จะใช้ถังบรรจุอากาศ 2 ถัง โดยถังหนึ่งจะอยู่บริเวณด้านท้าย ไว้บรรจุอากาศที่มีความดันต่ำ
ส่วนอีกถังหนึ่งจะเป็นถังหลักที่ใช้บรรจุอากาศในการขับเคลื่อน วางกลางลำตัวรถ เมื่อรถยนต์ต้องการเรียกพลังลมมาใช้ใน
การขับเคลื่อน จะถูกทำผ่านปั๊มไฮโดรลิก เพื่อดูดอากาศมาใช้ในการหมุนเฟืองพิเศษในห้องเสื้อเกียร์ เพื่อขับเคลื่อนตัวรถ
อาจฟังดูเข้าใจยาก แต่ PSA/Peugeot-Citroën ก็ได้ทำวิดิโอเพื่ออธิบายให้เห็นภาพขึ้น ที่นี่ โดยคาดว่าระบบไฮบริดพลังลม
นี้จะสามารถนำมาขึ้นสายการผลิตจริงภายในปี 2016 ในรถยนต์ B-Segment ของทั้งสองค่าย

นอกจากนี้ PSA/Peugeot-Citroën ยังเผยโฉมนวัตกรรมใหม่อื่นๆ ในงาน Innovation Day นี้ด้วย เช่น การเปิดตัว
แพลตฟอร์ม EMP2 หรือ Efficient Modular Platform 2 เพื่อใช้กับรถยนต์รุ่นใหม่รูปแบบต่างๆในอนาคตของทั้ง 2 ค่าย
จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้คือการสามารถปรับรูปแบบ เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มของทั้งรถยนต์ C และ D-Segment

alt

แพลตฟอร์มนี้จะเป็นการผสมผสานวัสดุหลายรูปแบบ เช่น เหล็กความแข็งแรงสูง อะลูมิเนียม และวัสดุผสม ซึ่ง PSA/Peugeot-Citroën
กล่าวว่าจะแพลตฟอร์มใหม่นี้ จะช่วยให้อรรถรสการขับขี่ที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และสะดวกสบายในการโดยสารมากขึ้น
รวมไปถึงช่วยประหยัดน้ำมันให้มากขึ้นด้วย จากการลดน้ำหนักแพลตฟอร์มลงถึง 70 กก.

alt

โดยแพลตฟอร์มนี้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงมาก เพราะสามารถนำไปใช้ได้ในรถยนต์ทั้งแบบซีดาน แวกอน คูเป้ หรือ
ครอสโอเวอร์เลยทีเดียว อีกทั้งยังรองรับการติดตั้งเทคโนโลยีขั้นสูงมากมาย เพื่อช่วยปรับปรุงการขับขี่ให้ดีขึ้น โดย PSA/Peugeot-Citroën
จะนำแพลตฟอร์มนี้มาผลิตจริงในช่วงปลายปีนี้ ใน Citroën C4 Picasso และ Peugeot 308

ในงานนี้ PSA/Peugeot-Citroën ยังถือโอกาสเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบ Peugeot VeLV เวอร์ชันใหม่ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์
รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับคนเมืองในอนาคตอีกด้วย โดย Peugeot VeLV Concept เป็นรถยนต์ไฟฟ้ากึ่งสามล้อ (เพราะล้อคู่
หลังติดตั้งอยู่ตรงกลาง จะใช้ยางแบบบางพิเศษ) ที่พัฒนาร่วมกับหน่วยงาน French Environment and Energy Management Agency
ADEME ของฝรั่งเศส

alt
alt

รถยนต์ต้นแบบคันนี้มีความยาวเพียง 2.8 เมตร และสามารถโดยสารได้มากที่สุด 3 คน พร้อมกับน้ำหนักตัวรถที่เบาหวิวเพียง 700 กก.
ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง 40 แรงม้า พร้อมเก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาดกำลัง 8.5 kWh และแล่นได้ความเร็ว
สูงสุด 110 กม./ชม. พร้อมระยะทางสูงสุด 100 กม. ต่อการชาร์จแบตเต็ม 1 ครั้ง

แม้จะไม่เอ่ยปากว่ารถยนต์คันนี้จะได้รับการผลิตจริงหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า หากผู้บริโภคให้การยอมรับรถยนต์ไฟฟ้า
ในวงกว้าง ก็จะได้เห็นรถยนต์คันนี้ออกมาจำหน่ายจริงแน่นอน หลัง PSA/Peugeot-Citroën ต้องผิดหวังจากยอดขายของ
Peugeot iOn และ Citroën C-Zero ที่เป็นการนำ Mitsubishi i-MiEV มาขายนั้นไม่ประสบความสำเร็จอย่างรุนแรง