นับตั้งแต่เปิดตัวรุ่นแรกเมื่อเดือนตุลาคม 1965 หรือตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา
Nissan President ถือว่าเป็นรถยนต์รุ่นสำคัญ ที่สร้างชื่อเสียง เป็นหน้าเป็นตา
ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น

นั่นเพราะว่า President เพราะเป็นรถยนต์โดยสารแบบ Sedan / Saloon
4 ประตู ขับเคลื่อนล้อหลัง ขนาดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสรับใช้บุคคลระดับผู้นำ
แห่งแดนอาทิตย์อุทัย เป็นจำนวนมาก อาทิสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต
สมาชิกในราชวงศ์ของญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี ผู้นำระดับสูงในคณะรัฐบาล
ประธานและเจ้าขององค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ แม้กระทั่งกลุ่มลูกค้า
ผู้มีอิทธิพลต่างๆ ต่างก็มีไว้เพื่อเป็นพาหนะประดับบารมีกันไม่น้อย

ในเมืองไทย สยามกลการ อดีตผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ Nissan ในบ้านเรา
เคยสั่งนำเข้ารุ่นที่แล้วมาทำตลาดในระยะสั้นๆ เพื่อสร้างชื่อให้คนไทยได้รู้จัก
ช่วงปี 1993 -1995 และมีลูกค้ากระเป๋าหนัก หลายราย ย่อมจ่ายเพื่อแลกกับ
ความหรูจากโลกตะวันออก

President ถือกำเนิดขึ้นจากตระกูล Cedric รุ่น Cedric Spacial รหัสรุ่น
H50 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 1963 และทำตลาดในญี่ปุ่น จนถึง
เดือนกันยายน 1965 เพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับลูกค้าที่ต้องการความ
หรูหรา ยิ่งกว่าที่ Nissan Cedric รุ่นมาตรฐาน ในขณะนั้นจะตอบสนองได้

นอกจากจะทรงความสำคัญในฐานะพาหนะคู่บารมีของชนชั้นสูงของญี่ปุ่น
มาตั้งแต่ยุค Motorization แล้ว President ยังเป็นรถยนต์อีกรุ่นหนึ่งที่ได้
มีโอกาสติดตั้งเทคโนโลยีใหม่หลายชิ้นเป็นครั้งแรก ก่อนรุ่นอื่น และที่สำคัญ
President เป็นรถยนต์อีกรุ่นหนึ่งของนิสสัน ที่ยืนหยัดใช้ระบบขับเคลื่อน
ล้อหลังทุกรุ่น โดยไม่เคยใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเลย

—————————–

1st Generation รหัสรุ่น H150
21 ตุลาคม 1965 – สิงหาคม 1973

ถือเป็นเป็นรุ่นแรกของตระกูล President อย่างเป็นทางการ เปิดตัวออกมา
เพื่อประกบกับ Toyota Crown 8 เครื่องยนต์ V8 ในยุคที่ Toyota ยังอยู่ใน
ระหว่างการพัฒนา พี่ใหญ่รุ่น Century รถยนต์ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งสำคัญ
ของ President ในกาลต่อมา

ตัวถังของ President รุ่นแรก ยาว 5,045 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร
สูง 1,460 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร แบกน้ำหนักตัวรถ
เปล่าๆ 1,600 กิโลกรัม

วางเครื่องยนต์ 2 ขนาด ทั้งรหัส H30 6 สูบ OHV 2,974 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์
เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 130 แรงม้า (PS) ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 23.8
กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที วางในรุ่นย่อย B

และรหัส Y40 วี8 OHV 3,988 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง แรงขึ้น
เป็น 180 แรงม้า (PS) ที่ 4,800  รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 32 กก.-ม.ที่ 3,200
รอบ/นาที (เวอร์ชันส่งออก 195 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
32.9 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที) วางในรุ่นย่อย C และ D

ทั้งคู่ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ COLUMN SHIFT จาก BORG
WARNER ขับเคลื่อนล้อหลัง ใช้พวงมาลัยแบบลูกปืนหมุนวน Ball Joint
ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกคู่คอยล์สปริง หลังเป็นแหนบ ระบบห้ามล้อ
เป็นแยย หน้าดิสก์ – หลังดรัม ทำความเร็วสูงสุด 185 กิโลเมตร/ชั่วโมง

