ข่าวใหญ่ ของวงการ รถยนต์ ที่ฮือฮา ในปีที่ผ่านมา 8nvเรื่องการล้มละลายของยักษ์ใหญ่
2 รายอย่าง GM และ Chrysler แห่งเมืองดีทรอยท์ แต่ก็โชคดีที่ ได้อัศวินขี่ม้าขาวอย่าง
รัฐบาลสหรัฐ เข้ามาช่วยเหลือเงินทุนกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งดูเหมือนว่า
การเข้ามาช่วยเหลือครั้งนี้ จะไม่ได้มีข้อแม้อะไรที่รัฐบาลจะเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่อง
การบริหารงานของทางบริษัทเลยแม้แต่น้อย แค่เข้ามาช่วยเหลือเพียงเท่านั้น ที่เหลือ
จะบริหารจัดการกันอย่างไรก็สุดจะแล้วแต่ ขอให้ฟื้นตัวได้เร็วซะทีก็เท่านั้น
    
แต่ ในอีกซีกโลกหนึ่ง เรื่องวุ่นๆดูเหมือนจะเริ่มปะทุขึ้น เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศส พยายาม
จะเข้ามาแทรกแซงการบริหารกิจการภายในของ Renault เสียนี่ ถึงขนาดเรียก บิ๊กบอส  
Carlos Ghosn CEO ของ Renault Nissan ไปฟังการออกคำสั่งเรื่องนโยบายการทำธุรกิจกันเลยทีเดียว

รัฐบาลฝรั่งเศส ทำเช่นนี้ได้ เพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลของ Nicolas Sarkozy
ประธานาธิปดี ของฝรั่งเศส ตั้งเงื่อนไขจากการช่วยเหลือ Renault ด้วยการปล่อยเรื่องเงินกู้
ดอกเบี๊ยต่ำ กว่า 3 พันล้านยูโร ให้กับบริษัท แลกกับที่ทาง Renault จะต้องไม่ปิดโรงงานของตน
ที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศสเป็นข้อแลกเปลี่ยน และจากการที่ภาครัฐของฝรั่งเศส ได้เข้าไปถือหุ้นกิจการ
ของ Renault ไว้กว่าร้อยละ 15 ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนว่าทางรัฐบาลเองเริ่มจะเผยไต๋ เข้ามา
แทรกแซงกิจกการเสียเองแล้ว

Nicolas Sarkozy เรียก Carlos Ghosn มาหารือกัน เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ถึงเรื่องของ
รถยนต์ซับคอมแพค รุ่น CLIO เจเนอเรชันต่อไป ที่อาจจะขึ้นไลน์ผลิตใหม่กันเพียงที่ประเทศตุรกี
แห่งเดียว และยกเลิกไลน์การผลิตภายในประเทศไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า Sarkozy ออกโรงจวกบรรดาผู้บริหารระดับสูง ของ Renault ยับ และ แถมยังได้
ชัยชนะกลับมาอีกที่ว่า ไลน์การผลิต Clio ตัวใหม่บางส่วนนั้นจะยังคงผลิตภายในประเทศอยู่
อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นเพียงก้าวแรกของการวางอำนาจของรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อเข้ามา
ครอบงำกิจกรรมของ Renault อีกครั้ง

จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ Sarkozy กล่าวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติว่า “การที่เราทุ่มเงิน
จำนวนมหาศาลลงไปเพื่อช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตยานยนต์นั้น เราไม่ได้ทำไปเพื่อให้พวกเค้า
ออกไปตั้งโรงงานในประเทศอื่นหรอกนะ”

ด้าน Christian Estrosi รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม กลับระบุว่า การประชุมที่จัดขึ้นนั้นก็เพื่อ
หารือถึงหนทางเพื่อการพัฒนาร่วมกันระหว่างรัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เอง  และยังย้ำกับสื่อ
ภายหลังจากหารือร่วมกับ Patrick Pelata ผู้ดำรงตำแหน่ง COO ของ Renault อีกว่า “ผมอยากจะชี้ชัด
เลยว่า เราจะไม่เห็นดีเห็นงามต่อการตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิต Clio รุ่นใหม่ไปที่ประเทศตุรกี
เป็นหลักเพียงประเทศเดียว ข้อสรุปนั้นคงจะมาจากทางเลือกที่ท่าน ประธานาธิปดีได้กำหนดให้กับ
ทาง Renault ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท”

เรื่องราวดูเหมือนจะเลวร้ายลง เมื่อ Estrosi กล่าวว่า “ทางรัฐบาลเองก็พร้อมที่จะเพิ่มอัตราส่วน
การถือหุ้นของ Renault ขึ้นเป็น ร้อยละ 20 เพื่อเป็นผลทางจิตวิทยาให้ทาง Renault รับรู้ว่า
เราไม่ได้ต้องการที่จะปล่อยให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทำอะไรได้ตามใจชอบ โดยที่ไม่ต้องมีอะไร
เป็นข้อแลกเปลี่ยนต่อกันเลย ไม่มีทาง”

(ภาพโดย Randy Washington หนังสือพิมพ์ New York Times)

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงบรรยากาศสมัยปี 1945 ที่ Renault นั้นตกอยู่ภายใต้
การควบคุมของรัฐ ภายใต้ชื่อ Regie Nationale des Usines Renault ไม่มีผิดแต่อย่างใด ทว่าในภายหลัง
ได้มีการแปรรูป จากรัฐวิสาหกิจผลิตรถยนต์ของฝรั่งเศส มาเป็นการดำเนินงานในฐานะบริษัทเอกชน
อีกครั้ง เมื่อปี 1996 และแน่ล่ะว่า ผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่อีกกว่าร้อยละ 85  นั้น อยากจะให้การตัดสินใจ
ทางธุรกิจของ Renault นั้นดำเนินต่อไปด้วยการตัดสินใจที่มาจากปัจจัยทางธุรกิจเป็นหลัก ไม่ใช่คำสั่ง
จากทางการที่ทำตัวเป็นพวกชาตินิยมของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่จู่ๆก็เดินเข้ามาชี้นิ้วจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้
ตามแต่ใจอย่างกับเป็นเจ้าของบ้านเต็มตัว

นี่เป็นเพียง เรื่องวุ่นๆ เรื่องแรก ที่ Sakozy เริ่มต้นเข้ามาก้าวก่าย และครอบงำกิจการของ Renault
และเชื่อขนมกินได้เลยว่า หลังจากนี้ ปัญหาดังกล่าว อาจจะขยายตัวลุกลามไป จนอาจกลายเป็นว่า
รัฐบาลฝรั่งเศสเองนั่นแหละ อาจจะเป็น “ไอ้เข้ขวางคลอง” เสียเอง ใครจะไปรู้?

—————————————————————–