Lamborghini ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่านอกเหนือจาก V10 ขับหลัง
ที่ดูโหดอย่าง Huracan LP620-2 Super Trofeo พวกเขายังมีไม้เด็ดรออยู่อีก
และรถคันที่ว่านั่นก็คือเจ้า Huracan GT3 กระทิงเขียวเสียวแสบที่ท่านเห็นอยู่นี้นั่นเอง
แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันจะต้องแรงกว่ามาก ม้าถล่มทลาย 7-8 ร้อยตัว..เพราะอะไร..
แล้วมันจะไปโหดได้อย่างไร?
ลองอ่านบทความนี้ต่อไปครับ
ถ้าคุณยังจำได้ Lamborghini ในสมัยก่อนมักไม่ค่อยยุ่งกับเรื่องมอเตอร์สปอร์ต ไม่มี
เวอร์ชั่นพิเศษที่ทำเป็นตัวแข่ง (หรือรถแข่งในคราบรถถนน) และทางผู้บริหารของค่ายก็
มองว่านั่นล่ะคือปัญหาทางด้านภาพลักษณ์ เพราะการทำรถมาแข่งโดยตรงกับ Ferrari
นอกจากจะต้องสร้างความต่างในเรื่องรูปลักษณ์และนิสัยการแสดงออกของรถแล้ว
ยังต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “Racing Heritage” หรือเพ็ดดีกรีที่สั่งสมทางด้านการแข่งขันในสนาม
นี่คือสิ่งที่ Lamborghini เพิ่งทำมาได้ราว 5 ปี แต่ Ferrari ทำมาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว
Porsche ก็ทำมานานแล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของหน่วยรบพิเศษตรากระทิง
“Squadra Corse” ซึ่งมีสังกัดอยู่ภายใต้ทีม R&D ของ Lamborghini โดยมีจุดประสงค์
ในการพัฒนาและสนับสนุนรถเพื่อการสร้างประสบการณ์มอเตอร์สปอร์ต 3 ระดับ
1. Lamborghini Accademia – สอนขับในสนามและบนแทร็คน้ำแข็งเพื่อสร้างทักษะ
การควบคุมรถแบบมอเตอร์สปอร์ต
2. คลาส Super Trofeo – เป็นการแข่งของจริงสำหรับนักแข่งมือใหม่เพื่อให้ปรับตัวเข้า
กับการแข่งคลาสสูงขึ้นอีก รถที่ใช้ในคลาสนี้ก็คือ Huracan LP620-2 Super Trofeo
3. คลาส GT3 – สำหรับนักแข่งที่มีประสบการณ์สูงแล้ว และต้องการสร้างชื่อจากการ
แข่งขันกับนักแข่ง Lamborghini จากประเทศอื่นๆทั่วโลก ใช้รถ Huracan GT3
ทั้ง LP620-2 และ GT3 ต่างก็มีรูปแบบของรถที่คล้ายกันคือเอา Huracan มาถอด
ระบบขับสี่ โยนอุปกรณ์ของหรูทิ้ง เพิ่มเบาะรถแข่ง และโรลเคจตามที่กติกาการแข่ง
กำหนด โครงสร้างตัวถึงเป็นอะลูมิเนียมกึ่งคาร์บอนไฟเบอร์ แต่ส่วนต่างก็ยังคงมีอยู่
– เครื่องยนต์เป็นแบบ V10 5.2 ลิตรหัวฉีดตรงเหมือนกัน แต่ในขณะที่ LP620-2 จะมี
620 แรงม้า GT3 นั้นจะมีแรงม้าน้อยกว่า ไม่ใช่เพราะวิศวกรหมดปัญญา แต่เพราะกติกา
ของคลาส GT3 กำหนดให้มีแรงม้าอยู่ประมาณ 500 กลางๆเท่านั้น
– ระบบ ECU คุมเครื่องนั้น ของ LP620-2 จะเป็นกล่องสแตนด์อโลน MOTEC
ส่วน GT3 ใช้กล่อง Bosch กำหนดสเป็คการจูนต่างๆตามกฎเกณฑ์คลาสแข่ง GT3
– น้ำหนักตัวรุ่น LP620-2 จะหนัก 1,270 ก.ก. ส่วน GT3 จะลดลงมาอีกเหลือ 1,239 ก.ก.