การปรับโฉม Minorchange ครั้งแรก เกิดขึ้น ในเดือน ตุลาคม 1968 โดยมีการ
ปรับปรุงอุปกรณ์ภายในเล็กน้อย จากนั้นมีการปรับเปลี่ยน ชิ้นส่วนอะไหล่
อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในเดือนเมษายน 1969 ก่อนจะเว้นว่างไปจนถึง
เดือนตุลาคม 1969 ค่อยปรับปรุงเกียร์อัตโนมัติให้ทำงานดียิ่งขึ้น ตามด้วยการ
เสริมรุ่นย่อย EAL เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1971

การปรับโฉม Minorchange ครั้งสุดท้าย มีขึ้นในเดือน ตุลาคม 1971 โดยทีม
ออกแบบ เปลี่ยนลายไฟท้ายใหม่ และเพิ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ให้กับรุ่นย่อย
D ซึ่งเป็นรุ่นท็อป อาทิ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า กระจกมองข้างแบบใหม่ ปรับ
ด้วยไฟฟ้า เบาะนั่งแถวหน้ามีแบบแยกชิ้นพ้อมพนักศรีษะให้เลือก จากเดิม
ที่เป็นเบาะโซฟา ไม่มีพนักศีรษะฯลฯ

————————-

รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น H250
สิงหาคม 1973 – 23 ตุลาคม 1990

แม้นิสสันจะเรียกการปรับปรุงครั้งนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมทั้งคันแบบฟลูโมเดลเชนจ์
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทีมวิศวกร เพียงแต่ออกแบบส่วนหน้าและบั้นท้ายของตัวรถ
ขึ้นมาใหม่ ให้ดูร่วมสมัยสไตล์เดียวกับรถอเมริกันในยุคต้นทศวรรษ 1970 ยิ่งขึ้นเท่านั้น

เพราะโครงสร้างตัวถังหลักยังคงยกมาจากรุ่นเดิมแทบทั้งหมด ดังนั้นประตูทั้ง 4 บาน
พร้อมกระจกหน้าต่างและหูช้าง รวมทั้งกระจกบังลมหน้า-หลัง จึงสามารถถอดสับเปลี่ยนร่วมกันได้

โดยรุ่นนี้ นอกเหนือจากจะส่งไปยังสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 คัน เพื่อเป็นรถประจำตำแหน่งของ
ผู้บริหารนิสสัน มอเตอร์ ออฟยูเอสเอ ในสมัยนั้นแล้ว ยังมีการสั่งเข้ามาใช้งานในเมืองไทย
ในฐานะรถประจำตำแหน่งของ ดร ถาวร พรประภา ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามกลการ จำกัด
เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบัน รถคันนี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่พิพิธภัณฑ์ของกลุ่มสยามกลการ

มิติตัวถังยาว 5,280 มิลลิเมตร กว้าง 1,830 มิลลิเมตร สูง 1,490 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,820 มิลลิเมตร
ช่วงแรกมีให้เลือก 3 รุ่น คือ TYPE-A & TYPE-B และรุ่น TYPE-D อัพเกรดเคริ่องยนต์ขึ้นไป
เป็นรหัส Y44 บล็อก V8 ทำมุม 90 องศา SOHC 4,414 ซีซี จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์
200 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 34.5 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที
ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกคู่ หลังแหนบ ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม
น้ำหนักตัว 1,875 – 1,990 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 195 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เมษายน 1975 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรกเพียงเล็กน้อย ด้วยกระจังหน้าลายใหม่
กันชนท้ายพร้อมชุดไฟท้ายลายใหม่ และเพิ่มดิสก์เบรก 4 ล้อเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม
เนื่องจากในช่วงนั้น เกิดกระแสตื่นตัวในด้านการควบคุมปัญหามลพิษรวมทั้งปัญหาวิกฤติการณ์น้ำมันไปทั่วโลก
นิสสันจึงติดตั้งระบบควบคุมมลภาวะ NAPS (NISSAN ANTI POLLUTION SYSTEM)
ลงในเครื่องยนต์ Y44 เพื่อให้ผ่านมาตรฐานมลพิษของญี่ปุ่นในปีโชวะที่ 50 (1975)

