ความพยายามการขยายไลน์รถยนต์ของ Mitsubishi Motor เป็นไปด้วยความราบรื่นเสมอ มิใช่เพราะพวกเขามีเงินจำนวนมากจนสามารถพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ได้ทัน แต่เป็นเพราะคู่ค้าพันธมิตรร่วมมือกันส่งรถยนต์มาให้ Mitsubishi ขายแต่ต้องแลกเปลี่ยนข้อเสนอบางอย่างโดยไม่เหนือบ่ากว่าแรงมากมายนัก

ล่าสุด Mitsubishi ก็ได้ Suzuki Solio รถซับคอมแพคท์ทรง Tall Boy ถ้าแปลตามตัวน่าจะหมายความว่าเด็กโข่งตัวสูงโย่งมาประทับตราขายในชื่อ Delica D:2 แค่ฟังชื่อเราก็พอจะทราบทันทีว่า Mitsubishi พยายามจะดันรถคันนี้ให้อยู่ในกลุ่มรถตลาดมินิแวน 5 ที่นั่ง

 

 

ในหัวสมองของผมพาลทำให้นึกถึงอดีตรถมินิแวนทรงเกือบสูงของ Mitsubishi อย่างรุ่น Dingo ปี 1998 ทันที สมัยนั้นน่าจะอยู่ในพิกัดค่อนไปทางคอมแพคท์ได้บ้าง แต่น่าเสียดายที่รุ่นนี้ต้องยุติบทบาทภายในปี 2003 อันเนื่องจากความไม่แน่นอนของยอดขายและไม่มีงบพัฒนารถรุ่นนี้

อันที่จริงชื่อ Delica นั้นมันเป็นตระกูลรถตู้ส่งของคู่บุญค่ายสามเพชรมาตั้งแต่ปี 1968 ซึ่งชื่อย่อมาจากคำว่า DELIvery และคำว่า CAr เข้าไว้ด้วยกัน ส่วนลูกค้าชาวไทยจะคุ้นชื่อ L300 มากกว่าเพราะนโยบายใช้ชื่อรถตู้รุ่นนี้ต้องสวมชื่อตามความเหมาะสมของตลาด

Mitsubishi Delica หรือ L300 รุ่นที่คุ้นหน้าคุ้นตาชาวไทยมากที่สุดคือ เจเนเรชั่นที่ 3 รุ่นปี 1986 แต่ได้รับความนิยมมากในไทยช่วงยุค 90 ไปแล้วเพราะสมัยเอ็มเอ็มซี สิทธิผล เพิ่งสั่งนำเข้าในช่วงรัฐบาลสั่งลดกำแพงภาษีรถยนต์นำเข้า

แน่นอน Mitsubishi Delica เจเนเรชั่นที่ 3 ก็กลายเป็นรถตู้ในความทรงจำสีจาง ๆ ของคนไทยโดยปริยาย เพราะนอกจากยอดขายจะแพ้ Toyota Hiace หน้าจรวดเจ้าตลาดและ Nissan Urvan แล้ว Mitsubishi ยังเปลี่ยนนโยบายการพัฒนารถตู้จากแนวหน้าตัดเรียบให้กลายเป็นหน้ายื่นเหมือนรถเก๋งหรือจะให้เรียกง่าย ๆ พยายามปรับภาพลักษณ์ไปสู่ตลาดมินิแวนขนคนมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมาชื่อ Mitsubishi Delica ก็กลายเป็นรถที่อยู่คนละชั้นกับพวก Toyota Hiace และ Nissan Urvan โดยปริยาย และที่ชัดเจนที่สุดก็คือ Mitsubishi เปิดตัว Delica เจเนเรชั่นล่าสุดเปิดตัวในปี 2007 ก็กลายเป็นรถมินิแวนที่ต่อกรกับ Toyota Alphard พร้อมปรับภาพลักษณ์ใหม่ด้วยการต่อชื่อท้ายว่า D:5

จากเหตุผลย่อหน้าดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจว่า Mitsubishi ถึงนำชื่อ Delica มาประทับตราบน Suzuki Solio พร้อมนามสกุล D:2 อันเป็นชื่อสร้อยบ่งบอกถึงขนาดและตำแหน่งการตลาดของรถคันนี้

ดีไซน์ภายนอกแทบไม่แตกต่างจาก Suzuki Solio มากนัก ต่างกันเพียงแค่โลโก้รอบคันเท่านั้นเอง มิติตัวถัง ยาว 3,710 มม. ความกว้าง 1,620 มม. ความสูงเต็มพิกัดถึง 1,765 มม. ฐานล้อยาว 2,450 มม. น้ำหนักตัวถังอยู่ระหว่าง 1,000-1,090 มม.

จุดเด่นของมันคือความยาวห้องโดยสารแตะระดับ 2,130 มม. ความสูงห้องโดยสารสูงกว่า Delica D:5 ถึง 35 มม.หรือสูง 1,345 มม. กว้างสบายสุด ๆ และยังสามารถเดินข้ามไปมาด้วยช่องระหว่างกลางที่มีทางเดินมากพอ

เครื่องยนต์ของ Mitsubishi Delica D:2 ติดตั้งเครื่องยนต์เดียวกับ Suzuki Solio รหัส K12B DOHC 16 วาล์ว ความจุกระบอกสูบ 1.2 ลิตร Dual-VVT ให้กำลัง 91 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 12 กิโลกรัมเมตรที่ 4,800 รอบต่อนาที

สนนราคา Mitsubishi Delica D:2 แพงกว่า Suzuki Solio 1,393,000 – 1,779,000 เยน ตั้งเป้าเด็ก ๆ แค่เดือนละ 800 คันเท่านั้น