อัตราส่วนการกระจายน้ำหนักหน้า/หลังอยู่ที่ 48/52
– GT3 จะใช้เบาะแข่งคาร์บอนเฟรม 8862 ติดตั้งถังดับเพลิงของ OMP และมีหลังคาที่
ถอดได้เพื่อกรณีการเข้าช่วยเหลือฉุกเฉินของทีมแพทย์สนามเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
นอกจากนี้ขอแนบสเป็คของติดรถเพิ่มเติมอีกดังนี้
– ระบบส่งกำลังจะไม่ได้ใช้คลัตช์คู่แบบ Huracan LP610-4 แต่ใช้เกียร์ Sequential
6 จังหวะ ซึ่งเข้าเกียร์ว่างโดยการกดปุ่มสีขาวบนพวงมาลัย เวลาจะออกรถก็ให้เอา
เท้าซ้ายกดแป้นคลัตช์ แล้วก็กดแพดเดิ้ลเข้าเกียร์หนึ่ง ตบคันเร่งเบาๆแล้วค่อยๆ
เลี้ยงคลัตช์ออกเหมือนเกียร์ธรรมดา แต่จากนั้น ชิฟท์ 1 ไป 2 2 ไป 3 หรือกลับไปกลับมา
ระหว่างเกียร์ ไม่ต้องเหยียบแป้นคลัตช์ กดที่แพดเดิ้ลชิฟท์ได้เลย Lamborghini ไม่ได้
ระบุว่าเกียร์ของยี่ห้ออะไร แต่อาจเป็น XTrac แบบเดียวกับที่ใช้ใน LP620-2
-ระบบเบรก ABS สามารถปรับความ Sensitive ในการทำงานได้ 12 ระดับด้วยสวิตช์
บนพวงมาลัย
– ชุดเบรกหน้าใช้จานเบรก 380 ม.ม. กับคาลิเปอร์ 6 Pot ส่วนด้านหลังใช้จาน 340 ม.ม.
กับคาลิเปอร์ 4 Pot ไม่ได้ใช้จานแบบคาร์บอนเซรามิกเนื่องจากต้องเซ็ตสเป็คเบรก
ตามกติกาการแข่งของคลาส GT3
หลายคนรวมถึงผมก็สงสัยว่าถ้าแรงม้าน้อยกว่า LP620-2 แล้วอะไรทำให้ Lamborghini
จัดลำดับความสำคัญ GT3 เอาไว้สูงกว่า คำตอบก็คือน้ำหนักตัวรถของ GT3 นั้นเบากว่า
และการปรับแต่งองค์ประกอบทางอากาศพลศาสตร์เช่นสปอยเลอร์ต่างๆนั้นก็จะเน้น
แรงกดมากกว่า วิธีการเซ็ตช่วงล่างและพวงมาลัยจะไม่เหมือนกัน..หากเข้าใจยาก
ให้ลองนึกถึงวิธีการบังคับรถ F1 ว่าทำไม F1 จึงต้องเข้าโค้งด้วยความเร็วที่สูงมาก
นั่นก็เพราะ F1 ใช้แรงกดจากอากาศในการสร้างน้ำหนักกดแรงความเกาะให้กับยาง
หากคุณเข้าโค้งด้วยความเร็วต่ำไป แรงกดบนหน้ายางจะน้อย รถจะเกิดอาการหน้าดื้อ
ในขณะที่ถ้าเข้าเร็วเกินไป ก็จะแหกโค้งได้เช่นกัน นี่คือสาเหตุที่ Lamborghini สงวน
GT3 เอาไว้สำหรับนักขับที่ผ่านประสบการณ์มาระดับหนึ่งแล้วเท่านั้นและต้อง “ใจถึง”
ในระดับหนึ่งด้วยถึงจะรู้ความเร็วที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโค้งได้
ปัจจุบัน Lamborghini ตั้งราคาเจ้า GT3 เอาไว้ 369,000 ยูโร ยังไม่รวมภาษี และไม่รวม
ค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าแข่งในสนามต่างๆในยุโรป ซึ่งรวมไปถึง Circuit de SPA
Francochamp แบบ Endurance 24 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน คงต้องรออีกสักพักถึงจะมีการ
จัดแข่งในภูมิภาคเอเซีย แต่คงอีกไม่นานเกินรอ เพราะคลาส Super Trofeo ก็สยายปีก
มาถึงเมืองจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลายคนอ่านจบแล้วจะปิดบราวเซอร์ลงแล้วถามว่ารถซื้อมาใช้ได้แค่สนามแข่ง
จะซื้อมาทำไม (วะ) ผมตอบง่ายๆครับว่า คนมี 1 ล้าน กับคนมี 100 ล้าน และคนมี
10,000 ล้าน ย่อมมีวิธีมองคุณค่าของแต่ละสิ่งไม่เหมือนกันทั้งหมด สำหรับผม ไปเมืองนอก
ทีนึงเก็บเงินค่อนปีในขณะที่บางท่านแถวๆนี้อยากจะไปก็ไปเลย เหมือนไปตลาดแถวบ้าน
คงมีเศรษฐีชาวไทยบ้างล่ะที่สนใจมอเตอร์สปอร์ตโปรแกรมในลักษณะนี้
สำหรับตัวผมเองนั้น ..หมดสิทธิ์แตะครับ..ไว้ไปเจอกันใน Real Racing 3 Time Trial
แล้วกันครับ
.
.
ที่มา : Lamborghini Media Center