จากนั้น กรกฎาคม 1976 จึงมีการปรับปรุงมลพิษจากไอเสียของเพรสซิเดนท์รุ่น H251 ให้ผ่านมาตรฐาน
มลพิษฉบับปีโชวะที่ 51 (1976) และเปลี่ยนมาใช้ชุดหัวฉีด EGI พร้อมเปลี่ยนรหัสเครื่องเป็น Y44E
แต่ยังคงตัวเลขสมรรถนะเอาไว้คงเดิม

ตามด้วยการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 1977
คราวนี้ เพิ่มรุ่นท็อป SOVEREIGN เป็นครั้งแรก ใช้รหัสรุ่น H252 และเพิ่มออพชันใหม่ๆ
อาทิ ระบบปรับอากาศแยกส่วนหน้า-หลัง รวมทั้งปรับปรุงให้ผ่านมาตรฐานมลพิษฉบับปีโชวะที่ 53 (1978)

15 พฤศจิกายน 1982 ไมเนอร์เชนจ์อีกครั้ง เปลี่ยนมาใช้ชุดไฟหน้าแบบ สี่เหลี่ยมคู่ ปรับปรุงห้องโดยสารใหม่
และเปลี่ยนมาใช้แผงหน้าปัดแบบใหม่ จากนั้นปรับโฉมครั้งสุดท้าย และเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ SOVEREIGN VIP
เมื่อ 30 มกราคม 1985 ทำตลาดต่อเนื่องมาจนถึงปี 1990 เพื่อรอการเปิดตัวรุ่น G50

—————————
รุ่นที่ 3 รหัสรุ่น JG50
24 ตุลาคม 1990 – ธันวาคม 2002

INFINITI Q45 1st Generation รหัสรุ่น G50
17 ตุลาคม 1989 – กันยายน 1997

ถึงจะเป็นการเปลี่ยนโฉมครั้งแรกในรอบ 17 ปี แต่ครั้งนี้อาจดูแปลกกว่าครั้งที่ผ่านๆมาเล็กน้อย เพราะนิสสัน
เลือกที่จะพัฒนาเพรสซิเดนท์ร่วมกับ ซีดานรุ่นใหญ่รุ่นใหม่อย่าง อินฟินิตี คิว45 รุ่นแรกแทน ไม่ใช่รถยนต์รุ่นเอกเทศ
และใช้โครงสร้างตัวถังของตัวเองเหมือนรุ่นเก่าอีกต่อไป

โครงการพัฒนารถยนต์ระดับหรูยุคใหม่ของนิสสัน เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1985 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้
ในการทำตลาดรถยนต์หรูในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อโครงการ HORIZON จากการเก็บข้อมูลและวิจัยถึง 1ปีเต็ม
จึงได้บทสรุปเพื่อเริ่มสร้างแบรนด์ใหม่สำหรับหน่วยงานเดือนพฤศจิกายน 1986 อีก 1 เดือนต่อมา การพัฒนา
Q45 และ President จึงเริ่มต้นขึ้น ในเดือนธันวาคม 1986 โดยกำหนดให้ทั้งคู่ผลิตขึ้นที่โรงงาน Tochigi จากนั้น
นิสสันจึงเปิดเผยชื่อแบรนด์ใหม่ว่า Infiniti ในเดือนกรกฎาคม 1987 

Q45 เริ่มเผยโฉมให้กับตัวแทนจำหน่าย 51 รายแรกของ Infiniti สหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน 1988
และเริ่มเปิดตัวสู่สาธารณชนครั้งแรกในโลกในงาน Detroit และ Los Angelis Auto Show เดือนมกราคม 1989
จากนั้นจึงเปิดตัวและออกขายที่ญี่ปุ่นก่อนในวันที่ 17 ตุลาคม 1989 ก่อนที่จะเริ่มขายจริงทั่วสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก
เมื่อ 8 พฤศจิกายน 1989 หรือ 3 สัปดาห์หลังการเปิดตัวที่ญี่ปุ่น วางฐานะให้เป็น 1 ในรุ่นเปิดตลาดของแบรนด์ Infiniti

ช่วงแรกที่เปิดตัวในญี่ปุ่น Q45 มีให้เลือก 3 รุ่น คือรุ่นพื้นฐาน รุ่นเพิ่มระบบปรับระดับกันสะเทือน ACTIVE SUSPENSION
และรุ่น ACTIVE SUSPENSION SELECTION PACKAGE มาพร้อมแอร์ไฟฟ้า ชุดเครื่องเสียงจาก BOSE ซันรูฟ
และเบาะหนังแท้ ปรับด้วยไฟฟ้าทั้งหน้า-หลัง มีเฉพาะรุ่นตัวถังสั้น

ส่วนเพรสซิเดนท์ เปิดตัวตามออกมาหลังจากคิว45 ถึง 1 ปีเต็ม และสงวนไว้สำหรับตลาดญี่ปุ่นก่อนในระยะแรก
จากนั้นจึงเริ่มส่งออกไปขายในตลาดเอเชียอื่นๆบ้าง รวมทั้งเมืองไทย ช่วงแรกทีเปิดตัวมีเฉพาะรุ่นฐานล้อยาว
มาพร้อมจอทีวี เบาะหนังแท้ CONOLY LEATHER ปรับด้วยไฟฟ้าได้ทั้งหน้า-หลัง

มิติตัวถังยาว 5,090 และ 5,225 มิลลิเมตร กว้าง 1,830 มิลลิเมตร สูง 1,425 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวถึง 3,030 มิลลิเมตร
ทุกรุ่นยืนหยัดกับขุมพลังเพียงแบบเดียว รหัส VH45DE วี8 ทวินแคม 32 วาล์ว 4,494 ซีซี EGI 270 แรงม้า (PS) ทื่ 5,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 40.2 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที ซึ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกในรุ่นนี้ เชื่อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะแบบขั้นบันได
DUET-EA-II ระบบกันสะเทือนแบบมัลติลิงก์ ทั้งหน้า-หลัง พร้อมแทร็กชันคอนโทรล V-TCS และเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป
LSD ดิสก์เบรก 4 ล้อ คู่หน้ามีรูระบายความร้อน เสริมด้วยเอบีเอส 3 แชนแนล สวมยางขนาด 215/65R15 96S
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 6.4 กิโลเมตร/ลิตร ตามค่าเฉลี่ย 10-15 โหมดของรัฐบาลญี่ปุ่น

นิสสัน เพิ่มรุ่นครั้งแรกให้กับ Q45 เมื่อ 24 ตุลาคม 1990 วันเดียวกับการเปิดตัวเพรสซิเดนท์
ด้วยรุ่น L-PACKAGE เสริมระบบ ACTIVE SUSPENSION

3 กุมภาพันธ์ 1992 เพิ่มรุ่นย่อยเฉพาะเพรสซิเดนท์ 4.5 V และรุ่นพื้นฐาน 4.5 D รวมทั้งรุ่นฐานล้อสั้นตระกูล JS
ให้เลือก 4 รุ่นย่อย ทั้ง TYPE-S TYPE-X และ TYPE-G และเป็นรถยนต์รุ่นแรกของนิสสัน ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัย
สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง บริเวณพนักพิงด้านหลังเบาะหน้าฝั่งซ้าย

 

ภาพยนตร์โฆษณา ของ Nissan President โดยสยามกลการ เมื่อปี 1993 – 1994

7 มิถุนายน 1993 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์เฉพาะ คิว45 เปลี่ยนฝากระโปรงหน้าใหม่ ถอดตราประจำรุ่นด้านหน้าออก
เพื่อแทนที่ด้วยกระจังหน้าซี่ตั้งทรงหรู เอกลักษณ์ของอินฟินิตีในยุคนั้น ปรับปรุงกันชนหน้า ชุดไฟหน้า แผงไฟท้าย
เพิ่มล้ออัลลอย BBS ในบางรุ่น ระบบเปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ฯลฯ ปรับปรุงทางเลือกรุ่นย่อยใหม่ทั้งหมด มีให้เลือก 5 รุ่น
ทั้ง TYPE-R,TYPE-V,TYPE-V G-Package,TYPE-V ACTIVE SUS. และ TYPE-V  ACTIVE SUS. G-Package

18 พฤษภาคม 1994 เพรสซิเดนท์รุ่นพื้นฐาน 4.5 D ถูกตัดออกไป เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 4.5 TYPE-D Multi-Link Suspension
และ 4.5 SOVEREIGN ส่วนรุ่นฐานล้อสั้น JS เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ TYPE-L คิว45 เพิ่มจอทีวีและชุดควบคุมเครื่องเสียง
AV SYSTEM ให้เป็นออพชันพิเศษสำหรับ 5 รุ่นย่อยเดิมของ Q45

เว้นยาวไปถึง 24 กันยายน 1997 ปรับปรุงอุปกรณ์ให้เฉพาะรุ่นเพรสซิเดนท์ เพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้าง เพิ่มเบาะหลัง VIP
ปรับเอนด้วยไฟฟ้าได้ในหลายรุ่น ขณะเดียวกัน อินฟินิตี Q 45 รุ่นแรกถูกปลดจากสายการผลิตในเดือนเดียวกัน
โดยในสหรัฐอเมริกา Q45 รุ่นที่ถัดมา ถูกเปลี่ยนไปพัฒนาขึ้นบนพื้นฐาน ร่วมกับนิสสัน ซีมา (Nissan Cima) รุ่นที่ 3
ซึ่งเปิดตัวในขณะนั้นพอดี ปล่อยให้เพรสซิเดนท์ ทำตลาดต่อไปตามลำพังเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น

2 ธันวาคม 1998 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ ด้วย ชุดไฟหน้า กระจังหน้า และกันชนหน้ารวมทั้งฝากระโปรงท้าย ใหม่หมด

กระจกหน้าต่างแบบ PRIVACY GLASS ติดฟีล์มดำบริเวณครึ่งคันหลัง ระบบปิดประตูหลัง
และฝากระโปรงท้ายอัตโนมัติ ล้ออัลลอย และชุดไฟท้ายพร้อมกรอบลายใหม่ ตกแต่งด้วยโครเมียม

ภายใน เปลี่ยนคอนโซลกลางแบบใหม่ พร้อมระบบนำร่องผ่านดาวเทียม GPS ระบบสื่อสาร COMPASS LINK
และระบบ MULTI AV SYSTEM ติดตั้ง 2 จุด ทั้งบนคอนโซลกลางออกแบบใหม่ และมอนิเตอร์ พับเก็บได้
บนเพดานหลังคา รวมทั้งชุดควบคุมเคริ่องเสียง เครื่องปรับอากาศ และรุ่นฐานล้อยาว จะเพิ่ม ทาวเวอร์คอนโซล
ติดตั้งคั่นกลางระหว่างเบาะคู่หน้า

นอกจากนี้ยังมี President Royal Limousine รุ่นฐานล้อยาวกว่าปกติ ออกมาให้เลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการ
ความหรูหราจากรถยนต์ลีมูซีนแท้ๆ ออกมาให้เลือกอีกด้วย

ทำตลาดเรื่อยๆสบายๆ จนกระทั่งยุติการผลิตในเดือนสิงหาคม 2002 เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานมลพิษ
ของรัฐบาลญี่ปุ่นฉบับปัจจุบัน แต่ยังคงมีจำหน่ายจนถึงเดือนธันวาคม 2002 

—————————————

รุ่นที่ 4 รหัสรุ่น PGF50
7 ตุลาคม 2003 – ปัจจุบัน

การเปลี่ยนโฉมคราวนี้ แม้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี แต่นิสสันกลับไม่ค่อยลงทุนเท่าที่ควร ใช้วิธีนำซีดานหรูรุ่นซีมา
รหัสรุ่น F50 ที่ยังทำตลาดอยู่นตอนนี้ มาดัดแปลงตกแต่งใหม่ในหลายจุด ตั้งแต่ฝากระโปรงหน้า พร้อมกระจังหน้าโครเมียม
ชุดกันชนหน้า และฝากระโปรงท้ายออกแบบใหม่หมด ย้ายช่องใส่ป้ายทะเบียนหลังลงไปไว้ที่กันชนหลัง เสริมคิ้วโครเมียม
จนดูเปล่งประกายไปทั้งคันรวมทั้งขยายความยาวตัวถังเพื่อเน้นความสบายของผู้โดยสารตอนหลัง ทำให้ความยาวทั้งคัน
เพิ่มขึ้นจาก 4,995 เป็น 5,060 มิลลิเมตร โดยความกว้าง 1,845 มิลลิเมตร ความสูง 1,490 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ
ที่ยาวเพิ่มขึ้นเป็น 2,870 มิลลิเมตร แทบจะเรียกได้ว่า เพรสซิเดนท์กลายมาเป็นฝาแฝดร่วมกับซีมาอย่างเต็มตัว หลังจากที่
รุ่นเดิมเป็นฝาแฝดกับอินฟินิตี คิว45 รุ่นแรกมาตั้งแต่ปี 1989

ชุดไฟหน้ายังคงเป็นแบบเลนส์ปืนกลเหมือนซีมา แต่ถูกปรับปรุงใหม่เพิ่ม ไฟหน้าขนาดเล็กไว้ด้านใต้ชุดไฟใหญ่
เป็นแบบปรับมุมได้อัตโนมัติ AFS (ADAPTIVE FRONT-LIGHTING SYSTEM) ควบคุมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก
ปรับมุมเบนซ้าย-ขวา ได้ 30 องศา ตามการหมุนของล้อและวงพวงมาลัย เพื่อช่วยให้การเข้าโค้ง หรือการเลี้ยวรถยามค่ำคืน
ปลอดภัยมากขึ้น ไปจนถึงระบบปิด-เปิดฝากระโปรงท้ายอัตโนมัติด้วยไฟฟ้า ลดปัญหาการบาดเจ็บที่เกิดจาก
การปิดฝากระโปรงท้ายในรูปแบบต่างๆได้

ห้องโดยสาร ถูกปรับปรุงให้เพิ่มความสบายกับผู้โดยสารตอนหลังมากขึ้นด้วยสารพัดลูกเล่นมากมาย ทั้งการติดตั้ง
ชุดเบาะหลังแบบใหม่ แยกปรับเอนได้ด้วยไฟฟ้า พร้อมคอนโซลกลางขนาดยาว ที่ติดตั้งชุดสวิชต์ควบคุมเครื่องปรับอากาศ
ชุดเครื่องเสียง เพิ่มอุปกรณ์ความบันเทิง อาทิ เครื่องเล่น DVD พร้อมจอมอนิเตอร์สี 8 นิ้ว ติดตั้งบนเพดาน นอกเหนือจาก
จอมอนิเตอร์บนคอนโซลกลางแบบเลื่อนขึ้น-ลงได้ และที่ขาดไม่ได้คือ เบาะผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย สามารถปรับเลื่อน
และพับไปข้างหน้าด้วยไฟฟ้า เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้กับผู้โดยสารตอนหลัง อีกทั้งพนักพิงเบาะหน้า ยังสามารถแยกส่วน
พับลงมาเพื่อให้ผู้โดยสารตอนหลัง วางขาพาดยาวทะลุไปถึงเบาะหน้าได้ ตามสไตล์รถยนต์ระดับนักบริหารของทั้งญี่ปุ่น
และเกาหลี และนิสสันยังไม่ลืมที่จะติดตั้งแพ็กเก็จอุปกรณ์ต่างๆปรับได้ด้วยไฟฟ้ามาเป็นลูกเล่นเอาใจลูกค้าชั้นสูงเช่นเดิม

ไหนๆก็ใช้ตัวถังเดียวกับซีมาแล้ว ก็ยกรายละเอียดวิศวกรรมทุกชิ้นจากซีมามาใช้ร่วมกันเลย เครื่องยนต์ที่ซ่อนตัวอยู่
ใต้ฝากระโปรงหน้าของเพรสซิเดนท์จึงเป็น รหัส VK45DD NEO-Di บล็อค V8 DOHC 32 วาล์ว 4,494 ซีซี
Direct Injection พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVTC (CONTINOUS VARIABLE VALVE TIMING CONTROL)
วาล์วไอดีไอเสียทำจากไทเทเนียม และระบบแปรผันท่อทางเดินไอดี NICS (NISSAN INDUCTION CONTROL SYSTEM)
280 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดมากถึง 46.0 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที สำแดงฤทธิ์ลงสู่ล้อหลังผ่าน
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ 5M-ATx พร้อมระบบ NTD (NISSAN TORQUE ON DEMAND) เพื่อช่วยกระจายแรงบิด
สู่ล้อคู่หลังอย่างเหมาะสมตามสภาพการขับขี่

รองรับทุกสภาพถนนด้วยระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็กเฟอร์สันสตรัท ส่วนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงก์ พร้อมโช้คอัพ
ACTIVE DAMPER เสริมการทำงานด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC (VEHICLE DYNAMIC CONTROL)
ดิสค์เบรค 4 ล้อพร้อมเอบีเอส,ระบบกระจายแรงเบรคอีบีดี ยกชุดมาจากซีมาครบทีม แทบไม่ต้องดัดแปลงแก้ไขกันเลย

นอกจากนี้ยังมีระบบ Cruise Control ที่ประสานงานร่วมกับระบบเพิ่มแรงเบรคฉุกเฉิน INTELLIGENT BREAK ASSIST
ทำงานโดยมีเรดาห์จับความเร็วและระยะห่างจากรถยนต์คันหน้า ติดตั้งซ่อนอยู่หลังกระจังหน้า เพื่อสั่งเพิ่มความเร็ว
เมื่ออยู่ห่างจากรถยนต์คันหน้ามากเกินไป และสั่งการให้ลดความเร็ว เมื่อเข้าใกล้รถยนต์คันหน้ามากเกินไปหรือเมื่อมีรถยนต์คันอื่น
จะแทรกตัวมาจากช่องทางคู่ขนาน และหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ระบบนี้จะสั่งให้ระบบเบรคทำงานทันทีก่อนที่เท้าขวาของผู้ขับขี่
จะเหยียบลงบนแป้นเบรคเพื่อเพิ่มแรงเบรคโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกัน เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบ PRE CRASH SEAT BELT
จะรั้งตัวผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้าทันที และหากเกิดการชน เข็มขัดจะผ่อนแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ พร้อมกันทั้ง 4 ที่นั่ง
ทำงานร่วมกับ พนักพิงศีรษะ ACTIVE HEADREST และถุงลมนิรภัย 6 ใบ

เสริมด้วยกระจกมองข้างและกระจกมองหลังแบบตัดแสงสะท้อนจากไฟหน้ารถคันอื่นในยามค่ำคืน ที่ติดตั้งอยู่ใน
โครงสร้างกระจายแรงกระแทก ZONE BODY CONCEPT กล้อง CCD ขนาดเล็กติดอยู่ที่กรอบป้ายทะเบียนด้านหลัง
ส่งสัญญาณภาพไปปรากฏที่มอนิเตอร์ของระบบนำร่องบนแผงหน้าปัด เพื่อให้ผู้ขับขี่เห็นทัศนวิสัยท้ายรถได้ชัดเจน

และระบบควบคุมการแล่นในช่องทางจราจรอัตโนมัติ (LANE KEEPING ASSISTANCE SYSTEM) ที่นิสสัน
นำมาใช้เป็นรายแรกของโลกมาตั้งแต่ซีมารุ่นก่อนปรับโฉมทำงานโดยจับลักษณะการเคลื่อนไหวพวงมาลัย
เพื่อควบคุมให้ตัวรถแล่นไปตรงตามช่องทางจราจรเดิม แม้อยู่บนถนนที่ลาดเอียง หรือเมื่อปะทะกับกระแสลมด้านข้าง
ขณะแล่นอยู่บนทางด่วน ช่วยลดการทำงานของระบบพวงมาลัยเพาเวอร์บังคับด้วยไฟฟ้าไปในตัว

เพรสซิเดนท์ใหม่ ทำตลาดผ่านเครือข่ายจำหน่าย BLUE STAGE และ RED & BLUE STAGE ด้วยเป้าหมายยอดขาย
เพียง 240 คัน/ปี เท่านั้น มีให้เลือก 2 รุ่น คือรุ่นSovereign 5 ที่นั่ง ราคา 8,000,000 เยน หรือ 2,720,000 บาท และรุ่น Sovereign 4 ที่นั่ง
ราคา 9,000,000 เยน หรือ 3,060,000 บาท ส่วนโอกาสจะเห็นสุดยอดพาหนะชั้นนำรุ่นนี้กลับมาโลดแล่นในเมืองไทยนั้น
คงจะยาก เพราะต้องรอไฮโซรสนิยมชอบของแปลกสักคนจะสั่งเข้ามานั่งเล่น

————————————///—————————————-

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์ เฉพาะบทความ

ภาพประกอบ เป็นลิขสิทธิ์ดั้งเดิมของ

Nissan Motor Company (www.nissan.co.jp)

ส่วนภาพประกอบ ของ พรินซ์ รอยัล ในปัจจุบัน มาจาก เว็บไซต์ homepage2.nifty.com/backyard1/

และเว็บไซต์ members.jcom.home.ne.jp/onmitukeisisei/catalogue_1_010.htm